วันพุธ

พระพุทธดำรัส (๑๖)

🙏 พระพุทธดำรัส 🙏

🔅 พระอรหันต์กับพระพุทธเจ้า
ปัญหา พระพุทธเจ้ากับพระอรหันตสาวกเหมือนกันและแตกต่างกันในแง่ไหนบ้าง

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระตถาคต อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หลุดพ้นเพราะเบื่อหน่าย... คลายกำหนัด เพราะความดับ เพราะความถือมั่นในรูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ คนจึงเรียกว่า สัมมาสัมพุทธะ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ภิกษุผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา หลุดพ้นแล้วเพราะเบื่อหน่าย... คลายกำหนัด เพราะความดับ เพราะความไม่ถือมั่นในรูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ คนจึงเรียกว่า ปัญญาวิมุต

“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในข้อนี้ จะมีอะไรเป็นข้อแปลกกัน มีอะไรเป็นลักษณะเฉพาะ มีอะไรเป็นเหตุแตกต่างกัน ระหว่างพระตถาคตผู้อรหันต์สัมมาสัมพุทธะกับภิกษุผู้เป็นปัญญาวิมุต “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระตถาคต ผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ เป็นผู้นำทางที่ยังไม่เกิดให้เกิด ทำทางที่ยังไม่มีใครรู้ให้รู้ บอกทางที่ยังไม่มีใครบอกเป็นผู้รู้แจ้งหนทาง เข้าใจทางฉลาดในทาง “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนสาวกทั้งหลายในบัดนี้เป็นผู้เดินตามทาง เป็นผู้มาภายหลัง อันนี้แลเป็นข้อแปลกกัน.....”

พุพธสูตร




🔅 ความหมายของอนัตตา
ปัญหา คำว่า “อนัตตา” มีความหมายว่าอย่างไร

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ เป็นอนัตตา (ไม่ใช่ตัวตนอันเป็นอมตภาพตามทัศนะของฮินดู) ถ้าหากว่า... จักเป็นอัตตาไซร้ รูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ นี้คงไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ ทั้งยังจะได้ตามความปรารถนาในรูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ ว่า ขอรูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ ของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย ก็เพราะเหตุที่รูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ เป็นอนัตตา ฉะนั้น.... จึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และไม่ได้ตามความปรารถนา....”

ปัญจวัคคิยสูตร


🔅 เหตุมีปัจจัยมี
ปัญหา เจ้าลิจฉวี นามว่ามหาลี เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้ว กราบทูลว่า ท่านปูรณกัสสปะสอนว่า สัตว์ทั้งหลายเศร้าหมองหรือบริสุทธิ์เอง โดยไม่มีเหตุปัจจัย พระผู้มีพระภาคทรงเห็นอย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนมหาลี เหตุมีปัจจัยมี เพื่อความเศร้าหมองของสัตว์ สัตว์ทั้งหลายมีเหตุมีปัจจัยจึงเศร้าหมอง เหตุมีปัจจัยมีเพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ สัตว์ทั้งหลายมีเหตุมีปัจจัยจึงบริสุทธิ์
“.....ดูก่อนมหาลี หากรูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ นี้เป็นทุกข์ถ่ายเดียว รับแต่ทุกข์ตามสนอง หยั่งลงสู่ความทุกข์มิได้ประกอบด้วยสุขบ้างแล้ว สัตว์ทั้งหลายก็จะไม่พึงกำหนัดใน รูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ ก็เพราะ รูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณเป็นสุข สุขตามสนองหยั่งลงสู่ความสุข มิได้ประกอบด้วยทุกข์เสมอไป ฉะนั้นสัตว์ทั้งหลายจึงกำหนัดในรูป เพราะกำหนัดจึงเกาะเกี่ยวผูกพัน เพราะเกาะเกี่ยวผูกพันจึงเศร้าหมอง....ดูก่อนมหาลี สัตว์ทั้งหลายมีเหตุมีปัจจัยจึงเศร้าหมองด้วยอาการอย่างนี้.....
“.....ดูก่อนมหาลี หากว่ารูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ นี้จักเป็นสุขถ่ายเดียว ตกลงสู่สุขก้าวลงสู่สุข มิได้ประกอบด้วยทุกข์บ้างแล้ว สัตว์ทั้งหลายก็จะไม่พึงเบื่อหน่ายใน รูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ ก็เพราะ รูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณตกลงสู่ทุกข์ หยั่งลงสู่ทุกข์ มิได้ประกอบด้วยสุขเสมอไป ฉะนั้นสัตว์ทั้งหลายจึงเบื่อหน่ายในรูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัดจึงบริสุทธิ์..... สัตว์ทั้งหลายมีเหตุมีปัจจัยจึงบริสุทธิ์ด้วยอาการอย่างนี้.....

