วันพฤหัสบดี

พระพุทธดำรัส (๑๐)

 🙏 พระพุทธดำรัส 🙏


🔆 วิญญาณาหารคืออะไร
ปัญหา การที่ท่านจัดวิญญาณว่าเป็นอาหารชนิดหนึ่งนั้น หมายเอาวิญญาณชนิดไหน และวิญญาณาหารมีลักษณะอย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็วิญญาณาหาร จะพึงเห็นได้อย่างไร ? เหมือนอย่างว่า พวกเจ้าหน้าที่จับโจรผู้กระทำผิดได้แล้ว แสดงแก่พระราชาว่า ขอเดชะ ด้วยโจรผู้นี้กระทำผิด ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท จงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ลงโทษโจรผู้นี้ตามที่ทรงเห็นสมควรเถิด จึงมีพระกระแสรับสั่งอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ไปเถอะพ่อ จงประหารมันเสียด้วยหอกร้อยเล่มในเวลาเช้านี้ เจ้าหน้าที่เหล่านั้นก็ช่วยกันประหารนักโทษคนนั้น ด้วยหอกร้อยเล่มในเวลาเช้า

“ต่อมาเป็นเวลาเที่ยงวัน พระราชาทรงซักถามเจ้าหน้าที่เหล่านั้นอย่างนี้ว่าท่านผู้เจริญ เจ้านักโทษคนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง เขาพากันกราบทูลว่า ขอเดชะเขายังมีชีวิตอยู่ตามเดิม จึงมีพระกระแสรับสั่งอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ไปเถอะพ่อ จงช่วยกันประหารมันเสียด้วยหอกร้อยเล่มในเวลาเที่ยงวัน เจ้าหน้าที่เหล่านั้นก็ประหารนักโทษคนนั้นด้วยหอกร้อยเล่มในเวลาเที่ยงวัน

“ต่อมาเป็นเวลาเย็น พระราชาทรงซักถามเจ้าหน้าที่เหล่านั้นอย่างนี้ว่าท่านผู้เจริญ เจ้านักโทษคนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง เขาพากันกราบทูลว่า ขอเดชะเขายังมีชีวิตอยู่ตามเดิม จึงมีพระกระแสรับสั่งวอย่านี้ว่า ท่านผู้เจริญ ไปเถอะพ่อ จงประหารมันเสียด้วยหอกร้อยเล่มในเวลาเย็น เจ้าหน้าที่คนนั้นก็ประหารนักโทษคนนั้นด้วยหอกร้อยเล่มในเวลาเย็น

“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน คือว่าเมื่อเขากำลังถูกประหารด้วยหอกสามร้อยเล่มตลอดวันอยู่นั้น จะพึงได้เสวยแต่ทุกข์โทมนัส ซึ่งมีการประหารนั้นเป็นเหตุเท่านั้นมิใช่หรือ ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเขากำลังถูกประหารอยู่ด้วยหอกแม้เล่มเดียว ก็พึงเสวยทุกข์โทมนัส ซึ่งมีการประหารนั้นเป็นเหตุ แต่จะกล่าวไปไย ถึงเมื่อเขากำลังถูกประหารอยู่ด้วยหอก สามร้อยเล่มเล่า ข้อนี้ฉันใด เรากล่าวว่า พึงเห็นวิญญาณาหารฉันนั้นเหมือนกัน เมื่ออริยสาวกกำหนดวิญญาณาหารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้นามรูปได้ เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้นามรูปได้แล้ว เรากล่าวว่า ไม่มีสิ่งใดที่อริยสาวกจะพึงทำให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกแล้ว”

ปุตตมังสสูตร 


🔆 อาหาร ๔ และทุกข์
ปัญหา อาหาร ๔ ประการ คือ กวฬึงการาหาร ผัสสาหาร มโนสัญเจตนาหาร วิญญาณาหาร เป็นเหตุให้เกิดทุกข์อย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก มีอยู่ใน กวฬึงการาหาร.... ในผัสสาหาร.... ในมโนสัญเจตนาหาร.... ในวิญญาณาหารไซร้ วิญญาณก็ตั้งอยู่งอกงามในกวฬึงการาหาร.... ในผัสสาหาร.... ในมโนสัญเจตนาหาร.... ในวิญญาณาหาร ในที่ใด วิญญาณตั้งอยู่งอกงาม ในที่นั้นย่อมมีการตั้งลงแห่งนามรูป ในที่ใดมีการหยั่งลงแห่งนามรูป ในที่นั้นย่อมมีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ในที่ใดมีความเจริญแห่งสังขาร ในที่นั้นย่อมมีการเกิดในภพใหม่ต่อไป ในที่ใดมีการเกิดในภพใหม่ ในที่นั้นย่อมมีชาติชรามรณะต่อไป ในที่ใดมีชาติชรามรณะต่อไป เราเรียกที่นั้นว่ามีความโศก มีธุรี มีความคับแค้น

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อมีน้ำย้อม ครั่ง ขมิ้น สีเขียวหรือสีบานเย็น ช่างย้อมหรือช่างเขียนพึงเขียนรูปสตรีหรือรูปบุรุษให้มีอวัยวะน้อยใหญ่ได้ครบถ้วน ที่แผ่นหินขาว แผ่นกระดาน ฝาผนัง หรือที่ผืนผ้า แม้ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน....”

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าความยินดี ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก ไม่มีอยู่ใน กวฬึงการาหาร.... ในผัสสาหาร.... ในมโนสัญเจตนาหาร.... ในวิญญาณาหารไซร้ วิญญาณก็ไม่ตั้งอยู่ ไม่งอกงามในกวฬึงการาหาร.... ในผัสสาหาร.... ในมโนสัญเจตนาหาร.... ในวิญญาณาหาร นั้น ในที่ใดวิญญาณไม่ตั้งอยู่ ไม่งอกงาม ในที่นั้นย่อมไม่มีการตั้งลงแห่งนามรูป ในที่ใดไม่มีการหยั่งลงแห่งนามรูป ในที่นั้นย่อมไม่มีความเจริญแห่งสังขารทั้งหลาย ในที่ใดไม่มีความเจริญแห่งสังขาร ในที่นั้นย่อมไม่มีการเกิดในภพใหม่ต่อไป ในที่ใดไม่มีการเกิดในภพใหม่ ในที่นั้นย่อมไม่มีชาติชรามรณะต่อไป ในที่ใดไม่มีชาติชรามรณะต่อไป..... เราเรียกที่นั้นว่าไม่มีความโศก ไม่มีธุรี ไม่มีความคับแค้น (เปรียบเหมือนบุคคลเปิดหน้าต่างปราสาทด้วยตะวันออก แสงสว่างย่อมส่องเข้าไปตั้งอยู่ที่ฝาผนังด้านตะวันตก ถ้าฝาผนังด้านตะวันด้านตะวันตกไม่มีแสงย่อมตั้งอยู่บนแผ่นดิน ถ้าแผ่นดินไม่มี ย่อมตั้งอยู่บนแผ่นน้ำ ถ้าแผ่นน้ำไม่มี ย่อมไม่ตั้งอยู่ในที่ใดเลย)”

อัตถิราคสูตร


🔆
เหตุเกิดอุปธิ

ปัญหา อุปธิ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิด ชรา มรณะนั้น มีอะไรเป็นเหตุ ?

