วันอังคาร

อธิบายศีล ๕ อย่าง หมวดที่ ๑

อธิบายศีล ๕ อย่าง หมวดที่ ๑

ปัญจกะที่ ๑ ของส่วนที่จัดเป็นศีล ๕ อย่าง นักศึกษาพึงทราบอรรถาธิบายโดยแยกเป็นอนุปสัมปันนศีลเป็นต้น ดังต่อไปนี้ ก็แหละ พระธรรมเสนาบดีสารีปุตตะกล่าวไว้ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค ดังนี้ :-

🔅 ปริยันตปาริสุทธิศีล เป็นอย่างไร ?
ศีลของอนุปสัมบัน (ผู้ที่ไม่ได้เป็นภิกษุ หมายถึง สามเณร และคฤหัสถ์) ทั้งหลายผู้มีสิกขาบทเป็นที่สุด นี้จัดเป็น ปริยันตปาริสุทธิศีล
🔅 อปริยันตปาริสุทธิศีล เป็นอย่างไร ?
ศีลของอุปสัมบัน (ผู้อุปสมบทแล้ว, ภิกษุ) ทั้งหลายผู้มีสิกขาไม่มีที่สุด นี้จัดเป็น อปริยันตปาริสุทธิศีล
🔅 ปริปุณณปาริสุทธิศีล เป็นอย่างไร ?
ศีลของกัลยาณปุถุชนทั้งหลาย ผู้ประกอบในกุศลธรรม ผู้กระทำให้บริบูรณ์ในธรรมอันจรดแดนแห่งพระเสกขะ ผู้ไม่อาลัยในร่างกายและชีวิต ผู้มีชีวิตอันสละแล้วนี้จัดเป็น ปริปุณณปาริสุทธิศีล
🔅 อปรามัฏฐปาริสุทธิศีล เป็นอย่างไร ?
ศีลของพระเสกขบุคคล (พระอริยะที่ยังไม่บรรลุพระอรหัตผล) ๗ จำพวก นี้จัดเป็น อปรามัฏฐปาริสุทธิศีล
🔅 ปฏิปัสสัทธิปาริสุทธิศีล เป็นอย่างไร ?
ศีลของพระขีณาสพทั้งหลายผู้เป็นสาวกของพระตถาคตเจ้า ศีลของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ศีลของพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย นี้จัดเป็น ปฏิปัสสัทธิปาริสุทธิศีล

ในบรรดาศีลเหล่านั้น ศีลของอนุปสัมปันทั้งหลาย พึงทราบว่าเป็น ปริยันตปาริสุทธิศีล เพราะเป็นศีลมีที่สุดด้วยอำนาจแห่งการนับ ศีลของอุปสัมปันทั้งหลายถึงแม้จะมีที่สุดด้วยสามารถแห่งการนับอย่างนี้ว่า : “สังวรวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศไว้แล้วเหล่านี้ คือเก้าพันโกฏิสิกขาบท แปดสิบร้อยโกฏิสิกขาบท ห้าสิบแสนสิกขาบท และอื่น ๆ อีก ๓๖ สิกขาบท (รวมเป็นหนึ่งหมื่นเจ็ดพันโกฏิห้าล้านสามสิบหกสิกขาบท) สิกขาทั้งหลายในวินัยปิฎกทรงแสดงไว้ด้วยมุข คือเปยยาล” ดังนี้ก็ตาม พึงทราบว่า คงเป็นอปริยันตปาริสุทธิศีล เพราะหมายเอาภาวะสมาทานโดยไม่มีส่วนเหลือ และภาวะที่ไม่แสดงที่สุดได้ด้วยอำนาจลาภ, ยศ, ญาติ, องค์อวัยวะและ ชีวิต เหมือนศีลของพระอัมพขาทกมหาติสสเถระผู้อยู่ในจิรคุมพวิหาร

เรื่องพระอัมพขาทุกมหาติสสเถระ
จริงอย่างนั้น ท่านพระมหาเถระนั้น ไม่ละสัปปุริสานุสสติข้อนี้คือ “นรชน จึงยอมสละทรัพย์เพราะเหตุแห่งองค์อวัยวะ อันประเสริฐ เมื่อจะรักษาไว้ซึ่งชีวิต ก็พึงยอมเสียสละองค์อวัยวะ เมื่อระลึกถึงธรรมะ ก็พึงยอมเสียสละทรัพย์, องค์อวัยวะและชีวิต แม้หมดทุกอย่าง แม้เมื่อความสงสัยในชีวิตมีอยู่ ท่านก็ไม่ยอมล่วงละเมิดสิกขาบท อาศัยอปริยันตปาริสุทธิศีลนั่นแหละ ได้บรรลุพระอรหัตทั้งที่อยู่บนหลังอุบาสกนั่นเทียว" สมดังที่ท่านพระมหาเถระนั้นกล่าวนิพนธคาถาไว้ว่า :- “อุบาสกนี้ มิใช่บิดา มิใช่มารดา มิใช่ญาติ ทั้งมิใช่ เผ่าพันธุ์ของเธอ เขากระทำกิจเช่นนั้นให้แก่เธอ ก็เพราะเหตุแห่งเธอเป็นผู้มีศีล ท่านทำความสังเวชให้เกิดขึ้นแล้ว พิจารณาสังขารทั้งหลายโดยแยบคาย ได้บรรลุพระอรหัตทั้ง ๆ ที่อยู่บนหลังของอุบาสกนั้น” ฉะนี้

