วันพฤหัสบดี

ข้อวินิจฉัยธุดงค์ โดยความเป็นกุสลติกะ

วินิจฉัยโดยความเป็นกุสลติกะ

ในอาการเหล่านั้น คำว่า โดยความเป็นกุสลติกะ มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ ก็แหละ ธุดงค์หมดทั้ง ๑๓ ประการนั้นแล จัดเป็นกุศลด้วยอำนาจแห่งเสกขบุคคลและปุถุชนก็มี จัดเป็นอัพยากฤตด้วยอำนาจแห่งพระอรหันต์ขีณาสพก็มี แต่ธุดงค์ที่จัดเป็นอกุศลหามีไม่ อาจจะมีผู้ใดท้วงติงว่า แม้ธุดงค์ที่จัดเป็นอกุศลก็มีเหมือนกัน โดยมีพระพุทธวจนะเป็นอาทิว่า "ภิกษุผู้มีความปรารถนาลามก อันความปรารถนาครอบงำแล้วเป็นผู้อยู่ในป่า" ฉะนี้นักศึกษาพึงแถลงแก้เขาดังนี้:-

เรามิได้กล่าวปฏิเสธว่า ภิกษุไม่อยู่ในป่าด้วยอกุศลจิต ความจริง ภิกษุใดมีอาการอยู่ในป่า ภิกษุนั้นชื่อว่าผู้อยู่ในป่า อันภิกษุผู้อยู่ในป่านั้นจะพึงเป็นผู้มีความปรารถนาลามกก็มี จะพึงเป็นผู้มีความมักน้อยก็มีเป็นธรรมดา ข้าพเจ้าได้อรรถาธิบายมาแล้วว่า ก็แหละ ธุดงค์เหล่านี้เป็นองค์ของภิกษุผู้ได้นามว่า ธุระ เพราะเป็นผู้มีกิเลสอันกำจัดแล้วด้วยเจตนาเป็นเครื่องสมาทานนั้น ๆ ฉะนั้น จึงชื่อว่า ธุตังคะ อีกอย่างหนึ่ง ญาณอันได้โวหารว่า ธุระ เพราะเป็นการกำจัดซึ่งกิเลส เป็นเหตุแห่งการสมาทานเหล่านั้น ฉะนั้น การสมาทานเหล่านั้นจึงชื่อว่า ธุตังคะ อีกนัยหนึ่ง การสมาทานเหล่านั้นได้ชื่อว่า ธุระ เพราะเป็นเครื่องกำจัดซึ่งธรรมอันเป็นข้าศึก และเป็นเหตุแห่งสัมมาปฏิบัติด้วย ฉะนั้น การสมาทานเหล่านั้น จึงชื่อว่า ธุตั้งคะ ก็เมื่อการสมาทานเหล่านี้จะพึงเป็นองค์ของภิกษุใด ภิกษุนั้นเป็นผู้ชื่อว่ากำจัดอะไร ๆ ด้วยอกุศลก็หามิได้ ด้วยว่าอกุศลย่อมกำจัดบาปอะไร ๆ ไม่ได้ เพราะคำอธิบายว่า อกุศลนั้นเป็นองค์แห่งการสมาทานเหล่าใด ก็จะพึงเรียกการสมาทานเหล่านั้นว่าธุตังคะไปเสีย ที่แท้อกุศลย่อมกำจัดกิเลสมีความละโมบในจีวรเป็นต้นไม่ได้ เป็นองค์แห่งสัมมาปฏิบัติก็ไม่ได้ เพราะเหตุฉะนั้น คำว่า ธุดงค์ที่จัดเป็นอกุศลหามีไม่ นี้เป็นอันกล่าวชอบแล้ว

อนึ่ง แม้ความพิรุธจากพระบาลีก็จะถึงแก่ภิกษุเหล่านั้นว่า ธุดงค์แม้ของภิกษุเหล่าใด ซึ่งพ้นไปจากกุสลติกะ ธุดงค์ของภิกษุเหล่านั้นนั่นแหละ ย่อมไม่มีโดยความหมาย สิ่งที่ไม่มีความหมายจักชื่อว่า ธุตังคะ เพราะกำจัดสิ่งอะไรเล่า ผู้บำเพ็ญธุดงค์ย่อมจะสมาทานเอาธุตคุณไปประพฤติปฏิบัติอยู่ เพราะฉะนั้น คำของภิกษุเหล่านั้น (หมายเอาทรรศนะของพวกภิกษุชาววัดอภัยคีรี) ไม่ควรถือเอาเป็นประมาณ พรรณนาโดยความเป็นกุสลติกะ อันเป็นประการแรกในคาถานี้ ยุติเพียงเท่านี้



วันพุธ

๑๓. เนสัชชิกังคกถา

เนสัชชิกังคกถา

การสมาทาน
แม้เนสัชชิกังคธุดงค์ ก็ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาแล้ว ด้วยคำสมาทานอย่างใดอย่างหนึ่ง จากคำสมาทาน ๒ อย่างนี้ คือ เสยฺยํ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้าขอปฏิเสธอิริยาบถนอน ดังนี้อย่างหนึ่ง เนสซฺชิกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาซึ่งองค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ด้วยอิริยาบถนั่งเป็นปกติ ดังนี้อย่างหนึ่ง ว่าด้วยการสมาทานในเนสัชชิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

