แสดงโพสต์โดยจัดเรียงตามความเกี่ยวข้องกับคำค้นหา วิถีจิต จัดเรียงตามวันที่ แสดงโพสต์ทั้งหมด
แสดงโพสต์โดยจัดเรียงตามความเกี่ยวข้องกับคำค้นหา วิถีจิต จัดเรียงตามวันที่ แสดงโพสต์ทั้งหมด

วันศุกร์

มหาวิบากจิต ๘

วิบากจิต มีสภาพดังนี้ คือ : -

๑. ไม่ใช่เป็นจิตที่ต้องทำให้เกิดขึ้น ถ้ามีกุศลกรรม อกุศลกรรม เป็นเหตุแล้ววิบากจิต คือ ผล ก็ต้องมีแน่นอน
๒. วิบากจิต เป็นจิตที่สงบ ไม่ปรากฏอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นจิตที่ไม่มีความขวนขวาย หรือวิริยะ อุตสาหะ ยังมีกำลังอ่อน ต่างกับกุศล อกุศล และกิริยา
๓. วิบากจิต ไม่ปรากฏชัด ที่รู้สึกปรากฏชัดเฉพาะขณะหลับ ส่วนเวลาตื่น จิตขึ้นสู่วิถี เป็นกุศลบ้าง อกุสลบ้าง กิริยาบ้าง ย่อมเด่นชัดมากกว่าวิบากจิต
๔. เจตสิกที่เกิดกับวิบากจิต ก็มีกำลังอ่อนไปด้วย รวมทั้งปฏิสนธิ กัมมชรูปและจิตชรูป ที่เกิดจากวิบากจิตนั้น ก็ไม่ปรากฏอาการอย่างใดอย่างหนึ่งชัดเจนเหมือนกุศลจิต อกุศลจิต และกิริยาจิต เช่น ความชรา ย่อมเกิดแก่บุคคลทุกคน เมื่อความเกิดมีแล้ว ความชราจะต้องมีแน่นอน

🔅สเหตุกกามาวจรวิบากจิต (มหาวิบาก)

สเหตุกามาวจรวิบากจิต นิยมเรียกกันว่า กามาวจรวิบาก หรือมหาวิบากเพราะเป็นจิตที่เป็นผลของกามาวจรกุศลจิต หรือ มหากุศลจิต ๘ ดวงโดยตรง กล่าวคือ

มหากุศลจิต ๘ ดวง เป็นเหตุให้มหาวิบากจิตเกิด ๘ ดวง เป็นผล และย่อมให้ผลตรงกันดวงต่อดวง เช่น มหากุศลจิต เป็นโสมนัส ญาณสัมปยุต อสังขาริก ก็ให้ผลเป็น มหาวิบากโสมนัส ญาณสัมปยุต อสังขาริก ด้วยเหมือนกัน ดังนี้ เป็นต้น กามาวจรวิบากจิตนั้น เมื่อกล่าวโดยทั่วไปแล้ว ย่อมมี ๒๓ ดวง คือ

        กามาวจรวิบากจิต
                🅞 อเหตุกะ >> อกุศลวิบาก ๗ 
                                  >> กุศลวิบาก ๘ 
                🅞 สเหตุกะ >> กามาวจรวิบาก ๘

                      รวมเป็นจิตที่เกิด ๒๓ ดวง

ในกามาวจรวิบากจิต ๒๓ ดวงนั้น อกุศลวิบากจิต ๗ ดวง เป็นผลของอกุศลจิต ๑๒ ดวง อเหตุกกุศลวิบากจิต ๘ และสเหตุกกามาวจรวิบากจิต ๘ รวมจิต ๑๖ ดวงนี้ เป็นผลของกามาวจรกุศลจิต ๘ หรือที่เรียกว่า มหากุศลจิต ๘ ดวง เพราะเหตุที่ให้ผลมากกว่าตน เช่นนี้เอง แม้อเหตุกกุศลวิบากจิต และมหาวิบากจิต จะเนื่องแต่มหากุศลจิตอย่างเดียวกันก็ตาม แต่ความแตกต่างกันระหว่างอเหตุกกุศลวิบากจิต กับ มหาวิบากจิตย่อมมีอยู่เสมอ คือ

อเหตุกกุศลวิบากจิต คือ จิตที่เป็นผลของมหากุศล แต่ไม่ประกอบด้วยเหตุอย่างใด ๆ ประการหนึ่ง เมื่อเกิดขึ้นรับอารมณ์ก็ไม่มั่นคง ประการหนึ่ง และเกิดได้กว้างขวาง ทั้งในกามภูมิและรูปภูมิตามสมควร ประการหนึ่ง

มหาวิบากจิต คือ จิตที่เป็นผลของมหากุศลจิต แต่ประกอบด้วยเหตุประการหนึ่งเมื่อเกิดขึ้นรับอารมณ์ก็มั่นคง ประการหนึ่ง และเกิดได้เฉพาะในกามสุคติภูมิ ๗ เท่านั้นประการหนึ่ง

ฉะนั้น สเหตุกกามาวจรวิบากจิต หรือมหาวิบากจิต ที่จะกล่าวต่อไปนี้จึงหมายถึงจิตที่จะเป็นผลของมหากุศล เพราะเมื่อกล่าวโดยเวทนา สัมปโยคะ และสังขารแล้ว ก็เหมือนกันกับมหากุศลจิตทุกประการ จึงชื่อว่า "มหาวิบากจิต" สเหตุกกามาวจรวิบากจิตนี้ มีจำนวน ๘ ดวง และมีชื่อเหมือนกันกับมหากุศลจิต คือ 

๑. โสมนสุสสหคตํ ญาณสมฺปยุตตํ อสงฺขาริกํ มหาวิบากจิตดวงที่ ๑ เกิดขึ้นพร้อมกับความยินดี ประกอบด้วยปัญญา โดยไม่มีการชักชวน
๒. โสมนสุสสหคตํ ญาณสมฺปยุตตํ สสงฺขาริกํ มหาวิบากจิตดวงที่ ๒ เกิดขึ้นพร้อมกับความยินดี ประกอบด้วยปัญญา โดยมีการชักชวน
๓. โสมนสุสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตตํ อสงฺขาริกํ มหาวิบากจิตดวงที่ ๓ เกิดขึ้นพร้อมกับความยินดี ไม่ประกอบด้วยปัญญา โดยไม่มีการชักชวน
๔. โสมนสุสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตตํ สสงฺขาริกํ มหาวิบากจิตดวงที่ ๔ เกิดขึ้นพร้อมกับความยินดี ไม่ประกอบด้วยปัญญา โดยมีการชักชวน

๕. อุเบกขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตตํ อสงฺขาริกํ มหาวิบากจิตดวงที่ ๕ เกิดขึ้นพร้อมกับความรู้สึกเฉย ๆ ประกอบด้วยปัญญา โดยไม่มีการชักชวน
๖. อุเบกขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตตํ สสงฺขาริกํ มหาวิบากจิตดวงที่ ๖ เกิดขึ้นพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ ประกอบด้วยปัญญา โดยมีการชักชวน
๗. อุเบกขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตตํ อสงฺขาริกํ มหาวิบากจิตดวงที่ ๗ เกิดขึ้นพร้อมกับความรู้สึกเฉย ๆ ไม่ประกอบด้วยปัญญา โดยไม่มีการชักชวน
๘. อุเบกขาสหคตํญาณวิปฺปยุตตํ สสงฺขาริกํ มหาวิบากจิตดวงที่ ๘ เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ ไม่ประกอบด้วยปัญญา โดยมีการชักชวน

🔅 มหาวิบากเป็นอัพยากตธรรม

มหาวิบากที่เป็นอัพยากตธรรม คือ ในสมัยใด เพราะกามาวจรกุศล อันได้กระทำไว้แล้ว จึงก่อให้เกิดผลเป็นมโนวิญญาณธาตุ อันเป็นวิบาก เกิดพร้อมกับความยินดีบ้าง ความเฉยๆ บ้าง ประกอบด้วยปัญญาบ้าง ไม่ประกอบด้วยปัญญาบ้าง มีรูปารมณ์ หรือปรารภอารมณ์ใดๆ เกิดขึ้นเอง โดยไม่มีการชักชวน หรือมีการชักชวน เป็นมหาวิบากจิต ๘ ดวง

ในสมัยนั้น ย่อมเกิดผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรีย์มนสิการ สัทธา ฯลฯ เกิด อวิกเขป คือ สภาวะที่สงบอยู่ ไม่ฟุ้งซ่าน สภาวธรรมเหล่านั้น ชื่อว่าธรรมเป็นอัพยากต เพราะมีอัพยากตมูล คือ อโลภะ อโทสะ หรืออโมหะ เป็นมูลฐานให้สภาวธรรมเหล่านั้น ปรากฏขึ้น

🔅 มหาวิบากแตกต่างจากมหากุศล

มหาวิบากแตกต่างจากมหากุศล คือ ในมหากุศลทั้งหลาย มีความแตกต่างกันแห่งกรรม, ทวาร, กรรมบถและบุญกิริยาวัตถุ แต่ความแตกต่างกันเหมือนในมหากุศลนั้นไม่มีในมหาวิบาก ทั้งนี้ เพราะมหาวิบากไม่ยังวิญญัติให้เกิด เพราะมหาวิบากเป็นผลที่สุกแล้ว ไม่มีวิบากต่อไปอีก และเพราะมหาวิบากไม่ได้กระทำสัตวบัญญัติให้เป็นอารมณ์ คือ กรุณา มุทิตา และแม้วิรัติ คือ สัมมากัมมันตะ สัมมาวจาและสัมมาอาชีวะ ไม่มี ธรรมทั้ง ๕ ประการดังกล่าวนั้น จึงเกิดกับมหาวิบากจิตไม่ได้เลย ส่วนสภาวะแห่งสังขารธรรมนั้น คือ ประเภทแห่งอสังขาริกและสสังขาริกเหมือนกันกับมหากุศลทุกประการ

🔅 ฐานะที่อำนวยผลของมหาวิบาก

มหาวิบากจิตทั้ง ๘ ดวงนั้น ย่อมอำนวยผลในฐานะ ๔ ประการ คือ

ในฐานะที่เกิดขึ้นครั้งแรกในภพใหม่ เรียกว่า ปฏิสนธิกิจ
ในฐานะที่รักษาภพชาติที่ดำรงอยู่นั้นไว้ เรียกว่า ภวังคจิต
ในฐานะสิ้นไปจากภพชาตินั้น เรียกว่า จุติกิจ
ในฐานะหน่วงอารมณ์ที่เหลือจากการที่เสพแล้ว เรียกว่า ตทาลัมพนกิจ

 🅞 ฐานะผู้อำนวยผลเป็นปฏิสนธิกิจ ผู้ที่เคยทำบุญกุศล ทั้งชนิดที่ประกอบด้วยปัญญาก็ตาม อำนาจแห่งกุศลจิตดวงใดดวงหนึ่งใน ๘ ดวงนั้น ย่อมยังผลให้ปฏิสนธิเป็นมนุษย์ และเป็นเทวดา ชั้นกามาวจร ผู้ปฏิสนธิ คือ มหาวิบากจิต ๘ และกัมมชรูป
🅞 ฐานะอำนวยผลเป็นภวังค์กิจ เมื่อสัตว์ทั้งหลายผ่านการปฏิสนธิไปแล้ว ก็อำนวยผลเป็นภวังค์ ทำหน้าที่ในการรักษาภพชาติของมนุษย์ หรือเทวดาชั้นกามาวจรเหล่านั้นไว้ในปวัตติกาลตลอดอายุขัย ๗๕ ปีบ้าง ๑๐๐ ปีบ้าง ตามสมควรแก่อายุขัยแห่งสัตว์ในภพภูมิที่เป็นอยู่นั้น
🅞 ฐานะอำนวยผลเป็นตทาลัมพูนกิจ ยึดหน่วงอารมณ์ที่เหลือต่อจากขณะเสพอารมณ์นั้น ได้แก่ รับอารมณ์ที่เหลือต่อจากชวนจิตวิบากจิตที่จะอำนวยผลเป็นตทาลัมพนกิจนี้มีได้แต่เฉพาะกามสัตว์ที่ในกามภูมิ เท่านั้น คือ เป็นกามบุคคล มีกามอารมณ์ และกามชวนะ
🅞 ฐานะอำนวยผลเป็นจุติกิจ ในมรณกาลแห่งภพชาติที่เป็นอยู่นั้น มหาวิบากจิตที่ปรากฏครั้งแรกในภพชาตินั้นๆ และดำรงสืบต่อมาเรื่อยๆ จนถึงเวลาที่ต้องเคลื่อนไปจากภพชาติที่เป็นอยู่ ฉะนั้น มหาวิบากจิตประเภทเดียวกับที่ถือปฏิสนธินั่นเอง เป็นผู้จุดสิ้นไปจากภพชาตินั้น



ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า มหาวิบากทั้ง ๘ ดวงนี้ ย่อมเป็นผู้ตั้งต้นสัตว์ให้ปรากฏขึ้นใหม่ในกามสุคติภูมิ ๗ ตามสมควรแก่กำลังของมหากุศล ซึ่งทำให้สัตว์แตกต่างกันด้วยภูมิหรือกำเนิด และแม้อยู่ในภูมิเดียวกัน ก็ยังต่างกันด้วยอำนาจแห่งกิเลสและต่างกันด้วยอำนาจแห่งศรัทธา ปัญญาของกุศลเจตนาในอดีต อันยังเป็นวิบากที่ให้สัตว์เหล่านั้นพึงได้รับภายหลังจากที่ได้เกิดมาแล้ว สัตว์เหล่านี้ บางพวกมีโลภะเป็นส่วนมาก บางพวกมีโทสะเป็นส่วนมาก และบางพวกมีโมหะเป็นส่วนมาก ถ้าจะตั้งปัญหาถามว่า ธรรมอันใดเป็นผู้กำหนดภาวะที่เป็นส่วนข้างมาก ก็ให้ปรากฏเป็นผลขึ้นแก่สัตว์เหล่านั้น คำตอบ ก็คือ เพราะเหตุ ๖ ประการ คือ โลภะ โทสะ โมหะ หรือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ที่สัตว์เหล่านั้นได้กระทำไว้แล้วนั่นเอง เป็นผู้กำหนดให้ด้วยเหตุนี้ในขณะที่ขวนขวายประกอบกรรมในปัจจุบัน ความแตกต่างในการขวนขวายของบรรดาสัตว์เหล่านั้น ย่อมปรากฏเป็นผลที่แตกต่างกัน คือ 


