วันพฤหัสบดี

๒.๕.๓.๒ วิธีเจริญสมาธิโดยใช้กรรมฐาน : อานาปานสติ /โอทาตกสิณ / อัปปมัญญา ๔

วิธีเจริญสมาธิโดยใช้กรรมฐาน
กรรมฐาน หมายถึง อารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งการงานของใจ, อุบายหรือวิธีฝึกจิตเจริญปัญญา

กรรมฐาน มี ๒ คือ
๑. สมถกรรมฐาน : กรรมฐานเป็นอุบายสงบใจ เจริญสมาธิ
๒. วิปัสสนากรรมฐาน : กรรมฐานเป็นอุบายเรืองปัญญา (พิจารณาความเป็นไตรลักษณ์ของสภาวธรรม)

ในที่นี้ด้านสมถกรรมฐานจะยกตัวอย่าง อานาปานสติ, โอทาตกสิณ, อัปปมัญญา ส่วนด้านวิปัสสนาจะยกตัวอย่าง สติปัฏฐาน ๔ อย่างไรก็ตาม ในกรรมฐานทุกชนิดสามารถถือเป็นได้ทั้งสมถะและวิปัสสนาขึ้นอยู่กับแง่ด้านในการปฏิบัติ เช่น การฝึกอานาปานสติเพื่อให้เกิดสมาธิเป็นด้านสมถะ ฝึกแล้วพิจารณาความเกิดดับของสภาวธรรมที่เกิดขึ้นขณะกำลังเจริญอานาปานสติก็เป็นด้านวิปัสสนา เป็นต้น

๑. สมถกรรมฐาน
เท่าที่พระอรรถกถาจารย์รวบรวมแสดงไว้ มี ๔๐ อย่าง ท่านแนะนำว่า แตกต่างกันโดยความเหมาะสมแก่ผู้ปฏิบัติ ซึ่งควรเลือกใช้ให้เหมาะกับลักษณะนิสัย ความโน้มเอียงของแต่ละบุคคล ที่เรียกว่าจริยา (จริต) ต่างๆ ถ้าเลือกได้ถูกกันเหมาะกัน ก็ปฏิบัติได้ผลดี และรวดเร็ว ถ้าเลือกผิด อาจทำให้ปฏิบัติได้ล่าช้า หรือไม่สำเร็จผล อย่างไรก็ตามอย่าถึงกับตายตัวทีเดียว พูดอย่างกว้างๆ กรรมฐานทุกอย่างก็เป็นประโยชน์ ช่วยข่มอกุศล และเกื้อหนุนกุศลธรรมได้ทั้งนั้น

“…ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงเจริญสมาธิเถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้มีจิตตั้งมั่นแล้วย่อมรู้ตามความเป็นจริง” (สมาธิสูตร)

อานาปานสติ
“ภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติสมาธินี้แล เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นสภาพสงบประณีต สดชื่น เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข และยังอกุศลธรรมชั่วร้ายที่เกิดขึ้นแล้ว ให้อันตรธานสงบไปได้โดยพลัน เปรียบเหมือนฝนใหญ่ที่ตกในสมัยมิใช่ฤดูกาล ยังฝุ่นละอองที่ฟุ้งขึ้นในเดือนท้ายฤดูร้อน ให้อันตรธานสงบไปโดยพลัน ฉะนั้น” (เวสาลีสูตร)

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อกล่าวถึงอานาปานสติ ก็พึงกล่าวว่า อริยวิหารบ้าง พรหมวิหารบ้าง ตถาคตวิหารบ้าง, ภิกษุเหล่าใดยังเป็นเสขะ เมื่อปรารถนาธรรมอันยอดเยี่ยม ปลอดโปร่งจากโยคะ (โยคะ มี ๒ ความหมาย คือ กิเลส, ความเพียร) อานาปานสติอันภิกษุเหล่านั้นเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะ, ภิกษุเหล่าใดที่เป็นอรหันตขีนาสพ อานาปานสติ ย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน และเพื่อสติสัมปชัญญะ” (อิจฉานังคละสูตร)

