วันเสาร์

ปัญหาเรื่องศีล

พรรณนาศีลโดยพิสดาร
ก็แหละ วิสุทธิมรรค คือทางแห่งวิสุทธินี้ แม้ว่าพระผู้มีพระภาคจะได้ทรงแสดงโดยมุขคือศีลสมาธิปัญญาอันสงเคราะห์ด้วยคุณธรรมเป็นอเนกประการดังที่พรรณนามาแล้วก็ตาม นับว่าทรงแสดงไว้อย่างย่อมาก เหตุนั้น จึงยังไม่เพียงพอเพื่อความเป็นอุปการะ แก่เวไนยสัตว์ทั่ว ๆ ไป ดังนั้น เพื่อจะพรรณนาความแห่งวิสุทธิมรรคนั้นอย่างพิสดาร ขอตั้งปัญหากรรมปรารภถึงศีล เป็นประการแรก ดังนี้ :-


ปัญหาเรื่องศีล
๑. อะไร ชื่อว่าศีล
๒. ที่ชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่ากระไร
๓. อะไรเป็นลักษณะ, เป็นรส, เป็นอาการปรากฏและเป็นปทัฏฐานของศีล
๔. ศีลมีอานิสงส์อย่างไร
๕. ศีลนี้มีกี่อย่าง
๖. อะไรเป็นความเศร้าหมองของศีล
๗. อะไร เป็นความผ่องแผ้วของศีล

🔅 วิสัชนาปัญหาข้อที่ ๑ 
ในปัญหากรรมเหล่านั้น มีคำวิสัชนาดังต่อไปนี้
ปัญหาข้อว่า อะไร ชื่อว่าศีล วิสัชนาว่า ธรรมทั้งหลายมีเจตนาเป็นต้น ของบุคคลผู้งดเว้นจากปาณาติบาตเป็นต้นอยู่ก็ดี ของบุคคลผู้บำเพ็ญวัตตปฏิบัติอยู่ก็ดี ชื่อว่าศีล คำนี้สมดังที่พระธรรมเสนาบดีสารีปุตตะกล่าวไว้ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค

“อะไร ชื่อว่าศีล เจตนา  ชื่อว่าศีล เจตสิก ชื่อว่าศีล สังวร ชื่อว่าศีล การไม่ล่วงละเมิด 
ชื่อว่าศีล”

เจตนาศีล
ในศีลเหล่านั้น คำว่า เจตนาชื่อว่าศีล ได้แก่เจตนาของบุคคลผู้งดเว้นจากบาปธรรมมีปาณาติบาตเป็นต้นอยู่ หรือเจตนาของบุคคลผู้กำลังบำเพ็ญวัตตปฏิบัติอยู่

เจตสิกศีล
เจตสิก ชื่อว่าศีล ได้แก่ วิรติเจตสิก ของบุคคลผู้งดเว้นจากบาปธรรมมีปาณาติบาตเป็นต้น อีกประการหนึ่ง เจตนา ชื่อว่าศีล ได้แก่เจตนาในกรรมบถ ๗ ดวง ของบุคคลผู้ละอยู่ซึ่งบาปธรรมทั้งหลายมีปาณาติบาตเป็นต้น เจตสิก ชื่อว่าศีล ได้แก่กุศลธรรมทั้งหลายคือความไม่โลภ ความไม่พยาบาท ความเห็นชอบ ที่ตรัสไว้โดยนัยมีอาทิว่า ภิกษุละอภิชฌาแล้วเป็นผู้มีจิตปราศจากอภิชฌาอยู่สังวรศีล

