วันพุธ

ความประเสริฐของมนุษย์

มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐขึ้นมาเลยก็หาไม่ แต่ประเสริฐได้ด้วยการฝึก

ขอย้ำว่าพระพุทธศาสนาไม่ได้ถือว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐเฉยๆ มนุษย์นั้นเป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการฝึก ถ้าไม่ฝึกแล้วหาประเสริฐไม่ เราไปพูดกันว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐ พูดด้วนๆขาดห้วนไป ต้องพูดให้เต็มว่ามนุษย์นั้นเป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการฝึก เมื่อฝึกแล้วประเสริฐสุด

ทั้งนี้ตามบาลีว่า ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ (ขุ.ธ.๒๕/๓๓) แปลว่า ในหมู่มนุษย์นั้น ผู้ที่ฝึกแล้วเป็นผู้ประเสริฐสุด ประเสริฐสุดจนกระทั่งแม้แต่เทวดาและพรหมก็น้อมนมัสการ

ความดีเลิศประเสริฐของมนุษย์นั้น จึงอยู่ที่การเรียนรู้ฝึกศึกษาพัฒนาตนขึ้นไป มนุษย์จะเอาดีไม่ได้ ถ้าไม่มีการเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาตน เพราะฉะนั้น จึงต้องพูดให้เต็มว่า

มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐด้วยการฝึก” 

ไม่ควรพูดแค่ว่า มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ ซึ่งเป็นการพูดที่ตกหล่นบกพร่อง เพราะว่ามนุษย์นี้ ต้องฝึกจึงจะประเสริฐ ถ้าไม่ฝึก ก็ไม่ประเสริฐ

คำว่า “ฝึก” นี้ พูดตามคำหลักแท้ๆ คือ สิกขา หรือศึกษา ถ้าพูดอย่างสมัยใหม่ ก็ได้แก่คำว่า เรียนรู้และพัฒนา พูดรวมๆ กันไปว่า เรียนรู้ฝึกหัดพัฒนา หรือเรียนรู้ฝึกศึกษาพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ คือจุดเริ่มของพระพุทธศาสนา

ความจริงแห่งธรรมชาติของมนุษย์ในข้อที่ว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้นี้ พระพุทธศาสนาถือเป็นหลักสำคัญ ซึ่งสัมพันธ์กับความเป็นพระศาสดาและการทรงทำหน้าที่ของพระพุทธเจ้า ดังที่ได้เน้นไว้ในพุทธคุณบทที่ว่า

อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ  สตฺถา เทวมนุสฺสานํ  “เป็นสารถีฝึกคนที่ควรฝึก ผู้ยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวะและมนุษย์ทั้งหลาย” [ม.มู. ๑๒/๙๕/๖๗]

มีพุทธพจน์มากมาย ที่เน้นย้ำหลักการฝึกฝนพัฒนาตนของมนุษย์ และเร้าเตือน พร้อมทั้งส่งเสริมกำลังใจ ให้ทุกคนมุ่งมั่นในการฝึกศึกษาพัฒนาตนจนถึงที่สุด เช่น วรมสฺสตรา ทนฺตา อาชานียา จ สินฺธวา กุญฺชรา จ มหานาคา อตฺตทนฺโต ตโต วรํ “อัสดร สินธพ อาชาไนย กุญชร และช้างหลวง ฝึกแล้วล้วนดีเลิศ แต่คนที่ฝึกตนแล้วประเสริฐกว่า(ทั้งหมด)นั้น” [ขุ.ธ. ๒๕/๓๓/๕๗]ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ. “ในหมู่มนุษย์ ผู้ประเสริฐสุด คือคนที่ฝึกแล้ว” [ขุ.ธ. ๒๕/๓๓/๕๗]

วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน โส เสฏฺโฐ เทวมานุเส. “ผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจริยะ เป็นผู้ประเสริฐสุด ทั้งในหมู่มนุษย์และมวลเทวา” [สํ.นิ. ๑๖/๗๒๔/๓๓๑]

อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ โก หิ นาโถ ปโร สิยา อตฺตนา หิ สุทนฺเตน นาถํ ลภติ ทุลฺลภํ  “ตนแลเป็นที่พึ่งของตน แท้จริงนั้น คนอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้ มีตนที่ฝึกดีแล้วนั่นแหละ คือได้ที่พึ่งซึ่งหาได้ยาก”        [ขุ.ธ. ๒๕/๒๒/๓๖]มนุสฺสภูตํ สมฺพุทฺธํ อตฺตทนฺตํ  สมาหิตํ เทวาปิ ตํ นมสฺสนฺติ  “พระสัมพุทธเจ้า ทั้งที่เป็นมนุษย์นี่แหละ แต่ทรงฝึกพระองค์แล้ว มีพระหฤทัยซึ่งอบรมถึงที่แล้ว แม้เทพทั้งหลายก็น้อมนมัสการ”  [องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๓๑๔/๓๘๖]

คาถานี้เป็นการให้กำลังใจแก่มนุษย์ว่า มนุษย์ที่ฝึกแล้วนั้น เลิศประเสริฐ จนกระทั่งแม้แต่เทวดาและพรหมก็น้อมนมัสการ ความหมายที่ต้องการในที่นี้ ก็คือ การมองมนุษย์ว่าเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ และมีความสามารถในการฝึกตัวเองได้จนถึงที่สุด แต่ต้องฝึกจึงจะเป็นอย่างนั้นได้ และกระตุ้นเตือนให้เกิดจิตสำนึกตระหนักในการที่จะต้องปฏิบัติตามหลักแห่งการศึกษาฝึกฝนพัฒนาตนนั้น ถ้าใช้คำศัพท์สมัยปัจจุบัน ก็พูดว่า มนุษย์มีศักยภาพสูง มีความสามารถที่จะศึกษาฝึกตนได้จนถึงขั้นเป็นพุทธะ 

ศักยภาพนี้เรียกว่า โพธิ ซึ่งแสดงว่าจุดเน้นอยู่ที่ปัญญา เพราะโพธินั้น แปลว่า ปัญญาตรัสรู้ คือปัญญาที่ทำให้มนุษย์กลายเป็นพุทธะ

ในการศึกษาตามหลักพุทธศาสนาหรือการปฏิบัติธรรมนั้น สิ่งสำคัญที่จะต้องมีเป็นจุดเริ่มต้น คือ ความเชื่อในโพธินี้ ที่เรียกว่า โพธิศรัทธา ซึ่งถือว่าเป็นศรัทธาพื้นฐาน เมื่อมนุษย์เชื่อในปัญญาที่ทำให้มนุษย์เป็นพุทธะได้แล้ว เขาก็พร้อมที่จะศึกษาฝึกฝนพัฒนาตนต่อไป ตามที่กล่าวมานี้จะเห็นว่า คำว่า โพธิ นั้น ให้จุดเน้นทั้งในด้านของศักย-ภาพที่มนุษย์ฝึกได้จนถึงที่สุด และในด้านของปัญญา ให้เห็นว่าแกนนำของการฝึกศึกษาพัฒนานั้นอยู่ที่ปัญญา และศักยภาพสูงสุดก็แสดงออกที่ปัญญา เพราะตัวแทนหรือจุดศูนย์รวมของการพัฒนาอยู่ที่ปัญญา เพื่อจะให้โพธินี้ปรากฏขึ้นมา ทำบุคคลให้กลายเป็นพุทธะ เราจึงต้องมีกระบวนการฝึกหรือพัฒนาคน ที่เรียกว่าสิกขา ซึ่งก็คือ การศึกษา

สิกขา คือกระบวนการการศึกษา ที่ฝึกหรือพัฒนามนุษย์ ให้โพธิปรากฏขึ้น จนในที่สุดทำให้มนุษย์นั้นกลายเป็นพุทธะ พระพุทธเจ้ามาแก้ปัญหานี้ ก็เรียกว่าปฏิวัติสังคม โดยดึงให้คนหันมาดูตัวเองว่า เราจะต้องทำอะไรบ้าง จากการที่ดูว่าตัวจะต้องทำอะไรบ้าง ก็เลยต้องชี้ไปที่ธรรม คือ ความเป็นไปตามเหตุปัจจัยนี่แหละ นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ

พระพุทธเจ้ามาสอนให้เราสนใจเรื่องความสามารถพิเศษที่มีอยู่ในตัวเอง  ความพิเศษของมนุษย์นั้น  คือการเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ คนที่ฝึกได้ ภาษาบาลีเรียกว่า ทัมมะ พูดสั้นๆว่า ทัมม์ (ทัมม์ ท ทหาร)

สัตว์ทั้งหลายอื่นโดยทั่วไปฝึกไม่ได้ สัตว์บางชนิดฝึกได้บ้างในขอบเขตจำกัด แต่ฝึกตัวเองไม่ได้ ต้องให้คนฝึก อันนี้เป็นข้อพิเศษ แม้สัตว์ที่ฝึกได้บ้าง ก็ยังต้องอาศัยคนฝึก  

ช้างฝึกตัวเองได้ไหม ไม่ได้ ม้าฝึกตัวเองได้ไหม ไม่ได้     ลิงฝึกตัวเองได้ไหม ไม่ได้   ต้องให้คนฝึกให้ทั้งนั้น ท่านจึงว่า

วรมสฺสตรา ทนฺตา อาชานียา จ สินฺธวา (ขุ.ธ.๒๕/๓๓) เป็นต้น แปลว่า อัสดร สินธพ ม้าอาชาไนย ช้างหลวง ช้างพลาย เมื่อได้รับการฝึกแล้วก็ประเสริฐ เป็นสัตว์ที่เก่ง  

แต่มนุษย์ที่ฝึกแล้วประเสริฐกว่านั้น คือ สัตว์ทั้งหลายที่ฝึกไปถึงระดับหนึ่ง มันไปไม่ไหวแล้ว มันได้แค่นั้น แต่มนุษย์ฝึกตัวเองได้ และฝึกได้ไม่มีที่สิ้นสุด  จนเป็นพุทธะได้ ประเสริฐเลิศที่สุด เพราะฉะนั้นมนุษย์จะต้องหันมาดูความพิเศษของตัวเองตรงนี้ แทนที่จะไปติดอยู่กับคำว่า มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ แล้วหลงภูมิใจตัวเองด้วยความหลง แล้วก็ติดตันอยู่แค่นั้น ไม่พัฒนา อย่าเอาเลย หันมาสนใจที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีกว่า ว่าความวิเศษและประเสริฐของมนุษย์นั้นอยู่ที่ความเป็นสัตว์ที่ฝึกได้  อันนี้มีประโยชน์กว่า ถ้าเรามาถือตามพุทธพจน์ว่า  มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้และต้องฝึกนี้ เราจะเห็นทางปฏิบัติเดินหน้าไป บางทีเราก็เพลินมองข้ามไปเหมือนกัน ถ้าเราจะเอาคำที่ว่า มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ ก็ต้องต่อด้วยว่า เป็นสัตว์ประเสริฐด้วยการฝึก จึงจะครบถ้วนใจความที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้                                                 

 สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ป.อ.ปยุตฺโต

วันอาทิตย์

๑.๔ อุปฆาตกกรรม

อุปฆาตกกรรม หมายถึง กรรมที่ทำหน้าที่เข้าไปตัดรอนกรรมอื่นๆและการสืบต่อของขันธ์ ๕ ที่เกิดจากกรรมอื่นๆ องค์ธรรมได้แก่ อกุศลกรรม ๑๒ และกุศลกรรม ๒๑ 

กรรมที่ชื่อว่า อุปฆาตกกรรม เพราะมีความหมายว่า เข้าไปตัดรอนกุศลหรืออกุศลก็ตาม ถ้าเกิดขึ้นแล้วก็จะตัดรอนกรรมอื่นๆ ให้มีกำลังน้อยลง หรือขัดขวางวิบากของกรรมที่มีกำลังน้อย ให้สิ้นลงอย่างเด็ดขาด แตกต่างไปจากอุปปีฬกกรรม ตรงที่อุปปีฬกกรรมเพียงไปเบียดเบียนให้อ่อนกำลังลงแต่ยังไม่หมดไป แต่อุปฆาตกกรรมนี้ทำให้ตัดขาดไปเลย 

อุปฆาตกกรรม มี ๓ คือ 
๑. ตัดชนกกรรมอื่นๆ เพื่อไม่ให้มีโอกาสส่งผลตลอดไป 
๒. ตัดรูปนามที่เกิดจากชนกกรรมนั้นๆให้เสียไป
๓. ตัดรูปนามที่เป็นวิบากกรรมของกรรมอื่นๆ

๑. ตัดชนกกรรมอื่นๆ เพื่อไม่ให้มีโอกาสส่งผลตลอดไป มี ๓ คือ 
๑.๑ กุศลอุปฆาตกกรรม ตัดอกุศลชนกกรรมไม่ให้มีโอกาสส่งผลตลอดไป ตัวอย่างเช่น ท่านองคุลิมาลได้ศึกษาในสำนักทิศาปาโมกข์ แล้วอาจารย์สอนให้ไปฆ่าคน เพื่อจะให้สำเร็จวิชาที่ตนศึกษา แต่พระพุทธองค์ได้ทรงเล็งเห็นด้วยพระญาณแล้วว่า องคุลิมาลเป็นผู้ที่จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ จึงเสด็จไปโปรดเมื่อพบพระพุทธองค์แล้วองคุลิมาลก็ออกบวชทำความ เพียรจนสำเร็จมรรคผล กรรมที่ฆ่าคนเป็นจำนวนมากนั้นก็กลายเป็นอโหสิกรรมไป เพราะอรหัตมรรคอรหัตผลไปตัดอกุศลกรรมต่างๆ ไม่ให้มีโอกาสส่งผลต่อไป 