มหาลิสูตร


🔅 ติดขันธ์ ก็ติดบ่วงมาร
ปัญหา เพราะเหตุไรคนจึงติดบ่วงมาร จะพ้นจากบ่วงมารได้อย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุ บุคคลผู้ยังยึด รูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ มั่นอยู่ ก็ต้องถูกมารมัดไว้ เมื่อไม่ยึดมั่น จึงหลุดพ้นจากมาร.... “.....ดูก่อนภิกษุ เมื่อบุคคล คิดสร้างภาพ (ศัพท์บาลีใช้คำว่า “มญฺญมาโน”ภาษาไทยแปลว่า “สำคัญ” ฉบับอังกฤษใช้คำว่า imagining แปรว่า “คิดสร้างภาพ” ซึ่งชัดกว่า) รูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ อยู่ก็ต้องถูกมารมักไว้ เมื่อไม่คิดสร้าง จึงหลุดพ้นจากบ่วงมาร “.....ดูก่อนภิกษุ เมื่อบุคคลเพลิดเพลินรูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ อยู่ ก็ต้องถูกมารมัดไว้ เมื่อไม่เพลิดเพลิน จึงพ้นจากมาร....

อุปาทิยสูตร มัญญมานสูตร อภินันทมานสูตร


🔅 วิธีคิดเกี่ยวกับขันธ์ ๕
ปัญหา บุคคลควรคิดและปฏิบัติเกี่ยวกับขันธ์ ๕ อย่างไรบ้าง ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุ รูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มิใช่ของตน ล้วนจูงใจให้กำหนัด ควรละความพอใจในสิ่งนั้น ๆ เสีย....”

อนิจจสูตร ฯลฯ ขันธ


🔅 วิธีกำจัดอหังการ มมังการ
ปัญหา บุคคลรู้เห็นอย่างไร จึงจะไม่มีความยึดถือว่ามีเรา (อหังการ) ความยึดถือว่าเป็นของเรา (มมังการ) และอนุสัยคือความถือตัว (มานานุสัย) ในกายที่มีวิญญาณนี้ และสรรพนิมิตภายนอก?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนราธะ รูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ อย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ใกล้หรือไกล อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็น รูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ ทั้งหมดนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เรา นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา ดูก่อน ราธะ บุคคลรู้เห็นอย่างนี้แล จึงไม่มีอหังการ มมังการ และมานานุสัย ในกายที่มีวิญญาณนี้ และในสรรพนิมิตภายนอก...”

ราธสูตร ขันธ


🔅 เทพเจ้าอมตะมีหรือไม่
ปัญหา ศาสนาบางศาสนาเชื่อว่ามีเทวดาที่มีอมตะเที่ยงแท้ แน่นอน ในเรื่องนี้ พระพุทธศาสนามีทัศนะอย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พญาสีหมฤคราชออกจากที่อาศัยในเวลาเย็นแล้วเหยียดกาย แล้วเหลียวแลดูทิศทั้ง ๔ โดยรอบ แล้วบันลือสีหนาท ๔ ครั้งแล้วออกเดินไปเพื่อหากิน.... พวกสัตว์ดิรัจฉานทุกหมู่เหล่าได้ยินเสียงพญาสีหมฤคราชบันลือสีหนาท อยู่ โดยมากย่อมถึงความกลัว... พญาสีหมฤคราชมีฤทธิ์ศักดานุภาพยิ่งใหญ่กว่าสัตว์ดิรัจฉานทั้งหลายเช่นนี้แล
“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อพระตถาคตอรหัตสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จอุบัติขึ้นในโลกพระองค์ทรงแสดงธรรมว่า รูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ เป็นดังนี้ เหตุเกิดขึ้นแห่งรูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ เป็นดังนี้ ความดับแห่งรูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ เป็นดังนี้ แม้เทวดาทั้งหลายที่มีอายุยืน มีวรรณะมากด้วยความสุข ซึ่งดำรงอยู่ได้นานในวิมานสูง ได้สดับธรรมเทศนาของพระตถาคตแล้ว โดยมากต่างก็ถึงความกลัว ความสังเวช ความสะดุ้ง ว่าผู้เจริญทั้งหลายได้ยินว่าเราทั้งหลายเป็นผู้ไม่เที่ยง แต่เข้าใจว่าแน่นอน... ได้ยินว่า ถึงพวกเราก็เป็นผู้ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่แน่นอน ติดยู่ในกายตน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตมีฤทธิ์ศักดานุภาพยิ่งใหญ่กว่าโลก กับเทวโลกเช่นนี้แล”

สีหสูตร ขันธ


🔅 จำชาติก่อนได้ คือจำขันธ์ ๕ ได้
ปัญหา การที่บุคคลบางคนสามารถระลึกชาติก่อนได้นั้น เขาระลึกอะไรได้ และระลึกอย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด เหล่าหนึ่ง.... ย่อมตามระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมด ก็ย่อมตามระลึกถึงอุปาทานขันธ์ ทั้ง ๕ หรือ ขันธ์ ใดขันธ์หนึ่ง... คือ ย่อมตามระลึกถึง รูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ ดังนี้วาในอดีตกาลเราเป็นผู้มี รูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ อย่างนี้....”

