ปฏิจจสมุปบาท

ปฏิจจสมุปบาท เป็นหลักธรรมที่แสดงให้เห็นถึงกระบวนการเกิดการดำเนินไปและการดับไปของชีวิต รวมถึงการเกิด การดับแห่งทุกข์ด้วย ในกระบวนการนี้สิ่งทั้งหลายจะเกิดขึ้น เป็นอยู่ และดับลงไปในลักษณะแห่งความสัมพันธ์กันเป็นห่วงโซ่ เป็นเหตุเป็นปัจจัยแก่กันและกันในรูปของ วงจร กล่าวคือ เป็นกระบวนแห่งความสัมพันธ์กันเป็นห่วงโซ่ ในกระบวนแห่งปฏิจจสมุปบาทนั้นไม่มีส่วนไหนเป็นปฐมกรหรือปฐมเหตุ เพราะกระบวนการของชีวิตเป็นวัฏฏะแห่งกิเลส กรรม วิบาก ซึ่งกลายเป็นวัฏสงสาร แต่อย่างไรก็ตาม ในการพยายามอธิบายกระบวนการแห่งชีวิต ตามหลักปฏิจจสมุปบาทนี้ จำเป็นจะต้องหาจุดเริ่มต้นอธิบายให้เห็นว่า เป็นเหตุเป็นปัจจัยกันอย่างไรก่อน ดังนั้นท่านจึงสมมติเริ่มจากอวิชชา โดยอธิบายอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสิ่งอื่น ๆ ตามมาเป็นวัฏจักรนำไปสู่ทุกข์

ในทำนองเดียวกัน ถ้าอวิชชาดับไปไม่เหลือ ก็จะเป็นเหตุนำไปสู่การดับทุกข์ได้ในที่สุด เพราะความเป็นไปของชีวิตมีสภาวะเป็นวงจรที่เรียกว่าสงสารวัฏ ดังนั้นเบื้องต้นท่ามกลางและที่สุดของสังสารวัฏจึงไม่ปรากฏ ลักษณะอีกประการหนึ่งที่นับว่าเป็นหลักเกี่ยวกับความรู้ในพุทธปรัชญา ก็คือ พระพุทธองค์ก็ไม่ทรงแสวงหาความจริงทั้งหลาย ที่ไม่สามารถนำมาอธิบายได้ด้วยหลักปฏิจจสมุปบาท อันได้แก่ อัพยากตปัญหา คือปัญหาที่ไม่สามารถจะพิสูจน์ได้ด้วยประสบการณ์ของมนุษย์ เช่น ปัญหาเกี่ยวกับโลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง สัตว์ทั้งหลายหลังจากตายแล้วมีอยู่หรือไม่มีอยู่ ฯลฯ เป็นต้น เพราะความรู้เรื่องอภิปรัชญาเช่นนี้ไม่นำไปสู่ความสิ้นทุกข์และไม่มีผลในทางปฏิบัติสำหรับชีวิตจริง เป็นปัญหาที่อธิบายแล้วคนไม่อาจจะมองเห็นและเข้าใจได้


ความหมายของคำว่า "ปฏิจจสมุปบาท" คำว่า ปฏิจจสมุปบาท มาจากศัพท์ว่า ปฏิจจ สํ และ อุปปาท ปฏิจจ หมายถึง เกี่ยวเนื่องกัน สัมพันธ์กัน สํ หมายถึง พร้อมกัน หรือ ด้วยกัน อุปปาท หมายถึง การเกิดขึ้น ปฏิจจสมุปบาท จึงหมายถึง สิ่งที่อิงอาศัยกันเกิดขึ้น ได้แก่ ภาวะของสิ่งที่ไม่เป็นอิสระของตนต้องอาศัยกันและกันจึงเกิดขึ้นได้ คำว่า ปฏิจจสมุปบาท นี้ พระพุทธโฆษาจารย์ ได้แปลไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคว่า สภาวธรรมที่เกิดขึ้นได้เพราะอาศัยซึ่งกันและกัน ชื่อต่าง ๆ ของปฏิจจสมุปบาท ยังมีคำอื่น ๆ เรียกแทนคำว่า "ปฏิจจสมุปบาท" (คำอันเป็นไวพจน์) ได้อีก คือ

