วันพฤหัสบดี

๓.๓ ความหมายของ ศีล วินัย สิกขาบท พรต วัตร ตบะ

ศีล คือ ความประพฤติดีงามสุจริต, เป็นคุณสมบัติของคนตามปกติ จึงใช้เป็นคำเอกพจน์ ไม่ได้เป็นข้อๆ

วินัย ความหมายตามศัพท์ แปลว่า การชี้นำอย่างวิเศษหรือการจัดการให้ดี (ที่จะฝึกคนให้มีศีล), วินัยจึงเป็นประมวลแห่งสิกขาบททั้งหลายนั่นเอง เป็นคำเอกพจน์

สิกขาบท แปลว่า ข้อศึกษา ข้อฝึกความประพฤติ คือ ข้อบัญญัติ โดยเฉพาะข้อที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้เป็นข้อปฏิบัติที่จะต้องทำหรือต้องเว้นการใดๆ ตามที่บัญญัติไว้นั้น เพื่อให้มีความประพฤติและการปฏิบัติที่ถูกต้องดีงาม จะเห็นว่าสิกขาบทเป็นข้อๆ เมื่อพูดถึงหลายข้อ ก็เป็นพหูพจน์ ตามที่ว่ามานี้ สิกขาบททั้งหลายทั้งหมด รวมกันเป็นวินัย

การปฏิบัติตามสิกขาบททั้งหลาย คือ ตั้งอยู่ในวินัย ก็เป็นศีล เช่น สิกขาบท ๕ ข้อ เรียกรวมว่า วินัยของคฤหัสถ์ เมื่อประพฤติถูกต้อง ก็เป็นผู้มีศีล, สิกขาบท ๒๒๗ ข้อ เรียกรวมว่า วินัยของภิกษุ ภิกษุที่ตั้งอยู่ในวินัยนี้ ประพฤติถูกต้อง ก็เป็นผู้มีศีล กล่าวคือ วินัย และสิกขาบท มีเป้าหมายเพื่อ ศีล

พรต หมายถึง การสมาทานถือปฏิบัติข้อปฏิบัติที่เรียกว่าธุดงค์ทั้งหลาย (ธุดงค์ ๑๓ เป็น พรต ที่พระพุทธเจ้ายอมรับให้นำไปปฏิบัติได้) ไม่เป็นศีล ถือเป็นส่วนพิเศษเพื่อความเคร่งครัด ขัดเกลา ฝึกอบรมตนเองให้ยิ่งกว่าปกติ เน้นที่ความมักน้อยสันโดษ เป็นเรื่องของความสมัครใจและความเหมาะสมของแต่ละคน ใครจะถือปฏิบัติหรือไม่ก็ได้ไม่มีความผิด โดยถือหลักว่าถ้ารับข้อใดมาปฏิบัติแล้ว กุศลธรรมเจริญขึ้น อกุศลธรรมเสื่อมลง ก็เป็นอันว่าผู้นั้นควรปฏิบัติข้อนั้น ต่างจากศีลซึ่งสมาชิกทุกคนของหมู่พึงรักษาเสมอเหมือนกัน ถ้าไม่รักษาย่อมมีผลเสียหายทั้งส่วนตัวและส่วนรวม

พรตบางอย่างเช่น ไม่พูด ฉันอาหารเฉพาะผลไม้ที่ตกพื้นเท่านั้น ถือว่าผิดวินัย เพราะเป็นการทรมานตนเกินพอดี

วัตร เป็นเรื่องเกี่ยวกับธรรมเนียมและมารยาทอันควรปฏิบัติ

ตบะ มีความหมาย ๒ นัย 
        ๑. ความหมายตามแนวพระพุทธศาสนา คือ การบำเพ็ญเพียรอย่างยวดยิ่งเพื่อกำจัดกิเลส
        ๒. ความหมายตามแนวศาสนาอื่น คือ พิธีข่มกิเลสโดยการทรมานตน



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น