แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ อภิธรรมเบื้องต้น แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ อภิธรรมเบื้องต้น แสดงบทความทั้งหมด

วันอาทิตย์

๓. ลักษณะ ๓

การพิจารณาในปรมัตถ์ธรรมคือ รูปและนาม ผู้ปฏิบัติต้องเข้าใจในเรื่องของเครื่องหมายคือลักษณะของรูปขันธ์และนามขันธ์ เพื่อจะได้เข้าใจลักษณะของรูปนามได้อย่างถูกต้อง เมื่อพิจารณาได้ถูกต้องแล้วจะตัดสินได้ว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสังขารธรรมทั้งสิ้น คือ ธรรมที่เกิดขึ้นโดยมีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ลักษณะ ๓ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา 

๑. อนิจจัง 

อนิจจัง คือ เครื่องหมายของธรรมที่ไม่เที่ยง คือความสิ้นไป ดับไปสภาพธรรมนี้ได้แก่ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ รูป ๒๘ จิตและเจตสิกที่ปรุงแต่งจิต ตลอดจนรูปทั้งหมด จะมีอาการที่เป็นเครื่องหมายให้เห็นได้ถึงการเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้นเราจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม สภาพธรรมเหล่านี้ก็มีอาการที่เป็นเครื่องหมายของความเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว อาการที่เป็นเครื่องหมายนี้นั่นเอง เรียกว่า อนิจจัง 

๒. ทุกขัง 

ทุกขัง คือ เครื่องหมายของธรรมที่เป็นทุกข์ คือ ทนอยู่ไม่ได้ต้องดับไป สภาพธรรมนี้ได้แก่ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ รูป ๒๘  ลักษณะ ๓ จิตและเจตสิกที่ปรุงแต่งจิตและรูปทั้งหมด จะมีอาการที่เป็นเครื่องหมายให้เห็นได้ถึงความที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ต้องดับไป อาการที่เป็นเครื่องหมายของความทนอยู่ไม่ต้องดับไปสิ้นไป อาการที่เป็นเครื่องหมายนี้นั่นเอง เรียกว่า ทุกขัง 



๓. อนัตตา 

อนัตตา คือ เครื่องหมายของธรรมทั้งปวงที่ไม่ใช่ตัวตน ได้แก่ ความไม่มีแก่นสาร ปราศจาก เรา-เขา ที่จะบังคับบัญชาให้เป็นไปตามความต้องการ สภาพธรรมนี้ได้แก่ จิต จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ รูป ๒๘ นิพพานและบัญญัติ 

จิตเจตสิกและรูปที่เรารู้จักลักษณะโดยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์แล้ว ก็ยังต้อง
ศึกษาต้องไปอีกว่าทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนั้นก็มีอาการที่เป็นเครื่องหมายให้เห็นได้ถึงความไม่มีแก่นสารสาระบังคับบัญชาไม่ได้ เรียกว่า อนัตตา อาการที่เป็นเครื่องหมายของความเป็นอนัตตา มีอยู่ในสภาพธรรมทั้งหมด รวมถึงพระนิพพานและบัญญัติด้วย


๒. วิสุทธิ ๗

วิสุทธิ แปลว่า ความบริสุทธิ์ อันหมายถึงความบริสุทธิ์จากกิเลส ที่เป็นไปทางกาย ทางใจ และทางปัญญา กล่าวโดยย่อได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่เป็นไปโดยบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสทั้งปวง

ความหมดจดจาก
กิเลส มี ๓ ระดับ คือ หยาบ กลาง ละเอียด ทั้งทางกายทางจิตและปัญญา ถ้าหมดจดจากกิเลสโดยศีล ก็หมดจดจากกิเลสอย่างหยาบ โดยสมาธิ ก็หมดจดจากกิเลสอย่างกลาง โดยปัญญา ก็หมดจดจากกิเลสอย่างละเอียด 

วิสุทธิเป็นธรรมที่ละเอียดมากและเป็นธรรมชนิดนำไปสู่แดนเกษม คือพระนิพพาน ผู้ที่จะบรรลุพระนิพพานได้นั้นต้องดำเนินไปด้วยวิสุทธิ คือ ต้องดำเนินไปด้วยความหมดจดจากกิเลส วิสุทธิ ๗ นี้มีการดำเนินไปที่เกี่ยวเนื่องกับญาณ ๑๖ ดังนั้นจึงแสดงตารางความสัมพันธ์กันของวิสุทธิ ๗ และญาณ ๑๖ ไว้ที่หน้าสุดท้าย

วิสุทธิมี ๗ คือ 
๑. สีลวิสุทธิ  ความบริสุทธิ์แห่งศีล 
๒. จิตตวิสุทธิ  ความบริสุทธิ์แห่งจิต 
๓. ทิฏฐิวิสุทธิ  ความบริสุทธิ์แห่งความเห็นที่ถูกต้อง
๔. กังขาวิตรณวิสุทธิ  ความบริสุทธิ์ของญาณที่ข้ามพ้นความสงสัย
๕. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ  ความบริสุทธิ์ในการเห็นแจ้งของญาณว่าเป็นทางปฏิบัติถูกและทางปฏิบัติไม่ถูก 
๖. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ  ความบริสุทธิ์ในการเห็นแจ้งของญาณในทางปฏิบัติถูก
๗. ญาณทัสสนวิสุทธิ  ความบริสุทธิ์ของความรู้ความเห็น


๑. สีลวิสุทธิ 

สีลวิสุทธิ หมายถึง ศีลเพื่อละกิเลส ไม่ใช่ศีลเพื่อบำรุงกิเลส เพราะว่าศีลนั้นกิเลสก็อาศัยเกิดได้ เช่นการรักษาศีลเพื่อต้องการได้บุญ อยากได้ไปเกิดอีก อยากร่ำรวย การรักษาศีลหรือทำบุญใดๆ ที่มีเจตนาที่เป็นไปเพื่อความสุข เพื่อความร่ำรวย ศีลอย่างนี้ก็ไม่ใช่ศีลเพื่อทำลายกิเลส ส่วนศีลบริสุทธิ์ที่จะเป็นสีลวิสุทธิต้องเป็น ศีลที่ประพฤติเพื่อปรารถนาพระนิพพาน 

ศีล หมายถึง ธรรมชาติใดที่ประกอบด้วยเจตนาของบุคคลผู้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น หรือของบุคคลผู้บำเพ็ญวัตรปฏิบัติ ที่ชื่อว่าศีล เพราะว่า เป็นความปกติ คือ เป็นปกติอย่างเรียบร้อย มีกิริยาทางกาย ทางวาจาที่ประกอบด้วยความสุภาพเรียบร้อย หรือหมายความว่า เป็นความรองรับ เป็นฐานรองรับกุศลธรรมทั้งหลาย ศีลมีหลายประการ เช่น ศีล ๕ ,ศีล ๘ , ศีล ๑๐ ,ศีล ๒๒๗ ,ศีล ๓๑๑ เพราะถึงแม้ศีลจะต่างกันโดยประเภทแห่งเจตนาเป็นต้น ก็ไม่พ้นไปจากความทรงอยู่อย่างเรียบร้อยและความรองรับกุศลธรรมนั้นเอง 

ศีลมีจำแนกไว้หลายหมวดหลายนัย ในที่นี้จะแสดงเพียงหมวดเดียวคือ ศีล ๔ อย่าง หมวด ๔ คือ
- ปาติโมกขสังวรศีล
- อินทรียสังวรศีล 
- อาชีวปาริสุทธิศีล
- ปัจจยสันนิสสิตศีล 

๑.๑ ปาติโมกข สังวรศีล คือ ศีลที่สำรวม ระวังไม่ล่วงละเมิดทางกายทางวาจา ความระวังนี้เองคือการสังวร บุคคลผู้ประกอบด้วยศีล ๕ , ๘ , ๑๐ , ๒๒๗ , ๓๑๑ ย่อมยังความถึงพร้อมในการสังวร บุคคลที่ไม่มีความสำรวมระวังในการอยู่ ในการไป ในการอาศัย ย่อมทำให้ทุกข์เกิดขึ้นได้ การสำรวมในการโคจรที่ดี มี ๓ อย่าง คือ อุปนิสสยโคจร อารักขโคจร อุปนิพันธโคจร

    ๑.๑.๑ อุปนิสสยโคจร คือ การโคจรซึ่งประกอบด้วยคุณ ๑๐ ประการ ได้แก่ 
            - พิจารณาว่า ทำแล้วย่อมได้ฟังพุทธวจนะที่ยังไม่เคยฟัง 
            - พิจารณาว่า ทำแล้วย่อมทำพุทธวจนะที่ฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง 
            - พิจารณาว่า ทำแล้วย่อมสิ้นความสงสัย 
            - พิจารณาว่า ย่อมทำทฤษฎีให้ถูกต้อง 
            - พิจารณาว่า ย่อมทำจิตใจให้ผ่องใส
            - พิจารณาว่า กัลยาณมิตรย่อมยังให้เจริญด้วยศรัทธา
            - พิจารณาในศีล
            - พิจารณาในสุตะ คือการฟังการศึกษาเล่าเรียน 
            - พิจารณาในจาคะ คือการบริจาค
 
            - พิจารณาในปัญญา 

การงานต่างๆ ของบุคคลที่พิจารณาในข้อปฏิบัติ 
๑๐ ประการนี้ จะเป็นการช่วยทำให้การรักษาศีลในขั้นปาติโมกขสังวรศีลเป็นไปได้สะดวกดี เพราะพิจารณาในทุกๆ เรื่องก่อนว่าสิ่งใดกระทำแล้วเป็นไปเพื่อละกิเลสจึงกระทำ สิ่งใดกระทำแล้วเป็นการบำรุงกิเลสก็งดเว้นเสีย

    ๑.๑.๒ อารักขโคจร คือ การไปในที่ต่างๆ ก็ให้กำหนดไม่ให้
มองสอดส่าย สังวรระวัง เดินอย่างสำรวม ไม่เหลียวดูสิ่งล่อตาล่อใจต่างๆ ไม่ดูสตรี ไม่ดูบุรุษ อย่างนี้คือมีความอารักขาดูแลตนในการไปในที่ต่างๆ 

    ๑.๑.๓ อุปนิพันธโคจร คือ การโคจรไปในที่ต่างๆ โดยสำรวม ระวังผูกจิตไว้ โดยการกำหนดสติปัฏฐาน ๔ 

๑.๒ อินทรียสังวรศีล คือ ศีลที่สำรวมในอินทรีย์ ๖ คือการมีสติสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ จากพระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค สามัญญผลสูตร พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า 
มหาบพิตร อย่างไร ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย.
มหาบพิตร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักขุแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้นชื่อว่ารักษาจักขุนทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์

ภิกษุฟังเสียงด้วยโสต ...ดม
กลิ่นด้วยฆานะ...ลิ้มรสด้วยชิวหา...ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย...รู้เเจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้วไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะเธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ที่เมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษามนินทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุประกอบด้วยอินทรียสังวรอันเป็นอริยะเช่นนี้ ย่อมได้เสวยสุขอันไม่ระคนด้วยกิเลสในภายใน มหาบพิตร ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล.