ศีลของกัลยาณปุถุชนทั้งหลาย แม้ปราศจากมลทินเพียงชั่วจิตตุปบาทหนึ่ง ก็สำเร็จเป็นปทัฏฐานแก่พระอรหัตได้เหมือนกัน เพราะเป็นศีลที่บริสุทธิ์ยิ่งนับแต่อุปสมบทมาเหมือนชาติมณีที่นายช่างเจียระไนดีแล้ว และเหมือนทองคำที่นายช่างทำบริกรรมดีแล้ว เพราะเหตุนั้น จึงเรียกได้ว่าเป็น ปริปุณณปาริสุทธิศีล เหมือนศีลของพระมหาสังฆรักขิตเถระและพระสังฆรักขิตเถระผู้หลาน

เรื่องพระมหาสังฆรักขิตเถระ
ได้ยินว่า ภิกษุสงฆ์ได้เรียนถามถึงการบรรลุโลกุตตรธรรมกะพระมหาสังฆรักขิตเถระผู้มีพรรษาเกิน ๖๐ ไปแล้ว ซึ่งนอนอยู่บนเตียงที่จะถึงแก่มรณภาพ พระเถระตอบว่า “โลกุตตรธรรมของฉันไม่มี” ลำดับนั้น ภิกษุหนุ่มอุปัฏฐากของท่านกราบเรียนว่า “ท่านขอรับ พวกมนุษย์ตั้ง ๑๒ โยชน์โดยรอบประชุมกันด้วยสำคัญว่าท่านจะปรินิพพาน ความเดือดร้อนใจจักมีแก่มหาชน เพราะท่านถึงแก่มรณภาพเป็นปุถุชน” พระเถระพูดว่า “เธอ ฉันไม่เริ่มทำวิปัสสนาด้วยคิดว่า จักรอพบพระผู้มีพระภาคเมตไตย ถ้าเช่นนั้น เธอจงพยุงให้ฉันนั่ง กระทำโอกาสให้ฉัน” พระภิกษุหนุ่มนั้นพยุงให้พระเถระนั่งแล้วก็ออกไปข้างนอก พร้อมกับการออกไปข้างนอกของภิกษุหนุ่มนั้นแล พระเถระได้บรรลุพระอรหัต แล้วได้ให้สัญญาด้วยการดีดนิ้วมือ สงฆ์ประชุมกันแล้วเรียนว่า “ท่านขอรับ ท่านทำให้โลกุตตรธรรมบังเกิดในเวลาใกล้จะมรณภาพเห็นปานนี้ ชื่อว่าท่านได้กระทำสิ่งที่กระทำได้ด้วยยาก” พระเถระตอบว่า “นี้ไม่ใช่สิ่งกระทำได้ด้วยยากดอก อาวุโสทั้งหลาย ก็แต่ว่าสิ่งที่กระทำได้ด้วยยาก ฉันจักบอกแก่เธอทั้งหลาย คือ อาวุโสทั้งหลาย นับจำเดิมตั้งแต่เวลาที่ฉันบวชแล้วมาฉันระลึกไม่ได้เลยว่ามีกรรมที่ฉันกระทำไปด้วยความไม่รู้โดยไม่มีสติ”

ฝ่ายพระสังฆรักขิตเถระผู้หลานของท่านก็ได้บรรลุพระอรหัตเหมือนอย่างเดียวกัน ในเวลามีพรรษา ๕๐ ฉะนี้แล “ภิกษุใด ถ้าเป็นผู้มีสุตะน้อยทั้งเป็นผู้ไม่ตั้งมั่นอยู่ในศีล บัณฑิตทั้งหลายย่อมจะครหาภิกษุนั้นได้ โดยศีลและโดยสุตะทั้งสองสถาน ภิกษุใด ถ้าเป็นผู้มีสุตะน้อยแต่เป็นผู้ตั้งมั่นดีแล้วในศีล บัณฑิตทั้งหลายย่อมจะสรรเสริญภิกษุนั้นโดยศีล แต่สุตะย่อมไม่สำเร็จแก่เธอ ภิกษุใด ถ้าเป็นผู้มีสุตะมาก แต่เป็นผู้ไม่ตั้งมั่นในศีล บัณฑิตทั้งหลายย่อมจะครหาภิกษุนั้นได้โดยศีล แต่สุตะย่อมไม่สำเร็จแก่เธอ ภิกษุใด ถ้าเป็นผู้มีสุตะมากทั้งเป็นผู้ตั้งมั่นดีแล้วในศีล บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญภิกษุนั้น โดยศีลและสุตะทั้งสองสถาน

