วันศุกร์

อกุศลสังคหะ

หมวดที่ ๐๘ สมุจจยสังคหะ เป็นการแสดงปรมัตถธรรมทั้ง ๔ คือ จิต เจตสิก รูป และนิพพาน โดยจัดให้เป็นหมวดหมู่ ธรรมใดที่เข้ากันได้ก็จัดไว้เป็นหมวดหมู่เดียวกัน ซึ่งมีทั้งหมด ๗๒ประการ

สภาวธรรม ๗๒ ประการ คือ
จิต ๑ จิตทั้งหมดมี ๘๙ หรือ ๑๒๑ แต่นับเป็นหนึ่ง โดยนับตามสภาวลักษณะ เพราะจิตทุก ดวงมีการรู้อารมณ์เป็นลักษณะเหมือนกันหมด ฉะนั้นจึงนับเพียง ๑
เจตสิก ๕๒ เจตสิกมีสภาวลักษณะเฉพาะๆ ของตน เจตสิกมีทั้งหมด ๕๒
รูป ๑๘ นับตามสภาวลักษณะ ที่มีอยู่ในรูปธรรมโดยเฉพาะๆ ได้แก่ นิปผันนรูป ๑๘ (รูปทั้งหมดมี ๒๘ แบ่งเป็นนิปผันนรูป ๑๘ อนิปผันนรูป ๑๐ อนิปผันนรูป ไม่มีสภาวลักษณะของตนโดยเฉพาะ)
นิพพาน ๑ นับตามสภาวลักษณะ คือ สนฺติลกฺขณํ 

ต่อไปจะศึกษาหมวดธรรมใหญ่ ๔ หมวด คือ
หมวด ๑. อกุศลสังคหะ ว่าด้วยธรรมที่เป็นบาปล้วน ๆ
หมวด ๒. มิสสกสังคหะ สงเคราะห์สภาวะธรรมต่างๆ โดยความเป็นกุศล อกุศล และอพยากตะ     
หมวด ๓.โพธิปักขิยสังคหะ เป็นหมวดธรรมที่จะทําให้เข้าถึงมรรคผล
หมวด ๔. สัพพสังคหะ เป็นการสงเคราะห์จิต เจตสิก รูป นิพพาน ลงในหมวดธรรม

หมวด ๑ อกุศลสังคหะ
ธรรมที่เป็นอกุศลนั้น พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงให้เห็นความเป็นไปของอกุศลเหล่านั้นไว้เป็นหมวดหมู่ จึงจําแนกไว้เป็น ๙ กอง คือ
กองที่ ๑. อาสวะ ธรรมที่เป็นเครื่องหมักดองสัตว์
กองที่ ๒. โอฆะ ธรรมที่เปรียบเหมือนห้วงน้ำ
กองที่ ๓. โยคะ ธรรมที่เป็นเครื่องประกอบสัตว์ให้ติดแน่น
กองที่ ๔. คันถะ ธรรมที่เป็นเครื่องคล้องสัตว์
กองที่ ๕. อุปาทาน ธรรมที่ทําให้ยึดมั่นในอารมณ์
กองที่ ๖. นีวรณ์ ธรรมที่เป็นเครื่องขวางกั้นความดี
กองที่ ๗. อนุสัย ธรรมที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน
กองที่ ๘. สังโยชน์ ธรรมที่เป็นเครื่องผูกสัตว์
กองที่ ๙. กิเลส ธรรมที่ทําให้เศร้าหมองและเร่าร้อน

