วันพฤหัสบดี

อริยสัจ ๔



ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมอันเราแสดงแล้วว่า “เหล่านี้ คืออริยสัจทั้ง ๔” 

ดังนี้ เป็นธรรมอันสมณพราหมณ์ผู้รู้ทั้งหลายข่มขี่ไม่ได้ ทำให้เราเศร้าหมองไม่ได้ ติเตียนไม่ได้ คัดง้างไม่ได้.

ข้อนี้ เป็นธรรมที่เรากล่าวแล้วอย่างนี้ เราอาศัยซึ่งอะไรเล่า จึงกล่าวแล้วอย่างนี้ ?

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย !
เพราะอาศัยซึ่งธาตุทั้งหลาย ๖ ประการ การก้าวลงสู่ครรภ์ ย่อมมี;
เมื่อการก้าวลงสู่ครรภ์ มีอยู่, นามรูป ย่อมมี;
เพราะ มีนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ;
เพราะมีสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ;
เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เราย่อมบัญญัติว่า “นี้ เป็นความทุกข์” ดังนี้; ว่า “นี้ เป็นทุกขสมุทัย” ดังนี้; ว่า “นี้ เป็นทุกขนิโรธ”ดังนี้; ว่า “นี้ เป็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา” ดังนี้; แก่สัตว์ผู้สามารถเสวยเวทนาอยู่.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ทุกขอริยสัจ เป็นอย่างไรเล่า ?

แม้ความเกิดก็เป็นทุกข์,
แม้ความแก่ก็เป็นทุกข์,
แม้ความตายก็เป็นทุกข์,
แม้โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย ก็เป็นทุกข์,
การประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก เป็นทุกข์,
ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก เป็นทุกข์,
ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้น นั่นก็เป็นทุกข์ : กล่าวโดยย่อ ปัญจุปาทานขันธ์ทั้งหลาย เป็นทุกข์,
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรากล่าวว่า ทุกขอริยสัจ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ทุกขสมุทยอริยสัจ เป็นอย่างไรเล่า ?

เพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขารทั้งหลาย; 
เพราะมีสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ;
เพราะมีวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป;
เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ;
เพราะมีสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ; เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา;
เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา;
เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน;
เพราะมีอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ;
เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ;
เพราะมีชาติเป็นปัจจัย, ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน :
ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรากล่าวว่าทุกขสมุทยอริยสัจ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ทุกขนิโรธอริยสัจ เป็นอย่างไรเล่า ?

เพราะความจางคลายดับไปโดยไม่เหลือแห่งอวิชชานั้นนั่นเทียว, จึงมีความดับแห่งสังขาร ;
เพราะมีความดับแห่งสังขาร จึงมีความดับแห่งวิญญาณ ;
เพราะมีความดับแห่งวิญญาณ จึงมีความดับแห่งนามรูป;
เพราะมีความดับแห่งนามรูป จึงมีความดับแห่งสฬายตนะ;
เพราะมีความดับแห่งสฬายตนะ จึงมีความดับแห่งผัสสะ ;
เพราะมีความดับแห่งผัสสะ จึงมีความดับแห่งเวทนา;
เพราะมีความดับแห่งเวทนา จึงมีความดับแห่งตัณหา;
เพราะมีความดับแห่งตัณหา จึงมีความดับแห่งอุปาทาน ;
เพราะมีความดับแห่งอุปาทาน จึงมีความดับแห่งภพ;
เพราะมีความดับแห่งภพจึงมีความดับแห่งชาติ;
เพราะมีความดับแห่งชาตินั่นแล ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลายจึงดับสิ้น : ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรากล่าวว่า ทุกขนิโรธอริยสัจ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เป็นอย่างไรเล่า ? 

มรรคอันประเสริฐ ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้นั่นเอง, กล่าวคือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! นี้เรากล่าวว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมอันเราแสดงแล้วว่า “เหล่านี้ คืออริยสัจทั้ง ๔ ” ดังนี้ เป็นธรรมอันสมณพราหมณ์ผู้รู้ทั้งหลายข่มขี่ไม่ได้ ทำให้เศร้าหมอง

ไม่ได้ติเตียนไม่ได้ คัดง้างไม่ได้ ดังนี้อันใด อันเรากล่าวแล้ว ; ข้อนั้น เรากล่าวหมายถึง ข้อความนี้, ดังนี้ แล


ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๒ อย่าง เป็นไปในส่วนแห่งวิชชา ธรรม ๒ อย่างเป็นไฉน คือ

สมถะ ๑ วิปัสสนา ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย
สมถะที่ภิกษุเจริญแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมอบรมจิต
จิตที่อบรมแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมละราคะได้
วิปัสสนาที่อบรมแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมอบรมปัญญา
ปัญญาที่อบรมแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไรย่อมละอวิชชาได้ ฯ

[๒๗๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตที่เศร้าหมองด้วยราคะ ย่อมไม่หลุดพ้น หรือปัญญาที่เศร้าหมองด้วยอวิชชา ย่อมไม่เจริญด้วยประการฉะนี้แล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะสำรอกราคะได้ จึงชื่อว่าเจโตวิมุติ เพราะสำรอกอวิชชาได้ จึงชื่อว่าปัญญาวิมุติ ฯ

- ฉบับหลวง ๒๐/๕๘/๒๗๕-๖.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น