วันพฤหัสบดี

๑.๖ อนัตตา

เมื่อว่าโดยสรุป พระอรรถกถาจารย์ประมวลความหมายของอนัตตาแสดงไว้ ดังนี้

๑. ไม่เป็นไปในอำนาจ คือ โดยธรรมดาที่เป็นสภาวธรรมซึ่งมีสภาวะตามที่เป็นของมันอย่างนั้นๆ มันจึงไม่อยู่ในอำนาจของใคร ไม่ขึ้นต่อผู้ใด ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่มีตัวตนที่ไหนจะมีอำนาจสั่งบังคับมันได้ ใครจะเรียกร้องหรือปรารถนาให้มันเป็นอย่างใดๆ ไม่ได้

ถ้าเป็นสังขตธรรม มันก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน จึงมีแต่ว่า ถ้าต้องการจะให้มันเป็นอย่างไร ก็ต้องทำการอันเป็นเหตุปัจจัยที่จะให้มันเป็นไปของมันที่จะเป็นอย่างนั้น
ถ้าเป็นอสังขตธรรม (นิพพาน) ก็มีอยู่เป็นอยู่ตามสภาวะที่ไม่ขึ้นต่อเหตุปัจจัยอยู่อย่างนั้น

๒. แย้งต่ออัตตาและเป็นสภาพว่าง (แต่ไม่ใช่ความขาดสูญ) คือ โดยสภาวะของมันเองก็ปฏิเสธอัตตาอยู่ในตัว หมายความว่า โดยธรรมดาที่เป็นสภาวะธรรมซึ่งมีภาวะตามที่เป็นของมันอย่างนั้นๆ ถ้ามีอัตตา ก็ย่อมขัดแย้งกัน ทำให้ภาวะของสภาวะธรรมไม่เป็นอยู่เป็นไปตามที่มันเป็นของมันอย่างนั้นๆ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีอัตตา แต่มีลักษณะเป็นสภาพว่าง คือ ว่างจากความเป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาที่แท้จริง ไม่มีตัวผู้สิงสู่อยู่ครอง ไม่มีตัวผู้สร้างสรรค์บันดาล ไม่มีตัวผู้เสพเสวย นอกจากโดยการสมมติ พูดง่ายๆว่า ว่างเปล่าจากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา จากความเป็นนั่นเป็นนี่ ที่ยึดถือกันไปหรือกำหนดหมายกันขึ้น

อนัตตา คือ ภาวะที่สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยตามสภาพของมันไม่ขึ้นต่อการสั่งบังคับให้เป็นไปตามปรารถนาของใคร แต่ด้วยอิทธิพลของตัณหาทำให้เกิดการสร้างตัวตนขึ้นมายึดไว้ จึงกระทบกระทั่งเป็นทุกข์เมื่อไม่ได้สมดังปรารถนา ต่อเมื่อเห็นตามเป็นจริงว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามครรลองของมันเองแล้ว ตัวตนในความเป็นจริงย่อมเกิดไม่ได้ ทุกข์ก็ไม่มีที่ตั้ง ไม่มีที่กระทบ ไม่มีที่ก่อตัว

คัมภีร์วิสุทธิมรรค แสดงอรรถของอนัตตาไว้ว่า “ชื่อว่าเป็นอนัตตา โดยความหมายว่า ไม่มีแก่นสาร ไม่มีแกน ไม่มีสิ่งซึ่งเป็นตัวแท้ที่ยืนยงคงตัวอยู่ตลอดไป เป็นผู้สิงสู่อยู่ครอง เป็นผู้สร้างหรือบันดาล เป็นผู้เสวย เป็นผู้มีอำนาจในตัว เพราะว่าสิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นย่อมเป็นทุกข์ (คงตัวอยู่ไม่ได้) มันไม่สามารถห้ามความไม่เที่ยงแม้ของตัวมันเองได้ แล้วความเป็นผู้สร้างผู้บันดาล เป็นต้นของมัน จะมีมาจากที่ไหน เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ก็ถ้ารูปนี้จักได้เป็นอัตตาแล้วไซร้ รูปนี้ก็ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ มีความบีบคั้นขัดแย้งข้องขัดต่างๆ ดังนี้เป็นอาทิ”

