วันจันทร์

๑.๒ ขันธ์ ๕

ขันธ์ ๕ คือ ส่วนประกอบ ๕ อย่างของชีวิต แบ่งเป็นรูปธรรม ๑ นามธรรม ๔

รูป : ส่วนประกอบฝ่ายรูปธรรมทั้งหมด สสารและพลังงานฝ่ายวัตถุ

เวทนา
: การเสวยอารมณ์, การเสพรสอารมณ์, ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเฉยๆ ซึ่งเกิดจากผัสสะทางประสาททั้ง ๕ และทางใจ, ความรู้สึกต่อสิ่งที่ถูกรับรู้ ซึ่งจะเกิดขึ้นทุกครั้งที่มีการรับรู้, เวทนาเป็นกิจกรรมของจิตในขั้นรับ คือเกี่ยวข้องกับผลที่อารมณ์มีต่อจิตเท่านั้น ยังไม่ใช่ขั้นที่เป็นฝ่ายจำนงหรือกระทำต่ออารมณ์ ซึ่งเป็นกิจกรรมของสังขาร ดังนั้น คำว่า ชอบ ไม่ชอบ ตามปกติจะใช้แสดงกิจกรรมในหมวดสังขาร โดยเป็นอาการสืบเนื่องจากเวทนาอีกต่อหนึ่ง, เวทนา จัดอยู่ในพวกวิบาก ไม่ดีไม่ชั่ว โดยลำพังตัวของมัน 
(อารมณ์ หมายถึง สิ่งที่จิตยึดหน่วง, สิ่งที่ถูกรู้ ได้แก่ อายตนะภายนอก ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์)

สัญญา
: ความกำหนดได้หมายรู้ อันเป็นเหตุให้จำอารมณ์นั้นๆได้

สังขาร : คุณสมบัติต่างๆของจิต หรือเครื่องปรุงแต่งของจิต มีเจตนาเป็นตัวนำ ไม่ว่าเครื่องแต่งคุณภาพกี่อย่างจะเกิดขึ้นทำหน้าที่ในคราวหนึ่งคราวใด จะต้องมีเจตนาร่วมอยู่ด้วยเป็นแกนนำเสมอไปทุกคราว บางครั้งท่านถึงกับใช้คำว่า เจตนา คำเดียวเป็นคำแทน หมายถึงสังขารทั้งหมด และเจตนา ก็เป็นคำจำกัดความของคำว่ากรรมด้วย ดังนั้น คำว่า สังขาร เจตนา กรรม จึงมีความหมายอย่างคร่าวๆเท่ากัน, โลภะ โทสะ โมหะ ทิฏฐิ ศรัทธา ปัญญา ฯลฯ จัดอยู่ในหมวดสังขาร, นามขันธ์อื่นเป็นฝ่ายรับอารมณ์แต่สังขารเป็นฝ่ายกระทำต่ออารมณ์ (การที่สังขารมีเจตนาเป็นประธานมันจึงมีคุณสมบัติของการเป็นฝ่ายริเริ่ม กระทำต่ออารมณ์ต่างๆ ด้วยเหตุนี้ความเพียรจึงมีผล แต่ไม่ใช่ว่ามีอัตตาตัวตนอะไรอยู่ตรงที่นี้ การริเริ่มกระทำต่ออารมณ์เป็นหน้าที่หรือคุณสมบัติตามธรรมชาติของสังขาร เหมือนกับที่ เวทนา มีหน้าที่เสวยอารมณ์นั่นเอง)

วิญญาณ : ความรู้แจ้งอารมณ์ทางประสาททั้ง ๕ และทางใจ, กระแสความรู้ยืนพื้น ซึ่งเกิดดับต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลาควบไปกับนามขันธ์อื่นๆ หรือกิจกรรมทุกอย่างในจิตใจ


