วันเสาร์

รูปาวจรจิต ๑๕

🙏 รูปาวจรจิต ๑๕ 🙏 

รูปาวจรจิต หมายถึงจิตที่เข้าถึงอารมณ์ของรูปฌาน หรือหมายถึงจิตที่ท่องเที่ยวเกิดอยู่ในภูมิอันเป็นที่เกิดแห่งวัตถุรูป และกิเลสรูปเป็นส่วนมาก

วัตถุรูป ได้แก่ รูปาวจรจิต ๑๕ เจตสิก ๓๕ (วัตถุธรรม)
กิเลสรูป ได้แก่ โลภเจตสิกที่เกี่ยวด้วยรูปตัณหา คือ ความพอใจในรูป ฌาน อภิญญา และรูปภพ มีพระบาลีว่า

รูปสฺส ภโวติ = รูป “ภูมิใด เป็นที่เกิดแห่งวัตถุรูปและกิเลสรูป ภูมินั้นชื่อว่า รูป” ได้แก่ รูปภูมิ ๑๕
รูเป อวจรตีติ = รูปาวจรํ “จิตใด ย่อมท่องเที่ยวเกิดอยู่ในภูมิอันเป็นที่เกิดแห่งวัตถุรูปและกิเลสรูป จิตนั้นชื่อว่า รูปาวจรจิต

คาถาสังคหะ
ปญฺจธา ฌานเภเทน รูปาวจรมานสํ ปุญฺญปากกฺกริยาเภทา ตํ ปญฺจทสธา ภเว ฯ

แปลความว่า รูปาวจรจิต กล่าวโดยประเภทฌาน มี ๕ เมื่อจำแนกโดยกุศล วิบาก กิริยา แล้วมี ๑๕
อธิบาย รูปาวจรจิตนั้น เมื่อกล่าวโดยประเภทแห่งฌาน มี ๕ คือ

  • รูปาวจรปฐมฌานจิต ๑
  • รูปาวจรทุติยฌานจิต ๑
  • รูปาวจรตติยฌานจิต ๑
  • รูปาวจรจตุตถฌานจิต ๑
  • รูปาวจรปัญจมฌานจิต ๑

รูปาวจรฌานจิตทั้ง ๕ นี้ เมื่อจำแนกโดยประเภทแห่งชาติ คือ กุศล วิบาก กิริยา แล้วได้รูปาวจรกุศลจิต ๕ รูปาวจรวิบากจิต ๕ รูปาวจรกิริยาจิต ๕ รวมรูปาวจรจิต มี ๑๕

📀 อรรถแห่งฌาน

ฌาน หมายถึงการเพ่งอารมณ์เพื่อให้จิตติดแนบอยู่ในอารมณ์กรรมฐาน ได้แก่การที่จิตเข้าไปเพ่งอารมณ์ มีปฐวีกสิณ เป็นต้น ด้วยอำนาจของอัปปนาสมาธิอย่างหนึ่งและหมายถึงธรรมชาติที่เป็นเครื่องแผดเผาธรรมที่เป็นข้าศึกต่อการเพ่งอารมณ์เพื่อให้ฌานจิตเกิดอีกอย่างหนึ่ง ธรรมที่เป็นข้าศึกหรือปฏิปักษ์ต่อฌานจิตนั้น เรียกว่า นิวรณ์ คือ เครื่องกั้นขัดขวางของการกระทำความดี ในที่นี้ หมายถึงกั้นขัดขวางไม่ให้เข้าถึงฌานจิตได้

ฌานมี ๒ อย่าง คือ

๑. อารัมมนูปนิชฌาน ได้แก่ การเพ่งนิมิตของอารมณ์ เพื่อให้จิตแนบแน่นกับอารมณ์ องค์ธรรม ได้แก่ มหัคคตกุศลจิต ๙ ดวง และมหัคคตกิริยาจิต ๙ ดวง
๒. ลักขณูปนิชฌาน ได้แก่ การเพ่งสภาวลักษณะของอารมณ์ เพื่อให้ปัญญารู้ปรมัตถอารมณ์โดยมีอนิจลักษณะ เป็นต้น องค์ธรรมได้แก่ มหากุศลญาณสัมปยุตจิต ๔ และโลกุตรจิต ๘ ขณะที่วิปัสสนาญาณ มัคคญาณ และผลญาณเกิดขึ้น

ในฌานทั้ง ๒ นี้ โดยอรรถประสงค์เอาอารัมมนูปนิชฌาน เพราะฉะนั้นฌานในที่นี้ จึงมีความหมายว่า เพราะเพ่งอารมณ์ หรือเพราะเป็นเครื่องแผดเผาธรรมที่เป็นข้าศึกแก่ฌานจิต

ในอัฏฐสาลินีอรรถกถา แสดงว่า “อารมฺมณูปนิชฺฌานโต ปจฺจนิกฌานปนโต วาฌานํ” แปลว่า ธรรมชาติที่เพ่งอารมณ์ก็ดี หรือธรรมชาติที่แผดเผาธรรมอันเป็นปฏิปักษ์ก็ดี ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า ฌาน

อารมณ์สำหรับเพ่ง ได้แก่ อารมณ์กรรมฐาน คือ สมถกรรมฐาน มีจำนวนทั้งหมด ๔๐ คือ 🔎กสิณ ๑๐ 🔎อสุภะ ๑๐ 🔎อนุสสติ ๑๐ (ให้เข้าถึงฌานได้เพียง ๒ คือ กายคตาสติและ อานาปานสติ เท่านั้น) 🔎อัปปมัญญา ๔ 🔎อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ 🔎ตุธาตุววัตถานะ ๑ 🔎อรูปกรรมฐาน ๔   รวมอารมณ์กรรมฐาน ๔๐

ธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ของฌาน ได้แก่นิวรณ์ คือ เครื่องกั้นการกระทำความดีในที่นี้ หมายถึงขัดขวางไม่ให้เข้าถึงฌานได้ นิวรณ์มี ๕ ประการ คือ

๑. กามฉันทนิวรณ์ ได้แก่ โลภเจตสิก ที่เป็นความยินดีติดใจในกามคุณอารมณ์ มี รูป รส กลิ่น และสัมผัสถูกต้อง เป็นต้น กามารมณ์เหล่านี้เป็นเครื่องขัดขวางไม่ให้ฌานจิตเกิด
๒. พยาปาทนิวรณ์ ได้แก่ โทสเจตสิก ที่เป็นความผูกโกรธ คิดจะปองร้ายผู้อื่นย่อมเป็นเครื่องกีดกั้นไม่ให้จิตเข้าถึงฌาน
๓. ถีนมิทธนิวรณ์ ได้แก่ ถีนะและมิทธเจตสิก ที่มีความหดหู่ท้อถอยจากอารมณ์ที่เพ่งเพียร ย่อมเป็นเครื่องกั้นไม่ให้จิตเข้าถึงฌาน
๔. อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ ได้แก่ อุทธัจจเจตสิก และกุกกุจจเจตสิก ที่เป็นความฟุ้งซ่านรำคาญใจย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อฌานเพราะต้องอาศัยการเพ่งอารมณ์ด้วยความสงบฌานจึงเกิดไม่ได้
๕. วิจิกิจฉานิวรณ์ ได้แก่ วิจิกิจฉาเจตสิกที่มีความลังเลไม่แน่ใจเคลือบแคลงสงสัย ย่อมทำลายความเข้มแข็งของการเพ่งอารมณ์ให้เสียไป จึงไม่สามารถเข้าถึงฌานได้

นิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ ประการนี้ ชื่อว่า เป็นปฏิปักษธรรม หรือ เป็นธรรมอันเป็นข้าศึกที่ต้องใช้องค์ฌานเป็นเครื่องทำลาย

📀 ฌานสงัดจากกามคุณ และ อกุศลธรรม

ในอัฏฐสาลินีอรรกถา แสดงว่า วิวิจฺเจว กาเมหิ วิวิจฺจ อกุสเลหิ ธมฺเมหิ มีอรรถว่า สงัดจากกามทั้งหลาย และสงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย 

วิวิจฺจ
หมายถึง วิเวก แปลว่า ความสงัด คือ หลีกออก
วิวิจฺเจว กาเมหิ หมายถึง หลีกออกไปจากกามทั้งหลาย คือ ทั้งวัตถุกามและกิเลสกาม

กามทั้งหลายดังกล่าวนี้ แม้จะไม่มีอยู่ในเวลาเข้าปฐมฌานก็จริง แต่ก็ยังเป็น
ข้าศึกต่อปฐมฌานได้ ดังนั้น การบรรลุปฐมฌานได้จำต้องสลัดกามออกไปให้ได้ ที่เรียกว่าสงัดจากกาม นั่นเอง แม้ฌานนี้จะปรากฏผลว่า เป็นเครื่องสลัดกามทั้งหลายออกไปก็จริง แต่ก็มิได้หมายความว่าเพียงสลัดกามทั้งหลายออกไปเท่านั้น พระโยคาวจรก็จะสามารถเข้าฌานได้ เพราะกามหรือกามฉันทะนั้น เป็นเพียง ๑ ใน ๕ ของนิวรณธรรมเท่านั้น นิวรณ์เหล่าอื่นนอกจากกามยังมีเหลืออยู่ พวกเหล่านั้นก็เป็นข้าศึกต่อฌานด้วยเหมือนกัน จึงต้องละนิวรณธรรม หรือ อกุศลธรรมเหล่านั้นด้วย จึงจะเข้าถึงได้ จึงแสดงว่า ฌานย่อมสงัดจากกามทั้งหลายและอกุศลธรรมทั้งปวง สมดังบาลีที่ยกมากล่าวข้างบนนี้

สรุปความว่า วิวิจฺเจว กาเมหิ นี้ ย่อมหมายถึง วิเวก อันเป็นเครื่องข่มกามฉันทะ และ วิวิจฺจ อกุสเลหิ ธมฺเมหิ ย่อมหมายถึง วิเวก อันเป็นเครื่องข่มนิวรณ์ธรรมที่เหลือ คือ พยาปาทนิวรณ์ ถีนมิทธนิวรณ์ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ และวิจิกิจฉานิวรณ์ ซึ่งเมื่อกล่าวโดยอภิธรรมนัยแล้ว ย่อมเป็นอันหมายถึง วิเวก อันเป็นเครื่องข่มความเกิดขึ้นแห่งโลภมูลจิต ๘ ดวง และย่อมหมายถึง วิเวก อันเป็นเครื่องข่มความเกิดขึ้นแห่งโทสมูลจิต ๒ ดวง โมหมูลจิต ๒ ดวงเท่านั้น

📀 องค์แห่งฌาน

ในการประกอบกุศลกรรม อันมีทานเป็นต้นนี้ กุศลเจตนา ปรากฏขึ้นในขณะใดมหากุศลจิต ย่อมเกิดขึ้นในขณะนั้นทันที แต่รูปาวจรกุศลจิต มิใช่เป็นเช่นนั้น รูปาวจรจิตจะเกิดขึ้นได้ เมื่อการเจริญสมถภาวนานั้นเข้าถึงอัปปนาสมาธิ คือ จิตเข้าถึงความแนบแน่นอยู่ในอารมณ์ ฌาน มีกสิณ เป็นต้น กล่าวคือ ขณะที่กำลังเจริญภาวนาอยู่นั้น กลุ่มเจตสิกธรรม อันเกิดพร้อมกับจิตกลุ่มหนึ่ง จะทำหน้าที่เผาหรือข่มนิวรณธรรม ซึ่งเป็นเครื่องกีดขวางมิให้ฌานจิตเกิดขึ้นได้ นิวรณธรรมทั้ง ๕ แม้อย่างใดอย่างหนึ่งยังมีอยู่ ฌานจิตจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ฉะนั้น เมื่อกลุ่มเจตสิกธรรมดังกล่าว ทำหน้าที่ขับไล่หรือข่มนิวรณธรรมให้สลายไปโดยสิ้นเชิงแล้ว ฌานจิตย่อมเกิดขึ้นได้