 ๑.๒ กุศลอุปฆาตกกรรม ตัดกุศลชนกกรรมไม่ให้มีโอกาสส่งผลตลอดไป ตัวอย่างเช่น ผู้ที่สร้างกุศลบำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ซึ่งเป็นกามาวจรกุศล ต่อมาบำเพ็ญ กุศลสูงขึ้นถึงขั้นภาวนากุศล คือ เจริญสมถภาวนา วิปัสสนาภาวนา เมื่อเจริญสมถะได้ถึงรูปปัญจม ฌาน เมื่อตายลงจะต้องไปเกิดในจตุตถฌานภูมิ ส่วนฌานขั้นต้นๆ คือปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน ก็ไม่ส่งผล เพราะรูปกุศลปัญจมฌานเป็นกุศลอุปฆาตกกรรมตัดรูปกุศลขั้นต้นๆ นั้น ไม่ให้มีโอกาสส่งผล หรือผู้ทำฌานจนกระทั่งถึงอรูปฌาน เมื่อตายจะต้องไปเกิดในอรูปพรหม จึงเป็นผลให้รูปาวจรกุศลทั้งหมดไม่ส่งผล เพราะกุศลในอรูปฌานเป็นกุศลอุปฆาตกกรรม ตัดรูปาวจรกุศลทั้งหมด และกุศล อรูปฌานขั้นที่ ๔ ก็เป็นอุปฆาตกกรรมตัดการส่งผลของอรูปฌานขั้นต้นๆ ทั้งหมดเช่นกัน หรือเจริญวิปัสสนาจนถึงโลกุตตรกุศลในขั้นอรหัตมรรค อรหัตผล ก็ไปตัดรูปาวจรกุศล และ อรูปาวจรกุศลไม่ให้ส่งผลนำไปเกิดในรูปภูมิ อรูปภูมิ เพราะอรหัตมรรค อรหัตผลไม่ส่งผลนำไปเกิดในภูมิใดๆ

 ๑.๓ อกุศลอุปฆาตกกรรม ตัดกุศลชนกกรรมไม่ให้มีโอกาสส่งผลตลอดไป ตัวอย่างเช่น พระเทวทัตบำเพ็ญฌานจนสำเร็จรูปฌาน มีฤทธิ์มาก อยู่ต่อมาพระเทวทัตคิดทำร้าย พระพุทธเจ้า โดยการกลิ้งก้อนหินลงมาจากภูเขาให้ทับพระพุทธเจ้าแต่มีเพียงสะเก็ดหินไปถูกที่พระบาทของพระพุทธเจ้าจนห้อพระโลหิต และทำสังฆเภท คือ ทำสงฆ์ให้แตกแยกกัน ใน ๒ กรณีนี้ เป็นอนันตริยกรรม ฌานที่เคยได้ก็เสื่อมลงเพราะอกุศลมีอำนาจแรงกว่าก็ไปตัดรอนกุศลให้เสื่อมลง จนพระเทวทัตต้องตกอเวจีมหานรกในที่สุด ด้วยอำนาจของอกุศล เรียกว่า อกุศลอุปฆาตกกรรมไปตัดรอนกุศลชนกกรรมอื่นๆ ไม่ให้มีโอกาสส่งผลตลอดไป

 ๒. อุปฆาตกกรรมตัดนามรูป ที่เกิดจากชนกกรรมนั้นๆให้เสียไป มี ๔ คือ
๒.๑ กุศลอุปฆาตกกรรม ตัดนามรูปที่เป็นอกุศลวิบาก
ให้เสียไป ตัวอย่างเช่น ผู้ที่ตายจากมนุษย์นี้ไปเกิดเป็นสัตว์นรก รับทุกข์ทรมานอยู่ในนรก อยู่ต่อมาเห็นเปลวไฟนรกลุกเป็นสีเหลือง ก็ระลึกได้ว่าเคยสร้างกุศลไว้ เคยบวชพระ ถวายจีวร เคยปิดทองพระพุทธรูป อำนาจของกุศลที่ระลึกได้ ก็มาเป็นอุปฆาตกกรรมมาตัดรอนอกุศล คือรูปนามในนรกนี้ให้สิ้นสุดลง ตายจากนรกไปเกิดในมนุษย์หรือเทวดาก็ด้วยอำนาจของกุศล

๒.๒ กุศลอุปฆาตกกรรม ตัดนามรูปที่เป็นกุศลวิบาก
ให้เสียไป ตัวอย่างเช่น รูปนามที่บุคคลได้มาในปัจจุบันจัดเป็นกุศลวิบาก อยู่ต่อมาได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในขณะที่ยังเป็นฆราวาสอยู่ อรหัตมรรค อรหัตผล นี้ จัดเป็นกุศลที่ยิ่งใหญ่ ก็ต้องบวชภายในวันนั้น ถ้าไม่บวชก็ต้องตาย ที่ตายก็เพราะอำนากุศลนั้นเป็นอุปฆาตกกรรม ไปตัดกุศลนามรูปให้สิ้นสุดลง เพราะว่าอรหัตมรรค อรหัตผลนี้ เพศฆราวาสไม่สามารถจะ รองรับได้ เพศฆราวาสจะรองรับกุศลได้เพียง แค่ศีล ๕ ศีล ๘ เท่านั้น อรรถกถาจารย์ ยกตัวอย่างน้ำมันของราชสีห์ ภาชนะที่จะรองรับน้ำมันของราชสีห์ได้นั้น ต้องเป็นทองคำ ถ้าใช้ภาชนะอื่นไปรองรับน้ำมันจะระเหยแห้งไปหมด ฉันใดก็ดี คุณธรรมคืออรหัตมรรค อรหัตผลนี้ เพศฆราวาสไม่สามารถจะรองรับได้ ถ้าหากว่าสำเร็จแล้วไม่บวชก็จะต้องสิ้นอายุขัย

๒.๓ อกุศลอุปฆาตกกรรม ตัดนามรูปที่เป็นกุศลวิบาก
ให้เสียไป ตัวอย่างเช่น มนุษย์นี้เกิดมามีนามรูปที่เกิดมาจากกุศลวิบาก บางคนเกิดมามีอวัยวะทุกอย่าง สมบูรณ์ ต่อมาอกุศลกรรมที่เคยทำไว้ในอดีตมาตัดรอน ทำให้ถูกรถชน ทำให้พิการ ก็เพราะอำนาจ ของอกุศลอุปฆาตกกรรมมาตัดรอน ทำให้รูปนามที่เป็นกุศลวิบากนี้เสียไป

๒.๔ อกุศลอุปฆาตกกรรม ตัดนามรูปที่เป็นอกุศลวิบาก
ให้เสียไป ตัวอย่างเช่น สัตว์เดรัจฉาน ร่างกายของสัตว์เดรัจฉานจัดเป็นอกุศลวิบาก ถึงแม้จะมีสีสวย ขนปุกปุย สวยงาม ก็เป็นรูปนามที่เป็นอกุศลวิบาก ต่อมาถูกยิง ถูกทำร้าย ถูกฆ่า ก็เพราะอกุศลอุปฆาตกกรรม ตัดรูปนามที่เป็นอกุศลวิบากให้เสียไป

๓. ตัดรูปนาม ที่เป็นวิบากกรรมของกรรมอื่นๆ มี ๓ คือ
๓.๑ ตัดวิบากของกรรมอื่นๆแล้วตัวเองก็ไม่ได้ส่งผลให้เกิดและก็ไม่ให้มีโอกาสแก่ชนกกรรมอื่นๆ ได้ส่งผล ตัวอย่างเช่น พระจักขุปาลเถระ เมื่ออดีตชาติเคยเป็นหมอรักษาตา และเคยมีเจตนาทำลายดวงตาของผู้ป่วย เพราะความโกรธที่ผู้ป่วยไม่จ่ายค่ารักษา จึงใส่ยาทำให้เขาตาบอด อำนาจของอกุศลกรรมที่พระจักขุปาลเถระได้กระทำในครั้งนั้น จึงทำให้ตาทั้งสองของท่านเสียไปจนตลอดชีวิต ก็เป็นเพราะอกุศลอุปฆาตกกรรม มาตัดวิบากของกุศลชนกกรรม คือ ทำให้ตาบอด แต่อกุศลอุปฆาตกกรรมนี้ไม่ได้ส่งผลให้เกิดอีกต่อไป เพราะพระจักขุปาลเถระได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ไม่มีการเกิดอีกต่อไปแล้ว ฉะนั้นอกุศลอุปฆาตกกรรมนี้จึงเป็นแต่เพียงตัดวิบากของกรรมอื่นๆเท่านั้นเอง หรือ พระโมคคัลลานเถระที่ถูกโจร ๕๐๐ ทุบตี ก็ด้วยอำนาจอกุศลกรรมที่เคยตีบิดา มารดาโดยมุ่งหมายที่จะให้ตายเช่นเดียวกัน อกุศลนี้ก็เป็นอุปฆาตกกรรมมาตัดวิบากของกรรมอื่นๆเท่านั้น ตัวเองก็ไม่มีโอกาสส่งผลอีกต่อไป เพราะว่าพระโมคคัลลานะท่านสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว

๓.๒ 
ตัดวิบากกรรมของกรรมอื่นๆแล้วและตัวเองส่งผลให้เกิด  ตัวอย่างเช่น นันทยักษ์เอากระบองตีศีรษะพระสารีบุตรในขณะที่กำลังเข้านิโรธสมาบัติ ก็ได้รับผลของการกระทำในปัจจุบันคือถูกธรณีสูบทั้งเป็น เมื่อตายไปแล้วไปเกิดในอเวจีมหานรก เพราะอำนาจของอกุศลอุปฆาตกกรรมส่งผลตัดวิบากกรรมของกรรมอื่นๆ คือทำให้ธรณีสูบและตัวเองก็ส่งผลนำให้ไปเกิดในอเวจีมหานรก

๓.๓ 
ตัดวิบากของกรรมอื่นๆแล้วและให้โอกาสแก่ชนกกรรมอื่นๆได้ส่งผล ตัวอย่างเช่น พระเจ้าพิมพิสารในอดีตชาติเคยสวมรองเท้าเข้าไปในบริเวณพุทธเจดีย์ ด้วยอำนาจแห่งอกุศลนั้น เมื่อเกิดมาในชาตินี้จึงถูกพระเจ้าอชาตศัตรูจับขังคุก ถูกกรีดฝ่าเท้า ทำให้ถึงแก่ความตาย แต่เมื่อตายแล้วกุศลชนกกรรมอื่นๆ ได้มีโอกาสส่งผลให้ไปเกิดเป็นเทวดาในชั้นจาตุมหาราชิกา นี้คืออกุศลอุปฆาตกกรรม ตัดวิบากของกรรมอื่นๆแล้วให้โอกาสแก่กุศลชนกกรรมอื่นๆได้ส่งผล 
 
พระเจ้าพิมพิสารถึงจะมีศรัทธาต่อพระพุทธเจ้ามากก็ไม่อาจหนีพ้นกรรมเก่า

ความต่างกันของชนกกรรมและอุปฆาตกกรรม 
ชนกกรรมและอุปฆาตกกรรม ถึงแม้ว่าต่างก็เป็นกรรมที่สามารถทำวิบากให้เกิดขึ้นได้เหมือนกันแต่ก็มีความต่างกัน โดยสรุป คือ 
ชนกกรรม เป็นกรรมสักแต่ว่าทำวิบากและกัมมชรูปให้เกิดขึ้นอย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีส่วนแห่งการเข้าไปตัดรอนความสามารถของกรรมอื่น
อุปฆาตกกรรม มีการเข้าไปตัดรอนวิบากของกรรมอื่น แล้วทำให้วิบากของตนเองเกิดขึ้นแทนได้ หรือตัดกรรมอื่นๆแล้ว ตัวเองไม่ส่งผลก็ได้ เช่น อรหัตมรรค ตัดรอนวิบากกรรมในนรก ในสุคติ ทั้งหมด เมื่อตัด แล้วก็ไม่ส่งผลนำเกิดในที่ใดได้อีก

สรุป อุปฆาตกกรรม เป็นหน้าที่ของกรรมบุคคลทั้งหลายรู้ไม่ได้ว่าเคยทำกรรมอะไรไว้ที่จะมีกำลังส่งผลมาเป็นอุปฆาตกกรรม จะรู้ถึงเหตุแห่งกรรมว่าดีหรือชั่วก็ต่อเมื่อกรรมนั้นมาสนองแล้ว ฉะนั้นเมื่อกำลังได้รับผลของกรรมฝ่ายกุศลหรือฝ่ายอกุศลก็ตามขอให้รู้เท่าทัน จะได้ไม่หลงติดสุขที่กำลังได้รับและไม่ทุกข์ใจ มากนักเมื่อกำลังได้รับทุกข์ แต่ในปัจจุบันนี้ต้องเพียรละชั่วกระทำแต่ความดี ไม่ประมาทในอกุศลกรรมแม้เพียงเล็กน้อย เพราะกรรมที่คิดว่าเพียงเล็กน้อย ทำไปเพราะคึกคะนองบ้าง ทำไปเพราะทำตามๆเขาบ้าง เหล่านี้ อาจมีกำลังส่งผลมาทำหน้าที่อุปฆาตกกรรมได้ 



๑.๓ อุปปีฬกกรรม

อุปปีฬกกรรม หมายถึง กรรมที่ทำหน้าที่เข้าไปเบียดเบียนกรรมอื่นๆ 

เป็นกรรมที่เบียดเบียนกรรม อื่นๆและการสืบต่อของขันธ์ ๕ ที่เกิดจากกรรมอื่นๆ องค์ธรรมได้แก่ อกุศลกรรม ๑๒ และมหากุศลกรรม ๘ กรรมที่ชื่อว่า อุปปีฬกกรรม เพราะมีความหมายว่า เข้าไปเบียดเบียนฉะนั้น อุปปีฬกกรรมจึงมีความหมายตรงกันข้ามกับอุปัตถัมภกกรรมนั้นเอง การเบียดเบียนเป็นการขัดขวางวิบากที่ชนกกรรมทำให้ เกิดขึ้นหลังจากสัตว์นั้นเกิดแล้ว ฉะนั้น สุขทุกข์อันเนื่องมาจากวิบากนั้นจึงลดลงหรือหมดไป

