แสดงโพสต์โดยจัดเรียงตามความเกี่ยวข้องกับคำค้นหา วิถีจิต จัดเรียงตามวันที่ แสดงโพสต์ทั้งหมด
แสดงโพสต์โดยจัดเรียงตามความเกี่ยวข้องกับคำค้นหา วิถีจิต จัดเรียงตามวันที่ แสดงโพสต์ทั้งหมด

วันอังคาร

อัญญสมานาเจตสิก ๑๓

คำว่า “อัญญสมาน” นี้ เมื่อแยกศัพท์แล้วได้ ๒ ศัพท์ คือ :-

อัญญ หมายถึง ธรรมอื่น
สมาน หมายถึง เหมือนกัน

อัญญสมาน จึงหมายถึง เหมือนธรรมอื่น ธรรมอื่นในที่นี้ หมายถึง เจตสิกธรรม ที่เป็นทั้งโสภณเจตสิกและอกุศลจิต ฉะนั้น อัญญสมานาเจตสิก จึงหมายถึงเจตสิกที่มีสภาพเหมือนธรรมอื่น กล่าวคืออัญญสมานาเจตสิก ย่อมประกอบกับโสภณเจตสิก และอกุศลเจตสิกได้ทั้ง ๒ พวก

ส่วนโสภณเจตสิก ซึ่งไม่เหมือนกับอกุศลเจตสิก หรืออกุศลเจตสิกซึ่งไม่เหมือนโสภณเจตสิก ทั้ง ๒ พวกนี้ จึงไม่อาจประกอบกันได้ เหมือนอย่างอัญญสมานาเจตสิก

อัญญสมานาเจตสิก ๑๓

แผนผังอัญญสมานาเจตสิก


อัญญสมานาเจตสิกนี้ มีอยู่ ๒ นัย คือ

🔆 นัยที่ ๑. สัพพจิตตสาธารณเจตสิก 
สัพพจิตสาธารณเจตสิก เมื่อแยกศัพท์ออกแล้วได้ ๓ ศัพท์ คือ สพฺพ + จิตฺต + สาธารณ
        สัพฺพ หมายถึง ทั้งหมด
        จิตฺต หมายถึง จิต
        สาธารณ หมายถึง ทั่วไป
สัพพจิตตสาธารณเจตสิก จึงหมายถึง เจตสิกที่ประกอบได้ทั่วไปแก่จิตทั้งหมด เจตสิกประเภทนี้มี ๗ ดวงคือ

๑. ผัสสเจตสิก

ผัสสเจตสิก เป็นธรรมชาติที่กระทบถูกต้องอารมณ์ ลักษณะพิเศษเฉพาะตัวของผัสสเจตสิก มีอยู่ ๔ ประการ ที่เรียกว่า ลักขณาทิจตุกะ คือ :

    ผุสฺสนลกฺขโณ มีการกระทบอารมณ์ เป็นลักษณะ
    สงฺฆฏฺฏนรโส มีการประสาน(อารมณ์-ทวาร วิญญาณ) เป็นกิจ
    สนฺนิปาตปัจจุปัฏฐาโน มีการประชุมพร้อมกัน เป็นผลปรากฏ
    อาปาตคตวิสัยปทุฏฐาโน มีอารมณ์ที่ปรากฏเฉพาะหน้า เป็นเหตุใกล้

ผัสสเจตสิกที่มีการกระทบอารมณ์เป็นลักษณะนั้น เพราะผัสสะนั้นมีอรรถว่า กระทบถูกต้อง ผัสสะนี้เป็นอรูปธรรม การกระทบนั้นจึงเป็นไปโดยการกระทบอารมณ์นั้น เหมือนคนที่เห็นผู้อื่นรับประทานของเปรี้ยว แล้วเกิดน้ำลายไหล คล้ายกับว่า ตนเองกำลังกระทบกับของเปรี้ยว ที่เป็นเช่นนี้ก็เป็นไปโดยอาการที่ผัสสะกระทบกับอารมณ์นั่นเอง แม้ผัสสะ ซึ่งเป็นอรูปธรรม จะเป็นตัวกระทบอารมณ์เป็นลักษณะ และเมื่อกระทบแล้ว ย่อมดับไป ไม่มีอะไรเหลือเป็นส่วนติดค้างอยู่ก็จริง แต่ผัสสะนั้นก็เป็นตัวประสานจิตกับอารมณ์ให้เกิดรู้ขึ้นมา เหมือนประสานรูปกับตาให้เห็น ประสานเสียงกับหูให้ได้ยิน เป็นต้น จึงชื่อว่าผัสสะ มีการประสานจิตกับอารมณ์เป็นกิจ เมื่อผัสสะเป็นสิ่งประสานจิตกับอารมณ์แล้วสภาพธรรมอันเป็นผลของผัสสะนั้น จึงเกิดขึ้น ๓ ประการคือ อารมณ์ ๑ ทวาร ๑ และวิญญาณ ๑

กล่าวคือ เกิดการประชุมพร้อมกันแห่งสภาวธรรม ประการดังกล่าวแล้วนั้นจึงชื่อว่า ผัสสะ มีการประชุมพร้อมกันแห่งสภาวธรรม ๓ ประการเป็นผลปรากฏ ผัสสะ ย่อมมีอารมณ์เป็นเหตุใกล้ กล่าวคือ เมื่อมีอารมณ์มาครอง(ทวาร) ประกอบด้วยการเอาใจใส่ที่เหมาะสม อันอินทรีย์ปรุงแต่งดีแล้ว ย่อมเป็นเหตุใกล้ให้ผัสสะเกิดขึ้น โดยไม่มีอะไรขัดขวาง

๒. เวทนาเจตสิก

เวทนาเจตสิก เป็นธรรมชาติที่เสวยอารมณ์ ธรรมชาติที่ชื่อว่า เวทนานั้นมีอรรถว่า รับรู้ คือเสวยรสแห่งอารมณ์ จริงอยู่แม้สัมปยุตธรรมอื่นนอกจากนี้ ก็ย่อมมีการเสวยอารมณ์ได้ด้วยเหมือนกัน แต่เป็นการเสวยอารมณ์เพียงบางส่วนเท่านั้น เช่น ผัสสะ มีการเสวยอารมณ์ชั่วขณะกระทบถูกต้อง สัญญาก็มีการเสวยเพียงจำเก็บอารมณ์เท่านั้น เจตนาก็เพียงการตั้งใจต่ออารมณ์เท่านั้น มิได้มีการเสวยโดยลิ้มรสของอารมณ์ โดยตรงเหมือนอย่างเวทนา เพราะฉะนั้นเวทนาจึงนับว่าเป็นเจ้าของ เป็นใหญ่ มีอำนาจในการเสวยอารมณ์โดยตรง ในอัฏฐสาลินีอรรถกถาเปรียบเวทนาเหมือนพระราชา สัมปยุตธรรมนอกจากนี้เหมือนพ่อครัวผู้ปรุงโภชนะที่มีรสดีต่างๆ แล้วเก็บใส่ภาชนะประทับตรา นำเข้าถวายพระราชา พระองค์ทรงเป็นเจ้าของ เป็นใหญ่ มีอำนาจเสวยได้ตามพระราชประสงค์ ส่วนสัมปยุตธรรมนอกนั้นเสวยรสอารมณ์ได้เพียงบางส่วน เหมือนพ่อครัวหรือต้นเครื่อง เพียงแต่ดมกลิ่น ชิมทดลองพระกระยาหารแต่เพียงบางส่วนเท่านั้น ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า เวทนา เป็นธรรมชาติที่เสวยอารมณ์ทั้งหมด โดยตรงและแน่นอน

ลักษณะของเวทนา ตามนัยของปฏิจจสมุปบาท

    อนุภวนลกฺขณา มีการเสวยอารมณ์ เป็นลักษณะ
    วิสยรสสมฺโภครสา มีการเสวยรสของอารมณ์ เป็นกิจ
    สุขทุกฺขปจฺจุปฏฺฐานา มีสุข และมีทุกข์ เป็นผลปรากฏ
    ผสฺสปทฏฺฐานา มีผัสสะ เป็นเหตุใกล้

การรับรู้หรือการเสวยอารมณ์ของเวทนานั้น ถ้าจะจำแนกความรู้สึกในการเสวยอารมณ์ที่เป็นอิฏฐารมณ์, อนิฏฐารมณ์ และมัชฌัตตารมณ์แล้ว ได้ความรู้สึกสุขสบายเรียกว่า สุขเวทนา, ความรู้สึกเป็นทุกข์ไม่สบายเรียกว่าทุกขเวทนา, ความรู้สึกเฉยๆ คือไม่ทุกข์ไม่สุข เรียกว่า อทุกขมสุขเวทนา การจำแนกเวทนาเป็น ๓ ประเภท ตามความรู้สึกในการเสวยอารมณ์นี้เรียกว่า จำแนกโดย อารัมมณานุภวนลักขณนัย แต่ถ้าจำแนกโดยความเป็นใหญ่ในการรับอารมณ์คือ การเสวยอารมณ์ที่เกี่ยวกับกายและเกี่ยวกับใจแล้ว ก็จำแนกออกเป็น ๕ ประเภทคือ :-

ทางกาย มี ๒ ได้แก่
ความรู้สึกสบายกาย เรียกว่า สุขเวทนา
ความรู้สึกไม่สบายกาย เรียกว่า ทุกขเวทนา

ทางใจ มี ๓ ได้แก่
ความรู้สึกสบายใจ เรียกว่า โสมนัสเวทนา
ความรู้สึกไม่สบายใจ เรียกว่า โทมนัสเวทนา
ความรู้สึกเฉยๆ เรียกว่า อุเบกขาเวทนา

การจำแนกเวทนาโดยความเป็นใหญ่ในการเสวยอารมณ์ออกเป็น ๕ ประเภทนี้ เรียกว่า จำแนกโดย อินทริยเภทนัย จะได้แสดงลักษณะพิเศษเฉพาะตนของเวทนาทั้ง ๕ ประการ ตามนัยดังกล่าวนี้ คือ :-
    

  • ๑. สุขเวทนาเจตสิก คือ ธรรมชาติที่เสวยอารมณ์สบายทางกาย มีลักขณาทิจตุกะ แสดงว่า
    อิฏฐโผฏฺฐพฺพานุภวนลกฺขณา มีการสัมผัสกับโผฏฐัพพารมณ์ที่ดี เป็นลักษณะ
    สมปยุตฺตานํ พยุหนรสา มีการทำให้สัมปยุตธรรมเจริญ เป็นกิจ
    กายิกอสฺสาทปจฺจุปฏฺฐานา มึความยินดีทางกาย เป็นผล
    กายินฺทริยปทฏฺฐานา มีกายปสาท เป็นเหตุใกล้
  • ๒. ทุกขเวทนาเจตสิก คือธรรมชาติที่เสวยอารมณ์ไม่สบายทางกาย มีลักขณาทิจตุกะ คือ :-
    อนิฏฐโผฏฐพฺพานุภวนลกขณา มีการสัมผัสกับโผฏฐัพพารมณ์ที่ไม่ดี เป็นลักษณะ
    สมฺปยุตฺตานํ มิลาปนรสา มีการทำสัมปยุตธรรมให้เศร้าหมอง เป็นกิจ
    กายิกาพาธ ปจฺจุปฏฺฐานา  มีความอาพาธทางกาย เป็นผล
    กายินฺทริยปทฏฺฐานา มีกายปสาท เป็นเหตุใกล้
  • ๓. โสมนัสเวทนาเจตสิก คือ ธรรมชาติที่เสวยอารมณ์สบายใจ มีลักขณาทิจตุกะ คือ :-
    อิฏฐารมุมณานุภวนลกฺขณา มีการเสวยอารมณ์ที่ดี เป็นลักษณะ
    อิฏฐาการสมฺโภครสา มีการประจวบกับอาการที่น่าปรารถนา เป็นกิจ
    เจตสิกอสฺสาทปจฺจุปฏฺฐานา มีความแช่มชื่นยินดีทางใจ เป็นผล
    ปสฺสทฺธิปทฏฺฐานา มีความสงบกายใจ เป็นเหตุใกล้
  • ๔. โทมนัสเวทนาเจตสิก คือ ธรรมชาติที่เสวยอารมณ์ไม่สบายใจ มีลักขณาทิจตุกะ คือ :-
    อนิฏฐารมุมณานุภวนลกฺขณา มีการเสวยอารมณ์ที่ไม่ดี เป็นลักษณะ
    อนิฏฐาการสมฺโภครสา มีการประจวบกับอาการที่ไม่น่าปรารถนา เป็นกิจ
    เจตสิกาพาธปัจจุปฏฺฐานา มีความอาพาธทางใจ เป็นผล
    หทยวตฺถุปทฏฺฐานา มีหทัยวัตถุ เป็นเหตุใกล้
  • ๕. อุเบกขาเวทนาเจตสิก คือธรรมชาติที่เสวยอารมณ์เฉยๆ ทางใจ ไม่โทมนัสและไม่โสมนัส มีลักขณาทิจตุกะ คือ :
    มชฺฌตฺต เวทยิตลกฺขณา มีการเสวยอารมณ์ปานกลาง เป็นลักษณะ
    สมปยุตฺตานํ นาติอุปพยูหน มิลาปนรสา มีการรักษาสัมปยุตธรรม ไม่ให้เจริญและไม่ให้เศร้าหมอง เป็นกิจ
    สนฺตภาวปจฺจุปฏฺฐานา มีความสงบ เป็นผล
    นิปฺปีติกจิตฺตปทฏฺฐานา มีจิตที่ไม่มีความปีติยินดี เป็นเหตุใกล้

อย่างไรก็ตาม สุข ทุกข์, โสมนัส, โทมนัส หรืออุเบกขา ก็ล้วนแต่ อาการเสวยรสแห่งอารมณ์ด้วยกันทั้งนั้น ฉะนั้น เวทนาเจตสิก จึงกล่าวได้ว่าเป็นธรรมชาติที่เสวยอารมณ์

๓. สัญญาเจตสิก

สัญญาเจตสิก เป็นธรรมชาติที่จำอารมณ์ เช่น จำอารมณ์นี้ว่า เป็นสีเขียว, สีแดง หรือยาว, สั้น, กลม, แบน หรือเหลี่ยมเป็นต้น มีลักขณาทิจตุกะดังนี้คือ :-

  • สัญชานน ลักฺขณา มีความจํา เป็นลักษณะ
  • ปุนสญฺชานน ปจฺจยนิมิตุตกรณรสา มีการทำเครื่องหมายเพื่อให้รู้ต่อไป เป็นกิจ
  • ยภาคหิต นิมิตฺตัวเสน อภินิเวสกรณ์ปัจจุปฏฺฐานา มีความจำเครื่องหมายที่กำหนดให้ไว้ เป็นผล
  • ยถาอุปฏจิตวิสยปทฏฺฐานา มีอารมณ์ที่ปรากฏ เป็นเหตุใกล้

๔. เจตนาเจตสิก

เจตนาเจตสิก เป็นธรรมชาติที่จัดแจงเอาธรรมที่สัมปยุตกับตนไว้ในอารมณ์คือ มีภาวะที่กระตุ้นเตือนให้สัมปยุตธรรมที่เกิดพร้อมกับตนนั้น ตั้งใจทำกิจของตนๆ มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้ คือ :-

  • เจตนาภาวลกฺขณา มีความตั้งใจ เป็นลักษณะ
  • อายูหนรสา มีการประมวลมา เป็นกิจ
  • สวิธานปจฺจุปฏฺฐานา มีการจัดแจง เป็นผล
  • เลสขนฺธตฺตยปทฏฐานา มีนามขันธ์ที่เหลือทั้ง ๓ (เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, วิญญาณขันธ์) เป็นเหตุใกล้

มีความตั้งใจเป็นลักษณะนั้น ก็คือ ความมุ่งหวัง เพื่อให้ธรรมที่สัมปยุตด้วยตนเป็นไปในอารมณ์ มีการประมวลมาเป็นกิจ มุ่งหมายถึงมีหน้าที่ประมวลมาซึ่ง กรรม มีกุศลกรรม และอกุศลกรรมเป็นกิจ มีความจัดแจงเป็นผล หมายถึงความขวนขวายในการปรุงแต่งธรรมที่เป็นสังขตะ จึงจำแนกไว้ในประเภท สังขารขันธ์ เพราะอรรถว่าปรุงแต่งสิ่งที่เป็นสังขตธรรม เป็นผล

มีนามขันธ์ที่เหลือทั้ง ๓ (เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์ และวิญญาณขันธ์) เป็นเหตุใกล้ คือนามขันธ์ ๔ นั้น เมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นพร้อมกัน และช่วยอุดหนุนซึ่งกันและกัน ฉะนั้น เมื่อเจตนาเจตสิก ซึ่งเป็นสังขารขันธ์เกิดขึ้น นามขันธ์ที่เหลือทั้ง ๓ จึงเป็นเหตุใกล้ให้เกิด

