เวทนาสังคหะ

แสดงการรวบรวมจิต เจตสิก โดยประเภทแห่งเวทนา ชื่อว่า “เวทนาสังคหะ”

คาถาสังคหะ
สุขํ ทุกฺขมุเปกฺขาติ   ติวิธา ตตฺถ เวทนา
โสมนสฺสํ โทมนสฺส   มิติ เภเทน ปญฺจธา ฯ

แปลความว่า ในเวทนาสังคหะนั้น ว่าโดยอารัมมณานุภวนลักขณะ คือตามประเภทแห่งอารมณ์แล้ว มีเวทนา ๓ อย่าง คือ ๑. สุขเวทนา ๒. ทุกขเวทนา ๓. อุเบกขาเวทนา เมื่อว่าโดยอินทริยเภท คือ ประเภทความเป็นใหญ่ของเครื่องรับอารมณ์แล้ว มีเวทนา ๕ อย่าง คือ เพิ่ม โสมนัสเวทนา และ โทมนัสเวทนา รวมเข้าด้วยกัน จึงเป็นเวทนา ๕

อธิบาย “เวทนา” เป็นเจตสิกปรมัตถ์อย่างหนึ่ง ซึ่งมีการเป็นไปโดยอาการเสวยอารมณ์ เป็นลักษณะ หรือเป็นธรรมชาติที่มีความรู้สึกต่อบรรดาอารมณ์ต่าง ๆ ที่มาปรากฏ การสงเคราะห์จิต เจตสิก โดยประเภทแห่งเวทนานี้ มีแสดงไว้เป็น ๒ นัย คือ

นัยที่ ๑ แสดงโดย อารัมมณานุภวนลักขณนัย คือ นัยที่แสดงการเสวยอารมณ์ ตามประเภทของอารมณ์ นัยที่ ๒ แสดงโดย อินนทริยเภทนัย คือ นัยที่แสดงถึงสภาพความเป็นใหญ่ในการเสวยอารมณ์ ตามประเภทของเครื่องรับอารมณ์


นัยที่ ๑ อารัมมณานุภวนลักขณนัย
มีเวทนา ๓
ในบรรดาอารมณ์ ๖ คือ รูป, เสียง, กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะและธัมมารมณ์ที่สัตว์ทั้งหลายได้รับอยู่นี้ แบ่งออกได้เป็น ๓ ประเภท คือ :-
๑. อิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่ดี
๒. อนิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่ไม่ดี
๓. มัชฌัตตารมณ์ คือ อารมณ์ปานกลาง

ความรู้สึกในการเสวยอารมณ์ของสัตว์นั้น ย่อมเป็นไปตามประเภทของอารมณ์ คือ :-

๑. ขณะที่กำลังเสวยอิฏฐารมณ์อยู่นั้น ก็รู้สึกสบายกาย สบายใจ ความรู้สึกสบายกายสบายใจนี้ เรียกว่า “สุขเวทนา”
๒. ขณะที่กำลังเสวยอนิฏฐารมณ์อยู่นั้น ก็รู้สึกไม่สบายกาย หรือไม่สบายใจ ความรู้สึกไม่สบายนี้ เรียกว่า “ทุกขเวทนา”
๓. ขณะที่กำลังเสวยมัชฌัตตารมณ์อยู่นั้น รู้สึกเฉย ๆ ไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ทั้งกายและใจ ความรู้สึกเฉยๆ ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุขนี้ เรียกว่า “อทุกขมสุขเวทนา”

แสดงการจำแนกจิต ๑๒๑ โดยเวทนา ๓ (อารัมมณานุภวนลักขณนัย)
๑. จิตที่เกิดพร้อมกับสุขเวทนา ทั้งสุขกายและสุขใจ มี ๖๓ ดวง คือ
- สุขสหคตกายวิญญาณ ๑ ดวง
- โสมนัสสหคตจิต ๖๒ ดวง

๒. จิตที่เกิดพร้อมกับทุกขเวทนา คือ ความทุกข์กายและทุกข์ใจมี
- ทุกขสหคตกายวิญญาณ ๑ ดวง
-โทมนัสสหคตจิต ๒ ดวง

๓. จิตที่เกิดพร้อมกับอทุกขมสุขเวทนา คือ ความไม่ทุกข์และไม่สุข ทั้งกายและใจ เรียกว่า อุเบกขาเวทนา มี ๕๕ ดวง คือ 


