๑๐. ปริจฉินนากาสกสิณภาวนา

แม้ในปริจฉินนากาสกสิญภาวนานี้ เพราะมีคำพระบาลีในโบราณอรรถกถาว่า เมื่อโยคีบุคคลจะถือเอาซึ่งอากาสกสิณโดยภาวะเป็นอุคคหนิมิตนั้น ย่อมถือเอาซึ่งนิมิตในที่ว่าง ๆ คือที่รูฝาบ้าง ที่รูลูกดานบ้าง ที่ช่องหน้าต่างบ้าง ดังนี้ ฉะนั้นสำหรับโยคีบุคคลผู้มีบุญญาธิการอันได้สร้างสมอมรมมาแล้วแต่ในชาติปางก่อน เพียงแต่ที่ได้เห็นรูฝาเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง อุคคหนิมิตย่อมเกิดขึ้นในทันที


วิธีภาวนาอากาสกสิณ
สำหรับโยคีบุคคลผู้ไม่มีบุญญาธิการเช่นนั้น ต้องเจาะที่หลังคาปะซึ่งมุงอย่างสนิท หรือเจาะช่องที่ผืนหนังและที่เสื่อลำแพนเป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง ให้เป็นช่องกว้างประมาณ ๑ คืบ ๔ นิ้ว แล้วจึงลงมือภาวนาซึ่งช่องนั้นนั่นแหละ หรือช่องชนิดอื่นอันต่างด้วยช่องฝาเป็นต้น ด้วยบทภาวนาว่า อากาโส-อากาโส หรือว่า ที่ว่าง ที่ว่าง ดังนี้เรื่อย ๆ ไป ในอากาสกสิณภาวนานี้ อุคคหนิมิตย่อมปรากฏ เป็นเหมือนช่องที่กำหนดด้วยที่สุดรอบของฝา และอุคคหนิมิตแม้จะขยายก็ขยายไม่ได้เพราะภาวนายังมีกำลังน้อยอยู่ ส่วนปฏิภาคนิมิตย่อมปรากฏเป็นสภาพคล้ายดวงกลมของช่องว่างนั้น และเมื่อขยายก็ขยายได้ คำที่เหลือนักศึกษาพึงทราบโดยนัยที่ได้พรรณนาไว้ใน🔎ปฐวีกสิณนั้นทุกประการ


จบปริจฉินนากาสกสิณ




๙. อาโลกกสิณภาวนา

ก็แหละ ในอาโลกกสิณภาวนานี้ เพราะมีคำพระบาลีในโบราณอรรถกถาว่า เมื่อโยคีบุคคลจะถือเอาอาโลกกสิณโดยภาวะเป็นอุคคหนิมิตนั้น ย่อมถือเอานิมิตในแสงสว่าง คือ ที่ฝาบ้าง ที่รูลูกดานบ้าง ที่ช่องหน้าต่างบ้าง ฉะนี้ ดังนั้นสำหรับโยคีบุคคลผู้มีบุญญาธิการอันได้สร้างสมอบรมมาแต่ในชาติปางก่อนนั้น เพียงแต่ได้เห็นดวงกลม ໆ ที่แสงพระอาทิตย์หรือแสงพระจันทร์ส่องฉายเข้าไปตามรูฝาเป็นต้นแล้วปรากฏติดอยู่กับฝาหรือที่พื้นนั้น ๆ หรือดวงกลม ๆ ที่แสงพระอาทิตย์หรือแสงพระจันทร์ส่องทะลุออกมาตามหว่างกิ่งไม้ที่มีใบหนาทึบหรือตามหว่างปะรำที่มุงด้วยกิ่งไม้อย่างหนาทึบ แล้วมาปรากฏติดอยู่กับพื้นนั้นนั่นแหละ อุคคหนิมิตย่อมเกิดขึ้นได้ในทันที