  • ผู้ใด มีโลภะ อโทสะ อโมหะ แรง แต่อโลภะ โทสะ และโมหะอ่อน ผู้นั้นเป็นคนมักได้ ชอบสบาย มักไม่โกรธ แต่ย่อมเป็นผู้มีปัญญา
  • ผู้ใด มีโลภะ โทสะ และอโมหะ แรง แต่มีอโลภะ อโทสะ และโมหะอ่อน ย่อมเป็นคนมักได้และฉุนเฉียว แต่ย่อมเป็นผู้มีปัญญา
  • ผู้ใด มีโลภะ อโทสะ และโมหะ แรง ผู้นั้นย่อมเป็นผู้มักได้ โง่เขลาและชอบสบาย มักไม่โกรธง่าย
  • ผู้ใด มีโลภะ โทสะ โมหะ แรง ย่อมเป็นผู้มักได้ ฉุนเฉียวและลุ่มหลง
  • ผู้ใด มีอโลภะ โทสะ โมหะ แรง ผู้นั้นย่อมมักน้อย แต่เป็นผู้ฉุนเฉียว และมีปัญญาน้อย
  • ผู้ใด มีอโลภะ อโทสะ และโมหะ แรง ย่อมเป็นผู้มักน้อย ไม่ฉุนเฉียว และ เป็นคนเขลา
  • ผู้ใด มีอโลภะ โทสะ และอโมหะ แรง ผู้นั้นย่อมเป็นผู้มักน้อย และมีปัญญาแต่เป็นผู้ฉุนเฉียว มักโกรธ
  • ผู้ใด มือโลภะ อโทสะ และอโมหะ ทั้ง ๓ แรง ย่อมเป็นผู้ไม่มักได้ ไม่ฉุนเฉียวและมีปัญญา

ตามที่กล่าวมานี้ ย่อมเห็นได้ว่า เหตุเบื้องต้น ย่อมกำหนดผลให้ปรากฏขึ้นเพื่อเป็นอุปการะในการประกอบกรรมในปัจจุบัน ความต่างกัน จึงย่อมปรากฏขึ้นในขณะขวนขวายประกอบกรรมนั้น ๆ ภาวะที่ติดมาแต่อดีตนั้น จึงเข้าใจว่าเป็นวิบากนั่นเอง แต่การที่จะชี้เฉพาะเจาะจงลงไปว่า วิบากใด เป็นผลของกรรมอันไหน ได้ทำไว้แล้วเมื่อใด ย่อมไม่อาจชี้เจาะจงลงได้ และยิ่งกว่านั้น พระพุทธองค์ยังทรงแสดงไว้ในจตุกนิบาตอังคุตรพระบาลีว่า การค้นหาวิบากกรรมนั้น เป็นสิ่งไม่ควรคิดเพราะไม่ใช่วิสัยของผู้ใด เว้นแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะค้นคิดได้พระองค์ตรัสมีใจความว่า

“ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย สิ่งไม่ควรคิด ที่ชื่อว่า อจินไตยธรรม มีอยู่ ๔ ประการ และถ้ามีผู้ใดเอามาคิด ผู้นั้นอาจจะเป็นบ้า มีความลำบากใจเป็นแน่แท้ สิ่งที่ไม่ควรคิด ๔ อย่างนั้น คืออะไรบ้าง?

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

พุทธวิสัย คือ เรื่องเกี่ยวกับพระสัพพัญญุตญาณ ความเป็นไปและอานุภาพของพระสัพพัญญุตญาณ พระพุทธคุณแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นสิ่งที่ไม่ควรคิดอย่างหนึ่ง
ฌานวิสัย คือ ฌานอภิญญาแห่งท่านทั้งหลายผู้ทรงฤทธิ์ ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรคิดอย่างหนึ่ง
กรรมวิบาก คือ ผลแห่งกรรมทั้งหลาย มีทิฏฐธรรมเวทนียกรรมเป็นต้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรคิดอย่างหนึ่ง
โลกจินตา คือ ความเป็นไปของโลก อันเป็นที่อาศัยของสัตว์ และสัตว์ทั้งหลาย แผ่นดิน ภูเขา แม่น้ำ ต้นไม้ เป็นต้น เหล่านี้ ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรคิดอย่างหนึ่ง

ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่ไม่ควรคิด ๔ อย่าง ดังกล่าวนี้ ถ้าผู้ใดคิดผู้นั้นจะเป็นบ้า มีความลำบากใจเป็นแน่แท้ การที่พระพุทธองค์ได้ทรงห้ามคิดในเรื่องของวิบากไว้นั้น ก็เพราะสภาวะที่ปรากฏแก่สัตว์ทั้งหลายอยู่ตลอดเวลานั้น ย่อมจะห้ามวิบากไม่ให้เกิดไม่ได้ เพราะสัตว์ทั้งหลายย่อมเป็นผู้ประกอบกรรมให้เป็นไปตามกุศล อกุศลกรรมแห่งตน อันย่อมประพฤติเพื่อความหมุนเวียนเปลี่ยนไปในคติทั้ง ๕ ประการ ที่เรียกว่า "สมังคีตา" สมังคีตา ๕ หมายถึง กุศลกรรม หรืออกุศลกรรมที่สำเร็จลงได้ครั้งหนึ่ง ๆ นั้น ย่อมยังความพร้อมแห่งธรรม ๕ ประการให้เกิดขึ้น คือ

๑. อายุหนสมงฺคิตา ได้แก่ ความเพียร ในขณะกระทำกุศลกรรม อกุศลกรรม
๒. เจตนาสมงฺคิตา ได้แก่ เจตนาในกาลทั้ง ๓ คือ ปุพพเจตนา มุญจเจตนาและอปรเจตนา ในการกระทำกุศล อกุศลกรรม เจตนา สมังคีตานี้ มีในบุคคลทั่วไป เว้นแต่ในพระอรหันต์
๓. กมุมสมงฺคิตา ได้แก่ กุศลกรรม อกุศลกรรม อันเป็นเหตุที่จะก่อให้เกิดผลในอนาคต ครบองค์แห่งกรรมบถ
๔. วิปากสมงฺคิตา ได้แก่ ผลของกุศลกรรม อกุศลกรรมในอดีตที่ประกอบพร้อมด้วยกรรมในปัจจุบัน ถ้ายังไม่ถึงซึ่งพระนิพพานตราบใด ย่อมไม่แคล้วคลาดไปจากวิปากสมังคีตาอยู่ตราบนั้น คือ จะต้องรับผลของกรรมนั้นๆ
๕. อุปฎฐานสมงฺคิตา ได้แก่ กรรมอารมณ์ กรรมนิมิตอารมณ์ หรือคตินิมิตอารมณ์ที่ปรากฏขึ้นในเวลาใกล้จะตายอุปัฏฐานสมังคีตานี้มีกำลังอ่อนกว่าสมังคีทั้งปวงอำนาจของกรรมที่จะส่งผลย่อมกระทำอารมณ์ให้ปรากฏเมื่อใกล้ตาย

วันพฤหัสบดี

๒. เจตสิกกลุ่มที่ ๑

เจตสิกกลุ่มที่ ๑​ อัญญสมานเจตสิก มี ๑๓ ดวง แบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม คือ
ก. สัพพจิตตสาธารณเจตสิก มี ๗ ดวง​
ข. ปกิณณกเจตสิก มี ๖ ดวง
ก. สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ดวงได้แก่
๑. ผัสสเจตสิก
๒. เวทนาเจตสิก
๓. สัญญาเจตสิก
๔. เจตนาเจตสิก
๕. เอกัคคตาเจตสิก
๖. ชีวิตินทรีย์เจตสิก
๗. มนสิการเจตสิก

สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ดวง จะเข้าปรุงแต่งกับจิตทุกๆ ดวง สัพพจิตตสาธารณเจตสิกแต่ละดวงมีลักษณะดังนี้
๑. ผัสสเจตสิก เป็นธรรมชาติที่รับการกระทบ คือรับกระทบสิ่งที่มาปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ กล่าวคือ รับภาพที่มากระทบกับตา รับเสียงที่มากระทบกับหู รับกลิ่นที่มากระทบกับจมูก รับรสที่มากระทบกับลิ้น รับความเย็น-ร้อน อ่อน-แข็ง หย่อน-ตึงที่มากระทบกับกาย และรับเรื่องราวต่าง ๆ ที่มากระทบใจ เมื่อผัสสเจตสิกเกิดขึ้นแล้วทำให้มีการประชุมพร้อมกันของปัจจัยธรรมทั้ง ๓ ประการ คือ อารมณ์ วัตถุ และวิญญาณ ผัสสเจตสิกจึงมีหน้าที่เป็นตัวประสานระหว่างอารมณ์ วัตถุ และวิญญาณ ดังนี้
    ๑.๑ ประสาน อารมณ์ ๖ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เรื่องราวต่าง ๆ
    ๑.๒ ประสาน วัตถุ ๖ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
    ๑.๓ ประสาน วิญญาณ ๖ ได้แก่ ธรรมชาติที่เห็น ได้ยิน รู้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัส และความรู้สึกนึกคิด

ในมิลินทปัญหาได้เปรียบเทียบหน้าที่ของผัสสะไว้ว่า อุปมาเช่นแพะ ๒ ตัวชนกัน จักษุเหมือนแพะตัวที่หนึ่ง รูปเหมือนแพะตัวที่สอง ผัสสะเหมือนการชนกันของแพะทั้ง ๒ ตัว ผัสสะจึงมีการกระทบอารมณ์เป็นลักษณะ มีการประสานเป็นหน้าที่ ผัสสเจตสิกเมื่อเกิดขึ้นย่อมทำให้อารมณ์มาปรากฏเกิดขึ้น เป็นธรรมดาว่าเมื่อผัสสะไม่เกิดขึ้นการรับอารมณ์ก็ไม่มีตามไปด้วย เช่น มีภาพมากมายที่มีอยู่ด้านหลังของเรา แต่การรับอารมณ์คือภาพที่ตั้งอยู่ด้านหลังของเรานั้นย่อมไม่ปรากฏเลยเพราะผัสสะยังไม่เกิด(ตายังไม่กระทบ) ต่อเมื่อเราหันหน้าไปยังภาพนั้นและเห็นภาพนั้น ผัสสะย่อมเกิดขึ้นและนาอารมณ์คือภาพนั้นมาสู่การรับรู้ ฉะนั้นจึงกล่าวว่าผัสสเจตสิกเมื่อเกิดย่อมทำให้อารมณ์มาปรากฏเกิดขึ้น

๒. เวทนาเจตสิก เป็นธรรมชาติที่รับรู้รสแห่งอารมณ์ คือรับรู้ว่าเป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเป็นกลาง(อุเบกขา) คือไม่สุข ไม่ทุกข์ เวทนาที่จัดไว้ ๓ คือ สุข ทุกข์ อุเบกขา และเวทนาที่จัดไว้เป็น ๕ คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา โสมนัสเวทนา โทมนัสเวทนา อุเบกขาเวทนา อธิบายเวทนา ๕ ดังนี้สุขเวทนา คือ ความสบายทางกาย การได้รับกระทบกับโผฏฐัพพารมณ์(เย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง) ที่ดีพอเหมาะทาให้กายเป็นสุข มีความสบายทางกาย เช่น อยู่ในห้องปรับอากาศที่อุณหภูมิพอเหมาะสุขเวทนาทางกายก็เกิดขึ้นได้ทุกขเวทนา คือ ความไม่สบายทางกาย ได้รับกระทบกับโผฏฐัพพารมณ์ที่ไม่พอดีไม่เหมาะทาให้กายเป็นทุกข์โสมนัสเวทนา คือ ความสบายทางใจ ความสุขทางใจโทมนัสเวทนา คือ ความไม่สบายทางใจ ความทุกข์ทางใจอุเบกขาเวทนา คือ ความสบายทางใจก็ไม่ใช่ ความไม่สบายทางใจก็ไม่ใช่ เป็นการรับรสอารมณ์ที่ไม่ทุกข์ไม่สุขเป็นกลางๆ มีความสงบ ความสงบทางใจนี้ไม่มีปีติประกอบ พึงสังเกตว่าเมื่อรู้สึกเฉยๆ โดยที่ใจไม่มีปีติขณะนั้นใจเป็นอุเบกขา เกิดได้ทั้งกำลังทำกุศลและอกุศล เช่น รับประทานอาหารด้วยโลภะ รสชาติอาหารก็ไม่ได้ทำให้ชอบใจหรือไม่ชอบใจ ขณะนั้นจิตเป็นโลภะมีเวทนาเป็นอุเบกขา หรือการทำกุศล เช่น การใส่บาตรที่หน้าบ้านทุกวัน ซึ่งเป็นอารมณ์เดิมทุกๆ วัน บางครั้งจิตเป็นกุศลที่มีเวทนาเป็นอุเบกขา
สรุปว่า สุขเวทนาเกิดขึ้นประกอบกับจิตเพราะรับอารมณ์ที่ดี ทุกขเวทนาเกิดขึ้นประกอบกับจิตเพราะรับอารมณ์ที่ไม่ดี อุเบกขาเวทนาเกิดขึ้นประกอบกับจิตเพราะรับอารมณ์ที่เป็นกลางๆ

๓. สัญญาเจตสิก เป็นธรรมชาติที่จำ เช่น เด็กเล็ก จำ ก.ไก่ – ฮ.นกฮูก ผู้ใหญ่จำเรื่องราวต่างๆ ได้ เป็นต้น ทั้งคนและสัตว์จะจำใน ๖ สิ่ง คือ จำรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสและจำเรื่องราวที่คิดนึกทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

๔. เจตนาเจตสิก เป็นธรรมชาติที่ตั้งใจ หรือการประมวลกุศลกรรมและอกุศลกรรมเอาไว้แล้วกระทำออกมาทางกาย วาจา ใจ สำเร็จเป็นบุญบาป เจตนาที่ได้กระทำสำเร็จแล้วในกุศลและอกุศล จะส่งผลให้เมื่อตายไปก็จะต้องไปเสวยผลของกรรมที่ได้ทำไว้ คือ เจตนาในกุศลกรรมนำให้ได้เกิดเป็นมนุษย์ เทวดา เจตนาในอกุศลกรรมนำให้เกิดในอบายภูมิ เจตนาเจตสิกจึงได้ชื่อว่าเป็น กรรม คือ การกระทำดี หรือไม่ดี นั่นเอง

๕. เอกัคคตาเจตสิก เป็นธรรมชาติที่ทำจิตใจให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว อารมณ์มี ๖ เช่น รูปารมณ์ เป็นต้น เอกัคคตาเจตสิกจะทำให้จิตตั้งมั่นไม่ซัดส่ายไปในภาวะต่างๆ เปรียบเหมือนการดำรงอยู่แห่งเปลวไฟของดวงประทีปในที่สงัดลม