๑. ธัมมฐิตตา หรือ ธัมมฐิติ
คือ ความดำรงอยู่ตามธรรม หมายถึง ความดำรงอยู่ตามปัจจัย สิ่งที่ดำรงอยู่ตามปัจจัยนั้น ก็คือ อวิชชา สังขาร ฯลฯ ชาติ ชรามรณะ ซึ่งก็หมายความว่า
อวิชชาเป็นปัจจัยให้สังขารดำรงอยู่
สังขารเป็นปัจจัยให้วิญญาณดำรงอยู่
วิญญาณเป็นปัจจัยให้นามรูปดำรงอยู่
นามรูปเป็นปัจจัยให้สฬายตนะดำรงอยู่
สฬายตนะเป็นปัจจัยให้ผัสสะดำรงอยู่
ผัสสะเป็นปัจจัยให้เวทนาดำรงอยู่
เวทนาเป็นปัจจัยให้ตัณหาดำรงอยู่
ตัณหาเป็นปัจจัยให้อุปาทานดำรงอยู่
อุปาทานเป็นปัจจัยให้ภพดำรงอยู่
ภพเป็นปัจจัยให้ชาติดำรงอยู่
ชาติเป็นปัจจัยให้ชรามรณะดำรงอยู่
เมื่อชาติชรามรณะยังดำรงอยู่แน่นอนว่า โสกะ (ความโศก) ปริเทวะ (ความร้องไห้คร่ำครวญ) ทุกข์ (ความทุกข์กาย) โทมนัส (ความทุกข์ใจ) อุปายาส (ความคับแค้นใจ) ก็ยังดำรงอยู่ด้วย


๒. ธัมมนิยามตา หรือ ธัมมนิยาม
คือ ความแน่นอนแห่งธรรม หรือความแน่นอนตามธรรม หมายถึง ความแน่นอนแห่งปัจจัยหรือความแน่นอนตามปัจจัย สิ่งที่แน่นอนตามปัจจัยนั้น ก็คือ อวิชชา สังขาร ฯลฯ ชาติ ชรามรณะ ซึ่งก็หมายความว่า
อวิชชา เป็นปัจจัยให้สังขารเกิดแน่นอน
สังขารเป็นปัจจัยให้วิญญาณเกิดแน่นอน
วิญญาณเป็นปัจจัยให้นามรูปเกิดแน่นอน
นามรูปเป็นปัจจัยให้สฬายตนะเกิดแน่นอน
สฬายตนะเป็นปัจจัยให้ผัสสะเกิดแน่นอน
ผัสสะเป็นปัจจัยให้เวทนาเกิดแน่นอน
เวทนาเป็นปัจจัยให้ตัณหาเกิดแน่นอน
ตัณหาเป็นปัจจัยให้อุปาทานเกิดแน่นอน
อุปาทานเป็นปัจจัยให้ภพเกิดแน่นอน
ภพเป็นปัจจัยให้ชาติเกิดแน่นอน
ชาติเป็นปัจจัยให้ชรามรณะเกิดแน่นอน
เมื่อมีชาติ ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ย่อมเกิดด้วยอย่างแน่นอน

๓. อิทัปปัจจยตา
คือ ความมีสิ่งนี้เป็นปัจจัย หมายถึง เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ก็มีตาม เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้ก็เกิดขึ้นตาม สิ่งที่เมื่อสิ่งนี้มีสิ่งนี้ก็มีตาม ก็คือ อวิชชา  สังขาร ฯลฯ ชาติ ชรามรณะ ซึ่งก็หมายความว่า
เมื่ออวิชชามี สังขารก็มีตาม
เมื่อสังขารมี วิญญาณก็มีตาม
เมื่อวิญญาณมี นามรูปก็มีตาม
เมื่อนามรูปมี สฬายตนะก็มีตาม
เมื่อสฬายตนะมี ผัสสะก็มีตาม
เมื่อผัสสะมี เวทนาก็มีตาม
เมื่อเวทนามี ตัณหาก็มีตาม
เมื่อตัณหามี อุปาทานก็มีตาม
เมื่ออุปาทานมี ภพก็มีตาม
เมื่อภพมี ชาติก็มีตาม
เมื่อชาติมี ชรามรณะก็มีตาม
เมื่อชรามรณะมี โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ก็มีตามด้วย


๔. ตถตา
คือ ความเป็นเช่นนั้น หมายถึง ความเป็นจริงอย่างนั้น สิ่งที่เป็นจริงอย่างนั้น ก็คือ
อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร
สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ ฯลฯ
ชาติเป็นปัจจัยให้เกิดชรามรณะซึ่งเป็นความจริงที่คงอยู่ตลอดเวลา และเป็นความจริงที่ว่า เมื่อมีชาติ ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์โทมนัส อุปายาส ก็เป็นของจริงที่เกิดตามมาจริง


