วันพฤหัสบดี

วินิจฉัยโดยแยกเป็นคำ ๆ มีคำว่าธุตะเป็นต้น

วินิจฉัยโดยแยกเป็นคำ ๆ

ในข้อว่า โดยแยกออกเป็นคำ มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ นักศึกษาพึงเข้าใจคำเหล่านี้คือ ธุตะ ๑ ธุตวาทะ ๑ ธุตธรรม ๑ ธุตังคะ ๑ การเสพธุดงค์เป็นที่สบายแก่บุคคลชนิดไร ๑

ธุตะ
ในคำเหล่านั้น คำว่า ธุตะ หมายเอาบุคคลผู้มีกิเลสอันกำจัดแล้ว อีกอย่างหนึ่ง หมายเอาธรรมอันเป็นเครื่องกำจัดซึ่งกิเลส

ธุตวาทะ
ก็แหละ ในคำว่า ธุตวาทะ นี้ มีอรรถาธิบายดังนี้ คือ บุคคลมีธุตะแต่ไม่มีธุตวาทะ ๑ บุคคลไม่มีธุตะแต่มีธุตวาทะ ๑ บุคคลไม่มีทั้ง ธุตะทั้งธุตวาทะ ๑ บุคคลมีทั้งธุตะทั้งธุตวาทะ๑ ในบุคคล ๔ จำพวกนั้น บุคคลใดกำจัดกิเลสของตนได้ด้วยธุดงค์ แต่ไม่โอวาท ไม่อนุสาสน์บุคคลอื่นด้วยธุดงค์ เหมือนอย่างพระพากุลเถระบุคคลนี้ชื่อว่า ผู้มีธุตะแต่ไม่มีธุตวาทะ สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า ท่านพากุละนี้นั้น เป็นผู้มีธุตะแต่ไม่มีธุตวาทะ แหละบุคคลใดมิได้กำจัดกิเลสของตนด้วยธุดงค์ย่อมโอวาทย่อมอนุสาสน์บุคคลอื่นด้วยธุดงค์แต่อย่างเดียว เหมือนอย่างพระอุปนันทเถระ บุคคลนี้ชื่อว่าไม่มีธุตะ แต่มีธุตวาทะ สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า ท่านอุปนันทะผู้ศากยบุตรนี้นั้น เป็นผู้ไม่มีธุตะแต่มีธุตวาทะ

บุคคลใดวิบัติจากธุตะและธุตวาทะทั้งสองอย่าง เหมือนอย่างพระโลสุทายี บุคคลนี้ชื่อว่า ผู้ไม่มีทั้งธุตะทั้งธุตวาทะ สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า พระโลพุทายีนั้นเป็นผู้ไม่มีทั้งธุตะทั้งธุตวาทะนั่นเทียว แหละบุคคลใดสมบูรณ์ด้วยธุตะและธุตวาทะทั้งสอง เหมือนอย่างพระธรรมเสนาบดีสารีปุตตะ บุคคลนี้ชื่อว่า มีทั้งธุตะมีทั้งธุตวาทะนั่นเทียว สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า ท่านสารีปุตตะนี้นั้น เป็นผู้มีทั้งธุตะมีทั้งธุตวาทะ

ธุติธรรม
คำว่า พึ่งเข้าใจธุตธรรม นั้น มีอรรถาธิบายว่า ธรรม ๕ ประการ อันเป็นบริวารแห่งธุตังคเจตนาเหล่านี้ คือ ความมักน้อย ๑ ความสันโดษ ๑ ขัดเกลา ๑ ความสงัด ๑ ความต้องการด้วยกุศลนี้ (อิทมตฺถิตา) ๑ ชื่อว่า ธุตธรรม ทั้งนี้ เพราะมีพระบาลีรับรองว่า "เพราะอาศัยความเป็นผู้มีความมักน้อยนั้นเที่ยว" ในธุตธรรม ๕ ประการนั้น