พุทธดำรัสตอบ “......ภิกษุเมื่อพิจารณา ย่อมพิจารณา ซึ่งปัจจัยภายในว่าก็อุปธิอันนี้ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้ง มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด เมื่อมีอะไร อุปธิจึงมี เมื่อไม่มีอะไร อุปธิจึงไม่มี เมื่อเธอพิจารณาอยู่ ย่อมรู้ได้อย่างนี้ว่า อุปธิมีตัณหาเป็นเหตุ มีตัณหาเป็นที่ตั้งขึ้น มีตัณหาเป็นกำเนิด”

👉 เหตุเกิดตัณหา

“อีกประการหนึ่ง ภิกษุเมื่อพิจารณา ย่อมพิจารณา ซึ่งปัจจัยภายในว่าก็ตัณหานี้เมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นที่ไหน เมื่อตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่ไหน เมื่อเธอพิจารณาอยู่ ย่อมรู้ได้อย่างนี้ว่า ที่ใดแลเป็นที่รัก เป็นที่ชื่นใจในโลก ตัณหาเมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นในที่นั้น เมื่อตั้งอยู่ย่อมตั้งอยู่ในที่นั้น ก็อะไรเล่าเป็นที่รัก เป็นที่ชื่นใจในโลก ตาเป็นที่รัก เป็นที่ชื่นใจในโลก.... หูเป็นที่รัก เป็นที่ชื่นใจในโลก.... จมูก.... ลิ้น.... กาย.... ใจเป็นที่รัก เป็นที่ชื่นใจในโลก ตัณหานั้นเมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นที่ ตา.... หู.... จมูก.... ลิ้น.... กาย.... ใจนั้น เมื่อตั้งอยู่ย่อมตั้งอยู่ที่ตา..... ใจนั้น

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ได้เห็นอารมณ์เป็นที่รัก เป็นที่ชื่นใจในโลกนั้น โดยความเป็นของเที่ยง.... เป็นสุข.... เป็นตัวตน... เป็นของไม่มีโรค.... เป็นของเกษม สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น เชื่อว่าทำตัณหาให้เจริญขึ้น สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดทำตัณหาให้เจริญขึ้น สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่าทำอุปธิให้เจริญขึ้น .... ทำทุกข์ให้เจริญขึ้น.... ชื่อว่าไม่พ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะปริเทวะ ทุกข์โทมนัส และอุปายาสได้เลย

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ขันสำริดที่ใส่น้ำที่ถึงพร้อมด้วยสีและกลิ่น แต่ว่าเจือด้วยยาพิษ ทันใดนั้นมีบุรุษเดินฝ่าความร้อนอบอ้าว เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ามากระหายน้ำ คนทั้งหลายจึงพูดกะบุรุษผู้นั้นอย่างนี้ว่า ในขันสำริดใส่น้ำนี้ประกอบด้วย สี กลิ่น และรส แต่ว่าเจือด้วยยาพิษ ถ้าท่านประสงค์ก็จงดื่มเถิด.... บุรุษนั้นผลุนผลันไม่ทันพิจารณา ดื่มน้ำนั้นเข้าไป .... พึงถึงความตายหรือถึงทุกข์ปางตาย เพราะการดื่มน้ำนั้นเป็นเหตุ แม้ฉันใด สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในอดีต... ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล....”

สัมมสสูตร

🔆 ปัจจัยการอาศัยกัน
ปัญหา ปัจจยาการทั้ง ๑๒ ช่วง ตั้งแต่อวิชชาถึงชาติ ชรา มรณะต่างอาศัย ซึ่งกันและกัน จึงดำรงอยู่ได้ หรือว่ามีช่วงใดช่วงหนึ่ง ซึ่งอาจอยู่ได้อย่างอิสระ โดยไม่ต้องอาศัยช่วงอื่น?

พระสารีบุตรตอบ “ ท่านผู้มีอายุ ไม้อ้อ ๒ กำพึงตั้งอยู่ได้ เพราะต่างอาศัยซึ่งกันและกันฉันใด เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ เพราะวิญญาณ เป็นปัจจัยจึงมีนามรูป เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงมีสฬายตนะ ฯลฯ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวล ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฉันนั้นแล

“ถ้าไม้อ้อ ๒ กำนั้น พึงเอาออกเสียกำหนึ่ง อีกกำหนึ่งก็ล้มไป ถ้าดึงอีกกำหนึ่งออก อีกกำหนึ่งก็ล้มไป ฉันใด เพราะนามรูปดับ วิญญาณดับนามรูปจึงดับ เพราะนามรูปดับนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฉันนั้นแล”

สัมมสสูตร


🔆 ไม่ใช่อรหันต์เสมอไป
ปัญหา ผู้ที่รู้เห็นปฏิจจสมุปบาทอย่างแจ่มแจ้งทั้งสายทุกข์ ทั้งสายดับทุกข์ อย่างละเอียดถี่ถ้วน จะจัดว่าเป็นพระขีณาสพได้หรือยัง ?

พระนารทะตอบ “ ท่านผู้มีอายุ ข้อว่าภพดับเป็นนิพพาน ผลเห็นดีแล้วด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง แต่ว่าผมไม่ใช่พระอรหันต์ขีณาสพ ท่านผู้มีอายุเปรียบเหมือนบ่อน้ำในหนทางกันดาร ที่บ่อนั้นไม่มีเชือก โพงจะตักน้ำก็ไม่มี ลำดับนั้น บุรุษถูกความร้อนแผดเผา เหน็ดเหนื่อย หิวกระหายเดินมา เขามองดูบ่อน้ำนั้นก็รู้ว่ามีน้ำ แต่จะสัมผัสด้วยการไม่ได้ ฉันใด ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ข้อว่าภพดับเป็นนิพพาน ผมเห็นดีแล้วด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง แต่ว่าผมไม่ใช่พระอรหันต์ขีณาสพ ฉันนั้นเหมือนกัน”

โกสัมพีสูตร


🔆 เป็นอรหันต์แต่ไม่มีฤทธิ์
ปัญหา ภิกษุที่ได้เป็นพระอรหันต์ขีณาสพแล้วจะต้องมีฤทธิ์ สามารถกระทำปาฏิหาริย์ได้ทั้งนั้นหรือ?