๕. อวิตถตา
คือ ความเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่เป็นเช่นนั้น หมายถึง ความเป็นจริงอย่างนั้นไม่ผันแปรไปเป็นความไม่จริง สิ่งที่เป็นจริงโดยไม่ผันแปรนั้น ก็คือ
อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร
สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ ฯลฯ
ชาติเป็นปัจจัยให้เกิดชรามรณะ และก็เป็นความจริงโดยไม่มีทางผันแปรไปได้อีกที่ว่า เมื่อมีชาติ ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ก็เป็นจริงที่เกิดตามมาโดยไม่ผันแปร

๖. อนัญญถตา
คือ ความไม่เป็นอย่างอื่น หมายถึง เป็นอย่างอื่นจากที่เป็นมานี้ไม่ได้ สิ่งที่เป็นอย่างอื่นจากที่เป็นมานี้ไม่ได้ ก็คือ
อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร
สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ ฯลฯ
ชาติเป็นปัจจัยให้เกิดชรามรณะ และก็เป็นอย่างอื่นจากที่เป็นมานี้ไม่ได้ ก็คือ เมื่อมีชาติ ชรามรณะแล้วโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ก็เป็นจริงที่เกิดตามมาโดยไม่ผันแปรเป็นอื่นจากนี้ไปได้

๗. ปัจจยการ
คือ อาการตามปัจจัย หมายถึง อาการที่เกิดขึ้นตามปัจจัย ซึ่งก็หมายความว่า อวิชชา สังขาร ฯลฯ ชาติ ชรามรณะ ต่างเกิดขึ้นตามปัจจัยปรุงแต่ง และเมื่อมีชาติ ชรามรณะแล้ว โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ก็เกิดตามปัจจัยด้วย

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ คือ ชื่อเรียกปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเท่ากับให้ความหมายขยายความของปฏิจจสมุปบาท ชื่อทั้งหมดนี้มีปรากฏอยู่ทั้งในพระสุตตันตปิฎก พระวินัยปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก

ความสำคัญของปฏิจจสมุปบาท ปฏิจจสมุปบาทเป็นพุทธธรรมที่สำคัญอย่างยิ่งยวด และเป็นเรื่องที่มีความลึกซึ้งที่สุด จนได้ชื่อว่าเป็นหัวใจของพุทธศาสนา หรือตัวแท้ของศาสนา ( แก่นแท้ของพุทธศาสนา ) ความสำคัญของปฏิจจสมุปบาทอาจเห็นได้จากพระพุทธพจน์ตอนหนึ่งว่า "ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นย่อมเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นย่อมเห็นปฏิจจสมุปบาท"

"ภิกษุทั้งหลาย แท้จริงแล้ว อริยสาวกผู้เรียนรู้แล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ในเรื่องนี้โดยไม่ต้องเชื่อผู้อื่นว่า เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น ฯลฯ เมื่อใดอริยสาวกรู้ทั่วถึงความเกิด ความดับของโลกตามที่มันเป็นเช่นว่านี้ อริยสาวกนั้น เรียกว่าเป็นผู้มีทิฐิสมบูรณ์ (ความเห็นที่ถูกต้องอย่างสมบูรณ์) ก็ได้ ผู้มีทัศนะสมบูรณ์ก็ได้ผู้บรรลุถึงสัจธรรมนี้ก็ได้ ชื่อว่าผู้ประกอบด้วยเสขญาณก็ได้ ผู้ประกอบด้วยเสขวิชชาก็ได้ ผู้บรรลุกระแสธรรมแล้วก็ได้ พระอริยบุคคลผู้มีปัญญาชำระกิเลสก็ได้ ผู้อยู่ชิดติดประตูอมตะก็ได้"

 "สมณพราหมณ์เหล่าใด รู้ธรรมเหล่านี้ รู้เหตุเกิดแห่งธรรมเหล่านี้ รู้ความดับของธรรมเหล่านี้ รู้ทางดำเนินเพื่อดับแห่งธรรมเหล่านี้ ฯลฯ สมณพราหมณ์เหล่านั้นแล จึงเป็นที่ยอมรับว่าเป็นสมณะในหมู่สมณะ และเป็นที่ยอมรับว่าเป็นพราหมณ์ในหมู่พราหมณ์ และได้ชื่อว่าได้บรรลุ-ประโยชน์ของความเป็นสมณะและประโยชน์ของความเป็นพราหมณ์ด้วยปัญญาอันยิ่ง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน"