วิธีภาวนาอาโลกกสิณ
ฝ่ายโยบุคคลผู้ไม่มีบุญญาธิการเช่นนั้น ต้องลงมือภาวนาซึ่งดวงกลมของแสงสว่างซึ่งมีประการดังกล่าวแล้วนั้น ด้วยคำภาวนาว่า โอภาโส-โอภาโส หรือว่า แสงสว่าง - แสงสว่าง ดังนี้ก็ได้ หรือว่า อาโลโก-อาโลโก ความสว่าง - ความสว่าง ดังนี้ก็ได้ ภาวนาเรื่อย ๆ ไป จนกว่าอุคคหนิมิตจะเกิดขึ้น แต่เมื่อโยคีบุคคลไม่สามารถจะทำให้อุคคหนิมิตเกิดขึ้นด้วยวิธีภาวนาซึ่งดวงกลมแห่งแสงสว่างเช่นนั้น พึงจุดตะเกียงใส่ไว้ในหม้อแล้วปิดปากหม้อเสีย เจาะรูที่ข้างหม้อแล้วเอาไปตั้งหันหน้ารูนั้นเข้าใส่ฝา แสงสว่างของตะเกียงก็จะส่องออกจากรูหม้อนั้นไปติดเป็นรูปวงกลมอยู่ที่ฝา โยคีบุคคลพึงภาวนาซึ่งดวงกลมนั้นนั่นแลว่า อาโลโก อาโลโก หรือว่า ความสว่างความสว่าง ดังนี้เรื่อย ๆ ไป ดวงกลมของแสงตะเกียงนี้ย่อมตั้งอยู่ได้นาน มากกว่าดวงกลมของแสงพระอาทิตย์หรือแสงพระจันทร์นั้น ในอาโลกกสิณภาวนานี้ อุคคหนิมิตย่อมปรากฏเป็นสภาพเหมือนกับดวงกลมซึ่งติดอยู่ที่ฝาหรือที่พื้นนั่นแล ส่วนปฏิภาคนิมิตย่อมปรากฏเป็นสภาพที่ใหญ่โตและสดใสมาก คล้าย ๆ กับก้อนแห่งแสงสว่าง คำที่เหลือเป็นเช่นเดียวกับที่ได้พรรณนามาแล้วใน🔎นีลกสิณแล

คำแนะนำเพิ่มเติม
คำภีร์วิสุทธิมรรคนี้พระพุทธโฆสเถระ ท่านรจนาขึ้นก่อนที่โลกนี้จะมีไฟฟ้าใช้ราว ๑,๐๐๐ ปี ดังนั้นในยุคปัจปัจจุบันนี้ ท่านโยคาวจรทั้งหลายจะพึงใช้แสงจากไฟฉาย หรือใช้กระป๋องน้ำเจาะรูนำมาครอบหลอดไฟ, โคมไฟ เพื่อใช้แสงกำหนดกรรมฐานแทนก็ได้ 

จบอาโลกกสิณ



๘. โอทาตกสิณภาวนา

แม้ในโอทาตกสิณภาวนานี้ เพราะคำพระบาลีในโบราณอรรถกถาว่าเมื่อโยคีบุคคลจะถือเอาโอทาตกสิณโดยภาวะเป็นอุคคหนิมิตนั้น ย่อมถือเอานิมิตในวัตถุ ที่มีสีขาว คือ ในดอกไม้บ้าง ในผ้าบ้าง ในธาตุที่เป็นสีโดยธรรมชาติบ้าง ดังนี้ สําหรับโยคีบุคคลผู้มีบุญญาธิการอันได้สร้างสมอบรมมาแต่ชาติปางก่อนนั้น เพียงแต่ได้เห็นพุ่มไม้ดอกซึ่งกำลังมีดอกบานสะพรั่งอยู่เห็นปานนั้น หรือเห็นเครื่องตกแต่งด้วยดอกไม้ เช่น ดอกมะลิ เป็นต้น หรือเห็นกองแห่งดอกบัวขาว หรือเห็นผ้าขาว และสีขาวธรรมชาติ อย่างใดอย่างหนึ่ง อุคคหนิมิตย่อมเกิดขึ้น แม้ในแผ่นกลมแห่งดีบุก แผ่นกลมแห่งเงินและในดวงจันทร์อุคคหนิมิตก็เกิดขึ้นได้เหมือนกันนั่นเทียว

วิธีภาวนาโอทาตกสิณ
สําหรับโยคีบุคคลผู้ไม่มีบุญญาธิการนั้น ต้องสร้างกสิณขึ้นเอง คือ เอาดอกไม้สีขาวซึ่งมีประการดังกล่าวมาแล้ว เอาผ้าขาว หรือเอาสีขาวธรรมชาติ มาทำให้เป็นดวงกสิณตามนัยดังที่ได้พรรณนามาแล้วในนีลกสิญภาวนานั่นแล ครั้นทำกสิณเสร็จแล้วจึงลงมือภาวนา คือ ยังมนสิการให้เป็นไปว่า โอทาตํ - โอทาตํ หรือว่า สีขาว -สีขาว ดังนี้เรื่อย ๆ ไปร้อยครั้ง หรือพันครั้ง หรือมากกว่านั้น ทั้งนี้ จนกว่าอุคคหนิมิตจะเกิดขึ้นนั่นเทียว คำที่เหลือเช่นเดียวกับที่ได้พรรณนามาแล้วในนี้ลูกสิณทุกประการ