อธิบายโดยสรุปได้ดังนี้ คำว่า เห็นรูปด้วยจักษุนั้นโดยแท้จริงแล้วคือเห็นรูปด้วยจักขุวิญญาณ จักษุนั้นเห็นรูปไม่ได้เพราะไม่มีจิต จิตก็เห็นรูปไม่ได้เพราะไม่จักษุ แต่เพราะทวารกับอารมณ์กระทบกัน บุคคลจึงเห็นรูปได้ด้วยจิตที่เกิดขึ้นที่จักษุนั้นเอง การไม่ยึดถือซึ่งนิมิต คือ การไม่ยึดถือนิมิตเครื่องหมายว่าเป็นหญิงเป็นชาย หรือความสวยงามซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้กิเลสเกิดขึ้นได้ง่าย ให้หยุดอยู่เพียงแค่เห็นเท่านั้น การไม่ยึดถือซึ่งอนุพยัญชนะ คือ ไม่ยึดถือในกิริยาอาการต่างๆ เช่นเห็นว่า ยิ้มสวย เวลายิ้มมีลักยิ้มที่แก้ม กิริยาที่หัวเราะก็น่ารัก เป็นต้นซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้กิเลสเกิดขึ้นได้ง่าย ให้หยุดอยู่เพียงแค่เห็นเท่านั้น

อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำ อภิชฌา คือโลภะ โทมนัส คือ โทสะ เมื่อมีการสำรวมอินทรีย์ในทวารทั้งหลายแล้วอกุศลธรรมอันลามกก็จะไม่เกิดขึ้น เมื่อบุคคลมีสติในการสำรวมสังวรระวังอยู่ ก็จะสามารถกั้นอกุศลที่จะเกิดขึ้นจากการเห็น การได้ยิน เป็นต้นได้ บุคคลที่ไม่สำรวมอินทรีย์ก็เหมือนคนที่มุงหลังคาไม่ดี ฝนย่อมรั่วรดถูกตัวเสมอ คล้ายกับกิเลสที่รั่วไหลเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ย่อมรั่วรดจิตใจเสมอ ตนก็จะต้องเช็ดน้ำตาเรื่อยไป ถ้าหากว่าผู้ที่มีการสำรวมอินทรีย์ก็เหมือนกับคนที่มุงหลังคาดีแล้ว ฝนย่อมไม่รั่วลงมารดตัว ตนก็ไม่ต้องเช็ดน้ำฝน นี้ก็เช่นเดียวกัน ถ้ามีการสำรวมอินทรีย์แล้วกิเลสก็ไม่รั่วเข้ารดใจ เมื่อเห็นหรือได้ยินแล้ว อกุศลธรรมต่างๆ ก็ไม่เกิดขึ้น



๑.๓ อาชีวปาริสุทธิศีล คือ ศีลที่เกี่ยวกับการหาเลี้ยงชีพโดยบริสุทธิ์เป็นการประกอบอาชีพโดย สัมมาอาชีวะ สำหรับฆารวาสคือการเว้นมิจฉาชีวะต่างๆ สำหรับพระภิกษุ สามเณร คือเว้นจากการประจบประแจง การเป็นทูตให้แก่ญาติโยม เป็นต้น

๑.๔ ปัจจยสันนิสสิต ศีล คือ ศีลที่อาศัย การบริโภค ปัจจัย ๔ อันบริสุทธิ์ด้วยการพิจารณา ดังพระพุทธองค์ทรงตรัสไว้มีอาทิว่า “ ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว จึงใช้สอยจีวร เพียงเพื่อกำจัดเสียซึ่งความเย็น...” ความแยบคายในการใช้สอยในการบริโภคนั้นมีความสำคัญเพราะจะได้ไม่ตกเป็นทาสของสิ่งเหล่านั้น ไม่หลงใหลได้ปลื้มกับทรัพย์ภายนอกเกินควร ใช้สอยอย่างรู้คุณค่าและประโยชน์ที่ตรงชัดที่จะได้รับมิใช่ใช้สอยเพื่อประกาศฐานะยศฐาบรรดาศักดิ์ ส่วนในด้านของภิกษุก็ได้แก่ ก่อนที่จะ รับประเคนอะไรก็ต้องพิจารณาก่อนว่าควรรับไหมรับมาเพื่ออะไร ถ้าเป็นอาหารบิณฑบาตเมื่อเวลาจะฉันก็ต้องพิจารณาว่า ฉันเพื่ออะไร ถ้าไม่พิจารณาก็ไม่บริสุทธิ์ เป็นต้น

อินทรียสังวร กับปาติโมกขสังวร ต่างกันอย่างไร ? ถ้ามีปาติโมกขสังวร ไม่ต้องมีอินทรียสังวรได้ไหม ?
อินทรียสังวรเป็นการสังวรในขณะที่ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง เป็นต้น แต่ปาติโมกขสังวรนั้นเป็นศีลที่เป็นไปเพื่อไม่ให้ไปรับรูป เสียง เป็นต้น เช่นข้อห้ามในศีล คือ ไม่ให้ดูฟังการฟ้อนรำขับร้อง แต่เมื่อเวลาเห็นได้ยินแล้วถ้าไม่มีอินทรียสังวรกำกับไว้ก่อน กิเลสก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้

ฉะนั้นถ้ามีปาติโมกขสังวรแล้วก็ควรปฏิบัติควบคู่กับอินทรียสังวร
ด้วย จะทำให้ผู้ปฏิบัติทำลายความชอบใจและความไม่ชอบใจได้ อินทรียสังวรสามารถชำระกิเลสอย่างหยาบ อย่างกลาง ละอภิชฌา(โลภ)และโทมนัส(โทสะ) ที่เกิดทางใจได้ และสามารถทำลายกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดานได้ มีทิฏฐิ เป็นต้น ส่วนปาติโมกขสังวรศีล ทำลายได้แต่กิเลสอย่างหยาบ คือกิเลสทางกายกับวาจา

เหตุที่ทำให้ ศีลทั้ง ๔ อย่าง สำเร็จสรุปได้ดังนี้

ศีล เหตุที่ทำให้สำเร็จ 
๑. ปาติโมกขสังวรศีล สำเร็จได้ด้วยศรัทธา ตัวอย่างเช่น พระเถระที่ถูกโจรมัดด้วยเถาหญ้านาง (ท่านมีศรัทธาในการรักษาศีลข้อห้ามตัดทำลายของเขียว แม้ต้องแลกด้วยชีวิตก็ยอม) ท่านนอนเจริญวิปัสสนาอยู่อย่างนั้นตลอด ๗ วัน ได้บรรลุพระอนาคามีผล แล้วมรณภาพในดงนั่นเอง

๒. อินทรียสังวรศีล สำเร็จได้ด้วยสติ ถ้ามีสติในอินทรีย์ทั้งหลาย คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ บาปอกุศลทั้งหลายก็จะไม่เกิดขึ้น

๓. อาชีวปาริสุทธิศีล สำเร็จได้ด้วยวิริยะ เพราะวิริยะที่ปรารภธรรมโดยชอบแล้วก็เป็นการประหาณมิจฉาอาชีวะได้

๔. ปัจจยสันนิสสิตศีล สำเร็จได้ด้วยปัญญา ผู้มีปัญญาจึงจะสามารถมองเห็นโทษและอานิสงส์ของปัจจัยทั้งหลายได้



๒. จิตตวิสุทธิ

จิตตวิสุทธิคือ ความบริสุทธิ์แห่งจิต การชำระ จิตใจให้ปราศจากมลทินเครื่องเศร้าหมอง คือ นิวรณ์ จิตตวิสุทธิมี ๒ อย่าง คือ

๑. สมถสมาธิ ได้แก่ สมาธิ ๒ อย่าง คือ อุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ เพราะเป็นสมาธิที่มีความบริสุทธิ์เป็นพิเศษ ชำระจิตใจของพระโยคีให้ปราศจากมลทินคือ นิวรณ์ ๕ จัดเป็นจิตตวิสุทธิโดยตรง อุปจารสมาธิ เป็นสมาธิที่อยู่ในมหากุศลหรือมหากิริยา ที่มี สมถกรรมฐานเป็นอารมณ์ ส่วนอัปปนาสมาธิ เป็นสมาธิที่อยู่ในมหัคคตฌาน ๙ มีบัญญัติปรมัตถ์ ที่เนื่องด้วยสมถกรรมฐาน ๓๐ เป็นอารมณ์

๒. วิปัสสนาสมาธิ ได้แก่ ขณิกสมาธิสมาธิชั่วขณะที่อยู่ในมหากุศล หรือมหากิริยา จัดเป็นจิตตวิสุทธิโดยอ้อม จะเกิดขึ้นกับผู้ที่เจริญวิปัสสนาล้วนๆ มีการพิจารณา อารมณ์ โดยรูปนาม โดยความเป็นไตรลักษณ์ โดยอริยสัจจ์ ๔ เป็นต้น

๓. ทิฏฐิวิสุทธิ

ทิฏฐิวิสุทธิ ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นถูก หรือปัญญาที่รู้ถูกเข้าใจถูก คือ ความรู้ความเข้าใจนามรูปตามสภาวะที่เป็นจริง เป็นเหตุให้ข่มความเข้าใจผิดว่าเป็นสัตว์บุคคลเสียได้ เป็นญาณที่สามารถรู้รูปนามได้โดย
๑. ลักษณะ คือ รู้ลักษณะ เฉพาะตนของรูปนาม
๒. รส คือ รู้หน้าที่หรือกิจของรูปนาม
๓. ปัจจุปัฏฐาน คือ รู้ผลหรืออาการปรากฏของรูปนาม
๔. ปทัฏฐาน คือ รู้เหตุที่ใกล้ชิดของรูปนาม

ทิฏฐิวิสุทธิ องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ในมหากุศลญาณสัมปยุตตจิต ๔ ที่มีรูปนาม เป็นอารมณ์ การกำหนดรู้ แม้จะไม่ครบทั้ง ๔ข้างต้น เพียงแต่รู้อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ได้ชื่อว่าทิฏฐิวิสุทธิ ทิฏฐิวิสุทธิเมื่อว่าโดยญาณ ๑๖ จัดเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ

คำถาม-ตอบ เพื่อให้รู้จักรูปนาม
๑. จะเข้าใจนามรูปตามสภาวะที่เป็นจริง ได้อย่างไร ?
การที่จะ
พิจารณาจนเห็นว่านามรูปนี้ไม่ใช่ตัวตนไม่ใช่ของตน เป็นสิ่งที่ไม่มีเจ้าของ ไม่อยู่ในอำนาจของใคร และไม่ใช่สัตว์ บุคคล ต้องเป็นปัญญาที่รู้และเข้าใจในสภาพธรรมของรูปและนามจริงๆ

๒. จะเอาปัญญาจากไหนมาเข้าใจ ?
ต้องเป็นทิฏฐิขั้นวิสุทธิที่
เข้าใจถูกรู้ถูกในรูปนาม

๓. จะมีทิฏฐิวิสุทธิได้อย่างไร ?
ต้องได้มาจากการพิจารณารูป
นาม

๔. การพิจารณานามรูปนั้นพิจารณาอย่างไร ?
ต้องพิจารณาตาม
แนวมหาสติปัฏฐาน ๔ แต่ก่อนที่ผู้ปฏิบัติจะเจริญมหาสติปัฏฐาน ๔ จะต้องศึกษารูปและนามให้เข้าใจให้ดีก่อน จึงจะสามารถกำหนดได้ ถ้ายังไม่เข้าใจว่าอะไรเป็นรูปอะไรเป็นนามก็กำหนดไม่ถูก เช่น ต้องรู้ว่าลมหายใจเป็นรูป จิตที่กำหนดระลึกรู้ลมหายใจเป็นนาม หรือการพิจารณาอิริยาบถ ๔ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน จะต้องพิจารณาอิริยาบถเหล่านั้นว่าเกิดขึ้นได้เพราะอะไร ? เมื่อพิจารณาได้ถูกต้องแล้วก็จะพบว่า เพราะจิตเป็นปัจจัยทำให้อิริยาบถเป็นไปได้ และอิริยาบถจะเกิดขึ้นได้ก็เนื่องด้วยกายที่เกี่ยวกับธาตุ ๔ เมื่อจิตคิดจะเดิน ธาตุ ๔ นี้ก็ทำงาน เมื่อจิตคิดจะนั่งธาตุ ๔ ก็ทำงาน เมื่อจิตคิดจะยืนธาตุ ๔ ก็ทำงาน เพราะว่าธาตุ ๔ ทำงานปรุงแต่งต่างกัน อิริยาบถก็เป็นไปต่างกัน และธาตุ ๔ ก็เกิดขึ้นได้ด้วยเจตนาที่เข้าปรุงแต่งจิต เมื่อผู้ปฏิบัติพิจารณาได้อย่างนี้ก็จะทราบว่าจิตนี้สามารถจะเป็นปัจจัยให้ธาตุทั้ง ๔ เป็นไปได้ตามเจตนา ที่ปรุงแต่งจิตนั่นเอง เวลาจะเดิน ธาตุทั้ง ๔ ก็จะทำงานโดยธาตุเบา คือ ธาตุลมกับธาตุไฟจะมีกำลัง ส่วนธาตุหนักคือธาตุดินกับธาตุน้ำจะอ่อนกำลัง ทำให้เท้ายกขึ้นแล้วเคลื่อนไปข้างหน้าได้ด้วยกำลังของธาตุไฟกับธาตุลม เมื่อวางเท้าลงธาตุไฟกับธาตุลมก็จะอ่อนกำลัง แต่ธาตุดินกับธาตุน้ำก็มีกำลังทำให้หย่อนเท้าเหยียบลงพื้นไว้ได้ เป็นต้น

ต้องกำหนดรู้ว่าธาตุทั้ง ๔ เป็นรูป จิตและเจตสิกที่พิจารณาธาตุ ๔ เป็นนาม ฉะนั้นทิฏฐิวิสุทธิต้องเป็นปัญญาที่เกิดจากการเจริญสติปัฏฐานและพิจารณารูปนามได้ถูกต้อง จนปราศจากความเป็นสัตว์ บุคคลตัวตน เราเขา ได้จริงๆ ปัญญาในทิฏฐิวิสุทธินี้เป็นปัญญาขั้นภาวนาไม่ใช่ปัญญาขั้นการศึกษา แต่ต้องปฏิบัติพิจารณารูปนามจนทำลายความเข้าใจผิดความสำคัญผิดว่าเป็นเราออกไปจากจิตใจให้ได้

