วันพฤหัสบดี

๒.๔ กฏัตตากรรม

กฏัตตากรรม หมายถึง กรรมที่ทำไว้พอประมาณ พอประมาณในที่นี้หมายถึงไม่เท่าถึงกรรมทั้ง ๓ ข้อ ที่กล่าวมาแล้ว หรือหมายถึงกรรมในอดีตภพ ตัวอย่างเช่น บุคคลที่ทำกุศลหรืออกุศลโดยไม่มีความตั้งใจ คล้ายกับว่าไม่เต็มใจทำ ทำบุญกฐินผ้าป่าก็ ทำอย่างจำใจ บุญอย่างนี้เมื่อพิจารณาแล้วก็ไม่เข้าข่ายครุกกรรม อาสันนกรรม อาจิณณกรรม จึงกลายเป็นบุญ ชนิดกฏัตตากรรมไป

สรุป กรรมทั้ง ๔ อย่าง คือ ครุกกรรม อาสันนกรรม อาจิณณกรรม และกฏัตตากรรม จะส่งผลเรียงไปตามลำดับดังนี้ 
ลำดับที่ ๑ คือ ครุกกรรมจะส่งผลนำไปเกิด 
ลำดับที่ ๒ คือ ถ้าไม่มีครุกกรรม อาสันนกรรมก็จะมีโอกาสส่งผลนำไปเกิดในชาติต่อไป 
ลำดับที่ ๓ คือ ถ้าไม่มีครุกกรรมและอาสันนกรรม อาจิณณกรรมก็จะมีโอกาสส่งผลนำไปเกิดในชาติต่อไป
ลำดับที่ ๔ คือ ถ้าไม่มีกรรมทั้ง ๓ อย่างข้างต้น กฏัตตากรรมก็จะมีโอกาสส่งผลนำไปเกิดในชาติต่อไปได้เป็นลำดับสุดท้าย



๒.๓ อาจิณณกรรม

อาจิณณกรรม หมายถึง กรรมที่เคยทำไว้เสมอๆ เป็นกรรมที่บุคคลสั่งสมไว้บ่อยๆ ได้แก่ อกุศลกรรม ๑๒ และมหากุศลกรรม ๘ อาจิณณกรรม ในบางแห่งเรียกว่า พาหุลกรรม แปลว่า กรรมที่ทำไว้มาก



กรรมที่เคยทำไว้เสมอๆ บ่อย ๆ คำว่าทำบ่อยๆ ไม่ใช่หมายถึงเพียงจะต้องทำทางกายตลอดเวลา แต่ถ้าเป็นกรรมที่ทำครั้งเดียว แต่นึกถึงบ่อยๆ ก็เป็นอาจิณณกรรมแล้ว เช่นเคยสร้างโบสถ์ ตลอดชีวิตอาจทำได้ครั้งเดียว แต่ว่านึกถึงบ่อยๆ ก็จัดเป็น อาจิณณกรรมฝ่ายกุศล เพราะนึกถึงครั้งใดจิตใจก็เป็นบุญ ในทางตรงกันข้ามถ้าเป็นอกุศลถึงแม้ทำครั้งเดียวแต่ ถ้ามีการนึกถึงบ่อยๆ ก็เป็นอาจิณณกรรมฝ่ายอกุศลตัวอย่างเช่น ในสมัยพุทธกาลมีคนฆ่าหมูชื่อนายจุนทะ ฆ่าหมูทุกวัน เมื่อนายจุนทะใกล้ตาย เขาร้องเป็นเสียงหมูเมื่อตอนถูกเชือด กรรมที่เขาทำอยู่เสมอๆ ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่กรรมนั้นไม่มีโอกาสส่งผล แต่เมื่อ ใกล้ตายก็มาส่งผล ฉะนั้นกรรมใดที่บุคคลได้ทำไว้บ่อยๆ ตลอดช่วงเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ กรรมนั้นแหละเป็นอาจิณณกรรม ในขณะใกล้ตายถ้าไม่มีกรรมอื่นๆมาให้ผล กรรมที่เป็นอาจิณณกรรมก็จะให้ผลนำไปเกิด



๒.๒ อาสันนกรรม

อาสันนกรรม หมายถึง กรรมที่ทำไว้เมื่อใกล้จะตาย เป็นการระลึกถึงสิ่งที่ดีหรือไม่ดีในเวลาใกล้ตาย หรือการกระทำที่ดีหรือไม่ดีในเวลาใกล้จะตาย องค์ธรรมได้แก่ อกุศลกรรม ๑๒ และมหากุศลกรรม ๘

ในการให้วิบากปฏิสนธิ ถ้าหากว่าครุกกรรมไม่มี อาสันนกรรมนั้นแหละจะให้ผลก่อน เพราะอยู่ใกล้ปาก ทาง คือ ความตาย อุปมาดังนี้ ในตอนเย็นก็ต้องต้อนฝูงโคกลับเข้าคอก โคที่แข็งแรงทั้งหมดก็เดินเข้าคอกไปได้ก่อนโคแก่ที่อ่อนกำลัง โคแก่เดินเข้าคอกได้เป็นลำดับสุดท้าย ก็ปิดประตูคอกได้ เมื่อถึงเวลาเช้าเปิดประตูคอกแล้ว ถึงแม้โคที่มีกำลังมีอยู่มากหลายตัวแต่ทั้งหมดก็ออกจากคอกไม่ได้ มีแต่โคแก่เท่านั้นที่จะได้โอกาสออกจากคอกก่อนเพราะว่าอยู่ตรงใกล้ปากประตูคอก ฉันใด ก็ฉันนั้น กุศลกรรมหรืออกุศลกรรมทั้งหลาย เมื่อครุกกรรมไม่มี อาสันนกรรมนั่นแหละย่อมให้ผลก่อน เพราะเหตุว่าอยู่ใกล้ปากทางแห่งความตายนั่นเอง 



ตัวอย่างเช่น พระนางมัลลิกาทำกุศลไว้มาก แต่ในเวลาใกล้ตายนางนึกถึงอกุศลที่เคยทำไว้แล้วอกุศลที่นึกถึงในขณะใกล้ตายนั้นเอง เป็นอาสันนกรรมนำให้นางไปเกิดในนรก กุศลที่ทำไว้ไม่มีโอกาสส่งผลนำไปเกิดในกามสุคติภูมิ หรือบางคนกำลังมีความสนุกสนานเพลิดเพลินอยู่ ดูหนังดูละคร รับประทานอาหารอย่างเฮฮากับเพื่อนฝูง หรือบางคนกำลังทำมิจฉาอาชีพมีการลักทรัพย์เป็นต้น เหล่านี้จัดเป็นอกุศลทั้งสิ้น ถ้าในขณะนั้นมีเหตุที่ต้องเสียชีวิตลง อกุศลเหล่านั้นก็เป็นอกุศลอาสันนกรรม สามารถนำไปเกิดในอบายภูมิ หรือ บุคคลเมื่อตอนใกล้ตายมีอดีตกรรมที่เคยทำไว้มาเป็นเครื่องให้ระลึกถึงว่าเคยฆ่าสัตว์ ฯลฯ หรือ บางบุคคลเมื่อตอนใกล้ตายมีลูกหลานทะเลาะกันอาจจะแย่งสมบัติกัน หรือตัวเองห่วงทรัพย์สมบัติ อกุศลกรรมที่เกิดขึ้นในขณะใกล้ตาย นั้นคือกรรมที่เป็นอาสันนกรรม ย่อมนำไปสู่ทุคติได้ อาสันนกรรมจึงเป็นกรรมที่สำคัญ จะให้ผลก่อนกรรมอื่นๆเว้นไว้แต่กรรมที่เป็นครุกกรรม



๒.๑ ครุกกรรม

ครุกกรรม หมายถึง กรรมที่หนักแน่นจนกรรมอื่นๆ ไม่สามารถห้ามการให้ผลได้ องค์ธรรมได้แก่ 

มหัคคตกุศลกรรม ๙ ทิฏฐิคตสัมปยุตจิต ๔ (เฉพาะที่เกี่ยวกับนิยตมิจฉาทิฏฐิกรรม ๓) และโทสมูลจิต ๒ (เฉพาะที่เกี่ยวกับปัญจานันตริยกรรม ๕) รวมทั้งสิ้นเป็น ๑๕ ครุกกรรมเป็นกรรมหนัก เมื่อจัดลำดับการส่งผลของกรรมแล้ว ครุกกรรมจึงเป็นกรรมลำดับแรกที่จะส่งผลนำไปเกิดในภพที่สองก่อนกรรมอื่นๆ คือ ส่งผลก่อนอาสันนกรรม อาจิณณกรรม และกฏัตตากรรม 

ครุกกรรมแบ่งออกเป็น ๒ ฝ่าย ครุกกรรมฝ่ายบาป และครุกกรรมฝ่ายบุญ

๑. ครุกกรรมฝ่ายบาป เป็นกรรมหนักฝ่ายบาป เมื่อตายลงผลของบาปจะส่งผลนำไปเกิดในอบายภูมิ ๔ ในชาติต่อไปทันที ครุกกรรมฝ่ายบาป มี ๒ อย่าง คือ 
๑.๑ นิยตมิจฉาทิฏฐิ มี ๓ คือ
ก. นัตถิกทิฏฐิ ความเห็นผิดคิดว่าไม่มีผลแห่งกรรมที่ทำไว้ เป็นการปฏิเสธผล ผู้ที่มีความเห็น ชนิดนัตถิกทิฏฐิย่อมมีอุจเฉททิฏฐิด้วย คือเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายตายแล้วก็สูญไม่มีการเกิดอีก มีความเห็นว่าไม่มีสิ่งที่เรียกว่า สมมติสัจจะ ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าคติธรรมดา หรือคลองธรรมตามเหตุและผล ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าสมมติสัจจะ เช่น ไม่มีมารดาบิดา สัตว์บุคคลเกิดสืบเชื้อสายกัน มาตามเรื่องตามราวเท่านั้น จึงไม่มีใครที่จะต้องนับถือว่าเป็นบิดามารดา แม้ที่นับถือว่าเป็นสมณะ พราหมณ์ ภิกษุ สามเณร ก็ไม่มีเป็นต้น ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าคติธรรมดา หรือที่เป็นไปตามคลองธรรม เช่น ทำดีได้ดี ทำชั่ว ได้ชั่ว อย่างนี้ก็ไม่มี
ข. อเหตุกทิฏฐิ ความเห็นผิดคิดว่าไม่มีเหตุ เป็นการปฏิเสธเหตุ คือ เมื่อได้รับผลดีผลร้ายต่างๆ ก็เห็นว่าเป็นไปตามคราว คราวที่มีโชคดีก็ได้รับผลดี คราวที่มีโชคร้ายก็ได้รับผลไม่ดี ไม่มีเหตุอะไรที่จะมาทำให้ได้ผลดีผลร้าย ปฏิเสธเหตุในการทำดี ทำชั่ว ของบุคคลทั้งหลายที่กระทำกันอยู่ทุกวันนี้ ไม่เชื่อว่าเป็นเหตุที่จะก่อให้เกิดผลได้ ฉะนั้นการปฏิเสธเหตุนี้ก็เท่ากับว่าปฏิเสธผลไปด้วย
ค. อกิริยทิฏฐิ ความเห็นผิดคิดว่าการทำบุญทำบาปก็เท่ากับไม่ได้ทำ เป็นการปฏิเสธทั้งเหตุ และผลแห่งกรรม คือ มีความเห็นว่าบุคคลทั้งหลายที่ทำดีก็ตามทำชั่วก็ตามไม่เป็นบาปไม่เป็นบุญ แสดงโทษของมิจฉาทิฏฐิ นิยตมิจฉาทิฏฐิเป็นความเห็นผิดอย่างร้ายแรง ซึ่งเมื่อมีความยึดถืออยู่ในมิจฉาทิฏฐินี้มากจนดิ่งลงไปแล้ว หรือแนบแน่นแล้ว เพราะมีอุปาทานความยึดถืออยู่อย่างแรงกล้า ผลก็จะส่งให้นำไปเกิดในนรก เมื่อพ้นจากนรกถ้าเกิดมาเป็นมนุษย์ก็จะเป็นผู้มีความเห็นผิดเช่นนั้นๆ ต่อๆไปอีก นับภพ ชาติไม่ถ้วน พระพุทธองค์ก็ไม่สามารถทรงโปรดให้บุคคลที่มีความเห็นผิดนั้นกลับมาเห็นถูกได้ 

๑.๒ อนันตริยกรรม มี ๕ คือ
๑. ปิตุฆาต ฆ่าบิดา
๒. มาตุฆาต ฆ่ามารดา
๓. อรหันตฆาต ฆ่าพระอรหันต์
๔. โลหิตุปบาท ทำให้พระพุทธเจ้าห้อพระโลหิต
๕. สังฆเภท ทำให้สงฆ์เกิดความแตกแยกไม่ทำสังฆกรรมร่วมกัน 

ในบรรดาอนันตริยกรรม ๕ นี้ เป็นอกุศลกรรมอย่างหนักทั้งสิ้น แต่สามารถจัดลำดับการส่งผลจากมากไปหาน้อย คือ สังฆเภทกกรรมหนักที่สุด รองลงมาคือ โลหิตุปบาท รองลงมาคือ อรหันตฆาต ส่วนมาตุฆาตและ ปิตุฆาตทั้งสองนี้ต้องแล้วแต่คุณสมบัติ ท่านใดมีศีลธรรมมากกว่า กรรมนั้นย่อมหนักกว่า ถ้ามารดามีศีลธรรม บิดาไม่มีศีลธรรม มาตุฆาตย่อมหนักกว่า ถ้าทั้งบิดามารดามีศีลธรรมด้วยกันหรือไม่มีศีลธรรมเหมือนกันแล้ว มาตุฆาตกรรมย่อมหนักกว่า ถ้าลูกที่มีพ่อแม่ป่วยไข้มีความทุกข์ทรมาน ก็อย่าไปสั่งหมอให้ฉีดยาให้ตายไปจะได้ไม่ต้องทุกข์ทรมาน หรือสั่งให้หมอเอาสายออกซิเจนออก เพราะการทำอย่างนี้เป็นอนันตริยกรรม บางครั้งลูกคิดไม่ถึง ไม่เข้าใจในเหตุและผลแห่งความทุกข์ของบิดามารดาว่าท่านต้องได้รับเช่นนั้นเป็นเพราะผลกรรมของท่านเอง เมื่อคิดไม่เป็นหรือเพราะมุ่งแต่สงสารจึงอาจพลาดพลั้งทำอนันตริยกรรมโดยไม่รู้ตัว เรื่องกรรมเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่จะต้องระมัดระวัง การทำกรรมใดๆก็ตาม จะต้องพิจารณาให้รอบคอบเสียก่อน พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า “นิสมฺม กรณ เสยฺโย” ใคร่ครวญเสียก่อนจึงทำ

