วันอังคาร

พระพุทธดำรัส (๕)

  🙏 พระพุทธดำรัส 🙏

🔅 
องค์แห่งการตรัสรู้
ปัญหา ภิกษุที่จะได้ตรัสรู้หรือบรรลุพระอรหัตผลนั้น ควรจะประกอบด้วยคุณสมบัติอะไรบ้าง ?
พุทธดำรัสตอบ “ ๑. ดูก่อนโพธิราชกุมาร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธาเชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่าพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ เป็นผู้จำแนกพระธรรม
๒. เธอเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง ประกอบด้วยไฟธาตุสำหรับย่อยอาหารสม่ำเสมอ ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก เป็นปานกลาง ควรแก่ความเพียร
๓. เธอเป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมายา เปิดเผยตนตามความเป็นจริง ในพระศาสดาหรือในเพื่อนพรหมจรรย์ผู้เป็นวิญญูชนทั้งหลาย
๔. เธอเป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม เป็นผู้มีกำลังมีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดทิ้งธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย
๕. เธอเป็นผู้มีปัญญา เป็นผู้ประกอบด้วยปัญญาอันเห็นความเกิดและดับ เป็นอริยะ สามารถชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ”

ต่อเนื่อง 👇

🔅 กำหนดเวลาตรัสรู้
ปัญหา เมื่อภิกษุประกอบด้วยคุณสมบัติเหล่านี้แล้ว จะได้บรรลุอรหัตผลในเวลาช้านานเท่าไร ?
พุทธดำรัสตอบ “ ดูก่อนราชกุมาร ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์แห่งภิกษุผู้มีความเพียร ๕ ประการนี้แล เมื่อได้ตถาคตเป็นผู้แนะนำ พึงทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่าด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน (ภายในเวลา) เจ็ดปี..... หกปี..... ห้าปี..... สี่ปี..... สามปี..... สองปี..... หนึ่งปี..... เจ็ดเดือน..... หกเดือน..... ห้าเดือน..... สี่เดือน..... สามเดือน..... สองเดือน..... หนึ่งเดือน..... ครึ่งเดือน..... เจ็ดคืนเจ็ดวัน..... หกคืนหกวัน..... ห้าคืนห้าวัน..... สี่คืนสี่วัน..... สามคืนสามวัน..... สองคืนสองวัน..... หนึ่งคืนหนึ่งวัน..... ดูก่อนราชกุมาร หนึ่งคืนหนึ่งวันจงยกไว้ ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์แห่งภิกษุผู้มีความเพียรหาประการนี้ เมื่อได้ตถาคตเป็นผู้แนะนำ ตถาคตสั่งสอนในเวลาเย็น จักบรรลุคุณวิเศษได้ในเวลาเช้า ตถาคตสั่งสอนในเวลาเช้า จักบรรลุคุณวิเศษได้ในเวลาเย็น”

โพธิราชกุมารสูตร

🔅 พุทธจริยาวัตร
ปัญหา ได้ทราบว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นบุคคลตัวอย่างในด้านกิริยามารยาทอันงดงาม พระพุทธองค์ทรงมีพุทธจริยาวัตรอย่างไรบ้าง?

คำตอบของอุตรมาณพ “ พระโคดมพระองค์นั้น เมื่อจะเสด็จดำเนินทรงก้าวพระบาทเบื้องขวาก่อน ไม่ทรงยกพระบาทไกลนัก ไม่ทรงวางพระบาทใกล้นัก ไม่เสด็จดำเนินเร็วนัก ไม่เสด็จดำเนินช้านัก เสด็จดำเนินพระชานุไม่กระทบพระชานุ ข้อพระบาทไม่กระทบข้อพระบาท ไม่ทรงยกพระอุรุสูง ไม่ทรงทอดพระอุรุไปข้างหลัง ไม่ทรงกระแทกพระอุรุ ไม่ทรงส่ายพระอุรุ เมื่อเสด็จดำเนิน พระกายส่วนบนไม่หวั่นไหว ไม่เสด็จดำเนินด้วยกำลังพระกาย”

“เมื่อทอดพระเนตร ทรงทองพระเนตรด้วยพระกายทั้งหมด ไม่ทรงทอดพระเนตรขึ้นเบื้องบน ไม่ทรงทอดพระเนตรลงเบื้องต่ำ เสด็จดำเนินไม่ทรงเหลียวแล ทรงทอดพระเนตรประมาณชั่วแอก ยิ่งกว่านั้น พระองค์ทรงมีญาณทัสสนะอันไม่มีอะไรกั้นเมื่อเสด็จเข้าสู่ละแวกบ้าน ไม่ทรงยืดพระกายไม่ทรงย่อพระกาย ไม่ทรงห่อพระกาย ไม่ทรงส่ายพระกาย เสด็จเข้าประทับนั่งอาสนะไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก ไม่ประทับนั่งเท้าพระหัตถ์ ไม่ทรงพิงพระกายที่อาสนะ เมื่อประทับนั่งในละแวกบ้าน ไม่ทรงคะนองพระหัตถ์ ไม่ทรงคะนองพระบาท ไม่ประทับนั่งชันพระชานุ ไม่ประทับนั่งซ้อนพระบาท ไม่ประทับนั่งยันพระหนุ เมื่อประทับนั่งในละแวกบ้าน ไม่ทรงครั่นคร้าม ไม่ทรงหวั่นไหว ไม่ทรงขลาด ไม่ทรงสะดุ้ง ทรงปราศจากโลมชาติชูชัน ทรงเวียนมาในวิเวก เมื่อประทับนั่งในละแวกบ้าน”

“เมื่อทรงรับน้ำล้างบาตร ไม่ทรงชูบาตรขึ้นรับ ไม่ทรงลดบาตรลงรับ ไม่ทรงจ้องบาตรคอยรับ ไม่ทรงแกว่งบาตรรับ ทรงรับน้ำล้างบาตรไม่น้อยนัก ไม่มากนัก ไม่ทรงล้างบาตรดังขลุกๆ ไม่ทรงหมุนบาตรล้าง ไม่ทรงวางบาตรที่พื้น ทรงล้างบาตรบนพระหัตถ์ เมื่อทรงล้างพระหัตถ์แล้ว ก็เป็นอันทรงล้างบาตรแล้ว เมื่อทรงล้างบาตรแล้ว เป็นอันล้างพระหัตถ์แล้ว ทรงเทน้ำล้างบาตรไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก และทรงเทไม่ให้น้ำกระเซ็น”

“เมื่อทรงรับข้าวสุก ไม่ทรงชูบาตรรับ ไม่ทรงลดบาตรลงรับ ไม่ทรงจ้องบาตรคอยรับ ไม่ทรงแกว่งบาตรรับ ทรงรับข้าวสุกไม่น้อยนัก ไม่มากนัก ทรงรับกับข้าวเสวยอาหารพอประมาณกับข้าว ไม่ทรงน้อมคำข้าวให้เกินกว่ากับ ทรงเคี้ยวคำข้าวในพระโอษฐ์สองสามครั้งแล้วทรงกลืน เยื่อข้าวสุกยังไม่พระโอษฐ์ ทรงน้อมคำข้าวเข้าไปแต่กึ่งหนึ่ง ทรงทราบรสได้อย่างดี เสวยอาหาร แต่ไม่ทรงทราบด้วยดีด้วยอำนาจความกำหนัดในรส เสวยอาหารประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือไม่เสวยเพื่อเล่น ๑ ไม่เสวยเพื่อมัวเมา ๑ ไม่เสวยเพื่อประดับ ๑ ไม่เสวยเพื่อตกแต่ง ๑ เสวยเพียงเพื่อดำรงพระกายนี้ไว้ ๑ เพื่อยังพระชนมชีพให้เป็นไป ๑ เพื่อป้องกันความลำบาก ๑ เพื่อทรงอนุเคราะห์พรหมจรรย์ ๑ ด้วยทรงพระดำริว่าเพียงเท่านี้จักกำจัดเวทนาเก่าได้ จักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ร่างกายของเราจักเป็นไปโดยสะดวก จักไม่มีโทษ และจักมีความอยู่สำราญ”

“เมื่อเสวยภัตตาหารเสร็จแล้ว เมื่อจะทรงรับน้ำล้างบาตร ไม่ทรงชูบาตรขึ้นรับ ไม่ทรงวางบาตรที่พื้น ทรงวางในที่ไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก จะไม่ทรงต้องการบาตรก็หามิได้ แต่ก็ไม่ตามรักษาบาตรจนเกินไป”

“เมื่อเสวยเสร็จแล้ว ประทับนิ่งเฉยอยู่ครู่หนึ่ง แต่ไม่ทรงยังเวลาแห่งการอนุโมทนาให้ล่วงไป เสวยเสร็จแล้วก็ทรงอนุโมทนา ไม่ทรงติเตียนภัตนั้นไม่ทรงหวังภัตอื่น ทรงชี้แจงให้บริษัทนั้นเห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา ครั้นแล้วทรงลุกจากอาสนะเสด็จไป ไม่เสด็จเร็วนักไม่เสด็จช้านัก ไม่ผลุนผลันเสด็จไป ไม่ทรงจีวรสูงเกินไป ไม่ทรงจีวรต่ำเกินไป ไม่ทรงจีวรติดแน่นพระกาย ไม่ทรงจีวรกระจุยกระจายจากพระกาย ทรงจีวรไม่ให้ลมพัดแหวกได้ ฝุ่นละอองไม่ติดพระกาย เสด็จถึงพระอารามแล้วประทับนั่ง ครั้นประทับนั่งบนอาสนะที่เขาจัดไว้ถวายแล้ว จึงทรงล้างพระบาทไม่ทรงประกอบการประดับพระบาท ทรงล้างพระบาทแล้วประทับนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งพระกายตรง ดำรงพระสติไว้เบื้องพระพักตร์ ไม่ทรงดำริเพื่อเบียดเบียนพระองค์เอง ไม่ทรงดำริเพื่อเบียนเบียนผู้อื่น ไม่ทรงดำริเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย เมื่อประทับอยู่ในพระอาราม ทรงแสดงธรรมในบริษัท ไม่ทรงยอบริษัท ไม่ทรงรุกรานบริษัท ทรงชี้แจงให้บริษัทเห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถา ทรงมีพระสุรเสียงอันก้องเปล่งออกจากพระโอษฐ์ ประกอบด้วยธรรมีกถา ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือสละสลวย ๑ รู้ได้ชัดเจน ๑ ไพเราะ ๑ ฟังง่าย ๑ กลมกล่อม ๑ ไม่พร่า ๑ พระสุรเสียงลึก ๑ มีกังวาน ๑ บริษัทจะอย่างไร ก็ทรงให้เข้าใจด้วยพระสุรเสียงได้ พระสุรเสียงมิได้ก้องออกนอกบริษัท”

พรหมายุสูตร

🔅 พระพุทธองค์กับวรรณะ
ปัญหา อินเดียในสมัยพุทธกาล มีการถือชั้นวรรณะกันอย่างเคร่งครัด เฉพาะอย่างยิ่งพวกพราหมณ์ถือว่าตนเป็นวรรณะสูงสุด เป็นโอรสของพรหม เกิดแต่ปากพรหม พระพุทธเจ้าทรงมีทรรศนะอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ ?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนอัสสลายนะ ก็นางพราหมณีของพราหมณ์ทั้งหลายมีระดูบ้าง มีครรภ์บ้าง คลอดบุตรบ้าง ให้บุตรดื่มนมบ้าง ปรากฏอยู่ ก็พราหมณ์เหล่านั้นเป็นผู้เกิดจากช่องคลอดเหมือนกัน ยังกล่าวอย่างนี้ว่าพราหมณ์เท่านั้นเป็นวรรณะประเสริฐ วรรณะอื่นเลว พราหมณ์เท่านั้นเป็นวรรณะขาว วรรณะอื่นดำ พราหมณ์เท่านั้นเป็นบุตรพรหม เป็นโอรสพรหมเกิดแต่ปากของพรหม เกิดแต่พรหมอันพรหมนิรมิต เป็นทายาทของพรหม”

อัสสลายนสูตร

🔅 หลักความเชื่อ
ปัญหา คำสอนของโบราณาจารย์บางเรื่อง ที่คนจำถ่ายทอดต่อกันมาเป็นรุ่นๆ ที่คนถือกันว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ควรรักษาไว้ด้วยความเคารพ เพราะถือว่าเป็นคำสอนอันเป็นสัจธรรม เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พระผู้มีพระภาคทรงเห็นอย่างไรในเรื่องนี้?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภารทวาชะ ได้ทราบกันดังนี้ว่าบรรดาพราหมณ์ทั้งหลาย ไม่มีพราหมณ์แม้คนหนึ่งจะเป็นใครก็ตาม ที่ได้กล่าวอย่างนี้ว่า ข้อนี้เรารู้อยู่ ข้อนี้เราเห็นอยู่ว่า สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า ไม่มีใครแม้หนึ่งซึ่งเป็นอาจารย์ เป็นปรมาจารย์ของอาจารย์ ตลอดเจ็ดชั่วอาจารย์ของพราหมณ์ทั้งหลาย แม้ฤาษีผู้เป็นอาจารย์ของพวกพราหมณ์ทั้งหลาย คือ ฤาษีอัฏฐกะ ฤาษีวามกะ ฤาษีทั้งสิบ ฤาษีเวสสามิตร ฤาษียมตัคคี ฤาษีอังคีรสะ ฤาษีภารทวาชะ ฤาษีวาเสฏฐะ ฤาษีกัสสปะ ฤาษีภคุ ซึ่งเป็นผู้แต่งมนต์เป็นผู้บอกมนต์ พราหมณ์ทั้งหลายในปัจจุบันนี้ขับตาม กล่าวตามซึ่งบทมนต์เท่านี้ ที่ท่านขับแล้วบอกแล้ว รวบรวมไว้แล้ว กล่าวได้ถูกต้อง บอกได้ถูกต้องตามที่ท่านได้กล่าวไว้บอกไว้ แม้ท่านเหล่านั้นก็ไม่ได้กล่าวไว้อย่างนี้ว่า ข้อนี้เรารู้อยู่ ข้อนี้เราเห็นอยู่ว่า สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้”

“ดูก่อนภารทวาชะ เปรียบเหมือนแถวคนตาบอด ซึ่งเกาะกันต่อๆ ไป แม้คนต้นก็ไม่เห็น แม้คนกลางก็ไม่เห็น แม้คนบังก็ไม่เห็นฉันใด ภาษิตของพราหมณ์ทั้งหลายเห็นจะเปรียบได้กับแถวคนตาบอดฉะนั้น”

“ดูก่อนภารทวาชะ ถึงแม้สิ่งที่เชื่อกันด้วยดีทีเดียว แต่สิ่งนั้นเป็นของว่างเปล่า เป็นเท็จไปก็มี ถึงแม้สิ่งที่ไม่เชื่อด้วยดีทีเดียว แต่สิ่งนั้นเป็นจริงเป็นแท้ ไม่เป็นอื่นก็มี อนึ่งสิ่งที่ชอบใจดีทีเดียว สิ่งที่ฟังตามกันมาด้วยดีทีเดียว สิ่งที่ตรึกไว้ด้วยดีทีเดียว สิ่งที่เพ่งแล้วด้วยดีทีเดียว เป็นของว่างเปล่า เป็นเท็จไปก็มี ถึงแม้สิ่งที่ไม่ได้เพ่งด้วยดีทีเดียว แต่สิ่งนั้นเป็นจริงเป็นแท้ ไม่เป็นอื่นก็มี”

“ดูก่อนภารทวาชะ บุรุษผู้รู้แจ้ง เมื่อจะตามรักษาความจริง ไม่ควรจะถึงความตกลง ในข้อนั้นโดยส่วนเดียวว่า สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า”

จังกีสูตร 

🔅 สมบัติประจำตัวของวรรณะ ๔
ปัญหา พวกพราหมณ์บัญญัติทรัพย์ประจำวรรณะทั้ง ๔ ไว้อย่างไรบ้าง ?

