วันอังคาร

พระพุทธดำรัส (๕)

  🙏 พระพุทธดำรัส 🙏

🔅 
องค์แห่งการตรัสรู้
ปัญหา ภิกษุที่จะได้ตรัสรู้หรือบรรลุพระอรหัตผลนั้น ควรจะประกอบด้วยคุณสมบัติอะไรบ้าง ?
พุทธดำรัสตอบ “ ๑. ดูก่อนโพธิราชกุมาร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธาเชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่าพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ เป็นผู้จำแนกพระธรรม
๒. เธอเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง ประกอบด้วยไฟธาตุสำหรับย่อยอาหารสม่ำเสมอ ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก เป็นปานกลาง ควรแก่ความเพียร
๓. เธอเป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมายา เปิดเผยตนตามความเป็นจริง ในพระศาสดาหรือในเพื่อนพรหมจรรย์ผู้เป็นวิญญูชนทั้งหลาย
๔. เธอเป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม เป็นผู้มีกำลังมีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดทิ้งธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย
๕. เธอเป็นผู้มีปัญญา เป็นผู้ประกอบด้วยปัญญาอันเห็นความเกิดและดับ เป็นอริยะ สามารถชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ”

ต่อเนื่อง 👇

🔅 กำหนดเวลาตรัสรู้
ปัญหา เมื่อภิกษุประกอบด้วยคุณสมบัติเหล่านี้แล้ว จะได้บรรลุอรหัตผลในเวลาช้านานเท่าไร ?
พุทธดำรัสตอบ “ ดูก่อนราชกุมาร ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์แห่งภิกษุผู้มีความเพียร ๕ ประการนี้แล เมื่อได้ตถาคตเป็นผู้แนะนำ พึงทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่าด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน (ภายในเวลา) เจ็ดปี..... หกปี..... ห้าปี..... สี่ปี..... สามปี..... สองปี..... หนึ่งปี..... เจ็ดเดือน..... หกเดือน..... ห้าเดือน..... สี่เดือน..... สามเดือน..... สองเดือน..... หนึ่งเดือน..... ครึ่งเดือน..... เจ็ดคืนเจ็ดวัน..... หกคืนหกวัน..... ห้าคืนห้าวัน..... สี่คืนสี่วัน..... สามคืนสามวัน..... สองคืนสองวัน..... หนึ่งคืนหนึ่งวัน..... ดูก่อนราชกุมาร หนึ่งคืนหนึ่งวันจงยกไว้ ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์แห่งภิกษุผู้มีความเพียรหาประการนี้ เมื่อได้ตถาคตเป็นผู้แนะนำ ตถาคตสั่งสอนในเวลาเย็น จักบรรลุคุณวิเศษได้ในเวลาเช้า ตถาคตสั่งสอนในเวลาเช้า จักบรรลุคุณวิเศษได้ในเวลาเย็น”

โพธิราชกุมารสูตร

🔅 พุทธจริยาวัตร
ปัญหา ได้ทราบว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นบุคคลตัวอย่างในด้านกิริยามารยาทอันงดงาม พระพุทธองค์ทรงมีพุทธจริยาวัตรอย่างไรบ้าง?

คำตอบของอุตรมาณพ “ พระโคดมพระองค์นั้น เมื่อจะเสด็จดำเนินทรงก้าวพระบาทเบื้องขวาก่อน ไม่ทรงยกพระบาทไกลนัก ไม่ทรงวางพระบาทใกล้นัก ไม่เสด็จดำเนินเร็วนัก ไม่เสด็จดำเนินช้านัก เสด็จดำเนินพระชานุไม่กระทบพระชานุ ข้อพระบาทไม่กระทบข้อพระบาท ไม่ทรงยกพระอุรุสูง ไม่ทรงทอดพระอุรุไปข้างหลัง ไม่ทรงกระแทกพระอุรุ ไม่ทรงส่ายพระอุรุ เมื่อเสด็จดำเนิน พระกายส่วนบนไม่หวั่นไหว ไม่เสด็จดำเนินด้วยกำลังพระกาย”

“เมื่อทอดพระเนตร ทรงทองพระเนตรด้วยพระกายทั้งหมด ไม่ทรงทอดพระเนตรขึ้นเบื้องบน ไม่ทรงทอดพระเนตรลงเบื้องต่ำ เสด็จดำเนินไม่ทรงเหลียวแล ทรงทอดพระเนตรประมาณชั่วแอก ยิ่งกว่านั้น พระองค์ทรงมีญาณทัสสนะอันไม่มีอะไรกั้นเมื่อเสด็จเข้าสู่ละแวกบ้าน ไม่ทรงยืดพระกายไม่ทรงย่อพระกาย ไม่ทรงห่อพระกาย ไม่ทรงส่ายพระกาย เสด็จเข้าประทับนั่งอาสนะไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก ไม่ประทับนั่งเท้าพระหัตถ์ ไม่ทรงพิงพระกายที่อาสนะ เมื่อประทับนั่งในละแวกบ้าน ไม่ทรงคะนองพระหัตถ์ ไม่ทรงคะนองพระบาท ไม่ประทับนั่งชันพระชานุ ไม่ประทับนั่งซ้อนพระบาท ไม่ประทับนั่งยันพระหนุ เมื่อประทับนั่งในละแวกบ้าน ไม่ทรงครั่นคร้าม ไม่ทรงหวั่นไหว ไม่ทรงขลาด ไม่ทรงสะดุ้ง ทรงปราศจากโลมชาติชูชัน ทรงเวียนมาในวิเวก เมื่อประทับนั่งในละแวกบ้าน”