กรรมวิธี
ก็แหละ อันเนสัชชิกภิกษุนั้น ต้องลุกขึ้นเดินจงกรมให้ได้ยามหนึ่งในบรรดายามสามแห่งราตรี เพราะในอิริยาบถ ๔ นั้น อิริยาบถนอนเท่านั้นย่อมไม่สมควรแก่ผู้บำเพ็ญเนสัชชิกังคธุดงค์ ว่าด้วยกรรมวิธีในเนสัชชิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ประเภท
ก็แหละ เมื่อว่าโดยประเภท แม้เนสัชชิกภิกษุนี้ก็มี ๓ ประเภท ใน ๓ ประเภทนั้น
เนสัชชิกภิกษุชั้นอุกฤษฎ์ หมอนอิงข้าง แคร่นั่งทำด้วยผ้า และผ้าสายโยคใช้ไม่ได้ทั้งนั้น
เนสัชชิกภิกษุชั้นกลาง ในของ ๓ อย่างนี้ เพียงแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง ใช้ได้
เนสัชชิกภิกษุชั้นต่ำ พนักอิงข้างก็ดี แคร่นั่งทำด้วยผ้าก็ดี ผ้าสายโยคก็ดี หมอนพิงก็ดี เก้าอี้มีองค์ ๕ ก็ดี เก้าอี้มีองค์ ๗ ก็ดี ใช้ได้ทั้งนั้น

ก็แหละ เก้าอี้ที่ทำมีพนักข้างหลัง ชื่อว่าเก้าอี้มีองค์ ๕ (คือเท้า ๔ พนักหลัง ๑) เก้าอี้ที่ทำมีพนักข้างหลังด้วย มีพนักในข้างทั้ง ๒ ด้วย ชื่อว่าเก้าอี้มีองค์ ๗ ได้ยินว่า เก้าอี้มีองค์ ๗ นั้น พวกทายกได้ทำถวายแก่ท่านพระจูฬอภัยเถระ พระเถระสำเร็จพระอนาคามีปรินิพพานแล้วว่าด้วยประเภทในเนสัชซิกังคธุดงค์นี้เพียงเท่านี้

ความแตก
ก็แหละ ธุดงค์นี้ย่อมแตก คือหายจากสภาพธุดงค์ ในขณะพอเมื่อเนสัชชิกภิกษุ ทั้ง ๓ ประเภทนี้ สำเร็จซึ่งอิริยาบถนอนนั่นเทียว ว่าด้วยความแตกในเนสัชชิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

อานิสงส์
ก็แหละ อานิสงส์ในธุดงค์นี้มีดังนี้ คือ เป็นการตัดเสียซึ่งความผูกพันแห่งจิตที่ตรัสไว้ว่า เป็นผู้ขวนขวายหาความสุขในการนอน ความสุขในการเอนหลัง ความสุขในการหลับ ฉะนี้, ความเป็นที่สัปปายะแก่การบำเพ็ญกัมมัฏฐานทั้งปวง, ความเป็นผู้มีอิริยาบถเป็นที่น่าเลื่อมใส, เป็นการเกื้อหนุนแก่การเริ่มทำความเพียร, เป็นการเพิ่มพูนการปฏิบัติชอบให้เจริญยิ่งขึ้น เนสัชชิกภิกษุผู้สำรวม นั่งคู่บัลลังก์ ตั้งกายให้ตรง ย่อมยังดวงหฤทัยของพญามารให้หวาดหวั่น ภิกษุผู้ยินดีในการนั่ง มีความเพียรปรารภแล้ว ละความสุขในการนอน ความสุขในการหลับแล้ว ย่อมทำป่าอันเป็นที่บำเพ็ญตบะให้งดงาม เพราะเหตุที่ตนจะได้ประสบซึ่งปีติและสุขอันปราศจากอามิสฉะนั้น อันภิกษุผู้บัณฑิตพึงหมั่นบำเพ็ญเนสัชชิกังคธุดงค์อยู่เนือง ๆ นั่นเถิด ว่าด้วยอานิสงส์ในเนสัชชิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้ พรรณนาการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก และอานิสงส์ในเนสัชชิกังคธุดงค์ ยุติลงเพียงเท่านี้ 


๑๒. ยถาสันถติกังคกถา

ยถาสันถติกังคกถา

การสมาทาน
แม้ยถาสันถติกังคธุดงค์ ก็ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาแล้วด้วย คำสมาทานอย่างใดอย่างหนึ่ง จากคำสมาทาน ๒ อย่างนี้ คือ เสนาสนโลลุปฺปํ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้าขอปฏิเสธความละโมบในเสนาสนะ ดังนี้อย่างหนึ่ง ยถาสนุถติกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาซึ่งองค์แห่งภิกษุผู้อยู่ในเสนาสนะตามที่จัดแจงไว้แล้วอย่างไรเป็นปกติ ดังนี้อย่างหนึ่ง ว่าด้วยการสมาทานในยถาสันถติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

กรรมวิธี
ก็แหละ เสนาสนะใดที่สงฆ์ให้เธอรับเอาแล้วด้วยคำว่า เสนาสนะนี้ถึงแก่ท่านฉะนี้ อันยถาสันถติกภิกษุนั้น พึงยินดีด้วยเสนาสนะนั้นเท่านั้น ไม่พึงขับไล่ภิกษุอื่นให้ลุกหนีไป ว่าด้วยกรรมวิธีในยถาสันถติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้


ประเภท
ก็แหละ เมื่อว่าโดยประเภท แม้ยถาสันถติกภิกษุนี้ ก็มี ๓ ประเภท ใน ๓ ประเภทนั้น
ยถาสันถติกภิกษุชั้นอุกฤษฎ์ จะสอบถามถึงเสนาสนะที่ถึงแก่ตนว่าไกลไหม ? ใกล้ไหม ? อันอมนุษย์และจำพวกสัตว์ทีฆชาติเป็นต้นรบกวนไหม ? ร้อนไหม ? หรือเย็นไหม ? ดังนี้หาได้ไม่
ยถาสันถติกภิกษุชั้นกลาง จะสอบถามดังนั้นได้อยู่ แต่จะไปตรวจดูหาได้ไม่
ยถาสันถติกภิกษุชั้นต่ำ ครั้นไปตรวจดูเสนาสนะแล้ว ถ้าไม่ชอบใจเสนาสนะหลังนั้น จะถือเอาเสนาสนะหลังอื่นก็ได้
ว่าด้วยประเภทในยถาสันถติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ความแตก
ก็แหละ ธุดงค์นี้ย่อมแตก คือหายจากสภาพธุดงค์ ในขณะพอเมื่อยถาสันถติกภิกษุทั้ง ๓ ประเภท เกิดความละโมบขึ้นในเสนาสนะนั่นเทียว ว่าด้วยความแตกในยถาสันถติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

