วันเสาร์

๒.๕.๓ หมวดสมาธิ : สัมมาวายามะ, สัมมาสติ, สัมมาสมาธิ

สัมมาวายามะ เป็นเรื่องของความเพียร แยกเป็น ๔ ข้อ เรียกว่า 🔎ปธาน ๔ คือ
๑. เพียรระวัง อกุศลที่ยังไม่เกิด
๒. เพียรกำจัด อกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว
๓. เพียรเจริญ กุศลที่ยังไม่เกิด
๔. เพียรรักษา กุศลที่เกิดขึ้นแล้ว
พูดสั้นๆคือ ความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม และทำกุศลธรรมให้เจริญขึ้นความเพียรเป็นคุณธรรมสำคัญยิ่งข้อหนึ่งในพระพุทธศาสนา ในหมวดธรรมที่เกี่ยวกับการปฏิบัติแทบทุกหมวด จะพบความเพียรแทรกอยู่ด้วย ในชื่อใดชื่อหนึ่ง

“ธรรมนี้ เป็นของสำหรับผู้ปรารภ (กล่าวถึง ริเริ่ม ตั้งต้น) ความเพียร มิใช่สำหรับคนเกียจคร้าน” (อนุรุทธสูตร)

การทำความเพียรก็ต้องมีความพอดี และมีความสมดุลกันของอินทรีย์อื่นๆ ดังพุทธพจน์ที่เปรียบเทียบความพอดีของความเพียรเหมือนสายพิณที่ไม่ตึงและไม่หย่อนเกินไป “ … แต่คราวใด สายพิณของเธอ ไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป ตั้งอยู่ในระดับพอดี คราวนั้นพิณของเธอ จึงจะมีเสียงไพเราะ หรือเหมาะที่จะใช้การ … ความเพียรที่ระดมมากเกินไป ย่อมเป็นไปเพื่อความฟุ้งซ่าน ความเพียรที่หย่อนเกินไป ย่อมเป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน เพราะเหตุนั้นแล เธอจงตั้งใจกำหนดความเพียรให้เสมอพอเหมาะ จงเข้าใจความเสมอพอดีกัน แห่งอินทรีย์ทั้งหลาย” (โสณสูตร)

อรรถกถาขยายความว่าพระโสณะปรารภความเพียรเดินจงกรมจนเท้าแตก ท่านจึงคุกเข่าเดินจงกรมจนทั้งเข่าทั้งฝ่ามือแตก ข้อนี้ผู้ศึกษาไม่ควรเข้าใจผิดว่าความเพียรอันแรงกล้านั้นเป็นสิ่งไม่ดี ความสุดโต่งไปทางการทรมานตน และความเพียรที่ไม่ถูกที่ถูกทางต่างหากที่ควรหลีกเลี่ยง พึงพิจารณาร่วมกับพุทธพจน์อื่นๆ

“บุคคลย่อมข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา ย่อมข้ามอรรณพได้ด้วยความไม่ประมาท ย่อมล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร ย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา” (อาฬวกสูตร)

“คนขยันทั้งคืนวัน เรียกว่า มีแต่ละวันนำโชค” (ภัทเทกรัตตสูตร)

“เป็นคนควรหวังเรื่อยไป บัณฑิตไม่ควรท้อแท้ เราเห็นประจักษ์มากับตนเอง เราปรารถนาอย่างใด ก็ได้สมตามนั้น” (สรภชาดก)

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ดีแล้ว ผู้ใดเกียจคร้าน ผู้นั้นย่อมอยู่เป็นทุกข์ ผู้ใดปรารภความเพียร ผู้นั้นย่อมอยู่เป็นสุข” (เอกธัมมบาลี)

บางคนต้องให้ตนประสบทุกข์หนักก่อนจึงเกิดความสังเวชริเริ่มความเพียร คนเขลาแม้ตนจะประสบทุกข์หนักก็ไม่สังเวชไม่ริเริ่มความเพียร ส่วนบัณฑิตริเริ่มความเพียรอยู่เสมอ เดินหน้าไปสู่ฝั่งอันเกษม


สัมมาสติ  การระลึกได้, การกำหนดจับอารมณ์, การไม่ยอมถลำลงไปในทางเสื่อม และเดินก้าวหน้าต่อไปอยู่เสมอ ความหมายของ สติ มีความใกล้ชิดกับความไม่ประมาท (อัปปมาท) ซึ่งท่านถือว่าเป็นยอดของธรรม เพราะธรรมทั้งหมดประชุมลงในความไม่ประมาทได้ ผู้ไม่ประมาท พึงหวังสิ่งนี้ได้ คือ เธอจักเจริญ จักกระทำให้มาก ซึ่งอริยอัษฎางคิกมรรค ดังปัจฉิมวาจา

“สิ่งทั้งหลายที่ปัจจัยปรุงแต่งขึ้น ย่อมมีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังประโยชน์ที่มุ่งหมายให้สำเร็จ ด้วยความไม่ประมาท” (มหาปรินิพพานสูตร)

สติ เกิดร่วมกับ ปัญญา จึงจะมีกำลัง ขาดปัญญา ย่อมอ่อนกำลัง

สัมมาสมาธิ  ความตั้งมั่นของจิต, ภาวะที่จิตแน่วแน่แนบสนิทอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ความมุ่งหมายของสัมมาสมาธิ คือ สมาธิที่ใช้ถูกทาง เพื่อจุดหมายในทางหลุดพ้น เพื่อเป็นฐานให้ปัญญารู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง (ยถาภูตญาณทัสสนะ) กล่าวคือ เพื่อเป็นสนามปฏิบัติการของปัญญา สนับสนุนให้ปัญญาเจริญ จนบรรลุจุดหมายนั่นเอง

พึงเข้าใจว่า หลักการที่ท่านแสดงไว้ ผู้ปฏิบัติธรรมสามารถเจริญวิปัสสนาได้ โดยใช้สมาธิเพียงขั้นต้นๆ ที่เรียกว่า วิปัสสนาสมาธิ อันเป็นสมาธิในระดับตั้งแต่ขณิกสมาธิ ไปถึงอุปจารสมาธิ แต่สมาธิระดับที่สูงขึ้นย่อมเป็นฐานให้ปัญญาเจริญได้ดีขึ้นไปตามลำดับ

สมาธิ มีลักษณะไม่ส่ายหรือไม่ฟุ้งซ่าน ปรากฏเป็นความสงบ โดยมีความสุขเป็นปทัฏฐาน (เหตุใกล้) จิตที่เป็นสมาธินั้น นิ่งแน่ว เหมือนเปลวเทียนในที่ไม่มีลมกวน ไฟทำงานเผาไหม้ต่อเนื่องไปอย่างสม่ำเสมอ มิใช่หยุดนิ่ง แต่สงบนิ่ง มิใช่ลืมตัว หมดความรู้สึก หรือถูกกลืนรวมหายไปในอะไรๆ แต่มีสติสัมปชัญญะเจริญขึ้นตามลำดับขั้นของสมาธิ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น