การเบียดเบียนของอุปปีฬกกรรม แบ่งออกได้ ๓ คือ 

๑. เบียดเบียนชนกกรรมอื่นๆ เพื่อไม่ให้มีโอกาสส่งผล มี ๒ คือ
๑.๑ กุศลที่ทำในภพนี้ เบียดเบียนอกุศลชนกกรรมเพื่อไม่ให้มีโอกาสส่งผล
ตัวอย่างเช่น ในชาตินี้บางบุคคลเป็นผู้ที่ทำแต่กุศลกรรมความดี เมื่อเกิดทุกข์ภัยพิบัติต่างๆ ในแวด วงเดียวกันต่างก็ได้รับทุกข์ภัย แต่เขาไม่ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนเช่นนั้นเลย ทั้งนี้ก็อาจเป็น เพราะว่ากุศลในภพนี้ไปเบียดเบียนอกุศลชนกกรรมนั้นๆไว้ไม่ให้มีโอกาสส่งผล
๑. ๒ อกุศลที่ทำในภพนี้ เบียดเบียนกุศลชนกกรรมเพื่อไม่ให้มีโอกาสส่งผล
ตัวอย่างเช่น ในชาตินี้บางบุคคลทำอกุศลกรรมไว้ ถึงแม้กุศลที่เคยทำไว้ก็มี แต่กุศลก็ไม่อาจส่งผล ได้ อาจเป็นเพราะอกุศลที่ทำในภพนี้ปิดกั้นเบียดเบียนกุศลชนกกรรมนั้นๆไว้ไม่ให้มีโอกาสส่งผล
๒. เบียดเบียนชนกกรรมอื่นๆ ที่มีโอกาสส่งผลอยู่แล้ว ให้มีกำลังลดน้อยลง มี ๒ คือ
๒.๑ กุศลที่ทำในปัจจุบันภพ เบียดเบียนอกุศลชนกกรรมที่กำลังมีโอกาสส่งผลอยู่ ให้มีกำลังลดน้อยลง
ตัวอย่างเช่น พระเจ้าอชาตศัตรูกระทำปิตุฆาตกรรมจะต้องตกอเวจีมหานรก แต่พระเจ้าอชาตศัตรู ได้สร้างกุศลไว้มาก คือ เป็นผู้อุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาในการทำปฐมสังคายนา และในบรรดา ปุถุชนทั้งหลายนั้นพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นผู้เลื่อมใสนับถือพระพุทธเจ้ามากที่สุด ด้วยอำนาจของกุศล เหล่านี้ จึงช่วยพระเจ้าอชาตศัตรูไม่ให้ไปตกในอเวจีมหานรกซึ่งเป็นนรกขุมใหญ่ แต่ไปตกในโลห-กุมภีอุสสทนรก ซึ่งเป็นนรกขุมเล็กที่เป็นบริวารของอเวจีมหานรก
๒.๒ อกุศลที่ทำในปัจจุบันภพ เบียดเบียนกุศลชนกกรรมที่กำลังมีโอกาสส่งผลอยู่ ให้มีกำลังลดน้อยลง 
ตัวอย่างเช่น บุคคลสร้างบุญกุศลสำเร็จแล้ว เดิมเจตนานั้นดีมาก ไม่มีความโลภ ความโกรธ ความ หลง มาแวดล้อมในการทำกุศล แต่เมื่อทำกุศลสำเร็จไปแล้ว มานึกเสียดายทรัพย์ที่ทำไป นึกถึงกุศล นั้นแล้วเกิดความไม่สบายใจ กลายเป็นอกุศลเกิดขึ้น หลังจากทำกุศลแล้ว เจตนาที่เป็นอกุศล ใน คราวหลังนี้เป็นผลทำให้กุศลนั้นมีกำลังอ่อน เพราะอกุศลที่เกิดขึ้นภายหลัง ไปเบียดเบียนกุศลที่ทำอยู่แล้วที่ควรจะได้ผลโดยสมบูรณ์ ก็ได้ผลไม่สมบูรณ์ เพราะเจตนานั้นไม่สมบูรณ์ การทำกุศลต้องประกอบด้วยเจตนาทั้ง ๓ กาล คือ ก่อนทำ ขณะทำ และหลังจากทำแล้ว ต้องไม่ถูกแวดล้อมด้วยอกุศลไม่มีอกุศลเข้ามาเจือปน

๓. เบียดเบียนรูปนามที่เกิดจากชนกกรรมนั้นๆ มี ๒ ประการ คือ
๓.๑ อกุศลอุปปีฬกกรรม เบียดเบียนรูปนามที่เกิดจากกุศลชนกกรรม
ตัวอย่างเช่น บุคคลเกิดมามีร่างกายแข็งแรง ต่อมาอ่อนแอ มีโรคภัยเบียดเบียน เป็นเบาหวานต้องถูกตัดขา เป็นอัมพาต เป็นมะเร็ง ถ้าถามว่า ทำไมจึงอ่อนแอลง ? ตอบได้ว่า อาจเป็นเพราะด้วยอำนาจของอกุศลอุปปีฬกกรรมมาเบียดเบียนรูปนามที่เกิดจากกุศลชนกกรรมให้อ่อนกำลังลง
๓.๒ กุศลอุปปีฬกกรรม เบียดเบียนรูปนามที่เกิดจากอกุศลกรรม 
รูปนามที่เกิดจากอกุศลกรรมนั้นเป็นรูปนามของบุคคลในอบายภูมิทั้ง ๔ คือ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์ดิรัจฉาน ตัวอย่างเช่น สุนัข นก ปลา ช้าง ถึงแม้นจะมีสีสวยงาม น่ารัก แข็งแรง อย่างไรก็ตาม รูปนามนั้นก็เกิดมาจากอกุศลกรรม สัตว์บางตัวเกิดมาแล้วก็ได้รับทุกข์ต่างๆนาๆ ซึ่ง ก็เป็นผลของอกุศลกรรมตามมาส่งผลเบียดเบียนรูปนามนี้ให้ได้รับทุกข์ ต่อมาอาจจะเจอคนที่มีเมตตาให้การเลี้ยงดู ทำให้ได้รับความสุขสบายในภายหลัง ถ้าถามว่าทำไมจึงดีขึ้น ? ตอบได้ว่า อาจเป็นเพราะกุศลมาเบียดเบียนนามรูปที่เกิดจากอกุศลนี้ เมื่ออกุศลอ่อนกำลังลง กุศลได้โอกาส เบียดเบียนอกุศลแล้วก็ทำให้ดีขึ้น เจริญขึ้นได้ 



 

๑.๒ อุปัตถัมภกกรรม

อุปัตถัมภกกรรม หมายถึง กรรมที่ทำหน้าที่ช่วยอุดหนุนกรรมอื่นๆ

เป็นกรรมที่อุปถัมภ์กรรมอื่นๆ คือ ช่วยอุปถัมภ์รูปนามขันธ์ ๕ ที่เกิดจากกรรมอื่นๆได้ องค์ธรรมได้แก่ อกุศลกรรม ๑๒ มหากุศลกรรม ๘ คำว่า อุปัตถัมภกกรรม เพราะเป็นกรรมที่มีความหมายว่าอุปถัมภ์ กล่าวคือ อุปถัมภ์วิบากอันเป็นผลของชนกกรรมนั่นเอง เฉพาะอุปัตถัมภกกรรมเอง ไม่สามารถที่จะทำให้วิบากเกิดได้โดยตรง ทำได้แต่เพียงอุปถัมภ์สุข หรือ ทุกข์นั้นให้เป็นไปได้นานๆ ใน*ปวัตติกาล (สุขหรือทุกข์นี้เป็นวิบากที่ชนกกรรมทำให้เกิดขึ้น) เช่น ช่วยอุปถัมภ์ทำให้ธาตุทั้ง ๔ มีความสม่ำเสมอกัน จึงทำให้เป็นคนมีโรคน้อย เป็นคนมีอนามัยดี เมื่อบุคคลนั้นมีโรคน้อย เป็นคนมีอนามัยดี ชนกกรรมที่เป็นกุศลที่ได้ทำไว้แล้วในอดีตก็มีโอกาสให้ผลได้โดยสะดวก ส่งผลให้ได้รับความสุขให้เกิดได้บ่อยๆ ด้วยเหตุที่ทำหน้าที่อุปถัมภ์สนับสนุนให้ชนกกรรมฝ่ายกุศลมีโอกาสให้ผลได้โดยสะดวก จึงได้ชื่ออุปัตถัมภกกรรม ส่วนฝ่ายอกุศลก็มีนัยเป็นไปในทำนองตรงกันข้ามคือทำให้ได้รับทุกข์ ต่อไปจะได้ศึกษาเรื่องอุปัตถัมภกกรรมในนัยต่างๆ โดยละเอียด

อุปัตถัมภกกรรม มี ๓ ประการ คือ
๑. อุดหนุนชนกกรรม ที่ยังไม่มีโอกาสให้ผล ให้มีโอกาสให้ผล มี ๘ คือ
๑.๑ กุศล ที่เกิดขึ้นในขณะใกล้ตาย ช่วยอุดหนุนกุศลชนกกรรมในอดีตภพ ที่ยังไม่มีโอกาสให้ผล ให้มีโอกาสให้ผล 
ตัวอย่างเช่น บุคคลทำทั้งกุศลและอกุศล เมื่อใกล้จะตายถ้ามีสติกำหนดรู้เท่าทันจิต ทำให้จิตผ่องใสไม่เศร้าหมอง ไม่ห่วงกังวลในทรัพย์สินเงินทองหรือเรื่องใดๆ กุศลที่เกิดขึ้นในขณะใกล้ตายจะช่วย อุดหนุนแก่กุศลกรรมที่ทำไว้แล้วในชาติก่อนๆ ที่ยังไม่มีโอกาสให้ผล ให้ได้มีโอกาสส่งผลนำไปเกิดในภพภูมิที่ดีต่อไป 

๑.๒ กุศล ที่เกิดขึ้นในขณะใกล้ตาย ช่วยอุดหนุนกุศลชนกกรรมในปัจจุบันภพ ที่ยังไม่มีโอกาสให้ผล ให้มีโอกาสให้ผล   
ตัวอย่างเช่น บุคคลเมื่อใกล้จะตายถ้าเกิดความห่วงใยในบุตร ภรรยา สามี ทรัพย์สิน อาลัยอาวรณ์ในชีวิตตนเอง ไม่อยากตาย กลัวตาย เพราะความตายทำให้พลัดพรากจากสิ่งที่รัก สิ่งที่หวงแหน ใจเศร้าหมอง กระวนกระวาย สีหน้าเปลี่ยนไป เกิดความวิตกกังวลอย่างเห็นได้ชัด ถ้าปล่อยให้ตายไป ในลักษณะอย่างนี้ก็ไปสู่ทุคติภูมิ

จะแก้ไขอย่างไร ? ทั้งๆ ที่กุศลก็เคยทำมาแล้ว แต่กุศลนั้นช่วยไม่ได้ เพราะว่าปัจจุบันมีแต่อกุศล เกิดขึ้น มีความยึดถือ ความห่วงใย ทำให้ใจเศร้าหมอง ผู้ปรนนิบัติถ้ารู้เท่าทันต่ออารมณ์ ก็ควรพูดให้ผู้ใกล้ตายนึกถึงบุญกุศลที่เคยทำมา เช่น สร้างโบสถ์ ศาลา พระประธาน ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ใส่บาตร ฯลฯ ผู้ใกล้ตายเคยทำบุญอะไรก็ให้ ผู้ปรนนิบัติพูดถึงเสมอๆ ให้ดูรูปถ่ายงานบุญที่เคยทำเพื่อให้ผู้ใกล้ตายนึกถึงบุญที่เคยทำไว้ อารมณ์ใหม่ที่ได้รับนี้อาจจะทำให้คลายความทุกข์ และมีอารมณ์เป็นกุศลเกิดขึ้น เป็นทางหนึ่งที่จะช่วยทำให้ผู้ใกล้ตายมีกุศลเกิดขึ้น ทำให้กุศลชนกกรรมในปัจจุบันที่เคยทำไว้แล้วและยังไม่มีโอกาสให้ผล ให้มีโอกาสส่งผลนำไปสู่สุคติภูมิได้

๑.๓ อกุศล ที่เกิดขึ้นในขณะใกล้ตาย ช่วยอุดหนุนอกุศลชนกกรรมในอดีตภพ ที่ยังไม่มีโอกาสให้ผล ให้มีโอกาสให้ผล  
ตัวอย่างเช่น บางคนบริจาคทาน รักษาศีล แต่ว่าจิตไม่ถึงขั้นภาวนาแล้วก็ไม่รู้เรื่องชีวิต ไม่รู้เรื่องรูปนาม เพราะว่าไม่ได้ศึกษาเรื่องรูปนาม พอใกล้ตายก็มีแต่ความกลัว กลัวความพลัดพราก จิตก็ผูกพันอยู่กับทรัพย์สมบัติที่ตัวเองไม่ได้ทำทาน ผูกพันอยู่กับลูกหลานบริวารต่างๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ทำให้เกิดทุกข์ จิตใจเศร้าหมอง 
ถ้าคนที่ปรนนิบัติไม่รู้เรื่องธรรมะ ไม่มีการศึกษาธรรมะ ก็ไม่รู้จะช่วยอย่างไร บางครั้งลูกหลานมานั่งร้องไห้ ยิ่งทำให้ห่วงหนักขึ้นไปอีก จิตก็ยิ่งเศร้าหมอง เมื่อเป็นเช่นนี้ อกุศลที่เกิดขึ้นในขณะใกล้ตายนี้เองจะเปิดโอกาสให้อกุศลกรรมทั้งหลายที่เคยทำไว้แล้วในอดีตภพ มีกำลังส่งผล เมื่อตายลงก็นำไปเกิดในอบายภูมิ

