วันพฤหัสบดี

มหากุศลจิต ๘

กามาวจรกุศลจิต หรือมหากุศลจิต เป็นจิตที่ประกอบด้วยเจตนาที่ดีงาม จึงเป็นจิตที่ไม่มีโทษและให้ผลเป็นความสุข และยังสามารถให้ผลเกิดขึ้นได้มากกว่าตน คือให้เกิดผลเป็นอเหตุกกุศลวิบากจิต ๘ ดวง และมหาวิบากจิต ๘ ดวง ยิ่งกว่านั้นที่ชื่อว่า “มหากุศลจิต” นั้น เพราะเหตุที่

ก. เป็นจิตที่เกิดได้กว้างขวางในอารมณ์ ๖ คือเกิดได้ในอารมณ์ที่เป็นรูป, เสียง, กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ ทั้งเป็นจิตที่ดีงามที่เกิดขึ้นได้กว้างขวางทั่วไปไม่จำกัดขอบเขตภพภูมิ และประเภทแห่งสัตว์และบุคคล กล่าวคือเกิดได้ในภูมิต่าง ๆ ตลอด ๓๐ ภูมิ ตั้งแต่นิรยภูมิ จนถึงเนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ (เว้นอสัญญสัตตภูมิ) และเกิดได้ในจิตสันดานของสัตว์ทั้งหลาย ตั้งแต่อบายสัตว์ มนุษย์ เทวดา รูปพรหม (เว้นอสัญญสัตตพรหม) และอรูปพรหม เกิดได้ในบุคคลทั่วไป เว้นแต่ในจิตสันดานของมรรคบุคคลกับพระอรหันต์ทั้งหลายเท่านั้น

ข. เป็นจิตเป็นที่ตั้งแห่งการบำเพ็ญทาน รักษาศีล และภาวนาเบื้องต้นให้เกิดฌาน มรรค ผล ตลอดจนน้อมเอาอารมณ์พระนิพพาน (ขณะที่มหากุศลจิตเข้าถึงโคตรภูญาณ และปัจจเวกขณญาณ) อีกด้วย

สภาพจิต ซึ่งประกอบด้วยเจตนาที่ดีงาม อันเป็นกามาวจรกุศลนี้ จึงชื่อว่า “มหากุศลจิต” ด้วยเหตุดังกล่าว และมหากุศลจิต จำแนกออกได้เป็น ๘ ประเภท คือ

๑. โสมนสุสสหคตํ ญาณสมฺปยุตตํ อสงฺขาริกํ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมกับความยินดี ประกอบด้วยปัญญา โดยไม่มีการชักชวน
๒. โสมนสุสสหคตํ ญาณสมฺปยุตตํ สสงฺขาริกํ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมกับความยินดี ประกอบด้วยปัญญา โดยมีการชักชวน
๓. โสมนสุสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตตํ อสงฺขาริกํ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมกับความยินดี ไม่ประกอบด้วยปัญญา โดยไม่มีการชักชวน
๔. โสมนสุสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตตํ สสงฺขาริกํ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมกับความยินดี ไม่ประกอบด้วยปัญญา โดยมีการชักชวน
๕. อุเบกขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตตํ อสงฺขาริกํ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมกับความเฉยๆ ประกอบด้วยปัญญา โดยไม่มีการชักชวน
๖. อุเบกขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตตํ สสงฺขาริกํ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมกับความเฉยๆ ประกอบด้วยปัญญา โดยมีการชักชวน
๗. อุเบกขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตตํ อสงฺขาริกํ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมกับความเฉยๆ ไม่ประกอบด้วยปัญญา โดยไม่มีการชักชวน
๘. อุเบกขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตตํ สสงฺขาริกํ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมกับความเฉยๆ ไม่ประกอบด้วยปัญญา โดยมีการชักชวน


🔅 แสดงการจำแนกมหากุศลจิต ๘ ดวง

มหากุศลจิต
    โสมนัส
        - ญาณสัมปยุต > อสังขาริก ๑
                                > สสังขาริก ๑
        - ญาณวิปปยุต > อสังขาริก ๑
                                > สสังขาริก ๑

    อุเบกขา
        - ญาณสัมปยุต > อสังขาริก ๑
                                > สสังขาริก ๑
        - ญาณวิปปยุต > อสังขาริก ๑
                                > สสังขาริก ๑

ข้อควรสังเกต
มหากุศลจิตที่จำแนกออกไปได้เป็น ๘ ดวงนั้น เพราะอาศัยสภาพธรรม ๓ ประการ คือ เวทนา ญาณ และสังขาร เป็นตัวการที่ปรุงแต่งจิตให้ผิดแผกแตกต่างกันไป คล้ายกับสภาพของเวทนา ทิฏฐิ และสังขาร ที่จำแนกโลภมูลจิตให้แตกต่างกันไปได้ ๘ ดวง ฉะนั้น