คำตอบ ไม่ได้เสมอไป ตามเรื่องสุสิมสูตรว่าเมื่อพระสุสิมะได้ยิน ภิกษุหลายรูป ปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์จึงเข้าไปหาแล้วก็ถามว่า ท่านเหล่านั้นแสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้ไหม มีหูทิพย์ตาทิพย์ไหม เมื่อภิกษุเหล่านั้นตอบว่าแสดงฤทธิ์ก็ไม่ได้ มีหูทิพย์ตาทิพย์ก็ไม่ได้ พระสุสิมะ จึงแสดงความประหลาดใจว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ท่านเหล่านั้นตอบว่า ท่านหลุดพ้นได้ด้วยปัญญา เป็นพระอรหันต์ประเภทสุกขวิปัสสกะ

พระสุสิมะยังไม่หายสงสัย จึงเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าและทูลถามเรื่องนี้

พระพุทธองค์ตรัสถามเธอว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ควรถือว่าเป็นเราเป็นของของเรา เป็นตัวตนของเราหรือไม่ พระสุสิมะทูลว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ควรถือว่าเป็นเรา เป็นของของเรา เป็นตนของเรา พระพุทธองค์ทรงสอนต่อไปว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เป็นอดีตก็ดี อนาคตก็ดี ปัจจุบันก็ดี ภายในก็ดี ภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี อยู่ในที่ไกลก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงว่า นั่นเป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา เมื่อเห็นอย่างนี้แล้วจะเกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัดและหลุดพ้น เป็นพระอรหันต์ขีณาสพ

ต่อจากนั้นพระพุทธองค์ได้ตรัสถามพระสุสมะในเรื่องปฏิจจสุมปบาทว่าเพราะชาติเป็นปัจจัยจึงมีชรา และภพเป็นปัจจัยจึงมีชาติ ฯลฯ เพราอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร ในสายดับทุกข์พระองค์ทรงแสดงว่า เพราะชาติดับ ชรา มรณะ จึงดับ ฯลฯ เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ ในที่สุดทรงถามว่า “ดูก่อนสุสิมะ เธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมบรรลุอิทธิวิธีหลายประการ....ย่อมได้ยินเสียงสองชนิด... ด้วยทิพย์ โสตธาตุอันบริสุทธิ์..... ย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น.... ย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก... ย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ.... บ้างหรือหนอ?”

พระสุสิมะทูลตอบว่า “ ไม่ใช่อย่างนั้น ก็แสดงว่า พระอรหันต์ผู้ได้บรรลุเพราะอาศัยปัญญา เกิดความรู้จริงเห็นแจ้งในอริยสัจ ๔ ย่อมไม่มีอิทธิปาฏิหาริย์ใด ๆ”

นัยสุสิมสูตร


🔆 พวกเดียวกันคบกัน
ปัญหา ตามปกติ คนที่มีอะไรคล้ายกันย่อมคบหาสมาคมกันใช่หรือไม่ ? พระผู้มีพระภาคตรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายย่อมคบค้ากันย่อมสมาคมกัน โดยธาตุทีเดียว คือสัตว์จำพวกที่ไม่มีศรัทธา ย่อมคบค้ากันกับสัตว์จำพวกที่ไม่มีศรัทธา สัตว์จำพวกที่ไม่มีหิริย่อมคบค้ากันกับสัตว์จำพวกที่ไม่มีหิริ สัตว์จำพวกที่ไม่มีโอตตัปปะ ย่อมคบค้ากันกับสัตว์จำพวกที่ไม่มีโอตตัปปะ สัตว์จำพวกที่มีสุตะน้อย ย่อมคบค้ากันกับสัตว์จำพวกที่มีสุตะน้อย สัตว์จำพวกเกียจร้านย่อมคบค้ากันกับสัตว์จำพวกเกียจคร้าน สัตว์จำพวกมีสติหลงลืม ย่อมคบค้ากันกับสัตว์จำพวกมีสติหลงลืม สัตว์จำพวกมีปัญญาทราม ย่อมคบค้ากันกับสัตว์จำพวกมีปัญญาทราม แม้ในอดีตกาล แม้ในอนาคตกาล แม้ในปัจจุบันกาล”

อสัทธมูลกสูตร


🔆 วัฏสงสารที่ไม่มีเบื้องต้นเบื้องปลาย
ปัญหา เราอาจจะทราบได้ไหมว่า เราเริ่มเกิดขึ้นในวัฏสงสารเมื่อใดและจะสิ้นสุดลงเมื่อใด ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ

“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหมือนอย่างว่า บุรุษตัวทอนหญ้าไม้ กิ่งไม้ใบไม้ ในชมพูทวีปนี้ แล้วจึงรวมกันไว้ ครั้นแล้ว พึงกระทำให้เป็นมัดมัดละ ๔ นิ้ว วางไว้ สมมติว่านี้เป็นมารดาของเรา นี้เป็นมารดาของมารดาของเราโดยลำดับ มารดาของมารดาแห่งบุรุษนั้น ไม่พึงสิ้นสุด ส่วนว่าหญ้าไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ในชมพูทวีปนี้ พึงถึงการหมดสิ้นไปข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าสงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ พวกเธอได้เสวยทุกข์ ความเผ็ดร้อน ความพินาศ ได้เพิ่มพูนปฏพีที่เป็นป่าช้าตลอดกาลนาน ฉะนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เหตุเพียงเท่านี้พอทีเดียวเพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง พอเพื่อจะคลายกำหนัด พอเพื่อจะหลุดพ้น ดังนี้”

ติณกัฏฐสูตร

🔆 กรรมเก่าทั้งนั้นหรือ
ปัญหา ตอบหลักกรรมในทางพระพุทธศาสนานั้นเราจะถือว่าความสุขก็ดี ความทุกข์ก็ดี ที่เราได้รับอยู่ในบัดนี้ เป็นผลของกรรมเก่าที่เราได้ทำไว้แล้วในชาติก่อน ดังนี้ได้หรือไม่?

พุทธดำรัสตอบ “.....เวทนาอันบุคคลเสวยในโลกนี้ บางเหล่าเกิดขึ้นมีดีเป็นสมุฏฐานก็มี มีสวนต่างๆ เหล่านั้นรวมกันเป็นสมุฏฐานก็มี เกิดแต่ความแปรแห่งฤดูก็มี เกิดแต่การบริหารร่างกายไม่สม่ำเสมอก็มี เกิดแต่ความพยายาม (ของตน) ก็มี เกิดแต่วิบากแห่งกรรมก็มี..... ข้อนี้อันเจ้าตัวเองก็รู้เช่นนั้น อันโลกก็สมมติว่าเป็นจริง สมณะพราหมณ์ทั้งหลายเหล่าใด มักกล่าวและมีความเห็นในข้อนั้นอย่างนี้ว่า “บุคคล... เสวยเวทนาทั้งปวง (สุข ทุกข์ ไม่สุข ไม่ทุกข์) เพราะเหตุแห่งกรรมที่ตนทำแล้วในก่อน เขาย่อมเพิกเฉยข้อที่ตนเองก็รู้ดี ย่อมเพิกเฉยต่อข้อที่โลกสมมติว่าเป็นจริง เพราะฉะนั้นเรากล่าวว่า การกล่าวแลความเห็นอย่างนี้ของสมณะพราหมณ์เหล่านั้น เป็นการกล่าวผิดและเห็นผิด” ดังนี้

สิวกสูตร


🔆 วิธีเข้าถึงแก่นพระพุทธศาสนา
ปัญหา ได้ทราบว่าวิมุติคือความหลุดพ้นจากอาสวะกิเลสทั้งปวงเป็นแก่นของพระพุทธศาสนา เราจะปฏิบัติธรรมอะไรโดยลำดับ จึงจะบรรลุถึงวิมุตินั้นสมประสงค์ ?