คำแนะนำเพิ่มเติม
ในบรรดากสิณสีทั้ง ๔ กองนี้ มี 🔎นีลกสิณ (กสิณสีเขียว) 🔎ปีตกสิณ (กสิณสีเหลือง) 🔎โลหิตกสิณ (กสิณสีแดง) โอทาตกสิณ (กสิณสีขาว) พระพุทธองค์ทรงยกย่องโอทาตกสิณ กสิณสีขาวนี้ว่าเลิศกว่ากสิณสีอื่นๆ เพราะทำให้จิตใจของผู้ที่เจริญกสิณนั้นผ่องใส ไม่เซื่องซึมง่วงเหงา ทั้งยังทำให้ผู้เจริญกสิณนี้ทราบเหตุการณ์ต่างๆคล้ายผู้ทรงอภิญญาทั้งที่ยังไม่ได้อุคคหนิมิต

จบโอทาตกสิณ

๗. โลหิตกสิณภาวนา

แม้ในโลหิตกสิณภาวนาก็มีนัยเช่นเดียวกันนั่นแล เพราะเหตุที่ท่านโบราณอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ว่า เมื่อโยคีบุคคลจะถือเอาโลหิตกสิณโดยภาวะเป็นอุคคหนิมิตนั้น ย่อมถือเอานิมิตในวัตถุที่มีสีแดง คือ ในดอกไม้บ้าง ในผ้าบ้าง ในธาตุที่เป็นสีโดยธรรมชาติบ้าง ดังนี้ ฉะนั้น แม้ในโลหิตกสิณภาวนานี้ สำหรับโยคีบุคคลผู้มีบุญญาธิการอันได้สร้างสมอบรมมาแต่ในชาติปางก่อนนั้น เพียงแต่ได้เห็นกอไม้ดอกซึ่งกำลังออกดอกบานสะพรั่ง เช่น ดอกชบาเป็นต้นเห็นปานนั้น หรือเห็นเครื่องตกแต่งดอกไม้ในที่บูชาหรือเห็นสีธรรมชาติ คือ ผ้าและแก้วสีแดง อย่างใดอย่างหนึ่ง อุคคหนิมิตย่อมเกิดขึ้น

วิธีภาวนาโลหิตกสิณ
สําหรับโยคีบุคคลผู้ไม่มีบุญญาธิการนั้นต้องสร้างกสิณขึ้นเอง คือ เอาดอกไม้เช่นดอกชัยพฤกษ์ ดอกชบา และดอกไม้ที่มีสีแดง หรือเอาผ้าแดง หรือเอาสีธรรมชาติ เช่น ดินสอแดงหรือสีแดงชาดมาทำเป็นดวงกสิณ โดยนัยดังที่ได้แสดงไว้ใน🔎นีลกสิณภาวนานั่นแล ครั้นทำกสิณเสร็จแล้ว แต่นั้นจึงลงมือภาวนา คือ ยังมนสิการให้เป็นไปว่า โลหิตกํ โลหิตกํ หรือว่า สีแดง สีแดง ดังนี้เรื่อย ๆ ไป จนกว่าอุคคหนิมิตจะเกิดขึ้น คำที่เหลือเป็นเช่นเดียวกับที่ได้พรรณนามาแล้วใน🔎ปฐวีกสิณทุกประการนั่นแล