อานิสงส์
ก็แหละ อานิสงส์ในธุดงค์นี้มีดังนี้ คือ เป็นการกระทำตามพระพุทธโอวาทข้อว่าได้สิ่งใดก็จึงยินดีด้วยสิ่งนั้น เป็นผู้มุ่งประโยชน์ให้แก่เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย เป็นการสละความเลือกในของเลวและของประณีต, เป็นการสละเสียได้ซึ่งความดีใจและความเสียใจ, เป็นการปิดประตูแห่งความมักมาก, เป็นผู้มีความประพฤติสมควรแก่คุณมีความมักน้อยเป็นต้น ภิกษุผู้สำรวม มีอันอยู่ในเสนาสนะตามที่จัดแจงไว้แล้วเป็นปกติ ได้สิ่งใดก็ยินดีด้วยสิ่งนั้น ไม่เลือก ย่อมนอนเป็นสุขในเสนาสนะที่ปูลาดด้วยหญ้าก็ตาม ยถาสันถติกภิกษุนั้น ย่อมไม่ดีใจในเสนาสนะที่ดี ๆ ได้ของเลวมาแล้วก็ไม่เสียใจ ย่อมสงเคราะห์บรรดาเพื่อนพรหมจรรย์รุ่นใหม่ ๆ ด้วยประโยชน์เกื้อกูล เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้มีปัญญา จงประกอบเนือง ๆ ซึ่งความเป็นผู้ยินดีในเสนาสนะตามที่จัดแจงไว้แล้ว อันเป็นสิ่งที่พระอริยเจ้าจำนวนร้อย ๆ สั่งสมแล้ว อันพระมหามุนีผู้ยอดเยี่ยมทรงสรรเสริญแล้ว ว่าด้วยอานิสงส์ในยถาสันถติกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้ พรรณนาการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก และอานิสงส์ ในยถาสันตติกังคธุดงค์ ยุติลงเพียงเท่านี้


๑๑. โสสานิกังคกถา

 โสสานิกังคกถา

การสมาทาน
แม้โสสานิกังคธุดงค์ ก็ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาแล้ว ด้วยคำสมาทานอย่างใดอย่างหนึ่ง จากคำสมาทาน ๒ อย่างนี้ คือ น สุสานํ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้าขอปฏิเสธที่อันมิใช่สุสาน ดังนี้อย่างหนึ่ง โสสานิกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาซึ่งองค์แห่งภิกษุผู้อยู่ในป่าช้าเป็นปกติ ดังนี้อย่างหนึ่งว่าด้วยการสมาทานในโสสานิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

กรรมวิธี
ก็แหละอันภิกษุผู้อยู่ในสุสานเป็นปกตินั้นไม่พึ่งอยู่ในสถานที่ที่พวกมนุษย์อาศัยบ้านอยู่แล้วกำหนดหมายเอาไว้ว่า ที่ตรงนี้ทำเป็นสุสาน เพราะเมื่อยังมิได้เผาศพสถานที่นั้นจะได้ชื่อว่าสุสานหาได้ไม่ แต่นับแต่เวลาที่เผาศพแล้วไป แม้เขาจะทอดทิ้งไปแล้วถึง ๑๒ ปี สถานที่นั้นก็ยังคงสภาพเป็นสุสานอยู่นั่นเอง แหละเมื่อโสสานิกภิกษุอยู่ในสุสานนั้น จะให้ปลูกสร้างสถานที่ เช่นปะรำสำหรับจงกรม จะให้จัดแจงเตียงและทั่ง จะให้ตั้งน้ำฉันและน้ำใช้ จะสอนธรรมหาเป็นการสมควรไม่ ก็ธุดงค์นี้เป็นภาระหนัก (บริหารได้ยาก) เพราะฉะนั้น เพื่อป้องกันอันตรายซึ่งอาจจะเกิดขึ้น อันโสสานิกภิกษุพึงกราบเรียนพระสังฆเถระ หรือบอกเจ้าหน้าที่ให้ทราบไว้ จึงอยู่อย่างไม่ประมาทนั่นเถิด เมื่อเดินจงกรม ก็พึงเดินชำเลืองตาดูสุสานไปพลาง ท่านผู้ชำนาญในคัมภีร์อังคุตตรนิกายพรรณนาไว้ว่า แม้เมื่อโสสานิกภิกษุจะไปสู่สุสานนั้น พึงหลบจากทางสายใหญ่ ๆ เสีย ลัดเลาะไปตามนอกเส้นทาง จึงกำหนดหมายอารมณ์ไว้เสียแต่ในกลางวันที่เดียว (เช่นหมายไว้ว่า ตรงนี้เป็นจอมปลวก ตรงนี้เป็นต้นไม้ ตรงนี้เป็นตอ) เพราะเมื่อกำหนดหมายไว้อย่างนี้ อารมณ์นั้นจักไม่ทำให้เกิดความหวาดกลัวแก่เธอในเวลากลางคืน แม้ถึงจะมีพวกอมนุษย์เที่ยวร่ำร้องอยู่ไปมาในเวลากลางคืน ก็อย่าขว้างปาด้วยวัตถุอะไร (เช่น ก้อนดินและก้อนหินเป็นต้น) อันโสสานิกภิกษุนั้นที่จะไม่ไปยังสุสานแม้เพียงวันเดียวหาได้ไม่ ต้องทำให้มัชฌิมยาม (๔ ทุ่ม ถึง ๘ ทุ่ม : ๒๒.๐๐-๐๒.๐๐ น.) หมดสิ้นไปอยู่ในสุสาน แล้วจึงกลับออกมาในเวลาปัจฉิมยาม (๙ ทุ่ม ถึง ๑๒ ทุ่ม : ๐๓.๐๐-๐๖.๐๐ น.) ของเคี้ยวของฉันอันเป็นที่ชอบใจของพวกอมนุษย์ เช่น แป้งผสมงา, ข้าวผสมถั่ว, ปลา, เนื้อ, นม, น้ำมันและน้ำอ้อยเป็นต้น ไม่ควรจะเสพ ไม่ควรเข้าไปสู่เรือนแห่งตระกูล ว่าด้วยกรรมวิธีในโสสานิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ประเภท
ก็แหละ เมื่อว่าโดยประเภท แม้โสสานิกภิกษุนี้ก็มี ๓ ประเภท ใน ๓ ประเภทนั้น
โสสานิกภิกษุชั้นอุกฤษฎ์ ต้องอยู่ ณ สุสานซึ่งมีการเผาศพประจำ, มีศพประจำและมีการร้องไห้เป็นเนืองนิจเท่านั้น
โสสานิกภิกษุชั้นกลาง ในองค์คุณแห่งสุสาน ๓ ชนิดนั้น แม้จะมีเพียงชนิดเดียว ก็สมควร
โสสานิกภิกษุชั้นต่ำ อยู่ในสุสานที่พอเข้าลักษณะแห่งสุสาน ตามนัยที่กล่าวแล้ว ก็เป็นการสมควร
ว่าด้วยประเภทในโสสานิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ความแตก
ก็แหละ ธุดงค์นี้ย่อมแตก คือหายจากสภาพธุดงค์ โดยที่โสสานิกภิกษุทั้งประเภทนี้ สำเร็จการอยู่ในสถานที่ซึ่งมิใช่สุสานนั่นเทียว ท่านผู้ชำนาญในคัมภีร์อังคุตตรนิกายอรรถาธิบายไว้ว่า ธุดงค์นี้ย่อมแตกในวันที่ไม่ไปสู่สุสาน ว่าด้วยความแตกในโสสานิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

