วันจันทร์

ความรัก ๒ ระดับ ของบุคคลสำคัญสมัยพุทธกาล

ประเด็นเรื่องความรักกับคำสอนของพระพุทธศาสนานั้น เราๆท่านๆอาจได้ยินได้ฟังกัน หรือจำกันได้ติดหู ในประโยคที่ว่า “ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์” ซึ่งเป็นข้อความบางส่วนจากพระพุทธพจน์ในวิสาขาสูตร จากสำนวนที่ค่อนข้างรวบรัดตัดตอนนี้ทำให้บางครั้งอาจเกิดทัศนคติต่อความรักในเชิงลบ หรือมองว่าความรักเป็นสิ่งที่ขัดขวางความเจริญในกุศลธรรมทั้งหลาย ซึ่งทัศนคติดังกล่าวนี้ ถูกต้องเพียงบางส่วน บทความนี้จึงมุ่งหวังให้เกิดความกระจ่างในประเด็นเรื่องของความรัก ในทัศนะของพระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้นตามแนวทางที่ครูอาจารย์ได้เคยชี้แนะเอาไว้แล้ว

ความรักที่เกิดจากตัณหา ราคะ ย่อมเป็นความเกิดพร้อมของเหตุแห่งทุกข์ ความรักด้วยแรงจูงของกิเลสนั้น ท่านมีศัพท์เฉพาะว่า “สิเนหะ” (เสน่หา ในภาษาไทย) “เปมะ” หรือ “ปิย” เป็นต้น นอกจากนี้คำว่า “หึง” นั้น ผู้เขียนเคยได้ยินว่าแผลงมาจากบาลีว่า “หิงสะ” ที่แปลว่า เบียดเบียน (ตรงข้ามกับ อหิงสา ไม่เบียดเบียน) ความรักใดที่มาพร้อมกับความหึงหวง ความรักนั้นย่อมมีมูลเหตุมาจากกิเลส ส่วนความรักแบบเมตตา กรุณา เป็นความเกิดพร้อมของเหตุแห่งสุข อาจกล่าวได้ว่า เป็นด้านดีของความรัก

ประเด็นเรื่องความรักนี้ จริงๆแล้วไม่ได้ซับซ้อนอะไรมากนัก แต่ที่เป็นปัญหาส่วนหนึ่งมาจากเรื่องของการใช้คำศัพท์ ทั้ง ตัณหา ราคะ สิเนหะ กับ เมตตา กรุณา ภาษาไทยเราเรียกคลุมๆกันไปหมดว่า เป็นความรัก ทั้งๆที่อย่างหนึ่งเป็นอกุศลธรรม อีกอย่างหนึ่งเป็นกุศลธรรม ดังนั้น จึงควรสังเกตความแตกต่าง และแยกออกจากกันให้ชัดเจน โดย แบ่งเป็นความรัก ๒ แบบ

แบบที่ ๑ ความรักด้วยตัณหา : คือ ความรักเพราะอยากได้ มีความเห็นแก่ตัวเป็นสมุทฐาน มองผู้นั้นเป็นเครื่องสนองความสุข สนองความต้องการของตนเอง เมื่อผิดหวังไม่ได้ดังใจตนก็เกิดความรู้สึกกระทบกระทั่งรุนแรง หรือถ้าผู้นั้นไม่อยู่ในภาวะที่จะสนองความต้องการให้แก่ตนได้ ความรักก็อาจเปลี่ยนเป็นความเบื่อหน่าย รังเกียจ ความรักแบบนี้แท้จริงแล้วคือการคิดจะได้จะเอาจากผู้อื่น ไม่ใช่ความดีงามอะไร ผู้ที่มีความรักด้วยกิเลสตัณหามากย่อมเป็นการสะสมเหตุแห่งความทุกข์ทางใจเอาไว้มากด้วย

แบบที่ ๒ ความรักอันประเสริฐ : คือ ความรักด้วยพรหมวิหาร ๔ อยู่ในฝ่ายของฉันทะ เป็นกุศลธรรมล้วนๆ เป็นความรักที่ทำให้การให้กลายเป็นความสุข เป็นความรักเพื่อตัวเขา โดยไม่ต้องเอาตัวเราเข้าไปรอรับผลตอบแทนใดๆ เพราะความที่ไม่ต้องมีตัวเราเข้าไปรับกระทบใดๆนี่แหละ ผู้มีความรักอย่างประเสริฐจึงมีความสุข ความเบิกบานในจิตใจอย่างยิ่ง ยามเขาปกติก็บันเทิงอยู่ด้วยเมตตาอยากให้เขามีความสุข เมื่อเขาทุกข์ร้อนก็ชุ่มด้วยกรุณาอยากให้พ้นจากความทุกข์ เมื่อเขาเจริญรุ่งเรืองประสบความสำเร็จยิ่งขึ้นก็พลอยยินดีด้วยมุทิตาจิต แม้ยามพ้นวิสัยที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลอะไรได้ ก็วางใจสงบด้วยอุเบกขา ผู้ที่มีความรักด้วยเมตตากรุณามากย่อมเป็นการสะสมเหตุแห่งความสุขทางใจเอาไว้มากด้วย

การแยกออกเป็นสองแบบนั้น ไม่ใช่ว่าความรักแต่ละกรณีจะจัดลงในแบบใดแบบหนึ่งได้โดยสิ้นเชิง ปกติแล้วก็มักจะประกอบด้วยส่วนผสมทั้งสองด้านนี้เจือปนกันอยู่ เช่น ความรักของพ่อแม่ ก็มักจะมีส่วนของความรักอันประเสริฐด้วยพรหมวิหารมาก ความรักของหนุ่มสาว ก็มักจะมีส่วนของความรักด้วยตัณหามาก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม พึงทราบว่าผลสำเร็จที่เป็นอุดมคติของความรักอันประเสริฐ หรือการเจริญพรหมวิหารธรรม คือ มีความปรารถนาดีต่อสัตว์ทั้งปวงอย่างเสมอกัน โดยไม่แบ่งแยกหมู่คณะ มิตร ศัตรู ดี เลว ดังพุทธพจน์

“มารดาถนอมบุตรคนเดียวผู้เกิดในตน แม้ด้วยการยอมสละชีวิตได้ ฉันใด กุลบุตรผู้ฉลาดในประโยชน์ พึงเจริญเมตตามีในใจไม่มีประมาณในสัตว์ทั้งปวง แม้ฉันนั้น”

อาจมีคำถามเกิดขึ้นว่า ความรักแบบหนุ่มสาว ที่ว่าเป็นความรักเพราะอยากได้ ประกอบด้วยกิเลสตัณหามาก นำมาซึ่งความทุกข์นั้น …มันก็นำมาซึ่งความสุข เป็นเหตุแห่งความสุขด้วยมิใช่หรือ?

ข้อนี้ข้าพเจ้าขอแสดงความเห็นว่า กามสุข (สุขจาก รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส) มันก็เป็นเหตุแห่งความสุขตามเหตุปัจจัยปกติของมัน เช่น รูปที่น่ารัก อาหารอร่อย ดนตรีไพเราะ ธรรมชาติงดงาม เป็นต้น มันก็ให้ความสุขตามระดับของมันเช่นนั้น ไม่ว่าเราจะยือถือมันไว้ด้วยกิเลสตัณหาหรือไม่ก็ตาม (พระอรหันต์ยามว่างจากภาระกิจที่พึงกระทำก็ยังนิยมเข้าฌานเพื่อความอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน อันเป็นสุขที่เหนือกว่าสุขจากกามคุณ ๕ แม้ท่านไม่มี รูปราคะ และอรูปราคะแล้ว) ที่ว่าความรักของหนุ่มสาวก็นำมาซึ่งความสุขได้นั้น จึงเป็นความจริงในแง่ด้านหนึ่ง เพราะกามคุณ ๕ ก็ย่อมเป็นเหตุแห่งสุขตามระดับของมัน (กามสุข < ฌานสุข < นิพพานสุข) ประเด็นคือกิเลสตัณหานั้น เป็นส่วนโทษเป็นเหตุแห่งทุกข์ ความรักใดๆก็ตามที่เคยประกอบด้วยกิเลสตัณหามาก ผู้ฉลาดควรที่จะค่อยๆแทนที่ด้วยความรักแบบ เมตตา กรุณา เพื่อให้การเข้าไปเกี่ยวข้องกับสัตว์บุคคลทั้งหลาย เป็นทั้งเหตุแห่งสุขตามปกติธรรมดาของมันและเป็นเหตุแห่งสุขด้วยกุศลธรรมความปรารถนาดีโดยไม่หวังผลตอบแทน ในขณะที่เป็นเหตุแห่งทุกข์เพียงเล็กน้อยตามระดับของกิเลสตัณหาที่เบาบางลง หรือแม้กระทั่งไปจนถึงเป้าหมายในอุดมคติคือ ปลอดกิเลส ปลอดทุกข์ มีแต่ความสุข

ในภาพรวมของเนื้อหา จะนำเสนอเรื่องราวความรักของบุคคลสำคัญในสมัยพุทธกาล ที่ปรากฏในพระไตรปิฎกและอรรถกถา โดยจัดเป็นคู่ๆ เพื่อให้สามารถมองเห็นความแตกต่าง และเปรียบเทียบลักษณะของ “ความรัก” ที่เกิดขึ้นในแต่ละเหตุการณ์ได้โดยสะดวก


🙏 ๑) นางวิสาขา กับ พระโพธิสัตว์ในอุรคชาดก
(วิสาขาสูตร)

นางวิสาขาเกิดในตระกูลเศรษฐี แคว้นอังคะ เมื่อพระบรมศาสดาเสร็จมาสู่เมือง ได้ตามผู้เป็นปู่ไปฟังธรรม และบรรลุเป็นโสดาบันบุคคล ในขณะที่มีอายุเพียง ๗ ขวบ กาลต่อมาท่านได้รับยกย่องว่าเป็นมหาอุบาสิกาผู้เลิศในด้านการถวายทาน เป็นผู้สร้างวัดบุพพาราม และเป็นผู้ริเริ่มการถวายผ้าอาบน้ำฝน

ครั้งหนึ่ง… นางวิสาขา ได้สูญเสียหลานอันเป็นที่รักยิ่งไป ด้วยเหตุเพราะหลานสาวผู้นี้เป็นเด็กหญิงที่มีความเพียบพร้อมทั้งกิริยามารยาทอันน่ารักน่าชมและคุณธรรมอันดีงาม เธอเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ที่พึงกระทำแก่ ภิกษุ ภิกษุณี เมื่อนางวิสาขาไม่อยู่บ้าน จึงเป็นที่รักที่พึงใจของนางวิสาขาอย่างยิ่ง เมื่อหลานสาวผู้นี้ป่วยจนถึงแก่อสัญกรรม ท่านจึงบังเกิดความโศกเศร้าเสียใจ ร้องให้น้ำตานองหน้าเข้ามากราบทูลพระพุทธเจ้า เพื่อประสงค์จะฟังธรรมเพื่อคลายความทุกข์โศก มีใจความตอนหนึ่งว่า

“ดูกรนางวิสาขา ท่านพึงปรารถนาบุตรและหลานเท่ามนุษย์ในพระนครสาวัตถีหรือ”
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ หม่อมฉันพึงปรารถนาบุตรและหลานเท่ามนุษย์ในพระนครสาวัตถี เจ้าค่ะ”
“ดูกรนางวิสาขา มนุษย์ในพระนครสาวัตถีมากเพียงไร ทำกาละ (ตาย) อยู่ทุกวันๆ”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มนุษย์ในพระนครสาวัตถี ๑๐ คนบ้าง ๙ คนบ้าง ๘ คนบ้าง ๗ คนบ้าง ๖ คนบ้าง ๕ คนบ้าง ๔ คนบ้าง ๓ คนบ้าง ๒ คนบ้าง ๑ คนบ้าง ทำกาละอยู่ทุกวันๆ”
“ดูกรนางวิสาขา ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านพึงเป็นผู้มีผ้าเปียกหรือมีผมเปียกเป็นบางครั้งบางคราวหรือหนอ”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไม่ใช่อย่างนั้น เจ้าค่ะ พอเพียงแล้วด้วยบุตรและหลานมากเพียงนั้นแก่หม่อมฉัน”
“ดูกรนางวิสาขา ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๑๐๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๑๐๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๙๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๙๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๘๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๘๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๗๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๗๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๖๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๖๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๕๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๕๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๔๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๔๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๓๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๓๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๒๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๒๐ … ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๑ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๑ ผู้ใดไม่มีสิ่งที่รัก ผู้นั้นก็ไม่มีทุกข์ เรากล่าวว่า ผู้นั้นไม่มีความโศก ปราศจากกิเลสดุจธุลี ไม่มีอุปายาส”  “ความโศกก็ดี ความร่ำไรก็ดี ความทุกข์ก็ดี มากมายหลายอย่างนี้มีอยู่ในโลก เพราะอาศัยสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รักเมื่อไม่มีสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รัก ความโศก ความร่ำไรและความทุกข์เหล่านี้ย่อมไม่มี เพราะเหตุนั้นแล ผู้ใดไม่มีสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รักในโลกไหนๆ ผู้นั้นเป็นผู้มีความสุข ปราศจากความโศก เพราะเหตุนั้น ผู้ปรารถนาความไม่โศก อันปราศจากกิเลสดุจธุลี ไม่พึงทำสัตว์หรือสังขารให้เป็นที่รัก ในโลกไหนๆ”