๕. เอกัคคตาเจตสิก

เอกัคคตาเจตสิก เป็นธรรมชาติที่สงบ และทำให้สัมปยุตธรรมตั้งอยู่ในอารมณ์เดียว มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้ คือ :-

  • อวิกฺเขปลกฺขณา มีการไม่ฟุ้งซ่าน เป็นลักษณะ
  • สหชาตานํ สมฺปิณฺฑนรสา มีการรวบรวมสหชาติธรรม เป็นกิจ
  • อุปสมปจฺจุปฏฺฐานา มีความสงบ เป็นผล
  • สุขปทฏฺฐานา มีสุขเวทนา เป็นเหตุใกล้

๖. ชีวิตินทรียเจตสิก

ชีวิตินทรียเจตสิก เป็นธรรมชาติที่รักษาสัมปยุตธรรม ที่ชื่อว่า “ชีวิต” เพราะอรรถว่า เป็นเครื่องดำรงอยู่แห่งสัมปยุตธรรมทั้งหลาย และชื่อว่า “อินทรีย์” เพราะประกอบด้วยความเป็นใหญ่ในการอนุบาลธรรมที่เกิดร่วมกัน เพราะเป็นเครื่องดำรงอยู่ และเป็นใหญ่ในการอนุบาลสัมปยุตธรรม จึงชื่อว่า ชีวิตินทรียเจตสิก มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้ คือ :-

  • สหชาตานํ อนุปาลนลกขณํ มีการรักษาสหชาติธรรม เป็นลักษณะ
  • เตสํ ปวตฺตนรสํ มีความตั้งอยู่ และเป็นไปได้แห่งสัมปยุตธรรม เป็นกิจ
  • เตสญฺเญ ถปนปจจุปฏฺฐานํ มีการดำรงอยู่ได้แห่งสหชาตธรรม เป็นผล
  • เสสขนฺธตฺตยปทฏฺฐานํ มีนามขันธ์ที่เหลือทั้ง ๓ (เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, วิญญาณขันธ์) เป็นเหตุใกล้

ชีวิตินทรียเจตสิก ที่มีการอนุบาลสัมปยุตธรรมที่เกิดร่วมกันนั้น เหมือนน้ำที่หล่อเลี้ยงดอกบัวให้ดำรงความสดอยู่ ฉะนั้น

๗. มนสิการเจตสิก

การกระทำ ชื่อว่า “การะ” การกระทำไว้ในใจ ชื่อว่า “มนสิการ” มนสิการเจตสิก เป็นธรรมชาติที่เหนี่ยวนำสัมปยุตธรรม เข้าสู่อารมณ์อยู่เสมอ เช่น เมื่อรูปารมณ์มากระทบจักขุปสาทแล้ว จักขุวิญญาณจิตก็เกิดขึ้นพร้อมด้วยมนสิการเจตสิก ขณะเดียวกันนั้นเอง มนสิการเจตสิกก็เป็นผู้นำให้จิตและเจตสิกดวงอื่นๆ ที่เกิดพร้อมกับตนนั้น มุ่งเข้าสู่รูปารมณ์ ในอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา ได้อุปมามนสิการเจตสิกนี้ เป็นเหมือนนายสารถีที่ชักม้าไปสู่ทิศทางที่ตนต้องการ คือให้มุ่งหน้าตรงต่ออารมณ์นั้นเอง มนสิการเจตสิก มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้ คือ :-

  • สารณลกฺขโณ มีการทำให้สัมปยุตธรรมแล่นไปในอารมณ์ เป็นลักษณะ
  • สมฺปยุตฺตานํ อารมุมเณ สโยชนรโส มีการประกอบสัมปยุตธรรมไว้กับอารมณ์ เป็นกิจ
  • อารมุมณภิมุขีภาวปจฺจุปฏฺฐาโน มีการทำสัมปยุตธรรมให้มุ่งตรงอารมณ์เสมอ เป็นผล
  • อารมฺมณปทฏฺฐาโน มีอารมณ์ (อดีต ปัจจุบัน อนาคต และกาลวิมุตติ) เป็นเหตุใกล้

มนสิการ แปลว่า การกระทำในใจ คือ ความใส่ใจว่าโดยทั่วไปแล้ว มนสิการ มี ๓ อย่าง คือ :-

๑. วิถีปฏิปาทกมนสิการ คือมนสิการที่ทำให้วิถีจิตเกิดทางปัญจทวาร ได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่เริ่มรับอารมณ์ใหม่เข้า มากระทบทวารทางตา หู จมูก ลิ้น และกาย ทำให้จักขุทวารวิถี เป็นต้นเกิดขึ้น จึงชื่อว่า วิถีปฏิปาทกมนสิการ คือเป็นผู้นำจิตให้ขึ้นสู่วิถี
๒. ชวนปฏิปาทกมนสิการ คือมนสิการ ที่ทำให้ชวนจิตเกิดขึ้นเสพอารมณ์ โดยความเป็นกุศล, อกุศล หรือกิริยาชวนจิต ตามธรรมดา ปัญจทวารวิถี หรือมโนทวารวิถี ที่มีชวนจิตเกิดขึ้นได้นั้น เพราะอาศัยมโนทวาราวัชชนจิตเป็นเหตุ ถ้าไม่มีมโนทวาราวัชชนจิตแล้ว ชวนจิตก็เกิดขึ้นไม่ได้ เหตุนี้ มโนทวาราวัชชนจิตจึงชื่อว่า ชวนปฏิปาทกมนสิการ คือเป็นผู้นำจิตให้ขึ้นสู่ชวนะ
๓. อารัมมณปฏิปาทกมนสิการ คือ มนสิการที่ทำให้สัมปยุตธรรมคือ จิต, เจตสิก แล่นไปในอารมณ์ องค์ธรรม ได้แก่ มนสิการเจตสิก มนสิการที่เป็นเจตสิกปรมัตถ์นั้น มุ่งหมายเอาอารัมมณปฏิปาทกมนสิการ นั่นเอง


🔆 นัยที่ ๒ ปกิณณกเจตสิก

คำว่า ปกิณณก นั้น เมื่อแยกศัพท์ออกแล้วได้ ๓ ศัพท์ คือ :-

    ป แปลว่า โดยทั่วไป
    กิณฺณ แปลว่า กระจัดกระจายไป
    ก ไม่มีคำแปลโดยเฉพาะ

ฉะนั้น คำว่า “ปกิณฺณก” จึงแปลว่า กระจัดกระจายอยู่โดยทั่วไป “ปกิณณกเจตสิก” จึงหมายความว่า เจตสิกที่กระจัดกระจายอยู่โดยทั่วๆไป คือปกิณณกเจตสิกบางดวงประกอบกับอกุศลจิตบ้าง, กุศลจิตบ้าง, วิบากจิตหรือกิริยาจิตบ้าง เป็นการประกอบได้ทั่วไป ทั้งฝ่าย อโสภณะ และโสภณะ หรือทั้งโลกียะ และโลกุตตระ แต่การประกอบของปกิณณกเจตสิกนี้ ประกอบได้แต่เพียงบางดวงเท่านั้น ไม่ใช่ประกอบได้กับจิตทั้งหมด เหมือนอย่างสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ซึ่งประกอบกับจิตทั่วไป และประกอบได้ทั้งหมด ปกิณณกเจตสิกนี้ มีจำนวน ๖ ดวง คือ :-

๑. วิตกเจตสิก

วิตกเจตสิก เป็นธรรมชาติที่ยกจิตเข้าไว้ในอารมณ์ คือ ยกเอาสัมปยุตธรรมที่เกิดร่วมกันนั้นมาจดจ่อที่อารมณ์ กล่าวโดยทั่วไปแล้ว วิตก คือการตรึกอยู่ในอารมณ์ ซึ่งมีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้ คือ :-

  • อารมุมเณจิตฺตสฺส อภินิโรปนลกฺขโณ มีการยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ เป็นลักษณะ
  • อาหนปฺปริยาหนรโส มีการกระทำให้จิตกระทบอารมณ์บ่อยๆ เป็นกิจ
  • อารมุมเณจิตฺตสฺส อานยน ปัจจุปัฏฺฐาโน มีจิตที่นำเข้าไว้ในอารมณ์ เป็นผล
  • อารมุมณปทฏฺฐาโน(วา) มีอารมณ์ (หรือ) เลสขนฺธตฺตยปทุฏฐาโน มีนามขันธ์ ๓ ที่เหลือ เป็นเหตุใกล้

สภาพของวิตกเจตสิกนั้น เป็นเหมือนนำสัมปยุตธรรมเหล่านั้นบรรจุเข้าไว้ในอารมณ์ อุปมาเหมือนคนบางคนที่อาศัยญาติ หรือมิตรสหาย ซึ่งเป็นข้าราชบริพารพาเข้าสู่ราชมณเฑียรได้ ฉันใด จิตก็เช่นเดียวกัน ย่อมต้องอาศัยวิตกเจตสิก จึงขึ้นสู่อารมณ์ได้ฉันนั้น

ความแตกต่างระหว่าง เจตนา, มนสิการ และวิตกเจตสิก

สภาวะของเจตสิกธรรมทั้ง ๓ ประการนี้ มีลักษณะและกิจหน้าที่คล้ายคลึงกันอยู่มาก จึงสมควรที่จะได้ทราบความต่างกัน ดังต่อไปนี้ คือ :

- ลักษณะและกิจของเจตนาเจตสิก ก็คือ การกระตุ้นเตือนสัมปยุธรรมที่เกิดพร้อมกับตนให้เข้าจับอารมณ์นั้น เป็นลักษณะ และพยายามให้สัมปยุตธรรมที่เกิดพร้อมกับตนนั้น ให้ติดต่อกับอารมณ์นั้นๆ เป็นกิจ หมายความว่า หน้าที่ของ เจตนา ทำให้จิตและเจตสิก สำเร็จการงานเป็นกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม

- ลักษณะและกิจของมนสิการเจตสิก ก็คือ การทำให้สัมปยุตธรรมมุ่งตรงสู่อารมณ์อยู่เสมอ เป็นลักษณะ และทำให้สัมปยุตธรรมประกอบในอารมณ์เป็นกิจ หมายความว่า หน้าที่ของ มนสิการ ทำให้จิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกับตนนั้น ให้มุ่งตรงสู่อารมณ์อยู่เสมอ ไม่ให้หันเหไปทางอื่น

- ลักษณะและกิจของวิตกเจตสิกก็คือ ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ เป็นลักษณะมีการตั้งต้นกระทบในอารมณ์นั้นบ่อยๆเป็นกิจ หมายความว่า หน้าที่ของ วิตก ทำให้จิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกับตนนั้น ให้ก้าวขึ้นสู่อารมณ์อยู่เสมอ ไม่ให้ย่อท้อถอยหลัง

อุปมา เจตนา, มนสิการ และวิตก เหมือนกับเรือแข่ง ซึ่งมีฝีพายอยู่ ๓ คน คนหนึ่งพายหัว, คนหนึ่งพายกลาง และอีกคนหนึ่งถือท้าย จริงอยู่แม้จะทำงานพายเรืออย่างเดียวกัน แต่คนหัวกับคนท้าย จะต้องมีหน้าที่พิเศษเพิ่มขึ้น โดยคนหัวมีความมุ่งให้เรือถึงหลักชัย และเมื่อถึงแล้ว ต้องพยายามคว้าธงเอามาให้ได้ด้วย คนหัวนี้จึงเปรียบได้กับ เจตนา ที่พยายามทำให้สำเร็จการงานต่างๆ คนพายกลางมีหน้าที่แต่เร่งฝีพายให้เรือถึงหลักชัยอย่างเดียว ซึ่งเปรียบได้กับ วิตก ซึ่งทำหน้าที่ให้จิตและเจตสิกก้าวขึ้นสู่อารมณ์ ส่วนคนถือท้ายมุ่งให้เรือตรงเข้าสู่หลักชัย ซึ่งเปรียบได้กับมนสิการ ซึ่งทำหน้าที่ให้สัมปยุตธรรมเข้าประกอบในอารมณ์ ความต่างกันของเจตนา มนสิการ และวิตก จึงมีดังกล่าวนี้

๒. วิจารเจตสิก

วิจารเจตสิก เป็นธรรมชาติที่ประคองสัมปยุตธรรมให้อยู่กับอารมณ์ เพราะวิจารนั้น มีการเคล้าคลึงอารมณ์ เป็นลักษณะ และเมื่อเจตสิกธรรมนี้ปรากฏขึ้น จึงทำให้สัมปยุตธรรมที่เกิดพร้อมกับตนนั้น เคล้าเคลียอยู่ในอารมณ์นั้นๆ ไม่ปล่อยไปด้วย มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้ คือ :-

  • อารมุมณานุมุชชนลกฺขโณ มีการเคล้าคลึงอารมณ์ เป็นลักษณะ
  • ตตฺถ สหชาตานุโยชนรโส มีการประกอบสหชาตธรรมไว้ในอารมณ์นั้น เป็นกิจ
  • จิตฺตอนุปฺปพนฺธปจจุปฏฺฐาโน มีการตามผูกพันจิตไว้ในอารมณ์ เป็นผล
  • อารมุมณปทฏฐาโน (วา) มีอารมณ์เป็นเหตุใกล้ (หรือ) เสสขนฺธตฺตยปทฏฐาโน มีนามขันธ์ ๓ ที่เหลือเป็นเหตุใกล้

สภาพธรรมของวิตกและวิจารนี้ใกล้ชิดติดกัน คือ การยกจิตไว้ในอารมณ์ครั้งแรกชื่อว่า “วิตก” การตามผูกพันจิตไว้ในอารมณ์ชื่อว่า “วิจาร” อุปมาเหมือนการเคาะระฆัง เสียงระฆังที่ดังปรากฏขึ้นครั้งแรกเปรียบได้กับวิตก เสียงระฆังที่ดังกังวานสืบต่อไปเปรียบได้กับ วิจาร หรืออุปมาเหมือน นกเขาใหญ่ที่บินไปในอากาศ เมื่อกระพือปีกโผขึ้นสู่อากาศครั้งแรกเปรียบเหมือน วิตก เมื่อบินติดลมแล้ว ก็กางปีกร่อนไปในอากาศ เปรียบเหมือน วิจาร ดังนั้น จึงเห็นว่าวิจารเจตสิกนี้ รับอารมณ์ได้สุขุมกว่าวิตก และแม้จะเกิดพร้อมกัน ก็ปฏิบัติหน้าที่ตามหลังวิตก ความต่างกันของเจตสิกทั้งสองนี้ จะปรากฏชัดเจนในองค์แห่งปฐมฌาน และทุติยฌาน ของฌานลาภีบุคคล

๓. อธิโมกขเจตสิก

อธิโมกขเจตสิก เป็นธรรมชาติที่มีสภาพทำลายจิตที่รวนเร เป็นสองฝักสองฝ่ายในอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ มีการตัดสินอารมณ์เด็ดขาด ไม่ว่าอารมณ์นั้นจะเป็นอารมณ์ที่ดีหรือไม่ดีก็ตาม จะตัดสินถูกหรือผิดก็ตามและไม่ว่าการงานที่สุจริตหรือทุจริตก็ตาม ที่ได้ตัดสินใจสำเร็จลงได้นั้น ก็ด้วยอำนาจของอธิโมกขเจตสิก ฉะนั้น ลักขณาทิจตุกะของอธิโมกขเจตสิก คือ :-

  • สนฺนิฏฐานลกฺขโณ มีการตัดสินใจเด็ดขาด เป็นลักษณะ
  • อสํสปฺปนรโส มีการตั้งมั่นไม่รวนเรในอารมณ์ เป็นกิจ
  • วินิจฺฉยปจฺจุปฏฐาโน มีการตัดสิน เป็นผล
  • สนฺนิฎเฐยยธมฺมปทฏฐาโน มีธรรม (อารมณ์) ที่จะต้องตัดสินใจ เป็นเหตุใกล้

ในอัฏฐสาลินี แสดงไว้ว่า ความน้อมใจเชื่อ ชื่อว่า อธิโมกข์, และอรรถของอธิโมกข์ก็คือ มีความตกลงใจ เป็นลักษณะ, มีการไม่แส่ไป เป็นรส, มีการตัดสินใจ เป็นปัจจุปัฏฐาน, มีธรรมที่จะต้องตกลงใจ เป็นปทัฏฐาน อธิโมกข์นั้นจึงเข้าใจว่าเหมือนเสาเขื่อน เพราะไม่หวั่นไหวในอารมณ์ อธิโมกข์นี้ เป็นปฏิปักษ์ต่อวิจิกิจฉา เพราะวิจิกิจฉาเป็นสภาพที่ลังเลสงสัยในอารมณ์ แต่อธิโมกข์ มีหน้าที่ทำลายความลังเลสงสัย