ความสำคัญของปฏิจจสมุปบาทนั้นมีมาก หากเราเข้าใจอย่างชัดเจน และปฏิบัติตามได้อย่างเหมาะสมก็จะได้รับประโยชน์สูงสุดตามจุดหมายของพุทธศาสนา ซึ่งถือว่าเป็นแก่นแท้หรือสาระสำคัญสูงสุดของพุทธศาสนา ในกาลครั้งหนึ่ง พระอานนท์กราบทูลกับพระพุทธเจ้าว่า เรื่อปฏิจจสมุปบาทดูเป็นเรื่องง่ายและตื้นสำหรับตัวท่านเอง พระพุทธเจ้าได้ตรัสเตือนพระอานนท์ว่า "ดูก่อนอานนท์ เธออย่ากล่าวอย่างนั้น ปฏิจจสมุปบาทเป็นเรื่องลึก ลักษณะโครงสร้างก็ลึกซึ้ง หมู่สัตว์นี้ไม่รู้ ไม่รู้ตามที่เราสอน ไม่แทงตลอดหลักปฏิจจสมุปบาท จิตจึงยุ่งเหมือนกลุ่มด้ายที่ยุ่ง เหมือนกลุ่มเศษด้ายที่เป็นปม ติดพันซ่อนเงื่อนกันยุ่ง เหมือนเชิงผ้ามุญชะและหญ้าปัพพชะ ไม่ล่วงพ้นจากสังสาระคืออบาย ทุคติ วินิบาตไปได้" ปฏิจจสมุปบาทเป็นแก่นแท้หรือหัวใจของพุทธศาสนา เป็นหลักแสดงถึงกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยที่สืบต่อเชื่อมโยงกันทั้งในกระบวนการเกิดและดับ หากจะประมวลเอาสาระสำคัญของปฏิจจสมุปบาทนั้น ไม่อาจกล่าวให้ครอบคลุมได้ทั้งหมด แต่อาจสรุปความสำคัญบางประการได้ ดังนี้
๑. เป็นหลักธรรมที่แสดงถึงกฎธรรมชาติของสรรพสิ่ง ซึ่งมีการไหลไปไม่หยุดนิ่ง มีเกิดในเบื้องต้น แปรปรวนในท่ามกลาง และแตกดับไปในที่สุด
๒. เป็นหลักธรรมที่แสดงถึงกฎธรรมดาของสรรพสิ่ง ซึ่งเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา
๓. เป็นหลักธรรมที่แสดงถึงกฎแห่งสงสารวัฏ คือวงจรแห่งความทุกข์ที่เกิดขึ้น เพราะอาศัยกิเลส กรรม วิบาก
๔. เป็นหลักธรรมข้อใหญ่ที่ประมวลเอาความหมายแห่งธรรมทั้งหลายมาไว้
๕. เป็นธรรมที่ว่าด้วยเรื่องชีวิตของมนุษย์ในขณะนี้และเดี๋ยวนี้

คำจำกัดความองค์ประกอบแห่งปฏิจจสมุปบาท ๑๒ ข้อ การศึกษาหลักปฏิจจสมุปบาทให้เกิดความเข้าใจได้ถูกต้องนั้น จำเป็นต้องศึกษาคำจำกัดความและความหมายขององค์ประกอบแต่ละหัวข้อให้รู้ชัดเจนเสียก่อน เพื่อจะได้ไม่เข้าใจผิดในเรื่องกระบวนการที่เกิดขึ้นและดับไปของสรรพสิ่ง จนทำให้หลักพุทธธรรมถูกทำลายและไร้ค่า

องค์ประกอบของปฏิจจสมุปบาท ๑๒  หัวข้อ มีโดยย่อดังต่อไปนี้

๑. อวิชชา (Ignorance, Lack of Knowledge) คือ ความไม่รู้ ไม่เห็น ตามความเป็นจริง ความไม่รู้เท่าทันตามสภาวะ ความหลงไปตามสมมติบัญญัติ ความไม่เข้าใจในเรื่องโลกและชีวิตตามที่เป็นจริง ความไม่รู้ที่แฝงอยู่กับความเชื่อถือต่าง ๆ ภาวะของการขาดปัญญา ความไม่หยั่งรู้เหตุปัจจัยตัวอย่างเช่น ความไม่รู้แจ้งในเรื่องชีวิต คือไม่รู้ว่า อะไรคือทุกข์ อะไรคือเหตุให้เกิดทุกข์ อะไรคือความดับทุกข์ และอะไรคือทางที่จะดำเนินไปสู่การดับทุกข์ เป็นต้น