จบโลหิตกสิณ

๖. ปีตกสิณภาวนา

แม้ในปีตกสิณภาวนาก็มีนัยเช่นเดียวกันนี้ เพราะเหตุที่ท่านโบราณอรรถกถาจารย์แสดงไว้ว่า โยคีบุคคลเมื่อจะถือเอาปิตกสิณ โดยภาวะเป็นอุคคหนิมิตนั้นย่อมถือเอานิมิตในวัตถุมีสีเหลือง คือในดอกไม้บ้าง ในผ้าบ้าง ในธาตุที่เป็นสีธรรมชาติบ้าง ฉะนั้น แม้ในปีตกสิณภาวนานี้ สำหรับโยคีบุคคลผู้มีบุญญาธิการ อันได้สร้างสมอบรมมาแต่ชาติปางก่อนนั้น เพียงแต่ได้เห็นกอไม้ดอกซึ่งมีดอกบานสะพรั่งเห็นปานนั้น หรือเห็นที่ตกแต่งดอกไม้ในที่บูชา หรือเห็นผ้าหรือธาตุสีเหลือง อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น อุคคหนิมิตย่อมเกิดขึ้น เหมือนอย่างที่เกิดขึ้นแก่ท่านจิตตคุตตเถระ ได้ยินว่า เมื่อท่านจิตตคุตตเถระนั้นเห็นอาสนะบูชาที่ทำด้วยดอกจันทน์เหลืองในวัดจิตดลบรรพตวิหาร อุคคนิมิตประมาณเท่ากับอาสนะบูชาได้เกิดขึ้นแล้วแก่ท่านพร้อมกับการที่ได้เห็นนั่นเที่ยว

วิธีทำปีตกสิณ
สําหรับโยคีบุคคลผู้ไม่มีบุญญาธิการนั้น จึงสร้างดวงกสิณขึ้นด้วยดอกกรรณิการ์หรือด้วยผ้าสีเหลืองหรือด้วยธาตุสีธรรมชาติ โดยนัยดังที่ได้แสดงมาแล้วใน🔎นีลกสิณภาวนา นั่นแล แต่นั้นจึงลงมือภาวนา คือ ยังมนสิการให้เป็นไปว่า ปีตกํ ปีตกํ หรือว่า สีเหลือง สีเหลือง ฉะนี้ คำที่เหลือเป็นเช่นเดียวกับที่ได้พรรณนามาแล้วใน🔎ปฐวีกสิณทุกประการนั่นแล

จบปีตกสิณ



๕. นีลกสิณภาวนา

ก็แหละ ลำดับต่อจาก🔎วาโยกสิณภาวนานั้น เพราะมีคำพระบาลีของโบราณอรรถกถาอยู่ว่า โยคีบุคคลเมื่อจะถือเอานีลกสิณ โดยภาวะเป็นอุคคหนิมิตนั้นย่อมถือเอานิมิตในวัตถุมีสีเขียว คือ ในดอกไม้บ้าง ในผ้าบ้าง ในธาตุที่เป็นสีธรรมชาติบ้าง ดังนี้ สําหรับโยคีบุคคลผู้มีบุญญาธิการอันได้สร้างสมอบรมมาแล้วแต่ชาติปางก่อนนั้นเพียงแต่ได้เห็นกอดอกไม้ซึ่งมีดอกบานสะพรั่งเห็นปานนั้น หรือเห็นที่ตกแต่งดอกไม้ ณ สถานที่บูชา หรือเห็นผ้าเขียวและแก้วเขียวอย่างใดอย่างหนึ่ง อุคคหนิมิตย่อมเกิดขึ้นได้

วิธีทำนีลกสิณ
สําหรับโยคีบุคคลผู้ไม่มีบุญญาธิการนั้น ต้องทำกสินขึ้นเอง ต้องไปเก็บเอาดอกไม้ เช่น ดอกบัวเขียว และดอกกรรณิการ์เขา เป็นต้น เอามาจัดใส่ให้เต็มตะกร้าหรือฝาสมุกพอเสมอขอบปาก เอาแต่กลีบดอกล้วน ๆ โดยที่ไม่ให้มีเกสร หรือก้านปรากฏให้เห็นเลย อีกอย่างหนึ่ง จึงเอาผ้าสีเขียวมาม้วนให้เป็นห่อแล้ว บรรจุใส่
ให้เต็มเสมอขอบปากของตะกร้าหรือฝาสมุกนั้น หรือเอาผ้าสีเขียวนั้นมาผูกขึงที่ปากขอบของตะกร้าหรือฝาสมุกนั้นให้ตึงเหมือนอย่างหน้ากลองก็ได้ อีกแบบหนึ่ง จึงเอาธาตุสีธรรมชาติอย่างหนึ่งอย่างใดในบรรดาสีเขียวสัมฤทธิ์ สีเขียวใบไม้ และสีเขียวดอกอัญชัญ มาทาทำเป็นดวงกสิณ ชนิดที่เคลื่อนที่ได้หรือชนิดที่ติดอยู่กับฝา แล้วทาตัดด้วยสีที่ไม่กลืนกัน โดยทำนองดังที่แสดงมาแล้วใน🔎ปฐวีกสิณนั่นแลไม้เหล่านี้มีดอกสีเขียวแก่หรือสีฟ้าโดยธรรมชาติ

