วันศุกร์

อรูปาวจรจิต ๑๒

เป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยการเจริญสมถภาวนาของผู้ที่ได้รูปาวจรปัญจมฌานแล้ว เมื่อได้เจริญฌานให้ยิ่งขึ้นไป ก็จะเข้าถึงอรูปฌาน ฉะนั้นอรูปาวจรจิตจึงเป็นจิตที่ท่องเที่ยวอยู่ในภูมิ อันเป็นที่เกิดแห่งวัตถุอรูปและกิเลส อรูปเป็นส่วนมาก

    วัตถุอรูป ได้แก่ อรูปาวจรจิต ๑๒ เจตสิก ๓๐ (วัตถุธรรม)
    กิเลสอรูป ได้แก่ อรูปตัณหา หรือความยินดีพอใจในอรูปฌานและอรูปภพ

อรูปสฺฺส ภโวติ = อรูปํ 
ภูมิใด เป็นที่เกิดแห่งวัตถุอรูปและกิเลสอรูป ฉะนั้น ภูมินั้น ชื่อว่า อรูปภูมิ ได้แก่ อรูปภูมิ ๔

อรูเป อวจรตีติ = อรูปาวจรํ
จิตใดย่อมท่องเที่ยวเกิดอยู่ในภูมิอันเป็นที่เกิดแห่งกิเลสอรูป และวัตถุอรูปฉะนั้น จิตนั้น ชื่อว่า อรูปาวจรจิต


คาถาสังคหะ

อาลมฺพนปุปเภเทน  จตุธารุปฺปมานสํ
ปุญฺญปากกฺริยาเภทา  ปุน ทฺวาทสธาฐิตํฯ

แปลความว่า "อรูปาวจรจิตนั้น กล่าวโดยประเภทแห่งอารมณ์ มี ๔ อย่าง เมื่อจำแนกโดยประเภทแห่งชาติ คือกุศล วิบาก กิริยา แล้ว มีจำนวน ๑๒ ประเภท"

อธิบาย อรูปาวจรจิตนั้น เมื่อกล่าวโดยประเภทแห่งอารมณ์ มี ๔ อย่าง คือ

อากาสานัญจายตนะ ๑
วิญญาณัญจายตนะ ๑
อากิญจัญญายตนะ ๑
เนวสัญญานาสัญญายตนะ ๑

อรูปาวจรจิตทั้ง ๔ อย่างนี้ เมื่อจำแนกโดยประเภทแห่งชาติ คือ กุศล วิบาก กิริยาแล้ว ได้แก่ อรูปาวจรกุศลจิต ๔ อรูปาวจรวิบากจิต ๔ อรูปาวจรกิริยาจิต ๔ รวมเป็นอรูปาวจรจิต ๑๒ ประเภท อรูปาวจรจิต ๑๒ ประเภทนี้ นับเป็นฌานจิตในชั้นปัญจมฌานทั้งหมด เพราะองค์ของอรูปฌานประกอบด้วย อุเบกขา เอกัคคตา อย่างเดียวกัน และเหมือนกันกับองค์ฌานของรูปาวจรปัญจมฌาน แต่ความแตกต่างกันของอรูปาวจรจิต นี้ ต่างกันที่อารมณ์ มิใช่ต่างกันที่องค์ฌาน เหมือนอย่างในรูปาวจรจิต คือ 

อากาสานัญจายตนะ (ปฐมารูปฌาน) มีอากาศที่เพิกแล้วจากกสิณ (กสิณุคฆาฏิมากาสบัญญัติ) เป็นอารมณ์วิญญาณัญจายตนะ (ทุติยารูปฌาน) มีปฐมารูปฌานจิต เป็นอารมณ์
อากิญจัญญายตนะ (ตติยารูปฌาน) มีนัตถิภาวบัญญัติ เป็นอารมณ์
เนวสัญญานาสัญญายตนะ (จตุตถารูปฌาน) มีตติยารูปฌานจิตเป็นอารมณ์