๑.๔ อกุศล ที่เกิดขึ้นในขณะใกล้ตาย ช่วยอุดหนุนอกุศลชนกกรรมในปัจจุบันภพ ที่ยังไม่มีโอกาสให้ผล ให้มีโอกาสให้ผล
ตัวอย่างเช่น บางบุคคลเมื่อตอนที่ยังเป็นเด็ก ขาดการอบรมสั่งสอนเรื่องบาปบุญ จึงทำอะไรตาม ประสาเด็ก เช่น ชอบรังแกสัตว์ ตีสัตว์ให้ตาย ตกปลา เห็นเป็นเรื่องสนุก เพราะว่าไม่รู้เรื่องบาป บุญ แต่ถ้าพ่อแม่เป็นคนมีศีลธรรมก็จะห้ามลูกให้กลัวบาป เด็กจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจก็ตาม แต่คำว่าบาปนี้ ติดหูเด็ก เด็กก็ไม่กล้าทำ ถ้าทำชั่วอย่างนี้เป็นบาป เด็กบางคนพ่อแม่ไม่ได้สั่งสอนเรื่องบาป บุญคุณโทษ แม้แต่คำว่า “บาป” ในสมัยนี้เราก็ไม่พูดถึงแล้ว บาปบุญคุณโทษเป็นอย่างไรไม่รู้เรื่อง จึงทำบาปด้วยความคะนองตามประสาเด็ก พอโตขึ้นตอนใกล้ตายจิตใจนึกถึงเมื่อตอนเด็กว่าเคยฆ่า สัตว์ เคยทำบาปอย่างนั้นๆ เมื่อตายในขณะที่ใจเศร้าหมองก็ส่งผลให้ไปเกิดในอบายภูมิ เพราะ อกุศล ที่เกิดขึ้นในเวลาใกล้ตายเป็นกำลัง อุดหนุนเปิดโอกาสแก่อกุศลกรรมในปัจจุบันภพที่ยังไม่มีโอกาสส่งผล ให้มีโอกาสส่งผล 

๑.๕ กุศล ที่เกิดขึ้นปกติอยู่เสมอในปัจจุบันภพ ช่วยอุดหนุนกุศลชนกกรรมในอดีตภพ ที่ยังไม่มีโอกาสให้ผล ให้มีโอกาสให้ผล 
ตัวอย่างเช่น บุคคลที่ทำกุศลสม่ำเสมอ กุศลก็อุปถัมภ์เปิดโอกาสในกุศลชนกกรรมในอดีตให้มีโอกาส ส่งวิบาก คือ ผลให้เกิดขึ้นได้ อาจทำให้บุคคลนั้นร่ำรวยเป็นเศรษฐีในชาตินั้นได้รับความสุข ไม่มีโรคภัยอันตรายใดๆมาเบียดเบียน ถึงแม้ในขณะนั้นสถานที่ที่อยู่อาศัยอาจจะเต็มได้ด้วยภัยต่างๆ แต่เขาก็ปลอดภัย เพราะกุศลที่ทำเสมอในชาตินี้ เป็นกำลังช่วยอุดหนุนกุศลชนกกรรมในอดีตให้ส่งผล

๑.๖ กุศล ที่เกิดขึ้นปกติอยู่เสมอในปัจจุบันภพ ช่วยอุดหนุนกุศลชนกกรรมในปัจจุบันภพ ที่ยังไม่มีโอกาสให้ผล ให้มีโอกาสให้ผล 
ตัวอย่างข้อนี้ เป็นไปในทำนองเดียวกันกับข้อที่ ๑.๕ คือ กุศลที่ทำเป็นปกติในชาตินี้ อุปถัมภ์ช่วยเปิดโอกาสให้กุศลชนกกรรมในชาตินี้ส่งผล ถ้าส่งผลอุปถัมภ์นามรูปที่เกิดมาแล้ว ก็สามารถทำให้ได้รับ ความสุขในการดำรงชีวิต จากที่ลำบาก ก็อาจจะสบายขึ้น จากที่มีโรคภัยก็อาจทำให้หายจากโรคภัย

๑.๗ อกุศล ที่เกิดขึ้นเป็นปกติอยู่เสมอในปัจจุบันภพ ช่วยอุดหนุนอกุศลชนกกรรมในอดีตภพ ที่ยังไม่มีโอกาสให้ผล ให้มีโอกาสให้ผล
ตัวอย่างเช่น ในฝ่ายอกุศลกรรมที่ทำเป็นปกติ แต่กำลังของอกุศลกรรมนี้ไม่มีโอกาสส่งผลด้วยตัวเอง จึงอุปถัมภ์เปิดโอกาสในอกุศลชนกกรรมในอดีตภพได้มีโอกาสให้ผล ให้วิบากคือความทุกข์ ความเดือดร้อนเกิดขึ้นได้บ่อยๆ นานๆ เช่น คนที่ทำอาชีพฆ่าสัตว์ กรรมนี้ยังไม่ให้ผล แต่ก็เปิดโอกาสให้ อกุศลชนกกรรมในอดีตส่งผล ทำให้เจ็บป่วยด้วยโรคที่รักษาไม่หาย ไม่มียา ไม่มีหมอจะรักษา ได้รับทุกข์ทรมาน ทรัพย์ที่ได้มาก็หมดไปกับการขจัดทุกข์ที่อกุศลชนกกรรมนั้นส่งผลมา

๑.๘ อกุศล ที่เกิดขึ้นเป็นปกติอยู่เสมอในปัจจุบันภพ ช่วยอุดหนุนอกุศลชนกกรรมในปัจจุบันภพ ที่ยังไม่มีโอกาสให้ผล ให้มีโอกาสให้ผล
ตัวอย่างในข้อนี้ เป็นไปในทำนองเดียวกับข้อที่ ๑.๗ คือ อกุศลที่ทำเป็นปกติในชาตินี้ อุปถัมภ์ช่วย เปิดโอกาสให้อกุศลชนกกรรมในชาตินี้ส่งผล คือ ทำให้ได้รับความทุกข์ 

สรุป อุปัตถัมถกกรรมที่ทำหน้าที่ช่วยอุดหนุนชนกกรรมที่ยังไม่มีโอกาสส่งผล ให้มีโอกาสส่งผล ซึ่ง ได้แก่กุศลและอกุศลที่เกิดขึ้นในมรณาสันนกาลก็ดี หรือกุศลและอกุศลที่ทำในภพนี้ก็ดี จะทำหน้าที่อุปถัมภ์แก่ ชนกกรรมให้ทำหน้าที่นำให้วิบากปรากฏขึ้น

๒. อุดหนุนชนกกรรม ที่กำลังมีโอกาสให้ผล ให้มีกำลังในการให้ผลบริบูรณ์ยิ่งขึ้น มี ๑๐ ข้อ
๒.๑ กุศล ที่เกิดขึ้นในขณะใกล้ตาย ช่วยอุดหนุนกุศลชนกกรรมในอดีตภพ 
๒.๒ กุศล ที่เกิดขึ้นในขณะใกล้ตาย ช่วยอุดหนุนกุศลชนกกรรมในปัจจุบันภพ
 
๒.๓ อกุศล ที่เกิดขึ้นในขณะใกล้ตาย ช่วยอุดหนุนอกุศลชนกกรรมในอดีตภพ 
๒.๔ อกุศล ที่เกิดขึ้นในขณะใกล้ตาย ช่วยอุดหนุนอกุศลชนกกรรมในปัจจุบันภพ 

๒.๕ กุศล ที่เกิดขึ้นปกติอยู่เสมอในปัจจุบันภพ ช่วยอุดหนุนกุศลชนกกรรมในอดีตภพ
๒.๖ กุศล ที่เกิดขึ้นปกติอยู่เสมอในปัจจุบันภพ ช่วยอุดหนุนกุศลชนกกรรมในปัจจุบันภพ 
๒.๗ อกุศล ที่เกิดขึ้นเป็นปกติอยู่เสมอในปัจจุบันภพ ช่วยอุดหนุนอกุศลชนกกรรมในอดีตภพ 
๒.๘ อกุศล ที่เกิดขึ้นเป็นปกติอยู่เสมอในปัจจุบันภพ ช่วยอุดหนุนอกุศลชนกกรรมในปัจจุบันภพ
 
๒.๙ กุศล ที่เกิดขึ้นในอดีตภพ ช่วยอุดหนุนแก่กุศลชนกกรรมในปัจจุบันภพ 
๒.๑๐ อกุศล ที่เกิดขึ้นในอดีตภพ ช่วยอุดหนุนแก่อกุศลชนกกรรมในปัจจุบันภพ

อุปัตถัมภกกรรม ตั้งแต่ข้อที่ ๑ ถึง ข้อที่ ๘ นี้ จะมีสาระเหมือนกับ ๘ ข้อ ในหัวข้อที่ ๑ อุดหนุนชนกกรรม ที่ยังไม่มีโอกาสให้ผล ให้มีโอกาสให้ผล ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่แตกต่างกันตรงหน้าที่เท่านั้นกล่าวคือ หน้าที่ของอุปภัมถ์โดยนัยนี้จะทำหน้าที่อุปถัมภ์ชนกกรรมที่กำลังมีโอกาสให้ผล ให้มีกำลังในการให้ผลบริบูรณ์ยิ่งขึ้นไป มีรายละเอียด ดังนี้ 

ข้อที่ ๒.๑ – ๒.๔ ฝ่ายกุศลฝ่ายอกุศล ที่เกิดขึ้นในขณะใกล้ตาย
ตัวอย่างฝ่ายกุศล ข้อ ๒.๑ – ๒.๒ กุศลที่เกิดขึ้นในขณะใกล้ตาย ไปทำหน้าที่ช่วยอุดหนุนกุศลชนกกรรมในอดีตภพก็ได้ หรือมีโอกาสอุดหนุนทำให้กุศลชนกกรรมในปัจจุบันภพนี้ก็ได้ ที่กำลังมีโอกาสให้ผลอยู่แล้ว ให้สามารถมีกำลังการส่งผลได้เต็มที่บริบูรณ์มากขึ้น เช่น ถ้าได้เกิดเป็นมนุษย์ ก็ได้เป็นมนุษย์ชั้นสูงห่างไกลจากความทุกข์ทั้งปวง ได้อยู่ในดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ มีพระพุทธศาสนา อยู่ในท่ามกลางของบัณฑิต เป็นต้น แต่ถ้าหากว่ากุศลในขณะใกล้ตายนี้ไม่มีโอกาสมาเป็นกำลังอุดหนุนกุศลชนกกรรมนี้แล้วไซร้ อาจจะได้เกิดเป็นมนุษย์เหมือนกัน แต่ไปเกิดอยู่ในดินแดนที่เต็มไปด้วยทุกข์ยากแค้น มีสงคราม ทำมาหาเลี้ยงชีพลำบากยากแค้นเป็นต้น

ตัวอย่างฝ่ายอกุศล ข้อ ๒.๓ – ๒.๔ ก็เป็นไปในทางตรงกันข้ามกับฝ่ายกุศลนั้นเอง กล่าวคือ อกุศลที่เกิดขึ้นในขณะใกล้ตาย ไปทำหน้าที่ช่วยอุดหนุนอกุศลชนกกรรมในอดีตภพก็ได้ หรือมีโอกาสอุดหนุนทำให้อกุศลชนกกรรมในปัจจุบันภพนี้ก็ได้ ที่กำลังมีโอกาสให้ผลอยู่นั้น ให้มีกำลังส่งผลได้เต็มที่บริบูรณ์มากขึ้น เช่น อกุศลชนกกรรมได้รับกำลังอุดหนุนทำให้มีกำลังมากยิ่งขึ้น จึงนำไปเกิดในนรกขุมที่ลึกที่สุด ได้รับทุกข์โทษอย่างแสนสาหัสที่สุด

ตัวอย่างฝ่ายกุศล - ฝ่ายอกุศล ข้อที่ ๒.๕ – ๒.๘ ที่เกิดขึ้นเป็นปกติอยู่เสมอในปัจจุบันภพ ตัวอย่างฝ่ายกุศล ข้อ ๒.๕ – ๒.๖ กุศลกรรมต่างๆ ที่กระทำไว้แล้วอย่างสม่ำเสมอในชาตินี้ มีโอกาสเป็นกำลังอุดหนุนส่งเสริมให้กุศลชนกกรรมในอดีตภพก็ได้หรือกุศลกรรมในปัจจุบันภพนี้ก็ได้ ที่กำลังมีโอกาสให้ผลอยู่นั้น ให้สามารถมีกำลังการส่งผลได้เต็มที่บริบูรณ์มากขึ้น เช่น ถ้าได้เกิดเป็นเทวดา ก็อาจจะเป็นเทวดาที่มีวิมานของตนเอง มีรัศมีผุดผ่องกว่าเหล่าเทวดาทั้งหลาย เป็นเทวดาที่อยู่ในกลุ่มของเทวดาสัมมาทิฏฐิ ซึ่งจะมีโอกาสทำให้เป็นเทวดาสัมมาทิฏฐิด้วยเป็นต้น

ตัวอย่างฝ่ายอกุศล ข้อที่ ๒.๗ - ๒.๘ ก็เป็นไปในทางตรงกันข้ามกับฝ่ายกุศลนั้นเอง กล่าวคือ อกุศลกรรมที่กระทำไว้แล้วอย่างสม่ำเสมอในชาตินี้ ไปทำหน้าที่ช่วยอุดหนุนอกุศลอกุศลชนกกรรมในอดีตภพก็ได้ หรือมีโอกาสอุดหนุนทำให้อกุศลชนกกรรมในปัจจุบันภพนี้ก็ได้ ที่กำลังมีโอกาสให้ผลอยู่
นั้น ให้มีกำลังส่งผลได้เต็มที่บริบูรณ์มากขึ้น เช่น บางบุคคลดำรงชีวิตอยู่ด้วยการทำแต่อกุศลไม่ว่าจะ เป็นการทำมาหาเลี้ยงชีพ การพูด การกระทำการคิด ล้วนแล้วแต่เป็นอกุศล บุญทานไม่เคยทำ คิดแต่ว่าการจะได้มาซึ่งทรัพย์สิน ชื่อเสียง เกียรติยศ ก็ต้องแลกมาด้วยวิธีการต่างๆ ไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็ต้องด้วยกล เมื่อถึงเวลาใกล้ตายก็ไม่มีที่พึ่งคือบุญอย่างใดๆ เลย ระลึกนึกถึงได้แต่อกุศลเพราะเคยชินอยู่กับการใช้ชีวิตแบบอกุศล อกุศลที่เกิดขึ้นในขณะใกล้ตายนี้ก็มีกำลังช่วยอุดหนุนทำให้อกุศลชนกกรรมทั้งในอดีตภพ หรือ ปัจจุบันที่กำลังมีโอกาสให้ผล ก็มีกำลังในการส่งผลได้อย่างบริบูรณ์มากขึ้น แรงยิ่งขึ้น