🔅 แสดงการจำแนกมหากุศลจิต ๘ โดยธรรม ๓ ประการ

๑. มหากุศลจิต ๘ โดยประเภทแห่งเวทนา
  • โสมนัส ๔
  • อุเบกขา ๔
๒. มหากุศลจิต ๘ โดยประเภทแห่งญาณ

  • ญาณสัมปยุต ๔
  • ญาณวิปปยุต ๔

๓. มหากุศลจิต ๘ โดยประเภทแห่งสังขาร

  • อสังขาริก ๔
  • สสังขาริก ๔


๑. มหากุศลจิต ๘ ดวง นั้น เมื่อกล่าวโดยประเภทแห่งเวทนาแล้ว มหากุศลจิตย่อมเกิดพร้อมกับเวทนาได้ ๒ เวทนา คือ เกิดพร้อมกับโสมนัสเวทนา และเกิดพร้อมกับอุเบกขาเวทนา หมายความว่า จิตที่เป็นไปในการกระทำความดีของสัตว์ทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความดีของสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมเป็นไปพร้อมกับความรู้สึกปีติยินดีมาก ที่เรียกว่า โสมนัสเวทนา หรือมิฉะนั้นก็เป็นไปพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ ที่เรียกว่า อุเบกขาเวทนา จะเป็นไปพร้อมกับความรู้สึกเฉยๆ นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับ ศรัทธา ของผู้กระทำ ถ้าผู้กระทำมีศรัทธามาก การกระทำความดีนั้นเป็นไปพร้อมด้วยความรู้สึกยินดีมาก แต่ผู้กระทำมีศรัทธาน้อย การกระทำความดีนั้นเป็นไปพร้อมด้วยความรู้สึกเฉยๆ

๒. มหากุศลจิต ๘ ดวง เมื่อกล่าวโดยประเภทแห่งญาณ คือ การประกอบด้วยปัญญาแล้วก็มี ๒ อย่าง คือจิตที่ประกอบด้วยปัญญา เรียกว่า “ญาณสัมปยุต” และจิตที่ไม่ได้ประกอบด้วยปัญญา เรียกว่า “ญาณวิปปยุต

ญาณสัมปยุต หมายถึง ประกอบด้วยปัญญา คือ มีความเห็นถูกต้องตามสภาวะความจริง ปัญญาที่กล่าวนี้ มุ่งหมายเอาปัญญาที่ประกอบกับกามาวจรกุศลจิตเท่านั้น คือ กัมมัสสกตาปัญญา และวิปัสสนาปัญญา กัมมัสสกตาปัญญา หมายถึง ปัญญาที่รู้ว่า สัตว์ทั้งหลายมีสิทธิในการกระทำของตน ทั้งที่เป็นไปในฝ่ายดีและฝ่ายไม่ดีด้วยกันทั้งนั้น ทรัพย์สินเงินทอง บิดา มารดา สามี ภรรยา หรือบุตร ธิดา ทั้งหลาย มิใช่เป็นสิทธิของสัตว์เหล่านั้นโดยแท้ เพราะไม่อาจติดตามสัตว์ทั้งหลายไปในภพอื่นได้ และแม้ในภพนี้ ก็ยังมีสิทธิอันไม่แน่นอนอีกด้วย เพราะอาจมีภัยพิบัติให้ต้องเสียหาย ต้องล้มตาย ต้องพลัดพรากจากกัน หรือถูกแย่งชิงเอาไปได้

กมุม สกํ เยสนฺติ = กมฺมสฺสกา แปลว่า กรรมเป็นกรรมสิทธิ์ของตน มีแก่สัตว์ทั้งหลาย ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลาย จึงชื่อว่า กัมมัสกะ

กมฺมสฺสกานํ ภาโว = กมฺมสฺสกตา แปลว่า ความเป็นอยู่แห่งสัตว์ทั้งหลายที่มีกรรมเป็นกรรมสิทธิ์ของตน ชื่อว่า กัมมัสสกตา

กมฺมสฺสกตา ญาณํ = กมฺมสฺสกตาญาณํ แปลว่า ความรู้เหตุผล ในความเป็นอยู่แห่งสัตว์ชื่อว่า กัมมัสสกตาปัญญา

ฉะนั้น ความรู้เหตุผลในความเป็นอยู่ของสัตว์ที่รู้ว่า สัตว์ทั้งหลายมีสิทธิในการกระทำของตน หรือรู้ว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน ความรู้นั้น ชื่อว่า “กัมมัสสกตาปัญญา” และปัญญาย่อมเกิดขึ้นต่อเนื่องกัน ๓ ประการ

