วันศุกร์

มหาวิบากจิต ๘

วิบากจิต มีสภาพดังนี้ คือ : -

๑. ไม่ใช่เป็นจิตที่ต้องทำให้เกิดขึ้น ถ้ามีกุศลกรรม อกุศลกรรม เป็นเหตุแล้ววิบากจิต คือ ผล ก็ต้องมีแน่นอน
๒. วิบากจิต เป็นจิตที่สงบ ไม่ปรากฏอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นจิตที่ไม่มีความขวนขวาย หรือวิริยะ อุตสาหะ ยังมีกำลังอ่อน ต่างกับกุศล อกุศล และกิริยา
๓. วิบากจิต ไม่ปรากฏชัด ที่รู้สึกปรากฏชัดเฉพาะขณะหลับ ส่วนเวลาตื่น จิตขึ้นสู่วิถี เป็นกุศลบ้าง อกุสลบ้าง กิริยาบ้าง ย่อมเด่นชัดมากกว่าวิบากจิต
๔. เจตสิกที่เกิดกับวิบากจิต ก็มีกำลังอ่อนไปด้วย รวมทั้งปฏิสนธิ กัมมชรูปและจิตชรูป ที่เกิดจากวิบากจิตนั้น ก็ไม่ปรากฏอาการอย่างใดอย่างหนึ่งชัดเจนเหมือนกุศลจิต อกุศลจิต และกิริยาจิต เช่น ความชรา ย่อมเกิดแก่บุคคลทุกคน เมื่อความเกิดมีแล้ว ความชราจะต้องมีแน่นอน

🔅สเหตุกกามาวจรวิบากจิต (มหาวิบาก)

สเหตุกามาวจรวิบากจิต นิยมเรียกกันว่า กามาวจรวิบาก หรือมหาวิบากเพราะเป็นจิตที่เป็นผลของกามาวจรกุศลจิต หรือ มหากุศลจิต ๘ ดวงโดยตรง กล่าวคือ

มหากุศลจิต ๘ ดวง เป็นเหตุให้มหาวิบากจิตเกิด ๘ ดวง เป็นผล และย่อมให้ผลตรงกันดวงต่อดวง เช่น มหากุศลจิต เป็นโสมนัส ญาณสัมปยุต อสังขาริก ก็ให้ผลเป็น มหาวิบากโสมนัส ญาณสัมปยุต อสังขาริก ด้วยเหมือนกัน ดังนี้ เป็นต้น กามาวจรวิบากจิตนั้น เมื่อกล่าวโดยทั่วไปแล้ว ย่อมมี ๒๓ ดวง คือ

        กามาวจรวิบากจิต
                🅞 อเหตุกะ >> อกุศลวิบาก ๗ 
                                  >> กุศลวิบาก ๘ 
                🅞 สเหตุกะ >> กามาวจรวิบาก ๘

                      รวมเป็นจิตที่เกิด ๒๓ ดวง

ในกามาวจรวิบากจิต ๒๓ ดวงนั้น อกุศลวิบากจิต ๗ ดวง เป็นผลของอกุศลจิต ๑๒ ดวง อเหตุกกุศลวิบากจิต ๘ และสเหตุกกามาวจรวิบากจิต ๘ รวมจิต ๑๖ ดวงนี้ เป็นผลของกามาวจรกุศลจิต ๘ หรือที่เรียกว่า มหากุศลจิต ๘ ดวง เพราะเหตุที่ให้ผลมากกว่าตน เช่นนี้เอง แม้อเหตุกกุศลวิบากจิต และมหาวิบากจิต จะเนื่องแต่มหากุศลจิตอย่างเดียวกันก็ตาม แต่ความแตกต่างกันระหว่างอเหตุกกุศลวิบากจิต กับ มหาวิบากจิตย่อมมีอยู่เสมอ คือ

อเหตุกกุศลวิบากจิต คือ จิตที่เป็นผลของมหากุศล แต่ไม่ประกอบด้วยเหตุอย่างใด ๆ ประการหนึ่ง เมื่อเกิดขึ้นรับอารมณ์ก็ไม่มั่นคง ประการหนึ่ง และเกิดได้กว้างขวาง ทั้งในกามภูมิและรูปภูมิตามสมควร ประการหนึ่ง