ขณะที่ฌานจิตปรากฏขึ้นนี้เอง กลุ่มเจตสิกธรรม คือ วิตกเจตสิก วิจารเจตสิก ปีติเจตสิก เวทนา (สุข หรือ อุเบกขา) เจตสิก และเอกัคคตาเจตสิกที่ทำหน้าที่ข่มนิวรณธรรมได้แล้ว จึงปรากฏเด่นชัดเป็นองค์ฌาน เพราะฉะนั้น องค์แห่งฌานจึงได้แก่ วิตกวิจาร ปีติ สุข (เวทนา) เจตสิก และเอกัคคตา เพียง ๕ องค์นี้

📀 ฌานประหาณนิวรณ์

การข่มนิวรณ์ หรือ ประหาณนิวรณ์ด้วยอำนาจของฌาน เรียกว่า วิกขัมภนประหาณ ตราบใดที่ฌานจิตยังไม่เสื่อม ตราบนั้นนิวรณธรรมย่อมถูกข่มไว้ไม่ให้ปรากฏขึ้นมาได้ หรือกล่าวว่า นิวรณธรรมกำเริบขึ้นเมื่อใด ฌานก็เสื่อมไปเมื่อนั้น การประหาณนิวรณธรรม ๕ ประการได้นั้น ย่อมต้องอาศัยองค์ฌาน เป็นเครื่องประหาณ ดังนี้ คือ

  • วิตก ประหาณ ถีนมิทธนิวรณ์
  • วิจาร ประหาณ วิจิกิจฉานิวรณ์
  • ปีติ ประหาณ พยาปาทนิวรณ์
  • สุข (เวทนา) ประหาณ อุทธัจจกุกุจจนิวรณ์
  • เอกัคคตา ประหาณ กามฉันทนิวรณ์

อธิบาย
๑. วิตก คือ การยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ในการทำฌาน (รูปฌาน) นั้นต้อง
สร้างบัญญัติอารมณ์ ที่เรียกว่า องค์กสิณ เป็นต้น ไว้สำหรับให้จิตเข้าไปเพ่งให้ทั่วองค์กสิณนั้น เพราะฉะนั้น การเพ่งองค์กสิณนี้ พระโยคาวจรผู้ปฏิบัติจะต้องยกจิตขึ้นสู่อารมณ์กรรมฐานที่กำหนดไว้เสมอ จะต้องพยายามไม่ปล่อยให้จิตหลุดจากอารมณ์ที่กำหนดไว้ไปคิดเรื่องอื่น ถ้าขณะใดจิตหลุดจากอารมณ์ที่เพ่ง ถีนมิทธะคือสภาพที่ทำให้จิตหดหู่ท้อถอยจากอารมณ์ที่เพ่ง หรือคลายความสนใจต่ออารมณ์ที่เพ่ง ขณะนั้น จิตย่อมตกไปจากองค์กสิณต้องยกจิตให้กลับมาตั้งที่องค์กสิณใหม่คือให้เพ่งองค์กสิณอีก จนไม่คลาดไปจากองค์กสิณ ฉะนั้น วิตก คือ ธรรมชาติที่ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์นี้ จึงทำหน้าที่ประหาณ ถีนมิทธะ โดยลักษณะแห่งการข่มไว้

๒. วิจาร คือ การประคองจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ที่เพ่ง เมื่อวิตกยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ที่เพ่งแล้ว วิจารณ์ก็ทำหน้าที่ประคองจิตไม่ให้ตกไปจากอารมณ์ที่เพ่งนั้น ถ้าเกิดความลังเลสงสัยขึ้นในขณะเพ่งอารมณ์ว่า การเพ่งอารมณ์เช่นนั้นจะสามารถทำให้ฌานเกิดขึ้นได้จริงหรือ เมื่อความลังเลสงสัยเกิดขึ้น การประคองจิตให้ตั้งมั่นในอารมณ์ก็จะเสื่อมคลายความหน่ายในการประคองจิตจะเกิดขึ้น ฉะนั้น พระโยคาวจร จำต้องใช้วิจารคอยประคองจิตให้เพ่งอารมณ์โดยปราศจากความลังเลสงสัยพร้อมกับวิจาร ย่อมทำหน้าที่ข่มวิจิกิจฉานิวรณ์ในลักษณะวิกขัมภนปหาณ

๓. ปีติ คือ ความปลาบปลื้มยินดี เมื่อวิตกได้ทำหน้าที่ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์และวิจารประคองจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์แล้ว ย่อมเกิดความปลาบปลื้มยินดีอิ่มเอิบใจในการที่สามารถทำได้เช่นนั้น ขณะจิตที่กำลังชื่นชมยินดีอยู่นั้น ความพยาบาทมาดร้ายต่อใคร ๆ ย่อมไม่เกิด ฉะนั้น ปีนี้ จึงสามารถข่มความพยาบาทนิวรณ์ได้โดยวิกขัมภนปหาณ ปีติ ความปลาบปลื้มยินดีอิ่มเอิบใจนี้ มี ๕ ประการ คือ