คำตอบของเอสุการีพราหมณ์ “ท่านพระโคดม พราหมณ์ทั้งหลายย่อมบัญญัติทรัพย์อันเป็นของมีอยู่ของพราหมณ์ คือการเที่ยวไปเพื่อภิกษา แต่พราหมณ์เมื่อดูหมิ่นทรัพย์อันเป็นของมีอยู่ คือการเที่ยวไปเพื่อภิกษา ชื่อว่าเป็นผู้ทำกรรมใช่กิจ พราหมณ์ทั้งหลายย่อมบัญญัติทรัพย์อันเป็นของมีอยู่ของกษัตริย์ คือ แล่งธนู พราหมณ์ทั้งหลายย่อมบัญญัติทรัพย์อันเป็นของมีอยู่แห่งแพศย์ คือ กสิกรรมและโครักขกรรม พราหมณ์ทั้งหลายย่อมบัญญัติทรัพย์อันเป็นของมีอยู่ของศูทร คือ เคียวและไม้คาน แต่ศูทรเมื่อดูหมิ่นทรัพย์อันเป็นของมีอยู่ คือ เคียวและไม้คาน ชื่อว่าเป็นผู้ทำกรรมมิใช่กิจ”

เอสุการีสูตร

🔅 ทำบาปด้วยความจำเป็น
ปัญหา บางครั้งบางคราว คนเราจำต้องทำความชั่ว เพราะความจำเป็น เช่น กระทำเพราะเห็นแก่มารดาบิดาผู้มีอุปการคุณ เป็นต้น ในกรณีเช่นนั้น จะจัดว่าเป็นบาปหรือไม่?

พระสารีบุตรตอบ “ ดูก่อนธนัญชานิ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งบิดามารดา นายนิริยบาลจะพึงฉุดคร่าเขาผู้นั้นไปยังนรก เพราะเหตุแห่งการประพฤติไม่ชอบธรรมและประพฤติผิดธรรม เขาจะพึงได้ตามความปรารถนาหรือว่า เราเป็นผู้ประพฤติไม่ชอบธรรมประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งบิดามารดา ขอนายนิริยบาลอย่าพึงฉุดคร่าเราไปสู่นรกเลย หรือมารดาบิดาของผู้นั้นจะพึงได้ตามปรารถนาหรือว่าผู้นี้เป็นผู้ประพฤติไม่ชอบธรรมประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งการทั้งหลาย ขอนายนิริยบาลอย่าพึงฉุดคร่าเขาไปนรกเลย

“.ดูก่อนธนัญชานิ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งบุตรและภริยา เพราะเหตุแห่งทาสกรรมกร และคนรับใช้ เพราะเหตุแห่งมิตรและอำมาตย์ เพราะเหตุแห่งญาติสาโลหิต เพราะเหตุแห่งแขก  เพราะเหตุแห่งปุพพเปตชน เพราะเหตุแห่งเทวดา เพราะเหตุแห่งพระราชา เพราะเหตุแห่งการเลี้ยงกาย เพราะเหตุทำนุบำรุงกาย

นายนิริยบาลจะพึงฉุดคร่าเขาผู้นั้นไปยังนรก เขาจะพึงได้ตามความปรารถนาหรือว่า เราประพฤติไม่ชอบธรรม เพราะเหตุแห่งการเลี้ยงกาย ขอนายนิริยบาลอย่าพึงฉุดคร่าเราไปสู่นรกเลย หรือมารดาบิดาของผู้นั้นจะพึงได้ตามปรารถนาหรือว่าผู้นี้เป็นผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม เพราะเหตุแห่งการเลี้ยงกาย ขอนายนิริยบาลอย่าพึงฉุดคร่าเขาไปนรกเลย

“ดูก่อนธนัญชานิ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม เพราะเหตุแห่งบิดามารดา กับบุคคลผู้ประพฤติชอบธรรม ประพฤติถูกธรรม เพราะเหตุแห่งมารดาบิดา ไหนจะประเสริฐกว่ากัน

“ดูก่อนธนัญชานิ การงานอย่างอื่นที่มีเหตุประกอบด้วยธรรม เป็นเครื่องให้บุคคลอาจเลี้ยงมารดาบิดาได้ ไม่ต้องทำกรรมอันลามก และให้ปฏิบัติปฏิปทาอันเป็นบุญได้ มีอยู่ฯ”

ธนัญชานิสูตร

🔅 คนธรรมดากับญาณพิเศษ
ปัญหา มีคนกล่าวว่าญาณพิเศษที่พระอรหันต์ได้บรรลุถึงนั้น เป็นสิ่งผิดหลักธรรมชาติไม่สามารถจะมีได้จริง เป็นแต่เพียงการสร้างเรื่องขึ้นด้วยจินตนาการเท่านั้น ในเรื่องนี้ พระพุทธองค์ตรัสไว้อย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนมาณพ พราหมณ์โปกขรสาติโอปมัญญโคตร ผู้เป็นใหญ่ในสภควัน เป็นคนบอดไม่มีจักษุ เขาจักรู้จักเห็นจักทำให้แจ้งชัด ซึ่งญาณทัสสนะวิเศษของพระอริยะ ได้หรือหนอ ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้

“ดูก่อนมาณพ เปรียบเหมือนบุรุษตาบอดแต่กำเนิด เขาไม่เห็นรูปดำ รูปขาว รูปเขียว รูปเหลือง รูปแดง รูปสีชมพู รูปที่เสมอและไม่เสมอหมู่ดาว ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ เขาพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ไม่มีรูปดำรูปขาว ไม่มีคนเห็นรูปดำรูปขาว ไม่มีรูปเขียว ไม่มีคนเห็นรูปเขียว ไม่มีหมู่ดาว ไม่มีคนเห็นหมู่ดาว ไม่มีดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ ไม่มีคนเห็นดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ เราไม่รู้ไม่เห็นสิ่งนั้น เพราะฉะนั้นสิ่งนั้นย่อมไม่มี เมื่อเขากล่าวดังนี้ ชื่อว่ากล่าวชอบหรือ มาณพ?

สุภมาณพ “ไม่ใช่เช่นนั้น ท่านพระโคดม รูปดำรูปขาวมี คนเห็นรูปดำรูปขาวก็มี รูปเขียวมี คนเห็นรูปเขียวก็มี หมู่ดาวมี คนเห็นหมู่ดาวก็มี มีดวงจันทร์ดวงอาทิตย์มี ผู้ที่กล่าวว่าเราไม่รู้ ไม่เห็นสิ่งนั้น เพราะฉะนั้นสิ่งนั้นย่อมไม่มี ดังนี้ ไม่เชื่อว่ากล่าวชอบ ท่านพระโคดม”

สุภสูตร


🔅 พรหมโลกมีจริง
ปัญหา พรหมโลกมีจริงหรือ? พระพุทธองค์ตรัสยืนยันไว้ที่ไหนว่าพรหมโลกมีจริง?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนมาณพ บุรุษผู้เกิดแล้วทั้งเจริญแล้วในบ้านนฬการคามนั้น ถูกถามถึงหนทางของบ้านนฬการคามนั้น ไม่พึงชักช้าหรือตกประหม่าและ ตถาคตถูกถามถึงพรหมโลกหรือปฏิปทาเครื่องให้ถึงพรหมโลก ก็ไม่ชักช้าหรือประหม่าเช่นเดียวกัน”

“ดูก่อนมาณพ เราย่อมรู้จักทั้งพรหม ทั้งพรหมโลก และปฏิปทาเครื่องให้ถึงพรหมโลก อนึ่ง ผู้ปฏิบัติด้วยประการใด จึงเข้าถึงพรหมโลกเราย่อมรู้ชัดซึ่งประการนั้นด้วย”

สุภสูตร

🔅 กรรมเก่ากรรมใหม่
ปัญหา นิครนถนาฏบุตร ศาสดาแห่งศาสนาเซนเห็นว่าสุขทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ที่มนุษย์ได้รับอยู่ในปัจจุบัน ย่อมเป็นผลของกรรมเก่าที่ตนทำไว้ในอดีตทั้งสิ้น ฉะนั้นทุกคนจึงตกเป็นทาสของกรรมอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง วิธีแก้ต้องบำเพ็ญตบะ กำจัดกรรมเก่าและไม่ทำกรรมใหม่ เมื่อเป็นผู้ไม่มีกรรมอย่างสิ้นเชิงแล้ว จึงจะพ้นทุกข์ได้เด็ดขาดดังนี้ พระพุทธองค์ทรงมีทรรศนะอย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราเข้าไปหานิครนถ์ผู้มีวาทะ ทิฐิ อย่างนี้แล้วถามว่า ดูก่อนนิครนถ์ผู้มีอายุ จริงหรือที่มีข่าวว่า พวกท่านมีวาทะอย่างนี้ว่า ปุริสบุคคลนี้ย่อมเสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดีเป็นทุกข์ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดี ข้อนั้นทั้งหมดเป็นเพราะเหตุแห่งกรรมที่ตนทำไว้ก่อน พวกนิครนถ์นั้น ถูกเราถามอย่างนี้แล้วย่อมยืนยัน เราจึงถาม อย่างนี้ว่า พวกท่านทราบละหรือว่า เราทั้งหลายได้มีแล้วในก่อนมิใช่ไม่ได้มีแล้ว? นิครนถ์เหล่านั้นตอบว่า ไม่ทราบ เราถามว่า พวกท่านทราบละหรือว่า เราทั้งหลายได้ทำบาปกรรมไว้ในก่อน มิใช่ได้ทำไว้ พวกนิครนถ์ตอบว่า ไม่ทราบ เราถามว่า พวกท่านทราบละหรือว่า เราทั้งหลายได้ทำบาปกรรมอย่างนี้ พวกนิครนถ์ตอบว่า ไม่ทราบ เราถามว่าพวกท่านทราบละหรือว่า ทุกข์เท่านี้เราสลัดได้แล้ว หรือว่าทุกข์เท่านี้เรายังจะต้องสลัดเสีย หรือว่าเมื่อทุกข์เท่านี้ เราสลัดแล้ว จักเป็นอันว่าเราสลัดทุกข์ได้หมด? พวกนิครนถ์ตอบว่า ไม่ทราบ เราถามว่า พวกท่านทราบการละอกุศลธรรม การบำเพ็ญกุศลธรรมในปัจจุบันละหรือ? พวกนิครนถ์ตอบว่า ไม่ทราบ”

“เรากล่าวว่า ดูก่อนนิครนถ์ผู้มีอายุ เมื่อเป็นเช่นนี้ นิครนถ์ผู้มีอายุไม่บังควรจะพยากรณ์ว่า ปุริสบุคคลนี้ย่อมเสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ข้อนั้นทั้งหมดเป็นเพราะเหตุแห่งกรรมที่ตนทำไว้ในก่อน”

“ดูก่อนนิครนถ์ผู้มีอายุ สมัยใด พวกท่านมีความพยายามแรงกล้า มีความเพียรแรงกล้า สมัยนั้นพวกท่านย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์แรงกล้าเจ็บแสบอันเกิดแต่ความพยายามแรงกล้า แต่สมัยใด พวกท่านไม่มีความพยายามแรงกล้า สมัยนั้นพวกท่านย่อมไม่เสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า อันเกิดแต่ความพยายามแรงกล้า เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกนิครนถ์ผู้มีอายุไม่บังควรจะพยากรณ์ว่า ข้อนั้นทั้งหมดเป็นเพราะเหตุแห่งกรรมที่ตนทำไว้ก่อน”

“ถ้าสมัยใด พวกท่านไม่มีความพยายามแรงกล้า สมัยนั้นเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า พึงหยุดได้เองเมื่อเป็นเช่นนี้ พวกนิครนถ์ผู้มีอายุก็ควรจะพยากรณ์ได้ว่า ข้อนั้นทั้งหมดเป็นเพราะเหตุแห่งกรรมที่ตนทำไว้ก่อน” “ดูก่อนนิครนถ์ผู้มีอายุ ก็เพราะเหตุที่สมัยใด พวกท่านมีความพยายามแรงกล้า สมัยนั้นพวกท่านจึงเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า พวกท่านนั้นเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า อันเกิดแต่ความเพียรเองทีเดียว”

“ดูก่อนนิครนถ์ผู้มีอายุ พวกท่านจะพึงปรารถนาไม่ได้ดังนี้ว่า กรรมใดเป็นของให้ผลในปัจจุบัน ขอกรรมนั้นจงเป็นของให้ผลในชาติหน้า กรรมใดเป็นของให้ผลในชาติหน้า ขอกรรมนั้นจงเป็นของให้ผลในปัจจุบัน กรรมใดเป็นของให้ผลเป็นทุกข์ ขอกรรมนั้นจงเป็นของให้ผลเป็นสุข  กรรมใดเป็นของให้ผลเป็นสุข ขอกรรมนั้นจงเป็นของให้ผลเป็นทุกข์ กรรมใดเป็นของให้ผลเสร็จสิ้นแล้ว ขอกรรมนั้นจงเป็นของให้ผลเสร็จสิ้น ด้วยความพยายามหรือด้วยความเพียรเถิด เมื่อเป็นเช่นนั้น ความพยายามของพวกนิครนถ์ผู้มีอายุก็ไร้ผล ความเพียรก็ไร้ผล”

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุแห่งกรรมที่ตนทำไว้ในก่อน พวกนิครนถ์ก็เป็นผู้ได้ทำกรรมชั่วไว้ในก่อนแน่ ในบัดนี้ พวกเขาจึงได้เสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้าเจ็บแสบเห็นปานนี้ ถ้าหมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์เพราะเหตุที่อิศวร (เทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่) เนรมิตให้พวกนิครนถ์ก็ต้องเป็นผู้ถูกอิศวรชั้นเลวเนรมิตมาแน่ ถ้าหมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์ เพราะเหตุที่มีความบังเอิญ พวกนิครนถ์ก็ต้องเป็นผู้มีความบังเอิญชั่วแน่ ถ้าหมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์เพราะอภิชาติ พวกนิครนถ์ก็ต้องเป็นผู้มีอภิชาติเลวแน่ ถ้าหมู่สัตว์ย่อมเสวยสุขและทุกข์เพราะความพยายามในปัจจุบัน พวกนิครนถ์ต้องเป็นผู้มีความพยายามในปัจจุบันเลวแน่ ในบัดนี้พวกเขาจึงได้เสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบเห็นปานนี้”

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไรความพยายามจึงจะมีผล ความเพียรจึงจะมีผล? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่เอาทุกข์ทับถมจนที่ไม่มีทุกข์ทับถม ๑ ไม่สละความสุขที่เกิดโดยธรรม ๑ ไม่มีผู้หมกมุ่นในความสุขนั้น ๑ เธอย่อมทราบชัดอย่างนี้ว่า ถึงเรานี้จะยังมีเหตุแห่งทุกข์ เมื่อเริ่มตั้งความเพียร วิราคะย่อมมีได้ด้วยการตั้งความเพียร เมื่อวางเฉยบำเพ็ญอุเบกขาอยู่ วิราคะก็ย่อมมีได้ เธอจึงเริ่มตั้งความเพียรและบำเพ็ญอุเบกขา แม้อย่างนี้ ทุกข์นั้นก็เป็นอันเธอสลัดได้แล้ว”

