กระบวนการของปฏิจจสมุปบาท ๑๒ หัวข้อ

องค์ประกอบ ๑๒ หัวข้อของปฏิจจสมุปบาทที่กล่าวมาแล้ว ย่อมมีความสัมพันธ์อิงอาศัยและสนับสนุนกัน เป็นปัจจัยอาศัยสืบต่อกันไปเป็นรูปวงกลม ไม่มีต้น ไม่มีปลาย ไม่มีองค์ประกอบตัวใดเป็นตัวเหตุเริ่มแรกที่สุด แม้ปฏิจจสมุปบาทแต่ละช่วงจะมีความสัมพันธ์ไปทุกช่วง แต่ในทางปฏิบัติ (ในความเป็นจริง) ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นไปหรือดำเนินไปตามลำดับเสมอไป บางครั้งก็อาจจะมีความสัมพันธ์ข้ามช่วงก็ได้ เช่น เพราะมีอวิชชา จึงเกิดตัณหาขึ้น เพราะตัณหาเป็นปัจจัย สังขาร (บาปบุญ) จึงมี เป็นต้น จึงอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า ปฏิจจสมุปบาททุกช่วงต่างก็เป็นปัจจัยที่เป็นเหตุเป็นผลของกันและกันทั้งสิ้น เปรียบเสมือนกับอวัยวะในร่างกายของคนเรา แม้จะมีหลายส่วนก็จริง แต่เมื่อบุคคลนั้น เดิน ยืน นั่ง หรือนอน ณ ที่ใด อวัยวะก็จะพร้อมกันและจะทำงานอย่างประสานกันได้ทุกขณะ องค์ประกอบของปฏิจจสมุปบาทนั้น จะนับตั้งแต่อวิชชาถึงชรามรณะเท่านั้น ส่วนสุดท้าย คือ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เป็นเพียงตัวพลอยผสม (ตัวประกอบ) ที่พ่วงเข้ามาซึ่งมันจะเกิดเฉพาะบุคคลที่มีอาสวะกิเลสเท่านั้น เมื่อมีชรามรณะแล้วก็จะเป็นตัวการหมักหมมอาสวะ ซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดอวิชชาหมุนวงจรต่อไป

กระบวนการที่เป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบาท ๑๒ หัวข้อนั้น ย่อมเป็นเหตุผลหรือเป็นปัจจัยของกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการในสายเกิดหรือสายดับ

ความสัมพันธ์ของปฏิจจสมุปบาท ๑๒ หัวข้อ
๑. อวิชชา สังขาร
: เพราะไม่รู้ตามความเป็นจริง ไม่เข้าใจชัดเจนถึงคิดปรุงแต่ง คิดวาดภาพไปต่าง ๆ นานา เหมือนคนที่ไม่เห็นของทายที่อยู่ในกำมือ จึงคิดหาเหตุผลมาทาย เดา และถกเถียงต่างๆ หรือเหมือนคนที่เชื่อว่าเทพเจ้าเมื่อเกิดความชอบใจก็จะดลบันดาลให้ความปรารถนาของตนสมประสงค์ ก็จึงปรุงแต่งคำอ้อนวอน บวงสรวง และการกระทำการเช่น ไหว้ สังเวย เป็นต้น

๒. สังขาร วิญญาณ : เมื่อมีเจตนาคือตั้งใจมุ่งหมายที่จะเกี่ยวข้อง วิญญาณที่เห็น ที่ได้ยิน เป็นต้น จึงจะเกิดขึ้น แต่หากไม่สนใจ ไม่ใส่ใจ แม้จะอยู่ในวิสัยที่จะรับรู้ได้วิญญาณก็จะไม่เกิดขึ้น เหมือนคนที่กำลังมุ่งใส่ใจในงานบางอย่าง เช่น อ่านหนังสืออย่างเพลิดเพลิน จิตรับรู้เฉพาะเรื่องอ่าน ถึงจะมีเสียงเพลงดังควรจะได้ยิน ก็ไม่ได้ยิน หรือแม้ยุงกัดก็ไม่รู้สึกตัว เป็นต้น อีกประการหนึ่ง การรับรู้ของจิตในอารมณ์หรือสิ่งเดียวกันของคนหลายคน จิตก็ถูกปรุงแต่งไปไม่เหมือนกัน เช่น จิตรับรู้มีดเป็นอารมณ์เดียวกัน คนหนึ่งอาจรับรู้มีดในฐานะอาวุธ อีกคนหนึ่งอาจรับรู้ในแง่สิ่งที่จะใช้ประโยชน์ในครัวเรือน ขณะอีกคนหนึ่งรับรู้มีดในฐานะเป็นชิ้นโลหะชิ้นหนึ่ง ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าคนนั้นเป็นโจร เป็นคนครัว เป็นคนรับซื้อโลหะ ตัวอย่างดังกล่าวแสดงถึงเจตจำนงที่อยู่ในภาวะแห่งความนึกคิดเป็นสำคัญ

