วันพุธ

๒.๒ บุพนิมิตแห่งมรรค

บุพนิมิตแห่งมรรค ปัจจัยแห่งการเกิดขึ้นของสัมมาทิฏฐิ รุ่งอรุณแห่งการศึกษาและปัญญา

สัมมาทิฏฐิ เป็นองค์ประกอบสำคัญของมรรค ในฐานะที่เป็นขั้นเริ่มแรกและเป็นแกนกลางในระบบการศึกษาตามหลักการของพระพุทธศาสนา และเป็นธรรมที่ต้องพัฒนาให้บริสุทธิ์ ชัดเจน เป็นอิสระมากขึ้นตามลำดับ จนกลายเป็นการตรัสรู้ในที่สุด ถ้าไม่เริ่มต้นด้วยสัมมาทิฏฐิ ก็ไม่มีมัชฌิมาปฏิปทา ถ้าไม่ดำเนินตามมัชฌิมาปฏิปทา ก็แก้ปัญหาดับทุกข์ไม่สำเร็จ ดังพุทธพจน์ “ธรรมรถ ประกอบด้วยล้อ คือ ธรรม, หิริ เป็น ฝา, สติ เป็นเกราะกั้น, สัมมาทิฏฐิ นำหน้าเป็นสารถี บุคคลใดมียานเช่นนี้ เขาย่อมใช้ยานนั้น ขับไปถึงในสำนักแห่งนิพพาน” (อัจฉราสูตร)

ปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งสัมมาทิฏฐิ หรือ เรียกว่า บุพนิมิตแห่งมรรค มี ๒ ประการ คือ
ประการที่ ๑ ปรโตโฆสะ (องค์ประกอบภายนอก) : ที่สำคัญที่สุดคือกัลยาณมิตร ในระดับสูงสุดคือพระบรมศาสดา ครูอาจารย์ มิตรสหาย ตลอดจน หนังสือ สื่อการสอนต่างๆ เป็นฝ่ายศรัทธา ปัจจัยทางสังคมที่ดีงามนั้น เป็นทั้งเครื่องจุดชนวนความรู้จักคิดที่เรียกว่าโยนิโสมนสิการ และเป็นเครื่องประคับประคองคอยเสริมเติม และกระตุ้นโยนิโสมนสิการนั้นในระหว่างก้าวเดินคืบหน้าต่อๆไป
ประการที่ ๒ โยนิโสมนสิการ (องค์ประกอบภายใน) : ความคิดชนิดที่ทำให้เกิดการใช้ปัญญา ความคิดที่ทำให้ปัญญานั้นเจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป แปลให้ง่ายคือ ความฉลาดคิด เป็นฝ่ายปัญญา เป็นตัวชี้ขาดในการบรรลุสัจธรรม

เมื่อธรรม ๒ ข้อนี้ เป็นปัจจัยให้สัมมาทิฏฐิเจริญขึ้น จึงจัดว่าธรรม ๒ ข้อนี้เป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการเจริญขึ้นในกุศลธรรม ข้อตัดสินว่า ทำหน้าที่กัลยาณมิตรได้สำเร็จ คือ ทำให้ผู้เสวนาเกิดมีสัมมาทิฏฐิ ถ้าตรงกันข้ามจากนี้ คือ ได้ผู้ไม่เป็นกัลยาณมิตร ทำให้ประสบปรโตโฆสะที่ผิดพลาด และใช้ความคิดผิดวิธี ไม่ฉลาดคิด เป็นอโยนิโสมนสิการ ก็จะได้รับผลตรงข้าม คือเป็นมิจฉาทิฏฐิไปได้

อย่างไรก็ตาม กัลยาณมิตรล้วนๆ ส่งผลได้ถึง โลกิยสัมมาทิฏฐิ (ขั้นศรัทธา) เท่านั้น ผู้ปฏิบัติต้องมี โยนิโสมนสิการ มารับช่วงทำงานต่อไป จึงจะสามารถนำไปสู่โลกุตรสัมมาทิฏฐิได้ กัลยาณมิตรที่ดี พึงช่วยจุดชนวนโยนิโสมนสิการในตัวผู้เรียนขึ้นด้วย เพื่อให้ผู้เรียนเกิดฉันทะ และการศึกษาของเขาก็ก้าวหน้าต่อไปสู่ขั้นที่สูงขึ้นได้ด้วยตัวเขาเอง พึงสังเกตว่า แม้แต่ความสงสัยเคลือบแคลงในพระพุทธเจ้า ก็ไม่ได้ถูกถือว่าเป็นบาปหรือความชั่ว ถือว่าเป็นเพียงสิ่งที่จะต้องแก้ไขให้รู้แน่ชัดลงไปจนหมดสงสัย ด้วยวิธีการแห่งปัญญา และยังส่งเสริมให้ใช้ความคิดสอบสวนพิจารณาตรวจสอบอีกด้วย (เอหิปัสสิโก : ควรเรียกให้มาดู เชิญชวนให้มาชม ท้าทายต่อการตรวจสอบ)

พุทธพจน์ที่กล่าวถึงความสำคัญของปัญญา “เพราะเจริญ เพราะกระทำให้มาก ซึ่งอินทรีย์อย่างเดียว ภิกษุผู้ขีณาสพ ย่อมพยากรณ์อรหัตตผลได้ อินทรีย์อย่างเดียวนั้น ก็คือ ปัญญินทรีย์, สำหรับอริยสาวกผู้มีปัญญา ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ อันเป็นของคล้อยตามปัญญานั้น ย่อมทรงตัวอยู่ได้” (ปุพพารามสูตร) (ถึงมีอินทรีย์อื่นๆ ถ้าขาดปัญญาเสียเพียงอย่างเดียว ก็ไม่อาจให้บรรลุผลสำเร็จนี้ได้ อีกทั้งอินทรีย์อื่น เมื่อไม่มีปัญญาเป็นแกนก็อาจเสื่อมไปได้)

“ภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายเหล่าหนึ่งเหล่าใดก็ตาม ที่เป็นกุศล อยู่ในภาคกุศล อยู่ในฝ่ายกุศล ธรรมเหล่านั้นทั้งหมด มีโยนิโสมนสิการเป็นมูลราก ประชุมลงในโยนิโสมนสิการ, โยนิโสมนสิการ เรียกว่า เป็นยอดของธรรมเหล่านั้น” (กุสลสูตร)

“สำหรับภิกษุผู้เสขะ ยังไม่บรรลุอรหัตตผล ปรารถนาความเกษมจากโยคะ อันยอดเยี่ยม เราไม่เล็งเห็นองค์ประกอบภายในอย่างอื่นแม้สักอย่าง ที่มีประโยชน์มาก เหมือนโยนิโสมนสิการเลย ภิกษุผู้ใช้โยนิโสมนสิการ ย่อมกำจัดอกุศลได้ และบำเพ็ญกุศลให้เกิดขึ้น” (เสขสูตร) (องค์ประกอบภายในที่มีประโยชน์มากที่สุดคือ โยนิโสมนสิการ ส่วนองค์ประกอบภายนอกที่มีประโยชน์มากที่สุดคือ กัลยาณมิตร)

“การฟังด้วยดี การสอบถามค้นคว้า เป็นอาหารของปัญญา” (อิฏฐสูตร)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น