มหาวิบากจิต คือ จิตที่เป็นผลของมหากุศลจิต แต่ประกอบด้วยเหตุประการหนึ่งเมื่อเกิดขึ้นรับอารมณ์ก็มั่นคง ประการหนึ่ง และเกิดได้เฉพาะในกามสุคติภูมิ ๗ เท่านั้นประการหนึ่ง

ฉะนั้น สเหตุกกามาวจรวิบากจิต หรือมหาวิบากจิต ที่จะกล่าวต่อไปนี้จึงหมายถึงจิตที่จะเป็นผลของมหากุศล เพราะเมื่อกล่าวโดยเวทนา สัมปโยคะ และสังขารแล้ว ก็เหมือนกันกับมหากุศลจิตทุกประการ จึงชื่อว่า "มหาวิบากจิต" สเหตุกกามาวจรวิบากจิตนี้ มีจำนวน ๘ ดวง และมีชื่อเหมือนกันกับมหากุศลจิต คือ 

๑. โสมนสุสสหคตํ ญาณสมฺปยุตตํ อสงฺขาริกํ มหาวิบากจิตดวงที่ ๑ เกิดขึ้นพร้อมกับความยินดี ประกอบด้วยปัญญา โดยไม่มีการชักชวน
๒. โสมนสุสสหคตํ ญาณสมฺปยุตตํ สสงฺขาริกํ มหาวิบากจิตดวงที่ ๒ เกิดขึ้นพร้อมกับความยินดี ประกอบด้วยปัญญา โดยมีการชักชวน
๓. โสมนสุสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตตํ อสงฺขาริกํ มหาวิบากจิตดวงที่ ๓ เกิดขึ้นพร้อมกับความยินดี ไม่ประกอบด้วยปัญญา โดยไม่มีการชักชวน
๔. โสมนสุสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตตํ สสงฺขาริกํ มหาวิบากจิตดวงที่ ๔ เกิดขึ้นพร้อมกับความยินดี ไม่ประกอบด้วยปัญญา โดยมีการชักชวน

๕. อุเบกขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตตํ อสงฺขาริกํ มหาวิบากจิตดวงที่ ๕ เกิดขึ้นพร้อมกับความรู้สึกเฉย ๆ ประกอบด้วยปัญญา โดยไม่มีการชักชวน
๖. อุเบกขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตตํ สสงฺขาริกํ มหาวิบากจิตดวงที่ ๖ เกิดขึ้นพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ ประกอบด้วยปัญญา โดยมีการชักชวน
๗. อุเบกขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตตํ อสงฺขาริกํ มหาวิบากจิตดวงที่ ๗ เกิดขึ้นพร้อมกับความรู้สึกเฉย ๆ ไม่ประกอบด้วยปัญญา โดยไม่มีการชักชวน
๘. อุเบกขาสหคตํญาณวิปฺปยุตตํ สสงฺขาริกํ มหาวิบากจิตดวงที่ ๘ เกิดพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ ไม่ประกอบด้วยปัญญา โดยมีการชักชวน

🔅 มหาวิบากเป็นอัพยากตธรรม

มหาวิบากที่เป็นอัพยากตธรรม คือ ในสมัยใด เพราะกามาวจรกุศล อันได้กระทำไว้แล้ว จึงก่อให้เกิดผลเป็นมโนวิญญาณธาตุ อันเป็นวิบาก เกิดพร้อมกับความยินดีบ้าง ความเฉยๆ บ้าง ประกอบด้วยปัญญาบ้าง ไม่ประกอบด้วยปัญญาบ้าง มีรูปารมณ์ หรือปรารภอารมณ์ใดๆ เกิดขึ้นเอง โดยไม่มีการชักชวน หรือมีการชักชวน เป็นมหาวิบากจิต ๘ ดวง

ในสมัยนั้น ย่อมเกิดผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรีย์มนสิการ สัทธา ฯลฯ เกิด อวิกเขป คือ สภาวะที่สงบอยู่ ไม่ฟุ้งซ่าน สภาวธรรมเหล่านั้น ชื่อว่าธรรมเป็นอัพยากต เพราะมีอัพยากตมูล คือ อโลภะ อโทสะ หรืออโมหะ เป็นมูลฐานให้สภาวธรรมเหล่านั้น ปรากฏขึ้น

