มหาสติปัฏฐานสูตร (หน้า ๒)

 มหาสติปัฏฐานสูตร (หน้า ๑)


หมวดสัจจะ

ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อริยสัจ ๔ อยู่ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อริยสัจ ๔ อยู่ อย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์’
รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกขสมุทัย’
รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกขนิโรธ’
รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’


ทุกขสัจจนิทเทส

ทุกขอริยสัจ เป็นอย่างไร คือ 
ชาติ (ความเกิด) เป็นทุกข์
ชรา (ความแก่) เป็นทุกข์
มรณะ (ความตาย) เป็นทุกข์
โสกะ (ความโศก) เป็นทุกข์
ปริเทวะ (ความคร่ำครวญ) เป็นทุกข์
ทุกข์ (ความทุกข์กาย) เป็นทุกข์
โทมนัส (ความทุกข์ใจ) เป็นทุกข์
อุปายาส (ความคับแค้นใจ) เป็นทุกข์
การประสบกับอารมณ์อันไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์
ความพลัดพรากจากอารมณ์อันเป็นที่รักเป็นทุกข์
การไม่ได้สิ่งที่ต้องการเป็นทุกข์

โดยย่อ อุปาทานขันธ์๑- ๕ เป็นทุกข์

ชาติ เป็นอย่างไร คือ ความเกิด ความเกิดพร้อม ความหยั่งลง ความบังเกิด ความบังเกิดเฉพาะ ความปรากฏแห่งขันธ์ ความได้อายตนะ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ชาติ

ชรา เป็นอย่างไร คือ ความแก่ ความคร่ำคร่า ความมีฟันหลุด ความมีผมหงอก ความมีหนังเหี่ยวย่น ความเสื่อมอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ชรา

มรณะ เป็นอย่างไร คือ ความจุติ ความเคลื่อนไป ความทำลายไป ความหายไป ความตาย กล่าวคือมฤตยู การทำกาละ ความแตกแห่งขันธ์ ความทอดทิ้งร่างกาย ความขาดสูญแห่งชีวิตินทรีย์ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า มรณะ

โสกะ เป็นอย่างไร คือ ความเศร้าโศก กิริยาที่เศร้าโศก ภาวะที่เศร้าโศก ความแห้งผากภายใน ความแห้งกรอบภายใน ของผู้ประกอบด้วยความเสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่ง (หรือ) ผู้ที่ถูกเหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบ ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า โสกะ

ปริเทวะ เป็นอย่างไร คือ ความร้องไห้ ความคร่ำครวญ กิริยาที่ร้องไห้ กิริยาที่คร่ำครวญ ภาวะที่ร้องไห้ ภาวะที่คร่ำครวญ ของผู้ประกอบด้วยความเสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่ง (หรือ) ผู้ที่ถูกเหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบ ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ปริเทวะ

ทุกข์ เป็นอย่างไร คือ ความทุกข์ทางกาย ความไม่สำราญทางกาย ความเสวยอารมณ์ที่ไม่สำราญ เป็นทุกข์ อันเกิดจากกายสัมผัส ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ทุกข์

โทมนัส เป็นอย่างไร คือ ความทุกข์ทางใจ ความไม่สำราญทางใจ ความเสวยอารมณ์ที่ไม่สำราญเป็นทุกข์อันเกิดจากมโนสัมผัส ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า โทมนัส

อุปายาส เป็นอย่างไร คือ ความแค้น ความคับแค้น ภาวะที่แค้น ภาวะที่คับแค้น ของผู้ประกอบด้วยความเสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่ง (หรือ) ผู้ที่ถูกเหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบ ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า อุปายาส

