วันพฤหัสบดี

พระพุทธดำรัส (๑๓)

 🙏 พระพุทธดำรัส 🙏

🔅 พุทธทำนายเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา
ปัญหา ความเจริญหรือเสื่อมแห่งพระพุทธศาสนาท่านว่า ย่อมขึ้นอยู่กับการประพฤติปฏิบัติของพุทธบริษัททั้ง ๔ เฉพาะอย่างยิ่งภิกษุบริษัทซึ่งเป็นผู้สืบต่ออายุพระพุทธศาสนา ภิกษุประพฤติปฏิบัติอย่างไรจะชื่อว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนา ?

พุทธดำรัสตอบ “......ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอนาคตภิกษุทั้งหลายจักเป็นผู้ชอบจีวรดีงาม เมื่อชอบจีวรดีงาม ก็จักละความเป็นผู้ถือทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร จักละเสนาสนะอันสงัดคือป่า และป่าชัฏ จะประชุมกันอยู่ที่บ้าน นิคมและราชธานี และจักถึงการแสวงหาไม่สมควร อันไม่เหมาะสมต่าง ๆ เพราะเหตุจีวร....

“อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายจักเป็นผู้ชอบบิณฑบาตที่ดีงาม..... จักละความเป็นผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร..... จักประชุมกันอยู่ที่บ้าน นิคมและราชธานี แสวงหาบิณฑบาตที่มีรสเลิศด้วยปลายลิ้น แลจักถึงการแสวงหาอันไม่สมควร ไม่เหมาะสมต่างๆ เพราะเหตุแห่งบิณฑบาต....

“อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายจักเป็นผู้ชอบเสนาสนะที่ดีงาม..... จักละความเป็นผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร..... จักประชุมกันอยู่ที่บ้าน นิคมและราชธานี แลจักถึงการแสวงหาอันไม่สมควร ไม่เหมาะสมต่าง ๆ เพราะเหตุแห่งเสนาสนะ....

“อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายจักเป็นผู้คลุกคลีด้วยภิกษุณีนางสิกขมานา แลสมณุทเทส เมื่อมีการคลุกคลี... พึงหวังข้อนี้ได้ว่า เธอเหล่านั้นจักเป็นผู้ไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ จักต้องอาบัติเศร้าหมองบางอย่าง หรือจักบอกคืนสิกขา เวียนมาเพื่อเป็นคฤหัสถ์

“อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายจักเป็นผู้คลุกคลีด้วยอารามิกบุรุษ แลสมณุทเทส เมื่อมีการคลุกคลี... พึงหวังข้อนี้ได้ว่า เธอเหล่านั้นจักเป็นผู้ประกอบการบริโภคของที่สะสมไว้มีประการต่าง ๆ จักกระทำนิมิตแม้อย่างหยาบที่แผ่นดินบ้าง ที่ปลายของเขียวบ้าง

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภัยในอนาคต ๕ ประการนี้แล.... อันเธอทั้งหลายพึงรู้ไว้เฉพาะ ครั้นแล้วพึงพยายามเพื่อละภัยเหล่านั้นฯ”

อนาคตสูตร


🔅 ภัยของพระพุทธศาสนา
ปัญหา ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีภัย เมื่อภัยเกิดขึ้นย่อมทำลายสิ่งนั้น ๆ ให้เสียหายหรือพินาศ พระพุทธศาสนาก็น่าจะมีภัยเช่นเดียวกัน อยากทราบว่าภัยของพระพุทธศาสนามีอะไรบ้าง?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอนาคตภิกษุทั้งหลายจักไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา เมื่อไม่อบรมกาย... ศีล... จิต... ปัญญาจักให้อุปสมบทกุลบุตรเหล่าอื่น จักไม่สามารถแนะนำกุลบุตรแม้เหล่านั้นในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา แม้กุลบุตรเหล่านั้น ก็จักไม่อบรมกาย... ศีล... จิต... ปัญญา เมื่อไม่อบรมกาย... ศีล... จิต... ปัญญา ก็จักให้อุปสมบทกุลบุตรเหล่าอื่น จักไม่สามารถแนะนำกุลบุตร แม้เหล่านั้นในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา แม้กุลบุตรเหล่านั้น ก็จักไม่อบรมกาย... ศีล... จิต... ปัญญา เพราะเหตุนี้แล การลบล้างวินัยย่อมมีเพราะการลบล้างธรรม การลบล้างธรรมย่อมมีเพราะการลบล้างวินัย.....

“อีกประการหนึ่ง ในอนาคตภิกษุทั้งหลายจักไม่อบรมกาย....ศีล.... จิต.....ปัญญา.... จะให้นิสัยแก่กุลบุตรเหล่านั้น จักไม่สามารถแนะนำกุลบุตรแม้เหล่านั้นในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา แม้กุลบุตรเหล่านั้น ก็จักไม่อบรมกาย... ศีล... จิต... ปัญญา เพราะเหตุนี้แล การลบล้างวินัยย่อมมีเพราะการลบล้างวินัย ย่อมมีเพราะการลบล้างธรรม การลบล้างธรรมย่อมมีเพราะการลบล้างวินัย.....

“อีกประการหนึ่ง ในอนาคตภิกษุทั้งหลายจักไม่อบรมกาย....ศีล.... จิต.....ปัญญา.... เมื่อแสดงอภิธรรมกถา เวทัลลกถา หยั่งลงสู่ธรรมที่ผิด ก็จักไม่รู้สึก เพราะเหตุนี้แล การลบล้างธรรมย่อมมีเพราะการลบล้างวินัย การลบล้างวินัยย่อมมีเพราะการลบล้างธรรม.....

“อีกประการหนึ่ง ในอนาคตภิกษุทั้งหลายจักไม่อบรมกาย....ศีล.... จิต.....ปัญญา.... พระสูตรต่างๆ ที่ตถาคตได้ภาษิตไว้ เป็นสูตรลึกซึ้ง เป็นโลกุตตระ ประกอบด้วยสุญญตาธรรม พระสูตรเหล่านั้นอันบุคคลแสดงอยู่ก็จักไม่ฟังด้วยดี.... จักไม่เงี่ยโสตลงสดับ จักไม่ตั้งจิตเพื่อรู้ จักไม่ใฝ่ใจในธรรมเหล่านั้น ว่าควรศึกษาเล่าเรียน แต่ว่าสูตรต่างๆ ที่นักกวีแต่งไว้ ประพันธ์เป็นบทว่า มีอักษรสละสลวย มีพยัญชนะสละสลวย เป็นพาหิรกถา เป็นสาวกภาษิต เมื่อสูตรเหล่านั้นอันบุคคลแสดงอยู่ จักฟังด้วยดี... เพราะเหตุนี้แล การลบล้างวินัยย่อมมีเพราะการลบล้างธรรม การลบล้างธรรมย่อมมีเพราะการลบล้างวินัย.....

“อีกประการหนึ่ง ในอนาคตภิกษุทั้งหลายจักไม่อบรมกาย....ศีล.... จิต.....ปัญญา.... ภิกษุผู้เถระจักเป็นผู้มักมาก มีความประพฤติย่อหย่อนเป็นหัวหน้าในความล่วงละเมิด ทอดธุระในความสงัด จักไม่ปรารภความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง.... ประชุมชนรุ่นหลังก็จักถือเอาภิกษุเหล่านั้นเป็นตัวอย่าง แม้ประชุมชนนั้นก็จะเป็นผู้มักมาก..... เพราะเหตุนี้แล การลบล้างวินัยย่อมมีเพราะการลบล้างธรรม การลบล้างธรรมย่อมมีเพราะการลบล้างวินัย.....