🙏 การเกิดขึ้นของปัญญา ๓ ประการ

๑. สุตมยปัญญา ปัญญาใดที่เกิดขึ้นด้วยการศึกษาเล่าเรียน หรือได้ยิน ได้ฟังมา ปัญญานั้น เรียกว่า “สุตมยปัญญา” ปัญญานี้ แก้ความเข้าใจผิดที่เคยได้ยินได้ฟังมา หรือให้เข้าใจในสิ่งที่ยังไม่เคยรู้มาก่อน
๒. จินตามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการคิดพิจารณาในความเป็นอยู่ของสัตว์ทั้งหลาย โดยความมีโรค ไม่มีโรค โดยความโง่ ความฉลาด สุข หรือทุกข์ อายุยืนหรือสั้น ยากจนหรือมั่งมี เหล่านี้ เป็นต้น หรือปัญญาใดที่เคยได้ยินได้ฟังมาแล้วนำมานึกคิด หรืออนุมานโดยเทียบเคียงตามวัตถุเหล่านั้นว่า ไม่เที่ยง เป็นต้น โดยอาศัยกาลทั้ง ๓ (อดีต ปัจจุบัน อนาคต) ปัญญานี้ เรียกว่า “จินตามยปัญญา
๓. ภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการเจริญภาวนา ได้แก่ วิปัสสนาภาวนา ปัญญาใดเข้าไปรู้ความจริงของนามรูปว่า ไม่เที่ยง เป็นต้น ปัญญานั้น เรียกว่า “ภาวนามยปัญญา”

ปัญญาตามที่ได้แสดงมาแล้ว จึงแบ่งได้เป็น ๒ อย่าง คือ ปัญญาที่เป็นเหตุ ได้แก่ปัญญาทั้ง ๓ ดังกล่าวนั้น และ ปัญญาที่เป็นผล ได้แก่ กัมมัสสกตาปัญญาหรือวิปัสสนา ปัญญา แม้ว่า ชนทั้งหลายยังไม่อาจละสักกายทิฏฐิ (ความยึดมั่นในขันธ์ ๕ ว่าเป็นตัวตน) ได้ก็ตาม แต่เมื่อมีความเห็นถูกตรงอยู่ในอารมณ์ ๑๐ ประการที่เรียกว่า ทสวัตถุกสัมมาทิฏฐิ ดังจะกล่าวต่อไปนี้ ก็ชื่อว่า เป็นผู้รู้ว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน ๆ เป็นกัมมัสสกตาปัญญา แต่วิปัสสนาปัญญานั้น ต้องรู้รูป-นามไม่เที่ยง เป็นต้น ย่อมละสักกายทิฏฐิ

🙏 ทสวัตถุกสัมมาทิฏฐิ ๑๐ ประการ

๑. อตฺถิ ทินนํ เห็นว่า การทำบุญให้ทานได้รับผลดีมีประโยชน์
๒. อตฺถิ ยิฏฐํ เห็นว่า การบูชาได้รับผลดีมีประโยชน์
๓. อตฺถิ หุตํ เห็นว่า การเชื้อเชิญ ปฏิสันถาร ได้รับผลดีมีประโยชน์
๔. อตฺถิ สุกตทุกกตานํ กมุมาน ผลํ วิปาโก เห็นว่า การทำดีและทำชั่ว มีการได้รับผลทั้งทางตรงและทางอ้อม
๕. อตฺถิ อยํ โลโก เห็นว่า ภพนี้มีอยู่ คือ ผู้ที่จะมาเกิดในภพนี้มีอยู่
๖. อตฺถิ ปโร โลโก เห็นว่า ภพหน้ามีอยู่ คือผู้ที่จะไปเกิดภพหน้าในอนาคตมี
๗. อตฺถิ มาตา เห็นว่า การทำดีทำชั่วต่อมารดา ย่อมมีผลในภายหน้า
๘. อตฺถิ ปิตา เห็นว่า การทำดีทำชั่วต่อบิดา ย่อมมีผลในภายหน้า
๙. อตฺถิ สตฺตา โอปปาติกา เห็นว่า สัตว์ที่เติบโตขึ้นทันทีมีอยู่ คือ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย เทวดา และพรหม นั้นมี
๑๐. อตฺถิ โลเก สมณพราหมณา สมมาปฏิปันนา เห็นว่า สมณพราหมณ์ ผู้ปฏิบัติชอบประจักษ์แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยตนเอง และประกาศให้ผู้อื่นได้นั้น มีอยู่

