วันพุธ

๑๓. เนสัชชิกังคกถา

เนสัชชิกังคกถา

การสมาทาน
แม้เนสัชชิกังคธุดงค์ ก็ย่อมเป็นอันโยคีบุคคลสมาทานเอาแล้ว ด้วยคำสมาทานอย่างใดอย่างหนึ่ง จากคำสมาทาน ๒ อย่างนี้ คือ เสยฺยํ ปฏิกฺขิปามิ ข้าพเจ้าขอปฏิเสธอิริยาบถนอน ดังนี้อย่างหนึ่ง เนสซฺชิกงฺคํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาซึ่งองค์แห่งภิกษุผู้มีอันอยู่ด้วยอิริยาบถนั่งเป็นปกติ ดังนี้อย่างหนึ่ง ว่าด้วยการสมาทานในเนสัชชิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

กรรมวิธี
ก็แหละ อันเนสัชชิกภิกษุนั้น ต้องลุกขึ้นเดินจงกรมให้ได้ยามหนึ่งในบรรดายามสามแห่งราตรี เพราะในอิริยาบถ ๔ นั้น อิริยาบถนอนเท่านั้นย่อมไม่สมควรแก่ผู้บำเพ็ญเนสัชชิกังคธุดงค์ ว่าด้วยกรรมวิธีในเนสัชชิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

ประเภท
ก็แหละ เมื่อว่าโดยประเภท แม้เนสัชชิกภิกษุนี้ก็มี ๓ ประเภท ใน ๓ ประเภทนั้น
เนสัชชิกภิกษุชั้นอุกฤษฎ์ หมอนอิงข้าง แคร่นั่งทำด้วยผ้า และผ้าสายโยคใช้ไม่ได้ทั้งนั้น
เนสัชชิกภิกษุชั้นกลาง ในของ ๓ อย่างนี้ เพียงแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง ใช้ได้
เนสัชชิกภิกษุชั้นต่ำ พนักอิงข้างก็ดี แคร่นั่งทำด้วยผ้าก็ดี ผ้าสายโยคก็ดี หมอนพิงก็ดี เก้าอี้มีองค์ ๕ ก็ดี เก้าอี้มีองค์ ๗ ก็ดี ใช้ได้ทั้งนั้น

ก็แหละ เก้าอี้ที่ทำมีพนักข้างหลัง ชื่อว่าเก้าอี้มีองค์ ๕ (คือเท้า ๔ พนักหลัง ๑) เก้าอี้ที่ทำมีพนักข้างหลังด้วย มีพนักในข้างทั้ง ๒ ด้วย ชื่อว่าเก้าอี้มีองค์ ๗ ได้ยินว่า เก้าอี้มีองค์ ๗ นั้น พวกทายกได้ทำถวายแก่ท่านพระจูฬอภัยเถระ พระเถระสำเร็จพระอนาคามีปรินิพพานแล้วว่าด้วยประเภทในเนสัชซิกังคธุดงค์นี้เพียงเท่านี้

ความแตก
ก็แหละ ธุดงค์นี้ย่อมแตก คือหายจากสภาพธุดงค์ ในขณะพอเมื่อเนสัชชิกภิกษุ ทั้ง ๓ ประเภทนี้ สำเร็จซึ่งอิริยาบถนอนนั่นเทียว ว่าด้วยความแตกในเนสัชชิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้

อานิสงส์
ก็แหละ อานิสงส์ในธุดงค์นี้มีดังนี้ คือ เป็นการตัดเสียซึ่งความผูกพันแห่งจิตที่ตรัสไว้ว่า เป็นผู้ขวนขวายหาความสุขในการนอน ความสุขในการเอนหลัง ความสุขในการหลับ ฉะนี้, ความเป็นที่สัปปายะแก่การบำเพ็ญกัมมัฏฐานทั้งปวง, ความเป็นผู้มีอิริยาบถเป็นที่น่าเลื่อมใส, เป็นการเกื้อหนุนแก่การเริ่มทำความเพียร, เป็นการเพิ่มพูนการปฏิบัติชอบให้เจริญยิ่งขึ้น เนสัชชิกภิกษุผู้สำรวม นั่งคู่บัลลังก์ ตั้งกายให้ตรง ย่อมยังดวงหฤทัยของพญามารให้หวาดหวั่น ภิกษุผู้ยินดีในการนั่ง มีความเพียรปรารภแล้ว ละความสุขในการนอน ความสุขในการหลับแล้ว ย่อมทำป่าอันเป็นที่บำเพ็ญตบะให้งดงาม เพราะเหตุที่ตนจะได้ประสบซึ่งปีติและสุขอันปราศจากอามิสฉะนั้น อันภิกษุผู้บัณฑิตพึงหมั่นบำเพ็ญเนสัชชิกังคธุดงค์อยู่เนือง ๆ นั่นเถิด ว่าด้วยอานิสงส์ในเนสัชชิกังคธุดงค์นี้ เพียงเท่านี้ พรรณนาการสมาทาน, กรรมวิธี, ประเภท, ความแตก และอานิสงส์ในเนสัชชิกังคธุดงค์ ยุติลงเพียงเท่านี้ 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น