🔅 อกุศลกองที่ ๑ อาสวะ
แปลว่า เครื่องหมักดอง หมายความว่า ธรรมที่เป็นอกุศลที่อยู่ในขันธสันดานของสัตว์ทั้งหลาย หรือ หมักดองสัตว์ทั้งหลายผู้ทําบาปอกุศลให้ท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏฏ์อันยาวนาน
ธรรมที่เป็นอาสวะมี ๔ คือ
    ๑. กามาสวะ ได้แก่ ความยินดี ความเพลิดเพลิน ความพอใจ อยู่ในกามคุณอารมณ์ คือ ติดอยู่กับความสวยงามต่าง ๆ เพลิดเพลินอยู่ในเสียงเพราะ ๆ กลิ่นหอม ๆ รสอร่อย ๆ สัมผัสที่นิ่มนวลพึงพอใจ ทําให้จิตใจเคลิบเคลิ้มอยู่ในความสุขด้วยอํานาจของโลภเจตสิก ซึ่งถูกหมักดองอยู่ในขันธสันดานของสัตว์ทั้งหลายเป็นเวลาช้านานนับจํานวนภพชาติไม่ได้ เมื่อตายไปก็จะต้องไปเกิดในอบายภูมิเป็นเวลายาวนาน คือ ถูกหมักดองอยู่ในอบายสัตว์ และทําให้วัฏฏทุกข์อันยาวนานไม่มีกําหนดนั้นเจริญรุ่งเรืองไม่มีที่สิ้นสุด
    ๒. ภวาสวะ ได้แก่ ความยินดีติดใจในรูปฌาน อรูปฌาน รูปภูมิ อรูปภูมิ คือ ติดใจในความสุขสงบของฌานจิตและการได้เกิดเป็นพรหมบุคคล ด้วยอํานาจของโลภเจตสิกที่หมักดองอยู่ในขันธสันดานของสัตว์ทั้งหลาย ทําให้มีการเวียนเกิดเวียนตายในภพภูมิเหล่านี้ ถือว่า เป็นการหมักดองอีกเช่นเดียวกัน
    ๓. ทิฎฐาสวะ ได้แก่ การหมักดองด้วยความเห็นผิดของตนเอง คือ มีความเห็นว่าบุญไม่มีผล บาปไม่มีผล คุณของพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ไม่มี นรกสวรรค์ไม่มี ชาติก่อน ชาติหน้า ไม่มี เมื่อมีความเห็นผิด เช่นนี้อยู่ในใจ ก็ไม่รู้ไม่เข้าใจว่าสิ่งที่ตนทําลงไปนั้นเป็นบุญหรือบาป จึงทําอกุศลกรรมเพราะความเห็นผิดเช่นนี้ อกุศลกรรมนี้จึงทําให้สัตว์ทั้งหลายถูกหมักดองให้ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนในอบายภูมิ เมื่อพ้นจากอบายภูมิแล้วถ้าไปเกิดเป็นมนุษย์ก็ยากที่จะได้พบแสงสว่างแห่งพระสัทธรรมได้ เพราะความเห็นผิดนั้นฝั่งลึกอยู่ในขันธสันดานเกิดมาครั้งใดความเห็นผิดก็ติดตัวมาอยู่เสมอยากที่จะเปลี่ยนแปลงได้     ๔. อวิชชาสวะ คือ ความไม่เข้าใจสภาวธรรมตามความเป็นจริง ไม่เข้าใจ จิต เจตสิก และรูป ถ้าสรุปรวมก็เป็นเพียง รูป กับ นาม ว่าเป็นเพียงสภาวธรรมเท่านั้น ไม่ใช่เป็นสัตว์ บุคคล เป็นเราเป็นเขา ดังที่เข้าใจกัน ที่ไม่รู้ไม่เข้าใจในความเป็นจริงเพราะมีอวิชชาปกปิดไว้ อวิชชานั้นจะรู้ในสิ่งที่ไม่ควรรู้ แต่ไม่รู้ในสิ่งที่ควรรู้
สิ่งที่อวิชชาไม่รู้ มี ๘ ประการ คือ
    ๑. ทุกข์ 
    ๒. สมุทัย
    ๓. นิโรธ
    ๔. มรรค
    ๕. ขันธ์
    ๖. อายตนะ
    ๗. ธาตุ
    ๘. ปฏิจจสมุปบาท
ความไม่รู้ไม่เข้าใจในธรรมที่เป็นเหตุเป็นผลต่อเนื่องกันหาที่สุดมิได้

