ข้อวินิจฉัยธุดงค์ โดยความเป็นกุสลติกะ

วินิจฉัยโดยความเป็นกุสลติกะ

ในอาการเหล่านั้น คำว่า โดยความเป็นกุสลติกะ มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ ก็แหละ ธุดงค์หมดทั้ง ๑๓ ประการนั้นแล จัดเป็นกุศลด้วยอำนาจแห่งเสกขบุคคลและปุถุชนก็มี จัดเป็นอัพยากฤตด้วยอำนาจแห่งพระอรหันต์ขีณาสพก็มี แต่ธุดงค์ที่จัดเป็นอกุศลหามีไม่ อาจจะมีผู้ใดท้วงติงว่า แม้ธุดงค์ที่จัดเป็นอกุศลก็มีเหมือนกัน โดยมีพระพุทธวจนะเป็นอาทิว่า "ภิกษุผู้มีความปรารถนาลามก อันความปรารถนาครอบงำแล้วเป็นผู้อยู่ในป่า" ฉะนี้นักศึกษาพึงแถลงแก้เขาดังนี้:-

เรามิได้กล่าวปฏิเสธว่า ภิกษุไม่อยู่ในป่าด้วยอกุศลจิต ความจริง ภิกษุใดมีอาการอยู่ในป่า ภิกษุนั้นชื่อว่าผู้อยู่ในป่า อันภิกษุผู้อยู่ในป่านั้นจะพึงเป็นผู้มีความปรารถนาลามกก็มี จะพึงเป็นผู้มีความมักน้อยก็มีเป็นธรรมดา ข้าพเจ้าได้อรรถาธิบายมาแล้วว่า ก็แหละ ธุดงค์เหล่านี้เป็นองค์ของภิกษุผู้ได้นามว่า ธุระ เพราะเป็นผู้มีกิเลสอันกำจัดแล้วด้วยเจตนาเป็นเครื่องสมาทานนั้น ๆ ฉะนั้น จึงชื่อว่า ธุตังคะ อีกอย่างหนึ่ง ญาณอันได้โวหารว่า ธุระ เพราะเป็นการกำจัดซึ่งกิเลส เป็นเหตุแห่งการสมาทานเหล่านั้น ฉะนั้น การสมาทานเหล่านั้นจึงชื่อว่า ธุตังคะ อีกนัยหนึ่ง การสมาทานเหล่านั้นได้ชื่อว่า ธุระ เพราะเป็นเครื่องกำจัดซึ่งธรรมอันเป็นข้าศึก และเป็นเหตุแห่งสัมมาปฏิบัติด้วย ฉะนั้น การสมาทานเหล่านั้น จึงชื่อว่า ธุตั้งคะ ก็เมื่อการสมาทานเหล่านี้จะพึงเป็นองค์ของภิกษุใด ภิกษุนั้นเป็นผู้ชื่อว่ากำจัดอะไร ๆ ด้วยอกุศลก็หามิได้ ด้วยว่าอกุศลย่อมกำจัดบาปอะไร ๆ ไม่ได้ เพราะคำอธิบายว่า อกุศลนั้นเป็นองค์แห่งการสมาทานเหล่าใด ก็จะพึงเรียกการสมาทานเหล่านั้นว่าธุตังคะไปเสีย ที่แท้อกุศลย่อมกำจัดกิเลสมีความละโมบในจีวรเป็นต้นไม่ได้ เป็นองค์แห่งสัมมาปฏิบัติก็ไม่ได้ เพราะเหตุฉะนั้น คำว่า ธุดงค์ที่จัดเป็นอกุศลหามีไม่ นี้เป็นอันกล่าวชอบแล้ว

อนึ่ง แม้ความพิรุธจากพระบาลีก็จะถึงแก่ภิกษุเหล่านั้นว่า ธุดงค์แม้ของภิกษุเหล่าใด ซึ่งพ้นไปจากกุสลติกะ ธุดงค์ของภิกษุเหล่านั้นนั่นแหละ ย่อมไม่มีโดยความหมาย สิ่งที่ไม่มีความหมายจักชื่อว่า ธุตังคะ เพราะกำจัดสิ่งอะไรเล่า ผู้บำเพ็ญธุดงค์ย่อมจะสมาทานเอาธุตคุณไปประพฤติปฏิบัติอยู่ เพราะฉะนั้น คำของภิกษุเหล่านั้น (หมายเอาทรรศนะของพวกภิกษุชาววัดอภัยคีรี) ไม่ควรถือเอาเป็นประมาณ พรรณนาโดยความเป็นกุสลติกะ อันเป็นประการแรกในคาถานี้ ยุติเพียงเท่านี้