อานิสงส์
ก็แหละ อานิสงส์ในธุดงค์นี้มีดังนี้ คือ ได้มรณสติ, มีการอยู่อย่างไม่ประมาท ได้ประสบอสุภนิมิต, บรรเทาเสียได้ซึ่งความกำหนัดในกาม, ได้เห็นสภาวะแห่งกายเนื่อง ๆ, เป็นผู้มากด้วยความสังเวชสลดใจ, ละเสียใต้ซึ่งความเมาในความไม่มีโรคเป็นต้น, ครอบงำเสียได้ซึ่งภัยอันน่ากลัว, มีภาวะเป็นที่เคารพและเป็นที่น่าสรรเสริญของอมนุษย์ทั้งหลาย, เป็นผู้มีความประพฤติสมควรแก่คุณมีความมักน้อยเป็นต้น ก็แหละ โทษเพราะประมาททั้งหลายย่อมไม่ถูกต้องพ้องพาน ซึ่งภิกษุผู้อยู่ในสุสานเป็นปกติแม้จะหลับอยู่ก็ตาม ทั้งนี้เพราะอำนาจแห่งมรณานุสสติภาวนา แหละเมื่อโสสานิกภิกษุนั้นเห็นศพอยู่อย่างมากมาย จิตของท่านไม่ตกไปสู่อานุภาพและอำนาจของกามเลย โสสานิกภิกษุย่อมประสบความสังเวชสลดใจอย่างไพศาลย่อมไม่เข้าถึงซึ่งความมัวเมา อนึ่ง ชื่อว่าพยายามแสวงหาอยู่ซึ่งพระนิพพานโดยชอบ

ด้วยประการฉะนี้ อันภิกษุผู้เป็นบัณฑิต ผู้มีจิตน้อมเอียงไปหาพระนิพพาน จึงต้องเสพซึ่งโสสานิกังคธุดงค์เถิด เพราะเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งคุณเป็นอเนกประการ ว่าด้วยอานิสงส์ในโสสานิกังคธุดงค์นี้เพียงเท่านี้ พรรณนาการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก และอานิสงส์ในโสสานิกังคธุดงค์ ยุติลงเพียงเท่านี้



๑๐. อัพโภกาสิกังคกถา

อัพโภกาสิกังคกถา

การสมาทาน
แม้อัพโภกาสิกังคธุดงค์ ก็เป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาแล้วด้วยคำสมาทานอย่างใดอย่างหนึ่ง จากคำสมาทาน ๒ อย่างนี้ คือ ฉนุนญฺจ รุกฺขมูลญฺจ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้าขอปฏิเสธที่อยู่อันมีหลังคาและโคนไม้ ดังนี้อย่างหนึ่ง อพฺโภกาสิกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาซึ่งองค์แห่งภิกษุผู้อยู่ ณ ที่กลางแจ้งเป็นปกติ ดังนี้อย่างหนึ่ง ว่าด้วยการสมาทานในอัพโภกาสิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