            ๓.๑ ขุททกาปีติ คือความปลาบปลื้ม ที่สามารถทำให้ขนในร่างกายชูชันได้
            ๓.๒ ขณิกาปีติ คือความปลาบปลื้มเหมือนสายฟ้าแลบเกิดขึ้นบ่อยๆ เป็นขณะๆ
            ๓.๓ โอกกันติกาปีติ คือความปลาบปลื้มที่ซึมไปทั่วร่างกาย ถึงกับไหวโคลง
            ๓.๔ อุพเพงคาปีติ คือปลาบปลื้มจนตัวลอยขึ้นไปในอากาศ
            ๓.๕ ผรณาปีติ คือความปลาบปลื้มที่ซาบซ่านไปทั่วร่างกาย เหมือนสูบที่เต็มลม และเหมือนหลืบภูเขา ที่ห้วงน้ำใหญ่ไหลเข้าไปซึมซาบ

ปีติที่เป็นองค์ฌานสามารถประหาณพยาบาทนิวรณ์ได้นั้น ต้องถึงขนาดผรณาปีติ ส่วนปีตินอกนั้นอีก ๔ ยังไม่นับว่าเป็นองค์ฌาน เพราะยังมีสภาพหยาบและมีกำลังน้อย

๔. สุข คือ สุขเวทนาในองค์ฌาน หมายถึงความสุขใจหรือโสมนัสเวทนานั่นเอง ขณะบริกรรม คือ ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ และประคองจิตให้ตั้งอยู่ในอารมณ์ จนเกิดความปลาบปลื้มปีติเช่นนี้แล้ว ย่อมรู้สึกเป็นสุขใจ เพราะมีความสงบปราศจากความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ขณะที่กำลังเสวยความสุข สุขเวทนาจึงมีสภาพเป็นผู้เผาหรือข่มอุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ไม่ให้บังเกิดขึ้นได้ สุขเวทนา จึงชื่อว่า เป็นผู้ประมาณอุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์โดยวิกขัมภนปหาณ

ปีติและสุข มีสภาวะที่ใกล้เคียงกัน กล่าวคือ ปีติ คือความปลาบปลื้มยินดีที่ได้ประสบกับอิฏฐารมณ์ ส่วนสุข มีการเสวยอารมณ์ที่ได้ประสบแล้ว ปีติมีในที่ใด สุขก็มีในที่นั้น แต่ถ้าสุขมีในที่ใด ปีติอาจมีไม่ได้ในที่นั้นปีติ เป็นสังขารขันธ์ ส่วนสุข เป็นเวทนาขันธ์

๕. เอกัคคตา ได้แก่ การที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว เมื่อจิตตั้งอยู่ในอารมณ์ที่เพ่งอันเดียวแล้วชื่อว่า จิตมีสมาธิคือความไม่ฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ มีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เรื่องราวที่เกี่ยวข้องด้วยกามคุณอารมณ์ จิตจะตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ที่เพ่งอย่างเดียว ย่อมเป็นสมาธิ คือความหยุดนิ่งแห่งจิต ดุจความตั้งอยู่นิ่ง ๆ ของเปลวประทีปในที่ที่สงัดลมฉะนั้น สมาธิจิตนั้นไม่ซัดส่ายฟุ้งซ่านดิ้นรนไปสู่อารมณ์ที่ปรารถนา นั่นคือ อำนาจแห่งสมาธิหรือเอกัคคตานี้ ย่อมเผากิเลสหรือข่มกามฉันทนิวรณ์

📀 สมาธิ มี ๓ อย่าง

ขณิกสมาธิ หมายถึง สมาธิที่ทำให้จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ได้ชั่วขณะหนึ่ง
อุปจารสมาธิ หมายถึง สมาธิที่ทำให้จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ใกล้จะได้ฌาน
อัปปนาสมาธิ หมายถึง สมาธิที่ทำให้จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ที่กำหนด กิเลสไม่สามารถรบกวนได้ และฌานจิตย่อมเกิดขึ้นได้ที่อัปปนาสมาธินี้ 

📀 ประเภทแห่งฌาน

ฌานปัญจกนัย ได้แก่ 
ตามนัยแห่งพระอภิธรรมได้จำแนกประเภทแห่งฌานไว้ ๕ ประเภท เรียกว่า
ปฐมฌาน มีองค์ฌาน ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
ทุติยฌาน มีองค์ฌาน ๔ คือ วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
ตติยฌาน มีองค์ฌาน ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา
จตุตถฌาน มีองค์ฌาน ๒ คือ สุข เอกัคคตา
ปัญจมฌาน มีองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา

๑. ปฐมฌาน หมายถึง ฌานที่ ๑ เพราะเป็นฌานที่เกิดขึ้นก่อนเป็นครั้งแรกที่ข้ามจากโคตรกามได้ ปฐมฌานนี้ จึงต้องอาศัยองค์ฌานครบทั้ง ๕ องค์ เป็นเครื่องข่มนิวรณ์ทั้ง ๕ ประการนั้น จิตที่สงัดจากนิวรณธรรมโดยการข่มไว้ได้ในครั้งแรกนี้ จึงชื่อว่า ปฐมฌานกุศลจิต องค์ฌานทั้ง ๕ ย่อมเกิดพร้อมกันและขณะเดียวกัน ย่อมทำหน้าที่เผาหรือข่มนิวรณ์พร้อมกันอีกด้วย มิใช่ว่าองค์ฌานจะเกิดขึ้นทีละองค์ และข่มนิวรณ์ทีละอย่างไม่