พุทธดำรัสตอบ “โพชฌงค์ ๗ ประการแล อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมยังวิชชาแลวิมุติให้บริบูรณ์ สติปัฏฐาน ๔ แล อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ประการให้บริบูรณ์ สุจริต ๓ ประการแล อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ประการให้บริบูรณ์ อินทรีย์สังวรแล อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมยังสุจริต ๓ ประการให้บริบูรณ์

กุณฺฑลิยสูตร


🔆 ฆราวาสก็มีหวังได้ลิ้มรสนิพพาน
ปัญหา เท่าที่ได้ฟังมานั้น การที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน รู้สึกว่าเป็นกิจที่ทำได้ยากมาก จะต้องสละโลกออกบวช ไปอยู่ในป่าบำเพ็ญศีลสมาธิปัญญาอย่างเคร่งครัด ซึ่งน้อยคนจะกระทำได้ สำหรับฆราวาสที่ยังต้องอยู่ครองเรือนมีหน้าที่ในการเลี้ยงครอบครัว จะปฏิบัติอย่างไรจึงจะมีโอกาสได้ลิ้มรสแห่งนิพพานสุขบ้าง ?

พุทธดำรัสตอบ “.....สาวกของพระอริยเจ้าในศาสนานี้ย่อมพิจารณาเห็นว่า เราปรารถนาชีวิต ไม่คิดอยากตาย ปรารถนาแต่ความสุขสบาย เกลียดหน่ายต่อความทุกข์ บุคคลผู้ใดจะพึงปลงเราเสียจากชีวิต ข้อนั้นจะไม่พึงเป็นที่รักใคร่ชอบใจของเราเลย ก็แล ถ้าเราจะพึงปลงผู้อื่นเสียจากชีวิต ถึงข้อนั้นก็จะไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของผู้นั้น ธรรมอันใดที่ไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของเราธรรมอันนั้นก็ไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของคนอื่น....... พิจารณาเห็นอย่างนี้แล้วตนก็เว้นเสียจากปาณาติบาต แลชักชวนผู้อื่นให้เว้นเสียจากปาณาติบาต และกล่าวพรรณนาคุณของการเว้นจากปาณาติบาต......

“บุคคลใดจะพึงถือเอาสิ่งของที่เราไม่ให้ซึ่งนับว่าเป็นขโมย ข้อนั้นก็ไม่พึงเป็นที่รักใคร่ชอบใจของเราเลย ก็แล เราจะถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ให้ ถึงขอนั้นก็ไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของผู้อื่น.... พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ตนก็เว้นเสียจากอทินนาทานและชักชวนผู้อื่นให้เว้นเสียจากอทินนาทาน และกล่าวพรรณนาคุณของการเว้นจากการอทินนาทาน...

“บุคคลใดจะประพฤติละเมิดในภรยาของเรา ข้อนั้นไม่ถึงเป็นที่รักใคร่ชอบใจของเราเลย ก็แลเราจะถึงประพฤติละเมิดในภรรยาของผู้อื่น ถึงข้อนั้นก็ไม่พึงเป็นที่รักใคร่ชอบใจของผู้อื่น... พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ตนก็เว้นเสียจากกาเมสุมิจฉาจาร และชักชวนผู้อื่นให้เว้นเสียจากกาเมสุมิจฉาจาร และพรรณนาคุณของการเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร....

“บุคคลใดจะพึงทำลายประโยชน์ของเราเสียด้วยการพูดปด ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของเราเลย ก็แลเราจะพึงทำลายประโยชน์ของผู้อื่นเสียด้วยการพูดปด ถึงข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของผู้อื่น.... พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ตนก็เว้นเสียจากการพูดปด แลชักชวนผู้อื่นให้เว้นเสียจากการพูดปดแลกล่าวพรรณนาคุณของการเว้นจากการพูดปด....

“บุคคลใดจะพึงทำให้เราแตกจากมิตรด้วยการกล่าวส่อเสียด ข้อนั้นก็ไม่พึงเป็นที่รักใคร่ชอบใจของเราเลย ก็แลเราจะพึงทำผู้อื่นให้แตกจากมิตรด้วยการกล่าวส่อเสียด ถึงข้อนั้นก็จะไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของผู้อื่น.... พิจารณาเห็นอย่างนี้แล้ว ตนก็เว้นเสียจากกการกล่าวส่อเสียด และชักชวนผู้อื่นให้เว้นจากการกล่าวส่อเสียด และกล่าวพรรณนาคุณของการเว้นจากการกล่าวส่อเสียด

“บุคคลใดจะพึงร้องเรียกเราด้วยคำหยาบ ข้อนั้นก็ไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของเราเลย ก็แลเราจะพึงร้องเรียกคนอื่นด้วยคำหยาบเล่า พึงข้อนั้นก็จะไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของผู้อื่น.... พิจารณาเห็นอย่างนี้แล้วตนก็เว้นเสียจากการกล่าวว่าจากหยาบ และชักชวนผู้อื่นให้เว้นจากการกล่าววาจาหยาบ และกล่าวพรรณนาคุณของการเว้นจากการกล่าววาจาหยาบ....

“บุคคลใดจะพึงร้องเรียกเราด้วยการกล่าววาจาปราศจากประโยชน์ ข้อนั้นก็จะไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของเราเลย ก็แลจะพึงร้องเรียกผู้อื่นด้วยการกล่าววาจาปราศจากประโยชน์ ข้อนั้นก็จะไม่เป็นที่รักใคร่ชอบใจของผู้อื่น.... แลชักชวนผู้อื่นให้เว้นจากการกล่าววาจาปราศจากประโยชน์ และพรรณนาคุณของการเว้นจากการกล่าววาจาปราศจากประโยชน์

“สาวกของพระอริยเจ้านั้น ประกอบด้วยความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า ไม่หวั่นไหว... ประกอบด้วยความเลื่อมใสมั่นในพระธรรมไม่หวั่นไหว... ประกอบด้วยความเลื่อมใสมั่นในพระสงฆ์ ไม่หวั่นไหว... ประกอบด้วยศีล ทั้งหลายอันพระอริยเจ้ารักใคร่ไม่ให้ขาด ไม่ให้เป็นท่อน ไม่ให้ด่างพร้อย เป็นไทย (ไม่เป็นทาสแหงตัณหา) อันผู้รู้สรรเสริญอันตัณหาแลทิฐิไม่ครอบงำได้เป็นไปเพื่อสมาธิ

“เมื่อใดอริยสาวกประกอบด้วยสัทธรรม ๗ ประการนี้ เมื่อนั้น อริยสาวกนั้นหวังอยู่ ด้วยฐานะเป็นที่ตั้งแห่งความหวัง ๔ ประการนี้ พึงพยากรณ์ตนด้วยตนเองได้ว่า เรามีนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน เปรตวิสัย อบาย ทุคติ วินิบาตสิ้นแล้ว เราเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า.” ดังนี้

เวฬุทวารสูตร


🔆 คุณค่าของการเจริญสมาธิ
ปัญหา พระพุทธเจ้าทรงแสดงอานิสงส์ของการเจริญสมาธิไว้อย่างไรบ้าง ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุเจริญปฐวีกสิณแม้ชั่วกาลเพียงลัดมือเดียว ภิกษุนี้เรากล่าวว่า อยู่ไม่เหินห่างจากฌาน ทำตามคำสอนของพระศาสดา ปฏิบัติตามโอวาท ไม่ฉันบิณฑบาตของชาวแว่นแคว้นเปล่า ก็จะป่วยการกล่าวไปไยถึงผู้กระทำให้มาก ซึ่งปฐวีกสิณนั้นเล่า....”