ขัชชนิสูตร


🔅 ความหมายของขันธ์แต่ละอย่าง
ปัญหา คำว่า รูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ แต่ละอย่างมีความหมายอย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะอะไรจึงเรียกว่ารูป เพราะกระทบกระทั่ง (คำบาลีว่า รุปฺปติ อรรถกถาแปลไว้หลายอย่าง เช่น เบียดเบียน กระทบ กดขี่ ทำลาย หรือแตกสลาย ใน ตท. แปลไว้ว่า สลายไป) จึงเรียกว่ารูป กระทบกระทั่งกับอะไร กระทบกระทั่งกับหนาวบ้าง ร้อนบ้าง หิวบ้าง กระหายบ้าง เพราะสัมผัสแหงเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลานบ้าง

“เพราะอะไรจึงเรียกว่า เวทนา เพราะรู้สึกอะไร รู้สึกเป็นสุขบ้าง รู้สึกเป็นทุกข์บ้าง รู้สึกกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง

“เพราะอะไรจึงเรียกว่า สัญญา เพราะจำได้หมายรู้ จึงเรียกว่าสัญญา จำได้หมายรู้อะไร จำได้หมายรู้สีเขียวบ้าง สีเหลืองบ้าง สีแดงบ้าง สีขาวบ้าง

“เพราะอะไรจึงเรียกว่า สังขาร เพราะปรุงแต่ง สังขตธรรม จึงเรียกว่าสังขาร ปรุงแต่งสังขตธรรมคืออะไร ปรุงแต่งสังขตธรรมคือ รูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ

“เพราะอะไรจึงเรียกว่า วิญญาณ เพราะรับรู้ (ตท. แปลว่า รู้แจ้ง) จึงเรียกว่าวิญญาณ รับรู้อะไร รับรู้รสเปรี้ยวบ้าง รสขมบ้าง รสเผ็ดบ้าง รสหวานบ้าง รสขื่นบ้าง รสไม่ขื่นบ้าง รสเค็มบ้าง รสไม่เค็มบ้าง”

ขัชชนิสูตร


🔅 วิธีสร้างความหน่ายในขันธ์
ปัญหา เราควรจะพิจารณาขันธ์ ๕ อย่างไร จึงจะเกิดความเบื่อหน่ายในขันธ์ ๕?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้แล้ว ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า บัดนี้เราถูก รูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ เคี้ยวกินอยู่ แม้ในอดีตกาลเราก็ถูกรูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ กินแล้วถ้าเราชื่นชมรูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ ในอนาคต.... เราก็ถึงถูกรูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ กิน เหมือนกับที่ถูกกินอยู่ในปัจจุบันนี้ เธอพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมไม่มีความอาลัยในรูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ ที่เป็นอดีต ย่อมไม่ชื่นชมรูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ ที่เป็นอนาคต ย่อมปฏิบัติเพ่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับรูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ ปัจจุบัน”

ขัชชนิสูตร


🔅 วิธีรุนแรงในการสอน
ปัญหา พระพุทธเจ้าได้ทรงใช้วิธีรุนแรงในการอบรมพระภิกษุสงฆ์ จนบางครั้งต้องทรงแก้ไขใหม่หรือไม่?

คำตอบ “.....สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม ใกล้เมืองกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงขับไล่ภิกษุสงฆ์ เพราะเหตุเรื่องหนึ่ง.... ในเวลาหลังภัตตาหาร..... เสด็จไปยังป่ามหาวัน เพื่อประทับพักในกลางวัน.... ณ โคนต้นมะตูมหนุ่ม... ได้เกิดพระปริวิตกขึ้นว่า เราแลได้ขับไล่ภิกษุสงฆ์ให้ไปแล้ว ในภิกษุสงฆ์เหล่านั้น พวกภิกษุใหม่บวชยังไม่นานเพิ่งมาสู่ธรรมวินัยนี้มีอยู่ ก็เมื่อภิกษุเหล่านั้นไม่เห็นเรา พึงคลางแคลงใจ พึงมีใจแปรปรวนไปเหมือนลูกโคน้อยๆ เมื่อไม่เห็นแม่ พึงคลางแคลงใจ พึงมีใจแปรปรวนไปเหมือนลูกโคน้อยๆ เหมือนกับพืชที่ยังอ่อน ๆ ไม่ได้น้ำ พึงผันแปรไปเปลี่ยนแปรไป ถ้ากระไร เราพึงอนุเคราะห์ภิกษุสงฆ์ในบัดนี้ เหมือนกับที่ได้อนุเคราะห์มาแล้วเมื่อก่อนฉะนั้นเถิด....”

ปิณโฑลยสูตร


🔅 โลกประณามการบิณฑบาต
ปัญหา คนทั้งหลายมีทัศนคติต่อการออกบิณฑบาตของพระภิกษุอย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในบรรดาวิธีการเลี้ยงชีพทั้งหลาย การออกบิณฑบาตเป็นอาชีพต่ำทราม ภิกษุทั้งหลายย่อมได้รับคำแช่งด่าในโลกว่า “ท่านดีแต่อุ้มบาตรเที่ยวขอก้อนข้าว !”