ความเห็นตรงตามหลักของทสวัตถุกสัมมาทิฏฐิแล้วทุกประการนั้น ชื่อว่า กัมมัสสกตาญาณได้เกิดขึ้นแล้ว การบริจาคทาน การรักษาศีล เจริญภาวนาของผู้นั้น มีอานิสงส์สมบูรณ์เหมือนการเพาะเมล็ดโพธิ์ให้เจริญเป็นต้นโพธิ์ใหญ่ ตรงกันข้ามถ้าทาน ศีล ภาวนา ของผู้ที่ไม่มีกัมมัสสกตาญาณ มีอานิสงส์น้อยเหมือนต้นโพธิ์ที่ให้ผลเกิดเป็นเมล็ดโพธิ์เท่านั้น ทสวัตถุกสัมมาทิฏฐิ อุปมาเหมือนหินฝน ที่ใช้ฝนดูเนื้อทองว่า แท้หรือเทียม หรือเหมือนน้ำกรดที่ใช้หยอดดูเนื้อเงิน, ทอง, นาก ว่าแท้หรือไม่ฉันใด ความเห็นชอบประกอบด้วยปัญญาอาศัยทสวัตถุกสัมมาทิฏฐิเป็นเครื่องมือตรวจกรรมของสัตว์ก็อุปไมยฉันนั้น

วิปัสสนาปัญญา เป็นปัญญาที่รู้ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ สัจจะ ๔ และปฏิจจสมุปบาท ๑๒ ว่า เป็นสภาวะของรูปนาม ที่เป็นอนิจจัง ทุกขังและอนัตตา กล่าวคือ มีปัญญารู้ว่า บรรดาสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ ทั้งที่มีชีวิต และไม่มีชีวิตก็ตาม คงมีแต่รูปกับนาม ใน ๒ อย่างนี้เท่านั้น และรูปนามนี้ก็เป็นของไม่เที่ยง เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไปเสมอ ล้วนเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาทั้งสิ้น ปัญญาใดเข้าไปรู้ความจริงของนามรูปว่าไม่เที่ยง เป็นต้น โดยเข้าไปพิสูจน์แล้วด้วยตนเอง ปัญญานั้นเรียกว่า “วิปัสสนาปัญญา”

ญาณวิปปยุต นั้น แปลว่า ไม่ได้ประกอบด้วยปัญญา ทั้งที่เป็นกัมมัสสกตาปัญญา และวิปัสสนาปัญญาฉะนั้น มหากุศลจิตชนิดที่เป็นญาณวิปปยุตนั้น จึงหมายถึง จิตที่มีเจตนามุ่งกระทำความดี แต่มิได้เป็นไปโดยประกอบด้วยปัญญา เช่น การทำบุญให้ทานตามเทศกาลประเพณี เป็นต้น อาศัยศรัทธาเป็นประธาน

มหากุศลจิต ๘ ดวงเมื่อว่าโดยประเภทแห่งสังขาร คือ ต้องอาศัยมีการชักชวนและไม่ต้องอาศัยการชักชวน ได้แก่ อสังขาริกจิต ๔ ดวง และสสังขาริกจิต อีก ๔ ดวง ตาม นัยเดียวกันกับโลภมูลจิต ๘ ดวง นั่นเอง

🙏 แสดงการจําแนกกามาวจรกุศลโดยเหตุ
กามาวจรกุศลนี้ เมื่อจำแนกโดยเหตุแล้ว มี ๒ อย่าง คือ ติเหตุกกุศล และทวิเหตุกกุศล

ติเหตุกกุศล
ในการกระทำกุศลต่าง ๆ มีการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เป็นต้น จะกระทำด้วยกาย วาจา หรือใจ ก็ตาม ถ้ากุศลจิตของผู้กำลังกระทำกุศลอยู่นั้นประกอบด้วยกัมมัสสกตาญาณ หรือวิปัสสนาญาณ อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว กุศลกรรมชนิดนี้ ชื่อว่า “ติเหตุกกุศล” เพราะเป็นกุศลกรรม ที่ประกอบด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ อโลภเหตุ อโทสเหตุ และอโมหเหตุ องค์ธรรมได้แก่ มหากุศลญาณสัมปยุตจิต ๔