ใครเล่า ควรที่จะนินทาพระพุทธสาวกนั้น ผู้พหุสูตทรงธรรม มีปัญญาดี ดุจแท่งแห่งทองคำชมพูนท พระพุทธสาวกนั้นแม้ฝูงเทวดาก็เชยชมทั้งพรหมก็สรรเสริญ อนึ่ง ศีลของพระเสกขบุคคลทั้งหลาย พึงทราบว่าเป็น อปรามัฏฐปาริสุทธิศีล เพราะเป็นศีลที่ไม่ได้ลูบคลำด้วยอำนาจแห่งทิฏฐิ อีกนัยหนึ่ง ศีลที่ไม่ลูบคลำด้วยอำนาจ แห่งราคะของปุถุชนทั้งหลายพึงทราบว่า อปรามัฏฐปาริสุทธิศีล เหมือนศีลของพระ กุฏมพียปุตตติสสเถระ

เรื่องพระกุฎมพิยปุตตติสสเถระ
ก็แหละ พระผู้เป็นเจ้ากุฏมพิยปุตตติสสเถระนั้น อาศัยศีลเห็นปานนั้นแล้วเป็นผู้ปรารถนาที่จะตั้งตนไว้ในพระอรหัต จึงได้กล่าวรับรองกับหมู่โจรผู้ไพรีกว่า “อาตมาจักทำลายเท้าทั้งสอง แล้วทำสัญญาให้แก่ท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้าย่อมรังเกียจย่อมละอายต่อความตายที่ยังมีราคะ ข้าพเจ้าคิดอย่างนี้แล้วจึงพิจารณาสังขารทั้งหลายโดยแยบคาย ก็ได้บรรลุพระอรหัตเมื่อรุ่งอรุณพอดี”

เรื่องพระมหาเถระรูปใดรูปหนึ่ง
แม้พระมหาเถระรูปใดรูปหนึ่งนั้น ต้องอาพาธอย่างหนัก ไม่อาจที่จะฉันแม้อาหารด้วยมือของตนได้ นอนกลิ้งเกลือกอยู่ในมูตรและกรีสของตน ภิกษุหนุ่มรูปใดรูปหนึ่งเห็นอาการของท่านนั้นแล้วพูดว่า “โอ! สังขารคือชีวิตเป็นทุกข์” พระมหาเถระ ได้พูดกับภิกษุหนุ่มนั้นว่า “เธอ ฉันตายลงเดี๋ยวนี้ก็จักได้สวรรค์สมบัติ ฉันไม่มีความสงสัยในข้อนี้ ขึ้นชื่อว่าสมบัติที่ได้มาเพราะทำลายศีลนี้ ก็เป็นเช่นเดียวกับได้ความเป็นคฤหัสถ์เพราะบอกคืนสิกขา” ครั้นแล้วจึงได้ตั้งใจว่า “เราจักตายพร้อมกับศีลนี้นั้นเทียว” นอนอยู่ ณ ที่นั้นนั่นแหละพิจารณาโรคนั้น ได้บรรลุพระอรหัตแล้ว จึงได้พยากรณ์แก่ภิกษุสงฆ์ด้วยนิพนธคาถาเหล่านี้ว่า : “เมื่อข้าพเจ้าต้องพยาธิอย่างใดอย่างหนึ่งถูกโรคเสียดแทงเป็นทุกข์ขนาดหนัก กเฬวรากอันนี้ก็เหี่ยวแห้งลงอย่างเร็ว เหมือนดอกไม้ที่เขาหมกไว้ในฝุ่นกลางแดดกเฬวรากนี้ เป็นสิ่งไม่น่าพึงใจ คนพาลกลับถือว่าเป็นสิ่งน่าพึงใจ (กเฬวรากนี้เป็นของไม่สะอาด คนพาลกลับเห็นว่าเป็นของสะอาด กเฬวรากนี้เต็มเพียบด้วยซากศพนานาชนิด ก็ยังเป็นรูปอันน่าพึงใจ สำหรับผู้มองไม่เห็นความจริง) ทุด! ทุด! ประชาชนทั้งหลายตัวเป็นผู้ประมาทเริงหลงอยู่ในกเฬวรากนี้ อันอาดูร เปื่อยเน่า มีกลิ่นเหม็น ไม่สะอาด มีพยาธิประจำ จนทำทางสำหรับสู่สุคติให้เสียไป

อนึ่ง ศีลของสัตบุรุษทั้งหลายมีพระอรหันต์เป็นต้น พึงทราบว่า ปฏิปัสสัทธิปาริสุทธิศีล เพราะเป็นศีลที่บริสุทธิ์โดยทำความกระวนกระวายทั้งปวงให้สงบระงับ ศีล ๕ อย่าง โดยแยกเป็นปริยันตปาริสุทธิศีลเป็นต้น ยุติด้วยประการฉะนี้



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น