นอกจากนี้คัมภีร์วิสุทธิมรรคยังกล่าวไว้น่าฟังว่า “ผู้ทำกรรมไม่มี ผู้เสวยผลก็ไม่มี มีแต่ธรรมล้วนๆเป็นไป ผู้สร้างสังสารวัฏฏ์ หามีไม่ มีแต่ธรรมล้วนๆเป็นไป เพราะเหตุปัจจัยประกอบกันเข้า ความเห็นอย่างนี้จึงเป็นสัมมาทัศนะ” ความเห็นว่ามีอัตตานั้นเป็นเพียงมิจฉาทิฏฐิ เป็นความยึดถือไปตามความเห็นผิด การละอัตตา จึงไม่ได้หมายถึงการละตัวอัตตาจริงๆ (เพราะไม่มีมาตั้งแต่ต้น) แต่เป็นการละความยึดติดว่ามีอัตตา

หลักการของพระพุทธศาสนา บางครั้งก็สรุปด้วยคำว่า “ธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้นไม่อาจเข้าไปยึดมั่นถือมั่นได้” เพราะอะไร? เพราะว่าสิ่งทั้งหลายนั้นไม่ได้เป็นไปตามความปรารถนา หรือตามความยึดมั่นของเรา แต่มันเป็นไปตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัยของมัน ถึงเราจะไปยึดมั่น ก็ไม่มีผลอะไรต่อตัวความจริง มีแต่จะกระทบกระเทือนต่อตัวเราเอง ทำให้เราแย่เอง คือ เดือดร้อนเป็นทุกข์

วิธีปฏิบัติที่ถูกต้องคือ เราจะต้องรู้ความจริงของเหตุปัจจัยแล้วไปทำที่เหตุปัจจัย “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ย่อมพิจารณาอย่างนี้ว่า ข้อที่ว่าเรายังยึดถืออยู่จะเป็นผู้ไม่มีโทษนั้น จะมีอยู่บ้างหรือไม่หนอในโลก อริยสาวกนั้นย่อมรู้อย่างนี้ว่า ข้อที่ว่าเรายังยึดถืออยู่จะเป็นผู้ไม่มีโทษนั้น ไม่มีเลยในโลก” (ปิณโฑลยสูตร)

ประเด็นนี้ควรทำความเข้าใจให้ชัด บางท่านเมื่อได้ยินได้ฟังเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้ว กลายเป็นว่า ไม่เอาเรื่องเอาราว ปล่อยปละละเลย ต้องการผลแต่ไม่ทำเหตุที่ควรทำ ซึ่งเป็นความประมาท ที่ท่านว่าไม่ยึดนั้นหมายถึง ไม่ยึดติดถือมั่นด้วยกิเลสอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ในหัวข้อนี้



มีมิจฉาทิษฐิซึ่งเป็นการแล่นสุดโต่งแห่งความคิดเห็นด้านหนึ่งไปยังสุดโต่งอีกด้านหนึ่ง ที่อาจพบได้
🔅
พวกหนึ่งเห็นว่าเที่ยง ชีวิตเมื่อตายลง ตัวอัตตานี้จะคงอยู่และไปเวียนว่ายตายเกิด คือเห็นว่า สัตว์บุคคลตัวตน เที่ยงแท้ยั่งยืนตลอดไป (สัสสตทิฏฐิ)
🔅 พวกหนึ่งเห็นว่าขาดสูญ ชีวิตเมื่อตายลง ก็จบสิ้นไปคือ เห็นว่าสัตว์ บุคคล ตัวตน หรืออัตตา ไม่เที่ยง ดำรงอยู่ชั่วคราวแล้วสูญสิ้นไป (อุจเฉททิฏฐิ)
🔅 พวกหนึ่งเห็นว่า ทำก็ไม่เป็นอันทำ หรือการกระทำไม่มีผล (อกิริยทิฏฐิ)
🔅 พวกหนึ่งเห็นว่า ไม่มีอะไรเลย ไม่มีสภาวะที่จะกำหนดเอาเป็นหลักเป็นสาระได้ (นัตถิกทิฏฐิ)