การประสบกับอารมณ์อันไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ เป็นอย่างไร คือ การไปร่วม การมาร่วม การประชุมร่วม การอยู่ร่วมกับอารมณ์อันไม่เป็นที่ปรารถนา ไม่เป็นที่รักใคร่ ไม่เป็นที่ชอบใจของเขาในโลกนี้ เช่น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ หรือจากบุคคลผู้ปรารถนาแต่สิ่งที่ไม่ใช่ประโยชน์ ปรารถนาแต่สิ่งที่ไม่เกื้อกูล ปรารถนาแต่สิ่งที่ไม่ผาสุก ปรารถนาแต่สิ่งที่ไม่มีความเกษมจากโยคะของเขา ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า การประสบกับอารมณ์อันไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์

การพลัดพรากจากอารมณ์อันเป็นที่รักเป็นทุกข์ เป็นอย่างไร คือ การไม่ไปร่วม การไม่มาร่วม การไม่ประชุมร่วม การไม่อยู่ร่วมกับอารมณ์อันเป็นที่ปรารถนา เป็นที่รักใคร่ เป็นที่ชอบใจของเขาในโลกนี้ เช่น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ หรือกับบุคคลผู้ปรารถนาประโยชน์ ปรารถนาความเกื้อกูล ปรารถนาความผาสุก ปรารถนาความเกษมจากโยคะของเขา เช่น มารดาบิดา พี่ชาย น้องชาย พี่สาว น้องสาว มิตร อำมาตย์หรือญาติสาโลหิต ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า การพลัดพรากจากอารมณ์อันเป็นที่รักเป็นทุกข์

การไม่ได้สิ่งที่ต้องการเป็นทุกข์ เป็นอย่างไร คือ เหล่าสัตว์ผู้มีความเกิดเป็นธรรมดา เกิดความปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่า ‘ไฉนหนอ ขอเราอย่าได้มีความเกิดเป็นธรรมดา หรือขอความเกิดอย่าได้มาถึงเราเลย’ ข้อนี้ไม่พึงสำเร็จได้ตามความปรารถนา ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า การไม่ได้สิ่งที่ต้องการเป็นทุกข์ เหล่าสัตว์ผู้มีความแก่เป็นธรรมดา ฯลฯ เหล่าสัตว์ผู้มีความเจ็บเป็นธรรมดา ฯลฯ เหล่าสัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ฯลฯ เหล่าสัตว์ผู้มีความโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจและความคับแค้นใจเป็นธรรมดา  ต่างก็เกิดความปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่า ‘ไฉนหนอขอเราอย่าได้เป็นผู้มีความโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจและความคับแค้นใจเป็นธรรมดาเลย และขอความโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ และความคับแค้นใจ อย่าได้มาถึงเราเลย’ ข้อนี้ไม่พึงสำเร็จได้ตามความปรารถนา ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า การไม่ได้สิ่งที่ต้องการเป็นทุกข์


โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ เป็นอย่างไร คือ
รูปูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือรูป)
เวทนูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือ เวทนา)
สัญญูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือสัญญา)
สังขารูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือสังขาร)
วิญญาณูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ)

ภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่า โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ทุกขอริยสัจ


สมุทยสัจจนิทเทส

ทุกขสมุทยอริยสัจ เป็นอย่างไร คือ
ตัณหานี้เป็นเหตุเกิดขึ้นในภพใหม่ สหรคตด้วยความกำหนัดยินดี เป็นเหตุ
เพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา ก็ตัณหานี้แหละเมื่อเกิดขึ้น เกิดที่ไหน เมื่อตั้งอยู่ ตั้งอยู่ที่ไหน

คือ ปิยรูปสาตรูปใดมีอยู่ในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่ปิยรูปสาตรูปนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่ปิยรูปสาตรูปนี้ (ปิยรูปสาตรูป หมายถึงสภาวะที่น่ารักน่าชื่นใจ เป็นส่วนอิฏฐารมณ์ที่เป็นเหตุให้เกิดตัณหา)

อะไรเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก คือ
จักขุเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่จักขุนี้ เมื่อตั้งอยู่ 
ก็ตั้งอยู่ที่จักขุนี้
โสตะเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
ฆานะเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก 
ฯลฯ
ชิวหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
กายเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
มโน
เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ

รูปเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่รูปนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่รูปนี้
เสียงเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
กลิ่นเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
รส
เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
โผฏฐัพพะเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
ธรรมารมณ์
เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ

จักขุวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่จักขุวิญญาณนี้ เมื่อตั้งอยู่ก็ตั้งอยู่ที่จักขุวิญญาณนี้
โสตวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
ฆานวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
ชิวหาวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูป
ในโลก ฯลฯ
กายวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
มโนวิญญาณเป็น
ปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ

จักขุสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่จักขุสัมผัสนี้เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่จักขุสัมผัสนี้
โสตสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ 
ฆาน
สัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
ชิวหาสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
กายสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
มโนสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก 
ฯลฯ

เวทนาที่เกิดจากจักขุสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่เวทนาซึ่งเกิดจากจักขุสัมผัสนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่เวทนาซึ่งเกิดจากจักขุสัมผัสนี้
เวทนาที่เกิดจากโสตสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
เวทนาที่เกิดจากฆาน
สัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
เวทนาที่เกิดจากชิวหาสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูป
ในโลก ฯลฯ
เวทนาที่เกิดจากกายสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
เวทนาที่เกิด
จากมโนสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ

รูปสัญญา (ความกำหนดหมายรู้รูป) เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิดก็เกิดที่รูปสัญญานี้ เมื่อตั้งอยู่ก็ตั้งอยู่ที่รูปสัญญานี้
สัททสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูป
ในโลก ฯลฯ
คันธสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
รสสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูป
ในโลก ฯลฯ
โผฏฐัพพสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
ธัมมสัญญาเป็นปิยรูป
สาตรูปในโลก ฯลฯ

รูปสัญเจตนา (ความจำนงในรูป) เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิดก็เกิดที่รูปสัญเจตนานี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่รูปสัญเจตนานี้
สัททสัญเจตนาเป็น
ปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
คันธสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
รสสัญเจตนา
เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
โผฏฐัพพสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
ธัมมสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ

รูปตัณหา (ความอยากได้รูป) เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่รูปตัณหานี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่รูปตัณหานี้
สัททตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก 
ฯลฯ
คันธตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
รสตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก 
ฯลฯ
โผฏฐัพพตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
ธัมมตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูป 
ฯลฯ

รูปวิตก (ความตรึกถึงรูป) เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิดก็เกิดที่รูปวิตกนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่รูปวิตกนี้
สัททวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก  ฯลฯ
คันธวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
รสวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
โผฏฐัพพวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
ธัมมวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก 
ฯลฯ

รูปวิจาร (ความตรองถึงรูป) เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิดก็เกิดที่รูปวิจารนี้ เมื่อตั้งอยู่ก็ตั้งอยู่ที่รูปวิจารนี้
สัททวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก  ฯลฯ
คันธวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
รสวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
โผฏฐัพพวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
ธัมมวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก 
ฯลฯ

ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ทุกขสมุทยอริยสัจ


นิโรธสัจจนิทเทส

ทุกขนิโรธอริยสัจ เป็นอย่างไร คือ ความดับกิเลสไม่เหลือด้วยวิราคะ ความปล่อยวาง ความสละคืน ความพ้น ความไม่ติด ก็ตัณหานี้เมื่อละ ละที่ไหน เมื่อดับ ดับที่ไหน คือ

ปิยรูปสาตรูปใดมีอยู่ในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่ปิยรูปสาตรูปนี้ เมื่อดับ
ก็ดับที่ปิยรูปสาตรูปนี้ อะไรเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก คือ

จักขุเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่จักขุนี้ เมื่อดับก็ดับที่จักขุนี้
โสตะเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
ฆานะเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
ชิวหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
กายเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
มโนเป็น
ปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ

รูปเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่รูปนี้ เมื่อดับ ก็ดับที่รูปนี้
เสียงเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
กลิ่นเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
รสเป็นปิยรูป
สาตรูปในโลก ฯลฯ
โผฏฐัพพะเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
ธรรมารมณ์เป็นปิยรูป
สาตรูปในโลก ฯลฯ

จักขุวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่จักขุวิญญาณนี้เมื่อดับ ก็ดับที่จักขุวิญญาณนี้
โสตวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
ฆาน
วิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
ชิวหาวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก 
ฯลฯ
กายวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
มโนวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูป
ในโลก ฯลฯ

จักขุสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่จักขุสัมผัสนี้ เมื่อดับก็ดับที่จักขุสัมผัสนี้
โสตสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
ฆานสัมผัสเป็นปิยรูป
สาตรูปในโลก ฯลฯ
ชิวหาสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
กายสัมผัสเป็นปิยรูป
สาตรูปในโลก ฯลฯ
มโนสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก 
ฯลฯ

เวทนาที่เกิดจากจักขุสัมผัส เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่เวทนาอันเกิดจากจักขุสัมผัสนี้ เมื่อดับ ก็ดับที่เวทนาอันเกิดจากจักขุสัมผัสนี้
เวทนาที่เกิดจากโสตสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
เวทนาที่เกิดจากฆานสัมผัส
เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
เวทนาที่เกิดจากชิวหาสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูป
ในโลก ฯลฯ
เวทนาที่เกิดจากกายสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
เวทนาที่
เกิดจากมโนสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ

รูปสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่รูปสัญญานี้ เมื่อดับก็ดับที่รูปสัญญานี้
สัททสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
คันธสัญญาเป็น
ปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
รสสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
โผฏฐัพพสัญญา
เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
ธัมมสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก 
ฯลฯ

รูปสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่รูปสัญเจตนานี้ เมื่อดับ ก็ดับที่รูปสัญเจตนานี้
สัททสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
คันธสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
รสสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก 
ฯลฯ
โผฏฐัพพสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
ธัมมสัญเจตนาเป็น
ปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ

รูปตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่รูปตัณหานี้ เมื่อดับก็ดับที่รูปตัณหานี้
สัททตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
คันธตัณหาเป็น
ปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
รสตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
โผฏฐัพพตัณหา
เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
ธัมมตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก 
ฯลฯ

รูปวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่รูปวิตกนี้ เมื่อดับก็ดับที่รูปวิตกนี้
สัททวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
คันธวิตกเป็นปิยรูปสาตรูป
ในโลก ฯลฯ
รสวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
โผฏฐัพพวิตกเป็นปิยรูปสาตรูป
ในโลก ฯลฯ
ธัมมวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก 
ฯลฯ

รูปวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่รูปวิจารนี้ เมื่อดับก็ดับที่รูปวิจารนี้
สัททวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
คันธวิจารเป็นปิยรูป
สาตรูปในโลก ฯลฯ
รสวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
โผฏฐัพพวิจารเป็น
ปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
ธัมมวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก 
ฯลฯ

ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธอริยสัจ


มัคคสัจจนิทเทส

ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เป็นอย่างไร คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้นั่นแล ได้แก่

๑. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ)       
๒. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
๓. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ)     
๔. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)
๕. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ)
๖. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ)
๗. สัมมาสติ (ระลึกชอบ)         
๘. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ)

สัมมาทิฏฐิ เป็นอย่างไร คือ ความรู้ในทุกข์ (ความทุกข์) ความรู้ในทุกขสมุทัย (เหตุเกิดแห่งทุกข์) ความรู้ในทุกขนิโรธ (ความดับแห่งทุกข์) ความรู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา (ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งทุกข์) ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ

สัมมาสังกัปปะ เป็นอย่างไร คือ ความดำริในการออกจากกาม ความดำริในการไม่พยาบาท ความดำริในการไม่เบียดเบียน ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ

สัมมาวาจา เป็นอย่างไร คือ เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการพูดเท็จ เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการพูดส่อเสียด เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการพูดคำหยาบ เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า สัมมาวาจา