“เมื่อทรงรับน้ำล้างบาตร ไม่ทรงชูบาตรขึ้นรับ ไม่ทรงลดบาตรลงรับ ไม่ทรงจ้องบาตรคอยรับ ไม่ทรงแกว่งบาตรรับ ทรงรับน้ำล้างบาตรไม่น้อยนัก ไม่มากนัก ไม่ทรงล้างบาตรดังขลุกๆ ไม่ทรงหมุนบาตรล้าง ไม่ทรงวางบาตรที่พื้น ทรงล้างบาตรบนพระหัตถ์ เมื่อทรงล้างพระหัตถ์แล้ว ก็เป็นอันทรงล้างบาตรแล้ว เมื่อทรงล้างบาตรแล้ว เป็นอันล้างพระหัตถ์แล้ว ทรงเทน้ำล้างบาตรไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก และทรงเทไม่ให้น้ำกระเซ็น”

“เมื่อทรงรับข้าวสุก ไม่ทรงชูบาตรรับ ไม่ทรงลดบาตรลงรับ ไม่ทรงจ้องบาตรคอยรับ ไม่ทรงแกว่งบาตรรับ ทรงรับข้าวสุกไม่น้อยนัก ไม่มากนัก ทรงรับกับข้าวเสวยอาหารพอประมาณกับข้าว ไม่ทรงน้อมคำข้าวให้เกินกว่ากับ ทรงเคี้ยวคำข้าวในพระโอษฐ์สองสามครั้งแล้วทรงกลืน เยื่อข้าวสุกยังไม่พระโอษฐ์ ทรงน้อมคำข้าวเข้าไปแต่กึ่งหนึ่ง ทรงทราบรสได้อย่างดี เสวยอาหาร แต่ไม่ทรงทราบด้วยดีด้วยอำนาจความกำหนัดในรส เสวยอาหารประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือไม่เสวยเพื่อเล่น ๑ ไม่เสวยเพื่อมัวเมา ๑ ไม่เสวยเพื่อประดับ ๑ ไม่เสวยเพื่อตกแต่ง ๑ เสวยเพียงเพื่อดำรงพระกายนี้ไว้ ๑ เพื่อยังพระชนมชีพให้เป็นไป ๑ เพื่อป้องกันความลำบาก ๑ เพื่อทรงอนุเคราะห์พรหมจรรย์ ๑ ด้วยทรงพระดำริว่าเพียงเท่านี้จักกำจัดเวทนาเก่าได้ จักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ร่างกายของเราจักเป็นไปโดยสะดวก จักไม่มีโทษ และจักมีความอยู่สำราญ”

“เมื่อเสวยภัตตาหารเสร็จแล้ว เมื่อจะทรงรับน้ำล้างบาตร ไม่ทรงชูบาตรขึ้นรับ ไม่ทรงวางบาตรที่พื้น ทรงวางในที่ไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก จะไม่ทรงต้องการบาตรก็หามิได้ แต่ก็ไม่ตามรักษาบาตรจนเกินไป”

“เมื่อเสวยเสร็จแล้ว ประทับนิ่งเฉยอยู่ครู่หนึ่ง แต่ไม่ทรงยังเวลาแห่งการอนุโมทนาให้ล่วงไป เสวยเสร็จแล้วก็ทรงอนุโมทนา ไม่ทรงติเตียนภัตนั้นไม่ทรงหวังภัตอื่น ทรงชี้แจงให้บริษัทนั้นเห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา ครั้นแล้วทรงลุกจากอาสนะเสด็จไป ไม่เสด็จเร็วนักไม่เสด็จช้านัก ไม่ผลุนผลันเสด็จไป ไม่ทรงจีวรสูงเกินไป ไม่ทรงจีวรต่ำเกินไป ไม่ทรงจีวรติดแน่นพระกาย ไม่ทรงจีวรกระจุยกระจายจากพระกาย ทรงจีวรไม่ให้ลมพัดแหวกได้ ฝุ่นละอองไม่ติดพระกาย เสด็จถึงพระอารามแล้วประทับนั่ง ครั้นประทับนั่งบนอาสนะที่เขาจัดไว้ถวายแล้ว จึงทรงล้างพระบาทไม่ทรงประกอบการประดับพระบาท ทรงล้างพระบาทแล้วประทับนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งพระกายตรง ดำรงพระสติไว้เบื้องพระพักตร์ ไม่ทรงดำริเพื่อเบียดเบียนพระองค์เอง ไม่ทรงดำริเพื่อเบียนเบียนผู้อื่น ไม่ทรงดำริเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย เมื่อประทับอยู่ในพระอาราม ทรงแสดงธรรมในบริษัท ไม่ทรงยอบริษัท ไม่ทรงรุกรานบริษัท ทรงชี้แจงให้บริษัทเห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถา ทรงมีพระสุรเสียงอันก้องเปล่งออกจากพระโอษฐ์ ประกอบด้วยธรรมีกถา ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือสละสลวย ๑ รู้ได้ชัดเจน ๑ ไพเราะ ๑ ฟังง่าย ๑ กลมกล่อม ๑ ไม่พร่า ๑ พระสุรเสียงลึก ๑ มีกังวาน ๑ บริษัทจะอย่างไร ก็ทรงให้เข้าใจด้วยพระสุรเสียงได้ พระสุรเสียงมิได้ก้องออกนอกบริษัท”

