วันจันทร์

พระพุทธดำรัส (๓)

  🙏 พระพุทธดำรัส 🙏


🔅 กินเนื้อสัตว์บาปหรือไม่
ปัญหา มีพุทธศาสนิกชนบางพวกเห็นว่า การกินเนื้อสัตว์เป็นบาปเพราะเป็นการส่งเสริมให้คนอื่นฆ่า ในเรื่องนี้พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าอย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนชีวก เรากล่าวเนื้อว่าไม่ควรเป็นของบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ
๑. เนื้อที่ตนเห็น
๒. เนื้อที่ตนได้ยิน
๓. เนื้อที่ตนรังเกียจ
ดูก่อนชีวก เรากล่าวเนื้อว่า เป็นของไม่ควรบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการนี้แล ดูก่อนชีวก เรากล่าวเนื้อว่าเป็นของควรบริโภค ด้วยเหตุ ๓ ประการคือ
๑. เนื้อที่ตนไม่ได้เห็น
๒. เนื้อที่ตนไม่ได้ยิน
๓. เนื้อที่ตนไม่ได้รังเกียจ
ดูก่อนชีวก เรากล่าวเนื้อว่า เป็นของบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการนี้แล”


ชีวกสูตร

🔅 ความสำคัญของจิตใจ
ปัญหา มีบางคนกล่าวว่า ในบรรดาการกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจนั้น การกระทำทางกายสำคัญที่สุด เพราะก่อให้เกิดผลเห็นได้ชัด เช่น ฆ่าเขาตายด้วยกาย ย่อมมีผลเสียหายมากกว่ากล่าวอาฆาตด้วยวาจา และการคิดจะฆ่าด้วยใจ พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างไรในเรื่องนี้?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนตัปสสี บรรดากรรมทั้ง ๓ ประการ ที่จำแนกออกแล้วเป็นส่วนละอย่างต่างกันเหล่านี้ เราบัญญัติมโนกรรมว่ามีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม เราจะบัญญัติกายกรรมวจีกรรมว่ามีโทษมากเหมือนมโนกรรมหามิได้” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเช่นนี้แล้ว อุบาลีคฤหบดีผู้เป็นสาวกของนิครนถนาฏบุตรก็ยังยืนยันอยู่นั่นเองว่า กายกรรมมีโทษมากกว่า พระผู้มีพระภาคจึงตรัสต่อไปว่า “ดูก่อนคฤหบดี ท่านจะสำคัญในความข้อนั้นเป็นไฉน นิครนถ์ในโลกนี้เป็นคนอาพาธ มีทุกข์ เป็นไข้หนัก ห้ามน้ำเย็น ดื่มแต่น้ำร้อน เมื่อเขาไม่ได้น้ำเย็นจะต้องตาย ดูก่อนคฤหบดี ก็นิครนถนาฏบุตรบัญญัติความเกิดของนิครนถ์ผู้นี้ ณ ที่ไหนเล่า?”

อุบาลีคฤหบดี “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เทวดาชื่อว่ามโนสัตว์มีอยู่นิครนถ์นั้นย่อมเกิดในเทวดาจำพวกนั้น เพราะนิครนถ์ผู้นั้นเป็นผู้มีใจเกาะเกี่ยวทำกาละ” ก็เป็นอันว่า อุบาลีคฤหบดีย่อมรับว่ามโนกรรมสำคัญกว่า แต่เขายังยืนยันต่อไปว่า กายกรรมสำคัญกว่า พระผู้มีพระภาคจึงตรัสต่อไปว่า “ดูก่อนคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน นิครนถ์ในโลกนี้ พึงเป็นผู้สำรวมด้วยการสังวรโดยส่วน ๔ คือ ห้ามน้ำทั้งปวง ประกอบด้วยการห้ามบาปทั้งปวง กำจัดบาปด้วยการห้ามบาปทั้งปวง อันการห้ามบาปทั้งปวงถูกต้องแล้ว เมื่อเขาก้าวไป ถอยกลับ ย่อมถึงการฆ่าสัตว์ตัวเล็กๆ เป็นอันมากดูก่อนคฤหบดี นิครนถนาฏบุตรบัญญัติ วิบากเช่นไรแก่นิครนถ์ผู้นี้?”