๒. ทุติยฌาน หมายถึง ฌานที่ ๒ ที่เกิดขึ้นได้ในลำดับต่อไป ภายหลังจากที่ปฐมฌานได้เกิดขึ้นแล้วในการปฏิบัติ เพื่อให้ทุติยฌานเกิดขึ้นได้นั้น จะต้องกระทำปฐมฌานให้เกิดขึ้นติดต่อกันบ่อยๆ เพื่ออบรมจิตใจให้มีสมาธิกล้าแข็งยิ่งขึ้น และมีความคล่องแคล่วชำนิชำนาญในการเข้าฌานและออกจากฌาน ความชำนาญเกี่ยวกับฌานนี้ เรียกว่า “วสี” ซึ่ง มี ๕ อย่าง คือ

            ๒.๑ อาวชชนวสี ได้แก่ความชำนาญในการพิจารณาองค์ฌานก่อนเข้าฌานเพื่อให้เข้าฌานได้โดยเร็วพลัน
            ๒.๒ สมาปัชนวสี ได้แก่ ความชำนาญในการเข้าสมาบัติ
            ๒.๓ อธิฏฐานวสี ได้แก่ ความชำนาญในการตั้งอยู่ในฌาน
            ๒.๔ วุฏฐานวสี ได้แก่ ความชำนาญในการออกจากฌาน
            ๒.๕ ปัจจเวกขณวสี ได้แก่ ความชำนาญในการพิจารณาองค์ฌานหลังออกจากฌาน

เมื่อพระโยคาวจร ได้ปฐมฌานชำนิชำนาญพร้อมด้วยวสีทั้ง ๕ แล้ว ก็สามารถเจริญทุติยฌานได้ โดยเพ่งปฏิภาคนิมิตที่เคยได้จากปฐมฌานมาแล้วไม่ต้องเพ่งองค์ กสิณเหมือนเมื่อเริ่มเจริญปฐมฌาน การเพ่งปฏิภาคนิมิตนี้ เพราะความชำนาญจนได้เป็นวสีแล้ว จึงไม่ต้องอาศัยวิตกยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ และเพราะจิตที่เข้าฌานจนชำนาญแล้ว จิตย่อมไม่หดหู่ท้อถอยจากอารมณ์ แต่จะติดอยู่กับอารมณ์ที่เพ่งอยู่นั้นเป็นอันดี จึงไม่ต้องอาศัยวิตกข่มถีนมิทธนิวรณ์ ซึ่งไม่เกิดขึ้นอีกเพราะข่มมาแล้วแต่ในปฐมฌาน ฉะนั้น ทุติยฌาน จึงมีองค์ฌานเพียง ๔ โดยละวิตกออกได้แล้ว

๓. ตติยฌาน เป็นฌานขั้นที่ ๓ เมื่อได้ทุติยฌานแล้ว จะต้องหมั่นกระทำทุติยฌานให้ชำนาญจนเป็นวสีเสียก่อน ผู้ที่จะเจริญฌานให้เข้าถึงตติยฌานนั้นย่อมเห็นโทษของวิจารว่า มีสภาพหยาบไม่คงทน มีความเสื่อมง่าย จึงพยายามละวิจาร อันเป็นองค์ฌานที่ตนเห็นว่า มีสภาพหยาบนี้เสีย เพื่อเข้าสู่ตติยฌาน อันมีสภาพของปีติ สุขและเอกัคคตา ที่ประณีตกว่าทุติยฌาน จึงตั้งต้นด้วยการเพ่งปฏิภาคนิมิต และบริกรรมจนตติยฌานเกิด ตติยฌานจิต จึงมีองค์ฌานเพียง ๓ คือ ปีติ สุข และเอกัคคตา โดยละได้ทั้งวิตกและวิจาร

๔. จตุตถฌาน เป็นฌานขั้นที่ ๔ ตติยฌานลาภีบุคคล เมื่อได้เข้าตติยฌานคล่องแคล่วจนเป็นวสี ย่อมเกิดความเบื่อหน่ายในตติยฌานนั้น พร้อมกับพิจารณาเห็นว่า ปีติที่เกิดในตติยฌาน เป็นความปลาบปลื้มซาบซ่านไปทั้งกายและใจ มีอาการโน้มน้าวไปในทางลิงโลดใจ ซึ่งนับว่า เป็นสภาพที่ยังหยาบอยู่ และประสงค์จะได้ฌานที่ประณีตยิ่งขึ้นไปอีก ไม่ควรที่จะติดใจอยู่ในปีติที่เป็นของหยาบอยู่เพียงนี้ จึงเริ่มเจริญจตุตถฌาน โดยเพ่งปฏิภาคนิมิตเพื่อละปีติเสีย เมื่อจตุตถฌานจิตเกิด จึงเหลือองค์ฌานเพียง ๒ องค์ คือ สุขกับเอกัคคตาเท่านั้น

๕. ปัญจมฌาน เป็นฌานขั้นสุดท้ายของรูปฌาน จตุตถฌานลาภีบุคคลเมื่อจะขึ้นปัญจมฌาน ต้องพิจารณาเห็นโทษของสุข ที่มีสภาพหยาบกว่าอุเบกขาเอกัคคตาแล้วก็ตั้งต้นเพ่งปฏิภาคนิมิต โดยภาวนาทั้ง ๓ ตามลำดับ คือ บริกรรมภาวนา อุปจารภาวนาและอัปปนาภาวนา เพื่อละสุขต่อไป จนเข้าถึงปัญจมฌาน ฉะนั้น ในปัญจมฌานนี้จึงเปลี่ยนเวทนาจากสุขเวทนาในจตุตถฌานมาเป็นอุเบกขาเวทนา องค์ฌาน จึงมี ๒ ได้แก่อุเบกขา และเอกัคคตา สุขที่เป็นองค์ฌาน อันจตุตถฌานลาภีบุคคลละได้นั้น หมายถึง สุขทางใจ คือโสมนัสเวทนา นั่นเอง ส่วนความสุขกายและโทมนัสนั้น แม้พระพุทธองค์จะไม่ได้ตรัสไว้โดยลำดับแห่งการละองค์ฌานเหล่านี้ก็ตาม แต่ก็ได้ตรัสไว้โดยลำดับแห่งอินทรีย์ทั้งหลายในอินทรีย์วิภังค์ โดยอรรถว่าทุกข์โทมนัสและสุขกายย่อมละได้ ในขณะแห่งอุปจารภาวนาของฌานที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ โดยอาการอย่างนี้

