แสดงปัญญาเจตสิกที่ประกอบกับจิต



ในสัมมาทิฏฐิสูตร แสดงฐานะของปัญญาไว้ ๖ ประการ คือ

๑. กัมมัสสกตาสัมมาทิฏฐิ คือปัญญาที่รู้ว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรม เป็นของตน
๒. ฌานสัมมาทิฏฐิ คือปัญญาที่รู้อุบาย ในการทำใจให้สงบจากนิวรณ์ ตลอดจนปัญญาในอภิญญาจิต
๓. วิปัสสนาสัมมาทิฏฐิ คือปัญญาที่เข้าไปรู้เห็น รูป-นามว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
๔. มรรคสัมมาทิฏฐิ คือปัญญาที่ทำกิจ ในการประหารอนุสัยกิเลส โดยมีพระนิพพาน เป็นอารมณ์
๕. ผลสัมมาทิฏฐิ คือปัญญาที่เสวยผลจากการที่มรรคญาณได้ทำการประหารอนุสัยกิเลสแล้ว โดยมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ เรียกว่า “เสวยวิมุตติสุข”
๖. ปัจจเวกขณสัมมาทิฏฐิ คือปัญญาที่เกิดขึ้นภายหลังมรรคญาณผลญาณสำเร็จแล้ว เพื่อพิจารณาธรร,อย่างใดอย่างหนึ่งใน ๕ ประการคือ :- ๑) กิเลสที่ละแล้ว ๒) กิเลสที่ยังเหลืออยู่ ๓) มรรคจิต ๔) ผลจิต ๕) พระนิพพาน

🔅 สัมปโยคนัย
อารัมภบทแห่งสัมปโยคนัย

คาถาสังคหะ

เตสํ จิตฺตาวิยุตตานํ  ยถาโยคมิโต ปรํ
จิตฺตุปฺปาเทสุ ปจฺเจกํ  สมฺปโยโค ปวุจฺจติ ฯ

แปลความว่า ต่อไปนี้ จะแสดงการประกอบโดยเฉพาะของเจตสิกธรรมที่มีสภาพเกิดพร้อมกับจิต ขณะที่จิตเกิดขึ้นตามที่จะประกอบได้

อธิบาย ธรรมที่ชื่อว่า

“จิตฺตาวิยุตฺต” มีอรรถว่า “ไม่แยกกันกับจิต” ซึ่งได้แก่ เจตสิก
“จิตฺตุปฺปาท” มีอรรถว่า ความเกิดขึ้นของจิตพร้อมทั้งธรรมที่สัมปยุตด้วย ฉะนั้น สัมปโยคนัยจึงมีความหมายว่า เจตสิกแต่ละดวงนั้น ดวงหนึ่งๆ ประกอบกับจิตได้เท่าไร ได้แก่จิตอะไรบ้าง ซึ่งเป็นการยก เจตสิกเป็นประธานว่าสามารถประกอบกับจิตได้กี่ดวง

หลักเกณฑ์แห่งสัมปโยคนัย

คาถาสังคหะ

สตฺต สพฺพตฺถ ยุชฺชนุติ  ยถาโยคํ ปกิณฺณกา
จุฑฺทสากุสเลเสฺวว  โสภเณเสฺวว โสภณา ฯ

แปลความว่า สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ประกอบได้ในจิตทั้งหมดทุกดวง
ปกิณณกเจตสิก ๖ ประกอบได้ในจิตเฉพาะเท่าที่ควรประกอบได้
อกุศลเจตสิก ๑๔ ประกอบได้ในอกุศลจิต ๑๒ ดวงเท่านั้น
โสภณเจตสิก ๒๕ ประกอบได้ในโสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑ ดวง เท่านั้น

อธิบาย คาถาสังคหะนี้ เป็นการแสดงหลักเกณฑ์ของสัมปโยคนัยโดยสังเขป เพื่อเป็นหลักในการศึกษาสัมปโยคนัย โดยพิสดารต่อไป


สัมปโยคนัยแห่งอัญญสมานาเจตสิก

อัญญสมานาเจตสิก ๑๓ ดวง มีสัมปโยคะ ๗ นัยคือ :-

สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ได้แก่ ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรีย์ และมนสิการเจตสิก ประกอบได้ในจิต ๘๙ หรือ ๑๒๑ ทั้งหมดทุกดวง นับเป็น ๑ นัย
ปกิณณกเจตสิก ๖ ได้แก่ วิตก วิจาร อธิโมกข์ วิริยะ ปีติ และฉันทะ เจตสิก ประกอบได้ในจิต เฉพาะเท่าที่ควรประกอบได้ ปกิณณกเจตสิก ๖ ดวง นับเป็นสัมปโยคะ ๖ นัย

  • นัยที่ ๑ สัมปโยคของสัพพจิตสาธารณเจตสิก ๗ ดวงนั้น ประกอบได้ในจิตทั้งหมด มีความหมายชัดเจนแน่นอนอยู่แล้ว ส่วนปกิณณกเจตสิก ๖ ดวงนั้น มีคาถาสังคหะที่ ๕ และที่ ๖ แสดงความหมายได้ดังต่อไปนี้คือ :-

คาถาสังคหะ (ที่ ๕)

ฉสฏฺฐี ปญฺจปญฺญาส  เอกาทศ จ โสฬส
สตฺตติ วีสติ เจว ปกิณฺณกวิวชฺชิตา ฯ

แปลความว่า “จิตทั้งหลายที่ปกิณณกเจตสิก ๖ ประกอบไม่ได้นั้น มีจำนวนตามลำดับดังนี้คือ :- ๖๖ ดวง, ๕๕ ดวง, ๑๑ ดวง, ๑๖ ดวง, ๗๐ ดวง, ๒๐ ดวง” ซึ่งหมายความว่า

วิตกเจตสิก    ประกอบไม่ได้กับจิต    ๖๖ ดวง
วิจารเจตสิก                "                     ๕๕   "   
อธิโมกขเจตสิก          "                      ๑๑   "   
วิริยเจตสิก                  "                      ๑๖   "
ปีติเจตสิก                   "                      ๗๐   "
ฉันทเจตสิก                "                      ๒๐   " 

คาถาสังคหะ (ที่ ๖)

ปญฺจปญฺญาส ฉสฎฺจยฎ  จัสตุตติ ติสตฺตติ
เอกปญฺญาส เจกูน  สตฺตติ สปฺปกิณฺณกา ฯ

แปลความว่า “จิตทั้งหลายที่ปกิณณกเจตสิก ๖ ประกอบได้นั้น มีจำนวนตามลำดับดังนี้ คือ :- ๕๕ ดวง, ๖๖ ดวง, ๗๘ (๑๑๐) ดวง, ๗๓ (๑๐๕) ดวง, ๕๑ ดวง, ๖๙ (๑๐๑) ดวง” ซึ่งหมายความว่า

วิตกเจตสิก    ประกอบได้กับจิต        ๕๕ ดวง
วิจารเจตสิก                "                     ๖๖   "   
อธิโมกขเจตสิก          "                      ๗๘ (๑๑๐) ดวง  
วิริยเจตสิก                  "                      ๗๓ (๑๐๕)   " 
ปีติเจตสิก                   "                      ๕๑ ดวง
ฉันทเจตสิก                "                      ๖๙ (๑๐๑) ดวง

อธิบาย ปกิณณกเจตสิก ๖ ดวง ประกอบกับจิตเฉพาะที่ควรประกอบได้ดังคาถาสังคหะที่แสดงแล้วนั้นมี ๖ นัย ซึ่งจะได้แสดงการประกอบของปกิณณกเจตสิกทั้ง ๖ โดยพิสดารดังนี้


  • นัยที่ ๒ วิตกเจตสิก ประกอบกับจิตได้ ๕๕ ดวง ประกอบไม่ได้ ๖๖ ดวง

วิตกเจตสิก 
ประกอบกับจิตได้ ๕๕ ดวง คือ
- อกุศลจิต ๑๒
- อเหตุกจิต ๘ (เว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐)
- กามาวจรโสภณจิต ๒๔
- ปฐมฌานจิต ๑๑
ประกอบกับจิตไม่ได้ ๖๖ ดวง คือ
- ทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐
- ทุติยฌานจิต ๑๑
- ตติยฌานจิต ๑๑
- จตุตถฌานจิต ๑๑
- ปัญจมฌานจิต ๒๓


  • นัยที่ ๓ วิจารเจตสิก ประกอบกับจิตได้ ๖๖ ดวง ประกอบไม่ได้ ๕๕ ดวง ได้แก่ :-
วิจารเจตสิก
ประกอบกับจิตได้
 ๖๖ ดวง คือ
- อกุศลจิต ๑๒
- อเหตุกจิต ๘ (เว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐)
- กามาวจรโสภณจิต ๒๔
- ปฐมฌานจิต ๑๑
- ทุติยฌานจิต ๑๑
ประกอบกับจิตไม่ได้ ๕๕ ดวง คือ
- ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐
- ตติยฌานจิต ๑๑
- จตุตถฌานจิต ๑๑
- ปัญจมฌานจิต ๒๓


  • นัยที่ ๔ อธิโมกขเจตสิก ประกอบกับจิตได้ ๗๘ ดวง หรือ ๑๑๐ ดวง ประกอบไม่ได้ ๑๑ ดวง ได้แก่ :-
อธิโมกขเจตสิก
ประกอบกับจิตได้ ๗๘ (๑๑๐) ดวง คือ
- อกุศลจิต ๑๑ (เว้นวิจิกิจฉา ๑) 
- อเหตุกจิต ๘  (เว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐)
- กามาวจรโสภณจิต ๒๔
- มหัคคตจิต ๒๗
- โลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐
ประกอบกับจิตไม่ได้ ๕๕ ดวง คือ
- วิจิกิจฉาสัมปยุตจิต ๑
- ทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐


  • นัยที่ ๕ วิริยเจตสิก ประกอบกับจิตได้ ๗๓ ดวง หรือ ๑๐๕ ดวง ประกอบไม่ได้ ๑๖ ดวง ได้แก่ :-

วิริยเจตสิก
ประกอบกับจิตได้ ๗๓ (๑๐๕) ดวง คือ
- อกุศลจิต ๑๒
- มโนทวาราวัชชนจิต ๑
- หสิตุปาทจิต ๑
- กามาวจรโสภณจิต ๒๔
- มหัคคตจิต ๒๗
- โลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐
ประกอบกับจิตไม่ได้ ๑๖ ดวง คือ
- อเหตุกจิต ๑๖ (เว้นมโนทวาราวัชชนจิต ๑ หสิตุปาทจิต ๑)


  • นัยที่ ๖ ปีติเจตสิก ประกอบกับจิตได้ ๕๑ ดวง ประกอบไม่ได้ ๗๐ ดวง ได้แก่ :-

ปิติเจตสิก
ประกอบกับจิตได้ ๕๑ ดวง คือ
- โสมนัสโลภมูลจิต ๔ 
- โสมนัสสันตีรณจิต ๑
- โสมนัสหสิตุปาทจิต ๑
- โสมนัสกามาวจรโสภณจิต ๑๒
- ปฐมฌาณจิต ๑๑
- ทุติยฌาณจิต ๑๑
- ตติยฌาณจิต ๑๑
ประกอบกับจิตไม่ได้ ๗๐ ดวง คือ
- อุเบกขาโลภมูลจิต ๔
- โทสมูลจิต ๒
- โมหมูลจิต ๒
- อุเบกขาอเหตุกจิต ๑๔
- กายวิญญาณจิต ๒
- อุเบกขากามาวจรโสภณจิต ๑๒
- จตุตถฌานจิต ๑๑
- ปัญจมฌานจิต ๒๓


  • นัยที่ ๗ ฉันทเจตสิก ประกอบกับจิตได้ ๖๙ ดวง หรือ ๑๐๑ ดวง ประกอบไม่ได้ ๒๐ ดวง ได้แก่ :-

ฉันทเจตสิก
ประกอบกับจิตได้ ๖๙ (๑๐๑) ดวง คือ
- โลภมูลจิต ๘
- โทสมูลจิต ๒
- กามาวจรโสภณจิต ๒๔
- มหัคคตจิต ๒๗
- โลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐
ประกอบกับจิตไม่ได้ ๒๐ ดวง คือ
- โมหมูลจิต ๒
- อเหตุกจิต ๑๘

👉 ข้อสังเกต 👈 ถ้าเจตสิกดวงใดประกอบได้กับโลกุตตรจิตทั้งหมด ก็นับจิตอย่างย่อ (๘๙) ถ้าเจตสิกดวงใดประกอบกับโลกุตตรจิตไม่ได้ทั้งหมด นับจิตอย่างพิสดาร (๑๒๑)

อนึ่ง การประกอบของปกิณณกเจตสิก โดยเฉพาะวิตก วิจาร ปีติเจตสิก กับโลกุตตรจิตนั้น มุ่งหมายเอาโลกุตตรจิตของพระอริยบุคคลที่เป็นฌานลาภีเท่านั้น ถ้าพระอริยบุคคลนั้นเป็นสุกขวิปัสสก วิตก วิจาร ปีติเจตสิกย่อมประกอบได้ทั้งหมด ถ้าโลกุตตรจิตนั้นเกิดขึ้นพร้อมด้วยโสมนัสเวทนา ปีติก็ประกอบได้ด้วย ถ้าโลกุตตรจิตนั้นเกิดขึ้นพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา ปีติก็ประกอบไม่ได้

สรุปความว่า สัมปโยคแห่งอัญญสมานาเจตสิก ๑๓ ดวงนั้นมี ๗ นัย คือ :-

  • นัยที่ ๑ สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ดวง ประกอบได้กับจิตทั้งหมด
  • นัยที่ ๒ วิตกเจตสิก ประกอบกับจิตได้ ๕๕ ดวง ประกอบไม่ได้ ๖๖ ดวง
  • นัยที่ ๓ วิจารเจตสิก ประกอบกับจิตได้ ๖๖ ดวง ประกอบไม่ได้ ๕๕ ดวง
  • นัยที่ ๔ อธิโมกขเจตสิก ประกอบกับจิตได้ ๗๘ (๑๑๐) ดวง ประกอบไม่ได้ ๑๑ ดวง
  • นัยที่ ๕ วิริยเจตสิก ประกอบกับจิตได้ ๗๓ (๑๐๕) ดวง ประกอบไม่ได้ ๑๖ ดวง
  • นัยที่ ๖ ปีติเจตสิก ประกอบกับจิตได้ ๕๑ ดวง ประกอบไม่ได้ ๗๐ ดวง
  • นัยที่ ๗ ฉันทเจตสิก ประกอบกับจิตได้ ๖๙ (๑๐๑) ดวง ประกอบไม่ได้ ๒๐ ดวง


สัมปโยคนัยแห่งอกุศลเจตสิก

อกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง เมื่อกล่าวโดยสัมปโยค คือการประกอบของอกุศลเจตสิก กับอกุศลจิตนั้นมี ๕ นัย ดังแสดงในคาถาสังคหะที่ ๗ และที่ ๘ คือ :-

คาถาสังคหะ (ที่ ๗-๘)

สพฺพาปุญฺเญสุ จตฺตาโร   โลภมูเล ตโย กตา
โทสมูเลสุ จตฺตาโร   สสงฺขาเร ทฺวยนฺตถา ฯ
วิจิกิจฺฉา วิจิกิจฺฉา   จิตฺเต จาติ จตุทฺทส
ทฺวาทสากุสเลเสฺวว   สมฺปยุชชนฺติ ปญจธา ฯ

แปลความว่า “อกุศลเจตสิก ๑๔ ย่อมประกอบกับอกุศลจิตเท่านั้น” โดยจำแนกการประกอบได้เป็น ๕ นัยคือ :-

- เจตสิก ๔ ดวง ย่อมประกอบกับอกุศลจิตได้ทั้งหมด
- เจตสิก ๓ ดวง ย่อมประกอบกับโลภมูลจิต
- เจตสิก ๔ ดวง ย่อมประกอบกับโทสมูลจิต
- เจตสิก ๒ ดวง ย่อมประกอบกับสสังขาริกจิต
- วิจิกิจฉาเจตสิก ๑ ย่อมประกอบกับวิจิกิจฉาสัมปยุตจิต (โมหมูลจิต)

อธิบาย อกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง มีสัมปโยค ๕ นัยคือ :-

  • นัยที่ ๑ เจตสิก ๔ ดวง ที่ชื่อว่า “โมจตุกเจตสิก” คือ โมหะ อหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจเจตสิก ประกอบกับอกุศลจิตได้ทั้งหมด (๑๒ ดวง)
  • นัยที่ ๒ เจตสิก ๓ ดวง ที่ชื่อว่า “โลติกเจตสิก” คือ โลภะ ทิฏฐิ มานะเจตสิกนั้น
    - โลภเจตสิก ประกอบกับโลภมูลจิตได้ทั้ง ๘ ดวง
    - ทิฏฐิเจตสิก ประกอบกับโลภมูลจิตได้เฉพาะในทิฏฐิคตสัมปยุตจิต ๔ ดวง
    - มานเจตสิก ประกอบกับโลภมูลจิตได้เฉพาะในทิฏฐิคตวิปปยุตจิต ๔ ดวง
  • นัยที่ ๓ เจตสิก ๔ ดวง ที่ชื่อว่า “โทจตุกเจตสิก” คือ โทสะ อิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจเจตสิก ย่อมประกอบกับโทสมูลจิต ๒ ดวง
  • นัยที่ ๔ เจตสิก ๒ ดวง ที่ชื่อว่า “ถีทุกเจตสิก” คือ ถีนะกับมิทธเจตสิก ย่อมประกอบกับอกุศลสสังขาริกจิต ๕ ดวง ได้แก่
    - โลภมูลจิต ที่เป็นสสังขาริกจิต ๔ ดวง
    - โทสมูลจิต ที่เป็นสสังขาริกจิต ๑ ดวง
  • นัยที่ ๕ วิจิกิจฉาเจตสิก ประกอบได้ในวิจิกิจฉาสัมปยุตจิต ๑ ดวงเท่านั้น


สัมปโยคนัยแห่งโสภณเจตสิก

โสภณเจตสิก ๒๕ ดวง ย่อมประกอบกับโสภณจิตทั้งหมด ๕๙ หรือ ๙๑ ดวงเท่านั้น จำแนกการประกอบออกเป็น ๔ นัย ตามคาถาสังคหะที่ ๙ และที่ ๑๐ คือ :-

คาถาสังคหะ (ที่ ๙-๑๐)

เอกูนวีสติ ธมฺมา  ชายนฺเตกูนสฏฺฐิยํ
ตโย โสฬสจิตฺเตสุ  อฏฺฺฐวีสติยํ ทฺวยํ ฯ
ปญฺญา ปกาสิตา สตฺต  จตุตาฬีสวิเธสุปิ
สมฺปยุตตา จตุเธวํ  โสภเณเสฺวว โสภณา ฯ

แปลความว่า “โสภณเจตสิก ๒๕ ย่อมประกอบกับโสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑ ดวงเท่านั้น” โดยจำแนกการประกอบได้เป็น ๔ นัยคือ :-

- เจตสิก ๑๙ ดวง ย่อมประกอบกับจิต ๕๙ หรือ ๙๑ ดวง
- เจตสิก ๓ ดวง  ย่อมประกอบกับจิต ๑๖ หรือ ๔๘ ดวง
- เจตสิก ๒ ดวง ย่อมประกอบกับจิต ๒๘ ดวง
- ปัญญาเจตสิก ๑ ย่อมประกอบกับจิต ๔๗ หรือ ๗๙ ดวง

อธิบาย โสภณเจตสิก ๒๕ ดวงนั้น ย่อมประกอบได้เฉพาะในโสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑ ดวงเท่านั้น จะประกอบกับอโสภณจิต คืออกุศลจิตและอเหตุกจิตไม่ได้ ฉะนั้น การประกอบในโสภณจิตจึงแสดงไว้โดยสัมปโยคนัยได้ ๔ นัย คือ :-

  • นัยที่ ๑ เจตสิก ๑๙ ดวง ที่ชื่อว่า “โสภณสาธารณเจตสิก” คือ :-

สัทธาเจตสิก ๑
สติเจตสิก ๑
หิริเจตสิก ๑
โอตตัปปเจตสิก ๑
อโลภเจตสิก ๑
อโทสเจตสิก ๑
ตัตตรมัชฌัตตตา ๑
กายปัสสัทธิ จิตตปัสสัทธิ ๒
กายลหุตา จิตตลหุตา ๒
กายมุทิตา จิตตมุทุตา ๒
กายกัมมัญญตา จิตตกัมมัญญตา ๒
กายปาคุญญตา จิตตปาคุญญตา ๒
กายชุกตา จิตตุชุกตา ๒

เจตสิก ๑๙ ดวงนี้ประกอบได้กับโสภณจิตทั้งหมด ๕๙ หรือ ๙๑ ดวง คือ ขณะใดที่โสภณจิตทั้ง ๕๙ หรือ ๙๑ ดวง ดวงใดดวงหนึ่งเกิดขึ้น โสภณสาธารณเจตสิกทั้ง ๑๙ ดวง ต้องเข้าประกอบพร้อมกับจิตนั้นเสมอไม่มีเว้นเลย เจตสิกนี้จึงชื่อว่า “โสภณสาธารณเจตสิก"

  • นัยที่ ๒ เจตสิก ๓ ดวง ที่ชื่อว่า “วิรตีเจตสิก” คือ :-
สัมมาวาจาเจตสิก ๑
สัมมากัมมันตเจตสิก ๑
สัมมาอาชีวเจตสิก ๑

เจตสิก ๓ ดวงนี้ประกอบได้กับจิต ๑๖ หรือ ๔๘ ดวง ได้แก่ มหากุศลจิต ๘ โลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐ ดวงเหล่านั้น

ข้อสังเกตจากสัมปโยคนัยที่ ๒

วิรตีเจตสิกประกอบได้กับมหากุศลจิต ๘ และโลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐ นั้น เพราะวิรตีเจตสิก ๓ ดวงนี้ เมื่อประกอบกับมหากุศลจิต ย่อมเกิดขึ้นโดยการเว้นจากทุจริตกรรม เป็นการเว้นชั่วขณะหนึ่งๆ ในการรับโลกียอารมณ์เท่านั้น จึงเป็นกุศลชาติ คือ มหากุศลจิตเกิดเสมอ จะเป็นอกุศลชาติ,วิปากชาติ หรือกิริยาชาติไม่ได้ โดยเหตุนี้ วิรตีเจตสิก ๓ ดวง จึงไม่ประกอบกับมหาวิบากจิต และไม่ประกอบกับมหากิริยาจิตด้วย เพราะมหากิริยาจิตนั้นเป็นจิตของพระอรหันต์ ซึ่งเว้นจากทุจริตกรรมทั้งปวง อันมรรคจิตประหารแล้วโดยเด็ดขาด จึงไม่จำเป็นต้องมีวิรตีประกอบอีก