กรรมวิธี
ก็แหละ อันอัพโภกาสิกภิกษุนั้นจะเข้าไปยังโรงอุโบสถ เพื่อจะฟังธรรมเทศนาหรือเพื่อจะทำอุโบสถกรรมก็ได้ เมื่อเข้าไปแล้วฝนเกิดตกขึ้นมา ครั้นฝนกำลังตกอยู่ก็ไม่ต้องออก เมื่อฝนหายแล้วจึงค่อยออก จะเข้าไปโรงฉันหรือโรงไฟเพื่อทำกิจวัตรก็ได้ จะไปบอกอำลาภัตติกภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระในโรงฉันก็ได้เมื่อจะแสดงพระบาลีเอง หรือให้ผู้อื่นแสดงให้ฟัง จะเข้าไปยังที่อยู่อันมีหลังคาก็ได้ และจะเอาเตียงและทั่งเป็นต้นซึ่งทิ้งเกะกะอยู่ข้างนอกเข้าไปเก็บไว้ข้างในก็ได้ ถ้าเมื่อกำลังเดินทางถือเครื่องบริขารของพระเถระผู้ใหญ่ไปเมื่อฝนตกจะเข้าไปยังศาลาซึ่งอยู่กลางทางก็ได้ ถ้าไม่ได้ถืออะไร ๆ จะรีบเดินไปด้วยหมายใจว่าจะพักอยู่ในศาลาย่อมไม่สมควร แต่เมื่อเดินไปอย่างปกติเข้าไปในศาลาแล้วก็พึงอยู่จนกว่าฝนจะหายจึงค่อยไป ว่าด้วยกรรมวิธีในอัพโภกาสิกังคธุดงค์นี้เพียงเท่านี้ แม้วิธีแห่งรุกขมูลิกภิกขุก็มีนัยนี้เหมือนกัน
ประเภท
ก็แหละ เมื่อว่าโดยประเภท แม้อัพโภกาสิกภิกษุนี้ก็มี ๓ ประเภท ใน ๓ ประเภทนั้น
อัพโภกาสิกภิกษุชั้นอุกฤษฎ์ จะเข้าไปพะพิงอิงต้นไม้หรือภูเขาหรือเรือนอยู่ไม่ได้ ต้องทำกระท่อมผ้า (กางกลด) อยู่ ณ ที่กลางแจ้งเท่านั้น
อัพโภกาสิกภิกษุชั้นกลาง จะเข้าไปพะพิงอิงต้นไม้ภูเขาและบ้าน แต่ไม่เข้าไปอยู่ข้างในได้อยู่
อัพโภกาสิกภิกษุชั้นต่ำ เอื้อมเขาซึ่งมีขอบเขตมิได้มุงบังก็ดี ปะรำที่มุงบังด้วยกิ่งไม้ก็ดี ผ้ากลดหยาบ ๆ ก็ดี (ผ้าเต็นท์กระมัง) กระต๊อบซึ่งอยู่ตามที่นั้น ๆ ที่พวกคนเฝ้านาเป็นต้นทอดทิ้งแล้วก็ดี ใช้ได้ทั้งนั้น
ว่าด้วยประเภทในอัพโภกาสิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ความแตก
ก็แหละ ธุดงค์นี้ย่อมแตก คือหายจากสภาพธุดงค์ ในขณะที่อัพโภกาสิกภิกษุทั้ง ๓ ประเภทนี้ เข้าไปสู่ที่อยู่อันมีหลังคาหรือเข้าไปสู่โคนไม้เพื่อจะอยู่อาศัย ท่านผู้ชำนาญคัมภีร์อังคุตตรนิกายอธิบายไว้ว่า ธุดงค์นี้ย่อมแตกในขณะที่ อัพโภกาสิกภิกษุรู้แล้วทำอรุณให้ขึ้นในที่อยู่ซึ่งมีหลังคาหรือที่โคนไม้นั้นว่าด้วยความแตกในอัพโภกาสิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

อานิสงส์
ก็แหละ อานิสงส์ในธุดงค์นี้มีดังนี้ เป็นการตัดความกังวลในที่อยู่เสียได้, เป็นอุบายบรรเทาถีนมิทธะคือความง่วงเหงาหาวนอน, เป็นผู้สมควรแก่การที่จะสรรเสริญว่า “ภิกษุทั้งหลายเป็นผู้ไม่มีบ้าน ไม่ติดข้องเที่ยวไป มีอาการปานดังฝูงเนื้อฉะนั้น” เป็นผู้สิ้นความเกี่ยวเกาะ, เป็นผู้จาริกไปได้ในทิศทั้งเป็นผู้จาริกไปได้ในทิศทั้ง ๔, เป็นผู้มีความประพฤติสมควรแก่คุณมีความมักน้อยเป็นต้น ภิกษุมีจิตใจเป็นดังจิตใจของเนื้อทราย อาศัยอยู่ ณ ที่กลางแจ้ง อันมีเพดานประดับด้วยแก้วมณีคือดวงดาวอันสว่างไสวด้วยดวงประทีปคือพระจันทร์ อันสมควรแก่ภาวะของท่านผู้ไม่มีเรือน ทั้งหาได้ไม่ยาก กำจัดความง่วงเหงาหาวนอนให้ส่างซาแล้ว อาศัยแล้วซึ่งความเป็นผู้ยินดีในภาวนา ไม่นานสักเท่าไร ย่อมจะได้ประสบซึ่งความยินดีในรสอันเกิดแต่ความสงัดเป็นแน่แท้ เพราะเหตุนั้นแหละ อันภิกษุผู้มีปัญญา พึงเป็นผู้ยินดีในที่กลางแจ้งนั่นเทอญ ว่าด้วยอานิสงส์ในอัพโภกาสิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้ พรรณนาการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก และอานิสงส์
ในอัพโภกาสิกังคธุดงค์ ยุติลงเพียงเท่านี้





๙. รุกขมูลิกังคกถา

รุกขมูลิกังคกถา
การสมาทาน
แม้รุกขมูลิกังคธุดงค์ ก็ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาแล้วด้วยคำสมาทานอย่างใดอย่างหนึ่ง จากคำสมาทาน ๒ อย่าง คือ ฉนฺนํ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้าขอปฏิเสธที่อยู่ที่มีหลังคา ดังนี้อย่างหนึ่ง รุกฺขมูลิกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาองค์แห่งภิกษุผู้อยู่ที่โคนไม้เป็นปกติ ดังนี้อย่างหนึ่ง ว่าด้วยการสมาทานในรุกขมูลกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