ปสาทกรธัมมาทิปาลี


🔆 คุณค่าของสมถะและวิปัสสนา
ปัญหา การเจริญสมถวิปัสสนามีประโยชน์อย่างไรบ้าง?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๒ อย่างเป็นไปในส่วนแห่งวิชชา ธรรม ๒ อย่างเป็นไฉน คือ สมถะ ๑ วิปัสสนา ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมถะที่ภิกษุเจริญแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมอบรมจิต จิตที่อบรมแล้วย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมละราคะได้ วิปัสสนาที่อบรมแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมอบรมปัญญา ปัญญาที่อบรมแล้วย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมละอวิชชาได้ปัญญาที่เศร้าหมองด้วยอวิชชา ย่อมไม่เจริญด้วยประการฉะนี้แล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะสำรอกราคะได้ จึงชื่อว่าเจโตวิมุติ เพราะสำรอกอวิชชาได้จึงชื่อว่าปัญญาวิมุต ฯ”

พาลวรรคปฐมปัณณาสก์


🔆 ศาสนาเชน
ปัญหา ศาสนาเชนซึ่งเกิดช่วงเวลาเดียวกันกับพระพุทธศาสนานั้น มีหลักคำสอนอย่างไรบ้าง?

คำตอบ “.....ข้าแต่ท่านผู้เจริญ นิครนถนาฏบุตร เป็นคนรู้เห็นธรรมทุกอย่าง ย่อมปฏิญาณญาณทัสสนะไว้อย่างแจ่มแจ้งหมดเปลือกว่า สำหรับเราจะเดินจะยืน จะหลับและตื่นก็ตาม ญาณทัสสนะก็ปรากฏชั่วกาลนิรันดร เขาบัญญัติว่า กรรมเก่าหมดไปเพราะความเพียรเผากิเลส ฆ่าเหตุเสียได้ เพราะไม่ทำกรรมใหม่ ด้วยประการฉะนี้ จึงเป็นอันว่า เพราะกรรมสิ้นไป ทุกข์จึงหมดไป เพราะทุกข์หมดไป เวทนาจึงสิ้นไป เพราะเวทนาสิ้นไป ทุกข์ทั้งสิ้นจึงจักเสื่อมไปโดยไม่เหลือ การล่วงทุกข์ย่อมมีได้ด้วยความหมดจด ที่ให้กิเลสเสื่อมไปโดยไม่เหลือ ซึ่งบุคคลจะพึงเห็นเองนี้ ด้วยประการฉะนี้ฯ....”

นิคัณฐสูตร


🔆 ธาต ๔ เปลี่ยนสภาพได้
ปัญหา ในทางวิทยาศาสตร์ คำว่าธาตุ (Element) หมายถึง ปรมาณูซึ่งมีจำนวนอิเล็กตรอนและโปรตอนจำกัด เช่น ธาตุไฮโครเจนมีอิเล็กตรอนและโปรตอนอย่างละหนึ่ง ถ้าเราเปลี่ยนให้มันมีอิเล็กตรอน ๒ และโปรตอน ๒ มันจะกลายเป็น ธาตุฮีเลียม (Helium) ไป ไม่ใช่ไฮโครเจนฉะนั้นธาตุในทางวิทยาศาสตร์ อาจจะเปลี่ยนเป็นธาตุอื่นๆ ได้ ธาตุในทางพระพุทธศาสนาเปลี่ยนได้หรือไม่ ?

พุทธดำรัสตอบ “..... ดูก่อนอานนท์ มหาภูติ ๔ (หมายถึงธาตุใหญ่ทั้ง ๔) คือ ปฐวีธาตุ (ธาตุดิน) อาโปธาตุ (ธาตุน้ำ) เตโชธาตุ (ธาตุไฟ) วาโยธาตุ (ธาตุลม) พึงเป็นอย่างอื่นได้ แต่พระอริยสาวกผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอย่างมั่นคงไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า... ในพระธรรม... ในพระสงฆ์ ไม่พึงเป็นอย่างอื่นไปได้เลย....”

สมาทปกสูตร


🔆 เหตุให้เกิดในภพ
ปัญหา อะไรเป็นเหตุให้สัตว์เกิดในภพทั้ง ๓ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ?

พุทธดำรัสตอบ “..... ดูก่อนอานนท์ เมื่อกรรมที่อำนวยผลให้ในกามธาตุ.... ในรูปธาตุ.... ในอรูปธาตุจักไม่มีแล้ว กามภพ... รูปภพ.... อรูปภพ พึงปรากฏบ้างหรือหนอ (เมื่อพระอานนท์ทูลตอบว่า ไม่พึงปรากฏเลย ได้ตรัสต่อไปว่า) ดูก่อนอานนท์ เหตุนี้แล กรรมจึงชื่อว่าเป็นไร่นา วิญญาณชื่อว่าเป็นพืช ตัณหาชื่อว่าเป็นยางเหนียว วิญญาณ.... เจตนา ความปรารถนาประดิษฐานแล้วเพราะธาตุอย่างเลว... อย่างกลาง... อย่างประณีต... ของสัตว์พวกที่มีอวิชชาเป็นเครื่องสกัดกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกใจ ด้วยประการฉะนี้ จึงมีการเกิดใหม่ในภพต่อไปอีก.

นวสูตร


🔆 คุณของโลก
ปัญหา มีคนกล่าวว่า พระพุทธศาสนาเป็นลัทธิเทวนิยม มองโลกแต่ในแง่ร้าย มองเห็นแต่ความทุกข์โศกของโลก มีความจริงเพียงใด?

พุทธดำรัสตอบ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าคุณในในโลกนี้จักไม่มีไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็ไม่พึงกำหนัดยินดีในโลก แต่เพราะคุณในโลกมีอยู่ ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายจึงกำหนัดยินดีในโลก "

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าโทษในโลกนี้ไม่มีไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็ไม่พึงเบื่อหน่ายในโลก แต่เพราะโทษในโลกมีอยู่ ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายจึงเบื่อหน่ายในโลก"

อัสสาทสูตร


🔆 ดาราศาสตร์ในพุทธศาสนา
ปัญหา พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงทรรศนะเกี่ยวกับโลกจักรวาลไว้อย่างไรบ้าง ?