ทวิเหตุกกุศล
ในการกระทำกุศลต่าง ๆ มีการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เป็นต้น จะกระทำด้วยกาย วาจา หรือใจ ก็ตาม ถ้ากุศลจิตของผู้ที่กำลังกระทำกุศลอยู่นั้นมิได้ประกอบด้วยกัมมัสสกตาญาณ หรือวิปัสสนาญาณแต่อย่างใด กุศลกรรมชนิดนี้ ชื่อว่า “ทวิเหตุกกุศล” เพราะเป็นกุศลกรรม ที่ประกอบด้วยกุศลเหตุเพียง ๒ ประการ คือ อโลภเหตุ และอโทสเหตุเท่านั้น (ไม่ประกอบด้วยอโมหเหตุ) ฉะนั้น องค์ธรรม จึงได้แก่มหากุศลญาณวิปปยุตจิต ๔ ดวง

🙏 แสดงการจําแนกกามาวจรกุศลโดยเจตนา

ในการกระทำกุศลอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น ไม่ว่าจะเป็นติเหตุกกุศล หรือทวิเหตุกกุศล ก็ตาม ย่อมประกอบด้วยเจตนาในกาลทั้ง ๓ คือ
๑. ปุพพเจตนา เจตนาที่เกิดขึ้นก่อนการกระทำ
๒. มุญจฺเจตนา เจตนาที่เกิดขึ้นในขณะกำลังกระทำ
๓. อปรเจตนา เจตนาที่เกิดขึ้นในภายหลัง เมื่อกระทำไปแล้ว

ติเหตุกกุศล และทวิเหตุกกุศลนั้น เมื่อจำแนกออกโดยอำนาจแห่งเจตนาดังกล่าวแล้ว ย่อมได้อย่างละ ๒ ชนิด คือ

๑. อุกกัฏฐกุศล หมายถึง กุศลชั้นสูง คือ ในการกระทำกุศลต่าง ๆ มีทาน ศีล ภาวนาเป็นต้น ก่อนจะทำก็ดี ขณะกำลังกระทำก็ดี หรือภายหลังที่ทำเสร็จแล้วก็ดี ถ้าจิตของผู้กระทำนั้น ไม่มีอกุศลเจือปน คือ มีเจตนาบริสุทธิ์ในกาลทั้ง ๓ ด้วยเหตุนี้ ทานกุศล ศีลกุศล หรือภาวนากุศลที่เกิดขึ้นแก่ผู้นั้น จะเป็นเหตุกกุศลหรือทวิเหตุกกุศล ก็ตาม จัดเป็นอุกกัฏฐกุศล คือ กุศลชั้นสูง
๒. โอมกกุศล หมายถึง กุศลชั้นต่ำ คือ ในการกระทำกุศลต่าง ๆ มีทาน ศีล ภาวนา เป็นต้น ก่อนจะทำก็ดี ขณะกำลังกระทำก็ดี หรือภายหลังที่ทำเสร็จแล้วก็ดี ถ้าจิตของผู้กระทำ นั้นมีอกุศลเข้าเจือปน คือมีเจตนาไม่บริสุทธิ์ในกาลทั้ง ๓ ด้วยเหตุนี้ ทานกุศล ศีลกุศลหรือภาวนากุศล ที่เกิดขึ้นแก่ผู้นั้น จะเป็นเหตุกกุศล หรือทวิเหตุกกุศลก็ตาม จัดเป็นโอมกกุศล คือ กุศลชั้นต่ำทั้งสิ้น

🔅 จำแนกติเหตุกกุศล และ ทวิเหตุกกุศลโดยอุกกัฏฐะ และ โอมกะ

ติเหตุกกุศล

  • อุกกัฏฐะ คือ กุศลชั้นสูง
  • โอมกะ คือ กุศลชั้นต่ำ

ทวิเหตุกกุศล

  • อุกกัฏฐะ คือ กุศลชั้นสูง
  • โอมกะ คือ กุศลชั้นต่ำ

บรรดา เจตนา ที่เป็นเครื่องตัดสินกุศลกรรมว่า เป็นชนิดอุกกัฏฐกุศล หรือ โอมกกุศลนั้น อปรเจตนา มีความสำคัญมากกว่าปุพพเจตนาและมุญจเจตนา เพราะอปรเจตนาเป็นเจตนาที่เกิดขึ้นภายหลังจากการทำกุศลนั้น ๆ สำเร็จแล้วแม้ปุพพเจตนาหรือมุญจเจตนา จะไม่บริสุทธิ์ แต่อปรเจตนาบริสุทธิ์ก็จัดว่า เป็นอุกกัฏฐกุศล แต่ถ้าปุพพเจตนาและมุญจเจตนาบริสุทธิ์อปรเจตนาไม่บริสุทธิ์กุศลนั้น จัดเป็นโอมกกุศล ด้วยเหตุนี้อปรเจตนา จึงมีความสำคัญมากในการตัดสินว่ากุศลนั้นเป็นกุศลชนิดอุกกัฏฐกุศล หรือ โอมกกุศล