อานิสงส์ของโสมนัสเวทนา และ อุเบกขาเวทนา

ในมหากุศล หรือ กามาวจรกุศล โสมนัสเวทนา ย่อมมีอานิสงส์เหนือกว่าอุเบกขาเวทนา แต่ในฌานกุศล อุเบกขาเวทนา ย่อมมีอานิสงส์เหนือกว่าโสมนัสเวทนาความต่างกันของประเภทแห่งฌาน ประเภทแห่งฌานทั้ง ๕ มีปฐมฌานเป็นต้น จนถึงปัญจมฌานเป็นที่สุดนั้นย่อมมีแตกต่างที่องค์ฌานแต่ละฌาน ซึ่งจะมีจำนวนองค์ฌานมากน้อยลดหลั่นกันเป็นข้อสำคัญ ส่วนอารมณ์ที่เพ่งนั้น ย่อมเป็นอารมณ์เดียว ไม่แตกต่างกันก็ได้

อารมณ์ของฌานประเภทต่าง ๆ

อารมณ์ที่ใช้เพ่งเพื่อให้เกิดฌานจิตประเภทต่าง ๆ ในฌานทั้ง ๕ นั้น จะต้องอาศัยบัญญัติอารมณ์ทั้งสิ้น คือ จะต้องสมมุติกำหนดเครื่องหมายอันใดอันหนึ่งมาเป็นเครื่องเพ่ง และอารมณ์ที่เป็นเครื่องเพ่งให้ฌานจิตเกิดขึ้นได้ ตั้งแต่ปฐมฌานจนถึงปัญจมฌานนั้น ย่อมจำกัดอยู่เฉพาะอารมณ์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ คือ

  • ปฐมฌาน อาศัยอารมณ์เป็นเครื่องเพ่งได้ ๒๕ อย่าง ได้แก่ กสิณบัญญัติ ๑๐ อสุภบัญญัติ ๑๐ อานาปานบัญญัติ ๑ โกฏฐาสบัญญัติ ๑ และสัตวบัญญัติ ๓ คือ ปิยมนาปสัตวบัญญัติ, ทุกขิตสัตวบัญญัติ, สุขิตสัตวบัญญัติ
  • ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌาน อาศัยอารมณ์เป็นเครื่องเพ่งให้ฌานจิตเกิดได้ ๑๔ อย่าง ได้แก่กสิณบัญญัติ ๑๐ อานาปานบัญญัติ ๑ และสัตวบัญญัติ ๓ (เว้นมัชฌัตตสัตวบัญญัติ)
  • ปัญจมฌาน อาศัยอารมณ์เป็นเครื่องเพ่งให้ฌานจิตเกิดได้ ๑๒ อย่าง คือ กสิณบัญญัติ ๑๐ อานาปานบัญญัติ ๑ และสัตวบัญญัติ ๑ คือ มัชฌัตตสัตวบัญญัติ 

ฌานจตุกนัย และ ปัญจกนัย

ประเภทแห่งฌานตามที่กล่าวมาแล้ว ๕ อย่าง อันเป็นการกล่าวตามนัยแห่งพระอภิธรรม ซึ่งจำแนกประเภทของฌานไปตามองค์ฌาน ที่ปัญญาของมันทบุคคลผู้มีปัญญารู้ช้า ไม่อาจพิจารณาเห็นโทษของวิตกและวิจารทั้งสองนี้ ในเวลาเดียวกันได้จึงจำแนกฌานออกเป็น ๕ ประเภท เรียกว่า ปัญจกนัย ส่วนตามนัยแห่งพระสูตร ได้จำแนกประเภทของฌานออกเป็น ๔ ประเภท โดยแสดงถึงติกขบุคคลผู้เจริญทุติยฌานนั้น เมื่อจะขึ้นทุติยฌาน จึงมีองค์ฌานเพียง ๓ คือ ปีติ สุข และเอกัคคตา ทั้งนี้ เพราะสามารถละทิ้งวิตกและวิจารได้ในขณะเดียวจึงจำแนกออกเป็น ๔ ประเภท เรียกว่า จตุกนัย ซึ่งมีองค์ฌานดังนี้

ปฐมฌาน มีองค์ฌาน ๔ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
ทุติยฌาน มีองค์ฌาน ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา
ตติยฌาน มีองค์ฌาน ๒ คือ สุข เอกัคคตา
จตุตถฌาน มีองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา

นัยแห่งพระอภิธรรม ที่จำแนกฌานเป็นปัญจกนัยนั้นก็เพื่อให้ตรงตามสภาวะเพราะจิตของมันทบุคคลตรงตามประเภทและจำนวนของจิตที่มีอยู่ในส่วนข้างมาก ผู้รู้ช้านั้น จะละองค์ฌานได้เพียงฌานละหนึ่งองค์เท่านั้น คือ ทุติยฌาน ละวิตก และ ตติยฌาน และวิจาร แต่ถ้าเป็น ติกขบุคคล คือ ผู้รู้เร็วนั้น ย่อมมีสติปัญญาไหวพริบแหลมคมสามารถที่จะละองค์ฌาน ทั้งวิตก วิจาร ได้ในคราวเดียวพร้อมกัน ด้วยเหตุนี้ พระโยคาวจรที่สามารถเข้าฌานสมาบัติ ตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุดนั้นจึงกล่าวว่า ได้ฌานสมาบัติ ๘ และในบางแห่งก็กล่าวว่า ได้ฌานสมาบัติ ๙ 

