วันพุธ

๒.๑ มัชฌิมาปฏิปทา (มรรค ๘)

มัชฌิมาปฏิปทา : ข้อปฏิบัติที่เป็นกลางตามธรรมชาติ หรือ ทางสายกลาง

    เมื่อเรียนรู้เรื่องมัชเฌนธรรมเทศนามาตามลำดับ จนถึงรู้จักกระบวนการดับทุกข์ในข้อว่าด้วยนิโรธ (นิพพาน) เป็นอันได้เข้าใจหลักการดับทุกข์ หรือหลักการแก้ปัญหาแล้ว ต่อมาเป็นภาคปฏิบัติ อันกล่าวถึงวิธีการที่จะทำให้เกิดผลสำเร็จตามหลักการหรือกระบวนการนั้นได้อย่างไร มัชฌิมาปฏิปทา หรืออริยสัจข้อสุดท้าย คือ มรรค เป็นประมวลหลักความประพฤติปฏิบัติ หรือระบบจริยธรรมทั้งหมดในพระพุทธศาสนา เป็นคำสอนภาคปฏิบัติที่จะช่วยให้การดำเนินสู่จุดหมายตามแนวทางที่ได้พิจารณาไว้แล้วนั้น เป็นผลสำเร็จขึ้นมาในชีวิตจริง พูดอีกอย่างหนึ่งว่า ผ่านจากขั้นรู้ความจริงเกี่ยวกับกฎธรรมชาติ มาสู่ขั้นประยุกต์ความรู้นั้นจัดวางเป็นระบบวิธีประพฤติปฏิบัติของมนุษย์

ทางสายกลางนั้น มิใช่หมายถึงอยู่กึ่งกลางระหว่าง ที่สุดทั้ง ๒ ทาง หรือกึ่งกลางของทางหลายๆทาง แต่หมายถึง ความมีเป้าหมายที่แน่ชัด แล้วกระทำตรงจุด ตรงกลางเป้าหมาย พอเหมาะพอดีจะให้ผลสำเร็จตามเป้าหมายนั้น ไม่เขวออกไปเสีย การเพียรพยายามไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป บางคราวก็นิยมพูดกันว่า เป็นทางสายกลาง คำพูดนี้เข้าลักษณะทางสายกลางได้ในบางแง่ แต่ไม่ถูกแท้ทีเดียว บางคราวถ้าชัดเจนว่าเดินถูกทาง มั่นใจและพร้อมทุกอย่างแล้ว ท่านให้ระดมความเพียรสุดกำลังก็มี เรื่องนี้จึงไม่ควรสับสนกับทางสายกลาง

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้บวชด้วยศรัทธา สมควรแท้เพื่อปรารภความเพียรในธรรมอันเรากล่าวดีแล้วอย่างนี้ทำให้ตื้น เปิดเผย ประกาศ เป็นดุจผืนผ้าเก่าที่ตัดไว้แล้ว ด้วยความตั้งใจว่า หนัง เอ็น และกระดูกจงเหลืออยู่ เนื้อเลือดในสรีระของเราจงเหือดแห้งไปก็ตามที อิฐผลใดที่จะพึงบรรลุได้ด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความบากบั่นของบุรุษ ยังไม่บรรลุอิฐผลนั้น จักไม่หยุดความเพียร ดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลายบุคคลผู้เกียจคร้านเกลื่อนกล่นด้วยธรรมอันเป็นบาปอกุศล ย่อมอยู่เป็นทุกข์ และย่อมยังประโยชน์ของตนอันใหญ่ให้เสื่อมเสีย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนบุคคลผู้ปรารภความเพียร ผู้สงัดจาธรรมอันเป็นบาปอกุศล ย่อมอยู่เป็นสุข และยังประโยชน์ของตนอันใหญ่ให้บริบูรณ์ได้” (ทศพลสูตรที่ ๒)

อนึ่ง โดยเหตุที่ทางสายกลางเป็นทางที่มีจุดหมายแน่ชัด ผู้ปฏิบัติจึงต้องรู้จุดหมาย จึงจะเดินทางได้ เปรียบเหมือนเมื่อจะเดินทางก็ต้องรู้ว่าชัดตนจะไปไหนจึงจะไม่เขวออกนอกทิศทาง ด้วยเหตุนี้ ทางสายกลางจึงเริ่มด้วยสัมมาทิฏฐิ คือเริ่มต้นด้วยความเข้าใจปัญหาของตน และรู้จุดหมายที่จะเดินทางไป ทางสายกลางเป็นทางแห่ง ปัญญา ความรู้ ความมีเหตุผล และกล้าเผชิญหน้ากับความจริง

“ภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำคงคา ไหลหลั่ง ลาดเอน เบนไปสู่มหาสมุทร ฉันใด ภิกษุเมื่อเจริญอยู่ ทำให้มากอยู่ ซึ่งมรรคามีองค์ ๘ ประการ อันประเสริฐ ย่อมเป็นผู้โน้มน้อม ลาดเอน เบนไปสู่นิพพาน ฉันนั้น” (คังคาสมุทนินนสูตร)

อย่างไรก็ตาม พระพุทธศาสนามิได้มองข้ามประโยชน์หรือจุดหมายขั้นรองลดหลั่นกันลงมา ที่มนุษย์จะพึงถึงตามระดับความพร้อมของตน โดยจัดแบ่งจุดหมายไว้เป็น ๓ ระดับ

ระดับที่ ๑ ทิฏฐธัมมิกัตถะ : ประโยชน์ปัจจุบัน เป็นจุดหมายขั้นต้น หมายถึงประโยชน์อย่างที่มองเห็นๆกันอยู่ในชีวิตประจำวัน ได้แก่ ทรัพย์สิน ยศ เกียรติ ไมตรี เป็นต้น อันจะสำเร็จด้วยธรรม ๔ ประการ คือ ความเพียร การดูแลรักษา กัลยาณมิตร และการเลี้ยงชีวิตตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่หาได้
ระดับที่ ๒ สัมปรายิกัตถะ : ประโยชน์เบื้องหน้า ประโยชน์ที่ลึกล้ำยิ่งกว่าที่จะมองเห็นกันอย่างผิวเผินภายนอก เกี่ยวด้วยชีวิตด้านใน เป็นจุดหมายขั้นสูงขึ้นไป ซึ่งเป็นหลักประกันชีวิตเมื่อละโลกนี้ไป หรือเป็นเครื่องประกันการได้คุณค่าที่สูงล้ำเลิศยิ่งขึ้นไป ได้แก่ ความเจริญงอกงามแห่งชีวิตจิตใจอันประกอบด้วยคุณธรรม ๕ ประการคือ ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา
ระดับที่ ๓ ปรมัตถะ : ประโยชน์อย่างยิ่ง หรือประโยชน์ที่เป็นสาระแท้จริงของชีวิต ได้แก่ การรู้แจ้งสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง จึงไม่ตกเป็นทาสของชีวิตและโลก มีจิตใจเป็นอิสระ โปร่งโล่ง ผ่องใส เบิกบาน สะอาดบริสุทธิ์สิ้นเชิง คือ นิพพาน

ตามคติของพระพุทธศาสนา บุคคลทุกคนควรดำเนินชีวิตให้บรรลุจุดหมายอย่างน้อยถึงขั้นที่ ๒ จึงได้ชื่อว่าเป็น บัณฑิต เป็นผู้มีชีวิตไม่ว่างเปล่าไร้ค่า ถือเอาสาระในโลกนี้ไว้ได้



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น