อาทิตตปริยายสูตร

“ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอาทิตตบรรยายและธรรมบรรยายแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง

อาทิตตบรรยายและธรรมบรรยาย เป็นอย่างไร ?
คือ บุคคลแทงจักขุนทรีย์ด้วยหลาวเหล็กที่ร้อนไฟติดลุกโชนโชติช่วง ยังประเสริฐกว่า ส่วนการถือนิมิตโดยอนุพยัญชนะ*  รูปที่พึงรู้แจ้งทางตาไม่ประเสริฐเลย วิญญาณที่เนื่องด้วยความยินดีในนิมิตหรือเนื่องด้วยความยินดีในอนุพยัญชนะเมื่อตั้งอยู่ พึงตั้งอยู่ได้ ถ้าบุคคลกระทำกาลกิริยาในสมัยนั้น เป็นไปได้ที่บุคคลนั้นจะพึงถึงคติอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ นรกหรือกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน เราเห็นโทษนี้แลจึงกล่าวอย่างนี้

* อนุพยัญชนะ หมายถึงคือลักษณะน้อยๆ หรือลักษณะอันเป็นข้อปลีกย่อยของพระพุทธเจ้า ความยินดีในนิมิตอนุพยัญชนะ เช่น การแยกถือว่ามืองามเท้างามเป็นต้น 
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลทะลวงโสตินทรีย์ด้วยขอเหล็กที่คม ไฟติด ลุกโชน โชติช่วง ยังประเสริฐกว่า ส่วนการถือนิมิตโดยอนุพยัญชนะในเสียงที่พึงรู้แจ้งทางหู ไม่ประเสริฐเลย วิญญาณที่เนื่องด้วยความยินดีในนิมิตหรือเนื่องด้วยความยินดีใน อนุพยัญชนะ เมื่อตั้งอยู่ พึงตั้งอยู่ได้ ถ้าบุคคลกระทำกาลกิริยาในสมัยนั้น เป็นไปได้ที่บุคคลนั้นจะพึงถึงคติอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ นรกหรือกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน เราเห็นโทษนี้แลจึงกล่าวอย่างนี้

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลคว้านฆานินทรีย์ด้วยมีดตัดเล็บที่คม ไฟติด ลุกโชน โชติช่วง ยังประเสริฐกว่า ส่วนการถือนิมิตโดยอนุพยัญชนะในกลิ่นที่พึงรู้แจ้งทางจมูก ไม่ประเสริฐเลย วิญญาณที่เนื่องด้วยความยินดีในนิมิต หรือเนื่องด้วยความยินดี ในอนุพยัญชนะ เมื่อตั้งอยู่ พึงตั้งอยู่ได้ ถ้าบุคคลกระทำกาลกิริยาในสมัยนั้น เป็นไปได้ที่บุคคลนั้นจะพึงถึงคติอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ นรกหรือกำเนิดสัตว์ ดิรัจฉาน เราเห็นโทษนี้แลจึงกล่าวอย่างนี้

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเฉือนชิวหินทรีย์ด้วยมีดโกนที่คม ไฟติด ลุกโชน โชติช่วง ยังประเสริฐกว่า ส่วนการถือนิมิตโดยอนุพยัญชนะในรสที่พึงรู้แจ้งทางลิ้นไม่ประเสริฐ เลย วิญญาณที่เนื่องด้วยความยินดีในนิมิตหรือเนื่องด้วยความยินดีในอนุพยัญชนะ เมื่อตั้งอยู่ พึงตั้งอยู่ได้ ถ้าบุคคลกระทำกาลกิริยาในสมัยนั้น เป็นไปได้ที่บุคคลนั้น จะพึงถึงคติอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ นรกหรือกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน เราเห็นโทษนี้แลจึงกล่าวอย่างนี้

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลแทงกายินทรีย์ด้วยหอกที่คม ไฟติด ลุกโชน โชติช่วง ยังประเสริฐกว่า ส่วนการถือนิมิตโดยอนุพยัญชนะในโผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งทางกายไม่ ประเสริฐเลย วิญญาณที่เนื่องด้วยความยินดีในนิมิตหรือเนื่องด้วยความยินดีใน อนุพยัญชนะ เมื่อตั้งอยู่ พึงตั้งอยู่ได้ ถ้าบุคคลกระทำกาลกิริยาในสมัยนั้น เป็นไป ได้ที่บุคคลนั้นจะพึงถึงคติอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ นรกหรือกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน เราเห็นโทษนี้จึงกล่าวอย่างนี้