๕. อะไรเป็นเครื่องปิดบังความเป็นจริงของรูปนาม? เครื่องปิดกั้นความจริงของนามรูป มีหลายประการดังนี้
    ๕.๑ ฆนสัญญา หมายถึง ความเป็นกลุ่มเป็นก้อนของรูปนามนั้นปิดบังอนัตตา ทำให้เราเห็นว่ารูปนามนั้นเป็นก้อนเป็นแท่ง เช่นเห็นว่ารูปก็มีรูปเดียว นามก็มีนามเดียว ทั้งรูปทั้งนามก็คือตัวตนของเรานี้เอง เมื่อถูกความเป็นกลุ่มก้อนปิดบังไว้เช่นนี้ความรู้สึกว่าไม่ใช่เราก็ไม่เกิดขึ้น 


    ๕.๒ สันตติ หมายถึง ความสืบต่อ จึงทำให้เห็นติดกันทำให้ปิดบังอนิจจัง คือความไม่เที่ยงไว้ ทำให้เห็นเป็นของเที่ยงเพราะความสืบต่อที่รวดเร็วจนไม่เห็นความขาดช่วงขาดตอนของรูป ของนาม

    ๕.๓ อิริยาบถปิดบังทุกข์ เพราะเหตุที่ไม่ได้พิจารณาอิริยาบถจึงไม่เห็นว่ารูปนามนั้นเป็นทุกข์ เพราะอิริยาบถที่เปลี่ยนไปเช่น จากอิริยาบถเดิน เปลี่ยนเป็นนั่งในขณะที่นั่งใหม่ๆ ก็จะรู้สึกสุขสบาย แต่พอนั่งไปนานๆ ก็ทุกข์อีกต้องเปลี่ยนอิริยาบถอีก อันที่จริงในขณะที่นั่งใหม่ๆ ตอนนั้นก็ทุกข์เหมือนกันแต่ทุกข์เกิดน้อยเพราะเพิ่งเปลี่ยนอิริยาบถใหม่ๆ แต่พออยู่ในอิริยาบถเดิมนานๆ ทุกข์ก็มากขึ้นๆ จะเห็นได้ว่าอิริยาบถนั้นปิดบังทุกข์ไว้ ทำให้เห็นว่าเป็นสุข แท้ที่จริงแล้วตอนที่สุขนั้นนั่นก็เป็นทุกข์เหมือนกันเพราะสภาพเช่นนี้ก็จะไม่คงอยู่ต้องมีการแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงนี้เองคือสภาพของทุกข์จริงๆ คือ มีสภาพที่ทนอยู่ในไม่ได้ ฉะนั้นผู้ปฏิบัติวิปัสสนา ที่จะเห็นอนัตตา ว่ารูปนามนี้ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน จะต้องเข้าใจในอุบายที่จะทำลายฆนสัญญาให้กระจายออกมาเสียก่อนจึงจะเห็นอนัตตาได้

๔. กังขาวิตรณวิสุทธิ

กังขาวิตรณวิสุทธิ ความบริสุทธิ์ คือ ญาณ(ปัญญา) ที่ข้ามพ้นจากความสงสัย เช่น สงสัยใน ชาตินี้ ชาติหน้า สงสัยว่าตายแล้วจะเกิดหรือไม่เกิด ปัญญาที่เกิดจากการพิจารณานามรูป ทำให้เข้าใจได้ถูกต้องว่นามรูปนี้มีอยู่จริง แต่สัตว์บุคคลนั้นไม่มีในโลกทั้ง ๓ คือ กามโลก รูปโลก อรูปโลก มีแต่รูปกับนามเท่านั้น แล้วรูปนามนี้มาจากไหน ใครเป็นคนสร้างรูปนามนี้ คำตอบในเรื่องนี้ก็ต้องเจริญปัญญาให้ถึงขั้นกังขาวิตรณวิสุทธิ จึงจะหมดความสงสัยได้

การปฏิบัติ คือ การกำหนดรูปนามต่อมาจากทิฏฐิวิสุทธิ กำหนดต่อไปอยู่เนืองๆ ก็จะทราบว่า รูปนามนี้เกิดขึ้นด้วยเหตุอะไร รูปใดเกิดขึ้นก็จะรู้ว่าเกิดขึ้นด้วยเหตุอะไร นามใดเกิดขึ้นก็จะรู้ได้ว่า นามนี้เกิดขึ้นเพราะเหตุอะไร ปัญญาความรู้ในขั้นกังขาวิตรณวิสุทธินี้จะรู้มากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความแตกฉานในปริยัติ ก็สามารถรู้ปัจจัยได้มาก เช่นรู้โดยวัฏฏะว่า รูปนามขันธ์ ๕ มาจากกรรม กิเลส วิบาก หรือรู้ไปตามนัยของปฏิจจสมุปบาท คือปัจจัยให้เกิดรูปนามในปฏิสนธิ ได้แก่อวิชชา ตัณหา อุปาทาน

ผู้ปฏิบัติในขั้นกังขาวิตรณวิสุทธิแล้วจะรู้เหตุปัจจัยของธรรมว่าธรรมนี้เกิดขึ้นเพราะเหตุนี้ จิตแต่ละดวงเกิดขึ้น เช่น โทสะจิตเกิดขึ้นเพราะอะไร เกิดขึ้นเพราะเห็นรูปแล้วปรุงแต่งว่ารูปที่เห็นนั้นไม่ชอบใจโทสะก็เกิดขึ้น โทสะที่เกิดขึ้นแล้วนั้นก็ดับไปสิ้นไปเมื่อสิ้นเหตุสิ้นปัจจัยแล้วโทสะดวงใหม่ก็สามารถเกิดขึ้นอีกเมื่อมีเหตุปัจจัย เมื่อเหตุดับธรรมนั้นๆ ก็ดับ

๕. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ

มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ คือความรู้ในหนทาง ทั้งทางถูกและทางผิด เห็นความเกิดขึ้นและความดับไปแห่งสังขาร และมีอุปกิเลส ๑๐ อย่างๆ ใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ปัญญาที่กำหนดวินิจฉัยลักษณะว่าวิปัสสนูปกิเลส เหล่านี้ไม่ใช่มรรค เพราะเป็นเหตุเป็นที่ตั้งแห่งตัณหามานะ ทิฏฐิ โดยแท้ แต่วิปัสสนาญาณที่ดำเนินไปตามวิถีซึ่งพ้นจากวิปัสสนูปกิเลส ๑๐ แล้ว เป็นปัญญาที่รู้หนทางที่ถูกต้อง การเห็นตามความเป็นจริงทั้ง ๒ นี้ เป็นมรรค ชื่อว่ามัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ เพราะรู้เห็นทางพ้นทุกข์และมิใช่ทางพ้นทุกข์

มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ เป็นปัญญาที่เกิดต่อมาจากกังขาวิตรณวิสุทธิ ถ้าวิสุทธิที่ ๔ ไม่มีแล้ว วิสุทธิที่ ๕ คือ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิก็มีไม่ได้ ที่ผ่านมาในกังขาวิตรณวิสุทธินั้นเพียงรู้ถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้รูปนามเกิด แต่ยังไม่เห็นความดับของรูปนามที่เกิดขึ้นในขณะปัจจุบันนั้นได้ เพราะว่าปัญญาในขั้นนี้ยังอ่อนอยู่ วิธีการปฏิบัติ คือ ต้องกำหนดรูป-นาม ต่อไปอีกเนืองๆ จนกระทั่งเห็นความดับของรูปนาม แต่ความดับของรูปนามที่ตนเห็นในตอนนี้ยังไม่ได้เห็นความดับของรูปนามจริงๆ เพียงแต่เห็นการเกิดใหม่ของรูปนามอยู่เนื่องๆ เห็นฝ่ายเกิดอยู่เนืองๆ จึงทำให้ทราบถึงความดับไปของรูปนามเก่าก่อนที่รูปนามใหม่จะเกิดขึ้น ปัญญาในขั้นนี้ยังมีกิเลสเกิดได้ คือเป็นอารมณ์ของวิปัสสนูปกิเลส ๑๐ ที่เกิดจากกำลังของสมาธิ กิเลสที่

จะเกิดขึ้นได้ในขณะนั้นเป็นกิเลสที่ละเอียดมากและกำลังปัญญายังอ่อนอยู่ จึงรู้ไม่เท่าทัน ปัญญาจึงไม่สามารถจะปรับอินทรีย์ให้เสมอกันได้ เพราะขณะนั้นกำลังสมาธิแรงกว่าปัญญา ทำให้เกิดมีแสงสว่าง มีความสุข มีความสงบเยือกเย็น เป็นต้น เกิดขึ้นได้ เหล่านี้เป็นสิ่งขัดขวางความก้าวหน้าของปัญญา ทำให้หลงติดอยู่ในทางที่ไม่ใช่หนทางแห่งมรรค 


๖. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ

ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ คือ ความรู้ในข้อปฏิบัติที่ถูกในการเห็นแจ้ง อันเป็นเครื่องดำเนินไป สู่มัคคปฏิปทาโดยส่วนเดียว เป็นหนทางที่จะเดินไปในธรรมที่บริสุทธิ์คือพระนิพพาน มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ซึ่งเป็นวิสุทธิที่ ๕ นั้น เป็นปัญญาที่ชำระวิปัสสนูปกิเลสได้หมดสิ้น จะเห็นได้ว่าในวิสุทธิที่ ๕ นั้น ยังมีอุปกิเลสเข้าไปอาศัยเกิดในอารมณ์ของวิปัสสนาได้ ผู้ปฏิบัติจึงต้อง ทำความเข้าใจอารมณ์ที่ถูกและอารมณ์ที่ไม่ถูก จึงจะชำระกิเลสที่เรียกว่าวิปัสสนูปกิเลสได้ ฉะนั้นผู้ปฏิบัติวิปัสสนาจนเกิดปัญญาเข้าใจในข้อปฏิบัตินั้นว่าถูกต้องดี และปราศจากความเข้าใจผิดโดยประการทั้งปวงแล้ว จึงจะดำเนินเข้าสู่ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิได้

๗. ญาณทัสสนวิสุทธิ

ญาณทัสสนวิสุทธิ คือความรู้แจ้งในอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์, สมุทัย, นิโรธ, มรรค มรรคญาณทั้ง ๔ มีโสดาปัตติมรรคญาณเป็นต้น ชื่อว่า ญาณทัสสนวิสุทธิ เพราะชำระใจให้พ้นจากมลทิน คือ ตัวโมหะ ความหลง ญาณทัสสนวิสุทธินี้เป็นปัญญาที่เกิดต่อมาจากปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิที่เดินถูกทางแล้ว เรื่อยมาจนบรรลุพระนิพพาน 



🙏เมื่อรู้จักหนทางแห่งปัญญาคือวิสุทธิ ๗ แล้ว ผู้ใคร่ต่อการปฏิบัติ 
ต้องดำเนินตามทางแห่งปัญญาในวิสุทธินั้นๆ ให้ได้ตามลำดับ เมื่อทราบถึงหนทางแห่งปัญญา ทราบการเจริญสติปัฏฐาน ๔ แล้ว ก็ต้องปฏิบัติอยู่เสมอๆ เนืองๆ และในระหว่างการปฏิบัตินั้นก็ต้องสังเกตจิตใจ สังเกตอารมณ์ที่กำลังเจริญ ซึ่งผลของการปฏิบัติจะเกิดขึ้นอย่างถูกต้องนั้นก็มีสิ่งที่สังเกตได้ ได้แก่ ลักษณะ ๓ อนุปัสสนา ๓ ซึ่งจะได้ศึกษากันต่อไป



วันเสาร์

๑.๓ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน 

จิตเป็นสิ่งถูกรู้ได้ยากกว่าเวทนา เพราะปกติคนเราจะถูกความรู้สึกนึกคิดห่อหุ้มไว้ เป็นเปลือกหนาชั้นแรกสุด หากขาดการรองรับจากการรู้ระดับต้นๆ เช่น การมีสติกำหนดรู้กายในกายานุปัสสนาและการกำหนดรู้เวทนาในเวทนานุปัสสนา ก็จะเข้าถึงการรู้สภาพจริงๆ ของจิตในปัจจุบันขณะได้ยากมาก เมื่อพิจารณาข้อปฏิบัติการดูจิตก็คือให้รู้จักจิตทุกแบบ ไม่ยกเว้นแม้แต่จิตที่นิ่ง หรือจิตที่หลุดพ้น

พระพุทธองค์ทรงมีอุบายวิธีให้รู้จักจิตอย่างเหมาะสมในขั้นต้น คือให้ดูที่เปลือกหยาบของจิตก่อน คือให้รู้ตามจริงว่าจิตมีราคะเป็นอย่างไร จิตมีโทสะเป็นอย่างไร จิตมีโมหะเป็นอย่างไร พอเห็นบ่อยๆ ก็ค่อยๆ เข้าใจสภาวะของจิตแบบหยาบได้เองว่ามีลักษณะอย่างไร เมื่อเห็นสภาวจิตแบบหยาบได้ ต่อไปก็ค่อยพัฒนาไปเห็นสภาวจิตแบบละเอียดได้เช่นกัน และสรุปสุดท้ายก็ให้รู้ว่าจิตทุกสภาวะนั้นมีลักษณะเหมือนกันหมด คือ มีความไม่เที่ยง ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ต้องมีการแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดาเหมือนกัน

หลักการใช้สติพิจารณาจิต 

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ควรพิจารณาจิตดังต่อไปนี้ คือถ้าจิตมีราคะ (โลภ กำหนัด) ก็ให้กำหนด รู้ว่า “ จิตดวงนี้มีราคะ”
ถ้าจิตปราศจากราคะ ก็ให้กำหนด รู้ว่า “ จิตดวงนี้ปราศจากราคะ”
ถ้าจิตมีโทสะ (โกรธ) ก็ให้กำหนด รู้ว่า “ จิตดวงนี้มีโทสะ”
ถ้าจิตปราศจากโทสะ ก็ให้กำหนด รู้ว่า “ จิตดวงนี้ปราศจากโทสะ”
ถ้าจิตมีโมหะ (หลง) ก็ให้กำหนด รู้ว่า “ จิตดวงนี้มีโมหะ”
ถ้าจิตปราศจากโมหะ ก็ให้กำหนด รู้ว่า “ จิตดวงนี้ปราศจากโมหะ”
ถ้าจิตหดหู่ ก็ให้กำหนดรู้ว่า “ จิตดวงนี้หดหู่”
ถ้าจิตฟุู้งซ่าน ก็ให้กำหนด รู้ว่า “ จิตดวงนี้ฟุู้งซ่าน”
ถ้าจิตบรรลุฌาน ก็ให้กำหนด รู้ว่า “ จิตดวงนี้บรรลุฌาน”
ถ้าจิตยังไม่บรรลุฌาน ก็ให้กำหนด รู้ว่า “ จิตดวงนี้ยังไม่บรรลุฌาน”
ถ้าจิตยังมีจิตอื่นสูงกว่า ก็ให้กำหนด รู้ว่า “ จิตดวงนี้ยังมีจิตอื่นสูงกว่า”
ถ้าจิตไม่มีจิตอื่นสูงกว่า ก็ให้กำหนด รู้ว่า “ จิตดวงนี้ไม่มีจิตอื่นสูงกว่า”
ถ้าจิตเป็นสมาธิ ก็ให้กำหนด รู้ว่า “ จิตดวงนี้เป็นสมาธิ”
ถ้าจิตไม่เป็นสมาธิ ก็ให้กำหนด รู้ว่า “ จิตดวงนี้ไม่เป็นสมาธิ”
ถ้าจิตหลุดพ้นจากกิเลส ก็ให้กำหนด รู้ว่า “ จิตดวงนี้หลุดพ้นจากกิเลส”
ถ้าจิตยังไม่หลุดพ้นจากกิเลส ก็ให้กำหนด รู้ว่า “ จิตดวงนี้ยังไม่หลุดพ้นจากกิเลส”

ผู้ปฏิบัติควรนำวิธีการข้างต้นนี้มาพิจารณาโดยมีวิธีการปฏิบัติโดย

สรุป คือ 

๑. ผู้ปฏิบัติควรนำวิธีข้างต้นนี้มาพิจารณา จิตภายในคือจิตของตนให้เห็นเป็นเพียงสักแต่ว่าเป็นจิต
๒. หรือจะนำจิตภายในมาพิจารณาเปรียบเทียบกับ จิตภายนอกคือ จิตของผู้อื่น ให้เห็นว่าจิตของผู้อื่นก็เป็นเพียงสักแต่ว่าเป็นจิตเหมือนกับจิตของเรานั่นเอง
๓. หรือจะใช้สติพิจารณาทั้งจิตภายในและจิตภายนอกให้เห็นเป็นเพียงสักแต่ว่าเป็นจิต สลับกันไปก็ได้
๔. ใช้สติพิจารณาการเกิดและธรรมเป็นเหตุเกิดแห่งจิต หรือใช้สติพิจารณาการดับและธรรมเป็นเหตุดับแห่งจิต หรือใช้สติพิจารณาทั้งการเกิด -ดับและธรรมเป็นเหตุเกิด -ดับแห่งจิต สลับกันไปก็ได้
๕. ต้องมีสติอยู่เสมอว่า สภาวะที่ปรากฏอยู่นี้เป็นแต่เพียงจิตเท่านั้น (ไม่ใช่บุคคลอัตตาตัวตนเราเขา) และควรตระหนักด้วยว่าการที่นำเอาจิตมาพิจารณาตามนัยข้างต้นนั้นมีวัตถุประสงค์เพียงต้องการให้ญาณปัญญาแก่กล้ายิ่งๆ ขึ้น และเพียงเพื่อความสมบูรณ์แห่งการเจริญสติเท่านั้น จึงไม่ควรที่จะหลงผิดยึดติดอยู่ในสังขาร (จิต) ใดๆ ที่กำลังเกิดดับอยู่

 

จบ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน


๑.๒ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน

เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน

เวทนานี้มีสภาพของความเป็นนาม นามจะรู้ได้ยากกว่ารูป แต่เวทนาก็ยังเป็นสิ่งถูกรู้ได้ง่ายกว่าสภาพของจิต เพราะความรู้สึกเป็นสุขและเป็นทุกข์ที่เรียกว่าเวมนานั้นเกิดขึ้นเนื่องจากผัสสะ คือ การกระทบทางตา หูจมูก ลิ้น และกาย แม้แต่ความคิดซึ่งเข้ากระทบใจอยู่ตลอดก็มีผัสสะที่ให้ความรู้สึกเป็นสุขและเป็นทุกข์ได้ หากพิจารณาข้อปฏิบัติอันเป็นที่สุดของเวทนาก็คือให้รู้จักเวทนาทุกชนิด ทุกเงื่อนไข โดยเริ่มจากง่ายๆ คือให้รู้ว่า อย่างนี้สุข อย่างนี้ทุกข์ อย่างนี้เฉยๆ

เวทนาเป็นนามธรรมที่มีลักษณะ
เฉพาะที่สังเกตเห็นได้ เช่น สุขใจ กับ ทุกข์ใจ เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะเห็นลักษณะของเวทนา ซึ่งเวทนาแต่ละอย่างก็มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน การพิจารณาจะต้องเป็นไปเพื่อเข้าใจสภาพความเป็นจริง เพื่อปล่อยวาง ฉะนั้นการปฏิบัติในหมวดเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตจะเข้าไปรู้ธรรมชาติในระดับที่ละเอียดขึ้นกว่ากายานุปัสสนาแล้ว ยังเป็นการปฏิบัติที่เข้าใกล้สัจจะที่เกี่ยวกับอนิจจังของสภาวะแห่งรูปและนามได้ดีอีกด้วย


หลักการใช้สติพิจารณาเวทนา 

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ควรพิจารณาเวทนา ดังต่อไปนี้คือ

ถ้ารู้สึกเป็นสุข ก็ให้กำหนดรู้ว่า “ สุข”
ถ้ารู้สึกเป็นทุกข์ ก็ให้กำหนดรู้ว่า “ ทุกข์”
ถ้ารู้สึกไม่เป็นสุขไม่เป็นทุกข์ (เฉยๆ) ก็ให้กำหนด รู้ว่า“ ไม่เป็นสุขไม่เป็นทุกข์(เฉยๆ)”
ถ้ารู้สึกเป็นสุขที่อิงอาศัยอามิส (กามคุณ) ก็ให้กำหนด รู้ว่า “ สุขนี้อิงอามิส”
ถ้ารู้สึกเป็นสุขที่ไม่อิงอาศัยอามิส (กามคุณ) ก็ให้กำหนด รู้ว่า “ สุขนี้ไม่อิงอามิส”
ถ้ารู้สึกเป็นทุกข์ที่อิงอาศัยอามิส (กามคุณ) ก็ให้กำหนด รู้ว่า “ ทุกข์นี้อิงอามิส”
ถ้ารู้สึกเป็นทุกข์ที่ไม่อิงอาศัยอามิส (กามคุณ) ก็ให้กำหนด รู้ว่า “ ทุกข์นี้ไม่อิงอามิส”
ถ้ารู้สึกไม่เป็นสุขไม่เป็นทุกข์ (เฉยๆ) ที่อิงอาศัยอามิส (กามคุณ) ก็ให้กำหนดรู้ว่า “ ความไม่เป็นสุขไม่เป็นทุกข์ (เฉยๆ) นี้อิงอามิส”
ถ้ารู้สึกไม่เป็นสุขไม่เป็นทุกข์ (เฉยๆ) ที่ไม่อิงอาศัยอามิส (กามคุณ) ก็ให้กำหนดรู้ว่า “ ความไม่เป็นสุขไม่เป็นทุกข์ (เฉยๆ) นี้ไม่อิงอามิส

การรู้สุขเวทนาแบบชาวโลกที่รู้กันทั่วๆไป เช่น เด็กอ่อนที่ยังนอนแบเบาะอยู่
เมื่อได้กินนมก็ย่อมรู้ชัดว่าเรากำลังสุขอยู่ การรู้แบบนี้ไม่เป็นไปเพื่อละทิฏฐิ ตัณหา มานะ ฉะนั้น การเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานไม่ได้มุ่งหมายความรู้สุขเวทนาเป็นต้น เหมือนอย่างที่เด็กอ่อนรู้นั้น แต่ต้องกำหนดรู้สุขเวทนานั้นที่สภาวะลักษณะว่ามีลักษณะอย่างไร เกิดขึ้นเพราะมีอะไรเป็นเหตุ เช่น สุขเวทนา เกิดขึ้นเพราะมีการสัมผัสถูกต้องกับอารมณ์ที่ดี เกิดขึ้นแล้วมีความสุขทางกาย ซึ่งไม่ใช่เป็นการรับรู้อารมณ์โดยใคร เวทนาที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ใช่สัตว์บุคคล แต่ที่เป็นไปได้ก็เพราะมีวัตถุเป็นอารมณ์ จึงมีการรับรู้(เสวย)อารมณ์นั้นๆ แต่เพราะไม่เข้าใจความเป็นจริงอย่างนี้ บุคคลทั้งหลายจึงยึดถือเอาความเป็นไปแห่งเวทนานั้นว่าเราเสวยเวทนา 

ฉะนั้น คำว่าเราสุข เราทุกข์ จึงเป็นเพียงแค่โวหารเรียกขานกันเท่านั้น ความเป็นจริงหามีเราสุข เราทุกข์ไม่ มีแต่อารมณ์กับการรับรู้อารมณ์เท่านั้น ดังตัวอย่างจากอรรถกถามัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ แสดงไว้ว่า พระเถระรูปหนึ่งท่านไม่สบาย ถอนหายใจพลาง นอนกลิ้งไปมาอยู่ ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งถามท่านว่า ท่านขอรับ ที่ตรงไหนของท่านที่โรคเสียดแทง พระเถระตอบว่า ชื่อว่าที่ซึ่งโรคเสียดเฉพาะแห่งไม่มี เวทนาต่างหากเสวย เพราะกระทำวัตถุให้เป็นอารมณ์ ภิกษุหนุ่มเรียนว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านควรจะยับยั้งไว้ตั้งแต่เวลาที่รู้ มิใช่หรือ พระเถระตอบว่า ผมกำลังยับยั้ง ภิกษุหนุ่มเรียนว่า ท่านขอรับ การยับยั้งไว้เป็นของประเสริฐ พระเถระได้ยับยั้งไว้แล้ว ลำดับนั้นลมเสียดแทงถึงหัวใจ ใส้ใหญ่ได้ออกมากองอยู่บนเตียง พระเถระได้ชี้ให้ภิกษุหนุ่มดูว่า ยับยั้งไว้ขนาดนี้สมควรหรือยัง ภิกษุหนุ่มนิ่ง พระเถระประกอบความเพียรสม่ำเสมอ แล้วได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา แล้วปรินิพพานทันที (เป็นพระอรหันต์ประเภทชีวิตสมสีสี)

การกำหนดเวทนา เวทนาจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการรับกระทบกับอารมณ์ คือมี ผัสสะ เวทนา วิญญาณ เมื่อผัสสะเกิดขึ้นก็ไม่ใช่เกิดแต่เฉพาะผัสสะเท่านั้น แต่เวทนาที่รับรู้อารมณ์ก็เกิดขึ้นพร้อมกันกับผัสสะตลอดจนกระทั่งธรรมอื่นอันได้แก่ สัญญา ความจำได้หมายรู้ในอารมณ์ 

