วันพุธ

มหากิริยาจิต ๘

กิริยาจิต” หมายถึงจิตที่ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล และไม่ใช่วิบาก เป็นเพียงจิตที่กระทำหน้าที่รับอารมณ์ผ่านมาทางทวารทั้ง ๖ หรือทำหน้าที่ให้สำเร็จการคิด การทำ การพูด เป็นกิริยาโดยภาวะที่เกิดขึ้นแก่พระขีณาสพ ไม่มีปัจจัยแห่งกุศล และอกุศลในอนาคตอีก กิริยาจิต จึงมี ๒ ประเภท คือ : -

  • ๑. อเหตุกกิริยาจิต ได้แก่ จิตที่ไม่ใช่เป็นผลของกุศลและอกุศล และทั้งไม่ใช่จิตที่เป็นตัวกุศลและอกุศลด้วยเป็นจิตที่สักแต่เพียงกระทำหน้าที่รับอารมณ์ผ่านทวารทั้ง ๖ เท่านั้น ยังไม่ให้ถึงความเป็นชวนะ (เว้นแต่ หสิตุปาทะ เกิดที่ชวนะ) จึงยังไม่มีโอกาสสร้างเหตุ ฉะนั้น ย่อมไม่มีเหตุผลเหมือนดอกไม้ลม กล่าวคือ เป็นดอกไม้ที่ไร้ผล
  • ๒. สเหตุกกามาวจรกิริยาจิต หรือ มหากิริยาจิต เป็นจิตที่ทำให้สำเร็จ การทำการพูด การคิดของพระอรหันต์ ผู้สิ้นกิเลสทั้งปวง เป็นกิริยาจิตที่เข้าถึงความเป็นชวนะ เสวยอารมณ์ที่เป็นโสมนัส หรือ อุเบกขา ซึ่งสักแต่เพียงว่าเป็นเวทนาชนิดที่ไม่ใช่เป็นเหตุแห่งตัณหาและอุปาทาน จึงไม่สามารถก่อให้เกิดผลในอนาคตขึ้นใหม่อีกได้ เปรียบเหมือนดอกไม้ที่มีต้นอันขาดรากเสียแล้ว

อเหตุกกิริยาจิตได้แสดงมาแล้วในบทเรียนก่อน ต่อไปนี้จะได้แสดงถึง สเหตุกกามาวจรกิริยาจิต หรือ มหากิริยาจิต

สเหตุกกามาวจรกิริยาจิต (มหากิริยาจิต)

สเหตุกกามาวจรกิริยาจิต หรือ มหากิริยาจิตนี้ เป็นจิตที่มีเหตุประกอบเกิดขึ้นรับกามารมณ์เป็นส่วนมาก และเกิดขึ้นได้กว้างขวางในภูมิต่าง ๆ ได้ถึง ๒๖ ภูมิ (เว้นอบายภูมิ ๔ และอสัญญสัตตภูมิ ๑ ซึ่งไม่มีพระอรหันต์) มหากิริยาจิตนี้ จึงมีสภาพคล้ายกันกับมหากุศลจิต ผิดกันแต่ว่า ถ้าเกิดขึ้นแก่บุคคลอื่นที่ไม่ใช่พระอรหันต์ จิตเหล่านั้นคงเรียกว่า มหากุศลจิต แต่ถ้าเกิดกับพระอรหันต์โดยเฉพาะแล้ว จิตเหล่านั้นก็เรียกว่า “มหากิริยาจิต” ฉะนั้น มหากิริยาจิต จึงมีจำนวนเท่ากับมหากุศลจิต ๘ ดวง

🔅 มหากิริยาจิต ๘

โสมนสุสสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ
มหากิริยาจิตดวงที่ ๑ เกิดพร้อมกับความยินดี ประกอบด้วยปัญญา เกิดขึ้นเองโดยไม่มีการชักชวน
โสมนสุสสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ
มหากิริยาจิตดวงที่ ๒ เกิดพร้อมกับความยินดี ประกอบด้วยปัญญา เกิดขึ้นเองโดยมีการชักชวน
โสมนสุสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ
มหากิริยาจิตดวงที่ ๓ เกิดพร้อมกับความยินดี ไม่ประกอบด้วยปัญญาเกิดขึ้นเองโดยไม่มีการชักชวน
โสมนสุสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ
มหากิริยาจิตดวงที่ ๔ เกิดพร้อมกับความยินดี ไม่ประกอบด้วยปัญญาเกิดขึ้นเองโดยมีการชักชวน

อุเปกขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ
มหากิริยาจิตดวงที่ ๕ เกิดพร้อมกับความเฉยๆ ประกอบด้วยปัญญา เกิดขึ้นเองโดยไม่มีการชักชวน
อุเปกขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ
มหากิริยาจิตดวงที่ ๖ เกิดพร้อมกับความเฉยๆ ประกอบด้วยปัญญา เกิดขึ้นเองโดยมีการชักชวน
อุเปกขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ
มหากิริยาจิตดวงที่ ๗ เกิดพร้อมกับความเฉยๆ ไม่ประกอบด้วยปัญญาเกิดขึ้นเองโดยไม่มีการชักชวน
อุเปกขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ
มหากิริยาจิตดวงที่ ๘ เกิดพร้อมกับความเฉยๆ ไม่ประกอบด้วยปัญญาเกิดขึ้นเองโดยมีการชักชวน