. วิญญาณ นามรูป : วิญญาณกับนามรูปอาศัยซึ่งกันและกัน นั่นคือเพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป หากจะถามว่าวิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูปได้อย่างไร ? อาจตอบคำถามโดยอาศัยเหตุผล ๒ ข้อ ต่อไปนี้คือ
(๑) จิตรับรู้ต่ออารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ตามองเห็นของสิ่งหนึ่ง หูได้ยินเสียงอย่างหนึ่ง เป็นต้น ลักษณะเช่นนี้ แท้จริงก็คือรับรู้ต่อนามรูปต่าง ๆ นั่นเอง สิ่งที่มีสำหรับบุคคลคนหนึ่งก็คือสิ่งที่มีอยู่ในความรับรู้ของเขาในขณะนั้น ๆ (นามรูปที่ถูกวิญญาณรับรู้ในขณะนั้น ๆ เท่านั้น) เช่น ดอกกุหลาบที่มีอยู่ ก็คือดอกกุหลาบที่กำลังถูกรับรู้ทางจักษุประสาท หรือทางมโนทวารในขณะนั้น ๆ เท่านั้น
(๒) นามรูปที่เนื่องอาศัยวิญญาณย่อมมีคุณภาพสอดคล้องกับวิญญาณนั้นด้วย โดยเฉพาะนามทั้งหลายก็คือคุณสมบัติของจิตนั่นเอง เมื่อความคิดปรุงแต่ง (สังขาร) ดีงาม ก็เป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณที่จะรับรู้อารมณ์ที่ดีงาม และในแง่ที่ดีงาม ในขณะนั้นจิตใจก็ปลอดโปร่งผ่องใสตามไปด้วย อากัปกิริยาหรือพฤติกรรมต่าง ๆ ทางด้านร่างกายก็แสดงออกในทางที่ดีงามสอดคล้องกัน เช่น เมื่อรู้สึกรักใคร่มีไมตรี (สังขาร) ก็เกิดการรับรู้อารมณ์ส่วนที่ดีงาม (วิญญาณ) จิตใจก็แช่มชื่นเบิกบาน (นาม) สีหน้าก็สดชื่นยิ้มแย้มแจ่มใส รวมถึงกิริยาอาการต่าง ๆ ก็กลมกลืนกัน (รูป)

๔. นามรูป สฬายตนะ : การที่นามรูปจะปฏิบัติหน้าที่หรือการตัดสินใจหรือเลือกกระทำการใด ๆ นั้น จะต้องอาศัยความรู้ต่อโลกภายนอก หรือดึงเอาความรู้เดิมที่สะสมไว้ก่อน ดังนั้น นามรูปส่วนที่มีหน้าที่เป็นสื่อหรือช่องทางที่ต่อรับรู้อารมณ์ต่าง ๆ ได้แก่ อายตนะที่เกี่ยวข้องในกรณีนั้น ๆ ที่อยู่ในสภาพที่ตื่นตัวและกระทำหน้าที่สัมพันธ์สอดคล้องกับปัจจัยข้อก่อน ๆ ตามลำดับ ตัวอย่างเช่น นักฟุตบอลที่กำลังเล่นบอลอยู่ในสนามบอล อายตนะ เช่น ประสาทตา เป็นต้น ที่ทำหน้าที่รับรู้อารมณ์เกี่ยวกับกีฬาที่เล่น จะต้องอยู่ในสภาพที่ตื่นตัวที่จะรับรู้อารมณ์ ที่เกี่ยวข้องกับกีฬาที่เล่น ด้วยความไวเป็นพิเศษ ส่วนอายตนะที่ไม่เกี่ยวข้องก็จะไม่อยู่ในสภาพที่ตื่นตัว ที่จะรับรู้อารมณ์ เช่น ความรู้สึกกลิ่น ความรู้รส เป็นต้น อาจจะไม่เกิดขึ้นเลยในขณะที่เขากำลังเล่นฟุตบอลนั้น

๕. สฬายตนะ ผัสสะ : เมื่อใดก็ตามที่อายตนะปฏิบัติหน้าที่ของมัน การรับรู้ก็จะเกิดขึ้น โดยมีองค์ประกอบ ๓ อย่าง เข้ามาบรรจบกัน คือ อายตนะภายใน (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) อย่างใดอย่างหนึ่ง กับอายตนะภายนอก (อารมณ์ภายนอก) (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์) อย่างใดอย่างหนึ่ง และวิญญาณ (จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหา-วิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ) อย่างใดอย่างหนึ่ง การรับรู้ก็เกิดขึ้นโดยสอดคล้องกับอายตนะนั้น ๆ

๖. ผัสสะ เวทนา : เมื่อผัสสะ (การสัมผัส) เกิดขึ้นแล้ว จึงเกิดความรู้สึกต่าง ๆ ขึ้นตามมา ความรู้สึกที่เกิดนั้นแยกได้ ๓ อย่าง คือ ความรู้สึกสบาย เพลิดเพลินเป็นสุข เรียกว่าสุข-เวทนา ความรู้สึกไม่สบาย เป็นทุกข์ เจ็บปวด บีบคั้น เรียกว่า ทุกขเวทนา ความรู้สึกเฉย ๆ ไม่สุข ไม่ทุกข์ เรียกว่า อุเบกขาเวทนา หรือ อทุกขมสุขเวทนา