ที่ว่าได้ฌานสมาบัติ ๘ นั้น เป็นการกล่าวตามนัยแห่งพระสูตร ซึ่งแสดงว่า 
รูปฌานมี ๔ อรูปฌานมี ๔ รวมเป็นฌานสมาบัติ ๘ และที่ว่าได้ฌานสมาบัติ ๙ นั้นเป็นการกล่าวตามนัยแห่งพระอภิธรรม ซึ่งแสดงว่า รูปฌานนั้นมี ๕ อรูปฌานมี ๔ รวม เป็นฌานสมาบัติ ๙ ฌานปัญจกนัย ตามแนวแห่งพระอภิธรรมนี้ เมื่อจำแนกโดยประเภทแห่งชาติ คือ กุศล วิบาก และกิริยาแล้ว จึงได้แก่ รูปาวจรกุศลจิต ๕ รูปาวจรวิบากจิต ๕ และ รูปาวจรกิริยาจิต ๕ รวมรูปาวจรจิตทั้งหมด ๑๕ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

📀  รูปาวจรกุศลจิต

รูปาวจรกุศลจิต เป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยการเจริญสมถภาวนา ซึ่งย่อมต้องอาศัยบัญญัติของรูปธรรม อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอารมณ์ จิตที่เริ่มเพ่งจับบัญญัติอารมณ์ในตอนแรกนี้ ย่อมเป็นมหากุศลจิต สมาธิที่ประกอบกับมหากุสลจิตอยู่ในชั้นบริกรรม สมาธิกับอุปจารสมาธิ เมื่อเจริญภาวนาสมาธิจนแนบแน่นเข้าถึงอัปปนาสมาธิแล้ว จิต จะเปลี่ยนจากมหากุศลจิต เป็นรูปาวจรกุศลจิต ที่เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๔ เป็นกุศลจิตชนิดที่จะส่งผลให้ปฏิสนธิเป็นรูปพรหมในภูมิต่าง ๆ ได้ตามสมควรแก่ฌานจิตนั้นๆ รูปาวจรกุศลจิต มีจำนวน ๕ ดวง คือ

  • ๑. วิตกฺกวิจารปีติสุเขกคฺคตาสหิตํ ปฐมชฺฌานกุสลจิตฺตํ รูปาวจรกุศลจิตดวงที่ ๑ เกิดพร้อมด้วยวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
  • ๒. วิจารปีติสุเขกคฺคตาสหิตํ ทุติยชฺฌานกุสลจิตฺตํ รูปาวจรกุศลจิตดวงที่ ๒ เกิดพร้อมด้วยวิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
  • ๓. ปีติสุเขกคฺคตาสหิตํ ตติยชฺฌานกุสลจิตตํ รูปาวจรกุศลจิตดวงที่ ๓ เกิดพร้อมด้วยปีติ สุข เอกัคคตา
  • ๔. สุเขกคฺคตาสหิตํ จตุตถฌานกุสลจิตตํ รูปาวจรกุศลจิตดวงที่ ๔ เกิดพร้อมด้วยสุข เอกัคคตา
  • ๕. อุเปกฺเขกคคตาสหิตํ ปญฺจมชุฌานกุสลจิตตํ รูปาวจรกุศลจิตดวงที่ ๕ เกิดพร้อมด้วยอุเบกขา เอกัคคตา

รูปวจรวิบากจิต

รูปาวจรวิบากจิต เป็นจิตที่เป็นผลของรูปาวจรกุศลจิต ทำหน้าที่ปฏิสนธิภวังค์และจุติของรูปพรหม ในรูปภูมิ ๑๕ มีจำนวน ๕ ดวง เท่ากันกับรูปาวจรกุศลจิต

๑. วิวิตกฺกวิจารปีติสุเขกคฺคตาสหิตํ ปฐมชฺฌานวิปากจิตฺตํ รูปาวจรวิบากจิตดวงที่ ๑ เกิดพร้อมด้วยวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
๒. วิจารปีติสุเขกคฺคตาสหิตํ ทุติยชฺฌานวิปากจิตฺตํ  รูปาวจรวิบากจิตดวงที่ ๒ เกิดพร้อมด้วยวิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
๓. ปีติสุเขกคฺคตาสหิตํ ตติยชฺฌานวิปากจิตตํ รูปาวจรวิบากจิตดวงที่ ๓ เกิดพร้อมด้วยปีติ สุข เอกัคคตา
๔. สุเขกคฺคตาสหิตํ จตุตถฌานวิปากจิตตํ รูปาวจรวิบากจิตดวงที่ ๔ เกิดพร้อมด้วยสุข เอกัคคตา
๕. อุเปกฺเขกคคตาสหิตํ ปญฺจมชุฌานกุสลจิตตํ  รูปาวจรวิบากจิตดวงที่ ๕ เกิดพร้อมด้วยอุเบกขา เอกัคคตาวิปาก

📀  รูปาวจรกุศลจิตให้ผลเป็นรูปาวจรวิบากจิต

รูปาวจรกุศลจิต เป็นเหตุทำให้รูปาวจรวิบากจิตปรากฏขึ้น เป็นผลตรงกันดวงต่อดวง และให้ปฏิสนธิในรูปภูมิต่าง ๆ ดังนี้ คือ 

  • ปฐมฌานกุศล ให้ผลเป็น ปฐมฌานวิบาก ปฏิสนธิในปฐมฌานภูมิ
  • ทุติยฌานกุศล ให้ผลเป็น ทุติยฌานวิบาก ปฏิสนธิในทุติยฌานภูมิ
  • ตติยฌานกุศล ให้ผลเป็น ตติยฌานวิบาก                 "
  • จตุตถฌานกุศล ให้ผลเป็น จตุตถฌานวิบาก ปฏิสนธิในตติยฌานภูมิ
  • ปัญจมฌานกุศล ให้ผลเป็น ปัญจมฌานวิบาก ปฏิสนธิในจตุตถฌานภูมิ