ทั้งนี้ เมื่อนางวิสาขามีความรักอันประกอบด้วยกิเลสตัณหา หรืออาจเรียกว่า รักด้วยเสน่หาต่อหลาน ในขณะเดียวกันท่านย่อมมีความรักในลักษณะของกุศลธรรม คือ เมตตา กรุณา ต่อผู้เป็นหลานอยู่มากมายด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย จะเห็นว่าแม้แต่ผู้ที่มีคุณธรรมสูงถึงเพียงนี้ ยังมีความรักอันเจือด้วยกิเลสต่อหลานของตน (ในขณะเดียวกันท่านย่อมมีความรักด้วย เมตตา กรุณา ต่อผู้เป็นหลานอยู่มากมายเช่นกัน) ข้าพเจ้าจึงมีความเห็นว่า เป็นธรรมดาของผู้ที่ยังไม่หมดกิเลส ย่อมจะมีความรักด้วยเสน่หาเช่นนี้อยู่มากเช่นเดียวกัน หากแต่ความเข้าใจว่าความรักชนิดนี้เป็นของมีโทษ ความรักด้วยเมตตากรุณา เป็นของมีคุณประโยชน์ ก็เป็นสิ่งที่ควรศึกษาเพื่อความผาสุขยิ่งในชีวิตและเพื่อประดับปัญญา

มีทัศนคติหนึ่งในสังคม ที่พบบ่อยแต่ไม่สู้จะถูกต้องนัก กล่าวคือ แม้แต่ความรักที่เจือด้วยกิเลสตัณหา ก็ถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ดี (สุดโต่งไปคนละทางกับกลุ่มที่มองว่าความรักนั้นไม่ดีทั้งหมด) ยกตัวอย่างสถานการณ์สมมติเช่นว่า ถ้าผู้ที่เป็นที่รักล่วงลับจากไป แล้วเราไม่โศกเศร้าเสียใจ อาจถูกมองว่าเป็นคนมีจิตใจหยาบไม่มีเมตตากรุณา ทั้งๆที่จริงๆแล้ว ถ้ามีเมตตากรุณาแท้ๆโดยไม่มีกิเลสตัณหา ไม่มีความยึดติดเสน่หาในตัวบุคคลผู้นั้นเจือปน จะไม่โศกเศร้าเสียใจเลย

ด้วยปรารถนาจะให้ความกระจ่าง 🔎คัมภีร์วิสุทธิมรรคจึงได้แสดงวิบัติ (ความผิดพลาด) ของพรหมวิหารธรรมแต่ละข้อไว้ ดังนี้
เมตตา : มีราคะ และสิเนหะเป็นวิบัติ
กรุณา : มีความรู้สึกพลอยโศกเศร้าเป็นวิบัติ
มุทิตา : มีความรู้สึกพลอยยินดีด้วยกิเลสตนเป็นวิบัติ
อุเบกขา : มีความเฉยโง่เป็นวิบัติ

ดังจะเห็นตัวอย่างเพิ่มเติมจากพระสูตรบทถัดไป

พ่อค้าผู้หนึ่ง บุตรได้ตายลงมีความโศกเศร้ายิ่ง พระบรมศาสดาได้ตรัสต่อพ่อค้าผู้นั้นว่า

“ชื่อว่าสิ่งที่มีการแตกทำลายเป็นธรรมดา ย่อมจะแตกทำลายไป ชื่อว่าสิ่งที่มีการพินาศไปเป็นธรรมดา ย่อมจะพินาศไป ก็แหละสิ่งที่มีการแตกและการพินาศไปนั้น จะมีแก่คนผู้เดียวเท่านั้นก็หามิได้ จะมีในหมู่บ้านเดียวเท่านั้น ก็หามิได้ ชื่อว่าสภาวธรรม คือ ความไม่ตายย่อมไม่มีในภพทั้งสาม ในจักรวาลอันหาประมาณมิได้ แม้สังขารอย่างหนึ่งซึ่งสามารถดำรงอยู่โดยภาวะนั้นเท่านั้น ชื่อว่าเที่ยงยั่งยืนย่อมไม่มี สัตว์ทั้งปวงมีความตายเป็นธรรมดา สังขารทั้งหลายมีการแตกสลายไปเป็นธรรมดา แม้โบราณบัณฑิตทั้งหลาย เมื่อบุตรตายแล้ว คิดว่าสิ่งที่มีการพินาศไปเป็นธรรมดา พินาศไปแล้ว จึงไม่เศร้าโศกเลย”

และได้ทรงแสดงเรื่องในอดีตเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจ ความโดยย่อดังนี้

ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลพราหมณ์ ทำอาชีพกสิกรรม ครอบครัวประกอบด้วย ภรรยา บุตร ธิดา ลูกสะใภ้ และคนรับใช้ พระโพธิสัตว์ได้ให้โอวาทแก่บุคคลดังกล่าวเรื่อง ศีล ความไม่ประมาท และมรณานุสติ ชนเหล่านั้นรับไปปฏิบัติเป็นอันดีเรื่อยมา กาลล่วงมาวันหนึ่ง บุตรของพระโพธิสัตว์ถูกงูพิษกัดเสียชีวิตลง เมื่อทุกคนทราบข่าว ก็มิได้ร้องให้คร่ำครวญ เพราะเป็นผู้เจริญมรณานุสติไว้ดีแล้ว ท้าวสักกะเห็นดังนี้ก็บังเกิดความสนใจใคร่รู้ จึงเสด็จลงมาตรัสถาม

เขาคงจะเป็นบุตรผู้ไม่เป็นที่รักของท่าน? 
พระโพธิสัตว์กล่าวว่า เขาเป็นบุตรที่รักยิ่งของข้าพเจ้า บุตรละทิ้งร่างกายตนเหมือนงูลอกคราบ เมื่อเขาตายแล้วเขาย่อมไม่รับรู้ถึงความเสียใจของญาติ เพราะฉะนั้นการโศกเศร้าเสียใจจึงไม่มีประโยชน์ เขาย่อมไปตามคติที่ไปอันควรแก่เขา ภรรยาพระโพธิสัตว์กล่าวว่า  ดิฉันไม่ได้เชิญให้เขามาเกิด เมื่อจะไปก็มิได้อนุญาต การโศกเศร้าจะมีประโยชน์อะไร เขาย่อมไปตามคติที่ไปอันควรแก่เขา ลูกสาวกล่าวว่า เมื่อพี่ชายตายแล้วดิฉันร้องให้เสียใจก็จะผ่ายผอม ญาติมิตรก็จะเสียใจยิ่งขึ้น ดิฉันจึงไม่โศกเศร้า เขาย่อมไปตามคติที่ไปอันควรแก่เขา ภรรยาของผู้ตายกล่าวว่า บุคคลร้องให้ถึงผู้ที่ล่วงลับไปแล้วเปรียบเสมือนเด็กร้องให้ขอพระจันทร์ในอากาศ จะพึงมีประโยชน์อันใด เขาย่อมไปตามคติที่ไปอันควรแก่เขา คนรับใช้ของพระโพธิสัตว์กล่าวว่า ลูกเจ้านายของดิฉัน เป็นผู้เสมือนบุตรที่ดิฉันให้เจริญเติบโตในอก หม้อน้ำที่แตกแล้วเชื่อมให้สนิทอีกไม่ได้ ฉันใด การที่บุคคลมาเศร้าโศกถึงผู้ที่ล่วงลับไปแล้วก็ ฉันนั้น จะพึงมีประโยชน์อันใด เขาย่อมไปตามคติที่ไปอันควรแก่เขา

ชนทั้ง ๕ เมื่อทราบข่าวการตายของบุตร มิได้มีอาการโศกเศร้า เป็นเพราะพวกเขาเหล่านี้ไม่มีความรักต่อผู้ตายหรือ? โปรดพิจารณาข้อความที่พระโพธิสัตว์ตรัสตอบท้าวสักกะว่า เขาเป็นบุตรที่รักยิ่งของข้าพเจ้า แสดงว่าความรักที่ไม่ได้เป็นเหตุแห่งทุกข์มีอยู่ นั่นคือ ความรักด้วยเมตตา กรุณา มิใช้รักด้วย ตัณหา ราคะ สิเนหะ (อุรคชาดก)

🙏 ๒) พระสารีบุตร และพระอานนท์ (อุปปติสสะสูตร)

บทนี้เป็นภาษิตของพระสารีบุตรเถระเจ้า ซึ่งได้กล่าวแก่พระอานนท์และพระสงฆ์กลุ่มหนึ่ง โดยพระสารีบุตรได้กล่าวว่าความเศร้าโศก เสียใจ ร่ำให้ จะไม่เกิดแก่ตัวท่าน เพราะเหตุของการที่สิ่งใดๆในโลกเกิดความแปรผันไป ท่านพระอานนท์จึงถามว่า แม้ความแปรผันไปของพระบรมศาสดา ความเศร้าโศก เสียใจ ก็จะไม่บังเกิดขึ้นแก่ท่านหรือ พระสารีบุตรได้กล่าวตอบ ดังนี้

“ท่านผู้มีอายุ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสไม่พึงเกิดขึ้นแก่ผมเพราะความแปรผันเป็นอย่างอื่นแม้แห่งพระศาสดา แต่ผมมีความคิดว่า ‘ท่านผู้เจริญพระศาสดาผู้มีศักดิ์ใหญ่ มีฤทธานุภาพมาก อันตรธานไปแล้ว ถ้าพระองค์พึงดำรงอยู่ตลอดกาลนาน ข้อนั้นพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล และเพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย‘”

พระอานนท์ได้ฟังก็กล่าวยอมรับ เพราะเหตุที่พระสารีบุตรได้ถอนกิเลสทั้งหลายหมดสิ้นแล้ว

“จริงอย่างนั้น ท่านพระสารีบุตรได้ถอนอหังการ มมังการ และมานานุสัย หมดสิ้นมานานแล้ว เพราะฉะนั้น โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส จึงไม่เกิดขึ้นแก่ท่านพระสารีบุตร เพราะความแปรผันเป็นอย่างอื่นแม้แห่งพระศาสดา”

ถ้าจะพิจารณาว่า พระสารีบุตร มีความรัก ความปรารถนาดี ต่อพระพุทธเจ้าหรือไม่? พระสารีบุตร ท่านย่อมมีความรักและความปรารถนาดีต่อพระพุทธเจ้าอย่างยิ่ง พิจารณาได้จากพระสูตรหลายๆบทที่ท่านกล่าวสรรเสริญพระพุทธคุณ เช่น สาริปุตตสุตตนิทเทสที่ ๑๖ ว่าด้วยพระสารีบุตรกล่าวสรรเสริญพระพุทธคุณ และในพระสูตรอื่นอีกหลายแห่ง แต่การที่ท่านไม่มีความโศกเศร้าเพราะเหตุแห่งความแปรผันของพระศาสดา ก็เพราะท่านไม่ได้มีความรักชนิดที่เจือด้วยกิเลสตัณหาในพระบรมศาสดา ต่างจากพระอานนท์ซึ่งสมัยนั้นท่านยังไม่บรรลุอรหัตตผล ดังจะได้พิจารณาต่อไป

หลังจากที่พระบรมศาสดาทรงปลงอายุสังขาร และจะปรินิพพานในไม่ช้า พระอานนท์เถระเจ้าได้เกิดความโศกเศร้าอย่างรุนแรง จนต้องปลีกตัวออกไปร้องไห้ เนื้อความในพระไตรปิฎก ส่วนหนึ่งบันทึกไว้ ดังนี้

“ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปสู่วิหารยืนเหนี่ยวไม้สลักเพชรร้องไห้อยู่ว่า เรายังเป็นเสขบุคคลมีกิจที่จะต้องทำอยู่ แต่พระศาสดาของเรา ซึ่งเป็นผู้อนุเคราะห์เรา ก็จักปรินิพพานเสีย”