ตัวอย่างฝ่ายกุศล ข้อที่ ๒. ๙ กุศลที่เกิดขึ้นในอดีตภพ ช่วยอุดหนุนแก่กุศลชนกกรรมในปัจจุบันภพ ที่กำลังมีโอกาสให้ผลให้มีกำลังในการให้ผลบรบิูรณ์ยิ่งขึ้น บุคคลที่ทำกุศลกรรมในปัจจุบันไว้ดีแล้ว กุศลนั้นก็สามารถส่งผลได้ในปัจจุบันภพ ทำให้ชีวิตได้รับความสุข ครอบครัวก็ได้รับความสุขอย่างดีอย่างบริบูรณ์ ซึ่งกุศลในปัจจุบันภพนี้ที่ได้มีโอกาสส่งผลได้อย่างเต็มที่ก็เพราะว่าได้รับกำลังอุดหนุนมาจากกุศลในอดีตภพด้วย 
ข้อที่ ๒. ๑๐ อกุศลที่เกิดขึ้นในอดีตภพ ช่วยอุดหนุนแก่อกุศลชนกกรรมในปัจจุบันภพ
ที่กำลังมีโอกาสให้ผล ให้มีกำลังในการให้ผลบริบูรณ์ยิ่งขึ้นเป็นไปในทำนองตรงกันข้ามกับข้อที่ ๙ กล่าวคือ เป็นไปในฝ่ายอกุศลที่ทำในชาตินี้ก็มีโอกาสส่งผลได้ อย่างเต็มที่เต็มกำลังมากยิ่งขึ้น เพราะได้กำลังอุดหนุนมาจากอกุศลในอดีตภพด้วย 

๓. อุดหนุนรูปนาม ที่เกิดมาแล้วให้เจริญขึ้นและอยู่ได้ มี ๗ คือ
๓.๑ กุศลที่เคยทำมาในภพก่อนๆ ช่วยอุดหนุนนามรูปที่เกิดมาจากกุศลชนกกรรม 
๓.๒ กุศลที่เคยทำมาในภพนี้ ช่วยอุดหนุนนามรูปที่เกิดมาจากกุศลชนกกรรม

๓.๓ อกุศลที่เคยทำมาในภพก่อนๆ ช่วยอุดหนุนนามรูปที่เกิดมาจากอกุศลชนกกรรม 
๓.๔ อกุศลที่เคยทำมาในภพนี้ ช่วยอุดหนุนนามรูปที่เกิดมาจากอกุศลชนกกรรม
 
๓.๕ กุศลที่เคยทำมาในภพก่อนๆ ช่วยอุดหนุนนามรูปที่เกิดมาจากอกุศลชนกกรรม 
๓.๖ กุศลที่เคยทำมาในภพนี้ ช่วยอุดหนุนนามรูปที่เกิดมาจากอกุศลชนกกรรม
 
๓.๗ อกุศลที่เคยกระทำในภพนี้ ช่วยอุดหนุนนามรูปที่เกิดมาจากกุศลชนกกรรม 

อธิบายข้อที่ ๓.๑ - ๓.๖ การที่จะเข้าใจอุปัตถัมภกกรรมที่ช่วยอุดหนุนรูปนามที่เกิดมาแล้วให้เจริญขึ้นและอยู่ได้ ต้องศึกษาถึงสภาพความเป็นไปของชีวิตในปัจจุบันนี้ให้เข้าใจโดยกระจ่างชัดว่ามนุษย์นั้นแตกต่างกัน คือ
๑. อายุยืน
๒. อายุสั้น 
๓. มีโรคน้อย
๔. มีโรคมาก 
๕. มีผิวพรรณงาม
๖. มีผิวพรรณทราม 
๗. มียศศักดิ์มาก
๘. มียศศักดิ์น้อย 
๙. มีสมบัติมาก
๑๐. มีสมบัติน้อย
๑๑. เกิดในตระกูลสูง
๑๒. เกิดในตระกูลต่ า
๑๓. มีปัญญามาก
๑๔. มีปัญญาน้อย 
 
ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ใน “จูฬกัมมวิภังคสูตร ” ว่า “บุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม เป็นบุรุษก็ตามเป็นคนมักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง เป็นคนเหี้ยมโหดมีมือเปื้อนเลือด หมกมุ่นอยู่ในการประหาร ไม่ เอ็นดูในเหล่าสัตว์มีชีวิต ครั้นเขาผู้นั้นตายไป ย่อมจักเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้น อันเขาสมาทานพรั่งพร้อมไว้อย่างนี้ หากเขาตายไป ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก แล้วถ้ามาเกิดเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง เขาจะเป็นคนมีอายุสั้น ” 
ส่วนเหตุที่ทำให้มีอายุยืนนั้นพระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า “ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม เป็น บุรุษก็ตาม เป็นผู้ละปาณาติบาตแล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต วางอาชญา วางศาสตรา มีความละอาย ถึงความเอ็นดู อนุเคราะห์ด้วยความเกื้อกูลในสรรพสัตว์และภูตอยู่ ครั้นเขาผู้นั้นตายไปแล้วย่อม จักเข้าถึงสุคติโลก สวรรค์ เพราะกรรมนั้นอันเขาสมาทานพรั่งพร้อมไว้อย่างนี้ หากเขาตายไปไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์แล้ว ถ้ามาเกิดเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใด ๆ ในภายหลังเขาจะเป็นคนมีอายุยืน ” พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสเรื่องของกรรม โดยสรุปประมวลได้เป็น ๗ คู่ ดังนี้
 
ชอบฆ่าสัตว์เป็นเหตุให้อายุสั้น ไม่ฆ่าสัตว์มีความเมตตากรุณาต่อสัตว์เป็นเหตุให้อายุยืน 
ชอบเบียดเบียนสัตว์เป็นเหตุให้มีโรคมาก ไม่เบียดเบียนสัตว์เป็นเหตุให้มีโรคน้อย 
ผู้ที่ชอบโกรธเป็นเหตุให้ผิวพรรณทราม ผู้ไม่โกรธเป็นเหตุให้ผิวพรรณงาม 
ชอบริษยาผู้อื่นเป็นเหตุให้มีอำนาจน้อย ไม่ริษยาผู้อื่นเป็นเหตุให้มีอำนาจมาก 
ตระหนี่ไม่บริจาคทานเป็นเหตุให้ยากจน ขัดสน อนาถา ชอบบริจาคทานเป็นเหตุให้มีทรัพย์สมบัติมากกระด้างถือตัวเป็นเหตุให้เกิดในตระกูลต่ำ ไม่กระด้างไม่ถือตัวบูชาบุคคลที่ควรบูชาเป็นเหตุให้เกิดในตระกูลสูง 
ไม่อยากรู้ธรรมะ ไม่ไต่ถามผู้มีปัญญา เป็นเหตุให้มีปัญญาน้อย อยากรู้ธรรมะ หมั่นไต่ถามผู้มีปัญญา เป็นเหตุให้ มีปัญญามาก

อธิบายข้อที่ ๓.๗ อกุศลที่เคยกระทำในภพนี้ ช่วยอุดหนุนนามรูปที่เกิดมาจากกุศลชนกกรรม ข้อนี้เป็นเรื่องที่ควรจะต้องศึกษาและทำความเข้าใจให้ดี เพื่อจะได้เข้าใจในสิ่งที่ปรากฏในปัจจุบันนี้ได้ อย่างไม่สงสัยว่า “ทำไมคนที่ทำชั่ว ถึงได้ดี
ตัวอย่างเช่น ผู้ที่มีอาชีพค้าสัตว์ ค้าสุรา ค้ายาพิษ ยาเสพติด ขายอาวุธ ค้ามนุษย์ เขาเหล่านั้นมีความ ร่ำรวย รุ่งเรืองในโลกธรรม คือ ได้ลาภ ได้ยศ ได้รับสุข ได้รับสรรเสริญ มีความสุขในการใช้ชีวิตอย่างดี อย่างเพลิดเพลิน ทั้งๆที่อาชีพเหล่านี้เป็นบาปอกุศล แต่อกุศลนี้เป็นเครื่องอุดหนุนแก่นามรูปที่เกิดจาก กุศลชนกกรรมให้เจริญและตั้งอยู่ได้ แต่การเกิดขึ้นของอุปัตถัมภกกรรมในข้อที่ ๗ นี้ เป็นไปไม่แน่นอน มีได้แต่ในสมัยที่เป็นยุคกาลวิปัตติ คือ กาลที่กุศลธรรมความดีเสื่อมถอยเท่านั้น ในกาลสัมปัตติ คือ กาลที่กุศลธรรมความดีเจริญนั้น จะไม่มีลักษณะดังข้อที่ ๗ ถ้าผู้ศึกษาเข้าใจเรื่องของอุปัตถัมภกกรรมในข้อที่ ๗ นี้ จะได้ไม่ท้อถอยจากกุศลกรรมความดี เพราะเห็นตัวอย่างว่าคนทำไม่ดีนั้นรุ่งเรืองขึ้นๆ แต่เราผู้มั่นคงในกุศลกรรมความดีกลับไม่ได้ผลตอบสนอง ถ้าในยุคนี้มีตัวอย่างเช่นนี้ให้เห็นในสังคมมากขึ้นเท่าไร เราก็ยิ่งต้องบำเพ็ญกุศลกรรมความดีให้มากยิ่งขึ้น เพราะสิ่งนี้อาจเป็นลางบอกเหตุว่า “ยุคนี้เป็นยุคเสื่อมเสียแล้วกระมัง”

สรุป ทั้งหมดนี้เป็นการทำหน้าที่ของกรรม ที่เกิดขึ้นทำหน้าที่อุปถัมภ์ชีวิตของสรรพสัตว์ ตั้งแต่เกิดในขณะดำรงชีวิตอยู่ และในขณะที่จะตายจากโลกนี้ไป กรรมทั้งหลายที่กระทำแล้วไม่ว่าจะชาตินี้หรือในอดีตชาติที่ทำมาแล้วอย่างนับไม่ถ้วน กรรมนั้นไม่สูญหายไปไหน ยังตามอุปถัมภ์ชีวิตอยู่เสมอ เมื่อตามส่งผลให้ แล้วถ้ากรรมนั้นยังไม่หมดกำลังก็จะตามส่งผลให้อีก หรือว่าเมื่อคอยตามส่งผลแล้ว แต่ไม่สามารถส่งผลได้จนหมดกำลังแห่งกรรมนั้น กรรมนั้นก็จะกลายเป็นอโหสิกรรม บุคคลทั้งหลายไม่อาจรู้ได้ว่าสร้างกรรมดีหรือกรรรมไม่ดีมาอย่างไร เมื่อได้ศึกษาแล้วก็ควรวางใจให้ถูกต้องว่า ถ้ากำลังได้รับทุกข์อยู่ ก็ควรจะสำรวมระมัดระวังใจไม่ไปโทษสิ่งใด ให้รู้ว่าทุกข์ในครั้งนี้เกิดจาก อกุศลกรรมในอดีตที่ตามมาส่งผลนั่นเอง แล้วใช้ชีวิตต่อไปโดยไม่ประมาท และเพียรสร้างกุศลกรรมความดีไว้อย่างเนืองนิตย์ กุศลที่ทำในปัจจุบันนี้อาจจะมาทำหน้าที่อุปถัมภ์ส่งผลให้นามรูปคือชีวิตในปัจจุบันชาตินี้ดำเนิน ไปได้อย่างไม่ทุกข์ยากมากนัก



๑.๑ ชนกกรรม

 ๑. ชนกกรรม  ชนกกรรม หมายถึง กรรมที่ทำให้วิบากเกิดขึ้น เป็นกรรมที่ทำให้วิปากทั้งนามและรูปเกิดขึ้นได้ องค์ธรรมได้แก่ อกุศลกรรม ๑๒ และโลกียกุศลกรรม ๑๗ คือ มหากุศลกรรม ๘ รูปาวจรกุศลกรรม ๕ อรูปาวจรกุศลกรรม ๔  กรรมที่ชื่อว่า ชนกกรรม  เพราะมีความหมายว่า “ทำให้เกิด”  คือ เจตนาที่เป็นกุศลหรืออกุศล ซึ่งทำ ให้วิบากและกัมมชรูปให้เกิดขึ้นในปฏิสนธิกาล คือ ในเวลาที่สัตว์เกิด และทำให้วิบากและกัมมชรูปให้เกิดขึ้น ในปวัตติกาล คือ ในเวลาต่อมาหลังจากปฏิสนธิแล้ว 

คำว่า วิบาก แปลว่า ผล เปรียบเทียบว่า ข้าวสารที่หุงแล้วย่อมเป็นข้าวสวยให้คนได้รับประทาน ได้รับความอร่อยหรือไม่อร่อย จึงเรียกข้าวสวยนั้นว่า “ข้าวสุก” หรือ ผลมะม่วงเมื่อเริ่มแก่ก็เหมาะแก่การนำมา รับประทาน ได้รับความอร่อย หรือไม่อร่อย จึงเรียกมะม่วงแก่นั้นว่า “มะม่วงสุก” ฉันใด กรรมที่บุคคลทำ คือก่อไว้แล้ว ย่อมมีผลที่บุคคลพึงได้รับเป็นความสุขหรือทุกข์ในภายหลัง จึงเรียกผลของกรรมนั้นว่า วิบาก คือเป็นผล หรือเป็นของสุกงอม เพราะเป็นเหมือนความสุกงอมของกรรมฉันนั้น คำว่า วิบาก นี้ เป็นชื่อผลของกรรมฝ่ายนามธรรม คำว่า กัมมชรูป เพราะเป็นรูปที่เกิดจากกรรม จึงได้ชื่อว่า กัมมชรูป (🔎ทบทวนเรื่องรูป) รูปเกิดจากสมุฏฐาน ๔ คือ กรรม จิต อุตุ อาหาร กัมมชรูป คือ รูปที่เกิดจากกรรม ได้แก่ ปสาทตา รวมตลอดถึง อวัยวะ ๓๒ มี ผม ขน เล็บ เป็นต้น