นัยที่ ๒ อินทริยเภทนัย มีเวทนา ๕

คาถาสังคหะ
สุขเมกตฺถ ทุกฺขกฺจ   โทมนสฺสํ ทฺวเย ฐิตํ
ทฺวาสฏฐีสุ โสมนสฺสํ   ปญฺจปญฺญาสเกตรา ฯ

แปลความว่า สุขเวทนา ๑, ทุกขเวทนา ๑, โทมนัสเวทนา ๒, โสมนัสเวทนา ๖๒, อุเบกขาเวทนา ๕๕ (กล่าวโดยอินทริยเภทนัย)

อินนทริยเภทนัย คือ นัยที่แสดงการเสวยอารมณ์ ตามประเภทความเป็นใหญ่แห่งเครื่องรับอารมณ์ กล่าวคือ การเสวยอารมณ์ของบรรดาสัตว์ทั้งหลายนั้นย่อมปรากฏชัด ทางกายบ้าง และทางใจบ้าง เรียกความปรากฏชัดในการเสวยอารมณ์นี้ว่า ความเป็นใหญ่ในการเสวยอารมณ์ซึ่งปรากฏได้ ๒ ทาง คือ ทางกาย และทางใจ

ความรู้สึกสบายทางกายนั้น เวทนาเจตสิก ที่เกิดพร้อมกับสุขสหคตกายวิญญาณนั้น เป็นใหญ่ เป็นผู้ปกครอง ในการเสวยอารมณ์ที่สบายกาย เรียกเวทนานั้นว่า “สุขเวทนา”

ความรู้สึกไม่สบายทางกายนั้น เวทนาเจตสิก ที่เกิดพร้อมกับทุกขสหคตกายวิญญาณนั้น เป็นใหญ่ เป็นผู้ปกครอง ในการเสวยอารมณ์ที่ไม่สบายกาย เรียกเวทนานั้นว่า “ทุกขเวทนา”

ความรู้สึกสบายใจนั้น เวทนาเจตสิกที่เกิดพร้อมกับโสมนัสสหคตจิตนั้น เป็นใหญ่ เป็นผู้ปกครอง ในการเสวยอารมณ์ที่สบายใจ เรียกเวทนานั้นว่า “โสมนัสเวทนา”

ความรู้สึกไม่สบายทางใจนั้น เวทนาเจตสิกที่เกิดพร้อมกับโทสมูลจิตนั้นย่อมเป็นใหญ่ เป็นผู้ปกครอง ในการเสวยอารมณ์ที่ไม่สบายใจ เรียกเวทนานั้นว่า “โทมนัสเวทนา”

ความรู้สึกเฉย ๆ ที่ปรากฏได้เฉพาะทางใจนั้น เวทนาเจตสิกที่เกิดพร้อมกับอุเบกขาสหคตจิต เป็นใหญ่ เป็นผู้ปกครอง ในการเสวยอารมณ์โดยรู้สึกเฉย ๆ เรียกเวทนานั้นว่า “อุเบกขาเวทนา”

รวมความว่า ความเป็นใหญ่ในการเสวยอารมณ์ของสัตว์ทั้งหลายที่ปรากฏทางกายกับทางใจนั้น มีเวทนาเกิดได้ ๕ อย่าง คือ :-

๑. ทางกาย 
- ความรู้สึกสบายกาย เรียกว่า สุขเวทนา
- ความรู้สึกไม่สบายกาย เรียกว่า ทุกขเวทนา

๒. ทางใจ
- ความรู้สึกสบายใจ เรียกว่า โสมนัสเวทนา
- ความรู้สึกไม่สบายใจ เรียกว่า โทมนัสเวทนา
- ความรู้สึกเฉยๆ เรียกว่า อุเบกขาเวทนา