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งถามพวกภิกษุว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานนท์ไปไหน พวกภิกษุกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านอานนท์นั้น เข้าไปสู่วิหารยืนเหนี่ยวไม้สลักเพชรร้องไห้อยู่ว่าเรายังเป็นเสขบุคคล มีกิจที่จะต้องทำอยู่ แต่พระศาสดาของเรา ซึ่งเป็นผู้อนุเคราะห์เรา ก็จักปรินิพพานเสีย …”

จะเห็นว่าในเนื้อความตอนหนึ่งกล่าวว่า ท่านพระอานนท์เสียใจเนื่องจากตัวท่านยังไม่บรรลุอรหัตตผล (ขณะนั้นท่านดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล) ยังจำเป็นต้องศึกษาให้ยิ่งขึ้นไปอีก แต่พระบรมศาสดากำลังจะปรินิพพานแล้ว ในกรณีนี้อาจวิเคราะห์ได้ว่า พระอานนท์ท่านปล่อยให้ความยึดติดด้วยกิเลสส่วนตัว มามีอิทธิพลต่อจิตใจ กล่าวคือ ท่านเกรงว่าเมื่อไม่มีพระบรมศาสดาชี้แนะแล้ว ตัวท่านจะเจริญขึ้นในธรรมได้อย่างไร ในที่นี้เทียบเข้ากันได้กับความรักแบบที่ ๑ คือ ความรักเพราะอยากได้บางสิ่งบางอย่างเพื่อตัวเอง

ทั้งนี้ ข้าพเจ้าไม่ได้มีเจตนาล่วงเกินหรือลบหลู่คุณธรรมของพระอานนท์ ตรงกันข้ามข้าพเจ้านับถือท่านเป็นอย่างยิ่งที่นอกจากมีความสามารถด้านต่างๆเป็นเลิศแล้ว (พระอานนท์ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะ ถึง ๕ ด้าน คือ มีสติเป็นเลิศ, มีความทรงจำเป็นเลิศ, มีความเพียรเป็นเลิศ, พหูสูต, ยอดพระพุทธอุปัฏฐาก) ยังถือเป็นผู้เสียสละตัวเองเพื่อประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาอย่างหาผู้ใดจะเทียบได้ยาก  พระบรมศาสดาเมื่อทราบว่าพระอานนท์มีความเศร้าโศกเสียใจ ได้ตรัสกับพระอานนท์ ดังนี้

 “ดูกรอานนท์ เธอได้อุปัฏฐากตถาคตด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อันประกอบด้วยเมตตา ซึ่งเป็นประโยชน์เกื้อกูล เป็นความสุข ไม่มีสอง หาประมาณมิได้มาช้านาน เธอได้กระทำบุญไว้แล้ว อานนท์ จงประกอบความเพียรเถิด เธอจักเป็นผู้ไม่มีอาสวะโดยฉับพลัน ฯ” (มหาปรินิพพานสูตร)

🙏 ๓) พระวักกลิ และภิกษุณีมารดาพระกุมารกัสสปะ

ประวัติของพระวักกลิ และพระกุมารกัสสปะ เป็นตัวอย่างของการมีความรักอย่างยึดติดถือมั่นด้วยกิเลสตัณหา ซึ่งนอกจากเป็นเหตุแห่งทุกข์แล้ว ในกรณีนี้ยังเป็นเหตุขัดขวางการเจริญขึ้นของกุศลธรรมด้วย ต่อเมื่อได้ปลดเปลื้องความยึดติดเสน่หาแล้ว ความเจริญในธรรมก็ก้าวรุดหน้าไปได้

พระวักกลิ
พระวักกลิเมื่อครั้งเป็นทารก เป็นผู้มีโรคภัยเบียดเบียนมาก มารดาจึงได้นำท่านมาถวายแก่พระพุทธเจ้า เมื่อได้พึ่งพระพุทธคุณ ทารกวักกลิก็หายจากการเป็นผู้มีโรคภัยมาก จึงเป็นผู้ที่มีความใฝ่ใจ ลุ่มหลง ในพระบรมศาสดาอย่างมาก เมื่อพระองค์ทรงห่างไปเพียงครู่เดียวก็กระวนกระวาย เมื่อบวชเป็นภิกษุแล้ว พระวักกลิจึงเฝ้าติดตามพระพุทธเจ้าไปทุกหนแห่ง พระวักกลิเที่ยวติดตามชื่นชมรูปโฉมเรื่อยไป จนถึงวันหนึ่งพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า

“ดูก่อนวักกลิ จะมีประโยชน์อะไรด้วยการที่เธอต้องมาดูร่างกายอันเปื่อยเน่านี้ วักกลิเอย ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม ก็วักกลิเห็นธรรมอยู่ ก็ชื่อว่าเห็นเรา”

แต่พระวักกลิไม่อาจเข้าใจได้ เนื่องจากมีความยึดติดในรูปโฉมของพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างรุนแรง พระองค์เมื่อประสงค์จะเปลื้องความยึดติดของพระวักกลิ วันหนึ่ง จึงได้ตรัสขับไล่พระวักกลิไปเสีย เมื่อเป็นเช่นนั้น… พระวักกลิบังเกิดความสะเทือนใจอย่างรุนแรงขึ้นไปบนภูเขาหมายจะปลิดชีวิตตนเอง เมื่อไปถึงยอดเขา พระบรมศาสดาได้เนรมิตกายปรากฎให้เห็นและแสดงธรรมเรื่องความเกิด ความเสื่อม แห่งขันธ์ทั้งหลาย พระวักกลิจึงได้บรรลุอรหัตตผล ณ ที่นั้น

ภิกษุณีมารดาพระกุมารกัสสปะ

พระกุมารกัสสปะ ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะผู้แสดงธรรมอันวิจิตรไพเราะ เป็นบุตรของภิกษุณีผู้ซึ่งตั้งครรภ์ในขณะบวช เมื่อครรภ์แก่ถูกพระเทวทัตขับไล่ให้ลาสิกขา นางไม่ยอมเนื่องจากอ้างว่าเมื่อบวชแล้วนางมิได้ละเมิดวินัยร้ายแรงใด พระพุทธเจ้าจึงให้พระอุบาลีชำระความ โดยมีนางวิสาขามหาอุบาสิกาเป็นผู้ช่วย ความจึงกระจ่างว่านางตั้งครรภ์ก่อนบวชเป็นภิกษุณีจริงๆ

เมื่อคลอดบุตรแล้วเลี้ยงดูบุตรชั่วระยะเวลาหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ขอรับไปเลี้ยงเป็นโอรสบุญธรรม ประทานนามว่า กัสสปะ แต่เพราะพระองค์ทรงชุบเลี้ยงประดุจราชกุมาร จึงเรียกกันว่า “กุมารกัสสปะ” …ครั้นกุมารกัสสปะเจริญวัยขึ้นทราบความเป็นมาของตน แล้ว เกิดความสลดใจในชะตาชีวิตจึงออกบวช และบรรลุพระอรหัตผลในกาลต่อมา ฝ่ายนางภิกษุณีมารดาของพระกุมารกัสสปะ ตั้งแต่วันที่พระเจ้าปเสนทิโกศลรับเอาบุตรไปชุบเลี้ยงก็เศร้าโศกเสียใจเพราะความพลัดพรากจากบุตรผู้เป็นที่รักเป็นเวลานานถึง ๑๒ ปี แม้ต่อมาจะทราบว่าบุตรชายของนางบวชแล้วก็ตาม แต่นางก็ยังมิได้เห็นหน้าพระลูกชายเลย จนกระทั่งเช้าวันหนึ่ง นางได้พบพระกุมารกัสสปะกำลังออกเดินรับบิณฑบาตอยู่ ด้วยความดีใจสุดจะยับยั้ง นางได้ร้องเรียกขึ้นว่า “ลูก ลูก” แล้ววิ่งเข้าไปหาด้วยปรารถนาจะกอดพระลูกชายด้วยความคิดถึง แต่เพราะรีบร้อนเกินไป จึงได้สะดุดล้มลงตรงหน้า

พระกุมารกัสสปะคิดว่า “ถ้าหากว่าเราพูดกับมารดาด้วยถ้อยคำอันไพเราะแล้ว นางก็ยิ่งเกิดความสิเนหารักใคร่ในตัวเรามากยิ่งขึ้น และจะเป็นเหตุทำให้นางเสื่อมเสียโอกาสบรรลุอมตธรรมได้ ควรที่เราจะกล่าวคำพูดที่ทำให้นางหมดอาลัยในตัวเรา นางก็จะได้บรรลุอมตธรรม” ดังนี้แล้ว จึงกล่าวแก่นางว่า “ท่านมัวทำอะไรอยู่ จึงตัดไม่ได้แม้กระทั่งความรัก”ถ้อยคำของพระกุมารกัสสปะทำให้นางรู้สึกน้อยใจเสียใจเป็นอย่างยิ่งพลางคิดว่า “เราร้องไห้เพราะคิดถึงลูกชายนานถึง ๑๒ ปี เมื่อพบลูกชายแล้วกลับถูกลูกชายพูดจาตัดเยื่อใยให้ต้องช้ำใจอีก” ด้วยความน้อยใจเช่นนี้ จึงตัดรักตัดอาลัย หมดความสิเนหาในตัวลูกชายอย่างสิ้นเชิง แล้วนางก็ได้ตั้งใจปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จนได้บรรลุอรหัตผลในวันนั้นนั่นเอง

สรุป

การมีความรักด้วยกิเลสตัณหามากย่อมเป็นการพอกพูนเหตุแห่งทุกข์มาก อีกทั้งยังมักเป็นเหตุขัดขวางการเจริญขึ้นของกุศลธรรม ส่วนความรักด้วยเมตตา กรุณา ย่อมเป็นการพอกพูนเหตุแห่งความสุข ด้วยประโยชน์และโทษที่ตรงข้ามกันดังนี้ จึงควรพัฒนาจิตใจ ให้เบาบางจากความรักที่เจือด้วยทุกข์ มาสู่ความรักแบบบริสุทธิ์ ที่มีแต่ความสุขความเบิกบาน มากขึ้นไปตามลำดับ



รู้จักพระไตรปิฎกเพื่อเป็นชาวพุทธที่แท้ (ย่อความ)

พระไตรปิฎก คือคัมภีร์ที่ประมวลเอาพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้ามาจารึกไว้ จึงกล่าวได้ว่า พระไตรปิฎก คือที่จารึกไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า

“ดูกรอานนท์ ธรรมและวินัยใด ที่เราได้แสดงแล้ว และบัญญัติแล้ว แก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย ในเมื่อเราล่วงลับไป”
(มหาปรินิพพานสูตร)

คำสอน คำกล่าว และข้อปฏิบัติใดๆ จะถือว่าเป็นคำสอนในพระพุทธศาสนาได้ จะต้องสอดคล้องกับพระธรรมวินัยซึ่งมีมาในพระไตรปิฎก การอธิบายหรือกล่าวอ้างเกี่ยวกับหลักการของพระพุทธศาสนา จะเป็นที่น่าเชื่อถือหรือยอมรับได้ด้วยดี เมื่ออ้างอิงหลักฐานในพระไตรปิฎก ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานอ้างอิงขั้นสูงสุด

เราจึงได้ถือกันมาเป็นหลักว่า จะต้องรักษา เล่าเรียน และปฏิบัติตามหลักคำสอนในพระไตรปิฎกนี้ ประการสำคัญการธำรงพระไตรปิฎก ก็คือการธำรงพระพุทธศาสนา ไม่มีพระไตรปิฎกเสียอย่างเดียว เป็นอันหมดสิ้นพระพุทธศาสนา พระเถระรุ่นก่อนนั้น ถือความสำคัญของพระไตรปิฎกเป็นอย่างยิ่ง แม้แต่ในยุคที่จารึกเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วก็ต้องถึงกับพูดกันว่า “อักษรตัวหนึ่งๆ อันเป็นพระปริยัติศาสน์ของพระศาสดา มีค่าเท่ากับพระพุทธรูปองค์หนึ่ง” (ญาโณทยปกรณ์)

เพราะฉะนั้น ถ้ามองในแง่บวก ก็คือจะต้องช่วยกันรักษาไว้ให้ดี แม้แต่จารึกหรือสนับสนุนการจารึกเพียงนิดหน่อย ก็เป็นบุญเป็นกุศลมาก แต่มองในแง่ลบก็คือ ถ้าใครไปทำให้ผิดพลาด แม้แต่อักษรเดียว ก็เหมือนทำลายพระพุทธรูปองค์หนึ่ง เป็นบาปมาก ท่านให้ความสำคัญถึงเพียงนี้ เพราะฉะนั้น พระเถระรุ่นก่อน ท่านจึงระวังมากในเรื่องการรักษาทรงจำพระไตรปิฎกไม่ให้ผิดเพี้ยน