๑. ชนกกรรมนำเกิดในสุคติภูมิ       
 ๑.๑ มหากุศลกรรม ๘ ส่งผลนำไปเกิดในมนุษย์ภูมิและเทวภูมิ 
มหากุศลกรรม ๘ จะส่งผลเป็นวิบากที่ดี เจตนาที่อยู่ในมหากุศลกรรมจะส่งผลทำหน้าที่ชนกกรรมนำไปเกิด ได้รูปร่างกายปรากฏอัตภาพของสัตว์ในสุคติภูมิ เป็นมนุษย์หรือเทวดา อันจะเป็นปัจจัย คือ เป็นที่รองรับความสุขได้มากกว่าความทุกข์ และการมีวิมาน มีรัศมีของเทวดาก็ด้วยอำนาจของกรรมที่เกิดจากชนกกรรมนี้เอง 
๑.๒  รูปาวจรกุศลกรรม ๕ นำไปเกิดในรูปภูมิ อรูปาวจรกุศลกรรม ๔ นำไปเกิดในอรูปภูมิ สำหรับรูปาวจรกุศลและอรูปาวจรกุศล คือผู้ที่ประกอบกรรมในภาวนากุศล เช่น ปัจจุบันชาตินี้เจริญสมาธิภาวนาจนได้ฌาน ตั้งแต่ปฐมฌานเป็นต้นไป เจตนาที่เกิดขึ้นในรูปาวจรกุศล ก็ส่งผลให้ไปเกิดในรูปภูมิเป็นรูปพรหม ถ้าเจริญอรูปาวจรกุศลก็จะส่งผลนำไปเกิดในอรูปภูมิ เป็นอรูปพรหม  

๒. ชนกกรรมนำเกิดในอบายภูมิ 
๒.๑  อกุศลกรรม ๑๒ ส่งผลนำไปเกิดในอบายภูมิ
อกุศลกรรม ๑๒ เป็นกรรมชั่ว จึงส่งผลเป็นวิบากที่ชั่ว เจตนาที่อยู่ในอกุศลกรรมนั้น จะส่งผลทำหน้าที่ ชนกกรรมนำไปเกิด ได้รูปร่างกายก็ปรากฏเป็นอัตภาพของสัตว์ในทุคติภูมิ เป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์ เดรัจฉาน เป็นที่รองรับความทุกข์ได้มากกว่าความสุข 
นรกภูมิ การทำกรรมโดยมีเจตนาประกอบใน โทสมูลจิต เช่น การอาฆาต พยาบาท เบียดเบียน ปองร้าย ความโกรธที่รุนแรงก็จะเป็นตัวชนกกรรมนำให้ไปเกิดเป็นสัตว์นรก จะถูกเผาด้วยไฟ ถูกทรมาน ด้วยวิธีการต่างๆแต่ก็ไม่ตาย เพราะเหตุว่ากรรมยังไม่หมดเป็นทุกข์ทรมานจากการถูกทรมาน ก็ด้วยอำนาจของกรรมที่ทำด้วยความโกรธ 
เปรต และอสุรกายภูมิ การทำกรรมโดยมีเจตนาประกอบในโลภมูลจิต เจตนาในโลภมูลจิตจะทำหน้าที่ชนกกรรมนำไปเกิดในสองภูมินี้ 
เดรัจฉานภูมิ การทำกรรมโดยมีเจตนาประกอบในโมหมูลจิต เจตนาในโมหมูลจิตจะทำหน้าที่ชนกกรรมนำไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน


อนึ่ง การที่มนุษย์ เทวดา พรหม และ สัตว์ทั้งหลาย ได้รูปร่างกายที่แตกต่างกัน ทั้งรูปลักษณ์ ทรวดทรง สัณฐาน สูง ต่ า ดำ ขาว และด้านอาการ ๓๒ ตลอดจนด้านประสาท ความต่างกันของสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ก็เรียกว่า กัมมชรูปเหมือนกัน ในสังสารวัฏอันยาวนานนี้ สัตว์ทั้งหลายเวียนว่ายตายเกิดมาแล้วนับภพชาติไม่ถ้วน จึงทำกรรมมาแล้วทุกอย่าง ในกรรมทั้งหลายนั้น ถ้ากรรมดีอย่างหนึ่งให้ผลทำหน้าที่ปฏิสนธิให้เกิดขึ้นในมนุษย์ กรรมดีอย่างนั้นและกรรมดีอย่างอื่นที่เหลือก็ยังตามให้ผลในปวัตติกาล โดยการให้ผลอันเป็นเหตุให้เกิดความสุขตามสมควรแก่โอกาส ส่วนกรรมชั่วทั้งหลายก็มีแต่จะตามให้ผลในเวลาหลังจากปฏิสนธิแล้วอย่างเดียว โดยการให้ผลเป็นความทุกข์ตามสมควรแก่โอกาสของตน กรรมเหล่านั้นชื่อว่า ชนกกรรมทั้งสิ้น คือ ทำวิบากให้เกิดและในเวลาที่กรรมชั่วให้ผลนำไปเกิดในอบายภูมิก็มีนัยเดียวกันนี้ 

สรุป ชนกกรรม เป็นกรรมที่ทำวิบากพร้อมทั้งกัมมชรูปให้เกิดขึ้นในปฏิสนธิกาล คือในเวลาที่เกิดและในปวัตติกาล คือ ในเวลาต่อมาหลังจากที่ปฏิสนธิแล้ว


  

ความรู้เบื้องต้นของกรรม

“กรรม” แปลว่า การกระทำ กรรมจึงเป็นคำกลางๆเพราะ กรรม หมายถึงการกระทำทั้งดีและชั่ว 

อะไรคือสิ่งที่เรียกว่ากรรม? สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่ากรรมนั้น ตรัสหมายถึงเจตนา ฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่ากรรม มุ่งหมายถึงเจตนาที่กระทำดี เรียกว่า กุศลเจตนา เจตนาที่กระทำชั่ว เรียกว่า อกุศลเจตนา  ซึ่งเมื่อสำเร็จเป็นกรรมแล้ว ก็เรียกว่า กุศลกรรม  อกุศลกรรม การกระทำต้องอาศัยเจตนาที่เกิดขึ้นภายในจิตเป็นเหตุ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “เจตะนาหัง ภิกขะเว  กัมมัง วะทามิ เจตะยิตวา กัมมัง กะโรติ กาเยนะ วาจายะ มะนะสา ”  แปลว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า เจตนา คือตัวกรรม สัตว์ที่กระทำกรรมด้วยกาย วาจา ใจก็ดี  ย่อมมีการปรุงแต่งคือคิดนึกก่อนแล้วจึงทำดังนี้

คำว่าเจตนา ในทางธรรมะนั้นหมายถึงธรรมชาติที่จงใจ ที่มุ่งมั่นจะกระ
ทำกิจต่างๆให้สำเร็จลง ซึ่งก็ต้องประกอบด้วยปัจจัยอื่นๆด้วย สิ่งที่กระทำสำเร็จแล้วนั้นเป็นกรรมย่อมส่งผลในภายหน้า เป็นความสุขบ้าง ทุกข์บ้างแก่ผู้กระทำ จึงเรียกว่า กรรม ในบางคราวลำพังเพียงเจตนาอย่างเดียวก็ไม่สามารถจะทำผลให้เกิดขึ้นได้ต้องอาศัยธรรมอื่นบางอย่างเกิดขึ้นประกอบร่วมกับเจตนา และธรรมบางอย่างเหล่านั้นออกหน้าเป็นประธานในการสร้างผลยิ่งกว่าเจตนา วาระเช่นนี้เองที่กล่าวได้ว่าธรรมบางอย่างที่ประกอบร่วมกันกับเจตนาก็ชื่อว่ากรรม เช่นการจะทำให้อริยผลเกิดขึ้น ต้องอาศัยองค์มรรค ๘ จึงจะสำเร็จได้ และองค์ ๘ ก็เป็นประธานในการทำพระอริยผลให้เกิดขึ้นยิ่งกว่าเจตนา ด้วยเหตุนี้พระพุทธองค์จึงไม่ตรัสถึงเจตนา แต่ตรัสถึงพระอริยมรรคมีองค์ ๘ ว่าเป็นกรรม คือ เป็น กรรมที่ไม่ดำไม่ขาว ทำวิบากที่ไม่ดำไม่ขาว คือ ทำพระอริยผลมีโสดาปัตติผล เป็นต้น ให้เกิดขึ้น และถ้าจะกล่าวถึงโพชฌงค์ ๗ (องค์แห่งการตรัสรู้ ๗ อย่าง) มีสติสัมโพชฌงค์ เป็นต้น โพชฌงค์นี้เป็นเหตุแห่งพระอริยมรรคมีองค์ ๘ อีกทีหนึ่ง

อภิชฌา คือ ความโลภที่เพ่งเล็งอยากได้
พยาบาท คือ ความโกรธที่มุ่งที่จะให้ผู้อื่นวิบัติ 
มิจฉาทิฏฐิ  คือ ความเห็นผิด 

ทั้ง  ๓ ประการนี้ เกิดขึ้นได้เพราะมีสภาพธรรมของตนโดยเฉพาะๆ เป็นประธาน ไม่ใช่มีเจตนาอย่างเดียว  และสำเร็จเป็นกรรมได้ก็เพราะมีสภาพธรรมของตนนั้น
ทำให้สำเร็จ  และการที่จะไม่ให้สภาพธรรมฝ่ายชั่ว ๓ อย่างนี้เกิดขึ้น ก็ต้องมีธรรมฝ่ายดี หรือที่เรียกว่าธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกันเกิดขึ้น จึงจะทำให้ธรรมฝ่ายชั่วนั้นหยุดลง 

ธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกันมีดังนี้ คือ 
อภิชฌา มีธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ คือ อนภิชฌา เป็นสภาวะที่ห้ามความโลภ
พยาบาท 
มีธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ คือ อพยาบาท เป็นสภาวะที่ห้ามความโกรธ
มิจฉาทิฏฐิ 
มีธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ คือ สัมมาทิฏฐิ เป็นสภาวะที่มีความเห็นชอบ
    

สรุปว่า ในคราวใดที่การกระทำทั้งหลาย มีการให้ทาน หรือ การฆ่าสัตว์ เป็นต้น สำเร็จลง ถ้าการกระทำนั้นๆ สำเร็จได้เพราะอาศัยเจตนาออกหน้าเป็นประธาน เป็นใหญ่ ก็กล่าวได้ว่ามีเจตนาเป็นผู้ทำให้สำเร็จ คือ เป็นกรรม  ถ้าการกระทำนั้นๆสำเร็จลงเพราะอาศัยธรรมอื่นบางอย่างที่ประกอบร่วมกับเจตนา ออกหน้าเป็นประธาน เป็นใหญ่ ก็กล่าวได้ว่ามีธรรรมอื่นเหล่านั้นเป็นผู้ทำให้สำเร็จ คือ เป็นกรรม เช่น อภิชฌา มีความโลภที่ เพ่งเล็งอยากได้เป็นประธาน 

กรรมมีกี่อย่าง   
๑. กรรมมี ๒ อย่าง โดยชาติ คือ อกุศลกรรม และ กุศลกรรม หมายความว่า ถ้าเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนหรือผู้อื่นก็เป็นอกุศลกรรม ถ้างดเว้นจากการเบียดเบียนก็เป็นกุศลกรรม กรรมมี ๒ อย่าง อีกนัยหนึ่ง โดยการส่งผล คือ อกุศลส่งผลเป็นทุกข์ เรียกว่า อกุศลกรรม กุศล ส่งผลเป็นความสุข เรียกว่า กุศลกรรม

๒. กรรมมี ๓ อย่าง โดยเกี่ยวกับทวาร ๓ คือ กายทวาร วจีทวาร มโนทวาร กล่าวคือ กรรมทั้ง ๒ อย่าง คือ กุศลกรรมและอกุศลกรรมดังกล่าวแล้วนั้น แต่ละอย่างเมื่อจำแนกตามทวาร ๓ คือ กายทวาร วจี ทวาร มโนทวาร ก็ได้ ๓ อย่าง คือ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม

๓. กรรมมี ๓ อย่าง อีกนัยหนึ่ง โดยเกี่ยวกับภูมิ ๓ ได้แก่ กามาวจรกรรม รูปาวจรกรรม อรูปาวจร กรรม  ที่ว่าเกี่ยวกับภูมิ เพราะมีความหมายว่า เป็นที่เกิด คือ เป็นที่เกิดของสัตว์ มี ๓ คือ กามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ  ฉะนั้น กรรมที่เป็นเหตุให้ท่องเที่ยว คือ เกิดในกามภูมิ ชื่อว่า กามาวจรกรรม  กรรมที่เป็นเหตุให้ท่องเที่ยว  คือ เกิดในรูปภูมิ ชื่อว่า รูปาวจรกรรม  กรรมที่เป็นเหตุให้ท่องเที่ยว คือ เกิดในอรูปภูมิ ชื่อว่า อรูปาวจรกรรม

๔. กรรมมี ๔ อย่าง มีหลายนัย เช่น เกี่ยวกับกิจที่กระทำ คือ ชนกกรรม เป็นต้น หรือ เกี่ยวกับลำดับ แห่งการให้ผล คือ ครุกกรรม เป็นต้น ซึ่งจะกล่าวในกรรม ๑๖ ที่จะได้ศึกษาโดยละเอียดต่อไป