ปิณโฑลยสูตร


🔅 ผู้บิณฑบาตควรคิดอย่างไร
ปัญหา ในการบิณฑบาตเลี้ยงชีพ พระภิกษุควรจะคิดอย่างไร และควรปฏิบัติตนอย่างไรจึงจะถูกต้อง ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรทั้งหลายมุ่งต่อประโยชน์ อาศัยอำนาจแห่งประโยชน์ จึงเข้าสู่ภาวะแห่งการเลี้ยงชีพด้วยบิณฑบาตนี้แล ไม่ใช่เป็นคนหนีราชทัณฑ์ หนีโจร ไม่ใช่มีหนี้ ไม่ใช้ผู้มีภัย ไม่ใช่ไม่มีอาชีพ....
“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรนี้บวชแล้วเพราะคิดว่า เราทั้งหลายถูก ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์โทมนัส อุปยาส ครอบงำแล้ว ถูกทุกข์ครอบงำแล้ว เป็นผู้มีทุกข์ประจำแล้ว ไฉนหนอ พึงทำที่สุดแห่งทุกข์ให้ปรากฏได้ .... แต่ว่ากุลบุตรนั้นมากไปด้วยความโลภจัด มีราคะแรงกล้าในกามทั้งหลาย มิจิตพยาบาท มีความดำริที่ถูกทำให้เสียหายแล้ว มีสติหลงลืมไม่มีสัมปชัญญะ มีใจไม่เป็นสมาธิ มีจิตผันแปร ไม่สำรวมอินทรีย์ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนเช่นนี้เสื่อมแล้วจากโภคะแห่งคฤหัสถ์ด้วยไม่ทำประโยชน์ คือความเป็นสมณะให้บริบูรณ์ด้วย เรากล่าวว่าเขาเปรียบด้วยดุ้นฟืน ในที่เผาศพซึ่งติดไฟทั้งสองข้าง ตรงกลางเปื้อนด้วยคูถ จะใช้เป็นฟืนในบ้านก็ไมได้ จะใช้เป็นฟืนในป่าก็ไม่ได้”

ปิณโฑลยสูตร


🔅 อุปาทานคือยึดถืออะไร
ปัญหา ในปฏิจจสมุปบาท มีอุปาทานคือความยึดถือเป็นช่วงสำคัญช่วงหนึ่ง ความยึดถือนั้นหมายถึงยึดถืออะไร?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้แล้ว.... ย่อมทราบชัดอย่างนี้ว่า เรายึดถือสิ่งใดในโลกอยู่ พึงเป็นผู้ไม่มีโทษ สิ่งนั้นไม่มีเลย เธอย่อมทราบชัดอย่างนี้ ก็เราเมื่อยึดถือ พึงยึดถือ รูป....เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณนั้นเอง เพราะความยึดถือเป็นปัจจัย ภพพึงมีแก่เรา เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติพึงมี เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงมีชรา มรณะโสกะ ปริเทวะทุกข์ โทมนัส อุปายาส ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ พึงมีได้ด้วยประการอย่างนี้

ปิณโฑลยสูตร


🔅 รู้อย่างไร อาสวะจึงจะสิ้น
ปัญหา ทางพุทธศาสนาถือว่า ความรู้เห็นแจ้งจะทำให้อาสวะ ทั้งหลายสิ้นไปได้ รู้อย่างไร เห็นอย่างไร อาสวะทั้งหลายจึงจะสิ้นไป?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนในโลกนี้ผู้มิได้รับรู้แล้ว....ย่อมพิจารณาเห็น รูป....เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ ว่าเป็นตน.... ก็การพิจารณาเห็นดังนั้นและเป็นสังขาร... สังขาร... สังขารนั้นเกิดจากตัณหา ตัณหานั้นเกิดจากเวทนา เวทนานั้นเกิดจากการถูกต้องแห่งอวิชชา...
“ปุถุชน ย่อมไม่พิจารณาเห็น รูป....เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ ว่าเป็นตน.... แต่พิจารณาเห็นว่าตนมีรูป....เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ การพิจารณาเห็นดังนั้นก็เป็นสังขาร
“ปุถุชน ย่อมไม่พิจารณาเห็น รูป....เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ ว่าเป็นตน.... ย่อมไม่พิจารณาเห็นว่าตนมีรูป....เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ แต่พิจารณาเห็นรูป....เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ ก็การพิจารณาเห็นดังนั้นก็เป็นสังขาร
“ปุถุชน ย่อมไม่พิจารณาเห็น รูป....เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ ว่าเป็นตน.... ย่อมไม่พิจารณาเห็นว่าตนมีรูป....เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ ย่อมไม่พิจารณาเห็นรูป....เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ แต่ว่าพิจารณาเห็นตนในรูป....เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ ก็การตามเห็นดังนั้นแลเป็นสังขาร
“ปุถุชน ย่อมไม่พิจารณาเห็น รูป....เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ ว่าเป็นตน.... แต่มีความเห็นอย่างนี้ว่า ตนก็อันนั้น โลกก็อันนั้น เรานั้นละโลกนี้ไปแล้วจักเป็นผู้เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง มีความเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา... ก็มีความเห็นว่าเที่ยงแท้เช่นนั้นก็เป็นสังขาร...
“ปุถุชน ย่อมไม่พิจารณาเห็น รูป....เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ ว่าเป็นตน.... เป็นผู้ไม่มีความเห็นเช่นนี้ว่า ตนก็อันนั้น โลกก็อันนั้น แต่ว่าเป็นผู้มีความเห็นอย่างนี้ว่า ถ้าเราพึงมีของ ของเราก็ไม่พึงมี เราจักไม่มีของ ของเราก็จักไม่มี.... ก็ความเห็นว่าขาดสูญเช่นนั้นก็เป็นสังขาร...
“ปุถุชน... เป็นผู้ไม่มีความเห็นว่า ถ้าเราไม่พึงมีของของเราก็ไม่พึงเรา
เราจักไม่มีของ ของเราก็จักไม่มี.... แต่ว่ายังเป็นผู้มีความสงสัยเคลือบแคลง ไม่แน่ใจสัทธรรม.... ก็ความเห็นผู้มีความสงสัยเคลือบแคลง...เช่นนั้นก็เป็นสังขาร....
“ก็สังขารนั้นมีอะไรเป็นเหตุ? สังขารนั้นเกิดจากตัณหา ตัณหาเกิดจากเวทนา เวทนาเกิดจากการถูกต้องแห่งอวิชชา ด้วยประการฉะนี้แล แม้สังขารนั้นก็ไม่เที่ยง มีปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยเหตุเกิดขึ้นแม้ ตัณหา เวทนา ผัสสะ อวิชชา นั้นไม่เที่ยง มีปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยเหตุเกิดขึ้น
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ อาสวะทั้งหลายย่อมสิ้นไปโดยลำดับ”