อารมณ์ของอรูปาวจรจิต

อารมณ์ของอรูปาวจรจิต มี ๔ อย่าง คือ : -

๑. กสิณุคฆาฏิมากาสบัญญัติ เป็นอารมณ์ หมายถึงการกำหนดเอาอากาศที่เพิกแล้วจากองค์กสิณ ๙ (เว้นอากาศกสิณ) เป็นอากาศที่ว่างเปล่าหาที่สุดมิได้โดยบริกรรมว่า “อากาโส อนนฺโต” อากาศไม่มีที่สิ้นสุด ๆ จนกว่าฌานจิตจะเกิดฌานจิตที่เกิดขึ้น โดยมีกสิณุคฆาฏิกาสบัญญัติเป็นอารมณ์นี้ มีชื่อว่า "อากาสานัญจายตนฌาน" หรือ "ปฐมารูปจิต"

๒. อากาสนัญจายตนฌาน เป็นอารมณ์ หมายถึงมีวิญญาณที่เป็นไปในอากาศที่ว่างเปล่านั้นเป็นอารมณ์ หรือมีการเพ่งหน่วงเอาปฐมารูปจิตฌานเป็นอารมณ์ โดยบริกรรมว่า “วิญญาณํ อนนฺตํ” วิญญาณที่ไม่มีที่สิ้นสุด ๆ จนกว่าฌานจิตจะเกิด ฌานจิตที่เกิดโดยมีอากาสานัญจาตนฌานจิตเป็นอารมณ์นี้ ชื่อว่า "วิญญาณัญจายตนฌาน" หรือ "ทุติยารูปจิต"

๓. นัตถิภาวบัญญัติ เป็นอารมณ์ คือ สภาวะที่ไม่มีอะไรเหลือเป็นอารมณ์เลยหมายความว่า เมื่อต้องการเจริญอากิญจัญญายตนฌาน จะต้องเข้าวิญญาณัญจายตนฌานบ่อยๆ จนเป็นวสีแล้ว พิจารณาเห็นโทษของวิญญาณัญจายตนฌานว่า ถ้าขาดการเข้าฌานนี้อยู่เสมอแล้ว ฌานนี้อาจจะเสื่อมคลาย กลับไปตั้งอยู่ในอากาสานัญจายตนฌานตามเดิมอีก และสมาธิที่เกิดจากวิญญาณัญจายตนฌานนี้ก็ยังหยาบอยู่ จึงเกิดการฝักใฝ่สนใจที่จะให้อากาสานัญจายตนฌานดับขาดสูญไปจากจิตสันดานอย่างไม่มีเหลืออยู่เลย โดยกลับพยายามหน่วงให้นัตถิภาวบัญญัติปรากฏขึ้นแทน โดยบริกรรมว่า “นตฺถิ กิญฺจิ” ความเหลืออยู่เพียงเล็กน้อยก็ไม่มี ๆ จนกว่าฌานจิตจะเกิดขึ้น โดยมีนัตถิภาวบัญญัติเป็นอารมณ์นี้ ชื่อว่า "อากิญจัญญายตนฌาน" หรือ "ตติยารูปจิต"

