๑.๘ ธรรมนิยาม

ธรรมนิยาม คือ หลักความจริงที่มีอยู่โดยธรรมดาตามที่ดำรงอยู่หรือเป็นไปของมันเอง พระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นหรือไม่ มันก็มีก็เป็นไปของมันอยู่อย่างนั้นๆ (นิยามแปลว่ากำหนดอันแน่นอน) มี ๒ หมวดสำคัญ คือ

๑. ไตรลักษณ์
๒. ปฏิจจสมุปบาท

ถ้าจะเข้าใจไตรลักษณ์ให้ชัด ต้องลงให้ถึงปฏิจจสมุปบาท เช่น ที่ว่าสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยงนั้น มันไม่ได้เปลี่ยนไปอย่างเลื่อนลอย แต่เป็นไปตามเหตุปัจจัย จึงต้องศึกษาระบบความสัมพันธ์ของสิ่งทั้งหลาย ข้อสังเกตที่สำคัญ (เทียบเคียงกับหลัก อริยสัจ ๔) เมื่อขันธ์ ๕ เป็นไปตามปฏิจจสมุปบาท โดยมีลักษณะเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันจึงมีสภาพเป็นที่ตั้ง ที่ก่อตัวของทุกข์ หรือเป็นที่รวมไว้แห่งศักยภาพของการที่จะเป็นทุกข์ (เข้าใจว่าเพ่งที่ทุกข์ทางใจเป็นหลัก) ขันธ์  อันประกอบพร้อมด้วยความยึดมั่นถือมั่น (อุปาทานขันธ์ ) จึงเป็นความหมายของ ทุกขอริยสัจ ปฏิจจสมุปบาท ถือเป็นความหมายของ สมุทัยอริยสัจ ดังที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาทสมุทัยวาร

นอกจากธรรมที่เป็นสังขตธรรมหรือสังขาร ก็ยังมีธรรมที่เป็นอสังขตธรรม ซึ่งพ้นเหนือปฏิจจสมุปบาท ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง จึงไม่เป็น อนิจจัง และทุกขัง นี่ก็คือ นิโรธอริยสัจ อันได้แก่ นิพพาน

ส่วนอริยสัจข้อที่ ๔ มรรค คือ วิธีปฏิบัติในการที่จะให้กระบวนการปฏิจจสมุปบาทสมุทัยวาร ไม่เป็นไป หรือพลิกกลับเป็นปฏิจจสมุปบาทนิโรธวารนั่นเอง ในการปฏิบัติเมื่อแยกแยะออกไปแล้วจัดเป็นระบบชีวิตที่ดีงามเรียกว่า มรรคมีองค์ ๘

พุทธพจน์ ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ ย่อมเสวยสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้แล้ว ก็ย่อมเสวยสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง

ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนั้น อะไรเป็นความพิเศษ เป็นความแปลก เป็นข้อแตกต่างระหว่างอริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ กับปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้?

ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ ถูกทุกขเวทนากระทบเข้าแล้ว ย่อมเศร้าโศกคร่ำครวญ เขาย่อมเสวยเวทนาทั้ง ๒ อย่าง คือ เวทนาทางกาย และเวทนาทางใจ

เปรียบเหมือนนายขมังธนู ยิงบุรุษด้วยลูกศรดอกหนึ่ง แล้วยิงซ้ำด้วยลูกศรดอกที่ ๒ อีก เมื่อเป็นเช่นนี้ บุรุษนั้นย่อมเสวยเวทนาเพราะลูกศรทั้ง ๒ ดอก คือ ทั้งทางกาย ทั้งทางใจ ฉันใด ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ ก็ฉันนั้น ย่อมเสวยเวทนาทั้ง ๒ อย่าง คือ ทั้งทางกาย และทางใจ

อนึ่ง เพราะถูกทุกขเวทนานั้นกระทบ เขาย่อมเกิดความขัดใจ เมื่อเขามีความขัดใจเพราะทุกขเวทนา ปฏิฆานุสัยเพราะทุกขเวทนาก็ย่อมนอนเนื่อง เขาถูกทุกขเวทนากระทบเข้าแล้ว ก็หันเข้าระเริงกับกามสุข เพราะไม่รู้ทางออกจากทุกขเวทนา นอกไปจากกามสุข และเมื่อเขาระเริงอยู่กับกามสุข ราคานุสัยเพราะสุขเวทนานั้นย่อมนอนเนื่อง เขาย่อมไม่รู้เท่าทันความเกิดขึ้น ความสูญสลาย ข้อดีข้อเสีย และทางออกของเวทนาเหล่านั้นตามที่มันเป็น เมื่อเขาไม่รู้ตามที่มันเป็น อวิชชานุสัยเพราะอทุกขมสุขเวทนา ย่อมนอนเนื่อง