ปาลิเลยยสูตร


🔅 อุปาทานกับอุปาทานขันธ์ ๕
ปัญหา อุปาทานกับอุปาทานขันธ์ ๕ เป็นอันเดียวกันหรือต่างกัน ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุปาทานก็อันนั้น และ อุปาทานขันธ์ ๕ ก็อันนั้น หามิได้ และอุปาทานเป็นอื่นจากอุปาทานขันธ์ ๕ ก็หามิได้ แต่ความยินดีและความกำหนัดในอุปาทานขันธ์ ๕ นั้นแลเป็นอุปาทาน”

ปุณณมสูตร


🔅 พระอรหันต์สิ้นชีพแล้วไปไหน
ปัญหา พระอรหันต์ผู้สิ้นกิเลสอาสวะแล้ว เมื่อสิ้นชีพดับขันธ์ ย่อมขาดสูญหมดสิ้นไป ไม่เกิดอีกใช่หรือไม่?

พระสารีบุตรตอบ “.....ดูก่อนท่านยมกะ รูป....เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง?
พระยมกะ “ไม่เที่ยง ท่านสารีบุตร”

พระสารีบุตร “.....ดูก่อนท่านยมกะท่านเห็นว่า รูป....เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ เป็นสัตว์เป็นบุคคลหรือ?
พระยมกะ “ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านสารีบุตร”

พระสารีบุตร “.....ดูก่อนท่านยมกะท่านเห็นว่าสัตว์บุคคลมีใน รูป....เวทนา...สัญญา... สังขาร... วิญญาณ หรือไม่?
พระยมกะ “ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านสารีบุตร”

พระสารีบุตร “.....ดูก่อนท่านยมกะท่านเห็นว่าสัตว์บุคคลนี้นั้นไม่มีมี รูป....เวทนา...สัญญา... สังขาร... วิญญาณ หรือ?
พระยมกะ “ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านสารีบุตร”

พระสารีบุตร “.....ดูก่อนท่านยมกะ โดยที่จริง โดยที่แท้ ท่านจะค้นหาสัตว์ บุคคลในขันธ์ ๕ เหล่านี้ในปัจจุบันชาตินี้ก็ยังไม่ได้ ควรแลหรือที่ท่านจะยืนยันว่า.... พระขีณาสพเมื่อตายไปแล้ว ย่อมหายสูญ ย่อมหมดสิ้นไป ย่อมไม่เกิดอีก.... ดูก่อนท่านยมกะ ถ้าชนเหล่าพึงถามท่านว่า ภิกษุผู้เป็นอรหันต์ขีณาสพ เมื่อตายไปแล้วเป็นอย่างไร ท่าน.... จะพึงกล่าวแก้ว่าอย่างไร?”
พระยมกะ “ข้าแต่ท่านสารีบุตร ผมฟังกล่าวแก้อย่างนี้ว่ารูป....เวทนา...สัญญา... สังขาร... วิญญาณไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นดับไปแล้ว ถึงความตั้งอยู่ไม่ได้แล้ว”

พระสารีบุตร “.....ดูก่อนท่านยมกะ พระอริยสาวกผู้ใดเรียนรู้แล้ว ฉลาดในอริยธรรม ย่อมไม่เห็น รูป....เวทนา...สัญญา... สังขาร... วิญญาณ ว่าเป็นตน ย่อมไม่เห็นตนมีรูป....เวทนา...สัญญา... สังขาร... วิญญาณ ย่อมไม่เห็นรูป....เวทนา...สัญญา... สังขาร... วิญญาณ ในตน ย่อมไม่เห็นตนในรูป....เวทนา...สัญญา... สังขาร... วิญญาณ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งรูป....เวทนา...สัญญา... สังขาร... วิญญาณอันไม่เที่ยงว่าไม่เที่ยง อันเป็นทุกข์ว่าเป็นทุกข์ อันเป็นอนัตตาว่าเป็นอนัตตา อันปัจจัยปรุงแต่งว่าปัจจัยปรุงแต่ง อันเป็นผู้ฆ่าว่าเป็นผู้ฆ่า เขาย่อมเข้าไปยึดมั่นถือมั่นซึ่ง รูป....เวทนา...สัญญา... สังขาร... วิญญาณ ว่าเป็นตัวตนของเรา อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านั้นอันอริยสาวกไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุขตลอดกาลนาน”