ถ้าเข้าใจตัวมนุษย์เองแล้ว กล่าวได้ว่าเข้าใจหมดทุกอย่าง พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนให้เราค้นพบตัวเอง ให้รู้จักตัวเอง ให้เข้าถึงความจริงที่มีอยู่ในขันธ์ ๕ นี้ เพราะสภาวธรรมที่ประกอบกันขึ้นเป็นมนุษย์นั้น ไม่มีส่วนอื่นใดเกินเลย นอกเหนือไปจากขันธ์ ๕ คือ รูปธรรม ๑ นามธรรม ๔ นี้ พระสารีบุตรท่านเปรียบเทียบความอิงอาศัยกันของรูปและนามเหมือนไม้สองท่อนที่ค้ำยันกัน

คำว่า “รูปธรรม” นั้นรวมไปถึงพลังงานฝ่ายวัตถุ เช่น พลังงานความร้อน คลื่นสัญญาณต่างๆ และคลื่นเสียง ที่ตามองไม่เห็นด้วย อ.เสถียร โพธินันทะอธิบายว่า “หลักในการวินิจฉัยแยกนามรูปอย่างง่ายๆคือ รูปกับรูปนั้นกระทบกันเองได้แต่รูปกระทบนามไม่ได้” คำว่ากระทบในที่นี้เข้าใจว่าหมายถึงเป็นลักษณะการกระทบทางฟิสิกส์เท่านั้น นอกจากนี้นามไม่ถูกจำกัดด้วยเทศะ คือ ไม่กินพื้นที่ เช่น ภวังคจิต สามารถเก็บความทรงจำต่างๆได้อย่างไม่สิ้นสุด

อธิบายศัพท์ “สังขาร” สังขาร แปลว่า ปรุงแต่ง ใช้ในความหมายหลักๆ ๔ อย่าง คือ

- สังขารในขันธ์ ๕ หมายถึง สภาวะที่ปรุงแต่งจิต, คุณสมบัติต่างๆของจิต มีเจตนาเป็นตัวนำ เป็นส่วนนามธรรมอย่างเดียว
- สังขารในปฏิจจสมุปบาท สังขารในขันธ์ ๕ มุ่งแสดงส่วนประกอบ ส่วนในปฏิจจสมุปบาทมุ่งแสดงกระบวนการปฏิบัติการ โดยจำแนกตามทวาร คือ เจตนาที่กระทำทางกาย วาจา ใจ หรือ จำแนกตามสภาพที่เป็นกุศลหรืออกุศล
- สังขารในไตรลักษณ์ หมายถึง สภาวะที่ถูกปรุงแต่ง (ความหมายกว้าง) คือ สภาวะที่เกิดจากเหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้นทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรมก็ตาม มีชีวิตหรือไร้ชีวิตก็ตาม เรียกอีกอย่างว่า สังขตธรรม คือ ทุกสิ่งทุกอย่าง เว้นแต่ นิพพาน ซึ่งเป็น วิสังขาร หรือ อสังขตธรรม
- สังขาร บางครั้งก็ใช้ในความหมายเท่ากับ ขันธ์ ๕ ทั้งหมด (ในภาษาไทยใช้ในความหมายนี้เป็นส่วนใหญ่)


ส่วนแทรกเสริม : การจัดแบ่งแบบคัมภีร์อภิธรรม 
ตามแนวพระสูตรนิยมแบ่งเป็นขันธ์ ๕ ส่วนในพระอภิธรรมแบ่งเป็น ๓ คือ รูป (รูปขันธ์), จิต (วิญญาณขันธ์), เจตสิก (เวทนาขันธ์+สัญญาขันธ์+สังขารขันธ์) 

เจตสิก เจตสิก คือ ธรรมที่ประกอบกับจิต, มีอารมณ์และวัตถุที่อาศัยเดียวกับจิต, อาการหรือคุณสมบัติต่างๆของจิต มี ๕๒ อย่าง (เวทนา๑+สัญญา ๑+สังขาร ๕๐)