อปรเจตนานี้ ท่านอรรถกถาจารย์ได้จำแนกพิสดารออกไปอีก เป็น "อปราปรเจตนา" นั้น คือเจตนาที่เกิดขึ้นภายหลังอปรเจตนาได้เกิดล่วงไปแล้ว ๑ วัน หรือ ๑ เดือน เป็นต้น กล่าวคือ เมื่อได้นึกถึงการบริจาคทาน รักษาศีล เจริญภาวนาของตนที่ได้ทำไปแล้ว แม้จะล่วงเลยมาหลายวันหลายเดือนแล้วก็ตาม แต่ความปีติ โสมนัสศรัทธา และปัญญาอันมีในกุศลของตนนั้นยังเกิดอยู่เสมอๆ เจตนาที่เป็นความคิดคำนึงในหนหลังนี้ จัดเป็นกุศลอปราปรเจตนา ถ้าการบริจาคทาน รักษาศีล เจริญภาวนาของตนที่ได้ทำไปแล้วในเวลาต่อๆ มา เกิดความเสียดาย กลุ้มใจ หรือมิฉะนั้นเกิดความยินดีเพลิดเพลินเกี่ยวด้วยตัณหา หรือเกิดความผยองในใจว่า เราทำได้ดีกว่าผู้อื่นอันเป็นตัวมานะอปราปรเจตนาเป็นอกุศล กุศลกรรมนั้นๆ ก็จัดเป็นกุศลชนิดโอมกะ

ฉะนั้น เมื่อจะจำแนกอุกกัฏฐกุศล และโอมกกุศล ทั้งที่เป็นเหตุกกุศล และ ทวิเหตุกกุศลโดยอปราปรเจตนาแล้ว ย่อมจำแนกได้ ๘ ประการ

🔅 แสดงการจำแนกอุกกัฏฐะ และ โอมกะของติเหตุกกุศล และทวิเหตุกกุศลโดยอปราปรเจตนา

ติเหตุกกุศล

  • อุกกัฏฐะ  > ติเหตุกอุกกัฏฐุกกัฏฐะ
                   >  ติเหตุกอุกกัฏโฐมกะ
  • โอมกะ    >  ติเหตุกโอมกุกกัฏฐะ
                   >  ติเหตุกโอมโกมกะ

ทวิเหตุกกุศล

  • อุกกัฏฐะ  > ทวิเหตุกอุกกัฏฐุกกัฏฐะ
                   >  ทวิเหตุกอุกกัฏโฐมกะ
  • โอมกะ    >  ทวิเหตุกโอมกุกกัฏฐะ
                   >  ทวิเหตุกโอมโกมกะ

ความเป็นไปของเหตุกกุศล และ ทวเหตุกกุศลทั้ง ๘ ประการนี้ อาศัยมุญจเจตนาเป็นตัวนำ และอาศัย อปรเจตนา กับ อปราปรเจตนา เป็นตัวจำแนกกล่าวคือ ขณะที่มุญจเจตนาเกิดขึ้นประกอบด้วยไตรเหตุ ชื่อว่า "ติเหตุกกุศล" แต่ถ้าขณะมุญจเจตนาประกอบด้วยทวิเหตุ (ไม่มีอโมหะประกอบ) ก็ชื่อว่า "ทวิเหตุกกุศล" ทั้งติเหตุกกุศล และ ทวิเหตุกกุศลเหล่านี้ ถ้าเกิดขึ้นขณะที่...

อปรเจตนาดี และ อปราปรเจตนาก็ดี จัดเป็น อุกกัฏฐุกกัฏฐะ
อปรเจตนาดี และ อปราปรเจตนาไม่ดี จัดเป็น อุกกัฏโฐมกะ

อปรเจตนาไม่ดี แต่อปราปรเจตนาดี จัดเป็น โอมกุกกัฏฐะ
อปรเจตนาไม่ดี และ อปราปรเจตนาก็ไม่ดี จัดเป็น โอมโกมกะ

🙏 กามาวจรกุศลกรรม

กามาวจรกุศลกรรม หมายถึง การกระทำความดี หรือการกระทำสุจริตที่เกี่ยวข้องด้วยกามารมณ์ มีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เป็นต้น และกรรมดีหรือสุจริตกรรมนั้น ย่อมเกิดขึ้นได้ด้วยอำนาจของเจตนาที่มีอยู่ในมหากุศลจิตเป็นประการสำคัญ จึงสำเร็จเป็นการงานที่ชื่อว่า “กามาวจรกุศลกรรม” หรือ “กามกุศลกรรม” 