การสังคายนา เป็นการที่จะรักษาคำสอนเดิมเอาไว้ให้แม่นยำที่สุด และซักซ้อมตรวจสอบคนที่ไปทรงจำ หรือไปนับถืออะไรต่างๆ ที่อาจจะผิดเพี้ยนไป ให้มาปรับความเห็น ความเชื่อ การปฏิบัติ ให้ตรงตามพระไตรปิฎกที่รักษากันมาอย่างแม่นยำ ที่เป็นหลักกลางนี้ ไม่ใช่ว่าพระภิกษุที่สังคายนามีสิทธิ์ไปปรับแต่ง หรือเอาความคิดเห็นของตนใส่ลงไป ควรทราบว่าในพระไตรปิฎกไม่ใช่มีเฉพาะคำตรัสของพระพุทธเจ้าอย่างเดียว คำของพระสาวกก็มีไม่น้อย เช่น ภาษิตของพระสารีบุตร (ซึ่งมีคุณค่าควรแก่การศึกษาอย่างยิ่ง)

คัมภีร์ที่นิพนธ์หลังพุทธกาลก็มีบ้าง อย่างในคราวสังคายนาครั้งที่ ๓ พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ประธานสังคายนา ท่านได้เห็นว่าพระในสมัยนั้น บางพวกมีความเชื่อถือวิปริตผิดแผกแตกออกไป จึงเรียบเรียงคัมภีร์กถาวัตถุขึ้น เพื่อแก้ความเข้าใจที่ผิดแผกแตกต่างกันออกไปดังกล่าว แต่ก็เป็นการยกเอาพุทธพจน์มารวมไว้ในอีกลักษณะหนึ่ง โดยมีเรื่องราว หรือข้อคิด หรือข้อพิจารณาอะไรอย่างหนึ่งเป็นแกน รวมความก็คือ ประเทศพุทธศาสนาเถรวาททั้งหมดมีพระไตรปิฎกชุดเดียวกัน ซึ่งเนื้อหาเหมือนกันทั้งหมด จะตกหล่นบางคำบ้าง ก็น้อยเต็มที เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาเถรวาทจึงมีความภูมิใจโดยชอบธรรมว่า เรารักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้เป็นแบบเดิมแท้ ส่วนพระสูตรต่างๆของพระพุทธศาสนาแบบมหายาน หลายบทเป็นของที่แต่งขึ้นภายหลัง เรื่องนี้เป็นที่ยอมรับกันเป็นสากล ในวงวิชาการทั่วโลก

นอกจากพระไตรปิฎกอันเป็นมาตรฐานชั้นสูงสุดแล้ว ยังมีคัมภีร์อธิบายพระไตรปิฎกนั้นอีกทีหนึ่ง เรียกว่า อรรถกถา คัมภีร์รุ่นหลังต่อจากอรรถกถาเรียกว่า ฎีกา และอนุฎีกา ส่วนคำสอนหรือคำอธิบายของพระอาจารย์รุ่นหลัง เรียกกันว่าเป็น อัตตโนมติ คือ มติส่วนตัว คัมภีร์เหล่านี้ทรงความสำคัญลดหลั่นกันลงมาตามลำดับ

ย่อความจากผลงานของ : สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)



วันเสาร์

ปัญหาเรื่องศีล ๒

ปัญหาเรื่องศีล หน้าที่ ๒ กลับไป🔎หน้าแรก

อธิบายศีลมีอย่างเดียว 
ในบรรดาศีลเหล่านั้น อรรถาธิบายในส่วนแห่งศีลมีอย่างเดียว นักศึกษาพึงทราบ โดยนัยที่ได้กล่าวมาแล้วนั่นเทียว


อธิบายศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๑
ในส่วนแห่งศีลมี ๒ อย่าง มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ การบำเพ็ญสิกขาบทตามที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า สิ่งนี้ควรทำ ดังนี้ อันใด การบำเพ็ญสิกขาบทนั้นชื่อว่า จาริตตศีล การไม่ฝ่าฝืนสิกขาบทที่ทรงห้ามไว้ว่า สิ่งนี้ไม่ควรทำ ดังนี้ อันใดการไม่ฝ่าฝืนนั้นชื่อว่า วาริตตศีล ในศีล ๒ อย่างนั้น มีอรรถวิเคราะห์ถ้อยคำดังนี้

บุคคลทั้งหลายย่อมประพฤติในศีลนั้น คือเป็นไปด้วยความเป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย ฉะนั้นศีลนั้น ชื่อว่า จาริตตศีล แปลว่า ศีลเป็นที่ประพฤติตามของบุคคลทั้งหลาย, ย่อมป้องกันคือรักษา ซึ่งสิกขาบทที่พระผู้มีพระภาคทรงห้ามด้วยศีลนั้น ฉะนั้นศีลนั้น ชื่อว่า วาริตตศีล แปลว่า ศีลเป็นเครื่องป้องกันสิกขาบทที่ทรงห้าม, ในศีล ๒ อย่างนั้น จาริตตศีลสำเร็จด้วยศรัทธา และวีริยะ วาริตตศีลสำเร็จด้วยศรัทธา ศีล ๒ อย่างโดยแยกเป็นจาริตตศีลและวาริตตศีล ยุติด้วยประการฉะนี้

อธิบายศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๒
ในศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๒ มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ คำว่า อภิสมาจาร ได้แก่ ความประพฤติอย่างสูง อภิสมาจารศัพท์นั่นแหละสำเร็จรูปเป็น อาภิสมาจาริก อีกอย่างหนึ่ง สิกขาบทที่ทรงบัญญัติปรารภอภิสมาจาร ชื่อว่า อาภิสมาจาริก คำว่า อาภิสมาจาริก นี้เป็นชื่อของศีลที่นอกเหนือไปจากอาชีวัฏฐมกศีล ศีลชื่อว่า อาทิพรหมจริยก เพราะเหตุว่า เป็นเบื้องต้นแห่งมรรคพรหมจรรย์ คำว่า อาทิพรหมจริยก นี้เป็นชื่อของ อาชีวัฏฐมกศีล เป็นความจริง ศีลนั้นมีภาวะเป็นเบื้องต้นของมรรค เพราะเป็นสิ่งที่จะต้องชำระให้บริสุทธิ์ในกาลอันเป็นส่วนเบื้องต้นนั่นเทียว เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสไว้ว่า

“ก็แหละ กายกรรม วจีกรรม 
อาชีพของภิกษุนั้น ย่อมเป็นสภาพบริสุทธิ์ด้วยดีในเบื้องต้น โดยแท้แล”

อีกประการหนึ่ง สิกขาบทเหล่าใดที่ตรัสไว้ว่าเป็นสิกขาบทเล็ก ๆ น้อย ๆ สิกขาบทนี้
จัดเป็น อาภิสมาจาริกศีล สิกขาบทที่เหลือจัดเป็น อาทิพรหมจริยกศีล อีกประการหนึ่ง สิกขาบทที่นับเนื่องในอุภโตวิภังค์ (คำว่าอุภโตวิภังค์ ได้แก่วิภังค์ ๒ คือ ภิกขุวิภังค์และภิกขุนีวิภังค์) ชื่อว่า อาทิพรหมจริยกศีล สิกขาบทที่นับเนื่องในขันธกะและวัตรชื่อว่า อาภิสมาจาริกศีล อาทิพรหมจริยกศีลจะสำเร็จได้ก็ด้วยความสมบูรณ์แห่งอาภิสมาจาริกศีลนั้น เพราะเหตุฉะนั้นแหละ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นหนา ไม่ทำอาภิสมาจาริกธรรมให้บริบูรณ์แล้ว
จักทำอาทิพรหมจริยกธรรมให้บริบูรณ์ดังนี้ ข้อนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้” 
ศีล ๒ อย่างโดยแยกเป็นอาภิสมาจาริกศีลและอาทิพรหมจริยกศีล ยุติด้วยประการฉะนี้

อธิบายศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๓
ในศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๓ มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ ภาวะสักว่าความงดเว้นจากบาปธรรมทั้งหลาย มีปาณาติบาตเป็นต้น ชื่อว่า วิรติศีล คุณธรรมที่เหลือมีเจตนาเป็นต้น ชื่อว่า อวิรติศีล ศีล ๒ อย่างโดยแยกเป็นวิรติศีลและอวิรติศีล ยุติด้วยประการฉะนี้

อธิบายศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๔
ในศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๔ มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ คำว่า นิสสัย ได้แก่นิสสัย ๒ อย่าง คือ ตัณหานิสสัย ๑ ทิฏฐินิสสัย ๑ ในศีล ๒ อย่างนั้น ศีลใดที่บุคคลปรารถนาภวสมบัติให้เป็นไปอย่างนี้ว่า “เราจักได้เป็นเทพเจ้าหรือเทวดาตนใดตนหนึ่งด้วยศีลนี้” ศีลนี้ชื่อว่า ตัณหานิสสตศีล ศีลใดที่บุคคลให้เป็นไปด้วยทิฏฐิล้วน ๆ อย่างนี้ว่า “เราจักเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยศีลนี้” ศีลนี้ชื่อว่า ทิฏฐินิสสตศีล ส่วนศีลใดที่เป็นโลกุตตรศีล และเป็นโลกิยศีลแต่เป็นเหตุแห่งโลกุตตรศีลนั้น เฉพาะศีลนี้ชื่อว่า อนิสสิตศีล ศีล ๒ อย่างโดยแยกเป็นนิสสตศีลและอนิสสตศีล ยุติด้วยประการฉะนี้

อธิบายศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๕
ในศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๕ มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ ศีลที่บุคคลสมาทาน กำหนดเวลาชื่อว่า กาลปริยันตศีล ศีลที่บุคคลสมาทานตลอดชีวิตแล้วคงให้ดำเนิน ไปได้เหมือนอย่างนั้น ชื่อว่า อาปาณโกฏิกศีล ศีล ๒ อย่างโดยแยกเป็นกาลปริยันตศีลและอาปาณโกฏิกศีล ยุติด้วยประการฉะนี้

อธิบายศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๖
ในศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๖ มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ ศีลที่มีความเห็นด้วยสามารถแห่งลาภ, ยศ, ญาติ, อวัยวะและชีวิตเป็นที่สุด ชื่อว่า สปริยันตศีล ศีลที่ตรงกันข้าม ชื่อว่า อปริยันตศีล สมจริงดังที่ท่านพระธรรมเสนาบดีสารีปุตตะกล่าวไว้ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรคว่า “ศีลมีที่สุดนั้นเป็นอย่างไร ? ศีลมีลาภเป็นที่สุดมีอยู่ ศีลมียศเป็นที่สุดมีอยู่ ศีลมีญาติเป็นที่สุดมีอยู่ ศีลมีอวัยวะเป็นที่สุดมีอยู่ ศีลมีชีวิตเป็นที่สุดมีอยู่ ศีลมีลาภเป็นที่สุดนั้น เป็นอย่างไร ? บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมล่วงละเมิดสิกขาบทตามที่ตนสมาทานแล้ว เพราะลาภเป็นเหตุ เพราะลาภเป็นปัจจัยเพราะลาภเป็นตัวการ นี้ชื่อว่า ศีลมีลาภเป็นที่สุดนั้น”

แม้ศีลทั้งหลายนอกนี้ นักศึกษา
ก็พึงอธิบายให้พิสดาร โดยทำนองนี้นั่นเทียว แม้ในอธิการวิสัชนาอปริยันตศีลท่านพระธรรมเสนาบดีสารีปุตตะก็ได้กล่าวไว้ว่า “ศีลที่มิใช่มีลาภเป็นที่สุดนั้น เป็นอย่างไร ? บุคคลบางคนในโลกนี้ แม้แต่จิตก็ไม่ให้เกิดขึ้นเพื่อล่วงละเมิดสิกขาบท
ตามที่ตนสมาทานแล้ว เพราะลาภเป็นเหตุ เพราะลาภเป็นปัจจัย เพราะลาภเป็นตัวการ ไฉนเขาจักล่วงละเมิด นี้ชื่อว่า ศีลมิใช่มีลาภเป็นที่สุดนั้นๆ แม้ศีลทั้งหลายนอกนี้นักศึกษาก็พึ่งอธิบายให้พิสดารโดยทำนองนี้นั่นเทียว ศีล ๒ อย่างโดยแยกเป็นสปริยันตศีลและอปริยันตศีล ยุติด้วยประการฉะนี้

อธิบายศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๗
ในศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๗ มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ ศีลที่ประกอบด้วยอาสวะแม้ทุกประเภท ชื่อว่า โลกิยศีล ศีลที่ไม่ประกอบด้วยอาสวะ ชื่อว่า โลกุตตรศีล ในศีล ๒ อย่างนั้น โลกิยศีลย่อมนำมาซึ่งภพชั้นวิเศษ และเป็นเหตุแห่งอันออกจากภพด้วย สมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า

“วินัยเพื่อประโยชน์แก่ความสังวร 
ความสังวรเพื่อประโยชน์แก่ความไม่เดือดร้อนใจ ความไม่เดือดร้อนใจเพื่อประโยชน์แก่ความปราโมช ความปราโมชเพื่อประโยชน์แก่ปีติ ปีติเพื่อประโยชน์แก่ความสงบใจ ความสงบใจเพื่อประโยชน์แก่ความสุข ความสุขเพื่อประโยชน์แก่สมาธิ 
สมาธิเพื่อประโยชน์แก่ยถาภูตญาณทัสสนะ ยถาภูตญาณทัสสนะเพื่อประโยชน์แก่นิพพิทา นิพพิทาเพื่อประโยชน์แก่วิราคะ วิราคะเพื่อประโยชน์แก่วิมุตติ วิมุตติ เพื่อประโยชน์แก่วิมุตติญาณทัสสนะ วิมุตติญาณทัสสนะเพื่อประโยชน์แก่อนุปาทานปรินิพพาน การหลุดพ้นแห่งอนุปาทาจิตนี้ใด การพูดวินัยก็มีการหลุดพ้นแห่ง อนุปาทาจิตนั้นเป็นประโยชน์ การปรึกษาวินัยก็มีการหลุดพ้นแห่งอนุปาทาจิตนั้นเป็นประโยชน์ การเข้าไปอิงวินัยก็มีการหลุดพ้นแห่งอนุปาทาจิตนั้นเป็นประโยชน์ การเงี่ยโสตลงฟังวินัยก็มีการหลุดพ้นแห่งอนุปาทาจิตนั้นเป็นประโยชน์ "

โลกุตตรศีล 
ย่อมนำมาซึ่งการออกจากภพและเป็นภูมิแห่งปัจจเวกขณญาณด้วย ศีล ๒ อย่างโดยแยกเป็นโลกิยศีลและโลกุตตรศีล ยุติด้วยประการฉะนี้


อธิบายศีล ๓ อย่าง หมวดที่ ๑
ในบรรดาศีล ๓ อย่าง มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ ในศีลหมวดที่ ๑ ความว่า ศีลที่บุคคลประพฤติเป็นไปด้วยฉันทะ วิริยะ จิตตะ หรือวิมังสา ชั้นต่ำชื่อว่า หีนศีล ศีลที่บุคคลประพฤติเป็นไป ด้วยอิทธิบาทธรรมทั้งหลายมีฉันทะเป็นต้น ชั้นปานกลาง ชื่อว่า มัชฌิมศีล ศีลที่บุคคลประพฤติเป็นไปด้วยอิทธิบาทธรรมทั้งหลายชั้นประณีต ชื่อว่า ปณีตศีล

อีกอย่างหนึ่ง ศีลที่บุคคลสมาทานด้วยความเป็นผู้ใคร่ยศ ชื่อว่า หีนศีล ศีลที่บุคคลสมาทานด้วยความเป็นผู้ใคร่ผลบุญ ชื่อว่า มัชฌิมศีล ศีลที่บุคคลสมาทานเพราะอาศัยอริยภาพว่า ศีลนี้เป็นสิ่งที่ควรทำ ชื่อว่า ปณีตศีล

อีกอย่างหนึ่ง ศีลที่หม่นหมองไปด้วยบาปธรรมทั้งหลาย มีการยกตนและ
ข่มผู้อื่นเป็นต้นอย่างนี้ว่า เราเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ส่วนภิกษุอื่น ๆ นี้นั้นเป็นผู้ทุศีลมีบาปธรรม ชื่อว่า หีนศีล ศีลที่ไม่หม่นหมองอย่างนั้นแต่เป็นชั้นโลกิยะ ชื่อว่ามัชฌิมศีล ศีลชั้นโลกุตตระ ชื่อว่า ปณีตศีล

อีกอย่างหนึ่ง ศีลที่บุคคลประพฤติเป็นไปเพื่อต้องการภวสมบัติและโภคสมบัติด้วยอำนาจแห่งตัณหา ชื่อว่า หีนศีล ศีลที่บุคคลประพฤติเป็นไปเพื่อต้องการความหลุดพ้นสำหรับตน ชื่อว่า มัชฌิมศีล ปารมิตาศีลที่พระโพธิสัตว์ประพฤติเป็นไปเพื่อต้องการความหลุดพ้นสำหรับสรรพสัตว์ทั้งหลาย ชื่อว่า ปณีตศีล

ศีล ๓ อย่างโดยแยกเป็นหีนศีล, มัชฌิมศีลและปณีตศีล ยุติด้วยประการฉะนี้

อธิบายศีล ๓ อย่าง หมวดที่ ๒
ในศีล ๓ อย่าง หมวดที่ ๒ มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ ศีลที่บุคคลผู้ใคร่เพื่อจะสละทิ้งสิ่งซึ่งไม่สมควรแก่ตน ผู้มีตนเป็นที่เคารพ ประพฤติเป็นไปแล้วด้วยความคารวะในตน ชื่อว่า อัตตาธิปไตยศีล ศีลที่บุคคลผู้ใคร่เพื่อจะหลีกเลี่ยงการตำหนิของชาวโลก ผู้มีโลกเป็นที่เคารพ ประพฤติเป็นไปแล้วด้วยความคารวะในโลก ชื่อว่าโลกาธิปไตยศีล ศีลที่บุคคลผู้ใคร่เพื่อจะบูชาความยิ่งใหญ่ของธรรม ผู้มีธรรมเป็นที่เคารพ ประพฤติเป็นไปแล้วด้วยความคารวะในธรรม ชื่อว่า ธัมมาธิปไตยศีล ศีล ๒ อย่าง โดยแยกเป็นอัตตาธิปไตยศีลเป็นต้น ยุติด้วยประการฉะนี้

อธิบายศีล ๓ อย่าง หมวดที่ ๓
ในศีล ๓ อย่าง หมวดที่ ๓ มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ ศีลใดที่ข้าพเจ้าเรียกว่านิสสตศีลในหมวด ๒ ศีลนั้นชื่อว่า ปรามัฏฐศีล เพราะอันตัณหาและทิฏฐิถูกต้องแล้วล ศีลอันเป็นเหตุแห่งมัคคญาณของกัลยาณปุถุชน และประกอบด้วยมัคคญาณของพระเสกขบุคคลทั้งหลาย ชื่อว่า อปรามัฏฐศีล ศีลอันประกอบด้วยผลญาณของพระเสกขะและพระอเสกขบุคคลทั้งหลาย ชื่อว่า ปฏิปัสสัทธิศีล ศีล ๓ อย่างโดยแยกเป็นปรามัฏฐศีลเป็นต้น ยุติด้วยประการฉะนี้

 อธิบายศีล ๔ อย่าง หมวดที่ ๑

ในบรรดาศีล ๔ ทั้งหลาย ศีล ๔ อย่าง หมวดที่ ๑ มีอรรถาธิบายดังต่อ
ไปนี้ ภิกษุใดในศาสนานี้ ชอบคบแต่พวกภิกษุทุศีล ไม่ชอบคบพวกภิกษุมีศีล มองไม่เห็นโทษในการล่วงละเมิดวัตถุเป็นผู้โง่เซอะ มากไปด้วยความดำริผิด ไม่รักษาอินทรีย์ทั้งหลาย ศีลของภิกษุเช่นนี้นั่นแล จัดเป็นหานภาคิยศีล ส่วนภิกษุใดในศาสนานี้ เป็นผู้พอใจอยู่ด้วยศีลสมบัติไม่ทำความพอใจให้เกิดขึ้นในการบำเพ็ญกัมมัฏฐานเนือง ๆ ศีลของภิกษุนั้นผู้ยินดีเฉพาะเพียงแค่ศีล ไม่พยายามเพื่อคุณเบื้องสูงขึ้นไป จัดเป็นฐิติภาคิยศีล

อนึ่ง ภิกษุใดใน
ศาสนานี้ ผู้มีศีลสมบูรณ์แล้ว ยังพยายามเพื่อต้องการ
สมาธิต่อไปอีก ศีลของภิกษุนี้ จัดเป็นวิเสสภาคิยศีล
อนึ่ง ภิกษุใดในศาสนานี้ ไม่ยินดีอยู่แต่เฉพาะแค่ศีลสมบัติ ย่อมประกอบเนือง ๆ ซึ่งนิพพิทา คือวิปัสสนาต่อไป ศีล ของภิกษุนี้ จัดเป็นนิพเพธภาคิยศีล ศีล ๔ อย่างโดยจำแนกเป็นหานภาคิยศีลเป็นต้น ยุติด้วยประการฉะนี้

อธิบายศีล ๔ อย่าง หมวดที่ ๒
ในศีล ๔ อย่าง หมวดที่ ๒ มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ สิกขาบททั้งหลายที่ทรงบัญญัติปรารภเฉพาะพวกภิกษุ และสิกขาบทเหล่าใดที่พวกภิกษุเหล่านั้นจะต้องรักษานอกเหนือจากบทบัญญัติของภิกษุณีทั้งหลาย นี้ชื่อว่า ภิกขุศีล สิกขาบททั้งหลายที่ทรงบัญญัติปรารภเฉพาะพวกภิกษุณี และสิกขาบทเหล่าใดที่พวกภิกษุณีจะต้องรักษานอกเหนือจากบทบัญญัติของภิกษุทั้งหลาย นี้ชื่อว่า ภิกขุนีศีล ศีล ๑๐ ประการของสามเณรและสามเณรี ชื่อว่า อนุปสัมปันนศีล สิกขาบท ๕ ประการด้วยอำนาจแห่งนิจศีล หรือในเมื่อมีความอุตสาหะ ก็สิกขาบท ๑๐ ประการ และสิกขาบท ๘ ประการด้วยสามารถองค์แห่งอุโบสถ สำหรับอุบาสกและอุบาสิกาทั้งหลาย นี้ชื่อว่า คหัฏฐศีล ศีล ๔ อย่างโดยแยกเป็นภิกขุศีลเป็นต้น ยุติด้วยประการฉะนี้

อธิบายศีล ๔ อย่าง หมวดที่ ๓
ในศีล ๔ อย่าง หมวดที่ ๓ มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ การไม่ล่วงละเมิด (เบญจศีล) ของพวกมนุษย์ชาวอุตตรกุรุทวีปทั้งหลาย จัดเป็น ปกติศีล จารีต ประเพณีในขอบเขตของตน ๆ ของตระกูลของตำบลและของลัทธิเดียรถีย์ทั้งหลายจัดเป็น อาจารศีล ศีลพระมารดาของพระโพธิสัตว์ที่ตรัสไว้อย่างนี้ว่า

“อานนท์
ในกาลใดพระโพธิสัตว์เสด็จลงสู่พระครรภ์พระมารดา ความพอพระทัยในบุรุษอันประกอบด้วยกามคุณ ย่อมไม่เกิดขึ้นแก่พระมารดาพระโพธิสัตว์”

ดังนี้ ศีลนี้จัดเป็น
ธัมมตาศีล อนึ่ง ศีลในชาตินั้น ๆ ของจำพวกสัตว์ผู้บริสุทธิ์ เช่นพระมหากัสสปะเป็นต้นและของพระโพธิสัตว์ จัดเป็น ปุพพเหตุกศีล ศีล ๔ อย่างโดยแยกเป็นปกติศีลเป็นต้น ยุติด้วยประการฉะนี้


อธิบายศีล ๔  
อย่าง หมวดที่ ๔

ในศีล ๔ อย่าง หมวดที่ ๔ มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้ ศีลใดที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้อย่างนี้ว่า “ภิกษุในศาสนานี้เป็นผู้สำรวมด้วยความสังวรคือปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจารและโคจร มีปกติมองเห็นภัยในโทษมีประมาณเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย” ศีลนี้ชื่อว่า ปาติโมกขสังวรศีล 