เทวทหสูตร

🔅 เหตุให้เชื่อชาติหน้า

ปัญหา คนในโลกเชื่อกันว่า ตายแล้วเกิดก็มี ตายแล้วสูญก็มี อะไรเป็นมูลเหตุให้เชื่อเช่นนั้น?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกบัญญัติอัตตาที่มีสัญญาว่า เบื้องหน้าแต่ตายไปยั่งยืน (มีอยู่ ไม่สูญ) ย่อมคัดค้านสมณพราหมณ์พวกบัญญัติความขาดสูญ ความพินาศ ความเกิดของสัตว์ ที่มีอยู่ นั่นเพราะเหตุไร เพราะท่านสมณพราหมณ์เหล่านี้แม้ทั้งหมด ย่อมหมายมั่นกาลข้างหน้า กล่าวยืนยันความหวังอย่างเดียวว่า เราละโลกไปแล้วจักเป็นเช่นนี้ๆ เปรียบเหมือนพ่อค้า ไปค้าขายย่อมมีความหวังว่า ผลจากการค้าเท่านี้จักมีแก่เรา เพราะการค้าขายนี้ เราจักได้ผลเท่านี้ ดังนี้ฉันใด ท่านสมณพราหมณ์พวกนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ชะรอจะเห็นปรากฏเหมือนพ่อค้า จึงหวังว่าเราละโลกไปแล้ว จักเป็นเช่นนี้ ๆ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตย่อมทราบเรื่องนี้ดี

“ดูก่อนสมณพราหมณ์ พวกบัญญัติความขาดสูญความพินาศ ความไม่เกิดของสัตว์ที่มีอยู่ เป็นผู้กลัวสักกายะ (กายของตน) เกลียดสักกายะ แต่ยังวนเวียนไปตามทสักกายะนั้นอยู่แล เปรียบเหมือนสุนัขที่เขาผูกโซ่ล่ามไว้ที่เสาหรือที่หลักมั่น ย่อมวนเวียนไปตามเสาหรือหลักมั่นนั้นเอง ฉันใด ท่านสมณพราหมณ์ พวกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้กลัวสักกายะ แต่ยังวนเวียนไปตามสักกายะอยู่นั่นแล เรื่องสักกายะดังนี้นั้น อันปัจจัยปรุงแต่งเป็นของหยาบ และความดับของสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งมีอยู่ ตถาคตทราบว่าสิ่งนี้ยังที่อยู่ จึงเห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออกจากสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งนั้น ให้เป็นไปล่วงพ้นสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งนั้นได้ ฯ”

ปัญจัตตย

🔅 พระพุทธเจ้าเพียงแต่บอกหนทาง
ปัญหา บริษัท ๔ ที่เกิดร่วมยุคกับพระพุทธองค์ ได้ฟังธรรมเฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธองค์ นับว่าเป็นผู้มีโชคอันประเสริฐ น่าจะได้สำเร็จมรรคผลทั้งหมด แต่ไฉนจึงได้บรรลุแต่เพียงบางคนเท่านั้น?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนพราหมณ์ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉนบุรุษผู้ปรารถนาจะไปเมืองราชคฤห์พึงมาในสำนักของท่าน เขาเข้ามาหาท่านแล้วพูดอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าปรารถนาจะไปยังกรุงราชคฤห์ ขอท่านจงชี้ทางไปเมืองราชคฤห์แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด ท่านพึงบอกแก่เขาอย่างนี้ว่า ดูก่อนพ่อมหาจำเริญ มาเถิด ทางนี้ไปเมืองราชคฤห์ ท่านจงไปตามทางนั้นชั่วครู่หนึ่งแล้ว จักเป็นบ้านชื่อโน้น ไปตามทางชั่วครู่หนึ่งแล้ว จักเป็นนิคมชื่อโน้น จักเห็นสวนที่น่ารื่นรมย์ จักเห็นป่าที่น่ารื่นรมย์ ภูมิภาคที่น่ารื่นรมย์ สระโบกขรณีที่น่ารื่นรมย์ของเมืองราชคฤห์ บุรุษนั้นอันท่านแนะนำสั่งสอนอยู่อย่างนี้จำทางผิด กลับเดินไปเสียตรงกันข้าม ต่อมาบุรุษคนที่สอง ปรารถนาจะไปเมืองราชคฤห์ พึงมาในสำนักของท่าน แล้วพูดอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงชี้ทางไปเมืองราชคฤห์แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด ท่านพึงบอกแก่เขาอย่างนี้ว่า ทางนี้ไปเมืองราชคฤห์ บุรุษนั้นอันท่านแนะนำพร่ำสอนอยู่อย่างนี้ พึงไปถึงเมืองราชคฤห์โดยสวัสดี ดูก่อนพราหมณ์ อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยในเมื่อเมืองราชคฤห์ดำรงอยู่ ทางไปเมืองราชคฤห์ก็ดำรงอยู่ ท่านผู้ชี้แจงก็ดำรงอยู่ แต่ก็บุรุษอันท่านแนะนำพร่ำสั่งอยู่อย่างนี้ คนหนึ่งจำทางผิด กลับเดินไปทางตรงกันข้าม คนหนึ่งไปถึงเมืองราชคฤห์โดยสวัสดี ?”

คณกโมคคัลลานะ “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ในเรื่องนี้ ข้าพเจ้าจะทำอย่างไรได้ ข้าพเจ้าเป็นแต่ผู้บอกทาง”

ดูก่อนพราหมณ์ ฉันนั้นเหมือนกันแล ในเมื่อนิพพานก็ดำรงอยู่ ทางไปนิพพานก็ดำรงอยู่ เราผู้ชักชวนก็ดำรงอยู่ แต่ก็สาวกของเราอันเราโอวาทสั่งสอนอยู่อย่างนี้ บางพวกเพียงส่วนน้อยยินดีนิพพานอันมีความสำเร็จเยี่ยมยอด บางพวกก็ไม่ยินดี ดูก่อนพราหมณ์ ในเรื่องนี้เราจะทำอย่างไรได้ ตถาคตเป็นแต่ผู้บอกหนทางให้

คณกโมคคัลลาน

🔅 บันไดสู่อรหัตตผล
ปัญหา ภิกษุในพระพุทธศาสนาควรจะปฏิบัติโดยลำดับขั้นอย่างไร จึงจะได้บรรลุมรรคผล?

พุทธดำรัสตอบ “ท่านจงเป็นผู้มีศีล ระวังในปาฏิโมกข์อยู่ เป็นผู้บริบูรณ์ด้วยมารยาทและธรรมเป็นโคจร จงเป็นผู้มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลาย

“ท่านจงเป็นผู้มีทวารอันระวังแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย (สำรวมอินทรีย์ อย่าถือนิมิตของรูปนั้น) ไว้ อย่าถือโดยอนุพยัญชนะ ซึ่งเป็นเหตุให้เหล่าอกุศลธรรมอันลามกมีอภิชฌาและโทมนัส เป็นต้น ไหลตามบุคคลผู้ไม่ระวังอินทรีย์คือตา จงปฏิบัติเพื่อระวังอินทรีย์ถือนัยน์ตานั้น ได้ยินเสียงด้วยหู แล้วดมกลิ่นด้วยจมูกแล้ว ลิ้มรสด้วยลิ้นแล้ว ต้องโผฏฐัพพะ (สัมผัส) ด้วยกายแล้ว รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว อย่าถือนิมิต (ของอารมณ์นั้นๆ ) ไว้อย่าถือโดยอนุพยัญชนะ

“ท่านจงเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ พิจารณาโดยอุบายอันชอบแล้ว เสพโภชนาหาร (พิจารณาว่า) เราเสพโภชนะนี้ไม่ใช่เพื่อเล่น ไม่ใช่เพื่อให้ร่างกายสดใส ไม่ใช่เพื่อให้ร่างกายผุดผ่อง เพียงเพื่อให้กายนี้ตั้งอยู่ เพื่อให้ชีวิตเป็นไป เพื่อปราศจากความลำบาก เพื่ออนุเคราะห์แก่พรหมจรรย์ ด้วยการเสพโภชนะนี้ เราจักกำจัดเวทนาเก่าเสีย และจักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น

“ท่านจงประกอบความเพียรของผู้ตื่นอยู่ ท่านจงชำระจิตให้บริสุทธิ์ จากอาวรณิยธรรม ด้วยการเดิน ด้วยการนั่งสิ้นวันยังค่ำ จงชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอาวรณิยธรรม ด้วยการเดิน ด้วยการนั่งตลอดยามต้นแห่งราตรีถึงยามกลางแห่งราตรี พึงสำเร็จการนอนอย่างราชสีห์โดยข้างเบื้องขวา วางเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ ผูกใจหมายจะลุกขึ้น ถึงยามสุดแห่งราตรี จงกลับลุกขึ้น ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอาวรณิยธรรม ด้วยการเดิน ด้วยการนั่ง

“ท่านจงมาตามพร้อมด้วยสติและสัมปชัญญะในอันก้าว ในอันถอย ในอันแล ในอันเหลียว ในอันคู้ ในอันเหยียด ในอันทรงสังฆาฏิบาตรจีวร ในอันกิน ดื่มเคี้ยวแลจิบ ในอันถ่ายอุจจาระแลปัสสาวะ ในอันเดิน ยืน นั่ง หลับ ตื่น พูด แลนิ่ง ท่านจงเป็นคนรู้ตัวกระทำ (ทุกๆอย่าง)

“ท่านจงเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า ดง โคน ต้นไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำในเขา ป่าช้า ป่าเปลี่ยว ที่แจ้ง ลอมฟาง ในปัจฉาภัตต์ (นอกเพล) เธอกลับมาจากบิณฑบาตแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรงตั้งสติไว้เฉพาะหน้า ย่อมทำจิตใจให้บริสุทธิ์ จากอภิชฌา ย่อมทำจิตให้บริสุทธิ์จากความประทุษร้ายเพราะพยาบาท มีจิตปราศจากถีนมิทธะแล้ว มีสติสัมปชัญญะ มีสำคัญในอาโลกกสิณอยู่ ทำจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านรำคาญ ) ทำจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา (ความสงสัยลังเล) ละนิวรณ์ทั้ง ๕ อันเป็นอุปกิเลสแห่งจิต เป็นเครื่องทำปัญญาให้ถอยกำลังเหล่านี้แล้ว สงัดจากกามารมณ์ สงัดจากอกุศลธรรมนั่นเทียว บรรลุปฐมฌาน บรรลุทุติยฌาน บรรลุตติยฌาน บรรลุจตุตถฌาน

“ภิกษุเหล่าใดแล ยังเป็นเสขบุคคล ยังไม่ได้ถึงอรหัตตมรรคแล้ว ปรารถนาพระนิพพานเป็นที่สิ้นโยคะ ไม่มีธรรมอื่นจะยิ่งกว่า วาจาพร่ำสอนเช่นนี้ ของเรา มีอยู่ในภิกษุเหล่านั้น

“ส่วนภิกษุเหล่าใดเป็นพระอรหันต์สิ้นอาสวะแล้ว เป็นผู้อยู่จบแล้ว มีกิจควรทำให้ทำเสร็จแล้ว มีภาระอันปลงเสียแล้ว ธรรมทั้งหลายเหล่านี้ย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขในอัตตภาพนี้ ทั้งสติแลสัมปชัญญะ แก่ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น”

คณกโมคคัลลานสูตร

🔅 ผู้แทนพระพุทธองค์
ปัญหา ก่อนแต่จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธเจ้าได้ทรงแต่งตั้งภิกษุรูปหนึ่งให้ดำรงตำแหน่งประมุขสงฆ์ แทนพระองค์หรือไม่? ถ้าไม่ พระสงฆ์ได้ประชุมตกลงกันแต่งตั้งใครเป็นประมุขหรือไม่ ? ถ้าไม่พระสงฆ์จะได้อะไรเป็นที่พึ่ง?

พระอานนท์ตอบ “ดูก่อนพราหมณ์ ไม่มีเลยแม้สักรูปหนึ่ง อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงรู้ทรงเห็นเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ทรงแต่งตั้งไว้ว่า เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว ภิกษุรูปนี้จักเป็นที่พึ่งอาศัยของท่านทั้งหลาย ซึ่งอาตมภาพทั้งหลายจะพึงเข้าไปหาได้ในบัดนี้

“ดูก่อนพราหมณ์ ไม่มีเลยแม้สักรูปหนึ่ง อันสงฆ์ที่เป็นภิกษุผู้เถระมากรูปด้วยกันสมมติแล้ว แต่งตั้งไว้ว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จล่วงลับไปแล้ว ภิกษุรูปนี้จัดเป็นที่พึ่งอาศัยของเราทั้งหลาย ดูก่อนพราหมณ์ อาตมภาพทั้งหลายมิใช่ไม่มีที่พึ่งอาศัยเลย พวกอาตมภาพมีที่พึ่งอาศัยคือมีธรรมเป็นที่พึ่งอาศัย”

โคปกโมคคัลลาน


วันพุธ

พระพุทธดำรัส (๔)

 🙏 พระพุทธดำรัส 🙏


🔅 คุณของการกินแต่น้อย
ปัญหา พระภิกษุในพระพุทธศาสนาได้รับอนุญาตให้บริโภคอาหารเพียงวันละ ๑ หรือ ๒ ครั้งเท่านั้น พระผู้มีพระภาคทรงเป็นประโยชน์อย่างไร จึงทรงบัญญัติให้ภิกษุบริโภคอาหารน้อย?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียว เมื่อเราฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียว ย่อมรู้สึกคุณคือ ความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง กายเบา มีกำลัง และอยู่สำราญ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้เธอทั้งหลายจงมา จงฉันอาหารในเวลาก่อนภัตครั้งเดียวเถิด ด้วยว่าเมื่อเธอทั้งหลายฉันอาหาร ในเวลาก่อนภัตครั้งเดียว จักรู้สึกคุณคือ ความเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง กายเบามีกำลัง และอยู่สำราญ”

ภัททาลิสูตร

🔅 การฉันวันละ ๒ ครั้ง
ปัญหา มีภิกษุบางรูปฉันอาหารวันละ ๒ ครั้ง พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตไว้ที่ไหน อย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภัททาลิ ถ้าอย่างนั้น (ถ้าเธอฉันหนเดียวไม่ได้) เธอรับนิมนต์ ณ ที่ใดแล้ว พึงฉัน ณ ที่นั้นส่วนหนึ่ง แล้วนำส่วนหนึ่งมาฉันอีกก็ได้ เมื่อเธอฉันได้แม้อย่างนี้ ก็จักยังชีวิตให้เป็นไปได้”

ภัททาลิสูตร

🔅 ทำผิดแล้วยอมรับผิด
ปัญหา การกระทำความผิดแล้วยอมรับผิด ผู้กระทำความผิดจะได้รับอภัยโทษหรือไม่ ?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภัททาลิ เราขอเตือน โทษได้ครอบงำเธอผู้เป็นคนพาล เป็นคนหลง ไม่ฉลาด ซึ่งได้ประกาศความอุตสาหะขึ้นแล้ว ในเมื่อเรากำลังบัญญัติสิกขาบท ในเมื่อภิกษุสงฆ์กำลังสมาทานอยู่ซึ่งสิกขา แต่เพราะเธอไม่เห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้ว ทำคืนตามธรรมเราจึงรับโทษของเธอนั้น ข้อที่บุคคลเห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้วทำคืนตามธรรม ถึงความสำรวมต่อไปนี้ เป็นความเจริญในวินัยของพระอริยะ”