เจตนา คือความจงใจ ตลอดจน วิญญาณ ที่รู้แจ้งซึ่งอารมณ์ก็เกิดขึ้นพร้อมกัน ฉะนั้นผู้ปฏิบัติจะกำหนดเวทนาก็ย่อมจะต้องกำหนดเจตสิกธรรม คือ ผัสสะนั้นด้วยเมื่อการกระทบอารมณ์เกิดขึ้นแล้วเวทนา สัญญา และธรรมอื่นๆ ก็เกิดขึ้น เมื่อพิจารณาได้ดังนี้แล้วก็จะทราบชัดว่า ธรรมทั้งหลายเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะอาศัยกรชกาย(รูปร่างกาย)นี้ เมื่อพิจารณากรชกายก็จะเห็นแต่เพียงมหาภูตรูปและอุปาทายรูปนั้นเอง ธรรม (อันได้แก่ ผัสสะ เวทนา)ที่อาศัยมหาภูตรูปและอุปาทายรูปเกิดขึ้น ธรรมเหล่านี้เป็นเพียงนาม ฉะนั้น ทั้งหมดล้วนแต่เป็นขันธ์ ๕ คือ รูปเป็นรูปขันธ์ ธรรมที่เหลือเป็นนามขันธ์ ๔ เมื่อพิจารณาได้อย่างถูกต้องอย่างนี้แล้วก็จะมีแต่เพียงรูปกับนามเท่านั้น มีแต่ขันธ์ ๕ เท่านั้น สิ่งที่จะพ้นไปจากรูปนามขันธ์ ๕ ย่อมไม่มี 

เมื่อพิจารณาโดยขันธ์ ๕ ได้แล้วก็ต้องพิจารณาต่อไปอีกว่า ขันธ์เหล่านี้มีอะไรเป็นเหตุให้เกิดขึ้น ก็จะพบว่าเพราะอวิชชา(ความไม่รู้)เป็นต้นเหตุ เพราะความไม่รู้จึงไปทำบุญบ้างทำบาปบ้าง เมื่อเหตุบุญเหตุบาปมีแล้วผลย่อมปรากฏโดยการนำเกิดขึ้นมาในภพใหม่ชาติใหม่ต่อไปอีกไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อสาวหาเหตุได้ถูกต้องแล้วว่า เพราะอวิชชาเป็นเหตุนี้เองจึงทำให้มาเกิดและได้รับเวทนาเหล่านี้อยู่ในขณะนี้ ต่อจากนั้นก็ยกขันธ์ ๕ นั้นขึ้นสู่การพิจารณาโดยความเป็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทุกสิ่งทั้งมวลไม่มีอย่างอื่นที่เป็นสัตว์หรือบุคคล มีเพียงกองสังขารล้วนๆ เท่านั้น แล้วพิจารณาโดยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไปตามลำดับแห่งวิปัสสนา

ผู้ปฏิบัติควรนำวิธีการข้างต้นนี้มาพิจารณา โดยมีวิธีการปฏิบัติสรุป ดังนี้ 

๑. นำวิธีข้างต้นมาพิจารณาเวทนา คือเวทนาที่เป็นความรู้สึกของตนให้เห็นเป็นเพียงสักแต่ว่าเป็นเวทนา
๒. หรือพิจารณาเปรียบเทียบเวทนาภายในกับภายนอก โดยการเปรียบเทียบเวทนาของตนกับของบุคคลอื่น ให้เห็นเป็นเพียงสักแต่ว่าเป็นเวทนา
๓. หรือจะใช้สติพิจารณารู้สลับกันไปมาระหว่างเวทนาภายในกับเวทนาภายนอก ให้เห็นเป็นเพียงสักแต่ว่าเป็นเวทนา 
๔. ใช้สติพิจารณาการเกิดและธรรมอันเป็นเหตุเกิดแห่งเวทนา หรือใช้สติพิจารณาการดับและธรรมเป็นเหตุดับแห่งเวทนา หรือใช้สติพิจารณาทั้งการเกิด-ดับและธรรมเป็นเหตุเกิด-ดับแห่งเวทนา สลับกันไปก็ได้
๕. ต้องมีสติอยู่เสมอว่า สภาวะที่ปรากฏอยู่นี้เป็นแต่เพียง เวทนาคือความรู้สึกเท่านั้น (ไม่ใช่บุคคลอัตตาตัวตนเราเขา ) และควรตระหนักด้วยว่าการที่นำเอา เวทนาคือความรู้สึกมาพิจารณาตามนัยข้างต้นนั้น มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อต้องการให้ญาณปัญญาแก่กล้ายิ่งๆ ขึ้น และเพียงเพื่อความสมบูรณ์แห่งการเจริญสติยิ่งๆ ขึ้นเท่านั้น จึงไม่ควรที่จะหลงผิดยึดติดอยู่ในสังขารใดๆ ที่กำลังเกิดดับอยู่ 

จบ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน (โดยสังเขป)


๑.๑ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ กายอันเป็นที่ตั้งแห่งสติ หมายความว่า กายทุกส่วนทุกเนื้อเยื่อ ตั้งแต่เส้นผมถึงปลายเท้าเป็นที่ตั้งแห่งสติให้เกิดขึ้นได้ทั้งหมด กายเป็นสิ่งที่ถูกรู้ได้ง่ายที่สุด เพราะเป็นของหยาบ หากพิจารณาถึงข้อปฏิบัติอันเป็นที่สุดของการพิจารณาดูกายแล้ว ต้องพิจารณาเห็นกายทั้งหมดตามที่กล่าวไว้ถึง ๑๔ บรรพนั้นว่าเป็นของน่ารังเกียจ อุบายวิธีในการพิจารณาเพื่อจะให้เห็นกายชัดที่สุดนั้นเริ่มจากการพิจารณากายส่วนนอกสุดก่อน เช่น การหายใจออก-เข้า การยืน เดิน นั่ง นอน แล้วเอาสติเข้าไปกำหนดรู้กาย (การกำหนดรู้ลมหายใจ คือกำหนดรู้วาโยธาตุ เป็นต้น) แล้วต่อไปก็เป็นเหตุให้รู้กายในส่วนที่น่ารังเกียจนั้นว่าน่ารังเกียจจริงๆ แล้วมีปัญญากำหนดรู้มากขึ้นๆ จนรู้แจ้งว่ากายทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน มี ๑๔ บรรพ (หัวข้อ) ได้แก่ อานาปานบรรพ อิริยาบถบรรพ สัมปชัญญบรรพ ปฏิกูลบรรพ ธาตุบรรพ นวสีวถิกาบรรพ ๙ (ป่าช้า ๙ ข้อ) รวมเป็น ๑๔ บรรพ ซึ่งจะแสดงต่อไป

๑.๑ อานาปานบรรพ
จากการศึกษาเรื่อง อนุสสติ ๑๐ ได้ศึกษาอานาปานสติในแง่ของการเจริญสมถกรรมฐาน แต่ในบทนี้จะศึกษาการพิจารณาลมหายใจเข้าออกมาเป็นอารมณ์ในการเจริญวิปัสสนา ฉะนั้น จึงเห็นได้ว่าการปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นสมถะหรือวิปัสสนา ถ้าศึกษาให้เข้าใจแล้วสามารถที่จะปฏิบัติเอื้อประโยชน์อิงอาศัยซึ่งกันและกันได้

เปรียบเทียบการเจริญลมหายใจ ตามนัยแห่งสมถะ และวิปัสสนาโดยสังเขป

การเจริญอานาปานสติ (สมถะ)
ต้องฝึกให้สติกำหนดรู้อยู่กับลมหายใจเข้าออกโดยการนับลม , การติดตาม ,การกระทบ , การตั้งมั่น
การเจริญอานาปานบรรพ (วิปัสสนา)
ต้องมีสติระลึกรู้ลมหายใจ โดยในเบื้องต้นอาจจะอาศัยวิธีการกำหนดแบบสมถะคือการนับ การติดตาม การกระทบ การตั้งมั่น แต่สุดท้าย ในการปฏิบัติแบบวิปัสสนา คือ ต้องมีสติกำหนดรู้ในกองลมทั้งปวงนั้นว่าเป็นเพียงรูป จิตที่มีสติกำหนดรู้ นั้นเป็นเพียงนาม รูปนามเป็นเพียงขันธ์ ๕ เป็นเหตุแห่งกองทุกข์ทั้งปวง ตลอดจนรู้แจ้งรูปนามตามความเป็นจริงว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา 


หลักการใช้สติพิจารณาลมหายใจ (อานาปานบรรพ)
ในเบื้องต้น ภิกษุในธรรมวินัยนี้ จะต้องเข้าไปสู่ป่า โคนไม้ หรือ เรือนว่าง นั่งคู้บังลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติจดจ่ออยู่ที่ลมหายใจออก -เข้า ด้วยวิธีดังต่อไปนี้คือ

ผู้ปฏิบัติพึงกำหนดสติหายใจออก กำหนดสติหายใจเข้า
๑. เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว 
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้ายาว
๒. เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจออกสั้น
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ว่าหายใจเข้าสั้น
๓. ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้รู้แจ้งกายทั้งปวง หายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้รู้แจ้งกายทั้งปวง หายใจเข้า
๔. ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้ระงับกายสังขาร หายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้ระงับกายสังขาร หายใจเข้า
๕. ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งปีติ หายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งปีติ หายใจเข้า
๖. ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งสุข หายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งสุข หายใจเข้า
๗. ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งจิตตสังขาร หายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งจิตตสังขาร หายใจเข้า
๘. ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้ระงับจิตตสังขาร หายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้ระงับจิตตสังขาร หายใจเข้า
๙. ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้รู้แจ้งจิต หายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้รู้แจ้งจิต หายใจเข้า
๑๐. ย่อมสำเหนียกว่า เราจักทำจิตให้บันเทิง หายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักทำจิตให้บันเทิง หายใจเข้า
๑๑. ย่อมสำเหนียกว่า เราจักตั้งจิตมั่น หายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักตั้งจิตมั่น หายใจเข้า
๑๒. ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเปลื้องจิต หายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเปลื้องจิต หายใจเข้า
๑๓. ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง หายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง หายใจเข้า
๑๔. ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยความคลายกำหนัด หายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยความคลายกำหนัด หายใจเข้า
๑๕. ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยความดับ หายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยความดับ หายใจเข้า
๑๖. ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยสละคืน หายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยสละคืน หายใจเข้า

ภิกษุทั้งหลาย อุปมาเหมือนช่างกลึง หรือลูกมือช่างกลึงผู้มีความชำนาญนั้น ถ้าชักเชือกยาว ก็รู้ตัวว่า “ ตนเองชักเชือกยาว ” ถ้าชักเชือกสั้น ก็รู้ตัวว่า “ ตนเองชักเชือกสั้น” ฉันใด ภิกษุก็ควรปฏิบัติโดยทำนองเดียวกันกับช่างกลึง ฉันนั้น คือ เมื่อหายใจออกยาว ก็ให้กำหนดรู้ว่า หายใจออกยาว เป็นต้น

การกำหนดรู้ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า โดยความเป็นรูปก็ต้องพิจารณาว่า ลมหายใจอาศัยอะไรเกิด ? ลมหายใจก็อาศัยอยู่กับวัตถุกรชกาย คำว่าวัตถุ ได้แก่ มหาภูตรูป และอุปาทายรูป นั่นเอง เมื่อกำหนดรู้รูปโดยความเป็นจริงอยู่เช่นนี้ ต่อไปก็รู้ถึงนามที่รู้รูป เหล่านั้นเพราะมีผัสสะ คือการกระทบความเป็นไปแห่งปฏิจจสมุปบาท มีอวิชชาเป็นต้นก็เป็นไป เมื่อ อวิชชาคือความไม่รู้เป็นไป ภพชาติย่อมเกิดขึ้นเป็นไปด้วย เมื่อเข้าใจความจริงได้อย่างนี้ ก็ข้ามพ้นความสงสัยได้ และเข้าใจได้ถูกต้องว่านี้เป็นเพียงปัจจัยและธรรมที่อาศัยปัจจัยเกิดขึ้นเท่านั้น ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล มีแต่ความเป็นจริงแห่งลมหายใจที่เป็นไปเท่านั้น จึงยกเอานามและรูปพร้อมทั้งปัจจัยขึ้นสู่ไตรลักษณ์ เจริญวิปัสสนาบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ (นี้เป็นเพียงตัวอย่างการพิจารณาลมหายใจจนบรรลุธรรมได้)