สังวร
ในคำว่าสังวรชื่อว่าศีลนี้ นักศึกษาพึงทราบโดยประการ ๕ อย่าง คือ ปาติโมกขสังวร ๑ สติสังวร ๑ ญาณสังวร ๑ ขันติสังวร ๑ วีริยสังวร ๑ ในสังวร ๕ อย่างนั้น สังวรนี้คือ “ภิกษุเป็นผู้เข้าถึงแล้ว เข้าถึงพร้อมแล้วด้วยความสังวรคือปาติโมกข์นี้ ชื่อว่า ปาติโมกขสังวร สังวรนี้คือ “ภิกษุย่อมรักษาซึ่งอินทรีย์คือจักษุ ย่อมถึงซึ่งความสังวรในอินทรีย์คือจักษุ ชื่อว่า สติสังวร สติสังวรสังวรนี้ คือ “พระผู้มีพระภาคตรัสตอบปัญหาอชิตมานพว่า อชิตะ กระแสกิเลสเหล่าใดในโลก สติเป็นเครื่องกั้นซึ่งกระแสเหล่านั้น เรากล่าวสติว่าเป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้น กระแสเหล่านั้นจะพึงตัดให้เด็ดขาดได้ด้วยปัญญา ชื่อว่า ญาณสังวร แม้การเสพปัจจัย
ก็ถึงซึ่งอันรวมลงในญาณสังวรนี้ด้วย ส่วนสังวรนี้ใดซึ่งมาโดยนัยมีอาทิว่า “ภิกษุเป็นผู้อดทนต่อความหนาว เป็นผู้อดทนต่อความร้อน” สังวรนี้ชื่อว่า ขันติสังวร อนึ่ง สังวรใดที่มาโดยนัยมีอาทิว่า “ภิกษุย่อมไม่ให้กามวิตกซึ่งเกิดขึ้น แล้วตั้งอยู่ในภายใน” สังวรนี้ชื่อว่า วิริยสังวร แม้อาชีวปาริสุทธิคือความบริสุทธิ์แห่งอาชีพ ก็ถึงซึ่งอันรวมลงในวีริยสังวรนี้ด้วย

สังวรทั้ง ๕ อย่างนี้ก็ดี การงดเว้นจากวัตถุที่ประจวบเข้าของเหล่ากุลบุตรผู้กลัวบาปก็ดี แม้ทั้งหมดนี้ พึงทราบเถิดว่าเป็น สังวรศีล ด้วยประการฉะนี้

อวีติกกมศีล
คำว่า การไม่ล่วงละเมิด ชื่อว่าศีล ได้แก่ การไม่ล่วงละเมิดที่เป็นไปทางกายและเป็นไปทางวาจาของบุคคลผู้สมาทานศีลแล้ว การวิสัชนาปัญหาข้อว่า อะไรชื่อว่าศีล ประการแรก ยุติด้วยประการฉะนี้

🔅 วิสัชนาปัญหาข้อที่ ๒
จะวิสัชนาในปัญหาข้อที่เหลือต่อไปดังนี้ ปัญหาข้อว่า ที่ชื่อว่าศีลเพราะอรรถว่ากระไร วิสัชนาว่า ที่ชื่อว่าศีลเพราะอรรถว่า ความปกติ

ถาม ที่ว่าความ
ปกติ นี้คืออย่างไร ? ตอบอย่างหนึ่ง คือ ความทรงอยู่อย่างเรียบร้อย หมายความว่า ความเป็นผู้มีกิริยาทางกายเป็นต้นไม่เกะกะด้วยอำนาจความสุภาพเรียบร้อย อีกอย่างหนึ่ง คือ ความรองรับ หมายความว่า ภาวะที่รองรับด้วยสามารถเป็นฐานรองรับกุศลธรรมทั้งหลาย ก็แหละ ความหมาย ๒ อย่างนี้เท่านั้น ใน สีล ศัพท์นี้
บรรดาอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในลักษณะของศัพท์รับรองต้องกัน

ส่วนอาจารย์ฝ่ายอื่น 
พรรณนาความหมายใน สีล ศัพท์นี้ไว้แม้โดยนัยมีอาทิอย่างนี้ว่า ความหมายแห่งสีลศัพท์ หมายความว่า ยอด ความหมายแห่งสีลศัพท์ หมายความว่า เย็น ฉะนี้ (ฉบับพม่า บาลีเป็น สิรฏโฐ สีลตโถ, สีตลฏโฐ สีลตโถ แปลตามนี้)


🔅 วิสัชนาปัญหาข้อที่ ๓
ลำดับนี้ จะวิสัชนาในปัญหาข้อที่ว่าอะไรเป็นลักษณะ, เป็นรส, เป็นอาการปรากฏและเป็นปทัฏฐานของศีล ต่อไปดังนี้