พรหมายุสูตร

🔅 พระพุทธองค์กับวรรณะ
ปัญหา อินเดียในสมัยพุทธกาล มีการถือชั้นวรรณะกันอย่างเคร่งครัด เฉพาะอย่างยิ่งพวกพราหมณ์ถือว่าตนเป็นวรรณะสูงสุด เป็นโอรสของพรหม เกิดแต่ปากพรหม พระพุทธเจ้าทรงมีทรรศนะอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ ?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนอัสสลายนะ ก็นางพราหมณีของพราหมณ์ทั้งหลายมีระดูบ้าง มีครรภ์บ้าง คลอดบุตรบ้าง ให้บุตรดื่มนมบ้าง ปรากฏอยู่ ก็พราหมณ์เหล่านั้นเป็นผู้เกิดจากช่องคลอดเหมือนกัน ยังกล่าวอย่างนี้ว่าพราหมณ์เท่านั้นเป็นวรรณะประเสริฐ วรรณะอื่นเลว พราหมณ์เท่านั้นเป็นวรรณะขาว วรรณะอื่นดำ พราหมณ์เท่านั้นเป็นบุตรพรหม เป็นโอรสพรหมเกิดแต่ปากของพรหม เกิดแต่พรหมอันพรหมนิรมิต เป็นทายาทของพรหม”

อัสสลายนสูตร

🔅 หลักความเชื่อ
ปัญหา คำสอนของโบราณาจารย์บางเรื่อง ที่คนจำถ่ายทอดต่อกันมาเป็นรุ่นๆ ที่คนถือกันว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ควรรักษาไว้ด้วยความเคารพ เพราะถือว่าเป็นคำสอนอันเป็นสัจธรรม เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พระผู้มีพระภาคทรงเห็นอย่างไรในเรื่องนี้?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภารทวาชะ ได้ทราบกันดังนี้ว่าบรรดาพราหมณ์ทั้งหลาย ไม่มีพราหมณ์แม้คนหนึ่งจะเป็นใครก็ตาม ที่ได้กล่าวอย่างนี้ว่า ข้อนี้เรารู้อยู่ ข้อนี้เราเห็นอยู่ว่า สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า ไม่มีใครแม้หนึ่งซึ่งเป็นอาจารย์ เป็นปรมาจารย์ของอาจารย์ ตลอดเจ็ดชั่วอาจารย์ของพราหมณ์ทั้งหลาย แม้ฤาษีผู้เป็นอาจารย์ของพวกพราหมณ์ทั้งหลาย คือ ฤาษีอัฏฐกะ ฤาษีวามกะ ฤาษีทั้งสิบ ฤาษีเวสสามิตร ฤาษียมตัคคี ฤาษีอังคีรสะ ฤาษีภารทวาชะ ฤาษีวาเสฏฐะ ฤาษีกัสสปะ ฤาษีภคุ ซึ่งเป็นผู้แต่งมนต์เป็นผู้บอกมนต์ พราหมณ์ทั้งหลายในปัจจุบันนี้ขับตาม กล่าวตามซึ่งบทมนต์เท่านี้ ที่ท่านขับแล้วบอกแล้ว รวบรวมไว้แล้ว กล่าวได้ถูกต้อง บอกได้ถูกต้องตามที่ท่านได้กล่าวไว้บอกไว้ แม้ท่านเหล่านั้นก็ไม่ได้กล่าวไว้อย่างนี้ว่า ข้อนี้เรารู้อยู่ ข้อนี้เราเห็นอยู่ว่า สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้”

“ดูก่อนภารทวาชะ เปรียบเหมือนแถวคนตาบอด ซึ่งเกาะกันต่อๆ ไป แม้คนต้นก็ไม่เห็น แม้คนกลางก็ไม่เห็น แม้คนบังก็ไม่เห็นฉันใด ภาษิตของพราหมณ์ทั้งหลายเห็นจะเปรียบได้กับแถวคนตาบอดฉะนั้น”

“ดูก่อนภารทวาชะ ถึงแม้สิ่งที่เชื่อกันด้วยดีทีเดียว แต่สิ่งนั้นเป็นของว่างเปล่า เป็นเท็จไปก็มี ถึงแม้สิ่งที่ไม่เชื่อด้วยดีทีเดียว แต่สิ่งนั้นเป็นจริงเป็นแท้ ไม่เป็นอื่นก็มี อนึ่งสิ่งที่ชอบใจดีทีเดียว สิ่งที่ฟังตามกันมาด้วยดีทีเดียว สิ่งที่ตรึกไว้ด้วยดีทีเดียว สิ่งที่เพ่งแล้วด้วยดีทีเดียว เป็นของว่างเปล่า เป็นเท็จไปก็มี ถึงแม้สิ่งที่ไม่ได้เพ่งด้วยดีทีเดียว แต่สิ่งนั้นเป็นจริงเป็นแท้ ไม่เป็นอื่นก็มี”

“ดูก่อนภารทวาชะ บุรุษผู้รู้แจ้ง เมื่อจะตามรักษาความจริง ไม่ควรจะถึงความตกลง ในข้อนั้นโดยส่วนเดียวว่า สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า”

จังกีสูตร 

🔅 สมบัติประจำตัวของวรรณะ ๔
ปัญหา พวกพราหมณ์บัญญัติทรัพย์ประจำวรรณะทั้ง ๔ ไว้อย่างไรบ้าง ?