การประหาณอาสวะ อาสวะธรรมจะถูกประหาณได้โดยการเจริญวิปัสสนากรรมฐานจนสําเร็จเป็นพระอริยบุคคล เมื่อมัคคจิตเกิดขึ้น จะทําการประหาณกิเลสต่าง ๆได้ การประหาณกิเลสในหมวดของอาสวะนั้นมีดังนี้
    กามาสวะ ถูกประหาณโดย อนาคามิมัคคจิต
    ภวาสวะ ถูกประหาณโดย อรหัตตมัคคจิต
    ทิฏฐาสวะ ถูกประหาณโดย โสดาปัตติมัคคจิต
    อวิชชาสวะ ถูกประหาณโดย อรหัตตมัคคจิต 


🔅 อกุศลกองที่ ๒ โอฆธรรม
เป็นธรรมเปรียบเสมือนห้วงน้ำ เมื่อใครตกลงไปในห้วงน้ำแห่งโอฆะแล้ว จะทําให้จมดิ่งลงไปยากที่จะโผล่ขึ้นมาได้ โอฆะ ได้แก่ ความโลภ หรือโลภเจตสิก , ความเห็นผิด หรือทิฏฐิเจตสิก , ความโง่ หรือโมหเจตสิก เมื่อมีโลภะเป็นเหตุทําให้ทําทุจริตทางกาย ทางวาจา ทางใจ เป็นเหตุให้ต้องตกอยู่ใน อบายภูมิ และวนเวียนอยู่ในวัฏฏทุกข์อย่างหาที่สุดได้ยากยิ่ง ทําให้มีโอกาสน้อยมากที่จะได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนา แล้วเกิดปัญญาในการเจริญวิปัสสนาจนบรรลุเป็นพระอรหันต์ นี้เป็นไปด้วยอํานาจของทุจริตกรรมนั่นเอง
โอฆะ มี ๔ ประการ คือ
    ๑. กาโมฆะ การจมอยู่ในห้วงแห่งกามคุณอารมณ์
    ๒. ภโวฆะ การจมอยู่ในห้วงแห่งการเกิดในรูปฌาน อรูปฌาน หรือ    รูปภพ อรูปภพ
    ๓. ทิฏโฐฆะ การจมอยู่ในห้วงแห่งความเห็นผิด
    ๔. อวิชโชฆะ การจมอยู่ในห้วงแห่งความไม่รู้สภาพธรรมตามความ   เป็นจริง

อาสวะ กับ โอฆะ มีสภาวธรรมหรือองค์ธรรมเหมือนกัน คือ โลภเจตสิก ทิฏฐิเจตสิก และโมหเจตสิก แต่ต่างกันที่ชื่อเท่านั้น (การประหาณโอฆะเป็นไปในทำนองเดียวกันกับการประหาณอาสวะ)

🔅 อกุศลกองที่ ๓ โยคะ
เป็นธรรมที่เปรียบเสมือนเครื่องประกอบสัตว์ให้ติดแน่นอยู่ในกามคุณอารมณ์เป็นต้น ยากที่จะถอนให้หลุดออกมาได้ เหมือนกับตะปูที่ตอกตรึงเครื่องประกอบบ้านเรือนไว้
โยคะ มี ๔ ประการ คือ
    ๑. กามโยคะ ตรึงให้ติดอยู่ในกามคุณอารมณ์ทั้ง ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
    ๒. ภวโยคะ ตรึงให้ติดอยู่ในรูปภพ อรูปภพ หรือ รูปฌาน อรูปฌาน
    ๓. ทิฏฐิโยคะ ตรึงให้ติดอยู่ในความเห็นผิด
    ๔. อวิชชาโยคะ ตรึงให้ติดอยู่ในความหลง