🔅 มหาวิบากแตกต่างจากมหากุศล

มหาวิบากแตกต่างจากมหากุศล คือ ในมหากุศลทั้งหลาย มีความแตกต่างกันแห่งกรรม, ทวาร, กรรมบถและบุญกิริยาวัตถุ แต่ความแตกต่างกันเหมือนในมหากุศลนั้นไม่มีในมหาวิบาก ทั้งนี้ เพราะมหาวิบากไม่ยังวิญญัติให้เกิด เพราะมหาวิบากเป็นผลที่สุกแล้ว ไม่มีวิบากต่อไปอีก และเพราะมหาวิบากไม่ได้กระทำสัตวบัญญัติให้เป็นอารมณ์ คือ กรุณา มุทิตา และแม้วิรัติ คือ สัมมากัมมันตะ สัมมาวจาและสัมมาอาชีวะ ไม่มี ธรรมทั้ง ๕ ประการดังกล่าวนั้น จึงเกิดกับมหาวิบากจิตไม่ได้เลย ส่วนสภาวะแห่งสังขารธรรมนั้น คือ ประเภทแห่งอสังขาริกและสสังขาริกเหมือนกันกับมหากุศลทุกประการ

🔅 ฐานะที่อำนวยผลของมหาวิบาก

มหาวิบากจิตทั้ง ๘ ดวงนั้น ย่อมอำนวยผลในฐานะ ๔ ประการ คือ

ในฐานะที่เกิดขึ้นครั้งแรกในภพใหม่ เรียกว่า ปฏิสนธิกิจ
ในฐานะที่รักษาภพชาติที่ดำรงอยู่นั้นไว้ เรียกว่า ภวังคจิต
ในฐานะสิ้นไปจากภพชาตินั้น เรียกว่า จุติกิจ
ในฐานะหน่วงอารมณ์ที่เหลือจากการที่เสพแล้ว เรียกว่า ตทาลัมพนกิจ

 🅞 ฐานะผู้อำนวยผลเป็นปฏิสนธิกิจ ผู้ที่เคยทำบุญกุศล ทั้งชนิดที่ประกอบด้วยปัญญาก็ตาม อำนาจแห่งกุศลจิตดวงใดดวงหนึ่งใน ๘ ดวงนั้น ย่อมยังผลให้ปฏิสนธิเป็นมนุษย์ และเป็นเทวดา ชั้นกามาวจร ผู้ปฏิสนธิ คือ มหาวิบากจิต ๘ และกัมมชรูป
🅞 ฐานะอำนวยผลเป็นภวังค์กิจ เมื่อสัตว์ทั้งหลายผ่านการปฏิสนธิไปแล้ว ก็อำนวยผลเป็นภวังค์ ทำหน้าที่ในการรักษาภพชาติของมนุษย์ หรือเทวดาชั้นกามาวจรเหล่านั้นไว้ในปวัตติกาลตลอดอายุขัย ๗๕ ปีบ้าง ๑๐๐ ปีบ้าง ตามสมควรแก่อายุขัยแห่งสัตว์ในภพภูมิที่เป็นอยู่นั้น
🅞 ฐานะอำนวยผลเป็นตทาลัมพูนกิจ ยึดหน่วงอารมณ์ที่เหลือต่อจากขณะเสพอารมณ์นั้น ได้แก่ รับอารมณ์ที่เหลือต่อจากชวนจิตวิบากจิตที่จะอำนวยผลเป็นตทาลัมพนกิจนี้มีได้แต่เฉพาะกามสัตว์ที่ในกามภูมิ เท่านั้น คือ เป็นกามบุคคล มีกามอารมณ์ และกามชวนะ
🅞 ฐานะอำนวยผลเป็นจุติกิจ ในมรณกาลแห่งภพชาติที่เป็นอยู่นั้น มหาวิบากจิตที่ปรากฏครั้งแรกในภพชาตินั้นๆ และดำรงสืบต่อมาเรื่อยๆ จนถึงเวลาที่ต้องเคลื่อนไปจากภพชาติที่เป็นอยู่ ฉะนั้น มหาวิบากจิตประเภทเดียวกับที่ถือปฏิสนธินั่นเอง เป็นผู้จุดสิ้นไปจากภพชาตินั้น



ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า มหาวิบากทั้ง ๘ ดวงนี้ ย่อมเป็นผู้ตั้งต้นสัตว์ให้ปรากฏขึ้นใหม่ในกามสุคติภูมิ ๗ ตามสมควรแก่กำลังของมหากุศล ซึ่งทำให้สัตว์แตกต่างกันด้วยภูมิหรือกำเนิด และแม้อยู่ในภูมิเดียวกัน ก็ยังต่างกันด้วยอำนาจแห่งกิเลสและต่างกันด้วยอำนาจแห่งศรัทธา ปัญญาของกุศลเจตนาในอดีต อันยังเป็นวิบากที่ให้สัตว์เหล่านั้นพึงได้รับภายหลังจากที่ได้เกิดมาแล้ว สัตว์เหล่านี้ บางพวกมีโลภะเป็นส่วนมาก บางพวกมีโทสะเป็นส่วนมาก และบางพวกมีโมหะเป็นส่วนมาก ถ้าจะตั้งปัญหาถามว่า ธรรมอันใดเป็นผู้กำหนดภาวะที่เป็นส่วนข้างมาก ก็ให้ปรากฏเป็นผลขึ้นแก่สัตว์เหล่านั้น คำตอบ ก็คือ เพราะเหตุ ๖ ประการ คือ โลภะ โทสะ โมหะ หรือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ที่สัตว์เหล่านั้นได้กระทำไว้แล้วนั่นเอง เป็นผู้กำหนดให้ด้วยเหตุนี้ในขณะที่ขวนขวายประกอบกรรมในปัจจุบัน ความแตกต่างในการขวนขวายของบรรดาสัตว์เหล่านั้น ย่อมปรากฏเป็นผลที่แตกต่างกัน คือ 


  • ผู้ใด มีโลภะ อโทสะ อโมหะ แรง แต่อโลภะ โทสะ และโมหะอ่อน ผู้นั้นเป็นคนมักได้ ชอบสบาย มักไม่โกรธ แต่ย่อมเป็นผู้มีปัญญา
  • ผู้ใด มีโลภะ โทสะ และอโมหะ แรง แต่มีอโลภะ อโทสะ และโมหะอ่อน ย่อมเป็นคนมักได้และฉุนเฉียว แต่ย่อมเป็นผู้มีปัญญา
  • ผู้ใด มีโลภะ อโทสะ และโมหะ แรง ผู้นั้นย่อมเป็นผู้มักได้ โง่เขลาและชอบสบาย มักไม่โกรธง่าย
  • ผู้ใด มีโลภะ โทสะ โมหะ แรง ย่อมเป็นผู้มักได้ ฉุนเฉียวและลุ่มหลง
  • ผู้ใด มีอโลภะ โทสะ โมหะ แรง ผู้นั้นย่อมมักน้อย แต่เป็นผู้ฉุนเฉียว และมีปัญญาน้อย
  • ผู้ใด มีอโลภะ อโทสะ และโมหะ แรง ย่อมเป็นผู้มักน้อย ไม่ฉุนเฉียว และ เป็นคนเขลา
  • ผู้ใด มีอโลภะ โทสะ และอโมหะ แรง ผู้นั้นย่อมเป็นผู้มักน้อย และมีปัญญาแต่เป็นผู้ฉุนเฉียว มักโกรธ
  • ผู้ใด มือโลภะ อโทสะ และอโมหะ ทั้ง ๓ แรง ย่อมเป็นผู้ไม่มักได้ ไม่ฉุนเฉียวและมีปัญญา

ตามที่กล่าวมานี้ ย่อมเห็นได้ว่า เหตุเบื้องต้น ย่อมกำหนดผลให้ปรากฏขึ้นเพื่อเป็นอุปการะในการประกอบกรรมในปัจจุบัน ความต่างกัน จึงย่อมปรากฏขึ้นในขณะขวนขวายประกอบกรรมนั้น ๆ ภาวะที่ติดมาแต่อดีตนั้น จึงเข้าใจว่าเป็นวิบากนั่นเอง แต่การที่จะชี้เฉพาะเจาะจงลงไปว่า วิบากใด เป็นผลของกรรมอันไหน ได้ทำไว้แล้วเมื่อใด ย่อมไม่อาจชี้เจาะจงลงได้ และยิ่งกว่านั้น พระพุทธองค์ยังทรงแสดงไว้ในจตุกนิบาตอังคุตรพระบาลีว่า การค้นหาวิบากกรรมนั้น เป็นสิ่งไม่ควรคิดเพราะไม่ใช่วิสัยของผู้ใด เว้นแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะค้นคิดได้พระองค์ตรัสมีใจความว่า

“ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย สิ่งไม่ควรคิด ที่ชื่อว่า อจินไตยธรรม มีอยู่ ๔ ประการ และถ้ามีผู้ใดเอามาคิด ผู้นั้นอาจจะเป็นบ้า มีความลำบากใจเป็นแน่แท้ สิ่งที่ไม่ควรคิด ๔ อย่างนั้น คืออะไรบ้าง?