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภัยในอนาคต ๕ ประการนี้แล.... อันเธอทั้งหลายถึงรู้ไว้เฉพาะ ครั้นแล้วพึงพยายามเพื่อละภัยเหล่านั้น”

อนาคตสูตร ที่ ๓


🔅 ทางสู่ความดับทุกข์
ปัญหา ก็เมื่อภิกษุเป็นผู้อยู่ในธรรม แล้ว จะพึงปฏิบัติโดยลำดับขั้นอย่างไร จึงจะบรรลุถึงความดับทุกข์?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมเสพเสนาสนะอัน สงัด คือโคนไม้ ภูเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฝาง เธออยู่ในป่าโคนไม้หรือเรือนว่าง ย่อมนั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอย่อมละอภิชฌา (ความเพ่งเล็งอยากได้) ในโลกเสีย.... เธอย่อมละความคิดประทุษร้ายคือพยาบาท....เธอย่อมละถีนมิทธะ (ความง่วงเหง่าหาวนอน) เสีย...เป็นผู้มีอาโลกสัญญา มีสติสัมปชัญญะ.... เธอย่อมลุอุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านรำคาญ) มีจิตไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบ ณ ภายใน.... เธอย่อมละวิจิกิจฉา หมดความสงสัยในธรรมทั้งหลาย.... เธอละนิวรณ์ ๕ ประการนี้ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งใจ ซึ่งทำปัญญาให้อ่อนกำลัง แล้วบรรลุ ปฐมฌาน..... ทุติยฌาน.... ตติยฌาน... จตุตถฌาน.... เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้วไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส เป็นจิตอ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวแล้วอย่างนี้ เธอย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยฌาณ (ความรู้ที่ทำอาสวะให้สิ้น) เธอย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาเหล่านี้อาสวะ เหล่านี้เหตุเกิดอาสวะ นี้ความดับอาสวะ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ เมื่อเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตของเธอย่อมหลุดพ้น แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีฌานหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก นี้ชื่อว่าชัยชนะ ในสงครามของเธอ...ฯ”

โยธาชีวสูตร ที่ ๑


🔅 ทำอย่างไรจึงจะถูกพุทธประสงค์
ปัญหา ภิกษุที่บวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ควรจะปฏิบัติตนอย่างไร หรือไม่ควรจะปฏิบัติอย่างไร จึงจะชื่อว่าเป็นผู้ อยู่ในธรรม อย่างแท้จริง หรือว่าจะปฏิบัติกิจเบื้องต้นอย่างไร จึงจะถูกต้องพระพุทธประสงค์ ?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณ์ คาถา อุทาน อติวุตตกะ ชาดก อัพภูธรรม เวทัลละ เธอย่อมปล่อยให้วันคืนล่วงไป ละการหลีกออกเร้นอยู่ไม่ประกอบความสงบใจในภายใน เพราะการเรียนธรรมนั้น ภิกษุนี้เรียกว่าเป็นผู้มากด้วยการเรียน ไม่ชื่อว่าเป็นผู้อยู่ในธรรม

“อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมแสดงธรรมตามที่ได้สดับมาแล้ว ตามที่ได้เรียนมาแล้ว โดยพิสดาร เธอย่อมปล่อยให้วันคืนล่วงไป... ไม่ประกอบความสงบใจในภายใน.... ภิกษุนี้เรียกว่าเป็นผู้มากด้วยการแสดงธรรม ไม่ชื่อว่าเป็นผู้อยู่ในธรรม

“อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมทำการสาธยายธรรมตามที่ได้สดับมาแล้ว ตามที่ได้เรียนมาแล้ว โดยพิสดาร เธอย่อมปล่อยให้วันคืนล่วงไป... ไม่ประกอบความสงบใจในภายใน.... ภิกษุนี้เรียกว่าเป็นผู้มากด้วยการสาธยายธรรม ไม่ชื่อว่าเป็นผู้อยู่ในธรรม

“อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมตรึกตาม ตรองตาม เพ่งตามด้วยใจซึ่งธรรมตามที่ได้สดับมาแล้ว ตามที่ได้เรียนมาแล้ว เธอย่อมปล่อยให้วันคืนล่วงไป... ไม่ประกอบความสงบใจในภายใน.... ภิกษุนี้เรียกว่าเป็นผู้มากด้วยการตรึกตรองธรรม ไม่ชื่อว่าเป็นผู้อยู่ในธรรม

“อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมเล่มเรียนธรรม คือ สุตตะ... เวทัลละ เธอย่อมปล่อยให้วันคืนล่วงไป... ไม่ละการหลีกออกเร้นอยู่ ประกอบความสงบใจในภายใน.... เพราะการเล่าเรียนธรรมนั้น ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้อยู่ในธรรมอย่างนี้แล.....

“ดูก่อนภิกษุ นั่นโคนต้นไม้ นั่นเรือนว่าง เธอจงเพ่งฌานอย่าประมาท อย่าเป็นผู้มีความเดือดร้อนในภายหลัง นี้เป็นอนุสาสนีของเราเพื่อเธอทั้งหลายฯ”

ธรรมวิหาริกสูตร ที่ ๑


🔅 ทำไมคนจึงต้องคิดถึงความตาย
ปัญหา ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นเรื่องของความเศร้า ความทุกข์ คนไม่ชอบ ไม่อยากประสบ แม้แต่คิดถึงก็ไม่อยากคิด แต่เหตุไฉนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้พุทธบริษัทพิจารณาธรรมชาติเหล่านี้เสมอ ๆ?

พุทธดำรัสตอบ “......ความมัวเมาในความเป็นหนุ่มสาว มีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายประพฤติทุจริตด้วย กาย วาจา ใจ เมื่อเขาพิจารณาฐานะนั้น (ว่าเรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้) อยู่เนืองๆ ย่อมละความมัวเมาในความเป็นหนุ่มสาวนั้นได้โดยสิ้นเชิง หรือทำให้เบาบางลงได้

“......ความมัวเมาในความไม่มีโรค มีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายประพฤติทุจริตด้วย กาย วาจา ใจ เมื่อเขาพิจารณาฐานะนั้น (ว่าเรามีความเจ็บเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไปได้) อยู่เนืองๆ ย่อมละความมัวเมาในความไม่มีโรคนั้นได้โดยสิ้นเชิง หรือทำให้เบาบางลงได้

“......ความมัวเมาในชีวิตมีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายประพฤติทุจริตด้วย กาย วาจา ใจ เมื่อเขาพิจารณาฐานะนั้น (ว่าเรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้) อยู่เนืองๆ ย่อมละความมัวเมาในชีวิตนั้นได้โดยสิ้นเชิง หรือทำให้เบาบางลงได้”

ฐานสูตร


🔅 วิธีงดเว้นความชั่ว
ปัญหา คนย่อมทำความชั่วทาง กาย วาจา ใจ ด้วยเหตุต่างๆ กัน ทำเพราะความจำเป็นก็มี ทำเพราะสันดานชั่วก็มี ทำเพราะความโง่เขลาก็มี ทำเพราะความเห็นผิดเป็นชอบก็มี จะทำอย่างไร จึงจะให้คนละการทำความชั่วได้ ?

พุทธดำรัสตอบ “......สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิต ควรพิจารณาเนือง ๆ ว่าเรามีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง จักทำกรรมใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต มีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลาย เมื่อเขาพิจารณาฐานะนั้นอยู่เนือง ๆ ย่อมละทุจริตได้โดยสิ้นเชิง หรือทำให้เบาบางลงได้”

ฐานสูตร


🔅 ควรบวชเมื่อหนุ่มหรือเมื่อแก่
ปัญหา การบวชในเมื่อยังหนุ่มแน่น กับบวชเมื่อแก่ อย่างไหนจะดีกว่ากัน ?