กรรมวิธี
ก็แหละ อันภิกษุผู้อยู่โคนไม้เป็นปกตินั้น พึงยึดเอาต้นไม้ที่อยู่สุดเขตวัด โดยละเว้นต้นไม้เหล่านี้เสียคือ ต้นไม้อยู่ในระหว่างเขตรัฐสีมา ต้นไม้เป็นที่นับถือบูชา ต้นไม้มียาง ต้นไม้ผล ต้นไม้มีค้างคาว ต้นไม้มีโพรง และต้นไม้อยู่กลางวัด ว่าด้วยกรรมวิธีในรุกขมูลกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ประเภท
ก็แหละ เมื่อว่าโดยประเภท แม้รุกขมูลิกภิกษุนี้ ก็มี ๓ ประเภท ใน ๓ ประเภทนั้น
รุกขมูลิกภิกษุชั้นอุกฤษฎ์ จะยึดถือเอาต้นไม้ตามชอบใจแล้วใช้คนอื่นให้ปัดกวาดไม่ได้ จึงใช้เท้าเขียใบไม้ที่ร่วงหล่นด้วยตนเองแล้วอยู่เถิด
รุกขมูลิกภิกษุชั้นกลาง จะใช้บรรดาผู้ที่บังเอิญมาถึง ณ ที่ตรงนั้นให้ช่วยปัดกวาดก็ได้
อันรุกขมูลิกภิกษุชั้นต่ำ จึงเรียกคนรักษาวัดหรือสามเณรมาแล้วใช้ให้ช่วยชำระปัดกวาดให้สะอาด ให้ช่วยปราบพื้นให้สม่ำเสมอ ให้ช่วยเกลี่ยทราย ให้ช่วยล้อมรั้ว ให้ช่วยประกอบประตูแล้วอยู่เถิด แต่ในวันงานมหกรรมฉลอง อันรุกขมูลิกภิกษุอย่านั่งอยู่ ณ ที่นั้น พึงหลบไปนั่ง ณ ที่กำบังแห่งอื่นเสีย
ว่าด้วยประเภทในรุกขมูลกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ความแตก
ก็แหละ ธุดงค์นี้ย่อมแตก คือหายจากสภาพธุดงค์ ในขณะที่รุกขมูลิกภิกษุทั้ง ๓ ประเภทนี้ สำเร็จการอยู่ในที่อันมีหลังคานั่นเทียว ท่านผู้ชำนาญคัมภีร์อังคุตตรนิกาย อธิบายไว้ว่า ธุดงค์นี้ ย่อมแตกในขณะที่รุกขมูลิกภิกษุเหล่านั้นรู้แล้วทำอรุณให้ขึ้นในที่อยู่อันมีหลังคา ว่าด้วยความแตกในรุกขมูลกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

อานิสงส์
ก็แหละ อานิสงส์ในธุดงค์นี้มีดังนี้ คือ เป็นผู้มีข้อปฏิบัติสมควรแก่ปัจจัยเครื่องอาศัยตามพระพุทธวจนะข้อว่า การบวช อาศัยเสนาสนะคือโคนไม้, เป็นผู้มีปัจจัยอันพระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญไว้มีอาทิ เช่นว่า ปัจจัยเหล่านั้นเป็นสิ่งเล็กน้อยด้วยหาได้ง่ายด้วย เป็นสิ่งที่หาโทษมิได้ด้วย เป็นการยังอนิจจสัญญาให้ปรากฏ ด้วยได้ เห็นความเปลี่ยนแปลงของใบไม้, ไม่มีความตระหนี่เสนาสนะและความหลงยินดีการงาน, เป็นผู้มีการอยู่ร่วมกับรุกขเทวดาทั้งหลาย เป็นผู้มีความประพฤติสมควรแก่คุณมีความสันโดษเป็นต้น

ที่อยู่อาศัยของภิกษุผู้ชอบความสงัด อันพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐทรงสรรเสริญและเชยชมแล้วว่าเป็นปัจจัยเครื่องอาศัยที่จะเปรียบเสมอด้วยโคนไม้ จะมีแต่ที่ไหน จริงอยู่ ภิกษุผู้อาศัยอยู่ที่โคนไม้อันสงัด เป็นที่นำออกซึ่งความตระหนี่อาวาส อันเทวดาอภิบาลรักษา ย่อมเป็นผู้มีวัตรปฏิบัติอันดีงาม เมื่อรุกขมูลิกภิกษุได้เห็นใบไม้หลายชนิด คือชนิดที่แดงเข้มบ้าง ชนิดที่เขียวสดบ้าง ชนิดที่เหลืองซึ่งร่วงหล่นแล้วบ้าง ย่อมจะบรรเทานิจจสัญญาคือความหมายว่าสิ่งทั้งปวงเป็นของเที่ยงเสียได้ เพราะฉะนั้นแหละ ภิกษุผู้เห็นแจ้ง อย่าได้พึงดูหมิ่นโคนไม้อันสงัด อันเป็นมรดกที่พระพุทธเจ้าทรงประทานให้และเป็นที่อยู่อาศัยของผู้ยินดีแล้วในการภาวนา ว่าด้วยอานิสงส์ในรุกขมูลกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้ พรรณนาการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก และอานิสงส์ในรุกขมูลกังคธุดงค์ ยุติลงเพียงเท่านี้


วันอังคาร

๘. อารัญญิกังคกถา

อารัญญิกังคกถา

การสมาทาน
แม้อารัญญิกังคธุดงค์ ก็ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาแล้ว ด้วยคำสมาทานอย่างใดอย่างหนึ่ง จากคำสมาทาน ๒ อย่างนี้ คือ คามนฺตเสนาสนํ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้าขอปฏิเสธเสนาสนะภายในบ้าน ดังนี้อย่างหนึ่ง อารญฺฌิกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาซึ่งองค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ในป่าเป็นปกติ ดังนี้อย่างหนึ่ง ว่าด้วยการสมาทานในอารัญญิกกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