ปฏิจจสมุปบาทตั้งแต่หัวข้อที่ ๓ - ๗ (วิญญาณ – เวทนา) นี้ เป็นกระบวนการในช่วง (ท่อน)วิบาก คือผลของกรรม หัวข้อที่ ๕ - ๖ - ๗ ไม่เป็นบุญ ไม่เป็นบาป ไม่ดี ไม่ชั่ว ในตัวของมันเอง แต่จะเป็นสาเหตุแห่งความดี ความชั่วได้ต่อไป
  
๗. เวทนา ตัณหา : เมื่อได้รับหรือเสวยสุขเวทนา ก็เกิดความพอใจ ชอบใจ ติดใจ อยากได้ และปรารถนาที่จะรับยิ่ง ๆ ขึ้นไป เมื่อได้รับหรือเสวยทุกขเวทนาก็ขัดใจ เสียใจ เจ็บปวด ทรมาน อยากให้สิ่งเหล่านี้สูญสิ้นไป พินาศไปเสีย อยากให้ตนพ้นไปจากทุกขเวนาเหล่านั้น และพยายามดิ้นรนแสวงหาสิ่งอื่นเพื่อให้ได้สุขเวทนาต่อไป เมื่อได้รับหรือเสวยอุเบกขเวทนาก็เฉย ๆ ชวนให้เกิดอาการซึมเซา ซึ่งเป็นโมหะและเป็นสุขเวทนาอ่อน ๆ ที่อาจทำให้เกิดความพอใจได้ และอาจเป็นเชื้อให้เกิดความอยากได้สุขเวทนายิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก ตัณหาจะแสดงออกในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ความอยากได้เบญจกามคุณ อยากได้ภาวะแห่งชีวิตบางอย่าง เช่น ความเป็นผู้ร่ำรวย เป็นผู้มีเกียรติยศ เป็นต้น หรืออยากพ้นไปจากภาวะที่ไม่น่าปรารถนา เบื่อหน่าย ตลอดถึงอยากตายไปเสีย

๘. ตัณหา อุปาทาน : เมื่ออยากได้ หรือปรารถนาสิ่งใด ก็ยึดมั่นเกาะติด ผูกมัดตัวเองไว้กับสิ่งนั้น ยิ่งมีความอยาก ความปรารถนามากเท่าใด ก็ยิ่งยึดมั่นมากขึ้นและรุนแรงขึ้นเท่านั้น ในทางตรงกันข้าม หากประสบทุกขเวทนา ก็อยากพ้นไปจากภาวะเช่นนั้น และเกิดความยึดมั่นในแง่ของความเกลียดชังต่อสิ่งนั้น หากสิ่งนั้นสร้างความเจ็บปวดให้ตนมาก ก็ยิ่งเกลียดชังอย่างรุนแรงต่อสิ่งนั้น ดังนั้น ตัณหาจึงทำให้เกิดอุปาทานในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การเข้าไปยึดติดในวัตถุ-กาม ทั้งในแง่ของความต้องการอยากได้ และแง่ของความเกลียดชัง ยึดมั่นติดอยู่กับความเห็น ทั้งที่เป็นความเห็นถูก และความเห็นผิด ยึดมั่นติดอยู่กับศีลพรต ทฤษฏี และหลักการอย่างใดอย่างหนึ่ง และการยึดมั่นในตัวตน จนกลายเป็น "ตัวเรา" "ของเรา" สำคัญตนเองว่าเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ เป็นต้น

๙. อุปาทาน ภพ : ความเข้าไปยึดมั่นติดข้องนั้น ได้กลายเป็นการผูกมัดตัวเองไว้ก็เกิดความมีความเป็นขึ้น ที่เรียกว่า "ภพ" เช่น การยึดมั่นในตัวตน หากการยึดมั่นรุนแรงก็จะทำให้พฤติกรรมเฉพาะตนเป็นพิเศษลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งเด่นชัด เช่น อยากเป็นคนมีเกียรติ ก็ย่อมยึดมั่นเอาคุณค่าอย่างใดอย่างหนึ่งว่าเป็นความมีเกียรติ แล้วก็ยึดมั่นในแบบของความประพฤติที่สอดคล้องกับคุณค่านั้น ยึดมั่นในตัวตนที่จะมีเกียรติอย่างนั้น ๆ เมื่อเป็นเช่นนั้น เจตจำนงและการกระทำก็จะมุ่งไปในทิศทางที่ตนยึดมั่นไว้นั้น

๑๐. ภพ ชาติ : เมื่อเกิดมีตัวตนซึ่งสำนึกว่าเราได้เป็นนั่น เป็นนี่ อยู่ในภาวะชีวิตอันนั้น อันนี้ ซึ่งอาจจะตรงกับเจตจำนง ซึ่งกล่าวเป็นภาษาธรรมว่า ตัวตนเกิดขึ้นในภพนั้น จึงมีตัวเราที่เป็นเจ้าของ (ถ้าเกิดมีตัวเรา ก็ต้องมีคำว่า "ของเรา" ตามมาอีก) เช่น เราเป็นโจร ตัวเราเป็นคนไม่มีเกียรติ ตัวเราเป็นผู้แพ้ ฯลฯ ชาติหรือความเกิดแห่งตัวตนจะเห็นได้ชัดเจน เมื่อเกิดกรณีขัดแย้ง ถกเถียง ซึ่งจะเกิดตัวตนที่เป็นนั่น เป็นนี่ และชาติจะเห็นชัดเมื่อมีมรณะเข้ามาใกล้ตัว

๑๑. ชาติ ชรามรณะ : เมื่อมีตัวตนที่ได้เป็นอย่างนั้น อย่างนี้ ก็ย่อมจะต้องมีตัวตนที่ไม่ได้เป็นอย่างนั้น อย่างนี้ ตัวตนที่ไม่ได้เป็นอย่างนั้น อย่างนี้ ก็จะถูกคุกคามด้วยความขาด ความพร่อง ด้อยลง เสื่อมลงไป เมื่อตัวตนเกิดขึ้นในภาวะชีวิตที่ไม่ต้องการ ความทุกข์แบบต่าง ๆ ย่อมเกิดขึ้น เช่น เกิดความเศร้าโศก ความคร่ำครวญ เป็นต้น ในชีวิตประจำวันของคนเราปัจจุบัน มนุษย์มีการแข่งขันกันมากขึ้น เมื่อมีการแข่งขัน ก็ย่อมมีแพ้ มีชนะกันเกิดขึ้น เมื่อมีแพ้ มีชนะ ก็ย่อมมีผู้แพ้ ผู้ชนะ เกิดตามมา เช่น ความรู้สึกที่เกิดขึ้นว่า "เราเป็นผู้ชนะ" ก็เท่ากับ ตัวเราเกิดขึ้นในความเป็นผู้ชนะ (ชาติ) แต่ความเป็นผู้ชนะของเราในความหมายที่สมบูรณ์ก็พ่วงเอาความมีเกียรติ ความยกย่องเยินยอ ความได้ผลประโยชน์ ความนิยมชมชอบ การยอมรับของผู้อื่น เป็นต้นไว้ด้วย เมื่อเป็นผู้ชนะตามเจตจำนงมาแต่แรก ก็เป็นผู้สมหวังเมื่อสมหวังก็จะเกิดความรู้สึกที่ผูกมัดตัวเองไว้กับความเป็นผู้ชนะแน่นแฟ้นขึ้นพร้อมกับความกลัวว่าความเป็นผู้ชนะจะสูญสิ้นไปจากตน หากมันสูญสิ้นไป ก็กลัวต่อไปว่า ความเป็นผู้มีเกียรติ ความนิยมยกย่อง การยอมรับของผู้อื่น ก็คงค่อย ๆ สูญสิ้นไปด้วย ดังนั้น ตัวตนเป็นเช่นนี้ก็จะถูกคุกคามด้วยความเสื่อมโทรม (ชรา) และความสูญสลาย (มรณะ)

ปฏิจจสมุปบาทกับวัฏฏะ
กระบวนการของเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นโดยการสนับสนุนกันและกันในหลักปฏิจจสมุปบาท ๑๒ หัวข้อนั้น หากศึกษาให้ละเอียดก็จะพบว่า เหตุปัจจัยต่าง ๆ จะเกิดขึ้นและสนับสนุนกันเป็นแบบลูกโซ่และกระบวนการดับก็จะดับเป็นแบบลูกโซ่เช่นเดียวกัน ชีวิตมนุษย์ก็จะมีสภาพเช่นว่านี้ การเกิดจนถึงการสลายไปแห่งขันธ์ ๕ ก็จะเป็นวงจรวนเวียนอยู่อย่างนี้เรื่อย ๆ ไป หากไม่มีการทำลายหรือการดับปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งก่อน ในการดับนั้น เราสามารถดับปัจจัยตัวใดก่อนก็ได้ การสืบต่อของปัจจัยอื่นก็จะไม่มี เหมือนกับการตัดห่วงของลูกโซ่ เราจะตัดห่วงข้อใดก่อนก็ได้ ดังนั้น ในการดับหรือทำลายเหตุปัจจัยในปฏิจจสมุปบาท ๑๒  หัวข้อนั้น เราตัดหรือทำลายตัวใดก็ได้ ไม่จำเป็นที่จะดับปัจจัยที่ยกมา กล่าวคือ อวิชชา หลักทางพุทธศาสนาได้แสดงธรรมไว้หมวดหนึ่ง ซึ่งมีกระบวนการของเหตุปัจจัยที่อาศัยกันเกิดและสืบต่อกันไป นั่นคือ การเวียนว่ายตายเกิดแห่งชีวิต ที่เรียกว่า "วัฏฏะ" ซึ่งแปลว่า วน หรือ วงกลม วัฏฏะมี ๓ อย่างคือ
๑. กิเลสวัฏฏะ คือ แรกผลักดันของกิเลส อันเป็นเหตุให้เกิดการกระทำต่าง ๆ กิเลสได้แก่ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน
๒. กัมมวัฏฏะ คือ การกระทำต่าง ๆ ที่มีเจตจำนงหรือเจตนา ซึ่งก่อให้เกิดผลต่อ ๆ ไป กัมมวัฏฏะ ได้แก่ สังขาร ภพ
๓. วิปากวัฏฏะ คือ ความเป็นไปแห่งชีวิตอันเป็นผลมาจากการกระทำ หากทำดี ผลก็จะออกมาดีหรือตอบสนองในทางดี หากทำชั่ว ผลก็จะตอบสนองในทางชั่ว แต่ผลของการกระทำอาจจะให้ผลช้าหรือเร็วเท่านั้น วิปากวัฏฏะ ได้แก่ วิญญาณ, นามรูป, สฬายตนะ, ผัสสะ, เวทนา จึงกล่าวโดยสรุปได้ว่า วัฏฏะ ๓ นี้เป็นกระบวนการเวียนว่ายตายเกิดของชีวิต เป็นวงจรหมุนเวียนอยู่ตลอดไปตราบเท่าที่ยังมีเหตุปัจจัยเหลืออยู่ เช่น กิเลสเป็นเหตุให้ทำกรรม เมื่อเกิดการกระทำเมื่อใด การกระทำนั้นก็จะก่อให้เกิดผลตามมา จึงวนกันไปไม่มีที่สิ้นสุดเป็นแบบวงกลม คือ กิเลส กรรม วิบาก วัฏฏะทั้ง ๓ ข้างต้นนั้น หมุนเวียนต่อเนื่องเป็นปัจจัยอุดหนุนแก่กัน ทำให้วงจรแห่งชีวิตดำเนินไปอย่างไม่ขาดสาย

การจัดปฏิจจสมุปบาท ๑๒ หัวข้อเข้าในวัฏฏะ ๓
เหตุปัจจัยที่อุดหนุนกันเกิดเป็นกระบวนการตามลำดับในหลักปฏิจจสมุปบาท สามารถจัดเข้าในวัฏฏะ ๓ ได้ดังนี้
  • อวิชชา ตัณหา อุปาทาน จัดเข้าใน กิเลสวัฏฏะ
  • สังขาร ภพ จัดเข้าใน กัมมวัฏฏะ 
  • วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ชาติ จัดเข้าใน วิปากวัฏฏะ 

โดยหลักการทั่วไปในการปฏิบัติเพื่อทำลายลูกโซ่แห่งชีวิต ซึ่งเป็นการตัดวงจรมิให้มีการสืบต่อหรือสนับสนุนของปัจจัยอื่น ท่านผู้รู้กล่าวว่า เราควรจะทำลายหรือตัดลูกโซ่ช่วงที่เป็นกิเลส คือ อวิชชาตัณหา และอุปาทานก่อน โดยเริ่มจากการทำลายตัวตัณหา เพราะเมื่อตัณหาน้อยหรือเบาบางลง อุปาทานก็น้อยและเบาบาง แล้วอวิชชาคือความไม่รู้ ความเขลา ความมืดบอดก็ค่อย ๆ จากลงและสูญสิ้นไปด้วย ตามหลักแห่งอริยสัจ ตัณหาเป็นสาเหตุให้เกิดทุกข์ (คือตัวสมุทัย) วิธีละหรือทำลายก็ดำเนินตามอริยมรรคมีองค์ ๘ แต่ในหลักปฏิจจสมุปบาทนั้น ถ้าตัวสายโซ่ตามที่เรียงลำดับไว้ ก็คือการละหรือทำลายอวิชชา เพราะอวิชชาเป็นตัวทำให้สัตว์โลกมืดเขลา ปิดบังไม่ให้มองเห็นตามสภาพความเป็นจริงของชีวิตและสิ่งต่าง ๆ จึงทำให้เป็นกระบวนการอันหนึ่งที่ทำให้เกิดกระบวนการอื่นสืบต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด การทำลายอวิชชาก็เหมือนกับการออกจากที่มืด เมื่อวิชชาเกิดขึ้นก็เหมือนกับคนตาดียืนอยู่ในที่มีแสงสว่าง สามารถที่จะมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้ ดังนั้น ในหลักปฏิบัติแล้ว เราสามารถจะปฏิบัติตามหลักอริยสัจ หรือปฏิจจสมุปบาทได้ แต่หากเป็นหลักปฏิบัติรวม ๆ นักปราชญ์กล่าวว่า จะต้องปฏิบัติเพื่อทำลายกิเลส คือ อวิชชา ตัณหา และอุปาทาน นั่นเอง