พุทธดำรัสตอบ “......ภิกษุบวชเมื่อแก่ เป็นคนละเอียดหาได้ยาก เป็นผู้มีมารยาทสมบูรณ์หาได้ยาก เป็นพหูสูตรหาได้ยาก เป็นธัมมกถึกหาได้ยาก เป็นวินัยธรหาได้ยาก... เป็นผู้ว่าง่ายหาได้ยาก เป็นผู้คงแก่เรียนหาได้ยาก เป็นผู้รับโอวาทด้วยความเคารพหาได้ยาก....”

ทุลลภสูตร ๑-๒


🔅 ประโยชน์ของการเดินจงกรม
ปัญหา วิธีการบำเพ็ญสมถกรรมฐาน เพื่อทำจิตให้สงบระงับนั้น มีอยู่หลายวิธี การเดินจงกรมก็เป็นวิธีหนึ่ง อยากทราบว่าพระพุทธองค์ทรงเห็นประโยชน์อย่างไร จึงทรงแนะนำให้ภิกษุเดินจงกรม?

พุทธดำรัสตอบ “......ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ในการเดินจงกรมมี ๕ ประการ ๕ ประการเป็นไฉน คือ

ภิกษุผู้เดินจงกรมย่อมเป็นผู้อดทนต่อการเดินทางไกล ๑
ย่อมเป็นผู้อดทนต่อการบำเพ็ญเพียร ๑
ย่อมเป็นผู้มีอาพาธน้อย ๑
อาหารที่กิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้มแล้วย่อมย่อยไปโดยดี ๑
สมาธิที่ได้เพราะการเดินจงกรมย่อมตั้งอยู่ได้นาน ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ในการเดินจงกรมมี ๕ ประการฉะนี้แลฯ”

จังกมสูตร 


🔅 บางครั้งก็ควรงดการบำเพ็ญเพียร
ปัญหา ขึ้นชื่อว่าเป็นพระภิกษุแล้ว จะต้องบำเพ็ญเพียรเพื่อมรรคผลเรื่อยไป หรือว่ามีกาลสมัยพิเศษที่ภิกษุไม่ควรบำเพ็ญเพียร?

พุทธดำรัสตอบ “......ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยที่ควรบำเพ็ญเพียร ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นคนแก่ ถูกชราครอบงำ นี้เป็นสมัยที่ไม่ควรบำเพ็ญเพียรข้อที่หนึ่ง

“อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้อาพาธ ถูกพยาธิครอบงำ นี้เป็นสมัยที่ไม่ควรบำเพ็ญเพียรข้อที่สอง

“อีกประการหนึ่ง สมัยที่มีข้างแพง ข้าวเสียหาย มีบิณฑบาต หาได้ยาก ไม่สะดวกที่จะยังอัตตภาพให้เป็นไปด้วยการแสวงหาบิณฑบาต นี้เป็นสมัยที่ไม่ควรบำเพ็ญเพียรข้อที่สาม

“อีกประการหนึ่ง สมัยมีภัย มีความกำเริบในป่าดง ชาวชนบทพากันขึ้นยานพาหนะอพยพไป นี้เป็นสมัยที่ไม่ควรบำเพ็ญเพียรข้อที่สี่

“อีกประการหนึ่ง สมัยที่สงฆ์แตกกัน.... ย่อมมีการด่ากันและกัน บริภาษกันและกัน มีการใส่ร้ายกันและกัน มีการทอดทิ้งกันและกัน คนผู้ไม่เลื่อมใส ในหมู่สงฆ์นั้น ย่อมเลื่อมใส และคนบางพวกที่เลื่อมใสอยู่แล้ว ย่อมเป็นอื่นไป นี้เป็นเวลาที่ไม่ควรบำเพ็ญเพียรข้อที่ ๕ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมัยที่ไม่ควรบำเพ็ญเพียร ๕ ประการ มีดังนี้แล ฯ

สมยสูตร


🔅 เจริญมรณัสสติอย่างไร
ปัญหา ทางพระพุทธศาสนาสนให้หมั่นเจริญมรณัสสติ คือ การระลึกถึงความตายเพื่อความไม่ประมาท อยากทราบว่าจะเจริญมรณัสสติโดยวิธีใด?

พุทธดำรัสตอบ “......ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุใดย่อมเจริญมรณัสสติอย่างนี้ว่า โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้ตลอดคืนหนึ่งกับวันหนึ่ง (อาจจะมีชีวิตอยู่เพียงวันหนึ่งกับคืนหนึ่งเท่านั้น) (หรือ)... เราพึงเป็นอยู่ได้ตลอดวันหนึ่ง (หรือ).... เราพึงเป็นอยู่ได้ชั่วขณะที่ฉันบิณฑบาตมื้อหนึ่ง (หรือ).... เราพึงเป็นอยู่ได้ชั่วขณะที่เคี้ยวคำข้าวสี่ห้าคำกลืนกิน เราพึงมนสิการคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาค เราพึงกระทำกิจให้มากหนอ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านี้ เรากล่าวว่าเป็นผู้ประมาท เจริญมรณัสสติ เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายช้า

“ส่วนภิกษุใด ย่อมเจริญมรณัสสติอย่างนี้ว่า โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้ชั่วขณะที่เคี้ยวคำกลืนกิน (หรือ).... เราพึงเป็นอยู่ได้ชั่วขณะที่หายใจเข้าแล้วหายใจออก หรือหายใจออกแล้วหายใจเข้า เราพึงมนสิการคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาค เราพึงกระทำกิจให้มากหนอ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านี้เรากล่าวว่าเป็นผู้ไม่ประมาท ย่อมเจริญมรณัสสติ เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย แรงกล้า...เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้”

มรณัสสติสูตร ที่ ๑

“......ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อกลางวันผ่านไป กลางคืนย่างเข้ามา ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เหตุแห่งความตายของเรามีมากหนอ คือ งูพึงกัดเรา แมงป่องพึงต่อยเรา หรือตะขาบพึงกัดเรา เราพึงตายเพราะเหตุนั้น อันตรายนั้นพึงมีแก่เราพึงพลาดล้มลง อาหารที่เราฉันแล้วไม่พึงย่อมดี.... เสมหะ... หรือลมที่มีพิษเพียงดังศัสตราของเราพึงกำเริบ เราพึงตายเพราะเหตุนั้น.... ภิกษุนั้นพึงพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศลที่เรายังละไม่ได้ อันจะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้กระทำกาละ (ตาย) ในกลางคืนมีอยู่หรือหน ถ้าภิกษุพิจาณาอยู่ย่อมราบอย่างนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปเพียรความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้มีปริมาณยิ่ง เพื่อละธรรมอันเป็นบาปกุศลนั้น เปรียบเหมือนบุคคลผู้มีผ้าโพกศีรษะ ถูกไฟไหม้ พึงทำฉันทะ.... เมื่อดับผ้าโพกศีรษะหรือศีรษะนั้น.... ก็ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ย่อมทราบอย่างนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศล... ไม่มี ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้มีปีติและปราโมทย์ ตามศึกษาในกุศลธรรมทั้งหลาย ทั้งกลางวันกลางคืนอยู่เถิด...ฯ”

มรณัสสติสูตร ที่ ๒



🔅 คนฆ่าไม่รวย-คนรวยไม่ฆ่า
ปัญหา ทำไมคนที่เลี้ยงชีพด้วยการฆ่าปลา ฆ่าวัว ฆ่าเนื้อ ฆ่าแพะ ฆ่าสุกร ฯลฯ ขาย จึงไม่ค่อยร่ำรวย?