อนึ่ง ศีลใดที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุนั้นเห็นรูปด้วยจักษุแล้วไม่ยึดถือ
ซึ่งนิมิต ไม่ยึดถือซึ่งอนุพยัญชนะ อกุศลบาปธรรมทั้งหลายคืออภิชฌาและโทมนัสย่อมไหลไปสู่ภิกษุนั้นผู้ไม่สำรวมซึ่งจักขุนทรีย์เพราะมีจักขุนทรีย์ใดเป็นเหตุ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสังวรซึ่งจักขุนทรีย์นั้น ย่อมรักษาซึ่งจักขุนทรีย์ ย่อมถึงความสังวรในจักขุนทรีย์, ได้ยินเสียงด้วยโสตะแล้วได้ดมกลิ่นด้วยฆานะแล้วได้ลิ้มรสด้วยชิวหาแล้ว...ได้สัมผัสโผฏฐพพะด้วยกายแล้วได้รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้วย่อมไม่ยึดถือ
ซึ่งนิมิต...ย่อมถึงซึ่งความสังวรในมนินทรีย์” ฉะนี้ ศีลนี้จัดเป็น อินทรียสังวรศีล

อนึ่ง การวิรัติจากมิจฉาอาชีพอันใด ซึ่งเป็นไปด้วยอำนาจแห่งการล่วงละเมิด
ซึ่งสิกขาบท ๖ ประการ ที่ทรงบัญญัติไว้เพราะมีอาชีวะเป็นเหตุ และด้วยอำนาจแห่งบาปธรรมทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ คือ “การหลอกลวง การพูดเลาะเล็ม การกระทำนิมิต การด่าแช่ง การแสวงหาลาภด้วยลาภ” นี้จัดเป็น อาชีวปาริสุทธิศีล

การบริโภคปัจจัย ๔ อันบริสุทธิ์ด้วยการพิจารณา ที่ตรัสไว้โดยนัยมีอาทิว่า “ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว จึงใช้สอยจีวร เพียงเพื่อกำจัดเสียซึ่งความเย็น" ฉะนี้ จัดเป็น ปัจจยสันนิสสตศีล






ปัญหาเรื่องศีล

พรรณนาศีลโดยพิสดาร
ก็แหละ วิสุทธิมรรค คือทางแห่งวิสุทธินี้ แม้ว่าพระผู้มีพระภาคจะได้ทรงแสดงโดยมุขคือศีลสมาธิปัญญาอันสงเคราะห์ด้วยคุณธรรมเป็นอเนกประการดังที่พรรณนามาแล้วก็ตาม นับว่าทรงแสดงไว้อย่างย่อมาก เหตุนั้น จึงยังไม่เพียงพอเพื่อความเป็นอุปการะ แก่เวไนยสัตว์ทั่ว ๆ ไป ดังนั้น เพื่อจะพรรณนาความแห่งวิสุทธิมรรคนั้นอย่างพิสดาร ขอตั้งปัญหากรรมปรารภถึงศีล เป็นประการแรก ดังนี้ :-


ปัญหาเรื่องศีล
๑. อะไร ชื่อว่าศีล
๒. ที่ชื่อว่าศีล เพราะอรรถว่ากระไร
๓. อะไรเป็นลักษณะ, เป็นรส, เป็นอาการปรากฏและเป็นปทัฏฐานของศีล
๔. ศีลมีอานิสงส์อย่างไร
๕. ศีลนี้มีกี่อย่าง
๖. อะไรเป็นความเศร้าหมองของศีล
๗. อะไร เป็นความผ่องแผ้วของศีล

🔅 วิสัชนาปัญหาข้อที่ ๑ 
ในปัญหากรรมเหล่านั้น มีคำวิสัชนาดังต่อไปนี้
ปัญหาข้อว่า อะไร ชื่อว่าศีล วิสัชนาว่า ธรรมทั้งหลายมีเจตนาเป็นต้น ของบุคคลผู้งดเว้นจากปาณาติบาตเป็นต้นอยู่ก็ดี ของบุคคลผู้บำเพ็ญวัตตปฏิบัติอยู่ก็ดี ชื่อว่าศีล คำนี้สมดังที่พระธรรมเสนาบดีสารีปุตตะกล่าวไว้ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค

“อะไร ชื่อว่าศีล เจตนา  ชื่อว่าศีล เจตสิก ชื่อว่าศีล สังวร ชื่อว่าศีล การไม่ล่วงละเมิด 
ชื่อว่าศีล”

เจตนาศีล
ในศีลเหล่านั้น คำว่า เจตนาชื่อว่าศีล ได้แก่เจตนาของบุคคลผู้งดเว้นจากบาปธรรมมีปาณาติบาตเป็นต้นอยู่ หรือเจตนาของบุคคลผู้กำลังบำเพ็ญวัตตปฏิบัติอยู่

เจตสิกศีล
เจตสิก ชื่อว่าศีล ได้แก่ วิรติเจตสิก ของบุคคลผู้งดเว้นจากบาปธรรมมีปาณาติบาตเป็นต้น อีกประการหนึ่ง เจตนา ชื่อว่าศีล ได้แก่เจตนาในกรรมบถ ๗ ดวง ของบุคคลผู้ละอยู่ซึ่งบาปธรรมทั้งหลายมีปาณาติบาตเป็นต้น เจตสิก ชื่อว่าศีล ได้แก่กุศลธรรมทั้งหลายคือความไม่โลภ ความไม่พยาบาท ความเห็นชอบ ที่ตรัสไว้โดยนัยมีอาทิว่า ภิกษุละอภิชฌาแล้วเป็นผู้มีจิตปราศจากอภิชฌาอยู่สังวรศีล

สังวร
ในคำว่าสังวรชื่อว่าศีลนี้ นักศึกษาพึงทราบโดยประการ ๕ อย่าง คือ ปาติโมกขสังวร ๑ สติสังวร ๑ ญาณสังวร ๑ ขันติสังวร ๑ วีริยสังวร ๑ ในสังวร ๕ อย่างนั้น สังวรนี้คือ “ภิกษุเป็นผู้เข้าถึงแล้ว เข้าถึงพร้อมแล้วด้วยความสังวรคือปาติโมกข์นี้ ชื่อว่า ปาติโมกขสังวร สังวรนี้คือ “ภิกษุย่อมรักษาซึ่งอินทรีย์คือจักษุ ย่อมถึงซึ่งความสังวรในอินทรีย์คือจักษุ ชื่อว่า สติสังวร สติสังวรสังวรนี้ คือ “พระผู้มีพระภาคตรัสตอบปัญหาอชิตมานพว่า อชิตะ กระแสกิเลสเหล่าใดในโลก สติเป็นเครื่องกั้นซึ่งกระแสเหล่านั้น เรากล่าวสติว่าเป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้น กระแสเหล่านั้นจะพึงตัดให้เด็ดขาดได้ด้วยปัญญา ชื่อว่า ญาณสังวร แม้การเสพปัจจัย
ก็ถึงซึ่งอันรวมลงในญาณสังวรนี้ด้วย ส่วนสังวรนี้ใดซึ่งมาโดยนัยมีอาทิว่า “ภิกษุเป็นผู้อดทนต่อความหนาว เป็นผู้อดทนต่อความร้อน” สังวรนี้ชื่อว่า ขันติสังวร อนึ่ง สังวรใดที่มาโดยนัยมีอาทิว่า “ภิกษุย่อมไม่ให้กามวิตกซึ่งเกิดขึ้น แล้วตั้งอยู่ในภายใน” สังวรนี้ชื่อว่า วิริยสังวร แม้อาชีวปาริสุทธิคือความบริสุทธิ์แห่งอาชีพ ก็ถึงซึ่งอันรวมลงในวีริยสังวรนี้ด้วย

สังวรทั้ง ๕ อย่างนี้ก็ดี การงดเว้นจากวัตถุที่ประจวบเข้าของเหล่ากุลบุตรผู้กลัวบาปก็ดี แม้ทั้งหมดนี้ พึงทราบเถิดว่าเป็น สังวรศีล ด้วยประการฉะนี้

อวีติกกมศีล
คำว่า การไม่ล่วงละเมิด ชื่อว่าศีล ได้แก่ การไม่ล่วงละเมิดที่เป็นไปทางกายและเป็นไปทางวาจาของบุคคลผู้สมาทานศีลแล้ว การวิสัชนาปัญหาข้อว่า อะไรชื่อว่าศีล ประการแรก ยุติด้วยประการฉะนี้

🔅 วิสัชนาปัญหาข้อที่ ๒
จะวิสัชนาในปัญหาข้อที่เหลือต่อไปดังนี้ ปัญหาข้อว่า ที่ชื่อว่าศีลเพราะอรรถว่ากระไร วิสัชนาว่า ที่ชื่อว่าศีลเพราะอรรถว่า ความปกติ

ถาม ที่ว่าความ
ปกติ นี้คืออย่างไร ? ตอบอย่างหนึ่ง คือ ความทรงอยู่อย่างเรียบร้อย หมายความว่า ความเป็นผู้มีกิริยาทางกายเป็นต้นไม่เกะกะด้วยอำนาจความสุภาพเรียบร้อย อีกอย่างหนึ่ง คือ ความรองรับ หมายความว่า ภาวะที่รองรับด้วยสามารถเป็นฐานรองรับกุศลธรรมทั้งหลาย ก็แหละ ความหมาย ๒ อย่างนี้เท่านั้น ใน สีล ศัพท์นี้
บรรดาอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในลักษณะของศัพท์รับรองต้องกัน

ส่วนอาจารย์ฝ่ายอื่น 
พรรณนาความหมายใน สีล ศัพท์นี้ไว้แม้โดยนัยมีอาทิอย่างนี้ว่า ความหมายแห่งสีลศัพท์ หมายความว่า ยอด ความหมายแห่งสีลศัพท์ หมายความว่า เย็น ฉะนี้ (ฉบับพม่า บาลีเป็น สิรฏโฐ สีลตโถ, สีตลฏโฐ สีลตโถ แปลตามนี้)


🔅 วิสัชนาปัญหาข้อที่ ๓
ลำดับนี้ จะวิสัชนาในปัญหาข้อที่ว่าอะไรเป็นลักษณะ, เป็นรส, เป็นอาการปรากฏและเป็นปทัฏฐานของศีล ต่อไปดังนี้

แม้ศีลนั้นถึงจะต่างกันโดยประเภทเป็นอันมาก ก็มีความปกติเป็นลักษณะเหมือนรูปซึ่งต่างกันโดยประเภทเป็นอันมาก ก็มีภาวะจะพึงเห็นได้เป็นลักษณะ ฉะนั้นเหมือนอย่างว่า แม้รูปายตนะถึงจะต่างกันโดยประเภทเป็นอันมากโดยที่ต่างกันด้วยสีเขียวสีเหลืองเป็นต้น ก็มีภาวะที่จะพึงเห็นได้เป็นลักษณะ เพราะถึงแม้รูปายตนะ จะต่างกันโดยประเภทแห่งสีเขียวเป็นต้น ก็ไม่พ้นไปจากภาวะที่จะพึงเห็นได้ ฉันใด แม้ศีลถึงจะต่างกันโดยประเภทเป็นอันมากโดยต่างกัน มีเจตนาเป็นต้น ก็มีความปกติซึ่งได้กล่าวมาแล้วด้วยสามารถแห่งความทรงอยู่อย่างเรียบร้อยของกิริยาทางกายเป็นต้น และด้วยสามารถแห่งความเป็นฐานรองรับกุศลธรรมทั้งหลายนั้นนั่นแลเป็นลักษณะเพราะถึงแม้ศีลจะต่างกันโดยประเภทแห่งเจตนาเป็นต้น ก็ไม่พ้นไปจาก ความทรงอยู่อย่างเรียบร้อย และ ความรองรับ ฉันนั้น

อนึ่ง การขจัดเสียซึ่งความเป็นผู้ทุศีล หรือคุณคือความหาโทษมิได้ ท่านกล่าวว่าเป็นรสของศีลอันมีลักษณะดังกล่าวมาแล้ว โดยอรรถว่า เป็นกิจ และ เป็นสมบัติ เพราะฉะนั้น ชื่อว่าศีลนี้นักศึกษาพึงทราบว่า ที่ว่ามีการขจัดเสียซึ่งความเป็นผู้ทุศีลเป็นรสนั้น ด้วยรสเพราะอรรถว่า กิจ ที่ว่ามีความหาโทษมิได้เป็นรสนั้น ด้วยรสเพราะอรรถว่า สมบัติ เป็นความจริง ในปัญหากรรมมีลักษณะเป็นต้น กิจ หรือ สมบัตินั่นเองท่านเรียกว่า รส

