กาลามสูตร ตรรกวิทยาและความศรัทธา

สมัยหนึ่ง พวกชนกาลามะโคตร ชาวเกสปุตตนิคม ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า 

“พระเจ้าข้า มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมายังเกสปุตตนิคม สมณพราหมณ์พวกนั้น พูดประกาศแต่เฉพาะวาทะของตัวเท่านั้น ส่วนวาทะของผู้อื่นช่วยกันกระทบกระเทียบ ดูหมิ่นพูดกด ทำให้ไม่น่าเชื่อ พระเจ้าข้า มีสมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่งมายังเกสปุตตนิคมถึงพราหมณ์พวกนั้น ก็พูดประกาศแต่เฉพาะวาทะของตนเท่านั้น ส่วนวาทะของผู้อื่นช่วยกันกระทบกระเทียบ ดูหมิ่น พูดกด ทำให้ไม่น่าเชื่อ พระเจ้าข้า พวกข้าพระองค์ยังมีความเคลือบแคลงสงสัยในสมณพราหมณ์เหล่านั้นอยู่ทีเดียวว่า ท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้น ใครพูดจริง ใครพูดเท็จ”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
“ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ก็ควรแล้วที่ท่านทั้งหลายจะเคลือบแคลงสงสัย กาลามสูตร (วิธีปฏิบัติในเรื่องที่ควรสงสัย)
๑. อย่าปลงใจเชื่อด้วยการฟังตามกันมา
๒. อย่าปลงใจเชื่อด้วยการถือสืบๆกันมา
๓. อย่าปลงใจเชื่อด้วยการเล่าลือ
๔. อย่าปลงใจเชื่อด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์
๕. อย่าปลงใจเชื่อเพราะตรรกะ
๖. อย่าปลงใจเชื่อเพราะการอนุมาน (คาดเดา คาดคะเน)
๗. อย่าปลงใจเชื่อด้วยการตรึกตามอาการ
๘. อย่าปลงใจเชื่อเพราะเข้ากันได้กับความเห็นของตน
๙. อย่าปลงใจเชื่อเพราะผู้พูดสมควรเชื่อถือได้
๑๐. อย่าปลงใจเชื่อเพราะนับถือว่า ท่านผู้นี้เป็นครูของเรา
“ต่อเมื่อใด พิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า ธรรมเหล่าใด เป็นอกุศล มีโทษ นักปราชญ์ติเตียน เมื่อทำแล้วย่อมให้เกิดแต่ส่วนที่ไม่เป็นประโยชน์และความทุกข์ ท่านควรละธรรมเหล่านั้นเสีย ธรรมเหล่าใด เป็นกุศล ไม่มีโทษ นักปราชญ์สรรเสริญ เมื่อทำแล้วย่อมให้เกิดประโยชน์และความสุข ท่านควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้น” (กาลามสูตร)

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) ท่านได้ชี้จุดที่ควรทำความเข้าใจเป็นพิเศษ คือคำว่า “อย่าปลงใจเชื่อ” ไม่ใช่การห้ามไม่ให้เชื่อ หรือปฏิเสธความศรัทธา แต่ท่านหมายความว่า อย่าพึ่งเชื่อสนิทใจ นั่นคือ ให้พิจารณาดูก่อน ปฏิบัติดูก่อน จนประจักษ์แก่ตน ว่าเป็นของดีจริง จึงค่อยเพิ่มพูนความเชื่อมั่นขึ้นไปตามลำดับ ขอให้สังเกตข้อ ๕-๗ เป็นเรื่องของตรรกะ หรือ Logic ซึ่งมีความหมายอย่างกว้างๆ คือ เป็นเรื่องเกี่ยวกับกระบวนวิธีคิดเพื่อนำความจริงที่รู้แล้วขยายไปสู่ความจริงที่ยังไม่รู้ หรือความรู้โดยตรงขยายไปสู่ความรู้โดยอ้อม การพูดโดยอาศัยตรรกะนั้น ถ้าผู้พูดมีวาทะศิลป์ที่ยอดเยี่ยมแล้ว ก็จะทำให้คำพูดของเขานั้นดูมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ สละสลวยน่าฟัง ชวนให้คล้อยตามไปได้โดยง่าย แม้จะไม่ใช่เรื่องจริงก็ตาม เพราะการอ้างตรรกะก็มีช่องโหว่ ไม่ใช่การเข้าถึงความจริงที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ในทุกกรณี ในกาลามสูตรท่านจึงไม่ให้ถือตรรกะเป็นที่ยุติ ยกตัวอย่างง่ายๆเช่น

