วันอาทิตย์

๓.๑ ทิฏฐธัมมเวทนียกรรม

ทิฏฐธัมมเวทนียกรรม คือ กรรมที่ให้ผลในชาตินี้ กรรมที่ให้ผลในชาตินี้ได้นั้นต้องเป็นกรรมที่มีกำลังแรง ในการกระทำกรรมครั้งหนึ่งๆ วิถีจิตคือลำดับจิตที่เกิดขึ้นดับไปสืบต่อกัน ย่อมเกิดขึ้นมากมายหลายวิถี และในวิถีจิตหนึ่งๆ ก็มีชวนะจิตคือจิตที่เสพอารมณ์แล่นไปในอารมณ์ที่ปรารภจะทำกรรม

ชวนะมี ๗ ขณะ เจตนาในชวนะทั้ง ๗ นั้นเองส่งผล กล่าวคือ
ชวนะดวงที่ ๑ ส่งผลในชาตินี้ ชื่อว่า ทิฏฐธัมมเวทนียกรรม กรรมที่ส่งผลในชาตินี้ แบ่งออกได้ ๒ คือ 
๑. กรรมที่ให้ผลในชาตินี้ ภายใน ๗ วัน
ตัวอย่างฝ่ายกุศล เช่น นายมหาทุคตะได้ถวายอาหารบิณฑบาตแก่พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่ง เป็นกุศลที่มีกำลังมากจึงส่งผลทำให้เป็นเศรษฐี ภายใน ๗ วัน หรือ นายปุณณะกับภรรยา ซึ่งเป็นคนยากจนได้ถวายภัตตาหารแก่พระสารีบุตรที่เพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ ก็ทำให้เป็นเศรษฐีภายใน ๗ วัน 

ตัวอย่างฝ่ายอกุศล เช่น พระเทวทัตกระทำโลหิตุปบาทและทำสังฆเภท, นายนันทมานพ ที่ทำลายพระอุบลวรรณาเถรีผู้เป็นพระอรหันต์ อกุศลกรรมหนักเช่นนี้ก็ส่งผลทำให้ถูกธรณีสูบลงไปสู่อเวจีมหานรก
๒. กรรมที่ให้ผลในชาตินี้แต่หลัง ๗ วันไปแล้ว มี ๓ ประการ คือ 
๒.๑ กุศล อกุศล ที่ทำในวัยเด็ก ส่งผลในวัยเด็ก วัยกลางคน หรือ วัยชรา
๒.๒ กุศล อกุศล ที่ทำในวัยกลางคน ส่ง ผลในวัยกลางคน หรือ วัยชรา
๒.๓ กุศล อกุศล ที่ทำในวัยชรา ส่งผลในวัยชรา 

เหตุที่จะทำให้ผลของทานกุศลปรากฏได้ในชาตินี้ มี ๔ คือ 
๑. วัตถุสัมปทา คือ ผู้รับต้องเป็นพระอนาคามี หรือพระอรหันต์ 
๒. ปัจจยสัมปทา คือ ปัจจัยที่ทำกุศลได้มาด้วยความบริสุทธิ์ 
๓. เจตนาสัมปทา คือ มีเจตนาตั้งใจในการทำกุศลอย่างแรงกล้า 
๔. คุณาติเรกสัมปทา คือ พระอนาคามีหรือพระอรหันต์ผู้รับทานนั้นได้พร้อมด้วยคุณพิเศษ กล่าวคือ พึ่งออกจากนิโรธสมาบัติเมื่อครบด้วยองค์ทั้ง ๔ แล้ว ทานของผู้นั้นก็สำเร็จเป็นทิฏฐธัมมเวทนียกรรมและให้ได้รับผลในชาติปัจจุบันทันที 

ทิฏฐธัมมเวทนียกรรมจะส่งผลในชาตินี้ จะต้องมีลักษณะ ๔ อย่างๆ ใดอย่างหนึ่ง คือ 
๑. ไม่ถูกเบียดเบียนจากกรรมที่เป็นปฏิปักษ์ คือ ถ้าเป็นกุศลก็ต้องไม่ถูกเบียดเบียนจากอกุศล 
๒. ได้รับการเกื้อหนุนเป็นพิเศษทั้งฝ่ายกุศลและอกุศล ต้องได้รับการ เกื้อหนุนเป็นพิเศษ คือ

ก. ฝ่ายกุศลทิฏฐธัมมเวทนียกรรม คติสัมปัตติ ๔ คือ เกิดในสุคติภูมิ มนุษย์, เทวดา
ก. ฝ่ายอกุศลทิฏฐธัมมเวทนียกรรม คติวิปัตติ ๔ คือ เกิดในทุคติภูมิ

ข. กาลสัมปัตติ คือ เกิดในสมัยที่มีพระพุทธศาสนา พระราชาผู้ปกครองบ้านเมืองเป็นสัมมาทิฏฐิ 
ข. กาลวิปัตติ คือ เกิดในสมัยที่ไม่มีพระพุทธศาสนา พระราชาผู้ปกครองบ้านเมืองเป็นมิจฉาทิฏฐิ 

ค. อุปธิสัมปัตติ คือ เกิดมาร่างกาย อวัยวะครบสมบรูณ์ 
ค. อุปธิวิปัตติ คือ เกิดมาร่างกาย อวัยวะไม่ครบหรือบกพร่อง 

ง. ปโยคสัมปัตติ คือ เพียรประกอบแต่สุจริตกรรม 
ง. ปโยควิปัตติ คือเพียรประกอบในทางทุจริตกรรม
 
๓. มีเจตนาตั้งใจอย่างแรงกล้า การกระทำกรรมใดๆก่อนที่จะกระทำสำเร็จล่วงออกมาทางกาย ทางวาจา ต้องมีการพิจารณา ไตร่ตรองก่อน ถ้ามีเจตนาที่มีกำลังแรงกล้าอย่างมาก กุศลหรืออกุศลที่สำเร็จด้วยเจตนาที่แรงกล้านี้ ก็จะส่งผลเป็นทิฏฐธัมมเวทนียกรรม คือ ให้ผลในปัจจุบันได้

๔. กระทำต่อผู้มีคุณพิเศษ การกระทำกรรมใดๆ เมื่อกระทำต่อบุคคลที่ประกอบด้วยคุณพิเศษ มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์ หรือพระอนาคามี เป็นต้น ฉะนั้นการบริจาคทานจึงต้อง ทำความเข้าใจว่าเราควรมีเจตนาตั้งใจในการทำทาน แต่ปฏิคาหก คือ ผู้รับทานนั้นอย่าได้ปรารภเลย ขอให้น้อมระลึกบูชาพระรัตนตรัย บูชาคุณพระพุทธเจ้า บูชาคุณพระธรรม บูชาคุณพระอริยสงฆ์ น้อมระลึกอย่างนี้แล้วจึงให้ทาน ผลแห่งทานนั้นย่อมมีผลอย่างมากหรืออย่างสูงได้

ชวนะดวงที่ ๗ ส่งผลในชาติที่ ๒ ชื่อว่า อุปปัชชเวทนียกรรม 
ชวนะดวง ที่ ๒-๖ ส่งผลกรรมในชาติที่ ๓ จนกว่าจะถึงพระนิพพาน ชื่อว่า อปราปริยเวทนียกรรม 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น