วิรตีเจตสิก ๓ ดวง ที่ไม่ประกอบกับมหัคคตจิตนั้น เพราะอารมณ์ของมหัคคตจิตนั้น มีกรรมฐาน ๓๐ เป็นอารมณ์ ไม่ใช่มีวิรมิตัพพวัตถุเป็นอารมณ์ เพื่อให้เกิดการเว้นจากทุจริตกรรม ฉะนั้นวิรตีเจตสิก ๓ ดวง จึงไม่ประกอบกับมหัคคตจิตทั้ง ๒๗ ดวง

วิรตีเจตสิก ๓ ดวง ที่ประกอบกับโลกุตตรจิตนั้น ย่อมเป็นโลกุตตรวิรตีมีฐานะเป็นมัคคังคเจตสิก ถ้าวิรตีเจตสิก ๓ ดวงนี้ไม่เกิด โลกุตตรจิตก็เกิดไม่ได้เพราะไม่ครบองค์แห่งมรรค ฉะนั้นการประกอบกับโลกุตตรจิตของวิรดีเจตสิกจึงต้องต่างกับโลกียวิรตีที่ประกอบกับมหากุศลจิต ย่อมประกอบได้ทีละดวง เช่น มหากุศลจิตใดเกิดขึ้นโดยเว้นจากมิจฉาวาจา ในมหากุศลจิตนั้นย่อมมีสัมมาวาจาเจตสิกประกอบ ส่วนสัมมากัมมันตะและสัมมาอาชีวเจตสิกไม่ประกอบดังนี้เป็นต้น จะประกอบพร้อมกันทั้ง ๓ ดวง อย่างโลกุตตรวิรดีที่ประกอบกับโลกุตตรจิตไม่ได้

  • นัยที่ ๓ เจตสิก ๒ ดวง ที่ชื่อว่า “อัปปมัญญาเจตสิก” คือ :-

กรุณาเจตสิก ๑
มุทิตาเจตสิก ๑

เจตสิก ๒ ดวงนี้ ประกอบได้กับจิต ๒๘ ดวง ได้แก่ มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ รูปาวจรจิต ๑๒ (เว้นรูปาวจรปัญจมฌานจิต ๓)

ข้อสังเกตจากสัมปโยคนัยที่ ๓

อัปปมัญญาเจตสิก ๒ ดวง ไม่ประกอบกับมหาวิบากจิต ๘ ดวง รูปาวจรปัญจมฌานจิต ๓ อรูปาวจรจิต ๑๒ และโลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐ อัปปมัญญาเจตสิก ๒ ดวง ไม่ประกอบในมหาวิบากจิต ๔ เพราะมหาวิบากจิตจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยปรมัตถกามอารมณ์ ส่วนอัปปมัญญานั้นอาศัยสัตวบัญญัติเป็นอารมณ์ อัปปมัญญาเจตสิกจึงประกอบไม่ได้ในมหาวิบากจิต ๘ ดวง

อัปปมัญญาไม่ประกอบในรูปาวจรปัญจมฌานจิต ๓ ดวง เพราะรูปาวจรปัญจมฌานจิตมีมัชฌัตตสัตวบัญญัติเป็นอารมณ์บ้าง บัญญัติอารมณ์อื่นบ้าง ซึ่งไม่ใช่ทุกขิตสัตว์หรือสุขิตสัตวบัญญัติเป็นอารมณ์ ฉะนั้นอัปปมัญญาเจตสิกจึงไม่ประกอบในรูปาวจรปัญจมฌานจิต ๓ ดวงดังกล่าว 

อัปปมัญญาเจตสิกไม่ประกอบในอรูปาวจรจิต ๑๒ ดวง เพราะอรูปาวจรจิตทั้ง ๑๒ ดวงนั้น เป็นจิตที่รับมหัคคตารมณ์ และบัญญัติอารมณ์อื่นๆอันเป็นอารมณ์ละเอียด จึงเสวยอารมณ์เป็นอุเบกขาเวทนา ดังนั้น ทุกขเวทนาและสุขเวทนาแห่งสัตว์ จึงเป็นกรรมฐานของอรูปาวจรจิตไม่ได้ อัปปมัญญาเจตสิกจึงไม่ประกอบในอรูปาวจรทั้ง ๑๒ ดวงนั้น อัปปมัญญาเจตสิกไม่ประกอบกับโลกุตตรจิต ๔ หรือ ๔๐ เพราะโลกุตตรจิตนั้นมีนิพพานเป็นอารมณ์ไม่ใช่มีสัตวบัญญัติเป็นอารมณ์ ฉะนั้นอัปปมัญญาเจตสิกจึงไม่ประกอบกับโลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐

  • นัยที่ ๔ ปัญญาเจตสิก หรือปัญญินทรียเจตสิก ประกอบได้กับจิต ๔๗ หรือ ๗๙ ดวง ได้แก่ กามาวจรโสภณญาณสัมปยุตจิต ๑๒ มหัคคตจิต ๒๗ โลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐



โสภณเจตสิก

โสภณเจตสิก เป็นเจตสิกฝ่ายดีงาม เมื่อประกอบกับจิตแล้ว ย่อมทำให้จิตผ่องใสไม่เศร้าหมองเร่าร้อน ตั้งอยู่ในความดีงาม เว้นจากบาปธรรมและทุจริตกรรมต่างๆ เจตสิกประเภทนี้ จึงชื่อว่า โสภณเจตสิก ส่วนจิตที่มีชื่อว่า อโสภณจิตนั้น ย่อมแสดงว่าจิตเหล่านั้นมิได้ประกอบด้วยโสภณเจตสิกเลย ฉะนั้นจึงเห็นว่าโสภณเจตสิกนั้น ย่อมประกอบได้ในโสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑ ดวงเท่านั้น

โสภณเจตสิก มีจำนวน ๒๕ ดวง ตามแผนผังต่อไปนี้ :-



โสภณเจตสิก มี ๒๕ ดวง แบ่งออกเป็น ๔ นัย คือ :-

  • ก. โสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ ดวง
  • ข. วิรตีเจตสิก ๓ ดวง
  • ค. อัปปมัญญาเจตสิก ๒ ดวง
  • ง. ปัญญินทรียเจตสิก ๑ ดวง


อธิบาย ก. โสภณสาธารณเจตสิก

มี ๑๙ ดวง เป็นเจตสิกที่ประกอบได้ทั่วไปในโสภณจิตทั้งหมด ๕๙ ดวง หรือ ๙๑ ดวง หมายความว่า เมื่อโสภณจิตดวงใดดวงหนึ่งเกิดขึ้นก็ตาม จะต้องมีโสภณสาธารณเจตสิกทั้ง ๑๙ ดวงนี้ ประกอบกับจิตนั้นด้วยเสมอ โสภณสาธารณเจตสิกทั้งหมดมี ๑๙ ดวง จะได้แสดงสภาวะของเจตสิกต่างๆ เหล่านี้โดยลำดับ

➤  สัทธาเจตสิก

สัทธาเจตสิก คือ ความเชื่อและเลื่อมใสในสิ่งที่ควรเชื่อ ได้แก่ ความเลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เชื่อเหตุผลในเรื่องกรรม และผลของกรรมตามความเป็นจริง มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :-

    สทฺธหน ลักขณา มีความเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ เป็นลักษณะ
    ปสาทน รสา มีการยังสัมปยุตธรรมให้ผ่องใส เป็นกิจ
    อกาฬุสสิย ปัจจุปัฏฐานา มีความไม่ขุ่นมัว เป็นผล
    สทฺเธยฺยวตฺถุ ปทฏฺฐานา มีวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งความเชื่อ เป็นเหตุใกล้

ลักขณาทิจตุกะของสัทธาเจตสิกอีกนัยหนึ่ง

    โอกปฺปน ลกฺขณา มีความปลงใจเชื่อด้วยปัญญา เป็นลักษณะ
    ปกฺขนฺทน รสา มีความแล่นไป เป็นกิจ
    อธิมุตติ ปจฺจุปฏฺฐานา มีความน้อมใจเชื่อ เป็นผล
    สทฺธมฺมสวนาทิ โสดาปตฺติยงฺค ปทฏฺฐานา มี🔎องค์แห่งโสดาปัตติมรรค มีการฟังพระสัทธรรม เป็นต้น เป็นเหตุใกล้

สัทธานี้ จัดเป็นธรรมเบื้องต้น ในอันที่จะทำให้บุคคลได้ประกอบคุณงามความดีเป็นบุญกุศลขึ้นมา และสัทธาที่จะเกิดขึ้นได้นั้น ย่อมต้องอาศัยวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งความเชื่อ ได้แก่พระรัตนตรัย กรรม และผลของกรรมเป็นต้น สัทธา คือความเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อนี้ จำแนกออกไปได้ ๔ ประการคือ :-

    กัมมสัทธา ได้แก่ ความเชื่อกรรม (เชื่อเหตุ)
    วิปากสัทธา ได้แก่ เชื่อผลของกรรม (เชื่อผล)
    กัมมัสสกตาสัทธา ได้แก่ เชื่อว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตนๆ (เชื่อทั้งเหตุ และผล)
    ตถาคตโพธิสัทธา ได้แก่ เชื่อในความตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เหตุอันเป็นที่ตั้งแห่งสัทธา มี ๔ ประการคือ :-

    ๑. รูปปฺปมาณสทฺธา เชื่อเพราะเห็นรูปสมบัติสวยงาม
    ๒. ลูขปฺปมาณสุทธา เชื่อเพราะเห็นความประพฤติเคร่งครัด
    ๓. โฆสปฺปมาณสทฺธา เชื่อเพราะได้ฟังเสียงลือว่า ชื่อเสียงดีต่างๆ
    ๔. ธมฺมปฺปมาณสทฺธา เชื่อเหตุผลเพราะได้ฟังธรรมของผู้ที่ฉลาดในการแสดง

สัทธานั้น เมื่อเกิดขึ้นขณะใด ย่อมมีอันทำให้สัมปยุตธรรมผ่องใสประดุจสารส้มที่ทำน้ำที่ขุ่นให้ใสขึ้นฉะนั้น


➤  สติเจตสิก

สติเจตสิก คือ ธรรมชาติที่มีความระลึกได้ในอารมณ์ และให้สังวรอยู่กับกุศลธรรมเป็นลักษณะ มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :-

    อปิลาปนลกฺขณา มีความระลึกได้ในอารมณ์เนืองๆ เป็นลักษณะ
    อสมฺโมหรสา มีความไม่หลงลืม เป็นกิจ
    วิสยาภิมุขภาวปจฺจุปฏฺฺฐานา มีความจดจ่อต่ออารมณ์ เป็นผล
    ถิรสญฺญา ปทุฏฐานา (วา) มีความจำอันมั่นคง เป็นเหตุใกล้
     (หรือ) กายาทิสติปัฏฐาน ปทฏฺฐานา มีสติปัฏฐาน ๔ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นเหตุใกล้

สติ มีลักษณะ ๒ ประการ ดังที่แสดงในมิลินทปัญหา คือ :-

    ๑. อปิลาปนลักขณาสติ
    ๒. อุปคัณหณลักขณาสติ

๑. อปลาปนลักขณาสติ ได้แก่ สติที่เตือนให้ระลึกไปในธรรมทั้งหลายว่า ธรรมสิ่งนี้ดีสิ่งนั้นชั่ว, สิ่งนี้เป็นประโยชน์ สิ่งนั้นไม่เป็นประโยชน์, ธรรมสิ่งนี้เป็นสติปัฏฐาน ๔, สิ่งนี้เป็นพละ ๕, สิ่งนี้เป็นโพชฌงค์ ๗, สิ่งนี้เป็นมรรค ๘ หรือสิ่งนี้เป็นสมถกรรมฐาน, สิ่งนี้เป็นวิปัสสนากรรมฐาน, สิ่งนี้เป็นฌาน, เป็นสมาบัติ, เป็นวิชา, เป็นวิมุตติ, เป็นกองจิต, กองเจตสิก เมื่ออปิลาปนลักขณาสติ เตือนให้ระลึกถึงธรรมเหล่านี้แล้ว ก็มิได้ส้องเสพธรรมอันมิควรเสพ กลับเสพธรรมที่ควรเสพ สตินี้ จึงหมายถึงสติที่ประกอบทั่วไปในโสภณจิต ย่อมให้ระลึกถึงกุศลธรรม โดยทำหน้าที่กั้นกระแสแห่งนิวรณ์ธรรม จะประกอบด้วยปัญญา หรือมิได้ประกอบด้วยปัญญาก็สามารถให้ระลึกถึงกุศลธรรมโดยชอบได้

๒. อุปคัณหณลักขณาสติ ได้แก่ สติที่ชักชวนให้ถือเอาคติในธรรมอันดี ย่อมระลึกว่า ธรรมสิ่งนี้มีอุปการะ, ธรรมสิ่งนี้มิได้มีอุปการะ ถือเอาแต่ธรรมที่เป็นประโยชน์ ธรรมที่เป็นอุปการะ ดุจนายประตูของพระบรมกษัตริย์ ถ้าเห็นผู้ใดประหลาดเข้าไปสู่ประตูพระราชวัง ก็ห้ามเสียมิให้เข้า ผู้ใดมีอุปการะแก่พระบรมกษัตริย์ ก็ปล่อยให้เข้าไปสู่พระราชฐาน ย่อมกำจัดเสียซึ่งคนอันไม่ใช่ข้าฯเข้าเฝ้า ถือเอาแต่คนที่เป็นข้าฯให้เข้าสู่พระราชฐานนั้นได้ อุปคัณหณลักขณาสติ จึงเป็นสติที่อุปการะแก่ปัญญาโดยตรง ได้แก่สติสัมปชัญญะที่เกิดขึ้นในขณะพิจารณากาย, เวทนา, จิต, ธรรม ที่เรียกว่าเจริญ “สติปัฏฐาน ๔” อันเป็นปุพพภาคมรรค ซึ่งเป็นเบื้องต้นแห่งมรรค พรหมจรรย์ที่จะอุปการะให้แจ้งพระนิพพาน

ฉะนั้น สติ จึงมี ๒ อย่างคือ :-

  • สติ ที่ประกอบกับโสภณจิตโดยทั่วไป ในขณะระลึกรู้อารมณ์ที่อดีตสัญญาเก็บจำไว้ตามนัยปริยัติด้วยอปลาปนลักขณาสติ
  • สติ ที่กระทำความรู้สึกตัวขณะกำหนดรูปนามตามความจริงในการเจริญสติปัฏฐานตามนัยปฏิบัติด้วยอุปคุณหณลักขณาสติ

➤   หิริเจตสิก

หิริเจตสิก คือธรรมชาติที่ละอายต่อบาป ได้แก่ สภาพความเกลียดและละอายต่อการงานอันเป็นทุจริต มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :

    ปาปโต ชิคุจฺฉนลกฺขณา มีความเกลียดต่อบาป เป็นลักษณะ
    ปาปานํ อกรณรสา 
มีการไม่ทําบาป เป็นกิจ
    ปาปโต สงฺโกจนปัจฺจุปฏฺฐานา 
มีความละอายต่อบาป เป็นผล
    อตฺตคารว ปทฏฺฐานา 
มีความเคารพตนเอง เป็นเหตุใกล้


➤  โอตตัปปเจตสิก

โอตตัปปเจตสิก คือธรรมชาติที่สะดุ้งกลัวต่อบาป ได้แก่ สภาพความสะดุ้งกลัวต่อการงานอันเป็นทุจริต มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :-

    อุตฺตาสนลกฺขณํ มีความสะดุ้งกลัวต่อบาป เป็นลักษณะ
    ปาปานํ อกรณรสํ มีการไม่ทําบาป เป็นกิจ
    ปาปโต สงฺโกจนปจจุปฏฐานํ มีความละอายต่อบาป เป็นผล
    ปรคารว ปทฏฺฐานํ มีความเคารพผู้อื่น เป็นเหตุใกล้


👉 หิริ และโอตตัปปเจตสิก ทั้งสองนี้ย่อมปรากฏขึ้นในโอกาสที่เว้นจากความชั่ว หิริ นั้นมีอันเกลียดบาปเป็นลักษณะ โอตตัปปะ นั้น มีอันสะดุ้งกลัวต่อบาปเป็นลักษณะ หิริ เปรียบเหมือนหญิงสาวผู้มีสกุล ที่ขยะแขยงรังเกียจต่อบาปธรรมด้วยอำนาจความเคารพตน และอาศัยเหตุภายในเป็นสมุฏฐาน ได้แก่เหตุภายใน ๘ ประการ คือ

  • ๑. กุละ ละอายต่อบาปโดยคำนึงถึงตระกูลของตน
  • ๒. วยะ ละอายต่อบาปโดยคำนึงวัยของตน
  • ๓. พาหุสัจจะ ละอายต่อบาปโดยคำนึงถึงการศึกษาของตน
  • ๔. ชาติมหัคคตะ ละอายต่อบาปโดยคำนึงถึงชาติภูมิอันประเสริฐของตน
  • ๕. สัตถุมหัคคตะ ละอายต่อบาปโดยคำนึงถึงพระศาสดา, บิดามารดา, ครูอาจารย์
  • ๖. ทายัชชมหัคคะ ละอายต่อบาปโดยคำนึงถึงทายาทที่เป็นใหญ่
  • ๗. สหพรหมจารีมหัคคตะ  ละอายต่อบาปโดยคำนึงถึงเพื่อนสหพรหมจารี ที่เป็นใหญ่
  • ๘. สุรภาวะ ละอายต่อบาปโดยคำนึงถึงความแกล้วกล้าเข้มแข็งของตน

โอตตัปปะ เปรียบเหมือนหญิงแพศยา ผู้มีความเกรงกลัวต่อบาปธรรมด้วยอำนาจเคารพผู้อื่น และโอตตัปปะนี้อาศัยเหตุภายนอกเป็นสมุฏฐาน ได้แก่เหตุภายนอก ๔ ประการ คือ :-

  • ๑. อตฺตานุวาทภยํ กลัวต่อการติเตียนตนเอง
  • ๒. ปรวาทานุภยํ กลัวต่อการติเตียนจากผู้อื่น
  • ๓. ทณฺฑภยํ กลัวต่อราชทัณฑ์ คือกฎหมายบ้านเมือง
  • ๔. ทุคฺคติภยํ กลัวต่อภัยในอบายภูมิ

ความละอายและความสะดุ้งกลัว อันเป็นสภาพธรรมของหิริ และโอตตัปปะนี้ไม่เป็นอกุศล เพราะเป็นการละอายและเกรงกลัวในบาปทุจริตโดยพิจารณาเห็นโทษแล้วว่า ไม่ควรประพฤติปฏิบัติ เหมือนกับผู้พิจารณามรณานุสสติโดยเอาความตายมาเป็นอารมณ์ หรือผู้ที่กำลังพิจารณาอสุภกรรมฐาน ซึ่งขณะจิตที่กำลังพิจารณาอยู่นั้น จิตย่อมไม่ตกอยู่ในอำนาจฝ่ายอกุศล หิริและโอตตัปปะนี้ก็เช่นกัน ย่อมพิจารณาถึงบาปทุจริตแล้วไม่กระทำกรรมชั่ว ย่อมบริหารตนให้หมดจด ด้วยเหตุนี้หิริและโอตตัปปะ จึงจัดว่าเป็นธรรมที่คุ้มครองโลก สมดังพุทธดำรัสในอังคุตรนิกายทุกนิบาตว่า

“ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย สุกกธรรม ๒ ประเภทนี้ย่อมคุ้มครองโลก ธรรม ๒ ประการคืออะไรบ้าง คือหิริ ๑ โอตตัปปะ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลายสุกกธรรม ๒ ประการนี้ ย่อมคุ้มครองโลก ถ้าหากสุกกธรรม ๒ ประการนี้ไม่พึงคุ้มครองโลกไซร้ในโลกนี้จะไม่พึงปรากฏคำว่า มารดา บิดา พี่ ป้า น้า อา สามี ภรรยา ครู อาจารย์ ฯ ชาวโลกจักได้ถึงความปะปนกันเหมือนอย่าง แพะ แกะ ไก่ สุกร และสุนัข ฉะนั้นดูกร ภิกษุทั้งหลาย สุกกธรรม ๒ ประการนี้แลคุ้มครองโลกอยู่ ฉะนั้นจึงยังปรากฏคำว่า มารดา บิดา พี่ ป้า น้า อา ครู อาจารย์ ฯ” ดังนี้

➤  อโลภเจตสิก

อโลภเจตสิก คือธรรมชาติที่ไม่อยากได้ไม่ติดใจในอารมณ์ ได้แก่สภาพจิตที่ไม่อยากได้ และไม่ติดอยู่ในกามคุณอารมณ์ หรือธรรมอันเป็นปฏิปักษ์ต่อโลภะ ชื่อว่าอโลภะ เป็นมูลรากแห่งกุศลธรรม มีอรรถ ๔ ประการโดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :-

    อลคฺคภาวลกฺขโณ (วา) มีความไม่ติดอยู่ในอารมณ์ เป็นลักษณะ
     (หรือ) อเคธลกฺขโณ มีความไม่กำหนัดยินดีในอารมณ์ เป็นลักษณะ
    อปริคฺคหรโส มีความไม่หวงแหน เป็นกิจ
    อนลฺลินภาวปัจจุปัฏฐาโน  มีความไม่ยึดมั่นในอารมณ์ เป็นผล
    โยนิโสมนสิการ ปทฏฺฐาโน มีการกระทำในใจต่ออารมณ์อันแยบคาย เป็นเหตุใกล้

สภาพของอโลภะ ที่มีความไม่ติดอยู่ในอารมณ์เป็นลักษณะนั้น เหมือนหยาดน้ำที่ไม่ติดอยู่บนใบบัว มีความไม่หวงแหนเป็นกิจเหมือนภิกษุผู้ปล่อยวาง มีความไม่ยึดมั่นในอารมณ์เป็นผลเหมือนบุรุษผู้ตกลงไปในของที่ไม่สะอาด ฉะนั้นคุณธรรมของอโลภะ ย่อมเป็นปัจจัยแก่ความไม่มีโรค ย่อมได้เสพแต่สิ่งที่เป็นสัปปายะ