๖. ชีวิตินทรีย์เจตสิก เป็นธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงรักษานามธรรม คือจิตและเจตสิกให้มีชีวิตอยู่ได้ ชีวิตินทรีย์มีความเป็นใหญ่ในกระแสจิตที่เป็นไปต่อเนื่อง ประดุจน้ำหล่อเลี้ยงดอกบัว คำว่า “ชีวิต” มี ๒ อย่าง คือ ชีวิตนาม และ ชีวิตรูป ชีวิตนาม ได้แก่ ชีวิตินทรีย์เจตสิกนี้เอง ส่วนชีวิตรูปจะได้ศึกษาต่อไปในเรื่องรูปปรมัตถ์

๗. มนสิการเจตสิก เป็นธรรมชาติที่น้อมจิตใจไปสู่อารมณ์ มนสิการ มี ๓ อย่าง คือ
๗.๑ การน้อมไปในอารมณ์ ๕ มี รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เพื่อให้วิถีจิตเกิดขึ้นทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย คือ ปัญจทวารวิถี เรียกว่า วิถีปฏิปาทกมนสิการ
๗.๒ การน้อมไปในอารมณ์ที่เกิดทางใจ ซึ่งเรียกว่า ธัมมารมณ์ เพื่อให้วิถีจิตเกิดขึ้นทางใจ คือ มโนทวารวิถี เรียกว่า ชวนปฏิปาทกมนสิการ
๗.๓ ทำให้อารมณ์เป็นไป หมายความว่า ทำให้เกิดกระแสจิตเป็นไปต่อเนื่องนับตั้งแต่เกิด คือ เมื่อไม่มีอารมณ์อื่นที่ชัดเจนกว่ามาปรากฏ ก็ทำให้เกิดกระแสจิตในอารมณ์เก่าได้ เรียกว่า อารัมมณปฏิปาทกมนสิการ

สรุป
สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ เจตสิกทั้ง ๗ ดวง คือ ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตาชีวิตินทรีย์ มนสิการ เป็นเจตสิกที่เข้าปรุงแต่งจิตได้ทุกดวง จึงได้ชื่อว่าสัพพจิตตสาธารณเจตสิก


ข. ปกิณณกเจตสิก ๖ ดวง เข้าปรุงแต่งจิตได้ไม่ทั่วไปได้แก่
๑. วิตกเจตสิก
๒. วิจารเจตสิก
๓. อธิโมกข์เจตสิก
๔. วิริยเจตสิก
๕. ปีติเจตสิก
๖. ฉันทเจตสิก

ปกิณณกเจตสิก แต่ละดวงมีลักษณะดังนี้
๑. วิตกเจตสิก คือ ความตรึก ลักษณะของวิตกนั้นเกิดขึ้นทาให้มีการยกธรรมทั้งหลายที่เกิดร่วมกันขึ้นสู่อารมณ์แสดงข้อเปรียบเทียบลักษณะของวิตกไว้ว่าบุรุษชาวบ้านบางคน เพราะอาศัยมิตรผู้เป็นราชวัลลภหรือมิตรผู้มีความสัมพันธ์กับพระราชา จึงตามเข้าไปสู่พระราชวังได้ฉันใด จิตเพราะอาศัยวิตกเจตสิก จึงย่างขึ้นสู่อารมณ์ได้ฉันนั้น-วิตก ถ้าประกอบกับอกุศลจิต จัดเป็นมิจฉาสังกัปปะ จะตรึกในอกุศล เป็นเหตุให้อกุศลธรรมนั้นเจริญ ตั้งมั่น เพราะว่าการตรึกนึกนั้นเป็นเหตุให้อกุศลนั้นมีกำลังมาก -วิตก ถ้าประกอบกับกุศลจิต จัดเป็นสัมมาสังกัปปะ จะตรึกในกุศลยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ ตั้งจิตไว้ในอารมณ์ที่เป็นกุศล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสรรเสริญถึงความที่เป็นกุศล โดยที่เป็นการดาริ(ตรึก)ที่ตรงกับความจริง และเป็นความดำริ(ตรึก)ที่จะพ้นไปจากสังสารวัฏ
๒. วิจารเจตสิก เป็นธรรมชาติที่ตรอง พิจารณา อารมณ์ โดยสภาวธรรมของวิตกและวิจารมีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน แต่วิตกจะมีสภาพหยาบและเกิดขึ้นก่อน และทำให้จิตเข้าไปสู่อารมณ์ก่อน เปรียบเทียบดังนี้ วิตก เหมือนเสียงตีระฆัง วิจารมีสภาวะละเอียด เกิดตามหลังและเป็นสภาวะที่จิตติดตามอารมณ์ วิจาร จึงเหมือนเสียงครวญของระฆัง หรืออุปมา เช่น บุคคลเอามือข้างหนึ่งจับภาชนะที่เป็นสนิม เอามืออีกข้างหนึ่งขัดด้วยแปรงวิตกเปรียบเหมือนมือที่จับไว้ วิจารเปรียบเหมือนมือที่ขัด ความแตกต่างของวิตกและวิจาร จะปรากฏชัดในฌานที่ ๑ และฌานที่ ๒ ซึ่งจะได้ศึกษาต่อในเรื่องสมถกรรมฐาน
๓. อธิโมกข์เจตสิก เป็นธรรมชาติของความตัดสินใจ เป็นภาวะที่จิตตัดความสงสัยในอารมณ์ว่าเป็นเช่นนั้นเป็นเช่นนี้ แล้วก็ดำเนินไปตามที่ตัดสินใจโดย
๔. วิริยเจตสิก เป็นธรรมชาติที่เพียรพยายาม มีความอาจหาญในการงาน บุคคลที่มีวิริยะจะเป็นผู้ที่สามารถทำการงานต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะงานเล็กหรือใหญ่ไม่ว่าจะยากหรือง่าย จะไม่คำนึงถึงความลำบากของตน จะประคับประคองกายกับจิตอยู่เสมอเพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงไปได้ ในบางครั้งจิตของคนเราเกิดความเบื่อหน่ายท้อถอยในการทาความดี วิธีที่จะปลุกใจให้ทำความดีต่อไปนั้นให้พิจารณาถึง สังเวควัตถุ ๘ ประการ คือ ทุกข์ที่เกิดจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทุกข์ที่จะต้องไปอยู่ในอบายภูมิทั้งสี่ คือ นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉาน ถ้านึกถึงความทุกข์ที่รออยู่ข้างหน้ามากมาย จะเกิด วิริยะ เพียรพยายามที่จะกระทำกุศลให้เกิดขึ้นทั้งทางกาย วาจา ใจ กุศลทางกาย ทางวาจา ทำให้เราพ้นทุกข์โดยไม่ต้องไปเกิดในอบายภูมิเท่านั้น ไม่สามารถให้พ้นไปจากทุกข์ คือการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ได้ แต่การทำกุศลทางใจ คือ การเจริญวิปัสสนากรรมฐานตามแนวมหาสติปัฏฐาน ๔ นั้น ทำให้พ้นไปจากทุกข์ทั้งปวงได้
* วิริยเจตสิกเมื่อเกิดร่วมกับอกุศลจิตก็เป็นมิจฉาวายามะ เพราะเพียรผิด
* วิริยเจตสิกเมื่อเกิดร่วมกับกุศลจิตก็เป็นสัมมาวายามะ เพราะเพียรถูก
๕. ปีติเจตสิก เป็นธรรมชาติที่ทำให้กายและจิตเกิดความเอิบอิ่ม มีความปลื้มใจ มีความปราโมทย์ ปีติเจตสิกเกิดขึ้นในขณะที่ทำบุญทำกุศล เจริญสมาธิ หรือในขณะที่ยินดีพอใจสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากๆ ปีติก็เกิดขึ้นได้ ลักษณะของปีติมี ๕ ประการ คือ
    ๕.๑ ขุททกาปีติ ปีติเล็กน้อยเกิดขึ้นครั้งเดียวแล้วดับไป ทำให้ขนลุก
    ๕.๒ ขณิกาปีติ ปีติชั่วขณะเกิดขึ้นเหมือนสายฟ้าแลบเป็นขณะๆ
    ๕.๓ โอกกันติกาปีติ ปีติซึมซาบเกิดขึ้นในร่างกายแล้วแผ่กระจายเหมือนคลื่นกระทบฝั่งสมุทร
    ๕.๔ อุพเพงคาปีติ ปีติมีกำลัง สามารถยังกายให้ฟูแล้วลอยไปในอากาได้
    ๕.๕ ผรณาปีติ ปีติซาบซ่านทั่วร่างกาย เหมือนสำลีที่ชุ่่มด้วยน้ำข้อเปรียบเทียบระหว่าง ปีติกับสุข ปีติ มีลักษณะ คือ มีความแช่มชื่นในอารมณ์ สุข มีลักษณะ คือ มีการได้รสแห่งอารมณ์นั้น เปรียบเหมือนคนที่เดินทางไกลเหนื่อยล้า เมื่อพบเห็นน้ำ ปีติก็เกิดขึ้นมีความแช่มชื่นยินดีเพราะได้เห็นน้ำ ถ้าเขาได้ดื่มน้ำก็จะเกิดสุข
๖. ฉันทเจตสิก เป็นธรรมชาติที่มีความปรารถนา คือปรารถนาในอารมณ์ต่างๆ มี รูป รส กลิ่น เสียง เป็นต้น ฉันทะถึงแม้จะมีความปรารถนาในอารมณ์ ก็ไม่ได้ปรารถนาด้วยความเพลิดเพลินกำหนัดและผูกพัน แต่ปรารถนาด้วยความต้องการจะให้สำเร็จประโยชน์นั้นๆ อุปมาเหมือนนายขมังธนูของพระราชาผู้ต้องการทรัพย์หรือเกียรติยศ ย่อมปรารถนาลูกศรจำนวนมาก ถึงแม้นลูกศรที่ได้มาก็เพื่อการยิงออกไป ไม่ได้เก็บยึดรักษาลูกศรไว้เป็นของตน

ข้อแตกต่างระหว่างฉันทะกับโลภะ-ฉันทะ มีการแสวงหาอารมณ์และมีความต้องการอารมณ์ แต่ไม่ยึดมั่นไม่ติดข้องในอารมณ์-โลภะ มีการแสวงหาอารมณ์ด้วย มีความต้องการอารมณ์ด้วยทั้งยึดมั่นและติดข้องในอารมณ์ด้วยการเข้าใจฉันทะและโลภะให้ถูกต้อง เป็นการฝึกให้เข้าใจถูกต้องในนามธรรม ย่อมเป็นประโยชน์เมื่อไปเจริญวิปัสสนาเพื่อรู้นามและรูป การรู้จักนามก็ต้องรู้จักลักษณะของนาม การรู้จักรูปก็ต้องรู้จักลักษณะของรูป ฉะนั้นเมื่อศึกษาแล้วควรน้อมพิจารณาจิตใจของตนว่าขณะนี้เรามีนามธรรมชนิดใดเกิดขึ้น เช่น ในขณะที่กำลังนั่งเจริญวิปัสสนา เรามีฉันทะที่จะเจริญวิปัสสนา หรือมีโลภะที่จะเจริญวิปัสสนา ถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่าเรามีการแสวงหาอารมณ์และมีความต้องการอารมณ์(แสวงหาอารมณ์เพื่อการปฏิบัติธรรม) และสังเกตดูว่าเรายึดมั่นติดข้องในอารมณ์นั้นหรือไม่ ถ้าไม่ติดในอารมณ์นั้น นั่นก็แสดงว่าเรามีฉันทะในการเจริญวิปัสสนา แต่ถ้าแสวงหาอารมณ์แล้วก็ชอบอารมณ์นั้น ชอบที่จะนั่งตรงที่เราเลือกแล้ว ไปนั่งที่อื่นไม่ได้ หรือใครๆ จะมานั่งตรงที่ๆเราคิดว่าเป็นของเราไม่ได้ ไม่พอใจ ถ้าเป็นเช่นนี้ก็แสดงว่าสภาวธรรมเป็นโลภะแล้ว เพราะโลภะมีการแสวงหาอารมณ์ด้วย มีความต้องการอารมณ์ด้วย ทั้งยึดมั่นและติดข้องในอารมณ์ด้วย

สรุป ปกิณณกเจตสิก ๖ ปกิณณกเจตสิก ๖ ดวง คือ วิตก วิจาร อธิโมกข์ วิริยะ ปีติ ฉันทะ เป็นเจตสิกที่เข้าปรุงแต่งจิตได้ไม่ทุกดวง



วันอังคาร

อธิบายอัปปนาโกศล ๑๐ ประการ

อธิบายอัปปนาโกศล ๑๐ ประการ

๑. โดยทำวัตถุให้สะอาด

ในอัปปนาโกศล ๑๐ ประการนั้น การทำวัตถุทั้งหลายทั้งภายในและภายนอกให้มีความสะอาด ชื่อว่า ทำวัตถุให้สะอาด อธิบายว่า กาลใด โยคีบุคคลมีผม, เล็บ และขนทั้งหลายขึ้นมา หรือมีร่างกายถูกเหงื่อไคลจับเปื้อนเปรอะ กาลนั้นชื่อว่า มีวัตถุภายในไม่สะอาด ไม่บริสุทธิ์ แหละกาลใด โยคีบุคคลมีจีวรเก่า สกปรกและเหม็นสาบ หรือมีเสนาสนะรกรุงรัง กาลนั้น ชื่อว่า มีวัตถุภายนอกไม่สะอาดไม่บริสุทธิ์

เมื่อจิตและเจตสิกทั้งหลายเกิดขึ้นในวัตถุอันเป็นภายในและภายนอกที่ไม่สะอาดเช่นนั้น แม้ญาณก็พลอยไม่สะอาดไปด้วย ฉันเดียวกับแสงแห่งตะเกียงอันเกิดเพราะอาศัยตะเกียง ไส้ และน้ำมันที่ไม่สะอาด เมื่อโยคีบุคคลพิจารณาสังขารทั้งหลายด้วยญาณอันไม่สะอาด แม้สังขารย่อมไม่ปรากฏแจ้งชัด ถึงจะเพียรทำกัมมัฏฐานไป แม้กัมมัฏฐานก็จะไม่บรรลุถึงซึ่งความเจริญงอกงามไพบูลย์อยู่นั่นเอง แต่เมื่อจิตและเจตสิกทั้งหลายเกิดขึ้นในวัตถุอันเป็นภายในและภายนอกที่สะอาด แม้ญาณก็พลอยสะอาดบริสุทธิ์ไปด้วย ฉันเดียวกับแสงแห่งตะเกียงที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยตะเกียง ไส้ และน้ำมันที่สะอาด และเมื่อโยคืบุคคลพิจารณาสังขารทั้งหลายด้วยญาณอันสะอาด แม้สังขารทั้งหลายก็ย่อมปรากฏแจ้งชัด เมื่อเพียรทำกัมมัฏฐานไป แม้กัมมัฏฐานก็จะบรรลุถึงซึ่งความเจริญงอกงามไพบูลย์โดยแท้