แม้ศีลนั้นถึงจะต่างกันโดยประเภทเป็นอันมาก ก็มีความปกติเป็นลักษณะเหมือนรูปซึ่งต่างกันโดยประเภทเป็นอันมาก ก็มีภาวะจะพึงเห็นได้เป็นลักษณะ ฉะนั้นเหมือนอย่างว่า แม้รูปายตนะถึงจะต่างกันโดยประเภทเป็นอันมากโดยที่ต่างกันด้วยสีเขียวสีเหลืองเป็นต้น ก็มีภาวะที่จะพึงเห็นได้เป็นลักษณะ เพราะถึงแม้รูปายตนะ จะต่างกันโดยประเภทแห่งสีเขียวเป็นต้น ก็ไม่พ้นไปจากภาวะที่จะพึงเห็นได้ ฉันใด แม้ศีลถึงจะต่างกันโดยประเภทเป็นอันมากโดยต่างกัน มีเจตนาเป็นต้น ก็มีความปกติซึ่งได้กล่าวมาแล้วด้วยสามารถแห่งความทรงอยู่อย่างเรียบร้อยของกิริยาทางกายเป็นต้น และด้วยสามารถแห่งความเป็นฐานรองรับกุศลธรรมทั้งหลายนั้นนั่นแลเป็นลักษณะเพราะถึงแม้ศีลจะต่างกันโดยประเภทแห่งเจตนาเป็นต้น ก็ไม่พ้นไปจาก ความทรงอยู่อย่างเรียบร้อย และ ความรองรับ ฉันนั้น

อนึ่ง การขจัดเสียซึ่งความเป็นผู้ทุศีล หรือคุณคือความหาโทษมิได้ ท่านกล่าวว่าเป็นรสของศีลอันมีลักษณะดังกล่าวมาแล้ว โดยอรรถว่า เป็นกิจ และ เป็นสมบัติ เพราะฉะนั้น ชื่อว่าศีลนี้นักศึกษาพึงทราบว่า ที่ว่ามีการขจัดเสียซึ่งความเป็นผู้ทุศีลเป็นรสนั้น ด้วยรสเพราะอรรถว่า กิจ ที่ว่ามีความหาโทษมิได้เป็นรสนั้น ด้วยรสเพราะอรรถว่า สมบัติ เป็นความจริง ในปัญหากรรมมีลักษณะเป็นต้น กิจ หรือ สมบัตินั่นเองท่านเรียกว่า รส

ศีลนี้นั้นมีความสะอาด เป็นอาการปรากฏ วิญญูชนทั้งหลายรับรองกันว่า โอตตัปปะและหิริ เป็นปทัฏฐานของศีลนั้น จริงอยู่ ศีลนี้นั้นมีความสะอาดที่ตรัสไว้อย่างนี้คือ “ความสะอาดกายความสะอาดวาจาความสะอาดใจ” เป็นอาการปรากฏย่อมปรากฏโดยสภาวะอันสะอาด ย่อมถึงภาวะอันจะพึงถือเอาได้ ส่วนหิริและโอตตัปปะวิญญูชนทั้งหลายรับรองกันว่าเป็นปทัฏฐานของศีลนั้น อธิบายว่า หิริและโอตตัปปะเป็นเหตุใกล้ของศีล เป็นความจริง เมื่อหิริและโอตตัปปะมีอยู่ ศีลจึงเกิดขึ้นและดำรงอยู่ เมื่อหิริและโอตตัปปะไม่มี ศีลย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ ตั้งอยู่ไม่ได้เลย นักศึกษาพึงทราบลักษณะ, รส, อาการปรากฏและปทัฏฐานของศีลตามที่พรรณนามา ด้วยประการฉะนี้

🔅 วิสัชนาปัญหาข้อที่ ๔
ปัญหาข้อว่า ศีลมีอานิสงส์อย่างไร วิสัชนาว่า ศีลนั้นมีอันได้ซึ่งคุณเป็น
อันมากมีความไม่เดือดร้อนเป็นต้นเป็นอานิสงส์ สมดังพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ว่า

“อานนท์
กุศลศีลมีความไม่เดือดร้อนเป็นผล มีความไม่เดือดร้อนเป็นอานิสงส์แล”

ยังมีพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้อย่างอื่นอีกว่า คหบดีทั้งหลาย อานิสงส์ของศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล มี ๕ ประการเหล่านี้
อานิสงส์ ๕ ประการนั้น คืออะไรบ้าง ?
    ๑. คหบดีทั้งหลาย บุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีลในโลกนี้ ย่อมประสบกองแห่งโภคทรัพย์อันยิ่งใหญ่ซึ่งมีความไม่ประมาทเป็นเหตุนี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๑ ของศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล
    ๒. คหบดีทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก เกียรติศัพท์อันงามของบุคคลผู้มีศีลสมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมฟุ้งขจรไป นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๒ ของศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล
    ๓. คหบดีทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก บุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีล เข้าไปสู่สังคมใด ๆ จะเป็นสังคมกษัตริย์ก็ดี จะเป็นสังคมพราหมณ์ก็ดี จะเป็นสังคมคหบดีก็ดี จะเป็นสังคมสมณะก็ดี ย่อมเข้าไปอย่างองอาจไม่เก้อเขิน นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๓ ของศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล
    ๔. คหบดีทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก บุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีล เป็นผู้ไม่หลงทำกาลกิริยา นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๔ ของศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล
    ๕. คหบดีทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก บุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีลเบื้องหน้าแต่แตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติ, โลกสวรรค์

นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๕ ของศีล

สมบัติของบุคคลผู้มีศีล 
แม้อานิสงส์ของศีลอย่างอื่น ๆ เป็นอเนกประการซึ่งมีความเป็นที่รักเป็นที่เจริญใจเป็นต้น มีความสิ้นไปแห่งอาสวะเป็นที่สุด พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสไว้โดยนัยมีอาทิว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุพึงมุ่งหวังอยู่ว่า ขอให้เราพึงเป็นที่รักเป็นที่เจริญใจ เป็นที่เคารพ และเป็นที่สรรเสริญของบรรดาภิกษุเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย เธอพึงทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลายนั่นเถิด”

ศีลมีคุณเป็นอันมากมีความไม่เดือดร้อนเป็นต้นเป็นอานิสงส์ ดังพรรณนามาด้วยประการฉะนี้

อานิสงส์แห่งศีลอีกนัยหนึ่ง ที่พึ่งของกุลบุตรทั้งหลายในพระศาสนา เว้นเสียซึ่งศีลอันใดแล้วย่อมไม่มี ใครเล่าจะพึ่งพรรณนากำหนดอานิสงส์ของศีลอันนั้นได้ น้ำคือศีลย่อมล้างมลทินอันใดของสัตว์ทั้งหลายได้ แม่น้ำสายใหญ่ ๆ คือ คงคา, ยมนา, สรภู, สรัสวดี, อจิรวดีหรือมหีที่ไหลไป หาสามารถล้างมลทินนั้นของสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ได้ไม่ , ศีลที่รักษาดีแล้วเป็นศีลห่างไกลจากกิเลสมีความเย็นอย่างที่สุดนี้ ย่อมบันดาลความร้อนกลุ่มของสัตว์ทั้งหลายให้สงบลงได้ ลมปนฝนก็ดี จันทน์เหลืองก็ดี แก้วมุกดาหารก็ดี แก้วมณีก็ดี แสงจันทร์อ่อนก็ดี หาบันดาลความร้อนลุ่มของสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ให้สงบลงได้ไม่ , กลิ่นอันใดที่ฟุ้งไปได้ทั้งทวนลมและตามลมเสมอกัน กลิ่นอันนั้นที่จะทัดเทียมด้วยกลิ่นคือศีล จักมีแต่ที่ไหน บันไดสำหรับขึ้นสู่สวรรค์ หรือประตูในอันเข้าสู่นครนฤพานอย่างอื่น ๆ ที่จะเสมอด้วยศีล จักมีแต่ที่ไหน , พระราชาทั้งหลายผู้ทรงประดับแล้วด้วยแก้วมุกดาและแก้วมณีก็ไม่งามเหมือนนักพรตทั้งหลายผู้ประดับด้วยเครื่องประดับคือศีล ศีลของบุคคลผู้มีศีล ย่อมกำจัดภัยมีการตำหนิตนเป็นต้นเสียได้โดยประการทั้งปวง และย่อมบันดาลให้เกิดเกียรติและความหรรษาในกาลทุกเมื่อ

นักศึกษาพึงทราบกถามุขอันแสดงถึงอานิสงส์ของศีลอันเป็นมูลรากแห่งคุณทั้งหลาย และเป็นเครื่องทำลายกำลังแห่งโทษทั้งหลาย ด้วยประการดังพรรณนามาฉะนี้แล