➤  อโทสเจตสิก

อโทสเจตสิก เป็นธรรมชาติที่ไม่ประทุษร้าย ได้แก่ สภาพที่ไม่ประทุษร้ายในอารมณ์ มีความไม่โกรธ ไม่ปองร้าย ไม่เบียดเบียน เป็นมูลรากแห่งกุศลธรรม มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :-

    อจณฺฑิกลกฺขโณ (วา) มีความไม่ดุร้าย เป็นลักษณะ
    (หรือ) อวิโรธลกฺขโณ มีความไม่แค้นเคือง เป็นลักษณะ
    อาฆาตวินยรโส (วา) มีการกำจัดความอาฆาต เป็นกิจ 
    (หรือ) ปริฬาหวินยรโส มีการกำจัดความเร่าร้อน เป็นกิจ
    โสมภาวปจฺจุปฏฐาโน มีความร่มเย็นผ่องใส เป็นผล
    โยนิโสมนสิการ ปทุฏฐาโน มีการกระทำในใจต่ออารมณ์อันแยบคาย เป็นเหตุใกล้

สภาพของอโทสะที่มีความไม่ดุร้ายหรือไม่มีความเกรี้ยวกราดเป็นลักษณะเปรียบเหมือนมิตรผู้อนุบาลช่วยเหลือ มีการกำจัดความอาฆาตหรือกำจัดความเร่าร้อนเป็นกิจ เปรียบเหมือนกลิ่นจันทร์หอม มีความร่มเย็นเป็นผล เปรียบเหมือนแสงจันทร์วันเพ็ญ ฉะนั้นคุณธรรมของอโทสะนี้ย่อมเป็นปัจจัยแก่ความหนุ่มสาว เพราะคนที่ไม่โกรธ ไม่ถูกไฟคือโทสะแผดเผาให้หนังเหี่ยวย่นเป็นริ้วรอยและให้ผมหงอก ย่อมยังความเป็นหนุ่มสาวให้อยู่ได้นานๆ ขันติ คือ ความอดทนต่อเหตุที่ทำให้เจ็บใจ เมตตา คือ ความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข ธรรมทั้ง ๒ อย่างนี้ องค์ธรรมได้แก่ อโทสเจตสิก นั่นเอง

➤ ตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิก

ตัดตรมัชฌัตตตาเจตสิก เป็นธรรมชาติที่เป็นกลางในสัมปยุตธรรมนั้นๆ ได้แก่ การทำเจตสิกให้สม่ำเสมอในโสภณกิจของตน ไม่มีความยิ่งหย่อน มี อรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :-

    จิตฺตเจตสิกานํ สมวาหิตลกฺขณา มีการทำจิต และเจตสิกให้เป็นไปสม่ำเสมอ เป็นลักษณะ
    อูนาธิกตานิวารณรสา (วา) มีการห้ามจิตและเจตสิก ไม่ยิ่งและหย่อน เป็นกิจ
    (หรือ) ปกฺขปาตุปจฺเฉทนรสา มีการตัดขาดการตกไปในความยิ่งและหย่อนของจิตและเจตสิก เป็นกิจ
    มชฺฌตฺตภาวปัจฺจุปฏฺฐานา มีความฉลาดเป็นกลาง โดยเพ่งเฉยต่อจิตและเจตสิก เป็นผล
    สมฺปยุตฺตปทฏฺฐานา มีสัมปยุตธรรม เป็นเหตุใกล้
    
ตัดตรมัชฌัตตตาเจตสิกนี้ เป็นตัวกลางที่ทำให้จิตและเจตสิกที่เกิดขึ้นพร้อมกันในขณะนั้น ทำกิจของตนๆ โดยสม่ำเสมอ เหมือนสารถีผู้วางเฉยต่อม้าอาชาไนยที่วิ่งเรียบไป ฉะนั้น

➤ กายปัสสัทธิเจตสิก และ จิตตปัสสัทธิเจตสิก

กายปัสสัทธิเจตสิก เป็นธรรมชาติที่ทำความสงบให้เจตสิกขันธ์ ๓ (เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, สังขารขันธ์) ในการงานอันเป็นกุศล จิตตปัสสัทธิเจตสิก เป็นธรรมชาติที่ทำความสงบให้จิต (วิญญาณขันธ์) ในการงานอันเป็นกุศล ปัสสัทธิเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ คือ :

    กายจิตฺตานํ ทรถวูปสมลลกฺขณา มีการทำให้จิตและเจตสิกสงบจากความเร่าร้อน เป็นลักษณะ
    กายจิตฺตทรถนิมฺมทฺทนรสา มีการกำจัดความเร่าร้อนของจิตและเจตสิก เป็นกิจ
    กายจิตฺตานํ อปริปุผนฺทนสีติภาวปัจฺจุปัฏฐานา มีความเยือกเย็น ไม่ดิ้นรน เป็นผล
    กายจิตฺตปทฏฺฐานา มีจิตและเจตสิก เป็นเหตุใกล้

พระพุทธองค์ตรัสว่า เวทนากฺขนฺธสฺส เพราะทรงประสงค์เอาเจตสิกขันธ์ ๓ ว่า เป็น กาย และทรงประสงค์เอาวิญญาณขันธ์ เป็น จิต ธรรมชาติที่ชื่อว่า ปัสสัทธิ เพราะเป็นเหตุให้ธรรมเหล่านั้น (นามขันธ์ ๔) สงบ ปราศจากความกระวนกระวายถึงความปลอดโปร่ง กายปัสสัทธิและจิตตปัสสัทธิเจตสิกทั้ง ๒ นี้จึงประกอบกับโสภณจิตเท่านั้น และปัสสัทธิเจตสิกแม้จะประกอบกับโสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑ ดวงก็จริง แต่ย่อมยังความสงบในชั้นกามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร และปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ให้แตกต่างกัน


➤ กายลหุตาเจตสิก และ จิตตลหุตาเจตสิก

กายลหุตาเจตสิก เป็นธรรมชาติที่ทำความเบาให้เจตสิกขันธ์ ๓ (เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, สังขารขันธ์) ในการงานอันเป็นกุศล จิตตลหุตาเจตสิก เป็นธรรมชาติที่ทำความเบาให้จิต (วิญญาณขันธ์) ในการงานอันเป็นกุศล ลหุตาเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ คือ :-

    กายจิตฺตครุภาววูปสมลกฺขณา มีการทำให้จิตและเจตสิกบรรเทาจากความหนัก เป็นลักษณะ
    กายจิตฺตครุภาวนิมฺมทุนรสา มีการกำจัดความหนักของจิตและเจตสิก เป็นกิจ
    กายจิตฺตานํ อทนฺธตาปัจจุปัฏฐานา มีความไม่หนักของจิตและเจตสิก เป็นผล
    กายจิตฺตปทฏฺฐานา มีจิตและเจตสิก เป็นเหตุใกล้

ธรรมที่มีชื่อ กาย มุ่งหมายถึง เจตสิกขันธ์ ๓ และ จิต มุ่งหมายถึงวิญญาณขันธ์ ดังกล่าวแล้วในสภาวะของกายปัสสัทธิและจิตตปัสสัทธิ ฉะนั้น กายลหุตา และจิตตลหุตาเจตสิกนี้ จึงหมายถึงอาการแห่งภาวะที่เบา ชื่อว่า ลหุตา และความเบานี้ มีความหมายว่า ธรรมเหล่านี้เปลี่ยนไปได้เร็ว “ลหุปริณามตา” คือ สามารถเป็นไปได้โดยฉับพลัน, อทนฺธนตา ปฏิเสธความหนัก คือภาวะที่ไม่เป็นภาระหนัก, อวิตฺถนตา คือ ความกระด้างเพราะไม่มีกิเลสภาระ ได้แก่ ถีนมิทธะ เป็นต้น

กายลหุตาเจตสิก และจิตตลหุตา ที่เป็นอาการแห่งภาวะที่เบาของเจตสิกขันธ์ ๓ และวิญญาณขันธ์ (นามขันธ์ ๔) ซึ่งอยู่ในโสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑ ดวงเท่านั้น


➤ กายมุทุตาเจตสิก และ จิตตมุทุตาเจตสิก

กายมุทุตาเจตสิก คือธรรมชาติที่ทำความอ่อนให้เจตสิกขันธ์ ๓ (เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, สังขารขันธ์) ในการงานอันเป็นกุศล จิตตมุทุตาเจตสิก คือธรรมชาติที่ทำความอ่อนให้จิต (วิญญาณขันธ์) ในการงานอันเป็นกุศล มุทุตาเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ โอนอ่อนรับอารมณ์อันเป็นกุศลได้ง่าย มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :

    กายจิตฺตถมฺภวูปสมลกฺขณา มีการทำให้จิตและเจตสิกสงบจากความกระด้าง เป็นลักษณะ
    กายจิตฺตถทฺธภาวนิมฺมทฺทนรสา มีการกำจัดความกระด้างของจิตและเจตสิก เป็นกิจ
    อปฺปฏิฆาตปจฺจุปฏฺฐานา มีความไม่โกรธ ไม่อาฆาต เป็นผล
    กายจิตฺตปทฏฺฐานา มีจิตและเจตสิก เป็นเหตุใกล้

กายมุทุตา และจิตตมุทุตาเจตสิกนี้ เป็นภาวะที่อ่อนของเจตสิกขันธ์ ๓ และวิญญาณขันธ์ ภาวะที่อ่อนชื่อว่า มุทุตา ขยายความว่า ความสนิทเกลี้ยงเกลาชื่อว่า มทฺทวตา ภาวะที่ไม่กักขฬะชื่อว่า อกกฺขลตา และภาวะที่ไม่กระด้างชื่อว่า อกถินตา มุทิตาเจตสิกทั้ง ๒ นี้เป็นปฏิปักษ์ต่อกิเลส และเป็นธรรมที่ประกอบกับโสภณจิต ทำให้จิตนั้นอ่อนไหว น้อมรับอารมณ์อันเป็นกุศลได้อย่างสนิทสนม

➤ กายกัมมัญญตาเจตสิก และ จิตตกัมมัญญตาเจตสิก

กายกัมมัญญตาเจตสิกเป็นธรรมชาติ ที่ทำความเหมาะควรแก่การงานอันเป็นกุศลให้เจตสิกขันธ์ ๓ (เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, สังขารขันธ์) จิตตกัมมัญญตาเจตสิก เป็นธรรมชาติที่ทำความเหมาะควรแก่การงานอันเป็นกุศลให้จิต (วิญญาณขันธ์) กัมมัญญตาเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ คือ :-

    กายจิตฺตกมฺมญฺญภาววูปสมลกฺขณา มีการทำให้จิตและเจตสิกเข้าสู่สภาวะที่สงบจากความที่ไม่ควรแก่การงาน เป็นลักษณะ
    กายจิตฺตกมฺมญฺญภาวนิมฺมทฺทนรสา มีการกำจัดความไม่ควรแก่การงานของจิตและเจตสิก เป็นกิจ
    กายจิตฺตานํ อารมฺมณกรณสมฺปตฺติ ปจฺจุปัฏฐานา มีความถึงพร้อมในการกระทำอารมณ์ให้สมควรแก่จิตและเจตสิก เป็นผล
    กายจิตฺตปทฏฺฐานา มีจิตและเจตสิก เป็นเหตุใกล้

กัมมัญญตาเจตสิกทั้ง ๒ นี้เป็นปฏิปักษ์ต่อกิเลส เป็นธรรมที่ประกอบกับโสภณจิต ทำให้เกิดความพอดี สมควรแก่การงานอันเป็นกุศล

➤ กายปาคุญญตาเจตสิก และ จิตตปาคุญญตาเจตสิก

กายปาคุญญตาเจตสิก เป็นธรรมชาติที่ทำให้เจตสิกขันธ์ ๓ (เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, สังขารขันธ์) คล่องแคล่วต่อการงานอันเป็นกุศล จิตตปาคุญญตาเจตสิก เป็นธรรมชาติที่ทำให้จิต (วิญญาณขันธ์) คล่องแคล่วในการงานอันเป็นกุศล ปาคุญญตาเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ คือ :

    กายจิตฺตานํ อเคลญฺญภาวลกฺขณา มีความไม่อาพาธของจิตและเจตสิก เป็นลักษณะ
    กายจิตฺตเคลญฺญนิมฺมทฺทรสา มีการกำจัดความอาพาธของจิตและเจตสิก เป็นกิจ
    นิราทีนวปจฺจุปฏฺฐานา มีความปราศจากโทษ เป็นผล
    กายจิตฺตปทฏฺฐานา มีจิตและเจตสิก เป็นเหตุใกล้

ปาคุญญตาเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ เป็นปฏิปักษ์ต่อกิเลส เป็นธรรมที่ประกอบกับโสภณจิต ทำให้จิตเข้าถึงสภาวะที่คล่องแคล่ว ไม่อืดอาดต่อการงานอันเป็นกุศล

➤  กายุชุกตาเจตสิก และ จิตตุชุกตาเจตสิก

กายุชุกตาเจตสิก เป็นธรรมชาติที่ทำให้เจตสิกขันธ์ ๓ (เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, สังขารขันธ์) มีความซื่อตรงในการงานอันเป็นกุศล จิตตุชุกตาเจตสิก เป็นธรรมชาติที่ทำให้จิต (วิญญาณขันธ์) มีความซื่อตรงในการงานอันเป็นกุศล เจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ คือ :-

    กายจิตฺตอชฺชวลกฺขณา มีความซื่อตรงของจิตและเจตสิก เป็นกิจ
    กายจิตฺตกุฏิลภาวนิมฺมทฺทนรสา มีการกำจัดความไม่ซื่อตรงของจิตและเจตสิก เป็นลักษณะ
    อชิมหตา ปจฺจุปฏฺฐานา มีความซื่อตรงของจิตและเจตสิก เป็นผล
    กายจิตฺตปทุฏฐานา มีจิตและเจตสิก เป็นเหตุใกล้

เจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ เป็นธรรมที่ประกอบกับโสภณจิต ทำให้สามารถกำจัดปฏิปักษ์ธรรมคือ มายาปิดบังความชั่วและสาไถย ความโอ้อวดคุณธรรมที่ไม่มีในตนให้สิ้นไป และพร้อมกันนั้น ทำให้เจตสิกและจิตซื่อตรงไม่คดโค้งและงอนต่อการงานอันเป็นกุศล ในอัฏฐสาลินีกล่าวว่า ผู้ใดมีกรรมและทวารทั้ง ๓ ไม่บริสุทธิ์ ผู้นั้นชื่อว่า “คด” เหมือนเยี่ยวโค ผู้ใดมีกรรมและทวารทั้ง ๒ ไม่บริสุทธิ์ ผู้นั้นชื่อว่า “โค้ง” เหมือนเสี้ยวของดวงจันทร์ ผู้ใดมีกรรมและทวารอย่างใดอย่างหนึ่งไม่บริสุทธิ์ ผู้นั้นชื่อว่า “งอน” เหมือนปลายคันไถ


อธิบาย ข. วิรตีเจตสิก

วิรดีเจตสิกเป็นธรรมชาติที่เป็นเครื่องงดเว้นจากบาปธรรม มีปาณาติบาต เป็นต้น ภาวะแห่งการงดเว้นจากบาปธรรมหรือทุจริตกรรมนี้ชื่อวิรัติ และเรียกสภาวธรรม ที่เป็นเครื่องงดเว้นจากบาปธรรมว่าวิรตีเจตสิก ภาวะแห่งการงดเว้นจากบาปธรรมที่ชื่อว่า วิรัตินั้นมี ๓ ประเภท คือ สัมปัตตวิรัติ ๑ สมาทานวิรัติ ๑ และสมุจเฉทวิรัติ ๑

    สัมปัตตวิรัติ งดเว้นจากบาปธรรม โดยความถึงพร้อมแห่งอัธยาศัย เช่น เว้นจากการฆ่าสัตว์ เพราะคิดว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมรักชีวิตตน
    สมาทานวิรัติ การงดเว้นจากบาปธรรม โดยการยึดเอาสิกขาบทที่บัญญัติไว้ เช่น การถือศีล ๕ หรืออุโบสถศีล โดยสมาทานจากภิกษุผู้ทรงศีล เป็นต้น
    สมุจเฉทวิรัติ การงดเว้นจากบาปธรรมโดยเด็ดขาด คือวิรัติที่ประกอบเป็นองค์อริยมรรค ทำให้พระโยคาวจรบรรลุมรรคผลเป็นพระอริยบุคคลแล้ว พระอริยบุคคลนั้นไม่เกิดความคิดแม้ว่าเราจะฆ่าสัตว์

วิรัติ อันเป็นภาวะแห่งการงดเว้นจากบาปธรรมนี้ มีสภาวะเป็นเจตสิก ปรมัตถ์ที่ชื่อว่า วิรตีเจตสิก ซึ่งมีอยู่ ๓ ดวงคือสัมมาวาจาเจตสิก สัมมากัมมันตเจตสิก และสัมมาอาชีวเจตสิก

➤  สัมมาวาจาเจตสิก

สัมมาวาจาเจตสิก เป็นเจตสิกที่ประกอบกับมหากุศลจิตและโลกุตตรจิต ทำให้เกิดการเว้นจากวจีทุจริตทั้ง ๔ มีการพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบและพูดเพ้อเจ้อ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการงานอันเป็นอาชีพ มีอรรถ ๔ ประการโดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :-

    ปริคฺคหลกฺขณา มีการป้องกันไว้ซึ่งวจีทุจริต เป็นลักษณะ
    วิรมณรสา มีการเว้นจากมิจฉาวาจา เป็นกิจ
    มิจฺฉาวาจาปหานปจจุปฏฺฐานา มีการประหารมิจฉาวาจา เป็นผล
    สทฺธาหิโรตฺตปฺปาทิคุณ ปทุฏฐานา มีคุณธรรม คือ สัทธา หิริ โอตตัปปะ เป็นต้น เป็นเหตุใกล้

สัมมาวาจามี ๓ ประการ คือ :-
๑. กถาสมฺมาวาจา คือการกล่าววาจาที่ดีมีศีลธรรม เพื่อประโยชน์แก่ผู้ฟังเช่น การสอน การสนทนาธรรม เป็นต้น
๒. เจตนาสมฺมาวาจา คือตั้งใจกล่าววาจาสมาทานศีลว่า จะละเว้นจากวจีทุจริต มีการสมาทานว่า จะไม่พูดปด เป็นต้น
๓. วิรตีสมฺมาวาจา คือการงดเว้นวจีทุจริต ๔ และเป็นการงดเว้นเฉพาะหน้า ขณะมีอารมณ์ที่จะกล่าววจีทุจริตออกไป

➤  สัมมากัมมันตเจตสิก

สัมมากัมมันตเจตสิก เป็นเจตสิกที่ประกอบกับมหากุศลจิตและโลกุตตรจิตทำให้เกิดการงานที่เว้นจากกายทุจริตทั้ง ๓ มีการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม ซึ่งไม่เกี่ยวกับการงานอันเป็นอาชีพ มีอรรถ ๔ ประการโดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :-

    สมุฏฐานลกฺขโณ มีการป้องกันกายทุจริต เป็นลักษณะ
    วิรมณรโส มีการเว้นจากมิจฉากัมมันตะ เป็นกิจ
    มิจฺฉากมฺมนฺต ปหานปจฺจุปัฏฐาโน มีการประหารมิจฉากัมมันตะ เป็นผล
    สทฺธาหิโรตฺตปุปาทิคุณปทฏฐาโน มีคุณธรรมคือสัทธา หิริ โอตตัปปะ เป็นต้น เป็นเหตุใกล้

สัมมากัมมันตะมี ๓ ประการ คือ :-
๑. ยถาพลํสมฺมากมุมนุต ได้แก่ การกระทำการงานที่ชอบ ที่ควร มีการประกอบทานกุศล อ่อนน้อมถ่อมตนหรือช่วยเหลือการงาน ที่เป็นประโยชน์ตามสมควรแก่กำลังของตน เป็นต้น
๒. เจตนาสมฺมากมุมนุต ได้แก่ ภาวะที่ตั้งใจสมาทานว่า จะละเว้นจากกายทุจริต มีการฆ่าสัตว์ เป็นต้น
๓. วิรตีสมฺมากมฺมนฺต ได้แก่ การเว้นจากกายทุจริตทั้ง ๓ และเป็นการเว้นเฉพาะหน้า ขณะที่มีอารมณ์ที่จะให้ล่วงกายทุจริตมาปรากฏ

➤  สัมมาอาชีวเจตสิก

สัมมาอาชีวเจตสิก เป็นเจตสิกที่ประกอบกับมหากุศลจิตและโลกุตตรจิต ทำให้เกิดการเว้นจากกายทุจริต ๓ วจีทุจริต ๔ ที่เกี่ยวกับอาชีพ มีอรรถ ๔ ประการโดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ :-

    โวทานลกฺขโณ มีความผ่องแผ้ว เป็นลักษณะ
    กายชิวปฺปวตฺติรโส มีความเป็นไปแห่งกายและวาจาอันบริสุทธิ์ เป็นกิจ
    มิจฺฉาอาชีวปหานปจฺจุปฏฐาโน มีการประหารมิจฉาชีพ เป็นผล
    สทฺธาหิโรตฺตปฺปาทิคุณปทฏฐาโน มีคุณธรรมคือสัทธา หิริ โอตตัปปะ เป็นต้น เป็นเหตุใกล้

สัมมาอาชีวะมี ๒ ประการ คือ :-
๑. วิริยสมมาอาชีวะ ได้แก่ ความเพียรเพื่อกระทำการงานหาเลี้ยงชีพโดยชอบธรรม
๒. วิรตีสมมาอาชีวะ ได้แก่ การงดเว้นจากกายทุจริต ๓ วจีทุจริต ๔ ที่เกี่ยวกับอาชีพ และเป็นการงานเว้นเฉพาะหน้าขณะมีอารมณ์เกี่ยวกับอาชีพที่จะให้ล่วงทุจริตกรรมมาปรากฏ

วิรตีเจตสิกทั้ง ๓ ดวงที่กล่าวแล้ว อันได้แก่ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะร่วมกันอีก คือ :-