๔. อากิญจัญญายตนฌาน เป็นอารมณ์ คือ หน่วงเอาตติยารูปจิตเป็นอารมณ์ กำหนดเอาความละเอียดประณีตของตติยารูปจิต โดยสร้างความรู้สึกว่าสัญญา คือจิตที่ไม่มีความเหลืออยู่แม้เพียงเล็กน้อย จะว่าไม่มีก็ไม่ใช่ เพราะยังมีตัวที่รู้ว่า มีอยู่ จะว่าไม่มีก็ไม่เชิง เพราะสัญญานั้นประณีตละเอียดอ่อนสงบนิ่ง จนไม่รู้ว่ามีอะไร แล้วพยายามหน่วงเอาอากิญจัญญายตนฌานให้มาปรากฏแทน โดยบริกรรมว่า "สนุตเมตํ ปณีตเมตํ" หรือ "เอตํ สนฺติ เอตํ ปณีตํ" สงบหนอประณีตหนอจนฌานจิตเกิดขึ้น ฌานที่เกิดขึ้นโดยมีอากิญจัญญายตนฌาน เป็นอารมณ์นี้ชื่อว่า เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน แปลว่า ฌานที่ไม่มีสัญญาหยาบ มีแต่สัญญาละเอียด หรือฌานที่จะว่าไม่มี สัญญาก็ไม่ใช่ มีสัญญาก็ไม่เชิง บางที เรียกฌานนี้ว่า จตุตถารูปจิต


จําแนกอรูปาวจรจิตโดยประเภทแห่งชาติ

อรูปาวจรจิต เมื่อจำแนกโดยประเภทแห่งชาติ คือ อรูปาวจรกุศลจิต อรูปาวจรวิบากจิต และอรูปาวจรกิริยาจิต มี อย่างละ ๔ ประเภท ตามประเภทแห่งอารมณ์ คือ

อรูปาวจรกุศลจิต

อรูปาวจรกุศลจิต เป็นจิตที่เจริญสมถภาวนาจนถึงอรูปฌาน เป็นไปพร้อมด้วยการปรุงแต่งอรูปกุศลไว้ให้ได้รับสมบัติเป็นอรูปพรหมในพรหมโลก หรืออรูปภูมิมีจำนวน ๔ ดวง คือ : -

  • ๑. อุเปกฺเขกคฺคตาสหิตํ อากาสานญฺจายตนกุสลจิตตํ 
    อรูปาวจรกุศลจิตดวงที่ ๑ เกิดพร้อมด้วย อุเบกขา เอกัคคตา เป็นอากาสานัญจายตนฌานกุศล
  • ๒. อุเปกฺเขกคฺคตาสหิตํ วิญฺญาณญฺจายตนกุสลจิตตํ 
    อรูปาวจรกุศลจิตดวงที่ ๒ เกิดพร้อมด้วย อุเบกขา เอกัคคตา เป็นวิญญาณัญจายตนฌานกุศล
  • ๓. อุเปกฺเขกคฺคตาสหิตํ อากิญฺจญฺจายตนกุสลจิตตํ 
    อรูปวจรกุศลจิตดวงที่ ๓ เกิดพร้อมด้วย อุเบกขา เอกัคคตา เป็นอากิญจัญญายตนฌานกุศล
  • ๔. อุเปกฺเขกคฺคตาสหิตํ เนวสัญฺญานาสัญฺญายตนกุสลจิตตํ
    อรูปาวจรกุศลจิตดวงที่ ๔ เกิดพร้อมด้วย อุเบกขา เอกัคคตา เป็นเนวสัญญานาสัญญายตนฌานกุศล

อรูปาวจรวิบากจิต

อรูปาวจรวิบากจิต เป็นจิตที่เป็นผลของอรูปาจรกุศลจิต กล่าวคือ อรูปาวจรกุศลจิต เป็นเหตุ อรูปาวจรวิบากจิต เป็นผล ให้ได้เสวยสมบัติเป็นอรูปพรหมในอรูปภูมิ ๔ ตรงกันดวงต่อดวงกับอรูปาวจรกุศลจิตนั่นเอง จึงมีจำนวน ๔ ดวง คือ :-