🔅 วสัชนาปัญหาข้อที่ ๕
ลำดับนี้ จะวิสัชนาในปัญหากรรมข้อที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า ศีลนี้มีกี่อย่าง ต่อไปดังนี้

ศีลมีอย่างเดียว
ศีลนี้สิ้นทั้งมวล ชื่อว่า มีอย่างเดียว ด้วยลักษณะคือความปกติของตน เป็นประการแรก

ศีล ๒ อย่าง
☉ ศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๑ โดยแยกเป็น จาริตตศีล ๑ วาริตตศีล ๑
☉ ศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๒ โดยแยกเป็น อาภิสมาจาริกศีล ๑ อาทิพรหมจริยกศีล ๑
☉ ศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๓ โดยแยกเป็น วิรติศีล ๑ อวิรติศีล ๑
☉ ศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๔ โดยแยกเป็น นิสสตศีล ๑ อนิสสตศีล ๑
☉ ศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๕ โดยแยกเป็น กาลปริยันตศีล ๑ อาปาณโกฏิกศีล ๑
☉ ศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๖ โดยแยกเป็น สปริยันตศีล ๑ อปริยันตศีล ๑
☉ ศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๗ โดยแยกเป็น โลกิยศีล ๑ โลกุตตรศีล ๑

ศีล ๓ อย่าง
☉ ศีล ๓ อย่าง หมวดที่ ๑ โดยแยกเป็น หีนศีล ๑ มัชฌิมศีล ๑ ปณีตศีล ๑
☉ ศีล ๓ อย่าง หมวดที่ ๒ โดยแยกเป็น อัตตาธิปไตยศีล ๑ โลกาธิปไตยศีล ๑ ธัมมาธิปไตยศีล ๑
☉ ศีล ๓ อย่าง หมวดที่ ๓ โดยแยกเป็น ปรามัฏฐศีล ๑ อปรามัฏฐศีล ๑ ปฏิปัสสิทธิศีล ๑
☉ ศีล ๓ อย่าง หมวดที่ ๔ โดยแยกเป็น วิสุทธศีล ๑ อวิสุทธศีล ๑ เวมติกศีล ๑
☉ ศีล ๓ อย่าง หมวดที่ ๕ โดยแยกเป็น เสกขศีล ๑ อเสกขศีล ๑ เนวเสกขนาเสกขศีล ๑

ศีล ๔ อย่าง
☉ ศีล ๔ อย่าง หมวดที่ ๑ โดยแยกเป็น หานภาคิยศีล ๑ ฐิติภาคิยศีล ๑ วิเสสภาคิยศีล ๑ นิพเพธภาคิยศีล ๑
☉ ศีล ๔ อย่าง หมวดที่ ๒ โดยแยกเป็น ภิกขุศีล ๑ ภิกขุนีศีล ๑ อนุปสัมปันนศีล ๑ คหัฏฐศีล ๑
☉ ศีล ๔ อย่าง หมวดที่ ๓ โดยแยกเป็น ปกติศีล ๑ อาจารศีล ๑ ธัมมทาศีล ๑ ปุพพเหตุกศีล ๑
☉ ศีล ๔ อย่าง หมวดที่ ๔ โดยแยกเป็น ปาติโมกขสังวรศีล ๑ อินทรียสังวรศีล ๑ อาชีวปาริสุทธิศีล ๑ ปัจจยสันนิสสตศีล ๑

ศีล ๕ อย่าง
☉ ศีล ๕ อย่าง หมวดที่ ๑ โดยแยกเป็น ปริยันตปาริสุทธิศีลเป็นต้น ข้อนี้สมจริง ดังที่ท่านพระธรรมเสนาบดีสารีปุตตะแสดงไว้ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรคว่า ศีล ๕ อย่าง คือ ปริยันตปาริสุทธิศีล ๑ อปริยันตปาริสุทธิศีล ๑ ปริปุณณปาริสุทธิศีล ๑ อปรามัฏฐปาริสุทธิศีล ๑ ปฏิปัสสัทธิปาริสุทธิศีล ๑
☉ ศีล ๕ อย่าง หมวดที่ ๒ โดยแยกเป็น ปหานศีล  เวรมณีศีล ๑ เจตนาศีล ๑ สังวรศีล  อวีติกกมศีล 



 ปัญหาเรื่องศีล หน้าที่๑ 🔎 หน้าที่ ๒ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น