พุทธดำรัสตอบ “......ดูก่อนภิกษุ เรา.... ไม่ได้เห็นไม่ได้ฟังมาว่า ชาวประมงผูกปลา ฆ่าปลาขายอยู่.... คนฆ่าโค ฆ่าโคขายอยู่.... พรานเนื้อฆ่าเนื้อขายอยู่... ย่อมขี่ช้าง ขี่ม้า ขี่รถ ขึ้นยาน เป็นเจ้าของโภคะหรือครอบครองกองโภคะสมบัติเป็นอันมาก เพราะกรรมนั้น เพราะอาชีพนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าเขาย่อมเพ่งดูปลาเหล่านั้น.... เพ่งดูโคเหล่านั้น.... เพ่งดูเนื้อเหล่านั้น ที่พึงฆ่า... ที่นำมาเพื่อฆ่าด้วยใจที่เป็นบาป เขาจึงไม่ได้ขี่ช้าง.... ไม่ได้เป็นเจ้าของโภคะ ไม่ได้ครอบครองกองโภคะสมบัติเป็นอันมาก.... จะกล่าวอะไรถึงบุคคลผู้เพ่งดูมนุษย์ที่พึงฆ่า ที่นำมาเพื่อฆ่าด้วยใจที่เป็นบาปเล่า เพราะผลข้อนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาลนานแก่เขา เมื่อตายไปแล้ว เขาย่อมเข้าพึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก”

มัจฉสูตร


🔅 วิธีดับอาสวะ ๖ วิธี
ปัญหา เท่าที่ได้ยินได้ฟังมานั้น อาสวะทั้งหลายดูเหมือนจะละได้ด้วยการบำเพ็ญเพียรทางจิต จนได้บรรลุมรรคผลเท่านั้น จะมีวิธีละอาสวะวิธีใดวิธีหนึ่งอีกหรือไม่ ที่ทุกคนสามารถปฏิบัติได้....?

พุทธดำรัสตอบ “......ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาสวะอันภิกษุพึงละด้วยการสำรวม คือภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้สำรวมด้วยการสำรวมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ซึ่งเมื่อเธอไม่รวมพึงเป็นเหตุให้อาสวะที่ทำความคับแค้นและความเร่าร้อนเกิดขึ้น เมื่อเธอสำรวมอยู่ อาสวะเหล่านั้น... ย่อมไม่มีแก่เธอ...

“......ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาสวะอันภิกษุพึงละด้วยการซ่องเสพ.... คือภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นเสพจีวรเพียงเพื่อป้องกัน หนาว ร้อน เหลือบ ยุง ลม แดด.... เพียงเพื่อปกปิดอวัยวะอันน่าละอาย... ย่อมเสพบิณฑบาต... เพียงเพื่อความดำรงอยู่... ย่อมเสพเสนาสนะ เพียงเพื่อป้องกันหนาว ร้อน เหลือบ ยุง ลม แดด... เพียงเพื่อบรรเทาอันตรายที่เกิดจากฤดู.... ย่อมเสพคิลานปัจจัย เภสัชบริขารเพียงเพื่อบรรเทาเวทยาอันเกิดจากอาพาธต่าง ๆ ... เมื่อเธอเสพอยู่ อาสวะเหล่านั้นที่ทำความคับแค้นและความเร่าร้อนย่อมไม่มี....

“......ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาสวะอันภิกษุพึงละด้วยความอดกลั้น.... คือภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว ย่อมเป็นผู้อดทนต่อหนาว ร้อน หิว กระหาย เหลือบ ยุง ลม แดด ย่อมเป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำหยาบ คำเสียดสี... อดกลั้นต่อทุกขเวทนาทางกาย.... เมื่อเธออดทนอยู่ อาสวะเหล่านั้นที่ทำความคับแค้นและความเร่าร้อนย่อมไม่มีแก่เธอ....

“......ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาสวะอันภิกษุพึงละด้วยการหลีกเลี่ยง คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว ย่อมหลีกเลี่ยง ช้างดุ ม้าดุ โคดุ สุนัขดุ งู หลักตอ ที่มีหนาม หลุม ตลิ่งชัน บ่อโสโครก ท่อโสโครก... ย่อมหลีกเหลี่ยงที่ไม่ควรนั่ง ที่ไม่ควรเที่ยวไป และบาปมิตร.... เมื่อเธอหลีกเลี่ยงอยู่ อาสวะเหล่านั้นที่ทำความคับแค้นและความเร่าร้อนย่อมไม่มีแก่เธอ....

“......ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาสวะอันภิกษุพึงละด้วยการบรรเทา.... คือภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว ย่อมไม่รับไว้ ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้สิ้นไป ย่อมทำให้หมดไปซึ่งพยาบาทวิตก.... ซึ่งวิหิงสาวิตก... ซึ่งธรรมที่เป็นบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ... เมื่อเธอบรรเทาทาอยู่ อาสวะเหล่านั้นที่ทำความคับแค้นและความเร่าร้อนย่อมไม่มีแก่เธอ....

“......ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาสวะอันภิกษุพึงละด้วยการภาวนา.... คือภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว ย่อมเจริญธรรมอันเป็นองค์แห่งการตรัสรู้ ๗ ประการ คือ สติ.... ธัมมวิจยะ... วิริยะ... ปีติ.... ปัสสสัทธิ... สมาธิ... อุบเกขา อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธน้อมไปเพื่อความสละ ... เมื่อเธอเจริญโพชฌงค์อยู่ อาสวะเหล่านั้นที่ทำความคับแค้นและความเร่าร้อนย่อมไม่มีแก่เธอ....ฯ”

อาสวสูตร


🔅 ความมุ่งหมายในชีวิตของคน ๖ ประเภท
ปัญหา บุคคลประเภทต่างๆ ต่อไปนี้คือ กษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี สตรี โจร และสมณะ ประสงค์อะไร นิยมอะไร มั่นใจอะไร ต้องการอะไร มีอะไรเป็นที่สุด?

พุทธดำรัสตอบ “......ดูก่อนพราหมณ์ ธรรมดากษัตริย์ ย่อมประสงค์โภคทรัพย์ นิยมปัญญา มั่นใจในกำลังทหาร ต้องการได้แผ่นดิน มีความเป็นใหญ่เป็นที่สุด

“ธรรมดาพราหมณ์ ย่อมประสงค์โภคทรัพย์ นิยมปัญญา มั่นใจในมนต์ ต้องการบูชายัญ มีพรหมโลกเป็นที่สุด

“ธรรมดาคฤหบดีทั้งหมาย ย่อมประสงค์โภคทรัพย์ นิยมปัญญา มั่นใจในศิลปะ ต้องการการงาน มีการงานที่สำเร็จแล้วเป็นที่สุด

“ธรรมดาสตรีทั้งหลาย ย่อมประสงค์บุรุษ นิยมเครื่องแต่งตัว มั่นใจในบุตร ต้องการไม่ให้มีสตรีอื่นร่วมสามี มีความเป็นใหญ่ในบ้านเป็นที่สุด

“ธรรมดาโจรทั้งหลาย ย่อมประสงค์ลักทรัพย์ของผู้อื่น นิยมที่ลับเร้น มั่นใจในศัสตรา ต้องการที่มืด มีการที่ผู้อื่นไม่เห็นเขาเป็นที่สุด

“ธรรมดาสมณะทั้งหลาย ย่อมประสงค์ขันติ โสรัจจะ (สงบเสงี่ยมเจียมตัว) นิยมเครื่องปัญญา มั่นใจในศีล ต้องการความไม่มีห่วงใย มีพระนิพพานเป็นที่สุด”

ขันติยาธิปปายสูตร


🔅 ทำไมพระจึงลาสิกขา
ปัญหา ภิกษุผู้ปฏิบัติทางจิตใจอย่างแรงกล้า จนได้บรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน และเจโตสมาธิแล้ว จะมีทางสละเพศสึกออกมาเป็นคฤหัสถ์ได้หรือไม่ ?