คำตอบของเอสุการีพราหมณ์ “ท่านพระโคดม พราหมณ์ทั้งหลายย่อมบัญญัติทรัพย์อันเป็นของมีอยู่ของพราหมณ์ คือการเที่ยวไปเพื่อภิกษา แต่พราหมณ์เมื่อดูหมิ่นทรัพย์อันเป็นของมีอยู่ คือการเที่ยวไปเพื่อภิกษา ชื่อว่าเป็นผู้ทำกรรมใช่กิจ พราหมณ์ทั้งหลายย่อมบัญญัติทรัพย์อันเป็นของมีอยู่ของกษัตริย์ คือ แล่งธนู พราหมณ์ทั้งหลายย่อมบัญญัติทรัพย์อันเป็นของมีอยู่แห่งแพศย์ คือ กสิกรรมและโครักขกรรม พราหมณ์ทั้งหลายย่อมบัญญัติทรัพย์อันเป็นของมีอยู่ของศูทร คือ เคียวและไม้คาน แต่ศูทรเมื่อดูหมิ่นทรัพย์อันเป็นของมีอยู่ คือ เคียวและไม้คาน ชื่อว่าเป็นผู้ทำกรรมมิใช่กิจ”

เอสุการีสูตร

🔅 ทำบาปด้วยความจำเป็น
ปัญหา บางครั้งบางคราว คนเราจำต้องทำความชั่ว เพราะความจำเป็น เช่น กระทำเพราะเห็นแก่มารดาบิดาผู้มีอุปการคุณ เป็นต้น ในกรณีเช่นนั้น จะจัดว่าเป็นบาปหรือไม่?

พระสารีบุตรตอบ “ ดูก่อนธนัญชานิ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งบิดามารดา นายนิริยบาลจะพึงฉุดคร่าเขาผู้นั้นไปยังนรก เพราะเหตุแห่งการประพฤติไม่ชอบธรรมและประพฤติผิดธรรม เขาจะพึงได้ตามความปรารถนาหรือว่า เราเป็นผู้ประพฤติไม่ชอบธรรมประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งบิดามารดา ขอนายนิริยบาลอย่าพึงฉุดคร่าเราไปสู่นรกเลย หรือมารดาบิดาของผู้นั้นจะพึงได้ตามปรารถนาหรือว่าผู้นี้เป็นผู้ประพฤติไม่ชอบธรรมประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งการทั้งหลาย ขอนายนิริยบาลอย่าพึงฉุดคร่าเขาไปนรกเลย

“.ดูก่อนธนัญชานิ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งบุตรและภริยา เพราะเหตุแห่งทาสกรรมกร และคนรับใช้ เพราะเหตุแห่งมิตรและอำมาตย์ เพราะเหตุแห่งญาติสาโลหิต เพราะเหตุแห่งแขก  เพราะเหตุแห่งปุพพเปตชน เพราะเหตุแห่งเทวดา เพราะเหตุแห่งพระราชา เพราะเหตุแห่งการเลี้ยงกาย เพราะเหตุทำนุบำรุงกาย

นายนิริยบาลจะพึงฉุดคร่าเขาผู้นั้นไปยังนรก เขาจะพึงได้ตามความปรารถนาหรือว่า เราประพฤติไม่ชอบธรรม เพราะเหตุแห่งการเลี้ยงกาย ขอนายนิริยบาลอย่าพึงฉุดคร่าเราไปสู่นรกเลย หรือมารดาบิดาของผู้นั้นจะพึงได้ตามปรารถนาหรือว่าผู้นี้เป็นผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม เพราะเหตุแห่งการเลี้ยงกาย ขอนายนิริยบาลอย่าพึงฉุดคร่าเขาไปนรกเลย

“ดูก่อนธนัญชานิ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม เพราะเหตุแห่งบิดามารดา กับบุคคลผู้ประพฤติชอบธรรม ประพฤติถูกธรรม เพราะเหตุแห่งมารดาบิดา ไหนจะประเสริฐกว่ากัน

“ดูก่อนธนัญชานิ การงานอย่างอื่นที่มีเหตุประกอบด้วยธรรม เป็นเครื่องให้บุคคลอาจเลี้ยงมารดาบิดาได้ ไม่ต้องทำกรรมอันลามก และให้ปฏิบัติปฏิปทาอันเป็นบุญได้ มีอยู่ฯ”

ธนัญชานิสูตร

🔅 คนธรรมดากับญาณพิเศษ
ปัญหา มีคนกล่าวว่าญาณพิเศษที่พระอรหันต์ได้บรรลุถึงนั้น เป็นสิ่งผิดหลักธรรมชาติไม่สามารถจะมีได้จริง เป็นแต่เพียงการสร้างเรื่องขึ้นด้วยจินตนาการเท่านั้น ในเรื่องนี้ พระพุทธองค์ตรัสไว้อย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนมาณพ พราหมณ์โปกขรสาติโอปมัญญโคตร ผู้เป็นใหญ่ในสภควัน เป็นคนบอดไม่มีจักษุ เขาจักรู้จักเห็นจักทำให้แจ้งชัด ซึ่งญาณทัสสนะวิเศษของพระอริยะ ได้หรือหนอ ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้

“ดูก่อนมาณพ เปรียบเหมือนบุรุษตาบอดแต่กำเนิด เขาไม่เห็นรูปดำ รูปขาว รูปเขียว รูปเหลือง รูปแดง รูปสีชมพู รูปที่เสมอและไม่เสมอหมู่ดาว ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ เขาพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ไม่มีรูปดำรูปขาว ไม่มีคนเห็นรูปดำรูปขาว ไม่มีรูปเขียว ไม่มีคนเห็นรูปเขียว ไม่มีหมู่ดาว ไม่มีคนเห็นหมู่ดาว ไม่มีดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ ไม่มีคนเห็นดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ เราไม่รู้ไม่เห็นสิ่งนั้น เพราะฉะนั้นสิ่งนั้นย่อมไม่มี เมื่อเขากล่าวดังนี้ ชื่อว่ากล่าวชอบหรือ มาณพ?