๔. วิริยเจตสิก

วิริยเจตสิก เป็นธรรมชาติเพียรพยายามต่ออารมณ์ คือ อดทนต่อสู้กับความยากลำบาก ที่เกี่ยวกับการงานต่างๆ ทั้งฝ่ายดีและฝ่ายไม่ดี และไม่ว่างานนั้นจะยากลำบากมากน้อยสักเพียงใดก็ตาม ถ้าไม่ประกอบด้วยวิริยะแล้วย่อมสำเร็จไม่ได้ วิริยะจึงชื่อว่า ความเพียร อันได้แก่ความอุตสาหะซึ่งมีความหมายว่า สามารถอดทนต่อความยากลำบากที่กำลังได้รับอยู่ ดังวจนัตถะว่า “อุทุกขลาเภสหนํ อุสฺสาโห” ความสามารถอดทน เมื่อได้รับความลำบากชื่อว่า อุตสาหะ ได้แก่ วิริยเจตสิก มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้

  • อุสฺสาหนลกฺขณํ มีความอดทนต่อสู้กับความลำบาก เป็นลักษณะ
  • สหชาตานํ อุปตฺถมฺภนรสํ มีการอุดหนุนธรรมที่เกิดพร้อมกับตนไม่ให้ถอยหลัง เป็นกิจ
  • อสีสํทนปจจุปฏฐานํ มีการไม่ท้อถอย เป็นผลปรากฏ
  • สํเวควตฺถุ ปทุฏฐานํ (วา) มีความสลดคือ สังเวควัตถุ ๘ เป็นเหตุใกล้ หรือ วิริยารมฺภ วตฺถุ ปทฏฺฺฐานํ (หรือ) มีวิริยารัมภวัตถุ ๘ เป็นเหตุใกล้

อธิบาย บรรดาสัมปยุตธรรมทั้งหลายคือ จิตและเจตสิก ที่เกิดพร้อมกับวิริยเจตสิกนี้ ย่อมมีอุตสาหะ พากเพียร ไม่ท้อถอย เพราะอำนาจของวิริยะนั้นเองที่ช่วยอุดหนุนไว้ อุปมาเหมือนบ้านเก่าที่จวนจะพัง เอาเสาปักค้ำจุนไว้ให้ตั้งมั่นทานลมอยู่ได้ ฉะนั้น ส่วนการที่วิริยะจะเกิดขึ้นได้นั้นย่อมเกิดขึ้นได้ เพราะอาศัยเหตุที่มีสังเวควัตถุ ๘ ประการ คือ :-

๑. ชาติทุกข์
๒. ชราทุกข์
๓. พยาธิทุกข์
๔. มรณทุกข์
๕. อบายทุกข์
๖. วัฏฏมูลกในอดีต
๗. วัฏฏมูลกในอนาคต
๘. อาหารปริเยฏฐมูลกในปัจจุบัน

สังเวควัตถุ ๘ ที่เป็นเหตุให้วิริยะเกิดได้นั้น ย่อมมุ่งหมายถึงวิริยะที่เป็นฝ่ายดีคือ โสภณะเท่านั้น หมายถึงเมื่อพิจารณาความเกิด แก่ เจ็บ ตาย และสัตว์ทั้งหลายต้องเสวยทุกข์ในอบายภูมิ บางพวกเกิดเบื่อหน่ายที่จะต้องเวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏฏ ก็พยายามสร้างกุศลให้พ้นจากวัฏฏะ บางพวกก็กลัวภัยในอบายภูมิ ๔ ก็เพียรพยายามสร้างกุศลที่สามารถทำให้พ้นจากอบายได้ บางพวกเห็นโทษภัยของการเกิดในปัจจุบัน ต้องแสวงหาอาหารอยู่เป็นนิตย์ ก็เพียร สร้างกุศล ให้พ้นจากการเกิด สังเวควัตถุจึงเป็นเหตุใกล้ให้วิริยะฝ่ายดีเกิดขึ้น ฉะนั้นสภาวะที่เป็นตัวสังเวคนี้ จึงได้แก่ปัญญา ที่เกิดพร้อมด้วย โอตตัปปะ เป็นประธาน

วิริยารัมภวัตถุ ๘ ได้แก่

๑. กมุม เกี่ยวกับการงานเป็นอารมณ์ให้วิริยะเกิด มี ๒ คือ :-
    ก. การงานที่ทำสำเร็จแล้ว
    ข. การงานที่จะลงมือทำ
๒. มคฺค เกี่ยวกับการเดินทางเป็นอารมณ์ให้วิริยะเกิด มี ๒ คือ :
    ก. การเดินทางที่เพิ่งมาถึง
    ข. การเตรียมจะเดินทางไป
๓. เคลญฺญ เกี่ยวกับสุขภาพเป็นอารมณ์ให้วิริยะเกิด มี ๒ คือ :-
    ก. มีร่างกายที่เริ่มสบายขึ้น
    ข. มีร่างกายที่เริ่มไม่สบาย
๔. ปิณฺฑ เกี่ยวกับอาหารเป็นอารมณ์ให้วิริยะเกิด มี ๒ คือ :-
    ก. มีอาหารไม่สมบูรณ์
    ข. มีอาหารบริบูรณ์

วิริยารัมภวัตถุ ๘ ที่เป็นเหตุใกล้ให้วิริยะเกิดได้นั้น มุ่งหมายเอาวิริยะทั่วไปที่สัมปยุตกับจิตทั้งฝ่ายดี และไม่ดีก็ได้ ฉะนั้น ถ้าผู้มีอโยนิโสมนสิการและมีโกสัชชะมาก วิริยารัมภวัตถุ ๘ อย่างนี้ จะกลับกลายเป็นกุสิตวัตถุ คือ วัตถุที่เป็นเหตุให้เกิดความเกียจคร้านขึ้นได้คือ เมื่อคิดถึงเรื่องต่างๆ ดังกล่าวแล้วนั้นก็เกิดความท้อแท้เบี่ยงบ่ายไปตามอำนาจของกิเลสได้ จิตที่ไม่มีวิริยเจตสิกประกอบเรียกว่า “อวิริยจิต” มี ๑๖ ดวง ได้แก่

ทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐
สัมปฏิจฉนจิต ๒
สันตีรณจิต ๓
ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑

๕. ปีติเจตสิก

ปีติเจตสิก เป็นธรรมชาติที่มีความปลาบปลื้มใจในอารมณ์ ได้แก่สภาพที่แช่มชื่น อิ่มเอิบใจ เมื่อได้รับอารมณ์นั้นๆ มีลักขณาทิจตุกะดังนี้คือ :

  • สมฺปิยายนลักฺขณา มีความแช่มชื่นใจในอารมณ์ เป็นลักษณะ
  • กายจิตฺตปินฺนรสา (วา) มีการทำให้อิ่มกายอิ่มใจ หรือ ผรณรสา มีการทำให้ซาบซ่านทั่วร่างกาย เป็นกิจ
  • โอคยุยปัจจุปัฏฐานา มีความฟูใจ เป็นผล
  • เสสขนฺธตฺตยปทุฏฐานา มีนามขันธ์ ๓ ที่เหลือ (เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, วิญญาณขันธ์) เป็นเหตุใกล้

อธิบาย ธรรมชาติของปีตินี้ เมื่อเกิดขึ้นกับใคร ย่อมทำให้ผู้นั้นรู้สึกปลาบปลื้มใจมีหน้าตา และกาย วาจา ชื่นบาน แจ่มใส เป็นพิเศษ บางทีก็ทำให้รู้สึกซาบซ่านในร่างกายนั่นเอง และทำให้จิตใจของผู้นั้นแช่มชื่น เข้มแข็งไม่รู้สึกเหนื่อยหน่ายต่ออารมณ์ อาการปรากฏของปีตินี้คือ การทำจิตใจฟูเอิบอิ่มขึ้นมา ส่วนปีติที่จะเกิดขึ้นได้นั้น ย่อมต้องอาศัยนามขันธ์ ๓ คือ เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์ และวิญญาณขันธ์ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด เวทนาขันธ์ที่เป็นเหตุใกล้ให้ปิติเกิดขึ้นย่อมอาศัย สุขเวทนา เท่านั้นเป็นเหตุให้ปิติเกิด ด้วยเหตุนี้เอง บางทีเราเข้าใจว่า ปีติ และ สุข นั้น เป็นอันเดียวกันแยกจากกันไม่ได้ ซึ่งความจริงนั้น เป็นสภาวะที่ต่างกันคือ ปีติ เป็นธรรมชาติที่มีความยินดีเพราะได้ประสบอิฏฐารมณ์ “ปีติในที่ใด สุขก็มีในที่นั้น แต่สุขในที่ใด ปีติอาจจะไม่มีในที่นั้นก็ได้” ปีติ เป็น สังขารขันธ์ แต่ สุข เป็น เวทนาขันธ์

อุปมา ปีติเหมือนบุรุษเดินทางไกลไปในที่กันดาร มีเหงื่อโทรมกายกระหายน้ำ ครั้นเห็นบุรุษอีกคนหนึ่งเดินมา ก็ถามว่า มีน้ำดื่มที่ไหนบ้าง บุรุษผู้นั้นตอบว่า พอพ้นดงก็พบสระน้ำ ท่านไปที่นั้นก็จะได้น้ำดื่ม บุรุษผู้เดินทางไกลนั้นตั้งแต่ได้ยินว่า มีสระน้ำจนกระทั่งได้เห็นสระน้ำนั้น ก็จะเกิดปีติมีอาการแช่มชื่นเบิกบานในอารมณ์ที่ได้ยินว่า มีสระน้ำ หรือได้เห็นสระน้ำนั้น นี้เป็นธรรมชาติของปีติ แต่ถ้าบุรุษนั้นได้ดื่มน้ำหรือได้อาบน้ำ ก็จะรู้สึกว่าสุขสบายดีจริง ฉะนั้น สุขจึงดำรงอยู่ด้วยการเสวยรสแห่งอารมณ์ เราจึงเห็นความต่างกันของปีติและสุขได้ชัดเจนว่า ปีติเกิดจากความปลาบปลื้มใจในอารมณ์ ส่วนสุขเกิดจากการตามเสวยอารมณ์ที่ดี

เมื่อปีติเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นทางใจเช่นนี้ จึงมีลักษณะใกล้เคียงกับโสมนัสเวทนาขึ้นมา แต่ถึงกระนั้นปีติก็ไม่ใช่โสมนัสอยู่นั่นเอง เพราะโสมนัสเป็นเวทนาขันธ์ เกิดได้ในจิต ๖๒ ดวง ปีติเป็นสังขารขันธ์เกิดกับจิตได้เพียง ๕๑ ดวง จตุตถฌานลาภีบุคคล ย่อมเห็นความต่างกันแห่งโสมนัสและปีตินี้ได้ชัดเจน

ปีติเจตสิก ธรรมชาติที่ปลาบปลื้มอิ่มเอิบใจนั้นมี ๕ ประการคือ :-
๑. ขุททกาปีติ ปลาบปลื้มเพียงเล็กน้อย พอรู้สึกขนลุก
๒. ขณิกาปีติ ปลาบปลื้มชั่วขณะเหมือนสายฟ้าแลบ เกิดขึ้นและก็หายไป แต่เกิดขึ้นได้บ่อยๆ
๓. โอกนฺติกาปีติ ปลาบปลื้มเป็นพักๆ และมีการไหวเอนโยกโคลงเหมือนคลื่นกระทบฝั่ง
๔. อุพฺเพงฺคาปีติ ปลาบปลื้มจนตัวลอย
๕. ผรณาปีติ ปลาบปลื้มชนิดอิ่มเอม ซาบซ่านไปทั่วร่างกายเกิดในอัปปนาจิต และตั้งอยู่ได้นาน ดังเช่น รูปพรหมทั้งหมด ไม่ต้องกินอาหาร อยู่ได้ด้วยผรณาปีติ

อนึ่ง อาการรู้สึกขนลุกอาจเกิดจากการประสบอารมณ์ที่น่ากลัว เช่นกลัวผีก็รู้สึกขนลุกเหมือนกัน แต่เป็นไปด้วยอำนาจโทสะ ชนิดปฏิกกมโทสะ คือ โทสะชนิดถอยหลัง ไม่ใช่ขุททกาปีติ

๖. ฉันทเจตสิก

ฉันทเจตสิก เป็นธรรมชาติที่มีความพอใจในอารมณ์ ได้แก่ สภาพที่มีความพอใจในอารมณ์ที่ต้องการ มีลักขณาทิจตุกะ ดังนี้ คือ

  • กตฺตุกมฺยตาลกฺขโณ มีความปรารถนาเพื่อจะรู้อารมณ์ เป็นลักษณะ
  • อารมฺมณปริเยสนรโส มีการแสวงหาอารมณ์ เป็นกิจ
  • อารมฺมเณน อตฺถิกตา ปัจฺจุปัฏฺฐาโน มีความปรารถนาอารมณ์ เป็นผล
  • อารมฺมณปทุฏฐาโน มีอารมณ์ เป็นเหตุใกล้

อธิบาย ฉันทเจตสิก ที่มีความปรารถนาเพื่อจะกระทำเป็นลักษณะนั้นหมายถึงมีความปรารถนารูปารมณ์ เพื่อจะเห็น, ปรารถนาสัททารมณ์เพื่อจะได้ยิน, ปรารถนาคันธารมณ์ เพื่อจะได้กลิ่น เป็นต้น รวมความแล้วความต้องการเห็น, ได้ยิน ได้กลิ่น, รส, ถูกต้องสัมผัส, คิด อารมณ์นี้เองเป็นลักษณะของฉันทะ เมื่อมีความต้องการอารมณ์ต่างๆ เป็นลักษณะแล้ว ก็ต้องมีการแสวงหาอารมณ์ที่ต้องการต่างๆ นั้น มาสนองความต้องการ การแสวงหาอารมณ์ต่างๆ นี้ จึงเป็นกิจของฉันทะ เมื่อพิจารณาอาการของฉันทะนั้น ก็จะได้รู้ด้วยปัญญาว่า ฉันทะมีความปรารถนาอารมณ์เป็นผลปรากฏ และอารมณ์นั้นเองที่เป็นเหตุใกล้ให้ฉันทะเกิดขึ้น

ข้อสังเกต ฉันทะกับโลภะนั้น มีลักษณะที่ใกล้เคียงกันมาก คือ มีความต้องการอารมณ์ด้วยกัน แต่ความต้องการอารมณ์ที่เป็นฉันทะนั้น ไม่เหมือนกับความต้องการอารมณ์ที่เป็นโลภะ กล่าวคือ ความต้องการอารมณ์ที่เป็นโลภะนั้น ย่อมยึดและติดใจอยู่ในอารมณ์นั้น ส่วนความต้องการอารมณ์ที่เป็นฉันทะนั้น ไม่ยึดและไม่ติดใจอยู่ในอารมณ์นั้น อุปมาเหมือนบุคคลที่ต้องการรับประทานขนม กับบุคคลที่ต้องการรับประทานยา ความต้องการขนมนั้น เป็นความต้องการที่เป็นโลภะ เพราะเป็นความต้องการที่ยึดติดอยู่ในรสารมณ์ ส่วนความต้องการยานั้นเป็นความต้องการชนิดที่เป็นฉันทะ เพราะไม่ยึดติดอยู่ในรสารมณ์ เมื่อหายป่วยแล้ว ก็ไม่มีความต้องการรับประทานยาอีก



วันอาทิตย์

๓.๑ ทิฏฐธัมมเวทนียกรรม

ทิฏฐธัมมเวทนียกรรม คือ กรรมที่ให้ผลในชาตินี้ กรรมที่ให้ผลในชาตินี้ได้นั้นต้องเป็นกรรมที่มีกำลังแรง ในการกระทำกรรมครั้งหนึ่งๆ วิถีจิตคือลำดับจิตที่เกิดขึ้นดับไปสืบต่อกัน ย่อมเกิดขึ้นมากมายหลายวิถี และในวิถีจิตหนึ่งๆ ก็มีชวนะจิตคือจิตที่เสพอารมณ์แล่นไปในอารมณ์ที่ปรารภจะทำกรรม

ชวนะมี ๗ ขณะ เจตนาในชวนะทั้ง ๗ นั้นเองส่งผล กล่าวคือ
ชวนะดวงที่ ๑ ส่งผลในชาตินี้ ชื่อว่า ทิฏฐธัมมเวทนียกรรม กรรมที่ส่งผลในชาตินี้ แบ่งออกได้ ๒ คือ 
๑. กรรมที่ให้ผลในชาตินี้ ภายใน ๗ วัน
ตัวอย่างฝ่ายกุศล เช่น นายมหาทุคตะได้ถวายอาหารบิณฑบาตแก่พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่ง เป็นกุศลที่มีกำลังมากจึงส่งผลทำให้เป็นเศรษฐี ภายใน ๗ วัน หรือ นายปุณณะกับภรรยา ซึ่งเป็นคนยากจนได้ถวายภัตตาหารแก่พระสารีบุตรที่เพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ ก็ทำให้เป็นเศรษฐีภายใน ๗ วัน 