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

พุทธวิสัย คือ เรื่องเกี่ยวกับพระสัพพัญญุตญาณ ความเป็นไปและอานุภาพของพระสัพพัญญุตญาณ พระพุทธคุณแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นสิ่งที่ไม่ควรคิดอย่างหนึ่ง
ฌานวิสัย คือ ฌานอภิญญาแห่งท่านทั้งหลายผู้ทรงฤทธิ์ ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรคิดอย่างหนึ่ง
กรรมวิบาก คือ ผลแห่งกรรมทั้งหลาย มีทิฏฐธรรมเวทนียกรรมเป็นต้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรคิดอย่างหนึ่ง
โลกจินตา คือ ความเป็นไปของโลก อันเป็นที่อาศัยของสัตว์ และสัตว์ทั้งหลาย แผ่นดิน ภูเขา แม่น้ำ ต้นไม้ เป็นต้น เหล่านี้ ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรคิดอย่างหนึ่ง

ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่ไม่ควรคิด ๔ อย่าง ดังกล่าวนี้ ถ้าผู้ใดคิดผู้นั้นจะเป็นบ้า มีความลำบากใจเป็นแน่แท้ การที่พระพุทธองค์ได้ทรงห้ามคิดในเรื่องของวิบากไว้นั้น ก็เพราะสภาวะที่ปรากฏแก่สัตว์ทั้งหลายอยู่ตลอดเวลานั้น ย่อมจะห้ามวิบากไม่ให้เกิดไม่ได้ เพราะสัตว์ทั้งหลายย่อมเป็นผู้ประกอบกรรมให้เป็นไปตามกุศล อกุศลกรรมแห่งตน อันย่อมประพฤติเพื่อความหมุนเวียนเปลี่ยนไปในคติทั้ง ๕ ประการ ที่เรียกว่า "สมังคีตา" สมังคีตา ๕ หมายถึง กุศลกรรม หรืออกุศลกรรมที่สำเร็จลงได้ครั้งหนึ่ง ๆ นั้น ย่อมยังความพร้อมแห่งธรรม ๕ ประการให้เกิดขึ้น คือ

๑. อายุหนสมงฺคิตา ได้แก่ ความเพียร ในขณะกระทำกุศลกรรม อกุศลกรรม
๒. เจตนาสมงฺคิตา ได้แก่ เจตนาในกาลทั้ง ๓ คือ ปุพพเจตนา มุญจเจตนาและอปรเจตนา ในการกระทำกุศล อกุศลกรรม เจตนา สมังคีตานี้ มีในบุคคลทั่วไป เว้นแต่ในพระอรหันต์
๓. กมุมสมงฺคิตา ได้แก่ กุศลกรรม อกุศลกรรม อันเป็นเหตุที่จะก่อให้เกิดผลในอนาคต ครบองค์แห่งกรรมบถ
๔. วิปากสมงฺคิตา ได้แก่ ผลของกุศลกรรม อกุศลกรรมในอดีตที่ประกอบพร้อมด้วยกรรมในปัจจุบัน ถ้ายังไม่ถึงซึ่งพระนิพพานตราบใด ย่อมไม่แคล้วคลาดไปจากวิปากสมังคีตาอยู่ตราบนั้น คือ จะต้องรับผลของกรรมนั้นๆ
๕. อุปฎฐานสมงฺคิตา ได้แก่ กรรมอารมณ์ กรรมนิมิตอารมณ์ หรือคตินิมิตอารมณ์ที่ปรากฏขึ้นในเวลาใกล้จะตายอุปัฏฐานสมังคีตานี้มีกำลังอ่อนกว่าสมังคีทั้งปวงอำนาจของกรรมที่จะส่งผลย่อมกระทำอารมณ์ให้ปรากฏเมื่อใกล้ตาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น