พระมหาโกฏฐิตะตอบ “......ดูก่อนท่านผู้มีอายุ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นดุจสงบเสงี่ยม.... อ่อนน้อม... สงบเรียบร้อย ตลอดเวลาที่อาศัยพระศาสนาหรือเพื่อพรหมจรรย์ผู้อยู่ในฐานะเป็นครูรูปใดรูปหนึ่งอยู่ แต่ว่าเมื่อใดเขาหลีกออกไปจากพระศาสนา หลีกออกไปจากเพื่อนพรหมจรรย์... เมื่อนั้นเขาย่อมคลุกคลีด้วยพวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชามหาอำมาตย์ พวกเดียรถีย์ พวกสาวกเดียรถีย์อยู่ เมื่อเขาคลุกคลีอยู่ด้วยหมู่ ปล่อยจิตไม่สำรวมอินทรีย์ ชอบคุย ราคะย่อมรบกวนจิตเขา เขามีจิตถูกราคะรบกวน ย่อมลาสิกขาสึกมาเป็นคฤหัสถ์ เปรียบเหมือนโคที่เคยกินข้าวกล้า ถูกเขาผูกไว้ด้วยเชือกหรือขังไว้ในคอก ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่าโค.... ตัวนี้จักไม่ลงกินข้าวกล้าอีก

“อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ สงัดจากกามสงัดจากอกุศลกรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เขากล่าวว่า เราได้ปฐมฌาน (แต่) คลุกคลีด้วยภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ปล่อยจิตไม่สำรวมอินทรีย์ ชอบคุย ราคะย่อมรบกวนจิตเขา ย่อมลาสิกขาสึกมาเป็นคฤหัสถ์ เปรียบเหมือนฝนเม็ดใหญ่ตกลงที่ทางใหญ่ ๔ แพร่ง พึงยังฝุ่นให้หายไป ปรากฏเป็นทางลื่น ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่าฝุ่นจักไม่ปรากฏที่ทางใหญ่ ๔ แพร่งโน้นอีก?

“อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ บรรลุทุติฌาน.... เขาย่อมกล่าวว่า เราได้ทุติยฌาน (แต่) คลุกคลีด้วยพวกภิกษุ ย่อมลาสิกขาสึกมาเป็นคฤหัสถ์ เปรียบเหมือนฝนเม็ดใหญ่ตกลงที่สระใหญ่ใกล้บ้านหรือนิคมพึงยังทั้งหอยกาบและหอยโข่ง ทั้งก้อนกรวด และกระเบื้องให้หายไป ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า บัดนี้หอยกาบหอยโข่ง ก้อนกรวดแลกระเบื้อง จักไม่ปรากฏในสระโน้นอีก ?

“อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ บรรลุตติยฌาน... เขากล่าวว่า เราได้ตติยฌาน (แต่) คลุกคลีด้วยพวกภิกษุ ย่อมลาสิกขาสึกมาเป็นคฤหัสถ์ เปรียบเหมือนอาหารค้างคืน ไม่พึงชอบใจแก่บุรุษผู้บริโภคอาหารประณีต ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่าอาหารจักไม่เป็นที่ชอบใจแก่บุรุษชื่อโน้นอีก ?

“อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ บรรลุเจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต... เขากล่าวว่า เราได้เจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต (แต่) คลุกคลีด้วยพวกภิกษุ ย่อมลาสิกขาสึกมาเป็นคฤหัสถ์ เปรียบเหมือนพระราชา หรือมหาอำมาตย์ของพระราชามีจตุรงค์เสนาเดินทางไกลไปพักแรมคืนอยู่ที่ป่าทึบแหงหนึ่ง... เสียงจักจั่นเรไรพึงหายไปเพราะเสียงช้าง เสียงม้า เสียงรถ เสียพลเดินเท้า เสียงกึกก้องแห่งกรอง บัณเฑาะว์ สังข์และพิณ เรา ผู้ใดพึงกล่าว บัดนี้ ที่ป่าทึบแห่งโน้น เสียงจักจั่นเรไร จักไม่มีปรากฏอีก?ฯ”

จิตตหัตถิสารีปุตตสูตร


🔅 ภรรยา ๗ ประเภท
ปัญหา พระผู้มีพระภาคทรงจำแนกภรรยาไว้กี่ประเภท มีอะรบ้าง ?

พุทธดำรัสตอบ “......ดูก่อนสุชาดา ภรรยาของบุรุษ ๗ จำพวกนี้... คือ ภรรยาเสมอด้วยเพชฌฆาต ๑ ภรรยาเสมอด้วยโจร ๑ ภรรยาเสมอด้วยนาย ๑ ภรรยาเสมอด้วยแม่ ๑ ภรรยาเสมอด้วยพี่สาวน้องสาว ๑ ภรรยาเสมอด้วยเพื่อน ๑ ภรรยาเสมอด้วยทาสี ๑

ปัญหา ที่ว่าภรรยาเสมอด้วยเพชฌฆาตนั้น เป็นอย่างไร?
พุทธดำรัสตอบ “.....ภรรยาผู้มีจิตประทุษร้าย ไม่อนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล ยินดีในชายอื่น ดูหมิ่นสามี เป็นผู้อันเขาซื้อมาด้วยทรัพย์ พยายามจะฆ่าผัว ภรรยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่าวธกาภริยา ภรรยาผู้เสมอด้วยเพชฌฆาต”

ปัญหา ที่ว่าภรรยาเสมอด้วยโจร นั้น มีลักษณะอย่างไร?
พุทธดำรัสตอบ “.....สามีของหญิงประกอบด้วยศิลปกรรม พาณิชยกรรม และกสิกรรม ได้ทรัพย์ใดมา ภรรยาปรารถนาจะยักยอกทรัพย์แม้มีอยู่น้อยนั้นเสีย ภรรยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่าโจรภริยา ภรรยาผู้เสมอด้วยโจร”

ปัญหา ที่ว่าภรรยาเสมอด้วยนายนั้น มีลักษณะอย่างไร?
พุทธดำรัสตอบ “.....ภรรยาที่ไม่สนใจการงาน เกียจร้าน กินมาก ปากร้าย ปากกล้า ร้ายกาจ กล่าวคำหยาบข่มขี่สามีผู้ขยันขันแข็ง ภรรยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่าอัยยภริยา ภรรยาผู้เสมอด้วยนาย”

ปัญหา ที่ว่าภรรยาเสมอด้วยแม่นั้น มีลักษณะอย่างไร?
พุทธดำรัสตอบ “.....ภรรยาใดอนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูลทุกเมื่อ ตามรักษาสามีเหมือนมารดารักษาบุตร รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ไว้ ภรรยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่ามาตาภริยา ภรรยาผู้เสมอด้วยแม่”

ปัญหา ที่ว่าภรรยาเสมอด้วยพี่สาวน้องสาวนั้น มีลักษณะอย่างไร ?
พุทธดำรัสตอบ “.....ภรรยาที่เป็นเหมือนพี่สาวน้องสาว มีความเคารพในสามีของตน เป็นคนละอายาบาป เป็นไปตามอำนาจสามี ภรรยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่าภคินีภริยา ภรรยาผู้เสมอด้วยพี่สาวน้องสาว”