๒. สังขาร (Volitional Activities) คือ ความคิดปรุงแต่ง ความจงใจ ความมุ่งหมาย การตัดสินใจ การที่จะแสดงเจตนาออกมาเป็นการทำ กระบวนการความคิดที่เป็นไปตามความโน้มเอียง ความเคยชิน และคุณสมบัติต่าง ๆ ของจิต ซึ่งได้สั่งสมไว้ ตัวอย่างเช่น ความคิดปรุงแต่งให้วิญญาณดีหรือชั่ว ให้เป็นกลาง ๆ ปรุงแต่งให้คิดไปทางดี เรียกว่า "กุศลสังขาร" ปรุงแต่งให้คิดไปในทางชั่ว เรียกว่า "อกุศลสังขาร" ปรุงแต่งให้คิดกลาง ๆ ไม่ดีไม่ชั่ว เรียกว่า "อัพยากฤต" กล่าวให้สั้น ก็คือ สังขาร ได้แก่ กิเลสและคุณธรรม ทั้งสองอย่างนี้จะผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาปรุงแต่งจิตใจของคนไปทางใดทางหนึ่งใน ๓ ทางดังกล่าว คนเราจะคิดไปทางไหน อย่างไรนั้นก็อยู่ที่ตัวสังขารนี้เอง ดังคำกล่าวไปภาษาอังกฤษว่า
Sow a thought, reap an act ; แปลว่า ความคิดก่อให้เกิดการกระทำ
Sow an act, reap a habit ; แปลว่า การกระทำก่อนให้เกิดเป็นนิสัย (เคยชิน)
Sow a habit, reap a character ; แปลว่า นิสัยหลอมตัวเข้าเป็นอุปนิสัย
Sow a character, reap a destiny ; แปลว่า อุปนิสัยสร้างวิถีชีวิตของบุคคล

คำว่า "สังขาร" ในหลักปฏิจจสมุปบาทนี้ มีความหมายตรงกับคำว่า "สังขาร" ในเบญจขันธ์ (ขันธ์ ๕) คือ จัดอยู่ในฝ่ายนามธรรมเท่านั้น ส่วนคำว่า "สังขาร" ที่ปรากฏในคำสอนบางแห่ง เช่น สังขารในประโยคว่า "อนิจฺจา วต สงฺขารา" แปลว่า สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยงหนอ ในประโยคนี้ มีความหมายว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม หาความเที่ยงแท้แน่นอนไม่ได้ จึงมีความหมายแตกต่างจาก "สังขาร" ในปฏิจจสมุปบาท และเบญจขันธ์
   
๓. วิญญาณ (Consciousness) คือ ความรู้แจ้งอารมณ์ การรับรู้ต่ออารมณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาทางทวารทั้ง ๖ (อายตนะ ๖) ในวิภังคปกรณ์ แสดงวิญญาณ ๖ ไว้ดังนี้คือ
  • ๑ จักขุวิญญาณ คือการรับรู้ทางตา 
  • ๒ โสตวิญญาณ คือการรับรู้ทางหู 
  • ๓ ฆานวิญญาณ คือการรับรู้ทางจมูก 
  • ๔ ชิวหาวิญญาณ คือการรับรู้ทางลิ้น 
  • ๕ กายวิญญาณ คือการรับรู้ทางกาย (สัมผัส) 
  • ๖ มโนวิญญาณ คือการรับรู้ทางใจ (ธัมมารมณ์)
วิญญาณทั้ง ๖ นี้ บางที่เรียกว่า "วิถีวิญญาณ" เพราะมันทำหน้าที่โดยที่เราไม่รู้สึกตัว เช่น เวลานอนหลับ เป็นต้น คำว่า "วิญญาณ" ในหลักปฏิจจสมุปบาทนี้ หมายถึง การรู้แจ้งอารมณ์หรือรับรู้อารมณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาทางสัมผัสทั้ง ๕ และทางใจ ๑ เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งในสี่ของจิต (องค์ประกอบ ๔ ส่วน คือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ) คำว่า "วิญญาณ" ในปฏิจจสมุปบาทกับเบญจขันธ์ มีความหมายตรงกัน ความหมายตามนัยนี้ วิญญาณจึงมิได้เป็น "ตัวแทน" หรือ "ตัวการกระทำ" ซึ่งไม่มีสิ่งใดแสดงให้เห็นเป็น "อัตตา" ที่ถาวรออกจากร่างกายล่องลอยไปเกิดใหม่ ดังที่ลัทธิหรือศาสนาอื่นสอน

เพื่อให้เกิดความเข้าใจเรื่องวิญญาณในปฏิจจสมุปบาทชัดเจนยิ่งขึ้น จึงควรพิจารณาจากพุทธพจน์ต่อไปนี้ "ดูก่อนผู้มีอายุ จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยตาและรูป เพราะการประชุมกันของธรรม ๓ อย่าง (คือ ตา + รูป + วิญญาณ) จึงเกิดผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา บุคคลเสวยเวทนาอันใด ก็จำจากเวทนาอันนั้น บุคคลจำเวทนาอันใด ก็ตรึงถึงเวทนาอันนั้น บุคคลตรึกถึงเวทนาอันใด ก็จินตนาการสร้างมโนภาพจากเวทนาอันนั้น บุคคลจินตนาการสร้างมโนภาพจากเวทนาอันใด ความคิดเกี่ยวกับมโนภาพอันนั้นก็จะครอบงำบุคคลนั้น ในเรื่องของรูปทั้งหลาย ที่จะพึงรู้ด้วยตา เป็นอดีตก็ดี เป็นอนาคตก็ดี เป็นปัจจุบันก็ดี.........." ข้อความตามพุทธพจน์ชี้ให้เห็นว่า วิญญาณเป็นเพียงองค์ประกอบอันหนึ่งในองค์ประกอบทั้ง ๔ อย่าง การเกิดของวิญญาณนั้นก็เกิดได้จากประสาทสัมผัสทั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ คือ มโน นั่นคือ ตา + รูป ก็เกิดจักขุวิญญาณ เป็นต้น เมื่อตาเป็นรูปก็เกิดผัสสะ (กระทบ เชื่อมโยงกัน) จึงเกิดเวทนาขึ้น นี่เป็นการแสดงกระบวนการของจิตจากองค์ประกอบต่าง ๆ ซึ่งดำเนินไปแบบเชื่อมโยงติดต่อเรื่อยไปโดยอาศัยเหตุปัจจัยตามหลักปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง
   
๔. นามรูป (Animated Organism) คือความมีอยู่ของรูปธรรมและนามธรรม (รูปและนาม) ในความรู้ของบุคคล ภาวะที่ร่างกายและจิตใจทุกส่วนอยู่ในสภาพที่สอดคล้องและปฏิบัติหน้าที่เพื่อสนองตอบในแนวทางของวิญญาณที่เกิดขึ้น ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายและจิตใจที่เจริญหรือเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพของจิต คำว่า "นาม" ในพระบาลี พระพุทธเจ้าตรัสหมายเอา เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ และมนสิการ ในอภิธรรม ท่านหมายเอา เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ และสังขารขันธ์ คำว่า "รูป" ท่านหมายเอา มหาภูตรูป ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ และอุปาทายรูป ๒๔  (คือรูปอาศัยมหาภูตรูป) ตามทัศนะของพุทธศาสนา รูปคือสิ่งที่ต้องสูญสลายหรือแปรสภาพไปตามเหตุปัจจัย มีเย็นร้อน เป็นต้น รูปที่สอนกันมาก็คือ รูปร่างที่เป็นเนื้อหนังมังสา หรือเลือดลมในกายกายนี้ เรียกมหาภูตรูป และภาวะต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่กับมหาภูตรูป หรือเกิดขึ้นจากมหาภูตรูป เช่น ภาวะชาย ภาวะหญิง หรือภาวะสวย ภาวะไม่สวย เป็นต้น ภาวะต่าง ๆ นี้เรียกอุปาทายรูป เมื่อนำเอานามกับรูปมารวมกัน ก็เป็น "นามรูป" ซึ่งทั้งสองส่วนนี้จะต้องคู่กันและอิงอาศัยกันขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ หากขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไปก็เท่ากับการดับสลายตามหลักของปฏิจจสมุปบาทที่กล่าวว่า "เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ก็มี เพราะสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด" และ "เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับไป สิ่งนี้ก็ดับ (ด้วย)"
  
๕. สฬายตนะ (The six sense - bases) คือที่ต่อหรือที่เชื่อมโยง ๖ อย่าง หมายถึงภาวะที่อายตนะที่เกี่ยวข้องปฏิบัติหน้าที่โดยสอดคล้องกับสถานการณ์นั้น ๆ อายตนะมี ๖ เรียกว่า "อายตนะภายใน ๖" ได้แก่ จักขุ (ตา) โสตะ (หู) ฆานะ (จมูก) ชิวหา (ลิ้น) กาย (ร่างกาย) มโน (ใจ) อายตนะภายใน ๖ นี้จับคู่กับอายตนะภายนอก ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส (ทางกาย) และธัมมารมณ์ (อารมณ์ที่เกิดที่ใจ)
   
๖. ผัสสะ (Contact) คือ การเชื่อมต่อความรู้กับโลกภายนอก การรับรู้อารมณ์หรือประสบการณ์ต่าง ๆ อีกนัยหนึ่ง ผัสสะ คือการกระทบกันระหว่างอายตนะภายใน ๖ กับอายตนะภายนอก ๖ ซึ่งจับคู่กัน คือ
ตา - รูป
หู - เสียง
จมูก - กลิ่น
ลิ้น - รส
กาย - โผฏฐัพพะ
ใจ - ธัมมารมณ์
ในพระบาลี พระพุทธพจน์แสดงไว้ว่า "ฉยิเม ภิกฺขเว ผสฺสกายา จกฺขุสมฺผสฺโส โสตสมฺผสฺโส ฆานสมฺผสฺโส ชิวฺหาสมฺผสฺโส กายสมฺผสฺโส มโนสมฺผสฺโส" แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผัสสะ ๖ ประการเหล่านี้ คือ จักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส นี่คือผัสสะ ๖ ตามชื่อแห่งทวาร การกระทบกันระหว่างอายนตะภายใน ๖ กับอายตนะภายนอก ๖ นั้น สิ่งแรกที่เกิดขึ้นก็คือวิญญาณ เช่น ตา กระทบ รูป ก็รู้ว่าเป็นรูป เป็นต้น
  
๗. เวทนา (Feeling) คือความรู้สึก หรือการเสวยอารมณ์ เวทนาเกิดจากจักขุสัมผัส โสตสัมผัสฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส เรียกว่า "เวทนา ๖" เวทนาหากแบ่งตามลักษณะจะแบ่งได้ ๓ คือ สุข ทุกข์ และอทุกขมสุข หรือแบ่งเป็น ๕ คือ สุข (ทางกาย) ทุกข์ (ทางกาย) โสมนัส (ทางใจ) โทมนัส (ทางกาย) และอุเบกขา หากจะแบ่งความรู้สึกออกเป็นชนิดก็แบ่งได้ ๒ ชนิดใหญ่ ๆ คือ ความรู้สึกที่กาย และความรู้สึกที่ใจ ความรู้สึกที่กาย แบ่งตามลักษณะได้ ๒ คือ สุขกาย และทุกข์กาย ส่วนความรู้สึกที่ใจแบ่งตามลักษณะได้ ๒ คือ ความรู้สึกในทางดี (กุศลเวทนา) และความรู้สึกในทางชั่ว (อกุศลเวทนา) และลักษณะทั้ง ๒ นี้ยังแยกย่อยออกไปอีก
   