อนันตริยกรรม ๕ นี้ จัดเป็นกรรมหนัก แต่ก็ยังหนักไม่เท่ากับนิยตมิจฉาทิฏฐิกรรม เพราะนิยตมิจฉาทิฏฐิกรรมเป็นกรรมที่ให้ผลไม่มีที่สิ้นสุด ส่วนอนันตริยกรรมเมื่อส่งผลให้ไปเสวยกรรมครบ ตามกำหนดก็พ้นจากกรรมนั้นๆ ได้ แต่นิยตมิจฉาทิฏฐิกรรมจะจมปลักอยู่ในกรรมเช่นนี้ตลอดกาล 
 
๒. ครุกกรรมฝ่ายบุญ กรรมหนักฝ่ายกุศล คือ มหัคคตกุศลกรรม ๙ ได้แก่ รูปาวจรกุศล ๕ อรูปาวจรกุศล ๔ ผู้ที่บำเพ็ญฌานบรรลุถึงปฐมฌาน ถึงฌานที่ ๒ ฌานที่ ๓ ฌานที่ ๔ และฌานที่ ๕ การได้ฌานที่เป็นรูปฌาน ทั้ง ๕ นี้จัดว่า เป็นครุกกรรมฝ่ายกุศล และเมื่อได้ถึงปัญจมฌานแล้วไปเจริญอรูปฌานต่ออีก ๔ นั้นก็เป็น ครุกกรรมฝ่ายกุศล ครุกกรรมฝ่ายกุศลกรรมทั้ง ๙ ประการนี้ เมื่อเจริญสำเร็จแล้วอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าตายจากโลกมนุษย์จะต้องได้รับผลกรรมนั้นในชาติที่สองทันที คือนำไปเกิดในรูปภูมิ อรูปภูมิ 

ส่วนโลกุตตรกุศลกรรม คือ มรรคจิต ๔ จัดว่าเป็น กรรมหนักคือครุกกรรมฝ่ายบุญเหมือนกัน แต่ไม่เป็นกรรมที่จะนำไปเกิดได้ มีแต่จะทำลายการเกิด จึงไม่ถือว่าเป็นกรรมที่จะส่งผลให้เกิดในชาติหน้า จึงไม่จัดเข้าเป็นกรรมในหมวดนี้ 



วันพุธ

ชาวบ้านก็เป็นภิกษุได้

มาดูคําจํากัดความ “ภิกษุ” ใน พระไตรปิฎกกันก่อน
เริ่มที่วินัยปิฎก ซึ่งแสดงความหมายของภิกษุด้วยคําจํากัดความ อย่างที่ใช้กันในกฎหมาย คือ ชี้ลงไปว่า “ภิกษุ” ที่กล่าวถึงในพระวินัย โดยเฉพาะในสิกขาบททั้งหลาย ซึ่งเป็นพุทธบัญญัตินั้น หมายถึงใคร ได้แก่บุคคลผู้ใด ดังนี้


🔔ภิกษุความหมายตามพระวินัย (วินย.๑/๒๖/๔๒) คําว่า “ภิกษุ” มีความหมายว่า
 ชื่อว่า ภิกษุ โดยอรรถว่า เป็นผู้ขอภิกษา
 ชื่อว่า ภิกษุ โดยอรรถว่า ดําเนินภิกขาจริยา
 ชื่อว่า ภิกษุ โดยอรรถว่า ครองผืนผ้าที่ตัดฉีก
 ชื่อว่า ภิกษุ โดยสมัญญา
 ชื่อว่า ภิกษุ โดยปฏิญญา
 ชื่อว่า ภิกษุ โดยอรรถว่า เป็นเอหิภิกษุ
 ชื่อว่า ภิกษุ โดยอรรถว่า เป็นผู้อุปสมบทแล้วด้วยไตรสรณคมน์
 ชื่อว่า ภิกษุ โดยอรรถว่า เป็นผู้เจริญงดงาม
 ชื่อว่า ภิกษุ โดยอรรถว่า เป็นผู้ทรงสาระ
 ชื่อว่า ภิกษุ โดยอรรถว่า เป็นพระเสขะ
 ชื่อว่า ภิกษุ โดยอรรถว่า เป็นพระอเสขะ
 ชื่อว่า ภิกษุ โดยอรรถว่า เป็นผู้อุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรม อันไม่กําเริบ ควรแก่ฐานะ โดยสงฆ์ที่พร้อมเพรียงกัน

บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุ ผู้อุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรม อันไม่กําเริบ ควรแก่ฐานะ โดยสงฆ์ที่พร้อมเพรียงกันนี้ ชื่อว่า “ภิกษุ” ที่ทรงประสงค์ ในอรรถนี้. ข้อความนี้บอกว่า ในพระวินัย ซึ่งว่าตามบัญญัติ ยึดถือรูปแบบ รักษาแบบแผน “ภิกษุหมายถึงผู้ที่สงฆ์อุปสมบทให้ด้วยสังฆกรรมที่เป็นญัตติจตุตถกรรม เท่านั้น ไม่นับผู้ที่เรียกว่าเป็นภิกษุในความหมายอื่น นี่เรื่องของวินัย หรือกฎหมาย ต้องให้แน่ชัด ตายตัว

🔔 ภิกษุความหมายตามพระอภิธรรมปิฎก ในพระอภิธรรมปิฎก ท่านบอกวจนัตถ์ คือความหมายของคําว่า “ภิกษุ” ไว้คล้าย กับในพระวินัยปิฎก ดังนั้น ก่อนจะไปที่พระสุตตันตปิฎก จึงดูความหมายในคัมภีร์ฝ่ายพระอภิธรรมเสียก่อน แต่พึงทราบว่าข้อความจากพระอภิธรรมนี้ อยู่ในภาคสุตตันตภาชนีย์ (แจงความแบบพระสูตร) จะเห็นว่า ในพระอภิธรรมปิฎก บอกความหมายต่างๆ โดยไม่ได้จำกัดหรือระบุ เจาะจงลงไปว่าจะต้องใช้ความหมายใด ขอยกมาให้ดู ดังนี้ (อภิ.วิ.๓๕/๖๐๑/๓๓๐: หลายข้อ เหมือนกับในพระวินัยปิฎกข้างต้น แต่ที่นี่แปลโดยใช้สํานวนต่างออกไปบ้าง) คําว่า “ภิกษุ” มีความหมายว่า
 เพราะเป็นสมัญญา จึงชื่อว่า ภิกษุ
 เพราะการปฏิญญา จึงชื่อว่า ภิกษุ
 เพราะขอภิกษา จึงชื่อว่า ภิกษุ
 เพราะเป็นผู้ขอภิกษา จึงชื่อว่าภิกษุ
 เพราะดําเนินภิกขาจาร จึงชื่อว่าภิกษุ
 เพราะครองผืนผ้าตัดฉีก จึงชื่อว่าภิกษุ
 เพราะกําลังทําลายบาปอกุศลธรรมทั้งหลาย จึงชื่อว่าภิกษุ
 เพราะทําลายบาปอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว จึงชื่อว่าภิกษุ
 เพราะละกิเลสจําเพาะส่วน จึงชื่อว่าภิกษุ
 เพราะละกิเลสไม่จําเพาะส่วน จึงชื่อว่าภิกษุ
 พระเสขะ ชื่อว่าภิกษุ
 พระอเสขะ ชื่อว่าภิกษุ
 ผู้ไม่ใช่พระเสขะและไม่ใช่พระอเสขะ ชื่อว่าภิกษุ
 ผู้ลุถึงธรรมอันเลิศ ชื่อว่าภิกษุ
 ผู้เจริญงดงาม ชื่อว่าภิกษุ
 ผู้ผุดผ่อง ชื่อว่าภิกษุ
 ผู้ทรงสาระ ชื่อว่าภิกษุ
 ผู้อุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรม อันไม่กําเริบ ควรแก่ฐานะ โดยสงฆ์ที่ พร้อมเพรียงกัน ชื่อว่าภิกษุ

🔔 ภิกษุความหมายตามพระสูตร/พระสุตตันตปิฎก ในพระสุตตันตปิฎก หรือพูดสั้นๆ ว่า ในพระสูตร ซึ่งแสดงธรรมมีคําสอนทุกระดับ ทั้งสมมุติและปรมัตถ์ อันจัดปรับให้เหมาะกับพื้นเพภูมิธรรมจริตอัธยาศัยของผู้ฟัง ความหมายของ “ภิกษุ” มีทั้งแบบพื้นๆ ตามหลักการทั่วไป และแบบปลุกให้ตื่น ยกมาดูพอเห็น คําว่า “ภิกษุ” มีความหมายว่า ชื่อว่า ภิกษุ เพราะได้ทําลายธรรม ๗ ประการ คือ ทําลายสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ราคะ โทสะ โมหะ และมานะ. ภิกษุนั้นได้ทําลายบาปอกุศลธรรม อันก่อความเศร้าหมอง ก่อภพใหม่ เป็นไปกับด้วยความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา และ มรณะต่อไป. (ขุ.ม.๒๙/๘๖/๘๒) ดังที่ว่าแล้ว ในพระสูตร พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมให้เหมาะกับบุคคล และ สถานการณ์ ความหมายของ “ภิกษุ” แม้จะคงอยู่ตามหลักใหญ่ แต่มีรายละเอียดและแง่มุมยักเยื้องต่างกันไป ขอเล่าบางเรื่องเป็นตัวอย่าง (สํ.ส.๑๕/๗๑๗/๒๖๗)

ที่เมืองสาวัตถี พราหมณ์คนหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วกราบทูลว่า ท่านพระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้าเป็นผู้ขอภิกษา พระองค์ก็เป็นผู้ขอภิกษา ในภาวะนี้ เราจะต่างอะไรกัน

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า บุคคลจะชื่อว่าเป็นภิกษุ เพียงเพราะขอภิกษาจากคนอื่น ก็หาไม่ ตราบเท่าที่ยังสมาทานธรรมอันเป็นพิษ จะเป็นภิกษุหาได้ไม่ ผู้ใดในโลกนี้ ลอยบุญลอยบาปแล้ว ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ในโลกด้วยปัญญา ผู้นั้นแลจึงเรียกได้ว่าเป็นภิกษุ ดังได้พูดแล้ว คนจํานวนมากติดรูปแบบ ถือลักษณะอาการภายนอกเป็นมาตรฐาน จนไปๆ มาๆ มองแค่รูปลักษณ์ ไปไม่ถึงสาระ หรือลืมสาระไปเลย เอาแค่ว่า จะเป็นฤๅษี ก็เกล้าผมทรงชฎา จะเป็นพระ ก็โกนศีรษะนุ่งเหลืองห่มเหลือง เพราะการยึดติดอย่างนี้ บางทีพระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนแบบเปิดตาปลุกให้ตื่น ดังที่ตรัสครั้งหนึ่งว่า (ขุ.ธ.๒๕/๒๐/๓๓) ผู้ใด ถึงจะตกแต่งกาย สวมใส่อาภรณ์ แต่หากประพฤติชอบ เป็นผู้สงบ ฝึกอบรมตนแน่วแน่ เป็นผู้ประพฤติธรรมอันประเสริฐ เลิกละการเบียดเบียน ปวงสัตว์ทั้งหมดแล้ว ผู้นั้นแล จะเรียกว่าเป็นพราหมณ์ เป็นสมณะ หรือเป็นพระภิกษุ ก็ได้ทั้งสิ้น

ฟังพุทธพจน์นี้แล้ว ผู้ที่ไม่ได้บวชพระ ก็สบายใจได้ว่าโอกาสทางธรรมไม่ได้หายไปไหน ในพระสูตร พุทธพจน์ที่ตรัสแสดงความหมายของ “ภิกษุ” ยังมีอีก ใครสนใจก็ไปค้นดู ในพระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ คําว่า “ภิกฺขุ” นี้ ตามปกติก็ถือกันว่ามาจากธาตุคือ “ภิกฺข” (+ รู ปัจจัย) ดังที่ วิเคราะห์ศัพท์ได้ว่า ภิกฺขตีติ ภิกฺขุ. (ชื่อว่า ภิกษุ เพราะขอภิกษา) หมายถึง ผู้ที่เที่ยวบิณฑบาตด้วยการขอที่ประเสริฐคือสงบนิ่งไม่เอ่ยปาก(วิ.อ.๑.๒๕๓)

อัฏฐิเสนชาดก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ หน้า ๒๙๔ บทว่า อุทฺทิสฺส อริยา ติฏฺฐนฺติ ความว่า ส่วนพระอริยเจ้าทั้งหลาย มีความต้องการสิ่งใด จะไม่เปล่งวาจาขอ แต่จะยืนอยู่เฉพาะ ณ ที่นั้น ด้วยภิกขาจารวัตรอย่างเดียวเท่านั้น คือไม่ให้องค์คือกายและองค์คือวาจาไหว เพราะว่า เพื่อแสดงกายวิกาล ทำเครื่องหมายให้รู้ ก็ชื่อว่าให้องค์คือกายไหว เมื่อทำการเปล่งวาจา ก็ชื่อว่า ให้องค์คือวาจาไหว พระอริยเจ้าทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น จะไม่ทำทั้ง ๒ อย่างนั้นยืนอยู่เฉย ๆ.