อัญญาสมานาเจตสิก : เจตสิกที่มีเสมอกันแก่จิตพวกอื่น คือ ประกอบเข้าได้กับจิตทุกฝ่ายทั้งกุศลและอกุศล มี ๑๓ อย่าง แบ่งเป็น
    ๑.๑) เจตสิกที่เกิดทั่วไปกับจิตทุกดวง (สาธารณะ) ได้แก่ ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรีย์ (อินทรีย์คือชีวิต, สภาวะที่เป็นใหญ่ในการรักษานามธรรมทั้งปวง) มนสิการ
    ๑.๒) เจตสิกที่ไม่เกิดขึ้นกับจิตแน่นอนเสมอไปทุกดวง (ปกิณณกะ) ได้แก่ วิตก วิจาร อธิโมกข์ วิริยะ ปีติ ฉันทะ

อกุศลเจตสิก : เจตสิกฝ่ายอกุศล มี ๑๔ อย่าง แบ่งเป็น
    ๒.๑) เจตสิกที่เกิดทั่วไปกับอกุศลจิตทุกดวง ได้แก่ โมหะ อหิริกะ (ความไม่ละอายต่อบาป) อโนตตัปปะ (ความไม่กลัวต่อบาป) อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน)
    ๒.๒) เจตสิกที่ไม่เกิดขึ้นกับอกุศลจิตแน่นอนเสมอไปทุกดวง ได้แก่ โลภะ ทิฏฐิ (หมายเอาเฉพาะมิจฉาทิฏฐิ ส่วนสัมมาทิฏฐิจัดเข้าในปัญญา) มานะ โทสะ อิสสา (ความริษยา) มัจฉริยะ (ความตระหนี่) กุกกุจจะ (ความเดือดร้อนใจ) ถีนะ (ความหดหู่) มิทธะ (ความง่วงเหงา) วิจิกิจฉา

โสภณเจตสิก : เจตสิกฝ่ายดีงาม (เกิดกับจิตที่เป็นกุศลและอัพยากฤต) มี ๒๕ อย่าง แบ่งเป็น
    ๓.๑) เจตสิกที่เกิดทั่วไปกับกุศลเจตสิกทุกดวง ได้แก่ ศรัทธา สติ หิริ (ความละอายต่อบาป) โอตตัปปะ (ความกลัวต่อบาป) อโลภะ อโทสะ ตัตรมัชฌัตตตา (ความเป็นกลางในอารมณ์นั้นๆ, อุเบกขา) กายปัสสัทธิ (คำว่ากายในที่นี้หมายถึง เวทนา สัญญา สังขาร คือ ความสงบแห่งกองเจตสิก) จิตตปัสสัทธิ (คำว่าจิตในที่นี้หมายถึง วิญญาณ คือ ความสงบแห่งจิต) กายลหุตา (ความเบาแห่งกองเจตสิก) จิตตลหุตา (ความเบาแห่งจิต) กายมุทุตา (ความนุ่มนวลแห่งกองเจตสิก) จิตตมุทุตา (ความนุ่มนวลแห่งจิต) กายกัมมัญญตา (ความควรแก่งานแห่งกองเจตสิก) จิตตกัมมัญญตา (ความควรแก่งานแห่งจิต) กายปาคุญญตา (ความคล่องแคล่วแห่งกองเจตสิก) จิตตปาคุญญตา (ความคล่องแคล่วแห่งจิต) กายุชุกตา (ความซื่อตรงแห่งกองเจตสิก) จิตตุชุกตา (ความซื่อตรงแห่งจิต)
     ๓.๒) เจตสิกที่เป็นตัวความงดเว้น ได้แก่ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ
    ๓.๓) อัปปมัญญาเจตสิก ได้แก่ กรุณา มุทิตา (เมตตา = อโทสะ, อุเบกขา = ตัตรมัชฌัตตตา)
    ๓.๔) ปัญญินทรีย์เจตสิก ได้แก่ ปัญญินทรีย์ (หรือ อโมหะ)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น