อุบาลี “ข้าแต่พระองค์ผู้ เจริญ นิครนถนาฏบุตรมิได้บัญญัติกรรม อันเป็นไปโดยไม่เจาะจงว่ามีโทษมากเลย” พระผู้มีพระภาค “ดูก่อนคฤหบดี ก็ถ้าจงใจเล่า?” อุบาลี “ เป็นกรรมมีโทษมาก” พระผู้มีพระภาค “ก็นิครนถนาฏบุตรเจตนาลงในสวนไหน?” อุบาลี “นิครนถนาฏบุตรบัญญัติเจตนาลงในส่วนมโนทัณฑะ” (มโนกรรม) ก็เป็นอันว่า อุบาลีคฤหบดี ยอมรับด้วยถ้อยคำของตนเองว่ามโนกรรมสำคัญกว่า แต่ก็ยังยืนยันว่ากายกรรมสำคัญกว่าต่อไปอีก พระผู้มีพระภาคจึงตรัสต่อไปว่า “ดูก่อนคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บ้านนาฬันทานี้ เป็นบ้านมั่งคั่งเป็นบ้านเจริญ มีชนมาก มีมนุษย์เกลื่อนกล่น.... พึงมีบุรุษคนหนึ่งเงื้อดาบมา เขาพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เขาจักทำสัตว์เท่าที่มีอยู่ในบ้านนาฬันทานี้ ให้เป็นลานเนื้ออันเดียวกัน ให้เป็นกองเนื้ออันเดียวกัน โดยขณะหนึ่ง โดยครู่หนึ่ง ดูก่อนคฤหบดี ท่านจักสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นจะสามารถทำสัตว์เท่าที่มีอยู่ในหมู่บ้านนาฬันทานี้ให้เป็นลานเนื้อันเดียวกันได้หรือ?”

เมื่ออุบาลีทูลว่า ทำไม่ได้ พระพุทธองค์จึงตรัสต่อไปว่า “ดูก่อนคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ถึงความเป็นผู้ชำนาญในทางจิต พึงมาในบ้านนาฬันทานี้.... พึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราจักทำบ้านนาฬันทานี้ให้เป็นเถ้า ด้วยจิตคิดประทุษร้ายดวงเดียว ดูก่อนคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์นั้น จะสามารถทำบ้านนาฬันทานี้ให้เป็นเถ้า ด้วยจิตประทุษร้ายดวงหนึ่งได้หรือหนอ?” อุบาลีคฤหบดียอมรับว่าทำได้ ซึ่งแสดงให้เป็นว่ามโนกรรมสำคัญกว่าแต่ก็ยังยืนยันต่อไปว่ากายกรรมสำคัญกว่า พระผู้มีพระภาคจึงตรัสต่อไปว่า  “ดูก่อนคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ป่าทัณฑดี ป่ากาลิคะ ป่ามาตังคะ เกิดเป็นป่าไปท่านได้ฟังมาแล้วหรือ? อุบาลี “ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้ว” พระผู้มีพระภาค “ท่านได้ฟังมาว่าอย่างไร เกิดเป็นป่าไปเพราะเหตุไร?” อุบาลี “เพราะใจประทุษร้าย อันพวกเทวดาทำเพื่อฤาษี” ในที่สุด อุบาลีคฤหบดีก็ยอมรับว่ามโนกรรมสำคัญกว่า และประกาศตนเป็นสาวกของพระบรมศาสดา

อุปาลิวาทสูตร 

🔅 พุทธปฏิภาณ
ปัญหา ทุกครั้งที่มีผู้มาถามปัญหาธรรมกับพระพุทธเจ้า ปรากฏว่าพระองค์ทรงตอบปัญหานั้น ๆ ได้อย่างแจ่มแจ้งทันที อยากทราบว่าพระพุทธองค์ทรงทราบปัญหานั้นด้วยญาณแล้วคิดคำตอบไว้ล่วงหน้า หรือทรงตอบปัญหานั้นๆ ในขณะนั้นนั่นเอง?


พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนราชกุมาร ถ้าอย่างนั้นในข้อนี้ อาตมาภาพจักกลับถามพระองค์บ้าง ข้อนี้ควรแก่พระองค์อย่างใด พระองค์พึงพยากรณ์ข้อนั้นอย่างนั้น  พระองค์เป็นผู้ฉลาดในส่วนน้อยใหญ่ของรถหรือ ?”
อภยราชกุมาร “หม่อมฉันเป็นผู้ฉลาดในส่วนน้อยใหญ่ของรถ”
พระผู้มีพระภาค “ชนทั้งหลายเข้าไปเฝ้าพระองค์แล้ว พึงทูลถามอย่างนี้ว่า ส่วนน้อยใหญ่ของรถอันนี้ชื่ออะไร การพยากรณ์ปัญหาของชนเหล่านั้น พระองค์พึงตรึกด้วยใจไว้ก่อนว่า ชนทั้งหลายเข้ามาหาเราแล้วจักถามอย่างนี้เราอันชนเหล่านั้นถามอย่างนี้ จักพยากรณ์อย่างนี้ หรือว่าการพยากรณ์อย่างนั้น พึงแจ่มแจ้งกะพระองค์โดยทันที ?”
อภยราชกุมาร “เพราะหม่อมฉันเป็นทหารรถรู้จักดี ฉลาดในส่วนน้อยใหญ่ของรถ ส่วนน้อยใหญ่ของรถทั้งหมด หม่อมฉันทราบดีแล้ว ฉะนั้นการพยากรณ์ปัญหานั้น แจ่มแจ้งแก่หม่อมฉันโดยทันทีทีเดียว”
พระผู้มีพระภาค “ฉันนั้นเหมือนกันแล ราชกุมาร กษัตริย์ผู้บัณฑิตก็ดี พราหมณ์ผู้บัณฑิตก็ดี คฤหบดีผู้บัญฑิตก็ดี ผูกปัญหาแล้งจักเข้ามาถามตถาคต การพยากรณ์ปัญหานั้นย่อมแจ่มแจ้งตถาคตทันที ข้อนั้นเพราเหตุไร เพราะความที่ธรรมธาตุนั้น ตถาคตแทงตลอดดีแล้ว การพยากรณ์ปัญหานั้น จึงแจ่มแจ้งแก่ตถาคตโดยทันที”

อภยราชกุมารสูตร

🔅 ความสุขระดับต่างๆ
ปัญหา ทางพระพุทธศาสนาจัดแบ่งความสุขออกเป็นระดับต่างๆ อย่างไรบ้าง?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนอานนท์ 👉กามคุณ ๕ นี้เป็นไฉน คือรูปอันจะพึงรู้ด้วยจักษุ..... เสียงอันจะพึงรู้ด้วยโสต.... กลิ่นอันจะถึงรู้ด้วยฆานะ... รสอันจะพึงรู้ด้วยชิวหา... โผฏฐัพพะอันจะพึงรู้ด้วยกาย อันสัตว์ปรารถนาใคร่พอใจเป็นที่รัก ประกอบด้วยกามเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ดูก่อนอานนท์นี้แลกามคุณ ๕ สุขโสมนัสอันใด ย่อมเกิดขึ้นเพราะอาศัยกามคุณ ๕ นี้ สุขและโสมนัสนี้ เรากล่าวว่ากามสุข” “ดูก่อนอานนท์ เราไม่ยอมรับรู้ถ้อยคำของผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัส มีกามสุขนี้เป็นอย่างยิ่ง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะสุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ยังมีอยู่

“ดูก่อนอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่า สุขนี้เป็นไฉน.... ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร ปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้.....
“ดูก่อนอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่า และประณีตกว่าสุขนี้ยังมีอยู่.... สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่า สุขนี้เป็นไฉน ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตใจภายในเป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร เพราะวิตก วิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่นี้แลอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้....“ดูก่อนอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั้นเป็นไฉน ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยทั้งหลายสรรเสริญกว่าผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข นั้นแล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้.....“ดูก่อนอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั้นเป็นไฉน ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุ จตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัสและโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์ นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้....“ดูก่อนอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั้นเป็นไฉน.... ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุวิญญาณัญจายตนฌาน ด้วยมนสิการว่าวิญญาณไม่มีที่สิ้นสุด เพราะล่วงอากาสานัญจายตนะได้โดยประการทั้งปวงอยู่ นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้....“ดูก่อนอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั้นเป็นไฉน.... ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ บรรลุอากิญจัญญายตนฌาน ด้วยมนสิการว่า หน่อยหนึ่งไม่มีเพราะล่วงวิญญาณัญจายตนะได้โดยประการทั้งปวงอยู่นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้....“ดูก่อนอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั้นเป็นไฉน.... ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ บรรลุเนวสัญญานาสัญญาตนฌาน เพราะล่วงอากิญจัญญายตนะได้ โดยประการทั้งปวงอยู่ นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้....“ดูก่อนอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั้นเป็นไฉน.... ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญาตนะได้ โดยประการทั้งปวงอยู่นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้.....อธิบาย 👉  ระดับชั้นของสุข เพิ่มเติม