๒. โดยทำอินทรีย์ให้ถึงความเสมอกัน

การทำอินทรีย์ ๕ มีศรัทธาเป็นต้นให้มีความสม่ำเสมอกันโดยหน้าที่ ชื่อว่า ทำอินทรีย์ให้ถึงความเสมอกัน อธิบายว่า ถ้าแหละ อินทรีย์คือศรัทธาของ โยคีบุคคลนั้นมีกำลังมาก อินทรีย์ ๔ นอกนี้มีกำลังน้อยแล้วไซร้ เพราะเหตุนั้น อินทรีย์คือวีริยะย่อมไม่สามารถเพื่อทำหน้าที่คือการประคอง อินทรีย์คือสติย่อมไม่สามารถเพื่อทำหน้าที่คือการปรากฏ อินทรีย์คือสมาธิย่อมไม่สามารถเพื่อทำหน้าที่คือความไม่ฟุ้งซ่าน อินทรีย์คือปัญญาย่อมไม่สามารถทำหน้าที่คือการเห็นแจ้ง เพราะฉะนั้น ต้องลดสัทธินทรีย์นั้นลง ด้วยการพิจารณาถึงสภาวธรรมคือภาวะที่เป็นจริงของสัทธินทรีย์นั้น หรือด้วยไม่มนสิการถึงโดยวิธีที่มนสิการถึงแล้วสัทธินทรีย์เกิดมีกำลังมากขึ้น แหละในอธิการนี้ มีเรื่องพระวักกลิเถระ เป็นตัวอย่าง

เรื่องพระวักกลิเถระ
ก็แหละ ท่านวักกลิเถระนั้น เป็นผู้มีบุญญาธิการอันได้สั่งสมไว้ในสัทธาธิมุตคือ ความเป็นผู้มีศรัทธาแรงกล้า จึงเป็นผู้ขวนขวายในอันจะได้เห็นพระรูปพระโฉมของพระศาสดาอยู่อย่างไม่รู้สร่าง แม้พระบรมศาสดาจะได้ทรงโอวาทแล้วทรงประกอบไว้ในกัมมัฏฐาน โดยนัยมีอาทิว่า วักกลิ เธอจะต้องการอะไรด้วยอันเห็นกายอันเปื่อยเน่านี้เล่า วักกลิ ผู้ใดแลเห็นธรรม ผู้นั้นจึงชื่อว่าเห็นเรา ฉะนั้นแล้วก็ตามเธอก็มิได้สนใจประกอบพระกัมมัฏฐานนั้น กลับเสียใจ ได้ขึ้นไปยังที่ปากเหวเพื่อทำตนให้ตกลงไป ทันใดนั้น พระบรมศาสดาซึ่งเสด็จประทับนั่งอยู่อย่างปกตินั่นเที่ยวได้ทรงเปล่งพระรัศมีไปทรงแสดงพระองค์ให้ปรากฏ ตรัสพระพุทธนิพนธคาถาว่า “ภิกษุผู้มากไปด้วยความปราโมช เลื่อมใสในพระพุทธศาสนามีหวังได้บรรลุสันติบทคือความสุขอันเป็นที่ระงับดับเสียซึ่งสังขารธรรมทั้งหลาย” ฉะนี้แล้ว ได้ทรงเรียกพระวักกลิเถระว่า “มานี่แน่ะ วักกลิ” ท่านวักกลิเถระนั้น อันพระบรมศาสดาได้ทรงประพรมด้วยน้ำพระพุทธมนต์อมฤตรสนั้นแล้ว กลับมีความร่าเริงยินดี จึงได้เริ่มลงมือเจริญวิปัสสนา แต่ก็ไม่อาจหยั่งลงสู่วิปัสสนาวิถีได้ เพราะเหตุที่ศรัทธามีกำลังมากเกินไป พระผู้มีพระภาคทรงทราบเช่นนั้น จึงทรงแก้ไขให้ท่านถึงความเป็นผู้มีอินทรีย์สม่ำเสมอกัน ทรงสอบชำระพระกัมมัฏฐานประทานให้ แล้วท่านวักกลิเถระปฏิบัติวิปัสสนาให้ก้าวหน้าขึ้นไป โดยนัยที่พระพุทธองค์ทรงประทานให้นั้น ก็ได้บรรลุถึงซึ่งพระอรหัตโดยลำดับแห่งอริยมรรคขึ้นไป ฉะนี้แล

แหละถ้าวีริยินทรีย์มีกำลังมาก แต่นั้น สัทธินทรีย์ก็จะไม่สามารถทำหน้าที่คือการตัดสินอารมณ์ได้ อินทรีย์อื่นนอกนี้ก็จะไม่สามารถทำหน้าที่ที่ต่างกันนอกนี้ได้เพราะฉะนั้น ต้องลดวีริยินทรีย์นั้นลง ด้วยการเจริญสัมโพชฌงค์ ๓ ประการ คือ ปัสสัทธิ สมาธิและอุเบกขา แม้ในอธิการนี้ ก็ควรแสดงเรื่องพระโสณเถระผู้ละเอียดอ่อนเป็นตัวอย่าง ดังนี้

เรื่องพระโสณเถระ
ก็แหละ ท่านโสณเถระนั้น เรียนเอาพระกัมมัฏฐานในสำนักของพระบรมศาสดาแล้วไปอยู่ ณ ป่าสีเสียด ท่านคิดว่า “ร่างกายเราละเอียดอ่อนมาก และเราไม่สามารถจะบรรลุถึงสุขได้โดยง่ายเลย เราจึงควรบำเพ็ญสมณธรรมแม้อย่างที่ทรมานกายให้ลำบาก” ฉะนี้แล้ว ได้อธิษฐานเอาอิริยาบถยืนและเดินเพียง ๒ อย่างเท่านั้น พยายามประกอบความเพียรอยู่ แม้ที่ฝ่าเท้าที่ข้อเท้าจะมีเวทนาปรากฏขึ้น ก็ไม่เอาใจใส่ พยายามทำความเพียรอย่างมุ่งมั่น แต่กระนั้น ก็ไม่สามารถจะทำคุณวิเศษให้บังเกิดขึ้นได้ เพราะปรารภความเพียรแรงกล้าเกินไป พระบรมศาสดาจึงได้เสด็จไป ณ ที่นั้น ทรงประทานพระพุทธโอวาทด้วยวีโณวาท คือโอวาทเปรียบด้วยพิณสามสาย ทรงแสดงวิธีปรับวีริยะให้สม่ำเสมอ ทรงสอบชำระพระกัมมัฏฐานแล้วจึงเสด็จกลับยังภูเขาคิชฌกูฏ ฝ่ายพระเถระปรับวีริยะให้สม่ำเสมอ โดยนัยที่ทรงประทานแล้วเจริญวิปัสสนาให้ก้าวหน้าขึ้นไป ดำรงตนไว้ในพระอรหัตแล้ว ฉะนี้แล

การอธิบายความสม่ำเสมอกันแม้ในอินทรีย์ที่เหลือ คือ สติ สมาธิและปัญญาก็พึงทราบเหมือนกันนี้ กล่าวคือ เมื่ออินทรีย์แต่ละประการมีกำลังมาก ก็จงทราบเถิดว่าอินทรีย์นอกนี้ไม่สม่ำเสมอกันในหน้าที่ของตน ๆ

ศรัทธากับปัญญาเสมอกัน
ก็แหละ ในอินทรีย์ ๕ นี้ ถ้ากล่าวโดยที่แปลกกันแล้ว ปราชญ์ทั้งหลายย่อมรับรองต้องกันว่า ศรัทธาเสมอกันกับปัญญา และสมาธิเสมอกันกับวีริยะ อธิบายว่า บุคคลผู้มีศรัทธามาก แต่มีปัญญาน้อย ย่อมเป็นคนมีความเลื่อมใสอย่างเซ่อ ๆ คือ ไม่เลื่อมใสอย่างแน่วแน่ ย่อมเลื่อมใสในสิ่งที่ไม่ใช่เรื่อง บุคคลผู้มีปัญญามากแต่มีศรัทธาน้อย ย่อมแหกแนวไปสู่ทางฝ่ายเกเรโอ้อวด เป็นผู้มีอันใคร ๆ จะแก้ไขไม่ได้ เหมือนกับโรคที่เกิดขึ้นจากยาเองยากที่จะรักษาให้หายได้ แต่เพราะศรัทธากับปัญญาสม่ำเสมอกัน บุคคลย่อมเลื่อมใสถูกเรื่องเสมอ

สมาธิกับวีริยะเสมอกัน
ส่วนบุคคลผู้มีสมาธิมากแต่มีวีริยะน้อย ความเกียจคร้านย่อมครอบงำ เพราะสมาธิเป็นฝักฝ่ายของความเกียจคร้าน บุคคลผู้มีวีริยะมากแต่มีสมาธิน้อย อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่านย่อมครอบงำ เพราะวีริยะเป็นฝักฝ่ายของอุทธัจจะ แต่สมาธิที่ประกอบเข้ากับวีริยะแล้วย่อมไม่ได้เพื่อตกไปในความเกียจคร้าน วีริยะที่ประกอบเข้ากับสมาธิแล้วก็ไม่ได้เพื่อตกไปในอุทธัจจะ เพราะฉะนั้น จึงจำต้องทำวิริยะกับสมาธิทั้งสองนั้นให้สม่ำเสมอ เพราะจะสำเร็จอัปปนาสมาธิได้ ด้วยวิริยะกับสมาธิทั้งสองสม่ำเสมอกัน

การปรับอินทรีย์ให้เสมอกันอีกนัยหนึ่ง
อีกประการหนึ่ง สำหรับโยคีบุคคลผู้เจริญสมถกัมมัฏฐานนั้น แม้จะมีศรัทธาชนิดที่มีกำลังมาก ก็สมควร เพราะเมื่อศรัทธามีกำลังมากอย่างนี้ โยคีบุคคลเชื่อมั่นอยู่ มุ่งหมายอยู่ ก็จักได้บรรลุถึงซึ่งอัปปนาสมาธิ แหละในสมาธิกับปัญญานั้น สมาธิมีกำลังมากย่อมสมควรสำหรับผู้ที่เจริญสมถกัมมัฏฐาน เพราะโยคีผู้เจริญสมถกัมมัฏฐานนั้นจะบรรลุอัปปนาสมาธิได้ก็ด้วย สมาธิที่มีกำลังมากอย่างนี้ ปัญญาที่มีกำลังมากย่อมสมควรสำหรับผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน เพราะโยคีบุคคลผู้เจริญวิปัสสนานั้น ย่อมจะบรรลุถึงซึ่งการแทงตลอดลักษณะของสังขารธรรม ก็ด้วยปัญญาที่มีกำลังมากนี้ แต่เพราะเหตุที่สมาธิกับปัญญาทั้งสองสมดุลกัน จึงจะสำเร็จอัปปนาสมาธินั่นเทียว

สติจำปรารถนาในอินทรีย์ทั้ง ๕
ส่วนสตินั้น มีกำลังมากในอินทรีย์ ๕ ทุกประการยิ่งดี เพราะสติย่อมรักษากุศลจิตให้พ้นจากการตกไปในอุทธัจจะ ด้วยอำนาจแห่งศรัทธา วิริยะและปัญญาอันเป็นฝักฝ่ายแห่งอุทธัจจะ และรักษากุศลจิตให้พ้นจากการตกไปในความเกียจคร้านด้วยสมาธิอันเป็นฝักฝ่ายแห่งความเกียจคร้าน เพราะเหตุนั้น สติจึงจำปรารถนาในอินทรีย์ ๕ ทุกประการ เหมือนเกลือป่นจำปรารถนาในกับข้าวทุกชนิด และเหมือนอำมาตย์ผู้ชำนาญในกิจทั้งปวงจำปรารถนาในราชกิจทุกอย่างฉะนั้น ด้วยเหตุนั้นท่านอรรถกถาจารย์ จึงกล่าวไว้ว่า ก็แหละ สตินั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่าจำปรารถนาในกิจทุกอย่าง เพราะเหตุไร ? เพราะจิตมีสติเป็นเครื่องเตือนให้ระลึกและสติมีการอารักขาเป็นอาการปรากฏ การยกจิตและการข่มจิต เว้นจากสติแล้วหาเป็นไปได้ไม่ ฉะนี้

๓. โดยฉลาดในนิมิต

ความฉลาดในนิมิตนั้น ได้แก่ความฉลาดในการทำนิมิตของสมาธิเช่น ปฐวีกสิณเป็นต้นซึ่งยังไม่ได้ทำขึ้นอย่างหนึ่ง ได้แก่ความฉลาดในการภาวนาซึ่งนิมิตที่ทำขึ้นแล้วอย่างหนึ่ง ความฉลาดในนิมิตที่ประสงค์เอาในอัปปนาโกศลกถานี้ ได้แก่ ความฉลาดในการรักษาซึ่งนิมิตที่ได้มาแล้วด้วยการภาวนานั้น

๔. โดยยกจิตในสมัยที่ควรยก

ถาม-ข้อว่า โยคีบุคคลย่อมยกจิตในสมัยที่ควรยกนั้น คือทำอย่างไร ?
ตอบ-กาลใด โยคีบุคคลนั้นมีจิตหดหูด้วยเหตุทั้งหลาย เช่น ความมีวิริยะย่อหย่อนมากเป็นต้น กาลนั้น อย่าเจริญสัมโพชฌงค์ ๓ ประการ มีปัสสัทธิสัมโพชฌงค์เป็นต้น แต่พึงเจริญสัมโพชฌงค์ ๓ ประการ มีธัมมวิจยสัมโพชฌงค์เป็นต้น

วิธียกจิตด้วยสัมโพชฌงค์ ๓
ข้อนี้สมดังที่พระผู้มีพระภาคทรงเทศนาไว้ดังต่อไปนี้ :- "ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษผู้ใคร่จะสุมไฟกองเล็ก ๆ ให้ลุกโพลงขึ้น เขาใส่หญ้าสดเข้าไปด้วย ใส่มูลโคสดเข้าไปด้วย ใส่ไม้สดเข้าไปด้วย มิหนำซ้ำพ่นลมปนน้ำลายใส่ด้วย โปรยขี้ฝุ่นใส่ด้วย ในกองไฟนั้น ภิกษุทั้งหลาย บุรุษนั้นควรหรือไม่เล่า เพื่อจะทำไฟกองเล็ก ๆ นั้นให้ลุกโพลงขึ้นได้ ?"
"ข้อนั้นไม่ควรจะเป็นไปได้พระพุทธเจ้าข้า"

"ภิกษุทั้งหลาย ฉันเดียวกันนั่นเทียวแล สมัยใดจิตหดหู สมัยนั้นไม่ใช่กาลเพื่อเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ไม่ใช่กาลเพื่อเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ ไม่ใช่กาลเพื่อเจริญอุเปกขาสัมโพชฌงค์ ข้อนั้น เพราะเหตุไร ?

