วันอังคาร

๑.๔ สัจจะ ๒ ระดับ

ผู้สดับคำสอนในพระพุทธศาสนาบางคน เกิดความสับสน เมื่อได้อ่านได้ฟังข้อความบางอย่าง เช่น บางแห่งว่าตนเป็นที่พึ่งของตน ควรยินดีในของของตน แต่บางแห่งว่า ไม่ใช่ตัวตนของเรา สิ่งทั้งหลายเป็นอนัตตา ดังนี้เป็นต้น แล้วมองไปว่าคำสอนขัดแย้งกันเอง หรือบางคนเข้าใจแต่ไม่ชัดเจนพอ ทำให้เกิดการปฏิบัติสับสน ในเวลาที่ควรพูดหรือควรปฏิบัติตามความรู้ในชีวิตประจำวัน กลับพูดหรือปฏิบัติด้วยความยึดถือในความรู้ตามสภาวะ

คัมภีร์ฝ่ายอภิธรรม หวังจะช่วยป้องกันความสับสนผิดพลาดเช่นนี้ จึงสอนให้รู้จักแยกสัจจะหรือความจริง เป็น ๒ ระดับ กล่าวคือ

สมมติสัจจะ (โวหารสัจจะ) : ความจริงโดยสมมติ ไม่ใช่จริงแท้ (สม+มติ) คือ จริงตามมติร่วมกัน โดยสำนวนพูด หมายรู้ร่วมกัน เป็นเครื่องมือสื่อสารพอให้สำเร็จประโยชน์ในชีวิตประจำวัน เช่น อัตตา คน สัตว์ โต๊ะ เก้าอี้ เป็นต้น

พุทธพจน์ที่ว่า “ตนเป็นที่พึ่งของตน” นั้นเป็นการใช้ภาษาสมมติ ตามสภาวะ ตัวตนนั้นไม่มีจริง มีแต่สภาวะธรรมที่มีจริง (อาจารย์บางท่านกล่าวโดยสำนวนว่า “มีอยู่อย่างเป็นอนัตตา”)

ปรมัตถสัจจะ (สภาวะสัจจะ) : ความจริงตามความหมายสูงสุด ตามความหมายแท้ขั้นสุดท้ายที่ตรงตามสภาวะและเท่าที่พอจะกล่าวถึงได้ เพื่อสำหรับให้เกิดความรู้ความเข้าใจเท่าทันความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลาย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดคือ การหยั่งรู้สัจธรรม เช่น รูปธรรม นามธรรม ขันธ์ ๕ นิพพาน ผัสสะ เจตนา ฯลฯ

ตัวอย่างที่พอเทียบให้เห็นเค้า เช่น คำว่า น้ำ ว่า เกลือ  ยังไม่ตรงสภาวะแท้ เมื่อพูดให้ถูก คือ H2O, NaCl (ข้อเปรียบเทียบนี้ไม่ใช่ตรงกันแท้ แต่เทียบพอให้เห็นว่าในวิชาการอื่น ก็มีการมองเห็นความจริงด้านอื่นของสิ่งสามัญ)

“ภิกษุใดเป็นผู้ไกลจากกิเลส มีกิจทำเสร็จแล้ว มีอาสวะสิ้นแล้ว เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งร่างกายอันมีในชาติสุดท้าย ภิกษุนั้นพึงกล่าวว่า ‘เราพูด’ ดังนี้บ้าง กล่าวว่า ‘บุคคลทั้งหลายพูดกับเรา’ ดังนี้บ้าง ภิกษุนั้นเป็นผู้ฉลาด ทราบคำพูดในโลก พึงกล่าวตามสมมติที่เขาพูดกัน” (อรหันตสูตรที่ ๕, ๑๕/๖๕)

“จิตตะ เหล่านี้แลเป็นโลกสมัญญา (ชื่อที่ชาวโลกใช้เรียก) เป็นโลกนิรุตติ (ภาษาของชาวโลก) เป็นโลกโวหาร (โวหารของชาวโลก) เป็นโลกบัญญัติ (บัญญัติของชาวโลก) ซึ่งตถาคตก็ใช้กล่าวอยู่ แต่มิได้ยึดถือ” (โปฏฐปาทสูตร, ๙/๓๑๒)

อ่านเพิ่มเติม 🔎ปรมัติและบัญญัต


พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญกับสัจจะทั้ง ๒ ระดับ สมมติไม่ใช่ของเหลวไหลไร้สาระ แต่มีขึ้นเพื่อที่จะให้มนุษย์เอาความจริงมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างได้ผล เช่น การสมมติบัญญัติภาษาพูด และการสมมติบัญญัติกฏหมายต่างๆขึ้นใช้ในสังคม, พระพุทธศาสนาในส่วนของวินัย ถือเป็นสมมติสัจจะทั้งหมด, พระปัจเจกพุทธเจ้า บรรลุปรมัตถสัจจะ แต่ไม่สามารถจัดตั้ง สมมติสัจจะขึ้นอย่างเป็นระบบเพื่อสั่งสอนมนุษย์ในวงกว้างได้ (ปัจจุบันในภาษาไทยใช้ความหมายของสมมติเพี้ยนไปจากความหมายเดิม คือ เป็นลักษณะการยกตัวอย่าง ไม่ใช่การมีมติร่วมกัน)

จุดสำคัญของการจัดวางสมมติ คือ ต้องจัดวางขึ้นบนพื้นฐานของความรู้จริงตามสภาวะนั้น จึงจะทำให้สมมตินั้นเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง เช่น การสมมติบัญญัติกฏหมายต่างๆขึ้นใช้ในสังคม จะมีความยุติธรรมแท้จริงได้ก็ต่อเมื่อสอดคล้องกับเหตุปัจจัยตามธรรมชาติ จึงกล่าวได้ว่า สมมติเป็นแกนของสังคม


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น