สัมมากัมมันตะ เป็นอย่างไร คือ เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า สัมมากัมมันตะ

สัมมาอาชีวะ เป็นอย่างไร คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ละมิจฉาอาชีวะแล้ว สำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยสัมมาอาชีวะ ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า สัมมาอาชีวะ

สัมมาวายามะ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น เพื่อป้องกันบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น
๒. สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น เพื่อละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
๓. สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น เพื่อทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นให้เกิดขึ้น
๔. สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น เพื่อความดำรงอยู่ ไม่เลือนหาย ภิญโญภาพ ไพบูลย์ เจริญเต็มที่ แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า สัมมาวายามะ

สัมมาสติ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
๒. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ ฯลฯ
๓. พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ฯลฯ
๔. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ ฯลฯ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า สัมมาสติ

สัมมาสมาธิ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก มีวิจาร มีปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่
๒. เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุทุติยฌานที่มีความผ่องใสภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่
๓. เพราะปีติจางคลายไป มีจิตเป็นอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะอยู่และเสวยสุขด้วยกาย (นามกาย) บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายกล่าวสรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข’
๔. เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้วบรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ

ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายภายในอยู่ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุเกิดในธรรมทั้งหลายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘ธรรมมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัยเจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรๆ ในโลก ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อริยสัจ ๔ อยู่ อย่างนี้แล

หมวดสัจจะ จบ


อานิสงส์แห่งการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ประการ

ภิกษุทั้งหลาย
- บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๗ ปี พึงหวัง
ได้ผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี  อย่าว่าแต่ ๗ ปีจงยกไว้
- บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๖ ปี พึงหวังได้ผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ก็จักเป็นอนาคามี อย่าว่าแต่ ๖ ปีจงยกไว้
- บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๕ ปี พึงหวังได้ผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ก็จักเป็นอนาคามี อย่าว่าแต่ ๕ ปีจงยกไว้
- บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๔ ปี พึงหวังได้ผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ก็จักเป็นอนาคามี อย่าว่าแต่ ๔ ปีจงยกไว้
- บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๓ ปี พึงหวังได้ผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ก็จักเป็นอนาคามี อย่าว่าแต่ ๓ ปีจงยกไว้
- บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๒ ปี พึงหวังได้ผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ก็จักเป็นอนาคามี อย่าว่าแต่ ๒ ปีจงยกไว้
- บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๑ ปี พึงหวังได้ผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี อย่าว่าแต่ ๑ ปีจงยกไว้
- บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๗ เดือน พึงหวังได้ผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ก็จักเป็นอนาคามี อย่าว่าแต่ ๗ เดือนจงยกไว้
- บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๖ เดือน พึงหวังได้ผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี อย่าว่าแต่ ๖ เดือนจงยกไว้
- บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๕ เดือน พึงหวังได้ผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ก็จักเป็นอนาคามี อย่าว่าแต่ ๔ เดือนจงยกไว้
- บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๓ เดือน พึงหวังได้ผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ก็จักเป็นอนาคามี อย่าว่าแต่ ๓ เดือนจงยกไว้
- บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๒ เดือน พึงหวังได้ผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ก็จักเป็นอนาคามี อย่าว่าแต่ ๒ เดือนจงยกไว้
- บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๑ เดือน พึงหวังได้ผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ก็จักเป็นอนาคามี อย่าว่าแต่ ๑ เดือนจงยกไว้
- บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอดครึ่งเดือน พึงหวังได้ผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ก็จักเป็นอนาคามี ภิกษุทั้งหลาย ครึ่งเดือน จงยกไว้
- บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๗ วัน พึงหวังได้ผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี

ภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางเดียว เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์เพื่อล่วงโสกะและปริเทวะ เพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน ทางนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ ประการ เราอาศัยทางเดียวนี้แล้ว จึงกล่าวคำดังพรรณนามาฉะนี้”

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วแล