พหุเวทนิยสูตร

🔅 โลกหน้ามีจริงหรือไม่
ปัญหา ปัญหาใหญ่ที่คนถกเถียงกันอยู่เสมอ ก็คือปัญหาที่ว่าโลกหน้าที่มนุษย์จะไปเกิดหลักจากตายแล้วมีจริงหรือไม่? ในเรื่องนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้อย่างไรบ้าง?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์สองพวกนั้น สมณพราหมณ์ที่มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่าทานที่ให้แล้วไม่มีผล การบวงสรวงไม่มีผล การบูชาไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่วแล้วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี อุปปาติกสัตว์ไม่มี สมณพราหมณ์ที่ไปโดยชอบ ปฏิบัติโดยชอบ ทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว ประกาศให้รู้ทั่ว ไม่มีในโลกดังนี้ เป็นอันหวังข้อนี้ได้คือ จักเว้นกุศลธรรม ๓ ประการ นี้ คือ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต จักสมาทานอกุศลธรรม ๓ ประการ นี้ คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต แล้วประพฤติข้อนั้น

เพราะเหตุไร เพราะท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้น ไม่เห็นอานิสงส์ในเนกขัมมะ อันเป็นคุณฝ่ายขาวแห่งกุศลธรรมว่าโลกหน้าที่อยู่จริง ความเห็นของผู้นั้นว่าไม่มี
ความเห็นของเขานั้นเป็นมิจฉาทิฐิ ก็โลกหน้ามีอยู่จริง แต่เขาดำริว่าโลกหน้าไม่มี ความดำริของเขานั้นเป็นมิจฉาสังกัปปะ ก็โลกหน้ามีอยู่จริง แต่เขากล่าวว่าโลกหน้าไม่มี วาจาของเขานั้นเป็นมิจฉาวาจา ผู้นี้ย่อมทำตนเป็นข้าศึกต่อพระอรหันต์ ผู้รู้แจ้งโลกหน้า ก็โลกหน้ามีอยู่จริง เขายังให้ผู้อื่นเข้าใจว่า โลกหน้าไม่มี การให้ผู้อื่นเข้าใจของเขานั้นเป็นการให้เข้าใจผิดโดยไม่ชอบธรรม และเขายังจะยกตนข่มผู้อื่น ด้วยการให้ผู้อื่นเข้าใจผิด ไม่ชอบธรรมนั้นด้วย เขาละคุณคือ ความเป็นคนมีศีลแล้ว ตั้งไว้เฉพาะแต่ส่วนโทษ คือความเป็นคนทุศีลไว้ก่อนเทียว ด้วยประการฉะนี้ อกุศลธรรมอันลามกเป็นอเนกเหล่านี้ คือ มิจฉาทิฐิ มิฉาสังกัปปะ มิจาวาจา ความเป็นข้าศึกต่อพระอริยะ การให้ผู้อื่นเข้าใจผิดโดยไม่ชอบธรรม การยกตน การข่มผู้อื่น ย่อมมีเพราะมิจฉาทิฐิเป็นปัจจัยด้วยประการฉะนี้ ฯ”