ยมกสูตร


🔅 พระพุทธเป็นหนึ่งกับพระธรรม
ปัญหา มีผู้กล่าวว่าพระพุทธเจ้ากับพระธรรม (โลกุตรธรรม) เป็นอันเดียวกัน ถ้าเห็นอย่างหนึ่ง ก็เห็นอีกอย่างหนึ่ง จริงหรือไม่?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนวิกกลิ ผู้ใดแลเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม วิกกลิเป็นความจริง บุคคลเห็นธรรมก็ย่อมเห็นเรา บุคคลเห็นเราก็ย่อมเห็นธรรม....”

วิกกลิสูตร


🔅 วิธีคิดเมื่อเสวยสุข-ทุกข์
ปัญหา เมื่อได้เสวยสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรือทุกขมสุขเวทนา (ความรู้สึกกลางๆ ไม่สุขไม่ทุกข์) ควรจะกระทำจิตใจอย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนอัสสชิ อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้แล้ว ได้เสวยสุขเวทนา ก็ทราบชัดว่า สุขเวทนานั้นไม่เที่ยง ไม่น่าพอใจ ไม่น่าเพลิดเพลิน หากว่าเสวยทุขเวทนาก็ทราบชัดว่า ทุขเวทนานั้นไม่เที่ยง ไม่น่าพอใจ ไม่น่าเพลิดเพลิน หากว่าเสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็ทราบชัดว่าทุกขมสุขเวทนานั้นไม่เที่ยง ไม่น่าพอใจ ไม่น่าเพลิดเพลิน

“หากว่าเสวยสุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุขมสุขเวทนาก็ปราศจากความยินดียินร้าย หากว่าเสวยเวทนา อันเป็นที่สุดแห่งกำลังกาย ก็ทราบชัดว่าเสวยเวทนาอันเป็นที่สุดแห่งกำลังกาย ถ้าเสวยเวทนาอันเป็นที่สุดแห่งชีวิต ก็ทราบชัดว่าเสวยเวทนาอันเป็นที่สุดแห่งชีวิต ก่อนแต่จะสิ้นชีวิตเพราะกายแตกทำลาย ความเสวยอารมณ์ทั้งมวลในโลกนี้ไม่น่ายินดีจักเป็นของเย็น.... อุปมาเหมือนประทีปน้ำมันจะพึงติดอยู่ได้ เพราะอาศัยน้ำมันและไส้ ประทีปน้ำมันไม่มีเชื้อเพราะหมดน้ำมันและไส้ ก็พึงดับไป....”

อัสสชิสูตร


🔅 อุปาทานขันธ์กับ "เรา"
ปัญหา “เรา” กับอุปาทานขันธ์ ๕ มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร ?

พระเขมกะตอบ “.....ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ผมไม่กล่าว รูป....เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณว่าเป็นเรา ทั้งไม่กล่าวว่า เรามีนอกจาก รูป....เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ แต่ผมเข้าใจว่า เรามีในอุปาทานขันธ์ ๕ แต่ผมไม่ได้ถือว่าเราเป็น (ขันธ์ ๕ ) นี้ เปรียบเหมือนกลิ่นดอกอุบลก็ดี กลิ่นดอกปทุมก็ดี กลิ่นดอกบุณฑริกก็ดี ผู้ใดหนอจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่ากลิ่นกลิ่น กลิ่นสีหรือว่ากลิ่นเกสร...
“ดูก่อนท่านผู้มีอายุ สังโยชน์ส่วนเบื้องต่ำ ๕ พระอริยสาวกละได้แล้วก็จริง แต่ท่านก็ยังถอนมานะ ฉันทะ อนุสัยอย่างละเอียดในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่า “เรามีอยู่” ไม่ได้ ในสมัยต่อมา ท่านพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในอุปาทานขันธ์ ๕ มานะ ฉันทะ อนุสัยที่ว่า “เรามีอยู่” นั้น ที่ยังถอนไม่ได้ ก็ย่อมถึงการเพิกถอนได้ ... เปรียบเหมือนผ้าเปื้อนเปรอะด้วยมลทินเจ้าของมอบผ้านั้นให้แก่ช่างซักฟอก ช่างซักฟอกขยี้ผ้านั้นในน้ำด่างขี้เถ้า ในน้ำต่างเกลือหรือในโคมัย แล้วเอาซักในน้ำใสสะอาด ผ้านั้นเป็นของสะอาด ขาวผ่องก็จริง แต่ยังไม่หมดกลิ่นน้ำด่างขี้เถ้า กลิ่นน้ำด่างเกลือหรือกลิ่นโคมัยที่ละเอียด ช่างซักฟอกมอบผ้านั้นให้แก่เจ้าของ เจ้าของเก็บผ้านั้นใส่ไว้ในหีบอบกลิ่น แม้กลิ่นนันก็หายไป”