ผู้ปฏิบัติควรนำวิธีการข้างต้นนี้มาพิจารณา โดยมีวิธีการปฏิบัติโดยสรุป ดังนี้
๑. นำวิธีข้างต้นมาพิจารณาว่า กายภายใน (คือลมหายใจของตนเอง) ให้เห็นเป็นเพียงสักแต่ว่าเป็นลมหายใจ คำว่าพิจารณากาย ไม่ใช่พิจารณาเห็นธรรมอย่างอื่นที่นอกเหนือไปจากมหาภูตรูปและอุปาทายรูป ต้องพิจารณาอยู่ในมหาภูตรูปและอุปาทายรูป (คือรูปที่อาศัยมหาภูตรูปนั้นเกิดขึ้น) เป็นผู้พิจารณาเห็นการชุมนุมกันแห่งมหาภูตรูปและอุปาทายรูปนั้น เหมือนคนลอกกาบกล้วยออกจากต้น ต้นกล้วยนั้นถ้าลอกกาบออกไปที่ละกาบๆ แล้ว ก็จะพบความจริงว่าไม่มีแก่นสารอะไรเลย ชื่อว่าต้นกล้วยไม่มีแล้ว มีแต่กาบแต่ละกาบเท่านั้นเอง เมื่อพิจารณาถึงความเป็นจริงของกายโดยกำหนดรู้กายโดยรู้มหาภูตรูปและอุปาทายรูปแล้ว จึงเป็นเหตุให้สามารถแยกความเป็นกลุ่มเป็นกองได้ จึงไม่เห็นเป็นกาย เป็นหญิง เป็นชาย หรือเป็นธรรมอะไรอื่นนอกเหนือไปจากการชุมนุมแห่งธรรมตามที่กล่าวมาแล้ว แต่สัตว์ทั้งหลาย มีความเชื่อผิดๆ จึงยังหลงยึดติดอยู่ ซึ่งที่จริงเป็นเพียงสภาวะการชุมนุมกันของมหาภูตรูปและอุปาทายรูปและธรรมอื่นๆ เท่านั้นเอง

เพราะฉะนั้นพระโบราณาจารย์จึงได้กล่าวไว้ว่า :- สิ่งใดที่บุคคลเห็นอยู่สิ่งนั้นไม่ใช่สิ่งที่เขาเห็นแล้ว สิ่งใดที่บุคคลเห็นแล้ว สิ่งนั้นไม่ใช่สิ่งที่เขาเห็นอยู่ เมื่อไม่เห็นตามความเป็นจริง จึงหลงติดอยู่ เมื่อหลงติดอยู่ ย่อมไม่หลุดพ้น

ผู้ที่พิจารณาเห็นกายได้จริงๆ เขาจะเห็นกายอย่างเดียวเท่านั้นไม่พิจารณาเห็นธรรมอื่นๆ ตัวอย่างเช่น การมองเห็นพยับแดด บุคคลทั่วไปมองเห็นพยับแดดว่าเป็นน้ำ แต่ผู้ปฏิบัติไม่ใช่เห็นของปลอมเช่นนั้น แต่จะเห็นกายนี้ว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา และไม่งาม ไม่ใช่ว่าไปเห็นว่ากายเป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นอัตตา และเป็นของงาม แต่จะพิจารณากายได้จริงๆว่า กายเป็นที่ประชุมของกายที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์เป็นอนัตตา และเป็นของไม่งาม เท่านั้นเอง กายนี้ใด มีลมหายใจออก มีลมหายใจเข้าที่ในครั้งแรกตอนที่คลอดออกจากครรภ์มารดา ต่อไปก็จะมีกระดูกที่กลายเป็นผุยผงไปในที่สุด พระโยคาวจรผู้ปฏิบัติพิจารณาเห็นกายคือดิน กายคือน้ำ กายคือไฟ กายคือลม กายคือผม กายคือขน เป็นต้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะเบื่อหน่าย จะคลายความกำหนัดยินดี จะดับตัณหา จะสลัดออกไม่ยึดไว้ ละคลายได้

หมายเหตุ การพิจารณาในกายอย่างนี้ต้องพิจารณาให้ได้ในทุกๆ หมวดแห่งกายานุปัสสนาตั้งแต่อานาปานบรรพไปจนถึงการพิจารณาป่าช้า ๙ ข้อ ด้วย


๒. หรือพิจารณาเปรียบเทียบ กายภายในกับกายภายนอก โดยการเปรียบเทียบลมหายใจของตนเองกับลมหายใจของบุคคลอื่น ให้เห็นเป็นเพียงสักแต่ว่าลมหายใจทั้งของตนเองและของบุคคลอื่นก็เป็นแต่เพียงลมหายใจนั่นเอง

๓. หรือจะพิจารณารู้สลับกันไปมาระหว่างกายภายในกับกายภายนอก คือการกำหนดรู้ ลมหายใจของตนเองบ้าง และกำหนดรู้ลมหายใจของบุคคลอื่นบ้าง สลับกันไปมาก็ได้

๔. ควรใช้สติพิจารณาการเกิดขึ้นของลมหายใจและธรรมอันเป็นเหตุเกิดแห่งลมหายใจ หรือใช้สติพิจารณาการดับและธรรมเป็นเหตุดับแห่งลมหายใจ หรือใช้สติพิจารณาทั้งการเกิด-ดับ และธรรมเป็นเหตุเกิด-ดับของลมหายใจ สลับกันไปก็ได้ อธิบายเหตุเกิดของลมหายใจ เพราะมีโพรงจมูก ถ้าไม่มีโพรงจมูกลมหายใจก็เกิดไม่ได้และถ้าไม่มีจิตลมหายใจก็เกิดขึ้นไม่ได้ (เช่นซากศพมีโพรงจมูกก็จริงแต่ไม่มีลมหายใจเพราะไม่มีจิต) อุปมาเหมือนช่างทองที่ใช้เท้าเหยียบสูบเพื่อเป่าลมให้ไฟพ่นออกมาเพื่อเชื่อมทองได้ ฉันใด ลมหายใจก็เป็นไปได้เพราะมีจิต ลมหายใจนั้นเป็นรูปคือเป็นวาโยธาตุ จิตและเจตสิกเป็นนาม (ฉะนั้นลมหายใจเกิดจากกุศลจิตก็มี เกิดจากอกุศลจิตก็มี ในขณะลมหายใจเกิดขึ้นก็มีจิตด้วย การพิจารณาเช่นนี้เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ผู้ปฏิบัติก็ต้องรู้ลักษณะของจิตด้วย) หรือพิจารณาเหตุเกิดของลมหายใจในปัจจุบัน คือเมื่อมีการกำหนดการกระทบของลมหายใจที่เข้า-ออกก็จะเห็นการเกิดของกองลมหายใจที่เข้า-ออกว่า ตลอดกองลมหายใจนั้นก็มีเริ่มต้นกระทบ (เกิด) และสุดท้ายแห่งการกระทบ (ดับ)

อดีตเหตุของลมหายใจเกิดจาก อวิชชา กรรม สังขาร ภวตัณหา จึงทำให้มีภพชาติส่งให้มาเกิดเป็นมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายต้องรับผลของกรรมอยู่ในขณะนี้นี่เอง

๕. ที่สำคัญที่สุดคือจะต้องมีสติอยู่เสมอว่า ลมหายใจที่ปรากฏอยู่นี้เป็นแต่เพียงรูป (ลมหายใจเป็นรูป คือ เป็นวาโยธาตุ สติที่ประกอบกับจิตเป็นนาม) ไม่ใช่บุคคลอัตตาตัวตนเราเขา และต้องตระหนักด้วยว่าการที่นำเอาลมหายใจมาพิจารณาโดยนัยต่างๆ ข้างต้นนั้น มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อต้องการให้ญาณปัญญาแก่กล้ายิ่งๆขึ้นและเพียงเพื่อความสมบูรณ์แห่งการเจริญให้มีสติระลึกรู้เท่านั้น จึงไม่ควรที่จะหลงผิดยึดติดอยู่ในสังขารใดๆ ที่กำลังเกิด-ดับอยู่ไม่ควรเข้าไปยึดว่ากายคือลมหายใจนี้เป็นเรา เป็นของของเราของสัตว์ บุคคล ผู้หญิง ผู้ชาย

๖. สติกำหนดลมหายใจโดยอริยสัจ ๔ ต่อไป คือ
    ๖.๑ สติที่กำหนดลมหายใจ เป็นอารมณ์ สติ จัดเป็นทุกขสัจ
    ๖.๒ ตัณหาคือความยินดีพอใจในอดีตภพ จึงทำให้มีการเกิดมาในภพนี้ เป็นเหตุปัจจัยให้มีสติที่ไปกำหนดรู้ลมหายใจ อยู่ในขณะนี้นี่เอง ตัณหาในอดีตภพ จัดเป็นสมุทัยสัจ
    ๖.๓ การหยุดทุกขสัจและตัณหา จัดเป็นนิโรธสัจ
    ๖.๔ อริยมรรคที่กำหนดรู้ทุกขสัจ และละสมุทัยสัจมีนิโรธสัจเป็นอารมณ์ จัดเป็นมรรคสัจ

ข้อเตือนใจ การปฏิบัติวิปัสสนาเป็นเรื่องที่ต้องทำลายอัตตาตัวตนให้ได้ ฉะนั้นสติต้องกำหนดระลึกรู้ในกาย คำว่ากายจะมีความหมายเปลี่ยนไปในแต่ละหมวดการปฏิบัติต่างกันไป เช่น ในอานาปานบรรพ คำว่า “ กาย ” หมายถึงลมหายใจ ในอิริยาบถบรรพ คำว่า “ กาย” หมายถึงอิริยาบถ ๔ ในสัมปชัญญบรรพ คำว่า “ กาย” หมายถึง อิริยาบถย่อยต่างๆ


๑.๒ หลักการใช้สติพิจารณาอิริยาบถบรรพ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรใช้สติพิจารณาอิริยาบถ ๔ ดังต่อไปนี้
๑. ขณะที่ภิกษุเดิน ก็ให้กำหนดรู้ว่า “ เดิน”
๒. ขณะที่ภิกษุยืน ก็ให้กำหนดรู้ว่า “ ยืน”
๓. ขณะที่ภิกษุนั่ง ก็ให้กำหนดรู้ว่า “ นั่ง”
๔. ขณะที่ภิกษุนอน ก็ให้กำหนดรู้ว่า “ นอน”

การกำหนดอิริยาบถ เดิน ยืน นั่ง นอน ก็ให้รู้เหตุแห่งการเกิดอิริยาบถต่างๆ นั้น ไม่ได้มุ่งหมายให้รู้ว่าเดิน เป็นต้น แต่ให้รู้เหตุแห่งการเดิน ที่เรียกกันว่าเดินนั้นมีเหตุเกิด คือ เกิดจากการแผ่ไปของวาโย ธาตุที่เกิดจากจิต เมื่อจิตคิดว่าเราจะเดิน จิตนั้นก็ทำให้เกิดวาโยธาตุ วาโยธาตุก็ทำให้เกิดความเคลื่อนไหว การนำกายให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยความไหวตัวไปของวาโยธาตุนั้น ความเป็นไปเช่นนี้ มีสมมุติบัญญัตเรียกกันว่า “ เดิน ” ในอีก ๓ อิริยาบถที่เหลือก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน

ผู้ปฏิบัติควรนำวิธีการข้างต้นนี้มาพิจารณา โดยมีวิธีการปฏิบัติโดยสรุป ดังนี้

๑. พิจารณากายภายใน(คือวาโยธาตุ) ด้วยการกำหนดอิริยาบถ ๔ ของตนเอง เช่น เมื่อกำหนดรู้การเดินก็พิจารณาว่า อิริยาบถเดินเกิดขึ้นได้เพราะวาโยธาตุที่เกิดจากจิต จึงทำให้กายเคลื่อนไปข้างหน้าได้ หมายเหตุ อย่าลืมกำหนดกายเช่นเดียวกับในอานาปานสติที่อธิบายแล้วข้างต้น

๒. พิจารณากายภายนอก(คือวาโยธาตุ) ด้วยการกำหนดอิริยาบถ ๔ ของคนอื่น สัตว์อื่น กำหนดอิริยาบถของบุคคลอื่นโดยให้พิจารณารู้ว่าอิริยาบถนั้นๆ เป็นไปได้ก็เพราะวาโยธาตุที่เกิดจากจิต เป็นไปเหมือนกันกับอิริยาบถของเราเอง การที่เราเห็นคนเดินมาเราเห็นได้แต่เฉพาะรูปารมณ์ แต่ความไหวของการเดินก็สามารถรู้ได้ทางใจ เพราะบุคคลนั้นมีวิญญัติรูปที่มีความหมายที่ทำให้เรารู้ได้ ความหมายนี้เกิดจากวาโยธาตุ และวาโยธาตุนี้เกิดจากจิต