อานาปานสติ เป็นวิธีเจริญสมาธิที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญมาก ทรงสนับสนุนบ่อยครั้ง และพระพุทธองค์เองก็ได้ทรงใช้เป็นวิหารธรรมมาก ทั้งก่อนและหลังตรัสรู้ ปฏิบัติได้สะดวก ร่างกายผ่อนคลายสบายในขณะปฏิบัติ ส่งเสริมสุขภาพ ปราชญ์บางท่านชี้ให้สังเกตความแตกต่าง ระหว่างอานาปานสติ กับวิธีฝึกหัดเกี่ยวกับลมหายใจของลัทธิอื่นๆ เช่น โยคะ ว่าเป็นคนละเรื่องกันทีเดียว โดยเฉพาะว่า อานาปานสติ “เป็นวิธีฝึกสติ” “ไม่ใช่ฝึกการหายใจ” คือ อาศัยลมหายใจ เป็นอุปกรณ์สำหรับฝึกสติ

วิธีปฏิบัติ
พึงทราบว่า ตัวอย่างวิธีปฏิบัติในที่นี้ เขียนตามคัมภีร์วิสุทธิมัคค์ ให้เห็นแบบแผนเดิม ผู้ปฏิบัติจะยักเยื้องไปอย่างอื่นอีกก็ได้ เช่น อย่างที่สำนักต่างๆในปัจจุบัน สอนให้ว่า พุทโธ แทนการนับเป็นต้น สาระอยู่ที่เป็นอุบายตรึงจิตไว้เท่านั้น

พึงหาสถานที่สงบสงัด นั่งในอิริยาบถที่ทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะผ่อนคลายสบาย ไม่เมื่อยล้า และหายใจคล่องสะดวก โดยทั่วไปที่ได้ผลดีคือ นั่งขัดสมาธิ ตั้งกายตรง แต่สำหรับผู้ที่ไม่สะดวก ก็อาจนั่งบนเก้าอี้ ให้ตัวตรงสบาย หรืออยู่ในอิริยาบถอื่นที่สบายพอดี ในช่วงแรกของการลงมือปฏิบัติ พระอรรถกถาจารย์ได้เสริมวิธีการนับเข้ามา เพื่อช่วยในการตรึงจิตได้ดี โดยเริ่มแรกให้นับเป็นคู่ๆ คือ หายใจเข้านับ ๑ หายใจออก นับ ๑ เรื่อยไปจนถึง ๕/๕ แล้วตั้งต้นใหม่ จาก ๑/๑ ไปจนถึง ๖/๖ เพิ่มทีละคู่จนนับจาก ๑/๑ จนถึง ๑๐/๑๐ แล้วย้อนกลับไปตั้งต้นที่ ๑/๑ ถึง ๕/๕ ใหม่อย่างนี้เรื่อยไป

ต่อมาให้นับเร็ว คือเมื่อลมหายใจเข้าออกปรากฏชัดดีแล้ว คราวนี้ไม่ต้องคำนึงถึงลมเข้าใน หรือออกนอก กำหนดแต่ลมที่มาถึงช่องจมูก แล้วนับจาก ๑ ถึง ๕ (ไม่ต้องนับเป็นคู่) ๑ ถึง ๖ เรื่อยไปจน ๑ ถึง ๑๐ แล้วเริ่มใหม่ เมื่อใช้การนับเร็ว กรรมฐานก็จะปรากฏต่อเนื่อง กำหนดนับอย่างนี้เรื่อยไป จนกว่าเมื่อใด แม้ไม่นับแล้ว สติก็ยังตั้งแน่วอยู่ได้ในอารมณ์ คือลมหายใจเข้าออก (วัตถุประสงค์ของการนับ ก็เพิ่อให้สติตั้งอยู่ได้ในอารมณ์ ตัดความคิดฟุ้งซ่านภายนอกได้นั่นเอง)