ภิกษุทั้งหลาย เพราะจิตหดหูอยู่แล้ว จิตที่หดหูนั้นย่อมยากที่จะช่วยยกขึ้นได้ด้วยสัมโพชฌงค์ธรรมเหล่านี้ ภิกษุทั้งหลาย แต่สมัยใดจิตหดหู สมัยนั้นเป็นการเพื่อเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ เป็นกาลเพื่อเจริญวีริยสัมโพชฌงค์ เป็นกาลเพื่อเจริญปีติสัมโพชฌงค์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร ?


ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุที่จิตหดหูนั้น ย่อมง่ายที่จะช่วยยกขึ้นด้วยสัมโพชฌงคธรรมเหล่านี้ ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษผู้ใคร่จะสุมไฟกองเล็ก ๆ ให้ลุกโพลงขึ้น เขาจึงใส่หญ้าแห้งเข้าไปด้วย ใส่มูลโคแห้งเข้าไปด้วย ใส่ไม้แห้งเข้าไปด้วย ช่วยเป่าลมปากใส่ด้วย แต่ไม่โปรยขี้ฝุ่นลงใส่ในกองไฟนั้น ภิกษุทั้งหลาย บุรุษนั้นควรหรือไม่เล่าเพื่อที่จะทำไฟกองเล็ก ๆ นั้นให้ลุกโพลงขึ้นได้ ?"
"ควรที่จะเป็นอย่างนั้นได้พระพุทธเจ้าข้า"

อาหารปัจจัยของธัมมวิจยะเป็นต้น แหละในอธิการนี้ นักศึกษาพึงทราบถึงวิธีการเจริญสัมโพชฌงค์ ๓ ประการมีธัมมวิจยสัมโพชฌงค์เป็นต้นให้เกิดขึ้น ด้วยอำนาจอาหารปัจจัยของตน ๆ ต่อไปดังนี้: -

อาหารปัจจัยของธัมมวิจยะ
ข้อนี้ สมดังที่พระผู้มีพระภาคทรงเทศนาไว้ว่า :- "ภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศลและที่เป็นอกุศลมีอยู่ ธรรมทั้งหลายที่มีโทษและที่หาโทษมิได้มีอยู่ ธรรมทั้งหลายชั้นทรามและชั้นประณีตมีอยู่ ธรรมทั้งหลายที่มีส่วนเปรียบด้วยของดำและที่มีส่วนเปรียบด้วยของขาวมีอยู่ การหมั่นมนสิการโดยชอบในกุศลธรรมเป็นต้นเหล่านั้น นี้นับเป็นอาหารปัจจัยที่ย่อมเป็นไปเพื่อทำให้ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น หรือย่อมเป็นไปเพื่อความภิญโญยิ่ง เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความบริบูรณ์ แห่งธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว"

อาหารปัจจัยของวิริยะ
อีกประการหนึ่ง ทรงเทศนาไว้ว่า :- "ภิกษุทั้งหลาย อารัมภธาตุ นิกกมธาตุ และปรักกมธาตุมีอยู่ การหมั่นมนสิการโดยชอบในอารัมภธาตุเป็นต้นเหล่านั้น นี้จัดเป็นอาหารปัจจัยที่ย่อมเป็นไปเพื่อทำวีริยสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดขึ้น หรือย่อมเป็นไปเพื่อความภิญโญยิ่ง เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความบริบูรณ์ แห่งวีริยสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว"

อาหารปัจจัยของปีติ
และอีกประการหนึ่ง ทรงเทศนาไว้ว่า :- "ภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งปีติสัมโพชฌงค์มีอยู่ การหมั่นมนสิการโดยชอบในธรรมเหล่านั้น นี้นับเป็นอาหารปัจจัยที่เป็นไปเพื่อปีติสัมโพชฌงค์ ที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น หรือย่อมเป็นไปเพื่อความภิญโญยิ่ง เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความบริบูรณ์ แห่งปีติสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว”

อรรถาธิบายพระบาลี
ในพระบาลีนั้น มีอรรถาธิบายดังนี้:- มนสิการที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจการรู้ปรุโปร่งซึ่งลักษณะของสภาวธรรม และลักษณะที่เสมอกันของสังขารธรรม ชื่อว่า มนสิการโดยซอบ (ได้แก่ชวนจิตตุปบาทที่เกิดขึ้น ด้วยการหยั่งรู้ซึ่งลักษณะของสภาวะนั้น ๆ เป็นต้น แห่งกุศลธรรมเป็นต้น ตามความเป็นจริง คำว่า มนสิการ หมายเอาจิตที่พิจารณาอารมณ์ที่ขณะชวนะเกิด ๗ ขณะนั้น) ในกุศลธรรมเป็นต้น มนสิการที่เป็นไปด้วยอำนาจที่ทำให้อารัมภธาตุเป็นต้นเกิดขึ้น ชื่อว่า มนสิการโดยชอบ ในอารัมภธาตุเป็นต้น ในธาตุเหล่านั้น ความเพียร  (ความเพียรเรียกว่า ธาตุ เพราะเป็นสภาพดำรงอยู่โดยสภาวะของตนไม่แปรผัน) ขั้นแรกเรียกว่า อารัมภธาตุ ความเพียรที่มีกำลังกว่าอารัมภธาตุนั้น เพราะออกพ้นไปจากความเกียจคร้านแล้ว เรียกว่า นิกกมธาตุ ความเพียรที่มีกำลังมากกว่านิกกมธาตุนั้นขึ้นไปอีก เพราะก้าวสู่ฐานะยิ่ง ๆ ขึ้นไป เรียกว่า ปรักกมธาตุ แหละคำว่า ธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งปีติสัมโพชฌงค์นี้ เป็นชื่อของปีตินั่นเอง มนสิการที่ให้ปีติแม้นั้นเกิดขึ้นนั่นแล ชื่อว่า มนสิการโดยชอบ

ธรรม ๗ ที่เป็นเหตุให้ธัมมวิจยะเกิด
อีกประการหนึ่ง ธรรม ๗ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อทำให้ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์เกิดขึ้น คือ :-
๑. การสอบถาม
๒. การทำร่างกายและเครื่องใช้ให้สะอาด
๓. การปรับอินทรีย์ ๕ ให้สู่ความสมดุลกัน
๔. การหลีกเว้นคนมีปัญญาทราม
๕. การสมาคมกับคนมีปัญญาดี
๖. การพิจารณาธรรมที่ต้องสอดส่องด้วยญาณอันลึกซึ้ง
๗. การน้อมจิตไปในธัมมวิจยะนั้น

ธรรม ๑๑ ที่เป็นเหตุให้วิริยะเกิด
ธรรม ๑๑ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อทำให้วีริยสัมโพชฌงค์เกิดขึ้น คือ :
๑. การพิจารณาเห็นภัยมีทุกข์ในอบายเป็นต้น
๒. การเห็นอานิสงส์ของการบรรลุคุณวิเศษ ทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตตระอันเนื่องด้วยความเพียร
๓. การพิจารณาเห็นวิถีทางดำเนินอย่างนี้ว่า เราจะต้องดำเนินไปตามทางที่พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระมหาสาวกทั้งหลายดำเนินไปแล้ว แหละทางนั้นคนเกียจคร้านไม่สามารถจะดำเนินไปได้
๔. การเคารพในข้าวสุก ด้วยทำให้ทายกผู้บริจาคทั้งหลายเป็นผู้ได้ผลมาก
๕. การพิจารณาถึงความยิ่งใหญ่ของพระบรมศาสดาอย่างนี้ว่า พระบรมศาสดาของเราตรัสสรรเสริญคุณของคนปรารภความเพียร และพระองค์ทรงมีคำสอนอันใคร ๆ จะละเมิดมิได้ พระองค์ทรงมีพระอุปการะมากแก่เรา ทรงเป็นผู้อันเราบูชาอยู่และจะบูชาต่อไปด้วยปฏิบัติบูชา มิใช่ด้วยอามิสบูชาประการอื่น
๖. การพิจารณาถึงความยิ่งใหญ่แห่งมรดกอย่างนี้ว่า มรดกอันยิ่งใหญ่ คือพระสัทธรรม เป็นสิ่งอันเราจะต้องรับไว้ และมรดกอันยิ่งใหญ่นั้น คนเกียจคร้านไม่สามารถจะรับไว้ได้
๗. การบรรเทาถีนะและมิทธะด้วยการมนสิการถึงอาโลกสัญญาการผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ และการอยู่ในที่โล่งแจ้ง
๘. การหลีกเว้นคนเกียจคร้าน
๙. การสมาคมกับคนปรารภความเพียร
๑๐. การพิจารณาถึงอานุภาพของความเพียรชอบ ๔ ประการ
๑๑. การน้อมจิตไปในวิริยะนั้น

ธรรม ๑๑ ที่เป็นเหตุให้ปีติเกิด
ธรรม ๑๑ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อทำให้ปีติสัมโพชฌงค์เกิดขึ้น คือ :
๑. พุทธานุสสติ ระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า
๒. ธัมมานุสสติ ระลึกถึงพระคุณของพระธรรม
๓. สังฆานุสสติ ระลึกถึงพระคุณของพระอริยสงฆ์
๔. สีลานุสสติ ระลึกถึงศีลที่บริสุทธิ์ของตน
๕. จาคานุสสติ ระลึกถึงการบริจาคทานที่ตนบริจาคแล้ว
๖. เทวตานุสสติ ระลึกถึงคุณธรรมที่ทำให้เป็นเทวดา
๗. อุปสมานุสสติ ระลึกถึงพระนิพพานอันเป็นที่ดับทุกข์ทั้งปวง
๘. การหลีกเว้นคนที่มีใจหยาบกระด้าง
๙. การสมาคมกับคนที่รักใคร่เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าเป็นต้น
๑๐. การพิจารณาถึงพระสูตรอันเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส
๑๑. การน้อมจิตไปในปีตินั้น

เมื่อโยคีบุคคลยังธรรมเหล่านี้ให้เกิดด้วยอาการทั้งหลายเหล่านี้ ชื่อว่าเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์เป็นต้นให้เกิดขึ้น โยคีบุคคลย่อมยกจิตในสมัยที่ควรยก ด้วยประการฉะนี้

๕. โดยข่มจิตในสมัยที่ควรข่ม

ถาม-ข้อว่า โยคีบุคคลย่อมข่มจิตในสมัยที่ควรข่มนั้น คือทำอย่างไร ?
ตอบ-กาลใด โยคีบุคคลนั้น มีจิตฟุ้งซ่านด้วยเหตุทั้งหลาย มีการปรารภความเพียรเคร่งเครียดเกินไปเป็นต้น กาลนั้น อย่าเจริญสัมโพชฌงค์ ๓ ประการ มีธัมมวิจยสัมโพชฌงค์เป็นต้น แต่พึงเจริญสัมโพชฌงค์ ๓ ประการ มีปัสสัทธิสัมโพชฌงค์เป็นต้น

วิธีข่มจิตด้วยสัมโพชฌงค์ ๓
ข้อนี้ สมด้วยที่พระผู้มีพระภาคทรงเทศนาไว้ ซึ่งมีปรากฏในคัมภีร์สังยุตตนิกายมหาวารวรรค ดังต่อไปนี้ :-
"ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษผู้ใคร่จะดับไฟกองใหญ่ให้มอด เขาใส่หญ้าแห้ง เข้าไปด้วย ใส่มูลโคแห้งเข้าไปด้วย ใส่ไม้แห้งเข้าไปด้วย ช่วยเป่าลมปากใส่ด้วย และไม่ได้โปรยขี้ฝุ่นใส่ในกองไฟนั้น ภิกษุทั้งหลาย บุรุษนั้นเขาควรหรือไม่เล่า เพื่อที่จะทำกองไฟใหญ่นั้นให้ดับมอดลง ?" 
"ข้อนั้น ไม่ควรที่จะเป็นไปได้ พระพุทธเจ้าข้า"

"ภิกษุทั้งหลาย ฉันเดียวกันนั่นเทียวแล สมัยใด จิตฟุ้งซ่าน สมัยนั้น ไม่ใช่กาลเพื่อเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ไม่ใช่กาลเพื่อเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ ไม่ใช่กาลเพื่อเจริญปีติสัมโพชฌงค์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร ? ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุที่จิตฟุ้งซ่านอยู่แล้ว จิตที่ฟุ้งซ่านนั้น ย่อมยากที่จะข่มให้สงบลงด้วยโพชฌงคธรรมเหล่านี้ ภิกษุทั้งหลาย แต่สมัยใดแล จิตย่อมฟุ้งซ่าน สมัยนั้น เป็นกาลเพื่อเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ เป็นกาลเพื่อเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ เป็นกาลเพื่อเจริญอุเปกขาสัมโพชฌงค์ ข้อนั้น เพราะเหตุไร ? ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุที่จิตฟุ้งซ่าน จิตที่ฟุ้งซ่านนั้นย่อมง่ายที่จะข่มให้สงบลงด้วยโพชฌงค์ ธรรมเหล่านี้ ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษผู้ใคร่จะดับไฟกองใหญ่ให้มอด เขาใส่หญ้าสดเข้าไปด้วย ใส่มูลโคสดเข้าไปด้วย ใส่ไม้สดเข้าไปด้วย พ่นลมปนน้ำลายใส่ด้วย และโปรยขี้ฝุ่นเข้าใส่ด้วย ในกองไฟนั้น ภิกษุทั้งหลาย บุรุษนั้นเขาควรหรือไม่เล่า เพื่อที่จะยังไฟกองใหญ่นั้นให้ดับมอดลง ?ู"
"ควรที่จะเป็นอย่างนั้นได้ พระพุทธเจ้าข้า"

อาหารปัจจัยของปัสสัทธิ แม้ในอธิการนี้ นักศึกษาพึงทราบถึงวิธีการเจริญสัมโพชฌงค์ ๓ ประการ มีปัสสัทธิสัมโพชฌงค์เป็นต้นให้เกิดขึ้น ด้วยอาหารปัจจัยของตน ๆ ต่อไปดังนี้ :-

อาหารปัจจัยของปัสสัทธิ
ข้อนี้ สมด้วยที่พระผู้มีพระภาคทรงเทศนาไว้ ซึ่งปรากฏในคัมภีร์สังยุตตนิกายมหาวารวรรค ดังนี้ : "ภิกษุทั้งหลาย กายปัสสัทธิ ความสงบกาย จิตตปัสสัทธิ ความสงบจิตมีอยู่ การหมั่นมนสิการโดยชอบในปัสสัทธิทั้งสองนั้น นี้นับเป็นอาหารปัจจัยที่ย่อมเป็นไป เพื่อทำปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น หรือย่อมเป็นไปเพื่อความภิญโญยิ่ง เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความบริบูรณ์ แห่งปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว”