อปัณณกสูตร

🔅 ก่อนทำ พูด คิด ควรทำอย่างไร
ปัญหา ก่อนแต่จะทำ จะพูด จะคิดก็ดี ขณะที่กำลังทำ กำลังพูด กำลังคิดอยู่ก็ดี พระผู้มีพระภาคทรงแนะนำไว้อย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนราหุล เธอปรารถนาจะทำกรรมใด ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ เธอพึงพิจารณาเสียก่อนว่า เราปรารถนาจะทำกรรมนี้ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ของเรานี้ พึงเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้งตนทั้งผู้อื่นบ้าง กายกรรม วจีกรรม  มโนกรรม นี้เป็นอกุศล มีทุกข์ เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากกระมังหนอ ดูก่อนราหุล ถ้าเมื่อเธอพิจารณาอยู่พึงรู้อย่างนี้ว่า เราปรารถนาจะทำกรรมใดด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ของเรานี้พึงเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น เพื่อเบียดเบียนทั้งตนทั้งผู้อื่น เป็นอกุศลมีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากดังนี้ไซร้ กรรมเห็นปานนี้ เธอไม่พึงทำด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ โดยส่วนเดียว

“แต่ถ้าเมื่อเธอพิจารณาอยู่พึงรู้อย่างนี้ว่า เราปรารถนาจะทำกรรมใด ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ กายกรรม  วจีกรรม มโนกรรม ของเรานี้ ไม่พึงเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน ไม่พึงเป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ไม่พึงเป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้งตนทั้งผู้อื่น เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบากดังนี้ไซร้ กรรมเห็นปานนี้ เธอพึงทำด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ

จุฬราหุโลวาทสูตร

🔅 อนิสงส์การเจริญภาวนา
ปัญหา การอยู่ในโลกอันเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวายนี้ บุคคลจะต้องได้รับการอบรมจิตพอสมควรจึงจะอยู่ได้อย่างสงบสุข พระผู้มีพระภาคทรงแนะวิธีอบรมจิตไว้อย่างไรบ้าง?

พุทธดำรัสตอบ “ ดูก่อนราหุล เธอจงเจริญภาวนา (อบรมจิต) เสมอด้วยแผ่นดินเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้ ดูก่อนราหุล เปรียบเหมือนคนทั้งหลายทิ้งของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ลงที่แผ่นดิน แผ่นดินจะอึดอัด หรือระอา หรือเกลียดด้วยของนั้น ก็หาไม่ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินนั้น ฉันนั้นแล”

“ดูก่อนราหุล เธอจงเจริญภาวนาด้วยน้ำเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยน้ำอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้ เปรียบเหมือนคนทั้งหลายล้างของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง ลงในน้ำ น้ำจะอึดอัด หรือระอา หรือเกลียดด้วยของนั้น ก็หาไม่”

“ดูก่อนราหุล เธอจงเจริญภาวนาด้วยลมเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยลมอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตของเธอได้ เปรียบเหมือนลม ย่อมพัดต้องของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง ลมจะอึดอัด หรือระอา หรือเกลียดด้วยของนั้น ก็หาไม่ ”

“ดูก่อนราหุล เธอจงเจริญภาวนาด้วยอากาศเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้ เปรียบเหมือนอากาศไม่ตั้งอยู่ในที่ไหนๆ ”

“ดูก่อนราหุล เธอจงเจริญเมตตาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญเมตตาภาวนาอยู่ จักละพยาบาท (ความคิดจองล้าง) ได้ เธอจงเจริญกรุณาภาวนาเถิดเพราะเธอเมื่อเจริญกรุณาภาวนาอยู่ จักละวิหิงสา (ความคิดเบียดเบียน) ได้เธอจงเจริญมุทิตาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญมุทิตาภาวนาอยู่ จักละอรติ (ความอิจฉาตาร้อน) ได้ เธอจงเจริญอุเบกขาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญอุเบกขาภาวนาอยู่ จักละปฏิฆะ (ความขุ่นเคือง) ได้ เธอจงเจริญอสุภภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญอสุภภาวนาอยู่ จักละราคะ (ความกำหนัดยินดี) ได้เธอจงเจริญอนิจจสัญญาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญอนิจจสัญญาภาวนาอยู่จักละอัสมิมานะ (ความถือตัวว่าเป็นเรา) ได้”