เมื่อจิตอยู่กับลมหายใจโดยไม่ต้องนับแล้ว ก็หยุดนับเสีย ใช้สติตามลมหายใจอยู่ตรงจุดที่ลมกระทบ (ปลายจมูก หรือริมฝีปากบน) เปรียบเหมือนคนเลื่อยไม้ ตั้งสติไว้ตรงที่ฟันเลื่อยกระทบไม้เท่านั้น หาได้ส่ายตาไปตามหัวเลื่อย กลางเลื่อย ปลายเลื่อยไม่ แต่ทั้งที่ตามองอยู่ตรงที่ฟันเลื่อยกระทบไม้แห่งเดียว ฟันเลี่อยที่มาหรือไป เขาก็ตระหนักรู้ (ท่านว่าถ้าส่งจิตตามลมเข้าไป จะรู้สึกอึดอัด ถ้าส่งจิตตามลมออกไปข้างนอกจะฟุ้งซ่าน) ด้วยวิธีนี้ เมื่อกำหนดอารมณ์กรรมฐานเรื่อยไป นิมิตแห่งลมหายใจของผู้ปฏิบัติจะละเอียดยิ่งขึ้นไปตามลำดับ เมื่อผู้ปฏิบัติพยายามมีสติรักษาอารมณ์กรรมฐานนั้นไว้ (ซึ่งก็คือรักษาสมาธิด้วยนั่นเอง) มนสิการบ่อยๆ ให้เจริญงอกงาม ในที่สุด อัปปนาสมาธิ ก็จะเกิดขึ้น บรรลุปฐมฌาน

🔎อานาปานสติ เพิ่มเติม (ดูหัวข้อที่ ๑๐)

โอทาตกสิณ : กษิณสีขาว โดย (สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส. สารานุกรมพระพุทธศาสนา)

สาธุชนผู้จะเจริญกสิณชนิดนี้ พึงขดไม้เป็นวงกลมกว้างโดยศูนย์ไส้สัก ๑๖ นิ้ว หรือราวนั้น พอตาจับได้ถนัด อย่าให้เล็กเกินจนนัยน์ตาจับเอาอื่นด้วย หรือใหญ่เกินไปจนนัยน์ตาจับไม่ทั่ววง เอาผ้าขาวอันบริสุทธิ์หุ้ม แล้วเอาวางห่างจากที่นั่งสัก ๒ ศอกคืบ หรือราวนั้น พอเพ่งดูถนัด อย่าให้ชิดเกินไปจนนัยน์ตาจับไม่ถนัด แล้วพึงนั่งเพ่งดูโดยอาการตามถนัด ตากำหนดจำกสิณนั้นใจนึกถึงสีว่า “โอทาตัง โอทาตัง” แปลว่า ขาว ขาว คุมนัยน์ตาอันแลเห็น กับใจอันนึก ให้อยู่ที่กสิณพร้อมกัน กิริยาที่ทำนี้เรียกว่า บริกรรม ดวงกสิณเรียกว่า บริกรรมนิมิต กิริยาที่นึกว่า “โอทาตัง โอทาตัง” เรียกว่า บริกรรมภาวนา นี้เป็นชั้น ๑ (บริกรรม แปลว่า ทำซ้ำๆ)

ครั้นทำในชั้นนี้ชำนาญแล้ว ถึงตั้งใจจำกสิณนั้นให้ติดตา ลองหลับตาดูในระหว่างๆ ถ้ายังไม่ติดตา ลืมตาดูใหม่ ในสมัยใดจำได้ติดตา หลับตาลง ดวงกสิณปรากฏในใจเหมือนแลเห็น ในสมัยนั้น นิมิตที่ปรากฏในใจนั้น เรียก อุคคหนิมิต แปลว่านิมิตที่จิตจำได้ หรือนิมิตติดตา กิริยาที่นึกนั้น เรียก บริกรรมสมาธิ ที่กล่าวว่าปรากฏในใจนั้น เช่นกับคนขลาดได้พบสิ่งที่น่ากลัวอันให้ตกใจ หรือคนที่ผูกพันอยู่ในสิ่งหนึ่งหลับตาลง ย่อมแลเห็นสิ่งนั้นติดตา แต่ท่านไม่จัดว่าเป็นอารมณ์ของกัมกัฏฐาน เพราะเป็นเหตุตกใจ หรือเป็นเหตุติดข้อง บริกรรมสมาธินี้เป็นชั้นที่ ๒