แสดงเวทนา ๕ ที่เกิดพร้อมกับจิต ๑๒๑

๑. จิตที่เกิดพร้อมกับ สุขเวทนา (สุขกาย) มี ๑ ดวง ได้แก่ สุขสหคตกายวิญญาณ
๒. จิตที่เกิดพร้อมกับ ทุกขเวทนา (ทุกข์กาย) มี ๑ ดวง ได้แก่ทุกขสหคตกายวิญญาณ
๓. จิตที่เกิดพร้อมกับ โสมนัสเวทนา (สุขใจ) มี ๖๒ ดวง ได้แก่ กามโสมนัสสหคตจิต ๑๖ ดวง ฌานโสมนัสสหคตจิต ๔๔ ดวง
๔. จิตที่เกิดพร้อมกับ โทมนัสเวทนา (ทุกข์ใจ) มี ๒ ดวง ได้แก่ โทมนัสสหคตจิต (โทสมูลจิต)
๕. จิตที่เกิดพร้อมกับ อุเบกขาเวทนา (เฉยๆ) มี ๕๕ ดวง ได้แก่ กามอุเบกขาสหคตจิต ๓๒ ดวง ฌานอุเบกขาสหคตจิต ๒๓ ดวง

เวทนา กับ เจตสิก เวทนากับเจตสิก มีการแสดงเป็น ๒ นัย คือ :-
ก. แสดงว่า เวทนาใด เกิดกับเจตสิกอะไรได้บ้าง
ข. แสดงว่า เจตสิกใด เกิดกับเวทนาอะไรได้บ้าง

ก. เวทนาเกิดกับเจตสิก
สุขเวทนา เกิดได้กับ สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๖ (เว้นเวทนาเจตสิก)
ทุกขเวทนา เกิดได้กับ สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๖ (เว้นเวทนาเจตสิก)
โสมนัสเวทนา เกิดได้กับ เจตสิก ๔๖ ดวง คือ

  • อัญญสมานาเจตสิก ๑๒ (เว้นเวทนาเจตสิก)
  • อกุศลเจตสิก ๙ (เว้นโทจตุกะ ๔ วิจิกิจฉาเจตสิก ๑)
  • โสภณเจตสิก ๒๕

โทมนัสเวทนา เกิดได้กับ เจตสิก ๒๑ ดวง คือ

  • อัญญสมานาเจตสิก ๑๑ (เว้นเวทนา ปีติ) 
  • อกุศลเจตสิก ๑๐ (เว้นโลติกะ ๓, วิจิกิจฉาเจตสิก ๑)

อุเบกขาเวทนา เกิดได้กับ เจตสิก ๔๖ ดวง คือ

  • อัญญสมานาเจตสิก ๑๑ (เว้นเวทนา ปีติ)
  • อกุศลเจตสิก ๑๐ (เว้นโทจตุกะ ๔)
  • โสภณเจตสิก ๒๕

ข. เจตสิกที่เกิดพร้อมกับเวทนา
๑. เจตสิกที่เกิดพร้อมกับเวทนาอย่างเดียว มี ๖ ดวง คือ 
ปีติเจตสิก ๑ เกิดพร้อมกับ โสมนัสเวทนา อย่างเดียว
โทจตุกเจตสิก ๔ เกิดพร้อมกับ โทมนัสเวทนา อย่างเดียว
วิจิกิจฉาเจตสิก ๑ เกิดพร้อมกับ อุเบกขาเวทนา อย่างเดียว

๒. เจตสิกที่เกิดพร้อมกับเวทนา ๒ มี ๒๘ ดวง คือ :-
โลติกเจตสิก ๓ เกิดพร้อมกับโสมนัสเวทนาก็ได้
โสภณเจตสิก ๒๕ เกิดพร้อมกับอุเบกขาเวทนาก็ได้

๓. เจตสิกที่เกิดพร้อมกับเวทนา ๓ มี ๑๑ ดวง คือ :-
โมจตุกเจตสิก ๔ ถีนมิทธเจตสิก ๒ วิตกเจตสิก ๑ วิจารเจตสิก ๑  อธิโมกขเจตสิก ๑ วิริยเจตสิก ๑ ฉันทเจตสิก ๑ เจตสิก ๑๑ ดวงนี้ เกิดพร้อมกับโสมนัสเวทนา, โทมนัสเวทนาหรืออุเบกขาเวทนา อย่างใดก็ได้

๔.เจตสิกที่เกิดพร้อมกับเวทนา ๕ มี ๖ ดวง คือ สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๖ (เว้นเวทนาเจตสิก)

. เจตสิกที่ไม่เกิดพร้อมกับเวทนา มี ๑ ดวง คือเวทนาเจตสิก ๑