วันศุกร์

๓.๗ ข้อบกพร่องของฌานสุข

ภาวะในฌานยังไม่โปร่งโล่งเต็มที่ มีความคับแคบด้วยสัญญาและองค์ธรรมอื่นๆที่เนื่องอยู่ในฌานนั้นๆ ยังมีความคำนึงด้วยสัญญาเกี่ยวกับฌานชั้นต่ำกว่าฟุ้งขึ้นมาในใจได้ ถึงแม้จะจัดเป็นนิรามิสสุข แต่ก็เป็นภาวะปรุงแต่งถูกปัจจัยทางจิตสรรสร้างขึ้นมา ไม่เที่ยงแท้ จะต้องดับไปตามสภาวะ ลักษณะสำคัญอีกอย่างหนึ่งของฌานสุข คือ ยังเป็นสุขระดับเวทนา หมายความว่า เป็นสุขที่เกิดจากการเสวยอารมณ์ หรือเสพรสอารมณ์ ซึ่งในแง่นี้เหมือนกับกามสุข คือเป็นสุขเวทนา ส่วนข้อดีที่สำคัญของฌานสุข นอกจากความสุขที่ดื่มด่ำกว่ากามสุขแล้ว ฌานสุขยังเป็นสุขที่ไม่มีความเบียดเบียน เพราะเป็นการเสพอารมณ์ภายใน ไม่ต้องอิงอาศัยอารมณ์ภายนอก (อามิส) จึงจัดฌานสุขเป็นนิรามิสสุข ส่วนนิพพานเป็นยอดแห่งนิรามิสสุข

“ภิกษุทั้งหลาย ถ้านักบวชลัทธิอื่นกล่าวหาว่า สมณะศากยบุตรประกอบตนให้ชุ่มด้วยความสุข พึงถามว่าประกอบแบบไหน เพราะมีอยู่มากด้วยกัน คือ บางคนฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ พูดปด บำเรอตนด้วยกามคุณ อย่างนี้ชื่อว่าประกอบตนให้ชุ่มด้วยความสุขแบบชาวบ้าน ซึ่งไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน การประกอบตนให้ชุ่มด้วยความสุข ที่เป็นไปเพื่อนิพพาน ได้แก่ ความสุขในฌาน ๔ ถ้านักบวชลัทธิอื่นกล่าวว่า สมณะศากยบุตร ประกอบตนให้ชุ่มด้วยความสุข ๔ อย่างนี้ ก็พึงรับรองว่ากล่าวถูกต้อง” (ปาสาทิกสูตร)

เมื่อมีความสุขที่ประณีตกว่าเข้ามาเทียบแล้ว ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่กามสุขจะตกต่ำมีค่าน้อย ดังคำที่ท่านใช้เรียกกามสุข ว่าเป็นปุถุชนสุข ตรงข้ามกับฌานสุข ซึ่งเป็นเนกขัมมสุข สุขที่เอื้อต่อการบรรลุนิพพาน มีพุทธพจน์ตรัสว่า ผู้ยังติดอยู่ในกามสุข ก็คือติดข้องอยู่ในโลก ผู้ใดเข้าถึงฌาน (จะเป็นรูปฌานหรืออรูปฌานก็ตาม) ท่านเรียกผู้นั้นว่าได้มาถึงที่สุดของโลกแล้ว และอยู่ ณ ที่สุดแห่งโลก แต่ก็ยังเป็นผู้เนื่องอยู่ในโลก ยังสลัดตัวไม่พ้นจากโลก ส่วนผู้ใดสำเร็จฌานขั้นสูงสุดแล้วก้าวล่วงความยึดติดถือมั่นในฌานสุขไปได้ เป็นผู้หมดอาสวะเพราะเห็น (สัจธรรม) ด้วยปัญญา ผู้นี้จึงจะเรียกได้ว่า ได้มาถึงที่สุดแห่งโลกแล้ว อยู่ ณ ที่สุดแห่งโลก และทั้งได้ข้ามพ้นโยงใยที่เหนี่ยวพันให้ติดอยู่ในโลกไปได้


ส่วนแทรกเสริม

ในอรรถกถาปุคคลบัญญัติ ท่านว่าอย่างน้อยต้องเป็นพระอนาคามีฌานถึงไม่เสื่อม พระโสดาบัน พระสกทาคามี ฌานอาจเสื่อมได้ มิใช่ด้วยเหตุอกุศล แต่เป็นเพราะธรรมอันเป็นข้าศึกบางอย่าง เช่น ความกังวลใจในการงานที่จะต้องทำ ส่วนโลกุตรธรรม ธรรมอันมิใช่วิสัยของโลก, สภาวะพ้นโลก, ประกอบด้วยมรรค ๔ ผล ๔ และนิพพาน ๑.ที่ได้สำเร็จแล้วของพระอริยบุคคลทุกระดับ ไม่มีวันเสื่อมได้เลย



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น