กรรมวิธี
ก็แหละ อันภิกษุผู้อยู่ในป่าเป็นปกตินั้น ต้องออกจากเสนาสนะภายในบ้านไปทำให้อรุณตั้งขึ้นในป่า, ในเสนาสนะ ๒ อย่างนั้น บ้านพร้อมทั้งอุปจารแห่งบ้านนั่นเที่ยว ชื่อว่า เสนาสนะภายในบ้าน

อธิบายคำว่าบ้าน
ที่อยู่อาศัยอย่างใดอย่างหนึ่ง จะมีกระท่อมหลังเดียวหรือหลายหลังก็ตาม จะมีเครื่องล้อมหรือไม่มีเครื่องล้อมก็ตาม จะมีคนหรือไม่มีคนก็ตาม แม้ชั้นที่สุดหมู่เกวียนเหล่าใดเหล่าหนึ่งซึ่งจอดพักอยู่เกิน ๔ เดือน ชื่อว่า บ้าน

อธิบายคำว่าอุปจารบ้าน
สำหรับบ้านที่มีเครื่องล้อมเหมือนดังเมืองอนุราธปุรี ย่อมมีเขื่อนอยู่ ๒ ชั้น ชั่วเลฑฑุบาตหนึ่ง (ชั่วขว้างก้อนดินตก) ของบุรุษผู้มีกำลังปานกลาง ซึ่งยืนอยู่ที่เขื่อนด้านใน ชื่อว่า อุปจารบ้าน (บริเวณรอบ ๆ บ้าน) ท่านผู้ชำนาญพระวินัยอธิบายลักษณะของเลฑฑุบาตนั้นไว้ดังนี้ ที่ภายในแห่งก้อนดินตก ซึ่งบุรุษผู้มีกำลังปานกลางขว้างไปนั้น เหมือนอย่างพวกเด็กวัยหนุ่มเมื่อจะออกกำลังของตน จึงเหยียดแขนออกแล้วขว้างก้อนดินไป ฉะนั้น ส่วนท่านผู้ชำนาญพระสูตรอธิบายไว้ว่า ที่ภายในแห่งก้อนดินตก ซึ่งบุรุษขว้างไปด้วยหมายที่จะห้ามกา ชื่อว่า อุปจารบ้าน ในบ้านที่ไม่มีเครื่องล้อม มาตุคาม (สตรี) ยืนอยู่ที่ประตูเรือนหลังสุดท้ายแล้วสาดน้ำไปด้วยภาชนะ ภายในที่ตกแห่งน้ำนั้น ชื่อว่า อุปจารเรือน นับแต่อุปจารเรือนนั้นออกไปชั่วเลฑฑุบาตหนึ่งโดยนัยที่กล่าวมาแล้ว ยังนับเป็นบ้าน ชั่วเลฑฑุบาตที่สองจึงนับเป็น อุปจารบ้าน

อธิบายคำว่าป่า
ส่วนป่านั้น ประการแรก โดยปริยายแห่งพระวินัยท่านอธิบายไว้ว่า ยกเว้นบ้านและอุปจารบ้านเสีย ที่ทั้งหมดนั้นเรียกว่า ป่า โดยปริยายแห่งพระอภิธรรมท่าน อธิบายไว้ว่า ที่ภายนอกจากเขื่อนออกไปทั้งหมดนั้น เรียกว่า ป่า ส่วน ณ ที่นี้ โดยปริยายแห่งพระสูตรท่านอธิบายลักษณะไว้ดังนี้ เสนาสนะหลังสุดท้ายที่ตั้งอยู่ชั่วระยะ ๕๐๐ ชั่วธนู เรียกว่า เสนาสนะป่า” ลักษณะที่กล่าวมานี้ จึงกำหนดวัดด้วยคันธนูแบบที่ขึ้นแล้ว สำหรับบ้านที่มีเครื่องล้อมวัดตั้งแต่เสาเขื่อนไปจนจรด รั้ววัด (วิหาร) สำหรับบ้านที่ไม่มีเครื่องล้อม วัดตั้งแต่ชั่วเลฑฑุบาตแรกไปจนจรดรั้ววัด (วิหาร) พระอรรถกถาจารย์ อธิบายไว้ในอรรถกถาวินัยทั้งหลายว่า “แหละถ้าเป็นวัดที่ไม่มีรั้วล้อม ฟังวัดเอาเสนาสนะหลังแรกให้เป็นเครื่องกำหนด หรือฟังวัดเอาโรงครัวหรือที่ประชุมประจำ หรือต้นโพธิ์ หรือพระเจดีย์ แม้มีอยู่ในที่ห่างไกลไปจากเสนาสนะ ให้เป็นเครื่องกำหนดก็ได้” ส่วนในอรรถกถามัชฌิมนิกายท่านอธิบายไว้ว่า แม้อุปจารวัดก็เหมือนอุปจารบ้าน จึงออกมาวัดเอาตรงระหว่างเลฑฑบาตทั้งสองนั่นเถิด ข้อนี้นับเอาเป็นประมาณในการคำนวณนี้ได้