คนที่เคยติดคุก เป็นคนเลว นาย ก. เคยติดคุก ดังนั้น นาย ก. เป็นคนเลว, ในความเป็นจริงนาย ก. อาจเป็นแพะรับบาป หรือกลับตัวเป็นคนดีแล้วก็ได้

ประเทศชาติของเราจะเจริญรุ่งเรือง ถ้าทุกคนในชาติมีแนวคิดชาตินิยม เราจึงควรปลูกฝังแนวคิดชาตินิยม นาย ก. ไม่สนับสนุนแนวคิดชาตินิยม ดังนั้น นาย ก. เป็นคนไม่รักชาติ, ในความเป็นจริงนาย ก. อาจเป็นคนที่รักชาติ แต่ไม่เห็นด้วยว่าแนวคิดชาตินิยมจะทำให้ชาติเจริญก็ได้

อย่างไรก็ตาม การใช้ตรรกะแม้จะมีช่องโหว่อยู่บ้าง แต่ก็มีประโยชน์ช่วยในการคิดพิจารณา ปะติดปะต่อเรื่องราวและความรู้ต่างๆได้อย่างมีเหตุมีผล แม้จะไม่อยู่ในขั้นที่สมบูรณ์แบบเหมือนการรู้เห็นอย่างประจักษ์แจ้งด้วยปัญญา แต่ก็สามารถทำหน้าที่เป็นบันไดต่อไปสู่ความรู้อย่างประจักษ์แจ้งด้วยปัญญาได้ ตัวอย่างเช่น พระปุณณาเถรีได้กล่าวแก่พราหมณ์ผู้ถือธรรมเนียมการอาบน้ำล้างบาปในแม่น้ำว่า “ …ถ้าคนจะพ้นจากบาปกรรมได้ก็เพราะการอาบน้ำ (ล้างบาป) พวกกบ เต่า งู จระเข้ และสัตว์เหล่าอื่นที่เที่ยวหากินอยู่ในน้ำทั้งหมดก็คงพากันไปสวรรค์แน่แท้, ถ้าแม่น้ำเหล่านี้จะพึงนำบาปที่ท่านก่อไว้แต่ก่อนไปได้ แม่น้ำเหล่านี้ก็จะพึงนำทั้งบุญของท่านไปด้วย, ท่านพราหมณ์ ท่านกลัวบาปใด จึงลงอาบน้ำเป็นประจำ ท่านก็อย่าได้ทำบาปอันนั้น… ” (ปุณณิกาเถรีคาถา) เมื่อได้ฟังการอธิบายเช่นนี้ แม้แต่พราหมณ์ที่ถือธรรมเนียมของตนมาอย่างยาวนานก็เข้าใจได้โดยง่าย

กล่าวถึงเรื่องของความศรัทธา พระพุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธประโยชน์ของศรัทธา คนเดินทางไกลในถิ่นทุรกันดาล ถ้ามีผู้นำทางที่ยอดเยี่ยม ย่อมไม่กลัวความอ้างว้างเปล่าเปลี่ยวและภัยอันตรายฉันใด ความมีศรัทธาก็เปรียบเสมือนมีประทีปส่องนำทางให้ความรู้สึกอบอุ่นใจแก่ผู้ศึกษาฉันนั้น แต่ท่านกล่าวว่าความศรัทธาเป็นการพึ่งปัญญาของผู้อื่น ถ้าผู้ที่เราน้อมใจศรัทธา แท้จริงเป็นคนพาลผู้มาในรูปของกัลยาณมิตรแล้ว ย่อมจะนำความเสื่อมและโทษภัยมาให้แก่ผู้หลงตามไปเป็นอย่างยิ่ง