ปัญหา ที่ว่าภรรยาเสมอด้วยเพื่อนนั้น มีลักษณะอย่างไร?
พุทธดำรัสตอบ “.....ภรรยาใดในโลกนี้ เห็นสามีและชื่นชมยินดีเหมือนเพื่อนผู้จากไปนานแล้วกลับมา เป็นหญิงมีตระกูล มีศีล มีวัตร ปฏิบัติสามี ภรรยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่าสขีภริยา ภรรยาผู้เสมอด้วยเพื่อน”

ปัญหา ที่ว่าภรรยาเสมอด้วยทาสีนั้น มีลักษณะอย่างไร?
พุทธดำรัสตอบ “.....ภรรยาสามีเฆี่ยนตี ขู่ตะคอก ก็ไม่โกรธ ไม่คิดพิโรธโกรธตอบสามี อดทนได้ เป็นไปตามอำนาจสามี ภรรยาของบุรุษเห็นปานนี้เรียกว่าทาสีภริยา ภรรยาผู้เสมอด้วยทาสี”

ภริยาสูตร


🔅 โทษของความโกรธ
ปัญหา ความโกรธมีโทษอย่างไรบ้าง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงแนะนำให้ระงับกำจัดเสีย ?

พุทธดำรัสตอบ “.....คนผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว แม้จะอาบน้ำ ไล้ทา ตัดผม โกนหนวด นุ่งผ้าขาวสะอาดแล้วกตาม... ย่อมเป็นผู้มีผิวพรรณทราม.....

“.....คนผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว แม้จะนอนบนบัลลังก์อันลาด้วยฝ้าขนสัตว์ ลาด้วยฝ้าขาวเนื้ออ่อน ลาดด้วยเครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชะมด มีผ้าดาดเพดาน มีหมอนหนุนศีรษะและหนุนเท้าแดงทั้งสองข้างก็ตาม ย่อมนอนเป็นทุกข์....

“.....คนผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว แม้จะถือเอาสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ก็สำคัญว่าเราถือเอาสิ่งเป็นประโยชน์ แม้จะถือเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์ก็สำคัญว่าเราถือเอาสิ่งไม่เป็นประโยชน์ ธรรมเหล่านี้อันคนผู้โกรธ... ถือเอาแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหายมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาล

“.....คนผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว แม้จะมีโภคะที่ตนหามาได้ด้วยความขยันขันแข็ง สั่งสมได้ด้วยกำลังแขนอาบเหงื่อต่างน้ำ เป็นของชอบธรรม ได้มาโดยธรรม พระราชาย่อมริบโภคะของคนขี้โกรธเข้าพระคลังหลวง....

“.....คนผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว แม้เขาจะมีมิตร อมาตย์ ญาติสายโลหิต เหล่านั้นก็เว้นเสียห่างไกล...

“.....คนผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว ย่อมประพฤติทุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ครั้นแล้วเมื่อตายไปย่อมเข้าถึง อบาย ทุคติ วินิบาตนรก....”

โกธนาสูตร


🔅 การให้ทานในแบบต่างๆ และผลของทานชนิดนั้น
ปัญหา ก่อนที่จะให้ทาน ถ้าเราตั้งใจขอให้ได้เสวยผลของทานผลจะเป็นอย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “...บุคคลมีความหวังให้ทาน มีจิตผูกพันในผลแล้วให้ทานมุ่งการสั่งสมให้ทาน ให้ทานด้วยคิดว่า ตายไปแล้วจักได้เสวยผลทานนี้เขาผู้นั้นให้ทานนั้นแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นจตุมหาราช สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังมีการกลับมา คือมาสู่ความเป็น (มนุษย์) อย่างนี้”

ปัญหา คนบางคนเมื่อให้ทาน ไม่มุ่งหวังผลตอบแทนอะไร เห็นว่าการให้ทานเป็นความดี ก็ให้ทานเพื่อกระทำความดี ทานแบบนี้จะมีผลอย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “...ในการให้ทานนั้น บุคคลไม่มีความหวังให้ทาน ไม่มีจิตผูกพันในผลให้ทาน ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า ตายไปแล้วจักได้เสวยผลทานนี้แต่ให้ทานด้วยคิดว่า ทานเป็นการดี เขาผู้นั้นเมื่อให้ทานนั้นแล้ว เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นดาวดึงส์ สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังมีการกลับมา คือมาสู่ความเป็น อย่างนี้”

ปัญหา บางคนให้ทาน ไม่ใช่เพราะหวังผลทาน ไม่ใช่เพราะเห็นว่าการให้ทานเป็นความดี แต่ให้ทานเพราะมารดาบิดาปู่ย่าตายายเคยให้มา ให้ทานเพื่อรักษาประเพณี ผลทานจะเป็นอย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “...บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่มีความหวังจึงให้ทาน... ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า ทานเป็นการดี แต่ให้ทานด้วยคิดว่า มารดาบิดาปู่ย่าตายายเคยให้มา เราก็ไม่ควรทำให้เสียประเพณี เขาให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ฯลฯ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นยามา สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังมีการกลับมา คือมาสู่ความเป็น อย่างนี้”

ปัญหา บางคนให้ทาน ไม่มุ่งผล ไม่เห็นว่าทานเป็นของดี ไม่ทำตามประเพณี แต่ให้เมื่อมุ่งอนุเคราะห์แก่พระภิกษุสงฆ์ ผู้ไม่ได้ประกอบอาชีพอย่างตน ผลทานจะเป็นอย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “...บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า มารดาบิดาปู่ย่าตายายเคยให้มา แต่ให้ท่านด้วยคิดว่า เราหุงหากิน สมณะและพราหมณ์เหล่านี้ไม่หุงหากิน เราหุงหากินได้ จะไม่ให้ทานแก่สมณะหรือพราหมณ์ผู้ไม่หุงหา ไม่สมควร เขาให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ฯลฯ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นดุสิต สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังมีการกลับมา ...”

ปัญหา บางคนให้ทาน ไม่ใช่เพื่อมุ่งหวังผลใดๆ แต่ให้ทานเพื่อจะกระทำตามตัวอย่างของบุคคลสำคัญในอดีตที่เขาให้มาแล้ว ผลทานจะเป็นอย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “...บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เราหุงหากิน แต่สมณะและพราหมณ์เหล่านี้หุงหากินไม่ได้ เราหุงหากินได้ จะไม่ให้ทานแก่สมณะหรือพราหมณ์ผู้หุงหากินไม่ได้ ไม่สมควร แต่ให้ทานด้วยคิดว่าเราจักเป็นผู้จำแนกแจกทานเหมือนฤาษีแต่ครั้งก่อน คือ อัฏฐกฤาษี วามกฤาษี วามเทวฤาษี เวสสามิตรฤาษี สมทัคคิฤาษี อังคีรสฤาษี ภารทวาชฤาษี วาเสฏฐฤาษี กัสสปถาษี และภคุฤาษีบูชามหายัญฉะนั้น เขาให้ทานคือ ข้าว เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นนิมมานรดี สิ้นกรรม ... แล้ว ยังมีการกลับมา ...”

ปัญหา บางคนให้ทาน ไม่มุ่งหวังผลตอบแทนทางวัตถุ แต่เห็นว่าให้ทานแล้วสบายใจดี ก็ให้ทาน ผลทานจะเป็นอย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “...บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เราจักเป็นผู้จำแนกแจกทาน เหมือนฤาษีแต่ครั้งก่อน แต่ให้ทานด้วยคิดว่า เมื่อเราให้ทานอย่างนี้ จิตจะผ่องใส เกิดความปลื้มใจและโสมนัส เขาให้ทานคือข้าว... เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดี สิ้นกรรม แล้ว ยังมีการกลับมา ...”