แม้หากว่ามีหมู่บ้านอยู่ในที่ใกล้กับวัด ภิกษุสามเณรซึ่งอยู่ในวัดก็ได้ยินเสียงของชาวบ้านอยู่ แต่ก็ไม่อาจจะเดินทางตรง ๆ ถึงกันได้ เพราะมีภูเขาและแม่น้ำเป็นต้นคั่นอยู่ในระหว่าง ทางใดอันเป็นทางเดินโดยปกติของวัดนั้น แม้หากจะพึงสัญจรไปมาด้วยเรือก็ตามพึงถือเอาเป็น ๕๐๐ ชั่วธนูด้วยทางนั้น แต่อารัญญิกภิกษุใดปิดกั้นทางเล็ก ๆ ในที่นั้น ๆ เสีย เพื่อประสงค์ที่จะให้สำเร็จเป็นองค์ของบ้านใกล้วัด อารัญญิกภิกษุนี้ ย่อมชื่อว่า โจรธุดงค์ก็แหละ ถ้าอุปัชฌาย์หรืออาจารย์ของอารัญญิกภิกษุเกิดต้องอาพาธขึ้นมา เมื่อท่านไม่ได้ความสัปปายะในป่า จะพึงนำพาอุปัชฌาย์หรืออาจารย์ไปอุปัฏฐากที่เสนาสนะภายในบ้านก็ได้ แต่ต้องรีบกลับออกไปให้ทันกาล ทำให้อรุณขึ้นในที่อันประกอบด้วยองค์แห่งป่าถ้าโรคของอุปัชฌาย์หรืออาจารย์กำเริบขึ้นในเวลาอรุณขึ้นพอดีก็พึงอยู่ทำกิจวัตรถวายแต่อุปัชฌาย์หรืออาจารย์นั่นเถิด ไม่ต้องห่วงทำธุดงค์ให้บริสุทธิ์ดอก ว่าด้วยกรรมวิธีในอารัญญิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ประเภท
ก็แหละ เมื่อว่าโดยประเภท แม้ภิกษุผู้อยู่ในป่าเป็นปกตินี้ ก็มี ๓ ประเภท ใน ๓ ประเภทนั้น
อารัญญิกภิกษุชั้นอุกฤษฎ์ ย่อมทำให้อรุณขึ้นในป่าตลอดกาล (คืออยู่ในป่าเป็นนิจ)
อารัญญิกภิกษุชั้นกลาง ย่อมอยู่ในเสนาสนะภายในบ้านได้ตลอดกาล ๔ เดือน ในฤดูฝน
อารัญญิกภิกษุชั้นต่ำ ย่อมอยู่ในเสนาสนะภายในบ้านได้ตลอดกาล ๔ เดือนในฤดูหนาวด้วย (รวมเป็นเวลา ๘ เดือน)
ว่าด้วยประเภทในอารัญญิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ความแตก
ก็แหละ เมื่ออารัญญิกภิกษุทั้ง ๓ ประเภทนั้น มาจากป่าแล้วฟังธรรมเทศนาอยู่ในเสนาสนะภายในบ้าน แม้ถึงอรุณจะขึ้นในกาลตามที่กำหนดไว้นั้น ธุดงค์ก็ไม่แตก ครั้นฟังธรรมแล้วกำลังเดินทางกลับไปอยู่ ถึงแม้อหุณจะตั้งขึ้นในระหว่างทาง ธุดงค์ก็ไม่แตก แต่ถ้าเมื่อพระธรรมกถึกลุกไปแล้ว อารัญญิกภิกษุทั้ง ๓ ประเภทนั้นคิดว่า “จักพักนอนสักครู่หนึ่งแล้วจึงจักไป” ดังนี้ แล้วเลยหลับไปทำให้อรุณขึ้นในเสนาสนะภายในบ้าน หรือทำให้อรุณขึ้นในเสนาสนะภายในบ้านตามความชอบใจของตน ธุดงค์ย่อมแตก ว่าด้วยความแตกในอารัญญิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

อานิสงส์
ก็แหละ อานิสงส์ในธุดงค์นี้มีดังนี้ คือ อารัญญิกภิกษุผู้สนใจถึงซึ่งความสำคัญแห่งป่า เป็นผู้ควรที่จะได้บรรลุซึ่งสมาธิที่ยังมิได้บรรลุ หรือเป็นผู้ควรที่จะรักษาไว้ได้ซึ่งสมาธิที่ได้บรรลุแล้ว แม้สมเด็จพระบรมศาสดาก็ทรงพอพระหฤทัยต่อท่าน เหมือนดังที่ตรัสไว้ว่า “นาคิตภิกขุ ด้วยเหตุนั้น เราย่อมพอใจต่อภิกษุนั้นด้วยการอยู่ในป่า” ดังนี้ อนึ่ง สิ่งต่าง ๆ มีรูปอันไม่เป็นที่สัปปายะเป็นต้น ย่อมไม่รบกวนจิตของอารัญญิกภิกษุนั้นผู้อยู่ในเสนาสนะอันสงัด, ภิกษุผู้อยู่ในป่าเป็นปกติเป็นผู้สิ้น ความสะดุ้งหวาดเสียวแล้ว ละความพอใจอาลัยในชีวิตได้แล้ว ท่านย่อมได้เสวยรสแห่งความสุขอันเกิดแต่วิเวก, อนึ่ง ภาวะที่เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุลเป็นปกติ เป็นต้น ย่อมเป็นภาวะที่เหมาะสมแก่ท่านอารัญญิกภิกษุนั้น อารัญญิกภิกษุผู้ชอบความสงบ ไม่คลุกคลี ยินดีในเสนาสนะอันสงัด เป็นผู้ยังพระมานัสของสมเด็จพระโลกนาถให้ทรงโปรดปรานได้ด้วยการอยู่ในป่า อารัญญิกภิกษุผู้สำรวม อยู่ในป่าแต่เดียวดาย ย่อมได้ประสบความสุขอันใด รสแห่งความสุขอันนั้น แม้แต่ทวยเทพกับพระอินทร์ ก็ไม่ได้ประสบ แหละอารัญญิกภิกษุนี้ เที่ยวสวมสอดผ้าบังสุกุลจีวรเป็นเสมือนกษัตริย์ทรงสวมสอดเกราะ เข้าสู่สงครามคือป่า มีธูตธรรมที่เหลือเป็นอาวุธ เป็นผู้สามารถที่จะได้ชัยชนะซึ่งพญามารพร้อมทั้งราชพาหนะ โดยไม่นานเท่าไรนักเลย เพราะเหตุฉะนั้น อันภิกษุผู้เป็นบัณฑิต พึงกระทำความยินดีในการอยู่ป่า นั่นเทอญ

ว่าด้วยอานิสงส์ในอารัญญิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้ พรรณนาการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก และอานิสงส์ ในอารัญญิกังคธุดงค์ ยุติลงเพียงเท่านี้



© 2008. Template by Dicas Blogger.

TOPO