อ.สุชีพ ปุญญานุภาพ (จากหนังสือ คุณลักษณะพิเศษแห่งพระพุทธศาสนา) ได้ชี้ให้เห็นประเด็นที่น่าสนใจว่า “…ในพระพุทธศาสนานั้น ไม่มีที่ไหนเลย เมื่อกล่าวถึงศรัทธาแล้วจะไม่กล่าวถึงปัญญากำกับไว้ด้วย ซึ่งเห็นได้ชัดเหลือเกินว่า ในที่ใดใช้ศรัทธาความเชื่อ ในที่นั้นจะต้องใช้ปัญญากำกับไว้เป็นข้อสุดท้ายเสมอ เพราะถือว่าเป็นเครื่องมือขั้นสุดท้ายที่จะให้ประจักษ์แจ้งความจริง หรือได้รับผลสมบูรณ์ใดๆ เช่น อินทรีย์ ๕, อริยทรัพย์ ๗, สัปปุริสธรรม ๗, สัมปรายิกัตถะ ๔, เวสารัชชกรณธรรม ๕ เป็นต้น”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) ศรัทธาที่แท้ในทางพระพุทธศาสนา คือศรัทธาที่ไม่ทำให้งมงายแต่เป็นศรัทธาที่ทำให้หายงมงาย หรือศรัทธาที่เอื้อต่อปัญญา

พุทธพจน์ “ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เป็นคนพาล ไม่เฉียบแหลม ไม่ใช่สัตบุรุษ ย่อมเป็นผู้ประกอบไปด้วยโทษ นักปราชญ์ติเตียน ย่อมประสบกรรมมิใช่บุญเป็นอันมาก และย่อมเกิดในนรกเหมือนถูกนำมาโยนลง ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ
    บุคคลไม่พิจารณาสอบสวนให้รอบคอบแล้ว กล่าวสรรเสริญบุคคลที่ไม่ควรสรรเสริญ ๑
    ไม่พิจารณาสอบสวนให้รอบคอบแล้ว กล่าวติเตียนบุคคลที่ควรสรรเสริญ ๑
    ไม่พิจารณาสอบสวนให้รอบคอบแล้ว ปลูกความเลื่อมใสในฐานะที่ไม่ควรเลื่อมใส ๑
    ไม่พิจารณาสอบสวนให้รอบคอบแล้ว ปลูกความไม่เลื่อมใสในฐานะที่ควรเลื่อมใส ๑

“บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เป็นบัณฑิตเฉียบแหลม เป็นสัตบุรุษ เป็นผู้หาโทษมิได้ ทั้งนักปราชญ์ไม่ติเตียน ย่อมประสบบุญเป็นอันมาก และย่อมเกิดในสวรรค์เหมือนถูกเชิญมา ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ
    บุคคลพิจารณาสอบสวนให้รอบคอบแล้ว ย่อมติเตียนบุคคลที่ควรติเตียน ๑
    พิจารณาสอบสวนให้รอบคอบแล้ว ย่อมสรรเสริญบุคคลที่ควรสรรเสริญ ๑
    พิจารณาสอบสวนให้รอบคอบแล้ว ปลูกความไม่เลื่อมใสในฐานะที่ไม่ควรเลื่อมใส ๑
    พิจารณาสอบสวนให้รอบคอบแล้ว ปลูกความเลื่อมใสในฐานะที่ควรเลื่อมใส ๑ (ขตสูตร ; วัณณสูตร)