สุภมาณพ “ไม่ใช่เช่นนั้น ท่านพระโคดม รูปดำรูปขาวมี คนเห็นรูปดำรูปขาวก็มี รูปเขียวมี คนเห็นรูปเขียวก็มี หมู่ดาวมี คนเห็นหมู่ดาวก็มี มีดวงจันทร์ดวงอาทิตย์มี ผู้ที่กล่าวว่าเราไม่รู้ ไม่เห็นสิ่งนั้น เพราะฉะนั้นสิ่งนั้นย่อมไม่มี ดังนี้ ไม่เชื่อว่ากล่าวชอบ ท่านพระโคดม”

สุภสูตร


🔅 พรหมโลกมีจริง
ปัญหา พรหมโลกมีจริงหรือ? พระพุทธองค์ตรัสยืนยันไว้ที่ไหนว่าพรหมโลกมีจริง?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนมาณพ บุรุษผู้เกิดแล้วทั้งเจริญแล้วในบ้านนฬการคามนั้น ถูกถามถึงหนทางของบ้านนฬการคามนั้น ไม่พึงชักช้าหรือตกประหม่าและ ตถาคตถูกถามถึงพรหมโลกหรือปฏิปทาเครื่องให้ถึงพรหมโลก ก็ไม่ชักช้าหรือประหม่าเช่นเดียวกัน”

“ดูก่อนมาณพ เราย่อมรู้จักทั้งพรหม ทั้งพรหมโลก และปฏิปทาเครื่องให้ถึงพรหมโลก อนึ่ง ผู้ปฏิบัติด้วยประการใด จึงเข้าถึงพรหมโลกเราย่อมรู้ชัดซึ่งประการนั้นด้วย”

สุภสูตร

🔅 กรรมเก่ากรรมใหม่
ปัญหา นิครนถนาฏบุตร ศาสดาแห่งศาสนาเซนเห็นว่าสุขทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ที่มนุษย์ได้รับอยู่ในปัจจุบัน ย่อมเป็นผลของกรรมเก่าที่ตนทำไว้ในอดีตทั้งสิ้น ฉะนั้นทุกคนจึงตกเป็นทาสของกรรมอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง วิธีแก้ต้องบำเพ็ญตบะ กำจัดกรรมเก่าและไม่ทำกรรมใหม่ เมื่อเป็นผู้ไม่มีกรรมอย่างสิ้นเชิงแล้ว จึงจะพ้นทุกข์ได้เด็ดขาดดังนี้ พระพุทธองค์ทรงมีทรรศนะอย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราเข้าไปหานิครนถ์ผู้มีวาทะ ทิฐิ อย่างนี้แล้วถามว่า ดูก่อนนิครนถ์ผู้มีอายุ จริงหรือที่มีข่าวว่า พวกท่านมีวาทะอย่างนี้ว่า ปุริสบุคคลนี้ย่อมเสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดีเป็นทุกข์ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดี ข้อนั้นทั้งหมดเป็นเพราะเหตุแห่งกรรมที่ตนทำไว้ก่อน พวกนิครนถ์นั้น ถูกเราถามอย่างนี้แล้วย่อมยืนยัน เราจึงถาม อย่างนี้ว่า พวกท่านทราบละหรือว่า เราทั้งหลายได้มีแล้วในก่อนมิใช่ไม่ได้มีแล้ว? นิครนถ์เหล่านั้นตอบว่า ไม่ทราบ เราถามว่า พวกท่านทราบละหรือว่า เราทั้งหลายได้ทำบาปกรรมไว้ในก่อน มิใช่ได้ทำไว้ พวกนิครนถ์ตอบว่า ไม่ทราบ เราถามว่า พวกท่านทราบละหรือว่า เราทั้งหลายได้ทำบาปกรรมอย่างนี้ พวกนิครนถ์ตอบว่า ไม่ทราบ เราถามว่าพวกท่านทราบละหรือว่า ทุกข์เท่านี้เราสลัดได้แล้ว หรือว่าทุกข์เท่านี้เรายังจะต้องสลัดเสีย หรือว่าเมื่อทุกข์เท่านี้ เราสลัดแล้ว จักเป็นอันว่าเราสลัดทุกข์ได้หมด? พวกนิครนถ์ตอบว่า ไม่ทราบ เราถามว่า พวกท่านทราบการละอกุศลธรรม การบำเพ็ญกุศลธรรมในปัจจุบันละหรือ? พวกนิครนถ์ตอบว่า ไม่ทราบ”

“เรากล่าวว่า ดูก่อนนิครนถ์ผู้มีอายุ เมื่อเป็นเช่นนี้ นิครนถ์ผู้มีอายุไม่บังควรจะพยากรณ์ว่า ปุริสบุคคลนี้ย่อมเสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ข้อนั้นทั้งหมดเป็นเพราะเหตุแห่งกรรมที่ตนทำไว้ในก่อน”

“ดูก่อนนิครนถ์ผู้มีอายุ สมัยใด พวกท่านมีความพยายามแรงกล้า มีความเพียรแรงกล้า สมัยนั้นพวกท่านย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์แรงกล้าเจ็บแสบอันเกิดแต่ความพยายามแรงกล้า แต่สมัยใด พวกท่านไม่มีความพยายามแรงกล้า สมัยนั้นพวกท่านย่อมไม่เสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า อันเกิดแต่ความพยายามแรงกล้า เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกนิครนถ์ผู้มีอายุไม่บังควรจะพยากรณ์ว่า ข้อนั้นทั้งหมดเป็นเพราะเหตุแห่งกรรมที่ตนทำไว้ก่อน”