ความมักน้อยกับความสันโดษ สงเคราะห์เป็นอโลภะ
ความขัดเกลากับความสงัดคล้อยไปในธรรม ๒ อย่าง คือ อโลภะและอโมหะ
ความต้องการด้วยกุศลนี้ จัดเป็นตัวญาณโดยตรง

แหละในอโลภะและอโมหะนั้น โยคีบุคคลย่อมกำจัดความโลภในวัตถุที่ต้องห้ามทั้งหลายได้ด้วยอโลภะ ย่อมกำจัดความหลงอันปกปิดโทษในวัตถุที่ต้องห้ามนั้นแลได้ด้วยอโมหะ อนึ่ง โยคีบุคคลย่อมกำจัดกามสุขัลลิกานุโยค คือการประกอบตนในกามสุข อันเป็นไปโดยมุข คือการเสพวัตถุที่ทรงอนุญาตแล้วด้วยอโลภะ ย่อมกำจัดอัตตา กิลมถานุโยคคือการประกอบตนให้ลำบาก อันเป็นไปโดยมุข คือความขัดเกลาอย่างเคร่งเครียดในธุดงค์ทั้งหลายด้วยอโมหะ เพราะเหตุดังนั้น ธรรมเหล่านี้นักศึกษาพึงทราบว่าคือ ธุตธรรม

ธุตังคะ
คำว่า พึงเข้าใจธุตังคะ นั้น มีอรรถาธิบายว่า นักศึกษาพึงทราบว่า ธุตังคะ คือธุดงค์ มี ๑๓ ประการ คือ ปังสุกูลกังคะ ๑ เตจีวริกังคะ ๑ ปิณฑบาติกังคะ ๑ สปทานจาริกังคะ ๑ เอกาสนิกังคะ ๑ ปัตตปิณฑิกังคะ ๑ ขลุปัจฉาภัตติกังคะ ๑ อารัญญิกังคะ ๑ รุกขมูลกังคะ ๑ อัพโภกาสิกังคะ ๑ โสสานิกังคะ ๑ สันถติกังคะ ๑ เนสัชชิกังคะ ๑ ธุตังคะทั้ง ๑๓ ประการนี้ ได้อรรถาธิบายโดยอรรถวิเคราะห์และโดยลักษณะเป็นต้นมาแล้วในตอนต้น ในที่นี้จึงไม่อธิบายซ้ำอีก

การเสพธุดงค์เป็นที่สบายแก่บุคคลชนิดไร
คำว่า การเสพธุดงค์เป็นที่สบายแก่บุคคลชนิดไร นั้น มีอรรถาธิบายว่า การเสพธุดงค์เป็นที่สบายแก่บุคคลที่เป็นรากจริตกับโมหจริต

เพราะเหตุไร ? เพราะการเสพธุดงค์เป็นข้อปฏิบัติที่ลำบากและเป็นการอยู่อย่างขัดเกลากิเลส จริงอยู่ ราคะย่อมสงบลงเพราะอาศัยการปฏิบัติลำบาก ผู้ไม่ประมาทย่อมละโมหะได้เพราะอาศัยความขัดเกลากิเลส อีกประการหนึ่ง ในบรรดาธุดงค์เหล่านี้ การเสพอารัญญิกังคธุดงค์กับรุกขมูลกังคาธุดงค์ ย่อมเป็นที่สบายแม้สำหรับบุคคลที่เป็นโทสจริตด้วย เพราะว่าเมื่อโยคีบุคคลอยู่อย่างที่ไม่ถูกกระทบกระทั่งในป่าหรือที่โคนไม้นั้น แม้โทสะก็ย่อมสงบลงเป็นธรรมดา

พรรณนาความโดยแยกออกเป็นคำ ๆ มีคำว่าธุตะเป็นต้น ยุติลงเพียงเท่านี้



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น