๕. กรรมมี ๕ อย่าง ได้แก่ อนันตริยกรรม ๕ อย่าง คือ ฆ่าบิดา ฆ่ามารดา ฆ่าพระอรหันต์ ทำสังฆเภท ทำโลหิตุปบาท

๖. กรรมมี ๑๐ อย่าง  ได้แก่ อกุศลกรรมบถ ๑๐ มีปาณาติปาต เป็นต้น หรือ กุศลกรรมบถ ๑๐ มี การงดเว้นจากการฆ่า เป็นต้น หรือ บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ มีการให้ทาน เป็นต้น   

๗. กรรมมี ๑๒ อย่าง  กรรมมีทั้งหมด ๔ หมวด คือ
หมวดที่ ๑ กิจจจตุกกะ มี ๔ อย่าง คือ ชนกกรรม เป็นต้น   
หมวดที่ ๒ ปากทานปริยายจตุกกะ มี ๔ อย่าง คือ ครุกกรรม เป็นต้น     
หมวดที่ ๓ ปากกาลจตุกกะ มี ๔ อย่าง คือ ทิฏฐธัมมเวทนียกรรม เป็นต้น   
หมวดที่ ๔ ปากัฏฐานจตุกกะ มี ๔ อย่าง คือ อกุศลกรรม เป็นต้น   
ใน ๓ หมวดแรกมีหมวดละ ๔ อย่าง รวมเป็น ๑๒ อย่าง เป็นกรรมที่แสดงโดยนัยแห่งพระสูตร (เฉพาะกรรมหมวดที่ ๔ มี ๔ อย่างเท่านั้น ที่แสดงโดยนัยแห่งพระอภิธรรม)

๘. กรรมมี ๑๖ อย่าง เป็นการแสดงเรื่องกรรมทั้งหมด รวมทั้งโดยนัยแห่งพระสูตรและพระอภิธรรม 
ในหมวด ๗ เรื่องกรรมนี้จะกล่าวโดยละเอียดเฉพาะเรื่องกรรม ๑๖ เพราะเป็นที่รวบรวมเรื่องกรรมไว้ทั้งหมดแล้ว   

กรรม ๔ หมวด มี ๑๖ อย่าง  
หมวดที่ ๑ กิจจจตุกกะ ว่าโดยกิจมี ๔                    
๑. ชนกกรรม กรรมที่ทำหน้าที่ให้วิบากเกิดขึ้น หรือทำให้ผลเกิดขึ้น
๒. อุปัตถัมภกกรรม กรรมที่ทำหน้าที่ช่วยอุดหนุนกรรมอื่นๆ
๓. อุปปีฬกกรรม กรรมที่ทำหน้าที่เข้าไปเบียดเบียนกรรมอื่นๆ
๔. อุปฆาตกกรรม กรรมที่ทำหน้าที่เข้าไปตัดรอนกรรมอื่นๆ

หมวดที่ ๒ 
ปากทานปริยายจตุกกะ ว่าโดยลำดับการให้ผลมี ๔                    
๑. ครุกกรรม กรรมอย่างหนัก ที่กรรมอื่นๆไม่สามารถจะห้ามได้ 
๒. อาสันนกรรม กรรมที่ทำไว้เมื่อใกล้จะตาย
๓. อาจิณณกรรม กรรมที่เคยทำไว้เสมอๆ
๔. กฏัตตากรรม กรรมที่ทำไว้พอประมาณ หรือกรรมในอดีตภพ

หมวดที่ ๓ ปากกาลจตุกกะ ว่าโดยเวลาให้ผล มี ๔                
๑. ทิฏฐธัมมเวทนียกรรม กรรมที่ให้ได้รับผลในปัจจุบันชาตินี้
๒. อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมที่ให้ผลในชาติหน้า (คือชาติที่ ๒ นับจากชาตินี้ไป)
๓. อปราปริยเวทนียกรรม กรรมที่จะให้ผลตั้งแต่ชาติที่ ๓ เป็นต้นไป จนกว่าจะนิพพาน
๔. อโหสิกรรม กรรมที่ไม่ให้ผล 

หมวดที่ ๔ 
ปากัฏฐานจตุกกะ ว่าโดยฐานะที่ให้ผล มี ๔ 
๑. อกุศลกรรม ได้แก่เจตนาที่อยู่ในอกุศลจิต ๑๒
๒. กามาวจรกุศลกรรม ได้แก่เจตนาที่อยู่มหากุศลจิต
๓. รูปาวจรกุศลกรรม ได้แก่เจตนาที่อยู่ในรูปาวจรกุศลจิต
๔. อรูปาวจรกุศลกรรม 
ได้แก่เจตนาทิ่อยู่ในอรูปาวจรจิต ๔ 



๑๑. อายุของสัตว์ในภูมิทั้ง ๓๑

อายุของสัตว์ในภูมิ ๓๑ ต่อไปจะได้พรรณนาถึงอายุของเทวดาพรหมทั้งหลาย จะได้เห็นว่าการได้ไปเสวยสุขที่โลกสวรรค์นั้นมีอายุเท่าไรบ้าง และอายุของสัตว์นรกว่ามี อายุเสวยผลอกุศลกรรมเท่าไรบ้าง ทำบุญแล้วอธิษฐานให้เกิดในสวรรค์ ในอรรถกถาธรรมบทกล่าวเรื่องเวลาของสวรรค์เทียบกับมนุษย์ไว้ ดังนี้

ในดาวดึงส์เทวโลกเทวบุตรองค์หนึ่งชื่อว่า มาลาภารี ไปเที่ยวชมอุทยานพร้อมกับหมู่เทพอัปสร เทพธิดาองค์หนึ่งจุติ(ตาย)ในขณะที่กำลังนั่งอยู่บนกิ่งต้นไม้ให้ดอกไม้หล่นจากต้น สรีระของนางดับหายไปเหมือนอย่างเปลวประทีปดับ นางถือปฏิสนธิในตระกูลหนึ่งในกรุงสาวัตถีและระลึกชาติได้ว่า เป็นภรรยาของมาลาภารีเทวบุตร นางตั้งความปรารถนาจะไปเกิดในสำนักของเทพสามีอีก ขณะนั้นพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ กรุงสาวัตถี นางมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทำการบูชาพระรัตนตรัย ทำบุญกุศลต่างๆ และตั้งความปรารถนาอย่างเดียวนั้นตั้งแต่ยังเยาว์วัย จนถึงได้นามว่า ปติปูชิกา แปลว่า บูชาเพื่อสามี เมื่อเจริญวัยก็มีสามี คนทั้งหลายก็เข้าใจว่าเป็นที่สมปรารถนาแล้ว นางมีบุตรหลายคนโดยลำดับ ได้ตั้งหน้าทำบุญกุศลต่างๆอยู่เป็นนิตย์ ในวันสุดท้ายของชีวิต เมื่อฟังธรรมรักษาสิกขาบทแล้ว ได้ถึงแก่กรรมด้วย โรคปัจจุบัน บังเกิดในสำนักเทพสามีในสวนสวรรค์นั้นแหละ ขณะนั้น มาลาภารีเทวบุตรก็กำลังอยู่ในอุทยานหมู่เทพอัปสรกำลังเก็บร้อยดอกไม้กันอยู่ เทวบุตรได้ทักถามว่านางหายไปไหนแต่เช้า นางได้ตอบว่าจุติแล้วไปเกิดในมนุษย์ ได้เล่าเรื่องของนางในมนุษย์โดยตลอดและได้เล่าถึงความตั้งใจของนางเพื่อที่จะมาเกิดอีกในสำนักของเทพสามี บัดนี้ก็ได้มาเกิดสมปรารถนาด้วยอำนาจบุญกุศลและความตั้งใจ เทวบุตรถามถึงกำหนดอายุมนุษย์ เมื่อได้รับตอบว่าประมาณร้อยปีเกินไปมีน้อย ได้ถามต่อไปว่าหมู่มนุษย์มีอายุเพียงเท่านี้ พากันประมาทเหมือนอย่างหลับ หรือพากันทำบุญกุศลต่างๆ เทพธิดาตอบว่า พวกมนุษย์โดยมากพากันประมาทเหมือนอย่างมีอายุตั้งอสงไขย เหมือนอย่างไม่แก่ ไม่ตาย เทวบุตรได้เกิดความสังเวชใจ ความจากพระธรรมบท มุ่งเตือนใจให้ไม่ประมาท เพราะทุกๆ คนจะต้องตาย ขณะที่ยังไม่อิ่มยังเพลิดเพลินอยู่ในกาม เหมือนอย่างนางเทพธิดาเพลินเก็บดอกไม้ต้องจุติ(ตาย)ทันทีในสวนสวรรค์นั้น 
 

ใน ติกนิบาต แสดงอายุสวรรค์เทียบอายุมนุษย์ไว้ว่า
ห้าสิบปีมนุษย์เป็นหนึ่งคืนวันสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ๓๐ คืนวัน เป็นหนึ่งเดือนสวรรค์นั้น ๑๒ เดือนเป็นหนึ่งปีสวรรค์ ห้าร้อยปีทิพย์เป็นประมาณอายุของเทพชั้นจาตุมหาราชิกา เท่ากับเก้าล้านปีมนุษย์

หนึ่งร้อยปีมนุษย์เป็นหนึ่งคืนวันสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ นับเดือนปี เช่นเดียวกัน พันปีทิพย์นี้เป็นประมาณอายุของเทพชั้นดาวดึงส์ เท่ากับสามโกฏิหกล้านปีมนุษย์ (๓๖,๐๐๐,๐๐๐ ปี) 

สองร้อยปีมนุษย์เป็นหนึ่งคืนวันสวรรค์ชั้นยามา นับเดือนปี เช่นเดียวกัน สองพันปีทิพย์นี้เป็นประมาณอายุของเทพชั้นยามา เท่ากับสิบสี่โกฏิสี่ล้านปีมนุษย์ (๑๔๔,๐๐๐,๐๐๐ ปี) 

สี่ร้อยปีมนุษย์เป็นหนึ่งคืนวันสวรรค์ชั้นดุสิต นับเดือนปีเช่นเดียวกัน สี่พันปีทิพย์นี้เป็นประมาณอายุของเทพชั้นดุสิต เท่ากับห้าสิบเจ็ดโกฏิหกล้านปีมนุษย์ (๕๗๖,๐๐๐,๐๐๐ ปี) 

แปดร้อยปีมนุษย์เป็นหนึ่งคืนวันสวรรค์ชั้นนิมมานรตี นับเดือนปีเช่นเดียวกัน แปดพันปีทิพย์นี้เป็นประมาณอายุของเทพชั้นนิมมานรตี เท่ากับสองร้อยสามสิบโกฏิกับสี่ล้านปีของมนุษย์ (๒,๓๐๔,๐๐๐,๐๐๐ ปี)

หนึ่งพันหกร้อยปีมนุษย์เป็นหนึ่งคืนวันในสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี นับเดือนปีเช่นเดียวกัน หนึ่งหมื่นหกพันปีทิพย์นี้เป็นประมาณอายุของเทพ ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี เท่ากับเก้าร้อยยี่สิบเอ็ดโกฏิกับหกล้านปีมนุษย์ (๙,๒๑๖,๐๐๐,๐๐๐ปี)

ส่วนเทพชั้นพรหมโลกยิ่งมีอายุมากขึ้นไปอีก ดังต่อไปนี้
๑. พรหมปาริสัชชา มีอายุเท่าส่วนที่สามของกัป คือหนึ่งในสามของ กัป
๒. พรหมปุโรหิต มีอายุกึ่งกัป
๓. มหาพรหม มีอายุหนึ่งกัป
๔. ปริตตาภาพรหม มีอายุสองกัป
๕. อัปปมาณาภาพรหม มีอายุสี่กัป
๖. อาภัสสราพรหม มีอายุแปดกัป
๗. ปริตตสุภาพรหม มีอายุสิบหกกัป
๘. อัปปมาณสุภาพรหม มีอายุสามสิบสองกัป
๙. สุภกิณหาพรหม มีอายุหกสิบสี่กัป
๑๐. เวหัปผลาพรหม และ อสัญญสัตพรหม มีอายุห้าร้อยกัป
๑๑. อวิหาพรหม มีอายุพันกัป
๑๒. อตัปปาพรหม มีอายุสองพันกัป
๑๓. สุทัสสาพรหม มีอายุสี่พันกัป
๑๔. สุทัสสีพรหม มีอายุแปดพันกัป
๑๕. อกนิฏฐาพรหม มีอายุหนึ่งหมื่นหกพันกัป 

ส่วนอรูปพรหมอีก ๔ ชั้นยิ่งมีอายุมากขึ้นไปอีก

อรูปที่หนึ่ง มีอายุสองหมื่นกัป
อรูปที่สอง มีอายุสี่หมื่นกัป
อรูปที่สาม มีอายุหกหมื่นกัป
อรูปที่สี่ มีอายุแปดหมื่นสี่พันกัป

อายุของสัตว์ในนรก
อนึ่ง มีแสดงถึงอายุสัตว์ในนรกเทียบกับอายุในสวรรค์ไว้ว่า


ห้าร้อยปีทิพย์ในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา เป็นคืนวันหนึ่งใน สัญชีวนรก สัตว์นรกขุมนี้มีอายุห้าร้อยปีนรกนั้น

พันปีทิพย์ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นคืนวันหนึ่งใน กาฬสุตตนรก สัตว์นรกขุมนี้มีอายุหนึ่งพันปีนรกนั้น
สองพันปีทิพย์ในสวรรค์ชั้นยามา เป็นคืนวันหนึ่งใน สังฆาตนรก สัตว์นรกขุมนี้มีอายุสองพันปีนรกนั้น

สี่พันปีทิพย์ในสวรรค์ชั้นดุสิต เป็นคืนวันหนึ่งใน โรรุวนรก สัตว์นรกขุมนี้มีอายุสี่พันปีนรกนั้น

แปดพันปีทิพย์ในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี เป็นคืนวันหนึ่งใน มหาโรรุวนรก สัตว์นรกขุมนี้มีอายุแปดพันปีนรกนั้น