“ถ้าสมัยใด พวกท่านไม่มีความพยายามแรงกล้า สมัยนั้นเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า พึงหยุดได้เองเมื่อเป็นเช่นนี้ พวกนิครนถ์ผู้มีอายุก็ควรจะพยากรณ์ได้ว่า ข้อนั้นทั้งหมดเป็นเพราะเหตุแห่งกรรมที่ตนทำไว้ก่อน” “ดูก่อนนิครนถ์ผู้มีอายุ ก็เพราะเหตุที่สมัยใด พวกท่านมีความพยายามแรงกล้า สมัยนั้นพวกท่านจึงเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า พวกท่านนั้นเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า อันเกิดแต่ความเพียรเองทีเดียว”

“ดูก่อนนิครนถ์ผู้มีอายุ พวกท่านจะพึงปรารถนาไม่ได้ดังนี้ว่า กรรมใดเป็นของให้ผลในปัจจุบัน ขอกรรมนั้นจงเป็นของให้ผลในชาติหน้า กรรมใดเป็นของให้ผลในชาติหน้า ขอกรรมนั้นจงเป็นของให้ผลในปัจจุบัน กรรมใดเป็นของให้ผลเป็นทุกข์ ขอกรรมนั้นจงเป็นของให้ผลเป็นสุข  กรรมใดเป็นของให้ผลเป็นสุข ขอกรรมนั้นจงเป็นของให้ผลเป็นทุกข์ กรรมใดเป็นของให้ผลเสร็จสิ้นแล้ว ขอกรรมนั้นจงเป็นของให้ผลเสร็จสิ้น ด้วยความพยายามหรือด้วยความเพียรเถิด เมื่อเป็นเช่นนั้น ความพยายามของพวกนิครนถ์ผู้มีอายุก็ไร้ผล ความเพียรก็ไร้ผล”

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุแห่งกรรมที่ตนทำไว้ในก่อน พวกนิครนถ์ก็เป็นผู้ได้ทำกรรมชั่วไว้ในก่อนแน่ ในบัดนี้ พวกเขาจึงได้เสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้าเจ็บแสบเห็นปานนี้ ถ้าหมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์เพราะเหตุที่อิศวร (เทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่) เนรมิตให้พวกนิครนถ์ก็ต้องเป็นผู้ถูกอิศวรชั้นเลวเนรมิตมาแน่ ถ้าหมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุที่มีความบังเอิญ พวกนิครนถ์ก็ต้องเป็นผู้มีความบังเอิญชั่วแน่ ถ้าหมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์เพราะอภิชาติ พวกนิครนถ์ก็ต้องเป็นผู้มีอภิชาติเลวแน่ ถ้าหมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์เพราะความพยายามในปัจจุบัน พวกนิครนถ์ต้องเป็นผู้มีความพยายามในปัจจุบันเลวแน่ ในบัดนี้พวกเขาจึงได้เสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบเห็นปานนี้”

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไรความพยายามจึงจะมีผล ความเพียรจึงจะมีผล? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่เอาทุกข์ทับถมจนที่ไม่มีทุกข์ทับถม ๑ ไม่สละความสุขที่เกิดโดยธรรม ๑ ไม่มีผู้หมกมุ่นในความสุขนั้น ๑ เธอย่อมทราบชัดอย่างนี้ว่า ถึงเรานี้จะยังมีเหตุแห่งทุกข์ เมื่อเริ่มตั้งความเพียร วิราคะย่อมมีได้ด้วยการตั้งความเพียร เมื่อวางเฉยบำเพ็ญอุเบกขาอยู่ วิราคะก็ย่อมมีได้ เธอจึงเริ่มตั้งความเพียรและบำเพ็ญอุเบกขา แม้อย่างนี้ ทุกข์นั้นก็เป็นอันเธอสลัดได้แล้ว”

เทวทหสูตร

🔅 เหตุให้เชื่อชาติหน้า

ปัญหา คนในโลกเชื่อกันว่า ตายแล้วเกิดก็มี ตายแล้วสูญก็มี อะไรเป็นมูลเหตุให้เชื่อเช่นนั้น?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกบัญญัติอัตตาที่มีสัญญาว่า เบื้องหน้าแต่ตายไปยั่งยืน (มีอยู่ ไม่สูญ) ย่อมคัดค้านสมณพราหมณ์พวกบัญญัติความขาดสูญ ความพินาศ ความเกิดของสัตว์ ที่มีอยู่ นั่นเพราะเหตุไร เพราะท่านสมณพราหมณ์เหล่านี้แม้ทั้งหมด ย่อมหมายมั่นกาลข้างหน้า กล่าวยืนยันความหวังอย่างเดียวว่า เราละโลกไปแล้วจักเป็นเช่นนี้ๆ เปรียบเหมือนพ่อค้า ไปค้าขายย่อมมีความหวังว่า ผลจากการค้าเท่านี้จักมีแก่เรา เพราะการค้าขายนี้ เราจักได้ผลเท่านี้ ดังนี้ฉันใด ท่านสมณพราหมณ์พวกนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ชะรอจะเห็นปรากฏเหมือนพ่อค้า จึงหวังว่าเราละโลกไปแล้ว จักเป็นเช่นนี้ ๆ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตย่อมทราบเรื่องนี้ดี