(อกิริยทิฏฐิ และนัตถิกทิฏฐิ สามารถรวมลงใน อุจเฉททิฏฐิได้ ถ้าจัดอย่างคร่าวๆ จึงเหลือแค่ สัสสตทิฏฐิ กับ อุจเฉททิฏฐิ)


แม้แต่ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนา ถ้าเข้าใจไม่ชัดเจนถ่องแท้ ก็อาจตกไปในมิจฉาทิฏฐิ อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะผู้ที่ศึกษาหลักกรรมในแง่สังสารวัฏ ถ้าเข้าใจพลาด ก็อาจกลายเป็นสัสสตทิฏฐิ, ผู้ที่ศึกษาหลักอนัตตา ถ้าเข้าใจพลาด ก็อาจกลายเป็นอุจเฉททิฏฐิ อกิริยทิฏฐิ หรือนัตถิกทิฏฐิ ผู้เห็นโลกอย่างเป็นกลางๆตามความเป็นจริง ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ ดังพุทธพจน์ที่ท่านมักแสดงแก้ความเข้าใจผิดของผู้ถามในเรื่องนี้โดยมีความในตอนท้ายๆเหมือนกันว่า “ตถาคตไม่เข้าไปติดที่สุดทั้งสองข้างนั้น ย่อมแสดงธรรมเป็นกลางๆว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี ฯลฯ เพราะอวิชชาสำรอกดับไปไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ฯลฯ”

วิสุทธิมรรค “ในกระบวนแห่งสังสาระนี้ ผู้สร้างสังสาระ หามีไม่ มีแต่ธรรมทั้งหลายล้วนๆ เป็นไป ด้วยอาศัยการประชุมพร้อมแห่งเหตุเป็นปัจจัย” และในเมื่อกระบวนธรรมในสังสารวัฏฏ์ดำเนินไปตามเหตุปัจจัย การกระทำทุกอย่างจึงย่อมต้องมีผล ไม่มีทางสูญเปล่า และเป็นการมีผลโดยไม่ต้องมีผู้รับผล คือผลเกิดขึ้นในกระบวนธรรมเอง

อนึ่ง การพูดถึงเรื่อง อัตตามีหรือไม่มีนั้น ถ้าผู้ฟังไม่มีพื้นความรู้เพียงพอ จะทำให้เกิดความคิดฟุ้งซ่าน สร้างความคิดเหตุผลไปตามแนวตัณหาและทิฏฐิของตน และต้องแล่นไปตกในทิฏฐิที่ตรงข้ามกันสองอย่างเสมอไป คือถ้าไม่ลงสัสสตทิฏฐิ ก็ต้องลงอุจเฉททิฏฐิ แม้แต่พระพุทธเจ้าเอง ก็ตรัสเรื่องอัตตา-อนัตตา อย่างทรงระมัดระวัง ตามพื้นความรู้ของผู้ฟัง (คนเรามักมีความรู้สึกยึดถือในความเป็นตัวเป็นตนอยู่โดยสัญชาติญาณ เมื่อได้ศึกษาเรื่องอนัตตา อาจเกิดความสงสัยว่า ถ้าไม่มีตัวตนที่เที่ยงแท้คงที่อยู่แล้ว สิ่งใดเป็นผู้เวียนว่ายตายเกิด ควรพิจารณาว่ากระบวนธรรมนี่แหละที่เป็นไป ทำกรรมดีย่อมส่งผลให้วิบากอันเป็นสุขเกิดแก่กระบวนธรรมนี้ ทำกรรมชั่วย่อมส่งผลให้วิบากอันเป็นทุกข์เกิดแก่กระบวนธรรมนี้ สืบต่อเนื่องกันเรื่อยไปตามธรรมดา)

(เสถียร โพธินันทะ) “ผู้ที่มีสัสสตทิฏฐินั้นยังดีกว่าอุจเฉททิฏฐิ เพราะมักจะถือว่ากรรมมี เมื่อขวนขวายทำกรรมดีให้มากแล้ว จึงอาจไปสวรรค์หรือพรหมโลกได้ แต่อุจเฉททิฏฐิ (อย่างแรงชนิดที่ว่าไม่เชื่อกรรมและผลของกรรม เห็นว่าทำดีทำชั่วล้วนไม่มีผล) ลงอบายอย่างเดียว”



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น