บทว่า เอสา อริยาน ยาจนา ความว่า การไม่ให้องค์คือวาจาไหว ยืนอยู่เพื่อภิกษานี้ ชื่อว่า เป็นการขอของพระอริยเจ้าทั้งหลาย. แต่ท่านบอกนัยอื่นว่า มาจาก “อิกฺข” ธาตุ ก็ได้ คือ ภย+อิกฺข+รู =ภิกฺขุ ตาม วิเคราะห์ที่ว่า ภยํ อิกฺขตีติ ภิกฺขุ. (ชื่อว่า ภิกษุ เพราะมองเห็นภัย) ภัย แปลว่า สิ่งที่น่ากลัว น่าหวาดสะดุ้ง น่าเกรงขาม มีอยู่หลายประการ จะพึงเห็นได้จาก หลักฐาน ซึ่งปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก จตุกกนิบาต อังคุตตรนิกาย เล่มที่ ๒๑ หน้า ๑๖๒ เป็นต้นว่า “จัตตารีมานิ ภิกขเว ภยานิ” ดูกรท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย ภัยมี ๔ อย่าง เหล่านี้คือ
๑. อัตตานุวาทภยัง แปลว่า ภัย คือ การติเตียนตนเอง หมายความว่า บุคคลบางคนในโลกนี้ พิจารณาเห็นว่า การติเตียนตนจึงได้ละกายทุจริต วจีทุจริตเสีย แล้วประพฤติแต่กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต รักษาตนให้บริสุทธิ์เป็นอย่างดี
๒. ปรานุวาทภยัง ภัย คือ การถูกผู้อื่นติเตียน หมายความว่า บุคคลบางคนในโลกนี้ พิจารณาเห็นว่าคนได้ประพฤติทุจริตทางกาย วาจา ใจ ถึงคนอื่นเขามิได้ติเตียนโดยศีลก็จริง ถึงกระนั้น เขาก็กลัวต่อการถูกตำหนิติเตียนจากผู้อื่น จึงได้ละทุจริตทางกาย วาจา ใจ รักษาตนให้บริสุทธิ์เป็นอย่างดี
๓. ทัณฑภยัง ภัย คือ อาชญา หมายความว่า บุคคลบางคนในโลกนี้ ได้เห็นโจรผู้ประพฤติผิดกฎหมายบ้านเมืองถูกจับได้ ถูกโบยด้วยแซ่บ้าง โบยด้วยหวายบ้าง ตัดมือบ้าง ตัดเท้าบ้าง ตัดหูบ้าง ตัดจมูกบ้าง ตลอดจนถึงเอาขวายผ่าอกบ้าง แทงด้วยหอกทีละน้อยจนตายบ้าง ขุดหลุมฝังเพียงเอว เอาฟางสุมครอกด้วยไฟ พอหนังไหม้เอาเหล็กไถบ้าง เชือดเนื้อออกมาทอดให้กินบ้าง รวมทั้งสิ้นมี ๓๒ ประการ ครั้นเห็นโทษเช่นนั้นแล้ว จึงพิจารณาว่าถ้าเราทำชั่วเช่นนั้น ก็จะต้องได้รับโทษอย่างนี้แน่นอน เขาไม่ยอมทำความชั่วทางกาย วาจา ใจเลย มีแต่ทำความดีตลอดไป อย่างนี้เรียกว่า กลัวต่อภัยคือ อาชญา
๔. ทุคคติภยัง ภัย คือ ทุคคติ ทุคคติมี ๔ คือ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์ดิรัจฉาน บุคคลบางคนในโลกนี้ พิจารณาเห็นว่า ผลชั่วของทุจริตทางกาย วาจา ใจเป็นของมีอยู่แน่นอน หากว่าเราประพฤติทุจริตทางกาย วาจา ใจ ในโลกนี้ เราก็เดือดร้อน แม้เมื่อแตกกายทำลายขันธ์ ไปสู่ปรโลก เราก็จะต้องเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เป็นแน่นอน เมื่อเขากลัวต่อทุคติภัยเช่นนี้ จึงได้ละทุจริตทางกาย วาจา ใจ เสียหมดสิ้น รักษาตนให้บริสุทธิ์เป็นอย่างดี

อย่างนี้ เรียกว่า ภัย ทีนี้ ก็จะว่าไม่ชัด จะถามได้ว่า ภัยอะไร ภัยที่ไหน ท่านจึงบอกไว้ด้วยว่าภัยอะไร ตรงนี้ ในคัมภีร์ส่วนใหญ่ เรียกได้ว่าแทบทั้งนั้น บอกว่าภัยในสังสารวัฏ ดังวิเคราะห์ที่ว่า สํสาเร ภยํ อิกฺขตีติ ภิกฺขุ. (ชื่อว่า ภิกษุ เพราะมองเห็นภัย ในสังสารวัฏ) หมายความว่า ภัย คือ ความเกิดแก่ เจ็บ ตาย นั้น มีอยู่ในสงสารทั้ง ๓ คือ
สงสารเบื้องต่ำ ได้แก่ อบาย ๔
สงสารเบื้องกลาง ได้แก่ มนุษย์กับเทวดา
สงสารเบื้องบน ได้แก่ พรหมโลก

ผู้ที่พิจารณาเห็นว่า สงสารทั้ง ๓ นี้ เต็มไปด้วยภัยดังกล่าวมานั้น จึงพยายามหาทางหลุดพ้น แต่บางคัมภีร์บอกต่างออกไป กลายเป็นวิเคราะห์ว่า สงฺขาเร ภยํ อิกฺขตีติ ภิกฺขุ. (ชื่อว่า ภิกษุ เพราะมองเห็นภัย ในสังขาร) ชื่อว่า ภิกษุ หมายความว่า สังขารนั้น คือ สกลกายของแต่ละบุคคล ย่นให้สั้น ได้แก่ รูป กับ นาม สัตว์โลกพากันเดือดร้อนอยู่ในโลกทุกวันนี้ ก็เพราะมีรูปกับนาม คือสังขาร ถ้าไม่มีสังขารเสียแล้ว ภัยต่าง ๆ เช่น ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความเศร้าโศกเสียใจ ความทุกข์กาย ทุกข์ใจ ก็ไม่มีเป็นอันขาด ผู้ที่พิจารณาเห็นว่า รูปนามเป็นภัยใหญ่ของสัตว์โลก แล้วพยายามหาทางหลุดพ้น ชื่อว่า ภิกษุ ที่ว่าเห็นภัยในสังสารวัฏนั้น เข้าใจง่าย แต่ที่ว่าเห็นภัยในสังขาร ดูเหมือนว่าเป็น ความหมายที่ลึกเข้าไปอีกหน่อย พูดให้สั้นว่า เมื่อภิกษุเห็นภัยในสังขารแล้ว ก็พยายามที่ จะประพฤติปฏิบัติบําเพ็ญสมณธรรม เพื่อให้พ้นจากสังขาร ไปสู่วิสังขาร (คือนิพพาน) ความหมายอย่างนี้ ก็เป็นแง่นามธรรม

ทีนี้ก็มีอีกวิเคราะห์หนึ่ง ที่อยู่ในฝ่ายรูปธรรม คล้ายๆ กับที่ว่ามาจาก “ภิกฺข” คือ ชื่อว่าภิกษุ เพราะขอภิกษา เป็นเรื่องอาหาร คราวนี้เป็นเรื่องของเครื่องนุ่งห่ม ท่านว่า ภิกขุ นั้นมาจาก “ภิท” (ธาตุ-รากศัพท์นี้ มีรูปกริยาช่องสามเป็น “ภินฺน”) ซึ่งแปลว่าทําลาย เช่น ตัด ฉีก ทุบ ผ่า ก็ได้ ดังวิเคราะห์ว่า ภินฺนปฏธโรติ ภิกฺขุ. (ชื่อว่า ภิกษุ เพราะครองผืนผ้าที่ตัดฉีกแล้ว) นี่คือเป็นผู้ทรงหรือครองผ้าที่ฉีกๆ ขาดๆ เอามาตัดต่อ เย็บติดกัน เต็มไปด้วยรอยตะเข็บ ไม่สวยไม่งาม ไม่เรียบไม่รื่น อย่างบังสุกุลจีวร ที่เคยเล่าว่า พระไปเที่ยวเก็บเอาผ้า ที่เขาทิ้ง เป็นเศษเป็นชิ้นมา แล้วก็มาต้ม มาตัด มาเย็บ มาย้อม ทําเป็นจีวร เพราะฉะนั้น ผ้าของท่านจึงเป็นชิ้นเป็นแผ่น คือมาจากเศษผ้า หรือมีลักษณะอย่างเศษผ้านั่นเอง ทีนี้ “ภิท” ธาตุ ที่แปลว่าทําลายนั่นแหละ เมื่อกี้ใช้ในความหมายที่เป็นรูปธรรม คือทําลายผืนผ้า ทีนี้ ท่านให้ความหมายทางนามธรรมบ้าง แทนที่จะทําลายตัดฉีกผ้า ก็เปลี่ยนเป็นทําลายกิเลส ดังวิเคราะห์ว่า ภินฺนตฺตา ปาปกานํ อกุสลานํ ธมฺมานํ ภิกฺขุ. (ชื่อว่า ภิกษุ เพราะทําลายบาปอกุศลธรรมแล้ว)

ชื่อว่า ภิกษุ เพราะกำจัดอกุศลธรรมอันลามก หมายความว่า กำจัดอกุศลจิต ๑๒ ได้แก่  โลภมูลจิต ๘ โทสมูลจิต ๒ โมหมูลจิต ๒ กับเจตสิกฝ่ายอกุศลที่เกิดร่วมกับจิตนั้นอีก ๒๗ ว่าตามวิเคราะห์นี้ ภิกษุต้องเป็นพระอริยะตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป จึงมีอีกวิเคราะห์ หนึ่ง ซึ่งแสดงความหมายผ่อนลงมาว่า ภินฺทติ ปาปเก อกุสเล ธมฺเมติ ภิกฺขุ. หรือสั้นๆ ว่า : กิเลเส ภินฺทตีติ ภิกฺขุ. (ชื่อว่า ภิกษุ เพราะทําลายบาปอกุศลธรรม, ชื่อว่า ภิกษุ เพราะทําลายกิเลส) หมายความว่า กิเลสนั้นมีมาก เช่น กิเลส ๓ กิเลส ๑๐ กิเลส ๑๕๐๐ ถ้าผู้ใดปฏิบัติเพื่อทำลายกิเลสดังกล่าวมานี้ ผู้นั้น ชื่อว่า เป็นภิกษุ

ถ้าอย่างนี้ แค่กําลังทําลายกิเลส ก็หมายถึงพระที่ยังอยู่ในอริยมรรค ความหมายแบบนี้ มุ่งเอาคุณสมบัติในระดับสูง บ่งชี้ว่าต้องบําเพ็ญไตรสิกขา ได้ผลก้าวหน้า จึงทําลายกิเลสได้ หันมาดูด้านพระวินัย ท่านไม่วิเคราะห์ศัพท์ ไม่พูดถึงคุณสมบัติภายในอะไรทั้งนั้น ท่านให้ความหมายในทางปฏิบัติ ว่าไปตามรูปแบบที่มองเห็น ซึ่งเกี่ยวข้องจัดการได้ในชีวิตประจําวัน ในสังคม ดังนั้น เมื่อว่าตามคําจํากัดความในทางวินัย ภิกษุก็คือ ผู้ที่ได้รับการอุปสมบทเท่านั้นเอง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวินัยจะเอาความหมายแค่รูปธรรมตามรูปแบบที่มองเห็นกันง่ายๆ แต่ก็ต้องใช้ถ้อยคําที่แสดงความหมายนั้นตรงจําเพาะ แน่นอน ชัดเจน ไม่ให้ดิ้นได้ ดังนั้น ท่านจึงมิได้บอกเพียงแค่ว่า ภิกษุคือผู้ที่อุปสมบทแล้ว แต่ท่านใช้ถ้อยคําที่ชี้ชัด จํากัดจําเพาะ จึงกลายเป็นข้อความที่ยาวหน่อย ดังได้ยกมาให้ดูข้างต้นแล้ว ที่ว่า “ผู้อุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรม อันไม่กําเริบ ควรแก่ฐานะ โดยสงฆ์ที่พร้อมเพรียงกัน ชื่อว่าภิกษุ” ที่ว่าอุปสมบทนั้น หมายถึงว่า ได้เข้าสู่สังฆกรรม โดยที่ประชุมสงฆ์มีมติพร้อมกัน รับเข้ามา เป็นความหมายตามวินัย ซึ่งเป็นรูปแบบ เมื่ออุปสมบทแล้ว ก็เป็นภิกษุที่มาอยู่ในสงฆ์ เป็นสมาชิกแห่งสงฆ์ ที่เรียกว่า สมมุติสงฆ์ ว่าในเชิงสังคม ก็เท่านี้ คือ ยึดถือตาม รูปแบบเคร่งครัด เช่น จะแต่งตั้ง หรือจะลงโทษ ก็ว่าไปตามบทบัญญัติกฎกติกา อย่างไรก็ตาม เมื่อจะเอาสาระกันจริงๆ ความเป็นภิกษุไม่ได้อยู่เพียงแค่รูปแบบ ที่ว่า ปลงผม ห่มเหลือง อย่างที่พูดกันว่า โกนหัวนุ่งเหลือง ได้อุปสมบทมาแล้วเท่านั้น แต่ในความหมายที่เป็นเนื้อหาสาระ ยังต้องว่ากันต่อไปอีก