มหาราหุโลวาทสูตร

🔅 ปัญหาที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงตอบ
ปัญหา ได้ทราบว่ามีปัญหาบางประเภทที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงตอบปัญหาดังกล่าวนั้นมีอะไรบ้าง? และเพราะเหตุไรพระพุทธองค์ไม่ทรงตอบ?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนมาลุงกยบุตร เธอทั้งหลายจงจำปัญหาที่เราไม่พยากรณ์ และจงจำปัญหาที่เราพยากรณ์ อะไรเล่าที่เราไม่พยากรณ์ ดูก่อนมาลุงกยบุตร ทิฐิว่า โลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มีไม่มีอยู่ก็มี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็หามิได้ ไม่มีอยู่ก็หามิได้ ดังนี้เราไม่พยากรณ์ ก็เพราะเหตุไร ข้อนั้นเราจึงไม่พยากรณ์ เพราะข้อนั้นไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อความหน่ายเพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ดูก่อน มาลุงกยบุตร เหตุนั้น เราจึงไม่พยากรณ์ข้อนั้น”

“ดูก่อนมาลุงกยบุตร อะไรเล่าที่เราพยากรณ์ ดูก่อนมาลุงกยบุตร ความเห็นว่านี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ดังนี้เราพยากรณ์ ก็เพราะเหตุไรเราจึงพยากรณ์ข้อนั้น เพราะข้อนั้นประกอบด้วยประโยชน์เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ เป็นไปเพื่อความหน่ายเพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เหตุนั้น เราจึงพยากรณ์ข้อนั้น”

“ดูก่อนมาลุงกยบุตร บุคคลใดแลจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคจักไม่ทรงพยากรณ์แก่เราเพียงใด เราจักไม่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพียงนั้น (ทิฎฐิ ๑๐ ประการ) ตถาคตไม่พึงพยากรณ์ข้อนั้นเลยและบุคคลนั้นพึงทำกาละ (ตาย) ไปโดยแท้ ดูก่อนมาลุงกยบุตร เปรียบเหมือนบุรุษต้องศรอาบยาพิษที่ฉาบทาไว้หนา มิตรอมาตย์ญาติสาโลหิตของบุรุษนั้น พึงไปหานายแพทย์ผู้ชำนาญในการผ่าตัดมาผ่า บุรุษผู้ต้องศรนั้นพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เรายังไม่รู้จักบุรุษผู้ยิงเรานั้นว่า เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ หรือศูทร มีชื่อว่าอย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ สูงต่ำหรือปานกลาง ดำขาวหรือผิวสองสี อยู่บ้าน นิคมหรือนครโน้นเพียงใด เราจักไม่นำลูกศรนี้ออกเพียงนั้น บุรุษผู้ต้องศรนั้นพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เรายังไม่รู้จักธนูที่ใช้ยิงเรานั้นเป็นชนิดมีแร่หรือเกาทัณฑ์ สายที่ยิงเรานั้นเป็นสายทำด้วยปอ ผิวไม้ ไผ่ เอ็น ป่าน หรือเยื่อไม้ ลูกธนูที่ยิงเรานั้น ทำด้วยไม้ที่เกิดเองหรือไม้ปลูก ทางเกาทัณฑ์ที่ยิงเรานั้นเขาเสียบด้วยขนปีกนกแร้ง นกตะกรุม เหยี่ยว นกยูง หรือนกชื่อว่าสิถิลหนุ (คางหย่อน) เกาทัณฑ์นั้นเขาพันด้วยเอ็นวัว ควาย ค่าง หรือลิง ลูกธนูชนิดที่ยิงเรานั้นเป็นชนิดอะไร ดังนี้เพียงใด เราจักไม่นำลูกศรนี้ออกเพียงนั้น

 ดูก่อนมาลุงกยบุตร บุรุษนั้นพึงรู้ข้อนั้นไม่ได้เลย โดยที่แท้บุรุษนั้นพึงทำกาละไปฉันใด ดูก่อนมาลุงกยบุตร บุคคลใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคจักไม่ทรงพยากรณ์ทิฐิ ๑๐ นั้น ฯลฯ แก่เราเพียงใด เราจักไม่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพียงนั้น ข้อนั้นตถาคตไม่พยากรณ์เลย โดยที่แท้บุคคลนั้นพึงทำกาละไป ฉันนั้น”

จูฬมาลุงโกยวาทสูตร


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น