อาหารปัจจัยของสมาธิ
อีกประการหนึ่ง ทรงเทศนาอาหารปัจจัยของสมาธิไว้ว่า :- "ภิกษุทั้งหลาย สมถนิมิต นิมิตคือความสงบ อัพยัคคนิมิต นิมิตคือ ความไม่ฟุ้งซ่านมีอยู่ การหมั่นมนสิการโดยชอบในนิมิตทั้งสองนั้น นี้นับเป็นอาหารปัจจัยที่ย่อมเป็นไปเพื่อทำสมาธิสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น หรือย่อมเป็นไปเพื่อความภิญโญยิ่ง เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความบริบูรณ์ แห่งสมาธิสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว”

อาหารปัจจัยของอุเบกขา
และอีกประการหนึ่ง ทรงเทศนาไว้ว่า :- "ภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งของอุเบกขาสัมโพชฌงค์มีอยู่ การหมั่นมนสิการโดยชอบในธรรมเหล่านั้น นี้นับเป็นอาหารปัจจัยที่ย่อมเป็นไป เพื่อทำอุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดขึ้นให้เกิดขึ้น หรือย่อมเป็นไปเพื่อความภิญโญยิ่งเพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความบริบูรณ์ แห่งอุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว"

อรรถาธิบายพระบาลี
ในพระบาลีนั้นมีอรรถาธิบายดังนี้ ธรรมทั้ง ๓ คือ ปัสสัทธิ สมาธิ และอุเบกขา เคยเกิดขึ้นแก่โยคีบุคคลแล้วโดยอาการอย่างใด มนสิการที่เป็นไปด้วยอำนาจกำหนดเอาอาการนั้นแล้วทำให้ธรรมทั้ง นั้นเกิดขึ้น ชื่อว่า มนสิการโดยชอบ แม้ในบทพระบาลีทั้ง ๓ พากย์นั้น คำว่า สมถนิมิต นี้ เป็นชื่อของสมถะนั่นเอง และคำว่า อัพยัคคนิมิต ก็เป็นชื่อของสมถะนั้นเหมือนกัน โดยมีความหมายว่า ไม่ฟุ้งซ่าน ฉะนี้แล

ธรรม ๗ ที่เป็นเหตุให้ปัสสัทธิเกิด
อีกประการหนึ่ง ธรรม ๗ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อทำให้ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์เกิดขึ้น คือ
๑. การบริโภคอาหารอันประณีต
๒. การได้รับอากาศสบาย
๓. การใช้อิริยาบถที่สบาย
๔. การประกอบกิจแต่พอดีอย่างสม่ำเสมอ
๕. การหลีกเว้นคนที่มีกายกระวนกระวาย
๖. การสมาคมกับคนผู้มีกายสงบ และ
๗. การน้อมจิตไปในปัสสัทธินั้น

ธรรม ๑๑ ที่เป็นเหตุให้สมาธิเกิด
ธรรม ๑๑ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อทำให้สมาธิสัมโพชฌงค์เกิดขึ้น คือ
๑. ร่างกายและเครื่องใช้สะอาด
๒. ความฉลาดในนิมิตกัมมัฏฐาน
๓. การปรับอินทรีย์ ๕ ให้สู่ความสมดุล
๔. การข่มจิตในสมัย
๕. การยกจิตในสมัย
๖. การพยุงจิตที่เบื่อหน่ายให้ร่าเริงด้วยอำนาจความเชื่อและความสลดใจ
๗. การวางเฉยต่อจิตที่เป็นไปโดยชอบแล้ว
๘. การหลีกเว้นคนผู้ไม่มีสมาธิ
๙. การสมาคมกับคนผู้มีสมาธิ
๑๐. การพิจารณาเฉพาะฌานและวิโมกข์
๑๑. การน้อมจิตไปในสมาธินั้น

ธรรม ๕ ที่เป็นเหตุให้อุเบกขาเกิด
ธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อทำให้อุเบกขาสัมโพชฌงค์เกิดขึ้น คือ
๑. ความเป็นกลาง ๆ ในสัตว์บัญญัติ
๒. ความเป็นกลาง ๆ ในสังขารทั้งหลาย
๓. การหลีกเว้นคนผู้มีความสาละวนในสัตว์และสังขาร
๔. การสมาคมกับคนเป็นกลาง ๆ ในสัตว์และสังขาร
๕. การน้อมจิตไปในอุเบกขานั้น

โยคีบุคคลเมื่อยังธรรมเหล่านี้ให้เกิดขึ้นอยู่ ด้วยอาการทั้งหลายเหล่านี้ ชื่อว่าเจริญสัมโพชฌงค์ ๓ ประการมีปัสสัทธิสัมโพชฌงค์เป็นต้นให้เกิดขึ้นฉะนี้ โยคีบุคคลย่อมข่มจิตในสมัยที่ควรข่ม ด้วยประการฉะนี้


๖. โดยพยุงจิตให้ร่าเริงในสมัยที่ควรให้ร่าเริง

ถาม-ข้อว่า โยคีบุคคลย่อมพยุงจิตให้ร่าเริงในสมัยที่ควรให้ร่าเริงนั้นคือทำอย่างไร ?
ตอบ-กาลใด โยคีบุคคลนั้นมีจิตไม่เบิกบาน เพราะการขวนขวายในปัญญาย่อหย่อน หรือเพราะไม่ได้รับความสงบสุข กาลนั้น ย่อมพยุงจิตนั้นให้สลดสังเวช ด้วยการพิจารณาถึงสังเวควัตถุ ๘ ประการ สังเวควัตถุ ๘ ประการนั้น ได้แก่ ชาติ ชรา พยาธิและมรณะเป็น ๔ ทุกข์ในอบายเป็นที่ ๕ ทุกข์มีวัฏฏะเป็นมูลรากในอดีตเป็นที่ ๖ ทุกข์มีวัฏฏะเป็นมูลรากในอนาคตเป็นที่ ๗ ทุกข์มีการแสวงหาอาหารเป็นมูลรากในปัจจุบันเป็นที่ ๘ และโยคีบุคคลย่อมพยุงจิตนั้นให้เกิดความเลื่อมใส ด้วยการระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม และคุณพระสงฆ์อีกสถานหนึ่งด้วย โยคีบุคคลย่อมพยุงจิตให้ร่าเริงในสมัยที่ควรให้ร่าเริง ด้วยประการฉะนี้

๗. โดยเพ่งดูจิตเฉยในสมัยที่ควรเพ่งดูเฉย

ถาม- โยคีบุคคลย่อมเพ่งดูจิตเฉยในสมัยที่ควรเพ่งดูเฉยนั้น คือทำอย่างไร ?
ตอบ-กาลใด เมื่อโยคีบุคคลปฏิบัติอยู่อย่างนี้ จิตของเธอย่อมไม่หดหู ไม่ฟุ้งซ่าน ย่อมแช่มชื่นเบิกบาน เป็นไปโดยสม่ำเสมอในอารมณ์ ดำเนินสู่วิถีแห่งสมถภาวนา กาลนั้น โยคีบุคคลย่อมไม่ขวนขวายในอันที่จะยกและข่มจิตและในอันที่จะพยุงจิตให้ร่าเริงเหมือนนายสารถีขับรถมา ไม่ขวนขวายในม้าทั้งหลายที่วิ่งลากรถไปอย่างสม่ำเสมอกัน ฉะนั้นโยคีบุคคลย่อมเพ่งดูจิตเฉยในสมัยที่ควรเพ่งดูเฉย ด้วยประการฉะนี้

๘. โดยหลีกเว้นบุคคลผู้ไม่มีสมาธิ

การหลีกเว้นเสียอย่างห่างไกล ซึ่งบุคคลทั้งหลายจำพวกที่ไม่เคยก้าวขึ้นสู่เนกขัมมปฏิปทา คือไม่เคยปฏิบัติปฏิปทาที่ให้ออกจากกาม มัวแต่วิ่งวุ่นอยู่ในกิจการเป็นอันมาก มีใจฟุ้งเฟ้อไปในกิจการนั้น ๆ ชื่อว่า หลีกเว้นคนผู้ไม่มีสมาธิ

๙. โดยสมาคมกับบุคคลผู้มีสมาธิ

การเข้าไปคบหาสมาคมกับบุคคลทั้งหลาย จำพวกที่ปฏิบัติเนกขัมมปฏิปทา ได้สำเร็จสมาธิโดยกาลอันควรตลอดกาล ชื่อว่า สมาคมกับบุคคลผู้มีสมาธิ

๑๐. โดยน้อมจิตไปในสมาธินั้น

ความน้อมจิตไปในอันที่จะทำสมาธิให้บังเกิดขึ้น คือความหนักในสมาธิ ความน้อมไปในสมาธิ ความโน้มไปในสมาธิ ความทุ่มเทไปในสมาธิ ชื่อว่า น้อมจิตไปในสมาธินั้น โยคีบุคคลพึงทำอัปปนาโกศลให้เกิดขึ้นโดยบริบูรณ์ ด้วยประการฉะนี้

🔅 อย่าทอดทิ้งความเพียร

ก็แหละ เมื่อโยคีบุคคลทำอัปปนาโกศลนี้ให้บริบูรณ์ในปฏิภาคนิมิต ที่ได้แล้ว โดยอาการอย่างนี้ อัปปนาสมาธิก็จะบังเกิดขึ้นแน่นอน แต่เมื่อได้ปฏิบัติอย่างนี้ ถ้าอัปปนาสมาธินั้นยังไม่บังเกิดขึ้น แม้ถึงเช่นนั้น โยคีบุคคลผู้บัณฑิตก็อย่าได้ทอดทิ้งความเพียรเสีย จงพยายามให้หนักยิ่งขึ้น เพราะเมื่อลูกผู้ชายทอดทิ้งความเพียรชอบเสียแล้ว จะพึงได้บรรลุคุณวิเศษแม้แต่นิดหน่อยนั้น ข้อนี้ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้เลย

🔅 ประคองจิตให้จดจ่อในปฏิภาคนิมิต


เพราะฉะนั้น โยคีบุคคลผู้บัณฑิต จึงคอยใคร่ครวญพิจารณาซึ่งพฤติการณ์ที่เป็นไปของจิต พยายามปรับปรุงวิริยะกับสมาธิให้มีหน้าที่สมดุลกันอยู่เสมอ ๆ จึงคอยยกจิตที่ตกไปสู่ความหดหูแม้เพียงเล็กน้อยขึ้นไว้ ป้องกันจิตที่เคร่งเครียดเกินไป ประคองจิตให้เป็นไปอย่างสม่ำเสมอสมดุลกันให้จงได้ พฤติการณ์ที่เป็นไปในละอองดอกไม้ ในใบบัว ในใยแมลงมุม ในเรือและในขวดน้ำมัน ของสัตว์ทั้งหลายมีแมลงผึ้งเป็นต้น ซึ่งท่านพรรณนาไว้ด้วยดีแล้วในอรรถกถา ฉันใด โยคีบุคคลพึงพยายามปลดเปลื้องภาวนาจิตจากภาวะที่หดหูและภาวะที่ฟุ้งซ่านโดยสิ้นเชิง แล้วประคองภาวนาจิตให้บ่ายหน้าจดจ่ออยู่ในปฏิภาคนิมิตฉันนั้น

เปรียบด้วยพฤติการณ์แมลงผึ้งกับละอองดอกไม้
ในคำอุปมาอุปไมยนั้น มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้: เปรียบเสมือนดังแมลงผึ้งตัวไม่ฉลาด ครั้นรู้ว่าต้นไม้โน้นมีดอกบานแล้ว ก็รีบบินไปด้วยความเร็วอย่างมาก จึงบินเลยต้นไม้นั้นไปเสีย เมื่อบินวกกลับมาอีก กว่าจะมาถึงก็ต่อเมื่อละอองดอกไม้ร่วงโรยไปเสียแล้ว แมลงผึ้งที่ไม่ฉลาดอีกตัวหนึ่ง บินไปด้วยความเร็วอย่างน้อยมาก เมื่อละอองดอกไม้ร่วงโรยแล้วจึงบินไปถึง ส่วนแมลงผึ้งตัวที่ฉลาดบินไปด้วยความเร็วอย่างพอดี จึงบินไปถึงป่าดอกไม้อย่างสบาย พาเอาละอองดอกไม้พอแก่ความต้องการมาปรุงให้เป็นน้ำหวาน แล้วย่อมได้เสวยรสแห่งน้ำหวาน ฉันใด

เปรียบด้วยพฤติการณ์ศิษย์แพทย์ผ่าตัดกับใบบัว
อีกอย่างหนึ่งเปรียบเหมือนศิษย์ของแพทย์ผ่าตัดทั้งหลายที่กำลังศึกษาการผ่าตัดที่ใบบัวซึ่งอยู่ในถาดน้ำ ศิษย์คนหนึ่งซึ่งไม่ฉลาด จรดมีดลงโดยแรงย่อมจะตัดใบบัวขาดเป็นสองเสี่ยง หรือทะลุลงไปในน้ำเสีย อีกคนหนึ่งซึ่งไม่ฉลาดเหมือนกัน ไม่สามารถแม้เพื่อจะจรดมีดลงที่ใบบัว เพราะเกรงใบบัวจะขาดและเกรงมีดจะทะลุลงไปในน้ำ ส่วนศิษย์ผู้ฉลาด แสดงการจรดมีดลงที่ใบบัวนั้นได้ ด้วยประโยคอันพอดีนับว่าเป็นผู้มีศิลปะอันขาวสะอาด ครั้นไปประกอบการงานในสถานที่เห็นปานนั้นก็จะได้ลาภร่ำรวยต่อไป ฉันใด

เปรียบด้วยพฤติการณ์ของบุรุษกับใยแมงมุม
อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนเมื่อพระราชาทรงมีพระราชโองการสั่งว่า ผู้ใดสามารถนำเอาใยแมงมุมมาให้ได้ประมาณสัก ๔ วา เขาจะได้รับรางวัล ๔ พันกหาปณะ ฉะนี้ บุรุษผู้ไม่ฉลาดคนหนึ่ง รีบสาวเอาใยแมงมุมมาโดยเร็ว เลยทำให้ใยแมงมุมขาดกระท่อนกระแท่นไปหมด อีกคนหนึ่งซึ่งไม่ฉลาดเหมือนกัน ไม่กล้าแม้ที่จะจับต้องใยแมงมุมด้วยมือ เพราะเกรงมันจะขาด ส่วนบุรุษคนที่ฉลาด ค่อย ๆ เอาใยแมงมุมพันเข้าที่ท่อนไม้ด้วยประโยคอันสม่ำเสมอตั้งแต่ปลายสุด แล้วนำมาถวายได้ เขาย่อมได้รับพระราชทานรางวัล ฉันใด