หนึ่งหมื่นหกพันปีทิพย์ในสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี เป็นคืนวันหนึ่งใน ตาปนนรก สัตว์นรกขุมนี้มีอายุหนึ่งหมื่นหกพันปีนรกนั้น

มหาตาปนนรก มีอายุกึ่งอันตรากัป
อเวจีนรก มีอายุหนึ่งอันตรกัป
 
การนับจำนวนเรื่องกาลเวลาจากคัมภีร์ต่างๆ สรุปได้เป็น ๒ วิธี คือ
๑. นับด้วยจำนวนสังขยา คือ นับจำนวนด้วยตัวเลข เช่น ๑,๒,๓,..... เป็นต้น
๒. กำหนดด้วยอุปมา คือ กำหนดด้วยเครื่องกำหนดอย่างใดอย่างหนึ่ง ในเมื่อมากเกินไปที่จะนับด้วยจำนวนตัวเลข การกำหนดในวิธีที่ ๒ นี้ เป็นที่มาของคำว่า กัป
 
กัปมี ๔ อย่าง คือ
๑. อายุกัป
๒. อันตรกัป
๓. อสงไขยกัป
๔. มหากัป

๑. อายุกัป หมายถึง กาลเวลาแห่งอายุขัยตามยุคตามสมัย เช่น อายุขัยของคนในยุคปัจจุบัน มีอายุขัยประมาณ ๗๕ ปี หรืออย่างเช่น ในคราวที่พระพุทธเจ้าทรงปลงอายุสังขารว่าอีกสามเดือนจะเสด็จปรินิพพาน หลังจากที่พระอานนท์ทราบแล้วจึงกราบทูลอาราธนาขอให้เสด็จอยู่กัปหนึ่ง เพราะได้เคยสดับพระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ที่เจริญอิทธิบาท ๔ ประการ ถ้าตั้งใจจะดำรงรูปกายอยู่ก็จะอยู่ได้กัปหนึ่ง หรือเหลือกว่ากัปหนึ่งในช่วงนั้นมนุษย์ก็มีอายุขัยประมาณร้อยปี 
๒. อันตรกัป การนับอายุ คือ ในสมัยต้นกัปมนุษย์มีอายุขัยยืนยาวมาก ถึงอสงไขยปี (มากจนนับจำนวนปีไม่ได้) ต่อมาอายุขัยของมนุษย์ค่อยๆ ลดลงตามลำดับจนเหลือแค่ ๑๐ ปี เมื่อลดลงถึงสิบปีแล้วก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นไปอีก จนถึงอสงไขยปีอย่างเก่าอีก เป็นอย่างนี้เท่ากับ ๑ รอบ เรียกว่า อันตรกัป
๓. อสงไขยกัป จำนวนอันตรกัปดังที่กล่าวไว้ในข้อที่ ๒ เป็นอย่างนั้น ไปอีกจนครบ ๖๔ อันตรกัป เท่ากับ ๑ อสงไขยกัป (การนับจำนวนอสงไขย กัป มีการกล่าวไว้หลายนัย บ้างก็กล่าวว่า ๒๐ อันตรกัป เป็น ๑ อสงไขยกัป บ้างก็ว่า ๘๐ อันตรกัป เป็น ๑ อสงไขยกัป)
๔. มหากัป มีวิธีนับคือ ๔ อสงไขยกัป = ๑ มหากัป มหากัปหนึ่งๆ มีเวลายาวนานมาก จนไม่สามารถประมาณได้ว่าเป็นเวลานานสักเท่าใด มี อุปมาว่า มีภูเขาหินใหญ่ยาวโยชน์หนึ่งกว้างโยชน์หนึ่ง (๑ โยชน์ = ๑๖ กิโลเมตร) ไมมีช่องไม่มีโพรง เป็นก้อนหินแท่งทึบ ถึงร้อยปีหนหนึ่งมีบุรุษใช้ ผ้าทอที่แคว้นกาสี (ผ้าเนื้อดี) ร้อยปีมาลูบครึ่งหนึ่ง ภูเขาหินนั้นก็จะพึงราบเรียบไปก่อน แต่กัปยังไม่สิ้น อีกอุปมาหนึ่งว่า มีพื้นที่กว้างและยาวร้อยโยชน์ มีกำแพงสูงร้อยโยชน์ ภายในเต็มไปด้วยเมล็ดพันธุ์ผักกาดแน่นขนัด มี บุรุษมาหยิบพันธุ์ผักกาดไปเมล็ดหนึ่งทุกๆ ร้อยปี กองเมล็ดพันธุ์ผักกาดนั้นก็จะหมดไปก่อน ส่วนกัปยังไม่สิ้น กัปที่ยาวมากดั่งนี้ เรียกว่า มหากัป

อธิบายคำว่ากัปเสื่อม หมายความว่าระยะเวลาที่ โลกวินาศ คือสลาย หรือดับ ความวินาศของโลกมี ๓ อย่างคือ วินาศเพราะไฟ วินาศเพราะน้ำ วินาศเพราะลม

โลกวินาศเพราะไฟ จะเกิด มหาเมฆกัปวินาศ คือเกิดฝนตกใหญ่ทั่วโลกก่อน ครั้นฝนนั้นหยุดแล้วจะไม่มีฝนตกอีก จะเกิดความแห้งแล้งไปโดยลำดับ จะมีดวงอาทิตย์ดวงที่ ๒ ปรากฏขึ้น จนถึงดวงที่ ๗ จึงจะเกิดไฟประลัยกัลป์ไหม้โลกจนหมดสิ้น อากาศเบื้องบนจะเป็นอันเดียวกับอากาศเบื้องล่างหมายความว่าเหลือ แต่อากาศว่างเปล่า มีความมืดมิดทั่วไปครั้นแล้ว มหาเมฆกัป สมบัติ (ก่อเกิดกัป) จะตั้งขึ้น ฝนจะตกทั่วบริเวณที่ถูกไฟไหม้ ลม จะประคองรวมน้ำฝนให้รวมกันเป็นก้อนกลมเหมือนหยาดน้ำบน ใบบัว แล้วก็แห้งขอดลงไป เป็นไปเช่นนั้นจนปรากฏโลกขึ้นใหม่ จึงถึงวาระที่เรียกว่ากัปเจริญ สัตว์ที่บังเกิดขึ้นเป็นพวกแรก นั้น เป็นพวกพรหมในพรหมโลกชั้นที่ไฟไหม้ขึ้นไปไม่ถึง ลงมาเกิดเป็นพวก โอปปาติกะ เกิดขึ้นทันทีโดยไม่ต้องอาศัยครรภ์มารดา เกิดโตปรากฏขึ้นทีเดียว แล้วพากันบริโภคง้วนดิน (ปฐวิ รส คือเมื่อน้ำแห้งขอด ก็เกิดเป็นแผ่นฝ้าขึ้นในเบื้องบน มีสีงาม มีรสหอมหวาน) สะเก็ดดิน (ปฐวีปัปปฏก) เครือดิน (ปทาลตา) หมดไปโดยลำดับ จากนั้นจึงบริโภคธัญชาติ เช่น ข้าวสาลีสืบต่อมา สัตว์โลกจำพวกแรกเหล่านั้นจึงมีร่างกายหยาบขึ้นโดยลำดับ จนปรากฏเป็นบุรุษสตรีสร้างบ้านเรือนสืบพันธุ์กันมา ในตอนต้นมีอายุยืนยาวเป็นอสงไขย (นับปีไม่ถ้วน) ต่อมาพากันประพฤติอกุศลกรรมด้วยอำนาจของราคะ โลภะ โทสะ โมหะ มากขึ้น อายุก็ลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ จนถึงที่สุด มีอายุขัย ๑๐ ปี ก็จะถึงความพินาศเป็นส่วนมาก เพราะภัย ๓ อย่าง คือ ศัสตราวุธ โรค ทุพภิกขภัย คือความขาดแคลนอาหาร หรือเรียกว่าถึง สมัย มิคสัญญี แปลว่า มีความสำคัญในกันและกันว่าเหมือนอย่างเนื้อ คือ เห็นกันฆ่ากันเหมือนอย่างเนื้อถึก แต่ก็ยังไม่พินาศกันหมดทั้งโลก ยังมีสัตว์ที่เหลือตายหลบหลีกไป และกลับได้ความสังเวชสลดจิต พากันประพฤติกุศลกรรมมากขึ้น ก็พากันเจริญอายุมากขึ้นด้วยอำนาจกุศลโดยลำดับจนถึงอสงไขย แล้วกลับอายุถอยลงมาด้วยอำนาจอกุศลกรรมจนถึงอายุขัย ๑๐ ปี แล้วก็กลับเจริญอายุขึ้นใหม่อีก วนขึ้นวนลงอยู่อย่างนี้ จนกว่า จะถึงคราวโลกวินาศอีกครั้งหนึ่ง ระยะเวลาทั้งหมดนี้จัดเป็นกัป ย่อยทั้ง ๔ ดังนี้ คือ 

๑. สังวัฏฏอสงไขยกัป แปลว่า กัปเสื่อม ตั้งแต่เกิดมหาเมฆกัปวินาศ ฝนตกใหญ่จนถึง ไฟประลัยกัลป์ไหม้โลกจนหมดสิ้น ดับลงแล้ว
๒. สังวัฏฏฐายีอสงไขยกัป แปลว่า กัปถึงความพินาศแล้ว และ ความพินาศนั้นยังอยู่ ตั้งแต่ไฟไหม้โลกดับ จนถึงมหาเมฆกัปสมบัติ ฝนตกใหญ่ เริ่มก่อกำเนิดโลกขึ้นใหม่
๓. วิวัฏฏอสงไขยกัป แปลว่า กัปเจริญ คือ กัปที่กำลังเจริญขึ้นไปตามลำดับ ตั้งแต่มหาเมฆกัปสมบัติ จนถึงปรากฏดวงจันทร์ดวงอาทิตย์
๔. วิวัฎฏฐายีอสงไขยกัป แปลว่า กัปที่เจริญแล้ว และความเจริญนั้นยังอยู่ ตั้งแต่บัดนั้นจนถึงมหาเมฆกัปวินาศบังเกิดขึ้นอีก

โลกวินาศด้วยน้ำ เกิดมหาเมฆกัปวินาศขึ้นเช่นเดียวกันก่อน แล้วจึงเกิดมหาเมฆ ทำให้ฝนตก ฝนนั้นเป็นน้ำด่างตกลงมาเป็นน้ำประลัยกัลป์ ย่อยโลกให้วินาศไปเช่นเดียวกับไฟไหม้โลก

โลกวินาศด้วยลม เกิดมหาเมฆกัปวินาศขึ้นก่อนแล้วเกิดลมกัป วินาศเป็นลมประลัยกัลป์ พัดผันโลกให้ย่อยยับเป็นจุณวิจุณไป เช่นเดียวกับไฟไหม้โลก ความวินาศของโลก จะวินาศด้วยไฟ ๗ ครั้ง แล้ววินาศด้วยน้ำ ๑ ครั้ง เป็นไปอย่างนี้ ๗ รอบ พอถึงรอบที่ ๘ ก็จะถูกทำลายด้วยลม
 

ที่กล่าวมาในเรื่องของเวลาแห่งชีวิตของสัตว์บุคคลทั้งหลายใน ๓๑ ภูมิ ที่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏ มีอายุขัยแตกต่างกันไปตามภูมิ บางภูมิมีอายุขัยนานมากนับเป็น ๘๔,๐๐๐ กัป ยังมีพระพุทธภาษิตที่แสดงเรื่องกาลเวลาไว้ว่า

กาลคือเวลาย่อมกิน สรรพสัตว์พร้อมทั้งตัวเอง ฉะนั้นจะเกิดเป็นเทพชั้นไหนก็ต้องถูกเวลากลืนกิน คือต้องดับ ไม่มีที่จะสถิตอยู่เป็นนิรันดร แต่อาจจะมีอายุนานนักหนาได้โดยเทียบกับเวลาของมนุษย์นี้ ซึ่งความจริงหาใช่เร็วหรือช้าไม่ เป็นเวลาที่พอเหมาะตามกำหนดสำหรับชั้นนั้นๆ พระพุทธศาสนาได้แสดงถึงที่ซึ่งไม่มีกาลเวลาไว้ด้วยว่า คือ ที่ซึ่งไม่มี ตัณหา(ความดิ้นรนทะยานอยาก) เปรียบไว้เหมือนลูกศรที่เสียบจิตใจ “ใครก็ตามอยู่ในโลกหรือภูมิไหนก็ตาม เมื่อถอนลูกศรที่เสียบใจนี้ออกเสียได้ ก็ย่อมบรรลุถึงที่ซึ่งไม่มีกาลเวลา ที่ซึ่งจะพึงบรรลุด้วยจิตใจเท่านั้น ส่วนร่างกายเป็นของโลกต้องตกอยู่ในอำนาจของเวลา” การระงับได้ซึ่งตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก จิตใจที่ไม่ดิ้นรน ย่อมไม่เกี่ยวกับเวลาแต่อย่างใดเลย คือไม่เกี่ยวกับอดีต ปัจจุบัน อนาคต อะไรทั้งสิ้น จิตที่อบรมแล้วย่อมพ้นจากอำนาจของเวลา จิตที่อบรมจนข้ามพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวงได้แล้วขณะนั้นย่อมไม่มีกาลไม่มีเวลา เป็นอกาลิโก ทั้งหมดคือเรื่องราวของสังสารวัฏ หรือ ภูมิทั้ง ๓๑ ที่เวียนว่ายตายเกิดไม่มีสิ้นสุด บางภูมิก็มีแต่ทุกข์แสนสาหัส บางภูมิก็เสวยสุขอย่างเหลือล้น แต่ก็ไม่สามารถทำให้เราพ้นจากทุกข์ไปได้

หนทางเดียวที่จะพ้นไปจากทุกข์ได้ ต้องทำให้พ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิด ด้วยการเจริญวิปัสสนาขจัดขัดเกลากิเลสให้หมดโดยสิ้นเชิงเพื่อเข้าสู่สภาวะ นิพพาน