๓. การรู้วาโยธาตุก็ต้องรู้จักวาโยธาตุ ๔ ประการ คือ
   🔆 ๑. วาโยธาตุมีการพยุงไว้ เป็นลักษณะจึงทำให้คนนั้นๆ เดิน นั่ง ได้ไม่ล้มลงไป
   🔆 ๒. มีความเคลื่อนไหว เป็นกิจ
   🔆 . มีการแสดงท่าทางต่างๆ ได้ เป็นผล เมื่อจิตคิดจะเดิน วาโยธาตุก็ทำให้เกิดกิริยาอาการ ท่าทางต่างๆ กันไป นี้เป็นผลของวาโยธาตุนั้นเอง
    🔆 ๔. มีธาตุดิน น้ำ และไฟ เป็นเหตุใกล้ คือ มีธาตุ อีก ๓ นี้เกิดร่วมด้วยหรือจะพิจารณารู้สลับกันไปมาระหว่างกายภายในกับกายภายนอก คือ กำหนดวาโยธาตุ ทั้งของตนเองและของบุคคลอื่น
    🔆 ๕. พิจารณาเห็นธรรม คือความเกิด พึงกำหนดความเกิดและความเสื่อมแห่งรูปขันธ์ โดยพิจารณาว่า รูปเกิดเพราะอวิชชาเกิดเป็นต้น
    🔆 ๖. เมื่อกำหนดวาโยธาตุรู้ได้ชัดเจนดีแล้วตั้งแต่ข้อ ๑ - ๕ สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะต้องกำหนดพิจารณาต่อไปคือ ต้องไม่หลงยินดีพอใจว่าเราปฏิบัติถูกแล้ว เข้าใจถูกแล้ว แต่เมื่อกำหนดรู้วาโยธาตุ ก็ให้เป็นไปเพื่อทำลายทิฏฐิความยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ตัวตน เราเขา ให้ได้
    🔆 ๗. แม้สติที่เข้าไปกำหนดรู้วาโยธาตุนั้นก็หาใช่เพื่อประโยชน์อย่างอื่นไม่ ที่แท้ก็เพียงเพื่อประโยชน์แก่ความรู้ คือญาณปัญญาที่ยิ่งๆ ขึ้นไป และเพื่อประโยชน์แห่งการเกิดขึ้นของสติสัมปชัญญะเท่านั้น และต้องกำหนดรู้ต่อไปว่า
    🔆 ๘. สติกำหนดอิริยาบถโดยอริยสัจ ๔ ต่อไป คือ
            ๘.๑ สติที่กำหนดอิริยาบถ ๔ เป็นอารมณ์ สติ จัดเป็นทุกขสัจ
            ๘.๒ ตัณหาคือความยินดีพอใจในอดีตภพ จึงทำให้มีการเกิดมาในภพนี้ เป็นเหตุปัจจัยให้มีสติที่ไปกำหนดอิริยาบถ ๔ อยู่ในขณะนี้นี่เอง ตัณหาในอตีตภพ จัดเป็นสมุทัยสัจ
            ๘.๓ การหยุดทุกขสัจและสมุทัยสัจทั้งสองนั้น จัดเป็นนิโรธสัจ
            ๘.๔ อริยมรรคที่กำหนดรู้ทุกขสัจและละสมุทัยสัจมีนิโรธสัจเป็นอารมณ์ จัดเป็น มรรคสัจ เพราะฉะนั้น เมื่อบุคคลได้ปฏิบัติเจริญสติปัฏฐานในอิริยาบถ ๔ แล้ว ย่อมรู้และเข้าใจได้ถูกต้องว่า ไม่มีสัตว์ใดๆเดินหรือยืนเลย อิริยาบถเดิน ยืน นั่ง นอน ไม่ใช่รูปไม่ใช่นาม อิริยาบถนั้นเป็นเพียงสมมุติบัญญัติเรียกขานกันเท่านั้นเอง ความเป็นจริงที่ผู้ปฏิบัติต้องกำหนดรู้ก็คือ วาโยธาตุที่เกิดขึ้นเพราะมีจิตคิดที่จะเดิน ยืน นั่ง นอน นั่นเอง เมื่อกำหนดรู้รูปได้ถูกต้องแล้วก็ต้องศึกษาในวิสุทธิ ๗ และข้อปฏิบัติที่จะทำให้นามรูปปริจเฉทญาณเกิดขึ้นได้อีก แล้วเพียรปฏิบัติเพียรเจริญให้มากกระทำให้มาก จนวิปัสสนูปกิเลสเกิดขึ้นแก่ท่านนั่นแหละจะเป็นเครื่องหมายให้รู้ได้ว่าท่านปฏิบัติมาถูกทางแล้วและเกือบจะสำเร็จแล้ว และต่อไปก็ต้องข้ามพ้นวิปัสสนูปกิเลสไปให้ได้ เมื่อนั้นท่านก็จัดได้ว่าเป็นผู้เริ่มต้นมีวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นแล้ว 

ข้อเตือนใจ รูปไม่ใช่อิริยาบถ อิริยาบถไม่ใช่รูป วิญญัติก็คือวิญญัติเป็นอสภาวรูป ขออธิบายศัพท์เพื่อความเข้าใจ ดังนี้ รูป หมายถึง ธรรมชาติใดย่อมแตกดับด้วยอำนาจความเย็น ความร้อน เป็นต้น ฉะนั้นธรรมชาตินั้นชื่อว่ารูปได้แก่ อวินิพโภครูป 8 (ดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชา) เป็นต้น นี้ชื่อว่ารูป เป็นปรมัตถธรรม คือ รูปปรมัตถ์

อิริยาบถ เป็นเพียงอาการของรูป อิริยาบถจึงไม่ใช่รูป ไม่ใช่ปรมัตถ์ธรรม แต่เป็นสมมุติบัญญัติ เช่น ขวดใบหนึ่ง ขวดก็มีรูปอยู่ ๘ รูปคือ อวินิพโภครูป ๘ ขวดใบนี้ถ้าอยู่ในอาการหนึ่งก็เรียกว่าตั้ง อยู่ในอาการหนึ่งก็เรียกว่านอน คนเราก็เหมือนกันมีอิริยาบถใหญ่ ๔ คือ เดิน ยืน นั่ง นอน เดินก็ดี นั่งก็ดี ก็คือ อวินิพโภครูป ๘ เป็นต้นนั่นแหละ เมื่ออยู่ในอาการหนี่งก็สมมุติเรียกกันว่าเดิน อยู่ในอาการหนึ่งก็สมมุติเรียกว่ายืน เป็นต้น

วิญญัติรูป เป็นอสภาวรูป มี ๒ รูป คือ กายวิญญัติ วจีวิญญัติ ความหมายของเสียงนั้นเองเรียกว่า วจีวิญญัติ การกวักมือ ก็มีความหมาย ความหมายที่อยู่ในอาการที่กวักมือนั้นเองเรียกว่า กายวิญญัติ

จบหลักการใช้สติพิจารณาอิริยาบถ ๔ ในอิริยาบถบรรพ (โดยสังเขป)


๑.๓ หลักการกำหนดอิริยาบถย่อยด้วยสติสัมปชัญญะ

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรใช้สติพิจารณาอิริยาบถย่อยด้วยสติสัมปชัญญะดังต่อไปนี้ 

ภิกษุควรก้าวไปข้างหน้าและถอยกลับ อย่างมีสติสัมปชัญญะ
ภิกษุควรดูไปข้างหน้าและเหลียวดูรอบๆ อย่างมีสติสัมปชัญญะ
ภิกษุควรทำการคู้เข้าและทำการเหยียดออก อย่างมีสติสัมปชัญญะ
ภิกษุควรทำการครองสังฆาฏิ อุ้มบาตร และห่มจีวร อย่างมีสติสัมปชัญญะ
ภิกษุควรทำการฉัน ดื่ม เคี้ยว ลิ้ม อย่างมีสติสัมปชัญญะ
ภิกษุควรทำการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ อย่างมีสติสัมปชัญญะ
ภิกษุควรทำการเดิน การยืน การนั่ง การนอน การตื่น การพูด และ การนิ่ง อย่างมีสติสัมปชัญญะ

๑. การกำหนดอิริยาบถย่อยต่างๆ
ผู้ปฏิบัติต้องมีสัมปชัญญะกำกับ
ลงไปด้วย เป็นการไม่กระทำไปตามอำนาจความคิดที่เกิดขึ้นที่เดียว แต่เมื่อคิดจะก้าวไป ก็ต้องกำหนดผลได้ผลเสียที่จะเกิดขึ้นว่า การจะไปในที่นี้จะมีประโยชน์แก่เราหรือไม่มี เมื่อเห็นว่าเป็นประโยชน์ปราศจากโทษจึงก้าวไป อย่างนี้เรียกว่า สาตถกสัมปชัญญะ

๒. กำหนดความเป็นสัปปายะและอสัปปายะ
(สัปปายะคือความสบายที่
เป็นเหตุทำให้กุศลเกิด อสัปปายะ คือความไม่สบายที่เป็นเหตุทำให้กุศลไม่เจริญและอาจเป็นเหตุให้อกุศลเกิดขึ้นได้) การที่จะก้าวไป ถ้าไปในที่ใดก็ตามถึงแม้นจะเป็นประโยชน์แต่ในขณะนั้นไม่เป็นสัปปายะ ก็ให้มีสัมปชัญญะกำหนดรู้ว่าไม่ควรไป เช่น โดยปกติการได้เห็นพระเจดีย์เป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์เพราะยังกุศลให้เกิดขึ้นได้ แต่ถ้าในเวลานั้นบริเวณโดยรอบพระเจดีย์มีงานรื่นเริงต่างๆ ก็ไม่ควรไป เพราะจะเป็นเหตุให้อกุศลเกิดขึ้นได้ อย่างนี้เรียกว่า สัปปายสัมปชัญญะ

๓. การกำหนดกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง
ไว้ในใจตลอดเวลาที่
โคจรไปในที่ต่างๆ กำหนดโดยไม่หลงลืม กำหนดได้ดีไม่ละทิ้งกรรมฐานตลอดเวลาที่โคจรทั้งไปและกลับ อย่างนี้เรียกว่า โคจรสัมปชัญญะ

๔. การกำหนดโดยการไม่หลงลืม
ในการก้าวไปข้างหน้า เป็นต้น 
หมายความว่า ผู้ปฏิบัติต้องไม่หลงลืมในขณะก้าวไปข้างหน้า ไม่หลงลืมไปว่าเป็นอัตตาตัวตนของเราเป็นผู้ก้าวไปข้างหน้า แต่ต้อง มีสติกำหนดระลึกรู้ได้อย่างถูกต้องว่า เมื่อมีจิตคิดว่าเราจะไม่หลงลืมก้าวไปข้างหน้า วาโยธาตุที่มีจิตเป็นเหตุเกิดก็เกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ยังให้เกิดกายวิญญัติรูปเกิดขึ้นด้วย และก็เกิดขึ้นพร้อมกับจิตดวงนั้นนั่นเอง โครงกระดูกที่สมมุติว่ากายนี้จะก้าวไปข้างหน้าตามอำนาจของการแผ่ขยายไปแห่งวาโยธาตุที่เกิดจากจิตนั่นเอง ในการยกเท้าขึ้น ธาตุ ๒ ชนิด คือ ปฐวีธาตุและอาโปธาตุจะหย่อนจะอ่อนกำลังลง แต่เตโชธาตุและวาโยธาตุจะมีกำลังมากขึ้น ทำให้กายนี้เคลื่อนไปได้ ธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นในขณะก้าวก็ดับไปในขณะก้าวไม่เกิดสืบต่อไปถึงขณะคู้ ธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นในขณะคู้ก็ดับไปในขณะคู้นั่นเองไม่เกิดสืบต่อไปในขณะเหยียด เพราะวิญญัติรูปทั้งหลายนี้เกิดจากจิต จิตดวงอื่นดับไปพร้อมกับรูปที่ดับไปแล้ว ความเป็นไปของอิริยาบถในตอนนี้ก็เกิดขึ้นได้เพราะจิตคนละดวงกัน ไม่ใช่เกิดจากจิตดวงเดียวกัน เหมือนกระแสน้ำที่ไหลติดต่อไปเป็นระลอกฉะนั้น ผู้ปฏิบัติต้องกำหนดโดยไม่หลงในการก้าวไป อย่างนี้เรียกว่า อสัมโมหสัมปชัญญะ 

การกำหนดอิริยาบถย่อย ก็มีวิธีการปฏิบัติโดยสรุป เช่นเดียวกันกับอิริยาบถใหญ่ ๔ แต่ต้องละเอียดลึกซึ้งกว่ากันมาก เพราะต้องกำหนดรู้โดยสัมปชัญญะ ๔ อีกด้วย

จบหลักการใช้สติพิจารณาอิริยาบถย่อยด้วยสัมปชัญญะ (โดยสังเขป)




๑.๔ หลักการใช้สติพิจารณาอาการ ๓๒

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรพิจารณาร่างกายนี้ ซึ่งมีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มไปด้วยสิ่งที่เป็นปฏิกูลชนิดต่างๆ ตั้งแต่ปลายผมจรดฝ่าเท้า ดังนี้ว่า 👉"ในกายนี้ มีแต่สิ่งที่เป็นปฏิกูล เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด ลำไส้ใหญ่ สำไส้เล็ก อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร"