ปฏิจจสมุปบาทแสดงหลักความจริงสายกลาง ความเข้าใจในปฏิจจสมุปบาทที่ถูกต้อง เรียกว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ และความเห็นที่ถือว่าถูกต้องนั้นจะต้องเป็นความเห็นเป็นกลาง ๆ ไม่เอียงสุดโด่งไปข้างใดข้างหนึ่ง ปฏิจจสมุปบาทเป็นพุทธธรรมที่แสดงความจริงสายกลางนี้ บางทีเรียกว่า "มัชเฌนธรรม" ซึ่งว่าด้วยความจริงตามแนวของเหตุผลบริสุทธิ์ ตามกระบวนการของธรรมชาติ การที่พระพุทธองค์ทรงนำเอาหลักปฏิจจสมุปบาทนี้มาแสดงก็เพื่อให้เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติจริง ๆ พระพุทธเจ้าไม่ทรงสนพระทัยในการส่งเสริมความพยายามเพื่อการเข้าถึงสัจธรรมด้วยวิธีการคิดหาเหตุผล เพื่อถกเถียงแล้วสร้างหลักการ ทฤษฎีต่าง ๆ ขึ้นมา ซึ่งไม่อาจปฏิบัติตามได้หรือหากปฏิบัติตามได้แต่ไร้เสียซึ่งคุณค่าทางจริยธรรม นี่ก็เป็นเหตุผลอันหนึ่งที่พระพุทธองค์ไม่ทรงสนพระทัยในด้านอภิปรัชญา

ในการแสดงธรรมนั้น พระพุทธเจ้าทรงมุ่งถึงผลของการปฏิบัติเป็นสำคัญ อันจะทำให้คนสามารถดำเนินชีวิตไปได้ราบรื่น มีความสุขและความสำเร็จตามอัตภาพของแต่ละบุคคล หลักปฏิจจสมุปบาทนั้น แสดงความจริงเป็นสายกลาง การที่เรียกว่าสายกลางก็เพราะมีการเปรียบเทียบกับลัทธิหรือปรัชญาอื่นที่มีทัศนะสุดโต่งเอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง เพื่อให้เกิดความเข้าใจเรื่องความจริงสายกลางชัดเจนยิ่งขึ้น จึงควรนำเอาลัทธิที่มีทัศนะสุดโต่งมาศึกษาเทียบ ซึ่งลัทธิที่จะนำมาศึกาจะจัดไว้เป็นคู่ ๆ ซึ่งแยกได้ ๔ คู่ คือ
  • คู่ที่ ๑ อัตถิกวาทะ ลัทธินี้เห็นว่า สิ่งทั้งหลายมีอยู่จริง คู่กับ นัตถิกวาทะ ลัทธินี้เห็นว่า สิ่งทั้งหลายไม่มีอยู่จริง 
  • คู่ที่ ๒ สัสสตทิฏฐิ ลัทธิที่ยึดถือว่า สิ่งทั้งหลายเที่ยงแท้ คู่กับ อุจเฉททิฏฐิ ลัทธิที่ยึดถือว่า สิ่งทั้งหลายขาดสูญ 
  • คู่ที่ ๓ อัตตการวาทะ ลัทธินี้ยึดถือว่า สุข ทุกข์ เป็นต้น ตนทำเอง คู่กับ ปรการวาทะ ลัทธินี้ยึดถือว่า สุข ทุกข์ เป็นต้น เกิดจากตัวการ ภายนอก 
  • คู่ที่ ๔ การกเวทกาทิเอกัตตวาทะ ลัทธิที่ยึดถือว่า ผู้กระทำและผู้เสวยผล เป็นต้น เป็นตัวการเดียวกัน คู่กับ การกเวทกาทินานัตตวาทะ ลัทธิที่ยึดถือว่า ผู้กระทำและผู้เสวยผล เป็นต้น เป็นคนละอย่างแยกขาดจากกัน 
ทัศนะของลัทธิทั้ง ๔ คู่นี้ ตามทัศนะของพุทธศาสนามองว่า เป็นทัศนะที่เอียงไปสุดข้างหนึ่ง (สุดโต่งข้างใดข้างหนึ่ง) และจัดเป็นมิจฉาทิฏฐิ ดังพุทธพจน์ที่ตรัสกับท่านกัจจานะว่า "ดูก่อนกัจจานะ ข้อที่ว่า 'สิ่งทั้งปวงมีอยู่จริง' นี้ก็เป็นที่สุดข้างหนึ่ง และข้อที่ว่า 'สิ่งทั้งปวงไม่มีอยู่จริง' นี้ก็เป็นที่สุดอีกข้างหนึ่ง ตถาคตย่อมแสดงธรรมเป็นกลาง ๆ ไม่เข้าไปยึดติดที่สุดทั้งสองนั้น (ตถาคต ตรัส) ว่า (๑) เพราะอวิชชา เป็นปัจจัย สังขาร จึงมี เพราะสังขาร เป็นปัจจัย วิญญาณ จึงมี ........................... ฯลฯ ........................... (๒) เพราะอวิชชานี้ สำรอกดับไปไม่เหลือ สังขาร จึงดับ เพราะสังขารนี้ ดับไป วิญญาณ จึงดับ .................................. ฯลฯ ................................."