“ดูก่อนสมณพราหมณ์ พวกบัญญัติความขาดสูญความพินาศ ความไม่เกิดของสัตว์ที่มีอยู่ เป็นผู้กลัวสักกายะ (กายของตน) เกลียดสักกายะ แต่ยังวนเวียนไปตามทสักกายะนั้นอยู่แล เปรียบเหมือนสุนัขที่เขาผูกโซ่ล่ามไว้ที่เสาหรือที่หลักมั่น ย่อมวนเวียนไปตามเสาหรือหลักมั่นนั้นเอง ฉันใด ท่านสมณพราหมณ์ พวกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้กลัวสักกายะ แต่ยังวนเวียนไปตามสักกายะอยู่นั่นแล เรื่องสักกายะดังนี้นั้น อันปัจจัยปรุงแต่งเป็นของหยาบ และความดับของสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งมีอยู่ ตถาคตทราบว่าสิ่งนี้ยังที่อยู่ จึงเห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออกจากสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งนั้น ให้เป็นไปล่วงพ้นสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งนั้นได้ ฯ”

ปัญจัตตย

🔅 พระพุทธเจ้าเพียงแต่บอกหนทาง
ปัญหา บริษัท ๔ ที่เกิดร่วมยุคกับพระพุทธองค์ ได้ฟังธรรมเฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธองค์ นับว่าเป็นผู้มีโชคอันประเสริฐ น่าจะได้สำเร็จมรรคผลทั้งหมด แต่ไฉนจึงได้บรรลุแต่เพียงบางคนเท่านั้น?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนพราหมณ์ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉนบุรุษผู้ปรารถนาจะไปเมืองราชคฤห์พึงมาในสำนักของท่าน เขาเข้ามาหาท่านแล้วพูดอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าปรารถนาจะไปยังกรุงราชคฤห์ ขอท่านจงชี้ทางไปเมืองราชคฤห์แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด ท่านพึงบอกแก่เขาอย่างนี้ว่า ดูก่อนพ่อมหาจำเริญ มาเถิด ทางนี้ไปเมืองราชคฤห์ ท่านจงไปตามทางนั้นชั่วครู่หนึ่งแล้ว จักเป็นบ้านชื่อโน้น ไปตามทางชั่วครู่หนึ่งแล้ว จักเป็นนิคมชื่อโน้น จักเห็นสวนที่น่ารื่นรมย์ จักเห็นป่าที่น่ารื่นรมย์ ภูมิภาคที่น่ารื่นรมย์ สระโบกขรณีที่น่ารื่นรมย์ของเมืองราชคฤห์ บุรุษนั้นอันท่านแนะนำสั่งสอนอยู่อย่างนี้จำทางผิด กลับเดินไปเสียตรงกันข้าม ต่อมาบุรุษคนที่สอง ปรารถนาจะไปเมืองราชคฤห์ พึงมาในสำนักของท่าน แล้วพูดอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงชี้ทางไปเมืองราชคฤห์แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด ท่านพึงบอกแก่เขาอย่างนี้ว่า ทางนี้ไปเมืองราชคฤห์ บุรุษนั้นอันท่านแนะนำพร่ำสอนอยู่อย่างนี้ พึงไปถึงเมืองราชคฤห์โดยสวัสดี ดูก่อนพราหมณ์ อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยในเมื่อเมืองราชคฤห์ดำรงอยู่ ทางไปเมืองราชคฤห์ก็ดำรงอยู่ ท่านผู้ชี้แจงก็ดำรงอยู่ แต่ก็บุรุษอันท่านแนะนำพร่ำสั่งอยู่อย่างนี้ คนหนึ่งจำทางผิด กลับเดินไปทางตรงกันข้าม คนหนึ่งไปถึงเมืองราชคฤห์โดยสวัสดี ?”

คณกโมคคัลลานะ “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ในเรื่องนี้ ข้าพเจ้าจะทำอย่างไรได้ ข้าพเจ้าเป็นแต่ผู้บอกทาง”

ดูก่อนพราหมณ์ ฉันนั้นเหมือนกันแล ในเมื่อนิพพานก็ดำรงอยู่ ทางไปนิพพานก็ดำรงอยู่ เราผู้ชักชวนก็ดำรงอยู่ แต่ก็สาวกของเราอันเราโอวาทสั่งสอนอยู่อย่างนี้ บางพวกเพียงส่วนน้อยยินดีนิพพานอันมีความสำเร็จเยี่ยมยอด บางพวกก็ไม่ยินดี ดูก่อนพราหมณ์ ในเรื่องนี้เราจะทำอย่างไรได้ ตถาคตเป็นแต่ผู้บอกหนทางให้

คณกโมคคัลลาน

🔅 บันไดสู่อรหัตตผล
ปัญหา ภิกษุในพระพุทธศาสนาควรจะปฏิบัติโดยลำดับขั้นอย่างไร จึงจะได้บรรลุมรรคผล?

พุทธดำรัสตอบ “ท่านจงเป็นผู้มีศีล ระวังในปาฏิโมกข์อยู่ เป็นผู้บริบูรณ์ด้วยมารยาทและธรรมเป็นโคจร จงเป็นผู้มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลาย

“ท่านจงเป็นผู้มีทวารอันระวังแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย (สำรวมอินทรีย์ อย่าถือนิมิตของรูปนั้น) ไว้ อย่าถือโดยอนุพยัญชนะ ซึ่งเป็นเหตุให้เหล่าอกุศลธรรมอันลามกมีอภิชฌาและโทมนัส เป็นต้น ไหลตามบุคคลผู้ไม่ระวังอินทรีย์คือตา จงปฏิบัติเพื่อระวังอินทรีย์ถือนัยน์ตานั้น ได้ยินเสียงด้วยหู แล้วดมกลิ่นด้วยจมูกแล้ว ลิ้มรสด้วยลิ้นแล้ว ต้องโผฏฐัพพะ (สัมผัส) ด้วยกายแล้ว รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว อย่าถือนิมิต (ของอารมณ์นั้นๆ ) ไว้อย่าถือโดยอนุพยัญชนะ

