วันศุกร์

๒.๔ การมองโลกตามความเป็นจริง

“ภิกษุทั้งหลาย ก่อนสัมโพธิ เมื่อยังเป็นโพธิสัตว์ ผู้ยังมิได้ตรัสรู้ เราได้มีความคิดว่า อะไรหนอคือส่วนดี (อัสสาทะ) ในโลก อะไรคือส่วนเสีย (อาทีนวะ) อะไรคือทางออกปลอดพ้นเป็นอิสระ? (นิสสรณะ) เรานั้นได้มีความคิดว่า ความสุขความฉ่ำชื่นใจ ที่เกิดขึ้นด้วยอาศัยสิ่งใดๆในโลก นี้คือส่วนดีในโลก, ข้อที่โลกไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา นี้คือส่วนเสียในโลก, ภาวะที่บำราศฉันทราคะ เป็นที่ละฉันทราคะในโลกได้ (นิพพาน) นี้คือทางออกในโลก …

“ภิกษุทั้งหลาย เราได้เที่ยวแสวงหาคุณของโลก  อันใดเป็นคุณในโลก อันนั้นเราได้ประสบแล้ว คุณในโลกมีเท่าใด คุณนั้น เราได้เห็นเป็นอย่างดีแล้วด้วยปัญญา ; เราได้เที่ยวแสวงหาโทษของโลก อันใดเป็นโทษในโลก อันนั้นเราได้ประสบแล้ว โทษในโลกมีเท่าใด โทษนั้น เราได้เห็นเป็นอย่างดีแล้วด้วยปัญญา ; เราได้เที่ยวแสวงหานิสสรณะของโลก อันใดเป็นนิสสรณะของโลก อันนั้นเราได้ประสบแล้ว นิสสรณะในโลกมีเท่าใด นิสสรณะนั้น เราได้เห็นเป็นอย่างดีแล้วด้วยปัญญา

“ภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่รู้ประจักษ์ชัดตามเป็นจริง ซึ่งคุณของโลก โดยความเป็นคุณ ซึ่งโทษ โดยความเป็นโทษ และซึ่งนิสสรณะ โดยความเป็นนิสสรณะ ตราบใด ตราบนั้น เราก็ยังไม่ปฏิญาณว่าตรัสรู้แล้ว ซึ่งอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ …

“ภิกษุทั้งหลาย ถ้าคุณจักมิได้มีในโลกแล้วไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็ไม่พึงติดใจในโลก แต่เพราะคุณในโลกมีอยู่ ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายจึงติดใจในโลก ; ถ้าโทษจักมิได้มีในโลกแล้วไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็ไม่พึงเบื่อหน่ายในโลก แต่เพราะโทษในโลกมีอยู่ ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายจึงเบื่อหน่ายในโลก ; ถ้านิสสรณะจักมิได้มีในโลกแล้วไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็ไม่พึงสลัดออกได้จากโลก แต่เพราะนิสสรณะในโลกมีอยู่ ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายจึงสลัดออกจากโลกได้

“ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายยังไม่รู้ประจักษ์ชัดตามเป็นจริง ซึ่งคุณของโลก โดยความเป็นคุณ ซึ่งโทษ โดยความเป็นโทษ ซึ่งนิสสรณะ โดยความเป็นนิสสรณะ ตราบใด ตราบนั้น สัตว์ทั้งหลายก็ยังสลัดออก ไม่เกาะเกี่ยว หลุดพ้นจากโลก … เป็นอยู่ด้วยใจไร้เขตแดนไม่ได้, แต่เมื่อใด สัตว์ทั้งหลายรู้ประจักษ์ชัดตามเป็นจริง ซึ่งคุณของโลก โดยความเป็นคุณ ซึ่งโทษ โดยความเป็นโทษ และซึ่งนิสสรณะ โดยความเป็นนิสสรณะ เมื่อนั้น สัตว์ทั้งหลายจึงจะสลัดออก ไม่เกาะเกี่ยว หลุดพ้นจากโลก … เป็นอยู่ด้วยจิตใจไร้เขตแดน

 “ภิกษุทั้งหลาย สมณะทั้งหลายก็ดี พราหมณ์ทั้งหลายก็ดี เหล่าหนึ่งเหล่าใด ยังไม่รู้ชัดซึ่งคุณของโลก โดยความเป็นคุณ ซึ่งโทษ โดยความเป็นโทษ และซึ่งนิสสรณะโดยความเป็นนิสสรณะ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ก็ยังยอมรับไม่ได้ว่าเป็นสมณะในหมู่สมณะทั้งหลาย ยังยอมรับไม่ได้ว่าเป็นพราหมณ์ในหมู่พราหมณ์ทั้งหลาย และท่านเหล่านั้นก็ยังไม่ชื่อว่าประจักษ์แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งอรรถแห่งความเป็นสมณะ หรือซึ่งอรรถแห่งความเป็นพราหมณ์” (ตติยปัณณาสก์ สัมโพธิวรรค)

“เมื่อยังเป็นโพธิสัตว์ ผู้ยังมิได้ตรัสรู้ เราได้เห็นเป็นอย่างดีด้วยสัมมาปัญญา ตามเป็นจริงว่า กามทั้งหลายมีอัสสาทะน้อย มีทุกข์มาก มีความคับข้องมาก อาทีนวะในกามนี้ยิ่งนัก แต่เรานั้นยังมิได้ประสบปีติสุข ที่ไม่อาศัยกาม ไม่ต้องมีอกุศลธรรมทั้งหลาย หรือปีติสุขอื่นที่ประณีตยิ่งกว่านั้น เราก็ยังปฏิญาณมิได้ก่อนว่า จะเป็นผู้ไม่วกเวียนมาหากามทั้งหลาย

“แต่เมื่อใดเราได้มองเห็นอย่างดีด้วยสัมมาปัญญา ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่ากามทั้งหลายมีอัสสาทะน้อย และเรานั้นได้ประสบปีติสุข อันปลอดจากกาม ปลอดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย พร้อมทั้งปีติสุขอื่นที่ประณีตยิ่งกว่านั้น เมื่อนั้น เราจึงปฏิญาณได้ว่า เป็นผู้ไม่วกเวียนมาหากามทั้งหลาย (จูฬทุกขักขันธสูตร)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น