วิธีภาวนานีลกสิณ
ครั้นทำกสิณเสร็จแล้ว แต่นั้นโยคีบุคคลพึงลงมือภาวนา คือ ยังมนสิการให้เป็นไปว่า นีล - นีล หรือว่า สีเขียว สีเขียว ฉะนี้ โดยนัยดังที่ได้แสดงไว้ในปฐวีกสิณ แม้ในนีลกสิณภาวนานี้ ในขั้นอุคคหนิมิต โทษแห่งกสิณยังปรากฏให้เห็นอยู่ คือ เกสร ก้าน และระหว่างกลีบเป็นต้นย่อมปรากฏ ส่วนปฏิภาคนิมิตพ้นไปจากโทษกสิณย่อมปรากฏ เป็นเช่นกับตาลปัตรแก้วมณีที่อยู่กลางแจ้ง คำที่เหลือนักศึกษาจึงทราบโดยนัยที่ได้พรรณนามาแล้วข้างต้นนั่นเทียว

จบนีลกสิณ


๔. วาโยกสิณภาวนา

🙏 ๔. วาโยกสิณภาวนา

แม้โยคีบุคคลผู้ประสงค์จะภาวนาซึ่งวาโยกสิณกัมมัฏฐานนั้น จึงพยายามจับเอาซึ่งนิมิตในลม ก็แหละ นิมิตนั้นจะพึงจับเอาได้ด้วยสามารถที่ได้เห็นหรือได้ถูกต้อง เพราะเหตุที่ท่านอรรถกถาจารย์แสดงไว้ในคัมภีร์อรรถกถาทั้งหลายว่า โยคีบุคคลเมื่อจะถือเอาวาโยกสิณ โดยภาวะเป็นอุคคหนิมิตนั้น ย่อมถือเอานิมิตในลม คือ ย่อมกำหนดยอดอ้อยที่ลมพัดเอนไป เอนราบไปพร้อม ๆ กัน หรือกำหนดยอดไผ่ที่ลมพัดเอนไป เอนราบไปพร้อม ๆ กัน หรือกำหนดยอดไม้ที่ลมพัดเอนไป เอนราบไป หรือกําหนดปลายผม ลมพัดให้ล้มลงให้ล้มราบลง หรือกำหนดตรงที่ลมมาถูกต้องกาย ฉะนั้น โยคีบุคคลครั้นได้เห็นอ้อยหรือไผ่หรือต้นไม้ซึ่งมีใบหนาขึ้นอยู่อย่างมียอดเสมอกัน ถูกลมพัดอยู่ก็ดี หรือได้เห็นศีรษะของบุรุษผู้มีผมดกยาวประมาณ ๔ องคุลี ถูกลมพัดอยู่ก็ดี จึงตั้งสติไว้ว่า ลม ย่อมพัดถูก ณ ที่ตรงนั้นหรือพึ่งตั้งสติไว้ตรงที่ที่ลมพัดเข้าทางช่องหน้าต่าง หรือทางรูฝาแล้วมากระทบประเทศของกายครั้นแล้วในบรรดาชื่อของลมทั้งหลาย เช่น วาโต, มารุโต, อนิล เป็นต้น ซึ่งภาวนาด้วยสามารถแห่งชื่อที่ปรากฏรู้จักกันเป็นส่วนมากเท่านั้นว่าวาโต - วาโต หรือว่า ลม ลม ดังนี้เรื่อย ๆ ไป



ลักษณะอุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิต
ในวาโยกสิณภาวนานี้ อุคคหนิมิตมีลักษณะคล้ายกับเกลียวไอของข้าวต้มที่ปลงลงจากเตาใหม่ ๆ ย่อมปรากฏเป็นสภาพเคลื่อนไหวได้ ส่วนปฏิภาคนิมิตเป็นสภาพสงบนิ่ง ไม่มีการเคลื่อนไหวเหมือนอุคคหนิมิต คำที่เหลือนักศึกษาพึงทราบโดยนัยที่ได้พรรณนามาแล้วใน 🔎ปฐวีกสิณภาวนานั้นนั่นเทียว

จบวาโยกสิณ

แสงธรรมนำทาง...

ธรรมสุตตะ | ศึกษาพระธรรมคำสอนตามพระไตรปิฎก © 2008. Template by Dicas Blogger.

กลับขึ้นด้านบน