กามาวจรกุศลกรรม หรือกามกุศลกรรมนี้ มีการแสดงไว้เป็น ๒ นัย คือ
๑. โดยกรรมทวาร
๒. โดยบุญกิริยาวัตถุ

จะได้แสดงนัยทั้ง ๒ นี้ ต่อไปโดยลำดับ

👉ก. กามาวจรกุศลว่าโดยกรรมทวาร 
กามาวจรกุศล เมื่อว่าโดยกรรมทวารแล้ว มีอยู่ ๓ ทวาร คือ
๑. กรรมที่เกิดขึ้นทางกาย เรียกว่า “กายกรรม”
๒. กรรมที่เกิดขึ้นทางวาจา เรียกว่า “วจีกรรม”
๓. กรรมที่เกิดขึ้นทางใจ เรียกว่า “มโนกรรม”

และเมื่อว่าโดยประเภทแห่งกุศลกรรมแล้วมี ๑๐ อย่าง

กายกรรม ๓ คือ

  • ๑. ปาณาติปาตวิรติ เว้นจากการฆ่าสัตว์
  • ๒. อทินนาทานวิรติ เว้นจากการลักทรัพย์
  • ๓. กาเมสุมิจฉาจารวิรติ เว้นจากการประพฤติผิดทางเพศ
วจีกรรม ๔ คือ

  • ๑. มุสาวาทวิรติ เว้นจากการกล่าวเท็จ
  • ๒. ปิสุณวาจาวิรติ เว้นจากการกล่าวส่อเสียด
  • ๓. ผรุสวาจาวิรติ เว้นจากการกล่าวคำหยาบ
  • ๔. สัมผัปปลาปวิรติ เว้นจากการกล่าวคำที่ไม่เป็นประโยชน์

มโนกรรม ๓ คือ

  • ๑. อนภิชฌา สังวรเพื่อไม่ให้ความโลภเกิด
  • ๒. อพยาปาท สังวรเพื่อไม่ให้พยาบาทเกิด
  • ๓. สัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้อง

กามาวจรกุศลกรรม ๑๐ ประการนี้ เรียกว่า "กุศลกรรมบถ ๑๐ หรือ สุจริต ๑๐"

🙏  องค์ธรรมของกุศลกรรมบถ ๑๐

กายกรรม ๓ องค์ธรรมได้แก่ สัมมากัมมันตเจตสิก สัมมาอาชีวเจตสิก
วจีกรรม ๔ องค์ธรรมได้แก่ สัมมาวาจาเจตสิก สัมมาอาชีวเจตสิก
มโนกรรม ๓ อนภิชฌา องค์ธรรมได้แก่ อโลภเจตสิก
                    อพยาปาท องค์ธรรมได้แก่ อโทสเจตสิก
                    สัมมาทิฏฐิ องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก


👉 ข. กามาวจรกุศลโดยบุญกิริยาวัตถุ

บุญกิริยาวัตถุ มาจากคำบาลีว่า "ปุญญกริยาวตฺถุ"
ปุญฺญ หมายถึง ความดีที่ชำระความเศร้าหมองเร่าร้อน
กริย หมายถึง ควรกระทำ
วัตถุ หมายถึง เป็นเหตุเป็นที่ตั้งแห่งผลดี

ฉะนั้น บุญกิริยาวัตถุ จึงแปลความว่า ความดีที่ควรกระทำ เพราะเป็นเหตุเป็นที่ตั้งแห่งผลดีที่เกิดขึ้น คือ เป็นสิ่งที่ให้สำเร็จเป็นบุญเป็นกุศล พร้อมทั้งอานิสงส์ผลที่ผู้กระทำพึงได้รับ ตามสมควรแก่โอกาส

🔅 กามาวจรกุศลกรรมที่เป็นบุญกิริยาวัตถุนี้ มี ๑๐ ประการ

๑. ทาน การให้สิ่งที่เป็นประโยชน์สุขแก่ผู้รับ
๒. ศีล การระวังรักษากาย วาจา ให้ตั้งอยู่ในศีล
๓. ภาวนา การเจริญสมถะ และวิปัสสนา
๔. อปจายนะ การคารวะอ่อนน้อมแก่ผู้เจริญด้วยชาติวุฒิวัยวุฒิและคุณวุฒิ
๕. เวยยาวัจจะ การเข้าช่วยเหลือกิจการงานเกี่ยวกับปริยัติ และปฏิบัติ
๖. ปัตติทานะ การอุทิศแผ่กุศลให้ผู้อื่น
๗. ปัตตานุโมทนา การอนุโมทนารับส่วนบุญที่เขาอุทิศให้
๘. ธรรมสวนะ การตั้งใจฟังธรรม
๙. ธรรมเทศนา การแสดงธรรม
๑๐. ทิฏฐชุกรรม การทำความเห็นให้ถูกต้องตามความเป็นจริง