ภัททาลิสูตร

🔅 เหตุให้พระธรรมวินัยเสื่อม
ปัญหา มีบางคนกล่าวว่า การมีกฎหมายหรือระเบียบกฎเกณฑ์ มาก ๆ นั้น แสดงว่าศีลธรรมของชุมนุมชนนั้นเสื่อมลง จริงหรือไม่ ? พระผู้มีพระภาคตรัสไว้อย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภัททาลิ ข้อนี้เป็นจริงอย่างนั้น เมื่อสัตว์ทั้งหลายกำลังเสื่อม พระสัทธรรมกำลังอันตรธาน สิกขาบทมีอยู่มากมาย แต่ภิกษุดำรงอยู่ในอรหัตตผลน้อยนัก พระศาสดายังไม่ทรงบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลาย ตราบเท่าที่อาสวัฏฐานิยธรรม (ธรรมอันก่อให้เกิดอาสวะ) บางเหล่ายังไม่ปรากฏในสงฆ์ในธรรมวินัยนี้ ต่อเมื่อใดอาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่าปรากฏขึ้นในสงฆ์ในธรรมวินัยนี้ เมื่อนั้นพระศาสดาจึงทรงบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อกำจัดอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้น อาสวัฏฐานิยธรรมธรรมบางเหล่ายังไม่ปรากฏในสงฆ์ในพระธรรมวินัยนี้ ตราบเท่าที่สงฆ์ยังไม่ถึงความเห็นหมู่ใหญ่  อาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่ายังไม่ปรากฏในสงฆ์ในพระธรรมวินัยนี้ ตราบเท่าที่สงฆ์ยังไม่ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยลาภ  ยังไม่ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยยศ ยังไม่ถึงความเป็นพหูสูตร ยังไม่ถึงความเป็นรัตตัญญู (มีประสบการณ์มาก) ต่อเมื่อใดสงฆ์ถึงความเป็นรัตตัญญู เมื่อนั้นอาสวัฏฐานิยธรรมบางเหล่าจึงปรากฏในสงฆ์ ในธรรมวินัยนี้ ครั้งนั้นพระศาสดาจึงทรงบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อกำจัดอาสวัฏฐานิยธรรมเหล่านั้น ฯ ”

ภัททาลิสูตร 


🔅 คุณธรรมสำหรับพระสงฆ์
ปัญหา พระสังฆรัตนะพุทธศาสนิกชนควรถือเป็นสรณะที่พึ่งนั้นต้องประกอบด้วยคุณธรรมกี่ประการ ? อะไรบ้าง?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภัททาลิ ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรมเป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่าธรรม ๑๐ ประการเป็นไฉน? ดูก่อนภัททาลิ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยสัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ อันเป็นของพระอเสขะ ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ นี้แล ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ ”

ภัททาลิสูตร


🔅 พุทธทำนาย
ปัญหา ตามเรื่องในพระคัมภีร์ มีปรากฏอยู่เสมอว่า เมื่อภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก หรือ อุบาสิกา คนใดคนหนึ่งตายลง พระผู้มีพระภาคมักจะตรัสว่า เขาได้ไปเกิดใหม่ในภพนั้นๆ การที่พระพุทธองค์ทรงทำนายเช่นนี้ มีพระพุทธประสงค์อย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนอนุรุทธะ ตถาคตย่อมพยากรณ์สาวกทั้งหลายผู้ทำกาละไปแล้ว ในภพที่เกิดทั้งหลายว่า สาวกชื่อโน้นเกิดแล้วในภพโน้นสาวกชื่อโน้นเกิดแล้วในภพโน้นดังนี้ เพื่อให้คนพิศวงก็หามิได้ เพื่อเกลี้ยกล่อมคนก็หามิได้ เพื่ออานิสงส์ คือลาภสักการะและความสรรเสริญก็หามิได้ ด้วยความประสงค์ว่าคนจงรู้จักเรานี้ก็หามิได้ ดูก่อนอนุรุทธะ กุลบุตรทั้งหลายผู้มีศรัทธา มีความยินดีมาก มีปราโมทย์มากมีอยู่ กุลบุตรเหล่านั้นได้ฟังคำพยากรณ์นั้นแล้ว จะน้อมจิตไปเพื่อความเป็นอย่างนั้นบ้าง ข้อนั้นย่อมมีเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่กุลบุตรเหล่านั้น สิ้นกาลนาน”

นฬกปานสูตร

🔅 ความหมายของสัพพัญญู
ปัญหา คำว่า “สัพพัญญู” ผู้รู้สิ่งทั้งปวง ซึ่งเป็นพระนามประการหนึ่งของพระพุทธเจ้านั้นหมายความว่า พระองค์ทรงรู้ทุกสิ่งทุกอย่างในสากลจักรวาลทั้งเวลาหลับและเวลาตื่น หรือหมายความแค่ไหนแน่?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนวัจฉะ ชนที่กล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมเป็นสัพพัญญู มีปกติเห็นธรรมทั้งปวง ทรงปฏิญาณญาณทัสสนะไม่มีส่วนเหลือว่า เมื่อเราเดินไปก็ดี หยุดอยู่ก็ดี หลับก็ดี ตื่นก็ดี ญาณทัสสนะปรากฏแล้วเสมอติดต่อกันไปดังนี้ ไม่เป็นอันกล่าวตามคำที่เรากล่าวแล้วและชื่อว่ากล่าวตู่เราด้วยคำที่ไม่มี ไม่เป็นจริง “ดูก่อนวัจฉะ เมื่อบุคคลพยากรณ์ว่า พระสมณโคดมเป็นเตวิชชะ (ผู้ได้วิชชา ๓ ) ดังนี้แล เป็นอันกล่าวตามคำที่เรากล่าวแล้ว ชื่อว่าไม่กล่าวตู่เราด้วยคำไม่เป็นจริง ชื่อว่าพยากรณ์ถูกสมควรแก่ธรรม

“ดูก่อนวัจฉะ ก็เราเพียงต้องการเท่านั้น ย่อมจะระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง..... ตลอดสังวัฎวิวัฎกัปเป็นอันมาก ในภพโน้นเรามีชื่อย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้ไปเกิดในภพโน้น... เราย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศด้วยประการฉะนี้

“ดูก่อนวัจฉะ ก็เราเพียงต้องการเท่านั้น ย่อมจะเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติกำลังอุบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดีตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ซึ่งเป็นไปตามกรรมว่าสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียน พระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิฉาทิฐิ เขาเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมทิฐิ..... เบื้องหน้า แต่ตายเพราะกายแตก เข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์

“ดูก่อนวัจฉะ เมื่อบุคคลพยากรณ์ว่า พระสมณโคดมเป็นเตวิชชะ เป็นอันกล่าวตามคำที่เรากล่าวแล้ว ชื่อว่าไม่กล่าวตู่เราด้วยคำไม่เป็นจริง...”

จูฬวัจฉโคคตสูตร 


🔅 พระอรหันต์นิพพานแล้วไปไหน
ปัญหา คนธรรมดาตายแล้วย่อมเกิดในภพต่างๆ ตามกรรม ส่วนพระอรหันต์ผู้สิ้นกรรมแล้ว จะไปเกิดที่ไหน?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนวัจฉะ คำว่า จะเกิดดังนี้ไม่ควรเลย คำว่า ไม่เกิดดังนี้ก็ไม่ควร คำว่าเกิดก็มี ไม่เกิดก็มี ดังนี้ก็ไม่ควร คำว่าเกิดก็มิใช่ ไม่เกิดก็มิใช่ ดังนี้ก็ไม่ควร ธรรมนี้เป็นธรรมลุ่มลึก ยากที่จะเป็น ยากที่จะรู้ สงบระงับประณีตไม่ใช่ธรรมที่จะหลั่งถึงได้ด้วยความตรึกละเอียด บัณฑิตจึงจะรู้ได้ ธรรมนั้นอันท่านผู้มีความเห็นเป็นอย่างอื่น มีความพอใจเป็นอย่างอื่น มีความชอบใจเป็นอย่างอื่น มีความเพียรในทางอื่น อยู่ในสำนักของอาจารย์อื่น รู้ได้โดยยาก ดูก่อนวัจฉะ เราจักย้อนถามท่านในข้อนี้ถ้าไฟลุกโพลงอยู่ต่อหน้าท่านท่านจะพึงรู้หรือไม่ว่าไฟนี้ลุกโพลงอยู่ต่อหน้าเรา”

วัจฉะ “ข้าพเจ้าพึงรู้ว่า ไฟนี้ลุกโพลงอยู่ต่อหน้าเรา”

พุทธะ “ไฟที่ลุกโพลงอยู่ต่อหน้าท่านนี้อาศัยอะไรจึงลุกเล่า ท่านถูกถามอย่างนี้แล้ว จะพึงพยากรณ์ว่าอย่างไร?

วัจฉะ “.ข้าพเจ้าถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ไฟที่ลุกโพลงอยู่ต่อหน้าเรานี้ อาศัยเชื้อคือหญ้าและไม้จึงลุกอยู่”

พุทธะ “ถ้าไฟนั้นพึงดับไปต่อหน้าท่าน ท่านพึงรู้หรือว่า ไฟนี้จะดับไปต่อหน้าเราแล้ว?”

วัจฉะ “ข้าพเจ้าพึงรู้ว่าไฟนี้ดับไปต่อหน้าเราแล้ว”

พุทธะ “ไฟที่ดับไปต่อหน้าท่านแล้วนั้นไปยังทิศไหนจากทิศนี้ ท่านถูกถามอย่างนี้แล้ว จะพึงพยากรณ์ว่าอย่างไร?”

วัจฉะ “ข้อนั้นไม่สมควร เพราะไฟนั้นอาศัยเชื้อคือหญ้าและไม้จึงลุกแต่เพราะเชื้อนั้นสิ้นไป และเพราะไม่มีของอื่นเป็นเชื้อ ไฟนั้นจึงถึงความนับว่า ไม่มีเชื้อ ดับไปแล้ว”

พุทธะ “ ฉันนั้นเหมือนกัน วัจฉะ บุคคลเมื่อบัญญัติว่าเป็นสัตว์ พึงบัญญัติเพราะรูปใด  เพราะเวทนาใด เพราะสัญญาใด เพราะสังขารใด เพราะวิญญาณใด รูป เวทนา  สัญญา สังขาร วิญญาณนั้น ตถาคตละได้แล้ว มีมูลรากอันขาดแล้ว ทำให้เห็นดุจตาลยอดด้วน ถึงความมี มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา ตถาคตพ้นจากการนับว่ารูป เวทนา สัญญา  สังขาร วิญญาณ มีคุณอันลึกอันใคร ๆ ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้โดยยาก เปรียบเหมือนมหาสมุทรฉะนั้น ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิด ไม่ควรจะกล่าวว่าไม่เกิด ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิดก็มีไม่เกิดก็มี ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิดก็หามิได้ ไม่เกิดก็หามิได้”

อัคคิวัจฉโคตตสูตร

🔅 บุคคลผู้ที่ไม่เถียงกับใครๆ
ปัญหา คนเราที่ไม่รู้ความจริงแท้ ย่อมมีความเห็นแตกต่างกันและทะเลาะวิวาททุ่มเถียงกัน มีคนประเภทใดบ้างที่ไม่ทุ่มเถียงกับใครๆ?

พุทธดำรัสตอบ “อัคคิเวสสนะ เวทนา ๓ อย่างนี้คือ สุขเวทนา ๑ ทุกขเวทนา ๑ อทุกขมสุขเวทนา ๑ อัคคิเวสสนะ สมัยใดได้เสวยสุขเวทนาในสมัยนั้นไม่ได้เสวยทุกขเวทนา ไม่ได้เสวยอทุกขมสุขเวทนา ได้เสวยแต่สุขเวทนาเท่านั้น ในสมัยใดได้เสวยทุกขเวทนา ในสมัยนั้นไม่ได้เสวยสุขเวทนา ไม่ได้เสวยอทุกขมสุขเวทนา ได้เสวยแต่ทุกขเวทนาเท่านั้น ในสมัยใดได้เสวยอทุกขมสุขเวทนา ในสมัยนั้นไม่ได้เสวยสุขเวทนา ไม่ได้เสวยทุกขเวทนา ได้เสวยแต่อทุกขมสุขเวทนาเท่านั้น

“อัคคิเวสสนะ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ไม่เที่ยงอันปัจจัยปรุงแต่งขึ้นอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น มีความสิ้นไป เสื่อมไป คล้ายไปดับไปเป็นธรรมดา “อัคคิเวสสนะ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายทั้งในสุขเวทนา ทั้งทุกขเวทนา ทั้งอทุกขมสุขเวทนา เมื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัดย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี อัคคิเวสสนะ ภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วอย่างนี้แล ย่อมไม่วิวาทแก่งแย่งกับใคร ๆ โวหารใดที่ชาวโลกพูดกันก็พูดไปตามโวหารนั้น แต่ไม่ยึดมั่นด้วยทิฐิ”

ทีฆมขสูตร


🔅 ทำไมพระสาวกจึงเคารพพระศาสดา
ปัญหา เพราะเหตุไร บรรดาพระสาวกของพระพุทธเจ้า จึงมีความเคารพยำเกรงในพระพุทธองค์อย่างสูง นับว่าขณะที่พระองค์กำลังทรงแสดงธรรม ภิกษุแม้รูปเดียวจะไอหรือจามก็ไม่กล้า ?