ถ้าได้เสวยสุขเวทนา เขาก็เสวยอย่างถูกมัดตัว ถ้าเสวยทุกขเวทนา เขาก็เสวยอย่างถูกมัดตัว ถ้าเสวยอทุกขมสุขเวทนา เขาก็เสวยอย่างถูกมัดตัว, นี้แล เรียกว่า ปุถุชน ผู้มิได้เรียนรู้ ผู้ประกอบด้วยชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เราเรียกว่าผู้ประกอบด้วยทุกข์

ภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายอริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ ถูกทุกขเวทนากระทบเข้าแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก คร่ำครวญ เธอย่อมเสวยเวทนาทางกายอย่างเดียว ไม่เสวยเวทนาทางใจ

เปรียบเหมือนนายขมังธนู ยิงบุรุษด้วยลูกศร แล้วยิงซ้ำด้วยลูกศรดอกที่ ๒ ผิดไป เมื่อเป็นเช่นนี้ บุรุษนั้นย่อมเสวยเวทนาเพราะลูกศรดอกเดียว ฉันใด อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ก็ฉันนั้น ย่อมเสวยเวทนาทางกายอย่างเดียว ไม่ได้เสวยเวทนาทางใจ

อนึ่ง เธอย่อมไม่มีความขัดใจเพราะทุกขเวทนานั้น เมื่อไม่มีความขัดใจเพราะทุกขเวทนานั้น ปฏิฆานุสัยเพราะทุกขเวทนานั้น ย่อมไม่นอนเนื่อง เธอถูกทุกขเวทนากระทบ ก็ไม่หันระเริงเข้ากับกามสุข เพราะอริยสาวกผู้เรียนรู้แล้ว ย่อมรู้ทางออกจากทุกขเวทนา นอกจากกามสุขไปอีก เมื่อไม่ระเริงกับกามสุข ราคานุสัยเพราะสุขเวทนานั้นก็ไม่นอนเนื่อง เธอย่อมรู้เท่าทันความเกิดขึ้น ความสูญสลาย ข้อดี ข้อเสีย และทางออกของเวทนาเหล่านั้นตามที่มันเป็น เมื่อเธอรู้ตามที่มันเป็นอวิชชานุสัยเพราะอทุกขมสุขเวทนา ก็ไม่นอนเนื่อง

ถ้าเสวยสุขเวทนา ก็เสวยอย่างไม่ถูกมัดตัว ถ้าเสวยทุกขเวทนา ก็เสวยอย่างไม่ถูกมัดตัว ถ้าเสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็เสวยอย่างไม่ถูกมัดตัว นี้เรียกว่า อริยสาวก ผู้ได้เรียนรู้ ผู้ปราศจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เราเรียกว่า ผู้ปราศจากทุกข์

ภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นความพิเศษ เป็นความแปลก เป็นข้อแตกต่าง ระหว่างอริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ กับปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ (สัลลัตถสูตร)


ธรรมดาโลก ธรรมนิยาม

สังขตธรรม (ธรรมที่ถูกปรุงแต่ง, สิ่งทั้งหลายในโลกทั้งรูปธรรมและนามธรรม) ล้วนเป็นไปตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัย เรียกว่า นิยาม  คือ ความเป็นไปอันมีระเบียบแน่นอน เพราะเมื่อมีเหตุปัจจัยอย่างนั้นๆแล้ว ก็จะมีความเป็นไปอย่างนั้นๆแน่นอน ประกอบด้วย

๑. อุตุนิยาม : เกี่ยวกับอุณหภูมิ
๒. พีชนิยาม : เกี่ยวกับพันธุกรรม
๓. จิตตนิยาม : เกี่ยวกับการทำงานของจิต
๔. กรรมนิยาม : การกระทำและผล
. ธรรมนิยาม : อาการที่เป็นเหตุเป็นผลแก่กันแห่งสิ่งทั้งหลาย (ข้ออื่นๆรวมลงได้ในข้อนี้ทั้งหมด)
อาจมีอีก ๑ อย่าง คือ
๖. สมมตินิยาม : กฎระเบียบต่างๆที่มนุษย์ตั้งขึ้นใช้ในสังคม ไม่มีผลกับความจริงตามธรรมชาติ และอาจสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับความจริงตามธรรมชาติก็ได้ สังคมที่เจริญแล้วคนทั้งหลายมีปัญญา มักบัญญัติสมมตินิยาม ได้สอดคล้องกับกรรมนิยาม เพื่อสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยให้เกิดขึ้นในสังคม