๘. ตัณหา (Craving) คือความอยาก ความต้องการ ความยินดี ความพอใจในอารมณ์ต่าง ๆ ตามพระบาลี ท่านแสดงตัณหาไว้ คือ รูปตัณหา (ตัณหาในรูป) สัททตัณหา (ตัณหาในเสียง) คันธตัณหา (ตัณหาในกลิ่น) รสตัณหา (ตัณหาในรส) โผฏฐัพพตัณหา (ตัณหาในสัมผัสทางกาย และธัมมตัณหา (ตัณหาในธรรมารมณ์) เรียกว่า "ตัณหา ๖" ตัณหานี้ ถ้าแบ่งตามอาการแบ่งได้ ๓ คือ
  • ๑ กามตัณหา คือความทะยานอยากในสิ่งสนองความต้องการทางประสาททั้ง ๕ 
  • ๒ ภวตัณหา คือความอยากให้คงอยู่ชั่วนิรันดร หรือความอยากมี อยากเป็น 
  • ๓ วิภวตัณหา คือความอยากให้ดับสูญ หรือความไม่อยากมี ไม่อยากเป็น 
 อีกนัยหนึ่ง ท่านอธิบายตัณหา ๓ ไว้อีกแบบหนึ่ง คือ
  • ๑ กามตัณหา คือ ความอยากด้วยความยินดีในกาม
  • ๒ ภวตัณหา คือความอยากอย่างมีสัสสตทิฏฐิ
  • ๓ วิภวตัณหา คือความอยากอย่างมีอุจเฉททิฏฐิ 
๙. อุปาทาน (Attachment, Clinging) คืออาการที่จิตเข้าไปยึดถือสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้ ความยึดติดหรือเกาะติดในเวทนาที่ชอบและเกลียดชัง รั้งเอาสิ่งต่าง ๆ และภาวะที่ชีวิตอำนวยเวทนานั้นเข้ามาผูกพันกับตัว การตีค่ายึดถือความสำคัญของภาวะและสิ่งต่างๆ ในแนวทางที่เสริมหรือสนองตอบตัณหาของตน ในพระบาลี มีพุทธพจน์แสดงอุปาทานไว้ว่า "จตฺตาริมานิ ภิกฺขเว อุปาทานานิ กามุปา-ทานํ ทิฏฺฐุปาทานํ สีลพฺพตุปาทานํ อตฺตวาทุปาทานนฺติ" แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุปาทาน ๔ เหล่านี้คือ
  • ๑ กามุปาทาน (ความยึดมั่นในกาม คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสต่าง ๆ)
  •  ทิฏฐุปาทาน (คามยึดมั่นในทิฐิ ได้แก่ ความเห็นหรือทัศนะ ลัทธิ ทฤษฏีต่าง ๆ) 
  •  สีลัพพตุปาทาน (ความยึดมั่นในศีลพรตว่าทำให้คนบริสุทธิ์) 
  •  อัตตวาทุปาทาน (ความยึดมั่นในอัตตา การสร้างตัวขึ้นมายึดถือด้วยความหลงผิด) 
๑๐. ภพ (Process of becoming) คือ ความมี ความเป็น (รูปศัพท์เดิม คือ ภวะ เมื่อมาเป็นภาษาไทย แปลง วะ เป็น พะ จึงสำเร็จรูปเป็นภพ) ภพแบ่งได้ ๓ คือ
  • ๑ กามภพ สัตว์ที่ยินดียึดถืออยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส (ทางกาย) ก็มีกามภพอยู่ในใจ 
  • ๒ รูปภพ เมื่อสัตว์ยึดถือรูปเป็นนิมิต ก็เป็นรูปภพอยู่ในจิตใจ 
  • ๓ อรูปภพ เมื่อสัตว์ยึดถืออรูป (อรูปฌาน) ก็เป็นอรูปภพอยู่ในจิตใจ 
 อีกนัยหนึ่ง ภพ แบ่งออกได้ ๒ คือ 
  • ๑ กรรมภพ คือ กระบวนการพฤติกรรมทั้งหมดที่แสดงออกเพื่อสนองตัณหาอุปาทาน 
  •  ๒ อุปัตติภพ คือภาวะแห่งชีวิตสำหรับตัวตนหรือตัวตนที่จะมี จะเป็นไปในรูปใดรูปหนึ่ง โดยสอดคล้องกับอุปาทานและกระบวนการพฤติกรรมนั้น 
๑๑. ชาติ (Birth) คือการเกิด การปรากฏแห่งขันธ์ทั้งหลาย การได้อายตนะเฉพาะการก้าวลงหรือการเป็นไปพร้อมขึ้นมาในหมู่สัตว์นิกาย อีกนัยหนึ่ง ชาติ หมายถึง ความตระหนักในตัวตนว่า อยู่หรือไม่ได้อยู่ในภาวะชีวิตนั้น ๆ มีหรือไม่ได้มี เป็นหรือไม่ได้เป็นอย่างนั้น ๆ ชาติ ที่หมายถึง การเกิด มีความหมายกว้าง มิได้หมายเอาเฉพาะการปรากฏของสิ่งที่เป็นรูปธรรม เช่น เป็นคน เป็นสัตว์ ผู้ชาย ผู้หญิง เป็นต้น แต่หมายรวมไปถึงการเกิดหรือการปรากฏของสิ่งที่เป็นนามธรรม เช่น ชื่อเสียงเกียรติยศ สรรเสริญ นินทา เป็นต้นด้วย

๑๒. ชรา มรณะ (Decay and Death) คำว่า "ชรา" คือความเสื่อมอายุ ความหง่อมอินทรีย์ และคำว่า "มรณะ" คือ ความสลายแห่งขันธ์ ความขาดชีวิตินทรีย์ เมื่อนำคำทั้งสองมาต่อกันเป็น "ชรามรณะ" คือความเสื่อมกับความสลายแห่งธรรมต่าง ๆ เหล่านั้น ๆ อีกนัยหนึ่ง ชรามรณะ มีความหมายว่า ความสำนึกในความขาด พลาด หรือพรากแห่งตัวตนจากภาวะชีวิตอันนั้น ความรู้สึกว่าตัวตนถูกคุกคามด้วยความสูญสิ้น สลายหรือพลัดพรากกับภาวะชีวิตนั้น ๆ หรือการได้มีได้เป็นอย่างนั้น ๆ ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาผสมก็คือ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส พ่วงเข้ามาด้วยความรู้สึกคับแค้น ขัดข้อง ขุ่นมัว แห้งผากในใจ หดหู่ ซึมเซา กระวนกระวาย ไม่สมหวัง และทุกขเวทนาต่าง ๆ สำหรับชรามรณะนี้ก็มิได้หมายเอาเพียงความเสื่อมกับความสลายของสิ่งที่เป็นรูปธรรมเท่านั้น แต่รวมไปถึงสิ่งทั้งปวงที่เป็นนามธรรมด้วย