ในวินัย ถือรูปแบบสําคัญ ยึดตามที่สั่ง ทีนี้พอเข้ามาในพระสูตร ที่นี่ พระพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรม คราวนี้เป็นการสอน ทรงสอนคนไม่ให้อยู่แค่รูปแบบ แต่ให้ก้าวไปในสาระ ถึงตอนนี้ เราก็จะเห็นว่า พระพุทธเจ้าตรัสตักเตือนแนะนําต่างๆ เช่นตรัสว่า ความเป็นภิกษุไม่ได้อยู่ที่การโกนหัวนุ่งห่มเหลืองเข้าพิธีบวชมาเท่านั้น แต่อยู่ที่การปฏิบัติตามหลักการ ได้แก่การบําเพ็ญไตรสิกขา เริ่มตั้งแต่การที่ได้ประพฤติห่างไกลจากการเบียดเบียน อย่างที่ได้ยกพุทธพจน์ ที่เป็นคาถาธรรมบท มาให้ดูทีหนึ่งแล้ว ซึ่งบอกว่า แม้จะ แต่งกายสวมใส่อาภรณ์ แต่ถ้าประพฤติสงบ เป็นผู้ที่ฝึกตน เป็นผู้แน่วแน่ต่อมรรคาแห่งชีวิตที่ดีงาม ดําเนินชีวิตประเสริฐ เป็นผู้วางอาชญาแล้วในสัตว์ทั้งปวง คือไม่เบียดเบียนใคร คนอย่างนี้ จะเรียกว่าเป็นพราหมณ์ เป็นภิกษุ เป็นสมณะ ก็ได้ทั้งสิ้น นี่คือไม่ถือรูปแบบกันละ เอาสาระกันเลย ถึงจะไม่ได้บวช ทั้งที่เป็นชาวบ้าน แต่งตัว ประดับกาย มีเสื้อผ้าอาภรณ์นี่แหละ แต่ถ้าเขามีจิตใจอย่างที่ว่านี้ ประพฤติ ตัวอย่างที่ว่านี้ จะเรียกเขาเป็นพราหมณ์ เป็นสมณะ หรือเป็นภิกษุ ก็ได้ทั้งสิ้น เรื่องแบบนี้ พระพุทธเจ้าตรัสเตือนพวกพราหมณ์มาก เฉพาะอย่างยิ่งที่ตรัสว่า ความเป็นพราหมณ์ ที่ถือว่าเป็นคนประเสริฐเลิศกว่าใครนั้น ไม่ใช่อยู่ที่การได้เกิดใน วรรณะพราหมณ์ คนมิใช่เป็นพราหมณ์ มิใช่เป็นคนเลิศประเสริฐ โดยชาติกําเนิด ความเป็นพราหมณ์ ไม่ใช่อยู่ที่การถือพรตปฏิบัติตามแบบแผนของวรรณะ อย่างที่พราหมณ์ บัญญัติกันไว้ แต่ความเป็นพราหมณ์อยู่ที่การกําจัดสิ่งชั่วร้ายในตัว ละกิเลสได้แล้ว พราหมณ์ถือว่าพวกตนเป็นผู้ลอยบาปแล้ว เวลาจะลอยบาป เขาก็ลงไปในแม่น้ําศักดิ์สิทธิ์ เฉพาะอย่างยิ่งแม่น้ําคงคา เดี๋ยวนี้ก็ยังไปอาบกันอยู่ ลองไปอินเดีย ไปดูที่เมือง พาราณาสี จะเห็นคนอินเดียมากมายลงไปอาบน้ําลอยบาป ล้างบาปกันในแม่น้ําคงคา พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าท่านลงไปในแม่น้ําศักดิ์สิทธิ์แล้ว บาปมันลอยไปได้ เต่า ปลามันคงหมดบาปไปก่อนพวกท่าน และตรัสด้วยว่า ถ้าแม่น้ําศักดิ์สิทธิ์พาเอาบาปของพวกท่านหลุดลอยหายไปได้ มันก็ต้องพาบุญของพวกท่านหลุดลอยหายไปได้ด้วยเหมือนกัน พระพุทธเจ้าตรัสว่า การจะลอยบาปล้างบาปได้จริง ไม่ใช่มาลอยมาล้างในแม่น้ําอย่างนี้ แต่ต้องลอยหรือล้างด้วยน้ําแห่งธรรม คือการชําระล้างตัวเอง ด้วยการฝึก การศึกษาพัฒนาตน ขัดเกลากิเลสของตัวเอง ละเลิกบาปกรรม เพิ่มพูนกุศลธรรม บําเพ็ญบุญกิริยา หรือเจริญไตรสิกขา พระพุทธเจ้าจึงประทานความหมายของการลอยบาปให้ใหม่ ไม่ใช่ไปลอยใน แม่น้ําคงคา แต่หมายถึงลอยบาปด้วยการกําจัดออกไปจากตัวเอง เพราะฉะนั้น จึงตรัส เรียกพระอรหันต์ว่าเป็นพราหมณ์ เป็นการสร้างความหมายเชิงสาระ ไม่เอาแค่รูปแบบ นี่คือที่ตรัสว่า คนไม่เป็นพราหมณ์เพราะชาติกําเนิด แต่เป็นพราหมณ์เพราะกรรม คือการกระทํา ข้อความในคัมภีร์อรรถกถาว่า ปฏิปนฺนโก หิ เทโว วา โหตุ มนุสฺโส วา,ภิกฺขูติ สงฺขํ คจฺฉติเยว. (ที.อ.๒.๓๗๐) "ที่จริงแล้ว เทวดาหรือมนุษย์ก็ตามผู้เพียรปฏิบัติอยู่ ย่อมถึงการนับว่าเป็นภิกษุโดยแท้" เทฺวเม ภิกฺขเว อนฺตาติ เทฺว อิเม ภิกฺขเว โกฏฺฐาสา. (สํ.อ.๓.๓๗๙) "พระดำรัสว่า เทฺวเม ภิกฺขเว อนฺตา แปลว่า ภิกษุทั้งหลาย ส่วนทั้ง ๒ อย่างนี้"
ถ. คนอื่น ๆ เช่น เทวดา มนุษย์ ผู้ยังข้อปฏิบัติให้ถึงพร้อมอยู่ จะได้ชื่อว่าเป็นภิกษุหรือไม่
ต. ชื่อว่า เป็นภิกษุได้
ถ. เพราะเหตุไร ?
ต. เพราะเหตุ ๒ ประการ คือ
๑. เสฏฺฐตฺตา เพราะความเป็นผู้ประเสริฐด้วยศีล สมาธิ ปัญญา
๒. ปฏิปตฺติยา ภิกฺขุภาวทสฺสนโต เพราะชี้ให้เห็นว่า เป็นภิกษุ ด้วยการปฏิบัติ
ถ. มีอะไร เป็นหลักอ้าง จึงตอบเช่นนี้ ?
ต. มีหลักอ้างอันปรากฏอยู่ใน อรรถกถามหาสติปัฏฐานว่า เสฏฺฐตฺตา ปน ปฏิปตฺติยา ภิกฺขุภาวทสฺสนโต จ ภิกฺขูติ อาห จะเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม ถ้ายังข้อปฏิบัติให้เกิดขึ้นอยู่ ผู้นั้นกล่าวได้ว่า เรียกได้ว่า เป็นภิกษุ เพราะเป็นผู้ประเสริฐ และแสดงความเป็นภิกษุด้วยข้อปฏิบัติ ดังนี้
ถ. บรรดาบริษัท ๔ นั้น บริษัทไหนเป็นผู้ที่จะรับโอวาททานุสาสนีขององค์สมเด็จพระชินสีห์ได้ดีที่สุด ? เพราะเหตุไร ?
ต. ภิกษุบริษัท เป็นผู้ที่จะรับโอวาทนุสาสนีของสมเด็จพระชินสีห์ได้ดีที่สุด เพราะเหตุ ๖ ประการ คือ
    ประการที่ ๑ เพราะท่านเป็นอุตตมเพศ เป็นเพศที่สูงส่งอยู่แล้ว
    ประการที่ ๒ เพราะท่านเป็นผู้ประเสริฐ เป็นภาชนะแห่งอนุสาสนีของพระพุทธองค์ทุกประการ
    ประการที่ ๓ เพราะเมื่อท่านรับเอาโอวาทนุสาสนีมาปฏิบัติตามแล้ว บริษัททั้ง ๓ ที่เหลือ ก็จะได้ถือเอา    เป็นทิฏฐานุคติต่อ ๆ ไป โดยไม่ยาก
    ประการที่ ๔ เพราะมีหน้าที่โดยตรงในการที่จะธำรงไว้ซึ่งอนุสาสนี อันเป็นมรดกของพระพุทธองค์ที่ทรงประทานไว้แก่เหล่าพุทธสาวก
    ประการที่ ๕ เพราะสละเพศของฆราวาสอันคับแคบมาสู่ของสมณะอันสงบ มีโอกาสที่จะศึกษาปริยัติ ลงมือปฏิบัติ ให้เกิดปฏิเวธได้ดีที่สุด
    ประการที่ ๖ เพราะมีภาระและมีปลิโพธิกังวลอันตัดออกมากแล้ว เครื่องผูกต่างๆ เช่น บุตร ภรรยา ไม่มี เพราะเหตุดังนี้ ภิกษุบริษัทจึงถือว่า เป็นบริษัทที่เลิศที่ประเสริฐสุด ในพระพุทธศาสนา สามารถรับโอวาทานุสาสนี เป็นศาสนทายาท สืบอายุพระพุทธศาสนาให้เจริญวัฒนาสถาพรสืบ ๆ ไป ตลอดกัลปาวสานต์
ถ. ผู้ที่ไม่มีโอกาสได้บวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา จะทำอย่างไร จึงจะได้ชื่อว่าเป็นภิกษุ ?
ต. ต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติ คือ มหาสติปัฏฐาน ๔ นี้ จึงจะได้ชื่อว่า เป็นภิกษุ
ถ. ที่ตอบมานี้มีอะไรเป็นหลักหรือค้นเดาเอาเอง ?
ต. มิได้ค้นเดาเอาเองเลย มีหลักฐานปรากฏยืนยันอยู่ คือ ในอรรถกถามหาสติปัฏฐาน หน้า ๔๗๑ บรรทัดที่ ๓ ท่านกล่าวไว้ว่า โย จ อิมํ ปฏิปตฺติ ปฏิปชฺชติ โส ภิกฺขุ นาม โหติ จริงอยู่ ท่านผู้ใด ลงมือปฏิบัติตามข้อปฏิบัติ คือ มหาสติปัฏฐานนี้ ท่านผู้นั้นชื่อว่า เป็นภิกษุ
ถ. ถ้าถือตามนี้ก็ได้ความว่า จะเป็นใคร ๆ ก็ตาม เช่น เป็นเทวดาก็ตาม เป็นมนุษย์ก็ตาม ถ้าได้ปฏิบัติตามมหาสติปัฏฐานนี้ นับว่า เป็นภิกษุได้ทั้งนั้น ใช่หรือไม่ ?
ต. ใช่แล้ว นับว่าเป็นภิกษุได้เหมือนกัน
ถ. ที่ตอบเช่นนั้นมีอะไรเป็นหลักฐานอ้างอิงบ้างหรือไม่ ?
ต. มีหลักฐานปรากฏอยู่ในพระไตรปิฏก และอรรถกถา เช่น ในอรรถกถามหาสติปัฏฐาน หน้า ๔๗๑ บรรทัดที่ ๔ ที่ ๕ ว่า ปฏิปนฺนโก หิ เทโว วา โหตุ มนุสฺโส วา ภิกฺขูติ สํขยํ คจฺฉติเยว จริงอยู่ ผู้ที่ได้ปฏิบัติตามมหาสติปัฏฐาน ๔ นี้แล้ว จะเป็นเทวดาก็ตามจะเป็นมนุษย์ก็ตาม ถึงการนับว่า เป็นภิกษุได้เหมือนกัน ดังนี้
ถ. ขอให้ยกตัวอย่างมาประกอบอธิบายว่า พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้ที่ไหนบ้าง เพื่อจะได้เป็นสักขีพยาน สืบต่อไป ?
ต. ตัวอย่างที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้มีอยู่มาก เฉพาะในที่นี้จะได้นำมาแสดงเป็นตัวอย่างสักเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องสันตติมหาอำมาตย์ ความว่า สันตติมหาอำมาตย์นั้น ได้ลงมือปฏิบัติตามมหาสติปัฏฐาน ๔ ทั้ง ๆ ที่ประดับตกแต่งด้วยเครื่องแบบของนายทหารอย่างเต็มยศ ก็ปรากฏว่า ได้บรรลุพระอรหัตตมรรค อรหัตตผล ในที่เฉพาะพักตร์ของสมเด็จพระทศพลและภิกษุสงฆ์ พร้อมทั้งบริวารชนเป็นอันมาก แล้วก็ปรินิพพานบนอากาศ ภิกษุทั้งหลายจึงประชุมสนทนากันว่า จะเรียกสันตติมหาอำมาตย์ว่า สมณะ หรือ พราหมณ์ จึงจะถูก จึงจะควร ดังนี้ ในทันทีทันใดนั้น สมเด็จพระจอมไตรก็ได้เสด็จมาตรัสถามว่า พวกเธอสนทนากันเรื่องอะไร ? เมื่อทราบเรื่องนั้นแล้วจึงตรัสว่า “สมโณปิ วตฺตํ วฏฺฏติ พฺราหฺมโนปิ วตฺตํ วฏฺฏติเยว” จะเรียกว่า สมณะก็ได้ จะเรียกว่าพราหมณ์ก็ได้ แล้วทรงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นหลักฐานไว้ ซึ่งปรากฏอยู่ในพระไตรปิฏก เล่มที่ ๒๕ และธรรมบทภาค ๕ ว่า อลงฺกโต เจปิ สมญฺจเรยฺย สนฺโต ทนฺโต นิยโต พฺรหฺมจารี สพฺเพสุ ภูเตสุ นิธาย ทณฺฑํ โส พฺราหฺมโณ โส สมโณ ส ภิกฺขุ ถึงแม้ว่าบุคคลจะประดับตกแต่งเครื่องแบบอย่างเต็มยศ แต่ปรากฏว่ามีความประพฤติทางกาย วาจา ใจ สุภาพ เรียบร้อยดี เป็นผู้สงบ ฝึกตนดีแล้วเที่ยงต่อมรรค ๔ ประพฤติประเสริฐ วางอาชญาในสัตว์ทุก ๆ หมู่เหล่า ผู้นั้นเรียกว่า พราหมณ์ก็ได้ เพราะลอยบาปได้แล้ว เรียกว่า สมณะก็ได้ เพราะบาปสงบแล้ว เรียกว่า ภิกษุก็ได้ เพราะทำลายกิเลสหมดแล้ว ดังนี้.