เพราะไม่รู้เหตุผลตามความเป็นจริง จึงทําให้เกิดความ โลภ ความโกรธ ความหลง อาสวะ โอฆะ โยคะ อกุศลทั้ง ๓ กองที่ศึกษามานี้ มีสภาวธรรม หรือองค์ธรรมเหมือนกัน คือ โลภ เจตสิก ทิฏฐิเจตสิก และโมหเจตสิก ต่างกันที่ชื่อเท่านั้น(การประหาณโยคะเป็นไปในทํานองเดียวกันกับการประหาณอาสวะ)


🔅 อกุศลกองที่ ๔ คันถะ
เป็นธรรมเปรียบเสมือนเครื่องเกี่ยวคล้องสัตว์ เพราะว่าธรรมเหล่านี้จะเป็นเครื่องเกี่ยวคล้องระหว่างรูปกายนามกายในปัจจุบันภพ กับรูปกายนามกายในอนาคตภพให้ติดต่อกันประดุจโซ่เหล็ก ถ้าจะกล่าว โดยนัยแห่งจิตแล้วก็เป็นเครื่องร้อยรัดระหว่างปฏิสนธิจิต - จุติจิต ให้เกิดต่อเนื่องกันไม่สามารถจะพ้นไปจากวัฏฏ ทุกข์ได้
คันถะ มี ๔ ประการ คือ
    ๑. อภิชฌากายคันถะ เครื่องเกี่ยวคล้อยสัตว์ให้ติดอยู่กับความยินดีพอใจในกามคุณอารมณ์ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่เป็นอิฏฐารมณ์ (อารมณ์ที่ดี) อภิชฌากายคันถะ ต่างกับ อภิชฌา ที่เป็นมโนทุจริต ตรงที่ อภิชฌากายคันถะ เป็นโลภะอย่างหยาบและอย่างละเอียดทั้งหมด เป็นความต้องการ หรือความพอใจในทรัพย์สมบัติทั้งของตนเองและของผู้อื่น ไม่ว่าจะโดยชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรมก็ตาม แต่อภิชฌาที่เป็นมโนทุจริต เป็นโลภะ อย่างหยาบ คือความยินดีพอใจในเฉพาะของ ๆ บุคคลอื่น เพื่อให้ได้มาเป็นของตนโดยไม่ชอบธรรม
    ๒. พยาปาทกายคันถะ เครื่องเกี่ยวคล้องให้สัตว์ติดอยู่ในความโกรธ โดยส่วนมากจะเกิดขึ้นกับคนที่มีโทสจริต ที่มีอัธยาศัยเป็นคนชอบโกรธอยู่เสมอ ๆ ส่วนพยาบาทที่เป็นมโนทุจริตจะเป็นโทสะอย่างหยาบที่คิดปองร้ายผู้อื่น
    ๓. สีลัพพตปรามาสกายคันถะ เครื่องเกี่ยวคล้องสัตว์ให้ติดอยู่ในความยึดถือในการปฏิบัติผิด เช่น ปฏิบัติเยี่ยงโค เยี่ยงสุนัข โดยเห็นว่าการปฏิบัติเช่นนี้จะเป็นทางหลุดพ้นจากวัฏฏทุกข์
    ๔. อิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ เครื่องเกี่ยวคล้องสัตว์ให้ติดอยู่ในความยึดมั่นในความเห็นผิดของตนว่าถูกส่วนความเห็นของคนอื่นผิด เช่น สัญชัยปริพาชก กล่าวกับลูก ศิษย์ของตนว่า “คนโง่อยู่กับเรา คนฉลาดให้ไปหาพระสมณโคดม”

การประหาณคันถะ คันถธรรมจะถูกประหาณได้โดยการเจริญวิปัสสนากรรมฐานจนสําเร็จเป็นพระอริยบุคคล เมื่อมัคคจิตเกิดขึ้น จะทําการประหาณกิเลสต่าง ๆ ได้

การประหาณกิเลสในหมวดของคันถะนั้นมีดังนี้
อภิชฌากายคันถะ ถูกประหาณโดย อรหัตตมัคคจิต
พยาปาทกายคันถะ ถูกประหาณโดย อนาคามิมัคคจิต
สีลัพพตปรามาสกายคันถะ และ อิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ ถูกประหาณโดย โสดาปัตติมัคคจิต