ศีลนี้นั้นมีความสะอาด เป็นอาการปรากฏ วิญญูชนทั้งหลายรับรองกันว่า โอตตัปปะและหิริ เป็นปทัฏฐานของศีลนั้น จริงอยู่ ศีลนี้นั้นมีความสะอาดที่ตรัสไว้อย่างนี้คือ “ความสะอาดกายความสะอาดวาจาความสะอาดใจ” เป็นอาการปรากฏย่อมปรากฏโดยสภาวะอันสะอาด ย่อมถึงภาวะอันจะพึงถือเอาได้ ส่วนหิริและโอตตัปปะวิญญูชนทั้งหลายรับรองกันว่าเป็นปทัฏฐานของศีลนั้น อธิบายว่า หิริและโอตตัปปะเป็นเหตุใกล้ของศีล เป็นความจริง เมื่อหิริและโอตตัปปะมีอยู่ ศีลจึงเกิดขึ้นและดำรงอยู่ เมื่อหิริและโอตตัปปะไม่มี ศีลย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ ตั้งอยู่ไม่ได้เลย นักศึกษาพึงทราบลักษณะ, รส, อาการปรากฏและปทัฏฐานของศีลตามที่พรรณนามา ด้วยประการฉะนี้

🔅 วิสัชนาปัญหาข้อที่ ๔
ปัญหาข้อว่า ศีลมีอานิสงส์อย่างไร วิสัชนาว่า ศีลนั้นมีอันได้ซึ่งคุณเป็น
อันมากมีความไม่เดือดร้อนเป็นต้นเป็นอานิสงส์ สมดังพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ว่า

“อานนท์
กุศลศีลมีความไม่เดือดร้อนเป็นผล มีความไม่เดือดร้อนเป็นอานิสงส์แล”

ยังมีพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้อย่างอื่นอีกว่า คหบดีทั้งหลาย อานิสงส์ของศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล มี ๕ ประการเหล่านี้
อานิสงส์ ๕ ประการนั้น คืออะไรบ้าง ?
    ๑. คหบดีทั้งหลาย บุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีลในโลกนี้ ย่อมประสบกองแห่งโภคทรัพย์อันยิ่งใหญ่ซึ่งมีความไม่ประมาทเป็นเหตุนี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๑ ของศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล
    ๒. คหบดีทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก เกียรติศัพท์อันงามของบุคคลผู้มีศีลสมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมฟุ้งขจรไป นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๒ ของศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล
    ๓. คหบดีทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก บุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีล เข้าไปสู่สังคมใด ๆ จะเป็นสังคมกษัตริย์ก็ดี จะเป็นสังคมพราหมณ์ก็ดี จะเป็นสังคมคหบดีก็ดี จะเป็นสังคมสมณะก็ดี ย่อมเข้าไปอย่างองอาจไม่เก้อเขิน นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๓ ของศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล
    ๔. คหบดีทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก บุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีล เป็นผู้ไม่หลงทำกาลกิริยา นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๔ ของศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล
    ๕. คหบดีทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก บุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีลเบื้องหน้าแต่แตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติ, โลกสวรรค์

นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๕ ของศีล

สมบัติของบุคคลผู้มีศีล 
แม้อานิสงส์ของศีลอย่างอื่น ๆ เป็นอเนกประการซึ่งมีความเป็นที่รักเป็นที่เจริญใจเป็นต้น มีความสิ้นไปแห่งอาสวะเป็นที่สุด พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสไว้โดยนัยมีอาทิว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุพึงมุ่งหวังอยู่ว่า ขอให้เราพึงเป็นที่รักเป็นที่เจริญใจ เป็นที่เคารพ และเป็นที่สรรเสริญของบรรดาภิกษุเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย เธอพึงทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลายนั่นเถิด”

ศีลมีคุณเป็นอันมากมีความไม่เดือดร้อนเป็นต้นเป็นอานิสงส์ ดังพรรณนามาด้วยประการฉะนี้

อานิสงส์แห่งศีลอีกนัยหนึ่ง ที่พึ่งของกุลบุตรทั้งหลายในพระศาสนา เว้นเสียซึ่งศีลอันใดแล้วย่อมไม่มี ใครเล่าจะพึ่งพรรณนากำหนดอานิสงส์ของศีลอันนั้นได้ น้ำคือศีลย่อมล้างมลทินอันใดของสัตว์ทั้งหลายได้ แม่น้ำสายใหญ่ ๆ คือ คงคา, ยมนา, สรภู, สรัสวดี, อจิรวดีหรือมหีที่ไหลไป หาสามารถล้างมลทินนั้นของสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ได้ไม่ , ศีลที่รักษาดีแล้วเป็นศีลห่างไกลจากกิเลสมีความเย็นอย่างที่สุดนี้ ย่อมบันดาลความร้อนกลุ่มของสัตว์ทั้งหลายให้สงบลงได้ ลมปนฝนก็ดี จันทน์เหลืองก็ดี แก้วมุกดาหารก็ดี แก้วมณีก็ดี แสงจันทร์อ่อนก็ดี หาบันดาลความร้อนลุ่มของสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ให้สงบลงได้ไม่ , กลิ่นอันใดที่ฟุ้งไปได้ทั้งทวนลมและตามลมเสมอกัน กลิ่นอันนั้นที่จะทัดเทียมด้วยกลิ่นคือศีล จักมีแต่ที่ไหน บันไดสำหรับขึ้นสู่สวรรค์ หรือประตูในอันเข้าสู่นครนฤพานอย่างอื่น ๆ ที่จะเสมอด้วยศีล จักมีแต่ที่ไหน , พระราชาทั้งหลายผู้ทรงประดับแล้วด้วยแก้วมุกดาและแก้วมณีก็ไม่งามเหมือนนักพรตทั้งหลายผู้ประดับด้วยเครื่องประดับคือศีล ศีลของบุคคลผู้มีศีล ย่อมกำจัดภัยมีการตำหนิตนเป็นต้นเสียได้โดยประการทั้งปวง และย่อมบันดาลให้เกิดเกียรติและความหรรษาในกาลทุกเมื่อ

นักศึกษาพึงทราบกถามุขอันแสดงถึงอานิสงส์ของศีลอันเป็นมูลรากแห่งคุณทั้งหลาย และเป็นเครื่องทำลายกำลังแห่งโทษทั้งหลาย ด้วยประการดังพรรณนามาฉะนี้แล

🔅 วสัชนาปัญหาข้อที่ ๕
ลำดับนี้ จะวิสัชนาในปัญหากรรมข้อที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า ศีลนี้มีกี่อย่าง ต่อไปดังนี้

ศีลมีอย่างเดียว
ศีลนี้สิ้นทั้งมวล ชื่อว่า มีอย่างเดียว ด้วยลักษณะคือความปกติของตน เป็นประการแรก

ศีล ๒ อย่าง
☉ ศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๑ โดยแยกเป็น จาริตตศีล ๑ วาริตตศีล ๑
☉ ศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๒ โดยแยกเป็น อาภิสมาจาริกศีล ๑ อาทิพรหมจริยกศีล ๑
☉ ศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๓ โดยแยกเป็น วิรติศีล ๑ อวิรติศีล ๑
☉ ศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๔ โดยแยกเป็น นิสสตศีล ๑ อนิสสตศีล ๑
☉ ศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๕ โดยแยกเป็น กาลปริยันตศีล ๑ อาปาณโกฏิกศีล ๑
☉ ศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๖ โดยแยกเป็น สปริยันตศีล ๑ อปริยันตศีล ๑
☉ ศีล ๒ อย่าง หมวดที่ ๗ โดยแยกเป็น โลกิยศีล ๑ โลกุตตรศีล ๑

ศีล ๓ อย่าง
☉ ศีล ๓ อย่าง หมวดที่ ๑ โดยแยกเป็น หีนศีล ๑ มัชฌิมศีล ๑ ปณีตศีล ๑
☉ ศีล ๓ อย่าง หมวดที่ ๒ โดยแยกเป็น อัตตาธิปไตยศีล ๑ โลกาธิปไตยศีล ๑ ธัมมาธิปไตยศีล ๑
☉ ศีล ๓ อย่าง หมวดที่ ๓ โดยแยกเป็น ปรามัฏฐศีล ๑ อปรามัฏฐศีล ๑ ปฏิปัสสิทธิศีล ๑
☉ ศีล ๓ อย่าง หมวดที่ ๔ โดยแยกเป็น วิสุทธศีล ๑ อวิสุทธศีล ๑ เวมติกศีล ๑
☉ ศีล ๓ อย่าง หมวดที่ ๕ โดยแยกเป็น เสกขศีล ๑ อเสกขศีล ๑ เนวเสกขนาเสกขศีล ๑

ศีล ๔ อย่าง
☉ ศีล ๔ อย่าง หมวดที่ ๑ โดยแยกเป็น หานภาคิยศีล ๑ ฐิติภาคิยศีล ๑ วิเสสภาคิยศีล ๑ นิพเพธภาคิยศีล ๑
☉ ศีล ๔ อย่าง หมวดที่ ๒ โดยแยกเป็น ภิกขุศีล ๑ ภิกขุนีศีล ๑ อนุปสัมปันนศีล ๑ คหัฏฐศีล ๑
☉ ศีล ๔ อย่าง หมวดที่ ๓ โดยแยกเป็น ปกติศีล ๑ อาจารศีล ๑ ธัมมทาศีล ๑ ปุพพเหตุกศีล ๑
☉ ศีล ๔ อย่าง หมวดที่ ๔ โดยแยกเป็น ปาติโมกขสังวรศีล ๑ อินทรียสังวรศีล ๑ อาชีวปาริสุทธิศีล ๑ ปัจจยสันนิสสตศีล ๑

ศีล ๕ อย่าง
☉ ศีล ๕ อย่าง หมวดที่ ๑ โดยแยกเป็น ปริยันตปาริสุทธิศีลเป็นต้น ข้อนี้สมจริง ดังที่ท่านพระธรรมเสนาบดีสารีปุตตะแสดงไว้ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรคว่า ศีล ๕ อย่าง คือ ปริยันตปาริสุทธิศีล ๑ อปริยันตปาริสุทธิศีล ๑ ปริปุณณปาริสุทธิศีล ๑ อปรามัฏฐปาริสุทธิศีล ๑ ปฏิปัสสัทธิปาริสุทธิศีล ๑
☉ ศีล ๕ อย่าง หมวดที่ ๒ โดยแยกเป็น ปหานศีล  เวรมณีศีล ๑ เจตนาศีล ๑ สังวรศีล  อวีติกกมศีล 



 ปัญหาเรื่องศีล หน้าที่๑ 🔎 หน้าที่ ๒ 

วันศุกร์

๓.๘ นิพพานสุข และบทลงท้าย

ความสุขนั้นไม่จำเป็นต้องหมายเอาเฉพาะสุขเวทนาอย่างเดียวเท่านั้น ในที่ใดๆ ภาวะใดๆ มีความสุข ก็ย่อมบัญญัติภาวะนั้นๆเข้าเป็นความสุข ความสุขสูงสุดตามหลักพระพุทธศาสนา ก็คือ “นิพพานัง ปรมัง สุขัง” นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง หรือเป็นความสุขที่สูงสุด โดยมีลักษณะที่พอจะปรากฏออกมาให้พูดถึงได้ ก็คือ

เป็นสุขตลอดเวลา : ไม่ต้องหา เป็นคุณสมบัติประจำของชีวิต มีอยู่กับตัว
เป็นสุขอิสระ : ไม่ต้องพึ่งพา ไม่ขึ้นต่ออะไรๆ ตรงข้ามกับกามสุขที่เป็นสุขแบบพึ่งพาอาศัยสิ่งเสพอย่างเต็มที่
เป็นสุขล้วน : บริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่มีทุกข์แฝงหรือค้างคาเหลืออยู่เลย

เมื่อมองที่ตัวสภาวะตามกฏไตรลักษณ์ (มองขั้นปรมัตถสัจจะ) สุขที่ยังเป็นเวทนา หรือสุขที่ยังอาศัยการเสวยอารมณ์ ล้วนเป็นทุกข์ทั้งสิ้น เพราะสุขเวทนาเป็นสังขารธรรม จึงย่อมมีความสิ้น สลาย จางหาย แปรปรวนไปได้เป็นธรรมดา ดังทรงแสดงในพระสูตร

“พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนาไว้ ๓ ประการ คือ ๑. สุขเวทนา  ๒. ทุกขเวทนา ๓. อทุกขมสุขเวทนา … พระดำรัสที่ว่า ‘ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งนั้นเป็นทุกข์’ นั้น พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงอะไร”

“ดีละ ดีละ ภิกษุ เรากล่าวเวทนาไว้ ๓ ประการนี้ คือ ๑. สุขเวทนา  ๒. ทุกขเวทนา ๓. อทุกขมสุขเวทนา เรากล่าวเวทนาไว้ ๓ ประการนี้ สมจริงดังคำที่เรากล่าวว่า ‘ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งนั้นเป็นทุกข์’