พุทธดำรัสตอบ “ ดูก่อนอุทายี ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเราแล้ว พึ่งเราอยู่ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมทรงเป็นผู้มีอาหารน้อย และทรงสรรเสริญความเป็นผู้มีอาหารน้อย อุทายี แต่สาวกทั้งหลายของเรามีอาหารเพียงเท่าโกสะ (จุในผลกระเบา) หนึ่งก็มี เพียงกึ่งโกสะก็มี เพียงเท่าเวลุวะ (จุในผลมะตูม) หนึ่งก็มี เพียงกึ่งเวลุวะก็มี ส่วนเราและ บางครั้งบริโภคอาหารเสมอขอบปากบาตรนี้ก็มี ยิ่งกว่าก็มี ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงสักการะเคารพ เรา ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมทรงมีอาหารน้อย บรรดาสาวกของเราผู้มีอาหารเพียงเท่าโกสะหนึ่งบ้าง เพียงกึ่งเวลุวะบ้าง ก็จะไม่เคารพสักการะเรา

“ ดูก่อนอุทายี ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงเคารพ สักการะเรา ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมทรงสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ อุทายี แต่สาวกทั้งหลาย ของเราเป็นผู้ถือผ้าบังสุกุล ทรงจีวรเศร้าหมอง เธอเหล่านั้นเลือกเก็บเอาผ้าเก่าแต่ป่าช้าบ้าง แต่กองหยากเยื่อบ้าง แต่ที่เขาทิ้งไว้ตามที่ต่างๆ บ้าง มาทำเป็นสังฆาฎิ ส่วนเราแล บางคราวก็ใช้คหบดีจีวรที่เนื้อแน่น ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงสักการะเคารพเรา ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมทรงสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ บรรดาสาวกของเราที่ทรงผ้าบังสุกุลก็จะไม่เคารพสักการะเรา

“ ดูก่อนอุทายี ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงเคารพ สักการะเรา ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมทรงสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ แต่สาวกทั้งหลาย ของเราเป็นผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร คือเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอกเป็นวัตร เธอเหล่านั้น เมื่อเข้าไปถึงละแวกบ้านแล้ว ถึงใครจะนิมนต์ด้วยอาสนะก็ไม่ยินดีมีอยู่ ส่วนเราแล บางครั้งก็ฉันในที่นิมนต์ แต่ล้วนเป็นข้าวสุกแห่งข้าวสาลีที่เขาเก็บเมล็ดดำออกแล้ว มีแกงกับหลายอย่าง ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงสักการะเคารพเรา ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมทรงสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ บรรดาสาวกของเราที่ถือบิณฑบาตเป็นวัตรก็จะไม่เคารพสักการะเรา

“ ดูก่อนอุทายี ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงเคารพ สักการะเรา ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมทรงสันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้ แต่สาวกทั้งหลาย ของเราเป็นผู้ถืออยู่โคนต้นไม้เป็นวัตร ถืออยู่กลางแจ้งเป็นวัตร เธอเหล่านั้น ไม่เข้าสู่ที่มุงตลอดแปดเดือนมีอยู่ ส่วนเราแล บางครั้งอยู่ในเรือนยอดที่ฉาบทาทั้งข้างในข้างนอก ลมเข้าไม่ได้ มีลิ่มชิดสนิท มีหน้าต่างเปิดปิดได้ ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงสักการะเคารพเรา เพราะเข้าใจว่า พระสมณโคดมทรงสันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้ บรรดาสาวกของเราที่ถือโคนต้นไม้เป็นวัตรก็จะไม่เคารพสักการะเรา

“ ดูก่อนอุทายี ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงเคารพ สักการะเรา ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมเป็นผู้สงัดและทรงสรรเสริญความเป็นผู้สงัด แต่สาวกทั้งหลาย ของเราเป็นผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ถือเสนาสนะอันสงัด ถือป่าชัฏอยู่ เธอเหล่านั้นย่อมมาประชุมในท่ามกลางสงฆ์ เฉพาะเวลาสวดปฏิโมกข์ทุกกึ่งเดือนมีอยู่ ส่วนเราแล บางครั้งก็อยู่เกลื่อนกล่นไปด้วยภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา เดียรถีย์ สาวกของเดียรถีย์ ถ้าสาวกทั้งหลายจะพึงสักการะเคารพเรา ด้วยเข้าใจว่า พระสมณโคดมเป็นผู้สงัดและทรงสรรเสริญความเป็นผู้สงัด บรรดาสาวกของเราที่ถืออยู่ป่าเป็นวัตรก็จะไม่เคารพสักการะเรา

“ ดูก่อนอุทายี มีธรรม ๕ ประการอย่างอื่นอันเป็นเหตุให้สาวกทั้งหลายของเราสักการะเคารพเรา ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน?

“ ดูก่อนอุทายี สาวกทั้งหลายของเราในธรรมวินัยนี้ ย่อมสรรเสริญในพระอธิศีลว่า พระสมณโคดมเป็นผู้มีศีล ประกอบด้วยศีลขันธ์อย่างยิ่ง

“ ดูก่อนอุทายี อีกประการหนึ่ง สาวกทั้งหลายของเรา ย่อมสรรเสริญในเพราะความรู้ความเห็นที่แท้จริงว่า พระสมณโคดมเมื่อทรงรู้เองก็ตรัสว่ารู้ เมื่อทรงเห็นเองก็ตรัสว่าเห็น ทรงแสดงธรรมเพื่อความรู้ยิ่ง มิใช่ทรงแสดงธรรมเพื่อความไม่รู้ยิ่ง ทรงแสดงธรรมมีเหตุ มิใช่ทรงแสดงไม่มีเหตุ ทรงแสดงธรรมมีความอัศจรรย์ มิใช่ทรงแสดงไม่มีความอัศจรรย์ สาวกทั้งหลายของเรา

“ ดูก่อนอุทายี อีกประการหนึ่ง สาวกทั้งหลายของเรา
ย่อมสรรเสริญในพระปัญญาอันยิ่งว่า พระสมณโคดมทรงมีพระปัญญา ทรงประกอบด้วยปัญญาขันธ์อย่างยิ่ง 

“ ดูกรอุทายี อีกประการหนึ่ง สาวกทั้งหลายของเราผู้อันทุกข์ท่วมทับแล้ว อันทุกข์ครอบงำแล้ว เพราะทุกข์ใด เธอเหล่านั้นเข้ามาหาเราแล้ว ถามถึงทุกขอริยสัจ เราอันเธอเหล่านั้น ถามถึงทุกขอริยสัจแล้วก็พยากรณ์ให้ยังจิตของเธอเหล่านั้นให้ยินดี ด้วยการพยากรณ์ปัญหา เธอเหล่านั้นเข้ามาหาเรา แล้วถามถึงทุกขอริยสัจ ถามถึงทุกขสมุทัยอริยสัจ ถามถึงทุกขนิโรธอริยสัจ ถามถึงทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เราอันเธอเหล่านั้นถามถึงก็พยากรณ์ให้ยังจิตของเธอเหล่านั้นให้ยินดี ด้วยการพยากรณ์ปัญหา

“ ดูก่อนอุทายี อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทาแก่สาวกทั้งหลายแล้วสาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามแล้ว ย่อมเจริญสติปัฏฐาน ๔, สัมมัปปธาน ๔, อิทธิบาท ๔, อินทรีย์ ๕, พละ ๕, โพชฌงค์ ๗, อริยมรรคมีองค์ ๘, วิโมกข์ ๘, อภิภายตนะ ๘, กสิณายตนะ ๑๐, ณาน ๔

“ ดูก่อนอุทายี ธรรมห้าประการนี้แล เป็นเหตุให้สาวกทั้งหลายของเราสักการะ เคารพ นับถือ บูชาแล้วพึ่งเราอยู่”

มหาสกุลุทายิสูตร


วันจันทร์

พระพุทธดำรัส (๓)

  🙏 พระพุทธดำรัส 🙏


🔅 กินเนื้อสัตว์บาปหรือไม่
ปัญหา มีพุทธศาสนิกชนบางพวกเห็นว่า การกินเนื้อสัตว์เป็นบาปเพราะเป็นการส่งเสริมให้คนอื่นฆ่า ในเรื่องนี้พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าอย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนชีวก เรากล่าวเนื้อว่าไม่ควรเป็นของบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ
๑. เนื้อที่ตนเห็น
๒. เนื้อที่ตนได้ยิน
๓. เนื้อที่ตนรังเกียจ
ดูก่อนชีวก เรากล่าวเนื้อว่า เป็นของไม่ควรบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการนี้แล ดูก่อนชีวก เรากล่าวเนื้อว่าเป็นของควรบริโภค ด้วยเหตุ ๓ ประการคือ
๑. เนื้อที่ตนไม่ได้เห็น
๒. เนื้อที่ตนไม่ได้ยิน
๓. เนื้อที่ตนไม่ได้รังเกียจ
ดูก่อนชีวก เรากล่าวเนื้อว่า เป็นของบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการนี้แล”


ชีวกสูตร

🔅 ความสำคัญของจิตใจ
ปัญหา มีบางคนกล่าวว่า ในบรรดาการกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจนั้น การกระทำทางกายสำคัญที่สุด เพราะก่อให้เกิดผลเห็นได้ชัด เช่น ฆ่าเขาตายด้วยกาย ย่อมมีผลเสียหายมากกว่ากล่าวอาฆาตด้วยวาจา และการคิดจะฆ่าด้วยใจ พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างไรในเรื่องนี้?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนตัปสสี บรรดากรรมทั้ง ๓ ประการ ที่จำแนกออกแล้วเป็นส่วนละอย่างต่างกันเหล่านี้ เราบัญญัติมโนกรรมว่ามีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม เราจะบัญญัติกายกรรมวจีกรรมว่ามีโทษมากเหมือนมโนกรรมหามิได้” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเช่นนี้แล้ว อุบาลีคฤหบดีผู้เป็นสาวกของนิครนถนาฏบุตรก็ยังยืนยันอยู่นั่นเองว่า กายกรรมมีโทษมากกว่า พระผู้มีพระภาคจึงตรัสต่อไปว่า “ดูก่อนคฤหบดี ท่านจะสำคัญในความข้อนั้นเป็นไฉน นิครนถ์ในโลกนี้เป็นคนอาพาธ มีทุกข์ เป็นไข้หนัก ห้ามน้ำเย็น ดื่มแต่น้ำร้อน เมื่อเขาไม่ได้น้ำเย็นจะต้องตาย ดูก่อนคฤหบดี ก็นิครนถนาฏบุตรบัญญัติความเกิดของนิครนถ์ผู้นี้ ณ ที่ไหนเล่า?”

อุบาลีคฤหบดี “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เทวดาชื่อว่ามโนสัตว์มีอยู่นิครนถ์นั้นย่อมเกิดในเทวดาจำพวกนั้น เพราะนิครนถ์ผู้นั้นเป็นผู้มีใจเกาะเกี่ยวทำกาละ” ก็เป็นอันว่า อุบาลีคฤหบดีย่อมรับว่ามโนกรรมสำคัญกว่า แต่เขายังยืนยันต่อไปว่า กายกรรมสำคัญกว่า พระผู้มีพระภาคจึงตรัสต่อไปว่า “ดูก่อนคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน นิครนถ์ในโลกนี้ พึงเป็นผู้สำรวมด้วยการสังวรโดยส่วน ๔ คือ ห้ามน้ำทั้งปวง ประกอบด้วยการห้ามบาปทั้งปวง กำจัดบาปด้วยการห้ามบาปทั้งปวง อันการห้ามบาปทั้งปวงถูกต้องแล้ว เมื่อเขาก้าวไป ถอยกลับ ย่อมถึงการฆ่าสัตว์ตัวเล็กๆ เป็นอันมากดูก่อนคฤหบดี นิครนถนาฏบุตรบัญญัติ วิบากเช่นไรแก่นิครนถ์ผู้นี้?”

อุบาลี “ข้าแต่พระองค์ผู้ เจริญ นิครนถนาฏบุตรมิได้บัญญัติกรรม อันเป็นไปโดยไม่เจาะจงว่ามีโทษมากเลย” พระผู้มีพระภาค “ดูก่อนคฤหบดี ก็ถ้าจงใจเล่า?” อุบาลี “ เป็นกรรมมีโทษมาก” พระผู้มีพระภาค “ก็นิครนถนาฏบุตรเจตนาลงในสวนไหน?” อุบาลี “นิครนถนาฏบุตรบัญญัติเจตนาลงในส่วนมโนทัณฑะ” (มโนกรรม) ก็เป็นอันว่า อุบาลีคฤหบดี ยอมรับด้วยถ้อยคำของตนเองว่ามโนกรรมสำคัญกว่า แต่ก็ยังยืนยันว่ากายกรรมสำคัญกว่าต่อไปอีก พระผู้มีพระภาคจึงตรัสต่อไปว่า “ดูก่อนคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บ้านนาฬันทานี้ เป็นบ้านมั่งคั่งเป็นบ้านเจริญ มีชนมาก มีมนุษย์เกลื่อนกล่น.... พึงมีบุรุษคนหนึ่งเงื้อดาบมา เขาพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เขาจักทำสัตว์เท่าที่มีอยู่ในบ้านนาฬันทานี้ ให้เป็นลานเนื้ออันเดียวกัน ให้เป็นกองเนื้ออันเดียวกัน โดยขณะหนึ่ง โดยครู่หนึ่ง ดูก่อนคฤหบดี ท่านจักสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นจะสามารถทำสัตว์เท่าที่มีอยู่ในหมู่บ้านนาฬันทานี้ให้เป็นลานเนื้อันเดียวกันได้หรือ?”

เมื่ออุบาลีทูลว่า ทำไม่ได้ พระพุทธองค์จึงตรัสต่อไปว่า “ดูก่อนคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ถึงความเป็นผู้ชำนาญในทางจิต พึงมาในบ้านนาฬันทานี้.... พึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราจักทำบ้านนาฬันทานี้ให้เป็นเถ้า ด้วยจิตคิดประทุษร้ายดวงเดียว ดูก่อนคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์นั้น จะสามารถทำบ้านนาฬันทานี้ให้เป็นเถ้า ด้วยจิตประทุษร้ายดวงหนึ่งได้หรือหนอ?” อุบาลีคฤหบดียอมรับว่าทำได้ ซึ่งแสดงให้เป็นว่ามโนกรรมสำคัญกว่าแต่ก็ยังยืนยันต่อไปว่ากายกรรมสำคัญกว่า พระผู้มีพระภาคจึงตรัสต่อไปว่า  “ดูก่อนคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ป่าทัณฑดี ป่ากาลิคะ ป่ามาตังคะ เกิดเป็นป่าไปท่านได้ฟังมาแล้วหรือ? อุบาลี “ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้ว” พระผู้มีพระภาค “ท่านได้ฟังมาว่าอย่างไร เกิดเป็นป่าไปเพราะเหตุไร?” อุบาลี “เพราะใจประทุษร้าย อันพวกเทวดาทำเพื่อฤาษี” ในที่สุด อุบาลีคฤหบดีก็ยอมรับว่ามโนกรรมสำคัญกว่า และประกาศตนเป็นสาวกของพระบรมศาสดา

อุปาลิวาทสูตร 

🔅 พุทธปฏิภาณ
ปัญหา ทุกครั้งที่มีผู้มาถามปัญหาธรรมกับพระพุทธเจ้า ปรากฏว่าพระองค์ทรงตอบปัญหานั้น ๆ ได้อย่างแจ่มแจ้งทันที อยากทราบว่าพระพุทธองค์ทรงทราบปัญหานั้นด้วยญาณแล้วคิดคำตอบไว้ล่วงหน้า หรือทรงตอบปัญหานั้นๆ ในขณะนั้นนั่นเอง?


พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนราชกุมาร ถ้าอย่างนั้นในข้อนี้ อาตมาภาพจักกลับถามพระองค์บ้าง ข้อนี้ควรแก่พระองค์อย่างใด พระองค์พึงพยากรณ์ข้อนั้นอย่างนั้น  พระองค์เป็นผู้ฉลาดในส่วนน้อยใหญ่ของรถหรือ ?”
อภยราชกุมาร “หม่อมฉันเป็นผู้ฉลาดในส่วนน้อยใหญ่ของรถ”
พระผู้มีพระภาค “ชนทั้งหลายเข้าไปเฝ้าพระองค์แล้ว พึงทูลถามอย่างนี้ว่า ส่วนน้อยใหญ่ของรถอันนี้ชื่ออะไร การพยากรณ์ปัญหาของชนเหล่านั้น พระองค์พึงตรึกด้วยใจไว้ก่อนว่า ชนทั้งหลายเข้ามาหาเราแล้วจักถามอย่างนี้เราอันชนเหล่านั้นถามอย่างนี้ จักพยากรณ์อย่างนี้ หรือว่าการพยากรณ์อย่างนั้น พึงแจ่มแจ้งกะพระองค์โดยทันที ?”
อภยราชกุมาร “เพราะหม่อมฉันเป็นทหารรถรู้จักดี ฉลาดในส่วนน้อยใหญ่ของรถ ส่วนน้อยใหญ่ของรถทั้งหมด หม่อมฉันทราบดีแล้ว ฉะนั้นการพยากรณ์ปัญหานั้น แจ่มแจ้งแก่หม่อมฉันโดยทันทีทีเดียว”
พระผู้มีพระภาค “ฉันนั้นเหมือนกันแล ราชกุมาร กษัตริย์ผู้บัณฑิตก็ดี พราหมณ์ผู้บัณฑิตก็ดี คฤหบดีผู้บัญฑิตก็ดี ผูกปัญหาแล้งจักเข้ามาถามตถาคต การพยากรณ์ปัญหานั้นย่อมแจ่มแจ้งตถาคตทันที ข้อนั้นเพราเหตุไร เพราะความที่ธรรมธาตุนั้น ตถาคตแทงตลอดดีแล้ว การพยากรณ์ปัญหานั้น จึงแจ่มแจ้งแก่ตถาคตโดยทันที”

อภยราชกุมารสูตร

🔅 ความสุขระดับต่างๆ
ปัญหา ทางพระพุทธศาสนาจัดแบ่งความสุขออกเป็นระดับต่างๆ อย่างไรบ้าง?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนอานนท์ 👉กามคุณ ๕ นี้เป็นไฉน คือรูปอันจะพึงรู้ด้วยจักษุ..... เสียงอันจะพึงรู้ด้วยโสต.... กลิ่นอันจะถึงรู้ด้วยฆานะ... รสอันจะพึงรู้ด้วยชิวหา... โผฏฐัพพะอันจะพึงรู้ด้วยกาย อันสัตว์ปรารถนาใคร่พอใจเป็นที่รัก ประกอบด้วยกามเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ดูก่อนอานนท์นี้แลกามคุณ ๕ สุขโสมนัสอันใด ย่อมเกิดขึ้นเพราะอาศัยกามคุณ ๕ นี้ สุขและโสมนัสนี้ เรากล่าวว่ากามสุข” “ดูก่อนอานนท์ เราไม่ยอมรับรู้ถ้อยคำของผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัส มีกามสุขนี้เป็นอย่างยิ่ง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะสุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้ยังมีอยู่

“ดูก่อนอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่า สุขนี้เป็นไฉน.... ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร ปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้.....
“ดูก่อนอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่า และประณีตกว่าสุขนี้ยังมีอยู่.... สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่า สุขนี้เป็นไฉน ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตใจภายในเป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร เพราะวิตก วิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่นี้แลอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้....“ดูก่อนอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั้นเป็นไฉน ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยทั้งหลายสรรเสริญกว่าผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข นั้นแล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้.....“ดูก่อนอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั้นเป็นไฉน ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุ จตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัสและโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์ นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้....“ดูก่อนอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั้นเป็นไฉน.... ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุวิญญาณัญจายตนฌาน ด้วยมนสิการว่าวิญญาณไม่มีที่สิ้นสุด เพราะล่วงอากาสานัญจายตนะได้โดยประการทั้งปวงอยู่ นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้....“ดูก่อนอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั้นเป็นไฉน.... ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ บรรลุอากิญจัญญายตนฌาน ด้วยมนสิการว่า หน่อยหนึ่งไม่มีเพราะล่วงวิญญาณัญจายตนะได้โดยประการทั้งปวงอยู่นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้....“ดูก่อนอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั้นเป็นไฉน.... ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ บรรลุเนวสัญญานาสัญญาตนฌาน เพราะล่วงอากิญจัญญายตนะได้ โดยประการทั้งปวงอยู่ นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้....“ดูก่อนอานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั้นเป็นไฉน.... ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญาตนะได้ โดยประการทั้งปวงอยู่นี้แล อานนท์ สุขอื่นที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนี้.....อธิบาย 👉  ระดับชั้นของสุข เพิ่มเติม

พหุเวทนิยสูตร

🔅 โลกหน้ามีจริงหรือไม่
ปัญหา ปัญหาใหญ่ที่คนถกเถียงกันอยู่เสมอ ก็คือปัญหาที่ว่าโลกหน้าที่มนุษย์จะไปเกิดหลักจากตายแล้วมีจริงหรือไม่? ในเรื่องนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้อย่างไรบ้าง?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์สองพวกนั้น สมณพราหมณ์ที่มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่าทานที่ให้แล้วไม่มีผล การบวงสรวงไม่มีผล การบูชาไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่วแล้วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี อุปปาติกสัตว์ไม่มี สมณพราหมณ์ที่ไปโดยชอบ ปฏิบัติโดยชอบ ทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว ประกาศให้รู้ทั่ว ไม่มีในโลกดังนี้ เป็นอันหวังข้อนี้ได้คือ จักเว้นกุศลธรรม ๓ ประการ นี้ คือ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต จักสมาทานอกุศลธรรม ๓ ประการ นี้ คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต แล้วประพฤติข้อนั้น

เพราะเหตุไร เพราะท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้น ไม่เห็นอานิสงส์ในเนกขัมมะ อันเป็นคุณฝ่ายขาวแห่งกุศลธรรมว่าโลกหน้าที่อยู่จริง ความเห็นของผู้นั้นว่าไม่มี
ความเห็นของเขานั้นเป็นมิจฉาทิฐิ ก็โลกหน้ามีอยู่จริง แต่เขาดำริว่าโลกหน้าไม่มี ความดำริของเขานั้นเป็นมิจฉาสังกัปปะ ก็โลกหน้ามีอยู่จริง แต่เขากล่าวว่าโลกหน้าไม่มี วาจาของเขานั้นเป็นมิจฉาวาจา ผู้นี้ย่อมทำตนเป็นข้าศึกต่อพระอรหันต์ ผู้รู้แจ้งโลกหน้า ก็โลกหน้ามีอยู่จริง เขายังให้ผู้อื่นเข้าใจว่า โลกหน้าไม่มี การให้ผู้อื่นเข้าใจของเขานั้นเป็นการให้เข้าใจผิดโดยไม่ชอบธรรม และเขายังจะยกตนข่มผู้อื่น ด้วยการให้ผู้อื่นเข้าใจผิด ไม่ชอบธรรมนั้นด้วย เขาละคุณคือ ความเป็นคนมีศีลแล้ว ตั้งไว้เฉพาะแต่ส่วนโทษ คือความเป็นคนทุศีลไว้ก่อนเทียว ด้วยประการฉะนี้ อกุศลธรรมอันลามกเป็นอเนกเหล่านี้ คือ มิจฉาทิฐิ มิฉาสังกัปปะ มิจาวาจา ความเป็นข้าศึกต่อพระอริยะ การให้ผู้อื่นเข้าใจผิดโดยไม่ชอบธรรม การยกตน การข่มผู้อื่น ย่อมมีเพราะมิจฉาทิฐิเป็นปัจจัยด้วยประการฉะนี้ ฯ”

อปัณณกสูตร

🔅 ก่อนทำ พูด คิด ควรทำอย่างไร
ปัญหา ก่อนแต่จะทำ จะพูด จะคิดก็ดี ขณะที่กำลังทำ กำลังพูด กำลังคิดอยู่ก็ดี พระผู้มีพระภาคทรงแนะนำไว้อย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนราหุล เธอปรารถนาจะทำกรรมใด ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ เธอพึงพิจารณาเสียก่อนว่า เราปรารถนาจะทำกรรมนี้ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ของเรานี้ พึงเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้งตนทั้งผู้อื่นบ้าง กายกรรม วจีกรรม  มโนกรรม นี้เป็นอกุศล มีทุกข์ เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากกระมังหนอ ดูก่อนราหุล ถ้าเมื่อเธอพิจารณาอยู่พึงรู้อย่างนี้ว่า เราปรารถนาจะทำกรรมใดด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ของเรานี้พึงเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น เพื่อเบียดเบียนทั้งตนทั้งผู้อื่น เป็นอกุศลมีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากดังนี้ไซร้ กรรมเห็นปานนี้ เธอไม่พึงทำด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ โดยส่วนเดียว

“แต่ถ้าเมื่อเธอพิจารณาอยู่พึงรู้อย่างนี้ว่า เราปรารถนาจะทำกรรมใด ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ กายกรรม  วจีกรรม มโนกรรม ของเรานี้ ไม่พึงเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน ไม่พึงเป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ไม่พึงเป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้งตนทั้งผู้อื่น เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบากดังนี้ไซร้ กรรมเห็นปานนี้ เธอพึงทำด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ

จุฬราหุโลวาทสูตร

🔅 อนิสงส์การเจริญภาวนา
ปัญหา การอยู่ในโลกอันเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวายนี้ บุคคลจะต้องได้รับการอบรมจิตพอสมควรจึงจะอยู่ได้อย่างสงบสุข พระผู้มีพระภาคทรงแนะวิธีอบรมจิตไว้อย่างไรบ้าง?

พุทธดำรัสตอบ “ ดูก่อนราหุล เธอจงเจริญภาวนา (อบรมจิต) เสมอด้วยแผ่นดินเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้ ดูก่อนราหุล เปรียบเหมือนคนทั้งหลายทิ้งของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ลงที่แผ่นดิน แผ่นดินจะอึดอัด หรือระอา หรือเกลียดด้วยของนั้น ก็หาไม่ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินนั้น ฉันนั้นแล”

“ดูก่อนราหุล เธอจงเจริญภาวนาด้วยน้ำเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยน้ำอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้ เปรียบเหมือนคนทั้งหลายล้างของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง ลงในน้ำ น้ำจะอึดอัด หรือระอา หรือเกลียดด้วยของนั้น ก็หาไม่”

“ดูก่อนราหุล เธอจงเจริญภาวนาด้วยลมเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยลมอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตของเธอได้ เปรียบเหมือนลม ย่อมพัดต้องของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง ลมจะอึดอัด หรือระอา หรือเกลียดด้วยของนั้น ก็หาไม่ ”

“ดูก่อนราหุล เธอจงเจริญภาวนาด้วยอากาศเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้ เปรียบเหมือนอากาศไม่ตั้งอยู่ในที่ไหนๆ ”

“ดูก่อนราหุล เธอจงเจริญเมตตาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญเมตตาภาวนาอยู่ จักละพยาบาท (ความคิดจองล้าง) ได้ เธอจงเจริญกรุณาภาวนาเถิดเพราะเธอเมื่อเจริญกรุณาภาวนาอยู่ จักละวิหิงสา (ความคิดเบียดเบียน) ได้เธอจงเจริญมุทิตาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญมุทิตาภาวนาอยู่ จักละอรติ (ความอิจฉาตาร้อน) ได้ เธอจงเจริญอุเบกขาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญอุเบกขาภาวนาอยู่ จักละปฏิฆะ (ความขุ่นเคือง) ได้ เธอจงเจริญอสุภภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญอสุภภาวนาอยู่ จักละราคะ (ความกำหนัดยินดี) ได้เธอจงเจริญอนิจจสัญญาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญอนิจจสัญญาภาวนาอยู่จักละอัสมิมานะ (ความถือตัวว่าเป็นเรา) ได้”

มหาราหุโลวาทสูตร

🔅 ปัญหาที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงตอบ
ปัญหา ได้ทราบว่ามีปัญหาบางประเภทที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงตอบปัญหาดังกล่าวนั้นมีอะไรบ้าง? และเพราะเหตุไรพระพุทธองค์ไม่ทรงตอบ?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนมาลุงกยบุตร เธอทั้งหลายจงจำปัญหาที่เราไม่พยากรณ์ และจงจำปัญหาที่เราพยากรณ์ อะไรเล่าที่เราไม่พยากรณ์ ดูก่อนมาลุงกยบุตร ทิฐิว่า โลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มีไม่มีอยู่ก็มี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็หามิได้ ไม่มีอยู่ก็หามิได้ ดังนี้เราไม่พยากรณ์ ก็เพราะเหตุไร ข้อนั้นเราจึงไม่พยากรณ์ เพราะข้อนั้นไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อความหน่ายเพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ดูก่อน มาลุงกยบุตร เหตุนั้น เราจึงไม่พยากรณ์ข้อนั้น”

“ดูก่อนมาลุงกยบุตร อะไรเล่าที่เราพยากรณ์ ดูก่อนมาลุงกยบุตร ความเห็นว่านี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ดังนี้เราพยากรณ์ ก็เพราะเหตุไรเราจึงพยากรณ์ข้อนั้น เพราะข้อนั้นประกอบด้วยประโยชน์เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ เป็นไปเพื่อความหน่ายเพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เหตุนั้น เราจึงพยากรณ์ข้อนั้น”

“ดูก่อนมาลุงกยบุตร บุคคลใดแลจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคจักไม่ทรงพยากรณ์แก่เราเพียงใด เราจักไม่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพียงนั้น (ทิฎฐิ ๑๐ ประการ) ตถาคตไม่พึงพยากรณ์ข้อนั้นเลยและบุคคลนั้นพึงทำกาละ (ตาย) ไปโดยแท้ ดูก่อนมาลุงกยบุตร เปรียบเหมือนบุรุษต้องศรอาบยาพิษที่ฉาบทาไว้หนา มิตรอมาตย์ญาติสาโลหิตของบุรุษนั้น พึงไปหานายแพทย์ผู้ชำนาญในการผ่าตัดมาผ่า บุรุษผู้ต้องศรนั้นพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เรายังไม่รู้จักบุรุษผู้ยิงเรานั้นว่า เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ หรือศูทร มีชื่อว่าอย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ สูงต่ำหรือปานกลาง ดำขาวหรือผิวสองสี อยู่บ้าน นิคมหรือนครโน้นเพียงใด เราจักไม่นำลูกศรนี้ออกเพียงนั้น บุรุษผู้ต้องศรนั้นพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เรายังไม่รู้จักธนูที่ใช้ยิงเรานั้นเป็นชนิดมีแร่หรือเกาทัณฑ์ สายที่ยิงเรานั้นเป็นสายทำด้วยปอ ผิวไม้ ไผ่ เอ็น ป่าน หรือเยื่อไม้ ลูกธนูที่ยิงเรานั้น ทำด้วยไม้ที่เกิดเองหรือไม้ปลูก ทางเกาทัณฑ์ที่ยิงเรานั้นเขาเสียบด้วยขนปีกนกแร้ง นกตะกรุม เหยี่ยว นกยูง หรือนกชื่อว่าสิถิลหนุ (คางหย่อน) เกาทัณฑ์นั้นเขาพันด้วยเอ็นวัว ควาย ค่าง หรือลิง ลูกธนูชนิดที่ยิงเรานั้นเป็นชนิดอะไร ดังนี้เพียงใด เราจักไม่นำลูกศรนี้ออกเพียงนั้น

 ดูก่อนมาลุงกยบุตร บุรุษนั้นพึงรู้ข้อนั้นไม่ได้เลย โดยที่แท้บุรุษนั้นพึงทำกาละไปฉันใด ดูก่อนมาลุงกยบุตร บุคคลใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคจักไม่ทรงพยากรณ์ทิฐิ ๑๐ นั้น ฯลฯ แก่เราเพียงใด เราจักไม่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพียงนั้น ข้อนั้นตถาคตไม่พยากรณ์เลย โดยที่แท้บุคคลนั้นพึงทำกาละไป ฉันนั้น”

จูฬมาลุงโกยวาทสูตร


วันศุกร์

พระพุทธดำรัส (๒)

 🙏 พระพุทธดำรัส 🙏


🔅 วิธีปฏิบัติเมื่อถูกด่าว่า

ปัญหา เมื่อเราถูกด่าว่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย เราควรจะปฏิบัติอย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางแห่งถ้อยคำที่บุคคลอื่นจะพึงกล่าวกะท่านมีอยู่ ๕ ประการ คือ 
๑. พูดตามกาลอันสมควรหรือไม่สมควร
๒. พูดเรื่องที่เป็นจริงหรือไม่เป็นจริง
๓. พูดคำที่อ่อนหวานหรือหยาบคาย
๔. พูดคำที่มีประโยชน์หรือไร้ประโยชน์
๕. มีเมตตาจิตพูดหรือมีโทสะพูด