ตัวอย่างฝ่ายอกุศล เช่น พระเทวทัตกระทำโลหิตุปบาทและทำสังฆเภท, นายนันทมานพ ที่ทำลายพระอุบลวรรณาเถรีผู้เป็นพระอรหันต์ อกุศลกรรมหนักเช่นนี้ก็ส่งผลทำให้ถูกธรณีสูบลงไปสู่อเวจีมหานรก
๒. กรรมที่ให้ผลในชาตินี้แต่หลัง ๗ วันไปแล้ว มี ๓ ประการ คือ 
๒.๑ กุศล อกุศล ที่ทำในวัยเด็ก ส่งผลในวัยเด็ก วัยกลางคน หรือ วัยชรา
๒.๒ กุศล อกุศล ที่ทำในวัยกลางคน ส่ง ผลในวัยกลางคน หรือ วัยชรา
๒.๓ กุศล อกุศล ที่ทำในวัยชรา ส่งผลในวัยชรา 

เหตุที่จะทำให้ผลของทานกุศลปรากฏได้ในชาตินี้ มี ๔ คือ 
๑. วัตถุสัมปทา คือ ผู้รับต้องเป็นพระอนาคามี หรือพระอรหันต์ 
๒. ปัจจยสัมปทา คือ ปัจจัยที่ทำกุศลได้มาด้วยความบริสุทธิ์ 
๓. เจตนาสัมปทา คือ มีเจตนาตั้งใจในการทำกุศลอย่างแรงกล้า 
๔. คุณาติเรกสัมปทา คือ พระอนาคามีหรือพระอรหันต์ผู้รับทานนั้นได้พร้อมด้วยคุณพิเศษ กล่าวคือ พึ่งออกจากนิโรธสมาบัติเมื่อครบด้วยองค์ทั้ง ๔ แล้ว ทานของผู้นั้นก็สำเร็จเป็นทิฏฐธัมมเวทนียกรรมและให้ได้รับผลในชาติปัจจุบันทันที 

ทิฏฐธัมมเวทนียกรรมจะส่งผลในชาตินี้ จะต้องมีลักษณะ ๔ อย่างๆ ใดอย่างหนึ่ง คือ 
๑. ไม่ถูกเบียดเบียนจากกรรมที่เป็นปฏิปักษ์ คือ ถ้าเป็นกุศลก็ต้องไม่ถูกเบียดเบียนจากอกุศล 
๒. ได้รับการเกื้อหนุนเป็นพิเศษทั้งฝ่ายกุศลและอกุศล ต้องได้รับการ เกื้อหนุนเป็นพิเศษ คือ

ก. ฝ่ายกุศลทิฏฐธัมมเวทนียกรรม คติสัมปัตติ ๔ คือ เกิดในสุคติภูมิ มนุษย์, เทวดา
ก. ฝ่ายอกุศลทิฏฐธัมมเวทนียกรรม คติวิปัตติ ๔ คือ เกิดในทุคติภูมิ

ข. กาลสัมปัตติ คือ เกิดในสมัยที่มีพระพุทธศาสนา พระราชาผู้ปกครองบ้านเมืองเป็นสัมมาทิฏฐิ 
ข. กาลวิปัตติ คือ เกิดในสมัยที่ไม่มีพระพุทธศาสนา พระราชาผู้ปกครองบ้านเมืองเป็นมิจฉาทิฏฐิ 

ค. อุปธิสัมปัตติ คือ เกิดมาร่างกาย อวัยวะครบสมบรูณ์ 
ค. อุปธิวิปัตติ คือ เกิดมาร่างกาย อวัยวะไม่ครบหรือบกพร่อง 

ง. ปโยคสัมปัตติ คือ เพียรประกอบแต่สุจริตกรรม 
ง. ปโยควิปัตติ คือเพียรประกอบในทางทุจริตกรรม
 
๓. มีเจตนาตั้งใจอย่างแรงกล้า การกระทำกรรมใดๆก่อนที่จะกระทำสำเร็จล่วงออกมาทางกาย ทางวาจา ต้องมีการพิจารณา ไตร่ตรองก่อน ถ้ามีเจตนาที่มีกำลังแรงกล้าอย่างมาก กุศลหรืออกุศลที่สำเร็จด้วยเจตนาที่แรงกล้านี้ ก็จะส่งผลเป็นทิฏฐธัมมเวทนียกรรม คือ ให้ผลในปัจจุบันได้

๔. กระทำต่อผู้มีคุณพิเศษ การกระทำกรรมใดๆ เมื่อกระทำต่อบุคคลที่ประกอบด้วยคุณพิเศษ มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์ หรือพระอนาคามี เป็นต้น ฉะนั้นการบริจาคทานจึงต้อง ทำความเข้าใจว่าเราควรมีเจตนาตั้งใจในการทำทาน แต่ปฏิคาหก คือ ผู้รับทานนั้นอย่าได้ปรารภเลย ขอให้น้อมระลึกบูชาพระรัตนตรัย บูชาคุณพระพุทธเจ้า บูชาคุณพระธรรม บูชาคุณพระอริยสงฆ์ น้อมระลึกอย่างนี้แล้วจึงให้ทาน ผลแห่งทานนั้นย่อมมีผลอย่างมากหรืออย่างสูงได้

ชวนะดวงที่ ๗ ส่งผลในชาติที่ ๒ ชื่อว่า อุปปัชชเวทนียกรรม 
ชวนะดวง ที่ ๒-๖ ส่งผลกรรมในชาติที่ ๓ จนกว่าจะถึงพระนิพพาน ชื่อว่า อปราปริยเวทนียกรรม 



วันอังคาร

มหายานปัญจขันธศาสตร์

ปัญจขันธศาสตร์

ที่มา รจนาโดย พระสถิรมติ พระอาจารย์องค์สำคัญองค์หนึ่งของนิกายโยคาจารย์ ท่านเป็นศิษย์ของ พระวสุพันธุ นิกายโยคาจารย์หรือวิชญาณวาท ปรัชญาโยคาจารย์ต้นคิดคือ พระไมตรีนาถ แต่ผู้สานต่อแนวคิดและดำเนินการก่อตั้งนิกายโยคาจารย์ คือศิษย์ของท่าน 🔎พระอสังคะ (พ.ศ.๘๕๓-๙๓๓) ท่านบวชตั้งแต่เป็นเณรในนิกายสรวาสติวาทของเถรวาท และต่อมาได้กราบพระไมตรีนาถ คณาจารย์ของมหายานเป็นพระอาจารย์และได้เปลี่ยนมาเป็นมหายาน แรกเริ่มงานสถาปนาแนวคิดโยคาจารย์มิได้ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ท่านอสังคะ จึงได้ไปชักชวนให้ พระน้องชาย พระวสุพันธุ (๘๕๙-๙๓๙) ซึ่งบวชอยู่ในนิกายสรวสติวาส ให้หันมาเข้าสู่มหายานและร่วมกันเผยแพร่หลักปรัชญาโยคาจารย์จนแพร่หลายเป็นนิกายใหญ่หนึ่งในสี่นิกายหลักของอินเดียในยุคนั้น

แปลจากสันสกฤตเป็นภาษาจีนโดยพระเสวียนจั้ง หรือพระถังซำจั๋ง สมัยราชวงศ์ถัง แปลไทย เสถียร โพธินันทะ


สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเทศนานัยแห่งปัจขันธ์
มีรูปขันธ์, เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, สังขารขันธ์, วิญญาณขันธ์

🔅 รูปขันธ์นั้นเป็นไฉน?
คือมหาภูตรูป ๔ และอุปาทายรูปอันอาศัยมหาภูตรูปเกิดนั้น
มหาภูตรูปทั้ง ๔ นั้นเป็นไฉน?
คือปฐวีธาตุ ๑, อาโปธาตุ ๑, เตโชธาตุ ๑, วาโยธาตุ ๑,
นั้นคืออย่างไร?
คือ ปฐวีธาตุมีความแค่นเข็งเป็นสภาวะ, อาโปธาตุมีความชุ่มไหลเป็นสภาวะ, เตโชธาตุมีความร้อนอุ่นเป็นสภาวะ, วาโยธาตุมีความหวั่นไหวเป็นสภาวะ
อุปทายรูปอันอาศัยเกิดแต่มหาภูตรูปนั้นเป็นไฉน?
คือ จักขุนทรีย์, โสตินทรีย์, ฆานิน-ทรีย์, ชิวหินทรีย์, กายินทรีย์, รูปะ, สัททะ, คันธะ, รสะ, โผฎฐัพพะส่วนหนึ่ง, อวิญญัติรูป เหล่านี้เป็นต้น
จักขุทรีย์นั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่ควรแก่รูปารมณ์มีความใสของประสาทเป็นสภาวะ
โสตินทรีย์นั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่ควรแก่สัททารมณ์มีความใสของประสาทเป็นสภาวะ
มานินทรีย์นั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่ควรแก่คันธารมณ์มีความใสของประสาทเป็นสภาวะ
ชิวหินทรีย์นั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่ควรแก่รสารมณ์มีความใสของประสาทเป็นสภาวะ
กายินทรีย์นั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่ควรแก่โพฎฐัพพารมณ์มีความใสของประสาทเป็นสภาวะ
รูปารมณ์นั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่เป็นอารมณ์แห่งจักขุ มีวรรณะรูป สัณฐาน รูปและวิญญัติรูป เป็นต้น
สัททารมณ์นั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่เป็นอารมณ์แห่งโสตะ มีอุปาทินกมหาภูตสัททะ๑, อนุปาทินกมหาภูตสัททะ๑ และอุปาทินกานุปาทินกสหชาติมหาภูติสัททะ๑ (อุปาทินกมหาภูติสัททะ เช่น เสียงพูดจาก, เสียงตบมือดังๆหรือเสียงต่างๆซึ่งเกิดจากสิงที่มีชีวิต อนุปทินกมหาภูติสัททะ เช่น เสียงลมพัด เสียงคลื่นทะเละเบาๆ เสียงต่างๆซึ่งเกิดจากสิ่งไม่มีชีวิต อุปทินกานุปาทินกมหาภูติสัททะ ได้แก่ เสียง,ซึ่งด้วยสิ่งมีชีวิตและไร้ชีวิตร่วมกัน เช่น เสียงตีกลอง เป็นต้น)
คันธารมณ์นั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่เป็นอารมณ์แห่งแห่งฆานะ มีสุคันธะ,ทุคันธะ,อสุคันธาทุคคันธะ
รสารมณ์นั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่เป็นอารมณ์แห่งชิวหา มีรสหวาน รสเปรี้ยว รสเค็ม รสเผ็ด รสขม รสจืด
โผฏฐัพพารมณ์ส่วนหนึ่งนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่เป็นอารมณ์แห่งกาย ยนเว้นมหาภูตเสีย ได้แก่ สภาพอ่อนลื่นสลวย, สภาพหยาบกระด้าง, สภาพที่หนัก, สภาพที่เบา,ความเย็น, ความหิว, ความกระหาย เป็นต้น
อวิญญัติเป็นต้นนั้นเป็นไฉน?
คือ สภาพ(ที่ทำให้เกิด) มีวิญญัติกรรมและรูปอันเกิดจากสมาธิ รูปอย่างนี้เป็นอนิทัสสนะเห็นก็ไม่ได้ อัปปฏิฆะกระทบก็ไม่ได้

🔅 เวทนาขันธ์นั้นเป็นไฉน?
คือเวทนา ๓ ประการ มีสุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา สุขเวทนานั้น อธิบายว่าสภาพใดที่ดับไปแล้ว จิตก็ยังพอใจจักเสพซึ่งอารมณ์นั้นอีก ทุกขเวทนานั้นอธิบายว่า สภาพใดที่เกิดขึ้นแล้ว จิตมีความปรารถนาจักหลีกให้พ้นจากอารมณ์นั้น ส่วนอทุกขมสุขนั้นอธิบายว่าสภาพใดที่เกิดขึ้นแล้วจิตปราศจากความปรารถนาทั้ง ๒ ประการ คือไม่มีความปรารถนาจักเสพอีก หรือปรารถนาจักหลีกให้พ้นไปเสีย

🔅 สัญญาขันธ์นั้นเป็นไฉน?
คือสภาพอันเป็นอธิบดีหมายจำในสัพพารมณ์ทั้งปวง

🔅 สังขารขันธ์นั้นเป็นไฉน?
คือ ยกเวทนาขันธ์,สัญญาขั้นธ์ออกเสีย ที่เหลือได้แก่เจตสิกทั้งหมด กับทั้งจิตตวิปยุตธรรมทั้งมหด