🔅 มหากิริยาจิตที่เกิดพร้อมกับโสมนัสเวทนา

มหากิริยาจิต เป็นจิตที่เกิดแต่เฉพาะในสันดานของพระอรหันต์ผู้ประหาณกิเลสเป็นสมุจเฉทโดยสิ้นเชิง ฉะนั้น เมื่ออารมณ์ผ่านมาทางทวารทั้ง ๖ ย่อมจะพิจารณาอารมณ์นั้นๆ ด้วยความเป็นอุเบกขาไม่มีความยินดียินร้ายประการใดแล้ว มหากิริยาจิตจึงเกิดพร้อมกับโสมนัสเวทนาได้ เช่น

จักขุทวารของพระอรหันต์ได้เห็นสถานที่อันเป็นสัปปายะ เหมาะสมแก่การเจริญกรรมฐาน ย่อมเข้าถึงความเป็นผู้โสมนัสด้วยมหากิริยาจิตดวงนี้ หรือ ทางโสตทวาร สดับเสียงเซ็งแซ่ของผู้ละโมบโลภมากในโรงทาน ก็เป็นผู้เข้าถึงซึ่งความโสมนัส ด้วยมหากิริยาจิตนี้ โดยคิดว่า “เราละตัณหาอันโลเลเห็นปานนี้ได้แล้ว” ทางฆานทวาร เวหาทวาร กายทวาร และมโนทวาร ก็เป็นไปในทำนองเดียวกับที่เป็นผู้ถึงความโสมนัสด้วยมหากริยาจิตได้

ความโสมนัสที่เกิดพร้อมกับมหากิริยาจิตของพระขีณาสพ สักแต่เป็นเวทนาที่เป็นผลของผัสสะเท่านั้นหาใช่เป็นเหตุแห่งตัณหา อุปาทาน และกรรมต่อไปไม่ มหากิริยาจิต จึงเกิดพร้อมกับโสมนัสเวทนาได้ ส่วนมหากิริยาจิตที่เกิดพร้อมกับอุเบกขาเวทนานั้น ย่อมปรากฏในขณะพิจารณาอารมณ์นั้นด้วย 👉ฉฬังคุเบกขา ซึ่งไม่มีความยินดีประการใด

🔅 มหากิริยาจิตกับการประกอบด้วยปัญญา

มหากิริยาจิตที่เกิดในสันดานของพระขีณาสพนั้น ย่อมเป็นจิตที่บริสุทธิ์สะอาดปราศจากกิเลสมลทิน จิตที่บริสุทธิ์เช่นนี้ น่าจะเป็นจิตที่ประกอบด้วยปัญญาแต่ฝ่ายเดียว ที่ไม่ได้ประกอบด้วยปัญญา คือ ชนิดที่เป็นญาณวิปปยุตนั้น ไม่น่าจะมีได้

มหากิริยาจิตที่ไม่ได้ประกอบด้วยปัญญา ย่อมมีได้ กล่าวคือ ในขณะที่พระอรหันต์ทั้งหลาย ต้องประกอบกิจการอันเป็นไปตามธรรมดาของสังขาร หรือกิจการที่ได้กระทำจนเป็นความเคยชินซึ่งไม่ต้องประกอบด้วยปัญญาเลยก็มีได้ เช่น การยืน เดิน นั่ง นอน ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ เป็นต้น การงานต่าง ๆ เหล่านี้ ย่อมต้องอาศัยมหากิริยาจิตเป็นผู้จัดแจง และไม่ต้องใช้ปัญญามาประกอบด้วยเลย

มหากิริยาจิต ๘ เป็นจิตที่กระทำกิจการงานของกุศลนั่นเอง แต่ การงานของกุศล นั้น ย่อมให้ผลเป็นความสุขต่อไปอีก ส่วนพระอรหันต์ท่านทำกิจการงานที่ไม่ต้องการผล แม้เป็นความสุขต่อไปอีก จึงเรียกว่า สักแต่ทำ, พูด, คิด ด้วยมหากิริยาจิตเท่านั้นเอง ที่ว่าเป็นการงานของกุศลนั้น หมายความว่า การงานที่พระอรหันต์ทำนั้นถ้าไม่ใช่พระอรหันต์ คือ ปุถุชน หรือ พระเสกขบุคคลทำ ก็ล้วนเป็นการงานที่เป็นกุศลไปทั้งสิ้น ส่วนการงานที่เป็นอกุศลนั้น แม้เพียงแต่คิดด้วยจิตอันเป็นอกุศลก็ไม่มีแล้วแก่จิตใจของพระอรหันต์ทั้งหลาย

คาถาสังคหะ

กาเม เตวีส ปากานิ     ปุญฺญาปุญฺญานิ วีสติ
เอกาทส กฺริยา เจติ     จตุปญฺญาส สพฺพถาฯ

แปลความว่า : กามาวจรวิบากจิต มี ๒๓, กามาวจรกุสลจิต และอกุสลจิต มี ๒๐, กามาวจรกิริยาจิต มี ๑๑ รวมกามาวจรจิต มี ๕๔ ดวง ดังนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น