ครั้นในชั้นนี้ช่ำชองแล้ว พึงลองหลับตานึกถึงนิมิตนั้นขยายให้ใหญ่บ้างเล็กบ้าง แต่อย่าให้เสียส่วนตามสัณฐาน ตัวอย่างเช่น รูปถ่ายของมีขนาดต่างกัน แต่ส่วนแห่งอวัยวะนั้นๆของรูปทั้งปวงทุกชนิด คงสมกันกับกาย ในสมัยใด จิตจำนิมิตนั้นได้จนขยายออกหรือย่นเข้าได้ สมัยนั้นนิมิตนั้นเรียกว่า ปฏิภาคนิมิต แปลว่านิมิตเทียบเคียง ภาวนานั้นเรียกว่า อุปจารภาวนา นี้เป็นชั้นที่ ๓

ผู้ทำได้แม่นยำจนถึงชั้นนี้แล้ว บำเพ็ญภาวนาต่อไปจนเข้าองค์กำหนดชั้นต้น (วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา) จัดได้ว่าบรรลุปฐมฌาน เป็นสมาธิแน่นแฟ้น อัปปนาสมาธินี้เป็นชั้นที่ ๔

ผู้ศึกษาในกัมมัฏฐานไม่ควรมุ่งเฉพาะคุณที่สูงอย่างเดียว ควรมุ่งเฉพาะคุณที่เป็นวิสัยของตน พึงเจริญกัมกัฏฐานอันเป็นที่สบายแก่ตน เช่น คนสามัญปรารถนาฐานันดรเป็นมหาอำมาตย์ จะได้สมหวังนั้นเทียวหรือถ้าไม่ได้ พยายามนั้นก็ไม่มีผล ใช้ในทางอื่นยังจะดีกว่า เพราะเหตุนั้น ต้องรู้จักกำลังของตน ทั้งแลเห็นช่องทางก่อน อุปมานี้ฉันใด ผู้จะเจริญกัมมัฏฐานก็พึงประพฤติฉันนั้น ไม่ควรจะละเลยคุณเบื้องต่ำ ซึ่งตนควรจะถือเอาได้ก่อน แม้แต่เพียงในชั้นบริกรรม ต่อมาในสมัยใด คุมจิตไว้ที่กสิณแห่งเดียวได้ ไม่คิดพล่านในทางอื่น ได้ให้ความแช่มชื่นไม่อึดอัดเบื่อหน่าย ในสมัยนั้น จัดว่าเป็นอันสำเร็จผลที่มุ่งหมายแห่งกัมมัฏฐานนั้น


อัปปมัญญา ๔
กรรมฐาน อีกชนิดหนึ่งที่ท่านสนับสนุนให้ปฏิบัติ ได้แก่ อัปปมัญญาเจโตวิมุตติ คือ การเจริญสมาธิด้วยการแผ่เมตตาจิต กรุณาจิต มุทิตาจิต อุเบกขาจิต ออกไปอย่างกว้างขวางทั่วไปหมด ไม่จำกัดขอบเขต ไม่มีประมาณ จนจิตน้อมดิ่งไปในคุณธรรมนั้นๆ เกิดอัปปนาสมาธิ

ตามหลักท่านให้เจริญเมตตา ไปตามลำดับ ดังนี้
๑. ตนเอง : เพื่อเป็นสักขีพยานว่า เรารักสุขเกลียดทุกข์ฉันใด ผู้อื่นก็ฉันนั้น
๒. ผู้เป็นที่รัก : เพราะเจริญได้ง่าย
๓. ผู้ที่เป็นกลางๆ
๔. ศัตรู