เรียบเรียงและอ้างอิงจาก :-
๑.หนังสือชื่อ ตามพระใหม่ไปเรียนธรรม ภาค ๒ หน้า ๑๕๕ - ๑๖๐ ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ ปยุตฺโต) ๒.ความหมายของคำว่า "ภิกษุ" - ธรรมบรรยาย โดย พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทธิ ป.ธ.๙) ครั้งที่ ๑๑๓ บรรยายวันจันทร์ที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๐๕ เรื่อง มหาสติปัฏฐาน. (ข้อว่า ภิกฺขเว ภิกฺขุ) ๓.พระพรหมโมลี (วิลาศ ญาณวโร ป.ธ.๙) ภัยในวัฏสงสาร วัดยานนาวา



ทำไมเทวดาจึงอยากเกิดมาเป็นมนุษย์

ข้อเปรียบเทียบระหว่างฐานะของมนุษย์กับเทวดา ข้อควรพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องเทวดา ว่าโดยส่วนใหญ่ ก็เหมือนกับที่กล่าวแล้วในเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ เพราะคนมักเข้าไปเกี่ยวข้องกับเทวดาเพื่อผลในทางปฏิบัติ คือ หวังพึ่งและขออำนาจดลบันดาลต่างๆ เช่นเดียวกับที่หวังและขอจากอิทธิฤทธิ์ และเทวดาก็เป็นผู้มีฤทธิ์ หลักการทั่วไปที่บรรยายแล้วในเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ เฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่เกี่ยวกับคุณและโทษ จึงนำมาใช้กับเรื่องเทวดาได้ด้วย แต่ก็ยังมีเรื่องที่ควรทราบเพิ่มเติมบางอย่าง ดังนี้ 

ว่าโดยภาวะพื้นฐาน เทวดาทุกประเภท ตลอดจนถึงพรหมที่สูงสุด ล้วนเป็นเพื่อนร่วมทุกข์เกิดแก่เจ็บตาย เวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏเช่นเดียวกับมนุษย์ทั้งหลาย และส่วนใหญ่ก็เป็นปุถุชนยังมีกิเลสคล้ายมนุษย์ แม้ว่าจะมีเทพที่เป็นอริยบุคคลบ้าง ส่วนมากก็เป็นอริยะมาก่อนตั้งแต่ครั้งยังเป็นมนุษย์ แม้ว่าเมื่อเปรียบเทียบโดยเฉลี่ยตามลำดับฐานะ เทวดาจะเป็นผู้มีคุณธรรมสูงกว่า แต่ก็อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน จนพูดรวมๆ ไปได้ว่า เป็นระดับสุคติด้วยกัน 

ในแง่ความได้เปรียบเสียเปรียบ บางอย่างเทวดาดีกว่า แต่บางอย่างมนุษย์ก็ดีกว่า เช่น ท่านเปรียบเทียบระหว่างมนุษย์ชาวชมพูทวีปกับเทพชั้นดาวดึงส์ว่า เทพชั้นดาวดึงส์เหนือกว่ามนุษย์ ๓ อย่างคือ มีอายุทิพย์ ผิวพรรณทิพย์ และความสุขทิพย์ แต่มนุษย์ชาวชมพูทวีปก็เหนือกว่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ ๓ ด้าน คือ กล้าหาญกว่า มีสติดีกว่า และมีการประพฤติพรหมจรรย์ (หมายถึงการปฏิบัติตามอริยมรรค) 

แม้ว่าตามปกติพวกมนุษย์จะถือว่าเทวดาสูงกว่าพวกตน และพากันอยากไปเกิดในสวรรค์ แต่สำหรับพวกเทวดา เขาถือกันว่าการเกิดเป็นมนุษย์เป็นสุคติของพวกเขา ดังพุทธพจน์ยืนยันว่า "ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นมนุษย์นี่แล นับว่าเป็นการไปสุคติของเทพทั้งหลาย" 

เมื่อเทวดาองค์ใดองค์หนึ่งจะจุติ เพื่อนเทพชาวสวรรค์จะพากันอวยพรว่า ให้ไปสุคติคือไปเกิดในหมู่มนุษย์ทั้งหลาย เพราะโลกมนุษย์เป็นถิ่นที่มีโอกาสเลือกประกอบกุศลกรรมทำความดีงามต่างๆ และประพฤติปฏิบัติธรรมได้อย่างเต็มที่ (ความชั่วหรืออกุศลกรรมต่างๆ ก็เลือกทำได้เต็มที่เช่นเดียวกัน) การเกิดเป็นเทวดาที่มีอายุยืนยาว ท่านถือว่าเป็นการเสียหรือพลาดโอกาสอย่างหนึ่ง ในการที่จะได้ประพฤติพรหมจรรย์ (ปฏิบัติตามอริยมรรค) เรียกอย่างสามัญว่าเป็นโชคไม่ดี พวกชาวสวรรค์มีแต่ความสุข ชวนให้เกิดความประมาทมัวเมา สติไม่มั่น ส่วนโลกมนุษย์มีสุขบ้างทุกข์บ้างเคล้าระคน มีประสบการณ์หลากหลายเป็นบทเรียนได้มาก เมื่อรู้จักกำหนดก็ทำให้ได้เรียนรู้ ช่วยให้สติเจริญว่องไวทำงานได้ดี เกื้อกูลแก่การฝึกตนและการที่จะก้าวหน้าในอริยธรรม 

เมื่อพิจารณาในแง่ระดับแห่งคุณธรรมให้ละเอียดลงไปอีก จะเห็นว่า มนุษยภูมินั้นอยู่กลางระหว่างเทวภูมิหรือสวรรค์ กับอบายภูมิมีนรกเป็นต้น พวกอบายเช่นนรกนั้น เป็นแดนของคนบาปด้อยคุณธรรม แม้ชาวอบายบางส่วนจะจัดได้ว่าเป็นคนดี แต่ก็ตกไปอยู่ในนั้น เพราะความชั่วบางอย่างให้ผลถ่วงดึงลงไป ส่วนสวรรค์ก็เป็นแดนของคนดีค่อนข้างมีคุณธรรม แม้ว่าชาวสวรรค์บางส่วนจะเป็นคนชั่วแต่ก็ได้ขึ้นไปอยู่ในแดนนั้น เพราะมีความดีบางอย่างประทุแรงช่วยผลักดันหรือฉุดขึ้นไป สวนโลกมนุษย์ที่อยู่ระหว่างกลาง ก็เป็นประดุจชุมทางที่ผ่านหมุนเวียนกันไปมาทั้งของชาวสวรรค์และชาวอบาย เป็นแหล่งที่สัตว์โลกทุกพวกทุกชนิดมาทำ มาหากรรม เป็นที่คนชั่วมาสร้างตัวให้เป็นคนดีเตรียมไปสวรรค์ หรือคนดีมาสุมตัวให้เป็นคนชั่วเตรียมไปนรก ตลอดจนเป็นที่ผู้รู้จะมาสะสางตัวให้เป็นคนอิสระ เลิกทำมาหากรรม เปลี่ยนเป็นผู้หว่านธรรม ลอยพ้นเหนือการเดินทางหมุนเวียนต่อไป 

พวกอบายมีหลายชั้น ชั้นเดียวกันก็มีบาปธรรมใกล้เคียงกัน พวกเทพมีหลายชั้นซอยละเอียดยิ่งกว่าอบาย มีคุณธรรมพื้นฐานประณีตลดหลั่นกันไปตามลำดับ ชั้นเดียวกันก็มีคุณธรรมใกล้เคียงกัน ส่วนโลกมนุษย์แดนเดียวนี้ เป็นที่รวมของบาปธรรมและคุณธรรมทุกอย่างทุกระดับ มีคนชั่วซึ่งมีบาปธรรมหยาบหนาเหมือนดังชาวนรกชั้นต่ำสุด และมีคนดีซึ่งมีคุณธรรมประณีตเท่ากับพรหมผู้สูงสุด ตลอดจนท่านผู้พ้นแล้วจากภพภูมิทั้งหลาย ซึ่งแม้แต่เหล่าเทพมารพรหมก็เคารพบูชา ภาวะเช่นนี้นับได้ว่าเป็นลักษณะพิเศษของโลกมนุษย์ที่เป็นวิสัยกว้างสุดแห่งบาปอกุศลและคุณธรรม เพราะเป็นที่ทำมาหากรรม และเป็นที่หว่านธรรม 

เท่าที่กล่าวมานี้ จะเห็นข้อเปรียบเทียบระหว่างมนุษย์กับเทวดาได้ว่า เมื่อเทียบโดยคุณธรรมและความสามารถทั่วไปแล้ว ทั้งมนุษย์และเทวดาต่างก็มิได้เท่าเทียมหรือใกล้เคียงกัน เป็นระดับเดียวกัน แต่มนุษย์มีวิสัยแห่งการสร้างเสริมปรับปรุงมากกว่า ข้อแตกต่างสำคัญจึงอยู่ที่โอกาสกล่าวคือมนุษย์มีโอกาสมากกว่าในการที่จะพัฒนาคุณธรรม และความสามารถของตน ถ้ามองในแง่แข่งขัน (ทางธรรมไม่สนับสนุนให้มอง) ก็ว่า ตามปกติธรรมดาถ้าอยู่กันเฉย ๆ เทวดาทั่วไปสูงกว่า ดีกว่าเก่งกว่ามนุษย์ แต่ถ้ามนุษย์ปรับปรุงตัวเมื่อไร ก็จะขึ้นไปเทียมเท่า หรือแม้แต่สูงกว่า ดีกว่า เก่งกว่าเทวดา


พุทธธรรมฉบับปรับขยาย หน้า  ๙๕๒ - ๙๕๔





อธิบายเรื่องกรรม

ความหมายและประเภทของกรรม

ก่อนจะพูดเรื่องกรรมนั้น เราจะต้องเข้าใจก่อนว่า กรรมมีความหมายอย่างไร แม้แต่เรื่องความหมายของคำก็เป็นปัญหาเสียแล้ว

ก. ความหมายที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน

ลองไปถามชาวบ้านดูว่า “กรรม” แปลว่าอะไร เอาคำพูดในภาษาไทยก่อน บางทีเราพูดว่า “แล้วแต่บุญแต่กรรม” กรรมในที่นี้หมายถึงอะไร กรรมในที่นี้มาคู่กับบุญ พอกรรมมาคู่กับบุญ เราก็แปลบุญเป็นฝ่ายดี บุญอาจเป็นการกระทำที่ดีหรือผลดีที่จะได้รับ ส่วนกรรมก็กลายเป็นการกระทำชั่วหรือผลชั่วที่ไม่น่าพอใจ นี่คือความหมายหนึ่งที่ชาวบ้านเข้าใจ ดังนั้นชาวบ้านส่วนมากพอได้ยินคำว่ากรรมแล้วไม่ชอบ เพราะมีความรู้สึกในทางที่ไม่ดี มองกรรมว่าเป็นเรื่องร้าย

จากตัวอย่างนี้ คำว่ากรรมและบุญจึงเป็นเครื่องชี้ชัดอย่างหนึ่งว่า คนเข้าใจความหมายของกรรมในทางไม่ดี เอาบุญเป็นฝ่ายข้างดี แล้วเอากรรมเป็นฝ่ายตรงข้าม

อีกตัวอย่างหนึ่งว่า คนผู้หนึ่งไปประสบเคราะห์ร้าย บางคนก็บอกว่า “เป็นกรรมของเขา” คนนั่งเรือไปในทะเล เรือแตก จมน้ำตาย หรือถูกพายุพัดมาแล้วเรือล่มตายไป อุบัติเหตุอย่างนี้ บางคนบอกว่าเป็นกรรมของเขา คำว่ากรรมในที่นี้เรามองในแง่เป็นผลร้ายที่เขาได้รับ เป็นเคราะห์ หรือเป็นผลไม่ดีที่สืบมาจากปางก่อน

นี่ก็แสดงว่า เรามองคำว่ากรรมในแง่อดีต คือมองในแง่ว่าเป็นเรื่องผ่านมาแล้วมาแสดงผล และเป็นเรื่องที่ไม่ดี ได้ ๒ แง่ คือ
๑ เป็นเรื่องข้างไม่ดี
๒ เพ่งเน้นในทางอดีต

ในเวลาเดียวกันก็มองไปในแง่เป็นผลด้วย อย่างที่พูดว่า “จงก้มหน้ารับกรรมไปเถิด” ที่ว่ารับกรรม ก็คือรับผลของกรรม นายคนหนึ่งไปลักของเขามา ถูกจับได้ขังคุก คนอื่นก็มาปลอบใจว่า เอ็งก้มหน้ารับกรรมไปเถิดนะ เราทำมาไม่ดี กรรมในที่นี้กลายเป็นผล คือเป็นผลของกรรมนั่นเอง

นี้คือความหมายของกรรมที่เราใช้กันในภาษาไทย

ในฐานะที่เป็นผู้เล่าเรียนศึกษาแล้ว ลองวินิจฉัยดูว่า ความหมายเหล่านี้ถูกหรือไม่ ความหมายที่เน้นไปในทางไม่ดี เป็นเรื่องไม่ดีคู่กับบุญ เป็นเรื่องที่เน้นอดีต และมองไปที่ผลอย่างนี้ ถูกหรือไม่

เมื่อพิจารณาตรวจดู เราก็จะมองเห็นได้ชัดว่า ถ้าเอาหลักธรรมแท้ๆ มาวินิจฉัยแล้ว ความหมายเหล่านี้คลาดเคลื่อน ได้เพียงแง่เดียว ข้างเดียว เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความหมายที่แท้จริง เพราะว่า “กรรม” นั้นแปลว่าการกระทำเป็นกลางๆ จะดีก็ได้ จะชั่วก็ได้ บุญก็เป็นกรรม บาปก็เป็นกรรม หมายความว่าบุญคู่กับบาป แต่คนไทยมีบ่อยๆ ที่เอาบุญมาคู่กับกรรม เอากรรมเป็นข้างร้าย

ส่วนที่ว่า ก้มหน้ารับกรรมไป ก็เป็นการมองที่ผล แต่ที่จริงนั้นกรรมเป็นตัวการกระทำ ซึ่งจะเป็นเหตุต่อไป ส่วนผลของกรรมท่านเรียกว่าวิบาก หรือจะเรียกว่าผลเฉยๆ ก็ได้ ตัวกรรมเองแท้ๆ นั้นไม่ใช่ผล

ในเมื่อ “กรรม” ในภาษาที่เราใช้กันอยู่นี้ มีความหมายคลาดเคลื่อน ไม่ตรงกับหลักที่แท้จริง ก็เป็นเครื่องแสดงว่า ได้มีความเข้าใจไขว้เขวในเรื่องกรรมเกิดขึ้น เพราะภาษาเป็นเครื่องแสดงว่า คนมีความเข้าใจอย่างไร เพราะฉะนั้นในขั้นต้นนี้เราจะต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องเสียก่อนว่า กรรมคืออะไร

ถ้าประชาชนยังเข้าใจคลาดเคลื่อนว่ากรรมเป็นเรื่องของการกระทำที่ร้ายที่ชั่ว เราก็ต้องแก้ไขความเข้าใจให้เห็นว่า กรรมนี้เป็นคำกลางๆ จะดีก็ได้ จะชั่วก็ได้ ถ้าเป็นฝ่ายดีก็เรียกว่าเป็นบุญ หรือบุญกรรม ถ้าเป็นฝ่ายชั่วก็เรียกว่าบาป หรือบาปกรรม หรือมิฉะนั้นก็เรียกว่า กุศลกรรม และอกุศลกรรม จะต้องชี้แจงให้เกิดความเข้าใจถูกต้อง นี้เป็นเรื่องพื้นฐานขั้นต้นๆ ซึ่งได้เห็นชัดๆ ว่า แม้แต่ความหมายเราก็ไขว้เขวกันแล้ว