    กายทุจฺจริตาทิวตฺถุนํ อวีติกุกสลกฺขณา มีการไม่ก้าวล่วงกายทุจริต เป็นต้น เป็นลักษณะ
    กายทุจฺจริตาทิวตฺถุโต สงฺโกจนรสา มีการเบือนหน้าจากวัตถุแห่งกายทุจริต เป็นต้น เป็นกิจ
    อกิริยาปจฺจุปฏฺฐานา มีการไม่กระทำวัตถุแห่งกายทุจริต เป็นต้น
    สทฺธาหิโรตฺตปฺปิจฺฉตาทิคุณปทุฏฐานา มีคุณธรรม คือ สัทธา หิริ โอตตัปปะ และอัปปิจฉตา (ความเป็นผู้ปรารถนาน้อย) เป็นต้น เป็นเหตุใกล้ เป็นผล

วิรตีเจตสิก จะเกิดได้ย่อมอาศัยวัตถุอันพึงเว้นจากการก้าวล่วงทุจริตกรรม วัตถุอันพึงเว้นนั้นชื่อว่า วิรมิตัพพวัตถุ วิรตีเจตสิก ๓ ดวงนี้ ประกอบในมหากุศลจิตได้ไม่แน่นอน และไม่พร้อมกัน ส่วนขณะที่ประกอบกับโลกุตตรจิต ย่อมประกอบได้แน่นอนและพร้อมกันทั้ง ๓ ดวง เรียกว่า นิยตเอกโต เป็นศีลในองค์มรรค เพื่อทำหน้าที่ประหารทุจริตทุราชีพโดยเด็ดขาด เป็นสมุจเฉทปหาน


อธิบาย ค. อัปปมัญญาเจตสิก

อัปปมัญญาเจตสิก หมายถึง ธรรมที่แผ่ไปในสัตว์ทั้งหลายโดยหาประมาณมิได้ ดังวจนัตถะว่า อปฺปมาเณสุ สตฺเตสุ ภวาติ = อปฺปมญฺญฺา แปลความว่า ธรรมที่แผ่ไปในสัตว์ทั้งหลายหาประมาณมิได้ไม่มีจำกัด ชื่อว่า อัปปมัญญา

ธรรมที่ชื่อว่า อัปปมัญญามี ๔ อย่าง ดังแสดงไว้ในพระบาลีว่า “เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เจติ อิมาจตสฺโส อปฺปมญฺฺโญนาม พฺรหฺม วิหาโรติ จปวุจฺจติฯ” แปลความว่า เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ธรรม ทั้ง ๔ อย่างนี้ชื่อว่า อัปปมัญญา เพราะไม่มีประมาณ หรือที่ชนทั้งหลายเรียกว่าพรหมวิหาร เพราะผู้ปฏิบัติธรรมใน ๔ อย่างนี้ ย่อมมีความเป็นอยู่เหมือนพรหม อัปปมัญญาเจตสิก ที่แสดงไว้ในอภิธัมมัตถสังคหะ ปริจเฉทนี้มี ๒ ดวงได้แก่ กรุณาเจตสิก และ มุทิตาเจตสิก ส่วน เมตตา มีองค์ธรรม คือ อโทสเจตสิก และอุเบกขา มีองค์ธรรม คือ ตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิก อยู่แล้ว จึงมิได้นำมาแสดงไว้โดยนัยแห่งอัปปมัญญาเจตสิกนี้อีก ต่อไปนี้จะได้แสดงอัปปมัญญาเจตสิก ๒ ดวง คือ

➤  กรุณาเจตสิก

กรุณาเจตสิก คือ ธรรมชาติที่มีความสงสารต่อทุกขิตสัตว์ ได้แก่ ความสงสารสัตว์ที่กำลังได้รับความทุกข์ยากลำบากอยู่ หรือที่จะได้รับความทุกข์ยากลำบากในกาลข้างหน้า มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ คือ :-

    ทุกฺขาปนยนาการปวตฺติลกฺขณา มีความเป็นไปโดยอาการช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์ เป็นลักษณะ
    ปรทุกฺขาสหนรสา มีความกำจัดทุกข์ของผู้อื่น เป็นกิจ
    อวิหึสาปจฺจุปฏฺฐานา มีความไม่เบียดเบียน เป็นผล
    ทุกฺขาภิภูตานํ อนาถภาวทสฺสน ปทุฏฐานา มีการเห็นสัตว์ผู้ไร้ที่พึ่งถูกทุกข์ครอบงำ เป็นเหตุใกล้

สภาพของกรุณานี้ มีการสงบระงับวิหิงสาเป็นสมบัติ และมีการเกิดความโศกเป็นวิบัติ ที่ชื่อว่า “กรุณา” เพราะย่อมกระทำจิตใจของคนดีให้หวั่นไหวในเมื่อผู้อื่นมีความทุกข์ชื่อว่า “กรุณา” เพราะถ่ายทุกข์ของผู้อื่น หรือกำจัดความทุกข์ของผู้อื่นให้พินาศ ชื่อว่า “กรุณา” เพราะด้วยอำนาจการแผ่กระจายไปในสัตว์อื่นที่มีทุกข์ เมื่อกรุณาเกิดขึ้นแล้ว ย่อมเข้าถึงความไม่เบียดเบียนผู้อื่น และทำลายความโศกที่เกิดขึ้นกับตนให้หายไป กรุณานี้จึงประกอบได้กับโลกียกุศลจิต และมหากิริยาจิต

➤  มุทิตาเจตสิก

มุทิตาเจตสิก เป็นธรรมชาติที่มีความพลอยยินดีต่อสุขิตสัตว์ ได้แก่ความพลอยยินดีต่อผู้ที่กำลังประสบความสุขอยู่ หรือผู้ที่จะประสบความสุขในกาลข้างหน้า มีอรรถ ๔ ประการ โดยเฉพาะ (ลักขณาทิจตุกะ) คือ

    ปรสมฺปตฺติอนุโมทนลกฺขณา มีความพลอยยินดี ในสมบัติของผู้อื่น เป็นลักษณะ
    อนิสฺสายนรสา มีความไม่ริษยา เป็นกิจ
    อรติวิฆาตปจฺจุปฏฺฐานา มีการกำจัดความไม่ยินดี เป็นผล
    ปรสมฺปตฺติ ทสฺสนปทฏฺฐานา มีการเห็นสมบัติของผู้อื่น เป็นเหตุใกล้

สภาพของมุทิตาเจตสิกนี้ ย่อมทำให้จิตใจเข้าถึงการสงบระงับความไม่ยินดีทั้งปวง เป็นสมบัติ และเกิดความกำหนัดยินดีร่าเริง เป็นวิบัติ

➤  ปัญญินทรีย์เจตสิก

ปัญญินทรีย์เจตสิก คือธรรมชาติที่รู้เหตุผลในสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้แก่ ธรรมชาติที่รู้เหตุผลของกรรม ตลอดจนรู้เรื่องอริยสัจ โดยนัยเป็นต้นว่า นี้คือทุกข์ หรือที่ชื่อว่า ปัญญา เพราะรู้ไตรลักษณ์ มีอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา เป็นต้น ปัญญา ชื่อว่า เป็นอินทรีย์ เพราะเป็นใหญ่โดยครอบงำอวิชชาเสียได้และมีหน้าที่เป็นใหญ่ในการรู้ทั่วไปตามความเป็นจริง ฉะนั้น “ปัญญา” จึงชื่อว่า ปัญญินทรีย์เจตสิก ซึ่งมีอรรถ ๔ ประการโดยเฉพาะ คือ :-

    ธมฺมสภาวปฏิเวธลกฺขณา มีการรู้แจ้งสภาวธรรม เป็นลักษณะ
    ธมฺมานํ สภาวปฏิจฺฉาทกโมหนฺธการวิทฺธสนรสา (วา) มีการกำจัดความมืดมนอนธกาล คือโมหะ อันปกปิดมิให้เห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริง เป็นกิจ
    ตถปฺปกาสนรสา (วา) หรือมีการประกาศความจริง เป็นกิจ
    ปรมตฺถปกาสนรสา (วา) หรือมีการประกาศปรมัตถธรรม เป็นกิจ
    จตุสจฺจวิภาวนกิจฺจานรสา มีการยังอริยสัจ ๔ ให้แจ่มแจ้ง เป็นกิจ
    อสมฺโมหปจฺจุปฏฺฐานา มีความไม่หลงจากความจริง เป็นผล
    สมาธิปทฏฺฐานา มีสมาธิ เป็นเหตุใกล้

โดยอรรถดังกล่าวนี้ จึงเห็นว่า ปัญญามีการแทงตลอดตามสภาวะเป็นลักษณะ หรือมีการแทงตลอดไม่ผิดพลาด เป็นลักษณะ ดุจการแทงถูกที่หมายแห่งลูกศรของนายขมังธนูผู้ฉลาดยิงไปฉะนั้น มีการส่องให้เห็นอารมณ์โดยความเป็นจริง เป็นกิจ ดุจดวงประทีปที่ส่องให้เห็นวัตถุในความมืดฉะนั้น มีความไม่หลงลืม เป็นผล ดุจผู้ชี้ทางแก่คนที่จะไปในป่าฉะนั้น และมีความสงบ เป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญานี้เมื่อเกิดขึ้น ย่อมรู้ทั่วถึงธรรมทั้งหลาย ทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล ทั้งที่ควรเสพและไม่ควรเสพ ทั้งเลวและประณีต ทั้งที่เข้ากันได้และไม่ได้ ดุจนายแพทย์ผู้ฉลาด ย่อมรู้จักเภสัชอันเป็นที่สบายหรือไม่สบายแห่งคนไข้ทั้งหลาย ฉะนั้น สภาวะของปัญญานั้น โดยอรรถว่า ทำให้ปรากฏคือ ทำเนื้อความนั้นๆ ให้แจ่มแจ้ง หรือรู้ธรรมทั้งหลายโดยประการนั้นๆ คือ รู้ว่ามีภาวะที่ไม่เที่ยงเป็นต้น ภาวะของปัญญา จึงเป็นไปอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่โลกียปัญญาจนถึงโลกุตตรปัญญา ซึ่งเมื่อจำแนกประเภทของปัญญา โดยสังเขปแล้วได้ ๓ ประการคือ :-

๑. กัมมัสสกตาปัญญา คือปัญญาที่รู้ว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน
๒. วิปัสสนาปัญญา คือปัญญาที่รู้ว่า ขันธ์ ๕, อายตนะ ๑๒, ธาตุ ๑๘, อินทรีย์ ๒๒, สัจจะ ๔, ปฏิจจสมุปบาท ๑๒ ได้แก่ สภาวะของรูปนาม ที่มีลักษณะเปลี่ยนแปลง ไม่มั่นคงและบังคับบัญชาไม่ได้คือ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา
๓. โลกุตตรปัญญา คือปัญญาที่รู้แจ้งแทงตลอดในอริยสัจ ๔ มีทุกข อริยสัจ เป็นต้น

ปัญญาที่รู้ว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน หรือกัมมัสสกตาปัญญานั้น คือปัญญาที่มีความเห็นถูกต้อง ตามความเป็นจริงต่ออารมณ์ที่เรียกว่า ทสวัตถุกสัมมาทิฏฐิ มี ๑๐ ประการคือ :-

๑. อตฺถิ ทินฺนํ เห็นว่า ทานที่บุคคลให้แล้ว ย่อมมีผลดี
๒. อตฺถิ ยิฏฐํ เห็นว่า การบูชาต่างๆ ที่กระทำแล้วย่อมมีผลดี
๓. อตฺถิ หุตํ เห็นว่า การเชื้อเชิญบวงสรวง ย่อมมีผลดี
๔. อตฺถิ สุกตทุกฺกตานํ กมุมานํ ผลํวิปากโก เห็นว่า การทำดี หรือทำชั่วมีการให้ได้ผล ทั้งทางตรง และทางอ้อม
๕. อตฺถิ อยํโลโก เห็นว่า โลกนี้มีอยู่คือ ผู้ที่เกิดมาในโลกนี้มี
๖. อตฺถิ ปโรโลโก เห็นว่า โลกหน้ามีอยู่คือ ผู้ที่จะไปเกิดในโลกอื่นมี
๗. อตฺถิ มาตา เห็นว่า คุณมารดามีอยู่คือ การทำดีทำชั่วต่อมารดานั้น ย่อมจะต้องได้รับผลดีผลร้าย
๘. อตฺถิ ปิตา เห็นว่า คุณบิดามีอยู่คือ การทำดีทำชั่วต่อบิดา ย่อมจะต้องได้รับผลดีผลร้าย
๙. อตฺถิ สตฺตาโอปปาติกา เห็นว่า สัตว์ที่เกิดขึ้น ปรากฏกายโตทันทีนั้นมีอยู่ ได้แก่ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย เดรัจฉานบางจำพวก เทวดา และพรหม
๑๐. อตฺถิ โลเกสมณพรหฺมณา สมฺมาปฏิปันนา เห็นว่า สมณพราหมณ์ ผู้ปฏิบัติดี ผู้ปฏิบัติชอบ ประจักษ์แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยตนเอง แล้วประกาศให้ผู้อื่นได้รู้ตามนั้นมีอยู่

ปัญญาที่รู้ความจริงทั้ง ๑๐ ประการดังกล่าวแล้วนี้ชื่อ กัมมัสสกตาญาณ คือรู้ว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตนโดยแท้

กัมมัสสกตาปัญญา และวิปัสสนาปัญญาทั้ง ๒ นี้ จัดว่าเป็นโลกียปัญญาคือปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการรู้โลกียอารมณ์ มีรูปารมณ์เป็นต้น ตามความเป็นจริงซึ่งได้แก่ปัญญา ที่ประกอบในกามาวจรโสภณญาณสัมปยุตจิต ๑๒ ดวง และมหัคคตจิต ๒๗ ดวง ส่วนโลกุตตรปัญญานั้น เป็นปัญญาที่ไม่เกี่ยวกับการรู้โลกียอารมณ์ แต่เป็นการรู้นิพพานอารมณ์ อันเป็นอารมณ์พิเศษที่พ้นจากการปรุงแต่งใดๆ ในโลก ได้แก่ ปัญญา ที่ประกอบในโลกุตตรจิต ๘ ดวง หรือ ๔๐ ดวง



พิจารณาเวทนา พระอาจารย์สมบัติ นันทิโก


ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้ชอบได้ด้วยพระองค์เองผู้ถึงพร้อมด้วยวิชาและจรณะ ผู้เสด็จไปดีแล้วผู้รู้แจ้งโลก ผู้ฝึกสารถีที่สมควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า ทรงเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ผู้จำแนกแจกแจงพระธรรมอันประเสริฐ

ขอนอบน้อมแด่พระธรรมคำสอนที่พระองค์ทรงเคารพบูชา เป็นธรรมที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติพึงปรากฏชัดได้ด้วยตัวเอง

ขอนอบน้อมแด่พระอริยสงฆเจ้าทั้งหลายผู้ปฏิบัติเพื่อกำจัดราคะ ผู้ปฏิบัติเพื่อกำจัดโทสะ ผู้ปฏิบัติเพื่อกำจัดโมหะ ตรัสรู้อริยสัจตามพระผู้มีพระภาคเจ้า

ขอความเจริญในธรรมจงบังเกิดมีแก่พวกท่านทั้งหลาย

 👉 กดฟังเสียงได้ที่นี่🔊
พิจารณาเวทนา
 ธรรมบรรยาย โดย พระอาจารย์สมบัติ นันทิโก

ก็ไม่มีอะไรในโลกเนี่ยนะที่น่ากลัวเท่ามิจฉาทิฎฐิ มิจฉาทิฎฐิเนี่ยน่ากลัวที่สุดในโลก มันขวางทุกเรื่องหมด แล้วก็ไม่มีใครคิดด้วยนะว่าฉันเป็นมิจฉาทิฎฐิ  ฉันเนี่ยจะต้องอยู่ฝ่ายถูกต้องเสมอ ก็ไม่มีใครคิดว่าตัวเองอยู่ฝ่ายมารง่ายๆ หรอก ฉันอยู่ฝ่ายเทพหมดอะ ถ้าอยู่สมัยพุทธกาลนะ ถึงอยู่กับกลุ่มพระเทวทัตก็ยังคิดว่ากลุ่มตนถูกต้องอีกนั่นแหล่ะ พระเทวทัตนี่ไปสอนศากยะคนหนึ่ง (คนในตระกูลของเจ้าชายสิททัตถะ)

เทวทัตแกบอกว่า “นี่ฉันเนี่ยเสียหายเพราะสมณะโคดมมากมายเลยรู้ไหม ฉันเคยมีน้องสาว(พระนางยโสธรรา พิมพา) เขาก็บวชทิ้งให้น้องสาวฉันเป็นม่าย แล้วฉันนี่ก็เป็นคนที่ผูกพันธ์กับหลานมาก(พระอานนท์) หลานของฉันก็ไปบวช ฉันก็อยู่ห่างหลานไม่ค่อยได้ ก็เลยต้องบวช ทีนี้พอฉันบวชเข้ามาดูสิ แต่ละวันแต่ละวันเนี่ยนะ สมณะโคดมไม่ได้หาความเจริญให้ฉันแม้แต่อย่างเดียวเลย แบบนั้นเถอะเป็นศัตรูกันตลอด แกฟังดูนะว่าฉันเนี่ยไม่ได้รับความยุติธรรมขนาดไหน” 

เทวทัตจะพูดอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จ้าวศากยะคนนั้นเชื่อเลยนะว่าเออพระเถวทัตถูกพระพุทธเจ้ากลั่นแกล้งจริงๆ ยังเอาพระเทวทัตเป็นฝ่ายถูกต้องอยู่ดี และยังมีพวกที่ไปฝักใฝ่ในพระเทวทัต เขาก็ถือความถูกต้องแบบของเขาอ่ะนะ ฉะนั้นในโลกนี้ ใครยืนอยู่ตรงไหน ก็มองตัวเองถูกต้องได้หมดอะ เชื่อสิ่ ขนาดฉันโกรธมันยังไม่ผิดเลย คนผิดมันหายากมากเลยนะ แต่ถ้าตั้งต้นการศึกษาด้วยสุจริตธรรม จริงๆแล้วน่าจะสมบูรณ์ที่สุดและว่าสุจริต ๓ สําคัญที่สุด พระพุทธองค์ตรัสว่าสมจริยายกับธมฺมจริยายก็คือความประพฤติสงบทางกายทางวาจาและก็ทางใจ เนี่ยนะความประพฤติเป็นธรรม ทางกาย, ทางวาจาและก็ทางใจ ๓ ประการนี่แหละถือว่าเป็นพื้นฐานเป็นบาทที่ที่สําคัญมากมาก ฉะนั้นการที่จะกล่าวคําใดออกไปนั้นถ้าหากว่าขาดการทบทวนพิจารณาโดยรอบคอบแล้วจะสร้างความเสียหายโดยมากและก็ไอ้ความเสียหายนั้นตอนกล่าวมันก็สุขโสมนัส พระพุทธองค์ทรงตรัสว่าธมฺมสมาทานบางอย่างตอนประพฤติเนี่ยมีความสุข แต่ว่าผลให้เป็นทุกข์


ธมฺมสมาทานที่ตอนทํานั้นเป็นสุขแต่ว่าผลกลับเป็นทุกข์ ทีนี้พอผลที่เป็นทุกข์เกิดขึ้นมาก็จะรําพึงรําพันในตอนหลังกัน สมมุติถ้าอกุศลวิบากมันให้ผลนะ คนโดยมากก็จะครวญครางในภายหลังว่า"ทําไมความทุกข์จึงมาลงที่ฉัน คนอื่นทําไมไม่เป็นเหมือนฉันบ้าง ทําไมฉันทุกข์จังเลย" เนี่ยนะอันเมื่อโทมนัสเกิดขึ้นก็จะโทษใคร เพราะว่าไม่ได้สํารวมไม่ได้ระวังในต้นเหตุ ฉะนั้นเหตุสําคัญที่สุด

อย่างการศึกษาพระธรรมตามพระไตรปิฏกเหมือนกัน แปลว่าเรามีโอกาสค้นคว้าขนาดไหนและก็จําคําสอนได้ขนาดไหน จําและจําแม่นยําขนาดไหน ที่มาที่ไปเนี่ยชัดเจนขนาดไหน ถ้าหากว่าศึกษายังไม่มากนักอะไรไม่มากนักและก็ปฏิเสธก่อน คนอย่างนั้นน่ะน่าเห็นใจที่สุดเลยนะ น่ากลัวที่สุด สมมุติถ้าหากว่าอย่างยุคนี้นะถ้าจะพูดให้ตรงเลยพูดแบบตามเงื่อนไขกฎธรรมชาติทั่วๆไป ถ้าว่าคําสอนในพระไตรปิฏกไม่ใช่เป็นหนทางเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว คนที่บอกว่าฉันยังมีทางเลือกใหม่ คนนั้นนะโดยการปฏิญญาเท่ากับบอกว่าฉันคือพระพุทธเจ้าองค์ใหม่ เพราะอะไร? เพราะว่าคนที่จะค้นพบทางคือมรรคมีองค์ ๘ มีอยู่คนเดียวคือพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าก็แบ่งออกเป็นสองคือ พระปัจเจกพุทธเจ้า คือตรัสรู้แล้วแต่บอกคนอื่นไม่ได้กับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ตรัสรู้แล้วสอนคนอื่นได้ ทีนี้ถ้าหากว่าใครบอกว่าในพระไตรปิฏกเนื้อหาที่เป็นพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามันผิดนะ ที่ถูกมันเป็นอย่างนี้ ซึ่งสิ่งที่ฉันทําอยู่นี่มันถูก ก็เท่ากับบอกกล่อมตัวเองว่าฉันคือพระพุทธเจ้า โดยรวมๆ แล้วผู้เป็นมิจฉาทิฎฐิก็มักเป็นอย่างนั้น ทีนี้มั่นใจขนาดไหนว่าตนจะพ้นอบายได้ ถ้ามั่นใจแล้วก็เอาเถอะ คือถ้าดีจริง มันก็ควรจัดการมุทิตา แต่ถ้าหากว่าเอาผลของการปฏิบัติของเขาเป็นเกณฑ์โดยลําพัง เราเองก็ไม่ได้เชื่ออะไรมากนัก ก็ถือเอาผลการปฏิบัติของพระพุทธเจ้าจริงๆดีกว่า และก็เท่าที่ศึกษาประวัติตามคําสอนในพระไตรปิฏกมาเนี่ย โดยเฉพาะแม้กระทั่งอรรถกถาเป็นต้น ท่านสังวรมากๆเลยนะ คนที่เรียบเรียงคัมภีร์ท่านสังวรมาก ท่านสํารวมมากจริงๆ เรียกว่าคําที่เขียนด้วยความพลั้งเผลอไม่มีเลย ไม่มีจริงๆ ท่านสังวรท่านสํารวมระวังมาก ถ้าหากว่าเราได้ค้นคว้าไปเยอะๆ นะจะรู้ว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่ทีนี้คนที่ปฏิเสธส่วนใหญ่ก็คือคนที่ไม่เคยอ่าน แต่ก็มันมีหลักที่ว่านะ ถ้าคนที่ฟังเรื่องศีลแล้วตําหนิเรื่องศีล ขอให้รู้เถอะว่าเขานั้นเป็นผู้ทุศีล ถ้าหากว่าฟังเรื่องสมาธิเรื่องความสงบแล้วเขาตําหนิเรื่องความสงบขอให้รู้เถอะว่าเขาเป็นคนฟุ้งซ่าน ถ้าหากว่าฟังเรื่องปัญญาแล้วเค้าไม่ชื่นชมขอให้รู้เถอะว่าเขาเป็นคนเขลา ก็ถือว่าไม่น่าสนใจอย่างหนึ่ง

ในมหาจัตตารีสกสูตรเนี่ยกล่าวถึงว่า อริยมรรคอันประกอบไปด้วยองค์ ๘ ที่พระองค์จําแนกไว้ดีแล้วขนาดนี้นะ ถ้าสมณพราหมณ์หรือผู้ใดผู้หนึ่งคิดตําหนิขึ้นมา บุคคลนั้นจัดเป็นมิจฉาทิฎฐิบุคคล ถ้าผู้ใดผู้หนึ่งกล่าวว่าสัมมาสังกัปปะไม่ดี แสดงว่าเขานี้ยังมากไปด้วยอกุศลวิตก ถ้าบอกว่าสัมมาวาจาที่พระองค์ตรัสไว้ไม่ดี คนที่พูดนั้นก็เป็นคนนิยมมิจฉาวาจา สมมุติว่า..มรรคที่พระองค์จําแนกไว้ดีแล้วเนี่ย เขาว่ามันใช้ไม่ได้ ก็แสดงว่าเขานั้นย่อมยินดีในมิจฉามรรค ถ้าเขายินดีในมิจฉามรรคเสียแล้ว ก็ไม่มีอะไรจําต้องกล่าวอีกแล้วนะก็ถือว่าเป็นคนละแนวกันว่างั้นเถอะ

แต่ถ้าหากว่าอย่างคนที่กล่าวปฏิเสธเป็นต้น ถ้าท่านทรงจําดีแล้วก็เป็นคนที่สมาจารทั้งกายวาจาและอาชีพดีอยู่แล้วเป็นคนพูดก็น่าคิดมากๆ แต่โดยทั่วๆไปแล้วไม่ค่อยพบแบบนั้น แต่ทีนี้ที่กล่าวมานั้นไม่ได้มุ่งหมายไปตําหนิผู้อื่น แต่หมายความว่าถ้าเราศึกษานะเราควรตั้งอตฺตสมฺมาปณิธิหรือควรตั้งจิตให้ชอบไว้ให้ถูกต้องว่าสิ่งที่เราศึกษาเนี่ยนะ ศึกษาไปเพื่ออะไร? เราก็ไม่ได้มุ่งศึกษาไปว่าเราจะไปชนะใครใช่มั้ย ของฉันถูกต้องกว่าของคุณ ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย ปัญหาที่เราศึกษา อย่างอานิสงส์ของสติปัฏฐานเนี่ย น่าจะบอกไว้ชัดเจนมากๆ เพราะอาตมาชอบมากเลยนะที่กล่าวถึงอานิสงส์ของสติปัฏฐาน เพราะจะเห็นว่า เออเนี่ยแหละจุดหมายที่เราศึกษาเนี่ย เป็นอย่างนี้นะ จํากันได้ทุกคนแล้วนะอานิสงส์ของสติปัฏฐาน

ก็มีผู้ถามว่า อานิสงส์สติปัฏฐาน ๗ นี้เขานับยังไง ? คือ ๕ บรรทัดจริงแต่ขยายเป็น ๗

  • อานิสงส์ที่ ๑) เพื่อความหมดจดแห่งสัตว์ทั้งหลาย

ข้อหนึ่งนะเพื่อความหมดจดของสัตว์ทั้งหลาย ไอ้คําว่าความหมดจดในที่นี้เนี่ยนะ หมายถึงหมดจดจากอะไร หมดจดหมายถึงว่าความบริสุทธิ์ มีสองอย่างคือทางกายกับทางจิต บริสุทธิ์ทางกายใช่ไหมจึงจะชื่อว่าบริสุทธิ์ในศาสนานี้ ไม่ใช่ ศาสนานี้ไม่ได้วัดความบริสุทธิ์ที่รูปปกาย แต่ความบริสุทธิ์ต้องบริสุทธิ์ที่จิต ที่นี่ถามว่าจิตนี้ก็แบ่งเป็นสองส่วน ในส่วนที่บริสุทธิ์ กับไม่บริสุทธิ์

ถามว่าจิตไม่บริสุทธิ์หรือเศร้าหมองเนี่ยจิตยังไงจึงจะเรียกว่าจิตเศร้าหมอง ?
จิตที่เกิดร่วมกับโลภะ, จิตที่เกิดร่วมกับโทสะ, จิตที่เกิดร่วมกับโมหะ
โลภะเป็นอย่างไร, โทสะเป็นอย่างไร, โมหะเป็นอย่างไร เช่น โมหะ ความไม่รู้ ๘ ประการ โทสะคือความขัดเคืองในอารมณ์ทั้งหมด โลภะคือความยึดข้องในอารมณ์ทั่วๆ ไป โดยเฉพาะกามคุณ ๕ และก็ยังมีบริวารของโลภะ คือ ทิฐิ กับ มานะ บริวารของโทสะ คือ อิสสา, มัจฉริยะ และ กุกกุจจะ ส่วนโมหะนั้นน่ะบริวารของเขาคืออุทธัจจะ กับ วิจิกิจฉา

แล้วตัวโมหะเขาเองเนี่ย ไม่รู้ ๘ ประการ คือ

๑. ทุกฺเข อญาณํ ไม่รู้ในทุกข์
๒. ทุกขสมุทเย อญาณํ ไม่รู้เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์
๓. ทุกฺขนิโรธ อญาณํ ไม่รู้ธรรม อันเป็นที่ดับแห่งทุกข์
๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาย อญาณํ ไม่รู้ทางปฏิบัติที่จะเข้าถึงความดับทุกข์
๕. ปุพฺพนฺเต อญาณํ ไม่รู้ในขันธ์, อายตนะ, ธาตุ ที่เป็นอดีต
๖. อปรนฺเต อญาณํ ไม่รู้ในขันธ์, อายตนะ, ธาตุ ที่เป็นอนาคต
๗. ปุพฺพนฺตา ปรนฺเต อญาณํ ไม่รู้ในขันธ์, อายตนะ, ธาตุ ทั้งที่เป็นอดีต และอนาคต
๘. อิทปฺปจฺจยตา ปฏิจฺจสมุปฺปนฺเนสุ ธมฺเมสุ อญาณํ ความไม่รู้ในธรรมที่มีเหตุให้เกิดผลต่อเนื่องกัน ตามนัยปฏิจจสมุปบาท

โมหเจตสิกนี้ เป็นมูล เป็นรากเหง้าแห่งอกุศลธรรมทั้งปวง มูล แปลเป็นไทยว่ารากนะถ้าเป็นเผือกมันก็เรียกว่าเหง้าใช่มั้ย เหง้ามันเหง้าเผือก แต่ถ้าเป็นต้นไม้ทั่วๆไปก็เรียกว่าราก บางทีก็เลยเรียกว่ามูลรากหรือว่ารากเหง้าใช้ทั้งรากทั้งเหง้าเลยนะ โลภะ โทสะ โมหะ เหล่านี้ถ้าล่วงมาทางความคิดเฉยๆเรียกว่าอะไร? เรียกว่า มโนทุจริต ถือว่าเป็นความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่สม่ําเสมอ ความไม่สะอาดทางใจ คําใดที่พูดออกมา โดยที่มีมโนทุจจริตพวกนี้เป็นสมุฏฐานเรียกว่าอะไร? เรียกว่า วจีทุจริต และก็กรรมใดที่ทำทางกายคือกายกรรมอ่ะ ได้มีทุจริตเหล่านั้นเป็นสมุฏฐานล่วงมาทางกาย เรียกว่า กายทุจริต

ทีนี้ในทุจริต ๓ ประการเหล่านี้มีเจตนาเกิดร่วมด้วย เจตนานั้นเรียกว่า กรรม ถ้ามันล่วงมาทางกาย ก็เรียกว่ากายกรรม เรียกว่าวจีกรรม และก็เรียกว่ามโนกรรม เพราะฉะนั้นถือว่าอันนี้เป็นความเศร้าหมองของสัตว์ทั้งหลาย ความไม่บริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลายเนี่ยเป็นอย่างนี้ สติปัฏฐานพระองค์ตรัสว่าเพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลายใช่มั้ย คือถ้าเจริญสติปัฏฐานนะ ไอ้ความเศร้าหมองเหล่าเนี้ยจากจะหายไป ละความเศร้าหมองเหล่านี้ได้ทั้งหมดนะ ถ้าเจริญสติปัฏฐาน

  • อานิสงส์ที่ ๒) เพื่อก้าวล่วงทุกข์
  • อานิสงส์ที่ ๓) เพื่อก้าวล่วงโทมนัส
  • อานิสงส์ที่ ๔) เพื่อก้าวล่วงอุปายาส

แต่ตรงนี้เค้าเรียกทุกข์กับโทมนัสคู่กัน แล้วก็ก้าวล่วงทุกข์กับโทมนัส ทุกข์ก็เน้นทุกข์กาย โทมัสก็เสียใจคือเน้นที่ใจ ถ้าเจริญสติปัฏฐานพ้นจากทุกข์ทางกายและก็ทุกข์ทางใจ 

  • อานิสงส์ที่ ๕) เพื่อความอัสดงอันแปลว่าดับ 
* หมายเหตุ คำว่าก้าวล่วง แบ่งเป็น ๒ คือ ปริเทวะ กับ อุปายาส ในอานิสงค์ ข้อ ๒,๓ คือ ก้าวล่วงปริเทวะ หมายถึง ปริเทวทุกขํ คือ ความคร่ำครวญรำพันเป็นทุกข์ มีอาการร้องไห้ ร่ำไห้ พิรี้พิไร มีน้ำตาไหล ฟูมฟาย มีสาเหตุจากการที่มารดา บิดา บุตร ภรรยา หรือญาติ ถึงแก่ความตาย หรืออาจมีสาเหตุมาจากการสูญเสียทรัพย์สมบัติ แล้วทำให้บ่นเพ้อละเมอ ราวกับคนวิกลจริตทุกวันเวลา ส่วน อุปายาสทุกขํ คือ ความคับแค้นใจที่เกิดขึ้นมาจากการประสบภัยพิบัติอย่างใด อย่างหนึ่ง และอานิสงส์ข้อ ๕ คือ ทุกฺขโทมนสฺสานํ อตฺถงฺคมาย เพื่อความดับสูญ แห่งทุกข์และโทมนัส(กายและใจ)
  • อานิสงส์ที่ ๖) เพื่อการบรรลุ อริยมรรค

คือการบรรลุญาญธรรม ญาญธรรมตัวนี้แปลว่าอริยมรรค 

  • อานิสงส์ที่ ๗) เพื่อทํานิพพานให้แจ้ง

เพื่อทําพระนิพพานให้แจ้ง อันนี้ถือว่าอานิสงส์ทั้ง ๗ ประการของสติปัฎฐาน ทั้งหมดเนี่ยนะทั้งสูตรเลย ทีนี้อานิสงส์ทั้งหลายแหล่เนี่ย ถามว่าข้อไหนสําคัญที่สุด? ทั้งหลายเนี่ยนะถือว่ามีความสําคัญที่สุดแล้วก็คือข้อสุดท้าย คือการทําพระนิพพานให้แจ้ง อันใดคนที่แทงตลอดพระนิพพานได้ คนนั้นแสดงว่าได้บรรลุญายธรรมคืออริยมรรค คนที่บรรลุญายธรรมคืออริยมรรคมีนิพพานเป็นอารมณ์อย่างเนี้ยเค้าจึงจะละโสกะปริเทวะได้คนที่ละโสกะปริเทวะได้เนื่องจากหมดความทุกข์ทางกายและทางใจคนที่หมดทุกกายทุกข์ใจจริงจริงคือคนตัดกิเลสได้และก็อานิสงส์ทั้ง ๗ ประกาศนี้ก็มันก็จะหมุนรอบตัวกันเอง อธิบายกันเองทั้ง ๗ ประการเหล่านี้ ทีนี้ถ้ามีความเข้าใจว่า อานิสงส์ทั้ง ๗ ประการเนี่ยนะ ควรจะเรียนรู้ควรจะเข้าใจขนาดไหน จึงจะได้อานิสงส์ทั้ง ๗ ประการอย่างนี้ โดยเฉพาะอานิสงส์ข้อแรกๆ เลยใช่ไหม ทําอย่างไรจึงจะละโลภะได้ ทําอย่างไรจึงจะละโทสะได้ ทําอย่างไรจึงจะละโมหะได้ 

ถ้าจับเอาอานิสงส์ ๗ ประการนะแล้วกลับมาศึกษาว่าสิ่งที่เราเรียนเนี่ยคู่ควรกันใหม่ที่จะได้อานิสงส์อย่างนี้ สมมุติถ้าฝั่งนี่เป็นอานิสงส์แปลว่าอะไร? อานิสงส์ หมายความว่า กําไร ทีนี้มาดูเหตุ เหตุเพื่อให้ได้กําไรเหล่านั้นเนี่ยพระพุทธองค์ตรัสบอกว่าสติปัฏฐาน ทางนี้คือสติปัฏฐาน สติปัฏฐานนี่มีเท่าไหร่นะ สติปัฏฐานมี ๓ ใช่มั้ย หนึ่งอารมณ์ของสติ สองหลักการตั้งสติของพระพุทธเจ้า สามตัวสติ ฉะนั้นสติปัฏฐานที่พูดถึงหมายถึงตัวสติ ที่นี้สตินั้นเป็นสติที่เกิดร่วมกับอะไร? สตินั้นต้องเป็นสติที่เกิดร่วมกับวิปัสสนาในตัวสติที่เกิดร่วมกับวิปัสสนาเรียกว่าสติปัฏฐานภาวนา

ทีนี้สติปัฏฐานภาวนาเนี่ยคนที่จะเจริญ เจริญยังไง? ยกตัวอย่างก่อนนะ เวทนาเอาเวทนาบรรพที่เรากําลังเรียน เวทนา, เวทนานุปัสสี วิหะระติ (พิจารณาเห็นธรรม คือความเสื่อมไป), อาตาปี สัมปะชาโน สะติมา(มีสติ เฝ้าเพียรเผากิเลส ด้วยปัญญาภาวนา) , วิเนยยะ โลเก อะภิชฌา โทมะนัสสัง(นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้) ข้อปฏิบัติตามนี้นะจึงจะเป็นข้อปฏิบัติเพื่อให้ได้อานิสงส์ตามที่กล่าวไปแล้ว ทีนี้โดยคําแล้ว เวทนาสู่เวทนานุปัสสีเนี่ยนะ คํานี้หมายถึงอะไรขันธ์? เวทนาขันธ์, อนุปัสสี ตัวนี้เป็นชื่อของ อนุปัสสนา ๗, วิหะระติ ตัวนี้หมายถึง อิริยาบถ ๔, อาตาปี เป็นชื่อของ ความเพียร, สัมปะชาโน ก็คือเป็นชื่อของ ปัญญา, สติมา ก็คือ ตัวสตินั่นเอง

อีกในหนึ่งท่านอธิบายว่า สัมปะชาโนคือตัววิปัสสนา สติมาเป็นสมถะ ทีนี้ถ้าปฏิบัติถูกต้องนะ ต้องเป็นวินัยวินัยตัวนี้แปลว่ากําจัด กําจัดมีสองอย่างคือ ตทังคะวินัย๑ กับ วิขัมภนวินัย๑ และ (กำจัด ๒ อย่างนี้คือ ตทังคปะหานะ) ก็ละตัวอภิชฌากับโทมนัส อภิชฌา ได้แก่ โลภะ โทมนัส ได้แก่ โทสะ

ทีนี้ค่อยๆมาประกอบคําใหม่นะว่าผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน ที่พระองค์ตรัสว่าอานิสงส์ทั้งหลายเหล่านั้นเนี่ยนะต้องเจริญคือ :-

ขั้นที่ ๑ เวทนา สู่ เวทนานุปัสสี
คือเป็นผู้พิจารณาเห็นเวทนาโดยอนุปัสสนา ๗ ในเวทนาทั้งหลาย ทีนี้ไอ้เวทนาทั้งหลายเนี่ยนะที่เรากําลังจะเรียนต่อไปคือเวทนา ๙ เวทนานี้มี ๙ นะ แต่ว่าจะพิจารณาจริงๆ ก็พิจารณาได้ทีละหนึ่ง แต่ว่าต้องเอาทั้ง ๙ นั้นแหละมาพิจารณา แต่ว่าพิจารณาทีละหนึ่งโดยอนุปัสสนา ๗ อนุปัสสนา ๗ มีอะไรบ้าง?

    ๑. อนิจจาวิปัสสนา ปัญญาเห็นความจริงว่า ไม่เที่ยง
    ๒. ทุกขาวิปัสสนา ปัญญาเห็นความจริงว่า เป็นทุกข์
    ๓. อนัตตา วิปัสสนา ปัญญาเห็นความจริงว่า ไม่ใช่ตัวตน
    ๔. นิพพิทาวิปัสสนา ปัญญาเห็นความจริงว่า เบื่อหน่าย (เบื่อในวัฏฏะ)
    ๕. วิราคาวิปัสสนา ปัญญาเห็นความจริงว่า(น่าเบื่อหน่าย) จึงคลายราคะ
    ๖. นิโรธวิปัสสนา ปัญญาเห็นความจริงว่า ความดับสนิท (นิพพานนั้นพ้นจากวัฎฎะ)
    ๗. ปฏินิคฺสคฺควิปัสสนา ปัญญาเห็นความจริงว่า ความสละคืน (ทวนกลับปฎิจสมุปบาทสายดับ)

ต้องมีอนุปัสสนา ๗ ในเวทนาทั้งหลาย แต่ให้รู้ว่าเวทนานุปัสสี คือมี อนุปัสสนา ๗ พิจารณาเวทนาในเวทนาทั้ง ๙ แต่ก็จะมีเพิ่มแบ่งเป็นเวทนา ๑๒ ก็มี เดี๋ยวจะกล่าวต่อไปนะ แล้วก็ในระหว่างการเจริญอนุปัสสนาเนี่ยนะไม่เกี่ยงอิริยาบถ เจริญตอนยืนก็ได้, เจริญตอนเดิน, ตอนนั่งและก็ตอนนอน ได้หมด ไม่จํากัดอิริยาบถ ไม่จํากัดอิริยาบทเลยวิหะระติเนี่ยนะ และผู้ที่เจริญต้องเจริญด้วยความเพียรจริงๆ สัมปะชาโนเนี่ยนะคือมีปัญญาบริหารเป็นต้นอย่างดี สติมา คือมีสติ มีสัมปชัญญะเป็นอย่างดี และก็กําจัดอภิชฌาและโทมนัส เมื่อเจริญถูก ต้องเป็นตทังคะปหาน กับ วิขัมภนปะหาน ต้องละอภิชฌาและโทมนัสได้ เพราะอะไร? เพราะว่าสติปัฏฐานที่เรากล่าวเป็นบุพพภาค (คือเป็นเบื้องต้นของอริยมรรค) ตอนนี้นะ เป็นสติปัฏฐานที่เป็นบุพพภาคอยู่บุพพภาคแปลว่าส่วนเบื้องต้น สติปัฏฐานเรียกเป็นส่วนเบื้องต้น ถ้าสติปัฏฐานตรงนี้ไม่ใช่ส่วนเบื้องต้นอานิสงส์อันนี้ไม่จําต้องกล่าวใช่มั้ย แต่ว่าสติปัฏฐานที่เรากล่าวนี่ถือว่าเป็นส่วนเบื้องต้นทำปัจจัยให้แทงตลอดญายธรรม คือ อริยมรรค สติปัฏฐานเบื้องต้นที่เจริญ เพื่อให้แทงตลอดญายธรรม คือ อริยมรรค

หลักของโสดาปฏิยังคะ มีอยู่คํานึงว่า ธมฺมานุธมฺมปฏิปตฺติ ทั่วๆไปภาษาไทยนิยมแปลว่าปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ก็แบ่งเป็นสองคํานะ ธมฺม ก็คือคําว่า ธรรมะ ศัพท์หนึ่ง อนุธมฺมปฏิปตฺติ ก็คือ อนุธรรมะปฎิบัติ ก็เป็นสองคํา ธรรมะตัวนี้ ถ้ายกนะ คือ มรรค ผล นิพพาน เรียกว่าธรรมะ ส่วนอนุธรรมะ คือ การปฏิบัติธรรม อนุธรรมปฏิบัติอะไร? ก็คือปฏิบัติบุพพภาคเหล่านี้ให้สมควรแก่มรรค ทีนี้ก็ต้องมาวิเคราะห์ถึงสิ่งที่เราเจริญนี่มันคู่ควรไหมแก่อริยมรรค ที่บอกว่าทำเหตุให้มันคู่ควรกับกําไร(อานิสงส์) ที่กล่าวไว้หรือเปล่า ว่ากําไรนี้ตั้งไว้ใหญ่โตมากเลยนะ ผู้ที่มีปัญญานะเขาฟังแค่นี้เข้าไปปฏิบัติตามได้เลยจริงๆ เพราะตรงนี้เนี่ยนะ คงเข้าใจกันหมดนะ ย้อนมาอีกครั้งนึง ถ้าสงเคราะห์เป็นอริยสัจหน่อยนึงว่าถ้าโดยสัจจะแล้ว การตรัสรู้ธรรมะอย่างไรเสียก็พ้นอริยสัจไม่ได้ใช่มั้ย เมื่อพ้นอริยสัจไม่ได้นะ เวทนาสู่เวทนาเนี่ย คํานี้เท่ากับ เวทนาขันธ์ เมื่อเวทนาขันธ์ก็คือเท่ากับทุกขสัจจะ โดย อภิชฌากับโทมนัส โลภะกับโทสะ อันนี้เท่ากับอะไรสัจจะ = สมุทยสัจจะ โลภะกับโทสะ=อภิชฌากับโทมนัส เนี่ยเป็นสมุทยสัจจะ

ที่นี้ เวทนา สู่ เวทนานุปัสสี คือตัวอนุปัสสนาก็เท่ากับวิปัสสนา แต่ถ้าจะสงเคราะห์มรรคทั่วๆไปแล้วเนี่ยนะอาตาปี คืออะไร? คือ สัมมาวายามะ อาตาปีเป็นสัมมาวายามะ สัมปะชาโน เป็น สัมมาทิฏฐิ สัมปะชาโนเป็นสัมมาทิฏฐิ สติมา ตัวนี้เป็น สัมมาสติ สติมาเป็นสัมมาสติ วิเนยยะ โลเก เป็น สัมมาสมาธิ ได้กี่มรรคละ (๑) สัมมาทิฐิ (๒) สัมมาวายามะ (๓) สัมมาสติ (๔) สัมมาสมาธิ (ห้า สัมมาสังกัปปะ พระอาจารย์สมบัติ จะแสดงร่วมกับสัมมาทิฎฐิ)

อรรถกถาอานาปานสตินิเทศในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค กล่าวว่าวิปัสสนามีจํานวนเท่าไหร่ จําต้องมีวิตกจํานวนเท่านั้น วิตกนี้เป็นตัวที่อุปการะต่อวิปัสสนา วิปัสสนาเนี่ยขาดวิตกไม่ได้โดยประกาศทั้งปวง เมื่อพูดสัมมาทิฏฐิแล้ว สัมมาสังกัปปะเท่ากับแสดงแล้วเพราะอะไร? เพราะว่าไอ้ความตรึกแม้นอันใด อันนั้นเป็นสัมมาสังกัปปะ เพราะว่าในขณะที่พิจารณาหรือในขณะที่เจริญเช่นนี้ เป็นการออกจากวัฎฎะใช่ไหม อันนี้แหละเป็นเนกขัมมะสังกัปปะ เพราะในระหว่างเจริญภาวนานี้เพื่อมุ่งออกจากเวทนา เพื่อออกจากอภิชฌาและโทมนัสความยึดถือ, ความติดข้องในเวทนาทั้งหลาย อันนี้เป็นสัมมาสังกัปปะ เพราะฉะนั้นได้มรรค คือ เรียกว่าได้มรรคปัจจัย ๕ องค์ แล้วยังไงเค้าไม่เรียกว่าองค์มรรค แต่ก็เรียกว่ามรรคปัจจัย เพราะว่าถ้าองค์ของมรรคหรือว่าถ้าเรียกเป็นมรรคจริงๆแล้วอ่ะ ถ้าเป็นมรรคจริงๆ ต้องหมายถึงในขณะโลกุตระจิต แต่อันนี้เป็นบุพพภาค คือ แปลว่าเบื้องต้นของอริยมรรค ทีนี้เราเห็นแค่ ๕ องค์ขาดไปเท่าไหร่ ขาดไป ๓ ถามว่าทําไมตรงนี้จึงไม่แสดงอีก ๓ ? ไม่จําต้องแสดง เพราะคนที่เจริญอันนี้ ท่านถือว่าคนนั้นอ่ะมีกายกรรมบริสุทธิ์, วจีกรรมบริสุทธิ์ และก็มีอาชีพที่บริสุทธิ์อยู่แล้ว ไม่เดือดร้อนในสิ่งเหล่านั้นอยู่แล้ว เอาเหอะถ้าหากว่าคนที่มีความผิดพลาดทางกายกรรม วจีกรรมและอาชีพนะ เจริญอนุปัสสนาอันนี้ไม่ได้เด็ดขาด

ถามว่าทําไมจึงเจริญไม่ได้? ก็จะถามนะ เอานะสมมติว่าถ้าอาศัยจักขุกับรูป เกิดจักขุวิญญาณใช่ไหมธรรมะ ๓ อย่างประชุมกันเป็นผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงมีเวทนา เวทนามี ๓ ทั้งให้เป็นสุขเวทนา, ทุกขเวทนา, อทุกขขมสุขเวทนา ขณะที่เสวยสุขเวทนาขณะนั้นก็ไม่ได้เสวยทุกขเวทนา ไม่ได้เสวยอทุกขมสุขเวทนา มีแต่สุขเวทนาล้วนๆ ในขณะที่เสวยทุกขเวทนา ก็ไม่มีอทุกขมสุขเวทนา ไม่มีสุข ไม่มีอุเบกขา มีแต่ทุกขเวทนาอย่างเดียว และขณะที่เสวยอุเบกขาเวทนา ก็ไม่มีสุขเวทนา ไม่มีทุกขเวทนา มีแต่อุเบกขาเวทนาอย่างเดียว แต่ว่าสุขเวทนาไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่งอาศัยการเกิดขึ้นมีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความคลายไปเป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดา แม้แต่ทุกขเวทนาก็ไม่เที่ยงอันปัจจัยปรุงแต่งอาศัยการเกิดขึ้น มีความสิ้นไปเป็นธรรมดาเสื่อมไป คลายไปดับไปเป็นธรรมดา เหมือนกันนะอุเบกขาเวทนาก็เหมือนกัน แล้วเมื่อกี้นี้พูดถึงมาจากเวทนาจากทวารไหน? ทวารตาใช่ไหมทวารตานี้ก่อให้เกิดเวทนา ๓ หู ก็ ๓ จมูก ก็ ๓ ลิ้น ก็ ๓ กาย ก็ ๓ จากทวารใจก็อีก ๓ เท่ากับเวทนาเท่าไหร่?เวทนา ๑๘ ละ

เอาเวทนา ๓ คูณทวาร ๖ เท่ากับเวทนา ๑๘ ตามเห็นอย่างที่กล่าวไปเมื่อกี้เนี่ยนะ ลองไปเจริญดูนะยังไงสูตรเขาจําไม่ยากแต่ว่าลองไปเจริญดูว่าเจริญได้หรือเปล่าว่างั้นเถอะ ลองไปสมมุตินะไปหลอกใครสักคนหนึ่งไว้ก่อนแล้วก็มาเจริญอย่างนี้ดูนะ ถ้าเจริญได้ ขออาตมายอมรับเลยว่าทําไมเก่งขนาดนั้น ก็เท่าที่รู้จักไม่มีใครเจริญได้ ถ้าผิดพลาดอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่นะ ถ้าท่านมีทุจริตกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งที่ที่ตัวเองนึกแล้วไม่สบายใจเจริญพวกนี้ไม่ได้ ถึงเจริญได้ไม่เกิน ๓ นาที เก่งมากครึ่งชั่วโมงเนี่ยหมดล่ะ แต่ไอ้ที่จะไปเจริญทั้งวันทั้งคืนเนี่ยหมดสิทธิ์ได้ การเจริญเหล่านี้เนี่ยท่านเรียกว่าเจริญแบบสาตัตจจริยาหมายความว่าต้องเจริญอย่างต่อเนื่อง เจริญต่อเนื่องเป็นต้นแล้วจึงจะได้ผล

เพราะฉะนั้นศีลนี้นับว่าสําคัญมาก ถือว่าเป็นบาทเป็นพื้นฐานเบื้องต้น เป็นพื้นฐานเป็นบาทเบื้องต้นของการเจริญวิปัสสนาทั้งหลาย ในเมื่อกี้กล่าวว่าพิจารณาด้วยความเป็นของไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่งอาศัยการเกิดขึ้นมีความสิ้นไปเป็นธรรมดาเสื่อมไปคลายไปดับไปเป็นธรรมดา อันนี้กล่าวอนุปัสนาเดียวนะ คือ อนิจานุปัสสนาแล้วไปตามเห็นโดยทุกขานุปัสสนา ตามเห็นโดยอนัตตานุปัสสนา จนคู่ควรแก่อะไร? เห็นแค่ไหนจึงคู่ควรแก่การเบื่อหน่ายในเวทนาทั้งปวง ก็ให้คู่ควรแก่นิพพิทาแล้วเบื่อหน่ายนี้เบื่อหน่ายแค่ไหนจึงเบื่อหน่ายคู่ควรแก่การคลายกำหนัด ถามว่าถ้าคลายกําหนัดเนี่ยจะเอาแค่ไหน ถึงคู่ควรแก่ความไม่ปรารถนาเวทนาอันใหม่ ต้องการดับเวทนาและไม่ต้องการเวทนาอันใหม่ พอที่จะสลัดคืนเนี่ยนะ บอกคืนเวทนาทุกอันเลยเนี่ย ก็ต้องเรียกว่าปฏินิสสัคคา ต้องขนาดนั้นจึงจะได้ อันนี้คงผ่านนะในแง่ของอุเทศวาระ


>>> (มีผู้ถาม) พระอาจารย์สมบัติ นันทิโก ถึงการบรรลุธรรมของพระจูฬปันถก ซึ่งในประวัติเป็นผู้ที่มีปัญญาทึบมาก ทึบขนาดที่ว่าคาถาเพียง ๔ บท(๔ บรรทัด) ใช้เวลาท่องถึง ๔ เดือนก็ยังจดจำไม่ได้ แต่เมื่อพระพุทธเจ้าให้นั่งลูบผ้าขาว พร้อมภาวนาว่า"ผ้าเปื้อนธุลี" ท่านก็สามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์ปฏิสัมภิทาได้ภายในวันนั้น <<<

(พระอาจารย์ตอบ) เพราะนั่นผู้ที่ให้กรรมฐานเนี่ยคือพระพุทธเจ้าและก็พระองค์ไม่ได้ตรัสเฉพาะแค่(ผ้าเปื้อนธุลี)นั้น อันนั้นเบื้องต้นเฉยๆ แต่ว่าหลังจากนั้นพระองค์ก็มาแสดงธรรมที่ประกาศอริยสัจตรงตามอัทธยาศัย ฟังแล้วท่านได้อภิญญา ได้เป็นเอตทัคคะในด้านผู้ชำนาญในมโนมยิทธิ เนรมิตกายอื่นจากกายนี้ได้เป็นพันๆ ท่านปฏิบัติอยู่ไม่นานก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ ในวันนั้น(ก่อนบรรลุอรหันต์) หมอชีวกโกมารภัจจ์นิมนต์ให้ไปฉันท์ที่บ้าน พระพี่ชายของพระจูฬปันถกนี้เป็นเจ้าหน้าที่จัดกิจนิมนต์ รับกิจนิมนต์ได้ก็รับให้องค์อื่นหมดเว้นน้องชายของตัวเองไว้ ไม่รับนิมนต์ให้ ท่านก็บอกว่าพระองค์นี้(พระจูฬปันถก) ไม่มีวาสนาในพระศาสนา เพราะฉะนั้นท่านสมควรสึกได้แล้ว อยู่ไปมันเสียหายศาสนาเค้านะ พี่ชายนี่ไล่ให้สึกเลย พี่ชายนี่เป็นพระอรหันต์เนี่ยนะ คือพี่ชายเนี่ยคือพระมหาปันถกเป็นเอตทักคะในด้านอรูป ในด้านอรูปฌาน ส่วนน้องชาย(ในเวลาต่อมา) นี้เป็นเอตทักคะในด้านรูปฌาณ จริงๆ ก็เอตทักคะทั้งคู่แต่ตอนนั้นก็ยังไม่รู้อัธยาศัยนะ พี่ชายไล่สึกไป ไล่ไปสึก ก็เสียใจมากร้องไห้จะออกไปแล้ว พระพุทธองค์รีบไปยืนรออยู่หน้าวัดโน่นเสร็จแล้วก็บอกว่า อ้าวเธอบวชในศาสนาของเราไม่ใช่หรือ ไม่ได้บวชในศาสนาของพี่ชายเธอนี่อย่าสึกเลย ปลอบใจแล้วก็ให้กรรมฐานไปพิจารณาผ้าขาวอย่างว่านั่นแหล่ะ  ผ้าขาวผืนหนึ่งไปลูบนะแล้วภาวนา รโชหรณํ ผ้าเปื้อนธุลี เนี่ยทีนี้พอท่านนั่งลูบไปเรื่อยๆ เนี่ยนะ ผ้ามันก็เศร้ามองมันก็เปื้อน พอมันผ้ามันเปื้อนเนี่ยมันมีอุปนิสัยของเดิมว่าสมัยหนึ่งท่านเคยเกิดเป็นพระราชา เกิดเป็นพระราชาเนี่ยประทับบนคอช้างแล้วก็เหงื่อมันออกหน้าผากเยอะนะก็เลยเอาผ้า ผ้าขนหนูผ้าเช็ดตัวเช็ดหน้าผาก เช็ดแล้วก็มาพิจารณานะท่านเกิดสังเวชใจขึ้นเป็นอย่างมากเลยตอนนั้น นั่นแหละก็อุปนิสัยอันนั้นได้ พอลูบผ้าไปอุปนิสัยอันนั้นเกิดเข้ามาได้ เลยเบื่อหน่ายในวัฎฎะเห็นทุกข์เห็นโทษขึ้นมาเลย

พอเห็นโทษในระหว่างนั้นพระพุทธองค์ก็แผ่รัศมีมาเลย ก็มาเหมือนกับประทับยืนแสดงธรรมอยู่เฉพาะหน้า ท่านก็พิจารณาธรรมะแล้วก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ แล้วก็เป็นพระอรหันต์ที่เป็นเอตทักคะในด้านที่เรียกว่าเนรมิตกายอื่นจากกายนี้นะก็คือมโนมยิทธินั่นเอง เป็นผู้ที่บําเพ็ญบารมีมาแสนกัปป์แล้ว พระจูฬปันถกน่ะบำเพ็ญภาวนามาแสนกัปป์แล้ว คือกรรมที่ทำให้จําอะไรไม่ได้ มีอยู่ในอดีตชาติเนี่ยท่านเป็นคนเก่งมาก เป็นผู้ที่แตกฉานในพระไตรปิฎก แต่ในตอนที่เรียนพระไตรปิฎกนี่มันมีศิษย์โง่คนหนึ่งอยู่ในนั้นอ่ะ ไอ้ความที่ท่านเป็นคนเก่งก็ชอบไปล้อเลียนเขา เรียกว่าพูดจาถากถาง ไปพูดถากไปถากมาจนคนนั้นเลิกเรียนเลยอะ ก็บอกว่าด้วยกรรมอันนั้นแหละทําให้ท่านจําอะไรไม่ได้เลย จําอะไรไม่ได้แล้วไม่ใช่ชาติเดียวนะ โง่ตั้งหลายชาติ ว่าแล้วก็อย่าไปแซวให้ใครท้อแท้เข้าล่ะ ทําง่ายที่สุดเลยนะมิจฉาวาจาเนี่ย แต่ทางใจนี่มากกว่านั้นอีก มากกว่าวาจาอีก เพราะว่าวาจากว่าจะพูดทีมันก็ต้องรอคนฟังก่อนใช่มั้ย แต่ว่าไอ้คนที่จะพูดอะไรเนี่ยใจมันคิดมาตั้งนานแล้วนะ คิดตั้งหลายตลบแล้ว เพราะฉะนั้นไอ้มโนกรรมเนี่ยน่ากลัวที่สุด


ในหน้าสองนะหน้าสอง

เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอย่างไรเล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้

เสวยสุขเวทนาอยู่ก็รู้ชัดว่าเราเสวยสุขเวทนาอยู่
เสวยทุกขเวทนาอยู่ก็รู้ชัดว่าเราเสวยทุกขเวทนาอยู่
เสวยอทุกขมสุขเวทนาอยู่ก็รู้ชัดว่าเราเสวยอทุกขมสุขเวทนาอยู่
เสวยสุขเวทนามีอามิสก็รู้ชัดว่าเราเสวยสุขเวทนามีอามิสอยู่
เสวยสุขเวทนาไม่มีอามิสก็รู้ชัดว่าเราเสวยสุขเวทนาไม่มีอามิสอยู่
เสวยทุกขเวทนามีอามิสก็รู้ชัดว่าเราเสวยทุกขเวทนามีอามิสอยู่
เสวยทุกขเวทนาไม่มีอามิสก็รู้ชัดว่าเราเสวยทุกขเวทนาไม่มีอามิสอยู่
เสวยอทุกขมสุขเวทนามีอามิสก็รู้ชัดว่าเราเสวยอทุกขมสุขเวทนามีอามิสอยู่
เสวยอทุกขสุขเวทนาไม่มีอามิสก็รู้ชัดว่าเราเสวยอทุกขมสุขเวทนาไม่มีอามิสอยู่

เห็นเวทนาในเวทนาภายในบ้าง เห็นเวทนาในเวทนาภายนอกบ้าง เห็นเวทนาในเวทนาทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง เห็นธรรมะคือความเกิดขึ้นในเวทนาบ้าง เห็นธรรมะคือความเสื่อมในเวทนาบ้าง เห็นธรรมะคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในเวทนาบ้าง อนึ่งสติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่าเวทนามีอยู่เพียงเพื่อความรู้ เพียงเพื่ออาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้วและไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ พิสูจน์เชื่อว่าพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่

จําง่ายๆ นะมันมีเวทนาอยู่ ๙ ข้อนะ เวทนา ๙ ข้อนั้น ข้อหนึ่งก็เป็นสุขก่อนใช่มั้ย สุขขเวทนา ข้อสองก็ทุกข์ขเวทนา ข้อสามก็อทุกขมสุข เรียกว่าอทุกขมสุขเนี่ยนะคือ อทุกขํ บวก อสุขขํ เอาไอ้นิคหิต  อันนี้มาเป็น ม.ม้า ก็เลยเรียกว่า อทุกขสุข คือไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุข อันนี้เท่ากับ ๓ ข้อ และทีนี้ข้อ ๔ ก็คือเอาสุขนั่นแหละมาแบ่งออกเป็นสองประการ คือมีอามิสกับไม่มีอามิส อามิสในที่นี้หมายถึงกามคุณ ๕ คือหมายความว่าเป็นเวทนาที่เสวยเพราะอะไร เสวยคือความสุขในกามคุณ ๕ กับที่เกิดจากเนกขัมมะ เนกขัมมะก็คือการออกจากกามนั่นเอง อันนี้เรียกว่าสุขเวทนามีอามิสกับสุขเวทนาแบบไม่มีอามิส ส่วนข้อ ๖ ข้อ ๗ ก็ทุกขเวทนามีอามิสกับทุกขเวทนาไม่มีอามิส ข้อ ๘ ข้อ ๙ ก็คือเหมือนกัน อทุกขมสุขเวทานามีอามิสกับอทุกขมสุขเวทนาแบบไม่มีอามิส ก็เรียกว่าเวทนา ๙ ยังไงก็จําได้แล้วนะ จำ ๓ ก่อนนะ หนึ่งสุข สองทุกข์ สามอทุกขมสุข เสร็จแล้วสุขเเบ่งออกเป็นอย่างละ ๒ ทุกข์ก็แบ่งเป็น ๒ อทุกขมสุข ก็แบ่งออกเป็น ๒ ก็คือมีอามิสกับไม่มีอามิสเท่านี้เอง

ที่นี้เวทนาทั้งหลายเหล่านี้เนี่ยนะ ก็เท่ากับเวทนา ๙ เวทนา ๙ เหล่านี้ ถ้าจะให้เต็มแล้วควรจะมาจากเวทนาที่มาจากทวารตา ทั้งหมดเนี่ยชื่อว่าเวทานามาจากทวารตาอย่างเดียว โดยที่มีอารมณ์เดียวคือ รูปเป็นอารมณ์ มีรูปเป็นอารมณ์แล้วก็ได้เวทนา ๙ อย่างงี้ก็ได้ ถ้าจะเอาเวทนาให้พิสดารขึ้นใครที่ชอบคิดอะไรแบบกว้างขวางอะนะ สีเป็นอารมณ์อย่างเดียว บางครั้งก็เป็นสุข บางครั้งก็เป็นทุกข์ บางครั้งก็เป็นอุเบกขา ที่นี้ในความสุขเนี่ยนะก็แบ่งออกเป็นสุข บางครั้งสุขมีอามิสเป็นสุขที่เกี่ยวข้องกับอามิส บางครั้งก็สุขที่ไม่เกี่ยวข้องกับอามิส มีรูปเป็นอารมณ์นั่นแหละ บางครั้งมีทุกข์ ในทุกข์เหล่านั้นบางครั้งเป็นทุกข์ที่มีอามิส บางครั้งก็เป็นทุกข์ที่ไม่มีอามิส ในอารมณ์เดียวนั่นแหละบางทีก็เป็นอุเบกขา ในอุเบกขานะบางครั้งก็เป็นอุเบกขามีอามิส บางครั้งก็อุเบกขาไม่มีอามิส เพราะงั้นถ้าเป็นอารมณ์ ๖ อารมณ์

อารมณ์ ๖ คูณ เวทนา ๙ อ้าวเท่าไร? ก็จะเอาเวทนาแบบนี้ก็เยอะ แต่ก็มีวิธีคิดอีกตั้งหลายนัยอ่ะ เดี๋ยวข้างหน้าจะกล่าวถึงเวทนา ๒ เวทนา ๓ เวทนา ๕ เวทนา ๖ เวทนา ๑๘ เวทนา ๓๖ เวทนา ๑๐๘ จริงๆ แล้วก็คือมาจากแบบใช้วิธีแบบเนี้ย สัมพันธ์กันแบบนี้ว่าอะไรเป็นอะไรได้บ้างนั่นเอง ทีนี้เมื่อเวทนาเยอะๆ อย่างนี้แล้วเค้าเจริญอย่างไร ว่าเกี่ยวข้องกับสี ก็เป็นทั้งสุขทุกข์และอุเบกขา เสียงก็มีทั้งสุขก่อให้เกิดสุขทุกข์และอุเบกขาเนี่ยนะ กลิ่น, รส,โผฐัพพะ, ธัมมารมณ์ก็ก่อให้เกิดสุขทุกข์และก็อุเบกขา แล้วเขาพิจารณาอย่างไร ?

ในอรรถกถานั้นยกมาจาก ปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย มูลปัณณาส ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นตรัสกายานุปัสสนาสติปัฏฐานโดย ๑๔ บรรพดังที่พรรณนามานี้แล้ว บัดนี้เพื่อจะตรัสเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานโดยอาการ ๙ อย่าง จึงตรัสคํามีอาทิว่า กะถัญจะ ภิกขะเว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอย่างไรเล่า ก็อธิบายว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอย่างไรเล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้เสวยสุขเวทนาอยู่ก็รู้ชัดว่าเราเสวยสุขเวทนา เสวยทุกขเวทนาอยู่ก็รู้ชัดว่าเราเสวยทุกขเวทนา เสวยอทุกขมสุขเวทนาอยู่ก็รู้ชัดว่าเราเสวยอทุกขมสุขเวทนาอยู่

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุขขํเวทนํ เนี่ยนะมีอธิบายว่าเมื่อเสวยสุขเวทนาที่เป็นไปทางกายหรือเป็นไปทางจิตก็ย่อมรู้ชัดว่าเรากําลังเสวยสุขเวทนาดังนี้ ทีนี้ในข้อนี้ท่านก็เปรียบเทียบว่า เหมือนทารกทั้งหลายแม้ยังนอนหงายอยู่ในเวลาดื่มน้ํานมเป็นต้น เมื่อเสวยความสุขก็รู้ชัดว่าเราเสวยความสุข ถึงกระนั้นคํานี้พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ตรัสไม่เอาความรู้เช่นนั้น เพราะว่าความรู้เช่นนั้นย่อมไม่ละสัตตูปลัทธิ คือสักกายะทิฐินั่นเอง อ่ะนะ สัตตูปลัทธิก็คือสักกายทิฏฐิ ที่สําคัญว่าเป็นสัตว์ ไม่เพิกถอนสัตตสัญญาทั้งไม่เป็นกรรมฐานทั้งไม่เป็นสติปัฏฐานภาวนา คือถ้าแบบสุขทั่วๆไปนะใครได้รับความสุขอะไรสักอย่างเนี่ย ไอ้ความสุขอันนั้นแบบทารก เรากําลังเสวยสุขอยู่เลย ถ้าแบบนี้ท่านบอกว่าไม่ละสัตตูปลัทธิและก็ไม่ถอนสัตตสัญญา ถ้าไม่ถอนสัตตูปลัทธิก็คือลัทธิที่สําคัญว่าเป็นสัตว์ก็คือ ลัทธิแปลว่าทิฐิ ที่สําคัญว่าเป็นสัตว์หรือว่าสัตตสัญญา อันนี้เท่ากับอธิบายถึงการถือความเป็นสัตว์เนี่ยนะ โดยที่มีอะไรเป็นอารมณ์ ? มีเวทนาเป็นอารมณ์ เวทนาเหล่านี้ของทิฐิบางกลุ่มสําคัญว่าเราเนี่ยเวทนานี้เป็นอัตตาก็เท่ากับสักกายะทิฐิ เป็นสักกายะทิฐิที่สําคัญว่าเวทนาเป็นเรา เวทนาอันใดเราก็อันนั้น หรือเห็นเราด้วยความเป็นเวทนา หรือว่าเวทนานี้เป็นของเรา หรือว่าเราเนี่ยมีอยู่ในเวทนา หรือว่าเวทนาเนี่ยมีอยู่ในเรา ลักษณะนี้เป็นชื่อของทิฐิ แต่ถ้าพูดทิฐิ ทิฐินี้มีบริวารอยู่สองอย่างคือ ถ้าชุดไหนที่บอกว่าทิฐิมานะ ให้รู้ซะว่า มานะก็มา ตัณหาก็มา มากันทั้งบ้านเลยนะ มากันทั้งหมดเลย ถ้าบอกว่าที่ไหนมีทิฐิ ที่นั่นมีมานะกับตัณหา มาด้วยแล้ว ถ้าพูดหมดทีเดียวมันก็ไม่จบเป็นว่างั้นเถอะ ท่านก็เลยยกพอเป็นตัวอย่างให้

อนึ่งถ้าสุขเวทนาแล้วเนี่ยนะพูดว่าถ้าสําคัญว่าเป็นสัตว์ สุขเวทนานั้นก็เป็นที่ตั้งแห่งมานะสบายๆ แล้วสุขเวทนานั้นก็เป็นที่ตั้งแห่งตัณหา อันนี้สบายมากนะ สุขใครไม่ชอบบ้างว่างั้นเถอะ ผู้ที่ทําปริญญาเข้ารอบรู้ในเวทนาแต่บุคคลทั่วๆไปก็ยินดีในความสุข ถ้าความสุขแบบเนี้ยที่เกิดขึ้นกับทุกคนแล้วถ้ารู้ว่าเออนี่นะฉันกําลังมีความสุข ถ้ารู้แค่อย่างนี้แล้วจัดว่าเป็นเวทนานุปัสสนา ก็คงไม่มีใครในโลกนี้ที่ไม่เจริญวิปัสสนา ไม่มีสัตว์ตอนไหนที่ไม่เจริญวิปัสสนาเลย ถ้ารู้อย่างนี้ แค่นี้แล้วเป็นวิปัสสนา 

ทีนี้ถามว่าอ้าวแล้วรู้แบบวิปัสสนานี่เป็นยังไง?
ถ้าสําหรับรู้แบบนี้ปฏิเสธนะ แค่เนี้ย สมมติว่าดื่มน้ำปานะแล้วมันหวานอร่อย แหม…สุขดีจัง ถ้าอย่างนี้เป็นวิปัสสนานะไม่มีใครไม่เจริญวิปัสสนา แต่วิปัสสนาไม่ใช่เช่นนั้น

ส่วนการรู้ของภิกษุนี้ ผู้ที่เจริญวิปัสสนาจริงๆ ต้องละสัตตูปลัทธิได้ คือหมายถึงละทิฐิที่สําคัญว่าเป็นสัตว์ได้ ถอนสัตตสัญญา สัตสัญญาตัวเนี้ยเท่ากับอัตตวิปลาสนั่นเอง เป็นทั้งกรรมฐานเป็นทั้งสติปัฏฐานภาวนา ทีนี้ก็ความรู้นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าเนี่ยตรัสหมายเอาการเสวยโดยการรู้ทั่วอย่างนี้ คือคนที่เจริญเวทนานุปัสสนาเป็นคนที่รอบรู้เรื่องเวทนา ก็เลยตั้งคําถามเหล่านี้ขึ้น ถ้าเข้าใจคําถามนี้ดี ก็แสดงว่าเข้าใจเวทนาดี

ถ้าถามว่าใครเสวย ?
คําพูดแบบไทยๆนะเขาบอกใครรู้สึก หรือว่าการเสวยของใคร หรือว่าความรู้สึกเนี่ยมันของใคร หรือว่าเสวยเพราะเหตุใด

คําถามแรกนะเป็นคําถามที่เป็นโมฆะ ว่าการเสวยของใครเนี่ย ไม่ใช่ใครเสวย เพราะไม่ใช่สัตว์,ไม่ใช่บุคคลและก็ไม่ใช่สิ่งใดๆ เลยอ่ะเวทนาไม่ใช่ใครอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นไอ้คําถามว่าใครเสวยก็ไม่ใช่ตอบไม่ถูก ถ้าตั้งคําถามว่าใครเสวย ก็ไม่มีใครอยู่แล้วเอาใครไปเสวยล่ะ แล้วถามว่าการเสวยของใครมาจาก กสฺส เวทนา ตอบว่า ไม่ใช่การเสวยของใคร ไม่ใช่การเสวยของสัตว์หรือบุคคลใดๆ เพราะฉะนั้นปฏิเสธคําถามหนึ่งสองปฏิเสธว่าไม่ใช่เป็นเช่นนั้นนะ ทีนี้ถามว่า กึ การณา เวทนา เพราะเหตุใดจึงเสวย ความว่าก็เพราะมีวัตถุเป็นอารมณ์เนี่ยจึงมีการเสวย คําถามนี้นะคนที่เจริญเวทนานุปัสสนาจะเข้าใจ บอกว่าเพราะมีวัตถุเป็นอารมณ์จึงมีการเสวย เข้าใจไหมคำนี้ ก็หมายถึงว่าเวทนาเนี่ยถ้าจะเกิดขึ้นเนี่ยนะถ้าเวทนามีอะไรเป็นปัจจัย ? มีอะไรเป็นปัจจัย ก็มีธาตุใช่มั้ย มีสฬายตนะ  สฬายตนะเป็นปัจจัยจึงมีผัสสะ มีผัสสะเป็นปัจจัยจึงมีเวทนา เวทนาทีเกิดขึ้นเนี่ยพ้นผัสสะได้มั้ย? ไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าผู้ที่รอบรู้เวทนาก็คือรู้จักผัสสะซึ่งเป็นปัจจัยแห่งเวทนา เพราะฉะนั้นเพราะอะไรเพราะว่าไอ้วัตถุเป็นอารมณ์เนี่ย คือวัตถุแห่งเวทนาเกิดขึ้น จึงมีเวทนาเกิดขึ้น เวทนาเกิดขึ้นโดยปราศจากวัตถุได้มั้ย คือหนึ่งนะ ปราศจากตา เวทนาทางตานะถ้าไม่มีตาไม่มีสีไม่มีจักขุวิญญาณ ไม่มีผัสสะ เวทนานี้เกิดได้มั้ย? เกิดไม่ได้ ถ้าไม่มีหู ไม่มีเสียง ไม่มีโสตะวิญญาณ ไม่มีโสตะสัมผัส เวทนาเกิดได้มั้ย? เกิดไม่ได้ ถ้าไม่มีจมูก ไม่มีกลิ่น ไม่มีฆานะวิญญาณไม่มีฆานะสัมผัสเนี่ยนะเวทนาทางจมูกก็เกิดไม่ได้ ถ้าไม่มีลิ้น ไม่มีรส ไม่มีชิวหาวิญญาณ ไม่มีชิวหาสัมผัส เวทนานี้ก็เกิดไม่ได้ ทางกายทางใจก็เหมือนกัน เพราะเหตุนั้นเค้ารู้ชัดอย่างนี้ว่าเวทนาทั้งหลายนั่นเองเสวยเพราะธรรมวัตถุแห่งความสุขเป็นต้นนั้นๆ ให้เป็นอารมณ์ แต่เพราะถือเอาความเป็นไปแห่งเวทนานั้นย่อมเป็นเพียงโวหารเท่านั้นว่า อหํ เวทยามิ (เราเสวย) ก็คือเป็นสํานวนโวหาร ก็คือเป็นสํานวนเอาไว้พูดคุยกันเท่านั้นแหละ

พระโยคาพจรเมื่อกําหนดอยู่ว่าเวทนานั่นเองเสวยโดยธรรมวัตถุให้เป็นอารมณ์ คือวัตถุเป็นที่ตั้งแห่งเวทนานั่นแหละ ธรรมนั่นแหละให้เป็นอารมณ์อย่างนี้ พึงทราบว่าเธอยอมรู้ชัดว่าเราเสวยสุขเวทนา เหมือนพระเถรรูปหนึ่งที่จิตตลดาบรรพต ยกตัวอย่างผู้ที่ที่พิจารณาวัตถุเป็นที่ตั้งแห่งเวทนาว่าได้ยินว่าพระเถระในคราวอาพาธไม่สบายนอนร้องครวญครางอยู่เพราะเวทนาเนี่ยกล้าแข็ง ทุรนทุรายพลิกกลับไปกลับมาอยู่

ภิกษุหนุ่มรูปนักเรียนถามท่านว่า "ท่านเจ็บตรงไหนขอรับ"
พระเถระก็ตอบว่า "บอกที่เจ็บไม่ได้หรอกเธอ ฉันเสวยเวทนาโดยทําวัตถุให้เป็นอารมณ์"

คือไปพิจารณาไอ้วัตถุเหล่านั้นน่ะคือเวทนาเนี่ยนะ มันเกิดเหมือนกับสมมุติว่าเหมือนกับเสียงตบมือใช่มั้ยถ้าจะรู้เสียงก็แสดงว่ารู้วัตถุกับอารมณ์ ท่านไปพิจารณาตัวนั้นน่ะ เออเนี่ยถือว่ารอบรู้เวทนา ทีนี้ท่านก็เพ่งแต่สิ่งเหล่านั้นนะพวกเนี้ยเป็นปัจจัย เวทนาเป็นที่ตั้งแห่งเวทนา พิจารณาตัวเวทนาโดยจับที่ปัจจัยเนี่ยเป็นหลัก

ภิกษุหนุ่มก็เรียนถามว่า "ตั้งแต่เวลารู้ชัดอย่างนั้น ท่านอดกลั้นไว้ไม่ควรหรือขอรับ" เอ้อ… เจริญวิปัสสนาเป็นขนาดนี้ก็น่าจะอดทนกันบ้างอ่ะนะ
พระเถระตอบว่า "ฉันจะอดกลั้นนะเธอ จะไม่บิดแล้วนะจะปล่อยให้มันดิ้นไปอย่างนั้น" พระเถระก็อดกลั้นทุกขเวทนา ลําดับนั้นลมเสียดแทงถึงหัวใจ ไส้ใหญ่ก็ได้ออกมากองอยู่บนเตียง

ก็ถามคุณหมอวันก่อนว่าเอ๊ะมันเป็นไปได้มั้ยที่ว่าไส้แตกออกมา แล้วคุยกันว่าก็เป็นไปได้ ก็โรคบางโรคเนี่ยนะ ที่ๆ มันจะเกิดการขยับตัวแล้วมันจะเสียดผิวท้องให้ผิวท้องบางมากว่างั้น แล้วก็สามารถแตกออกได้อย่างนี้จริงๆ คือเนื่องจากว่าข้างในลําไส้เนี่ยนะมันเกิดการขยับตัวตลอดเวลาและบ่อยๆก็ทําให้ผิวหน้าท้องบางลง พระเถระก็ได้ชี้ให้ภิกษุหนุ่มดู แล้วก็ถามว่า" อดกลั้นขนาดนี้ควรหรือยัง" ภิกษุหนุ่มก็นิ่ง ไส้ทะลักขนาดนั้นเงียบอย่างเดียวแล้ว

พระเถระประกอบความเพียรสม่ำเสมอได้บรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา เป็นพระอรหันต์ (ประเภท) สมสีสี คือ มีที่สุดเสมอกัน คือการสิ้นชีวิตพร้อมกับการบรรลุเป็นพระอรหันต์ คือหมายถึงว่าเจริญวิปัสสนาให้โสดาปฏิมรรคเกิด แล้วก็ออกจากโสดาปฏิมรรคเจริญวิปัสสนาใหม่คือได้มรรคผลปัจจเวกขณญาณเกิด เจริญวิปัสสนาได้เป็นพระสกิทาคามี ได้มรรคผล ปัจจเวกขณญาณ หลังจากนั้นเจริญวิปัสสนาเป็นพระอนาคามีแล้วก็ได้มรรคผล ปัจจัยก็เจริญวิปัสสนาให้อรหัตมรรคเกิด ที่นี้พออรหัตมรรคเกิดผลจิตเกิด ปัจจเวกขณญาณเกิด พอปัจจเวกขณญาณจบก็จุติจิตของพระอรหันต์เกิดทันทีเรียกว่าพระอรหันต์ชีวิตสมสีสี (*พระอริยบุคคลตั้งอยู่ในปัจจเวกขณญาณ ๑๙ คือ ในโสดาปัตติมรรค มีปัจจเวกขณญาณ ๕, ในสกทาคามิมรรค มีปัจจเวกขณญาณ ๕, ในอนาคามิมรรค มีปัจจเวกขณญาณ ๕, ในอรหัตมรรค มีปัจจเวกขณญาณ ๔, แล้วหยั่งลงสู่ภวังค์ จึงปรินิพพาน)

โหน่าตื่นเต้นมากเลยนะ มาไส้ทะลักและค่อยบรรลุเนี่ยนะแต่คนอื่นก็ผ่าท้องผ่าไส้กันเยอะแยะแต่ก็ไม่ได้บรรลุอะไร อนึ่งพิสูจน์ผู้เจริญเวทนานุปสนาสติปัฎฐานนั้นเสวยทุกขเวทนาก็รู้ชัดว่าเราเสวยทุกขเวทนา อันนี้เป็นข้อสอง ข้อที่สองเสวยทุกขเวทนา ก็เลยไปข้อเก้าเลยว่าเสวยอทุกขมสุขเวทนาไม่มีอามิสอยู่ก็รู้ชัดว่าเราเสวยอทุกขมสุขเวทนาไม่มีอามิส เหมือนเมื่อเธอเสวยสุขเวทนาแล โดยทําวัตถุให้เป็นอารมณ์เหมือนกัน


เอาใหม่นะ ตามสูตรที่เราคุ้นเคยกันแล้วนะว่าอาศัยจักขุกับรูปทําให้เกิดอะไร ? จักขุวิญญาณ

ธรรมะ ๓ อย่างประชุมกันนั่นแหละเป็นผัสสะ คําว่าผัสสะที่ไหนเนี่ยหมายถึงถ้าอย่างผัสสะทางตา จักขุสัมผัสหมายถึงผัสสะที่เกิดร่วมกับจักขุวิญญาณ เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงมีเวทนา หรือว่าสุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ที่มีผัสสะเป็นปัจจัย หมายถึง
๑) สุขเวทนา
๒) ทุกขเวทนา
๓) อทุกขมสุขเวทนา

ในจักขุวิญญาณจริงๆแล้วอ่ะ มีแต่อทุกขมสุขเวทนา ก็คืออะไร? คืออุเบกขาเวทนานั่นเอง ที่เกิดร่วมกับจักขุวิญญาณ จิตที่เกิดถัดต่อมาเนี่ยนะเรียกว่า สัมปฏิจฉนะจิต (รับอารมณ์) สัมปฏิจฉนะจิตก็มีเวทนาเดียวคืออุเบกขาเวทนา ถ้า สันตีรณะจิต (พิจารณาอารมณ์) อันนี้มีเวทนา๒ โสมนัสกับอุเบกขา สามารถเป็นได้สองถ้ารูปารมณ์นั้นเป็นรูปารมณ์อย่างดีเลิศ ถ้ารูปารมณ์ชนิดดีนะ เวทนานี้จะเป็นโสมนัส สํานวนว่าอารมณ์ดีเลยตื่นใจเลย ตื่นตาตื่นใจเสร็จแล้วก็อันนี้ก็เป็นโวฏฐัพพนะจิต (ตัดสินอารมณ์) อันนี้ก็เป็นอุเบกขาอย่างเดียวส่วนชวนะเป็นได้ทั้ง ๓ เลยนะ (👉 อ่านกระบวนการของจิต เพิ่มเติม) คือทั้งที่เป็นสุขเวทนาทั้งที่เป็นโทมนัสเวทนา แต่ก็เรียกทุกข์เหมือนกัน และก็อุเบกขาเวทนา ทีนี้ผู้ที่เจริญวิปัสสนานั้นนะเขาก็เอาตัวฝั่งนี้ทั้งหมดนะ เวทนาฝั่งนี้ทั้งหมดนี้เป็นนามธรรมใช่มั้ย ทีนี้นามธรรมอันเนี้ย เค้าจะพิจารณานั้นน่ะเค้าไปเน้นพิจารณาที่รูปธรรมนี้ให้มากกว่า ไม่ใช่ว่าโอ้ยนี่กําลังสบายอยู่ ก็ไม่ใช่เค้าพิจารณาอยู่เท่านั้น เค้าพิจารณาไอ้ตัวต้นเหตุต้นเหตุของเวทนาอันนั้น

จักษุเราก็มีกันอยู่และถ้าพูดถึงคําว่าจักษุนะ ธาตุ ๔ ที่เรียนมานี่ถือว่าใช้ได้แล้วนะ คลองแคล่วแล้ว ละไว้ในฐานะคนเก่งแล้วว่างั้นเถอะ ( 👉 อ่านรูปสมุทเทส เพิ่มเติม) ทีนี้ในตัวรูปารมณ์เนี่ยโดยลําพังแล้วรูปปารมณ์เนี่ยเป็นตัวกําหนดเวทนา เช่นรูปารมณ์ที่เป็นอิฏฐารมณ์ อิฏฐารมณ์เนี่ยนะ หรืออิฎฐะแปลว่าน่าปรารถนา, อารมณ์ที่น่าปรารถนาน่าพอใจ กับอารมณ์อีกอย่างนึงเรียกว่าอนิฏฐารมณ์ ก็คืออนิษฐาแปลว่าอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา, ไม่น่าพอใจ เสร็จละก็อะไรอีก มัชฌัตตารมณ์ คือไอ้มัชฌัตตารมณ์เนี่ยมันแล้วแต่บุคคลนะ โดยลําพังบางคนก็เป็นที่ตั้งแห่งความดีใจนะ บางคนก็เป็นที่ตั้งแห่งความเสียใจนะ ไอ้ของกลางๆ นี้ไม่แน่เสมอไปใช่มั้ย บางคนนี่ดีใจมากนะ บางคนนี่เฉยๆ ก็เลยเรียกว่ามัชฌัตตารมณ์

อิฏฐารมณ์ตัวเนี้ยเป็นที่ตั้งแห่งอะไร ส่วนทั่วๆไปนะ เวทนาที่ในชวนะเนี่ยสําคัญที่สุด ผู้ที่พิจารณานะก็พิจารณาตัวชวนะก่อน เพราะว่าไอ้ชวนะเนี่ยมันเป็นตัวบอก เพราะมันเห็นแล้วมันดีใจเลยอะ เห็นแล้วโกรธเลยยังไงใช่มั้ย เห็นแล้วเสียใจเลยนะ มันดูเหมือนเห็นแล้วเสียใจเลยอะ มันก็ต้องมาฝึกคิด ไอ้ชวนะที่หยาบๆ แบบนี้ก่อน


ไม่ใช่ไปจ่อที่จักขุวิญญาณ จ่อแบบนี้ไม่ไหวหรอก จ่อทําอะไรอย่างงั้น ก็สังเกตพยายามสังเกตนะ สังเกตคร่าวๆ ก่อนว่า เอ๊ะ เห็นรูป รูปตัวนี้ส่วนใหญ่ก็เอาคนเลยนะ เอาคนเลยไปเห็นคนหนึ่งคนน่ะ ถ้าเกิดเป็นคนที่น่าปรารถนาว่างั้นเถอะ เห็นแล้วใครๆ ก็ชอบว่างั้น อันเนี้ยถือว่าสุขเวทนาเนี่ยเกิด เหตุคือเห็นแล้วนะ ถ้าสังเกตนะ ไม่ระคายเคือง, ไม่ขัดใจ, ไม่อะไรเลยสักอย่างหนึ่ง แต่เห็นแล้วก็ดีหรือโสมนัสนั่นเกิดขึ้นนั่นแหละสุขเวทนา ทีนี้ถ้าหากว่าไปเห็นอีกคนหนึ่งแล้วเป็นยังไง ขัดใจนิดๆ เริ่มขัดใจนิดๆ, ขัดใจน้อยๆ หรือว่าขัดใจมากๆ ก็ตามอะ แต่รู้สึกว่าสังเกตว่าโสมนัสไม่เกิด ปีติไม่รู้มันแห้งหายไปไหนหมด ประเภทนั้นให้รู้ว่านั่นคือโทมนัสเวทนา เช่น เห็นคนที่เราไม่ค่อยชอบ ไอ้คนทั่วไปเนี่ยก็มีอยู่สองประการ อุเบกขาเวทนาบ้างนะถ้าเป็นคนที่เราอาจจะไม่ค่อยรู้จัก แต่บางทีอ่ะบางครั้งก็เป็นที่ตั้งแห่งสุขบางครั้งว่าเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์บางทีก็เฉยๆ

งั้นการจะพิจารณาเวทนาก็สังเกตที่อารมณ์เนี่ยเป็นหลัก อารมณ์เนี่ยเป็นตัวบอกเวทนา เสร็จแล้วถ้าไม่มีอารมณ์ที่น่าปรารถนาเลยนะ ไม่มีอิฏฐารมณ์เลยอ่ะ แต่ต้องการให้โสมนัสเกิด มันเกิดได้ไหม? เกิดไม่ได้ ถ้าเป็นคนสมัยใหม่บางทีเขาก็ชอบดูประเภทดอกไม้นะ ถ้าสมมุติว่าอิฏฐารมณ์เป็นไง สมมุติดอกไม้งาม ดอกไม้งาม…อารมณ์เนี่ย เห็นแล้วส่วนใหญ่นะ ถ้าดอกไม้บานหมดเลยเนี่ยก็จะยิ้มก่อนนะ ยิ้มก่อน ทีนี้ถ้าดอกไม้นี้เสียหมดเลย ดอกไม้เน่า อันนี้โทมนัสเวทนาเป็นต้นก็จะเกิด ถ้าเป็นแบบทั่วๆไปนะ เหมือนกับดูใบไม้ทั่วๆ ไปอันนี้ก็อุเบกขาก็เกิด มันก็อย่างใดอย่างหนึ่ง ทีนี้ถ้าไปเจอดอกไม้เน่าหมดแล้วแหมมีความสุขเหลือเกิน, ดีใจเหลือเกินนะ อันนี้เว้นไว้แต่ศัตรูของเจ้าของดอกไม้ซะก็อาจจะโสมนัส แต่ถ้าทําลําพังทั่วไปแล้วมันไม่โสมนัสอยู่แล้ว มันก็จะเป็นอย่างเงี้ย ถ้าได้รับอิฏฐารมณ์อยู่ส่วนใหญ่ก็จะโสมนัส ถ้ารับอนิฏฐารมณ์อยู่ส่วนใหญ่ก็โทมนัส ถ้าอารมณ์ทั่วๆ ไปแล้ว หรือจะหนักไปข้างชอบหรือข้างชัง ถ้าชอบก็โสมนัสไปถ้าไม่ชอบก็เป็นโทมนัสไป สังเกตที่อารมณ์ก็บอกเวทนาได้

อันนี้ถ้าถ้ามองแบบคร่าวๆ นะก็เอาสักคน ๓ คนเนี่ยมาตั้งก่อน (คนที่ชอบ, คนที่ชัง, คนที่เฉยๆ) นี้ถ้าดูแบบแบบหยาบเลยนะ ถ้าละเอียดไปกว่านั้นก็ในสิ่งเดียวกันอ่ะ ก็สังเกตดูในอารมณ์เดียวนั่นแหละ เพราะอย่าลืมว่าเวทนาเนี่ยนะมีอะไรเป็นปัจจัย? ยกผัสสะอันนี้นะ ถ้าทางตานะ ผัสสะอันนี้เป็นสัมปยุตตปัจจัย (นามขันธ์ ๔ เป็นปัจจัยแก่กันและกัน) ตะกูลนี้เรียกว่าสหชาตะ (เกิดพร้อมกัน) เป็นกลุ่มที่เกิดร่วมกัน ผัสสะกับเวทนานี้เกิดร่วมกัน ถ้าผัสสะอันนี้เป็นอนันตรปัจจัย(เป็นปัจจัยโดยให้จิตและเจตสิกขณะต่อไปเกิด>ดับ>เกิด>ดับ…∞) แต่ถ้าเวทนาที่เหลือทั้งหมดเลยนะ ผัสสะอันนี้เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย(เป็นปัจจัยที่ให้เกิดปัจจยุบบันนธรรม) ก็จะแบ่งเป็น ๓ ชุดแบบเนี่ย เพราะถ้าในขณะเวทนาที่เกิดในจักขุวิญญาณ สัมปฎิจฉนะ สันตีรณะ อย่างนี้เรียกว่าชาติวิบาก

ถ้าชาติวิบากอย่างนี้นะโดยทั่วๆ ไปเขาบอกว่า เมื่อไปเห็นอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง คนก็จะเห็นเหมือนๆ กันหมด ลักษณะตรงนั้นแหละเรียกว่าชาติวิบาก แต่ถ้าเห็นแล้วใครมีความรู้สึกอย่างไร(บางคนชอบ, บางคนชัง, บางคนเฉยๆ) อันนั้นไม่ใช่วิบากแล้ว ก็พยายามเอาแต่เรื่องหยาบหยาบมาคิดให้มากๆก่อนนะ เรื่องละเอียดไม่ค่อยยากหรอก ถ้าคิดเรื่องหยาบๆ ให้เยอะเนี่ยนะ แม้กระทั่งเห็นเสื้อลายอย่างเงี้ยนะ สมมุติในเสื้อลายเนี่ย ถ้าเป็นลายดอก ดอกไหนบางดอกนี่ก็ชอบใช่มั้ย บางดอกก็ไม่ชอบ หรือว่าบางดอกก็เฉยๆ เนี่ยนะ ชอบดอกไหนเป็นพิเศษแล้วก็มาวิเคราะห์ดูในสิ่งนั้นแหละเป็นที่ตั้งแห่งเวทนา

เป็นที่ตั้งแห่งเวทนาก็มาฝึกวิเคราะห์ที่อารมณ์และจะเข้าใจเวทนา แต่ถ้าอยู่ๆ แล้วกําหนดพรวดที่เวทนาเลยกําหนดยังไง…? ในพระไตรปิฏกเขาจะไม่นิยมพูดอะไรที่มันแบบขาดห่วงขาดตอน เขาไม่จะไม่แสดงแบบนั้น จะแสดงว่าธรรมะไหลมาจากปัจจัย ไหลมาจากเหตุ แล้วเหตุนั้นนะเนี่ยมาจากอะไร ถึงจะพิจารณาที่เวทนาก่อนอันดับแรกก็ยังต้องสาวไปหาเหตุและก็สาวกลับไปกลับมาอย่างนี้ โดยเงื่อนไขทั่วไปแล้วท่านบอกว่าเวทนาเหล่านี้เนี่ยนะทั้งที่เป็นสุข, ทุกข์, อุเบกขา เหล่านี้นะเมื่อรับอารมณ์ขึ้นแม้ในอดีต เวทนาก็เกิดเช่นนี้แหละ ในอนาคตเวทนาก็เกิดเช่นนี้ ปัจจุบันเวทนาก็เกิดเช่นนี้ โดยที่มีอะไรเป็นปัจจัย ผัสสะ ท่านให้ผัสสะเป็นใหญ่ เพราะถือว่าผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งเวทนา แต่ท่านใช้คําว่าวัตถุ เมื่อใช้คําว่าวัตถุนั้น ต้ององค์ประกอบเยอะแยะเลย จักขุ รูป จักขุวิญญาณ ทั้ง ๓ ประการนี้ถือว่าเป็นปัจจัยของผัสสะแต่ว่าในการเสวยอารมณ์จริงๆนั้นอ่ะ ไม่ได้เสวยตัวผัสสะ เสวยอารมณ์คือรูปารมณ์เป็นต้นนั้น ในจักขุวิญญาณเนี่ยนะ สัมปฎิจฉนะ สันตีรณะ โวฎฐัพพนะ ชวนะ ถือว่ามีสีเป็นอารมณ์ทั้งหมด มีสีเป็นอารมณ์เหมือนกัน แต่เค้าบอกว่าเวทนาที่เกิดในจักขุวิญญาณเนี่ย ถือว่าของเล็กของน้อย ของน้อยมากแต่เวทนาที่เกิดในชวนะนี้เป็นของใหญ่ ใหญ่ยังไง? ก็บอกเหมือนอย่างว่ากํานันเนี่ยนะ ถ้าตัดสินคดีแล้วก็จะเรียกเก็บค่าสินไหมอะนะ สินไหมเนี่ยก็เข้ากํานัน โบราณนะเข้ากํานันก็บอกว่าอย่างมากก็แค่ ๕ กหาปณะ, ๑๐ กหาปณะ อย่างมากก็ ๕๐ กหาปณะนี้แค่นั้นแหละ แต่ถ้าเป็นร้อยเป็นพันขึ้นไปเมื่อไหร่นะ อันนี้ต้องเป็นส่วยของพระราชาแล้วพวกนี้กินส่วยแรง

เพราะฉนั้นเวลาเกี่ยวข้องกับอารมณ์อะไรนะ ชวนะเนี่ยเกิดมาก เวทนาในชวนะนี้ก็ถือว่าใหญ่มาก แต่นี้ลําพังของเวทนานะเมื่อเสวยสิ่งใด สัญญาก็จะมีในสิ่งนั้น เจตนาก็จะเกิดในสิ่งนั้น จิตเนี่ยทั้งหมดนะ คือกระแสของความคิด ไอ้สัญญาตัวนี้นี่แหละเป็นปัจจัยสําคัญต่อไปของวิตก ก็วิตกบ่อยหรือวิตกมาก ถ้ามากก็พูดอีก ก็ไปเรื่อยนะทางกายก็มาก็จะไหลไปในลักษณะนี้ แต่ว่าไอ้ผัสสะหน่อยๆ นี่อย่าไปดูถูกมันนะ ก็เหมือนกับว่าป้ายที่อยู่ข้างตาเวลาเราขับรถผ่านไปนะ มันก็เหมือนกับป้ายนั้นก็ผ่านๆ ดูเหมือนไม่สนใจแต่จริงๆแล้วเนี่ยนะเมื่อได้ผัสสะเนี่ย ถือว่าป้ายนั้นเป็นที่ตั้งแห่งเวทนาไว้หมดแล้ว สัญญาเกิดขึ้นกับอารมณ์เหล่านั้นแล้ว จะสังเกตนะเมื่อมีกิจอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น สัญญาเหล่านั้นจะมาเป็นปัจจัยทันทีเลย สัญญาเหล่านั้นก็จะเป็นปัจจัยที่สําคัญของวิตก ถามว่าทั้งหมดเนี่ยมีอะไรเป็นอารัมมณปัจจัย มีรูปเป็นอารัมมณปัจจัย อันนี้เราพูดถึงทางทวารตาอย่างเดียวนะ งั้นคนที่เจริญวิปัสสนา หนึ่งเบื้องต้นรู้ความเป็นมาเป็นไปของสิ่งเหล่านี้ก่อน รู้ผัสสะ รู้เวทนาว่ามาจากอะไร ฉะนั้นเมื่อเชื่อมอย่างนี้แล้วก็เห็น👉ปฎิจสมุปบาทแล้วใช่ไหม

ผัสสะ มาจากอายตนะ อายตนะ นี้มาจากอะไร? จากธาตุ ๔ ธาตุ ๔ นี้เท่ากับ ตัวรูป รูปนี้เกี่ยวข้องก็เป็นนามรูปมาจากวิญญาณ วิญญาณก็มาจากสังขาร สังขารก็มาจากอวิชชา ทีนี้พอตั้งแต่เห็นมาจนถึงให้มีสัญญา มีเจตนา มีวิตกวิจารณ์ ทั้งหมดที่กล่าวนี้เป็นกรรมภพ

เพราะฉะนั้นกรรมภพก็เป็นปัจจัยสบายๆของชาติ วัฏฏะก็เป็นไปอย่างนี้แหละ คือ ชีวิตตามคําสอนนั้นน่ะจะไม่ได้พูดเป็นเรื่องนั้นเป็นเรื่องยาวๆ แต่เป็นเรื่องสั้นๆ แต่สิ่งที่สั้นๆ นั้นมาต่อกันเลยดูเหมือนกับยาว ยังเช่นถ้าเรียนเวทนานะ เวทนาทางตาก็อย่างหนึ่ง เวทนาทางหูก็อย่างหนึ่ง เวทนาทางจมูกก็อย่างหนึ่ง เวทนาทางลิ้นก็อย่างหนึ่ง เวทนาทางกายก็อย่างหนึ่ง เวทนาทางใจก็อย่างหนึ่ง เวทนานี้มี ๓ นะ สุขเวทนาทางตาก็อย่างหนึ่ง ทุกขเวทนาทางตาก็อย่างหนึ่ง อทุกขมสุขเวทนาทางตาก็อย่างหนึ่ง ก็จะตัดตอนไปอีกแล้วในแต่ละอย่างเหล่าเนี่ยเป็นไปตามปัจจัย ก็เป็นไปตามปัจจัยเพราะฉะนั้นอันนี้เรียกว่าความสืบเนื่อง ผู้ที่ไม่ได้สดับก็สําคัญสิ่งเหล่านี้ว่าเที่ยง ผู้ที่ไม่รู้ปัจจัยก็สําคัญว่าสิ่งเหล่านี้ศูนย์ ปฏิเสธเหตุปัจจัยของสิ่งเหล่านี้ แต่สิ่งเหล่านี้ก็เป็นไปตามปัจจัย ใครสามารถเสวยเวทนา ๒ ประการพร้อมกันมั้ย ในขณะที่ดีใจก็ไม่เสียใจ สลับกันได้ แต่อาจจะเกิดสลับกันได้แต่ก็ไม่มากนัก นั่งอยู่แล้วเดี๋ยวก็ยิ้มเดี๋ยวก็หัวเราะเดี๋ยวก็ร้องไห้ในที่นั่งเดียวกันมีไม่ค่อยมาก

มีอยู่ในพระไตรปิฎกมีอยู่เรื่องหนึ่งนางภิกษุณีมองดูพระพุทธเจ้า พระองค์กําลังนั่งแสดงธรรมอยู่ นางเห็นพระพุทธเจ้าเสร็จแล้วก็หัวเราะ หัวเราะเสร็จแล้วก็ร้องไห้ คนก็งง เอ๊ะทําไมประเดี๋ยวก็หัวเราะเดี๋ยวก็ร้องไห้แต่ว่าไม่ใช่หัวเราะร้องไห้พร้อมกันนะ แต่ว่าก็หัวเราะเสร็จก็ร้องไห้ ก็ทูลถามพระพุทธเจ้า

พระพุทธองค์ก็บอกว่านางระลึกชาติได้ คือพอเห็นพระพุทธเจ้าปั๊บนางก็ระลึกชาติได้ระลึกชาติว่า "โอ้บุรุษผู้นี้หน้าเราเคยเป็นบาทบริจาริกาของท่านหรือเปล่าน้อ" ก็คิดแบบนี้นะคิดว่า คือถ้าแปลเป็นไทยก็ว่าเคยเกิดเป็นเมียท่านรึเปล่า พอนึกแค่นี้ก็ระลึกชาติได้ว่าเคยเกิดเป็นภรรยาท่านตอนที่เป็นพญาช้าง พญาช้างฉัททันต์เนี่ยนะ ก็เป็นภรรยา พญาช้างนั้นมีเมียมีนางช้างหลายตัว นางก็เป็นหนึ่งในภรรยาของพญาช้างว่างั้นเถอะ

ทีนี้พอหลังจากนั้นเนี่ยมีอยู่วันหนึ่งพระโพธิสัตว์นี้ก็เอาเก็บดอกบัวเนี่ยนะเก็บดอกไม้ให้กับพวกพวกนางช้างทั้งหลายแหล่ ก็มีดอกบัวดอกนึงอ่ะมันมีมดแดงอยู่ พญาช้างก็เอาไอ้ดอกที่มีมดแดงนี่แหล่ะไปให้กับนางช้าง(นางภิกษุณี) เนี่ยนั่นแหละ นางช้างตัวนั้นก็เลยได้ดอกบัวมีมดแดงก็เสียใจมาก รำพึงว่าเอ้…ผัวนี่ไม่ค่อยรักเราเลย ตอนหลังๆ ก็คอยน้อยใจอยู่ร่ำไปจนกลายเป็แค้นใจมาก ตอนหลังเอาดอกไม้บูชาพระปัจเจกพุทธเจ้า อธิฐานขอให้ไปเกิดเป็นมเหสีของพระราชา และขอให้พระราชาหลงรักจนสั่งอะไรก็ได้ นางช้างก็วางแผนเป็นสัญญาในใจเอาไว้ ว่าจะต้องสั่งให้นายพรานมาฆ่าเอางาของพญาช้างสามีตัวเองให้ได้ เมื่อนางช้างอธิฐานเสร็จก็งดข้าวงดน้ำจนถึงแก่ความตาย และก็ได้ไปปฎิสนธิเกิดในตระกูลมัททราช และได้นามว่า สุภัททาราชกัญญา เมื่อได้เป็นมเหสีราชาแล้วก็สั่งให้นายพราน ชื่อโสณุดรคือพระเทวทัสนั่นแหละ ไปตัดงาของพระพระโพธิสัตว์มา ทีนี้ไอ้จําได้ตอนที่สั่งให้ไปฆ่าพระโพธิสัตว์ตัดงามานั้นอ่ะ นึกได้ตอนนั้นก็เลยร้องไห้ ไอ้ตอนหัวเราะเนี่ย หัวเราะตรงที่ว่าเคยได้เป็นภรรยา ไอ้ตอนร้องไห้ ร้องไห้ตอนที่สั่งให้ไปตัดงา ถึงอย่างงั้นก็ไม่ใช่ในขณะเดียวกันอ่ะ ลําดับเรื่องราวมาตั้งนานแล้วจึงได้หัวเราะและร้องไห้แต่ว่าในมณสิการเดียวกันเนี่ยทั้งหัวเราะและร้องไห้พร้อมกันไม่ได้ มันก็จะเกิดสลับคละเคล้ากันไปแบบนี้นี่แหละ แล้วก็หมั่นเอาไปไปสังเกตดูนะ

ก็คือรอบรู้ว่าเอ๊ะปัจจัยของเวทนานั้นๆ เนี่ยมาจากอะไร ทีนี้ถ้าหากว่าเราเข้าใจปัจจัยแบบนี้นะ ถ้าเราไม่สบายใจอยู่นะ ถามว่าทําให้ดีใจเกิดได้มั้ย ถ้าหากว่ากําลังเสียใจอยู่กับสิ่งหนึ่งเลยนะ ถามว่าเปลี่ยนได้ไหมเปลี่ยนความรู้สึกได้ไหม กําลังเสียใจอย่างสุดซึ้งอยู่นะถามว่าเปลี่ยนได้ไหม ก็สมมุตินะเสียใจกับสิ่งใดนั้นเลิกคิดถึงสิ่งนั้นนะแค่นั้นแหละก็เลิกเสียใจไปเยอะแล้ว สมมติถ้าหากว่าคนที่มีลูกตายเป็นต้น ส่วนใหญ่เค้าจะทุกข์มาก ถามว่าวิธีแก้ทุกข์อันนั้นนะเขาบอกให้เลิกคิดถึงลูกเท่านั้นแหละ ไอ้ความเสียใจก็หมดซะแล้ว ถ้าหากว่าจะให้เขาดีใจนะ ไปให้เขาคิดถึงสิ่งที่เขากําลังชอบอยู่ คิดพักเดียวเขาก็ดีใจ แค่เปลี่ยนอารมณ์เท่านั้นเอง อารมณ์ก็เปลี่ยนผัสสะ ถ้าเปลี่ยนผัสสะก็เปลี่ยนเวทนา เวทนามันเป็นผลพวงของผัสสะแล้ว ถ้าเปลี่ยนผัสสะได้ก็เปลี่ยนเวทนาได้ เว้นไว้แต่ว่าแหมดีใจเหลือเกินที่เวทนานี้อยู่นะ แต่ว่าถ้าโทมนัสเกิดนี้มันก็ต้องมีฉันทะเกิดร่วมด้วย(ทุกข์ทั้งหมดนั้นมีฉันทะเป็นมูล) มันก็เป็นความสะใจอย่างหนึ่งนะ ถ้าทุกข์ๆ แล้วมันก็ชอบได้เหมือนกันนะ


วันนี้ก็ใช้เวลาแต่เพียงเท่านี้ ด้วยผลแห่งกุศลที่ได้ฟังธรรมนี้ก็ขอให้ได้เห็นพระพุทธคุณของพระพุทธเจ้าที่แสดงธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ รู้จักความปฏิบัติดีของพระสงฆ์ทั้งหลายที่ปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ และก็พระนิพพานที่พระพุทธเจ้าแสดงถึงก็เป็นธรรมะที่นําออกจากทุกข์ ก็ขอให้ประสบกับพระนิพพานเป็นที่พ้นทุกข์โดยทั่วหน้ากัน ในที่สุดนี้ขอสรรพมงคลจงมีแก่ท่าน ขอเหล่าเทวดาทั้งปวงจงรักษาท่าน ด้วยพุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ สังฆานุภาพ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านตลอดไป ก็อนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง เจริญพร



อยู่ระหว่างเรียบเรียง 
🔅 เวทนากับไตรลักษณ์ พระอาจารย์สมบัติ นันทิโก
🔅 เวทนานุปัสนา พระอาจารย์สมบัติ นันทิโก


วิกิ

ผลการค้นหา