“คำที่ว่า ‘ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งนั้นเป็นทุกข์’ นั้นเรากล่าวหมายถึงความที่สังขารทั้งหลายนั้นแลไม่เที่ยง ฯลฯ มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา ฯลฯ มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ฯลฯ มีความแตกไปเป็นธรรมดา ฯลฯ มีความดับไปเป็นธรรมดา ฯลฯ คำที่ว่า ‘ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งนั้นเป็นทุกข์’ นั้นเรากล่าวหมายถึงความที่สังขารทั้งหลายนั้นแลมีความแปรผันเป็นธรรมดา” (รโหคตสูตร)

นิพพานเป็นภาวะที่ตรงข้ามกับความสุขจากกามและฌาน เพราะในขณะที่ภาวะของกามและฌานสมาบัติ ยังเป็นภาวะแห่งการเข้าหา ยังต้องขึ้นต่ออารมณ์ แต่นิพพานเป็นภาวะหลุดออก ปลอดพ้น โปร่งโล่ง

ความสุขที่ไม่เป็นเวทนา ไม่พึ่งพา ไม่ขึ้นต่ออารมณ์นี้ เป็นเรื่องยากที่คนทั่วไปจะเข้าใจได้ เพราะไม่เคยประสบ ตัวอย่างที่จะเทียบก็ไม่มี แต่กระนั้นก็อาจพูดให้เห็นเค้าว่า ตามปกติ คนทั่วไปก็มีความสุขพื้นฐานอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งต่างจากความสุขจากการเสพรสอารมณ์ ได้แก่ ภาวะที่จิตใจปลอดโปร่งผ่องใสเบิกบาน ไม่มีความกังวลใจใดๆ เช่น ทำงานสำคัญเสร็จ, หายจากการป่วยหนัก, พ้นจากการเป็นหนี้ เป็นต้น ผู้ที่มีภาวะจิตเช่นนี้ ย่อมเรียกได้ว่าเป็นผู้มีความสุขอยู่แล้วในตัว

ผู้ใดสามารถปล่อยวาง ละความติดใจพัวพันในภาวะเลิศล้ำของฌานสมาบัติได้ คือถอนความติดในกามมาได้ขั้นหนึ่งแล้ว ยังถอนความติดในฌานสมาบัติได้อีก ไม่มีความเกี่ยวเกาะติดพันใดๆเลย เขาก็จะถึงภาวะหลุดพ้นเป็นอิสระโดยสมบูรณ์ นี้คือภาวะที่เรียกว่า นิพพาน ซึ่งเป็นภาวะหลุดออก ปลอดพ้น โปร่งโล่ง เบิกบาน แม้นิพพานจะเป็นสุข และผู้บรรลุนิพพานก็เป็นผู้มีความสุข แต่ผู้บรรลุนิพพานไม่ติดในความสุข ไม่ว่าชนิดใดๆ รวมทั้งไม่ติดเพลินนิพพาน ไม่ถือว่านี่คือนิพพานของเราด้วย แต่ถึงจะเป็นเช่นนี้ ผู้ประจักษ์แจ้งนิพพานแล้ว กลับเป็นผู้มีสิทธิหรือพร้อมที่จะเสวยความสุขชนิดก่อนๆทั้งหมดได้อย่างดีที่สุด โดยไม่มีพิษภัยอีกด้วย ทั้งนี้ ธรรมดาปรากฏเป็นของมันเองว่า ผู้ที่บรรลุนิพพานแล้วไม่เสพกามสุข เพราะไม่นึกอยากเสพ เขาได้ประสบสิ่งอื่นที่ดีกว่าจนไม่เห็นกามคุณนั้นมีคุณค่าที่เขาจะเกี่ยวข้องเสพเสวยแล้ว

การทำบุญหรือทำความดีในทางพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นทาน ศีล ภาวนา ว่าตามหลักแท้แล้ว ท่านไม่สอนให้มุ่งหาผลตอบแทนเป็นกามสุข เช่น ลาภ ยศ การไปเกิดในสวรรค์ เป็นต้น แต่ท่านสนับสนุนให้ทำความดีเพื่อขัดเกลาจิตใจตนเอง เพื่อลดละกิเลส ทำลายความสั่งสมก่อตัวของตัณหาเชื้อทุกข์ ทำให้ผู้ทำความดีนั้นประสบสุขประณีตที่ลึกซึ้งภายใน ซึ่งจะนำความร่มเย็นเป็นสุขมาให้ พัฒนาชีวิตก้าวสูงขึ้นไปในความสุขที่แท้จริงยั่งยืน โดยมีนิพพานสุขเป็นจุดหมายสุดท้าย ท่านจึงกล่าวแสดงภาวะของนิพพานอยู่บ่อยครั้งว่า คือ ความเป็นสุขที่ยอดเยี่ยม สุขยิ่งกว่านิพพานสุขไม่มี ตัวอย่างจากพระสูตรบางตอน เช่น

“กามสุขในโลก และทิพยสุข ยังไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งความสุขคือความสิ้นตัณหา” (ราชสูตร)

“ไฟเสมอด้วยราคะไม่มี โทษเสมอด้วยโทสะไม่มี ทุกข์เช่นด้วยขันธ์ไม่มี สุขยิ่งกว่าความสงบไม่มี ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง สังขารเป็นทุกข์อย่างยิ่ง, บัณฑิตทราบเนื้อความนี้ตามความเป็นจริงแล้ว ย่อมทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน เพราะนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง, ลาภทั้งหลายมีความไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่ง ทรัพย์มีความสันโดษเป็นอย่างยิ่ง ญาติทั้งหลายมีความคุ้นเคยเป็นอย่างยิ่ง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง” (สุขวรรค)

แม้แต่ผู้ปฏิบัติธรรม ก็ต้องมองนิพพานว่าเป็นสุข จึงจะเป็นทรรศนะที่ถูกต้อง ดังพุทธพจน์

“ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ภิกษุผู้มองเห็นนิพพานโดยความเป็นทุกข์ จักเป็นผู้ประกอบด้วยข้อพินิจที่เกื้อแก่การบรรลุสัจจะ ย่อมเป็นไปไม่ได้, ข้อที่ภิกษุผู้ไม่ประกอบด้วยข้อพินิจที่เกื้อแก่การบรรลุสัจจะ จักบรรลุโสดาปัตติผล … ฯลฯ ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้

“ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ภิกษุผู้มองเห็นนิพพานโดยความเป็นสุข จักเป็นผู้ประกอบด้วยข้อพินิจที่เกื้อแก่การบรรลุสัจจะ ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้, ข้อที่ภิกษุผู้ประกอบด้วยข้อพินิจที่เกื้อแก่การบรรลุสัจจะ จักบรรลุโสดาปัตติผล … ฯลฯ ก็ย่อมเป็นไปได้” (นิพพานสูตร)

พระอรหันต์ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ท่านเองก็ร่าเริงใจได้หมด แล้วก็พาคนอื่นให้รื่นรมย์ไปด้วย นี่เป็นเรื่องของความสามารถในการพัฒนาการมีความสุข การปฏิบัติธรรมนั้น ถ้าถูกทางแล้ว ความสุขก็จะเลื่อนขั้นพัฒนาไป

“ไม่ว่าบ้าน ไม่ว่าป่า ไม่ว่าที่ลุ่ม ไม่ว่าที่ดอน ท่านผู้ไกลกิเลสอยู่ที่ไหน ที่นั้นไซร้ เป็นภูมิสถานอันรื่นรมย์” (คาถาธรรมบท อรหันตวรรค)

จะพูดว่า พระพุทธศาสนาคือระบบการพัฒนาความสุขก็ได้ จะพูดว่า กระบวนการกำจัดทุกข์ก็ได้ ทั้งหมดก็เป็นแง่ความหมายที่มาโยงถึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน พระพุทธศาสนา จึงเป็นระบบการพัฒนาความสุข และเป็นศาสนาแห่งความสุข ตามนัยที่ได้กล่าวมาฉะนี้แล


จบการย่อความหนังสือพุทธธรรม ฉบับปรับขยาย


๓.๗ ข้อบกพร่องของฌานสุข

ภาวะในฌานยังไม่โปร่งโล่งเต็มที่ มีความคับแคบด้วยสัญญาและองค์ธรรมอื่นๆที่เนื่องอยู่ในฌานนั้นๆ ยังมีความคำนึงด้วยสัญญาเกี่ยวกับฌานชั้นต่ำกว่าฟุ้งขึ้นมาในใจได้ ถึงแม้จะจัดเป็นนิรามิสสุข แต่ก็เป็นภาวะปรุงแต่งถูกปัจจัยทางจิตสรรสร้างขึ้นมา ไม่เที่ยงแท้ จะต้องดับไปตามสภาวะ ลักษณะสำคัญอีกอย่างหนึ่งของฌานสุข คือ ยังเป็นสุขระดับเวทนา หมายความว่า เป็นสุขที่เกิดจากการเสวยอารมณ์ หรือเสพรสอารมณ์ ซึ่งในแง่นี้เหมือนกับกามสุข คือเป็นสุขเวทนา ส่วนข้อดีที่สำคัญของฌานสุข นอกจากความสุขที่ดื่มด่ำกว่ากามสุขแล้ว ฌานสุขยังเป็นสุขที่ไม่มีความเบียดเบียน เพราะเป็นการเสพอารมณ์ภายใน ไม่ต้องอิงอาศัยอารมณ์ภายนอก (อามิส) จึงจัดฌานสุขเป็นนิรามิสสุข ส่วนนิพพานเป็นยอดแห่งนิรามิสสุข

“ภิกษุทั้งหลาย ถ้านักบวชลัทธิอื่นกล่าวหาว่า สมณะศากยบุตรประกอบตนให้ชุ่มด้วยความสุข พึงถามว่าประกอบแบบไหน เพราะมีอยู่มากด้วยกัน คือ บางคนฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ พูดปด บำเรอตนด้วยกามคุณ อย่างนี้ชื่อว่าประกอบตนให้ชุ่มด้วยความสุขแบบชาวบ้าน ซึ่งไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน การประกอบตนให้ชุ่มด้วยความสุข ที่เป็นไปเพื่อนิพพาน ได้แก่ ความสุขในฌาน ๔ ถ้านักบวชลัทธิอื่นกล่าวว่า สมณะศากยบุตร ประกอบตนให้ชุ่มด้วยความสุข ๔ อย่างนี้ ก็พึงรับรองว่ากล่าวถูกต้อง” (ปาสาทิกสูตร)

เมื่อมีความสุขที่ประณีตกว่าเข้ามาเทียบแล้ว ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่กามสุขจะตกต่ำมีค่าน้อย ดังคำที่ท่านใช้เรียกกามสุข ว่าเป็นปุถุชนสุข ตรงข้ามกับฌานสุข ซึ่งเป็นเนกขัมมสุข สุขที่เอื้อต่อการบรรลุนิพพาน มีพุทธพจน์ตรัสว่า ผู้ยังติดอยู่ในกามสุข ก็คือติดข้องอยู่ในโลก ผู้ใดเข้าถึงฌาน (จะเป็นรูปฌานหรืออรูปฌานก็ตาม) ท่านเรียกผู้นั้นว่าได้มาถึงที่สุดของโลกแล้ว และอยู่ ณ ที่สุดแห่งโลก แต่ก็ยังเป็นผู้เนื่องอยู่ในโลก ยังสลัดตัวไม่พ้นจากโลก ส่วนผู้ใดสำเร็จฌานขั้นสูงสุดแล้วก้าวล่วงความยึดติดถือมั่นในฌานสุขไปได้ เป็นผู้หมดอาสวะเพราะเห็น (สัจธรรม) ด้วยปัญญา ผู้นี้จึงจะเรียกได้ว่า ได้มาถึงที่สุดแห่งโลกแล้ว อยู่ ณ ที่สุดแห่งโลก และทั้งได้ข้ามพ้นโยงใยที่เหนี่ยวพันให้ติดอยู่ในโลกไปได้


ส่วนแทรกเสริม

ในอรรถกถาปุคคลบัญญัติ ท่านว่าอย่างน้อยต้องเป็นพระอนาคามีฌานถึงไม่เสื่อม พระโสดาบัน พระสกทาคามี ฌานอาจเสื่อมได้ มิใช่ด้วยเหตุอกุศล แต่เป็นเพราะธรรมอันเป็นข้าศึกบางอย่าง เช่น ความกังวลใจในการงานที่จะต้องทำ ส่วนโลกุตรธรรม ธรรมอันมิใช่วิสัยของโลก, สภาวะพ้นโลก, ประกอบด้วยมรรค ๔ ผล ๔ และนิพพาน ๑.ที่ได้สำเร็จแล้วของพระอริยบุคคลทุกระดับ ไม่มีวันเสื่อมได้เลย