เปรียบด้วยพฤติการณ์ของนายท้ายเรือกับเรือ
อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนนายท้ายเรือผู้ไม่ฉลาด ในเวลาลมแรงจัด กางใบเสียจนเต็มใบ เขาย่อมพาเรือแล่นไปผิดที่หมาย นายท้ายเรืออีกคนหนึ่ง ซึ่งไม่ฉลาดเหมือนกัน ในเวลาลมอ่อน ลดใบลงเสีย เขาย่อมทำเรือให้หยุดอยู่ ณ ที่ตรงนั้นเอง ส่วนนายท้ายเรือผู้ฉลาด ในเวลาลมอ่อน ก็กางใบให้เต็มใบ ในเวลาลมแรง ก็กางเพียงครึ่งใบ เขาย่อมไปถึงสถานที่ซึ่งตนปรารถนาโดยความสวัสดี ฉันใด

เปรียบด้วยพฤติการณ์ของศิษย์กับขวดน้ำมัน
อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนเมื่ออาจารย์ของศิษย์ทั้งหลายประกาศว่า ผู้ใดสามารถกรอกน้ำมันให้เต็มขวดได้โดยไม่ให้หกทิ้ง แล้วจะได้รับรางวัล ฉะนี้ ศิษย์คนหนึ่งซึ่งไม่ฉลาดแต่โลภอยากได้รางวัล จึงรีบกรอกน้ำมันโดยเร็ว เลยทำให้น้ำมันหกทิ้งไป อีกคนหนึ่งซึ่งไม่ฉลาดเหมือนกัน ย่อมไม่กล้าแม้เพื่อจะกรอกน้ำมันใส่ขวดเพราะเกรงน้ำมันจะหกทิ้งเสีย ส่วนศิษย์ผู้ฉลาด ค่อย ๆ กรอกน้ำมันใส่ขวดด้วยประโยคอันสม่ำเสมอ โดยไม่หกเลย เขาย่อมได้รางวัล ฉันใด

พฤติการณ์ของภิกษุผู้เป็นอุปไมย
ฉันเดียวกันนั่นแหละ ภิกษุรูปหนึ่ง เมื่อปฏิภาคนิมิตเกิดขึ้นแล้ว ทำความเพียรอย่างเคร่งเครียดทีเดียว ด้วยหมายใจว่า เราจักบรรลุถึงซึ่งอัปปนาสมาธิโดยเร็วนั่นเทียว จิตของเธอย่อมจะตกไปในความฟุ้งซ่านเสีย เพราะเหตุที่ปรารภความเพียรเคร่งเครียดเกินไป เธอไม่สามารถที่จะบรรลุถึงซึ่งอัปปนาสมาธิได้ อีกรูปหนึ่งมองเห็นโทษในความเป็นผู้มีความเพียรเคร่งเครียดเกินไป จึงได้ทอดทิ้งความเพียรเสีย ด้วยทอดธุระว่า บัดนี้เราจะธุระอะไรกับอัปปนาสมาธิ แต่นั้น จิตของเธอก็จะตกไปในความเกียจคร้านเสีย เพราะเหตุที่มีความเพียรย่อหย่อน แม้ภิกษุนั้นก็ไม่สามารถเพื่อจะบรรลุถึงซึ่งอัปปนาสมาธิเช่นกัน ส่วนภิกษุใดพยายามปลดเปลื้องภาวนาจิตที่หดหูแม้เพียงเล็กน้อยออกจากภาวะที่หดหู ปลดเปลื้องภาวนาจิตที่ฟุ้งซ่าน จากภาวะที่ฟุ้งซ่าน แล้วประคองให้ภาวนาจิตเป็นไปเฉพาะต่อปฏิภาคนิมิตด้วยประโยคอันสม่ำเสมอ (คือไม่ให้เคร่งเครียดเกินไปและไม่ให้หย่อนยานเกินไป) ภิกษุนั้นย่อมจะได้บรรลุถึงซึ่งอัปปนาสมาธิอย่างแน่นอน อันโยคีบุคคลพึงปฏิบัติให้เป็นเช่นนั้น นั่นเทียว

ข้าพเจ้าหมายเอาอรรถาธิบายอันนี้ จึงกล่าวประพันธคาถาไว้ ซึ่งมีใจความว่า: พฤติการณ์ที่เป็นไป ในละอองดอกไม้ ในใบบัว ในใยแมงมุม ในเรือและในขวดน้ำมัน ของบุคคลทั้งหลาย มีแมลงผึ้งเป็นต้น ซึ่งท่านพรรณนาไว้ด้วยดีแล้วในอรรถกถา ฉันใด โยคีบุคคลพึงพยายามปลดเปลื้องภาวนาจิตจากภาวะที่หดหู และภาวะที่ฟุ้งซ่าน โดยสิ้นเชิง แล้วประคองภาวนาจิตให้บ่ายหน้าเฉพาะจดจ่ออยู่ในปฏิภาคนิมิต ฉันนั้นฉะนี้แล

ก็แหละ เมื่อโยคีบุคคลประคองภาวนาจิตให้บ่ายหน้าเฉพาะจดจ่อในปฏิภาคนิมิตอยู่ด้วยอาการอย่างนี้นั้น มโนทวาราวัชชนจิต ทำปฐวีกสิณอันปรากฏอยู่ด้วยอำนาจภาวนาว่า ปฐวี-ปฐวี นั้นนั่นแหละให้เป็นอารมณ์เกิดขึ้นตัดภวังคจิตเหมือนจะเตือนให้รู้ว่า อัปปนาสมาธิจักสำเร็จเดี๋ยวนี้แล้ว ถัดจากนั้น ชวนจิตแล่นไปในอารมณ์นั้นนั่นแหละ ๔ ขณะบ้าง ๕ ขณะบ้าง ในชวนจิต ๔ หรือ ๕ ขณะนั้น ดวงหนึ่งในขณะสุดท้ายจัดเป็นรูปาวจรกุศลจิต (อัปปนาจิต) อีก ๓ หรือ ๔ ดวงที่เหลือข้างต้นคงเป็น กามาวจรกุศลจิต

🔅 อัปปนาชวนวิถีจิต

จิตเหล่าใดซึ่งมี วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา (จิตเตกัคคตา) มีกำลังมากกว่าจิตปกติ จิตเหล่านั้นเรียกว่า บริกรรม บ้าง เพราะเหตุปรุงแต่งอัปปนา เรียกว่า อุปจาระ บ้าง เพราะเหตุอยู่ใกล้หรือเฉียดไปใกล้อัปปนา เหมือนกับสถานที่ซึ่งอยู่ใกล้หมู่บ้านและใกล้นครเป็นต้น เขาเรียกกันว่า อุปจาระแห่งบ้านและอุปจาระแห่งนคร ฉะนั้น และเรียกว่า อนุโลม บ้าง เพราะเหตุสมควรแก่อัปปนา ตั้งแต่ในตอนก่อนแต่นี้และตอนหลังแห่งบริกรรมทั้งหลายมา แหละในกามาวจรชวนจิตนั้น ดวงใดซึ่งเกิดภายหลังเขาทั้งหมด กามาวจรชวนจิตดวงนั้น (ดวงที่ ๓ หรือที่ ๔) เรียกว่า โคตรภู บ้าง เพราะเหตุทำลายกามโคตร และทำให้มหัคคตโคตรเกิดขึ้น

แต่เมื่อว่าโดยศัพท์ที่ท่านมิได้กำหนดเอาไว้แล้ว ในอัปปนาชวนวิถีจิต ๕ ดวงนั้น ดวงที่ ๑ เรียกว่า บริกรรม ดวงที่ ๒ เรียกว่า อุปจาระ ดวงที่ ๓ เรียกว่า อนุโลม ดวงที่ ๔ เรียกว่า โคตรภู อีกนัยหนึ่ง ดวงที่ ๑ เรียกว่า อุปจาระ ดวงที่ ๒ เรียกว่า อนุโลม ดวงที่ ๓ เรียกว่า โคตรภู ดวงที่ ๔ หรือที่ ๕ เรียกว่า อัปปนา จริงอยู่ ชวนจิตดวงที่ ๔ หรือดวงที่ ๕ เท่านั้น ย่อมสำเร็จเป็น อัปปนาจิต แหละ ชวนจิตดวงที่ ๔ หรือที่ ๕ นั้นเล่า ย่อมเกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งโยคีบุคคลผู้มีปัญญาไวและมีปัญญาช้า (คนมีปัญญาไว ชวนจิตมีเพียง ๔ ขณะ ส่วนคนมีปัญญาช้ามีถึง ๕ ขณะ) หลังจากชวนจิตดวงที่ ๔ หรือที่ ๕ นั้นไป ชวนจิตก็ตกภวังค์จึงเป็นวาระของภวังคจิตต่อไป

ท่านโคทัตตเถระค้าน
ก็แหละ ท่านโคทัตตเถระผู้ชำนาญอภิธรรมกล่าวแย้งไว้ว่า ธรรมที่เกิดขึ้นหลัง ๆ ย่อมมีกำลังมาก เพราะเหตุได้อาเสวนปัจจัย เพราะฉะนั้น อัปปนาจิตจึงมีได้ในชวนะดวงที่ ๕ บ้าง ดวงที่ ๗ บ้าง เพราะท่านอ้างสูตรนี้ว่า ปริมา ปุริมา กุสลา ธมมา ปจฉิมาน ปจฉิมาน กุสลานํ ธมุมานํ อาเสวนปจจเยน ปจฺจโย ความว่า ธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศลซึ่งเกิดขึ้นตอนก่อน ๆ ย่อมเป็นปัจจัยอุดหนุนแก่ธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศลซึ่งเกิดขึ้นตอนหลัง ๆ ด้วยอาเสวนปัจจัย ท่านอรรถกถาจารย์รับรองคำคัดค้านของท่านโคทัตตเถระนั้น ท่านอรรถกถาจารย์ปฏิเสธว่า นั้นเป็นเพียงสักว่าอัตโนมัติ แล้วได้แสดงรับรองไว้ว่า ก็อัปปนาจิตนั้นย่อมมีได้ในขณะชวนจิตที่ ๔ หรือที่ ๕ นั้นถูกแล้ว ภายหลังจากนั้น ชวนจิตย่อมนับว่าตกภวังค์ไปแล้ว เพราะอยู่ใกล้ต่อภวังค์มาก คำของท่านอรรถกถาจารย์นั้น อันใคร ๆ ไม่กล้าเพื่อที่จะคัดค้านได้เลย เพราะท่านได้แสดงไว้อย่างรอบคอบแล้ว เปรียบเหมือนบุรุษผู้วิ่งตรงไปยังเหวอันชันโดยเร็ว แม้ประสงค์จะตั้งตัวไว้ ก็ไม่สามารถเพื่อจะยันเท้าที่ขอบเหวรั้งตัวไว้ได้ ย่อมจะตกไปในเหวเลยทีเดียว ฉันใด ชวนจิตก็ไม่อาจที่จะเป็นอัปปนาได้ ในชวนจิตดวงที่ ๖ หรือดวงที่ ๗ เพราะเหตุที่อยู่ใกล้ต่อภวังค์ ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น นักศึกษาพึงเข้าใจเถิดว่า อัปปนาจิตย่อมมีในชวนจิตดวงที่ ๔ หรือดวงที่ ๕ นั้นถูกต้องแล้ว

🔅 อัปปนาเกิดชั่วขณะจิตเดียว


ก็แหละ อัปปนานั้นเกิดขึ้นชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้น อธิบายว่า ใน ๗ ฐานะ ย่อมไม่มีขีดขั้นกาลเวลา คือ
ขณะอัปปนาจิตเกิดที่แรก ๑
ขณะโลกิยอภิญญา ๑
ขณะมรรคทั้งสี่ ๑
ขณะผลเกิดต่อจากมรรค ๑
ขณะภวังคฌานในรูปภพและอรูปภพ ๑
ขณะเนวสัญญานาสัญญายตนฌานเป็นปัจจัยแก่นิโรธสมาบัติ ๑
ขณะผลสมาบัติของท่านผู้ออกจากนิโรธ ๑
ในฐานะทั้ง ๗ นั้น ขณะผลเกิดต่อจากมรรค ย่อมไม่มีเกินกว่า ๓ ขณะจิต ขณะเนวสัญญานาสัญญายตนฌานเป็นปัจจัยแก่นิโรธสมาบัติ ย่อมไม่เกิน ๒ ขณะจิต ปริมาณมากน้อยของภวังคณานในรูปภพและอรูปภพไม่มี ในฐานะที่เหลือ ๔ ฐานะมีเพียงขณะจิตเดียวเท่านั้น ฉะนี้ อัปปนาจึงเกิดขึ้นชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้น แต่นั้นก็ตกภวังค์ ครั้นแล้วอาวัชชนจิตตัดภวังค์เกิดขึ้นเกิดขึ้นเพื่อพิจารณาฌาน แต่นั้นชวนจิตก็ทำหน้าที่พิจารณาฌานต่อไป

วันเสาร์

นัยที่ ๔ รูปกลาปนัย

คำว่ากลาป (อ่านว่า กะ-หลาบ หรือ กะ-ลา-ปะ ) แปลว่า กลุ่ม หรือ หมวด,หมู่,คณะ,กลุ่มดังนั้นรูปที่ชื่อว่า กลาป ก็คือกลุ่มของรูปที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ๆ ที่มีอยู่ในร่างกายของคนสัตว์ทั้งหลาย เกิดมาจากสมุฏฐาน ๔ คือ เกิดจากกรรม จิต อุตุ อาหาร รูปกลาปมีลักษณะ ๓ ประการ คือ
๑. เกิดพร้อมกัน
๒. ดับพร้อมกัน
๓. มีมหาภูตรูปเป็นที่อาศัยเกิด


รูปกลาป มีทั้งหมด ๒๑ กลาป และเกิดจากสมุฏฐานทั้ง ๔ มีดังนี้
แบ่งรูปกลาปตามสมุฏฐานของการเกิด
๑. รูปกลาปที่เกิดจากกรรม การกระทำบุญบาป ทางกาย วาจา และใจ ได้แก่เจตนา ๒๕ ที่เกิดใน อกุศลจิต ๑๒ มหากุศลจิต ๘ และรูปาวจรกุศลจิต ๕ ชื่อว่า เป็นกรรม สิ่งนี้เรียกว่า กรรมชกลาป มี ๙ กลาป
๒. รูปกลาปที่เกิดจากจิต เป็นตัวบงการหรือชักใยทำให้รูป ๒๘ เคลื่อนไหวไปทำกรรม ในส่วนที่เป็นบาปบ้าง ส่วนที่เป็นบุญบ้าง ทั้งทางกาย วาจา และใจ ได้แก่ จิต ๗๕ ดวง ส่วนทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ และ อรูปาวจรวิบากจิต ๔ จิต ๑๔ ดวงนี้ไม่ทำให้เกิดรูป สิ่งนี้เรียกว่า จิตตชกลาป มี ๖ กลาป
๓. รูปกลาปที่เกิดจากอุตุ หมายถึง อุณหภูมิ คือ ความร้อน ความเย็น ที่มีอยู่ในร่างกาย ของสัตว์ทั้งหลายและในสิ่งไม่มีชีวิต แม้ตอนตาย อุตุก็ยังคงอยู่ในซากศพต่อไป จนกว่าจะสลายหมดไปเองตามธรรมชาติสิ่งนี้เรียกว่า อุตุชกลาป มี ๔ กลาป
๔. รูปกลาปที่เกิดจากอาหาร หมายถึง อาหารที่เรารับประทานอยู่เป็นประจำวัน เมื่อไฟธาตุย่อยเป็นโอชะ แล้วก็จะนำไปบำรุงเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ถ้าขาดอาหารเสียแล้วชีวิตเราก็คงจะอยู่ไม่ได้ สิ่งนี้เรียกว่า อาหารชกลาป มี ๒ กลาป