  • ๑. อุเปกฺเขกคฺคตาสหิตํ อากาสานญฺจายตนวิปากจิตตํ
    อรูปาวจรวิบากจิตดวงที่ ๑ เกิดพร้อมด้วย อุเบกขา เอกัคคตา เป็นอากาสานัญจายตนฌานวิบาก
  • ๒. อุเปกฺเขกคฺคตาสหิตํ วิญฺญาณญฺจายตนวิปากจิตตํ
    อรูปาวจรวิบากจิตดวงที่ ๒ เกิดพร้อมด้วยอุเบกขา เอกัคคตา เป็นวิญญานัญจายตนฌานวิบาก
  • ๓. อุเปกฺเขกคฺคตาสหิตํ อากิญฺจญฺจายตนวิปากจิตตํ
    อรูปาวจรวิบากจิตดวงที่ ๓ เกิดพร้อมด้วย อุเบกขา เอกัคคตา เป็นอากิญจัญญายตนฌานวิบาก
  • ๔. อุเปกฺเขกคฺคตาสหิตํ เนวสัญฺญานาสัญฺญายตนวิปากจิตตํ
    อรูปาวจรวิบากจิตดวงที่ ๔ เกิดพร้อมด้วย อุเบกขา เอกัคคตา เป็นเนวสัญญานาสัญญายตนฌานวิบาก

อรูปาวจรกิริยาจิต

อรูปาวจรกิริยาจิต เป็นจิตของพระอรหันต์ ที่เข้าถึงอรูปฌาน โดยนัยเดียวกันกับอรูปาวจรกุศลจิต จึงกล่าวได้ว่า อรูปาวจรกิริยาจิต ก็คือ อรูปาวจรกุศลนั่นเอง หากแต่จิตนั้นเกิดขึ้นในสันดานของพระอรหันต์โดยเฉพาะเท่านั้น อรูปาวจรกิริยาจิต จึงมีจำนวน ๔ ดวง คือ : -

  • ๑. อุเปกฺเขกคฺคตาสหิตํ อากาสานญฺจายตกริยจิตตํ
    อรูปาวจรกิริยาจิตดวงที่ ๑ เกิดพร้อมด้วย อุเบกขา เอกัคคตา เป็นอากาสานัญจายตนฌานกิริยา
  • ๒. อุเปกฺเขกคฺคตาสหิตํ วิญฺญาณญฺจายตนกริยจิตตํ
    อรูปาวจรกิริยาจิตดวงที่ ๒ เกิดพร้อมด้วยอุเบกขา เอกัคคตา เป็นวิญญาณัญจายตนฌานกิริยา
  • ๓. อุเปกฺเขกคฺคตาสหิตํ อากิญฺจญฺจายตนกริยจิตตํ
    อรูปาวจรกิริยาจิตดวงที่ ๓ เกิดพร้อมด้วย อุเบกขา เอกัคคตา เป็นอากิญจัญญายตนฌานกิริยา
  • ๔. อุเปกฺเขกคฺคตาสหิตํ เนวสัญฺญานาสัญฺญายตนกริยจิตตํ
    อรูปาวจรกิริยาจิตดวงที่ ๔ เกิดพร้อมด้วย อุเบกขา เอกัคคตา เป็นเนวสัญญานาสัญญายตนฌานกิริยา

ความหมายของอรูปฌาน ๔

ความหมายของอรูปฌานทั้ง ๔ คือ

๑. อากาสานัญจายตน แยกศัพท์ได้เป็น ๓ คำ คือ
อากาส + อนัญจ + อายตน = อากาสานัญจายตน
อากาสะ = ที่ว่าง (หมายถึงที่ที่เพิกออกจากปฏิภาคนิมิต)
อนัญจะ = หาที่สุดมิได้ (มาจาก อนันตะ)
อายตนะ = เป็นที่ตั้ง

อากาสานัญจายตน จึงหมายถึง อากาศที่เพิกปฏิภาคนิมิตออกแล้วหาที่สุดมิได้ เป็นที่ตั้งแห่งจิต หรือ จิตที่ยึดเอาที่ว่าง (อากาศที่เพิกปฏิภาคนิมิตออก) อุปมาเหมือนศาลาใหญ่หลังหนึ่ง ซึ่งเต็มไปด้วยเครื่องประดับ การเพิกปฏิภาคนิมิตเหมือนกับการยกเอาเครื่องประดับออกไปเสีย เหลือแต่ศาลาว่างเปล่า จิตนี้ จึงเพ่งอยู่ที่ว่างเปล่าภายในขอบเขตแห่งศาลา

