วันพุธ

๒.๓ ธรรมานุธรรมปฏิบัติ

ในการปฏิบัติธรรม จะต้องเข้าใจความหมาย ความมุ่งหมาย ขอบเขตและตำแหน่งเชื่อมโยงกับหลักธรรมอื่น ของธรรมหรือหลักการนั้นๆ ความเข้าใจถูกต้องนี้ นำไปสู่การปฏิบัติถูกต้องที่เรียกว่า ธรรมานุธรรมปฏิบัติ ซึ่งแปลว่า ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม, ปฏิบัติธรรมถูกหลัก, ปฏิบัติธรรมย่อยคล้อยตามธรรมใหญ่ ธรรมานุธรรมปฏิบัติ เป็นหลักการสำคัญมากของการศึกษาและปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนา อาจเรียกได้ว่า เป็นตัวตัดสินว่า การปฏิบัติธรรม หรือการกระทำนั้นๆ จะสำเร็จผลบรรลุจุดมุ่งหมายได้หรือไม่ ถ้าไม่มีธรรมานุธรรมปฏิบัติ ก็อาจคลาดเคลื่อน ผิดพลาด เลื่อนลอย งมงาย ไร้ผล หรืออาจเกิดโทษขึ้นได้ ธรรมทุกข้อมีความมุ่งหมาย จะปฏิบัติอะไร ต้องถามได้ตอบได้ ว่าเพื่ออะไร

ในขั้นศีล ผู้ถือศีลโดยเข้าใจความมุ่งหมาย ก็ย่อมตระหนักถึงความหมาย และความมุ่งหมายของศีลนั้น และเข้าใจว่าสัมพันธ์กับส่วนอื่นในกระบวนการปฏิบัติอย่างไร รู้จักแยกว่า นี้เป็นศีล (ระเบียบกลาง) นี้เป็นวัตร (ธรรมเนียมปฏิบัติ) เป็นพรต (ข้อปฏิบัติเสริม) ท่านผู้นี้ควรถือข้อปฏิบัติเข้มงวดมากข้อนี้ด้วยเหตุผลดังนี้ๆ ท่านผู้นี้ไม่ควรถือข้อนี้ด้วยเหตุผลดังนี้



เมื่อมองในแง่ปรมัตถ์ ศีล สมาธิ และปัญญา ต่างก็มีจุดหมายสุดท้ายเพื่อนิพพานเหมือนกัน แต่เมื่อมองจำกัดเฉพาะตัว แต่ละอย่างมีขีดขั้นขอบเขตของตน ที่จะต้องไปเชื่อมต่อกับอย่างอื่นๆ จึงจะให้บรรลุจุดหมายสุดท้ายได้ ลำพังอย่างหนึ่งอย่างเดียวหาสำเร็จผลล่วงตลอดไม่ แต่จะขาดอย่างหนึ่งอย่างใดเสียทีเดียว ก็ไม่ได้ จึงมีหลักว่า ศีลเพื่อสมาธิ สมาธิเพื่อปัญญา ปัญญาเพื่อวิมุตติ

ดังพุทธพจน์ “ผู้ปฏิบัติธรรมถูกหลัก (ธรรมานุธรรมปฏิบัติ) เป็นบุคคลหาได้ยาก (พวกหนึ่ง) ในโลก” (สารันททสูตร)

“คนที่สมบูรณ์ด้วยความรู้และความประพฤติ เป็นผู้ประเสริฐสุดทั้งในหมู่มนุษย์และเทวดา” (อัคคัญสูตร)

“ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เป็นผู้ปฏิบัติชอบ เป็นผู้ประพฤติตามธรรม ผู้นั้นชื่อว่าสักการะ เคารพนับถือ บูชา พระตถาคต ด้วยบูชาอย่างยิ่ง” (มหาปรินิพพานสูตร)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น