ข. ความหมายที่ถูกต้องตามหลัก

เมื่อเรารู้ว่าความเข้าใจของชาวบ้านไขว้เขวไป เราก็ต้องชักจูงเขาเข้ามาหาความเข้าใจที่แท้จริง คำถามข้อแรกก็คือความหมายตามหลักว่าอย่างไร

ผมจะลองยกข้อความในพระสูตรหนึ่ง ชื่อว่า วาเสฏฐสูตร มาพูดสักนิดหนึ่ง ในพระสูตรนั้นพระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคลเป็นชาวนาก็เพราะกรรม เป็นโจรก็เพราะกรรม เป็นพราหมณ์ก็เพราะกรรม เป็นกษัตริย์ก็เพราะกรรม เป็นปุโรหิตก็เพราะกรรม ฯลฯ เป็นโน่นเป็นนี่ก็เพราะกรรม

จากข้อความที่ได้ฟังกันแค่นี้ ก็ขอให้มาสำรวจดูกันว่าใครเข้าใจคำว่ากรรมในความหมายว่าอย่างไร ถ้าบอกชาวบ้านว่า ที่เป็นชาวนานี่ก็เพราะกรรม เขาก็คงจะคิดว่าหมายถึงชาติก่อนได้ทำกรรมอะไรบางอย่างไว้ จึงทำให้ชาตินี้ต้องมาเกิดเป็นชาวนา หรือถ้าบอกว่าเป็นกษัตริย์เพราะกรรม เขาก็คงจะเข้าใจไปว่า อ๋อ คนนี้คงจะได้ทำอะไรดีไว้ อาจจะให้ทาน รักษาศีล เป็นต้น ชาตินี้จึงมาเกิดเป็นกษัตริย์

แต่ลองไปดูในพระสูตรสิว่า ท่านหมายถึงอะไร ในพระสูตร คำว่า เป็นชาวนาเพราะกรรม เป็นต้นนี้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้เองเลยว่า นายคนนี้ เขาดำนา หว่านข้าว ไถนา เขาก็เป็นชาวนา การที่เขาทำนานั่นเอง ก็ทำให้เขาเป็นชาวนา คือเป็นไปตามการกระทำ อันได้แก่อาชีพการงานของเขา

อีกคนหนึ่งเป็นที่ปรึกษาของพระเจ้าแผ่นดิน เขาก็เป็นปุโรหิต ตามอาชีพการงานของเขา ส่วนนายคนนี้ไปลักของเขา ไปปล้นเขา ก็กลายเป็นโจร

ตกลงว่า กรรมในที่นี้หมายถึง การกระทำ ที่เป็นอาชีพการงานทั้งหลาย เป็นขั้นของการกระทำประจำตัวที่มองเห็นเด่นชัดง่ายๆ หยาบๆ ปรากฏออกมาภายนอก นี่คือความหมายของกรรมที่น่าพิจารณา ซึ่งเห็นได้ว่าท่านมุ่งเอาสิ่งซึ่งมองเห็นปัจจุบันนี่แหละเป็นหลักก่อน เพราะการกระทำนี้เป็นคำกลางๆ ไม่ได้พูดว่าเมื่อไร พอพูดขึ้นมาว่ากรรม ก็ต้องมองที่ปัจจุบันเป็นจุดเริ่มก่อน แต่ถ้าพูดจำกัดลงไปว่าการกระทำเมื่อไรก็เมื่อนั้นแหละ ไม่ว่าจะเป็นอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคตก็ตาม การกระทำนั้นๆ ก็เป็นกรรมทั้งนั้น

แต่เมื่อจะดูความหมายที่ลึกเข้าไป ก็ต้องมองให้ถึงจิตใจ เมื่อมองลึกเข้าไปถึงจิตใจ เราก็คงจะจำได้ถึงพุทธพจน์ ที่ให้คำจำกัดความบอกความหมายของกรรมว่า เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม” ตกลงว่า เจตนา คือตัวความคิดจงใจ เจตจำนง ความตั้งจิตคิดมุ่งหมายนี่แหละเป็นกรรม เมื่อบุคคลจงใจ มีเจตนาอย่างใดแล้ว ก็แสดงออกมาเป็นการกระทำทางกายบ้าง แสดงออกมาทางวาจาเป็นการพูดบ้าง นี้ก็คือ ความหมายที่แท้จริงของกรรมที่ค่อยๆ มองละเอียดเข้ามา

เมื่อมองหยาบๆ ข้างนอก กรรมก็คืออาชีพ การทำงาน การดำเนินชีวิตของเขา แต่มองลึกเข้าไปถึงจิตใจ กรรมก็คือตัวเจตนา

ค. ประเภทของกรรม

จากนี้เราก็มาแบ่งประเภทของกรรมออกไป เมื่อว่าโดยทางแสดงออก ถ้าแสดงออกทางกาย เคลื่อนไหวทำโน่นทำนี่ ก็เป็นกายกรรม ถ้าแสดงออกทางวาจาโดยพูดออกมา ก็เป็นวจีกรรม ถ้าแสดงออกทางใจอยู่ในระดับความคิด คิดปรุงแต่งไปต่างๆ ก็เป็นมโนกรรม

กรรมโดยทั่วไปนั้นเมื่อจำแนกโดยคุณภาพก็แบ่งเป็น ๒ อย่าง คือเป็นกรรมดี เรียกว่ากุศลกรรม และเป็นกรรมชั่วเรียกว่าอกุศลกรรม

ในบางแห่งท่านจำแนกออกไปเป็นหลายอย่างมากกว่านี้อีก เช่น กรรมที่ ๑ กรรมดำ กรรมที่ ๒ กรรมขาว กรรมที่ ๓ กรรมทั้งดำทั้งขาว และกรรมที่ ๔ กรรมไม่ดำไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม แบบนี้เป็นการอธิบายละเอียดขึ้นไปอีก

กรรมดำคืออะไร ยกตัวอย่างเช่น อกุศลกรรม มองให้เห็นหยาบๆ ก็คือการกระทำที่เป็นการเบียดเบียน ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน กรรมขาวก็คือกรรมที่ตรงข้ามกับกรรมดำนั้น ซึ่งไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ไม่เป็นการเบียดเบียน แต่เป็นการช่วยเหลือส่งเสริม ทำให้ผู้อื่นมีความสุขกรรมทั้งดำทั้งขาว ก็คือ กรรมที่ปะปนกัน มีทั้งการกระทำที่เป็นไปเพื่อความเบียดเบียน และไม่เป็นไปเพื่อความเบียดเบียน สุดท้ายมาถึงกรรมไม่ดำไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม ยกตัวอย่างเช่น โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ ซึ่งบางทีก็เรียกว่ากรรมเหมือนกัน แต่เป็นกรรมที่ไม่ดำไม่ขาว และเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม กรรมแบบนี้กลับทำให้เราสิ้นกรรมไปด้วยซ้ำ

เมื่อมองละเอียดลงไปถึงความหมายที่แยกประเภทอย่างนี้ เราก็เห็นชัดขึ้นมาว่า กรรมนั้นอยู่ที่ตัวเราทุกๆ คน ที่ประพฤติปฏิบัติดำเนินชีวิตอยู่ทุกเวลานี่เอง เริ่มตั้งแต่ความรู้สึกนึกคิด การพูดจา เคลื่อนไหวทำโน่นทำนี่ ตลอดจนปฏิบัติการต่างๆ แม้แต่ที่เรียกว่าการปฏิบัติธรรมชั้นใน ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ การเจริญโพชฌงค์ ๗ ก็เป็นกรรมทั้งนั้น ไม่พ้นเรื่องกรรมเลย

จะเห็นว่ากรรมในความหมายนี้ละเอียดกว่ากรรมที่เคยพูดในเรื่องไปหักขาไก่ เผาป่าคลอกสัตว์ หรืออะไรทำนองนั้น จึงต้องแยกแยะกันให้ละเอียด

เมื่อมาถึงขั้นนี้แล้ว จะอธิบายกันอย่างไรให้เห็นว่า ทำไมการกระทำจึงออกผลอย่างนั้นอย่างนี้ได้ นี่เป็นเรื่องที่เราจะต้องพิจารณา แต่ที่พูดมานี้ถือว่าเป็นความเข้าใจพื้นฐานขั้นต้น ที่ว่าจะต้องพูดกันในเรื่องความหมายของกรรมให้ชัดเจนเสียก่อนว่ากรรมคืออะไร

จากหนังสือ หลักกรรมสำหรับคนสมัยใหม่ หน้า ๓ - ๘
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ป.อ.ปยุตโต


ความประเสริฐของมนุษย์

มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐขึ้นมาเลยก็หาไม่ แต่ประเสริฐได้ด้วยการฝึก

ขอย้ำว่าพระพุทธศาสนาไม่ได้ถือว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐเฉยๆ มนุษย์นั้นเป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการฝึก ถ้าไม่ฝึกแล้วหาประเสริฐไม่ เราไปพูดกันว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐ พูดด้วนๆขาดห้วนไป ต้องพูดให้เต็มว่ามนุษย์นั้นเป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการฝึก เมื่อฝึกแล้วประเสริฐสุด

ทั้งนี้ตามบาลีว่า ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ (ขุ.ธ.๒๕/๓๓) แปลว่า ในหมู่มนุษย์นั้น ผู้ที่ฝึกแล้วเป็นผู้ประเสริฐสุด ประเสริฐสุดจนกระทั่งแม้แต่เทวดาและพรหมก็น้อมนมัสการ

ความดีเลิศประเสริฐของมนุษย์นั้น จึงอยู่ที่การเรียนรู้ฝึกศึกษาพัฒนาตนขึ้นไป มนุษย์จะเอาดีไม่ได้ ถ้าไม่มีการเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาตน เพราะฉะนั้น จึงต้องพูดให้เต็มว่า

มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐด้วยการฝึก” 

ไม่ควรพูดแค่ว่า มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ ซึ่งเป็นการพูดที่ตกหล่นบกพร่อง เพราะว่ามนุษย์นี้ ต้องฝึกจึงจะประเสริฐ ถ้าไม่ฝึก ก็ไม่ประเสริฐ

คำว่า “ฝึก” นี้ พูดตามคำหลักแท้ๆ คือ สิกขา หรือศึกษา ถ้าพูดอย่างสมัยใหม่ ก็ได้แก่คำว่า เรียนรู้และพัฒนา พูดรวมๆ กันไปว่า เรียนรู้ฝึกหัดพัฒนา หรือเรียนรู้ฝึกศึกษาพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ คือจุดเริ่มของพระพุทธศาสนา

ความจริงแห่งธรรมชาติของมนุษย์ในข้อที่ว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้นี้ พระพุทธศาสนาถือเป็นหลักสำคัญ ซึ่งสัมพันธ์กับความเป็นพระศาสดาและการทรงทำหน้าที่ของพระพุทธเจ้า ดังที่ได้เน้นไว้ในพุทธคุณบทที่ว่า

อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ  สตฺถา เทวมนุสฺสานํ  “เป็นสารถีฝึกคนที่ควรฝึก ผู้ยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวะและมนุษย์ทั้งหลาย” [ม.มู. ๑๒/๙๕/๖๗]

มีพุทธพจน์มากมาย ที่เน้นย้ำหลักการฝึกฝนพัฒนาตนของมนุษย์ และเร้าเตือน พร้อมทั้งส่งเสริมกำลังใจ ให้ทุกคนมุ่งมั่นในการฝึกศึกษาพัฒนาตนจนถึงที่สุด เช่น วรมสฺสตรา ทนฺตา อาชานียา จ สินฺธวา กุญฺชรา จ มหานาคา อตฺตทนฺโต ตโต วรํ “อัสดร สินธพ อาชาไนย กุญชร และช้างหลวง ฝึกแล้วล้วนดีเลิศ แต่คนที่ฝึกตนแล้วประเสริฐกว่า(ทั้งหมด)นั้น” [ขุ.ธ. ๒๕/๓๓/๕๗]ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ. “ในหมู่มนุษย์ ผู้ประเสริฐสุด คือคนที่ฝึกแล้ว” [ขุ.ธ. ๒๕/๓๓/๕๗]

วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน โส เสฏฺโฐ เทวมานุเส. “ผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจริยะ เป็นผู้ประเสริฐสุด ทั้งในหมู่มนุษย์และมวลเทวา” [สํ.นิ. ๑๖/๗๒๔/๓๓๑]

อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ โก หิ นาโถ ปโร สิยา อตฺตนา หิ สุทนฺเตน นาถํ ลภติ ทุลฺลภํ  “ตนแลเป็นที่พึ่งของตน แท้จริงนั้น คนอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้ มีตนที่ฝึกดีแล้วนั่นแหละ คือได้ที่พึ่งซึ่งหาได้ยาก”        [ขุ.ธ. ๒๕/๒๒/๓๖]มนุสฺสภูตํ สมฺพุทฺธํ อตฺตทนฺตํ  สมาหิตํ เทวาปิ ตํ นมสฺสนฺติ  “พระสัมพุทธเจ้า ทั้งที่เป็นมนุษย์นี่แหละ แต่ทรงฝึกพระองค์แล้ว มีพระหฤทัยซึ่งอบรมถึงที่แล้ว แม้เทพทั้งหลายก็น้อมนมัสการ”  [องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๓๑๔/๓๘๖]

คาถานี้เป็นการให้กำลังใจแก่มนุษย์ว่า มนุษย์ที่ฝึกแล้วนั้น เลิศประเสริฐ จนกระทั่งแม้แต่เทวดาและพรหมก็น้อมนมัสการ ความหมายที่ต้องการในที่นี้ ก็คือ การมองมนุษย์ว่าเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ และมีความสามารถในการฝึกตัวเองได้จนถึงที่สุด แต่ต้องฝึกจึงจะเป็นอย่างนั้นได้ และกระตุ้นเตือนให้เกิดจิตสำนึกตระหนักในการที่จะต้องปฏิบัติตามหลักแห่งการศึกษาฝึกฝนพัฒนาตนนั้น ถ้าใช้คำศัพท์สมัยปัจจุบัน ก็พูดว่า มนุษย์มีศักยภาพสูง มีความสามารถที่จะศึกษาฝึกตนได้จนถึงขั้นเป็นพุทธะ 