เจตสิกธรรมที่เหลือนั้นเป็นไฉน?
คือจิตตสัมปยุตตสังขารธรรมนั่นเอง มี ผัสสะ,มนสิการ, เจตนา, ฉันทะ, อธิโมกข์, สติ, เอกัคคตา,มติ, ศรัทธา, หิริ, โอตตัปปะ, อโลภะ, อโทษะ, อโมหะ, วิริยะ, ปัสสัทธิ, อัปปาทะ, ตัตรมัชฌัตา, อหิงสา,โลภะ,โทษะ,มานะ, อวิชชา, ทิฏฐิ, วิจกิจฉา, โกรธะ, อุปนาหะ, มักขะ, ปลาสะ,ออัสสา, มัจฉริยะ, สาเถยยะ, มายา, มทะ, วิหิงสา, อหิริ, อโนตตัปปะ, ถีนะ, อุทธัจจะ,อัสสัทธิยะ, โกสัชชะ, ปมาทะ, มุฏฐสัจจะ, วิกเขปะ, อสัมปชานะ, กุกกุจจะ, มิทธะ, วิตก, วิจาร, เหล่านี้ชื่อว่า เจตสิกธรรม ในเจตสิกเหล่านั้น มี ๕ ดวงเป็นสัพพจิตตสาธารณ์, ๕ดวงเป็นปกิณกเจตสิก, ๑๑ ดวงเป็นโสภณเจตสิก, ๖ ดวงเป็นกิเลสเจตสิก, ที่เหลือเป็นอุปกิเลสเจตสิก, และอีก ๔ ดวงเป็นอนิยตเจตสิก
ผัสสะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งมีการประชุมพร้อมด้วยวัตถุ อารมณ์, วิญญาณ, ทั้ง ๓ เกิดความรู้ขึ้นเป็นสภาวะ
มนสิการนั้นเป็นไฉน?
คือ สภาพซึ่งทำความรู้เอาใจใส่ให้เกิดแก่จิต
เจตนานั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งยังจิตให้เป็นไปในกุศลบ้าง ,อกุศลบ้าง,อัพยากตบ้าง, มีความปรุงแต่งจิตให้เป็นมโนกรรมเป็นสภาวะ
ฉันทะนั่นเป็นไฉน?
คือสภาพให้เกิดความพอใจในอารมณ์ มีความหวังต้องการเป็นสภาวะ
อธิโมกข์เป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งตัดสินอารมณ์ตามที่รับรู้มา มีความเด็ดขาดเป็นสภาวะ
สตินั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งยังจิตให้ระลึกได้ในอารมณ์เนืองๆ มีความจำได้แม่นยำเป็นสภาวะ
เอกัคคตานั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งเพ่งในอารมณ์ มีจิตตั้งมั่นในอารมณ์เดียวเป็นสภาวะ (ตามตัวจีนแปลว่าสมาธิซึ่งมีความหมายอย่างเดียวกับ (เอกัคคตา)
มตินั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่คัดเลือกในอารมณ์เป็นสภาวะ เป็นไปโดยโยนิโสบ้าง อโยนิโสบ้าง หรือไม่เป็นไปโดย ๒ ประการดังกล่าวนั้นบ้าง
ศรัทธานั้นเป็นไฉน? คือสภาพที่ยังจิตให้เกิดความเลื่อมใสเชื่อถืออย่างถูกต้องในเรื่องกรรม, วิบากแห่งกรรม, ในอริยสัจ, ในพระรัตนตรัย เป็นต้น มีจิตผ่องแผ้วเป็นสภาวะ
หิรินั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งมี (ความเคารพรัก) ตนเองเป็นอธิบดี (เคารพรักใน) ธรรมเป็นอธิบดีมีความละอายต่อการทำบาปเป็นสภาวะ
โอตตัปปะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งมี(ความเคารพเกรง) ผู้อื่นเป็นอธิบดีมีความละอายต่อการทำบาปเป็นสภาวะ
อโลภะนั้นเป็นไฉน?
คือ สภาพซึ่งเป็นคู่ปราบตรงกันข้ามกันโลภะ มีความเบื่อหน่ายเห็นโทษของโลภะ มีการไม่ยึดถือหวงแหนเอาไว้เป็นสภาวะ
อโทสะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งเป็นคู่ปราบตรงกันข้ามกับโทสะมีความเมตตาเป็นสภาวะ
อโมหะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งเป็นคู่ปราบตรงกันข้ามกับโมหะ มีความรู้แจ้งดำเนินตามสัมมาปฏิปทาเป็นสภาวะ
วิริยะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งเป็นคู่ปราบตรงกันข้ามกับความย่อท้อขี้เกียจ มีการยังกุศลธรรมให้ปรากฏ มีความอุตสหะพากเพียรเป็นสภาวะ
ปัสสัทธินั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งเป็นคู่ปราบตรงกันข้ามกกับความหยาบหนักกระด้าง มีความอิ่มเอิบสบายเหมาะสมเป็นสภาวะ
อัปปมาณนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งเป็นคู่ปราบตรงกันข้ามกับประมาทมีอโลภะ (อโทสะ อโมหะ) ตราบถึงวิริยะเป็นปทัฏฐาน มีการสละสรรพอกุศล แล้วบำเพ็ญสรรพกุศลอันเป็นคู่ปราบ (ของอกุศล) เป็นสภาวะ
ตัตรมัชฌตานั้นเป็นไฉน?
คือสภาพอันอาศัยอโลภะ อโทสะ (อโมหะ)ตราบถึงวิริยะ ยังจิตให้ลุความเสมอภาพ อนึ่งอาศัยเจตสิกดวงนี้สามารถยังจิตให้พ้นจากอกุศลทั้งหลาย แลให้ตั้งอยู่ในธรรมอันผ่องแผ้วได้
อหิงสานั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งเป็นคู่ปราบตรงกันข้ามกับวิหิงสา มีความกรุณาเป็นสภาวะ
โลภะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งเป็นซึ่งเป็นฉันทราคะพอใจติดในปัญจุปาทานขันธ์เป็นสภาวะ
โทสะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพความเบียดเบียนในสรรพสัตว์เป็นสภาวะ
มานะนั้นเป็นไฉน?
มานะมี ๗ อย่าง คือมานะ, อภิมานะ, อติมานะ, อัสมินานะ, อธิมานะ, อวมานะ, มิจฉามานะ
        ๑. มานะนั้นเป็นไฉน? คือเป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขาหรือเป็นผู้เสมอเขาสำคัญตัวว่าเสมอเขา มีจิตทะนงเป็นสภาวะ
        ๒. อภิมานะนั้นเป็นไฉน? คือเป็นผู้เสมอเขาสำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขา หรือเป็นผู้เลวกว่วเขาสำคัญตัวว่าเสมอเขา มีจิตทะนงเป็นสภาวะ
        ๓. อติมานะนั้นเป็นไฉนคือผู้ที่เลวกว่าเขา สำคัญตัวเขาว่าเลิศกว่าเขา มีจิตทะนงเป็นสภาวะ
        ๔. อัสมิมานะนั้นเป็นไฉน? คือความยึดถือใดอันเป็นไปในปัญจขันธ์ สำคัญว่าเป็นของๆเรา มีจิตทะนงเป็นสภาวะ
        ๕. อธิมานะนั้นเป็นไฉน? คือธรรมพิเศษอันใดซึ่งตนยังมิได้บรรลุ สำคัญผิดว่าตนได้บรรลุถึงแล้ว มีจิตทะนงเป็นสภาวะ
        ๖. อวมานะนั้นเป็นไฉน? คือผู้อื่นเขามีคุณธรรมที่ดีหลายส่วน แต่ตนเองสำคัญว่าหมิ่นตัวเองว่าต่ำเลว (ไม่อาจทำได้อย่างเขา) มีจิตทะนงเป็นสภาวะ
        ๗. มิจฉามานะนั้นเป็นไฉน? คือตนเองปราศจากคุณธรรมใดๆ สำคัญว่าตนมีคุณธรรมมีจิตทะนงเป็นสภาวะ
อวิชชานั้นเป็นไฉน?
คือสภาพความไม่รู้แจ้งในเรื่องกรรม, วิบากแห่งกรรม, ในเรื่องอริยสัจจ์,พระรัตนตรัย มีความปราศจากปัญญาเป็นสภาวะ อวิชชานี้แบ่งออกเป็น ๒ ประการคือประการหนึ่งเป็นสหาติ(เกิดร่วมอยู่เสมอนับตั้งแต่ปฏิสนธิ) ประการหนึ่งเกิดจากวิกัลป์ปะ (มีมิจฉาทิฏฐิเป็นต้น มาเกิดเมื่อได้รัรบการอบรมที่ผิด) อนึ่ง โลภะ,โทสะ,โมหะในกามภพย่อมเป็นอกุศลมูลทั้ง ๓ กล่าว คือ เป็นโลภะอกุศลมูล, โทสะอกุศลมูล, โมหะอกุศลมูล
ทิฏฐินั้นเป็นไฉน?
ทิฏฐิมี ๕ ประการ คือสักกายทิฏฐิ, อันตคาหิกทิฏฐิ, มิจฉาทิฏฐิ, ทิฏฐิปรามาส, สีลพตปรามาส
สักกายทิฏฐินั้นเป็นไฉน?
คือความยึดมั่นในปัญจุปาทานขันธ์ ว่านี้เป็นเราหรือเป็นของๆเรา มีมติอันประกอบด้วยกิเลสเป็นสภาวะ
อัตคาหิกทิฏฐินั้นเป็นไฉน?
คือสักกายทิฏฐิซึ่งเพิ่มกำลังทวีแรงขึ้นนั้นเอง มีความยึดมั่นในอารมณ์ว่าอย่างนี้เที่ยงแน่นอน หรือยึดมั่นในอารมณ์ว่าอย่างนี้ขาดสูญแน่นอน (คือเป็นสัสสตทิฐิและอุจเฉททิฏฐิ) มีมติอันประกอบด้วยกิเลสเป็นสภาวะ
มิจฉาทิฏฐินั้นเป็นไฉน?
คือการปฏิเสธคัดค้านเหตุและวิบากแห่งเหตุ,การปฏิเสธคัดค้านกิริยา หรือปฏิเสธคัดค้านทำลายกุศลธรรม มีมติอันประกอบด้วยกิเลสเป็นสภาวะ
ทิฏฐิปรามาสนั้นเป็นไฉน?
คือความยึดมั่นอันสืบเนื่องมาด้วยทิฏฐิทั้ง ๓ (ที่กล่าวมาแล้วตอนต้น) เป็นไปในขันธ์อันเป็นที่อาศัย ว่า นี้และเป็นอย่างเลิศ นี้แลเป็นอย่างประเสริฐ, นี้แลเป็นที่สุด มีมติอันประกอบด้วยกิเลสเป็นสภาวะ
สีลพตปรามาสนั้นเป็นไฉน?
คือความถือมั่นอย่างผิดๆ อันเนื่องด้วยสีลพรตในขันธ์อันเป็นที่อาศัยว่า นี้แลเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์, นี้และเป็นวิมุตติ, นี้แลเป็นนิสสรณะ มีมติอันประกอบด้วยกิเลสเป็นสภาวะ
วิจิกิจฉานั้นเป็นไฉน?
คือความลังเลไม่แน่นอนใจเป็นไปในอริยสัจจธรรมบ้างในคุณพระรัตนตรัยบ้าง ว่าจักมีอยู่ฤาบ่มี มีความสงสัยเป็นสภาวะ

ในบรรดากิเสลดังกล่าวมา ทิฏฐิ ๓ เบื้องหลัง (คือมิจฉาทิฏฐิ, ทิฏฐิปรามาส,สีลพตปรามาส) และวิจิกิจฉา ย่อมเกิดด้วยวิกัลป์ปะ กิเลสที่เหลือ (มีอวิชชา สักกายทิฏฐิ เป็นต้น) ย่อมเกิดด้วยสาธารณ์โดยสหชาติบ้าง โดยวิกัลป์ปะบ้าง

โกรธนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพเนื่องมาแต่อารมณ์ที่ปรากฏเป็นประโยชน์แห่งตนจิตมีความคับแค้นเป็นสภาวะ
อุปนาหะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งมีความโกรธเป็นผู้นำมาก่อน มีความผูกโกรธไว้ไม่ยอมละเป็นสภาวะ
มักขะนั้นเป็นไฉน?
คือมีความที่ปิดบังซ่อนเร้นความชั่วแห่งตนไว้เป็นสภาวะ
ปลาสะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่เป็นเหตุกล่าววาจาหยาบคาย มีการล่วงเกินผู้อื่นเขาเป็นสภาวะ
อิสสานั้นเป็นไฉน?
คือสภาพอันเนื่องด้วยความสุขสมบูรณ์ของผู้อื่นแล้ว มีจิตไม่ชอบใจในความสุขสมบูรณ์ของเขาเป็นสภาวะ
มัจฉริยะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งตรงกันข้ามกับการเสียสละ มีจิตหวงแหนตระหนี่ไว้เป็นสภาวะ
สาเถยยะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพความหลอกลวงผู้อื่น มีการแสดงโอ้อวด ซึ่งคุณอันไม่มีในตนเป็นสภาวะ
มายานั้นเป็นไฉน?
คือสภาพความหลอกลวงด้วยเล่ห์เหลี่ยมอุบาย ปิดบังโทษของตน มีจิตอันคดงอเป็นสภาวะ
มทะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งมัวเมาทะนงในความสุขสมบูรณ์ มีการทำลายความดีให้หมดไปเป็นสภาวะ
วิหิงสานั้นเป็นไฉน?
คือมีความเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายให้เดือดร้อนเป็นสภาวะ
อหิรินั้นเป็นไฉน?
คือการที่กระทำบาปทุจจริต มีความไม่ละอายต่อตนเองเป็นสภาวะ
อโนตตัปปะนั้นเป็นไฉน?
คือการที่กระทำบาปทุจจริต มีความไม่ละอายต่อผู้อื่นเป็นสภาวะ
ถีนะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่จิตไม่อิ่มเอิบสบาย จิตไม่สมควรแก่การงาน มีควยามหดหู่ไม่แจ่มใสเป็นสภาวะ
อุทธจจะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่จิตฟุ่งซ่านนึกคิดถึงเกตุการณ์ต่างๆ เช่นความปิติสุขโสมนัสเป็นต้น (ในประการเดียวกันก็หมายเอาความทุกข์โทมนัสด้วย) มีจิตปราศจากความสงบเป็นสภาวะ
อัสสัทธิยะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพอันศรัทธาจักพึงปราบ ได้แก่ ความไม่โน้มน้อมเชื่อในทางที่ถูก ในเรื่องกรรมและวิบากแห่งกรรม เป็นต้น มีจิตไม่ผ่องแผ้วเป็นสภาวะ
โกสัชชะนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพอันวิริยะจักพึงปราบ ในการเจริญกุศลธรรมจิต ปราศจากความวิริยะแกล้วกล้าเป็นสภาวะ
ประมาทนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพขี้คร้านเลินเล่ออันอาศัยโลภะ,โทสะ,โมหะ,เป็นสมุฏฐาน มีการไม่คุ้มครองริกษาจิตให้พ้นจากปวงกิเลส มีความไม่สามารถเจริญอบรมกุศลธรรมทั้งหลายเป็นสภาวะ
มุฏฐสัจจะนั้นเป็นไฉน?
คือสติที่มีความไม่อาจระลึกจดจำได้ในสรรพกุศลธรรมเป็นสภาวะ
วิเขปะนั้นเป็นไฉน?
คือส่วนหนึ่งของโลภะ โทสะ โมหะ มีการทำให้จิตและเจตสิกระส่ำระสาย (จับอารมณ์ไม่มั่งคง) เป็นสภาวะ
อสัมปชานะนั้นเป็นไฉน?
คือปัญญาอันประกอบด้วยกิเลส มีสมุฏฐานให้เกิดกายทุจ-จริต วจีทุจจริต มโนทุจจริตเป็นสภาวะ
กุกกุจจะนั้นเป็นไฉน?
คือความรู้สึกเสียใจ (ในการทำบาปที่ทำไปแล้วหรือในการทำบุญที่ยังไม่ได้ทำ) เป็นสภาวะ
มิทธะนั้นเป็นไฉน?
คือความที่ (จิต,เจตสิก) ไม่เป็นไปโดยอิสสระ มีความง่วงเหงาไม่แจ่มกระจ่างเป็นสภาวะ
วิตกนั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งอาศัยเจตนาและมติเป็นสมุฏฐานแล้วยกจิตขึ้นตรึกในอารมณ์ มีการยังจิตให้พิจารณาถือเอาอารมณ์ที่หยาบเป็นสภาวะ
วิจารณ์นั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งอาศัยเจนตาและมติเป็นสมุฏฐาน แล้วยกจิตขึ้นครองในอารมณ์ มีการยังจิตให้พิจารณาถือเอาอารมณ์ที่ละเอียดเป็นสภาวะ
จิตตวิปยุตตสังขารนั้นเป็นไฉน?
คือธรรมซึ่งอาศัยเนื่องด้วยรูปธรรมบ้างนามธรรมบ้างปัญญัติออกมาเป็นส่วนหนึ่ง มีความไม่สามารถบัญญัติว่าธรรมเหล่านี้เป็นต้น เป็นอันเดียวกันหรือต่างจากกันกับรูปนามเป็นสภาวะ
ก็ธรรมเหล่านั้นคืออะไรบ้าง?
คือปัตติ, อสัญญีสมาบัติ, นิโรธสมาบัติ, อสัญญีเทพ, ชีวิตินทรีย์, สภาคตา, ชาติ, ชรา, ฐิติ, อนิจจ, นามกาย, บทกาย, พยัญชนากาย, ปุถุชนตา เหล่านี้เป็นอาทิ
        ปัตตินั้นเป็นไฉน?
คือสภาพที่ได้หรือสภาพที่สำเร็จ มีอยู่ ๓ ประการ คือความสำเร็จแห่งพีชะหนึ่ง, ความสำเร็จโดยอิสสระหนึ่ง, ความสำเร็จในพฤตติการณ์อันปรากฏขึ้นอยู่หนึ่ง, ให้ได้หรือสำเร็จตามความเหมาะสมนั้นๆ
        อสัญญีสมาบัตินั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งพ้นไปแล้วจากความติดใน (รูปพรหม)ชั้นสุภกิณหา แต่ยังไม่พ้นไปจากความติดความพอใจในพรหมซึ่งเป็นชนชั้นสูงกว่านั้นขึ้นไปมีความทำในใจเพื่อละสัญญาเป็นเบื้องหน้า มีจิตและเจตสิกที่ไม่ประพฤติเป็นไปโดยไม่ขาดเป็นต้นดับไปเป็นสภาวะ
        นิโรธสมาบัตินั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งพ้นไปแล้วจากความติดในอากิญจัญยายตนภูมิ แล้วเข้าสู่เนวสัญญาณนาสัญญายตนภูมิแล้วเพียรบำเพ็ญต่อไป มีความทำในใจเพื่อละสัญญา (และเวทนา) เป็นต้น เป็นเบื้องหน้ามีจิตและเจตสิกที่ไม่ประพฤติเป็นไปโดยไม่ขาด และจิตเจตสิกที่ประพฤติเป็นไปโดยไม่ขาดส่วนหนึ่งดับไปเป็นสภาวะ
        อสัญญีเทพเป็นไฉน?
คือวิบากอันเกิดแต่อสัญญีสมาบัติ ซึ่งนำไปปฏิสนธิในพรหมขั้นอสัญญีนั่นเอง ครั้นปฏิสนธิแล้วมีจิตและเจตสิกที่ไม่ประพฤติเป็นไปโดยไม่ขาดดับไปเป็นสภาวะ
        ชีวิตินทรีย์นั้นเป็นไฉน?
คือสภาพซึ่งเกิดสืบเนื่องมาแต่อดีตกรรม รักษาไว้ซึ่งสภาคตา (กล่าวคือขันธ์) ให้ดำรงอยู่ชั่วกาลเขตหนึ่งเป็นสภาวะ
        สภาคตานั้นเป็นไฉน?
คือความที่สัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในประเภทเดียวกัน ก็มีสภาพที่ละม้ายคล้ายคลึงดุจกันเป็นสภาวะ
        ชาตินั้นเป็นไฉน?
คือสภาคตาและสรรพสังขาร ซึ่งแต่เดิมยังไม่เกิดปัจจุบันได้เกิดขึ้นแล้วเป็นสภาวะ
        ชรานั้นเป็นไฉน?
คือสรรพสังขารเหล่านั้น มีความสืบเนื่องเปลื่ยนแปรไปเป็นสภาวะ
        ฐิตินั้นเป็นไฉน?
คือสรรพสังขารเหล่านั้นมีความสืบเนื่องหมุนเวียนเป็นสภาวะ
        อนิจจานั้นเป็นไฉน?
คือสรรพสังขารเหล่านั้นมีความสืบเนื่องแตกดับไปเป็นสภาวะ
        นามกายนั้นเป็นไฉน?
คือความที่เพิ่มเติมร้องขานชื่อแห่งสภาวธรรมเป็นสภาวะ
        บทกายนั้นเป็นไฉน?
คือความที่เพิ่มเติมร้องขานความแตกต่างของสภาวธรรมเป็นสภาวะ
        พญัญชนะกายนั้นเป็นไฉน?
คืออักษรทั้งหลายนั้นเอง มีความสามารถที่จักแสดงความหมายแห่งนามกายและบทกายเป็นสภาพ อีกนัยหนึ่งชื่อว่าเป็นภาวะที่ประกาศอธิบายว่าเพราะเป็นที่อาศัยแห่งนามกายบทกายประกาศซึ่งอรรถอันหมดจดปราศจากส่วนเหลือ หรือชื่อว่าอักษรเพราะเป็นที่กำหนดแน่นอนไม่แปรผัน
        ปุถุชนตานั้นเป็นไฉน?
คือความที่ตนยังมิได้ลุอริยธรรมเป็นสภาวะ