๒. วิญญาณัญจายตน แยกศัพท์ออกได้ ๓ ศัพท์เช่นกัน คือ
วิญญาณ + อนัญจ + อายตน = วิญญาณัญจายตน
วิญญาณ = จิต (ธรรมชาติรู้อารมณ์)
อนัญจะ = หาที่สุดมิได้
อายตนะ = - เป็นที่ตั้ง

วิญญาณัญจายตน จึงหมายถึง จิตที่ยึดหน่วงจิตดวงก่อนที่รู้อากาศนิมิตอันหาที่สุดมิได้มาเป็นอารมณ์ อุปมาเหมือนศาลาที่ว่างอยู่นั้น บัดนี้ มีพระสงฆ์มาประชุมกันทำสังฆกรรมอยู่ จิตจึงเพ่งอยู่เฉพาะพระสงฆ์หมู่ที่มาประชุมกันอยู่นั้นโดยมิได้เอาใจใส่ในขอบเขตแห่งศาลานั้นเลย

๓. อากิญจัญญายตน แยกศัพท์ได้เป็น
น + กิญจน + อายตน = อากิญจัญญายตน
น = ไม่มี
กิญจนะ = เหลืออยู่
อายตนะ = เป็นตั้ง

อากิญจัญญายตน หมายถึง จิตที่ยึดสภาพความไม่มีปฐมารูปจิตเป็นอารมณ์ อุปมาเหมือนศาลาใหญ่ที่พระสงฆ์ประชุมกันทำสังฆกรรมอยู่นั้น บัดนี้ได้ออกไปจากศาลานั้นหมดแล้ว ไม่มีเหลืออยู่แม้แต่องค์เดียว จิตดวงนี้จึงเพ่งอยู่ที่ความไม่มีพระสงฆ์หมู่นั้นเลย และพร้อมทั้งไม่เอาใจใส่ในขอบเขตแห่งศาลานั้นด้วย

๔. เนวสัญญานาสัญญายตน แยกศัพท์ได้เป็น
น + เอว + สัญญา + น + อสัญญา + อายตน = เนวสัญญานาสัญญายตน
น = ไม่ใช่
เอว = นั่นเทียว
น = ไม่ใช่
สัญญา = มีสัญญา
อสัญญา =ไม่มีสัญญา
อายตนะ = เป็นที่ตั้ง

เนวสัญญานาสัญญายตน จึงหมายถึง สภาพจิตที่ยึดอารมณ์อันละเอียดยิ่งเฉพาะอารมณ์เท่านั้น จะมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ อุปมาเหมือน สามเณรเอาน้ำมันทาบาตไว้เพื่อกันสนิม พระเถระเรียกเอาบาตจากสามเณรเพื่อใส่ภัตสามเณรจึงเรียนว่า “บาตติดน้ำมันอยู่” พระเถระก็ว่า “ยกเอามาเถิด เราจะเทไว้ในกระบอกน้ำมัน สามเณรจึงตอบว่า “น้ำมันนั้นทาบาตไว้แต่พอกันสนิมไม่มีมากพอจนถึงเทใส่กระบอกได้” อารมณ์ของเนวสัญญานาสัญญายตน จึงกล่าวว่ามีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ คือ มีแต่สภาพสัญญาอันละเอียด

ภูมิอันเป็นที่เกิดของอรูปาวจรกุศลจิต

อรูปาวจรกุศลจิต ๔  >>> ย่อมเกิดได้ใน ๒๖ ภูมิ คือ
                                            กามสุคติภูมิ ๗
                                            รูปภูมิ ๑๕ (เว้นอสัญญสัตตภูมิ ๑)
                                            อรูปภูมิ ๔ (เว้นฌานที่ต่ำกว่าภูมิของตน)