ปัญหา บางคนให้ทาน ไม่ได้ให้ด้วยเหตุผลต่างๆ ดังกล่าวมาแล้ว แต่ให้เพื่อให้ทานนั้นเป็นเครื่องชำระจิตใจให้บริสุทธิ์จากกิเลส มีความตระหนี่เห็นแก่ตัว เป็นต้น ผลทานจะเป็นอย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ “...ในการให้ทานนั้นบุคคลไม่มีความหวังให้ทาน ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เมื่อเราให้ทานนี้จิตจะผ่องใส จะเกิดความปลื้มใจและโสมนัส แต่ให้ทานเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต เขาให้ทานเช่นนี้แล้ว เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นพรหม เขาสิ้นกรรม แล้ว เป็นผู้ไม่ต้องกลับมา คือ ไม่มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ...”

ทานสูตร


🔅 ความหมายของพระธรรมคุณ
ปัญหา พระธรรมคุณที่ว่า ธรรมอันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน นั้นมีความหมายแค่ไหน?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนสิวกะ การที่ท่านทราบชัดโลภะที่มีอยู่ภายในว่า โลภะมีอยู่ในภายในของเรา หรือทราบชัดโภคะที่ไม่มีอยู่ภายในว่า โลภะไม่มีอยู่ภายในของเรา.....ทราบชัดโทสะที่มีอยู่ภายในว่า โทสะมีอยู่ภายในของเรา.....ทราบชัดโทสะที่ไม่มีอยู่ภายในว่า โทสะไม่มีอยู่ภายในของเรา.....ทราบชัดโมหะที่มีอยู่ภายในว่า โมหะมีอยู่ภายในของเรา.....ทราบชัดโมหะที่ไม่มีอยู่ภายในว่า โมหะไม่มีอยู่ภายในของเรา.....

ทราบชัดธรรมที่ ประกอบด้วย โลภะ โทสะ โมหะ ที่มีอยู่ภายในว่า ธรรมที่ประกอบด้วย..... โลภะ โทสะ โมหะ มีอยู่ภายในของเรา.....ทราบชัดธรรมที่ ประกอบด้วย โลภะ โทสะ โมหะ ที่ไม่มีอยู่ภายในว่า ธรรมที่ประกอบด้วย..... โลภะ โทสะ โมหะ ไม่มีอยู่ภายในของเรา.....อย่างนี้แล เป็นธรรมอันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ฯ”

สันทิฏฐสูตร ที่ ๑


🔅 จะรู้จักพระอรหันต์ได้ไหม
ปัญหา ฆราวาสผู้อยู่ครองเรือน มีทางจะทราบได้หรือไม่ว่าภิกษุองค์ไหนเป็นพระอรหันต์ ได้บรรลุมรรคผล?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนคฤหบดี ท่านผู้เป็นคฤหัสถ์ บริโภคกาม อยู่ครองเรือน นอนเบียดเสียดบุตร บริโภคจันทน์จากแคว้นกาสี ทัดทรงดอกไม้ ของหอม และเครื่องลูบไล้ ยินดีทองและเงินอยู่ พึงรู้ขอนี้ได้ยากว่า ภิกษุเหล่านี้เป็นพระอรหันต์ หรือเป็นผู้บรรลุอรหัตตมรรค (เมื่อไม่รู้ว่าใครเป็นพระอรหันต์ และอยากทำบุญให้ทานกับพระอรหันต์ ย่อมมีทางจะให้ได้ถูกต้องฉะนั้น)..... เชิญทานให้สังฆทานเถิด เมื่อท่านให้สังฆทานอยู่ จิตจักเลื่อมใส... เมื่อตายไปจักเข้าพึงสุคติโลกสวรรค์”

ทารุกัมมิกสูตร


🔅 กรรม เหตุของกรรมและวิธีดับกรรม
ปัญหา กรรมคืออะไร อะไรเป็นเหตุของกรรม จะดับกรรมได้ดีโดยวิธีใด ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรมบุคคลคิดแล้วจึงกระทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ก็เหตุเกิดแห่งกรรมเป็นไฉนคือผัสสะ (การกระทบกันระหว่างตากับรูป หูกับเสียง เป็นต้น) เป็นเหตุเกิดแห่งกรรม ก็ความต่างแห่งกรรมเป็นไฉน คือกรรมที่ให้วิบากในนรกก็มี ทำให้วิบากในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานก็มี ที่ให้วิบากในเปรตวิสัยก็มี ที่ให้วิบากในมนุษยโลกก็มี ที่ให้วิบากในเทวโลกก็มี นี้เรียกว่าความต่างแห่งกรรม

“ก็วิบากแห่งกรรมเป็นไฉน คือ เราย่อมกล่าววิบากแห่งกรรม ว่ามี ๓ ประการ คือ กรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน ๑ กรรมที่ให้ผลในภพที่เกิด ๑ กรรมที่ให้ผลในภพต่อๆ ไป ๑ นี้เรียกว่า วิบากแห่งกรรม

“ความดับแห่งกรรมเป็นไฉน คือ ความดับแห่งกรรมย่อมเกิดขึ้นเพราะความดับแห่งผัสสะ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้แล คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ... สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เป็นปฏิปทาให้ถึงความดับแห่งกรรม

“ก็เมื่อใด อริยสาวกย่อมทราบชัด กรรม เหตุเกิดแห่งกรรม ความต่างแห่งกรรม วิบากแห่งกรรม ความดับแห่งกรรม ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งกรรมอย่างนี้ ๆ เมื่อนั้น อริยสาวกนั้นย่อมทราบชัดพรหมจรรย์ อันเป็นไปในส่วนแห่งความชำแรกกิเลสเป็นที่ดับกรรมนี้”

นิพเพธิกสูตร


🔅 เหตุทำให้พระศาสนาเสื่อม
ปัญหา อะไรเป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ไมได้นาน?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนกิมพิละ เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว พวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่เคารพ ไม่ยำเกรง ในพระศาสนา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในสิกขา ในความไม่ประมาท ในปฏิสันถาร ดูก่อนกิมพิละ นี้แลเห็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องให้พระสัทธรรมไม่ดำรงอยู่นาน ในเมื่อตถาคตปรินพพานแล้ว ฯ”

กิมมิลสูตร


🔅 ความคิดเรื่องสสาร-พลังงานในพระพุทธศาสนา
ปัญหา ไอน์สไตน์กล่าวไว้ว่า สสารเป็นแต่เพียงรูปหนึ่งของพลังงาน เราอาจแปลงสสารให้เป็นพลังงานได้ ทางพระพุทธศาสนาเห็นด้วยหรือไม่กับมตินี้ ?