🔅 วิญญาณขันธ์นั้นเป็นไฉน?
คือธรรมชาติซึ่งมีความรู้ในอารมณ์เป็นสภาวะ ธรรมชาตินี้เรียกว่า “จิต” บ้าง เพราะสามารถคัดเลือกรวบรวมอารมณ์ เรียกว่า “มโน” บ้างเพราะสงเคราะห์เป็นอันเดียวกันกับมโนนั่นเอง (อรรถกถาว่า เพราะเป็นที่อาศัยรวมแห่งเจตสิกฉะนั้นจึงชื่อว่ามโน) 
ถ้าจะว่าโดยจิตที่วิเศษแล้ว ก็คือ “อาลยวิญญาณนั่นเอง” จิตนี้สามารถสั่งสมพีชพันปีแห่งพฤติกรรมต่างๆของสัตว์ไว้ อนึ่งในการที่จิตรับรู้อารมณ์อันเป็นพฤติกรรมของจิตนั้น ไม่เป็นวิสัยแห่งการกำหนดแบ่งแยกจำแนกรู้ได้โดยง่ายเลย จิตนี้นับจำเดิมแต่ปฏิสนธิตราบถึงจุติย่อมเป็นปวัตติสืบเนื่องหมุนเวียนไปโดยไม่ขาดสาย อนึ่งวิญญาณดวงนี้ครั้นเมื่อบุคคลออกจากนิโรธสมาบัติ หรือสัตว์ซึ่งจุติจากอสัญญีภพ เมื่อจักขึ้นวิถีรับรุ้อารมณ์ เมื่อใดเมื่อนั้นปวัตติวิญญาณก็ย่อมประพฤติเป็นไป หมุนเวียนไปตามวิสัยแห่งอารมณ์ต่างๆดับไปในระหว่างแล้วก็เกิดขึ้นอีกเล่าเป็นชาติมรณะเวียนวนในวัฏสงสารอย่างนี้

อาลยวิญญาณนี้ เพราะอรรถว่าเป็นแหล่งเก็บรวบรวมแห่งสรรพพีชะทั้งหลายนั่นเอง อนึ่งเพราะเป็นที่เก็บแห่งอสมินานะเป็นสภาพ อนึ่ง เพราะความที่เป็นผู้ถือเอากายนี้เป็นอารมณ์ด้วยเหตุนี้จึงมีนามเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “อาทานวิญญาณ” เพราะเป็นผู้ธำรงยึดในกรัชกายนี้ ส่วนมโนอันวิเศษนั้น คือ ได้แก่วิญญาณดวงที่ถือเอาอาลยวิญญาณเป็นอารมณ์ วิญญาณดวงนี้มี อัตตโมหะ, อัตตานุทิฏฐิ, อัสมิมานะ, อัตตติณหา, สัมปยุตต์อยู่ตลอดจำเดิมแต่ปฏิสนธิตราบถึงจุติเป็นปวัตติสืบเนื่องทุกเวลา ยกเว้นแต่ในพระอาหันตบุคคล, ในอริยมรรคและในนิโรธสมาบัติ

ถามว่า คำว่าขันธ์นั้นมีอรรถว่าอย่างไร?
ตอบว่า ความประชุมรวบรวมเป็นอรรถของขันธ์ คือบรรดาโลกิยธรรมที่เกิดดับสืบเนื่องประเภทต่างๆ มีคติ,อายตนะ, และรูป เป็นต้น เอามาสงเคราะห์รวมเข้าไว้

อนึ่งมีอายตนะ ๑๒ คือ จักขายตนะ คู่กัปรูปายตนะ,โสตายตนะคู่กับสัททายตนะ,ฆานายตนะคู่กับคันธายตนะ,ชิวหายตนะคู่กับรสายตนะ,กายายตนะคู่กับโผฏฐัพพายตนะ,ฆนายตนะคู่กับธรรมายตานะ,สำหรับจักขายตนะ เป็นต้น และรูปะ สัททะ คันธะ รสะ อายตนะนั้นได้อธิบายแล้วในเบื้องต้น โผฏฐัพพายตนะนั้นได้แก่ มหาภูติรูปและส่วนหนึ่งแห่ผัสสะ มนายตนะก็คือ วิญญาณขันธ์นั่นเอง ส่วนธรรมายตนะนั้น ได้แก่ เวทนา,สัญญา,สัขารขันธ์,และวิญญัติรูปเป็นต้น พร้อมอสังขตธรรมทั้งหลายด้วย

อสังขตธรรมนั้นเป็นไฉน?
คืออากาศสังขตะ, อัปปฏิสังขยนิโรธอสังขตะ, ปฏิสังขยนิโรธอสังขตะ และภูตตถตา เป็นต้น

อากาศนั้น ได้แก่ธรรมชาติอันสามารถรับรองรูปทั้งหลายได้ อัปปฏิสังขยนิโรธนั้นได้แก่ความดับชนิดที่มิได้พ้นไปจากกิเลสเครื่องร้อยรัด ที่ว่ามิได้พ้นไปจากกิเลสเครื่องร้อยรัดนั้นอย่างไร? กล่าวคือ ความดับที่มิได้อาศัยปัญญาพิจารณาทำลายกิเลส ขันธ์ทั้งหลายมิต้องเกิดขึ้นในที่สุด ปฏิสังขยนิโรธนั้นคืออย่าไร? คือความดับชนิดที่พ้นไปจากกิเลสเครื่องร้อยรัด ที่ว่าพ้นไปจากกิเลสเครื่องร้อยรัดนั้นอย่างไร? คือความดับที่อาศัยปัญญาพิจารณาทำลายกิเลส ขันธ์ทั้งหลายมิต้องเกิดขึ้นในที่สุด ภูตตถตานั้นเป็นไฉน? คือสภาวะแห่งธรรมทั้งปวง และสภาวะแห่งความเป็นอนัตตาของธรรมทั้งปวงนั้น

ถามว่า อายตนะมีอรรถเป็นอย่างไร?
ตอบว่า ธรรมชาติใดเป็นประตูที่เกิดแห่งวิญญาณทั้งปวง ธรรมชาตินั้นคืออายตนะ

อนึ่งยังมีธาตุ ๑๘ คือ จักขุธาตุ รูปธาตุ จักขุวิญญาณธาตุ โสตธาตุ สัททะธาตุ โสตวิญญาณธาตุ ฆานะธาตุ คันธะธาตุ ฆานะวิญญาณธาตุ ชิวหาธาตุ รสธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ กายธาตุ โผฏฐัพพะธาตุ กายวิญญาณธาตุ มโนธาตุ ธรรมธาตุ มโนวิญญาณธาตุ

สำหรับธาตุ(ภายใน) ทั้งหลาย มีจักขุธาตุ เป็นต้น และธาตุ(ภายนอก)ทั้งหลาย มีรูปธาตุเป็นต้น มีอธิบายดุจได้กล่าวมาในตอนว่าด้วยอายตนะส่วนวิญญาณธาตุทั้ง ๖ นั้นก็อาศัยเกิดจากอินทรีย์ มีจักขุทรีย์เป็นต้น ซึ่งรับเอาอารมณ์มีรูปารมณ์เป็นต้น มีความรู้ในอารมณ์เป็นสภาวะ มโนธาตุนั้น ก็คือธาตุรู้ซึ่งเกิดดับสืบเนื่องเป็นสันตติเป็นต้น เพื่อเป็นการแสดงให้ทราบว่า (มโนธาตุ) นี้เป็นที่อาศัยแห่งมโนวิญญาณและเป็นการบัญญัติเรื่องธาตุ ๑๘ ได้โดยพิสดาร และโดยประการดังนี้ รูปขันธ์ก็ได้แก่ยตนะทั้ง ๑๐ ธาตุทั้ง ๑๐ กับธรรมายตนะธรรมธาตุส่วนหนึ่ง วิญญาณขันธ์ก็คือ มนายตนะและธาตุรู้อีก ๗ ส่วนขันธ์ที่เหลืออีกสามพร้อมด้วยส่วนหนึ่งแห่งรูปขันธ์และอสังขตธรรมทั้งหลายจัดเป็นธรรมายตนะ ธรรมธาตุ

ถามว่า ธาตุนั้นมีอรรถเป็นไฉน?
ตอบว่า ธรรมชาติซึ่งสามารถธำรงรักษาซึ่งคุณลักษณะแห่งพีชะไว้ โดยยังไม่มีพฤติกรรม ชื่อว่าเป็นอรรถของธาตุ

ถามว่า อาศัยอรรถเป็นไฉน? จึงบัญญัติเรื่องขันธ์,ธาตุ, อายตนะเป็นต้น
ตอบว่า เพื่อเป็นคู่ปราบทำลายความยึดถือในตน ๓ ประการ กล่าวคือ ความยึดถือว่าขันธ์ทั้ง ๕ เป็นเราหนึ่ง, (แปลตามตัวว่าความยึดถือในเอกภาวะว่าเป็นเรา อรรถกถาแก้ว่า คือ ความยึดถือในเบ็ญจาขันธ์ทั้งหมดว่าเป็นเรา ส่วนความยึดถืออีกสองเป็นการยึดถือที่จำแนกไม่ใช่ยึดหมดทั้งเบ็ญจขันธ์ ผู้แปล) ความยึดถือว่าผู้เสวยเวทนาว่าเป็นเราหนึ่ง ความยึดถือว่าผู้กระทำเป็นเราหนึ่งตามลำดับ 

อนึ่งในธาตุ ๑๘ นี้ ธรรมที่เป็นรูปนั้นมีเท่าไร?
คือธาตุทั้ง ๑๐ และส่วนหนึ่ง(แห่งธรรมธาตุหรือรูปซึ่งสงเคราะห์อยู่ในธรรมายตนะ) กล่าวคือ เป็นสภาวะแห่งรูปขันธ์นั่นเอง (หมายเฉพาะธาตุทั้ง ๑๐ )
ธรรมที่ไม่ใช่รูปนั้นมีเท่าไหร่?
คือธาตุที่เหลือนอกนี้
ธรรมที่เป็นสนิทัศนะนั้นมีเท่าไร?
คือรูปธาตุอันเดียว (มหายเอารูปารมณ์)
ธรรมที่เป็นอนิทัศนะนั้นมีเท่าไร?
คือธาตุที่เหลือนอกนี้
ธรรมที่สัปปฏิฆะนั้นมีเท่าไร?
คือรูปธาตุทั้ง ๑๐ ด้วยเป็นธรรมที่กระทบกระทั่งแก่กันได้นั่นเอง
ธรรมที่เป็นอัปปฏิฆะนั้นมีเท่าไร?
คือธาตุที่เหลือนอกนี้
ธรรมที่เป็นสาสวะนั้นมีเท่าไร?
คือธาตุ ๑๕ และส่วนหนึ่งของธาตุที่เหลืออีก ๓ (มโนธาตุ ธรรมธาตุ มโนวิญญาณธาตุ) อธิบายว่า ในธาตุที่เหลือ ๓ ส่วนหนึ่งนั้น ถ้าเป็นที่เกิดแห่งกิเลส เป็นที่กิเลสประพฤติเป็นไป(จึงถือว่าเป็นสาสวะ)
ธรรมที่เป็นอนาสวะนั้นมีเท่าไร?
คือธาตุที่เหลืออีก ๓ ส่วนหนึ่ง
ธรรมที่เป็นกามาวจรนั้นมีเท่าไร?
คือธาตุ ๑๘ ทั้งหมด
ธรรมที่ป็นรูปาวจรนั้นมีเท่าไร ?
คือธาตุ ๑๔ ยกเว้น คันธะ รสะและฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ
ธรรมที่เป็นอรูปาวจรนั้นมีเท่าไร?
คือธาตุที่อยู่สุดทั้ง ๓ (คือมโนธาตุ ธรรมธาตุ มโนวิญญาณธาตุ)
ธรรมที่ไม่ใช่อวจรนั้นมีเท่าไร?
คือธรรมที่เป็นอนาสวะทั้งหมด
ธรรมที่สงเคราะห์เข้าในขันธ์นั้นมีเท่าไร?
คือ ทั้งหมดยกเว้นอสังขตะธรรม
ธรรมที่สงเคราะห์เข้าในอุปาทานขันธ์นั้นมีเท่าไร?
คือสาสวธรรม
ธรรมที่เป็นกุศลนั้นมีเท่าไร? ธรรมที่เป็นอกุศลนั้นมีเท่าไร? ธรรมที่เป็นอัพยากตนั้นมีเท่าไร?
คือธาตุทั้ง ๑๐ สาธารณ์แก่กุศล อกุศล และอัพยากต ธาตุรู้ทั้ง ๗ (มีวิญญาณธาตุ ๖ มโนธาตุ ๑) รูปะ สัททะ และส่วนหนึ่งของธรรมธาตุ ส่วนที่เป็นอัพยากตล้วนๆ มี ๘
ธรรมที่เป็นอัชฌัตตะนั้นมีเท่าไร?
คือธาตุ ๑๒ ยกเว้นรูปะ สัททะ คันธะ รส โผฏฐัพพะ และธรรมธาตุส่วนหนึ่ง
ธรรมที่เป็นพหิทธะนั้นมีเท่าไร?
คือธาตุที่เหลืออีก ๖ (คือ อายตนะภายนอก๖)
ธรรมที่เป็นสารัมมณะนั้นมีเท่าไร?
คือธาตุรู้ทั้ง ๗ และธรรมธาตุส่วนหนึ่ง เจตสิกธรรม
ธรรมที่เป็นอนารัมมณะนั้นมีเท่าไร?
คือธาตุที่เหลืออีก ๑๐ และธรรมธาตุ ส่วนหนึ่ง
ธรรมที่วิภาคอารมณ์ได้นั้นมีเท่าไร?
คือ มโนธาตุ มโนวิญญาณธาตุ และส่วนหนึ่งของธรรมธาตุ
ธรรมที่เป็นอุปาทินกะนั้นมีเท่าไร?
คือ ธาตุภายใน ๕ และส่วนหนึ่งแห่งธาตุทั้ง ๔ กล่าวคือ รูปะ คันทธ รสะ โผฏฐัพพะ
ธรรมที่เป็นอนุปาทินกะนั้นมีเท่าไร?
คือธาตุที่เหลือ ๙ และส่วนหนึ่งของธาตุทั้ง ๔
ธรรมที่เป็นสภาคตานั้นเป็นไฉน?
คือรูปธาตุภายในทั้ง ๕ (อินทรีย์ทั้ง ๕ ) กับวิญญาณและอารมณ์อันสมควรแก่(อินทรีย์) ของตน (เช่นจักขุนทรีย์ย่อมสมควรแก่จักขุวิญญาณและรูปารมณ์
ธรรมที่เป็นชะนิดเดียวกับสภาคตานั้นเป็นไฉน?
คือในธรรม (ทั้ง ๓ เช่น จักขุ จักขุวิญญาณ รูปารมณ์) ขาดวิญญาณของตนไปเสีย ก็ยังชื่อว่าเป็นธรรมประเภทเดียวกัน

 

จบมหายานปัญจขันธศาสตร์



วันจันทร์

๑. ภาวนาปฐวีกสิณ

 ภาวนาปฐวีกสิณ

ก็แหละ ภิกษุผู้โยคีบุคคลเมื่อตัดเครื่องกังวลเล็ก ๆ น้อย ๆ ดังนี้แล้ว เวลาภายหลังอาหาร กลับจากการบิณฑบาต บรรเทาความมึนเมาอันมีอาหารเป็นเหตุแล้วจึงไปนั่งคู่บัลลังก์ ตั้งกายให้ตรง ณ โอกาสอันสงัด แต่นั้นพึงกำหนดเอานิมิตกสิณในดินที่ทำขึ้น หรือที่เป็นเองตามปกติต่อไป ข้อนี้สมดังที่ท่านโบราณาจารย์กล่าวไว้ว่า:-