เขมกสูตร


🔅 แนวคิดเรื่องทวินิยม
ปัญหา พระพุทธเจ้าทรงมีทัศนะอย่างไรเกี่ยวกับ “ความมีอยู่” และ ความไม่มีอยู่” อันเป็นปัญหาทางปรัชญาที่ลึกซึ้ง?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนกัจจานะ ชาวโลกโดยมากติดอยู่ในทวินิยม ยึดถือความมีอยู่ ๑ ความไม่มี ๑ ก็เมื่อบุคคลเห็นความเกิดขึ้นแห่งโลก ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง ความไม่มีในโลกนี้ ย่อมไม่มี เมื่อบุคคลเห็นความดับแห่งโลกด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง ความมีในโลกย่อมไม่มี ชาวโลกส่วนมากยึดมั่นถือมั่นในระบบและลัทธิต่าง ๆ แต่อริยสาวก ย่อมไม่เข้าถึง ไม่ถือมั่น ไม่ตั้งไว้ ซึ่งการยึดถือในระบบ ซึ่งอนุสัยคือจุดยืน และลัทธิว่า “นั่นคืออัตตาของเรา” ย่อมไม่สงสัย ไม่เคลือบแคลง ในข้อที่ว่า “ทุกข์เหล่านั้นเมื่อเกิดขึ้นย่อมเกิดขึ้น ทุกข์เมื่อจะดับไปย่อมดับไป” อริยสาวกย่อมมีญาณหยั่งรู้ในเรื่องนี้โดยไม่ต้องเชื่อผู้อื่นเลย

“ดูก่อนกัจจานะ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล จึงชื่อว่า สัมมาทิฏฐิ ดูก่อนกัจจานะ มีความเห็นสุดโต่งอยู่ ๒ อย่าง คือ ความเห็นสุดต่างอันหนึ่งที่ว่า “สิ่งทั้งปวงมีอยู่” และความเห็นสุดโต่งที่สองว่า “สิ่งทั้งปวงย่อมไม่มี” ตถาคตแสดงธรรมโดยสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ส่วนสุดทั้ง ๒ นั้นว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ ฯลฯ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวล นี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้ เพราะอวิชชานั่นแหละดับด้วยสิ้นราคะโดยไม่มีอะไรเหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับวิญญาณจึงดับ ฯลฯ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้....”

ฉันนสูตร


🔅 ผู้ไม่วิวาทกับใคร
ปัญหา มีผู้กล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงขัดแย้งกับโลกในการสั่งสอน จริงหรือไม่?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่ทะเลาะวิวาทกับโลกแต่โลกย่อมวิวาทกับเรา บุคคลผู้สอนแต่ธรรมอยู่ไม่วิวาทกับใครๆ ในโลก สิ่งใดที่บัณฑิตในโลกสมมติว่าไม่มี แม้เราก็กล่าวสิ่งนั้นว่าไม่มี สิ่งในที่บัณฑิตในโลกสมมติว่ามี แม้เรากล่าวสิ่งนั้นว่ามี..””
“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดที่บัณฑิตในโลกสมมติว่าไม่มี คืออะไร? คือ รูปที่เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง มีความไม่แปรปรวนเป็นธรรมดา บัณฑิตในโลกสมมติว่าไม่มี แม้เราก็กล่าวรูปนั้นว่าไม่มี เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เที่ยง ยั่งยืน โลกสมมติว่าไม่มี แม้เราก็กล่าวว่าไม่มี....
“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดที่บัณฑิตในโลกสมมติว่ามี คืออะไร? คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ที่บัณฑิตในโลกสมมติว่ามี แม้เราก็กล่าวว่า มี....

ปุปผสูตร


🔅 อุปมาของขันธ์ ๕
ปัญหา เราจะอธิบายขันธ์ ๕ โดยเปรียบเทียบกับอะไร จึงจะเป็นที่เข้าใจแจ่มแจ้ง ?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำคงคานี้พึงนำลุ่มฟองน้ำใหญ่มา บุรุษผู้มีจักษุ พึงพิจารณากลุ่มฟองน้ำใหญ่นั้นโดยแยบคาย เมื่อบุรุษนั้นพิจารณาอยู่ กลุ่มฟองน้ำนั้นพึงปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้เลย แม้ฉันใดรูปอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อภิกษุพิจารณาอยู่โดยแยบคายรูปนั้นย่อมปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิเลย ฉันนั้นเหมือนกัน
“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อฝนเม็ดใหญ่ตกลงในฤดูใบไม้ร่วง (สารทสมัย) ฟองน้ำในน้ำย่อมบังเกิดขึ้นและดับไป บุรุษผู้มีจักษุ พึงพิจารณากลุ่มฟองน้ำใหญ่นั้นโดยแยบคาย เมื่อบุรุษนั้นพิจารณาอยู่ กลุ่มฟองน้ำนั้นพึงปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้เลย แม้ฉันใดเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อภิกษุพิจารณาอยู่โดยแยบคายรูปนั้นย่อมปรากฏเป็นของว่างเปล่า แม้ฉันนั้น
“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อเดือนสุดท้ายแห่งฤดูร้อนยังอยู่ พยับแดดย่อมเต้นระยิบระยับในเวลาเที่ยง เมื่อบุรุษพิจารณาโดยแยบคาย พยับแดดนั้นพึงปรากฏเป็นของว่างเปล่า แม้ฉันนั้น สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อภิกษุพิจารณาอยู่โดยแยบคายรูปนั้น ย่อมปรากฏเป็นของว่างเปล่า ฉันนั้นเหมือนกันแล
“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้มีความต้องการด้วยไม่แก่น ถือเอาจอบอันคมพึงเข้าไปสู่ป่า พึงเห็นต้นกล้วยขนาดใหญ่ ลำต้นตรง ยังอ่อน ยังไม่เกิดแกน พึงตัดโคน ตัดปลาย ปอกกาบใบออก ไม่พึงได้แม้แต่กระพี้ในต้นกล้วยนั้น เมื่อบุรุษพิจารณาโดยแยบคาย ต้นกล้วยนั้นย่อมปรากฏเป็นของว่างเปล่า แม้ฉันใด สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล
“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นักเล่นกล พึงเล่นกลที่หนทางใหญ่ ๔ แพร่งเมื่อบุรุษพิจารณาโดยแยบคาย กลนั้นพึงปรากฏเป็นของว่างเปล่า แม้ฉันใด วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมปรากฏเป็นของว่างฉันนั้นเหมือนกันแล”