อรูปาวจรวิบากจิต ๔  >>> ย่อมเกิดได้ในอรูปภูมิ ๔ (โดยเฉพาะภูมิของตนๆ )

อรูปาวจรกิริยาจิต ๔  >>> ย่อมเกิดได้ใน ๒๖ ภูมิ คือ
                                             กามสุคติภูมิ ๗
                                             รูปภูมิ ๑๕ (เว้นอสัญญสัตตภูมิ ๑)
                                             อรูปภูมิ ๔ (เว้นฌานที่ต่ำกว่าภูมิของตน)  


ติเหตุกบุคคลที่อยู่ในกามสุคติภูมิก็ดี ที่อยู่ในรูปภูมิ (เว้นอสัญญสัตตภูมิ) ก็ดี อาจเจริญสมถภาวนาให้อรูปฌานจิตเกิดขึ้นได้ในสันดานแห่งตน ถ้าอรูปฌานจิตเกิดขึ้นในสันดานของปุถุชน หรือพระเสกขบุคคลแล้ว ก็ชื่อว่า อรูปาวจรกุศลจิตเกิด แต่ถ้าอรูปฌานจิตเกิดขึ้นในสันดานของพระอรหันต์ ที่ชื่อว่า อรูปาวจรกิริยาจิตเกิด ส่วนในอสัญญสัตตภูมินั้น อรูปาวจรจิตย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะเป็นภูมิที่ไม่มีจิตอยู่แล้ว ไม่อาจที่จะกระทำกิจใดๆ ได้ ในอรูปภูมิทั้ง ๔ นั้น แต่ละภูมิย่อมเจริญอรูปฌานเฉพาะที่เป็นฌานในภูมิของตน หรือในอรูปฌานที่สูงกว่าของตนเท่านั้น จะไม่เจริญอรูปฌานที่ต่ำกว่าภูมิของตนเลย ทั้งนี้ เพราะได้เห็นโทษในแต่ละอารมณ์ที่ผ่านมาแล้วนั้น


มหัคคตจิต

มหัคคตจิต หมายถึงจิตที่เข้าถึงความเป็นใหญ่ ในอัฏฐสาลินีอรรถกถาแสดงว่า มหนฺตภาวํ คตาติ มหคฺคตา แปลว่า ธรรมชาติใดที่ถึงความเป็นใหญ่ ฉะนั้นธรรมชาตินั้น ชื่อว่า “มหัคคตะ” หรือ “มหนฺตํ คโตติ = มหคฺคโต” จิตใดย่อมเข้าถึงความเป็นใหญ่ จิตนั้นชื่อว่า “มหัคคตะ” จิตที่เข้าถึงความเป็นใหญ่นั้น หมายถึง มีกำลังจิตอันแก่แล้วสามารถกระทำให้สำเร็จกิจต่าง ๆ ได้ คือ

    ก. ข่มกิเลสไว้ได้นานตามสมควร ที่เรียกว่า วิกขัมภนปหาน
    ข. ให้ผลอันไพบูลย์ คือ มีพรหมวิหารธรรม ให้ได้เสวยพรหมสมบัติในพรหมโลก
    ค. ให้ชวนจิตมีการเกิดขึ้นสืบต่อกันได้เป็นเวลานานเป็นพิเศษ คือ ฌาน

สมาบัติ หรือความเป็นรูปพรหม อรูปพรหม ที่มีอายุยืนยาวกว่าสัตว์อื่นๆทั้งหลาย ล้วนอาศัยมหัคคตปฏิสนธิจิตทั้งสิ้น จิตที่เข้าถึงความเป็นใหญ่และประเสริฐดังกล่าวนี้ ชื่อ มหัคคตจิต มีจำนวน ๒๗ ดวง คือ

  • รูปาวจรจิต ๑๕ ดวง
  • อรูปาวจรจิต ๑๒ ดวง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น