ภิกษุทั้งหลาย ความหลับยังประเสริฐกว่า แต่เรากล่าวว่าความหลับเป็นหมันสำหรับผู้มีชีวิต กล่าวว่าไร้ผลสำหรับผู้มีชีวิต กล่าวว่าเป็นความเขลาสำหรับผู้มีชีวิต ส่วนบุคคลตกอยู่ในอำนาจของวิตกเช่นใดแล้ว พึงทำลายสงฆ์ให้แตกกัน ก็ไม่ควรตรึกถึงวิตกเช่นนั้นเลย เราเห็นโทษนี้แลว่าเป็นหมันสำหรับผู้มีชีวิต จึงกล่าวอย่างนี้

ภิกษุทั้งหลาย ในข้อนั้นอริยสาวกผู้ได้สดับย่อมเห็นดังนี้ว่า จักขุนทรีย์ที่บุคคลแทงด้วยหลาวเหล็กที่ร้อน ไฟติด ลุกโชน โชติช่วง ยกไว้ก่อน เอาเถิด เราจะใส่ใจข้อนี้ว่า ‘จักขุไม่เที่ยง รูปไม่เที่ยง จักขุวิญญาณไม่เที่ยง จักขุสัมผัสไม่เที่ยง แม้ความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุขหรือทุกข์หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ที่ เกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัยก็ไม่เที่ยงด้วยประการฉะนี้’

โสตินทรีย์ที่บุคคลทะลวงด้วยขอเหล็กที่คม ไฟติด ลุกโชน โชติช่วง ยกไว้ก่อน เอาเถิด เราจะใส่ใจข้อนี้ว่า ‘โสตะไม่เที่ยง สัททะไม่เที่ยง โสตวิญญาณไม่เที่ยง โสตสัมผัสไม่เที่ยง แม้ความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุขหรือทุกข์หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ที่ เกิดขึ้นเพราะโสตสัมผัสเป็นปัจจัยก็ไม่เที่ยงด้วยประการฉะนี้’ 

ฆานินทรีย์ที่บุคคลคว้านด้วยมีดตัดเล็บที่คม ไฟติด ลุกโชน โชติช่วง ยก ไว้ก่อน เอาเถิด เราจะใส่ใจข้อนี้ว่า ‘ฆานะไม่เที่ยง คันธะไม่เที่ยง ฆานวิญญาณ ไม่เที่ยง ฆานสัมผัสไม่เที่ยง แม้ความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุขหรือทุกข์หรือมิใช่สุข มิใช่ทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะฆานสัมผัสเป็นปัจจัยก็ไม่เที่ยงด้วยประการฉะนี้’

ชิวหินทรีย์ที่บุคคลเฉือนด้วยมีดโกนที่คม ไฟติด ลุกโชน โชติช่วง ยกไว้ก่อน เอาเถิด เราจะใส่ใจข้อนี้ว่า ‘ชิวหาไม่เที่ยง รสไม่เที่ยง ชิวหาวิญญาณไม่เที่ยง ชิวหาสัมผัสไม่เที่ยง แม้ความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุขหรือทุกข์หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ที่ เกิดขึ้นเพราะชิวหาสัมผัสเป็นปัจจัยก็ไม่เที่ยงด้วยประการฉะนี้’

กายินทรีย์ที่บุคคลแทงด้วยหลาวเหล็กที่คม ไฟติด ลุกโชน โชติช่วง ยกไว้ก่อน เอาเถิด เราจะใส่ใจข้อนี้ว่า ‘กายไม่เที่ยง โผฏฐัพพะไม่เที่ยง กายวิญญาณไม่เที่ยง กายสัมผัสไม่เที่ยง แม้ความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุขหรือทุกข์หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ที่ เกิดขึ้นเพราะกายสัมผัสเป็นปัจจัยก็ไม่เที่ยงด้วยประการฉะนี้’

ความหลับยกไว้ก่อน ฯลฯ เอาเถิด เราจะใส่ใจข้อนี้ว่า ‘มโนไม่เที่ยง ธรรมารมณ์ไม่เที่ยง มโนวิญญาณไม่เที่ยง มโนสัมผัสไม่เที่ยง แม้ความเสวย อารมณ์ที่เป็นสุขหรือทุกข์หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย ก็ไม่เที่ยงด้วยประการฉะนี้’

อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักขุ ย่อมเบื่อหน่าย แม้ในรูป ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักขุวิญญาณ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักขุสัมผัส ฯลฯ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุขหรือทุกข์หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ที่เกิดขึ้น

เพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จิตย่อมหลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีก ต่อไป’ ภิกษุทั้งหลาย นี้แลคืออาทิตตบรรยายและธรรมบรรยายฉะนี้แล”