คำตอบของพระสารีบุตร “.....ภิกษุผู้มีฤทธิ์ ถึงความชำนาญทางใจ เมื่อจำนงพึงน้อมใจถึงกองไม้กองโน้นให้เป็นดินได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะกองไม้โน้นมีปฏวีธาตุเมื่อจำนง พึงน้อมใจถึงกองไม้กองโน้นให้เป็นน้ำได้.... เพราะกองไม้โน้นมีอาโปธาต...เมื่อจำนง พึงน้อมใจถึงกองไม้โน้นให้เป็นไฟได้.... เพราะกองไม้กองโน้นมีเตโชธาตุ...เมื่อจำนง พึงน้อมใจถึงกองไม้กองโน้นให้เป็นลมได้.... เพราะกองไม้กองโน้นวาโยธาตุ....เมื่อจำนง พึงน้อมใจถึงกองไม้กองโน้นให้เป็นของงามได้.... เพราะกองไม้กองโน้นมีสุภธาตุ....เมื่อจำนงพึงน้อมใจถึงกองไม้กองโน้น ให้เป็นของไม่งามได้....เพราะกองไม้โน้นมีอสุภธาต

ซึ่งภิกษุผู้มีฤทธิ์ มีความชำนาญทางใจ พึงอาศัยน้อมใจถึงให้เป็นของไม่งามได้ ฯ”

ทารุกขันธสูตร


🔅 ความทุกข์ของผู้เป็นหนี้เขา
ปัญหา ความทุกข์ของฆราวาสผู้อยู่ครองเรือนมีอะไรบ้าง?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนจนเข็ญใจยากไร้ ย่อมกู้ยืมแม้การกู้ยืมก็เป็นทุกข์ของบุคคลผู้บริโภคกามในโลก.... กู้ยืมแล้ว ย่อมรับใช้ดอกเบี้ย แม้การรับใช้ดอกเบี้ยก็เป็นทุกข์.... รับใช้ดอกเบี้ยแล้วไม่ใช้ดอกเบี้ยตามกำหนดเวลา เจ้าหนี้ทั้งหลายย่อมทวงเขา แม้การทวงก็เป็นทุกข์.... (เมื่อ) ถูกเจ้าหนี้ทวงไม่ได้ เจ้าหนี้ทั้งหลายย่อมติดตามเขา มีการติดตามก็เป็นทุกข์.... (เมื่อ) ถูกจ้าหนี้ติดตามทันไม่ให้ทรัพย์ เจ้าหนี้ทั้งหลายย่อมจองจำเขา แม้การจองจำก็เป็นทุกข์ฯ”

อิณสูตร


🔅 วาระสุดท้ายของโลก
ปัญหา นักวิทยาศาสตร์คำนวณว่า โลกของเราจะมีอายุประมาณ ๕,๐๐๐ ล้านปีแล้วก็จะแตกดับ ทางพระพุทธศาสนาแสดงเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างไรบ้าง ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่น่าชื่นชม.... ควรเบื่อหน่าย.... ควรคลานกำหนัด.... ควรหลุดพ้น

“ขุนเขาสิเนรุโดยยาว ๘๔,๐๐๐ โยชน์ โดยกว้าง ๘๔,๐๐๐ โยชน์ หยั่งลงในมหาสมุทร ๘๔,๐๐๐ โยชน์ สูงจากมหาสมุทรขึ้นไป ๘๔,๐๐๐ โยชน์ มีกาลบางคราวที่ฝนไม่ตกหลายปี หลายร้อยปี หลายพันปี หลายแสนปี เมื่อฝนไม่ตก พืชคาม ภูตคามและติณชาติป่าไม้ใหญ่ย่อมเฉา เหี่ยวแห้ง เป็นอยู่ไม่ได้

“.....โดยล่วงไปแห่งกาลนาน พระอาทิตย์ดวงที่สองปรากฏ...แม่น้ำลำคลองทั้งหมดย่อมงวดแห้ง.... ไม่มีน้ำ

“.....โดยล่วงไปแห่งกาลนาน พระอาทิตย์ดวงที่ ๓ ปรากฏ...แม่น้ำสายใหญ่ ๆ คือ คงคา ยมุนา อจิรวดี สรพู มหี ทั้งหมดย่อมงวดแห้ง.... ไม่มีน้ำ

“.....โดยล่วงไปแห่งกาลนาน พระอาทิตย์ดวงที่ ๔ ปรากฏ...แม่น้ำสายใหญ่ ๆ ที่ไหลมารวมกันเป็นแม่น้ำใหญ่ คือ คงคา ยมุนา อจิรวดี สรพู มหี ทั้งหมดย่อมงวดแห้ง.... ไม่มีน้ำ

“.....โดยล่วงไปแห่งกาลนาน พระอาทิตย์ดวงที่ ๕ ปรากฏ...น้ำในมหาสมุทรลึก ๑๐๐ โยชน์ก็ดี.... ๗๐๐ โยชน์ก็ดี ย่อมงวดลงเหลืออยู่เพียง ๗ ชั่วต้นตาลก็มี ๖ ชั่วต้นตาลก็มี.... ชั่วต้นตาลเดียวก็มี แล้วยังจะเหลืออยู่ ๗ ชั่วคน ๖ ชั่วคน.... เพียงเขา... เพียงรอยเท้าโค

“.....โดยล่วงไปแห่งกาลนาน พระอาทิตย์ดวงที่ ๖ ปรากฏ...แผ่นดินใหญ่นี้และเขาสินเนรุ ย่อมมีกลุ่มควันพลุ่งขึ้น เปรียบเหมือนนายช่างหม้อเผาหม้อที่ปั้นดีแล้ว ย่อมมีกลุ่มควันพลุ่งขึ้น ฉะนั้น

“.....โดยล่วงไปแห่งกาลนาน พระอาทิตย์ดวงที่ ๗ ปรากฏ...แผ่นดินใหญ่นี้และเขาสินเนรุ ไฟจะติดทั่วลุกโชติช่วง มีแสงเพลิงเป็นอันเดียวกัน.... เมื่อแผ่นดินใหญ่และเขาสิเนรุ ถูกไฟเผาผลาญอยู่ ย่อมไม่ปรากฏขี้เถ้าและเขม่า.....

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย..... สังขารทั้งหลาย.... เป็นสภาพไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่น่าชื่นชม ควรจะเบื่อหน่าย.... ควรคลายกำหนัด.... ควรหลุดพ้นในสังขารทั้งปวง

สุริยสูตร


🔅 ทำไมอาสวะจึงไม่สิ้น
ปัญหา การบรรลุมรรคผล หลุดพ้นจากอาสวะกิเลสทั้งปวง รู้สึกว่าเป็นกิจที่ทำได้ยากมาก เพราะเหตุไร?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไม่หมั่นเจริญภาวนา แม้จะพึงเกิดความปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่า โอหนอ ขอจิตของเราพึงหลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่นก็จริง แต่จิตของภิกษุนั้นย่อมไม่หลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น ข้อนั้นเพราะเหตุไร จะพึงกล่าวได้ว่าเพราะไม่ได้เจริญ เพราะไม่ได้เจริญอะไร เพราะไม่ได้เจริญ

สติปัฏฐาน ๔
สัมมัปปธาน ๔
อิทธิบาท ๔
อินทรีย์ ๕
พละ ๕
โพชฌงค์ ๗
มรรคมีองค์ ๘

“เปรียบเหมือนแม่ไก่ มีไข่อยู่ ๘ ฟอง ๑๐ ฟอง หรือ ๑๒ ฟอง ไข่เหล่านั้น แม่ไก่กกไม่ดี ให้ความอบอุ่นไม่พอ ฟักไม่ดี แม่ไก่นั้นแม้จะพึงเกิดความปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่า โอหนอ ขอให้ลูกของเราพึงใช้ปลายเล็บเท้า หรือจะงอยปาก เจาะกระเปาะไข่ฟักตัวออกมาโดยสวัสดีก็จริง แต่ลูกไก่เหล่านั้นไม่สามารถจะใช้ปลายเล็บเท้า หรือจะงอยปากเจาะกระเปาะไข่ฟักตัวออกมาโดยสวัสดีได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะแม่ไก่กกไม่ดี ให้ความอบอุ่นไม่พอฟักไม่ดีฉะนั้น....”

ภาวนาสูตร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น