พุทธดำรัสตอบ ดูกรอานนท์ จักรวาลหนึ่งมีกำหนดเท่ากับโอกาสที่พระจันทร์พระอาทิตย์โคจร ทั่วทิศสว่างไสวรุ่งโรจน์ โลกมีอยู่พันจักรวาลก่อน ในโลกพันจักรวาลนั้น มีพระจันทร์พันดวง มีอาทิตย์พันดวง มีขุนเขาสิเนรุพันหนึ่ง มีชมพูทวีปพันหนึ่ง มีอปรโคยานทวีปพันหนึ่ง มีอุตตรกุรุทวีปพันหนึ่ง มีปุพพวิเทหทวีปพันหนึ่ง มีมหาสมุทรสี่พัน มีท้าวมหาราชสี่พัน มีเทวโลกชั้นจาตุมหาราชิกาพันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นดาวดึงส์พันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นยามาพันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นดุสิตพันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นนิมมานรดีพันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นปรนิมมิตวสวัสตีพันหนึ่ง มีพรหมโลกพันหนึ่ง ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าโลกธาตุอย่างเล็กมีพันจักรวาล โลก คูณโดยส่วนพันแห่งโลกธาตุอย่างเล็ก ซึ่งมีพันจักรวาลนั้น นี้เรียกว่าโลกธาตุอย่างกลางมีล้านจักรวาล โลกคูณโดยส่วนพันแห่งโลกธาตุ อย่างกลางมีล้านจักรวาลนั้น นี้เรียกว่าโลกธาตุอย่างใหญ่ประมาณแสนโกฏิจักรวาล ดูกรอานนท์

ตถาคตมุ่งหมายอยู่ พึงทำโลกธาตุอย่างใหญ่ประมาณแสนโกฏิจักรวาลให้รู้แจ้งได้ด้วยเสียง หรือทำให้รู้แจ้งได้เท่าที่มุ่งหมาย ฯ

พระอานนท์ : ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระผู้มีพระภาคพึงทำโลกธาตุอย่างใหญ่ประมาณแสนโกฏิจักรวาล ให้รู้แจ้งด้วยพระสุรเสียง หรือทำให้รู้แจ้งได้เท่าที่พระองค์ทรงมุ่งหมายอย่างไร ฯ

พุทธดำรัสตอบ  ดูกรอานนท์ พระตถาคตในโลกนี้ พึงแผ่รัศมีไปทั่วโลกธาตุอย่างใหญ่ประมาณแสนโกฏิจักรวาล เมื่อใด หมู่สัตว์พึงจำแสงสว่างนั้นได้ เมื่อนั้นพระตถาคตพึงเปล่งพระสุรเสียงให้สัตว์เหล่านั้นได้ยิน พระตถาคตพึงทำให้โลกธาตุ อย่างใหญ่ประมาณแสนโกฏิจักรวาลให้รู้แจ้งได้ด้วยพระสุรเสียง หรือพึงทำให้รู้แจ้งได้เท่าที่พระองค์ทรงมุ่งหมาย ด้วยอาการเช่นนี้แล ฯ

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ ได้กราบทูลว่า เป็นลาภของข้าพระองค์หนอ ข้าพระองค์ได้ดีแล้วหนอที่ข้าพระองค์มีพระศาสดาผู้มีฤทธิ์มีอานุภาพมากอย่างนี้ เมื่อท่านพระอานนท์กราบทูลอย่างนี้แล้ว ท่านพระอุทายีได้กล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า

พระอุทายี : ดูกรอานนท์ ในข้อนี้ท่านจะได้ประโยชน์อะไร ถ้าศาสดาของท่านมีฤทธิ์ มีอานุภาพมากอย่างนี้

เมื่อท่านพระอุทายีกล่าวอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระอุทายีว่า ดูกรอุทายี เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้ ถ้าอานนท์ยังไม่หมดราคะเช่นนี้ พึงทำกาละไป เธอพึงเป็นเจ้าแห่งเทวดาในหมู่เทวดา ๗ ครั้ง พึงเป็นเจ้าจักรพรรดิในชมพูทวีปนี้แหละ ๗ ครั้ง เพราะจิตที่เลื่อมใสนั้น ดูกรอุทายี ก็แต่ว่าอานนท์จักปรินิพพานในอัตภาพนี้เอง ฯ

จูฬนีสูตร


🔆 ข้อปฏิบัติของภิกษุอย่างแท้จริง
ปัญหา พระภิกษุในพระพุทธศาสนาควรจะศึกษาและปฏิบัติอะไร จึงจะชื่อว่าปฏิบัติถูกต้องแท้ตามพระพุทธโอวาท ?

พุทธดำรัสตอบ “..... ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ลาติดตามไปเบื้องหลังฝูงโค มันร้องว่าแม้เราก็เป็นโค แต่สี เสียง และรอยเท้าของมันหาเหมือนของโคไม่ มันเป็นแต่เดินตามหลังฝูงโคร้องว่า แม้เราก็เป็นโคๆ ดังนี้เท่านั้น แม้ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ฉันนั้นเหมือนกันแล ติดตามไปเบื้องหลังภิกษุสงฆ์ ร้องประกาศว่า แม้เราก็เป็นภิกษุๆ แต่ความพอใจในการสมาทานอธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขาของเขา หากเหมือนของภิกษุทั้งหลายไม่ เขาเป็นแต่ติดตามไปเบื้องหลังภิกษุสงฆ์ร้องประกาศว่าแม้เราก็เป็นภิกษุ ๆ ดังนี้เท่านั้น เพราะฉะนั้นแหละ ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายพึงศึกษาว่า เราจักมีความพอใจอย่างแรงกล้าในการสมาทาน อธิศีลสิกขา.... อธิจิตตสิกขา... อธิปัญญาสิกขา... ท่านทั้งหลายพึงศึกษาเช่นนี้แหละฯ”

คัทรภสูตร


🔆 หัวใจศีลของพระ (๑๕๐)
ปัญหา ศีลของภิกษุมี ๒๒๗ ข้อ ถ้าภิกษุล่วงละเมิดสิกขาบทเล็กน้อยบ้าง จะเป็นอันตรายแก่มรรคผลหรือไม่?

พุทธดำรัสตอบ “..... ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิกขาบท ๑๕๐ ถ้วนนี้มาสู่อุเทศทุกกึ่งเดือน (มีการสวดท่ามกลางสงฆ์ทุกกึ่งเดือน) ซึ่งกุลบุตรทั้งหลายผู้ปรารถนาประโยชน์ศึกษากันอยู่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิกขา ๓ นี้ ที่สิกขาบท ๑๕๐ นั้นรวมอยู่ด้วยทั้งหมด สิกขา ๓ นั้นเป็นไฉน คืออธิศีลสิกขา ๑ อธิจิตสิกขา ๑ อธิปัญญสิกขา ๑ สิกขา ๓ นี้แล ที่สิกขาทบ ๑๕๐ นั้นรวมอยู่ด้วยทั้งหมด..... ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล ทำพอประมาณในสมาธิ ทำพอประมาณในปัญญา เธอย่อมล่วงสิกขาบทเล็กน้อยบ้าง ย่อมออกจากอาบัติบ้าง ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะไม่มีใครกล่าวความเป็นคนอาภัพเพราะล่วงสิกขาบทนี้ แต่ว่าสิขาบทเหล่าใด เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์สมควรแก่พรหมจรรย์ เธอเป็นผู้มีศีลยั่งยืน และเป็นผู้มีศีลมั่นคงในสิกขาบทเหล่านั้น สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย เธอเป็นพระโสดาบัน... เป็นพระสกทาคามี... เป็นพระอนาคามี.... เธอทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุตติอันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน.... ภิกษุทำได้เพียงบางส่วน ย่อมให้สำเร็จบางส่วนผู้ทำให้บริบูรณ์ ย่อมให้สำเร็จได้บริบูรณ์อย่างนี้แล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวสิกขาบททั้งหลายว่าไม่เป็นหมันเลยฯ”

เลขสูตรที่ ๒


🔆 โลกก็มีคุณเหมือนกัน

ปัญหา มีบางคนกล่าวว่า พระพุทธศาสนามองโลกในแง่ร้ายประฌามโลก สอนให้หนีจากโลกดังนี้ เป็นความจริงหรือไม่เพียงใด โลกมีส่วนดีอยู่หรือไม่ ?