สรุปปฏิจจสมุปบาท
หลักปฏิจจสมุปบาทนั้นถือว่า เป็นธรรมที่สำคัญยิ่งประการหนึ่ง อาจกล่าวได้ว่าเป็นหัวใจแห่งคำสอนทางพระพุทธศาสนา ศาสตราจารย์ ริส เดวิด ได้นิยามคำว่า "ปฏิจจสมุปบบาท" ว่าเป็น "กฎแห่งสากลจักรวาล" หมายความว่า ปฏิจจสมุปบาทเป็นกฎที่ครอบคลุมความเป็นไปของชีวิตและจักรวาลทั้งหมดไว้ การทำให้แจ้งหลักธรรมดังกล่าวจะเกิดความรู้แจ้งเห็นจริงในกระบวนการของชีวิตและจักรวาลทั้งหมด การปฏิบัติเพื่อทำลายโซ่แห่งชีวิต (ปฏิจจสมุปบาท) นั้น สามารถทำได้โดยตัดช่วงใดช่วงหนึ่งขององค์ประกอบ ๑๒ หัวข้อ เพราะทั้งหมดนั้นเป็นหตุปัจจัยของกันและกัน ดังที่พระพุทธองค์ ตรัสว่าดังนี้ อิมสฺมึ สติ อิทํ โหติ. เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี อิมสฺสุปฺปาทา อิทํ อุปฺปชฺชติ. เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น อิมสฺมึ อสติ อิทํ น โหติ. เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี อิมสฺส นิโรธา อิทํ นิรุชฺฌติ. เพราะสิ่งนี้ดับไป สิ่งนี้ก็ดับไป

แต่โดยทั่วไป นักปราชญ์ทางพุทธศาสนาสอนว่าให้ทำลายช่วงที่เป็นกิเลส คือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน บรรดากิเลสทั้งสามนี้ ควรทำลายตัณหาก่อน เพราะเมื่อตัณหาน้อย อุปาทานก็น้อยลง และอวิชชาก็จะค่อย ๆ จางลงตามไปด้วย อวิชชา คือความมืด วิชชาเหมือนแสงสว่าง ตัณหาและอุปาทานเหมือนวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่งที่ปิดบังแสงสว่างไว้มิให้มองเห็น เมื่อเราสามารถทำลายสิ่งที่ขวางกั้นแสงสว่างเสียได้ แสงสว่างก็จะส่องเข้าไปทำให้ความมืดหายไป เราก็สามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในเงามืดได้อย่างชัดเจน คนส่วนใหญ่นั้นมักตกอยู่ในแดนของอวิชชา จึงมืดบอดไม่รู้สภาพตามความเป็นจริง การที่ท่านผู้รู้ที่สอนให้ทำลายตัณหาและอุปาทานก่อนนั้น เป็นคำสอนที่ตรงกับหลักแห่งอริยสัจ ๔ กล่าวคือ ตัณหา อุปาทานเป็นสมุทัย (สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์) การที่จะทำลายทุกข์ก็จะต้องทำลายตัวเป็นสาเหตุเสียก่อน การจะปฏิบัติเพื่อทำลายตัวเหตุก็คือการดำเนินตามทางสายกลาง ได้แก่ อัฏฐังคิกมรรค หรือ อริยมรรคมีองค์ ๘