เมื่อชำนาญแล้ว ก็ไม่ต้องแบ่งแยกกลุ่ม แผ่ออกไปโดยไม่มีขอบเขต

“พึงแผ่ไม่ตรีจิตในสัตว์ทั้งหลายว่า ขอสัตว์ทั้งปวงจงเป็นผู้มีสุข มีความเกษม มารดาถนอมบุตรน้อยคนเดียวผู้เกิดจากตน แม้ด้วยยอมสละชีวิต ฉันใด พึงเจริญเมตตาไม่จำกัดในสัตว์ทั้งปวง ฉันนั้น” (กรณียเมตตสูตร)

🔎อัปปมัญญา ๔ เพิ่มเติม

ข้อควรรู้เพิ่มเติมสำหรับกรรมฐานต่างๆ โดย (สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส. สารานุกรมพระพุทธศาสนา)

บุคคลผู้มีถีน มิทธะ (ความหดหู่ เซื่องซืม) เป็นเจ้าเรือน ควรเจริญอนุสติกรรมฐาน พิจารณาความดีของตนบ้าง (เช่น มีศีลดี มีความเอื้อเฟื้อ นิยมให้ทาน) พิจารณาคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์บ้าง เพื่อให้มีแก่ใจหวนอุตสาหะ เพราะความก้าวไปข้างหน้า เป็นคู่ปรับกับความหดหู่เซื่องซึม
บุคคลราคะจริต ผู้มีกามฉันท์ เป็นเจ้าเรือน ควรเจริญอสุภกรรมฐาน หรือ กายคตาสติ
บุคคลผู้มีอุทธัจจะ กุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่าน รำคาญใจ) เป็นเจ้าเรือน ควรเพ่งกสิณ หรือ มรณานุสติ
บุคคลผู้มีวิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) เป็นเจ้าเรือน ควรเจริญธาตุกัมมัฏฐาน เพื่อกำหนดรู้สภาวธรรมที่เป็นอยู่อย่างไร

ในบุคคลผู้เดียว นิวรณ์เหล่านี้อาจเข้าครอบงำต่างคณะ ต่างสมัย พึงเจริญกรรมฐานให้เหมาะสม

ข้อสำคัญ พึงทราบว่า กรรมฐานที่ให้มองเห็นอะไรๆเป็นอสุภะ เป็นปฏิกูล ไม่สวยไม่งาม (อสุภกรรมฐาน ปฏิกูลมนสิการ) เรียกว่าอยู่ขั้นสมถะ ยังมองไปตามสมมติบัญญัติ เพียงแต่ถือเอาสมมติในแง่ที่จะมาใช้แก้กิเลสของตน ส่วนวิปัสสนามองเห็นตามสภาวะแท้ๆ ตรงตามที่สิ่งทั้งหลายมันเป็นของมัน ตามเหตุปัจจัย เรียกว่า ตามเป็นจริงในขั้นปรมัตถ์ ที่สิ่งทั้งหลาย ไม่มีงาม หรือไม่งาม ไม่มีสวย ไม่มีน่าเกลียด

อรรถกถาเมตตสูตร

“ได้ยินว่า สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกรรมฐานทั้งหลายที่อนุกูลแก่จริตจำนวน ๘๔,๐๐๐ ประเภท โดยนัยนี้คือ อสุภกรรมฐาน ๑๑ อย่าง คือ อสุภที่มีวิญญาณและไม่มีวิญญาณ สำหรับคนราคจริต, กรรมฐานมีเมตตากรรมฐานเป็นต้น ๔ อย่าง สำหรับคนโทสจริต, กรรมฐานมีมรณัสสติกรรมฐานเป็นต้น สำหรับคนโมหจริต, กรรมฐานมีอานาปานัสสติและปฐวีกสิณเป็นต้น สำหรับคนวิตกจริต, กรรมฐานมีพุทธานุสสติกรรมฐานเป็นต้น สำหรับคนสัทธาจริต, กรรมฐานมีจตุธาตุววัตถานกรรมฐานเป็นต้น สำหรับคนพุทธิจริต”



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น