🔅 คำของท่านโบราณาจารย์
โยคีบุคคลเมื่อจะถือเอาปฐวีกสิณโดยอุคคหนิมิตนั้น ย่อมถือเอานิมิตในวงกลมแห่งดินที่สร้างขึ้นหรือที่เป็นเองตามปกติ ชนิดที่มีกำหนดไม่ใช่ไม่มีกำหนด ชนิดที่มีที่สุดไม่ใช่ไม่มีที่สุด ชนิดที่มีสัณฐานกลมไม่ใช่ที่ไม่กลม ชนิดที่มีขอบเขตไม่ใช่ไม่มีขอบเขต โตเท่ากระดังหรือเท่าปากขันโอ โยคีบุคคลนั้นย่อมภาวนาทำนิมิตนั้นให้เป็นอันถือเอาดีแล้ว ย่อมทรงไว้ซึ่งนิมิตนั้นให้เป็นอันทรงไว้ดีแล้วและย่อมกำหนดนิมิตนั้นให้เป็นอันกำหนดดีแล้ว ครั้นเธอภาวนาทำนิมิตนั้นให้เป็นอันถือเอาดีแล้วทำการทรงไว้ให้เป็นอันทรงไว้ดีแล้ว ทำการกำหนดให้เป็นอันกำหนดดีแล้ว ก็จะเห็นอานิสงส์มีความสำคัญเห็นเป็นรัตนะ นอบน้อมเคารพคารวะ กระหยิ่มอิ่มใจ น้อมจิต เข้าไปผูกติดไว้ในอารมณ์ที่ตนถือเอาดีแล้วทรงไว้ดีแล้ว กำหนดไว้ดีแล้วนั้น ด้วยความมั่นใจว่าเราจักรอดพ้นจากชราทุกข์มรณทุกข์ด้วยปฏิปทาอันนี้อย่างแน่นอน

เธอบรรลุแล้วซึ่งปฐมฌาน อันมีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่ความสงัด เพราะสงัดแน่นอนแล้วจากกามทั้งหลาย เพราะสงัดแน่นอนแล้วจากอกุศลธรรมทั้งหลาย ฉะนี้แลเจริญปฐวีกสิณที่เป็นเองในคำของท่านโบราณาจารย์นั้น มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ อันโยคีบุคคลใดเคยบวชในศาสนาหรือเคยบวชเป็นฤาษีแล้ว ทำฌาน ๔ และฌาน ๕ ในปฐวีกสิณให้บังเกิดมาแล้ว แม้ในภพปางอดีตโยคีบุคคลผู้มีบุญถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยเห็นปานนี้นั้น อุคคหนิมิต ย่อมเกิดขึ้นได้ในดินที่เป็นอยู่เองตามปกติ คือ ในที่ดินที่เขาไถไว้ หรือในลานข้าว เหมือนพระมัลลกเถระเป็นตัวอย่าง

ได้ยินว่า ท่านพระมัลลกเถระนั้น ขณะที่ท่านเพ่งดูที่ดินที่เขาไถไว้ อุคคหนิมิตประมาณเท่าที่ซึ่งเขาไถไว้นั้นนั่นเทียวได้เกิดขึ้นแล้ว ท่านเจริญอุคคหนิมิตจนได้บรรลุฌาน ๔ แล้วเริ่มเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานอันมีฌานนั้นเป็นปทัฏฐาน จนได้บรรลุพระอรหัตแล

🔅 วิธีทำปฐวีกสิณที่ต้องสร้างขึ้น
ส่วนโยคีบุคคลใดผู้ไม่ได้ทำบุญญาธิการไว้เหมือนอย่างที่กล่าวนั้น เธอต้องสร้างปฐวีกสิณขึ้นเอง อย่างที่ไม่ให้ผิดเพี้ยนไปจากกรรมวิธีที่เรียนมาในสำนักของพระอาจารย์ และให้เลี่ยงเสียจากโทษของกสิณ ๔ ประการ จริงอยู่ โทษของปฐวีกสิณมีอยู่ ๔ ประการ ด้วยอำนาจทำปะปนกับสีเขียว ๑ สีเหลือง ๑ สีแดง ๑ สีขาว ๑ เพราะฉะนั้น โยคีบุคคลอย่าได้เอาดินมีสีเขียวเป็นต้นมาทำกสิณ จงทำด้วยดินที่มีสีเหมือนแสงอรุณ เช่น ดินที่แม่น้ำคงคา ก็แหละ กสิณนั้นอย่าทำไว้ ณ ตรงกลางวัด หรือ ณ ที่ที่ภิกษุสามเณรสัญจรไปมา พึงทำไว้ตรงที่เป็นเพิง หรือบรรณศาลาซึ่งเป็นที่ลับอยู่ท้ายวัด จะเป็นกสิณชนิดที่โยกย้ายได้ หรือชนิดที่ติดอยู่กับที่ก็ได้

🔅 วิธีทำปฐวีกสิณที่โยกย้ายได้
วิธีทำกสิณ ๒ อย่างนั้น กสิณชนิดที่โยกย้ายได้ จึงเอาผืนผ้าเก่า หรือผืนหนังหรือผืนเสื่อลำแพน มาผูกจึงติดไม้ ๔ อัน แล้วเอาดินที่มีสีเหมือนแสงอรุณที่เก็บรากหญ้าและกรวดทรายออกหมดแล้ว ขยำได้ที่แล้ว มาทาเข้าที่ผืนผ้าหรือผืนหนังหรือเสื่อลำแพนนั้นทำให้เป็นสัณฐานกลมประมาณเท่ากระดังหรือปากขันโอ ดังที่กล่าวแล้ว ในเวลาที่จะทำบริกรรมภาวนา พึงเอาแผ่นกสิณนั้นไปปูลงที่พื้นแล้วเพ่งดูตามภาวนาวิธีต่อไป

🔅 วิธีทำปฐวีกสิณที่อยู่กับที่
กสิณชนิดที่ติดอยู่กับที่นั้น พึงเอาหลักหลาย ๆ พึงเอาหลักหลาย ๆ อันมาตอกกับพื้นดินโดยอาการคล้าย ๆ กับฝักบัว แล้วเอาเครือวัลย์มาถักร้อยตรึงเข้าไว้ ถ้าดินสีเหมือนแสงอรุณนั้นมีน้อยไม่เพียงพอ ให้เอาดินอื่นมาใส่ลงไว้ตอนล่างเสียก่อน แล้วจึงเอาดินมีสีเหมือนแสงอรุณซึ่งทำให้สะอาดแล้วมาใส่ทับข้างบน ทำให้มีสัณฐานกลมขนาดกว้าง ๑ คืบ ๔ นิ้ว แหละ ที่ท่านโบราณาจารย์กล่าวว่า ประมาณเท่ากระดังหรือประมาณเท่ากับปากขันโอนั้น ท่านหมายเอาประมาณคือ ๑ คืบ ๔ นิ้วนี้แล ส่วนคำมีอาทิว่าชนิดที่มีกำหนดไม่ใช่ไม่มีกำหนด นั้น ท่านกล่าวไว้เพื่อแสดงว่า ปฐวีกสิณนั้นเป็นสิ่งที่มีกำหนดขอบเขต

🔅 วิธีนั่งเพ่งปฐวีกสิณ
เพราะเหตุที่ท่านแนะให้ทำกสิณอย่างมีกำหนดนั้น ครั้นกะกำหนดประมาณเท่าที่กล่าวคือ ๑ คืบ ๔ นิ้วอย่างนั้นแล้ว จึงทำสีที่ไม่กลืนกับสีดินอรุณให้ปรากฏขึ้นเป็นขอบเขตไว้ด้วยเกรียงไม้ แต่นั้นจงอย่าใช้เกรียงไม้นั้น จึงใช้เกรียงหินขัดทำให้เรียบเสมอเหมือนหน้ากลอง ครั้นแล้วจงปัดกวาดสถานที่นั้นให้สะอาด ให้สรงน้ำชำระกายแล้วจึงกลับมา นั่งบนตั๋งที่ตรึงอย่างมั่นคง มีเท้าสูง ๑ คืบ ๔ นิ้ว ซึ่งเตรียมตั้งไว้ ณ สถานที่ภายในระยะห่าง ๒ ศอก ๑ คืบแต่ดวงกสิณ จริงอยู่ เมื่อนั่งไกลกว่านั้นกสิณก็จะไม่ปรากฏชัด เมื่อนั่งใกล้กว่านั้นโทษแห่งกสิณทั้งหลายเช่นรอยฝ่ามือเป็นต้นก็จะปรากฏให้เห็น เมื่อนั่งสูงกว่านั้นย่อมจะต้องน้อมคอลงคือก้มหน้าลงตู เมื่อนั่งต่ำกว่านั้นก็จะปวดเข่า เพราะฉะนั้น จึงนั่งโดยทำนองที่กล่าวแล้วนั่นแล แล้วจงพิจารณาถึงโทษในกามทั้งหลาย โดยนัยมีอาทิว่า กามทั้งหลายมีความยินดีนิดหน่อย แต่มีทุกข์มาก พึงเป็นผู้มีความพอใจในเนกขัมมะมีฌานเป็นต้น อันเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งอันเป็นอุบายล่วงพ้นซึ่งทุกข์ทั้งปวง พึงทำปีติและปราโมชให้บังเกิดขึ้น ด้วยการระลึกถึงพระพุทธคุณพระธรรมคุณและพระสังฆคุณ พึงเป็นผู้มีความเคารพอย่างแม่นมั่นอยู่ในข้อปฏิบัติว่า เนกขัมมปฏิปทานี้นั้น เป็นข้อปฏิบัติอันพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอริยสาวกทั้งหลายทุก ๆ พระองค์ได้ปฏิบัติมาแล้ว และพึงทำความอุตสาหะให้เกิดว่า เราจักเป็นผู้มีส่วนได้ดื่มรสความสุขอันเกิดแต่ความสงัดด้วยข้อปฏิบัติอันนี้อย่างแน่นอน แล้วจึงภาวนา ลืมตาแต่พอดี จับเอานิมิตในปฐวีกสิณนั้น โดยอาการอันสม่ำเสมอเรื่อย ๆ ไป

จริงอยู่ เมื่อลืมตากว้างมากไปก็จะเมื่อยตา และดวงกสิณก็จะปรากฏชัดเกินไปด้วยเหตุนั้นอุคคหนิมิตก็จะไม่เกิดขึ้นได้ เมื่อลืมตาแคบไป ดวงกสิณก็จะไม่ปรากฏชัดและจิตก็จะห่อเหี่ยว แม้ด้วยเหตุนี้อุคคหนิมิตก็จะไม่เกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้น โยคีบุคคลจึงภาวนาลืมตาแต่พอดี จับเอานิมิตในปฐวีกสิณนั้น โดยอาการอันสม่ำเสมอ เหมือนดูเงาหน้าในบานกระจกฉะนั้น และอย่าพิจารณาถึงสีของดิน อย่าเอาใจใส่ถึงลักษณะ
ของดินเช่นความแข็งของดินเป็นต้น แต่ก็มิใช่จะปฏิเสธสีเสียทีเดียว พึงตั้งจิตไว้ในคำบัญญัติว่าดิน ด้วยอำนาจธาตุดินเป็นสิ่งที่มากกว่าธาตุอื่น แล้วพิจารณาดินพร้อมกับสีที่อาศัยพร้อม ๆ กันไป 
แหละในบรรดาชื่อของดินทั้งหลายในคำบาลี เช่น ปฐวี มหี เมทนี ภูมิ วสุธา และวสุนธรา เป็นต้น โยคีบุคคลปรารถนาชื่อใด และชื่อใดสำเร็จเป็นเครื่องเกื้อหนุนแก่ความจำของเธอ เธอก็พึงระบุเอาชื่อนั้น หรือพระอาจารย์จึงบอกชื่อนั้นให้แก่เธอ อีกประการหนึ่ง ที่ชื่อว่า ปฐวี นี่นั่นเทียว ปรากฏเป็นที่รู้จักกันมากกว่าชื่ออื่น ฉะนั้น โยคีบุคคลพึงภาวนาด้วยคำบาลี ปฐวี ปฐวี หรือด้วยคำไทยว่า ดิน-ดิน ดังนี้ ด้วยอำนาจเป็นชื่อที่ปรากฏนั่นเทียว และบางครั้งจึงลืมตาดูนิมิต บางครั้งจึงหลับตาเสียแล้วนึกทางใจ อุคคหนิมิตยังไม่เกิดขึ้นตราบใด ตราบนั้นก็จงภาวนาเรื่อย ๆ ไป โดยนัยนี้แหละ จนถึงร้อยครั้งพันครั้ง หรือ แม้จะมากครั้งกว่านั้นขึ้นไปก็ตาม

🔅 ได้อุคคหนิมิต
เมื่อโยคีบุคคลภาวนาอยู่อย่างนั้น กาลใดหลับตานึกทางใจนิมิตในปฐวีกสิณนั้นมาสู่คลองจักษุ คือเข้าถึงความเป็นอารมณ์ของมโนทวาริกชวนจิตกาลนั้น ย่อมได้ชื่อว่า อุคคหนิมิต เกิดแล้ว นับแต่เวลาอุคคหนิมิตเกิดแล้วไปโยคีบุคคลไม่ต้องนั่งภาวนาอยู่ ณ ที่ดวงกสิณนั้นอีก จึงกลับเข้าสู่ที่อยู่ของตนแล้วนั่งภาวนาอยู่ ณ ที่นั้นเถิด

อนึ่ง เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้ชักช้าเสียเวลาในเพราะอันที่จะต้องล้างเท้า โยคีบุคคลจำต้องมีรองเท้าชนิดชั้นเดียวกับไม้เท้าด้วย เพื่อว่าถ้าสมาธิที่ยังอ่อนจะเสื่อมหายไปด้วยเหตุอันไม่เป็นที่สบายบางอย่างแล้ว โยคีบุคคลจะได้สวมรองเท้าถือไม้เท้าไปยังที่เดิมนั้น นั่งเพ่งกสิณจนได้อุคคหนิมิตอีก จึงกลับมาอยู่ที่ของตนนั่งคู่บัลลังก์ตั้งกายให้ตรงภาวนาเรื่อยๆไป

🔅 ได้ปฏิภาคนิมิต
อันโยคีบุคคลนั้นจึงพยายามนึกถึงอุคคหนิมิตนั้นให้บ่อย ๆ ทำกัมมัฏฐานให้เป็นอันความนึกตะล่อมมาไว้ในจิตแล้ว อันความนึกชอบตะล่อมมาไว้ในจิตแล้ว เมื่อโยคีบุคคลทำกัมมัฏฐานให้เป็นอันความนึกตะล่อมมาไว้ในจิตแล้ว อันความนึกชอบหมายความว่า การเห็นนิมิตนั้นไม่ได้อาศัยจักขุทวารเหมือนแต่แรก ๆ นิมิตนั้นเกิดขึ้นทางมโนทวารโดยตรง เมื่อจิตทำหน้าที่ไปถึงขณะชวนจิตแล้ว จิตก็เห็นนิมิตนั้นด้วยจิต นิมิตที่เห็นด้วยจิตนี้แลเรียกว่าอุคคหนิมิต ตะล่อมมาไว้ในจิตแล้วอย่างนี้ นิวรณ์ทั้งหลายมีกามฉันทะเป็นต้นก็จะสงบลง และกิเลสทั้งหลายอันตั้งอยู่ในฐานะเดียวกันกับนิวรณ์นั้น ก็จะระงับหายไปโดยลำดับแห่งภาวนา จิตย่อมตั้งมั่นด้วยอุปจารสมาธิ ปฏิภาคนิมิต ย่อมเกิดขึ้น ด้วยประการฉะนี้

🔅 ความแปลกกันแห่งนิมิตทั้ง ๒
ในนิมิตทั้ง ๒ นั้น ความแปลกกันแห่งอุคคหนิมิตอันก่อนกับปฏิภาคนิมิตมีดังนี้ คือ ในขั้นอุคคหนิมิตยังมีโทษแห่งกสิณปรากฏให้เห็นอยู่ได้ ส่วนปฏิภาคนิมิตย่อมปรากฏเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์ผุดผ่องกว่าอุคคหนิมิตนั้นตั้งร้อยเท่าพันเท่า เป็นดุจชำแรกอุคคหนิมิตออกมาคล้ายกับดวงแว่นที่ถอดออกจากถุง คล้ายถาดสังข์ที่ขัดดีแล้ว คล้ายดวงจันทร์ที่ออกจากกลีบเมฆ และคล้ายหมู่นกยางอยู่ที่หน้าเมฆ ก็แหละ ปฏิภาคนิมิตนั้นไม่มีสีไม่มีสัณฐาน เพราะไม่ใช่สภาวปรมัตถ์ จริงอยู่ถ้าปฏิภาคนิมิตนั้นจะพึงเป็นสิ่งที่มีสีและสัณฐานเช่นนี้แล้ว ก็จะพึงเป็นรูปหยาบที่รู้ได้ด้วยตาเนื้อ เข้าถึงสัมมสนญาณได้ ยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์ได้ แต่นี้หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ มันเป็นสักว่าอาการที่ปรากฏแก่ผู้ได้สมาธิซึ่งเกิดจากสัญญาภาวนาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