การศึกษาปฏิจจสมุปบาทให้เข้าใจย่อมทำให้เกิดความรู้เกี่ยวกับสภาวธรรมตามเป็นจริงของชีวิตได้ดังนี้
  • ๑. การทำให้เข้าใจว่า ปฏิจจสมุปบาทเป็นหลักธรรมที่แสดงว่าทุก ๆ ปรากฎการณ์ของโลกและชีวิตย่อมมีเหตุมีปัจจัย ไม่มีอะไรที่เกิดขึ้นตั้งอยู่หรือดับไปอย่างลอย ๆ ปราศจากเหตุปัจจัยสนับสนุน ธรรมทั้ง ๑๒  ประการนี้ มีความเกี่ยวเนื่องกันเป็นลูกโซ่ ดังนั้นท่านจึงเรียกว่า ปัจจยาการ
  • ๒. ปฏิจจสมุปบาทแสดงให้เห็นลักษณะความจริงของสรรพสิ่งว่ามีลักษณะเป็น อนิจจัง ความไม่เที่ยง ทุกขัง ความเป็นสภาวะอันสัตว์ทนได้ยาก และอนัตตา เป็นไปตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยสิ่งต่าง ๆ จึงมีอยู่โดยความสัมพันธ์ สิ่งทั้งหลายมีอยู่เพราะอาศัยเหตุปัจจัย ไม่มีความคงที่อยู่อย่างเดิม แม้แต่ขณะเดียวไม่มีอยู่โดยตัวเองมันเอง คือ ไม่มีตัวตนที่เป็นตัวยืนโรงนิรันดร ดังนั้นกระแสแห่งเหตุปัจจัยที่ทำให้สิ่งทั้งหลายปรากฏเป็นไปตามกฎธรรมชาติก็เพราะสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง ไม่คงอยู่ เกิดแล้วสลายไป ไม่มีตัวตนที่แท้จริงของมันและสัมพันธ์เนื่องอาศัยกันตลอดเวลา สิ่งทั้งหลายเป็นเพียงส่วนประกอบต่าง ๆ ที่มาประชุมรวมกันเข้า ตัวตนแท้จริงของสิ่งทั้งหลายไม่มีเมื่อแยกส่วนต่าง ๆ ที่มาประกอบกันเข้านั้นออกไปหมด ก็จะไม่พบตัวเองของสิ่งเหล่านั้นเหลืออยู่ ดังนั้น การศึกษาปฏิจจสมุปบาทจึงทำให้รู้จักชีวิตในฐานะประกอบด้วยไตรลักษณ์
  • ๓. ปฏิจจสมุปบาทเป็นหลักธรรมที่สามารถทำลาย สัสสตทิฏฐิ คือความเห็นที่ว่ามีความจริงบางอย่างคงอยู่อย่างไม่ต้องอาศัยปัจจัยใด ๆ มีอยู่ด้วยตัวของมันเองอย่างเที่ยงแท้ และอุจเฉททิฏฐิ คือความเห็นที่ว่าสรรพสิ่งเป็นสภาพนขาดสูญ โดยปราศจากเหตุปัจจัย เพราะปฏิจจสมุปบาทแสดงว่าสรรพสิ่งที่เราสัมผัสได้ทางผัสสะนั้นมีอยู่จริง แต่การมีอยู่ของสิ่งเหล่านั้นก็อาศัยปัจจัยแก่กัน ไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นหรือสลายไปโดยบังเอิญ ดังนั้นการรู้จักปฏิจจสมุปบาทจึงทำให้เราเข้าใจหลัก มัชฌิมาปฏิปทา ซึ่งเป็นหลักแสดงความจริงแห่งการปฏิบัติที่หลีกเลี่ยงจากความยึดถืออันสุดโต่งทั้ง ๒ ขั้ว ดังนั้นความรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทจึงเป็นสัมมาปัญญา 
  • ๔. ปฏิจจสมุปบาท จัดไว้เป็น ๓ กาล คือ
    ๑. อดีตธรรม ได้แก่ อวิชชาและสังขาร หมายถึงสิ่งที่เกิดมาแต่อดีตที่ล่วงมาแล้ว คือ ความไม่รู้ และสิ่งปรุงแต่งในอดีต เป็นปัจจัยส่งผลให้ถึงปัจจุบัน
    ๒. ปัจจุบันธรรม ได้แก่ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน และภพ หมายถึง สิ่งที่อยู่ในปัจจุบันนี้เท่านั้น กล่าวคือ ในปัจจุบันนี้มนุษย์เราเกิดมาย่อมมีอัตตภาพตัวตน และสัมภวชาติ คือ จิตใจหรือวิญญาณที่ประกอบด้วยอารมณ์และความรู้สึกทางผัสสะมีเวทนา ตัณหา อุปาทานเป็นประจำอยู่โดยตลอดไปทั้งสิ้น ซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดภพ ชาติต่อไป
    ๓. อนาคตธรรม ได้แก่ ชาติ ชรามรณะ หมายถึงเมื่อผ่านปัจจุบันไปแล้ว ธรรมในปัจจุบัน (ภพ) จะส่งให้เกิดในกำเนิด ๔ อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นชาติต่อไป ผลของการเกิดก็คือ ชรา ความแก่, มรณะ ความตาย, โสกะ ความเศร้าโศก, ปริเทวะ ความร้องไห้, ทุกขะ ความทุกข์กาย, โทมนัสะ ความทุกข์ใจ, อุปายาส ความคับแค้นใจ เป็นต้น
     
  • ๕. ปฏิจจสมุปบาท แสดงถึง สภาวะของชีวิตตั้งแต่เกิดจนถึงตายชีวิตทุกชีวิตเป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่งที่ประกอบด้วยขันธ์ ๕ หรือ รูป นาม อันเป็นทุกข์ มีการเวียนว่าย ตาย เกิด เมื่อเข้าใจในปฏิจจสมุปบาทนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้หายสงสัยในเรื่องโลกและชีวิต นรกสวรรค์ บุญบาป ชาตินี้ชาติหน้า และนิพพาน ว่าเป็นของมีจริง ดังนั้นการศึกษาปฏิจจสมุปบาทจึงทำให้เข้าใจถึงตัวสภาวะธรรมชาติ ที่เป็นสังสารธรรม และประการสำคัญที่สุด ก็คือให้เกิดสัมมาทิฏฐิ อันเป็นบุรพธรรมในการดำเนินไปสู่ความสิ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิง

หนังสืออ้างอิง

พระเทพเวที, พุทธธรรม . กรุงเทพ ฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๒.
, บรรจบ บรรณรุจิ, ปฏิจจสมุปบาท เกิด - ดำรงอยู่ - ตาย - และสืบต่อ อย่างไร . กรุงเทพ ฯ : พรบุญการพิมพ์, ๒๕๓๘., พุทธทาสภิกขุ, ปฏิจจสมุปบาท หลักปฏิบัติอริยสัจจ์ที่สมบูรณ์แบบ. กรุงเทพ ฯ : สำนักพิมพ์ธรรมสภา, ๒๕๑๔.  


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น