๓.๔ พุทธศาสนา คือ ระบบการพัฒนาความสุข

“คนมีปัญญา ถึงเผชิญอยู่กับความทุกข์ ก็ไม่ยอมสิ้นหวังที่จะได้ประสบความสุข” (มหาชนกชาดก)

“ความเสื่อมจากญาติ ทรัพย์ ยศ ยังนับว่าเป็นความเสื่อมเพียงเล็กน้อย ภิกษุทั้งหลาย ความเสื่อมที่นับว่าเลวร้ายยิ่งกว่าความเสื่อมทั้งหลาย คือความเสื่อมจากปัญญา “ความเจริญด้วยญาติ ทรัพย์ ยศ ยังนับว่าเป็นความเจริญเพียงเล็กน้อย ภิกษุทั้งหลาย ความเจริญที่เรากล่าวว่าเป็นยอด คือความเจริญด้วยปัญญา เพราะเหตุนั้นแล ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้เจริญด้วยปัญญา” (กัลยาณมิตตาทิวรรค)

        ความสุขมีมากมาย หลายขั้น หลายระดับ และความสุขนั้นพัฒนาได้ ทุกคนจึงควรพัฒนาขึ้นไป จนกว่าจะถึงความสุขที่ดีเลิศยอดเยี่ยมที่สุด เมื่อพูดถึงความสุขระดับต่างๆ พึงพิจารณาดูว่า ความสุขอย่างนี้มีข้อดีอย่างไร (อัสสาทะ) มีข้อเสียอย่างไร (อาทีนวะ) และในเมื่อมันยังไม่สมบูรณ์ เราจะมีทางพัฒนาให้พ้นไปจากสภาพที่ไม่สมบูรณ์อย่างไร (นิสสรณะ) ซึ่งลักษณะสำคัญของความสุขที่พัฒนาสูงขึ้นไปนั้น ก็คือเป็นความสุขที่เป็นอิสระมากขึ้น สามารถมีความสุขได้โดยไม่ต้องพึ่งพา ไม่ต้องขึ้นต่อการเสพวัตถุ ไม่ค่อยได้สังเกตกันว่า พระพุทธศาสนานี้เป็นศาสนาแห่งความสุข การปฏิบัติในพระพุทธศาสนา พูดในสำนวนหนึ่ง ก็คือการพัฒนาให้ก้าวไปในความสุขเหล่านี้ และจะพูดว่า พระพุทธศาสนา คือระบบการพัฒนาความสุข ก็ได้

วิธีปฏิบัติต่อความสุข ไม่เอาทุกข์ทับถมตน ที่มิได้ถูกทุกข์ท่วมทับ ไม่ละทิ้งความสุขที่ชอบธรรม ไม่หมกมุ่นสยบในความสุข แม้ที่ชอบธรรมนั้น เพียรพยายามทำเหตุแห่งทุกข์ให้หมดสิ้นไป, เพียรปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความสุขที่สูงขึ้นไป จนถึงสุขสูงสุดที่เป็นภาวะอันไร้ทุกข์โดยสิ้นเชิง


ส่วนแทรกเสริม เมื่อจำเป็นต้องเผชิญหน้ากับภาวะที่ยากลำบากแสนสาหัส ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ พึงพิจารณาว่า ถึงกายป่วยแต่ใจเราจะไม่ป่วย ดังพุทธพจน์ที่ตรัสแก่นกุลบิดาผู้ชราความตอนหนึ่ง ดังนี้

“ดูกรคฤหบดี ก็บุคคลผู้บริหารกายนี้อยู่ พึงรับรองความเป็นผู้ไม่มีโรคได้แม้เพียงครู่เดียว จะมีอะไรเล่า นอกจากความเป็นคนเขลา ดูกรคฤหบดี เพราะเหตุนั้นแหละ ท่านพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อเรามีกายกระสับกระส่ายอยู่ จิตของเราจักไม่กระสับกระส่าย” (นกุลปิตาสูตร) (พระสารีบุตรได้ขยายความตอบนกุลบิดาว่า บุคคลชื่อว่ากายป่วยแต่ใจไม่ป่วย เพราะละสักกายทิฏฐิ ไม่ยึดติดถือมั่น ไม่เห็นขันธ์ ๕ ว่าเป็นตน ถือเป็นการฝึกขันติ ความอดทน)

“ขันติความอดทน เป็นตบะ อย่างยิ่ง” (มหาปทานสูตร)

พระอริยสาวกที่ท่านบรรลุอรหัตตผลในขณะเจ็บป่วยทุกขเวทนาใกล้จะดับขันธ์ก็ยังมี เราอาจหาประโยชน์อะไรจากการพิจารณาความทุกข์ความลำบากนี้ได้บ้างก็เป็นได้ (เช่น โคธิกสูตร อรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตร เรื่องทุกข์ของภิกษุ ๓๐ รูป เป็นต้น)