🔅 อกุศลกองที่ ๕ อุปาทาน
การยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ คือ ยึดมั่นถือมั่นในรูป (รูปารมณ์) ในเสียง (สัททารมณ์) ใน กลิ่น (คันธารมณ์) ในรส (รสารมณ์) ในสัมผัส (โผฏฐัพพารมณ์) ในเรื่องราวต่าง ๆ (ธัมมารมณ์) อย่างเหนียวแน่น ไม่ยอมปล่อย หรือ ยึดมั่นในความเห็นผิดไม่ยอมคลาย หรือ ในการปฏิบัติผิด คิดว่าเป็นทางหลุดพ้น หรือเห็นว่าอารมณ์ต่าง ๆ ที่ตนกําลังได้รับอยู่นั้นเป็นตัวเป็นตน เป็นเขาเป็นเรา อย่างแรงกล้า ความยึดมั่นอย่างนี้ชื่อว่า อุปาทาน

ความยินดีติดใจในอารมณ์ต่าง ๆ ในครั้งแรก ๆ ที่เกิดความยินดีพอใจ ความยินดีนี้ยังเป็น ตัณหา แต่ เมื่อมีความยินดีพอใจ ติดใจ ยึดมั่นในอารมณ์นั้น ๆ อย่างเหนียวแน่น ความยินดีในครั้งหลัง ๆ นี้เป็น อุปาทาน ตัณหาเปรียบเหมือนต้นไม้เล็กที่เริ่มปลูกใหม่ ๆ ย่อมถอนได้ง่าย ส่วนอุปาทาน เหมือนต้นไม้ที่ปลูกไว้ใหญ่โตแล้ว ถอนได้ยากเพราะรากแก้วยึดมั่นเสียแล้ว อุปาทาน จึงเป็นความยึดมั่นไว้ในอารมณ์อย่างเหนียวแน่นกว่า ตัณหา
อุปาทาน มี ๔ ประการ คือ
    ๑. กามุปาทาน ความยึดมั่นใน อารมณ์ ๖ มี รูปารมณ์ เป็นต้น ได้แก่ โลภเจตสิก ที่ ในโลภมูลจิต ๘
    ๒. ทิฏฐุปาทาน ความยึดมั่นในความเห็นผิดที่นอกจากสีลัพพตปรามาสทิฏฐิและอัตตวาททิฏฐิ ได้แก่ ทิฏฐิเจตสิก ที่ใน ทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต ๔
    ๓. สีลัพพตุปาทาน ความยึดมั่นในการปฏิบัติผิด มีการปฏิบัติเยี่ยงโค เยี่ยงสุนัข โดยคิดว่าเป็นการปฏิบัติที่จะนําตนให้พ้นทุกข์ได้ ( ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่นอกไปจากมัชฌิมาปฏิปทา) ได้แก่ ทิฏฐิเจตสิก ที่ในทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต ๔
    ๔. อัตตวาทุปาทาน ความยึดมั่นในขันธ์ ๕ ว่า เป็นตัวเป็นตน หรือมีตัวมีตนอยู่ในขันธ์ ๕ ได้แก่ สักกายทิฏฐิ คือ ทิฏฐิเจตสิก ที่ในทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต ๔

การประหาณอุปาทาน
อุปาทานจะถูกประหาณได้โดยการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน จนสําเร็จเป็นพระอริยบุคคล เมื่อมัคคจิตเกิดขึ้น จะทําการประหาณกิเลสต่างๆได้ การประหาณกิเลสในหมวดของอุปาทานนั้นมีดังนี้
กามุปาทาน ถูกประหาณโดย อนาคามิมัคคจิต
ทิฏฐุปาทาน สีลัพพตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน ถูกประหาณโดย โสดาปัตติมัคคจิต


อ่านต่อ หมวด ๑. อกุศลสังคหะ อกุศลกองที่ ๖-๑๐

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น