พุทธดำรัสตอบ “..... ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อก่อนตรัสรู้เราเป็นพระโพธิสัตว์ได้คิดว่าในโลกนี้อะไรหนอเป็นคุณ อะไรหนอเป็นโทษ อะไรหนอเป็นอุบายเครื่องออกไป.... เรานั้นได้คิดว่า สุขโสมนัสอาศัยสภาพใดเกิดขึ้นในโลก สภาพนี้เป็นคุณในโลก โลกไมเที่ยงเป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดานี้เป็นโทษในโลก การปราบปรามฉันทราคะ การละฉันทราคะในโลกได้เด็ดขาด นี้เป็นอุบายเครื่องออกไปในโลก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่รู้ยิ่งซึ่งคุณของโลกโดยเป็นคุณ ซึ่งโทษของโลกโดยความเป็นโทษ และซึ่งอุบายเป็นเครื่องออกไปของโลกโดยความเป็นอุบายเครื่องออกไปตามความจริงเพียงใด เราก็ยังไม่ปฏิญาณตนว่า เป็นผู้ตรัสรู้ ซึ่งอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดา และมนุษย์เพียงนั้น...ฯ”

ปุพพสูตร


🔆 ภิกษุควรหัวเราะหรือไม่
ปัญหา ได้ทราบมาว่า พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ไม่มีการหัวเราะมีแต่ยิ้มแย้มเท่านั้น พระภิกษุควรจะหัวเราะหรือไม่?

พุทธดำรัสตอบ “..... ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การขับร้องคือ การร้องไห้ในวินัยของพระอริยเจ้า การฟ้อนรำคือ ความเป็นบ้าในวินัยของพระอริยเจ้าการหัวเราะจนเห็นฟันพร่ำเพรื่อ คือความเป็นเด็กในวินัยของพระอริยเจ้า เพราะเหตุนั้น และ จงละเสียโดยเด็ดขาดในการขับร้องฟ้อนรำ เมื่อท่านทั้งหลายเบิกบานในธรรม ก็ควรแต่เพียงยิ้มแย้ม”

โรณสูตร


🔆 ของที่กินไม่รู้จักอิ่ม
ปัญหา ของอะไรบ้าง ที่มนุษย์เสพแล้วไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอ ?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความอิ่มในการเสพสิ่ง ๓ อย่าง ไม่มี ๓ อย่างเป็นไฉน คือในการเสพความหลับ ๑ ในการดื่มสุราและเมรัย ๑ ในการเสพเมถุนธรรม ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความอิ่มในการเสพสิ่ง ๓ อย่างนี้แล ไม่มี ฯ”

อติตตสูตร


🔆 ความสำคัญของจิต
ปัญหา พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาหนึ่ง ที่ถือว่าจิตใจเป็นสิ่งสำคัญ พระพุทธองค์ทรงสอนเกี่ยวกับการรักษาจิตไว้อย่างไรบ้าง?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนคฤหบดี เมื่อบุคคลรักษาจิตไว้ แม้กายกรรมก็เป็นอันรักษา แม้วจีกรรม... มนโนกรรมก็เป็นอันรักษา เมื่อเขารักษากายกรรม วจีกรรม.... มโนกรรม แม้กายกรรมก็เป็นอันไม่ชุ่ม แม้วจีกรรม.... มโนกรรม... ก็เป็นอันไม่ชุ่ม เมื่อเขามี กายกรรม..... วจีกรรม.... มโนกรรม..... ไม่ชุ่ม แม้กายกรรมก็เป็นอันไม่เสีย แม้วจีกรรม.... มโนกรรมก็เป็นอันไม่เสีย เมื่อเขามีกายกรรม วจีกรรม.... มโนกรรม ไม่เสีย ความตายก็เป็นการตายดี การทำกาละก็งาม ดูก่อนคฤหบดีเปรียบเหมือนเมื่อเรือนซึ่งมุงไว้เรียบร้อย แม้ยอดเรือนก็เป็นอันรักษา แม้ไม้กลอนฝาเรือน.... ก็เป็นอันรักษา แม้ยอดเรือนก็ไม่ถูกฝนรั่วรด แม้ไม้กลอน ฝาเรือนก็ไม่ถูกฝนรั่วรด แม้ยอดเรือนก็เป็นของไม่ผุ แม้ไม้กลอน ฝาเรือนก็เป็นของไม่ผุ....ฯ”

กูฏสูตร ที่ ๑


🔆 ความเห็นผิดคืออย่างไร
ปัญหา ข้อที่ว่าโลภและโกรธเป็นมูลเหตุให้เกิดอกุศลกรรมนั้น พอจะเข้าใจแล้ว แต่ข้อที่ว่าโมหะอันเป็นเหตุให้เกิดมิจฉาทิฐิความเห็นผิดนั้นคือเห็นอย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ “..... ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นมิจฉาทิฐิมีความเห็นวิปริตว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล ยัญที่บูชาแล้วไม่มีผล การเช่นสรวงไม่มีผล ผลวิบากของกรรมที่บุคคลทำดีทำชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี สัตว์พวกที่เกิดผุดขึ้นไม่มี สมณะพราหมณ์ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว สอนหมู่สัตว์ให้รู้ตามไม่มีในโลก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าทิฐิวิบัติ.... เพราะทิฐิวิบัติเป็นเหตุ สัตว์ทั้งหลายเมื่อกายแตกตายไป ย่อมเข้าถึงอบายทุคติ วินิบาต นรก.....ฯ”

อยสูตร


🔆 ฤกษ์ยามในพระพุทธศาสนา
ปัญหา ทางพระพุทธศาสนามีการสอนให้ถือฤกษ์ถือยามในการทำงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือไม่ ?

พุทธดำรัสตอบ “.....สัตว์ทั้งหลายประพฤติชอบในเวลาใด เวลานั้นชื่อว่าเป็นฤกษ์ดี มงคลดี สว่างดี รุ่งดี ขณะดี ยามดี.... ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกาย.... ด้วยวาจา.... ด้วยใจในเวลาเช้า เวลาเช้าก็เป็นเวลาเช้าที่ดีของสัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกาย.... ด้วยวาจา.... ด้วยใจในเวลาเที่ยง เวลาเที่ยงก็เป็นเวลาเที่ยงที่ดีของสัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกาย..... ด้วยวาจา... ด้วยใจในเวลาเย็น เวลาเย็นก็เป็นเวลาเย็นที่ดีของสัตว์เหล่านั้น...”