๑.กรรมชกลาป
กรรมชกลาป
คือ กลุ่มรูปที่เกิดจากกรรม เป็นรูปที่เกิดจากอำนาจของบุญ หรือ อำนาจของบาป ที่บุคคลได้กระทำไว้ในภพชาตินี้ และภพชาติก่อนๆ ถ้าเป็นรูปร่างกายของมนุษย์ เทวดา พรหม ก็เกิดขึ้นด้วยอำนาจของกรรมดี คือ บุญ ถ้าเป็นรูปร่างกายของสัตร์นรก เปรต อสุรกาย หรือ เดรัจฉาน ก็เกิดขึ้นด้วยอำนาจของกรรมชั่ว คือ บาป

รูปที่เกิดจากอำนาจของกรรมดีและกรรมชั่ว (เจตนา ๒๕) นั้น มี ๑๘ รูป เรียกว่ากรรมชรูป ๑๘

กรรมชรูป ๑๘ นี้เกิดได้ในภพภูมิต่าง ๆ ถึง ๒๗ ภพภูมิ คือ อบายภูมิ ๔ มนุษยภูมิ ๑ เทวภูมิ ๖ รูปพรหมภูมิ ๑๖ กรรมชรูปนี้เกิดได้ทุกขณะจิตจนถึงใกล้จะตาย กรรมชรูปจะเกิดขึ้นครั้งสุดท้าย โดยนับถอยหลังจากจุติจิตขึ้นไป ๑๗ ขณะ (มีรายละเอียดถ้าศึกษาถึงเรื่องของวิถีจิตตอนใกล้จะตาย) แล้วจะไม่เกิดขึ้นอีก เป็นการจบชีวิตในชาติหนึ่งภพหนึ่ง มนุษย์ เทวดา พรหม เกิดขึ้นจากกุศลกรรม ส่วนสัตว์ในอบายภูมิเกิดจากอกุศลกรรม กลุ่มรูปที่เกิดจากกรรรมมี ๙ กลุ่ม คือ (กรรมชกลาป อ่านว่า กัม-มะ-ชะ-กะ-หลาบ)
    ๑.๑ จักขุทสกกลาป หมายถึง กลาปที่มีจำนวนรูป ๑๐ มี จักขุปสาท เป็นประธาน
    ๑.๒ โสตทสกกลาป หมายถึง กลาปที่มีจำนวนรูป ๑๐ มี โสตปสาท เป็นประธาน
    ๑.๓ ฆานทสกกลาป หมายถึง กลาปที่มีจำนวนรูป ๑๐ มี ฆานปสาท เป็นประธาน
    ๑.๔ ชิวหาทสกกลาป หมายถึง กลาปที่มีจำนวนรูป ๑๐ มี ชิวหาปสาท เป็นประธาน
    ๑.๕ อิตถีภาวทสกกลาป หมายถึง กลาปที่มีจำนวนรูป ๑๐ มี อิตถีภาวรูป เป็นประธาน
    ๑.๖ อิตถีภาวทสกกลาป หมายถึง กลาปที่มีจำนวนรูป ๑๐ มี อิตถีภาวรูป เป็นประธาน
    ๑.๗ ปุริสภาวทสกกลาป หมายถึง กลาปที่มีจำนวนรูป ๑๐ มี ปุริสภาวรูป เป็นประธาน
    ๑.๘ วัตถุทสกกลาป หมายถึง กลาปที่มีจำนวนรูป ๑๐ มี หทยวัตถุรูป เป็นประธาน
    ๑.๙ ชีวิตนวกกลาป หมายถึง กลาปที่มีจำนวนรูป ๙ มี ชีวิตรูป เป็นประธาน

๒. จิตตชกลาป
จิตตชกลาป คือ กลุ่มของรูปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน ได้แก่ อาการยืน เดิน นั่ง นอน การเคลื่อนไหวในอิริยาบถต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของคนเรา รวมทั้งการพูดจาเรื่องราวต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นไปตามอำนาจความต้องการของจิตทั้งสิ้น จึงเรียกว่า มีจิตเป็นสมุฏฐาน ถ้าคนตายคือไม่มีจิตเสียแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะเคลื่อนไหวหรือพูดจาใดๆได้เลย จิตที่เป็นตัวการหรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวกาย หรือการพูดนั้น ได้แก่ จิต ๗๕ ดวง มีอำนาจทำให้เกิดรูปได้ ๑๕ รูป รูปที่เกิดจากอำนาจของจิตนี้ เรียกว่า จิตตชรูปรูปที่เกิดจากจิต หรือ จิตตชกลาป มี ๖ กลุ่ม (กลาป) คือ

    ๒.๑ สุทธัฏฐกกลาป คือ กลุ่มรูปพื้นฐาน จะเกิดในขณะจิตใจอ่อนเพลียโดยที่ยังไม่พูดหรือเคลื่อนไหวกาย กลุ่มรูปนี้ได้แก่ อวินิพโภครูป

    ๒.๒ กายวิญญัตินวกกลาป คือ กลุ่มรูปที่ทำให้กายเคลื่อนไหว มี ๙ รูป เกิดขึ้นในขณะที่จิตใจอ่อนเพลียแล้วเคลื่อนไหวกาย มี ๙ รูป ได้แก่ อวินิพโภครูปกายวิญญัติรูป


    ๒.๓ วจีวิญญัติสัทททสกกลาป
คือ กลุ่มรูปที่ทำให้เกิดการพูด มี ๑๐ รูป มีการอ่านหนังสือ ร้องเพลง สวดมนต์ เป็นต้น ที่ไม่เป็นไปตามปกติ คือ ทำในขณะที่ไม่ค่อยสบาย เกิดความท้อถอย ไม่เต็มใจ เป็นต้น กลุ่มรูปนี้ มี ๑๐ รูป ได้แก่ อวินิพโภครูปสัททรูป ๑ วจีวิญญัติรูป ๑
    ๒.๔ ลหุตาทิเอกาทสกกลาป คือ กลุ่มรูปที่ทำให้เกิดความเบา มี ๑๑ รูป เป็นกลุ่มรูปที่เกิดขึ้นในขณะที่ไม่ได้มีการเคลื่อนไหว ไม่มีการพูด แต่ในขณะนั้น จิตมีความสบายเข้มแข็งดี หน้าตาแจ่มใสชื่นบาน กลุ่มรูปนี้ มี ๑๑ รูปได้แก่อวินิพโภครูปวิการรูป

    ๒.๕ กายวิญญัติลหุตาทิทวาทสกกลาป
คือ กลุ่มรูปที่ทาให้เกิดการคล่องตัวในการเคลื่อนไหวกายมี ๑๒รูป (อ่านว่า กา-ยะ-วิด-ยัด-ละ-หุ-ตา-ทิ-ทะ-วา-ทะ-สะ-กะ-กะหลาป) ในขณะที่จิตใจแจ่มใส เข้มแข็ง มี ๑๒ รูป ได้แก่ อวินิพโภครูปวิการรูป ๓ กายวิญญัติรูป ๑


    ๒.๖ วจีวิญญัติสัททลหุตาทิเตรสกกลาป คือ กลุ่มรูปที่ทำให้เกิดการพูดที่คล่องแคล่ว มี ๑๓ รูป ในขณะที่จิตใจแจ่มใส เข้มแข็ง มีการพูด การสวดมนต์ การร้องเพลง เป็นต้น มี ๑๓ รูป ได้แก่ อวินิพโภครูปวิการรูป ๓ สัททรูป ๑ กายวิญญัติรูป ๑


๓. อุตุชกลาป
อุตุชกลาป คือ กลุ่มของรูปที่เกิดมาจากอุตุเป็นสมุฏฐาน อุตุ คือ ความเย็น และความร้อน เกิดได้ทั้งภายในร่างกายและภายนอกร่างกาย คือเกิดได้ทั้งในสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต

ถ้าในสิ่งที่มีชีวิตอุตุชกลาปย่อมเกิดได้ทั้งหมด ๔ กลาป ถ้าภายนอกตัวคนสัตว์จะเกิดได้เพียง ๒ กลาปเท่านั้น

อุตุชกลาป มี ๔ กลาป คือ

    ๓.๑ สุธัฏฐกกลาป (อ่านว่า สุ-ทัด-ทะ-กะ-กะ-หลาบ) เกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐานเป็นพื้นฐานของรูปทั้งหมด ทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต กลาปนี้เกิดขึ้นในขณะที่ร่างกายอ่อนเพลีย ไม่สบาย เป็นต้น มี ๘ รูป ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘

    ๓.๒ สัททนวกกลาป (อ่านว่า สัด-ทะ-นะ-วะ-กะ-กะ-หลาบ) เป็นกลุ่มรูปที่ทาให้เกิดเสียง เกิดขึ้นได้ทั้งภายในและภายนอก เช่นเดียวกัน แต่เป็นเสียงที่ไม่ชัดเจนนัก เช่น เสียงท้องร้อง เสียงกรน หรือเสียงลมพัด เสียงฟ้าร้อง เป็นต้น มี ๙ รูป ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ และ สัททรูป ๑ (สัททรูป หมายถึงสิ่งที่สามารถปรากฏได้ทางหู ซึ่งมีลักษณะที่ดังและกระทบกับโสตปสาท)

    ๓.๓ ลหุตาทิเอกาทสกกลาป (อ่านว่า ละ-หุ-ตา-ทิ-เอ-กา-ทะ-สะ-กะ-กะ-หลาบ) เกิดขึ้นได้เฉพาะในสิ่งที่มีชีวิตเท่านั้น เกิดขึ้นได้ ในขณะที่มีร่างกายปกติแข็งแรงดี มี ๑๑ รูป คือ อวินิพโภครูป ๘ และวิการรูป ๓

    ๓.๔ สัททลหุตาทิทวาทสกกลาป (อ่านว่า สัด-ทะ-ละ-หุ-ตา-ทิ-ทะ-วา-ทะ-สะ-กะ-กะ-หลาบ) เป็นกลุ่มรูปที่ทำให้เกิดเสียง ตามข้อ ๒ คือ กลุ่มของสัททนวกกลาป แต่เป็นเสียงที่ดังออกมาชัดเจน เช่น เสียงกรน เสียงท้องร้อง เสียงลมหายใจ เป็นต้น เป็นเสียงที่ไม่เกี่ยวกับการพูด มี ๑๔ รูป ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ วิการรูป ๓ และ สัททรูป ๑

๔. อาหารชกลาป
อาหารชกลาป คือ กลุ่มรูปที่เกิดจากอาหาร คนสัตว์จะมีชีวิตอยู่ได้ก็ต้องอาศัยอาหารทั้งนั้น อาหารมีทั้งชนิดที่เป็นรูปเรียกว่า รูปอาหาร และอาหารที่เป็นนาม เรียกว่า นามอาหาร

รูปอาหาร ก็คืออาหารที่เรารับประทานเข้าไปเป็นคำ ๆ เรียกว่า กพฬีการาหาร เช่น ข้าว น้ำ ยา หรือวิตามินต่าง ๆ ทำให้ร่างกายเจริญเติบโตได้ นามอาหาร มี ๓ คือ ผัสสาหาร มโนสัณเจตนาหาร และวิญญาณาหาร รูปอาหารเมื่อจัดเป็นกลาปแล้ว ได้ ๒ กลาป คือ

    ๔.๑ สุทธัฏฐกกลาป คือ กลุ่มของรูปที่เกิดจากอาหารที่เรารับประทานเข้าไปที่ยังไม่ย่อย ทำให้เกิดการอึดอัดหรือง่วงซึมไม่กระปรี้กระเปร่า เนื่องจากยังไม่มีวิการรูป ๓ คือ รูปเบา รูปอ่อน หรือรูปที่ควรแก่การงานเกิดร่วมด้วย ยังไม่เกิดความคล่องตัวที่จะทำงานให้เกิดมีประสิทธิภาพขึ้น กลาปรูปนี้มีเพียง ๘ รูปเท่านั้น คือ อวินิพโภครูป

    ๔.๒ ลหุตาทิเอกาทสกกลาป คือ อาหารที่ย่อยเป็นโอชะแล้ว มีวิการรูป ๓ เข้าประกอบด้วยจึงนำเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายทำให้ร่างกายเจริญเติบโตแข็งแรง กลาปรูปนี้จึงประกอบด้วย อวินิพโภครูป ๘ และวิการรูป ๓


สรุป
การศึกษาเรื่องรูปกลาป จะทำให้เราทราบถึงกลุ่มรูปที่เกิดมาล้วนมีเหตุหรือสมุฏฐานแห่งการเกิดทั้งสิ้น จะได้ทำลายความสงสัยว่า คนหรือสัตว์ทั้งหลายเกิดมาได้อย่างไร ? พรหมสร้างให้เกิดมาหรือ ? ตลอดจนเป็นความรู้ให้เข้าถึงวิปัสสนาได้ รูปทั้ง ๒๘ ที่ได้ศึกษาผ่านไปแล้วโดยนัยต่าง ๆ เป็นความรู้ที่จะทำให้นักศึกษารู้จักคำว่า “รูป” ได้อย่างละเอียดถูกต้อง จะได้ไม่หลงเข้าใจผิดระหว่างรูปกับอิริยาบถ ในอิริยาบถต่าง ๆ มีการเดิน ยืน นั่ง นอน เป็นต้นนั้น ไม่ใช่รูปเพราะเป็นเพียงกิริยา อาการ ท่าทาง เท่านั้น การเจริญวิปัสสนาเพื่อให้รู้จักนามและรูป ต้องรู้เหตุแห่งการเกิดอิริยาบถ ซึ่งเหตุแห่งการเกิดอิริยาบถก็คือ วาโยธาตุ หรือธาตุลมนั้นเอง ถ้าพิจารณาได้อย่างถูกต้องอย่างนี้ก็เป็นการเจริญวิปัสสนาได้อย่างถูกต้องแท้จริง