เผณปิณฑสูตร


🔅 จิตสร้างความวิจิตร
ปัญหา เพราะเหตุใดขันธ์ ๕ ของคนและของดิรัจฉานจึงมีความวิจิตรแตกต่างกันออกไป ใครเป็นผู้สร้างความวิจิตรเหล่านั้น?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภาพวิจิตรที่ชื่อว่าจรณะ เธอทั้งหลายเห็นแล้วหรือ? ภาพวิจิตรชื่อจรณะแม้นั้นแล จิตเป็นผู้คิดขึ้นเพราะเหตุนั้น จิตนั้นแหละจึงวิจิตรกว่าภาพวิจิตรชื่อจรณะนั้น....
“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่พิจารณาเห็นหมู่สัตว์อื่นแม้หมู่หนึ่ง ซึ่งวิจิตรเหมือนสัตว์ในกำเนิดดิรัจฉาน... แม้สัตว์ในกำเนิดดิรัจฉานเหล่านั้นก็เป็นผู้ถูกจิตคิดขึ้นแล้ว เพราะเหตุนั้นแล ภิกษุทั้งหลาย จิตนั้นเองจึงวิจิตรกว่าสัตว์ในกำเนิดดิรัจฉาน...
“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ช่างย้อมหรือช่างเขียนเมื่อมีเครื่องย้อมก็ดี ครั่งก็ดี ขมิ้นก็ดี สีเขียวก็ดี สีแดงก็ดี ทั้งเขียนรูปสตรีหรือรูปบุรุษ มีอวัยวะใหญ่น้อยครบทุกส่วน ลงที่ผ่านกระดาษเกลี้ยงเกลา หรือที่ฝาหรือที่แผ่นผ้า แม้ฉันใด ปุถุชนผู้ไม่ได้เรียนรู้ ย่อมสร้างรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั่นแหละ ให้เกิดขึ้น”


คัททูลสูตร


🔅 หวังแต่ไม่ทำก็หมดหวัง
ปัญหา การตั้งความปรารถนาด้วยใจเฉยๆ จะทำให้คนสามารถบรรลุมรรคผลได้หรือไม่ ? ควรปฏิบัติอย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไข่ไก่ ๙ ฟอง หรือ ๑๒ ฟอง อันแม่ไก่ไม่นอนทับด้วยดี ไม่กกด้วยดี ไม่ฟักด้วยดี แม่ไก่นั้นถึงจะเกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า ขอลูกของเราพึงทำลายเปลือกไข่ด้วยปลายเล็บเท้า หรือด้วยจะงอยปากออกมาโดยสวัสดี ถึงอย่างนั้น ลูกไก่เหล่านั้นก็ไม่สามารถจะทำลายเปลือกไข่ ออกมาโดยสวัสดีได้ แม้ฉันใด
“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไม่ประกอบความเพียรในภาวนา ถึงจะเกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า ขอจิตของเราพึงพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่นจิตของเธอย่อมไม่พ้นไปจากอาสวะ ได้เลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเธอไม่อบรม เพราะไม่อบรมอะไร เพราะไม่อบรมสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘
“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุประกอบความเพียรในภาวนาอยู่ ถึงจะไม่เกิดความปรารถนาอย่างนี้ จิตย่อมพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น (เหมือน) ไข่ไก่ ๘ ฟอง ๑๐ ฟอง ๑๒ ฟอง อันแม่ไก่นอนทับด้วยดี ฟักด้วยดี แม่ไก่นั้นถึงจะไม่เกิดความปรารถนาว่า ขอลูกของเราพึงทำลายเปลือกไข่ออกมา โดยสวัสดี ลูกไก่เหล่านั้นก็สามารถทำลายเปลือกไข่ออกมาได้โดยสวัสดี”

นาวาสูตร 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น