วันพฤหัสบดี

๒.๗ ความไม่ประมาท

ชีวิตมนุษย์หรือสังคม จะเจริญอย่างเดียวไม่เสื่อมก็ได้ ปัจจัยสำคัญคือ ความไม่ประมาท ถ้ามนุษย์สามารถศึกษาพัฒนาตนเอง จนมีความรู้ความเข้าใจในอนิจจัง (ความเจริญและความเสื่อม) รู้เหตุปัจจัยที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมหลีกเลี่ยงแก้ไขป้องกันเหตุปัจจัยนั้น, รู้เหตุปัจจัยที่จะนำมาซึ่งความเจริญ ทำด้วยความเพียร ก็จะรักษาความเจริญป้องกันความเสื่อมได้ และทำให้เจริญยิ่งขึ้นไป นี่แหละคือ ความไม่ประมาท กล่าวอีกแง่หนึ่ง ความไม่ประมาท คือหลักที่ทำให้เราสามารถเอาประโยชน์จากอนิจจังได้

    บัณฑิตเพียงเห็นภัยมาถึงผู้อื่น ก็ไม่ประมาทขวนขวายเพื่อให้ตนพ้นไปจากภัยนั้น ส่วนผู้ที่มีปัญญาน้อยลงมา ต้องประสบทุกข์ภัยเองกับตัว จึงจะเกิดสติ เริ่มตั้งความเพียร ส่วนคนเขลาเมื่อประสบทุกข์ภัยกับตัวแล้ว ได้แต่คร่ำครวญ

    ความสำเร็จและความสุขสบาย มักทำให้เกิดความประมาท คนที่ประสบความสำเร็จด้วยความสามารถของตนเอง รวมไปถึงคนที่สุขสบายมาแต่ต้น เมื่อสุขสบายแล้วมักจะหยุดหรือเฉื่อยชา หลงเพลินในความสุขความสำเร็จนั้น ทำให้เกิดเป็นวงจรของความเจริญและความเสื่อมขึ้น

    ดังปรากฏซ้ำๆในประวัติศาสตร์ คือ เมื่อเจอความทุกข์ ก็ดิ้นรนขวนขวาย แล้วก็เจริญขึ้นมา แต่พอเจริญรุ่งเรืองแล้ว มีความสุขสำราญ พรั่งพร้อม ก็เริ่มหลงมัวเมา ไม่ขยันหมั่นเพียรทำกิจหน้าที่ ก็กลับเสื่อมลงไปใหม่ เป็นวงจรเช่นนี้ ดังนั้น เมื่อเจริญขึ้นแล้ว ไม่ประมาท รักษาความเพียรไว้ ทำกิจที่ควรทำ ก็จะรักษาความเจริญไว้ได้ รวมถึงทำให้เจริญยิ่งขึ้นไป ไม่มีความเสื่อม

อย่างไรก็ตาม พึงเข้าใจว่าบางเรื่องก็หลีกหนีความเสื่อมไม่พ้น เช่น ร่างกายส่วนที่เป็นรูปธรรม, ความเปลี่ยนแปลงต่างๆอันอยู่นอกเหนือจากที่เราสามารถควบคุมได้ ซึ่งเราก็ควรพิจารณารู้ทันว่า เหตุปัจจัยส่วนไหนเราทำได้ เราก็ทำ เราทำดีที่สุดได้แค่นี้ๆ ตามเหตุปัจจัย เราก็ใช้ประโยชน์จากอนิจจังได้ด้วย พร้อมกันนั้น เราก็ไม่ทุกข์ร้อนเกินไปเพราะความเปลี่ยนแปลงแห่งอนิจจัง


พึงยึดถือตามพุทธพจน์

“ผู้ปรารถนาโภคสมบัติอันโอฬาร ยิ่งๆขึ้นไป พึงมีความไม่ประมาท, บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญความไม่ประมาทในบุญกิริยาทั้งหลาย, บัณฑิตไม่ประมาท จึงยึดเอาได้ซึ่งอัตถะทั้ง ๒ ประการ คือ ทิฏฐธัมมิกัตถะ (ประโยชน์ปัจจุบัน) และสัมปรายิกัตถะ (ประโยชน์เบื้องหน้า), คนที่เรียกว่าเป็นปราชญ์ เป็นบัณฑิต ก็เพราะบรรลุอัตถะ” (อัปปมาทสูตร)

“วันคืนเคลื่อนคล้อย อายุเหลือน้อยเข้าทุกที สัตว์โลกถูกมฤตยูห้ำหั่น ถูกชราปิดล้อม แม่น้ำเต็มฝั่ง ไม่ไหลทวนขึ้นที่สูง ฉันใด อายุของมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมไม่เวียนกลับมาสู่วัยเด็กอีก ฉันนั้น” (เตมิยชาดก)

“อายุของมนุษย์ทั้งหลายน้อย สัตบุรุษพึงดูหมิ่นอายุที่น้อยนั้น พึงประพฤติเหมือนดังถูกไฟใหม้ศีรษะ การที่มัจจุราชจะไม่มาหานั้น เป็นอันไม่มี วันคืนย่อมล่วงไป ชีวิตก็หดสั้นเข้า อายุของสัตว์ทั้งหลายย่อมหมดสิ้นไป เหมือนดังน้ำในธารน้ำน้อย” (คุหัฏฐกสุตตนิทเทส)

“ภิกษุทั้งหลาย เราไม่สรรเสริญแม้ความตั้งอยู่ได้ในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ต้องพูดถึงความเสื่อมจากกุศลทั้งหลาย เราสรรเสริญเพียงอย่างเดียว คือความก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปในกุศลธรรมทั้งหลาย” (ฐิติสูตร)

“ภิกษุยังไม่ถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะ อย่าถึงความชะล่าใจด้วยเหตุเพียงศีลและวัตร ด้วยความเป็นพหูสูต ด้วยการได้สมาธิ ด้วยการนอนในที่สงัด หรือด้วยเหตุเพียงความดำริเท่านี้ว่า เราถูกต้องสุขอันเกิดแต่เนกขัมมะ ซึ่งปุถุชนเสพไม่ได้” (ธัมมัตถวรรค)

“ผู้ไม่ประมาท ความเจริญอย่างเดียวเป็นอันหวังได้ ไม่มีความเสื่อม” และปัจฉิมวาจา อันเป็นพุทธพจน์สำคัญยิ่ง “สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม” (มหาปรินิพพานสูตร)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น