ศักยภาพนี้เรียกว่า โพธิ ซึ่งแสดงว่าจุดเน้นอยู่ที่ปัญญา เพราะโพธินั้น แปลว่า ปัญญาตรัสรู้ คือปัญญาที่ทำให้มนุษย์กลายเป็นพุทธะ

ในการศึกษาตามหลักพุทธศาสนาหรือการปฏิบัติธรรมนั้น สิ่งสำคัญที่จะต้องมีเป็นจุดเริ่มต้น คือ ความเชื่อในโพธินี้ ที่เรียกว่า โพธิศรัทธา ซึ่งถือว่าเป็นศรัทธาพื้นฐาน เมื่อมนุษย์เชื่อในปัญญาที่ทำให้มนุษย์เป็นพุทธะได้แล้ว เขาก็พร้อมที่จะศึกษาฝึกฝนพัฒนาตนต่อไป ตามที่กล่าวมานี้จะเห็นว่า คำว่า โพธิ นั้น ให้จุดเน้นทั้งในด้านของศักย-ภาพที่มนุษย์ฝึกได้จนถึงที่สุด และในด้านของปัญญา ให้เห็นว่าแกนนำของการฝึกศึกษาพัฒนานั้นอยู่ที่ปัญญา และศักยภาพสูงสุดก็แสดงออกที่ปัญญา เพราะตัวแทนหรือจุดศูนย์รวมของการพัฒนาอยู่ที่ปัญญา เพื่อจะให้โพธินี้ปรากฏขึ้นมา ทำบุคคลให้กลายเป็นพุทธะ เราจึงต้องมีกระบวนการฝึกหรือพัฒนาคน ที่เรียกว่าสิกขา ซึ่งก็คือ การศึกษา

สิกขา คือกระบวนการการศึกษา ที่ฝึกหรือพัฒนามนุษย์ ให้โพธิปรากฏขึ้น จนในที่สุดทำให้มนุษย์นั้นกลายเป็นพุทธะ พระพุทธเจ้ามาแก้ปัญหานี้ ก็เรียกว่าปฏิวัติสังคม โดยดึงให้คนหันมาดูตัวเองว่า เราจะต้องทำอะไรบ้าง จากการที่ดูว่าตัวจะต้องทำอะไรบ้าง ก็เลยต้องชี้ไปที่ธรรม คือ ความเป็นไปตามเหตุปัจจัยนี่แหละ นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ

พระพุทธเจ้ามาสอนให้เราสนใจเรื่องความสามารถพิเศษที่มีอยู่ในตัวเอง  ความพิเศษของมนุษย์นั้น  คือการเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ คนที่ฝึกได้ ภาษาบาลีเรียกว่า ทัมมะ พูดสั้นๆว่า ทัมม์ (ทัมม์ ท ทหาร)

สัตว์ทั้งหลายอื่นโดยทั่วไปฝึกไม่ได้ สัตว์บางชนิดฝึกได้บ้างในขอบเขตจำกัด แต่ฝึกตัวเองไม่ได้ ต้องให้คนฝึก อันนี้เป็นข้อพิเศษ แม้สัตว์ที่ฝึกได้บ้าง ก็ยังต้องอาศัยคนฝึก  

ช้างฝึกตัวเองได้ไหม ไม่ได้ ม้าฝึกตัวเองได้ไหม ไม่ได้     ลิงฝึกตัวเองได้ไหม ไม่ได้   ต้องให้คนฝึกให้ทั้งนั้น ท่านจึงว่า

วรมสฺสตรา ทนฺตา อาชานียา จ สินฺธวา (ขุ.ธ.๒๕/๓๓) เป็นต้น แปลว่า อัสดร สินธพ ม้าอาชาไนย ช้างหลวง ช้างพลาย เมื่อได้รับการฝึกแล้วก็ประเสริฐ เป็นสัตว์ที่เก่ง  

แต่มนุษย์ที่ฝึกแล้วประเสริฐกว่านั้น คือ สัตว์ทั้งหลายที่ฝึกไปถึงระดับหนึ่ง มันไปไม่ไหวแล้ว มันได้แค่นั้น แต่มนุษย์ฝึกตัวเองได้ และฝึกได้ไม่มีที่สิ้นสุด  จนเป็นพุทธะได้ ประเสริฐเลิศที่สุด เพราะฉะนั้นมนุษย์จะต้องหันมาดูความพิเศษของตัวเองตรงนี้ แทนที่จะไปติดอยู่กับคำว่า มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ แล้วหลงภูมิใจตัวเองด้วยความหลง แล้วก็ติดตันอยู่แค่นั้น ไม่พัฒนา อย่าเอาเลย หันมาสนใจที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีกว่า ว่าความวิเศษและประเสริฐของมนุษย์นั้นอยู่ที่ความเป็นสัตว์ที่ฝึกได้  อันนี้มีประโยชน์กว่า ถ้าเรามาถือตามพุทธพจน์ว่า  มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้และต้องฝึกนี้ เราจะเห็นทางปฏิบัติเดินหน้าไป บางทีเราก็เพลินมองข้ามไปเหมือนกัน ถ้าเราจะเอาคำที่ว่า มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ ก็ต้องต่อด้วยว่า เป็นสัตว์ประเสริฐด้วยการฝึก จึงจะครบถ้วนใจความที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้                                                 

 สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ป.อ.ปยุตฺโต

วันอาทิตย์

๑.๔ อุปฆาตกกรรม

อุปฆาตกกรรม หมายถึง กรรมที่ทำหน้าที่เข้าไปตัดรอนกรรมอื่นๆและการสืบต่อของขันธ์ ๕ ที่เกิดจากกรรมอื่นๆ องค์ธรรมได้แก่ อกุศลกรรม ๑๒ และกุศลกรรม ๒๑ 

กรรมที่ชื่อว่า อุปฆาตกกรรม เพราะมีความหมายว่า เข้าไปตัดรอนกุศลหรืออกุศลก็ตาม ถ้าเกิดขึ้นแล้วก็จะตัดรอนกรรมอื่นๆ ให้มีกำลังน้อยลง หรือขัดขวางวิบากของกรรมที่มีกำลังน้อย ให้สิ้นลงอย่างเด็ดขาด แตกต่างไปจากอุปปีฬกกรรม ตรงที่อุปปีฬกกรรมเพียงไปเบียดเบียนให้อ่อนกำลังลงแต่ยังไม่หมดไป แต่อุปฆาตกกรรมนี้ทำให้ตัดขาดไปเลย 

อุปฆาตกกรรม มี ๓ คือ 
๑. ตัดชนกกรรมอื่นๆ เพื่อไม่ให้มีโอกาสส่งผลตลอดไป 
๒. ตัดรูปนามที่เกิดจากชนกกรรมนั้นๆให้เสียไป
๓. ตัดรูปนามที่เป็นวิบากกรรมของกรรมอื่นๆ

๑. ตัดชนกกรรมอื่นๆ เพื่อไม่ให้มีโอกาสส่งผลตลอดไป มี ๓ คือ 
๑.๑ กุศลอุปฆาตกกรรม ตัดอกุศลชนกกรรมไม่ให้มีโอกาสส่งผลตลอดไป ตัวอย่างเช่น ท่านองคุลิมาลได้ศึกษาในสำนักทิศาปาโมกข์ แล้วอาจารย์สอนให้ไปฆ่าคน เพื่อจะให้สำเร็จวิชาที่ตนศึกษา แต่พระพุทธองค์ได้ทรงเล็งเห็นด้วยพระญาณแล้วว่า องคุลิมาลเป็นผู้ที่จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ จึงเสด็จไปโปรดเมื่อพบพระพุทธองค์แล้วองคุลิมาลก็ออกบวชทำความ เพียรจนสำเร็จมรรคผล กรรมที่ฆ่าคนเป็นจำนวนมากนั้นก็กลายเป็นอโหสิกรรมไป เพราะอรหัตมรรคอรหัตผลไปตัดอกุศลกรรมต่างๆ ไม่ให้มีโอกาสส่งผลต่อไป 

 ๑.๒ กุศลอุปฆาตกกรรม ตัดกุศลชนกกรรมไม่ให้มีโอกาสส่งผลตลอดไป ตัวอย่างเช่น ผู้ที่สร้างกุศลบำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ซึ่งเป็นกามาวจรกุศล ต่อมาบำเพ็ญ กุศลสูงขึ้นถึงขั้นภาวนากุศล คือ เจริญสมถภาวนา วิปัสสนาภาวนา เมื่อเจริญสมถะได้ถึงรูปปัญจม ฌาน เมื่อตายลงจะต้องไปเกิดในจตุตถฌานภูมิ ส่วนฌานขั้นต้นๆ คือปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน ก็ไม่ส่งผล เพราะรูปกุศลปัญจมฌานเป็นกุศลอุปฆาตกกรรมตัดรูปกุศลขั้นต้นๆ นั้น ไม่ให้มีโอกาสส่งผล หรือผู้ทำฌานจนกระทั่งถึงอรูปฌาน เมื่อตายจะต้องไปเกิดในอรูปพรหม จึงเป็นผลให้รูปาวจรกุศลทั้งหมดไม่ส่งผล เพราะกุศลในอรูปฌานเป็นกุศลอุปฆาตกกรรม ตัดรูปาวจรกุศลทั้งหมด และกุศล อรูปฌานขั้นที่ ๔ ก็เป็นอุปฆาตกกรรมตัดการส่งผลของอรูปฌานขั้นต้นๆ ทั้งหมดเช่นกัน หรือเจริญวิปัสสนาจนถึงโลกุตตรกุศลในขั้นอรหัตมรรค อรหัตผล ก็ไปตัดรูปาวจรกุศล และ อรูปาวจรกุศลไม่ให้ส่งผลนำไปเกิดในรูปภูมิ อรูปภูมิ เพราะอรหัตมรรค อรหัตผลไม่ส่งผลนำไปเกิดในภูมิใดๆ

 ๑.๓ อกุศลอุปฆาตกกรรม ตัดกุศลชนกกรรมไม่ให้มีโอกาสส่งผลตลอดไป ตัวอย่างเช่น พระเทวทัตบำเพ็ญฌานจนสำเร็จรูปฌาน มีฤทธิ์มาก อยู่ต่อมาพระเทวทัตคิดทำร้าย พระพุทธเจ้า โดยการกลิ้งก้อนหินลงมาจากภูเขาให้ทับพระพุทธเจ้าแต่มีเพียงสะเก็ดหินไปถูกที่พระบาทของพระพุทธเจ้าจนห้อพระโลหิต และทำสังฆเภท คือ ทำสงฆ์ให้แตกแยกกัน ใน ๒ กรณีนี้ เป็นอนันตริยกรรม ฌานที่เคยได้ก็เสื่อมลงเพราะอกุศลมีอำนาจแรงกว่าก็ไปตัดรอนกุศลให้เสื่อมลง จนพระเทวทัตต้องตกอเวจีมหานรกในที่สุด ด้วยอำนาจของอกุศล เรียกว่า อกุศลอุปฆาตกกรรมไปตัดรอนกุศลชนกกรรมอื่นๆ ไม่ให้มีโอกาสส่งผลตลอดไป

 ๒. อุปฆาตกกรรมตัดนามรูป ที่เกิดจากชนกกรรมนั้นๆให้เสียไป มี ๔ คือ
๒.๑ กุศลอุปฆาตกกรรม ตัดนามรูปที่เป็นอกุศลวิบาก
ให้เสียไป ตัวอย่างเช่น ผู้ที่ตายจากมนุษย์นี้ไปเกิดเป็นสัตว์นรก รับทุกข์ทรมานอยู่ในนรก อยู่ต่อมาเห็นเปลวไฟนรกลุกเป็นสีเหลือง ก็ระลึกได้ว่าเคยสร้างกุศลไว้ เคยบวชพระ ถวายจีวร เคยปิดทองพระพุทธรูป อำนาจของกุศลที่ระลึกได้ ก็มาเป็นอุปฆาตกกรรมมาตัดรอนอกุศล คือรูปนามในนรกนี้ให้สิ้นสุดลง ตายจากนรกไปเกิดในมนุษย์หรือเทวดาก็ด้วยอำนาจของกุศล

๒.๒ กุศลอุปฆาตกกรรม ตัดนามรูปที่เป็นกุศลวิบาก
ให้เสียไป ตัวอย่างเช่น รูปนามที่บุคคลได้มาในปัจจุบันจัดเป็นกุศลวิบาก อยู่ต่อมาได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในขณะที่ยังเป็นฆราวาสอยู่ อรหัตมรรค อรหัตผล นี้ จัดเป็นกุศลที่ยิ่งใหญ่ ก็ต้องบวชภายในวันนั้น ถ้าไม่บวชก็ต้องตาย ที่ตายก็เพราะอำนากุศลนั้นเป็นอุปฆาตกกรรม ไปตัดกุศลนามรูปให้สิ้นสุดลง เพราะว่าอรหัตมรรค อรหัตผลนี้ เพศฆราวาสไม่สามารถจะ รองรับได้ เพศฆราวาสจะรองรับกุศลได้เพียง แค่ศีล ๕ ศีล ๘ เท่านั้น อรรถกถาจารย์ ยกตัวอย่างน้ำมันของราชสีห์ ภาชนะที่จะรองรับน้ำมันของราชสีห์ได้นั้น ต้องเป็นทองคำ ถ้าใช้ภาชนะอื่นไปรองรับน้ำมันจะระเหยแห้งไปหมด ฉันใดก็ดี คุณธรรมคืออรหัตมรรค อรหัตผลนี้ เพศฆราวาสไม่สามารถจะรองรับได้ ถ้าหากว่าสำเร็จแล้วไม่บวชก็จะต้องสิ้นอายุขัย

๒.๓ อกุศลอุปฆาตกกรรม ตัดนามรูปที่เป็นกุศลวิบาก
ให้เสียไป ตัวอย่างเช่น มนุษย์นี้เกิดมามีนามรูปที่เกิดมาจากกุศลวิบาก บางคนเกิดมามีอวัยวะทุกอย่าง สมบูรณ์ ต่อมาอกุศลกรรมที่เคยทำไว้ในอดีตมาตัดรอน ทำให้ถูกรถชน ทำให้พิการ ก็เพราะอำนาจ ของอกุศลอุปฆาตกกรรมมาตัดรอน ทำให้รูปนามที่เป็นกุศลวิบากนี้เสียไป