🔅 ได้อุปจารสมาธิ
ก็แหละ นับจำเดิมแต่เวลาปฏิภาคนิมิตเกิดขึ้นแล้ว นิวรณ์ทั้งหลายมีกามฉันทะ เป็นต้น ย่อมสงบไปเองนั่นเทียว กิเลสทั้งหลายที่ตั้งอยู่ในฐานะเดียวกันกับนิวรณ์นั้นก็ระงับไปเองด้วย จิตก็เป็นอันตั้งมั่นแล้วด้วย อุปจารสมาธิ นั่นแล

สมาธิ ๒ อย่าง
แหละสมาธินั้นมี ๒ อย่าง คือ อุปจารสมาธิ ๑ อัปปนาสมาธิ ๑ จิตในอุปจารภูมิ หรือในปฏิลาภภูมิ (ภูมิที่ได้อัปปนาฌาน) ย่อมตั้งมั่นด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ ใน ๒ ภูมินั้น จิตในอุปจารภูมิย่อมตั้งมั่น เพราะการประหานเสียได้ซึ่งนิวรณ์ จิตในปฏิลาภภูมิ ย่อมตั้งมั่นเพราะความบังเกิดขึ้นแห่งองค์ฌาน

เหตุที่ต่างกันแห่งสมาธิ ๒ อย่าง
ก็แหละ สมาธิ ๒ อย่างมีเหตุต่างกันดังนี้ องค์ฌานทั้งหลายในอุปจารสมาธิยังไม่มีกำลัง เพราะองค์ฌานทั้งหลายยังไม่เกิดกำลัง คือยังไม่บรรลุซึ่งกำลังแห่งภาวนา เปรียบเหมือนเด็กเล็ก ๆ ที่พยุงให้ลุกขึ้นยืนแล้วก็ล้มลงไปที่พื้นบ่อย ๆ ฉันใด เมื่ออุปจารสมาธิเกิดขึ้นนั้น บางทีจิตก็ทำนิมิตให้เป็นอารมณ์ บางทีก็ตกลงสู่ภวังค์ฉันนั้น ส่วนในอัปปนาสมาธิ องค์ฌานทั้งหลายมีกำลัง เพราะองค์ฌานเหล่านั้นเกิดมีกำลังแล้ว เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีกำลัง ลุกจากที่นั่งแล้วพึ่งยืนอยู่ได้แม้ตลอดทั้งวันฉันใด แม้เมื่ออัปปนาสมาธิเกิดขึ้นแล้ว ฌานจิตตัดวาระแห่งภวังค์ครั้งเดียว แล้วก็ดำรงอยู่ตลอดคืนตลอดวันแม้ทั้งสิ้น ย่อมเป็นไปอยู่ด้วยอำนาจลำดับแห่งกุศลชวนจิตอย่างเดียวเท่านั้น

🔅 รักษาปฏิภาคนิมิตเหมือนพระครรภ์จักรพรรดิ
ในนิมิต ๒ อย่างนั้น ปฏิภาคนิมิตซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับอุปจารสมาธินั้น ใดการที่จะทำให้ปฏิภาคนั้นเกิดขึ้น เป็นสิ่งที่ทำได้ยากยิ่ง เพราะฉะนั้น ถ้าโยคีบุคคลสามารถที่จะเจริญปฏิภาคนิมิตนั้นไป จนบรรลุซึ่งอัปปนาสมาธิเสียได้ด้วยบัลลังก์นั้นทีเดียว ข้อนั้นนับเป็นโชคดี แต่ถ้าไม่สามารถจะปฏิบัติได้เช่นนั้น แต่นั้น โยคีบุคคลนั้นอย่าได้ประมาท พึงรักษาปฏิภาคนิมิตนั้นไว้เหมือนกับพระครรภ์ที่ทรงไว้ซึ่งทารกผู้จะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ฉะนั้น เพราะเมื่อรักษาปฏิภาคนิมิตไว้ได้เช่นนี้ อุปจารฌานที่ได้แล้วก็จะไม่มีการเสื่อมหายไป แต่เมื่อไม่มีการรักษาแม้อุปจารฌานที่ได้แล้วนั้นก็จะเสื่อมหายไปเสีย

ขณะที่จิตทำนิมิตให้เป็นอารมณ์อยู่ คือ แนบเฉยอยู่กับอารมณ์อันเดียว ไม่ตกภวังค์นั้น ชื่อว่า จิตเป็นสมาธิ เมื่อจิตปล่อยอารมณ์นั้นเสีย ตกกระแสภวังค์ ชื่อว่าจิตเสียสมาธิ, อุปจารสมาธินั้นเป็นสมาธิที่ยังไม่มั่นคง เดี๋ยวขึ้นสู่วิถีเดี๋ยวตกภวังค์ ขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่ ซึ่งมีอาการเหมือนเด็กเล็ก ๆ ล้ม ๆ ลุก ๆ ฉะนั้น

🔅 วิธีรักษาปฏิภาคนิมิต
ต้องเว้นอสัปปายะ ๗ และเสพสัปปายะ ๗ ในปฏิภาคนิมิตนั้น มีวิธีรักษาดังต่อไปนี้
อาวาโส โคจโร ภสสํ ปุคคโล โภชนํ อุตุ อิริยาปโถติ
สตุเตเต อสปฺปาเย วิวชุชเย 
สปฺปาเย สตุต เสเวถ เอวญฺหิ
ปฏิปซฺซโต นจิเรเนว กาเลน โหติ กสฺสจิ อปฺปนา

โยคีบุคคลใดได้ปฏิภาคนิมิตแล้วนั้น พึงเว้นซึ่งธรรมอันไม่เป็นที่สบาย ๗ อย่างเหล่านี้ คือ
๑. อาวาโส ได้แก่ที่อยู่อันไม่เป็นที่สบาย  
๒. โคจโร ได้แก่หมู่บ้านบิณฑบาตไม่เป็นที่สบาย
๓. ภสสํ ได้แก่คำพูดอันไม่เป็นที่สบาย
๔. ปุคคโล ได้แก่บุคคลผู้ไม่เป็นที่สบาย
๕. โภชนํ ได้แก่อาหารอันไม่เป็นที่สบาย
๖. อุตุ ได้แก่อากาศอันไม่เป็นที่สบาย และ
๗. อิริยาปโถ ได้แก่อิริยาบถอันไม่เป็นที่สบาย

และจึงต้องเสพธรรมอันเป็นที่สบาย ๗ อย่างตรงข้าม เพราะเมื่อปฏิบัติได้อย่างนี้ ไม่ช้าไม่นานเท่าไรนักเลย โยคีบุคคลบางท่านก็ได้สำเร็จอัปปนาฌานต่อไป

อธิบายอสัปปายะ ๗ และสัปปายะ ๗

๑. อาวาส-ที่อยู่ 
ในที่อยู่ ๒ อย่างนั้น เมื่อโยคีบุคคลอยู่ในที่อยู่อันใด นิมิตที่ยังไม่เกิดก็ไม่เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมหายไป และสติที่ยังไม่ตั้งมั่นก็ไม่ตั้งมั่น จิตที่ไม่เป็นสมาธิก็ไม่เป็นสมาธิ ที่อยู่เช่นนี้ชื่อว่า ที่อยู่ไม่เป็นที่สบาย เมื่อโยคีบุคคลอยู่ ณ ที่ใด นิมิตย่อมเกิดขึ้นด้วย ย่อมถาวรมั่นคงอยู่ด้วยสติ ย่อมตั้งมั่นในนิมิตนั้น จิตก็เป็นสมาธิ เหมือนพระปธานิยติสสเถระผู้อยู่ ณ วัดนาคบรรพตเป็นตัวอย่าง ที่อยู่เช่นนี้ ชื่อว่า ที่อยู่เป็นที่สบาย เพราะฉะนั้น ในวัดใดมีที่อยู่หลายแห่งด้วยกัน ในวัดเช่นนั้น โยคีบุคคลพึงอยู่ทดลองดูแห่งละ ๓ วัน ๆ ณ แห่งใดทำให้จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งได้ ก็พึงอยู่ ณ ที่แห่งนั้นเถิด จริงอยู่ เพราะเหตุที่ได้ที่อยู่เป็นที่สบาย ภิกษุ ๕๐๐ รูปซึ่งอยู่ ณ ถ้ำจูฬนาคะในประเทศลังกา เรียนเอากัมมัฏฐานแล้วก็ได้บรรลุพระอรหัต ณ ถ้ำนั้นแล แหละ ณ ที่อื่น ๆ พระอริยบุคคลทั้งหลายมีพระโสดาบันเป็นต้น ได้บรรลุถึงขั้นอริยภูมิแล้วได้บรรลุพระอรหัต ณ ที่นั้น ๆ คุณนานับไม่ถ้วน แม้ที่วัดอื่น ๆ เช่น วัดจิตตลบรรพตเป็นต้น ก็เช่นเดียวกันนี้

๒. โคจรคาม-หมู่บ้านบิณฑบาต
ก็แหละ โคจรคามคือหมู่บ้านสำหรับไปบิณฑบาตแห่งใด มีอยู่ด้านทิศเหนือหรือด้านทิศใต้ ๑ มีอยู่ในที่ไม่ห่างไกลมากนัก คือภายในระยะทางหนึ่งโกสะครึ่ง ประมาณพันชั่วคันธนู หรือ ๒ กิโลเมตร ๑ (๔ ศอกเป็น ๑ ธนู, ๕๐๐ ธนู เป็น ๑ โกสะ, ๔ โกสะ เป็น ๑ คาวุต, ๔ คาวุต เป็น ๑ โยชน์ เท่ากับ ๔๐๐ เส้น, ๑ โกสะ เท่ากับ ๒๕ เส้น) มีภิกษาหารบริบูรณ์หาได้สะดวก ๑ หมู่บ้านเช่นนั้น ชื่อว่า หมู่บ้านบิณฑบาตเป็นที่สบาย อย่างตรงกันข้าม ชื่อว่าหมู่บ้านบิณฑบาตไม่เป็นที่สบาย 

๓. ภัสสะ-คำพูด
ถ้อยคำที่นับเนื่องในติรัจฉานกถา ๓๒ ประการ มีการพูดถึงเรื่องพระราชา เป็นต้น ชื่อว่าเป็นถ้อยคำไม่เป็นที่สบาย เพราะถ้อยคำเช่นนั้น ย่อมเป็นไปเพื่ออันตรธานเสียแห่งนิมิตของโยคีบุคคลนั้น ถ้อยคำที่อาศัยกถาวัตถุ ๑๐ ประการ” มีพูดถึงเรื่องความมักน้อยเป็นต้น" ชื่อว่า เป็นถ้อยคำเป็นที่สบาย แม้ถึงถ้อยคำเป็นที่สบายเช่นนั้น ก็พึงพูดแต่พอประมาณ

๔. ปุคคโล-บุคคล
บุคคลผู้ไม่ชอบพูดเรื่องติรัจฉานกถา เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยคุณสมบัติมีศีลเป็นต้นที่โยคีบุคคลอาศัยแล้ว จิตที่ยังไม่ตั้งมั่นย่อมตั้งมั่น หรือจิตที่ตั้งมั่นแล้วย่อมมั่นคงยิ่งขึ้น บุคคลเห็นปานนี้ ชื่อว่า เป็นบุคคลเป็นที่สบาย ส่วนบุคคลที่ชอบประคบประหงมบำรุงตกแต่งร่างกาย ชอบพูดแต่เรื่องติรัจฉานกถา ชื่อว่า บุคคลไม่เป็นที่สบาย เพราะบุคคลเช่นนั้นย่อมทำปฏิภาคนิมิตนั้นให้เศร้าหมองได้ทีเดียว เปรียบเหมือนน้ำขี้ตมทำน้ำที่ใส่ให้ขุ่นได้ฉะนั้น ไม่ต้องพูดถึงปฏิภาคนิมิตดอก แม้แต่สมาบัติของพระหนุ่มผู้อยู่ ณ เขาโกฏบรรพตรูปหนึ่ง ก็ยังเสื่อมหายไป เพราะเหตุอาศัยบุคคลไม่เป็นที่สบายเช่นนั้น

๕.๖, โภชนะ-อาหาร และอุตุ-อากาศ
ก็แหละ อาหารที่มีรสหวาน ย่อมเป็นที่สบายสำหรับบุคคลบางคน ที่มีรสเปรี้ยวย่อมเป็นที่สบายสำหรับบุคคลบางคน แม้อากาศเย็นก็เป็นที่สบายสำหรับบุคคลบางคน อากาศร้อนเป็นที่สบายสำหรับบุคคลบางคน เพราะฉะนั้น เมื่อโยคีบุคคล ร้องเสพอาหารหรืออากาศชนิดใดจึงมีความผาสุกสบาย หรือจิตที่ยังไม่ตั้งมั่น ย่อมตั้งมั่นหรือจิตที่ตั้งมั่นแล้วย่อมมั่นคงยิ่งขึ้น อาหารชนิดนั้นและอากาศชนิดนั้น ชื่อว่าเป็นที่สบาย อาหารและอากาศชนิดอื่น นอกจากนี้ ชื่อว่าไม่เป็นที่สบาย

๗. อิริยาปโด-อิริยาบถ
แม้ในอิริยาบถ ๔ บางคนมีอิริยาบถเดินเป็นที่สบาย บางคนก็มีอิริยาบถนอน อิริยาบถยืนหรืออิริยาบถนั่งอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นที่สบาย เพราะฉะนั้น โยคีบุคคลพึงทดลอง อิริยาบถนั้นดูอย่างละ ๓ วัน เหมือนกับทดลองที่อยู่ ในอิริยาบถใดจิตที่ยังไม่ตั้งมั่นย่อมตั้งมั่น หรือจิตที่ตั้งมั่นแล้วย่อมมั่นคงยิ่งขึ้น พึงทราบว่าอิริยาบถนั้น ชื่อว่าเป็นอิริยาบถเป็นที่สบาย อิริยาบถอื่น ๆ นอกนี้ ไม่ใช่เป็นอิริยาบถที่สบาย

ด้วยประการฉะนี้ โยคีบุคคลพึงเว้นธรรมอันไม่เป็นที่สบาย ๗ อย่างนี้ จึงเสพธรรมอันเป็นที่สบาย ๗ อย่างนี้นั้นเถิด เพราะเมื่อปฏิบัติได้อย่างนี้ และเสพปฏิภาคนิมิตมาก ๆ ขึ้น ไม่ช้าไม่นานเท่าไรเลย โยคีบุคคลบางคนก็จะได้สำเร็จอัปปนาฌานแน่นอน ถ้ายังไม่สำเร็จอัปปนาฌานต้องบำเพ็ญอัปปนาโกศล ๑๐ ประการ

ก็แหละโยคีบุคคลใดแม้จะได้ปฏิบัติอย่างนั้นแล้วก็ยังไม่ได้สำเร็จอัปปนาฌาน โยคีบุคคลนั้นพึงบำเพ็ญอัปปนาโกศล (คือวิธีที่จะให้มีความฉลาดในอัปปนา) ให้เกิดขึ้นโดยบริบูรณ์ต่อไป ในอัปปนาโกศลนั้น มีนัยดังนี้ อันโยคีบุคคลจำต้องปรารถนาวิธีที่จะให้มีความฉลาดในอัปปนาสมาธิ โดยประการ ๑๐ อย่าง คือ
๑. วัตถุวิสทกิริยโต โดยทำวัตถุให้สะอาด
๒. อินทรียสมตตปฏิปาทนโต โดยทำอินทรีย์ให้ถึงความเสมอกัน
๓. นิมิตตกุสลโต โดยฉลาดในนิมิต
๔. จิตตปคุคหโต โดยยกจิตในสมัยที่ควรยก
๕. จิตตนิคคหโต โดยข่มจิตในสมัยที่ควรข่ม
๖. จิตตสมุปหํสโต โดยพยุงจิตให้ร่าเริงในสมัยที่ควรให้ร่าเริง
๗. จิตตอซุญเปกขโต โดยเพ่งดูจิตเฉยในสมัยที่ควรเพ่งดูเฉย
๘. อสมาหิตบุคคลปริวชุชนโต โดยเว้นบุคคลผู้ไม่มีสมาธิ
๙. สมาหิตบุคคลเสวนโต โดยสมาคมกับบุคคลผู้มีสมาธิ และ