องุ่นเปรี้ยว กับ การปฏิบัติธรรม

ในหมู่ผู้สนใจศึกษาธรรมะนั้น คงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปฏิเสธว่า มีอยู่ไม่น้อยที่หันหน้าเข้าหาธรรมะด้วยเหตุเพราะต้องการดิ้นรนให้พ้นจากความทุกข์หรือความผิดหวังบางประการในชีวิต ซึ่งผู้เขียนก็เป็นหนึ่งในนั้นจากปัญหาด้านสุขภาพ เมื่อเข้ามาด้วยแรงจูงใจจากความผิดหวังในชีวิตทางโลก ก็อาจพลั้งเผลอหยิบจับเอาคำสอนของพระพุทธศาสนาบางช่วงบางตอน ที่กล่าวถึงโทษภัยของโลก เช่น “กามเป็นทุกข์” “ทุกข์เสมอด้วยเบญจขันธ์ไม่มี” “สังขารเป็นทุกข์อย่างยิ่ง” ด้วยความเข้าใจอย่างตื้นเขิน เพราะรู้สึกว่าเข้ากันได้พอดิบพอดีกับความเห็นของตัวในขณะนั้น คล้ายๆสำนวน “องุ่นเปรี้ยว” คือ เมื่อหมดโอกาสที่จะได้เสียแล้วก็หลอกตัวเองโดยมองว่าสิ่งนั้นไร้ประโยชน์ไปเสียเลยทั้งที่จริงๆแล้วลึกๆตัวเองก็ยังอยากได้สิ่งนั้นมาครอบครอง ยังตัดไม่ขาด ยังละไม่ได้ อีกทั้งคำสอนบางช่วงก็มีสำนวนที่เมื่อพิจารณาเพียงผิวเผิน ชวนให้เกิดความรู้สึกหดหู่ เบื่อหน่ายเกลียดชังชีวิต สิ้นหวังต่อโลก เช่น

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีจิตตั้งมั่นแล้วรู้เห็นตามเป็นจริงนี้ เป็นธรรมดา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้รู้เห็นตามเป็นจริง ไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่า ขอเราจงเบื่อหน่ายเถิด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้รู้เห็นตามเป็นจริงเบื่อหน่ายนี้ เป็นธรรมดา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เบื่อหน่าย ไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่า ขอเราจงคลายกำหนัดเถิด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้เบื่อหน่ายคลายกำหนัดนี้ เป็นธรรมดา…” (เจตนาสูตร)

เมื่อศึกษาผิวเผินเช่นนี้ ประกอบเข้ากับปัญหาชีวิตที่หนักหน่วงของตนเองแล้ว จึงเป็นการง่ายที่ความคิดจะเลยเถิดผิดไปในทางที่เห็นแต่โทษภัยของโลกเพียงด้านเดียว ทรรศนะเช่นนี้นอกจากเป็นความเข้าใจผิดในหลักการของพระพุทธศาสนา ไม่เข้าใจความหมายอันลึกซึ้งที่ท่านทรงแสดงแล้ว ยังนำทุกข์มาท่วมทับตน ไม่นำไปสู่ความเจริญงอกงามในชีวิตแต่อย่างใด จริงอยู่ที่การมองโลกแบบองุ่นเปรี้ยวเช่นนี้ อาจสามารถลดความทุกข์จากความผิดหวังรุนแรงลงได้บ้างในช่วงแรก แต่ทัศนคติผิดๆเช่นนี้ ในระยะยาวย่อมไม่สามารถนำพาชีวิตให้ก้าวหน้าไปได้จริง ทั้งในทางโลกและทางธรรม บางครั้งพระพุทธศาสนาจึงถูกมองเป็นเพียงที่พึ่งขณะเมื่อชีวิตมีทุกข์หนัก แต่เมื่อทุกข์เริ่มจางคลายลงไปตามกาลเวลาที่ล่วงเลยผ่านแล้ว ความสนใจ ความฝักใฝ่ในธรรม ก็จางหายไปด้วย เพราะมองไม่เห็นและเข้าไม่ถึงคุณค่าที่แท้จริงของพระพุทธศาสนามาตั้งแต่แรก

อย่างไรก็ตาม การที่มีข้อความหรือถ้อยคำสำนวนในบางช่วงตอนที่อาจชวนให้เกิดความรู้สึกชังชีวิตเช่นนี้ จะเป็นปัญหาของธรรมะก็หามิได้ แท้จริงเป็นปัญหาด้านข้อจำกัดของภาษาที่ไปไม่ถึงสิ่งที่ลึกซึ้ง เช่นในเจตนาสูตรที่ยกมาข้างต้น คำว่า “เบื่อหน่าย” ท่านแปลจากบาลีคือ “นิพพิทา” ศัพท์คำว่า นิพพิทา นี้จะแปลด้วยคำศัพท์ภาษาไทยคำใดให้ตรงตามความหมายที่ต้องการครบถ้วน ก็เห็นจะไม่มี ในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ท่านสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้ให้ความหมายว่า นิพพิทา “ความหน่าย” หมายถึง ความหน่ายที่เกิดขึ้นจากปัญญาพิจารณาเห็นความจริง, ความเบื่อหน่ายในกองทุกข์

ความมุ่งหมายของพระสูตรที่แสดงโทษภัยของโลกนั้น ล้วนเป็นไปเพื่อให้เกิด “นิพพิทา” ซึ่งเป็นความหน่ายอันประกอบด้วยปัญญารู้เห็นตามเป็นจริง เป็นความหน่ายที่ทำให้รู้สึกปลอดโปร่ง เบิกบาน มีความสุขอย่างเป็นอิสระ เนื่องจากกิเลสทั้งหลายสงบลงไปจากความไม่ยึดติดถือมั่น อาจกล่าวแบบภาษาง่ายๆได้ว่า เพราะเข้าถึงวิถีทางใหม่ที่ดียิ่งกว่า จึงเลิกสนใจวิถีทางเดิมๆ ต่างจากความเบื่อหน่ายเกลียดชังต่อโลกซึ่งเกิดจากกิเลสจำพวกโทสะ หรือความอยากจะพ้นไปจากสิ่งที่ตนไม่ปรารถนาซึ่งเป็นกิเลสจำพวกโลภะ (วิภวตัณหา) เหล่านี้ก่อให้เกิดเป็นความเบื่อหน่ายที่ทำให้ตรอมตรม งอมระงมเผาอยู่ในจิตใจ ซึ่งจะเห็นว่าในความคล้ายของคำศัพท์ภาษาไทยที่ว่า “เบื่อหน่าย” นี้ มีความแตกต่างอย่างใหญ่หลวงที่จำเป็นจะต้องแยกออกจากกันให้ชัด เพื่อมิให้เผลอปล่อยให้กิเลสจำพวกนี้ก่อตัวขึ้นเผาจิตใจตัวเองอย่างเงียบๆให้เป็นทุกข์ แม้ในขณะที่กำลังพยายามพิจารณาเพื่อต้องการลดละกิเลสอยู่นั่นเอง