๒.๔ อกุศลอุปฆาตกกรรม ตัดนามรูปที่เป็นอกุศลวิบาก
ให้เสียไป ตัวอย่างเช่น สัตว์เดรัจฉาน ร่างกายของสัตว์เดรัจฉานจัดเป็นอกุศลวิบาก ถึงแม้จะมีสีสวย ขนปุกปุย สวยงาม ก็เป็นรูปนามที่เป็นอกุศลวิบาก ต่อมาถูกยิง ถูกทำร้าย ถูกฆ่า ก็เพราะอกุศลอุปฆาตกกรรม ตัดรูปนามที่เป็นอกุศลวิบากให้เสียไป

๓. ตัดรูปนาม ที่เป็นวิบากกรรมของกรรมอื่นๆ มี ๓ คือ
๓.๑ ตัดวิบากของกรรมอื่นๆแล้วตัวเองก็ไม่ได้ส่งผลให้เกิดและก็ไม่ให้มีโอกาสแก่ชนกกรรมอื่นๆ ได้ส่งผล ตัวอย่างเช่น พระจักขุปาลเถระ เมื่ออดีตชาติเคยเป็นหมอรักษาตา และเคยมีเจตนาทำลายดวงตาของผู้ป่วย เพราะความโกรธที่ผู้ป่วยไม่จ่ายค่ารักษา จึงใส่ยาทำให้เขาตาบอด อำนาจของอกุศลกรรมที่พระจักขุปาลเถระได้กระทำในครั้งนั้น จึงทำให้ตาทั้งสองของท่านเสียไปจนตลอดชีวิต ก็เป็นเพราะอกุศลอุปฆาตกกรรม มาตัดวิบากของกุศลชนกกรรม คือ ทำให้ตาบอด แต่อกุศลอุปฆาตกกรรมนี้ไม่ได้ส่งผลให้เกิดอีกต่อไป เพราะพระจักขุปาลเถระได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ไม่มีการเกิดอีกต่อไปแล้ว ฉะนั้นอกุศลอุปฆาตกกรรมนี้จึงเป็นแต่เพียงตัดวิบากของกรรมอื่นๆเท่านั้นเอง หรือ พระโมคคัลลานเถระที่ถูกโจร ๕๐๐ ทุบตี ก็ด้วยอำนาจอกุศลกรรมที่เคยตีบิดา มารดาโดยมุ่งหมายที่จะให้ตายเช่นเดียวกัน อกุศลนี้ก็เป็นอุปฆาตกกรรมมาตัดวิบากของกรรมอื่นๆเท่านั้น ตัวเองก็ไม่มีโอกาสส่งผลอีกต่อไป เพราะว่าพระโมคคัลลานะท่านสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว

๓.๒ 
ตัดวิบากกรรมของกรรมอื่นๆแล้วและตัวเองส่งผลให้เกิด  ตัวอย่างเช่น นันทยักษ์เอากระบองตีศีรษะพระสารีบุตรในขณะที่กำลังเข้านิโรธสมาบัติ ก็ได้รับผลของการกระทำในปัจจุบันคือถูกธรณีสูบทั้งเป็น เมื่อตายไปแล้วไปเกิดในอเวจีมหานรก เพราะอำนาจของอกุศลอุปฆาตกกรรมส่งผลตัดวิบากกรรมของกรรมอื่นๆ คือทำให้ธรณีสูบและตัวเองก็ส่งผลนำให้ไปเกิดในอเวจีมหานรก

๓.๓ 
ตัดวิบากของกรรมอื่นๆแล้วและให้โอกาสแก่ชนกกรรมอื่นๆได้ส่งผล ตัวอย่างเช่น พระเจ้าพิมพิสารในอดีตชาติเคยสวมรองเท้าเข้าไปในบริเวณพุทธเจดีย์ ด้วยอำนาจแห่งอกุศลนั้น เมื่อเกิดมาในชาตินี้จึงถูกพระเจ้าอชาตศัตรูจับขังคุก ถูกกรีดฝ่าเท้า ทำให้ถึงแก่ความตาย แต่เมื่อตายแล้วกุศลชนกกรรมอื่นๆ ได้มีโอกาสส่งผลให้ไปเกิดเป็นเทวดาในชั้นจาตุมหาราชิกา นี้คืออกุศลอุปฆาตกกรรม ตัดวิบากของกรรมอื่นๆแล้วให้โอกาสแก่กุศลชนกกรรมอื่นๆได้ส่งผล 
 
พระเจ้าพิมพิสารถึงจะมีศรัทธาต่อพระพุทธเจ้ามากก็ไม่อาจหนีพ้นกรรมเก่า

ความต่างกันของชนกกรรมและอุปฆาตกกรรม 
ชนกกรรมและอุปฆาตกกรรม ถึงแม้ว่าต่างก็เป็นกรรมที่สามารถทำวิบากให้เกิดขึ้นได้เหมือนกันแต่ก็มีความต่างกัน โดยสรุป คือ 
ชนกกรรม เป็นกรรมสักแต่ว่าทำวิบากและกัมมชรูปให้เกิดขึ้นอย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีส่วนแห่งการเข้าไปตัดรอนความสามารถของกรรมอื่น
อุปฆาตกกรรม มีการเข้าไปตัดรอนวิบากของกรรมอื่น แล้วทำให้วิบากของตนเองเกิดขึ้นแทนได้ หรือตัดกรรมอื่นๆแล้ว ตัวเองไม่ส่งผลก็ได้ เช่น อรหัตมรรค ตัดรอนวิบากกรรมในนรก ในสุคติ ทั้งหมด เมื่อตัด แล้วก็ไม่ส่งผลนำเกิดในที่ใดได้อีก

สรุป อุปฆาตกกรรม เป็นหน้าที่ของกรรมบุคคลทั้งหลายรู้ไม่ได้ว่าเคยทำกรรมอะไรไว้ที่จะมีกำลังส่งผลมาเป็นอุปฆาตกกรรม จะรู้ถึงเหตุแห่งกรรมว่าดีหรือชั่วก็ต่อเมื่อกรรมนั้นมาสนองแล้ว ฉะนั้นเมื่อกำลังได้รับผลของกรรมฝ่ายกุศลหรือฝ่ายอกุศลก็ตามขอให้รู้เท่าทัน จะได้ไม่หลงติดสุขที่กำลังได้รับและไม่ทุกข์ใจ มากนักเมื่อกำลังได้รับทุกข์ แต่ในปัจจุบันนี้ต้องเพียรละชั่วกระทำแต่ความดี ไม่ประมาทในอกุศลกรรมแม้เพียงเล็กน้อย เพราะกรรมที่คิดว่าเพียงเล็กน้อย ทำไปเพราะคึกคะนองบ้าง ทำไปเพราะทำตามๆเขาบ้าง เหล่านี้ อาจมีกำลังส่งผลมาทำหน้าที่อุปฆาตกกรรมได้ 



๑.๓ อุปปีฬกกรรม

อุปปีฬกกรรม หมายถึง กรรมที่ทำหน้าที่เข้าไปเบียดเบียนกรรมอื่นๆ 

เป็นกรรมที่เบียดเบียนกรรม อื่นๆและการสืบต่อของขันธ์ ๕ ที่เกิดจากกรรมอื่นๆ องค์ธรรมได้แก่ อกุศลกรรม ๑๒ และมหากุศลกรรม ๘ กรรมที่ชื่อว่า อุปปีฬกกรรม เพราะมีความหมายว่า เข้าไปเบียดเบียนฉะนั้น อุปปีฬกกรรมจึงมีความหมายตรงกันข้ามกับอุปัตถัมภกกรรมนั้นเอง การเบียดเบียนเป็นการขัดขวางวิบากที่ชนกกรรมทำให้ เกิดขึ้นหลังจากสัตว์นั้นเกิดแล้ว ฉะนั้น สุขทุกข์อันเนื่องมาจากวิบากนั้นจึงลดลงหรือหมดไป

การเบียดเบียนของอุปปีฬกกรรม แบ่งออกได้ ๓ คือ 

๑. เบียดเบียนชนกกรรมอื่นๆ เพื่อไม่ให้มีโอกาสส่งผล มี ๒ คือ
๑.๑ กุศลที่ทำในภพนี้ เบียดเบียนอกุศลชนกกรรมเพื่อไม่ให้มีโอกาสส่งผล
ตัวอย่างเช่น ในชาตินี้บางบุคคลเป็นผู้ที่ทำแต่กุศลกรรมความดี เมื่อเกิดทุกข์ภัยพิบัติต่างๆ ในแวด วงเดียวกันต่างก็ได้รับทุกข์ภัย แต่เขาไม่ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนเช่นนั้นเลย ทั้งนี้ก็อาจเป็น เพราะว่ากุศลในภพนี้ไปเบียดเบียนอกุศลชนกกรรมนั้นๆไว้ไม่ให้มีโอกาสส่งผล
๑. ๒ อกุศลที่ทำในภพนี้ เบียดเบียนกุศลชนกกรรมเพื่อไม่ให้มีโอกาสส่งผล
ตัวอย่างเช่น ในชาตินี้บางบุคคลทำอกุศลกรรมไว้ ถึงแม้กุศลที่เคยทำไว้ก็มี แต่กุศลก็ไม่อาจส่งผล ได้ อาจเป็นเพราะอกุศลที่ทำในภพนี้ปิดกั้นเบียดเบียนกุศลชนกกรรมนั้นๆไว้ไม่ให้มีโอกาสส่งผล
๒. เบียดเบียนชนกกรรมอื่นๆ ที่มีโอกาสส่งผลอยู่แล้ว ให้มีกำลังลดน้อยลง มี ๒ คือ
๒.๑ กุศลที่ทำในปัจจุบันภพ เบียดเบียนอกุศลชนกกรรมที่กำลังมีโอกาสส่งผลอยู่ ให้มีกำลังลดน้อยลง
ตัวอย่างเช่น พระเจ้าอชาตศัตรูกระทำปิตุฆาตกรรมจะต้องตกอเวจีมหานรก แต่พระเจ้าอชาตศัตรู ได้สร้างกุศลไว้มาก คือ เป็นผู้อุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาในการทำปฐมสังคายนา และในบรรดา ปุถุชนทั้งหลายนั้นพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นผู้เลื่อมใสนับถือพระพุทธเจ้ามากที่สุด ด้วยอำนาจของกุศล เหล่านี้ จึงช่วยพระเจ้าอชาตศัตรูไม่ให้ไปตกในอเวจีมหานรกซึ่งเป็นนรกขุมใหญ่ แต่ไปตกในโลห-กุมภีอุสสทนรก ซึ่งเป็นนรกขุมเล็กที่เป็นบริวารของอเวจีมหานรก
๒.๒ อกุศลที่ทำในปัจจุบันภพ เบียดเบียนกุศลชนกกรรมที่กำลังมีโอกาสส่งผลอยู่ ให้มีกำลังลดน้อยลง 
ตัวอย่างเช่น บุคคลสร้างบุญกุศลสำเร็จแล้ว เดิมเจตนานั้นดีมาก ไม่มีความโลภ ความโกรธ ความ หลง มาแวดล้อมในการทำกุศล แต่เมื่อทำกุศลสำเร็จไปแล้ว มานึกเสียดายทรัพย์ที่ทำไป นึกถึงกุศล นั้นแล้วเกิดความไม่สบายใจ กลายเป็นอกุศลเกิดขึ้น หลังจากทำกุศลแล้ว เจตนาที่เป็นอกุศล ใน คราวหลังนี้เป็นผลทำให้กุศลนั้นมีกำลังอ่อน เพราะอกุศลที่เกิดขึ้นภายหลัง ไปเบียดเบียนกุศลที่ทำอยู่แล้วที่ควรจะได้ผลโดยสมบูรณ์ ก็ได้ผลไม่สมบูรณ์ เพราะเจตนานั้นไม่สมบูรณ์ การทำกุศลต้องประกอบด้วยเจตนาทั้ง ๓ กาล คือ ก่อนทำ ขณะทำ และหลังจากทำแล้ว ต้องไม่ถูกแวดล้อมด้วยอกุศลไม่มีอกุศลเข้ามาเจือปน

๓. เบียดเบียนรูปนามที่เกิดจากชนกกรรมนั้นๆ มี ๒ ประการ คือ
๓.๑ อกุศลอุปปีฬกกรรม เบียดเบียนรูปนามที่เกิดจากกุศลชนกกรรม
ตัวอย่างเช่น บุคคลเกิดมามีร่างกายแข็งแรง ต่อมาอ่อนแอ มีโรคภัยเบียดเบียน เป็นเบาหวานต้องถูกตัดขา เป็นอัมพาต เป็นมะเร็ง ถ้าถามว่า ทำไมจึงอ่อนแอลง ? ตอบได้ว่า อาจเป็นเพราะด้วยอำนาจของอกุศลอุปปีฬกกรรมมาเบียดเบียนรูปนามที่เกิดจากกุศลชนกกรรมให้อ่อนกำลังลง
๓.๒ กุศลอุปปีฬกกรรม เบียดเบียนรูปนามที่เกิดจากอกุศลกรรม 
รูปนามที่เกิดจากอกุศลกรรมนั้นเป็นรูปนามของบุคคลในอบายภูมิทั้ง ๔ คือ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์ดิรัจฉาน ตัวอย่างเช่น สุนัข นก ปลา ช้าง ถึงแม้นจะมีสีสวยงาม น่ารัก แข็งแรง อย่างไรก็ตาม รูปนามนั้นก็เกิดมาจากอกุศลกรรม สัตว์บางตัวเกิดมาแล้วก็ได้รับทุกข์ต่างๆนาๆ ซึ่ง ก็เป็นผลของอกุศลกรรมตามมาส่งผลเบียดเบียนรูปนามนี้ให้ได้รับทุกข์ ต่อมาอาจจะเจอคนที่มีเมตตาให้การเลี้ยงดู ทำให้ได้รับความสุขสบายในภายหลัง ถ้าถามว่าทำไมจึงดีขึ้น ? ตอบได้ว่า อาจเป็นเพราะกุศลมาเบียดเบียนนามรูปที่เกิดจากอกุศลนี้ เมื่ออกุศลอ่อนกำลังลง กุศลได้โอกาส เบียดเบียนอกุศลแล้วก็ทำให้ดีขึ้น เจริญขึ้นได้