สุปุพพัณหสูตร


🔆 ข้อปฏิบัติของอเจลกะ
ปัญหา พวกอเจลกะซึ่งเป็นนักบวชพวกหนึ่งในสมัยพุทธกาล มีหลักปฏิบัติอย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ “.....อเจลกะบางคนในโลกนี้เป็นผู้ไร้มารยาท เลียมือเขาเชิญให้มารับภิกษาก็ไม่มา เขาเชิญให้หยุดก็ไม่หยุด ไม่รับภิกษาที่เขาแบ่งไว้ก่อน ไม่รับภิกษาที่เขาทำเฉพาะ ไม่รับภิกษาที่เขานิมนต์ ไม่รับภิกษาปากหม้อ ไม่รับภิกษาจากหม้อข้าว ไม่รับภิกษาที่บุคคลยื่นคร่อมธรณีประตูนำมา ไม่รับภิกษาที่บุคคลยืนคร่อมท่อนไม้นำมา ไม่รับภิกษาที่บุคคลยืนคร่อมสากนำมา ไม่รับภิกษาที่คน ๒ คนบริโภคอยู่ ไม่รับภิกษาของหญิงมีครรภ์ ไม่รับภิกษาของหญิงที่นัดแนะกันทำไว้ ไม่รับภิกษาในที่ที่สุนัขได้รับการเลี้ยงดู ไม่รับภิกษาในที่มีแมลงวันตอมเป็นกลุ่ม ไม่กินเนื้อ ไม่กินปลา ไม่ดื่มสุรา ไม่ดื่มเมรัย ไม่ดื่มยาดอง รับภิกษาที่เรือนหลังเดียว เยียวยาอัตตภาพด้วยข้าวคำเดียวบ้าง..... รับภิกษาที่เรือน ๗ หลัง เยียวยาอัตตภาพด้วยข้าว ๗ คำบ้าง เยียวยาอัตตภาพด้วยภิกษาในถาดน้อยใบเดียวบ้าง... ๗ ใบบ้าง กินอาหารที่เก็บค้างไว้วันเดียวบ้าง... ๒ วันบ้าง... ๗ วันบ้าง ประกอบความขวนขวายในการบริโภคภัตที่เวียนมาถึงตั้งกึ่งเดือนเช่นนี้บ้าง

อเจลกะนั้นเป็นผู้มีผักดองเป็นภักษาบ้าง มีข้าวฟ่าง... ลูกเดือย.... กากข้าว... ยาง... สาหร่าย.... ข้าวตัว.... กำยาน หญ้า.... โคมัยเป็นภักษาบ้าง มีเหง้าและผลไม้ในป่าเป็นอาหรบ้าง บริโภคผลไม่หล่นเยียวยาอัตตภาพอเจลกะนั้น ทรงผ้าป่านบ้าง ผ้าแกมกัน.... ผ้าห่อศพ ผ้าบังสุกุล... ผ้าเปลือกไม้... หนังเสือ... หนังเสือทั้งเล็บ ผ้าคากรอง.... ผ้าเปลือกปอกรอง... ผ้าผลไม้กรอง... ผ้ากัมพลทำด้วยผมคน.... ผ้ากัมพลทำด้วยขนสัตว์... ผ้าทำด้วยปีกขนนกเค้าบ้าง เป็นผู้ถอนผมและหนวด เป็นผู้ยืนคือห้ามอาสนะบ้าง... เป็นผู้กระโหย่ง คือประกอบความเพียรในการกระโหย่งบ้าง เป็นผู้นอนบนหนาม.... เป็นผู้อาบน้ำวันละ ๓ ครั้งบ้าง... เป็นผู้ขวนขวายในการทำให้ร่างกายเดือดร้อน กระสับกระส่ายหลายวิธีดังกล่าว....ฯ”

ติ. อํ. (๕๙๖)


🔆 ความรักทำให้คนตาบอด
ปัญหา มีคำพังเพยกล่าวไว้ว่า คามรักทำให้คนตาบอด ดังนี้ทางพระพุทธศาสนายอมรับคำกล่าวนี้ว่า เป็นความจริงหรือไม่เพียงใด?

พุทธดำรัสตอบ “.....บุคคลผู้กำหนัด อันความกำหนัดครอบงำรึงรัดจิตใจไว้ ย่อมรู้แม้ซึ่งประโยชน์ตน ตามความเป็นจริง ย่อมรู้แม้ซึ่งประโยชน์ผู้อื่น ตามความเป็นจริงย่อมไม่รู้แม้ซึ่งประโยชน์ตน และประโยชน์ผู้อื่น ทั้ง ๒ ฝ่ายตามความเป็นจริง.... ความกำหนัดแล ทำให้เป็นคนมืด ทำให้เป็นคนไร้จักษุ ทำให้ไม่รู้อะไร ทำให้ปัญญาดับ เป็นไปในฝ่ายความคับแค้นไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน.....ฯ”

ฉันนสูตร


🔆 พระพุทธศาสนาก็ส่งเสริมทรัพย์
ปัญหา มีบางคนกล่าวว่า พระพุทธศาสนาสอนจะให้คนออกจากโลกท่าเดียว ไม่ส่งเสริมการมีโภคทรัพย์ จริงหรือไม่?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลสองตาเป็นไฉน บุคลบางคนในโลกนี้ มีนัยน์ตาเป็นเหตุได้โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้ ทำโภคทรัพย์ที่ได้แล้วให้ทวีมากขึ้น ทั้งมีนัยน์ตาเป็นเครื่องรู้ธรรมทั้งที่เป็นกุศล และอกุศล รู้ธรรมที่มีโทษและไม่มีโทษ รู้ธรรมที่เลวและประณีต รู้ธรรมที่มีส่วนเปรียบด้วยธรรมฝ่ายดำและฝ่ายขาว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าคนสองตา.....”

อันธสูตร


🔆 ปฏิจจสมุปบาทและอริยสัจ
ปัญหา ปฏิจจสมุปบาทและอริยสัจ ๔ มีความสัมพัน์กันอย่างไรหรือไม่ ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะถือมั่นธาตุ ๖ ปถวี อาโป เตโช วาโย อากาศ วิญญาณ สัตว์จึงลงสู่ครรภ์ เมื่อมีการลงสู่ครรภ์ ถึงมีนามรูป เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงมีเวทนา เราบัญญัติว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้ทุกข์เกิด นี้ความดับทุกข์ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ แก่บุคคลผู้เสวยเวทนาอยู่

“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทุกขอริยสัจเป็นไฉน คือ แม้ชาติก็เป็นทุกข์ แม้ชรา... มรณะ... โสกะ.... ปริเทวะทุกข์... โทมนัส... อุปายาส... การประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก...การพลัดพรากจากสิ่งที่รัก.... ความปรารถนาสิ่งใดมิได้สมหวัง... ก็เป็นทุกข์ โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์

“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทุกขสมุทัยอริยสัจเป็นไฉน คือ

เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงมีวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยจึงมีนามรูป เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงมีสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัยจึงมีผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัยจึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงมีชรา มรณะ..... โสกะ.... ปริเทวะทุกข์... โทมนัส... อุปายาส...

“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาเป็นไฉน อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ ความเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจชอบ”

ติตถสูตร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น