ข้อสังเกต

ทุติยฌานวิบาก และตติยฌานวิบากให้ผลปฏิสนธิในทุติยฌานภูมิเดียวกันนั้น เพราะสภาพองค์ฌานของวิตกและวิจารทั้งสองนี้ใกล้ชิดกันมาก และย่อมอุปถัมภ์ซึ่งกันและกัน ฉะนั้น เมื่อพระโยคาวจรละวิตกได้ แต่ละวิจารไม่ได้หรือละได้ทั้งวิตกและวิจาร ก็คงให้ผลปฏิสนธิในทุติยฌานภูมิเดียวกันนั้นเอง แต่ผลที่จะได้รับในปวัตติกาลนั้น ย่อมจะยิ่งหย่อนกว่ากันบ้าง


📀  
รูปาวจรกิริยาจิต

รูปาวจรกิริยาจิต เป็นจิตของพระอรหันต์ที่เข้าถึงรูปฌานโดยนัยเดียวกันกับรูปาวจรกุศลจิต จึงกล่าวได้ว่า รูปาวจรกิริยาจิต ก็คือ รูปาวจรกุศลจิต นั่นเอง หากแต่เกิดขึ้นในสันดานของพระอรหันต์โดยเฉพาะเท่านั้น ดังนั้น รูปาวจรกิริยาจิต จึงมีจำนวน ๕ ดวง เช่นเดียวกันกับรูปาวจรกุศลจิต คือ

    ๑. วิตกฺกวิจารปีติสุเขกคฺคตาสหิตํ ปฐมชฺฌานกฺริยจิตฺตํ รูปาวจรกิริยาจิตดวงที่ ๑ เกิดพร้อมด้วยวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
    ๒. วิจารปีติสุเขกคฺคตาสหิตํ ทุติยชฺฌานกฺริยจิตตํ รูปาวจรกิริยาจิตดวงที่ ๒ เกิดพร้อมด้วยวิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
    ๓.ปีติสุเขกคฺคตาสหิตํ ตติยชฺฌานกฺริยจิตตํ รูปาวจรกิริยาจิตดวงที่ ๓ เกิดพร้อมด้วยปีติ สุข เอกัคคตา
    ๔. สุเขกคฺคตาสหิตํ จตุตฺถชฺฌานกฺริยจิตฺตํ รูปาวจรกิริยาจิตดวงที่ ๔ เกิดพร้อมด้วยสุข เอกัคคตา
    ๕. อุเปกฺเขกคฺคตาสหิตํ ปญฺจมฌานกริยจิตฺตํ รูปาวจรกิริยาจิตดวงที่ ๕ เกิดพร้อมด้วยอุเบกขา เอกัคคตา

ข้อสังเกต

ในการเจริญฌานโดยทั่วไปนั้น เมื่อเข้าถึงฌาน องค์ฌานย่อมข่มนิวรณ์ใน ขณะที่ฌานจิตเกิดเป็นวิกขัมภนปทาน เมื่อจิตพ้นจากฌานแล้ว หรือฌานจิตเสื่อมเสีย นิวรณ์ที่เกิดขึ้นได้อีก ย่อมแสดงให้เห็นว่า องค์ฌานนั้นมีหน้าที่ ข่มนิวรณ์ แต่สำหรับพระอรหันต์ขีณาสพ ผู้ปราศจากกิเลสนิวรณ์โดยสิ้นเชิงแล้ว การกำหนดองค์ฌาน เพื่อละองค์ฌานที่หยาบถือเอาองค์ฌานที่ประณีต โดยสภาวะของสัมปยุตธรรมที่เพ่งอารมณ์ตามธรรมนิยาม เพื่อจำแนกให้กำหนดรู้ได้ว่า พระอรหันต์ผู้เจริญฌานนั้น ได้เข้าถึงฌานชั้นไหน มิฉะนั้นแล้ว จะไม่เป็นอันกำหนดรู้ฌานจิตสำหรับพระอรหันต์ได้เลย

📀  ภูมิอันเป็นที่เกิดของรูปาวจรจิต ๑๕

  • รูปาวจรกุศลจิต ๕ เกิดได้ใน ๒๒ ภูมิ คือ กามสุคติภูมิ ๗ (มนุษย์ ๑ เทวดา ๖) รูปภูมิ ๑๕ (เว้นอสัญญสัตตภูมิ ๑)
  • รูปาวจรวิปากจิต ๕ เกิดได้ใน ๑๕ ภูมิ คือ รูปภูมิ ๑๕ (เว้นอสัญญสัตตภูมิ ๑)
  • รูปาวจรกิริยาจิต ๕  เกิดได้ใน ๒๒ ภูมิ (เท่ากับรูปาวจรกุศลจิต) คือกามสุคติภูมิ ๗ รูปภูมิ ๑๕

ส่วนใน อรูปภูมิ รูปาวจรจิต ย่อมเกิดไม่ได้ เพราะไม่มีกรรมฐาน อันเป็นอารมณ์ของรูปฌาน ใน อสัญญสัตตภูมิ นั้น ไม่มีสัญญา หมายถึง ไม่มีจิตและเจตสิกเกิดขึ้นได้เลย รูปาวจรจิต จึงเกิดไม่ได้ และใน อบายภูมิ ๔ ไม่มีติเหตุกบุคคล คือ ผู้ปฏิสนธิด้วยไตรเหตุ และฌานจิตนั้น ย่อมเกิดได้เฉพาะแต่ติเหตุกบุคคลเท่านั้น อบายภูมิ มีแต่ทุคติอเหตุกบุคคล ฌานจิต จึงเกิดไม่ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น