กล่าวคือ การมองโลกในแง่ร้ายในลักษณะที่ว่าสิ่งต่างๆเป็นความทุกข์ทรมานนั้น ส่งผลให้เกิดความ “เบื่อหน่ายโลกด้วยโทสะ ซึ่งทำให้เป็นทุกข์โดยไม่จำเป็น ส่วนการ “เบื่อหน่ายโลกเพราะรู้เห็นตามเป็นจริงด้วยนิพพิทาญานทำให้ปลอดโปร่งเบิกบาน จะเห็นว่าทั้งสองกรณีนี้แม้โดยคำศัพท์อาจมีส่วนเหมือนกัน แต่แท้จริงความหมายที่ต้องการจะสื่อต่างกันอย่างตรงข้ามทีเดียว ผู้ที่หันหน้าเข้าหาธรรมด้วยเหตุจากความผิดหวังใดๆในชีวิต พึงพิจารณาว่า ควรหรือที่จะเอาสุขทุกข์ของตนไปขึ้นต่อ ไปยึดโยงอยู่กับสิ่งใดๆ เพื่อสนองตัณหาของตน คราวเมื่อได้สิ่งนั้นมาก็เป็นสุข เมื่อสูญเสียสิ่งนั้นไป หรือขวนขวายแล้วไม่ได้ตามต้องการก็เป็นทุกข์ เหตุแห่งทุกข์จึงเกิดเพราะความที่เรามีตัณหาอยู่ในขันธสันดาน เมื่อจะแก้ที่ต้นตอของปัญหาจึงต้องแก้ที่กิเลสตัณหาในจิตใจของเรานี่เอง เมื่อตัณหาเบาบาง ทุกข์ต่างๆในจิตใจก็จางคลายลงไปด้วย เมื่อปราศจากตัณหา ย่อมอยู่เป็นสุขทุกเมื่อ

อย่างไรก็ตาม การกล่าวถึงความปราศจากตัณหา แม้เป็นการเอาชนะปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่ก็อาจดูจะเป็นเป้าหมายที่ไกลตัวเกินไปสักหน่อย ในที่นี้จึงนำเสนอแนวทางอยู่ร่วมกับกิเลสตัณหาอย่างเป็นปกติสุขตามสมควรสำหรับคฤหัส โดยพยายามจะให้เป็นวิถีทางที่ทำได้ไม่ยากและสามารถจะเห็นประจักษ์กับตัวเองได้ค่อนข้างชัด ซึ่งแท้จริงแล้วทุกคนสามารถสร้างขึ้นได้มากมาย หลายกรณีก็มิใช่ของยากหรือไกลตัวแต่อย่างใด ยกตัวอย่าง ดังนี้

สุขจากความพอใจในสิ่งที่ตนมี ใช้จ่ายทรัพย์ตามสมควร ความประพฤติไม่เป็นโทษ (🔎 กามโภคีสุข “สุขของคฤหัสถ์”)
สุขจากการทำงานเพื่อสาธารณประโยชน์ (สุขจากการสนองฉันทะ)
สุขจากการมีศรัทธาถูกทาง : เป็นศรัทธาที่นำไปสู่ปัญญา ไม่เป็นศรัทธาที่งมงายแต่เป็นศรัทธาที่ทำให้หายงมงาย มีความปีติยินดีว่าทางที่มุ่งไปเป็นทางแห่งความสุขความเจริญโดยแท้
สุขจากทาน : เช่น จากที่เคยหวังพึ่งแต่สุขจากการกินการใช้อย่างหรูหราราคาแพง ลองมองหาผู้ที่ขาดแคลนแล้วแบ่งปันให้เขาโดยที่ไม่หวังผลตอบแทน แล้วสังเกตสุขในจิตใจของตนดูว่าเกิดขึ้นหรือไม่เพียงใด บางครั้งการให้ผู้อื่นโดยที่มีต้นทุนเพียงเล็กน้อย อาจสร้างสุขให้แก่ตนเองมากกว่าการกินใช้หรูหราก็เป็นไปได้
สุขจากศีล : การมีศีลที่ดีย่อมเป็นเหตุ เป็นพื้นฐาน และเป็นต้นทางแห่งความสุขความเจริญทั้งหลายทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพียงระลึกถึงความมีศีลที่ดีของตนแล้วก็พาให้แช่มชื่นใจ
สุขจากการเจริญเมตตา : การมีความคิดขุ่นเคืองแค้น อาฆาตพยาบาท อิจฉาริษยา ล้วนเป็นมลทินโทษของจิตใจ เป็นไฟที่เผาผลาญอยู่ภายในให้เป็นทุกข์ พึงเจริญเมตตาแก่ตนเอง แก่ผู้เป็นที่รัก แก่ศัตรูทั้งหลาย เผื่อแผ่ความปรารถนาดีไปโดยไม่จำกัดขอบเขตเช่นนี้ จิตใจย่อมผาสุข
สุขจากสมาธิ : จากที่เคยหวังสุขที่ต้องพึ่งพิงสิ่งอื่นหรือผู้อื่น ลองฝึกปฏิบัติสมาธิเพื่อให้ได้รับสุขจากความสงบประณีต การได้สัมผัสสุขจากสมาธินั้น สามารถกล่าวได้ว่าเป็นก้าวย่างสำคัญของความเจริญในกุศลธรรมต่างๆ
สุขจากปัญญา : มีความสุขจากความใฝ่รู้ใฝ่ศึกษาในธรรม ความยินดีในธรรม ความปลอดโปร่งจากกิเลส พึงทราบว่าปัญญาเป็นยอดแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย

แม้ยังไม่สามารถถอนกิเลสให้หมดสิ้นไปโดยสิ้นเชิง การบรรเทากิเลสตัณหาของตนให้เบาบางในระดับที่ไม่สร้างปัญหาเดือดร้อนให้แก่ตนและผู้อื่น จับจ่ายใช้สอยพอเหมาะ มีศีลที่ดี มีจิตใจเมตตากรุณา มีความรู้ความเข้าใจธรรมะตามสมควร รู้จึกสุขอื่นที่ดีกว่าสุขจากการสนองกิเลส ก็ได้ชื่อว่าเป็น กัลยาณปุถุชน ผู้ซึ่งเมื่อครั้งหนึ่งได้มีโอกาสสดับสัทธรรมแล้ว สามารถรับเอาความเจริญงอกงามติดตัวกลับไปตามสมควรแก่ตน

อะไรเล่าเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจที่ประเสริฐสุดของคนในโลกนี้ ?
อะไรเล่าที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้ ?
อะไรเล่าเป็นรสที่ดีกว่ารสทั้งหลาย ?
บุคคลมีความเป็นอยู่อย่างไร นักปราชญ์จึงกล่าวว่ามีชีวิตประเสริฐ ?

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้
ศรัทธาเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจที่ประเสริฐสุดของคนในโลกนี้
ธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้
สัจจะเท่านั้น เป็นรสที่ดีกว่ารสทั้งหลาย
บุคคลมีความเป็นอยู่ด้วยปัญญา นักปราชญ์จึงกล่าวว่ามีชีวิตประเสริฐ (อาฬวกสูตร)

“ดูกรมหานามะ สมัยใด อริยสาวกย่อมระลึกถึงพระตถาคตเนืองๆ สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น ย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุมไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม ย่อมเป็นจิตดำเนินไปตรงทีเดียว ก็อริยสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรงเพราะปรารภพระตถาคต ย่อมได้ความทราบซึ้งอรรถ ย่อมได้ความทราบซึ้งธรรมย่อมได้ความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม เมื่อปราโมทย์แล้ว ย่อมเกิดปีติเมื่อมีใจประกอบด้วยปีติ กายย่อมสงบ ผู้มีกายสงบแล้วย่อมเสวยสุข เมื่อมีสุขจิตย่อมตั้งมั่น ดูกรมหานามะ นี้อาตมภาพกล่าวว่า อริยสาวกเป็นผู้ถึงความสงบเรียบร้อยอยู่ ในเมื่อหมู่สัตว์ยังไม่สงบเรียบร้อย เป็นผู้ไม่มีความพยาบาทอยู่ ในเมื่อหมู่สัตว์ยังมีความพยาบาท เป็นผู้ถึงพร้อมกระแสธรรม ย่อมเจริญพุทธานุสสติ” (ตรัสถึง ธรรมานุสสติ, สังฆานุสสติ, สีลานุสสติ, จาคานุสสติ, เทวตานุสสติ ด้วย) (มหานามสูตร)