“ท่านจงเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ พิจารณาโดยอุบายอันชอบแล้ว เสพโภชนาหาร (พิจารณาว่า) เราเสพโภชนะนี้ไม่ใช่เพื่อเล่น ไม่ใช่เพื่อให้ร่างกายสดใส ไม่ใช่เพื่อให้ร่างกายผุดผ่อง เพียงเพื่อให้กายนี้ตั้งอยู่ เพื่อให้ชีวิตเป็นไป เพื่อปราศจากความลำบาก เพื่ออนุเคราะห์แก่พรหมจรรย์ ด้วยการเสพโภชนะนี้ เราจักกำจัดเวทนาเก่าเสีย และจักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น

“ท่านจงประกอบความเพียรของผู้ตื่นอยู่ ท่านจงชำระจิตให้บริสุทธิ์ จากอาวรณิยธรรม ด้วยการเดิน ด้วยการนั่งสิ้นวันยังค่ำ จงชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอาวรณิยธรรม ด้วยการเดิน ด้วยการนั่งตลอดยามต้นแห่งราตรีถึงยามกลางแห่งราตรี พึงสำเร็จการนอนอย่างราชสีห์โดยข้างเบื้องขวา วางเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ ผูกใจหมายจะลุกขึ้น ถึงยามสุดแห่งราตรี จงกลับลุกขึ้น ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอาวรณิยธรรม ด้วยการเดิน ด้วยการนั่ง

“ท่านจงมาตามพร้อมด้วยสติและสัมปชัญญะในอันก้าว ในอันถอย ในอันแล ในอันเหลียว ในอันคู้ ในอันเหยียด ในอันทรงสังฆาฏิบาตรจีวร ในอันกิน ดื่มเคี้ยวแลจิบ ในอันถ่ายอุจจาระแลปัสสาวะ ในอันเดิน ยืน นั่ง หลับ ตื่น พูด แลนิ่ง ท่านจงเป็นคนรู้ตัวกระทำ (ทุกๆอย่าง)

“ท่านจงเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า ดง โคน ต้นไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำในเขา ป่าช้า ป่าเปลี่ยว ที่แจ้ง ลอมฟาง ในปัจฉาภัตต์ (นอกเพล) เธอกลับมาจากบิณฑบาตแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรงตั้งสติไว้เฉพาะหน้า ย่อมทำจิตใจให้บริสุทธิ์ จากอภิชฌา ย่อมทำจิตให้บริสุทธิ์จากความประทุษร้ายเพราะพยาบาท มีจิตปราศจากถีนมิทธะแล้ว มีสติสัมปชัญญะ มีสำคัญในอาโลกกสิณอยู่ ทำจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านรำคาญ ) ทำจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา (ความสงสัยลังเล) ละนิวรณ์ทั้ง ๕ อันเป็นอุปกิเลสแห่งจิต เป็นเครื่องทำปัญญาให้ถอยกำลังเหล่านี้แล้ว สงัดจากกามารมณ์ สงัดจากอกุศลธรรมนั่นเทียว บรรลุปฐมฌาน บรรลุทุติยฌาน บรรลุตติยฌาน บรรลุจตุตถฌาน

“ภิกษุเหล่าใดแล ยังเป็นเสขบุคคล ยังไม่ได้ถึงอรหัตตมรรคแล้ว ปรารถนาพระนิพพานเป็นที่สิ้นโยคะ ไม่มีธรรมอื่นจะยิ่งกว่า วาจาพร่ำสอนเช่นนี้ ของเรา มีอยู่ในภิกษุเหล่านั้น

“ส่วนภิกษุเหล่าใดเป็นพระอรหันต์สิ้นอาสวะแล้ว เป็นผู้อยู่จบแล้ว มีกิจควรทำให้ทำเสร็จแล้ว มีภาระอันปลงเสียแล้ว ธรรมทั้งหลายเหล่านี้ย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขในอัตตภาพนี้ ทั้งสติแลสัมปชัญญะ แก่ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น”

คณกโมคคัลลานสูตร

🔅 ผู้แทนพระพุทธองค์
ปัญหา ก่อนแต่จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธเจ้าได้ทรงแต่งตั้งภิกษุรูปหนึ่งให้ดำรงตำแหน่งประมุขสงฆ์ แทนพระองค์หรือไม่? ถ้าไม่ พระสงฆ์ได้ประชุมตกลงกันแต่งตั้งใครเป็นประมุขหรือไม่ ? ถ้าไม่พระสงฆ์จะได้อะไรเป็นที่พึ่ง?

พระอานนท์ตอบ “ดูก่อนพราหมณ์ ไม่มีเลยแม้สักรูปหนึ่ง อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ทรงเห็นเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ทรงแต่งตั้งไว้ว่า เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว ภิกษุรูปนี้จักเป็นที่พึ่งอาศัยของท่านทั้งหลาย ซึ่งอาตมภาพทั้งหลายจะพึงเข้าไปหาได้ในบัดนี้

“ดูก่อนพราหมณ์ ไม่มีเลยแม้สักรูปหนึ่ง อันสงฆ์ที่เป็นภิกษุผู้เถระมากรูปด้วยกันสมมติแล้ว แต่งตั้งไว้ว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จล่วงลับไปแล้ว ภิกษุรูปนี้จัดเป็นที่พึ่งอาศัยของเราทั้งหลาย ดูก่อนพราหมณ์ อาตมภาพทั้งหลายมิใช่ไม่มีที่พึ่งอาศัยเลย พวกอาตมภาพมีที่พึ่งอาศัยคือมีธรรมเป็นที่พึ่งอาศัย”

โคปกโมคคัลลาน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น