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลอื่นจะกล่าวโดยกาลอันสมควรหรือไม่สมควรก็ตาม จะกล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริงก็ตาม จะกล่าวด้วยคำอ่อนหวานหรือคำหยาบคายก็ตาม จะกล่าวถ้อยคำประกอบด้วยประโยชน์หรือไม่ประกอบด้วยประโยชน์ก็ตาม จะมีจิตเมตตาหรือมีโทสะภายในกล่าวก็ตาม ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ในข้อนั้น พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แปรปรวน เราจักไม่เปล่งวาจาลามก เราจักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งอันเป็นประโยชน์ เราจักมีจิตเมตตา ไม่มีโทสะในภายในเราจักแผ่เมตตาจิตไปถึงบุคคลนั้น และจักแผ่เมตตาจิตอันไพบูลย์ ใหญ่ยิ่งหาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาทไปตลอดโลก ทุกทิศทุกทางซึ่งเป็นอารมณ์ของจิตนั้นดังนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเธอทั้งหลายพึงศึกษาด้วยอาการดังที่กล่าวมานี้แลฯ ”

กกจูปมสูตร


🔅 
มนุษย์ไปเกิดเป็นสัตว์ได้
ปัญหา ตามหลักวิวัฒนาการ มนุษย์เจริญมาจากสัตว์ และจะกลับไปเห็นสัตว์ไม่ได้อีก ทางพระพุทธศาสนามีทรรศนะในเรื่องนี้อย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนสารีบุตร เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจว่า บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และชั้นสู่หนทางนั้นจักเข้าถึงกำเนิดดิรัจฉาน โดยสมัยต่อมา เราเห็นบุคคลนั้นเบื้องหน้า แต่ตายเพราะกายแตก เข้าถึงแล้วซึ่งกำเนิดดิรัจฉาน เสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้า เผ็ดร้อนด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์.... เปรียบเหมือนหลุมคูถลึกยิ่งกว่าชั่วบุรุษ เต็มไปด้วยคูถ ลำดับนั้น บุรุษผู้มีตัวอันความร้อนแผดเผาครอบงำเหน็ดเหนื่อย.... มุ่งมาสู่หลุมคูถนั้นแหละ โดยหนทางสายเดียว บุรุษผู้มีจักษุเห็นเขาแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า บุรุษผู้มีจักษุนั้น พึงเห็นเขาตกลงในหลุมคูถนั้น เสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้าฉันใด ดูก่อนสารีบุตร เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจ ฉันนั้นเหมือนกันแลฯ ”

มหาสีนหนาทสูตร

🔅 หลักความเชื่อในพระพุทธศาสนา
ปัญหา ได้ทราบว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา สอนให้ใช้ปัญญาพิจารณาก่อนจึงเชื่อ แต่อยากทราบว่ามีหลักอะไรบ้างในพระพุทธศาสนาที่พุทธศาสนิกชนจะต้องเชื่อ ? และถ้าไม่เชื่อจะมีผลอย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ สงสัยเคลือบแคลง ไม่ปลงใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในพระศาสดา.... ในพระธรรม.... ในพระสงฆ์ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตของภิกษุที่สงสัย เคลือบแคลง ไม่ปลงใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในพระศาสดา .... ในพระธรรม..... ในพระสงฆ์นั้น ย่อมไม่น้อมไปเพื่อความเพียรเครื่องเผากิเลส เพื่อประกอบเนืองๆ เพื่อความทำติดต่อเพื่อความเพียรที่ตั้งมั่น ข้อที่จิตของภิกษุไม่น้อมไปเพื่อความเพียรเครื่องเผากิเลส เพื่อความประกอบเนืองๆ เพื่อความทำติดต่อ เพื่อความเพียรที่ตั้งมั่นอย่างนี้ ชื่อว่าตะปูตรึงใจ....ฯ ”

เจโตขีลสูตร

🔅 พระพุทธศาสนากับการอยู่ป่า
ปัญหา ในที่มาหลายแห่ง พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญการอยู่ป่า ทรงแนะนำให้ภิกษุอยู่ป่า แต่ว่าภิกษุควรจะอยู่ป่าเสมอไปหรือ ? หรือว่ามีข้อยกเว้นอะไรบ้าง?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมเข้าไปอาศัยป่าชัฏแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ เมื่อเธอเข้าไปอาศัยป่าชัฏนั้นอยู่ สติที่ยังไม่ปรากฏก็ไม่ปรากฏ จิตที่ยังไม่ตั้งมั่นก็ไม่ตั้งมั่น อาสวะที่ยังไม่สิ้นไป ก็ไม่พึงความสิ้นไป และภิกษุนั้นไม่ได้บรรลุธรรมอันปลอดโปร่งจากโยคะอย่างสูงที่ยังไม่บรรลุด้วย ส่วนปัจจัยเครื่องอุดหนุนชีวิต คือจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานเภสัชบริขารเหล่าใดที่บรรพชิตจำต้องนำมาบริโภค ปัจจัยเหล่านั้นย่อมเกิดขึ้นได้โดยยาก.... ดูก่อนภิกษุทั่งหลาย ภิกษุนั้นควรหลีกไปเสียจากป่าชัฏนั้น ในเวลากลางคืนหรือในเวลากลางวันก็ตาม ไม่ควรอยู่....ฯ ”

วนปัตถสูตร


🔅 เรียนไม่เป็นก็มีโทษ
ปัญหา คนทั่วไปเข้าใจว่า การเรียนธรรมเป็นของดี มีประโยชน์ แต่ถ่ายเดียว ใครจะทราบว่าการเรียนธรรมก่อให้เกิดทุกข์โทษ มีหรือไม่?


พุทธดำรัสตอบ “.....ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษเหล่าบางพวกในพระธรรม วินัยนี้ ย่อมเล่าเรียนธรรมคือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ บุรุษเหล่านั้นเล่าเรียนธรรมนั้นแล้ว ย่อมไม่ไตร่ตรอง เนื้อความแห่งธรรมเหล่านั้น ด้วยปัญญา ธรรมเหล่านั้นย่อมไม่ควรซึ่งการเพ่งแก่บุรุษเปล่าเหล่านั้น ผู้ไม่ไตร่ตรองเนื้อความด้วยปัญญา บุรุษเปล่าเหล่านั้น เป็นผู้มีความข่มผู้อื่นเป็นอานิสงส์ (เรียนเพื่อข่มผู้อื่น) และมีการเปลื้องเสียซึ่งความนินทาเป็นอานิสงส์ (เรียนเพื่อให้คนตำหนิมิได้) ย่อมเล่าเรียนธรรม ก็กุลบุตรทั้งหลายย่อมเล่าเรียนธรรมเพื่อประโยชน์อันใด บุรุษเหล่าเหล่านั้นย่อมไม่ได้เสวยประโยชน์แห่งธรรมนั้น ธรรมเหล่านั้นอันบุรุษเหล่านั้นเรียนไม่ดีแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน ข้อนั้นเป็นเพราะอะไร เพราะธรรมทั้งหลายอันตนเรียนไม่ดีแล้ว

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีความต้องการด้วยงูพิษเสาะหางูพิษ เที่ยวแสวงหางูพิษ เขาพึงพบงูพิษตัวใหญ่ พึงจับงูพิษนั้นที่ขนดหรือที่หาง งูพิษนั้นพึงแว้งกัดเขาที่มือ ที่แขน หรือที่อวัยวะใหญ่น้อยแห่งใดแห่งหนึ่ง เขาพึงถึงความตาย หรือความทุกข์ปางตาย มีการกัดนั้นเป็นเหตุข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร เพราะงูพิษตนจับไม่ดีแล้ว” 


อลคัททูปมสูตร

🔅 กุญแจสู่มรรคผลและนิพพาน
ปัญหา อะไรเป็นเครื่องมืออันสำคัญ ที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติได้ปุพเพนิวาสนุสสติญาณระลึกชาติก่อนได้ จุตูปปาตญาณ รู้จุติและอุบัติของสัตว์ ทั้งหลาย อาสวักขยญาณ รู้จักทำอาสวะให้หมดสิ้นไป?

พุทธดำรัสตอบ “ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลสอ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ย่อมโน้มน้อมจิตไป เพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ภิกษุนั้นย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก.... ย่อมโน้มน้อมจิตไป เพื่อรู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย..... ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ.... ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์นี้เหตุให้ทุกข์เกิด นี้ความดับทุกข์ นี้เหตุเกิดแห่งอาสวะ นี้ความดับอาสวะ นี้ทางปฏิบัติเพื่อความดับอาสวะ....“เมื่อภิกษุรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้น แม้จากกามาสวะ แม้จากภวสาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณว่าพ้นแล้ว ภิกษุนั้นย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีฯ ”

จูฬหัตถิปโทปมาสูตร

🔅 วิธีปฏิบัติเมื่อถูกทำร้าย
ปัญหา เมื่อภิกษุถูกเบียดเบียนทำร้าย ทางพระพุทธศาสนาสอนให้พิจารณาอย่างไร ?

พุทธสารีบุตรตอบ “.....ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากชนเหล่าอื่นจะพยายามทำร้ายภิกษุนั้น ด้วยอาการที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ คือด้วยการประหารด้วยฝ่ามือบ้าง ด้วยการประหารด้วยก้อนดินบ้าง ด้วยการประหารด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยการประหารด้วยศัสตราบ้าง ภิกษุนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า กายนี้เป็นสภาพที่เป็นไปด้วยการประหาร ด้วยฝ่ามือบ้าง ด้วยก้อนดินบ้าง.... ด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยศัสตราบ้าง อนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ในพระโอวาทอันเปรียบด้วยเลื่อยดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ว่าพวกโจรผู้มีความประพฤติต่ำช้า พึงตัดทอนอวัยวะใหญ่น้อยทั้งหลายด้วยเลื่อยอันมีด้ามสองข้างไซร้ ภิกษุผู้ที่ยังใจให้ประทุษร้ายในโจร แม้พวกนั้นย่อมไม่ชื่อว่าทำตามคำสอนของเรา..... อนึ่ง ความเพียรอันเราปรารภแล้ว จักไม่ย่อหย่อน สติอันเราตั้งไว้มั่นแล้วจักไม่หลงลืม กายอันเราให้สงบแล้ว จักไม่กระวนกระวาย จิตอันเราตั้งไว้มั่นแล้ว จักมีอารมณ์อย่างเดียว การประหารด้วยฝ่ามือ.... ด้วย ก้อนดิน.... ด้วยท่อนไม้.... ด้วยศัสตราทั้งหลาย จงเป็นไปในกายนี้เถิด คำสอนของพระพุทธเจ้า .... เราจะทำให้จงได้ดังนี้ ฯ ”

มหาหัตถิปโทปมสูตร

🔅 ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น
ปัญหา มีบางคนกล่าวว่า หัวใจของพระพุทธศาสนา คือ “ธรรมทั้งปวงที่ไม่ควรยึดมั่น” ดังนี้ พระพุทธองค์ตรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนจอมเทพ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้สดับว่า ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น ถ้าข้อนั้นภิกษุได้สดับแล้ว ภิกษุนั้นย่อมทราบชัดธรรมทั้งปวงด้วยปัญญาอันยิ่ง ครั้นทราบชัดธรรมทั้งปวงด้วยปัญญาอันยิ่งแล้ว ย่อมกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง ครั้นกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงแล้ว เธอได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ดี เธอย่อมพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง พิจารณาเห็นความหน่าย พิจารณาเห็นความดับ พิจารณาเห็นความสละคืนในเวทนาทั้งหลายนั้น เมื่อพิจารณาเห็นดังนั้น ย่อมไม่ยึดมั่นสิ่งอะไรๆ ในโลก เมื่อไม่ยึดมั่นย่อมสะดุ้งหวาดหวั่น ย่อมดับกิเลสให้สงบได้เฉพาะตัว และทราบชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดูก่อนจอมเทพ กล่าวโดยย่อด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้แล ภิกษุชื่อว่าน้อมไปแล้ว ในธรรมเป็นที่สิ้นแห่งตัณหา มีความสำเร็จอันยิ่งยวด ถึงที่สุดอันยิ่งยวด เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ฯ ”

จูฬตัณหาสังขยสูตร

🔅 วิญญาณมีจริงหรือ
ปัญหา ศาสนาพราหมณ์ถือว่า ในตัวคนเรามี “วิญญาณ” อันถาวรซึ่งเป็นตัวตนแท้ เป็นผู้พูด ผู้ทำ ผู้รู้ ผู้เสวยผลกรรม ผู้เกิดในภพใหม่ ในเรื่องนี้ พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้อย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนโมฆบุรุษ เธอรู้ธรรมอย่างนี้ที่เราแสดงแก่ใครเล่า ดูก่อนโมฆบุรุษ วิญญาณอาศัยปัจจัยประชุมกันเกิดขึ้น เรากล่าวโดยปริยายเห็นอเนกมิใช่หรือ ความเกิดแห่งวิญญาณ เว้นจากปัจจัยมิได้มี ดูก่อนโมฆบุรุษ ก็เมื่อเป็นดังนั้น เธอกล่าวตู่เราด้วย ขุดตนเสียด้วย จะประสบบาปมิใช่บุญมากด้วย เพราะทิฐิที่ตนถือชั่วแล้ว ดูก่อนโมฆบุรุษ ความเห็นของเธอจักเป็นไปเพื่อโทษไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วิญญาณอาศัยปัจจัยใดๆ เกิดขึ้น ก็ถึงความนับ (เรียกชื่อ) ด้วยปัจจัยนั้นๆ วิญญาณอาศัยจักษุและรูปเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่าจักขวิญญาณ วิญญาณอาศัยโสตและเสียงเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่าโสตวิญญาณ วิญญาณอาศัยฆานะ และกลิ่นเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่าฆานวิญญาณ วิญญาณอาศัยชิวหาและรสเกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่าชิวหาวิญญาณ วสิญญาณอาศัยมนะและธรรมารมณ์เกิดขึ้น ก็เรียกว่ามโนวิญญาณ เปรียบเหมือนไฟอาศัยเชื้อใดๆ ติดขึ้น ก็ถึงความนับด้วยเชื้อนั้นๆ ไฟอาศัยไม้ติดขึ้น ก็ถึงความนับว่าไฟไม้ ไฟอาศัยป่าติดขึ้น ก็ถึงความนับว่าไฟป่า ไฟอาศัยหญ้าติดขึ้น ก็ถึงความนับว่าไฟหญ้า ไฟอาศัยมูลโคติดขึ้น ก็ถือความนับว่าไฟโคมัย ไฟอาศัยแกลบติดขึ้น ก็ถึงความนับว่าไฟแกลบ ไฟอาศัยหยากเยื่อติดขึ้น ก็ถึงความนับว่าไฟหยากเยื่อ ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันและวิญญาณอาศัยปัจจัยใด ๆ เกิดขึ้น ก็ถึงความนับด้วยปัจจัยนั้นๆ ”


มหาตัณหาสังขยสูตร

🔅 ชื่อต่าง ๆ ของพระอริยบุคคล
ปัญหา พระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนาย่อมมีชื่อต่างๆ เช่น สมณะ พราหมณ์ นหาตกะ เวทคู โสตติยะ อริยะ อรหันต์ แต่ละชื่อมีความหมายอย่างไร?

พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย.... เหล่าอกุศลธรรมอันลามก อันนำให้เศร้าหมอง นำให้เกิดในภพใหม่ ให้มีความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ให้มีชาติ ชรา มรณะ ต่อไป อันภิกษุนั้นระงับเสียแล้ว อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า สมณะ” 
“.....เหล่าอกุศลธรรมอันลามกอันให้เศร้าหมอง... ให้มีชาติ ชรา มรณะ ต่อไป อันภิกษุนั้นลอยเสียแล้ว อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พราหมณ์.”
“.....เหล่าอกุศลธรรมอันลามกอันให้เศร้าหมอง... ให้มีชาติ ชรา มรณะ ต่อไป อันภิกษุนั้นอาบน้ำล้างชำระแล้ว อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า นหาตกะ.”
“.....เหล่าอกุศลธรรมอันลามกอันให้เศร้าหมอง... ให้มีชาติ ชรา มรณะ ต่อไป อันภิกษุนั้นรู้แจ้งแล้ว อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า เวทคู.”
“.....เหล่าอกุศลธรรมอันลามกอันให้เศร้าหมอง... ให้มีชาติ ชรา มรณะ ต่อไป อันภิกษุนั้นให้หลับไปหมดแล้ว อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า โสตติยะ.”
“.....เหล่าอกุศลธรรมอันลามกอันให้เศร้าหมอง... ให้มีชาติ ชรา มรณะ ต่อไป ห่างไกลจากภิกษุนั้น อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า อริยะ”
“.....เหล่าอกุศลธรรมอันลามกอันให้เศร้าหมอง... นำให้เกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติ ชรา มรณะต่อไป อันภิกษุนั้นกำจัดเสียแล้ว อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า อรหันต์....”

มหาตัณหาสังขยสูตร

🔅 ทำอย่างไรจะเข้าถึงแก่นพระศาสนา
ปัญหา ธรรมดาต้นไม้ใหญ่ย่อมมีทั้งใบอ่อน สะเก็ด เปลือก กระพี้และแก่น พระพุทธศาสนาซึ่งเปรียบเสมือนต้นไม้ใหญ่ ก็น่าจะมีเครื่องประกอบเหล่านี้อะไรคือใบอ่อน สะเก็ด เปลือก กระพี้ และแก่นของพระพุทธศาสนา?  ภิกษุในพระพุทธศาสนาควรจะปฏิบัติอย่างไร จึงจะเข้าถึงแก่นพระศาสนา?

พุทธดำรัสตอบ “...กุลบุตรบางคนในโลกนี้คิดเห็นว่าเราเป็นผู้อันความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความโศกแลความร่ำไรแลทุกข์และความเสียใจความคับแค้นทั้งหลายครอบงำแล้ว... เป็นผู้ออกจากเรือนบวชแล้ว ในธรรมวินัยด้วยศรัทธา... ครั้นบวชแล้วอย่างนั้น ให้ลาภสักการะความสรรเสริญเกิดขึ้นอยู่ เธอก็เป็นผู้มีความยินดีเต็มความดำริด้วยลาภสักการะความสรรเสริญนั้น ย่อมยกตนข่มผู้อื่น ... ว่าเราเป็นผู้มีลาภสักการะแลความสรรเสริญส่วนภิกษุเหล่าอื่นเป็นผู้ลี้ลับมีศักดานุภาพน้อย ดังนี้ เธอไม่ให้เกิดความพอใจไม่พากเพียร เพื่อทำให้แจ้งธรรมทั้งหลายอันยิ่งกว่าประณีตกว่าลาภสักการะความสรรเสริญนั้น... เรากล่าวบุคคลนี้ว่า เปรียบดังบุรุษต้องการแก่นไม้... เมื่อไปถึงต้นไม้ใหญ่ มีแก่นตั้งอยู่ กระพี้ เปลือกสะเก็ดเสีย เด็ดเอาใบอ่อนที่กิ่งด้วยเข้าใจว่าแก่นถือเอาไป กิจซึ่งควรทำด้วยแก่นไม้ของบุรุษนั้น ก็จักไม่สำเร็จประโยชน์ได้ (พอใจแค่ลาภสักการะ)

“...กุลบุตรอีกคนหนึ่ง เห็นทุกข์อย่างนั้นเหมือนกัน เป็นผู้ออกจากเรือนบวชในธรรมวินัย... ให้ลาภสักการะสรรเสริญเกิดขึ้นอยู่อย่างนั้น แต่ไม่เป็นผู้มีใจยินดีด้วยลาภสักการะสรรเสริญนั้น... เธอให้ความถึงพร้อมด้วยศีลเกิดขึ้นอยู่ ครั้นให้ความถึงพร้อมด้วยศีลเกิดขึ้นแล้ว ก็เป็นผู้มีใจยินดีเต็มความดำริด้วยความถึงพร้อมด้วยศีลนั้น ไม่พากเพียรเพื่อทำให้แจ้งธรรมทั้งหลายที่ประณีตกว่าศีล เรากล่าวบุคคลนี้ว่าเปรียบดังบุรุษต้องการแก่นไม้... เมื่อไปถึงต้นไม้ใหญ่... ล่วงแก่นกระพี้ เปลือกเสียถากเอาสะเก็ดเข้าใจว่าแก่นถือเอาไปกิจที่ควรทำด้วยแก่นไม้ ของบุรุษนั้นก็จักไม่สำเร็จประโยชน์ได้ (ถือเฉพาะศีลว่าที่สุด)

“...ผู้หนึ่งครั้นบวชแล้ว ให้ลาภสักการะความสรรเสริญเกิดขึ้นอยู่ให้ความถึงพร้อมด้วยศีล เกิดขึ้นอยู่... แต่ไม่เต็มความดำริด้วยความถึงพร้อมด้วยศีลนั้น เธอให้ความถึงพร้อมด้วยสมาธิเกิดขึ้น ครั้นให้ความถึงพร้อมด้วยสมาธิเกิดขึ้นแล้ว เธอก็มีใจยินดีเต็มความดำริด้วยความถึงพร้อมด้วยสมาธินั้น ยกตนข่มผู้อื่นเพราะความถึงพร้อมด้วยสมาธินั้น ... ไม่พากเพียรเพื่อทำให้แจ้งธรรมอื่น ซึ่งประณีตกว่าความถึงพร้อมด้วยสมาธิ เรากล่าวบุคคลนี้ว่า เปรียบดังบุรุษต้องการแก่นไม้...เมื่อไปถึงต้นไม้ใหญ่ล่วงแก่นกระพี้เสีย ถากเอาเปลือกเข้าใจว่าแก่นถือเอาไป กิจซึ่งควรทำด้วยแก่นไม้ของบุรุษนั้น ก็จักไม่สำเร็จประโยชน์ได้ (ถือเฉพาะศีลและสมาธิว่าที่สุด)

“...ผู้หนึ่งครั้นบวชแล้ว ให้ลาภสักการะความสรรเสริญเกิดขึ้นอยู่ให้ความถึงพร้อมด้วยศีล ความถึงพร้อมด้วยสมาธิเกิดขึ้นแล้ว... แต่ไม่เต็มความดำริด้วยความถึงพร้อมด้วยศีลนั้น เธอให้ญาณทัสสนะคือ ความรู้ความเห็นเกิดขึ้นได้ ครั้นให้ญาณทัสสนะเกิดขึ้นแล้ว เธอก็มีใจยินดี... ย่อมยกตนข่มผู้อื่นด้วย ญาณทัสสนะ นั้น ... ไม่พากเพียรเพื่อทำให้แจ้งธรรมทั้งหลายอื่นซึ่งประณีตกว่า... เรากล่าวบุคคลนี้ว่า เปรียบดังบุรุษต้องการแก่นไม้...เมื่อไปถึงต้นไม้ใหญ่ล่วงแก่นกระพี้เสีย ถากเอาเปลือกเข้าใจว่าแก่นถือเอาไป กิจซึ่งควรทำด้วยแก่นไม้ของบุรุษนั้น ก็จักไม่สำเร็จประโยชน์ได้ (ถือเฉพาะศีล,สมาธิ และญาณที่ตนได้ว่าที่สุด ก็เพียงแค่เปลือกเช่นเดียวกัน)

“...กุลบุตรบางคนในโลกนี้ ครั้นบวชแล้ว ให้ลาภสักการะสรรเสริญเกิดขึ้นอยู่ ... ให้ความถึงพร้อมด้วยศีลแลสมาธิแล ญาณทัสสนะเกิดขึ้นอยู่ เธอก็ไม่เป็นผู้มีใจยินดี... พากเพียรอยู่เพื่อทำให้แจ้งธรรมทั้งหลายอื่นอันประณีตกว่าญาณทัสสนะ ธรรมที่ยิ่งกว่าประณีตกว่าญาณทัสสนะเป็นไฉน “ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดแล้วจากกามทั้งหลาย สงัดแล้วจากอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุฌานที่แรก... ธรรมนี้ยิ่งกว่าประณีตกว่าญาณทัสสนะ “อีกข้อหนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้บรรลุฌานที่สาม... ได้บรรลุฌานที่สี่ ... บรรลุอากาสานัญจายตนอรูปฌาน... บรรลุวิญญาณัญจายตนอรูปฌาน...บรรลุอากิญจัญญายตนอรูปฌาน... บรรลุเนวสัญญานาสัญญานอรูปฌาน... บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ... อาสวะทั้งหลายของภิกษุนั้นสิ้นไปแล้วเพราะเห็นด้วยปัญญา แม้ธรรมนี้ก็ยิ่งกว่า ประณีตกว่าญาณทัสสนะ เรากล่าวบุคคลนี้ว่า เปรียบเหมือนบุรุษต้องการแก่นไม้... เมื่อไปถึงต้นไม้ใหญ่รู้จักว่าแก่น ตัดเอาแต่แก่นเท่านั้นถือเอาไป กิจที่ควรทำด้วยแก่นไม้ของบุรุษนั้น ก็จักสำเร็จประโยชน์ได้ ดังนี้ “พรหมจรรย์นี้มิใช่มีลาภสักการะความสรรเสริญเป็นอานิสงส์ มิใช่มีความถึงพร้อมด้วยศีลและสมาธิ แลญาณทัสสนะเป็นอานิสงค์ พรหมจรรย์นี้มีเจโตวิมุติ ความที่จิตพ้นวิเศษอันไม่กำเริบนี้แลเป็นประโยชน์ พรหมจรรย์นี้มีวิมุตินั้นเป็นแก่นสาร มีวิมุตินั้นเป็นที่สุดรอบ” (ถือเอาพระนิพพานเป็นที่สุด จึงชื่อว่าถึงแก่น)

จูฬสาโรปมสูตร 

🔅 โทษของกาม
ปัญหา พระพุทธเจ้าทรงอธิบายเปรียบเทียบความสุข อันเกิดแต่กามไว้อย่างไรบ้าง?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนคหบดี เปรียบเหมือนสุนัขอันความเพลียเพราะความหิวเบียดเบียนแล้ว พึงเข้าไปยืนอยู่ใกล้เขียงของนายโคฆาต นายโคฆาตหรือลูกมือของนายโคฆาตผู้ฉลาด พึงโยนร่างกระดูกที่เชือดชำแหละออกจนหมดเนื้อแล้วเปื้อนแต่เลือดไปยังสุนัข ฉันใด ดูก่อนคหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่าเปรียบด้วยร่างกระดูก มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง”

“ดูก่อนคหบดี เปรียบเหมือนแร้งก็ดี นกตะกรุมก็ดี เหยี่ยวก็ดี พาชิ้นเนื้อบินไป แร้งทั้งหลาย หรือนกตะรุมทั้งหลาย หรือเหยี่ยวทั้งหลายจะพึงโผเข้ารุมจิกแย่งชิ้นเนื้อนั้น ฉันใด ดูก่อนคหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบด้วยชิ้นเนื้อ มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง”

“ดูก่อนคหบดี เปรียบเหมือนบุรุษพึงถือคบเพลิงหญ้าอันไฟติดทั่วแล้ว เดินทวนลมไปฉันใด ดูก่อนคหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบด้วยคบเพลิง มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง”

“ดูก่อนคหบดี เปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิงลึกกว่าชั่วบุรุษหนึ่ง เต็มด้วยถ่านเพลิงอันปราศจากเปลว ปราศจากควัน บุรุษผู้รักชีวิต ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ พึงมา บุรุษมีกำลังสองคนช่วยกันจับแขนบุรุษนั้นข้างละคน ฉุดเข้าไปยังหลุมถ่านเพลิง ฉันใด ดูก่อนคหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิง มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง”

“ดูก่อนคหบดี เปรียบเหมือนบุรุษพึงฝันเห็นสวนอันน่ารื่นรมย์ ป่าอันน่ารื่นรมย์ ภาคพื้นอันน่ารื่นรมย์ สระโบกขรณีอันน่ารื่นรมย์ บุรุษนั้นตื่นขึ้นแล้ว ไม่พึงเห็นอะไร ฉันใด ดูก่อนคหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบด้วยความฝัน มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง”

“ดูก่อนคหบดี เปรียบเหมือนบุรุษพึงยืมโภคสมบัติ มีแก้วมณีและกุณฑลอย่างดีบรรทุกยานไป เขาแวดล้อมด้วยทรัพย์สมบัติที่ตนยืมมา พึงเดินไปภายในตลาด คนเห็นเขาเข้าแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูก่อนท่านผู้เจริญบุรุษผู้นี้มีโภคสมบัติหนอ ได้ยินว่าชนทั้งหลายผู้มีโภคสมบัติ ย่อมใช้สอยโภคสมบัติอย่างนี้ดังนี้ พวกเจ้าของพึงพบบุรุษนั้น ณ ที่ใดๆ พึงนำเอาของตนคืนไปในที่นั้นๆ ฉันใด ดูก่อนคหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบด้วยของยืม มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง”

“ดูก่อนคหบดี เปรียบเหมือนราวป่าใหญ่ที่ไม่ไกลบ้านหรือนิคม ต้นไม้ในราวป่านั้น พึงมีผลรสอร่อย ทั้งมีผลดก แต่ไม่มีผลหล่นลง ณ ภาคพื้นสักผลเดียว บุรุษผู้ต้องการผลไม้ พึงมาเที่ยวเสาะแสวงหาผลไม้ เขาแวะยังราวป่านั้น เห็นต้นไม้อันมีผลรสอร่อย มีผลดกนั้น เขาพึงคิดอย่างนี้ว่าต้นไม้นี้มีผลรสอร่อย มีผลดก แต่ไม่มีผลหล่นลง ณ ภาคพื้นสักผลเดียว แต่เรารู้เพื่อขึ้นต้นไม้ ไฉนหนอ เราพึงขึ้นต้นไม่นี้แล้วกินพออิ่ม และห่อพกไปบ้าง เราขึ้นต้นไม้นั้นแล้ว กินจนอิ่มและห่อพกไว้ ลำดับนั้นบุรุษคนที่สองต้องการผลไม้ ถือขวานอันคมเที่ยวมาเสาะแสวงหาผลไม้เขาแวะยังราวป่านั้นแล้ว เห็นต้นไม้มีผลรสอร่อย มีผลดกนั้น เขาพึงคิดอย่างนี้ว่า ต้นไม้นี้มีผลรสอร่อย แต่ไม่มีผลหล่นลง ณ ภาคพื้นสักผลเดียว และเราก็ไม่รู้เพื่อขึ้นต้นไม้ ไฉนหนอ เราพึงตัดต้นไม้นี้แค่โคนต้นแล้วกินพออิ่ม และห่อพกไปบ้าง เขาพึงตัดต้นนั้นแค่โคนต้น ฉันใด ดูก่อนคหบดี อริยสาวกก็ฉันนั้นแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า กามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เปรียบด้วยผลไม้ มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษอย่างยิ่ง”

โปตลิยสูตร
(หมายเหตุ 👉 ทำเข้าใจ คุณ โทษและความยุ่งยากในการแสวงหากามคุณ)