บุญกิริยาวัตถุทั้ง ๑๐ ประการนี้เป็นการงานของจิต ซึ่งประกอบด้วยเจตนาที่ดีงาม อันเป็นเหตุให้เกิดผลดีมีสุข ฉะนั้น จิตที่จัดว่าเป็นมหากุศลจิตนั้น จึงต้องเป็นจิตที่เป็นไปในอารมณ์แห่งบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ ดังกล่าวแล้ว

🔅 สงเคราะห์บุญกิริยาวัตถุ โดย ทาน ศีล ภาวนา

บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ เมื่อจะสงเคราะห์ลงในประเภทแห่งทาน ศีล และภาวนา ได้ดังนี้ คือ

สงเคราะห์ในทาน ได้แก่

  • ๑. ทาน
  • ๒. ปัตติทาน
  • ๓. ปัตตานุโมทนา

สงเคราะห์ในศีล ได้แก่

  • ๑. ศีล
  • ๒. อปจายนะ
  • ๓. เวยยาวัจจะ

สงเคราะห์ในภาวนา ได้แก่

  • ๑. ภาวนา
  • ๒. ธรรมสวนะ
  • ๓. ธรรมเทศนา
  • ๔. ทิฏฐชุกรรม

อนึ่ง ตามนัยแห่งพุทธภาษิตอรรถกถา แสดงว่า ธรรมสวนะ คือ ให้การฟังธรรมด้วยสัจจะเคารพ และธรรมเทศนา คือ การแสดงธรรมเพื่อให้เป็นธรรมทาน สงเคราะห์ลงใน ทาน ก็ได้ ดังพุทธพจน์ที่ว่า สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ การให้ธรรมย่อมชนะการให้ทั้งปวง และส่วนทิฏฐธุกรรมนั้น ก็สงเคราะห์ลงในทาน ศีล ภาวนาได้ทั้ง ๓ ประการ เพราะในสังคีติสูตร ปาฏิกวรรค อรรถกถา แสดงว่า ทิฏฐชุกมุมํ สพเพสํ นิยมกฺขณํ หมายความว่า ทิฏฐธุกรรม คือปัญญาที่เห็นถูกต้องตรงตามความจริง ถ้าการบำเพ็ญทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา โดยไม่มีทิฏฐธุกรรมประกอบด้วยแล้ว การให้ผลของทาน ศีล ภาวนาเหล่านั้นก็ไม่สมบูรณ์ มีการขาดตกบกพร่อง และยิ่งกว่านั้น ทิฏฐธุกรรมนี้เป็นที่ตั้งและเป็นปัจจัยให้เกิดบุญกิริยาวัตถุอื่นๆ ทั้งปวง จึงสงเคราะห์ลงในทาน ศีล และภาวนา ได้ทั้งสิ้น

🔅 เหตุให้เกิดมหากุศล

เหตุที่ทำให้เกิดกามาวจรกุศลจิต หรือมหากุศลจิตเกิดขึ้นได้นั้น ย่อมอาศัย “โยนิโสมนสิการ” คือ การพิจารณาอารมณ์โดยแยบคาย กล่าวคือ เมื่อจิตกระทบกับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งทางทวารทั้ง ๖ ก็มีการพิจารณากำหนดถึงสภาวะความจริงที่ปรากฏขึ้นแห่งอารมณ์นั้นๆ การพิจารณากำหนดตามสภาวะความจริงที่ปรากฏนั้นชื่อว่า มี โยนิโสมนสิการ แต่การที่จะมี โยนิโสมนสิการต่ออารมณ์ที่กระทบจิตนั้น ย่อมอาศัยเหตุอดีต และปัจจุบัน ๕ ประการ คือ 

๑. ปุพเพกตปุญญตา เคยสร้างบุญไว้แต่ชาติปางก่อน
๒. ปฏิรูปเทสวาส ได้อยู่ในประเทศที่สมควร มีพุทธศาสนา
๓. สปปุริสปนิสสย ได้คบหาสมาคมกับสัปบุรุษ
๔. สทฺธมฺมสฺสวน ได้ฟังธรรมของสัปบุรุษ
๕. อตฺตสมมาปณิธิ ตั้งตนไว้ชอบ

เหตุให้เกิดโยนิโสมนสิการทั้ง ๕ ประการดังกล่าวนี้ ประการแรกอาศัยอดีตกรรมเป็นเหตุ ส่วนที่เหลืออีก ๔ ประการ อาศัยปัจจุบันกรรม เป็นเหตุ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น