ภิกษุทั้งหลาย อุปมาดุจถุงมีปาก ๒ ข้าง บรรจุธัญพืชชนิดต่างๆ คือข้าวสาลี ข้าวเปลือก ถั่วเขียว ถั่วเหลือง เมล็ดงา ข้าวสาร ไว้เต็มถุง คนตาดีเปิดถุงนั้นออก พิจารณาแยกประเภทได้ว่า “ นี้เป็นข้าวสาลี นี้เป็นข้าวเปลือก นี้เป็นถั่วเขียว นี้เป็นถั่วเหลือง นี้เป็นเมล็ดงา นี้เป็นข้าวสาร” ฉันใด ภิกษุก็ควรพิจารณาร่างกายนี้ซึ่งมีหนังหุ้มอยู่โดยรอบเต็มไปด้วยสิ่งที่เป็นปฏิกูลชนิดต่างๆ ตั้งแต่ปลายผมจรดฝ่าเท้า ในกายนี้มีแต่สิ่งที่เป็นปฏิกูล เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น ก็เป็นสิ่งปฏิกูล ที่เราหลงว่าสวยว่างามนั้นที่แท้จริงแล้วกายนี้เป็นของปฏิกูลทั้งนั้น ผม เป็นต้น ถ้าดูโดยลักษณะของเส้นผมอาจไม่เห็นถึงความน่ารังเกียจ แต่เมื่อเอาไปเผาไฟ กลิ่นของเส้นผมนั้นเป็นสิ่งน่าน่ารังเกียจยิ่ง ถ้าเปรียบเหมือนกับผักสำหรับแกงที่เกิดในน้ำคร่ำที่ไหลออกจากบ้านขังอยู่ในที่ไม่สะอาดย่อมเป็นสิ่งน่าเกลียดไม่น่าบริโภคฉันใด แม้เส้นผมทั้งหลายก็น่ารังเกียจฉันนั้น เพราะถูกหล่อเลี้ยงด้วยน้ำที่ซึมออกมาจากแต่ละส่วนต่างๆ มีน้ำเหลือง เลือด มูตร กรีส น้ำดี และเสมหะ เป็นต้น เพราะเกิดในที่ไม่สะอาดดุจผักเกิดที่กองคูถ อาการทั้ง ๓๒ นั้นล้วนเป็นสิ่งปฏิกูล น่ารังเกียจ แล้วที่เรามีชีวิตอย่างดิ้นรนเดือดร้อนอยู่ทุกวันนี้ก็เพื่อหล่อเลี้ยงร่างปฏิกูลนี้หรือ และที่เรายึดว่าบุคคลนี้เป็นของเรานั้น เรากำลังยึดสิ่งปฏิกูลมิใช่หรือ ถ้าผู้พิจารณาเห็นความจริงอย่างนี้ได้ก็จะไม่หลงยึดในอัตตาตัวตนว่าเป็นเรา เขา

ผู้ปฏิบัติควรนำวิธีการข้างต้นนี้มาพิจารณา มีวิธีการปฏิบัติโดยสรุปเหมือนกับอิริยาบถ แต่เปลี่ยนคำว่ากายให้เป็นไปตามอาการ ๓๒

จบหลักการใช้สติพิจารณาอาการ ๓๒ (โดยสังเขป)


๑.๕ หลักการใช้สติพิจารณากายเป็นธาตุ

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรใช้สติพิจารณากายนี้ไปตามส่วนต่างๆ ให้เห็นเป็นเพียงธาตุ (โดยปราศจากสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ) ว่า “ กายนี้มีสภาพเป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม” ภิกษุทั้งหลาย อุปมาดุจคนฆ่าโคหรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้มีความชำนาญ ครั้นฆ่าโคแล้ว แบ่งเนื้อโคออกเป็นส่วนๆ นั่งเฝ้าดูอยู่ที่ทางใหญ่สี่แพร่ง ฉันใด ภิกษุก็ควรพิจารณากายนี้ไปตามส่วนต่างๆ ให้เห็นเป็นเพียงธาตุว่า “ กายนี้มีสภาพเป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม”

อธิบาย การปฏิบัติในหมวดนี้ เป็นการปฏิบัติที่ต่อเนื่องมาจากหมวดการพิจารณาอาการ ๓๒ นั่นเอง การพิจารณาในอาการ ๓๒ เริ่มต้นที่การพิจารณาอาการ ๓๒ แต่ถ้าผลปรากฏว่าผู้พิจารณาได้สภาวะของความเป็นปฏิกูล การพิจารณานั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นการพิจารณาในหมวดปฏิกูล แต่ถ้าได้สภาวะของความเป็นธาตุ ๔ ปรากฏ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ได้ชื่อว่าเป็นการพิจารณาโดยความเป็นธาตุ ธาตุ มี ๔๒ คือ จาก ๓๒ ให้เพิ่มธาตุไฟ ๔ คือ ไฟที่ยังกายให้อบอุ่น, ไฟที่ยังกายให้ปุวยไข้, ไฟที่ยังกายให้แก่ ทำให้ทรุดโทรม , ไฟที่เผาหรือย่อยอาหาร ที่กิน ที่ดื่ม ธาตุลม ๖ คือ ลมที่พัดขึ้นเบื้องบน, ลมที่พัดลงเบื้องล่าง, ลมในท้อง, ลมในไส้, ลมในอวัยวะน้อยใหญ่ , ลมหายใจออก-เข้า การศึกษาหัวข้อนี้ต้องศึกษาควบคู่ไปกับ เรื่องกายคตาสติ และ เรื่องจตุธาตุววัฏฐาน เพื่อให้รู้ว่าธาตุนั้นเป็นอย่างไร เมื่อเข้าใจแล้วนำมาปฏิบัติในสติปัฏฐานโดยพิจารณาว่ากายนี้ก็เป็นเพียงธาตุ

ผู้ปฏิบัติควรนำวิธีการข้างต้นนี้มาพิจารณา มีวิธีการปฏิบัติโดยสรุปเหมือนกับอิริยาบถ แต่เปลี่ยนคำว่ากายให้เป็นธาตุ

จบหลักการใช้สติพิจารณากายโดยความเป็นธาตุ(โดยสังเขป)

การเจริญวิปัสสนาในหมวดป่าช้า ๙ ข้อ 

การพิจารณาอสุภะกับการเจริญวิปัสสนาในหมวดป่าช้าต่างกัน ซึ่งควรจะศึกษาให้เห็นความต่างกันด้วยจะเป็นประโยชน์ในการน้อมนำไปปฏิบัติ ความต่างกันตัวอย่างเช่น การพิจารณาอสุภะก็เพียงหาซากศพอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๑๐ อย่าง แล้วปฏิบัติโดยการท่องบริกรรมว่า วินีลกอสุภะ ๆ ๆ ไปเรื่อยๆ จนสมาธิตั้งมั่นนิมิตก็จะเกิดขึ้นไปตามลำดับเมื่อถึงปฏิภาคนิมิตแล้วฌานจิตก็เกิดขึ้นได้ แต่การพิจารณาอสุภะโดยการเจริญวิปัสสนาไม่ต้องบริกรรมจนสมาธิจิตแนบแน่น แต่พิจารณาให้เห็นสภาพของความจริงว่า กายของเราหรือของบุคคลอื่นก็ตามย่อมมีสภาพเช่นเดียวกับศพ ไม่ล่วงพ้นไปจากสภาพเช่นนี้ได้

จุดประสงค์ก็เพื่อให้คลายจากความยึดมั่นในอัตตาตัวตน ทำให้ฆนบัญญัติว่าเป็น บุคคล ตัวตน เราเขา แตกลงได้ เมื่อก้าวพ้นความเป็นฆนะแล้วสภาพของปรมัตถ์แท้ๆ คือรูปนามจึงจะปรากฏได้ จุดประสงค์เดียวของการเจริญวิปัสสนาคือ ต้องทำลายอัตตาตัวตนให้ได้ก่อน แล้วรูปนามอันเป็นสภาวะปรมัตถ์แท้ๆ ก็จะปรากฏชัด

๑.๖ หลักการใช้สติพิจารณากายให้เห็นดุจอสุภะในป่าช้า

ข้อที่ ๑ 
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรพิจารณากายให้เห็นดุจศพซึ่งตายมาแล้ว ๑ วันบ้าง ๒ วันบ้าง ๓ วันบ้าง ซึ่งถูกนำมาทิ้งไว้ในป่าช้า จนขึ้นอืดเขียวคล้ำ มีน้ำเหลืองเยิ้ม ดังนี้ว่า “ กายนี้มีสภาพดุจศพ และมีลักษณะดุจศพ ไม่ล่วงพ้นสภาพเช่นนี้ไปได้”

ข้อที่ ๒ ภิกษุควรพิจารณากายให้เห็นดุจศพซึ่งถูกทิ้งไว้ในป่าช้าปล่อยให้ กา เหยี่ยว จิกกินแร้งทึ้งกิน สุนัข บ้าน สุนัขจิ้งจอก หรือสัตว์เล็กๆ กัดกินดังนี้ว่า “ กายนี้มีสภาพและมีลักษณะดุจศพ ไม่ล่วงพ้นสภาพเช่นนี้ไปได้”

ข้อที่ ๓ ภิกษุควรพิจารณากายให้เห็นดุจโครงกระดูกของศพซึ่งถูกทิ้งไว้ในป่าช้า ซึ่งยังมีเนื้อและเลือด มีเอ็นรึงรัดอยู่ ดังนี้ว่า “ กายนี้มีสภาพและมีลักษณะดุจโครงกระดูกนี้ ไม่ล่วงพ้นสภาพเช่นนี้ไปได้”

ข้อที่ ๔ ภิกษุควรพิจารณากายให้เห็นดุจโครงกระดูกของศพซึ่งถูกทิ้งไว้ในป่าช้า ซึ่งปราศจากเนื้อหนังแต่ยังมีเลือดเปื้อนเปรอะ มีเอ็นรึงรัดอยู่ดังนี้ว่า “ กายนี้มีสภาพ และมีลักษณะดุจโครงกระดูกนี้ ไม่ล่วงพ้นสภาพเช่นนี้ไปได้”

ข้อที่ ๕ ภิกษุควรพิจารณากายให้เห็นดุจโครงกระดูกของศพซึ่งถูกทิ้งไว้ในป่าช้า ซึ่งปราศจากเนื้อและเลือดแต่ยังมีเอ็นรึงรัดอยู่ ดังนี้ว่า “ กายนี้มีสภาพ และมีลักษณะดุจโครงกระดูกนี้ ไม่ล่วงพ้นสภาพเช่นนี้ไปได้”

ข้อที่ ๖ ภิกษุควรพิจารณากายให้เห็นดุจโครงกระดูกของศพซึ่งถูกทิ้งไว้ในป่าช้า ซึ่งปราศจากเอ็นรึงรัด กระจุยกระจายไปตาม ทิศต่างๆ เช่นกระดูกมืออยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกเท้าอยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกแข้ง กระดูกขา กระดูกสะเอว กระดูกหลัง กระดูกซี่โครง กระดูกหน้าอก กระดูกแขน กระดูกไหล่ กระดูกคอ กระดูกคาง กระดูกฟัน กะโหลกศีรษะ อยู่ทิศหนึ่งๆ ดังนี้ว่า “ กายนี้มีสภาพ และมีลักษณะดุจโครงกระดูกนี้ ไม่ล่วงพ้นสภาพเช่นนี้ไปได้”

ข้อที่ ๗ ภิกษุควรพิจารณากายให้เห็นดุจท่อนกระดูกของศพซึ่งถูกทิ้งไว้ในป่าช้า ซึ่งเป็นท่อนกระดูกสีขาวเหมือนสีสังข์ ดังนี้ว่า “ กายนี้มีสภาพและมีลักษณะดุจท่อนกระดูกนี้ ไม่ล่วงพ้นสภาพเช่นนี้ไปได้”

ข้อที่ ๘ ภิกษุควรพิจารณากายให้เห็นดุจกองกระดูกของศพซึ่งถูกทิ้งไว้ในป่าช้า ซึ่งกองอยู่ด้วยกันเกินกว่า ๑ ปี ดังนี้ว่า “ กายนี้มีสภาพและมีลักษณะดุจกองกระดูกนี้ ไม่ล่วงพ้นสภาพเช่นนี้ไปได้”

ข้อที่ ๙ ภิกษุควรพิจารณากายให้เห็นดุจผงกระดูกของศพที่ถูกทิ้งไว้ในป่าช้า ซึ่งแหลกละเอียดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ดังนี้ว่า “ กายนี้ก็มีสภาพและมีลักษณะดุจผงกระดูกนี้แล ไม่ล่วงพ้นสภาพเช่นนี้ไปได้”

ผู้ปฏิบัติควรนำวิธีการข้างต้นนี้มาพิจารณา มีวิธีการปฏิบัติเหมือนกับอิริยาบถ แต่เปลี่ยนคำว่ากายเป็นอสุภะในแต่ละข้อ

จบ ป่าช้า ๙ ข้อ

จบ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน