วันพฤหัสบดี

เจตสิกกลุ่มที่ ๒ หน้า ๒


อ่านหน้าที่แล้ว


ค.โทจตุกเจตสิก ๔ กลุ่มของความโกรธ เจตสิกกลุ่มนี้จะเข้าประกอบกับจิตที่มีความดุร้าย ประทุษร้าย ทำให้ เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนทั้งตนเองและผู้อื่น เป็นทุกข์ โทษ ภัย ทั้งใน ปัจจุบันและอนาคต โทจตุกเจตสิกมี ๔ คือ

๑. โทสเจตสิก คือธรรมชาติที่เป็นเหตุให้ประทุษร้าย คับแค้นใจ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐีมีเงิน คนยากจนเข็ญใจ เทวดา หรือสัตว์เดรัจฉาน เมื่อถูกความโกรธเข้าครอบงำจิตใจแล้ว ย่อมเป็นคนหยาบช้ากักขฬะ ขาดความเมตตา ปรานี มีความดุร้ายเหมือนอสรพิษ ผู้ใดสะสมความโกรธบ่อยจะทำให้ขาดความสุขในชีวิต เกิดโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน และความโกรธนั้นย่อมส่งผลเมื่อตายลงย่อมไปเสวยผลของความโกรธ

เหตุเกิดของโทสะจริตมี ๙ ประการ


๒.อิสสาเจตสิก คือธรรมชาติที่มีความริษยา ความเกลียดกัน เกลียดในลาภสักการะที่เกิดขึ้นกับบุคคลอื่น เกลียดในการทำความเคารพ ความนับถือ การกราบไหว้ การบูชา ที่บุคคลกระทำกับคนอื่นๆ แต่ไม่กระทำกับตนเอง ความอิสสาหรืออิจฉานี้เกิดขึ้นได้แม้เพียงได้ทราบว่าบุคคลอื่นได้ ดีมีสุขก็ทำให้เกิดอิจฉาได้ อิจฉานี้เป็นเครื่องผูกสัตว์ไว้ไม่ให้พ้นไปจาก สังสารวัฏ ที่เรียกว่าอิสสาสังโยชน์ ทำให้ต้องเวียนเกิดเวียนตายในภพน้อย ภพใหญ่ในวัฏสงสารอันยาวนาน
๓.มัจฉริยเจตสิกคือธรรมชาติที่ตระหนี่ หวงแหน ความเห็นแก่ตัว ความมีใจแคบ ความไม่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ บุคคลที่มีความตระหนี่หวงแหน นอกจากตนเองไม่ทานแล้วยังห้ามไม่ผู้อื่นให้ทาน มัจฉริยะเมื่อเกิดประกอบกับจิต จะทำให้บุคคลนั้นเป็นผู้มีจิตใจคับแคบ ไม่มีใจที่จะอนุเคราะห์กับใครๆ บุคคลที่มีความตระหนี่จะไม่อยากให้ของๆตนกับใครๆ อยากแต่จะรับของๆคนอื่น มัจฉริยะ หรือ ความตระหนี่มี ๕ อย่างคือ
๓.๑ ความตระหนี่ที่อยู่ เช่น มีญาติเดินทางมาจากต่างจังหวัดขอพักอาศัยสัก ๒- ๓ วันก็ไม่ให้อาศัย แต่การไม่ให้บุคคลที่ทุศีล ผู้มักทำความเดือดร้อนมาอยู่อาศัย ไม่ใช่อาวาสมัจฉริยะ
๓.๒ ความตระหนี่ตระกูล เป็นการหวงสกุล เช่น ไม่ยอมให้คนอื่นร่วมใช้กลัวคนอื่นจะมาทำให้ตระกูลตกต่ำไป
๓.๓ ความตระหนี่ลาภ เช่น การที่บุคคลใดได้รับลาภสักการะ รับรางวัล เมื่อเราทราบข่าวก็ไม่ยินดีในลาภของเขา และยังคิดว่าขอให้เขาไม่ได้ลาภนั้นๆ
๓.๔ ความตระหนี่วรรณะ วรรณะ มี ๒ อย่าง ๑) ตระหนี่ผิวพรรณ ๒) ตระหนี่ในคุณความดี
๓.๔.๑ บุคคลใดมีผิวพรรณงาม มีสรีระงาม ผู้ที่ตระหนี่ใน ผิวพรรณก็จะไม่ชื่นชม
๓.๔.๒ บุคคลใดมีคุณความดี ผู้ที่ตระหนี่ในคุณความดีก็ไม่ปรารถนาที่จะสรรเสริญคุณความดีของคนอื่น
๓.๕ ความตระหนี่ธรรม ธรรม หมายถึงปริยัติธรรมและปฏิเวธธรรม บุคคลที่ตระหนี่ในธรรมจะไม่ปรารถนาจะให้ผู้อื่นรู้ธรรมที่ตนได้รู้ แล้วมีความหวงแหนไว้เฉพาะตน แต่การที่ไม่ให้ธรรมะกับบุคคลที่จักทำลายธรรมจักทำธรรมให้เสื่อมเสีย อย่างนี้ไม่จัดเป็นผู้ตระหนี่ธรรม

ผลแห่งมัจฉริยะมี ๕ ดังนี้
๑. ตระหนี่ที่อยู่อาศัย จะต้องถูกเผาอยู่ในเรือนเหล็กแดง
๒. ตระหนี่ตระกูล จะเป็นผู้มีลาภน้อย
๓. ตระหนี่ลาภ จะบังเกิดในนรกคูถ
๔. ตระหนี่วรรณะ เมื่อเกิดมาทุกภพทุกชาติจะไม่มีความสวยงามและไม่ได้รับการสรรเสริญ
๕. ตระหนี่ธรรม จะบังเกิดในนรกถ่านเพลิง

กุกกุจจเจตสิกคือธรรมชาติที่มีความเดือดร้อนใจในบาปที่ตนได้ทำไว้ และความดีที่คิดว่าจะทำแต่ยังไม่ได้ทำ รวมทั้งการคิดว่าสิ่งนี้ควรทำแต่ไม่ทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำแต่ได้ทำไปแล้ว เช่น ต้องการจะถือศีลทุกวันพระ แต่ก็ละเลยไม่ทำตามที่ตั้งใจ ก็จะหวนคิดถึงแล้วเกิดความวิตกกังวลใจ มีความเดือดร้อนใจในภายหลัง มีความเศร้าโศกถึงกรรมชั่วที่ได้ทำแล้วและกรรมดีที่ยังไม่ได้ทำ สรุป โทจตุกเจตสิก
โทสเจตสิก อิสสาเจตสิก มัจฉริยเจตสิก กุกกุจจเจตสิก ทั้ง ๔ นี้ เฉพาะโทสเจตสิกจะเข้าประกอบกับโทสมูลจิต ๒ ดวงเสมอ ส่วนเจตสิกที่เหลืออีก ๓ จะเกิดประกอบกับจิตได้บางครั้งบางคราวตามลักษณะของเจตสิก เช่น นายกรีฑากับนายถอยทัพ ทำงานที่เดียวกัน เมื่อนายกรีฑาได้เลื่อนตำแหน่ง เป็นเหตุทำให้ นายถอยทัพเกิดความอิจฉาและคิดวางแผนกลั่นแกล้งนายกรีฑา กรณีนี้จิตของนายถอยทัพมีโทสเจตสิกและอิสสา เจตสิกเกิดประกอบในโทสมูลจิต (แต่ไม่มีมัจฉริยเจตสิกและกุกกุจจเจตสิกเข้าประกอบ)
ง. ถีทุกเจตสิกกลุ่มของความหดหู่ท้อถอย เจตสิกกลุ่มนี้มี ๒ ดวง คือ
๑.ถีนเจตสิก คือธรรมชาติที่หดหู่ท้อถอยไม่อยากจะทำคุณงามความดี หรือเพียรพยายาม ในการงานต่างๆ เช่น การอ่านหนังสือหรือปฏิบัติธรรม จะเกิดความเบื่อหน่าย บอกไม่ถูกว่าเพราะอะไร บางครั้งตั้งใจเข้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ๑ สัปดาห์ แต่เกิดความท้อแท้เบื่อหน่ายจนทนไม่ไหวต้องออกจากกรรมฐาน เป็นเพราะมีความท้อถอยไม่อยากทำคุณงาม ความดีเป็นต้น
๒.มิทธเจตสิก คือธรรมชาติที่เซื่องซึม ง่วงเหงา หาวนอน ความรู้สึก ง่วงซึมนี้ทำให้หลับได้ไม่ว่าจะทำอะไรอยู่ที่ไหน ความง่วงเหงานี้ทำให้เกียจคร้าน ทำอะไรก็ไม่สำเร็จ ฉะนั้นเมื่อมิทธเจตสิกเกิดขึ้นประกอบกับจิตแล้ว จึงขวางกั้นกุศลธรรมทั้งหลายไม่ให้เกิดขึ้นในจิตใจ เหมือนกับทำนบกั้นน้ำไว้นอกนา ทำให้ต้นข้าวไม่ได้รับความชุ่มชื้นจากน้ำ
สรุป เจตสิก ๒ ดวงนี้ รวมเรียกว่า ถีนมิทธนิวรณ์ก็ได้ เป็นธรรมที่เป็นเครื่องกั้นความดี เป็นเจตสิกที่ขัดขวางต่อความเจริญก้าวหน้าในด้าน ความคิดและการกระทำทั้งปวง เจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ จะเกิดพร้อมกันเข้าประกอบในจิตของบุคคลที่มีจิตใจไม่เข้มแข็ง
จ. วิจิกิจฉาเจตสิก กลุ่มของความลังเลสงสัย เจตสิกกลุ่มนี้มี ๑ ดวง คือวิจิกิจฉาเจตสิก คือธรรมชาติของความสงสัย ลังเล ไม่แน่ใจ เป็นเจตสิกที่เมื่อเกิดขึ้นกับจิตของบุคคลแล้ว ทำให้จิตใจเกิดความลังเลสงสัยในคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สงสัยในชาติอดีต สงสัยในชาติอนาคต สงสัยทั้งอดีตและอนาคตชาติ สงสัยในเหตุและผลของกรรม ความสงสัยเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อการทำความดีทั้งหลาย ทำให้ความดีที่ทำอยู่เกิดความชะงักงันไม่ก้าวหน้าต่อไป จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราควรจะมีความรู้ความ เข้าใจในสภาพธรรมที่กำลังเกิดขึ้นนี้ให้ดีว่า สิ่งนี้คือมารของความดี มารของมรรคผลนิพพาน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น